เทศน์เช้า

ตาสับปะรด

๒๔ ก.ย. ๒๕๔๒

 

ตาสับปะรด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันไม่รู้จัก เห็นไหม เด็กพอมันไม่รู้จัก ดูอย่างที่ว่าวัยรุ่น เวลาเรื่องศีลธรรม พระพุทธเจ้าเห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้านี่เห็นแก่ตัว สละกัณหาชาลี นางมัทรี ตอนเป็นพระเวสสันดร พระพุทธเจ้าเห็นแก่ตัว วัยรุ่นทุกคนคิดอย่างนั้น แล้วศาสนาก็แก้ไม่ได้

เราถึงบอกวัยรุ่นนี่มันดี เด็ก ๆ นี่ มันกำลังมีแฟน บอก “แฟนมึงยกให้กูได้ไหม ?”

“ไม่ได้หรอก”

“แฟนมึงนี่ยกให้กูได้ไหม?”

มีแฟนขนาดแย่งกันนะ แล้วพ่อแม่นี่ ลูกเจ็บเราเจ็บแทน ใครก็อยากเจ็บแทนลูก ลูกเจ็บไข้ได้ป่วยแม่อยากเจ็บแทนเอง แล้วเขามาเอาลูกไปต่อหน้า มันกระชากหัวใจ ผู้ชายนี่สำคัญมากถ้ารักลูก มันสละด้วยความรัก มันไม่ได้สละด้วยความไม่รัก ใช่ไหม รักลูกรักเมีย แสนรัก แล้วเขามาขอ แล้วตัวเองเป็นบุรุษขนาดนั้น เป็นนักรบ ขนาดชูชกมานี่ชักพระขรรค์เลยนะ ตีต่อหน้า ขอไปแล้วตีต่อหน้ามันสะเทือนหัวใจไหม

บอกว่า “เห็นแก่ตัว”... เห็นแก่ตัวได้อย่างไร ถ้าคนเห็นแก่ตัว ทุกคนอยู่สบายนะ ฉันจะรับความทุกข์เสียเอง ไอ้นี่ตัวเองนั่งอยู่ แล้วเขาขอกัณหาชาลีไปต่อหน้า แล้วตีต่อหน้า ทุกคนจะบอกพระพุทธเจ้านี่เห็นแก่ตัว อยากได้โพธิญาณ อยากได้ตรัสรู้ เป็นพระเวสสันดรทำไมไม่สละตัวเองไปล่ะ นี่วัยรุ่น

เวลาพวกวัยรุ่นเขาจะหันกลับอย่างนั้น ต้องเอาตรงนี้ทิ่มเข้าไป ทิ่มเข้าไปตรงนี้ ความรักของเอ็ง แฟนเอ็งไม่รักหรือ ? แฟนใครใครก็รัก แล้วรักแสนรักด้วย นี่ขอหมดเลย แต่ว่าเห็นแก่ตัว ก็มันพูดเหมือนว่าคนทะเลาะกันนี่เนาะ ก็คนไม่ทะเลาะ เห็นแก่ตัวก็เห็นแก่ตัวสิ คนที่ไม่ได้เป็นอะไรกันใช่ไหมก็สละได้ แต่นี่เป็นลูก รักแสนรัก แต่ต้องให้ปล่อยออกไป เพราะว่ามันเป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าทุก ๆ องค์ที่ต้องเป็นอย่างนี้ มันกระชากหัวใจไง กระชากหัวใจนี้ให้มันเจ็บปวดมาก มันทรมานมาก นี่มันถึงกระเทือนขั้วหัวใจ แต่สละออกไป

มันถึงว่าถ้าคิดอย่างนั้นปั๊บมันจะเห็นคุณค่า แต่ถ้าไม่คิดอย่างนี้มันเหลื่อม มันล้ำกัน ธรรมมันละเอียดละเอียดอย่างนี้ มันปิดบังไว้ในหัวใจนี่แหละ มองไม่เห็น มันมองไม่เห็น พอมองไม่เห็นปั๊บมันก็คิดว่าทุกคนต้องทำอย่างนี้แล้วเห็น มันเห็น เห็นแต่ร่างกาย เห็นแต่สละออกไป ตัวเองไม่ยอมทุกข์ อยู่แต่สุขสบายคนเดียว ปล่อยให้คนอื่นไปทุกข์ ทำไมไม่เป็นทุกข์

อันนี้มันไม่เห็นความทุกข์ใจนี่นา ความทุกข์ในหัวใจดวงนั้น เป็นห่วงวิตกกังวลไปทั้งหมด เพราะเป็นหัวหน้า แล้วเป็นเจ้าของด้วย ลูกของเรา ทำไมต้องเอาให้คนอื่นไปทุบไปตีขนาดนั้น แต่นี่เพราะว่าชาติสุดท้ายบารมีเป็นอย่างนั้น บารมีพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้น สละหมดแม้แต่ลูกเมียสละหมดเลย ทานไง นี่พระเวสสันดรทำทานไว้มาก ถึงว่าพอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามีคนถวายของท่านมากนะ

เขาบอกกันว่า “ถวายเพราะเป็นพระพุทธเจ้า” ...ไม่ใช่ ถวายเพราะท่านทำมาต่างหาก สละทั้งหมด คิดดูสิ มีใครสละอย่างนั้น ? ไม่มีใครสละอย่างนั้นหรอก แต่สมัยนี้มี เห็นไหม สละดวงตา แต่ตายแล้วค่อยเอานะ สละอวัยวะ ตายก่อนค่อยเอา นี้สละกันสด ๆ สละเดี๋ยวนั้นเลย เดี๋ยวนั้นแล้วกระเทือนใจเดี๋ยวนั้นเลย

นี่เด็ก ความเป็นเด็กคิดแบบเด็ก ๆ แต่อย่าไปโทษเด็ก ความคิดอย่างนี้ ทุกคนไม่ภาวนา ไม่ลึกซึ้งเข้าไป มันจะคิดทุกคน นี่กิเลสในหัวใจคิดเห็นแก่ตัวหมด นี้ความเห็นแก่ตัวอันนั้น อันนี้มันถึงว่าถ้าลึกเข้าไปแล้วจะรู้เลย อ๋อ...อ๋อเลย พออ๋อแล้วนี่ถึงบางอ้อไง ถึงบางอ้อแก้กิเลสได้หมด เราเข้าไปอ๋อเอง อ๋อเอง

ถึงว่าอาจารย์มหาบัวท่านพูดนะ ท่านพูดประจำเวลาพูดกับพวกพระเณร “ฟังคำนี้ไว้นะ แล้วถ้าถึงแล้วจะมากราบศพทีหลัง” แต่พูดทีแรกไม่เชื่อหรอก เพราะกิเลสมันปิดไว้ ไม่มีใครเชื่อ เป็นไปได้อย่างไร ๆ ไม่มีใครเชื่อหรอก เป็นไปได้อย่างไร ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เห็นไหม เรากราบพระพุทธเจ้า กราบพระอรหันต์ อยากจะเป็นพระอรหันต์ อู๋ย กราบสูงส่งนะ เรายังเป็นไปไม่ได้ พอปัญญามันก้าวออกไป หมุนออกไป ๆ หมุนมาจากไหน มันเกิดดับในหัวใจ ธรรมจักรเกิดดับ ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาในหัวใจ มันก็เกิดมาจากสิ่งที่เรามุมานะกันอยู่นี่

มรรคหยาบ มรรคละเอียด เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ แล้วเรามีอะไรกัน เราก็เลยว่าสัมมาอาชีวะ ๆ อยู่นี่ สัมมาอาชีวะ ถูกต้อง แต่พระไม่ได้สัมมาอาชีวะอย่างนั้น สัมมาอาชีวะ อารมณ์ ใจนี่ ใจนี่คิดอะไร ใจคิดไม่ดีนั่นล่ะมิจฉาอาชีวะ เพราะว่าอารมณ์นี้เป็นอาหารของใจ ใจนี้เสวยอารมณ์เป็นอาหาร ความคิดนี่ ใจกับความคิดมันคนละอัน เวลามันเสวยอารมณ์ นั่นสัมมาอาชีวะ มันไม่คิดออกไปนอกเรื่องเลย พอคิดในเรื่อง คิดในเรื่อง คิดตลอด ๆ นี่คิดไป ภาวนามยปัญญาจะเกิด เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ มันบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ บริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะหมุนไป จนมันหมุนเป็นตัวมันเอง ธรรมจักรมันจะหมุน มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ที่ว่ามันไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครรู้ได้หรอก

ทีนี้พอพระพุทธเจ้ารู้มา เพราะผู้ที่รู้ออกมา ผู้ที่รู้ปัญญายังงง งงนะ เป็นไปได้อย่างไร ? เป็นไปได้อย่างไร ? แต่เป็นไปได้ ก็อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่สอนไง พอพระพุทธเจ้าสอน โอ๋ย จะเป็นไปได้อย่างไร แต่สุดท้ายแล้วก็พรหมนิมนต์ด้วย แล้วอีกอย่างหนึ่งท่านก็รู้มาได้อย่างไร นี่บารมีของคนมันมี บารมีของคน

นี่ปัญญาถึงสำคัญมาก แต่ปัญญาในการชำระตนนะ ไม่ใช่ปัญญาในการเบียดเบียนคนอื่น ปัญญาชำระตน ปัญญาของธรรม มันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะศีลบริสุทธิ์อยู่แล้ว ศีลบริสุทธิ์ขึ้นมา สมาธิมันเป็นกลางอยู่แล้ว ใจมันบริสุทธิ์ขึ้นมา มันหมุนเข้าไป ๆ หมุนเข้าไปชำระกิเลสของตัวเองหมดเลย สังโยชน์ขาดออกไปทั้งหมด

เด็ก ความเห็นของเด็กก็ยอมรับอยู่ แต่นี่ความจริงควรจะแก้ไขเด็กไง ถึงบอกเห็นไหม สัปปายะที่ว่านี่ครูอาจารย์อยู่ที่ไหน ถ้าครูอาจารย์ดีนี่มันไปได้ มันต้องลำบากบ้าง ทางสะดวกสบายไม่มีหรอก มันต้องลำบาก ต้องทุกข์ยากไป แต่ ! แต่ไปถึงตรงนั้นแล้วมันสุข มันสบาย มันไปถึงที่สิ้นสุดได้จริง ไม่เกิดอีกเลย ใจนี้เป็นสุขมาก

แต่การก้าวเดินไป ทุกคนต้องก้าวเดินเอง ทุกข์ต้องยอมรับว่าทุกข์ ทุกข์ทุกคน แต่ใครถึงตรงนั้นแล้วสุขจริง ๆ สุขอย่างไม่เกิดอีก ทุกข์ที่ว่าทุกข์ ๆ นี่ไม่มี ทุกข์เพราะเกิด ชาติปิ ทุกขา ชาติการเกิดถึงมีความทุกข์ ไม่มีการเกิดอะไรมันทุกข์ เราเกิดมารับภาระทั้งหมด ที่ว่าไม่เกิดก็คือว่าไม่มีทุกข์ ถ้าเกิดแล้วรับภาระทั้งหมด สมบัติจะขนาดไหนก็ทุกข์ ไม่มีทางเลยที่ไม่ทุกข์ เห็นไหม ถึงว่าการเกิดนี่ชำระแล้วหมด หมดเลย ทุกข์ไม่มี

************************************************************

วันพระ เวลาเราอยากปรารถนากัน เห็นไหม ปรารถนาความสุข ปรารถนาที่พึ่ง คนต้องการหาที่พึ่งไง เวลามันทุกข์ มันทุกข์ใจ ทุกข์ร้อนมาก อยากจะหาที่อยู่ที่พึ่งของใจ ทีนี้เราเกิดมามีวาสนาแล้ว เกิดมาพบพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานี่ ร่างกายอยู่ในสังคมวัฒนธรรมประเพณีไทย มีอยู่มีกินนะ ประเทศอื่นมีความทุกข์ยากมาก แต่นี่วาสนาของการเกิดมา ร่างกายนี่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แต่หัวใจมันยังไม่มีที่พึ่งจริง มันถึงต้องหาธรรมเป็นที่พึ่ง

นี่วันพระ ถึงว่าวันพระเรา ศาสนาเราสอนให้วันพระไปใส่บาตรแล้วฟังธรรม การฟังธรรมอันนี้มันจะเข้าถึงใจ ดูอย่างพระสิ พระเราบวชมาแล้วนะมันบวชที่กาย โกนหัว โกนผม โกนคิ้วแล้วห่มผ้าเหลือง แต่ต้องได้รับการสมมุติให้เป็นพระโดยตามความสมบูรณ์ ต้องได้รับการสมมุตินะ ต้องเป็นจตุตถกรรม ญัตติด้วยให้ขึ้นมาเป็นพระสงฆ์ สงฆ์โดยสมมุติ แต่พอเป็นพระขึ้นมาแล้วหัวใจมันยังไม่ได้บวชเป็นพระ พอหัวใจยังไม่ได้บวชเป็นพระ การฟังมา การศึกษาใคร่ครวญมา แล้วทำเป็นพิธีการไปเฉย ๆ พอทำเป็นพิธีไป ๆ มันก็จะเป็นโลกไป

ศาสนาถ้าเป็นตัวศาสนธรรม ตัวเจตนา นี่ตัวใจตัวปรารถนาตัวนั้นเป็นบุญกุศลแล้ว แต่นี้มันไม่คิดอย่างนั้น เพราะใจเรามันไม่มีหลัก มันเป็นนามธรรมเราจับต้องไม่ได้ พอไม่มีหลักเราก็เอาประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องหมาย ถึงบอกว่าวันพระนี่เป็นประเพณีเหมือนกัน เป็นประเพณี เป็นการสื่อกันว่าวันนี้วันพระจะต้องไปวัดไปวา นี่ประเพณี แต่ไปแล้วต้องขยับขึ้นมา จากโยมศรัทธาขึ้นมาบวชพระ จากพระบวชแล้วก็ต้องพยายามบวชใจให้ได้ พัฒนาใจของตัวเองขึ้นมาให้ได้ พอพัฒนาใจของตัวเองขึ้นมาจนเป็นหลักของธรรม หลักของใจมีอยู่แล้ว จะมองเห็นตรงนี้ชัดเลยว่าประเพณีวัฒนธรรม

ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องสื่อเข้ามา แต่เข้าไปถึงแล้วต้องทำให้ได้จริง พอทำได้จริงถึงเป็นหลัก พอเป็นหลักถึงว่าเจตนา เห็นไหม พอเราเอาไปถวายวัด เราเอาไปถวายพระนี่เป็นเจตนา เราตั้งใจแล้วถวายเลย แล้วไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความยุ่งยาก มันเป็นการพร้อมไป เป็นบุญกุศลพร้อมเลย ปฏิคาหก

เราเอาเมล็ดพืชหว่านไปในดินที่สมบูรณ์ เมล็ดผลพืชพันธุ์มันจะเกิดด้วยความสมบูรณ์เลย หว่านลงไปในหิน ในซีเมนต์มันจะเกิดได้อย่างไร ในหินมันไม่มีปุ๋ย ดินมันเป็นดินไม่ดี แต่เราก็หว่านลงไป ทีนี้ตอนนี้มันยังไม่เห็นก็ต้องทำอย่างนั้นก่อน มันอยู่ที่ตาของพวกชาวพุทธมีปัญญา ถ้ามีปัญญาเราจะเลือกเฟ้นไง เลือกเฟ้นหา หาดินดี ดินดีหาที่ไหนล่ะ

ถึงว่าเราชาวพุทธนี่เป็นเรื่องที่ลำบากมากเลย ที่ว่าจะไว้ใจใครได้ ไว้ใจได้หรือไว้ใจไม่ได้มันต้องไว้ใจใจเราให้ได้ก่อน ถ้าใจเราไว้ใจได้เราจะมีเครื่องวัดเลย เพราะเราปฏิบัติใช่ไหม ใจเรานี่เราปฏิบัติแล้วเรามีหลักมีเกณฑ์ พอมีหลักมีเกณฑ์ตรงนี้มันก็เห็นว่าถ้าหลักเกณฑ์เราไปสื่อกับพระ พระพูดผิดกับเรา ต้องมีเราผิดหรือพระผิด เห็นไหม

ถึงว่าถ้ามันไม่เดือดร้อน คือว่ามีเครื่องจับ ต้องมีหลักของใจก่อน มันต้องมีเครื่องมือของใจ คือเครื่องมือของเรา พอเรามีเครื่องมือเราก็ไปจับได้ ถ้าเราไม่มีเครื่องมือเราเอาอะไรไปจับ ถึงว่าต่างคนต่างพูดกันมากว่าเป็นเรื่องลำบากมากเลย เพราะเห็นว่าจะไว้ใจใครได้

อาจารย์มหาบัวถึงว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนก่อน” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าขึ้นมาก่อน ฟังธรรม ฟังธรรมแล้วดู พิธีกรรมเป็นพิธีกรรม ที่ไหนควรจะเป็นพิธีกรรมต้องให้เป็นพิธีกรรม พิธีกรรมนั้นมันเพื่อความสวยงาม ดอกไม้ถ้าอยู่บนต้น มันก็อยู่กันเป็นดอกของใครของมันแต่ละดอกเป็นอิสระไป พอดอกไม้ได้การร้อยมาจากเชือก จากด้าย มันก็จะเป็นพวงมาลัยขึ้นมา พิธีกรรมให้คนที่ว่าไปวัดไปวาเป็นความสมบูรณ์พร้อมกัน แต่ถ้าไปติดตรงนั้น ไปติดพิธีกรรมเฉย ๆ พอติดพิธีกรรม ทำถูกต้องหรือผิดพิธีกรรม อันนั้นจะว่าเราจะไม่ได้บุญกุศล

บุญกุศลเกิดตั้งแต่เจตนา เกิดตั้งแต่เมื่อวานนู่น เกิดตั้งแต่ก่อนที่คิดจะทำบุญ เราเกิดคิดทำบุญ บุญเกิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว มันไม่ได้อยู่ที่พิธีกรรม พิธีกรรมเป็นที่ที่สิ้นสุดของการทำบุญ มันเหมือนวินัยไง ธรรมและวินัย ธรรมนี้ละเอียดกว่าวินัยนะ นี่ขอบเขตของการทำบุญ หลุดจากมือเราไป สิ้นสุดของการสละออกไป อันนั้นเป็นบุญกุศล ใจขึ้นมาได้ พอใจขึ้นมาได้ ใจได้สละออกไป ถึงว่าพอใจเป็นธรรม ใจเรามีบุญกุศล นึกได้ วิญญาณาหาร

วิญญาณาหารคือความที่เราน้อมนึกถึงบุญกุศลของเรา มันจะมีความสุข อันนี้เป็นทิพย์ พอทิพย์นี่อุทิศส่วนกุศลออกไป เห็นไหม โทรจิตไง จิตถึงจิต เพราะใจเรานี่เราอุทิศส่วนกุศลออกไปแล้ว จิตนี้มันถึงอุทิศส่วนกุศลไปถึงรอบ ๆ ข้าง คนดีผีคุ้ม ผีคุ้มเพราะอะไร ? เพราะว่าเทวดามี โลกของวิญญาณเขามี เขาต้องการหาที่พึ่งอยู่ แล้วเราได้ที่พึ่ง

ความสุขของใจ เห็นไหม ศาสนาเราสอนถึงเรื่องของใจ เรื่องใจนี้เป็นภาชนะใส่ธรรม ถึงว่าหลักของใจ เรามีหลักของใจเราก็จับ เราก็เปรียบเทียบได้ เรามีหลักของใจเราก็เปรียบเทียบคนอื่นได้ เรามีหลักของใจ นี่หลักของใจเป็นที่ใส่ธรรม เป็นที่สัมผัสกับธรรม พอสัมผัสกับธรรมมันก็เป็นความชุ่มชื่น ใจมันก็ส่งถึงใจดวงต่าง ๆ ต่อไปที่อยู่ในสามแดนโลกธาตุ

เพราะทำความดีเทวดาต้องรู้ ทุกอย่างรู้หมด มันสื่อถึงกันหมดเพราะเป็นโลกของวิญญาณ แต่อุทิศส่วนกุศลนี้อุทิศส่วนกุศลแบบว่าเปรต พวกเปรต ญาติต่าง ๆ พวกนี้ได้บุญ แต่เทวดาบุญกุศลเขาเหนือกว่า พอเหนือกว่า เขาเหนือกว่าเรื่องของบุญกุศลใช่ไหม เขาเหนือกว่าเรื่องของอาหาร วิญญาณาหารนี่เขาเหนือกว่า แต่ทำดีเขารับรู้

ความเหนือกว่ามันเหนือกว่าด้วยปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย แต่ความสื่อ ความรู้ว่าบุญหรือบาป คนดีเทวดารับรู้ รับรู้ช่วยเหลือ พระอินทร์ต้องลงมา พระกัสสปะออกจากสมาบัติ พระอินทร์ยังลงมาใส่บาตรเพื่อต้องการบุญกุศล เห็นไหม นี่ขนาดว่าต้องมาแสวงหานะ

แต่ปกป้องล่ะ เวลาดูไปนี่ ดูสัตว์ดูโลกไป เพราะเป็นนกกระยาง เห็นนกกระยางเคยเป็นคู่เก่า พยายามจะดึงกลับ ดึงกลับว่าเป็นนกกระยางอยู่ ในธรรมบทเป็นนกกระยาง เพราะว่ามีภรรยาคนอื่นร่วมทำบุญไปด้วย แต่ตัวเองนอนใจอยู่ เป็นนกกระยางอยู่ พระอินทร์ลงมาโปรดเลย ลงมาโปรดว่า “จำไม่ได้หรือว่าบุญกุศลเคยสร้างอยู่ แล้วทำไมมาเกิดเป็นนกกระยาง มาเที่ยวหาสัตว์ หาอาหารอยู่นี่” ให้ถือศีลไง นกกระยางไม่จับสัตว์หากินมันก็ต้องอดตาย อยู่ในศีลในธรรม ศีล ๕ จนสละชีวิต ดับจากนกกระยางขึ้นไปเกิดใหม่ ขึ้นไปเกิดเป็นเทวดาเหมือนกัน นี่ตามขึ้นไปได้ นี่เวลามาโปรด

ถึงว่าคุณงามความดีมันถึงกันหมด แต่การอุทิศส่วนกุศลไปได้รับหรือไม่ได้รับ นั่นเขาไม่รับ แต่คุณงามความดี บุญกุศลถึงว่าความดีมันสื่อกันได้หมด ทุกคนต้องการความดี ทุกคนต้องการความเป็นธรรม ทุกคนต้องการความถูกต้อง ถ้าเป็นความดีใคร ๆ ก็รับรู้ รับรู้ว่าคนนี้เป็นคนดี เราทำความดี ผู้ใหญ่ยังว่าเด็กคนนี้เป็นคนดี พ่อแม่นี่ลูกคนไหนดีจะรู้เลยว่าลูกคนนี้เป็นคนดี แล้วผู้ใหญ่ เห็นไหม ศีลหอมทวนลม ศีลจะหอมทวนลมไปเรื่อย ๆ ทวนขึ้นไป แต่ถ้ากลิ่นของดอกไม้มันยังหอมไปตามลม กลิ่นของศีลของธรรม

นี้ว่ามันเป็นไปได้ยาก เพราะอะไร ? เพราะดูสิเรามาวัด เห็นไหม มาวัดเขายังว่าเลยคน ๆ นี้ไม่มีปัญญา ทำไมต้องไปวัด คนไปวัดต้องมีปัญหา...มีปัญหาทุกคน คนเกิดมาทุกคนมีความทุกข์หมด คนเกิดมามีกิเลสหมด แม้แต่พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะยังต้องออกแสวงหาโมกขธรรม องค์ของศาสดาทำมาก่อน มันเป็นของเหนือโลกไง มันถึงว่าขัดกับโลกนี้ เวลาจะออกมาจากโลกนี้ โลกนี้ต่อต้าน โลกนี้ติเตียน แต่เวลาพ้นออกไปแล้ว เวลาปฏิบัติไปจนใจนั้นเป็นธรรมขึ้นมา ทำไมกลับมาช่วยโลกล่ะ

พระพุทธเจ้าองค์เดียวช่วยสามแดนโลกธาตุ เห็นไหม พระเรานี่ อริยสาวกต่าง ๆ ช่วยโลกมาขนาดไหน แต่ทีนี้ว่าเราจะทำบุญกุศล เราจะหายามันต้องหายาที่ถูกตรงนี้ ถึงว่าไม่ใช่พระประเพณีไง ไม่ใช่ทำแค่ประเพณีวัฒนธรรม มันเหนือประเพณีไป แต่ก็เห็นว่าประเพณีนี้เป็นบาทฐานก้าวขึ้นมาอยู่ แต่พอพ้นตรงนั้นไป...

ถึงว่าพระเรามันถึงต้องดูตรงนั้นด้วย วันนี้วันพระ เรามีหลักใจ เรารู้จักหลักความเป็นจริง เรามีหลักใจแล้ว เราเข้าใจศาสนา ประเพณีเป็นประเพณี ไม่ปฏิเสธประเพณีนั้น แต่เราไม่ติดในกรอบอันนั้นไง กรอบอันนั้นจะให้เราอยู่แค่นั้น กรอบของประเพณีจะทำให้เราผิดจากนั้นไปไม่ได้เลย แล้วมันก็มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง ใจที่มันจะสูงขึ้นไปมันจะสูงขึ้นไปไม่ได้ ต้องติดในประเพณีนั้น ประเพณีนั้นวางไว้นั้นเลย นี่พระป่าเป็นอย่างนั้น พระป่า ธรรมะป่า เห็นไหม ธรรมะป่าไม่มีขึ้นต้น ไม่มีต้น ไม่มีปลาย พอจังหวะแล้วขึ้นเลย

นี่เหมือนกัน ใจเวลามันทุกข์มันไม่มีเหตุมีผล อยู่ดี ๆ มีความสุขอยู่ พอมันผิดใจมันทุกข์ไปทันทีเลย เห็นไหม พอมันผิดใจมันทุกข์แล้ว พอมันถูกใจมันก็มีสุขของมัน นี่มันต้องทันกันอย่างนี้ เวลาสุข เวลาทุกข์มันเกิดขึ้นมา มันมาโดยจรมา มันมาโดยอัตโนมัติเลย แล้วเราจะแก้ขึ้นมา เราจะเอาพิธีกรรมไปแก้มันไม่ทัน พิธีกรรมไปแก้มันต้องเจตนาทันกัน สติพร้อมหมด สติเราจะเกิดตลอดเวลา ถ้าเราหัดประพฤติปฏิบัติ เราสร้างสติไว้ตลอดเวลา เวลามันไหวไป ถ้าสติทัน นั่นแน่ ! เห็นไหม ทุกข์อีกแล้วหรือ นี่ธรรมะมันจะแก้ทันทีเลย มันถึงว่าทันกันไง

ความที่จะแก้กิเลสทัน มันต้องแก้โดยสัญชาตญาณของมันเลย สัญชาตญาณกิเลสมันเกิด ทุกข์มันเกิด นี่ทุกข์มันเกิด ความรู้เท่าจะไหวตัวไปทันที มันถึงว่าเป็นระบบไม่ได้ เป็นพิมพ์เขียวไม่ได้ มันต้องเป็นปัจจุบันธรรม เป็นอัตโนมัติตลอด เวลาจิตมันไหวออกไปมันเกิดทันที ทุกข์มันเกิดทันที นี่เวลาทุกข์มันเกิดทันทีมันก็ต้องมีสติยับยั้งทันที ยับยั้งได้นะ นี่ขันติบารมี ถ้ายับยั้งแล้ว คนที่สูงกว่านั้นยับยั้งได้ ยังติเตียนได้ ยังใช้ปัญญาถอดถอนได้ อันนี้ผิดพลาด ไหนว่าตัวเองจะชำระกิเลสไง ตัวเองเป็นผู้มีธรรมไง อันนี้ไม่ใช่ธรรม อันนี้กิเลสชัด ๆ กิเลสเกิดแล้ว

ทำบุญเหมือนกัน ทำบุญขัดกับประเพณี ขัดความผิด ว่าประเพณีทำอย่างนี้ ลัดขั้นตอนไปก่อน พอผิดขึ้นไปเราก็จะว่าอันนี้ผิด ไม่พอใจแล้ว นี่เป็นเกิดทันที เห็นไหม นี่ระบบ ถ้าเราติดในระบบมันจะไปไม่ได้

ทำบุญนี่ทำไปเลย ผิดถูกเจตนาเราพร้อมแล้ว ความผิดพลาดมันมีตลอดเวลา ปัญญามันเกิดขึ้นมามันถอนออกทันที มันจะถอนความเห็น ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาจะถอนความเห็นผิด พอถอนความเห็นผิด ไอ้ความที่ว่าขัดใจมันก็จะไม่มี นี่ยับยั้งได้ สติยับยั้งได้ ปัญญายังถอดถอนตาม ถอดถอน สติยับยั้งไว้เฉย ๆ ปัญญาถอดถอนออกจนหมด มันถึงว่ามันถึงไม่อยู่ในระบบไง ไม่อยู่ในประเพณีวัฒนธรรม เห็นไหม

ถึงว่าจริตนิสัยของคน พระพุทธเจ้าเปิดไว้ถึง ๔๐ ห้อง การทำความสงบไม่ต้องกฎตายตัวว่าต้องทำพุทโธอย่างเดียว หรือว่าธัมโม สังโฆอย่างเดียว อย่างไหนก็ได้ คำบริกรรมเราจะเปลี่ยนหรือว่าเราจะหาอุบายการกล่อมใจของตัว ทำใจให้สงบ ถ้าใจมีหลักอย่างนั้นถึงจะเข้าใจ

พระก็เหมือนกัน ถ้าพระปฏิบัติได้เพศของพระมาแล้ว เห็นไหม แต่ถ้าบวชใจเข้าไปด้วย พระถึงว่าเหนือคนไง พระเป็นแค่พระพิธี พระเป็นพระพิธี เขาอยู่ในพิธีของเขาไป พระบวชแล้วก็แค่ทำพิธีกรรมเฉย ๆ พระเหมือนตรายางหรือ เป็นพระเหมือนกับวัตถุอันหนึ่ง เป็นแค่ตรายางคอยประทับตรา ใครส่งเอกสารมาก็ประทับตรา

นี่ก็เหมือนกัน ลองพระให้พร “ยถา - สัพพี” คือว่าพระนั้นรับการทำบุญนั้นครบ เห็นไหม นี่เป็นแค่ตรายางไง แต่ถ้าพระองค์นั้นปฏิบัติมีหลักของใจแล้ว ประเพณีก็ประเพณี แต่หลักของใจ หลักของธรรมต้องเป็นหลักของธรรม แล้วข้ามพ้นไป ยกขึ้นจากประเพณี ประเพณีไว้แต่คนที่ว่ามาใหม่ แต่ยกขึ้นประเพณีไป คือว่าให้มันฝึกให้ทันกิเลสไง ฝึกให้คนมีหลักที่สามารถจะยับยั้งกิเลสได้ จะทันกิเลสได้ ทันกิเลสได้มันต้องพร้อมเสมอไง

ตาสับปะรดไม่เหมือนตาเรา ตาสับปะรดมันรอบตัว ปัญญาของจิตก็เหมือนกัน มันก็ออกเหมือนกับปัญญา มันออกเหมือนตาสับปะรด มันจะไปทันที เรามีแค่ ๒ ตา มี ๒ ตามันไม่ทัน ถ้าตาสับปะรดแล้วมันรอบตัว มันทันไปได้ นี่ปัญญา ถ้าเราฝึกฝนจะเกิดอย่างนั้น นี่ฟังธรรมต้องฟังอย่างนี้

ธรรมคืออะไร ? ธรรมเป็นศาสนธรรม แต่กิริยาของใจ ความคิดที่ริเริ่มออกจากใจ ความริเริ่มที่ออกมาจากใจเหมือนตาสับปะรดไง มันเกิดได้ตลอดเวลา นี้มันเหมือนออกมาจากตาสับปะรดมันก็ต้องมีธรรม คือตาสับปะรดเข้าไปทันกันกับความเห็นอันนั้น ถ้าความเห็นอันนั้นถึงเป็นปัจจุบันธรรม ถึงไม่ใช่พระประเพณี ถึงไม่ได้ปฏิบัติตามประเพณี ปฏิบัติตามประเพณีก็เป็นปฏิบัติตามประเพณี อันนั้นเป็นพิธีกรรม เป็นบาทฐานก้าวขึ้นมาเฉย ๆ เป็นบาทฐานก้าวขึ้นมาให้ใจเราพัฒนาขึ้นมา จนเราเข้ามาถึงศาสนา แล้วเราได้ฟังธรรมอย่างนี้ นี่ธรรม

ธรรมคือหลักของความเป็นจริง ผู้ที่มีหลักใจแล้วมันจะไม่คลาดเคลื่อนจากตรงนี้ ถึงจะเป็นพระที่ว่าเป็นผู้นำของโลกได้ เป็นผู้นำ เป็นผู้ที่รู้แล้วไม่ติด ถ้ารู้แล้วติดประเพณี เราต่างคนต่างติเตียนกัน ผู้มาทำบุญก็ว่าพระทำไม่ถูก พระก็ว่าผู้ที่ทำนั้นทำไม่ถูก ต่างคนต่างเอาประเพณีเป็นกรอบแล้วติเตียนกัน พยายามจะเข้าให้ถูกอันนั้น ให้ถูกประเพณีที่ว่าตัวเองยึดไว้ไง

ประเพณีวัฒนธรรมมันเคลื่อนไป มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีชุดใหญ่ ชุดเล็กเหมือนกัน ประเพณีต่าง ๆ เห็นไหม พิธีกรรมถ้าให้ครบสูตรมันจะเป็นอย่างนั้น ตัดทอนให้มันเล็กลงไปอย่างนั้น มีชุดใหญ่ ชุดเล็ก แต่ตาสับปะรดมันพร้อมเสมอ มันเกิดดับ ๆ ตลอดเวลา มันยิ่งกว่าประเพณีอีก ก่อนที่ว่าเป็นประเพณีต้องคนคิดขึ้นมาก่อน แล้วค่อยว่าออกกันมาก่อน แต่อันนี้มันรู้รอบหมดมันเลยไม่ทำให้ตัวเองต้องไปติดในประเพณีนั้นไง นั้นถึงว่าการทำบุญ เห็นไหม การทำบุญ

วันนี้วันพระ ตรวจดูพระ ถึงว่ามันเป็นความลำบากยอมรับอยู่ ถ้าอย่างนั้นถึงว่าลำบากมาก ประเพณีเป็นอย่างไร ผิดถูกเราไม่รู้ตามความเป็นจริง แล้วอริยประเพณีของพระอริยเจ้าทำอย่างไร ธุดงควัตรทำอย่างไร ประเพณีของพระอริยเจ้า เห็นไหม การทรงไว้ซึ่งธุดงควัตรไง

วัตร ๑๔ นี่อริยประเพณีที่พระจะชำระกิเลส แค่วินัยกฎหมายมันก็มีไว้เฉย ๆ กฎหมายไว้ขู่คน ขู่ไม่ให้ทำผิด แล้วนี่ยังธุดงควัตรเข้าไปอีกเพื่อรัดเข้าไป ๆ นี่ถึงจะมีธรรมจริง ๆ อย่าว่าแต่ศีลธรรมเลย มันยังเหนือในศีล ศีลในศีลนั้นอีก มันเป็นธุดงควัตรในนั้นอีก มันถึงว่าเหนือขึ้นมาได้ไง ความจะเหนือขึ้นมาได้มันต้องมีการเข้าหาก่อน แล้วถึงออกมา ถึงว่าเป็นหลักได้ นี่วันนี้วันพระ