ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ค้นหาจิต

๒๕ ธ.ค. ๒๕๕๒

ค้นหาจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เวลานั่งวิปัสสนาครับ ผมไม่เคยนั่งมาก่อนเลยครับ แล้วมาฝึกประมาณ เมื่อไม่ถึงอาทิตย์ที่ผ่านนี่มาครับ แล้วผมรู้สึกทรมานมากเลยครับ หมายถึงทรมานทางร่างกายครับ แล้วมันรบกวนเวลาผมนั่งวิปัสสนาครับ ก็อยากจะทราบว่า ทำอย่างไรถึงจะชนะกิเลสทางด้านความเจ็บปวดได้ครับ

หลวงพ่อ : อันนั้นอันหนึ่งเนาะ เดี๋ยวเราจะเริ่มก่อนเลยเนาะ ชนะความเจ็บปวด เดี๋ยวถามไปเรื่อยๆ แล้วเราจะตอบไปเรื่อยๆ เนาะ

เริ่มต้นความเจ็บปวด เราต้องพูดถึงตรงนี้ก่อน ตรงที่มีที่มาที่ไปไง ถ้าไม่มีร่างกายมนุษย์นี่อะไรมันจะเจ็บปวด ความรู้สึกมันเจ็บปวดไม่ได้หรอก แต่ความรู้สึกมันเจ็บปวดไม่ได้ แล้วทำไมมันมีเวทนากายกับเวทนาจิต เวทนาของกายเห็นไหม เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยนี่เวทนาของร่างกาย แต่เวลาเจ็บปวดเห็นไหม เสียใจน้อยใจ ความทุกข์ใจ น้อยใจนั่นล่ะเวทนาของจิต ทีนี้เวทนาของจิต ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรมะ เราไม่ได้ค้นคว้าในทางนี้ เราจะไม่รู้สิ่งใดเลย

โดยปกติมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ดูสิ เรานั่งกันนานๆ นี้เรานั่งกันได้ไหม แต่โดยธรรมชาติของมัน โดยสัญชาตญาณของเราใช่ไหม พอเมื่อยเราก็พลิก เราก็จะไม่เห็นคุณค่าอะไรของมันเลย ทีนี้พอเราจะมาวิปัสสนา คือว่าเราจะนั่งเพื่อให้จิตสงบ แล้วจิตมันจะสงบได้อย่างไร ดูความรู้สึกต่างๆ เห็นไหม ดูทางโลกสิ อากาศต่างๆ มันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกของคนมันก็อนิจจัง ก็แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ทีนี้มันแปรปรวนตลอดเวลา นี่ไง พลังงานไง พลังงานที่มันเคลื่อนที่ตลอดเวลา ธรรมชาติของมัน มันจะเคลื่อนที่ของมันอยู่แล้ว ทีนี้พอเรามาศึกษาธรรมะ เราศึกษาเรารู้ว่านี่คือคุณประโยชน์เห็นไหม ถ้าเราเอาชนะตัวเราเองได้จะเป็นประโยชน์ พอเป็นประโยชน์ปั๊บเราเชื่อ เชื่อในธรรมของพระพุทธเจ้าว่าต้องทำความสงบ ทำสมถะก่อน แล้วจะมีวิปัสสนา เราจะเอาชนะตนเอง พอจะเอาชนะชนะตนเองปั๊บนี่ มันกิเลส ๒ ชั้นไง ชั้น ๑ ธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่แล้วจริงไหม ธรรมชาติของมันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

สิ่งใดที่มันเคลื่อนที่แล้วจับบังคับให้มันนิ่ง มันต้องมีการต่อต้านเป็นธรรมดา แต่แล้วพอเรามีความอยากอีกเห็นไหม มีความอยากแล้วเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าบอกว่าเวลาจิตสงบแล้วจะมีความสุขมาก เวลาถ้าเราชนะตัวเองจะมีความสุขมาก ไอ้ความต้องการอย่างนี้ ไอ้ความต้องการของเรา กิเลสมันก็เข้าไปเสริมไง ไปเสริมให้การทำนี่ยากขึ้น การปฏิบัตินี่ยากขึ้น

พระจะพูดกันบ่อย เวลาเราอยากทำความดีกัน แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะละความชั่ว เราบอกว่าอยากได้ความดี แต่ว่าเราไม่เคยคิดว่าดีกับชั่วนี้มันมาจากไหน ดีกับชั่วมันมาจากที่เดียวกัน ดีกับชั่วมาจากที่เดียวกันเพราะมาจากจิตจริงไหม ความคิดของเรา ทั้งแง่บวกและแง่ลบมันมาจากไหน มันมาจากจิต แล้วจิตนี้มันคืออะไร ปฏิสนธิจิต จิตนี้มันมีอวิชชา อวิชชาคืออะไร พลังงาน

ดูสิ เวลาไฟไหม้สลัม เห็นไหม มันไหม้ไปหมดเลย พลังงานมันมีอยู่ พลังงานมันมีอยู่ แต่ไม่รู้จักตัวมันเอง เห็นไหม มันไหม้เขาหมดเลย มันทำลายเขาหมดเลย นี่คืออวิชชา อวิชชาคือพลังงานไง อวิชชาคือความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อวิชชาเห็นไหม แต่อวิชชา ความไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องเป็นขอนไม้สิ ไม่รู้ก็ต้องคนที่ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดเลยสิ ไม่รู้แต่ทำไมมันมีจิตล่ะ จิตทำไมมีคุณภาพล่ะ จิตทำไมมันมีเกิดตายล่ะ นี่ไง ตัวที่ว่าดีหรือชั่ว มัน ๒ ชั้นนะ ดีเราก็พอใจ ชั่วเราก็ขับไส เราไม่ต้องการเห็นไหม ดีกับชั่ว

ทีนี้ดีกับชั่วนี้ มันก็มีตัณหาความทะยานอยากมีความพอใจไง จากที่มา นี่ไง ดีกับชั่วเกิดมาจากจิต แล้วจิตมันดันไม่รู้จักตัวมันเองอีก ไม่รู้จักตัวมันเองอีกเห็นไหม ๒ ชั้นเห็นไหม จิตนี้ไม่รู้จักตัวมันเองนะ แต่ถ้าอย่างที่เรานั่งวิปัสสนาไป แล้วมันปวด เวลามันปวด หรือว่ามันอึดอัดขัดข้องต่างๆ ความเครียดมันจะมีร้อยแปดเลย ถ้าพูดถึงว่าถ้าตามธรรมดาของมัน มันไปตามธรรมชาติของมัน คือว่าถ้ามันพอใจสิ่งใด มันก็ดิ้นรนไปหามัน แต่พอเรามีสติ เราเริ่มจะควบคุมมัน

เราควบคุมด้วยอะไร ควบคุมเพราะเราเชื่อถือศรัทธาในพระพุทธศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา ใช่ไหม พอเราจะมาบังคับมัน เราตั้งใจว่าจะบังคับมัน นี่เห็นไหม ธรรมะเกิด เกิดได้บางครั้งบางคราว แต่กิเลสมันเกิดตลอดเวลา พลังงานที่ออกมานี้มันมีอวิชชามาโดยธรรมชาติของมันใช่ไหม พลังงานที่ออกมาจากแหล่งพลังงานที่สกปรก พลังงานนี้เกิดจากสิ่งที่สกปรก เห็นไหม พลังงานนี้เกิดจากสิ่งสกปรกแล้ว พลังงานนี้มันยังดีหรือชั่ว ออกมาอีก ๒ ชั้น เห็นไหม

แต่เพราะความเชื่อของเรา เพราะความเชื่อในพระพุทธศาสนา แล้วเราพยายาม จะบังคับ เราจะพูดเป็นวิทยาศาสตร์ให้เห็นว่า ในเมื่อมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น แต่ด้วยความไม่เข้าใจของเรา เราก็ต้องการความที่ว่าปฏิบัติแล้วมันควรจะมีความสงบ มันควรจะมีความสุข อย่างที่ในตำราเขาบอก แต่เวลาเรานั่งไปแล้วมันเป็นตามนั้นไหม ไม่เป็นตามนั้นเพราะว่าอะไร ไม่เป็นตามนั้น เห็นไหมหลวงตาจะพูดบ่อย บอกว่าธรรมะนี้เป็นประโยชน์หมด ความดีนั้นทุกคนต้องการ สิ่งที่ดีสิ่งที่เป็นประโยชน์ทุกคนต้องการหมดล่ะ แต่ทีนี้สิ่งที่ดีที่ต้องการ มันต้องมีการกระทำมา นี่อันนี้สำคัญ

มันต้องมีการกระทำมันถึงจะเกิดขึ้น อย่างเช่นผลดี ผลตอบสนองจากการกระทำของเรา ดีหรือชั่ว ทีนี้เราจะได้ความสุขความสงบมา มันก็ต้องมีการกระทำเห็นไหม ทีนี้พอการกระทำอันนั้น พอเราเชื่อนี้เราก็มีการกระทำ พอมีการกระทำ มันก็ต่อต้าน เราจะบอกว่าธรรมะไม่เคยให้โทษใครนะ สิ่งที่ให้โทษคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก โดยพลังงานอันสกปรกอันนั้น มันต่อต้าน มันไม่ต้องการ เพราะมันไปขีดวงมัน

อย่างเช่นเราขีดวงความคิดของเรา ขีดวงความต้องการของเรา เราขีดวงมันแล้ว พอขีดวงนี่มันต้องมีแรงดิ้นรนไหม โดยธรรมชาติของมันเลย ทีนี้พอแรงดิ้นรนเราไม่เห็น เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นเราไง ทุกคนจะคิดว่าเราคิดดี คิดถูกหมดล่ะ แล้วอย่างนี้เวลาเรามานั่งสมาธิ ก็ไปเปิดตำราได้เลยนะ นั่งขาซ้ายทับขาขวา มือซ้ายทับมือขวา ถูกต้องหมดเลย ถูกต้องตามทฤษฎีหมด ถูกต้องตามแบบอย่างหมดเลย แล้วทำไมไม่เป็นสมาธิล่ะ ทำไมมันไม่เป็น นี่ไงมันไม่เป็นสมาธิ เพราะเราดูตามตำราใช่ไหม

นี่เราบอกว่า มันต้องมีการกระทำ มันต้องมีการฝืน เราจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมา ถ้ามันเป็นความสงบ เป็นความสุขนี่นะ มันเกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ มันเกิดขึ้นมาจาก สันทิฏฐิโก รู้จริง เป็นข้อเท็จจริง ตามความเป็นจริง แต่ทีนี้พอเราปฏิบัติไป สิ่งที่ต่อต้านคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่เป็นเรา ตอนนี้ทุกอย่างนี้เป็นเรา โดยธรรมชาติของมนุษย์นะ ทุกคนนะเข้าข้างตัวเองหมดว่าตัวเองคิดถูกคิดดี ทำถูกทำดีทั้งนั้นเลย อย่างนี้ กรณีอย่างนี้มันถึงเกิดขึ้นตามวัย เห็นไหม

ดูสิพ่อแม่ เด็กตั้งแต่วัยอ่อนเห็นไหม วัยเด็ก วัยรุ่น ความเห็นของเขาจะพัฒนามาแตกต่างกันไปหมดเลย ถ้าจะพูดกันรู้เรื่องมันจะรู้เรื่อง ถ้าพูดไม่รู้เรื่องมันจะไม่รู้เรื่อง นี่พูดถึง มันต่างกันโดยวัยนะ แล้วใจของเราล่ะ กิเลสกับธรรมล่ะ ถ้าอย่างนี้มันมีแล้ว ถ้าเราจะต่อสู้นะ เจ็บปวดนี้ มันมี ๒ ประเด็น เวลาเรานั่งแล้วมันเจ็บปวดมี ๒ ประเด็น

ประเด็น ๑. ยกตัวอย่างนะ เด็กเล่นเกม กับผู้เล่นการพนัน เขานั่งกันทั้งคืนเลย เขาไม่เจ็บเลย เห็นไหม เด็กเล่นเกม มันเล่น ๗-๘ ชั่วโมงนะ มันกดได้ทั้งวันเลยนะ แล้วมีความสุขนะ ทำไมมันไม่เจ็บปวดล่ะ เพราะจิตมันไม่รับรู้ตรงนี้ จิตมันไปอยู่ที่เกม นักการพนันเขาได้เสียของเขา จิตมันส่งออก มันข้ามจากตรงนี้ไปไง มันไม่รับรู้เรื่องของร่างกายนี้เลย ทีนี้พอไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย จิตมันไปอยู่ข้างนอก อย่างนั้นมันเป็นเรื่องของโลกเห็นไหม

แต่เวลาเรานั่งสมาธิ เราต้องการจะควบคุมความรู้สึกอันนี้ จะดีหรือชั่วก็มาจากที่เดียวกัน ดีและชั่วมาจากจิต เราจะย้อนกลับไปอยู่ที่จิตนั้น มันยิ่งชัดเจนไง พอยิ่งชัดเจน พอใจจะเริ่มควบคุมมันเห็นไหม ความรับรู้ของจิต มันรับรู้เรื่องของร่างกาย เจ็บปวดมาก ยิ่งถ้าอยากหาย ยิ่งเจ็บ ๒ เท่า ๓ เท่า วิธีการแก้ของมันนะ ถ้าเรานึกพุทโธใช่ไหม พุทโธๆๆๆๆ พุทโธชัดๆ เด็กเล่นเกม นักการพนัน ทำไมเขาไม่เจ็บปวด เพราะจิตของเขาไปอยู่ที่ผลได้เสียของการเล่นพนัน เด็กเล่นเกม จิตนี้มันจะไปอยู่ที่ผลของเกมที่มันเล่นนั้น

พุทโธๆๆๆๆ จิตนี้จะไปอยู่ที่พุทโธนั้น จิตนี้จะไม่รับรู้เรื่องอาการเจ็บปวดนี้ ถ้าทำชัดๆ นะ พุทโธๆ พุทโธๆ ถ้าจิตมันอยู่กับพุทโธ แต่ทีนี้ถ้าบอกว่า “อ้าวก็พุทโธตะโกนจนลั่นเลย แต่มันก็ยังเจ็บ”

มันพุทโธที่ปาก เราพุทโธโดยความลังเลสงสัย เราไม่ซื่อสัตย์กับพุทโธขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกมันจริงๆ ออกมาจากใจ นึกพุทโธ วิตกวิจาร วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตกขึ้นมา พุทโธในหนังสือตำรานะ พ พาน สระอุ ท ทหาร สระโอ ธ ธง พุทโธนั่นชื่อ พุทโธไม่มี พุทโธนั้นเป็นชื่อนะ มันเป็นตัวอักษร

แต่เรานึกพุทโธ พุทโธถึงมีใช่ไหม ถ้าเราไม่นึกพุทโธจะมีไหม เขาพูดก็พูดกันไป เป็นลมปาก แต่เรานึกพุทโธ พุทโธจะเกิดจากจิตเรา เรานึกขึ้นมา เกิดวิตก เรานึกพุทกับโธนี้เป็นวิจาร คือจิตกับพุทโธมันจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย มันไม่ใช่พุทโธด้วย เรานึกพุทโธนะปวด พุทโธปวด ปวดพุทโธ พุทโธปวด มันพุทโธที่ปาก มันก็เหมือนกับ พุทโธอยู่ในตัวหนังสือไง แต่พุทโธมันไม่เกิดจากวิตกจริง ไม่เกิดจากจิตทั้งหมด

ถ้าเกิดจากจิตอย่างนี้มันต้องมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นมากๆ พุทโธๆ พุทโธๆ เริ่มต้นมาพุทโธเลย พุทโธๆ พุทโธๆ แล้วถ้าจิตมันอยู่กับพุทโธนะ ความรับรู้เรื่องของความเจ็บปวดนี้ มาไม่ทันหรอก นี่เรียกว่านักหลบ

เราจะบอกว่าการต่อสู้กับเวทนานี้มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งถ้ากำลังเราไม่พอ เราพุทโธๆๆ ให้อยู่กับสมถะ คือหลบมันมาก่อน หลบมาสร้างกำลังของเราก่อน หลบมาสร้างให้จิตนี้เข้มแข็งขึ้นมาก่อน

เราพุทโธๆ พุทโธๆ จนหลายๆ ชั่วโมงนะ ไม่มีอะไรเลย เจ็บก็ไม่มี อยู่กับพุทโธ แล้วถ้ามันแน่วๆๆๆๆ เข้าไปนะ พุทโธจะละเอียดไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จะเห็นเลย นี่จิตเห็นไหม จิตเราควบคุมมัน ต้องมีสติ มีสติมีคำบริกรรม แล้วควบคุมพลังงานอันนี้ พลังงานอันนี้มันเป็นเอกภาพ พอเป็นเอกภาพ มันจะพุ่งตรงเข้าสู่พุทโธเห็นไหม พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่เป็นชื่อพระพุทธเจ้านะ พุทโธ พุทธะ พระพุทธศาสนา พุทธศาสนา ศาสนาของพุทธะ ศาสนาของผู้ที่รู้ตื่น แล้วเวลาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าที่ไหน เขาจะไปอินเดียกันไง สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ไง แต่หลวงตาบอกเลย นั่นมันต้นโพธิ์

แต่ถ้าเราจะเฝ้าพระพุทธเจ้า พุทโธนี่ไง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทธะคือหัวใจของเรา ถ้าใครอุปัฏฐากใจเราก็เท่ากับอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า แล้วถ้าเข้าถึงพุทโธจริงนะ พอมันละเอียดเข้า ละเอียดเข้า จนพุทโธนะ โดยธรรมชาตินะ มนุษย์นี้มันมีความคิดกับพลังงาน มนุษย์มีของคู่ มืดคู่กับสว่าง สุขคู่กับทุกข์ หญิงคู่กับชาย คู่หมดเลย ความคิดคู่กับจิต พลังงานมันมีอยู่ เวลาเราไม่นึกอะไร พลังงานอยู่ไหน เราก็มีของเราใช่ไหม ความรู้สึกเรามี แต่เราไม่ได้คิด พอมันคิดมันแว็บไปแล้ว ไปเสวยอารมณ์ ไปหมดเลย ไปหมดแล้ว

ทีนี้เรานึกพุทโธๆ พุทโธก็เป็นความคิดอันหนึ่ง เพราะเรานึกขึ้นมา พุทโธก็เป็นความนึกขึ้นมาอันหนึ่ง เราไม่นึกขึ้นมาพุทโธก็ไม่มี พอเรานึกพุทโธขึ้นมาเห็นไหม มันเป็นความคิด พุทโธนี่หยาบๆ เห็นไหม แล้วมันถึงแก้ปวดไม่ได้ไง พุทโธเป็นความคิด เราคิดว่าพุทโธ แต่ความรู้สึกเราบอกว่าปวดๆ ปวดๆ พุทโธๆๆๆๆ มันสั้นเข้ามาเรื่อย พุทโธๆ ต้องมั่นใจ มั่นใจแล้วพุทโธ ตะโกนขึ้นมาเลย นึกขึ้นมาในใจให้เต็มที่ พุทโธๆๆๆๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ถ้ามันมีสตินะ จะปวดขนาดไหนก็ช่างหัวมึง เพราะบางทีพุทโธไปแล้ว แต่ยังรับรู้สึกปวดอยู่

ถ้าพุทโธชัดๆ ชัดๆ ชัดๆ ชัดๆ ชัดๆ จนพุทโธไม่ได้เลย ปวดมันจะไปไหน ปวดมันจะไปไหน โดยธรรมชาติ เนื้อปวดเป็นไหม กระดูกปวดได้ไหม เส้นเลือดปวดได้ไหม ไม่ได้หรอก ความรู้สึกปวด เส้นเลือด กระดูก ผิวหนัง ปวดได้ไหม ไม่ได้หรอก แล้วทำไมมันปวดที่เข่า ทำไมเข่ามันปวด มันปวดได้อย่างไร นี่เพราะจิตมันรับรู้ จิตโง่อย่างเดียวเลย มันถึงเกิดขึ้นมาเป็นสภาวะแบบนี้ นี่พูดถึงว่า พุทโธๆๆ จนจิตมันสงบเข้ามาได้นะ เราจะเห็นความมหัศจรรย์

เราพูดบ่อย สมาธิสามารถแยกกายกับจิตได้ กาย ร่างกาย ร่างกายกับหัวใจ พุทโธๆๆๆๆ จนเป็นอัปปนาสมาธินะ จิตสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้ คือไม่รับรู้ร่างกายนี้ ถ้าลง อัปปนานี่นะ ตาหูจมูกลิ้นกายไม่รับรู้สิ่งใดเลย ลมพัดมาไม่มีความรับรู้ความรู้สึกเลย สักแต่ว่ารู้ คือจิตมันเป็นเอกเทศของมัน ร่างกายนี้อายตนะทั้งหมด มันดับหมด มันเหลือแต่ตัวจิตเลย สมาธิลึกๆ นี่แยกกายกับจิตออกจากกันได้เลย แต่แยกโดยสมถะ ไม่มีผลในวิปัสสนา ไม่มีผลของมรรคผล ไม่ใช่มีผลตรงนั้น มันมีผลเฉพาะความสงบของใจ

ทีนี้พอพุทโธๆๆๆ จนจิตมันมั่นคงขึ้นมาแล้วนะ พอเรามีกำลังขึ้นมา เรามั่นใจแล้ว เห็นไหม จากเด็กที่มันทำสิ่งใดไม่ได้ มันก็ลังเลสงสัยมัน ผู้ใหญ่เขารู้นะ เราเป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม เราสามารถเข้าใจสิ่งใดได้หมด เรารู้ เราท่องทฤษฎี มันต้องเป็นอย่างนี้ๆ แต่จะทำได้หรือไม่ได้ มันก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่พอเราทำได้ เอ๊อะ! มันมีความมั่นใจไหม มันจะมีความมั่นใจมาก ถ้าจิตมันสงบ มันปล่อยเวทนาเข้ามาได้ ทีนี้พอจิตมันสงบ เราเคยสงบได้หนหนึ่ง เราก็ทำมีความสงบบ่อยครั้งเข้า ถ้าจิตพอมีฐานขึ้นมานี้ มันออกแล้ว

นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ เวทนาเกิดได้อย่างไร ใครไปรู้เวทนา ที่เจ็บปวดนี้ เจ็บปวดนี้ไม่ใช่เรา เจ็บปวดเกิดขึ้นจากเรา เรากับเจ็บปวดมันคนละอัน มันมีเห็นไหม ความคิดมันไม่ใช่เรา เห็นไหม พุทโธเกิดขึ้นจากจิตใช่ไหม ดีชั่วเกิดจากที่เดียวกัน เกิดจากจิตหมด ถ้าพอเป็นจิตเป็นเอกเทศปั๊บ จิตมันออกไปรับรู้ มันออกคลี่คลายเห็นไหม คลี่คลายความเจ็บปวด มันจับความเจ็บปวด เจ็บ มันเจ็บ มันรับรู้ว่าเจ็บ ถ้ามันไม่รู้ว่าเจ็บ จะรู้ว่าเวทนาได้อย่างไร เวทนาคือความเจ็บปวด เวทนามันคืออะไร เวทนามันตั้งอยู่บนอะไร เวทนา ความเจ็บปวดมันตั้งอยู่บนอะไร ตั้งอยู่บนกระดูกหรือ ตั้งอยู่บนเข่าหรือ ตั้งอยู่บนหนังหรือ มันตั้งอยู่บนอะไร ไม่มี มึงโง่ไง จิตโง่ไง

แต่จะเป็นอย่างนี้ได้ เราจะบอกว่า ที่เราพูดบ่อยว่า ปัญญาคนละมิติ มิติของวิทยาศาสตร์คือโลก มันเป็นอย่างนี้ มิติโดยธรรมมันลึกกว่า มันลึกกว่าเพราะมันเห็นได้ว่า มันตั้งอยู่บนอะไร มันไม่มี ไม่มีแล้วมันเกิดขึ้นมาเป็นอะไร มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นความรับรู้ เป็นความยึด พอมันปล่อยหมด มันปล่อยบ่อยๆ ครั้ง การปล่อยบ่อยครั้งเข้านี้ เขาเรียกว่าตทังคปหาน คือมันรู้เท่าแล้วมันปล่อย อย่างนี้มันปล่อยเฉยๆ มันไม่สมุจเฉทปหานหรอก แต่มีการฝึกอย่างนี้บ่อยๆ มาก เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา พอฝึกเข้าไป จนมันเห็นชัดนะ มันปล่อย มันพยายามปล่อย ถึงที่สุดแล้วมันปล่อยนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ อารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวด อารมณ์ที่เราคิดนี้คือขันธ์ ๕ ถ้าขันธ์ ๕ ไม่ครบกระบวนการของมัน ความคิดก็เกิดไม่ได้ ความคิดที่เราว่าเร็วๆๆๆ นี่มันคือขันธ์ ๕ รูปคืออารมณ์หนึ่ง เวทนาคือความรับรู้ สัญญาคือข้อมูลเดิมจากจิต

ถ้าเด็กมันจะรู้ภาษา เราต้องสอนมัน เราเรียนภาษาเราต้องเรียนศัพท์ เรียนทุกอย่าง เราจะจำให้ได้ ถ้าเราจำศัพท์ภาษาไม่ได้ รากฐานไม่ดี ภาษานั้นเราจะอ่อนแอมาก ภาษาจะเข้มแข็งเพราะเรามีพื้นฐานที่ดี นี่คือสัญญา พอสัญญามันเกิด รากฐานดีแล้ว สังขารจะปรุง ว่าศัพท์ภาษานี่พูดอะไร วิญญาณรับรู้ในอารมณ์นั้นเห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้ามันเห็นจริงแยกจริงนะ ความรู้สึก ความคิด มันเป็นขันธ์ ๕ รูปๆ หนึ่ง อารมณ์ความคิดหนึ่ง เวทนาคือความรับรู้ ดีชั่ว พอใจไม่พอใจ สัญญาคือข้อมูล สังขารคือปรุง วิญญาณคือรวมอารมณ์นี้ รวมขันธ์ ๕ นี้เป็นอารมณ์หนึ่ง แล้วถ้าจิตมันพิจารณาไปแล้วมันแยกเห็นไหม พอแยกถึงที่สุดแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วดูตรงไหนล่ะ

คำนี้เขาพูดกันบ่อย ปล่อยวางๆ จับแล้วก็ปล่อย กูบอกว่าถ้ามันจับปล่อยอย่างนี้นะ ไอ้หุ่นยนต์ โรงงานโตโยต้า ไอ้หุ่นยนต์นั้นมันเป็นพระโสดาบันหมดล่ะ เพราะมันจับแล้วก็ปล่อย จับแล้วก็ปล่อย แม่งเป็นรถอีกคันหนึ่งเลย จับปล่อยอย่างนั้นมันจับปล่อยแบบหุ่นยนต์ ไร้สาระ! ปล่อยวาง สักแต่ว่า กายก็ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย เมียมึงกูขอได้ไหม เมียมึงน่ะ มึงปล่อยได้ไหม มึงปล่อยจริงหรือเปล่า พูดแต่ปาก นี่มันไม่จริง วิทยาศาสตร์มันเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้ามันเป็นความจริง จิตมันจะคนละมิติเลย มันลึกกว่านั้น พอลึกกว่านั้น นี่จะเห็นตัวจิตจริงไง ถ้าเห็นตัวจิตจริงอย่างนี้ เราถึงบอกว่า การต่อสู้กับเวทนามันมีตั้งหลายอย่าง อย่างหนึ่งที่บอกว่าพุทโธๆ คือสมถะ ถ้าเรายังไม่มีกำลังขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้านะต้องสร้างบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย แล้วยังออกประพฤติปฏิบัติอีก ๖ ปี

มันปฏิบัติได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือ จับพลัดจับผลูนี่แม่งเป็นนิพพานกันหมดเลย เดินไปนี่นิพพานจะตกใส่หัวนะ ระวังกันให้ดีนะ เดี๋ยวเดินไปนิพพานจะหล่นใส่หัว มึงจะเป็นพระอรหันต์หมดล่ะ มันเอามาจากไหน มันเป็นไปไม่ได้ มันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย พระพุทธเจ้ายังต้องสร้างบุญญาธิการมาขนาดนั้น ยังได้ต่อสู้กับกิเลสของตัวมาขนาดนั้น ครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมานี่ เข้าอยู่วิเวกต่อสู้มาขนาดไหน ต่อสู้กับอย่างที่ว่า ต่อสู้กับกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา

แล้วศึกษามารู้มันทุกอย่างเลย แต่เวลาทำไปแล้วไม่ได้ดังใจสักอย่างเลย แล้วไม่ได้ดังใจจะทำอย่างไร มันก็ต้องตัดทอนสิ ตัดทอนไอ้ความรับรู้เรานี่ ตัดความรู้สึก ศีลธรรม มันตัดทอนอันนี้ไง บังคับเราไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าพื้นฐานของศีลดี การปฏิบัติมันจะมีช่องทางมา พื้นฐานของศีลเราไม่ดี ทีนี้เราไม่ดี เวลาประพฤติปฏิบัติ พระนี่นะเวลามาบวช จะขอนิสัยเห็นไหม เพราะอะไร

นิสัยของคฤหัสถ์ นิสัยของสมณสารูป เรายังประดักประเดิกเลย บวชใหม่ๆ ประดักประเดิก ห่มผ้ายังห่มไม่ถูกเลย แต่จะเอานิพพานมาห่มใจนะ นิพพานๆ อย่างนี้มันต้องดัดแปลงนะ ดัดแปลงจนนิสัยเราได้ ทุกอย่างเราได้ จิตใจมันต้องมีพื้นฐานของมัน นี่พูดถึงการต่อสู้กับเวทนา

ไม่ใช่ว่า แหม เขาบอกเลย เข้าร้านเลย ก๋วยเตี๋ยวชาม เดี๋ยวมันก็ นิพพานชาม สั่งเอาเลยไง เพราะในตำรามันมีใช่ไหม นิพพานชาม นิพพานมาแล้ว วางไว้บนโต๊ะเลย กินเข้าไปก็นิพพาน

นี่ไง เพราะเราศึกษา แล้วคิดว่าทำได้ ในทางโลกมันขอได้ มันทำได้ มันเป็นวัตถุ อย่างการก่อสร้างนี้ เราสั่งวัสดุก่อสร้างมาได้ทั้งหมดเลย เราสร้างเอง แต่ในทางธรรมนะ สติมึงอยู่ไหน สมาธิมึงอยู่ไหน ปัญญามึงอยู่ไหน แล้วที่บอกว่า โอ๊ย ปัญญาเยอะมาก รู้มาก อันนี้มันวิชาชีพ โลกียปัญญา ไม่เกี่ยวกับพระศาสนาเลย ถ้ามันเกี่ยวกับศาสนานะ ปริยัติก็พระอรหันต์แล้ว ปริยัติ-ปฏิบัติ ปริยัติแล้วไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ รู้ไม่ได้ ปฏิบัติคือ สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน รู้จากประสบการณ์ของจิต จิตมันดัดแปลงตัวมันเลย

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ฉะนั้นเรารู้ปริยัติ ทฤษฎีเรารู้ มันก็ไปก๊อบปี้มา มันจะไม่ได้ตามความจริงหรอก แต่เราจะต้องต่อสู้กับเรา ต้องต่อสู้ ถ้ามันจิตสงบ สงบจริงๆ สติ สมาธิ ปัญญา มันเกิดอย่างไร สมาธินี่มันเกิดอย่างไร ถ้าไม่มีสมาธิ ความดีและความชั่วเกิดจากที่เดียวกัน ความรับรู้ทั้งหมดเกิดจากจิต แล้วถ้ามึงไม่เข้าไปสู่จิต ไม่เข้าไปสู่รากฐานที่ต้นขั้วของความชั่วและความดี มึงจะแก้กิเลสอย่างไร จะแก้กิเลสที่ไหน แก้กิเลสกันที่สัญญาอารมณ์หรือ

สัญญาอารมณ์มันเกิดจากความคิด มันเกิดจากพลังงาน สัญญาอารมณ์มันดีชั่วได้ใช่ไหม เราคิดให้มันดีซะ นิพพานชามนึง นิพพานชามนึง แล้วมันเป็นนิพพานไหม มันเป็นไปไม่ได้! แต่ถ้าเข้าไปสู่จิตเห็นไหม เข้าไปสู่จิต แล้วไปแก้ไขที่นี่ จะนิพพานไม่นิพพานไม่เกี่ยว มันเป็นไปโดยข้อเท็จจริง มันเป็นไปโดยข้อเท็จจริง เขาจะบอกว่ามึงชั่ว มึงภาวนาไม่เป็น แต่มันก็เป็นจริง ใครจะพูดอย่างไรไม่เกี่ยว แต่นี่พล่อยๆ พูดกันพล่ามๆเลย เหมือนหมาบ้า! แต่ไม่มีความจริง

ถ้าจะเป็นความจริง มันต้องเข้ามาสู่ที่นี่ เข้ามาสู่จิต ฉะนั้นกว่าจะเข้าสู่จิต ก็ต้องเจ็บปวดอย่างนั้น แล้วเจ็บปวดอย่างนี้ เพราะอะไรรู้ไหม สู้กับไฟไง ไฟโทสะ ไฟโมหะ สู้กับไฟ ไฟคือพลังงานในใจของเรา เราจะสู้กับไฟ จากไฟร้อนๆ จนไฟเย็นเลย ไฟเย็นมันสงบเย็นได้ สงบได้ พระอาทิตย์ขึ้นได้ก็ตกได้ มันปวดได้ มันก็หายปวดได้ เห็นไหมเราพูดอย่างนี้ปั๊บ

เจ้าชายสิทธัตถะไปเที่ยวสวน เห็นไหม เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราต้องเป็นอย่างนี้หรือ มันต้องมีสิ่งที่ตรงข้าม ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันมีปวด มันต้องมีไม่ปวด ถ้ามันมีปวด มันต้องหายปวดได้ แล้วหายปวดอย่างไร แล้วมีคนทำได้ คนทำได้คือคนทำจริง ไม่ใช่มารยาสาไถย อยากจะเป็นอาจารย์คน ไม่ปวดๆ เอาไฟเผาสิ ปวดไหม ปวด! ธรรมดาเวทนามันรับรู้ จิตมันมีมันรับรู้หมด แต่มันฉลาดพอ หรือไม่ฉลาดพอที่มันจะวางได้หรือไม่ได้

พระอรหันต์ก็มี พระพุทธเจ้ายังมีหมอชีวกรักษาเป็นหมอประจำตัวเลย พระพุทธเจ้า สอุปาเสสนิพพาน เห็นไหม อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานคือตัวจิต สอุปาทิเสสนิพพาน สะ เศษส่วนที่ยังมีอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีธาตุขันธ์อยู่ ยังรับรู้อยู่หมด ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันยังมี มันก็ต้องรับรู้ทั้งนั้น นิพพานก็นิพพาน ธรรมธาตุก็ธรรมธาตุ แต่ทีนี้ของเรามันแบบว่า มันดิบๆ จิตดิบๆ จิตดิบๆ นี่ต้องพยายามทำให้มันสงบให้ได้ก่อน ถ้าจิตไม่สงบนะ ปัญญาในพระพุทธศาสนาไม่เกิด

ปัญญาในพระพุทธศาสนา ต้องเกิดจากสมาธิ เพราะสมาธิคืออะไร สมาธิคือกดตัวตนของเราให้ลง กิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรานี่ลง พอลงปั๊บ จิตเป็นสากล จิตเป็นสัมมาสมาธิ แล้วมีศีลควบคุมอยู่เห็นไหม แล้วถ้าออกรู้คราวนี้ ออกรู้เห็นไหม ถ้าไม่เป็นสมาธิ คือเราทั้งหมด ตัวตนเราทั้งหมด สมาธิคือตัวตนเราสงบลง จิตมันเป็นธรรมชาติของจิต พอธรรมชาติของจิตนี้ แล้วออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาในสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด สิ่งที่เป็นเราที่สุด กายกับจิตนี่เป็นความยึดมั่นถือมั่นของเรา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา มันแยกแยะตรงนี้

ถ้ามีสมาธิ มันจะแยกแยะโดยข้อเท็จจริงของจิตดวงนั้น ไม่ใช่แยกแยะโดยตำรา ตำราคือสัญญานะ สัญญาเป็นปัญญาไม่ได้ การจำเป็นปัญญาไม่ได้ แต่การจำนี้จำมาเพื่อเป็นรากฐาน แล้วเราปฏิบัติขึ้นมาจนจะเป็นปัญญาของเราเอง ขณะที่เกิดเป็นปัญญา คนถ้าเป็นเกิดจริง มันจะรู้เลย ว่าปัญญาวิปัสสนาเกิดอย่างไร การเกิด เกิดอย่างไร คนที่ไม่เห็นนะ ถึงฟังมา ๑๐๐ ชาติก็พูดผิด แต่ถ้าคนเป็นจริงขึ้นมา เราเป็นของเราขึ้นมาเอง ถ้ามันเป็นสัญญาขึ้นมา มันเป็นปัญญาที่มันเป็นสัญญา สัญญาที่เป็นตัวตนเรานี้ มันทำอย่างไร มันก็มีเราบวกไงเห็นไหม

เราบอกว่าวิทยาศาสตร์นะมันก็แค่ ๙๙.๙๙ แต่ถ้าปรมัตถธรรมนะ โสดาบันนะ ล้านเปอร์เซ็นต์ คือมันต้องล้างสะอาดหมด ทำความสะอาดเข้าไป มันเข้าไปทำลาย ดีชั่วเกิดจากจิต ที่มาของจิต ที่มาของดีและชั่ว มันเข้าไปทำตรงนั้น มันสะอาดตรงนั้น มันเป็นขั้นตอนเข้าไป โสดาบัน สกิทาคา อนาคา ขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนสิ้นสุดเลย นี่พูดถึงการต่อสู้กับเวทนา การต่อสู้นี้มันก็มีเยอะนะ คำว่ามีเยอะ ถ้าเรามีความตั้งใจจริง

มีคนมาถามบ่อยว่าปฏิบัติมามาก แล้วมันไม่ก้าวหน้าเลย เราบอกว่าพวกโยมนี่นะ จะเอาแต่สมาธิๆ กันไง แต่สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดสมาธิล่ะ เราใช้ชีวิตประจำวันกันเต็มที่เลย ศีลเราก็อยู่นะ ถึงเวลาปั๊บ ตกเย็นก็กินข้าวเต็มท้องเลย แล้วก็พุทโธๆ นะ กระเพาะมันทำงานไง ทำไมถึงมีศีล ๘ ล่ะ ศีล ๘ ไม่กินข้าวเย็นนะ พอไม่กินข้าวเย็น ร่างกายมันไม่มีอาหารของมัน ร่างกายมันไม่ต้องใช้พลังงานของมันใช่ไหม เรามานั่งพุทโธ

หลวงตาครูบาอาจารย์กรรมฐานเราบอกว่า ธาตุขันธ์ทับจิต อย่างทางโลก เรากินอาหารมากๆ พลังงานเหลือใช้ เห็นไหม มันก็ไปสะสมเป็นไขมันหมดเลย แล้วพอนั่งไปก็จะเอาสมาธิ จะเอาสมาธิ หัวมันจะทิ่มพื้นยังจะเอาสมาธิอยู่ เอาแต่สมาธิๆ หัวปักไปยันพื้นเลย แต่ถ้ามันเริ่มผ่อนอาหาร แต่ผ่อนอาหารปั๊บมันก็ขัดกับกิเลสเราแล้ว คนเรากินต้อง ๓ มื้อ คนเราต้องมีความสุขไง คนเราสุขเพราะการกิน สุขเพราะการนอน สุขเฉพาะตอนนั้นไง

ไอ้นี่มันสุขหยาบๆ โทษนะ เหมือนสัตว์ ดูฟาร์มสัตว์สิ ไก่นี่มัน ๔๕ วันมันต้องตาย เขาขุนอย่างดีเลย อย่างสุกรดูสิ เขาขุนเลย ๖ เดือนจับขาย บริการเต็มที่ กินเต็มที่เลย ๖ เดือนเชือด จะเอาความสุขอย่างสัตว์หรือ ความสุขของเรามันมีคุณประโยชน์กว่านั้นใช่ไหม เราถือศีล ๘ ไม่กินข้าวเย็น ถ้าถือธุดงค์เห็นไหม ฉันมื้อเดียว ขนาดมื้อเดียวพระยังต้องผ่อนอาหาร นี่ไง มันเหมือนกับนักกีฬา เราจะให้กำลังของจิต เห็นไหม

ธาตุขันธ์ทับจิต คำนี้นะ ถ้าไม่ใช่กรรมฐานจะไม่เข้าใจ ถ้าเป็นกรรมฐานจะเข้าใจว่า ธาตุขันธ์ พลังงานที่เหลือใช้ ไขมันทุกอย่างมันกด แล้วก็ง่วงเหงาหาวนอนนะ โอย นั่งภาวนาไป สัปหงกโงกง่วง แล้วก็บอกว่า อยากได้สมาธิ ถ้าอยากได้สมาธิต้องย้อนกลับมาที่นี่ เราบอกโยมนะ โยมเขาลอง ตั้งแต่นั้นไปนะ ข้าวเย็นเขาลดน้อยลง อย่างถ้าเราไม่เคยเลยนะ อย่างข้าวเย็น เราก็ไปเป็นสลัด เป็นอาหารเบาซะ แล้วกินแต่น้อยไปเรื่อยๆ แล้วลองไปภาวนาดู ส่วนใหญ่กลับมาจะบอกหลวงพ่อได้ผล ดีขึ้นเยอะเลย แต่เดิมเราหวังแต่เป้า เรามีแต่เป้าหมายไง แต่พื้นฐานของเราไม่มีไง

ฉะนั้นมันถึงว่าทำไมต้องมีธุดงควัตรล่ะ ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสนะ พวกนี้จะส่งเสริม พวกนี้มันจะส่งมา ส่งมา ฐานที่จะส่งมามันต้องมี ไอ้นี่เราจับพลัดจับผลูมาเลยนะ นิพพานชามนึง ไม่มีทาง ไม่มี ไม่มีหรอก พื้นฐานมันต้องทำมาทั้งหมด

ฉะนั้นถ้าทำมาแล้ว ถ้าย้อนกลับมาที่นี่ เราบอกเลยว่าถ้ามันเจ็บมันปวด มันทำให้เราอึดอัดอั้น ต้องกลับมาดูที่นี่ พยายามกลับมาดูที่นี่ กลับมาดูที่นี่ว่าเราจะผ่อนอย่างไร เขาเรียกผ่อนให้จิตมันออกก้าวเดินบ้าง ไม่ใช่ให้กิเลส หรือให้ความเคยใจของเราเหยียบมันไว้ไง

หลวงตาพูดคำนี้นะ จิตของทุกคนมันต้องการความช่วยเหลือ ต้องการศีลธรรมนี้ช่วยเหลือ เพราะทุกคนต้องการสุขไง ทุกคนต้องการหลุดพ้นไง มันเรียกร้องความช่วยเหลือนะ แล้วเรานี่เป็นเจ้าของมันแท้ๆ เลย เราว่าเราจะช่วยเหลือมันนะ เท่ากับไปเหยียบมันซ้ำไง อยากสุขอยากสบายนี่เท่ากับเหยียบมันซ้ำลงไป เหยียบมันเข้าไป เหยียบมันเข้าไป ยิ่งมักง่ายนะ มักง่ายจะได้ยาก ไอ้คนที่พยายามอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ ไอ้ความตั้งใจจริง ลำบากลำบนนี้ มันจะได้ของมัน มันได้เพราะอะไร เพราะมันทำทุกๆ วันไง มันมีโอกาสทำทุกๆ วันไง ไอ้ที่เห็นเขาทำ เอ้อ เอ็งทำ แต่ข้าไม่ต้องทำ แล้วมันจะได้อะไรล่ะ แต่ถ้าทำขึ้นมามันจะได้ตรงนั้น นี่พูดถึงการต่อสู้กับเวทนา

ถาม : ผมก็เพิ่งนั่งสมาธิมาเหมือนกัน ทีนี้ผมก็นั่งมา อย่างมากก็จะมีอยู่แค่ ๒แบบก็คือ ผมพุทโธๆ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ แต่ก็จะไม่พ้นจากพุทโธ แต่อีกแบบหนึ่งนี่ก็คือผมจะไม่คิดอะไรเลย แล้วมันก็จะนิ่งไวมาก แต่ว่านิ่งๆ ไปมันก็จะหลับไปเลยครับคือมันจะมีวิธีไหนที่มันจะหยุดจากที่ไม่คิดอะไรเลย แล้วหยุดไว้ไม่ให้หลับ หรือว่า ทางที่จะทำให้มีสมาธิแล้วยังมีสติควบคุมได้ ไม่ให้หลับนี่คือต้องพุทโธใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ต้องพุทโธอย่างเดียวๆ ถ้าอยู่เฉยๆ ตอนนี้เขาเสนอทฤษฎีดูจิตใช่ไหม ดูเฉยๆ ดูเฉยๆ มันหลับหมด ถ้าหลับก็คือหลับนะ ไม่หลับก็หายไปเลย จะไม่ได้อะไรเลย

แต่ถ้าเป็นของหลวงตานะ ท่านใช้อย่างนี้ ปัญญาอบรมสมาธิ พุทโธๆ คือสมาธิอบรมปัญญา ทีนี้คำว่าคำบริกรรม จิตนี่นะมันเป็นพลังงาน พอเป็นพลังงาน ถ้ามันไม่มีที่เกาะ มันจะแสดงตัวได้อย่างไร ทีนี้พอใช้คำว่าพุทโธ มันเกาะพุทโธไว้เหมือนเด็กหัดเดิน มันจะเกาะพุทโธไว้ พุทโธๆๆ จนมันเดินได้นะ มันจะวางพุทโธเอง

ทีนี้พอพุทโธๆ มันจะเป็นเนื้อเดียวกับจิต เพราะว่าสัญญาอารมณ์กับจิตมัน ๒ อันใช่ไหม เทวดาก็เหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกัน ทีนี้พอพุทโธ พุทโธๆ จนมันสงบเข้ามา มันเป็นหนึ่ง โอ้โฮ! หูตาสว่างนะ หลับตาอย่างนี้ แต่สว่างโพลงหมด สว่างโพลงนี่หมายถึงว่าคนที่มีจริตนิสัยนะ บางคนสงบลงเฉยๆ ถ้าสงบลงเฉยๆ มีสติพร้อม สติพร้อมนี้มันรับรู้ ถ้าเรารับรู้ สมาธิคืออะไร สมาธิก็เม้มปากไง สมาธิคือสมาธิ พอสมาธิ อู้ฮู อู้ฮู มันจะอู้ฮูเลยนะ ทุกอย่างเห็นไหม

อย่างเราบอกว่า การก่อสร้างพิมพ์เขียว เราต้องสั่งวัสดุมาจากที่อื่น ศีลสมาธิมึงจะเอามาจากไหน มึงสั่งมาสิ ขอสมาธิเท่าไรก็ได้สั่งมา ไม่มีหรอก ไม่มี สมาธิเกิดจากจิต แล้วพอเกิดขึ้นมา สมาธิคือตัวสมาธิ ว่างๆ ว่างๆ คือสัญญาอารมณ์ไง จิตพลังงานกับว่าง ความคิดฟุ้งซ่านเราคิดฟุ้งซ่าน พอเราคิดให้ว่างมันก็ว่าง นี่คือความคิดไง เห็นไหม แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ ความคิดคือความคิดนะ ปัญญาอบรมสมาธิคือความคิดใช่ไหม แล้วเราใช้ปัญญาตามมันไป พอตามมันไป พอความคิดดับ ความคิดมันหยุด ความคิดมันดับ มันดับเพราะอะไร เพราะปัญญาตามมัน ความคิดมาจากไหน ความคิดมาจากจิต พอมันดับขึ้นมาดับไปสู่ไหน ดับไปสู่จิต เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ กับดูจิต

ดูจิตมันเหมือนกสิณ มันเพ่งไง แล้วอยู่เฉยๆ เราพูดบ่อย หลวงตาท่านบอกว่าโดยธรรมชาติของพระบวชใหม่เห็นไหม ทุกคนก็คิดว่าพลังงาน ความรู้สึกใช่ไหม ถ้าเราดูมัน มันก็เหมือนกับทำงานอยู่ พระบวชใหม่ทุกคนก็คิดว่าสิ่งนี้ถูกต้อง

หลวงตาท่านบอกเลย ท่านภาวนามาอย่างนี้ ตอนอยู่จักราช ออกมาปฏิบัติใหม่ๆ เป็นมหา เรียนมหาได้มหาก็ออกปฏิบัติ ทำสมาธิ โอ้โฮ จิตนี่เป็นแท่งหินเลย พอแท่งหินปั๊บ ด้วยความมุมานะ ด้วยความตั้งใจจริง ทั้งๆ ที่ท่านเคยพุทโธมานะ ท่านบอก ท่านบวชครั้งแรกอยู่ที่วัดโยธานิมิตร พออยากภาวนาก็ไปถามอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์บอกว่า เราภาวนาพุทโธ หลวงตาท่านก็พุทโธตาม ท่านบอก เรียน ๗ ปี เป็นมหา ๗ ปี ๗ ปีนี่รวมสมาธิได้ ๓ หน ทั้งที่พุทโธอยู่นะ นี่พุทโธ แบบเรียนด้วย ปฏิบัติด้วยใช่ไหม ก็แบบว่ายังทำหน้าที่ ยังทำหน้าที่เพื่อจะปฏิบัติ

แต่พอเอาจริง พอออกจากเรียนมาปฏิบัติจริง ดูจิต จนจิตแข็งเป็นหินเลย แต่เพราะไปทำกลดหลังหนึ่ง หมดเลย เสื่อมหมดเลย พอเสื่อมหมดเลย ก็พยายามต่อสู้นะ ต่อสู้ พยายามดู พยายามรักษาขนาดไหน ดีแค่วันสองวันแล้วก็เสื่อมหมด เอ้! ท่านพูดถึงพระที่ว่าเชือดคอตายที่สมาธิเสื่อม สมาธิเสื่อม ท่านทุกข์มากนะ สุดท้ายแล้วพอไปอยู่กับหลวงปู่มั่นไง

แล้วหลวงปู่มั่นไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ที่อุบล ปล่อยให้ท่านอยู่องค์เดียว ท่านก็ยังหาหนทาง ดูจิต กำหนดจิตเฉยๆ เอ้ ทำไมจิตมันเสื่อม อะไรมันยังเสื่อม นี่ปัญญาของคน วาสนาของคนนะ ท่านบอกว่า สงสัยเราจะขาดคำบริกรรม เหมือนคนขาดจุดยืน ขาดเอกภาพ ขาดสิ่งที่เป็นเอกภาพในใจ ปล่อยมันไปตามธรรมชาติไง ท่านถึงกลับมากำหนดพุทโธ

นี่ไง ดูจิตเฉยๆ ทำเฉยๆ มันจะสบาย พอมันสบายขึ้นมาแล้ว เห็นไหมถึงบอกว่า ดูเฉยๆ สบาย แล้วก็หลับไปเลย แต่ทีนี้ ปัจจุบันนี้ ก่อนหน้านี้ โดยที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนพุทโธๆ อยู่ หรือปัญญาอบรมสมาธิ เหมือนพวกเราเป็นเด็กๆ ต้องตั้งใจทำงาน ต้องตั้งใจเรียนหนังสือ ต้องทำนะ ไม่งั้นทุกคนก็เบื่อ เห็นไหม เวลาเข้าห้องเจออาจารย์ หัวตกเลยนะ เบื่อเลยนะ ทีนี้พอมีคนสอนทฤษฎีบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ มันจะได้เองเลย แล้วทุกคนที่ไป ทุกคนจะพูดคำนี้ เพราะมาหาเราเยอะมาก “หลวงพ่อก็มันจริง ดูเฉยๆ สบายๆ ไม่ต้องมาเครียดเลย ไม่ต้องอะไร”

สบายๆ ก็ขี้ลอยน้ำไง ขี้มันลอยอยู่ในแม่น้ำ สบายๆ นั่น มันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา มันจะไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลยเพราะอะไร เพราะหลวงตาท่าน ด้วยเชาวน์ปัญญาของท่าน ท่านบอกว่า ที่มันทำง่าย แล้วมันทำแล้ว มันทรงอยู่ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะท่านบอกนะ พอกลับมาพยายามดูจิต มันตั้งใจทำ มันจะได้อยู่พักหนึ่ง สุดท้ายนะ พอมันไม่มีจุดยืน ท่านบอกเลย เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา แล้วมันกลิ้งทับอยู่อย่างนั้น กว่าจะเจริญได้นะ เกือบตาย พอเสื่อมแล้วหมดเลย มันเป็นเพราะอะไร หรือว่ามันเป็นเพราะเราขาดคำบริกรรม ตั้งแต่นั้นปั๊บท่านก็มากำหนดพุทโธๆ คำบริกรรมนี้ มันมีที่เกาะ มันมีหลักมีเกณฑ์ มีที่ยึดที่หมาย

ท่านบอกว่า ๓ วันแรกนะ เพราะบังคับว่าต้องพุทโธ คนจิตมันด้าน จิตมันเคยสบาย พอบังคับมัน โอ้โฮ มันดิ้นรน ท่านบอกว่า ๓ วันแรกอกแทบระเบิด แต่พอพุทโธๆ พุทโธไปเรื่อยๆ นะ พอมันอกแทบระเบิดเลย พอมันมีจุดยืนของมัน คนเรามีจุดยืนมีสถานที่ มันเกาะมั่นคงของมัน อย่างไรมันก็มีที่ยึด อย่างไรก็มีที่เกาะ พอพุทโธๆ จนเข้าไปถึงจิต โอ้โฮ มันสงบขึ้นมานะ มันถอนหมดเลย แล้วตั้งแต่วันนั้นท่านบอกเลยนะ จะต้องพุทโธตลอด พอพุทโธจนพุทโธไม่ได้ มันก็เป็นสมาธิ พอออกจากสมาธิ พอมันออกรับรู้ ท่านก็เอาพุทโธยัดใส่เลย อยู่อย่างนั้น ไม่มีวันเสื่อมเลย ตั้งแต่นั้นไม่มีวันเสื่อมเลย เห็นไหม

ฉะนั้นที่บอกว่า ปล่อยว่างๆ ปล่อยสบาย มันหลับ มันหลับหมายถึงว่ามันไม่มีสติ ถ้ามันหลับ คือมันไม่มีสติ มันถึงได้หลับไป นี่คือภวังค์ เมื่อ ๒ วันนี้ เด็กเขามาพูดเรื่องภวังค์ พอมันหลับ มันลงภวังค์ไปแล้ว ภวังค์คือจิตหลับ จิตมันหลับไป มันเข้าภวังค์ไป แต่มันทำไมถึงเข้าภวังค์ล่ะ มันเข้าภวังค์เพราะว่า มันไม่ตื่นตัว มันไม่มีที่เกาะเห็นไหม ถึงเวลามันก็หายไปเลย แล้วพูดถึงว่าสบายไหม สบาย คนเรานะไม่มีสติ ไม่มีความรู้ตัว มันจะเกิดปัญญาได้ไหม มันจะไปทำอะไรต่อไป

เห็นไหม มักง่าย แล้วมันจะได้ยาก มักง่ายคือปฏิบัติเริ่มต้นอยากจะง่าย อยากจะสบาย อยากจะสะดวก เพราะมันมีความสุขไง พอมันมีความสุขขึ้นมา แล้วผลล่ะ ผลของมันคือมันไม่มีอะไรไง มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้

สติใช่ไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีสติ แล้วคำว่าสติ สติคือกำหนด ฝึกมันขึ้นมา พอฝึกขึ้นมามันจะชำนาญของมัน พอสติ มีสติพุทโธก็ชัด พุทโธคำแรกชัดมากเลย พอพุทโธบ่อยๆ เข้า สติมันอ่อนลงแล้ว พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธๆ แล้วหายไปเลย สติมันอ่อน

ทีนี้เวลาฝึก มันต้องฝึก พอตั้งสติ พุทโธมันจะชัดขึ้นมา ชัดๆ ขึ้นมาตลอดเวลา แล้วพุทโธจนชัด สติชัด ทุกอย่างชัด มันจะชัดเจนมากเลย สติคือสติ แล้วที่เขาบอกว่า สติตั้งไม่ได้ สติกำหนดไม่ได้ ถ้ากำหนดสติเป็นสติตัวปลอม ถ้าเผลอสติถึงเป็นสติตัวจริง สติคือสมมุติ ไม่มีจริงไม่มีปลอมหรอก สติตัวไหนมันตัวจริงวะ สติตัวปลอมมันอยู่ที่ไหน สติมีตัวปลอมด้วยหรือ ฉะนั้นตั้งสติ สติคือพุทโธชัดๆ ถ้าสติอ่อน พุทโธก็อ่อนไปด้วย แต่ทีนี้ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ เวลามันเป็นสมาธิคือเป็นสมาธิจริงๆ ไง

แบงก์นะ ถ้าเป็นแบงก์จริง มันจะใช้ประโยชน์ได้ ใช้หนี้ได้ตามกฎหมายนะ แบงก์ปลอม เอาไปใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย คนโง่มันรับ คนไม่รู้มันถึงรับ ถ้าคนรู้นะมันไม่รับหรอก ถ้าเป็นสติก็สติจริงๆ ไง เป็นสมาธิก็สมาธิจริงๆ ไง ไอ้นี่มันไม่มี ไม่มีหรอก เรานะไม่ใช่แบงก์ชาติ แบงก์ชาตินี่มันมีสิทธิ์พิมพ์แบงก์นะ ไอ้พวกเราต้องทำงานถึงจะได้แบงก์มานะ ถ้าเอ็งไปพิมพ์แบงก์ เอ็งโดนจับแน่นอนเลย นี่ก็เหมือนกัน สติ สมาธิ มึงจะไปเอามาเลยโดยที่ไม่ทำงาน

มันต้องทำงาน เพราะทำงาน มีผลของงานนั้น ถึงได้ค่าตอบแทนมา

นี่ก็เหมือนกัน ตั้งสติ กำหนดพุทโธๆ ผลของมันคือเกิดสมาธิ แต่นี่สมาธิชามนึง ไม่มีหรอก ไม่มี สมาธิต้องเกิดจากการกระทำ สติเหมือนกัน ทุกอย่างต้องเกิดจากเราฝึกหมด

ฉะนั้นถึงบอกถ้ากำหนดเฉยๆ นะ ก็เป็นอย่างนี้ ขี้ลอยน้ำ ไม่มีเลย ไม่ได้อะไรเลย เป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้นะ ถ้ามันอยู่เฉยๆ แล้วมันได้ขึ้นมานะ พระพุทธเจ้านะจะลบพระไตรปิฎกหมดเลย ทุกคนนั่งเฉยๆ แล้วจะเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน

พระพุทธเจ้าสอน ศีล สมาธิ ปัญญานะ แล้วไม่ใช่ศีลธรรมดาด้วย อนุปุพพิกถาก่อน ต้องเทศน์ให้คนเข้าใจเรื่องของทาน เรื่องของการเสียสละ พอเสียสละแล้วพูดถึงสวรรค์ ผลตอบแทนของการเสียสละ มันจะได้ผลจะเป็นความดี พอผลเป็นความดีแล้ว จะพูดถึงเนกขัมมะ ให้จิตเป็นหนึ่ง พออนุปุพพิกถาพร้อมแล้ว ถึงเทศน์อริยสัจ

อันนี้พวกเรานี่ไม้ดิบๆ เลย ไม้เขาต้องตากแห้งนะ แล้วมาสีกันถึงจะเกิดไฟได้ แต่เรามาถึงนะ ไม้ดิบๆ มาเลยนะ ยังสดๆ เลย สีใหญ่เลยนะ นิพพานๆ เอ้อ กูจะนั่งดูว่ามันจะติดไหม ความโง่ไง ความโง่ของสังคม พระพุทธเจ้าสอนดีอยู่แล้ว ไม้เหมือนกัน ไม้ของพระพุทธเจ้าแห้ง ตากแห้ง ทำพร้อมแล้วมาสี มันจะเกิดเปลวไฟขึ้นมา ไอ้เราก็ไม้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าบอกว่าไม้ กูก็ไม้ไง ไม้ตัดมาใหม่ๆ สดๆ เลยแล้วมาสี แล้วมันก็บอกว่า เดี๋ยวเปลวไฟมันจะเกิด แล้วคนก็เชื่อนะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น พูดถึงว่า ถ้าเรานั่งดูเฉยๆ แล้วมันหลับไป หุ่นยนต์เห็นไหม หุ่นยนต์มันนั่งเฉยๆ ไง เราจะบอกนะ จิตเรานี้มันมีคุณภาพ มันมีความรู้สึก เป็นสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่เป็นวัตถุนี้มันไม่มีชีวิต เราจะไปเอาอย่างนั้นหรือ

เราเสียใจตรงนี้ไง บางทีเราพูดถึงบอกว่า ในการปฏิบัติเรียบง่ายๆ แล้วจะง่ายไปนี่ เราบอกเลยนะว่า จิตนี่มีคุณค่ามาก แล้วไปทำให้จิตที่มีคุณค่านี้เป็นแค่วัตถุอันหนึ่ง อยู่เฉยๆ แล้วมันจะเป็นเอง มันจะมาเอง นิพพานอยู่ซึ่งหน้า จะเดินสะดุดนิพพานล้มไปนั่นนะ ไม่มีหรอก ไม่มี

ถ้ามีนะฤาษีชีไพรก็เป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว เพราะฤาษีชีไพร เขากำหนดสมาธิของเขามาตลอด แล้วเขาเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ แล้วบอกว่ามีปัญญาๆ พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา เขาว่าใช้ปัญญา ไอ้ปัญญาอย่างนี้เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญามันจะแตกซอยไปอีกเยอะแยะเลย แล้วถ้าคนเป็น คนเป็นแล้วไง คนทำประสบความสำเร็จแล้ว ถึงจะแบ่งแยกว่า ปัญญาอย่างนี้เป็นอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้เป็นอย่างนี้

แต่ถ้าเราไม่รู้นะ ปัญญาก็รวบหมดเลย ปัญญาเหมือนกันหมด ปัญญาที่เกิดจากความคิดไง แต่พอเราเริ่มแยกแยะเข้าไปนะ อ๋อ ปัญญาอย่างนี้ ทำให้เรามีความศรัทธา มีความเชื่อ แล้วมาบวชในพระพุทธศาสนา ปัญญาอย่างนี้มันก็คิดได้สื่อสารกันได้ แล้วปัญญาที่จะสื่อสารกับกิเลสล่ะ ปัญญาที่เห็นตัวตนของเราล่ะ ปัญญาที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นล่ะ แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมาได้จากไหน แล้วกิเลสมาจากไหน มันไล่มันไป โอ้โฮ! คนปฏิบัติไปจะเห็นหมดล่ะ

ฉะนั้นที่บอกว่าปัญญาๆ นี้ โธ่ เด็กๆ มันเล่นกันเห็นไหม เด็กมันเล่นขายของ มันสมมุติว่าเล่นขายของ เป็นประโยชน์ขึ้นมาไหม มันสนุกของมันนะ ไอ้เราจะทำธุรกิจ โอ้โฮ ก็ขายของเหมือนกัน แต่ขายจริงๆ ต้องทำวิจัยตลาดเลยนะ พอลงไปตลาดแล้วมันทำไง แต่เด็กๆ มันเล่นขายของนะ โอ้ย มันเล่นกันนะ แหม ซื้อขายกันสนุกครึกครื้นเลย แล้วเราจะเป็นอย่างนั้นหรือ เอามาเทียบเคียง

ฉะนั้นถ้าพุทโธๆ นี้มันเป็นสมาธิอบรมปัญญา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี้ บางทีคนเราพุทโธไม่ได้ บางคนพุทโธไปแล้วมันเครียด มันเหมือนกับจับเด็กมาบังคับไว้ ถ้าจับเด็กมาบังคับไว้นี่ พุทโธนี่เขาเรียกศรัทธาจริต คือมีความเชื่อมั่นของเรา พุทโธๆๆ มันมีความมั่นใจ พุทโธๆ พุทโธๆ แต่ถ้าเป็นปัญญาชน อย่างพวกเรานี้เป็นปัญญาชน มันต้องมีเหตุผลต่อรองกัน

ถ้าเหตุผลต่อรองกัน ก็ถามตัวเอง มึงคิดเรื่องอะไร คิดมาจากไหน ทำไมถึงต้องคิด คิดเพราะเหตุผลอะไร ไล่เข้าไปสิ ถามเลยชีวิตนี้มึงมาจากไหน มึงเกิดมาอย่างไร แล้วตายแล้วมึงจะไปไหน ในเมื่อพวกเราก็ตายแล้วก็ เอ้อ พอตายแล้วก็สูญไง บางทีมันไม่คิดนะ แต่ถ้าคิดแล้วไล่เข้าไปเลย ไล่ตัวเอง ไล่ความคิดเข้าไป พอความคิดมันดับ ถ้าเหตุผลมันทัน ความคิดนี่มันคิด มันหลอกเราไง ความคิดมันหลอกเราว่ามันคิดจริง เป็นความจริง

แต่พอปัญญาเราไล่กลับไป ไล่กลับไป พอเหตุผลของธรรม มันเหนือ พอมันเหนือ ความคิดมันอายไง เอ้อ พอมันอายนะมันก็หยุด หยุดนั่นคือสมาธินะ แต่มันแป๊บเดียวแล้วก็คิดอีกแล้ว แต่พอเรามีความชำนาญมากเข้า มากเข้า ความหยุดนี้ ความหยุด ช่องว่างของความหยุด ระยะความหยุดมันจะมากขึ้นๆ มากขึ้นๆ มันจะมากขึ้นเลย แล้วพอหยุดมากขึ้น มันเป็นเอกเทศแล้ว แล้วพอหยุดแล้ว มันคิดอย่างไร นี่เขาเรียกว่าจิตเสวยอารมณ์ไง จิตเสวยอารมณ์ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

ปัญญาอบรมสมาธินี้มันจะรู้ถึงที่มาที่ไป ที่เกิดของความคิด แล้วที่ดับของความคิด แล้วความคิดดับไปเหลืออะไร เหลือจิต แล้วจิตมันมีใครคุ้มครองมัน มันมีสติคุ้มครองมัน แล้วคุ้มครองอย่างไร แล้วคุ้มครองทำไมมันยังคิดอีกแล้ว อ้าว คิดก็กำลังกิเลสมันมากกว่ามันก็พุ่งออก พอสติมันทันนะ เอ็งเข็ดไหม เอ็งคิดอย่างนี้เมื่อกี้นี้แล้วก็เสียใจ แล้วเอ็งก็คิดอีกแล้ว แล้วเอ็งก็คิดอีกแล้ว ทำไมเอ็งคิดบ่อยแท้ล่ะ นี่ปัญญามันไล่เข้าไป มันเห็นนะ ต้องรู้ ต้องเห็น ปัจจัตตังสันทิฏฐิโก จับต้องได้หมด สมาธิ ก็จิตเป็นสมาธิ จับต้องได้เลย ปัญญาก็เป็นปัญญาที่จับต้องได้เลย

ไม่งั้นครูบาอาจารย์ท่านจะเทศน์ หลวงตาท่านจะเทศน์ บอกว่าปัญญาหมุนติ้วๆ ธรรมจักรมันหมุน มันหมุนอย่างไร นามธรรมนี่แหละ มันหมุนแล้วมันจับต้องได้หมด สติปัญญานี้มันทันกันหมดเลย

ไม่ใช่ขี้ลอยน้ำหรอก ว่างๆ ว่างๆ ไอ้นั่นมันขี้ลอยน้ำ หมาลอยน้ำยังดีกว่า หมาเน่าลอยน้ำนะ มันยังมีสัตว์อาศัยมันนะ ขี้ลอยน้ำนี่ไม่มีใครเอาเลย ถ้ามันจับต้องได้นี่ปัญญาอบรมสมาธิ หลวงตาเขียนไว้เล่มนึงเลย ไปเปิดดูได้ ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาในขั้นของสมถะ ปัญญาอบรมสมาธิหมายถึงปัญญาของปุถุชน ปัญญาของพวกเรา ปัญญาของมนุษย์ที่ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือธรรม สัจธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วเราใช้ปัญญาเราใคร่ครวญไตร่ตรอง ใคร่ครวญไตร่ตรองเอาปัญญาอย่างนี้มาควบคุม เพราะว่าอะไร เพราะเวลาศัพท์นะ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นศัพท์ทั้งหมด แล้วเรามันยังเป็นศัพท์ใช่ไหม แต่เรายังไม่ได้ตัวมันใช่ไหม พอเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ไล่ความคิด เพราะความคิดเป็นเราใช่ไหม ความคิดเป็นเรา เอาความคิดไล่ความคิด พอความคิดไล่ความคิด มันก็จับความคิด อ้าว เวลามันคิดล่ะแล้วมันดับล่ะ อ๋อ อันนี้เป็นรูป อันนี้เป็นเวทนา นี่ไง เราได้ศัพท์

แต่ทีนี้พอเราปฏิบัติเราได้ตัวจริง เราได้ตัวมัน เราได้เนื้อ ได้ข้อเท็จจริง เราได้อารมณ์ เราได้ความรู้สึก เราจับมันได้ สติจับมันได้ พอจับมันได้ นี่ไงมันมีตัวตน มันมีข้อเท็จจริงหมดเลย โอ๊ย! หูตาสว่างเลยนะ หูตาสว่างโพลงเลย แล้วมันสนุกของมัน มันจับของมันเห็นไหม พอมันแยกอารมณ์ อารมณ์ออกไปแล้วเหลืออะไร อ้าว เหลือจิต อ้าว แล้วจิตเหลือแล้วเอ็งยังคิดอีกได้อย่างไร พอเหลือสักพักมันก็คิดอีก พอคิดไป ปัญญามันทันมันก็หยุดอีก นี่เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ คือปัญญาของปุถุชน ปัญญาของพวกเรานี้ไล่เข้ามา ไล่เข้ามา พอไล่เข้ามาเห็นไหม เป็นสมาธิแล้ว

จากโลกียปัญญาใช่ไหม พอจิตสงบแล้ว ถ้ามันออกรู้ไปบ่อยๆ เข้า มันจะเกิดโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาเพราะอะไร โลกทัศน์ สัตว์โลก พวกเรานี่โลกหนึ่ง สัตว์หนึ่ง สัตตะผู้คล่อง จิตนี้เป็นโลกหนึ่ง โลกทัศน์ โลกของเราเห็นไหม พอมันสงบเข้ามาสู่จิต จิตนี้นี่คือจักรวาลหนึ่ง เพราะจิตนี้มันเกิดตายๆ เกิดตายในวัฏฏะ พอมันสงบเข้ามาก็เป็นตัวของมัน พอตัวของมัน พอมันสงบของมัน พอมันออกไปเห็นไหม มันจะมาถอดถอนการเกิดและการตาย เพราะการเกิดการตายมันเกิดจากจิต

นี่มันผลของวัฏฏะนะ มนุษย์นี่ เพราะจิตมันมาเกิดเป็นเราแล้ว มันถึงมาเป็นเรา แล้วพอเกิดเป็นเรา มันได้สถานะมา แล้วเวลาวิปัสสนา ย้อนกลับไป ย้อนกลับไปที่นั่น ถึงบอกว่าจิตแท้ๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นเลย มันเป็นของมัน ถ้าไม่ใช่อย่างนี้นะ มันก็ยังเกิดตายอยู่นะ ไม่ใช่ ไม่ใช่แล้วมันยังมีพลังงานอยู่ไง แต่ถ้าเข้าไปถึงที่สุดแล้วไปถอนหมด ทำลายหมด มันถึงจะเป็นความจริงของมัน

อันนี้พูดถึงว่า เฉยๆ เฉยๆ นี่คิดเองหรือว่าทำมาจากไหน

ถาม : ก็ทำเองแล้วมันก็จะเป็นอย่างนั้น คือนั่งเฉยๆ แล้วมันก็จะแบบไม่คิดอะไร แล้วมันก็จะหลับไป

หลวงพ่อ : นั่งเฉยๆ ยังดีนะ นั่งเฉยๆ ด้วยความคิดเอง มันเกิดจากเราไง แต่ตอนนี้มันมีทฤษฎีที่เขาสอนกันอย่างนี้ไง เขาสอนว่าอย่าให้มีการเคลื่อนไหว อย่าให้มีการกระทำ พอมันไม่มีการกระทำปั๊บ เพราะเขาเชื่ออย่างนี้ไง เขาเชื่อว่าจิตนี้มันมีนิพพานอยู่แล้ว เราก็บอกเหมือนกับเราเอาของไปซ่อนไว้ แล้วเราไปหาเจอ แต่ถ้าจิตมีนิพพานอยู่แล้วนะ ที่เมื่อก่อนเขาเถียงกันเห็นไหมว่าจิตนี้เป็นประภัสสร จิตเดิมแท้มันสว่างไสว แล้วคนเขาก็เข้าใจว่า จิตเดิมแท้นี้คือนิพพาน เราก็บอกว่า อ้าว ถ้านิพพานมาเกิดอีกทำไม จิตเดิมแท้คือพลังงานไง พลังงานที่มันยังมีของมันอยู่ไง แต่นี่มันบอกว่าจิตเดิมแท้ แต่เขาบอกว่านิพพานมีอยู่

มันไม่มีหรอก เพียงแต่มันมีจิต เพราะจิตนี่ หลวงตาจะบอกว่าสิ่งที่จะสัมผัสศาสนาได้ที่มีคุณค่าที่สุด คือหัวใจของสัตว์โลก คือความรู้สึกไง ความรู้สึกมันสัมผัสกับความจริงไง แต่ทีนี้ของเรานี้มันเป็นสมอง เป็นความรู้สึกไหมล่ะ เป็นความคิดเหมือนกัน แต่เป็นสัญญาอารมณ์

แต่ทีนี้พอเขาคิดว่ามันมีอยู่แล้วใช่ไหม พออยู่เฉยๆ เขาบอกว่าอยู่เฉยๆ ดูเฉยๆ ดูเฉยๆ ห้ามคิดห้ามปรุง อย่าคิดปรุงนะ ถ้าคิดปรุงเป็นกิเลสหมด อยู่เฉยๆ แล้วมันจะเกิดเอง

เมื่อ ๒ วันนี้ มีโยมเขามาบอกว่า เขาก็เชื่ออย่างนี้มา แล้วเขาก็ดูจิตไปเรื่อยๆ ดูจิตไปจนมันเข้าใจ พอเข้าใจหมดมันจะดับ พอดับแล้ว เขาบอกว่าจิตเป็นอัตโนมัติแล้ว เพราะมันเกิดดับ ที่มันเห็นการเกิดดับหมด พอมันเป็นอัตโนมัติเขาก็รอแล้ว รอว่ามันจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีเขาก็รออยู่นั่นไง บังเอิญเขาเข้าไปดูในเว็บไซต์ ของเรา เขาบอกว่าเราเทศน์ไว้อันหนึ่งว่า อัตโนมัติคือไม่มี เขางงเลยนะ เขาบอกว่าจิตเขาเป็นอัตโนมัติแล้ว ผลของอัตโนมัติ มันจะเกิดมรรคผล เขาก็รออยู่นะ แต่พอมาดูแล้วอัตโนมัติมันไม่มี ก็มานั่งคิด เอ้อ จริงว่ะ ก็เลยวิ่งมาหาเราไง

เพราะเขาตั้งทฤษฎี แล้วเขาเชื่อเห็นไหมว่า อยู่เฉยๆ แล้วมันจะเป็นเอง แต่ในหลักธรรมนี่ไม่ใช่ เขาเรียกอาสวักขยญาณ มันต้องมีญาณหยั่งรู้ มีการกระทำ มีกิจญาณ สัจญาณ ในธรรมจักร ธรรมจักรพระพุทธเจ้าบอกเลยว่า ถ้าไม่มีกิจญาณ ไม่มีสัจญาณ เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ แต่บัดนี้มีสัจจะความจริง มีกิจกรรม จิตมันมีการกระทำของมัน มีสัจญาณ มีกิจญาณ มีกิจ ๑๒ พ้นแล้ว เราถึงเป็นพระอรหันต์ มันมีการกระทำของมันไง

แต่นี่อยู่เฉยๆ ห้ามคิดห้ามทำ ไม่มีกิจ ไม่มีการกระทำ แล้วพอไม่มีกิจกระทำ เขาทำมาแล้วไง อ้าว ก็ดูจิตไง ดูเกิดดับ ดูจนรู้รอบแล้วไง จนเป็นอัตโนมัติแล้วไง นี่คือความเข้าใจผิดของอาจารย์ผู้สอน เพราะอาจารย์ผู้สอนเขาไปจับทฤษฎี จับแพะชนแกะเห็นไหม จับแพะชนแกะมา แล้วก็ใช้ปรัชญา ใช้ตรรกะ เข้าใจว่า ถ้ามันเป็นอัตโนมัติแล้ว มันจะเกิดผลอย่างนั้นๆๆ ไง แต่ไม่เข้าใจหรอกว่า อัตโนมัติมันไม่มี นาฬิกาอัตโนมัติ เขายังต้องสร้างเครื่องขึ้นมา เขย่ามันถึงเป็นอัตโนมัติ

ระบบแสงเห็นไหม เสาไฟฟ้าต่างๆ ระบบแสงที่เราเข้าบ้าน เรากดก่อนเห็นไหม รีโมท เราต้องสร้างรีโมทขึ้นมา มันต้องมีพลังงานไฟฟ้าไปดันไปผลัก มันถึงจะเกิดได้ อัตโนมัติเขายังต้องสร้างอัตโนมัติขึ้นมา แล้วมันถึงจะมีผลงานอันนั้นเกิดขึ้นมานะ รีโมทนี่ใครเป็นคนทำมา อัตโนมัติไง กดปั๊บ แล้วไม่มีรีโมทมึงจะอัตโนมัติได้ไหมล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เขานึกว่าได้อัตโนมัติแล้วเขาจะรอผลไง มันคงคิดว่ามันซื้อรีโมทกดนิพพานเอาไว้แล้ว ใครมาก็กดผัวะ! นิพพานจะมาเอง กดผัวะ! มันเชื่อของมันอย่างนั้น

เราเวลาฟังเทศน์นะ คนที่ไม่มีพื้นฐาน คนที่ไม่มีหลัก มันก็มีจินตนาการตามไป พอมีจินตนาการตามไป เขาก็สร้างกระบวนการ กระบวนทัศน์ของเขา พอสร้างกระบวนทัศน์ของเขา แล้วมันจะพูดออกไปลอยๆ มันก็ไม่มีที่มาที่ไปใช่ไหม ก็เอาเทศน์ของครูบาอาจารย์ มาเป็นสเต็ปขึ้นไปเลย อ้าว ดูจนเห็นการเกิดดับ จนเป็นอัตโนมัติ พอเห็นอัตโนมัติแล้วมันจะเกิดเอง

ถ้าคนภาวนาเป็นนะ คำนี้ไม่กล้าพูด คำว่าจะเกิดเอง ไม่กล้าพูดหรอก เกิดเองไม่ได้ โอ้โฮ! ถ้าเกิดเอง มันก็คือกิเลสเกิดเอง เห็นไหม ดีชั่วเกิดมาจากที่เดียวกัน แล้วมันจะเกิดเองได้อย่างไร มันก็เกิดดีเกิดชั่ว มันเกิดอยู่นั่น มันไม่สุด

ถ้ามันมีการกระทำเข้าไปต่างๆ มันจะเห็นมรรคญาณว่าเข้าไปทำลายอย่างไร แล้วเข้าทำลายอย่างนั้น อันนี้เป็นที่ว่า มีกิจญาณ ถ้าคนรู้คนเห็นอย่างนี้แล้ว มันจะพูดอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิดหรอก อย่างเช่น เราบอกว่าเรากิน พระก็บอกว่ากินเหมือนกัน แต่กินของเราคือคำพูดใช่ไหม แต่กินของเราคือเราเอาอาหารกิน เห็นไหม มันผิดแล้ว กินคือมีกิริยา มีการกระทำ เรามีกิริยานี่ เราได้กิน เราได้ตักอาหารใส่ปาก ไอ้เราก็เข้าใจคำว่ากิน บอกกินก็คือกิน แต่เอ็งอดกิน เอ็งพูดกิน แต่กูกินจริงๆ เห็นไหม มันถูกผิดกันตรงนี้ พูดคำเดียวกันนี่แหละ คำว่ากินทุกคนก็เข้าใจใช่ไหม แต่ไม่มีการกระทำนี่มันได้กินไหม ไม่ได้ แต่ไอ้คนที่มันกิน มันจะพูดหรือไม่พูดก็คือกิน นี่ไงคำพูดเหมือนกัน

ทีนี้พอคนฟังคำพูดเหมือนกัน ก็จำมาไง ไปจำครูบาอาจารย์มา ตั้งกระบวนการอย่างนี้ขึ้นมาไง ต้องทำอย่างนั้นๆ แล้วก็สบายๆ ทุกคนอ้างตรงนี้ ก็จริง มันสบาย คำว่าสบายนี่เราสะท้อนใจมาก ถ้าคำว่าสบายอย่างนี้ มันเหมือนกับ บอกว่านักวิชาการไม่ต้องคิดอะไรเลย อยู่เฉยๆ แล้วทางวิชาการนี้มันจะหมดไป นี่เหมือนกันการปฏิบัติว่ามันสบายๆ คนๆ นั้นจะไม่ได้ประโยชน์ไปข้างหน้า แล้วสังคมนั้นจะอ่อนแอไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสังคมไหน ทางวิชาการ เขามีการค้นคว้า เขามีการทำวิจัยตลอดเวลา เขาพยายามต่อสู้ของเขา ทางวิชาการนั้นจะเจริญมาก

นักปฏิบัติ ถ้าเข้าไปต่อสู้กับความจริง ทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง นักปฏิบัติในสังคมปฏิบัตินั้นจะมีความเข้มแข็ง แล้วสังคมนั้นจะเข้มแข็งไป แต่ถ้าสังคมไหนบอกว่า เดี๋ยวมันเกิดเอง ตอนนี้คิดกันอย่างนั้น แล้วบอกว่ามันสบาย แหม ทำไมจะไม่สบาย คนอยู่เฉยๆ ทำไมมันจะไม่สบาย แต่จะรู้ตัวต่อเมื่อชราภาพ จะรู้ตัวต่อเมื่อตัวเองไม่มีสิ่งใดติดมือไปเลย แล้วถึงเวลานั้นสังคมจะเสียหายมาก แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา จะทุกข์จะยากไม่สำคัญ ขอให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

ถาม : แล้วถ้าเกิดเป็นคนสูงอายุล่ะครับ ซึ่งอาจจะไม่สามารถนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบได้ จะมีวิธีอย่างเช่น นั่งบนเก้าอี้ หรือว่าอะไรอย่างนี้ได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : ได้ เพราะการปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อหัวใจไง ถ้าพูดอย่างนี้นะ มันมีอยู่คนหนึ่ง พูดอย่างนี้เราสะท้อนใจมาก เมื่อตอนนั้นมันลงหนังสือพิมพ์ อาจารย์อะไรที่อยู่ธรรมศาสตร์ ปริญญาโท เขาเป็นคนตาบอด แล้วเขาพูดอย่างนี้ เขาเป็นชาวพุทธนะ เขาเป็นคนตาบอด แล้วสอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ แล้วเขาทำออกข่าวใหญ่โตมาก เขาบอกเวลาไปถามพระที่ไหนก็เลยบอกเป็นกรรมเก่าๆ คือว่าเรื่องตาบอดนี่เป็นกรรมเก่า เขาบอกเขารับไม่ได้ เขาเลยเลิกนับถือศาสนาพุทธเลย ไปนับถือศาสนาคริสต์

นี่ไปถามพระ ไอ้เรื่องกรรมเก่ากรรมใหม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราจะบอกว่า ถ้าคนผู้เฒ่า เราพูดถึงเรื่องคนพิการเลยไง ถ้าคนพิการต้องนั่งสมาธิ แล้วเขาพิการเขาจะนั่งสมาธิได้ไหม เขาก็นั่งไม่ได้ ฉะนั้นนั่งไม่ได้ เดิน ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นกิริยาของการผ่อนคลายร่างกาย แต่ยืน เดิน นั่ง นอน ผลของเราก็คือต้องการจิตสงบ เรายืน เดิน นั่ง นอนนี้ เราต้องการควบคุมจิต เราต้องการคุณภาพของจิต ให้จิตนี้มันสงบเข้ามา แล้วจิตนี้ออกทำประโยชน์ ฉะนั้นร่างกายนี่มันเป็นกิริยาเฉยๆ

ฉะนั้นถ้าคนแก่นี้นั่งได้ นั่งบนเก้าอี้ก็ได้ นั่งอะไรก็ได้ ฉะนั้นคนพิการทำอย่างไรก็ได้ อย่างเช่นว่าคนตาบอด ที่ว่าเขาตาบอด เขาบอกว่ากรรมเก่าๆ กรรมเก่าหรือกรรมใหม่นี่นะ มันเป็นการกระทำ สิ่งที่เกิดขึ้นมา สิ่งที่เราเกิดขึ้นมา สิ่งที่เราได้รับผลของกรรมนี้ มันอยู่ที่ประวัติศาสตร์ อยู่ที่อดีตที่ทำมา แล้วถ้าอดีตที่ทำมา แล้วปัจจุบันเป็นนี้ เกิดมาเป็นใครก็แล้วแต่ จะตาบอดจะพิการอย่างไร มันก็ภาวนาได้

พระอรหันต์สมัยพุทธกาล ค่อมๆ เตี้ยๆ เห็นไหม มีในพระไตรปิฎก พระอรหันต์นะ แล้วมันตัวเล็ก แคระแกร็นไง แล้วพระมาก็เห็นแบบว่าน่ารัก ไปลูบหัวเล่น จนพระเขามาบอกว่า นี่พระอรหันต์นะ โอ้โฮ ต้องไปขอขมานะ พระอรหันต์ มันก็มีกรรมของแต่ละบุคคล พระอรหันต์บางองค์นะ โอ้โฮ พระนันทะ เดินมานะ เขานึกว่าพระพุทธเจ้ามานะรีบปูอาสนะเลย พระนันทะกับพระพุทธเจ้านี้เหมือนกันเปี๊ยบเลย มันอยู่ที่วาสนาของคนเห็นไหม

แต่ที่บอกว่าไอ้ที่ว่าพิการๆ ไอ้พิการหรือว่าตาบอด ตาอะไรนี่ ไอ้นี่มันเป็นเรื่องของร่างกาย ร่างกายของคนมันเป็นไปตามกรรม แล้วถ้าพูดถึงหัวใจของคน ขนาดพิการขนาดไหนมันก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ทีนี้คนแก่ นั่งห้อยเท้าก็ได้ นั่งอะไรก็ได้ ขอให้ได้นั่ง ถ้าพูดถึงท่านั่งเป็นท่าที่ทำสมาธิ แล้วเดินจงกรมนี่เป็นสมาธิได้ไหม เดินจงกรมก็เป็นสมาธิได้ ทีนี้ท่าเดินนะ แล้วเดินจงกรมอยู่นี้เป็นสมาธิดีกว่านั่งอีก

ทำไมถึงต้องนั่งสมาธิ เพราะโดยวิทยาศาสตร์ ท่านั่งสมาธิ เป็นท่าที่ร่างกายทนได้นานที่สุด เป็นท่ามาตรฐาน ท่านั่งนี่มันแบบว่า นั่งอย่างนี้มันนั่งทนได้ที่สุดไง นั่งท่าไหน ลูกศิษย์เป็นหมอนะ เขาบอกว่า หลวงพ่อ การกดทับของผิวหนัง ๔๐ นาทีผิวหนังตาย แต่พวกเรานั่งกัน ๑๒ ชั่วโมง หลวงตานั่งจนพอง จนหนังหลุดเลย ถ้าเราคิดทางวิทยาศาสตร์เราจะทำอะไรกันไม่ได้เลยนะ ลูกศิษย์เป็นหมอ หมอบอกเลย หมอทางผิวหนังไง เขาบอกว่าผิวหนังมนุษย์นี่กดทับ ๔๐ นาที ผิวหนังตาย แล้วเรานั่งกันทีกี่ชั่วโมง ทีนี้มันจะตายหรือไม่ตาย มันก็สร้างเซลล์ใหม่ได้ มันพัฒนาของมันได้ อยู่ที่เรา

ดูสิ ชาวนาทำไมเขาทนแดดทนฝนได้ดีกว่าเรา เพราะเขาอยู่กับท้องนาจนเคย แต่ถ้าเราไม่เคยอยู่อย่างนั้น ร่างกายเราก็ทนอย่างนั้นไม่ได้ เรานั่งสมาธิ เราทำของเราบ่อยครั้ง ร่างกายมันก็ปรับตัวของมันเป็นธรรมดาของมัน ฉะนั้นท่านั่งนี่เป็นท่ามาตรฐาน อย่างนี้ ถ้าเรานั่งได้ชั่วโมงหนึ่ง หรือนั่งได้สัก ๑๕ นาที หรือครึ่งชั่วโมงก็แล้วแต่ เวลา ๑๐ นาที ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมง มันเป็นการพิสูจน์ใจเราว่า ใจเรานิ่งพอไหม มันมีโอกาสทำให้ใจนิ่ง ทำให้เราควบคุมใจนี้ได้ไง ท่ายืน เดิน นั่ง นอน ผลของมันก็เพื่อความสงบของใจ เพื่อควบคุมใจ เพื่อจะดูแลใจ เพื่อจะไปค้นหาหัวใจเท่านั้นแหละ

คือว่าไม่ได้นั่งเอาร่างกายเว้ย... บางคนนั่งมองนาฬิกาเลย ๑๐ นาที ๒๐ นั่งอยู่นี่นะ แต่จิตมันไปอยู่ที่นาฬิกาเห็นไหม มันจะสงบได้อย่างไร ก็มันพุ่งไปอยู่ที่นาฬิกาหมด ไอ้นี่ก็เหมือนกัน กายกับจิตใช่ไหม ถ้าเราห่วงท่านั่ง จิตสงบได้ไหม บางคนนั่งไปแล้วมันโยกคลอน มันโยกคลอนมาแล้ว มันกลับมาไม่ได้ ดึงกลับมาก็ได้สิ บางทีเราไม่กล้า หรือเราไม่เคยทำ ท่านั่งนี่ นั่งเพื่อเอาหัวใจสงบ ไม่ใช่นั่งเพื่อเอาร่างกายสงบ แต่เพราะจิตใจหัวใจมันอยู่ในร่างกายนี้ เราถึงเอาท่านั่งควบคุมจิตใจโดยชั้นหนึ่ง แล้วพยายามทำจิตใจนี้ให้สงบ ถ้ามันทำได้ คือเราพยายามจะค้นหามัน จะเข้าไปหามัน จะสู้กับมัน จะเอามันให้ได้ มันก็เท่านั้นล่ะ

ฉะนั้น คนพิการหรือคนอะไรก็ทำได้หมด คนแก่ก็ทำได้ นั่งห้อยเท้าก็ได้ ท่านั่งอะไรก็ได้ แต่ทีนี้เพียงแต่ถ้าเราปกติเห็นไหม เราปกติ เราจะสู้กับมัน เราก็ต้องเต็มที่กับเรา ถ้าเต็มที่กับเราก็จะเป็นประโยชน์กับเรา เพราะมันเหมือนกับวัด เขาเรียกว่า “จิตใจเข้มแข็ง - จิตใจอ่อนแอ” ถ้าจิตใจเข้มแข็ง แล้วเรารักษาไว้ได้ อันนั้นจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าจิตใจอ่อนแอ มันก็ยิ่งอ่อนแอไปเรื่อยๆ เราถึงต้องสร้างให้มันเข้มแข็งขึ้นมา ไม่เป็นปัญหา

ถ้าเอาตรงนี้มาเป็นประเด็นนะ เราจะทำอะไรกันไม่ได้เลย ฉะนั้นคนที่ปฏิบัติได้ก็คือคนปกติ แต่คนพิการปฏิบัติไม่ได้เลย กรณีนี้นะเรามาเปรียบเทียบกับหลวงปู่เขียน ที่อยู่ที่บุรีรัมย์ ท่านปฏิบัติไป แล้วท่านเป็นโรค สุดท้ายแล้วท่านไปนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ศรีนครินทร์ ๒๕ ปี หรือเกือบ ๓๐ ปี นอนเฉยๆ พอนอนเฉยๆปั๊บ เขาก็เปิดเทปให้ฟัง ท่านก็เปิดเทปหลวงตา นอนอยู่อย่างนั้น สุดท้ายเวลามาเผาศพ เป็นพระธาตุหมดเลย

หลวงปู่เขียน ๙ ประโยค ที่บุรีรัมย์ นั่นก็นอนอยู่เฉยๆ นอนบนเตียงเลย เพราะว่าเราไปสนิทกับพระอาจารย์บุญมี พระอาจารย์บุญมี ถ้ำเต่านี่เป็นลูกศิษย์ ท่านจะพูดให้ฟัง ๑๐ กว่าปีแรกก็คิดว่าจะเสีย เตรียมเมรุแล้วก็ไม่เสีย ๒๕ ปีเกินด้วย ๒๐ กว่า เราจำตัวเลขไม่แน่ชัด แต่ ๒๐ กว่าปี นอนอยู่เฉยๆ นี่ ๒๐ กว่าปี เห็นไหม ดูสิมันกดทับขนาดไหน มันต้องรักษาขนาดไหน นอนอยู่ ๒๐ กว่าปีนะ เผาแล้วเป็นพระธาตุ

ทีนี้เราจะบอกว่า ๒๐ กว่าปี นอนเฉยๆ ข้างในมันเฉยไหม ความคิดมันเฉยไหม มันหมุนของมันได้ไง มันทำประโยชน์ของมันได้ไง มันจะเป็นประโยชน์ของมัน

ฉะนั้นอย่างของเรานี้ ถ้าเราเข้มแข็งนะ เรานั่งท่านั่ง หรือเดินจงกรมก็แล้วแต่ เพื่อเอาหัวใจ ถ้ามันได้หัวใจนะ รักษาใจ ใจเป็นประโยชน์ขึ้นมา เพราะว่าใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่ ความคิดเกิดจากใจ ทุกอย่างเกิดจากใจหมด แล้วถ้าเกิดจากใจนี้ เราก็ต้องเข้าไปสู่ใจ แล้วพยายามรักษาใจ แล้วเอาใจนั้นออกทำงาน ออกวิปัสสนา ออกเกิดญาณทัสสนะ ออกเกิดมรรคญาณ ออกเกิดอะไรต่างๆ ตรงนั้นจะเป็นประโยชน์ตรงนั้น อันนี้พอใจมันอยู่กับเราเท่านั้น มันก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม นั่งภาวนานี่แหละ สู้กับมัน

มันมีกายกับใจ ทีนี้นั่งก็ต้องนั่งอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว จิตภาวนาไม่ใช่กายภาวนา เพียงแต่กาย จิตมันติดที่กาย ติดที่กายแล้วมันเห็นกายนะ เห็นกายจากเจโตวิมุตติ ถ้าเห็นกายจากจิต ไม่ได้เห็นอย่างนี้หรอก เห็นกายจากจิตนะ เราถึงพูดบ่อยว่า หมอผ่าตัดคนไข้ทุกวันเลย ไม่เคยเห็นกายหรอก มันเห็นด้วยตาเนื้อ ต้องใส่แว่นขยายด้วย ต้องมีโคมไฟด้วย ชัดๆ เลยนะ แต่ไม่เห็น อันนี้กายคนอื่นนะ กายของผู้ป่วย แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันเป็นเอกเทศ แล้วจิตมันเห็นกายโดยตาของจิตนะ บางองค์เห็นเฉพาะเป็นอวัยวะ เป็นปอด เป็นไต เป็นตับ แต่เป็นชิ้นเดียว บางองค์เห็นร่างกายทั้งโครงสร้าง บางองค์เห็นเป็นกระดูกเห็นไหม

ถ้าเห็นกายอย่างนั้นนะ ถ้าเปรียบทางโลกนะ เหมือนเห็นซากศพ เราก็คิดว่าเห็นศพคนอื่น ไม่ใช่หรอก ศพเรานี่แหละ แต่มันเพราะจิตเห็น พอจิตเห็นปั๊บ เห็นกาย พอเห็นกายอย่างนั้นนะ มันจะไหว มันสะเทือนใจมาก เพราะว่าใจนี้มันคิดไม่ถึงไง มันคิดไม่ถึงว่าเราจะเห็นสภาวะแบบนี้ไง พอมันเห็นนะ มันจะไหวหมดเลย ไหวเพราะอะไร ไหวเพราะนี่คือกิเลส คือความยึดมั่นไง คือสังโยชน์ที่มันมัดไว้ไง พอมันไหวขึ้นมา มันก็จับ พอมันไหวปั๊บ มันก็สั่นเห็นไหม สั่นปั๊บภาพนั้นก็จะเคลื่อนไหว

แล้วก็กลับมาทำความสงบของใจให้มันมั่น พอจับปั๊บ มันก็เป็นอุคคหนิมิตเห็นไหม แล้ววิภาคะขยายส่วน ทีนี้ขยายส่วนคืออะไร คือไตรลักษณ์ล่ะ ไตรลักษณ์มันจะเกิดตรงนี้ไง พอไตรลักษณ์มันจะเกิด พอสิ่งนี้เป็นไตรลักษณ์ ใครเป็นคนเห็นไตรลักษณ์ จิตนี้เป็นคนเห็นไตรลักษณ์ ที่บอกว่ามันเห็นไตรลักษณ์เป็นอย่างนั้นๆ มึงไม่เห็นจริงหรอก ถ้าเห็นจริง พอมันเห็นสภาวะแบบนั้น โอ้โฮ! มันถอดมันถอน.. ถอดถอนที่ไหน ถอดถอนเหมือนกับเราเชื่อมั่นไง

ธรรมะบอกว่าเราจับงูเห่าขึ้นมา แล้วคิดว่าปลาไหล แต่พอยกขึ้นมาเราเห็นว่าปลาไหล เราเชื่อมั่นว่านี่คือปลาไง เราเชื่อว่านี่คือกายเราไง เราเชื่อว่านี่คือของเราไง เราเชื่อมั่น จิตใต้สำนึกมันเชื่อมั่น เพราะอะไร เพราะมันผ่านวัฏฏะมาเยอะ ทั้งที่ฟังธรรมทุกวันนี่แหละ ฟังธรรมเข้าหู แต่เข้าไม่ถึงใจหรอก แต่พอมาเจอะ เกิดวิปัสสนาญาณ จับปลาไหลขึ้นมา คือจับกาย ก็ของเราไง แต่พอมันเห็นว่าเป็นงูเห่า นี่เห็นโทษไง มันสลัด ผลัวะ! นี่สังโยชน์ขาด กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ขันธ์ ๕ เห็นไหม กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย มันทิ้งขาดเลย นี่โสดาบัน

การกระทำมันจะเกิด มันถึงจะเป็นโสดาบัน มันต้องมีเหตุมีผลสิเว้ย ไม่ใช่ เผลอๆ ตื่นขึ้นมาก็เป็นโสดาบัน นั่งๆ อยู่ เขาเอาโสดาบันมาคาดใส่หน้าผากเลย บอกไม่ใช่ ไม่ใช่ได้ไง มันอยู่ตรงหน้าผากมึง ตัวจิตไม่รับรู้อะไรเลย เป็นโสดาบันเป็นอย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก โสดาบันมันจะเห็นจริง กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายก็ได้ พิจารณาเวทนาก็ได้ พิจารณาจิตก็ได้ พิจารณาธรรมะก็ได้ พิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะจิตมันยึด มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน

แล้วพอมันวิปัสสนาถึงที่แล้วมันปล่อย ผลัวะ! ขาดเลย ขาดอย่างนั้น สังโยชน์ขาดแล้ว จะไม่มีกลับมาหรอก สังโยชน์ขาดแล้วมันจะกลับมารวมใหม่ มันจะหมุนไปหมุนมา กูเวียนหัว เวียนหัวหน้าดูเลย ขาดไปแล้วไม่มีกลับมาต่ออีกไม่ได้เลย เป็นอกุปปธรรม “กุปปธรรม-อกุปปธรรม” กุปปธรรม คือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรม สภาวะที่เราคิด ธรรมไม่ใช่สภาวะ ธรรมเป็นความจริง แน่นอนตายตัว สภาวะคือการเปลี่ยนแปลง

“สภาวธรรม” เราฟังไม่ได้นะ สภาวธรรม หมายถึงอารมณ์ความรู้สึก เหมือนกับสภาวะสิ่งที่เราจับสิ่งต่างๆ มาเพื่อเติมเต็ม แต่พอกระบวนการมันจบกระบวนการแล้ว มันไม่ใช่สภาวะ ถ้าเป็นสภาวะมันยังเปลี่ยนแปลงอยู่ กุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี่เป็นอนัตตา สภาวธรรมทั้งหมด อกุปปธรรมเห็นไหม สิ่งที่เป็นอกุปปธรรม อฐานะ อะ คือไม่มีการเปลี่ยนแปลง นี่ธรรมเหนือโลก โสดาบัน สกิทาคา อนาคาเป็นอย่างนั้น

แต่ที่มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเพราะความเห็น เพราะความคิดของเรา มันเป็นเพราะเราศึกษาธรรมะ แล้วก็ดุลยพินิจของใครที่เขาเอาไปวิเคราะห์วิจัยว่าศาสนาควรเป็นอย่างนี้ ทีนี้การปฏิบัติตอนนี้ เราทำกันจริงทำจัง พอทำจริงทำจัง พวกเราก็เห็นว่าเป็นความทุกข์ แล้วพอมีคนเสนอทฤษฎีที่สะดวกสบายขึ้นมา พวกเราก็เชื่อ เชื่อเพราะอะไร เพราะเขาบอกว่าอย่างนี้มันทำได้ แล้วอย่างนี้มันมีผลจริง มีผลจริงเพราะอะไร มีผลจริงเพราะเราไม่รู้ไง เพราะเราไม่รู้ เขาบอกสิ่งนี้มาเราก็เชื่อเขา

แต่ในวงกรรมฐานเรามีครูบาอาจารย์ เรารู้เราเห็น แล้วที่เขาบอกมานี่มันเข้ากันไม่ได้ มันเข้ากันไม่ได้หรอก เผลอปั๊บสติมาเอง เขาว่านะ ถ้าตั้งใจจะผิดหมดเลยนะ เผลอปั๊บสติมาเองเลย โอ้..เวร.. เผลอกับสติมันตรงข้ามกันนะ สติของเขาฝึกด้วยการปล่อยให้มันเผลอ แล้วมันจะมาเอง มันก็เหมือนกับเรา เวลาเราตกใจ สติมา มันมาอย่างไร มามันก็ไหวใช่ไหม มันกระตุก มันกระตุกแล้วมันเป็นอะไร มันเป็นสติไหม แต่พุทโธๆ พุทโธหรือว่าเรามีสติไป จนมันสม่ำเสมอ สติเราพร้อมตลอด สติเขาฝึกกันอย่างนี้ ไม่ใช่เผลอปั๊บสติมาเอง ใครจงใจตั้งใจนะ ผิดหมดนะ เป็นอัตตกิลมถานุโยค เวรกรรม!

นักวิจัยที่ทำวิจัยนี่ผิดหมด มึงต้องระเบิดทิ้งหมดนะ สถานวิจัยนี้ แล้วไปทำเผลอๆ กันนั่น แล้วเดี๋ยวเมืองไทยจะเจริญ มันเป็นไปไม่ได้! โอ้ ฟังแล้วมัน.. ศาสดาที่ไหนมันสอนกันอย่างนั้น แล้วสังคมไทยมันก็เชื่อกันไปหมดเลย เผลอปั๊บสติมาเอง ปัญญาคือสภาวะจำ สัญญาเป็นปัญญาไม่ได้ ในวงปฏิบัติเรานี่กลัวตรงนี้มาก หลวงปู่มั่นนะกับหลวงตาเวลาท่านเทศน์นะ เวลาถึงไคลแมกซ์ ถึงที่สำคัญนะ ท่านบอกท่านพูดไม่ได้ เดี๋ยวเราจะจำ พอจำแล้วเราจะสร้างภาพ แล้วคนปฏิบัตินั้นจะยากมาก

เวลาถึงเหตุอุกฤษฏ์ ความเป็นจริงของจิตที่มันจะมีการเปลี่ยนแปลง พอเทศน์ๆ มาถึง ท่านจะปล่อยแล้วข้ามไป แล้วถ้าคนเป็น มันเป็นเอง มันจะรู้จริงของมัน คำว่าเป็นเองนี้ ไม่ใช่อัตโนมัตินะ คำว่าเป็นเอง มันได้สร้างมาถึงจุดนี้ แล้วมันเป็นของมันจริง แล้วมันรู้จริงๆ รู้จริงๆ ไม่มีหวั่นไหว เพราะมันพูดได้เห็นได้ มันพูดได้ พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ แต่ถ้าไม่จริงนะ จะพูดแต่พอไปถามสิ “ลืมไปแล้ว” ให้พูดใหม่ ก็ไม่เหมือนเก่า ไม่เหมือนหรอก แล้วพูดพลิกไปพลิกมา พลิกมาพลิกไป คือคนพูดเลื่อนลอย ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ ไม่มีความจริงเป็นฐาน

แต่ถ้าครูบาอาจารย์จะมีความจริงเป็นฐาน พอความจริงเป็นฐาน การอธิบายฐานความจริงอันนี้ ให้กับผู้ที่ศึกษา เพราะผู้ที่ศึกษามีวุฒิภาวะหลากหลาย มีจริตนิสัย มีมุมมอง มีทัศนคติที่หลากหลาย ข้อเท็จจริงอย่างนี้ มันแจกแจงให้กับความหลากหลายอันนั้นได้ เพราะความหลากหลายของทุกๆ คนนั้น ถึงเวลาปฏิบัติไปแล้ว มันจะเข้าสู่ข้อเท็จจริงอันเดียวกัน แต่มันจะหลากหลายออกมาจากทัศนคติ ออกมาจากจริตนิสัย ออกมาจากมุมมอง ออกมาจากการกระทำ แต่ผลของมันจะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน ธรรมะอันเดียวกัน มันจะแตกต่างกันก็ที่วิธีการ แต่ผลของมันต้องอันเดียวกัน ฉะนั้นตรงนี้ถึงเวลามันตรวจสอบกันแล้ว มันถึงตอบตรงนี้ไม่ได้เพราะไม่มีข้อเท็จจริง มันเลื่อนลอย

นี่พูดถึงการปฏิบัติ ทุกคนปฏิบัติได้ นอนอยู่ก็ปฏิบัติได้ นอนอยู่นี่ปฏิบัติได้ ยืน เดิน นั่ง นอน นอนก็ได้ บางคนมี บางองค์มีนะ พระบางองค์มีนอนปฏิบัติ มี แต่ส่วนใหญ่นอนแล้วหลับ แต่ที่ท่านอนมี ประพฤติปฏิบัติได้ก็มี ยืน เดิน นั่ง นอนเห็นไหม นอนกับนั่งก็ต่างกันแล้ว แล้วทำไมคนแก่จะนอนไม่ได้ นอนได้

เพียงแต่ว่าท่ามาตรฐาน หมายถึงว่า เหมือนกับเด็กฝึกหัด เหมือนการฝึกทหารการฝึกอะไร ท่ามาตรฐานก็ต้องมี มีไว้แล้วการฝึกทหารมันจะเป็นรูปแบบเดียวกัน นี่ก็เหมือนกันการปฏิบัติท่ามาตรฐานคือนั่งสมาธิกับเดินจงกรม แล้วเดินจงกรมนี้ อยู่ที่ใครชำนาญ ผู้ที่ชำนาญในการเดินจงกรม จะเดินจงกรมมากกว่านั่ง ผู้ที่ชำนาญการนั่ง จะนั่งมากกว่าเดินจงกรม มันอยู่ที่คนชอบ บางคนนั่ง โอ้โฮ อย่างเช่น ที่ถ้ำสหาย หลวงปู่จันทร์เรียน นั่งที ๗ - ๘ ชั่วโมงนะ ทุกคืน แล้วถ้าใครนั่งไม่ได้อย่างนั้น ไล่ออก ท่านถนัดเพราะเราไปกราบท่านอยู่ ท่านบอกเลยว่าท่านถนัด

ท่านบอกท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชอบ ท่านบอกหลวงปู่ชอบนี้ นั่งสู้ท่านไม่ได้ แต่หลวงปู่ชอบถนัดเดินจงกรมมาก หลวงปู่ชอบเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนเลย ท่านเดินจงกรมสู้หลวงปู่ชอบไม่ได้ ท่านพูดเอง หลวงปู่จันทร์เรียนพูดให้เราฟังเองว่าหลวงปู่ชอบนี่ถนัดเดินจงกรมมาก แต่สำหรับหลวงปู่จันทร์เรียนถนัดนั่งสมาธิมากเห็นไหม ต่างกันแล้ว นี่คนจริง จริงมันก็ได้จากท่านั้น เช่น พระอาจารย์สิงห์ทองก็เดินจงกรมเก่งมาก หลวงตาท่านก็เดินทั้งวัน จนปัจจุบันนี้ก็ยังเดินจงกรมอยู่ บางคนได้มาจากท่าเดิน บางคนได้มาจากท่านั่ง

เวลาได้ไง มันสมดุล จิตมันสมดุลตรงนั้น ขณะไหนนะ ปั๊บ ที่ว่าลัดสั้นๆ สว่างโพลงนี่เหมือนกัน หลวงปู่มั่นเห็นไหม “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” แต่ขณะที่กว่ามันจะสมดุล ตรงที่มันสว่างโพลง มันแลบลิ้นคือมันสมดุล คือเราสร้างฐานขึ้นมา ทุกอย่างมันสมดุลแล้ว เหมือนก่อสร้างบ้าน กระเบื้องแผ่นสุดท้ายวางก็จบไง แต่กว่าจะวางถึงแผ่นสุดท้ายนะ โอ้โฮ โครงสร้างรากฐานมึงทำมาเกือบตาย แต่พอวาง พั้บ! เสร็จแล้ว

ปฏิบัติเหมือนกัน ที่ว่าอัตโนมัติๆ มันไม่มีหรอก! มึงทำมาเกือบตาย แต่ตัดริบบิ้น พั้บ เสร็จ ไอ้นี่มันจะเอาแต่ตัดริบบิ้นไง แต่กระทำไม่เกี่ยว ไม่มี ทำมาเกือบตาย พอตัดริบบิ้นนะ สว่างโพลง จบ ต้องจริง จะตัดริบบิ้นนะ โรงงานทำดอกไม้ มันตัดทั้งวัน มันไม่เห็นได้อะไรเลย มันต้องมีข้อเท็จจริงของมันรองรับ ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์กัน เราทำของเราอย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์ อย่าไปเชื่ออะไรเลื่อนลอย

อย่างเช่น นั่งนี่เห็นไหม มันจะหลับ นั่งเฉยๆ นี่จะหลับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วสบายไหม ก็สบาย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจิตนี้มันมหัศจรรย์ คนเรานะบางคน เราสร้างความคิดสิ คนเรานะ หมอบอกเลยนะ จิตนี่มันเครียด มันคิดวิตกกังวล จนมันป่วยได้ แต่ทีนี้มันคิดให้ดีไง นิพพานว่างๆ สว่างโพลง ก็สว่าง มองแต่พระอาทิตย์ สว่างๆ แล้วคุณค่าของมันล่ะ มีอะไรตอบรับ ไม่มีหรอก มันไม่มี

ถาม : อาจารย์ครับ พอดีคำถาม เมื่อกี้ที่ได้ถามไป ๒ - ๓ คน นี่ก็เกี่ยวกับเรื่องการนั่งสมาธิทั้งหมดครับ ปกติแล้ว หลักเกณฑ์ในการนั่งสมาธิ สมมุติว่าอย่างคนที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติ มันเหมือนนักกีฬาครับ นักกีฬาเวลาเราเริ่มหัดเล่นกีฬา เราก็ต้องค่อยๆ ซ้อมใช่ไหมครับ ก็อย่างเช่นวันหนึ่งอาจจะสักครึ่งชั่วโมง วันที่ ๒ อาจจะชั่วโมง เพื่อจะให้กล้ามเนื้อมันเข้าที่ อย่างเราอย่างนี้ เหมือนเพิ่งเริ่มนั่ง มันต้องมีแพทเทิร์นไหมว่าวันแรกเราแค่สัก ๑๐ นาที ๒๐ นาที แล้วค่อยไหลขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราไปหักโหมมันจะมีผล ทำให้เราเบื่อหน่ายเร็วหรือเปล่าครับ ผมไม่แน่ใจตรงนี้ หรือมันจำเป็นว่าต้องนานๆ เลย

หลวงพ่อ : ไม่ ถ้าตามหลักก็ ท่านพูดน่ะถูก ต้องอย่างนั้น จาก ๑๐ นาที ๒๐ นาที สังเกตหลวงตาเทศน์ไหม ท่านจะบอกเลย อย่างน้อยนั่งสมาธิให้ได้วันหนึ่ง ๕ นาที ๑๐ นาที ถูกต้อง ทีนี้พอถูกต้อง อันนั้นเป็นพื้นฐานของชาวพุทธใช่ไหม ทีนี้สังเกตได้ไหม เวลาพระป่าเทศน์ เวลาหลวงตาเทศน์ ครูบาอาจารย์เทศน์ ท่านไม่ค่อยพูดเรื่องศีลเท่าไรเลย เพราะถือว่าเรามาบวชนี้มีศีล ๒๒๗ แล้วไง ทีนี้พอเราเป็นพระ คำว่าเป็นพระใช่ไหม อย่างเช่นเราพระบวชใหม่ๆ ใช่ ๕ นาที ๑๐ นาที แต่ถ้าเราได้แล้ว เราจะเพิ่มมากขึ้นๆ ไป มันก็เป็นประโยชน์กับเราไง

เหมือนกับเล่นกีฬาเหมือนกัน นักกีฬา ถ้าเวลาแข่งขัน กำลังแข่งขันอยู่ เรามีโอกาสเล่นกีฬาใช่ไหม ถ้าหมดเวลาก็คือจบ ทีนี้นั่งสมาธิ ๕ นาทีก็เหมือนกับเวลา ๔๕ นาทีต่อเวลาที่เขาแข่งกัน พอจบแล้ว ก็อดแล้ว ทีนี้เหมือนกัน ท่านั่งมันก็เป็นประโยชน์ตรงนี้ไง เหมือนกัน ถูกต้อง เพียงแต่ถูกต้องนี้ พอคำว่าถูกต้องปั๊บ ใจคนมันจะอ่อนแอไง ฉันก็เพิ่งใหม่ตลอดไง ก็จะ ๕ นาทีแม่งทุกวัน แล้วมันไม่ขึ้นสักที

ก็พื้นฐานไง ก็ ๕ นาที ถูกต้อง แต่เราจะต้องโตขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันไง ๕ นาที ๑๐ นาที ครึ่งชั่วโมง เพราะอะไรรู้ไหม เพราะกิเลสมันต่อรอง ให้ ๕ นาที พอ ๑๐ นาทีไม่ไหวแล้ว คราวนี้เขาเรียก “อุบาย” เวลานั่งนี่อุบายนะ พอเราปฏิบัติอย่างนี้ปั๊บ มีคนเยอะมากเลย กิเลสมันหลอก ลูกศิษย์มาหา นั่งทั้งวันนี่ไม่ดีเลยนะ แต่พอได้เวลาจะต้องตื่นตี ๔ หรือตี ๓ เพื่อจะไปหุงข้าวใส่บาตร โอ้โฮ จิตมันจะลงนะ มันว่างนะ มันไม่ลุก นี่ไง มันจะไม่ยอมไปหุงข้าวใส่บาตร

เขามาถามว่า “หลวงพ่อ ระหว่างนั่งสมาธิกับหุงข้าวใส่บาตร อะไรมันดีกว่ากัน” นี่กิเลสมันหลอก แล้วนั่งมาทั้งวัน ทำไมมันไม่ดี แต่เวลาจะต้องไปหุงข้าวนี่ แหม.. ลุกไม่ได้นะ มันดี มันสุดยอดเลย มันก็ทำให้เรา จะนั่งก็นั่งไม่ได้ ไอ้จะไปใส่บาตรหรือก็ไม่ได้ ไม่ได้อะไรเลย มันต้องตัดใจ ถึงเวลาเราเคยใส่บาตร เขาว่าเขาเคยใส่บาตรทุกวัน แล้วมันก็แปลก พอตี ๔ ตี ๕ จะไปหุงข้าว แหม.. จิตมันจะลง แหม.. จิตมันดีมากๆ เลย แล้วนั่งมาทั้งคืนไม่ดี ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไอ้ที่ว่าเรานั่งกันเห็นไหม

อย่างเช่น หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่า เดิมท่านไม่เคยตั้งใจว่าจะนั่งตลอดรุ่งเลย แต่มีอยู่คืนหนึ่ง พอนั่งไปแล้วมันมีปัญหาไปหมด นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ดีนะ ถ้าอย่างนี้ต้องตลอดรุ่ง จิตมันต่อรองไง มันต่อรองว่าจะเป็นไอ้นั่นจะเป็นไอ้นี่ มันต่อรองตลอด ถ้าต่อรองอย่างนี้ ต้องนั่งตลอดรุ่ง! ไม่ลุก ใหม่ๆ นะ ท่านบอกนั่งไปนะ ด้วยสัจจะไง นี่คนไม่ภาวนาจะไม่รู้ เรื่องที่พูดเมื่อกี้ เรื่องเวทนา ชั่วโมงหนึ่งจะปวดระดับนี้นะ แล้วถ้าเราพิจารณาจนมันปล่อยได้นะ มันวางได้อยู่ แล้วพอวางก็เบาสักพักหนึ่ง สมาธินี้เข้าไม่ได้นานหรอก พอมันออกรับรู้นะ

เวทนาครั้งที่ ๒ ๔-๕ ชั่วโมงนะ ไอ้ปวดที่ว่าครั้งที่แล้ว ปวดไป ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ปวดเต็มที่แล้ว แต่เพราะเรานั่งสมาธิไปแล้วมันสงบ แล้วพอมันออก คายออกมามันปวดอีกนะ คราวนี้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ไล่สู้มัน มันปล่อยนะ เข้าสมาธิอีก พอมันคลายออกมานะ ท่านบอก โอ้โฮ มันปวดอีก เจ็บ ท่านถึงบอกเห็นไหม หลานเวทนา ลูกเวทนา พ่อเวทนา ปู่เวทนา พอมันนั่ง ๗ - ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง โอ้โฮ! ท่านบอกนะว่า “กระดูกมันลั่นหมดเลย มันเหมือนกับเอากองไฟ เอาไฟทั้งหมดมาสุมใส่ตัวท่าน มันร้อนไปหมด มันเจ็บปวดไปหมดเลย แต่ก็สู้” เพราะอะไร เพราะว่ากิเลสมันต่อรองไง มันต่อรอง อย่างนี้ต้องนั่งตลอดรุ่ง

นี่เหตุที่ท่านนั่งตลอดุร่ง มันก็มี เพราะว่าไอ้การต่อรองของข้างในมันต่อรองออกมา ท่านก็เลยเอาสัจจะกดมันไว้ แล้วสู้กับมัน ทีนี้พอมันสู้กับเวทนาบ่อยครั้งๆ มันชำนาญหมดใช่ไหม พอเวลามันปล่อยเวทนาได้เลย ท่านถึงบอกว่า “ถ้าเวทนาขนาดนี้ เวลาเราจะตายนี่นะ มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ” เวทนาความเจ็บปวด มันจะไม่มีเจ็บปวดอย่างใดที่มากไปกว่านี้อีกแล้ว แล้วท่านชนะมัน ท่านปล่อยวางมันได้ ท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นเห็นไหม ไปรายงานผล หลวงปู่มั่นบอก “โอ้โฮ เอ้อ จิตนี้มันไม่ไปเกิด ๕ อัตภาพเว้ย” นั่น! มันได้ผลแล้วนะ มันชนะเวทนา เวทนาขาดแล้ว

ทีนี้เวทนาขาดแล้ว ท่านยังสู้ต่อไปเรื่อยๆ ทีนี้ หลวงปู่มั่นเห็นว่า ในเมื่อเราก็ได้ประโยชน์แล้ว ไม่ควรสมบุกสมบั่นจนเกินไป เพราะร่างกายคนเรา มันต้องเก็บไว้ใช้ประโยชน์บ้างไง ท่านถึงบอกว่า “ม้า เขาจะฝึกม้าเห็นไหม” คือว่าหลวงปู่มั่นท่านเตือนไง เตือนว่าร่างกายนี้ ถ้าเราสมบุกสมบั่นจนเกินไป ทรมานจนมากเกินไป มันอาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยได้ มันอาจจะไม่เป็นประโยชน์กับเราไปข้างหน้าไง หลวงตาท่านฟัง แล้วท่านเข้าใจเห็นไหม ท่านก็ผ่อนออกมาบ้าง

แต่ทีนี้เห็นไหม มันอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่ว่ากิเลสมันจะหลอกเราไหม กิเลสมันจะอ้างไหม แต่ที่พูดอย่างนี้ ถูกหมด เพียงแต่อุบาย เวลาใช้ให้มันสมดุลไง ถ้ามันขี้เกียจเราก็หนึ่งชั่วโมง ถ้ามันขยัน ก็พอ ไม่ใช่ว่า มันต่อรองนะ ความรู้สึกเราเองมันต่อรอง แล้วมันต่อรอง มันอ้างวิทยาศาสตร์ อ้างทางการแพทย์ (หัวเราะ) มันอ้างเหตุผลทั้งนั้น แล้วต้องเชื่อมันด้วย “ลุกดีกว่า.. เลิกดีกว่า..” เพราะเหตุผลมันน่าเชื่อถือ

ขนาดลูกศิษย์มาพูดให้ฟังเหมือนกัน เขาบอกว่า “ไอ้ดีกว่า มันดีกว่าตรงไหนไม่รู้ เวลาบอกลุกดีกว่า พอลุกไปแล้ว แล้วดีกว่าตรงไหน ก็ไม่รู้” ก็เสียท่ามันไปแล้วไง เสียท่าความคิดเราไปแล้ว เลิกดีกว่า พอออกมาแล้วก็มาคิด อ้าว แล้วมันดีกว่าตรงไหน คิดได้นะ มันดีตรงไหน เลิกมาแล้วดีตรงไหน แต่ตอนนั้นนะ ลุกดีกว่า เพราะเหตุผลมันพอ ทีนี้ถ้าพูดถึงมันเป็นข้อเท็จจริง เราก็ควรลุก แล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้ครั้งต่อไปเราจะไม่ยอมมัน พอเราชนะได้สักหนหนึ่งนะ โอ้โฮ !

ถ้าเราไม่เคยชนะเลย เราจะแพ้ตลอดไป ถ้าชนะสักหนหนึ่งปั๊บ มันก็เกิดกำลังใจ เอ้อ เราทำได้ ถ้าเราทำได้ เรามีความมั่นใจแล้วทำได้ แล้วทีนี้พอทำได้ปั๊บ มันก็มีแพ้ชนะแล้ว การปฏิบัติมันจะมีแพ้มีชนะตลอดไป ไม่มีใครชนะตลอดไปหรอก ขนาดชำนาญขนาดไหน มันก็มีวันแพ้ วันแพ้หมายถึงว่า วันนี้มีอุปสรรคอย่างนี้ๆ แล้วกิเลสนี้ พอเราต้อนมันเข้าไป มันจะมีข้อต่อรองเยอะมาก ความคิดเราเองนี่มันจะมีข้อต่อรองเยอะมากเลย

หลวงตาท่านบอกเลยบอกว่า ต้องไล่กิเลสให้จนมุมเลย แล้วเวลาจนมุมจนตรอก มันจะเกิดปัญญา เหมือนนักมวยเราเข้าไปจนมุม มันจะพลิกตัวออกเลย พอเหตุผลเราอัดเข้าไปๆ มันจะเกิดปัญญา ปัญญาอันนี้ มันเกิดปัญญาที่ในจิตนะ มันเกิดปัญญาในการชำระเลย มันเอาตัวรอดได้เลย แต่ถ้าเราไม่เจอวิกฤติอย่างนี้นะ “เอ้อ เมื่อนั้น เมื่อนี้ เมื่อนี้ เมื่อนั้น ร่อนอยู่นั่น กลางเวที ปลิ้นไปปลิ้นมา” เอามันจนมุมเลย แล้วอัดมันเลย นี่กรรมฐาน เราจะต่อสู้กันอย่างนี้ไง

ใช่ ถ้าพูดอย่างนั้นโดยพื้นฐานต้องเป็นอย่างนั้นขึ้นมาก่อน จาก ๕ นาที ๑๐ นาทีขึ้นไป แล้วพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้ามันเอาจริงนะ เพียงแต่ว่า พอเราปฏิบัติไปแล้ว พอพัฒนาไปเรื่อยๆ เราแช่ระดับอยู่ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมง “เอ้.. แล้วก็ไม่เห็นมันมีอะไรดีขึ้นเลย ไม่เห็นมันมีอะไรดีขึ้นเลย นี่มันต่อรองนะ ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย” มันก็บอกเราว่า “หยุดดีกว่า” หยุดดีกว่าแล้วมันได้อะไร ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น มันเหมือนกับเราปลูกต้นไม้ รดน้ำที่โคน แล้วผลออกที่ปลาย นั่งสมาธิไปมีอะไรดีขึ้นล่ะ ดีขึ้นเพราะใจเราพัฒนาขึ้นไหม ร่างกายสมบูรณ์ขึ้นไหม ทุกอย่างดีขึ้นไหม

นี่มันดีขึ้นแล้ว แล้วจิตมันจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น เดี๋ยวมันจะรู้ของมันเอง แต่เพราะความอยากได้ ต้องการพยานหลักฐานไง ทำให้กิเลสบอกว่า เลิกดีกว่าอีกเหมือนกัน ทำไปเรื่อยๆ การปฏิบัติจะได้ผลต้องทำต่อเนื่อง เหมือนนักกีฬา ถ้าซ้อมอยู่ตลอดเวลา ร่างกายจะแข็งแรงตลอดไป จิตถ้ามันได้ปฏิบัติแล้ว มันจะมีโอกาสของมัน นี่มันก็จะคิดสิ อ้าว.. ก็เสียเวลาทำมาหากิน ทำอย่างนี้ไม่ได้ แล้วเราหากินอะไร หากินมึงไม่มีเวลานั่งเลยหรือ มันมีทั้งนั้น แต่กิเลสนี่ไม่ได้นะ กิเลสนี่มันยอด ที่มันจะเอาชนะเราตลอด อ้าว.. มีอะไรอีก

ถาม : อีกคำถามได้หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ได้

ถาม : คำว่า สมถะกับวิปัสสนา นี่มันต่างกันอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : “สมถะ” ในอภิธรรมนี้ เขารังเกียจมาก รังเกียจสมถะ เขาบอกว่าสมถะนี่คือสมาธิ สมถะคือพลังงาน มันไม่ใช่ปัญญา มันไม่เป็นประโยชน์ วิปัสสนาคือปัญญา ต้องวิปัสสนา ต้องออกออกใช้ปัญญา

แต่เขาไม่ได้คิดนะว่านักกีฬาทุกชนิด ต้องร่างกายแข็งแรง ต้องมีกำลัง สมถะคือพื้นฐานของตัวกำลัง ใช่ ตัวสมถะ ตัวสมาธิ มันฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมถะเป็นพื้นฐาน ปัญญาเกิดไม่ได้เลย ปัญญาที่เกิดๆ นี่คือโลกียปัญญา ปัญญาสามัญสำนึกของมนุษย์ ไม่ใช่ปัญญาของธรรมะ

ปัญญาของธรรมะ มันต้องมีสมถะนี้เป็นตัวแยก เพราะถ้ามันไม่มีสมถะใช่ไหม มันก็คือเรา คือตัวตน สมถะคือตัวตนมันสงบตัวลง แล้วมันเกิดโดยสัจธรรม ปัญญาในศาสนา มันเกิดจากอะไร ใช่ เวลาปฏิบัติแล้ว มันเหมือนกับพระพุทธเจ้าสอนเลย เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกันหมด แต่เหมือนโดยข้อเท็จจริงของเรา แต่ถ้าเราไม่มีสมาธินะ มันคิดเองไง มันคิดให้เหมือน แต่มันไม่เหมือน แต่ถ้ามันเป็นจริงมันเหมือน แต่เป็นของเรา เหมือนของเราคือชำระกิเลสของเราไง แต่ถ้าเราคิดเหมือนเลย แต่เราคิดเหมือน “เรา” เห็นไหม สมถะกดเราลง

นี่สมถะกับวิปัสสนา มันต่างกันตรงนี้ แต่! แต่โดยการปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์เราบอกว่า ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ ในสมถะมีวิปัสสนาหมายถึงว่า ถ้าทำสมถะต้องมีปัญญา วิปัสสนาคือปัญญา แต่ทำแต่สมถะ ถ้ามีปัญญา จะเกิดเป็นสมถะไม่ได้ แต่มันเป็นปัญญาของสมถะ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา เวลาเกิดวิปัสสนา อย่างที่พูดเมื่อกี้เรื่องหมอ ถ้าเป็นสมถะ มันจะเห็นโดยสามัญสำนึก แต่ถ้าเป็นวิปัสสนา มันจะเห็นโดยจิต แล้วมันจะชำระถอดถอน

จะวิปัสสนาหรือสมถะนี้ ฟังคนพูดนั้นจะรู้เลย เวลาผู้ปฏิบัติมาถามปัญหา เขาพูดด้วยปัญญาออกมานี่ฟังรู้เลย มันพูดปัญญาในมิติไหน มันมีมิตินะ มิติของโลก มิติของธรรม มิติของโสดาบัน มิติของสกิทาคามี มิติของอนาคามี มิติของพระอรหันต์ ลึกซึ้งต่างกันเยอะมากๆ แต่ถ้าวิทยาศาสตร์ ไม่มีมิติ ปัญญาคือปัญญาเหมือนกันหมด เสมอภาคโดยกรอบ ฉะนั้นการพูดธรรมะกัน ถ้าพูดโดยวิทยาศาสตร์ เราถึงบอกว่าวิทยาศาสตร์นี่แก้กิเลสไม่ได้ วิทยาศาสตร์คือทฤษฎีใช่ไหม เหมือนกันหมดใช่ไหม แต่ธรรมะลึกซึ้งต่างกันมากๆ มากๆ !!! คนไม่เป็นพูดผิดหมด

จะบอกว่าจะชี้ชัดไปไม่ได้ไง เหมือนแกงนี้ อะไรเป็นกะทิ อะไรเป็นมะเขือ ออกมาแล้วมันก็อยู่ในแกงถ้วยนั้นไง แต่เราแยกได้ เรามองได้ คนเป็นจะแยกได้ ทีนี้สมถะกับวิปัสสนา ถ้ามันถึงเวลา ถ้ามันต้องใช้ร่วมกันไง มันต้องมีสมถะเป็นพื้นฐาน สมถะแก้กิเลสไม่ได้ มันต้องมีปัญญาคือวิปัสสนาด้วย ฉะนั้นถ้าไม่มีสมถะ วิปัสสนาจะเกิดได้อย่างไร มันต้องอาศัยร่วมกันไง ใช้ร่วมกัน

เห็นไหม มะเขือก็คือมะเขือ กะทิก็คือกะทิ ไก่ ปลา ก็ต้องเป็นอีกชนิดหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน เพียงแต่เวลาเราใช้ร่วมกัน ใช้อย่างไร ประกอบอย่างไร แล้วอยู่ที่คน เราไม่กิน เรากินแกงส้ม ก็เราชอบแกงส้ม กะทิ กูไม่เกี่ยว นี่ก็เหมือนกัน อยู่ที่จริตชอบอย่างไร เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ วิมุตติทางไหน แต่ข้อเท็จจริงก็คือต้องมีอาหารเหมือนกัน ต้องสำเร็จเหมือนกัน ต้องเป็นเหมือนกันเนาะ จบเนาะ เอวัง