เทศน์เช้า

อดอาหารเป็นทาง

๑๙ ก.ย. ๒๕๔๒

 

อดอาหารเป็นทาง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แผนที่ตำราก็สอนไว้อย่างนั้นแหละ แผนที่ตำราไง พระไตรปิฎกก็เขียนไว้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าห้ามไว้เป็นหลักใหญ่ ทุกอย่างส่วนใหญ่บอกไม่ให้ทำ ดูอย่างคนงาน เห็นไหม บริษัทหนึ่งคนงานจะมีมากเลย ผู้บริหารมีกี่คน? ผู้บริหารมีคนเดียว ผู้บริหารต้องเรียนรู้มากกว่าเขาถึงบริหารคนได้ ประสบการณ์ของผู้บริหารต้องมาก

อันนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก พูดไว้เป็นหลักการใช่ไหม? พระพุทธเจ้าอดอาหาร ๔๙ วัน แล้วกลับมาฉันอาหาร ทางสายกลางต้องกลับมาฉันแล้วถึงมาปฏิบัติใหม่ เพราะตอนที่พระพุทธเจ้าอดอาหารนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ เห็นไหม อดอาหารแล้วกลับมาปฏิบัติถึงเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม? ตอนที่ยังอดอาหารอยู่ ๔๙ วันนั้นยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็เลยอดอาหารแบบคนที่ยังไม่รู้ คนที่ยังไม่รู้ก็อดอาหารเฉยๆ อดอาหารแบบอดอาหาร นึกว่าการอดอาหารนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐไง

การอดอาหารนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่พออดเฉยๆ อดเฉยๆ มันก็เลยอดเอาว่าเป็นสิ่งพิเศษ เหมือนเราทำงาน ทำไม่ถูกต้องมันก็ไม่เข้าหลัก นี้อดเฉยๆ อดไปแล้วจนขนร่วงหมดนะ มันเน่า ขนเน่าหมด หลุดหมดเลย จนผอม จนแบบช็อก คือว่าสลบไปถึง ๓ หน อ๋อ มันไม่ใช่ทาง กลับมา กลับมาพิจารณาใหม่ไง ถึงว่า อ๋อ อานาปานสติ ตอนที่พ่อออกไปแรกนาขวัญนั้น ทำนาขวัญแล้วก็ตัวเองไปนั่งอยู่โคนต้นหว้า อานาปานสติ จนต้นไม้นั้นมหัศจรรย์ไม่ไป นั้นจิตมันสงบไง

ถ้าอันนี้มันทำได้ เพราะอะไร? เพราะจิตมันคิดได้ในหัวใจใช่ไหม? ก็กลับมาฉันอาหารใหม่ แล้วก็คืนนั้น ภาวนาคืนนั้น บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ แล้วก็อาสวักขยญาณสิ้นไป แล้วพอสิ้นไปแล้ว ตอนนี้สิ้นไปใช่ไหม? เรานี่ก่อนที่จะทำงานเราพักผ่อนมา ร่างกายเราเข้มแข็งขึ้นมา เราทำงานได้ไหม? ทีนี้การอดอาหารมามันได้สมาธิไง มันเป็นสมาธิทางเดียว มันไม่ใช่ปัญญา มันใช้อดอาหารเฉยๆ อดอาหารเฉยๆ มันเป็นพลังงาน เห็นไหม ตัวพลังงานตัวนี้พอมาวิปัสสนา พอมันใช้ปัญญามันจะหมุนไปเลย เพราะจิตมันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

นี่ถึงบอกว่าถ้าคนอดอาหารเฉยๆ ปรับอาบัติทุกกฎ ทุกกิริยาที่เคลื่อนไหวนะ ที่อวดเขาว่าฉันอดอาหารนี่เก่ง ปรับอาบัติทุกกฎด้วย ไม่ใช่ห้ามเฉยๆ ปรับอาบัติด้วยเพราะเป็นการอวดอุตริ แล้วอยู่ในบาลีไง อยู่ในพระไตรปิฎกนั่นแหละ แต่มันซ้อนอยู่ข้างในเป็นข้อปลีกย่อย แต่เราตถาคตอนุญาตถ้าอดเพื่อเป็นอุบาย ฟังนะ! อดเพื่อเป็นอุบาย เป็นวิธีการใช่ไหม? อดอาหารอย่างหนึ่งเพื่อผ่อน เพื่อไม่ให้เรานั่งหลับ เพราะอะไร? ทำไมเรานั่งหลับกัน? ทำไมกินอิ่มจนนั่งแล้วสัปหงก ให้อาหารมันน้อยลง

“ถ้าเป็นอุบายวิธีการ เราตถาคตอนุญาต”

ทำไมตรงนี้ไม่พูดล่ะ? พูดแต่ว่าตถาคตห้าม ตถาคตห้าม แล้วตถาคตอนุญาตทำไมไม่พูดล่ะ? ห้ามไม่ห้ามธรรมดา ห้ามแล้วปรับอาบัติด้วย ใครอดอาหารแล้วว่านี่เก่ง อดอาหารนะเป็นคนดีกว่าคนทั่วไป ไม่กินข้าว คนเยี่ยมๆ อวดอุตริ ปรับอาบัติทุกกฎ ทุกกิริยาเคลื่อนไหว ทุกคำพูดที่พูดออกไป แต่ถ้าอดเป็นอุบาย อยู่ในป่าอดเป็นอุบายวิธีการ ให้ร่างกายมันเบาใช่ไหม? ให้ร่างกายมันเบา ให้นั่งไม่สัปหงก แล้ววิธีอดอาหารมันทุกข์อยู่แล้ว

การอดอาหารนี้ทุกข์นะ หิวข้าวใครไม่ทุกข์ ท้องนี้ร้องจ๊อกๆๆ เลย หิวมากความหิวนี่ ไอ้ความหิวนั่นแหละเป็นอุบายวิธีการจะวิปัสสนา หิวอะไรมันหิว?

๑. ร่างกายเราได้ประโยชน์อยู่แล้ว

๒. หิวข้าว หิวข้าวนี่ไม่กินตายนะ คนเขากินข้าวกัน เป็นอะไรถึงไม่กินข้าว

อันนี้คืออะไร? อันนี้คือกิเลสไง คืออุปาทานที่มันบอกว่านี่จะตายนะ ทั้งๆ ที่อดแล้วไม่มีใครตายเลยอดอาหาร เว้นไว้แต่ประเทศที่เขายากจน เขาอดจนไม่มีจะกินนั้นมันตายไปโดยอย่างนั้น แต่พระนี่มีสิทธินะ เช้าขึ้นมาบิณฑบาต นี่สะพานบาตรออกไปเขาใส่บาตรอยู่แล้ว ทำไมสละสิทธิอันนี้ขึ้นมา เพราะว่าความอยากกิน

หลวงปู่หล้า เห็นไหม ใส่บาตรมานะ อะไรที่เป็นอาหารที่ดี ที่ถูกใจ กิเลสมันอยากกิน บิณฑบาตมาจับโยนทิ้ง เพราะอะไร? ใครไม่อยากได้ของที่ถูกธาตุขันธ์ ทั้งๆ ที่หลวงปู่หล้าใส่บาตรอยู่ นี่ท่านเล่าเอง อุบายวิธีการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน นี่คือปัญญาเอาตนพ้นจากกิเลสไง ถ้าอาหารที่ใส่มันถูกปากนะ อันนี้ แหม ชอบ เพราะเคยกินอยู่ จับโยนเข้าป่า จับโยนเข้าป่า เอาแต่ที่ไม่ชอบ ฝึกดัดนิสัยเจ้าของไง ฝึกดัดตนเองไง นี่อุบายวิธีการ

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลามันทุกข์ขึ้นมา มีพระที่ไม่เห็นด้วยเขาบอกเลย บอกว่าพระอะไรเป็นความเห็นผิด เห็นอาหารเป็นโทษได้อย่างไร? ในเมื่ออาหารมันให้คุณประโยชน์แก่ร่างกาย อดอาหารคือประท้วงอาหารไง เขาบอกว่าพระพวกนี้โง่ เห็นอาหารเป็นโทษ เราบอกไม่ใช่หรอก นี่ปัญญาคนละชั้น อาหารนี้ไม่เป็นโทษนะถ้าสมดุลกับร่างกาย แต่ถ้ากินมากเป็นชูชกก็ตายได้เหมือนกัน

แต่อาหาร นี่เวลาเราอดอาหารไป เห็นไหม ดูความทะยานอยากในอาหารนะ ในอุปาทาน ทุกคนอยากเห็นกิเลส ทุกคนอยากวิปัสสนา ทุกคนอยากฆ่ากิเลส ทุกคนอยากมีความสุข แต่ทุกคนไม่รู้ว่าอะไรคือกิเลสไง ไอ้ความหิวมันเป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติ แต่อุปาทานในความที่ว่าจะเป็นจะตาย อันนั้นคือกิเลสไง ทั้งๆ ที่มันไม่ตายหรอก หิวโซ แน่นอน มันอดมันหิว แต่พอยิ่งหิวขึ้นมามันก็ยิ่งอยากมาก อยากมาก ความคิดทะยานอยากมันก็ออกแสดงตัวมาก แสดงตัวมากเราก็ดูตรงนั้นไง

นี่วิธีการ อุบายวิธีการพระพุทธเจ้าอนุญาตนะ แล้วไม่ได้อนุญาตเปล่า ผู้ที่ทำมานี่อดนอนผ่อนอาหารไง คนเรานี่นะ นอนกับกินนี่ใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งไปเลย เอาเวลามาคำนวณเลย ชีวิตคนๆ หนึ่งไอ้นอนกับกินเอาเวลาไปครึ่งหนึ่ง ทำงานนิดหน่อย นี่ทีนี้นอนกับกินใช่ไหม? การปฏิบัติถึงว่าให้นอนน้อย กินน้อย เห็นไหม จนไม่พูดด้วยให้ปิดปากเลย ปิดวาจา นี่คือการบังคับไง ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจเราจะไม่เห็นกิเลสเราหรอก คุยกันไป นี่สบายมากเลย นักเลงขนาดไหนก็แล้วแต่ อยู่ในเมืองนี่สบายมาก เวลาเข้าป่าไปนักเลงก็เสียวนะ นักเลงก็กลัวผี

ในที่สงัด ในที่ที่หวาดเสียว นั่นคือในสถานที่ควรแก่การงาน การงานในการเอาชนะกิเลสไง อยู่แบบมีเพื่อนมีฝูงมันอาศัยพึ่งกัน อยู่คนเดียวมันเสียวมาก แล้วไปอยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าลึก ไปอยู่ไปเจอสัตว์ป่ามันจะไม่กลัวหรือ? อันนั้นก็เหมือนกับอดอาหารนี่แหละ แต่ไม่มองเหมือนอดอาหารไง อดอาหารนี่มันสิทธิการได้กินนี่ ธรรมชาติ กินแล้วไม่เป็นโทษ ก็ว่ามันเป็นปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ แต่ทำไมนั่งแล้วสัปหงกโงกง่วง ทำไมนั่งแล้วสมาธิมันไม่ลง

พระพุทธเจ้าสอน “ให้กินแบบหยอดล้อเกวียน” ไง ล้อเกวียน ให้แค่เพลาล้อนี้หมุนไปได้ วันละ ๓ มื้อ ๕ มื้อ นี่เราฉันมื้อเดียว มื้อเดียวก็ยังมาก มื้อเดียวมันก็ยังสัปหงกอยู่ ยังต้องผ่อนอาหารลงมา การผ่อนอันนี้เป็นอุบายวิธีการเอาชนะกิเลส อุบายวิธีการคนที่มีปัญญา คนที่จะชำระกิเลส มันเข้มกว่าพวกทาน ศีล ภาวนา อย่างพวกโยมนั่นถูกต้อง ถึงว่าอดอาหารแล้วมันจะเข้มไป มันจะแรงไป นี่ถึงว่าสัปปายะไง

การได้พึ่งครูบาอาจารย์ สถานที่สมควรแก่การปฏิบัติ หมู่คณะสมควรแก่การปฏิบัติ อาหารสมควรแก่การปฏิบัติ ครูบาอาจารย์สมควรแก่การปฏิบัติ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่มีหลัก พอเจออย่างนี้ก็อ่อนนะ อย่าเลยๆ ทั้งๆ ที่เขาจะไปได้นะ ถ้าคนๆ นั้นตั้งใจ คนๆ นั้นต้องรู้ธาตุขันธ์ของตัวเอง ถ้ามันฝืนไปได้ ไปได้ อดไปเลย นี่ครูบาอาจารย์ต้องเป็นหลักด้วย แล้วว่าสมควรขนาดไหน? ดูว่ากี่วัน

อยู่กับอาจารย์มหาบัวนะ เพราะอาจารย์มหาบัวได้เรื่องอดอาหารมาก ๓ วันนี้เป็นเรื่องปกติ ๓ วันแรกนี่เด็กๆ ๔-๕ วันไปท่านจะให้ของเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นว่าท่านจะให้พวกนมมาตอนเช้า ถ้าเหลือนะท่านถึงจะแจกพระบ้างเป็นบางองค์ ท่านจะให้เป็นคนๆ ไป แต่บางทีบางองค์ไม่เอาเลย มันอยู่ที่ธาตุขันธ์ของคนนั้น เห็นไหม นี่พอเริ่มไปๆ ตัวมันจะเริ่มเบา มันเริ่มเบานะ แล้วทีนี้ความคิดมันจะกลับเข้ามา

มันหิว ท้องนี่ร้องไปหมดเลย มันหิวมาก แต่มันไม่ตาย เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันกลัวความตายไง เอาอันนี้ไม่ให้กิเลสมันแสดงตัวไง นี่ให้กิเลสแสดงตัวว่ามันอยากมาก มันกลัวตายมาก แล้วก็ดูเข้าไป วิปัสสนาเข้าไป มันเป็นวิธีการ แหม ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยทำมันจะรู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้าไม่อนุญาต ก็ชอบน่ะสิ เด็กๆ บอกให้ไม่ต้องไปโรงเรียน โตขึ้นมาให้เที่ยวอย่างเดียวใครไม่ชอบ?

นี่ก็เหมือนกัน พอจะปฏิบัตินะ โอ๋ย พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต อดอาหารก็เป็นความทุกข์ โอ้โฮ กินมากๆ นอนดีๆ นี่ชอบ ให้กิเลสมันพอกใส่หัวไง อะไรที่มันจะขัดกับกิเลส นี่คือการชำระกิเลส คือการฝืนใจตัวเอง ฝืนตน ฝืนออกไปๆ มันอยากได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าอดที่ว่าไม่ให้อดนั้นเพราะว่าอดเฉยๆ คำว่าอดเฉยๆ นึกว่าเป็นวิธีการไง อดแบบพวกที่คนทุกข์คนยากเขาไม่มีจะกิน มันไม่มีจะกินมันเลยอด อดแล้วอยากกินนะ แหม ถ้าได้มาจะกินเดี๋ยวนี้เลยนะ อดไว้รอว่าจะกินเมื่อไหร่ไง แต่นี้อดอาหารไม่ใช่อดอย่างนั้น อดเพื่อดูความอยาก อดเพื่อดูกิเลสมัน

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)