เทศน์เช้า

วิธีเดินปัญญา ๒

๒๕ ก.ย. ๒๕๔๒

 

วิธีเดินปัญญา ๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันจะรีบเรื่องภาวนาไง การภาวนานี่ส่วนใหญ่เราก็จะเชื่อใช่ไหม ? ทุกคนจะเชื่อพระพูดหมดเลย พระพูดอย่างไรเราก็จะเชื่อไปหมด แต่อย่างว่าแหละ ในเมื่ออาหาร เห็นไหม ถ้าอาหารมันสุกขึ้นมามันเป็นประโยชน์ อาหารอะไรมันยังดิบ ๆ สุก ๆ อยู่ มันไม่เป็นประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน การที่เราเชื่อก่อน เราเชื่อไป มันเชื่อปั๊บเราก็จะคิด ความเห็นของเรามันมีความเห็นดั้งเดิมอยู่ พอเชื่อเราก็จะวางสเต็ปให้เป็นอย่างที่เราเชื่อ เราคาดเราหมายเลย ทีนี้พอเราคาดเราหมาย เราลืมไปอยู่อย่างหนึ่งว่าในหัวใจเรา เรารู้เรื่องในโลกนี้ เหมือนที่ว่านักศึกษาเล่าเรียนมา มันจะรู้แต่เรื่องของในโลกนี้ ความเห็นของโลกนี้ไง คือโลกียะไง แล้วความเห็นอันนั้นน่ะสื่อมาเพื่อจะให้เรารู้ใช่ไหม ? สื่อมาเพื่อปัญญานี้เพื่อจะให้เรารู้ ให้เรารู้เป็นเครื่องหมาย

ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์ ท่านถึงบอกว่า “ห้ามคาด ห้ามหมาย” นี่มันก็ไปเข้ากับธรรมะของพระพุทธเจ้า เห็นไหม “อานนท์ เธออย่าถามให้เสียเวลาไปเลย ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ตลอดไป”

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่การชำระกิเลสนั้น ไม่ใช่สมควรด้วยการคาด การหมายไง นี้เราเป็นการคาด การหมาย ต้องเป็นสเต็ปทั้งหมด ต้องเป็นระบบ แล้วมันเป็นไปได้อย่างไร ? นิ้วก็ไม่เท่ากัน ลูกออกมาจากพ่อแม่เดียวกันยังจริตนิสัยต่างกัน วาสนาบารมีของใจที่สะสมมานั้นต่างกัน จะใช้ระบบไหนก็แล้วแต่ ความเห็นจะไม่เหมือนกัน ถึงได้บอกว่าเอาขนาดไหนของสมาธิ ขนาดไหนของปัญญาถึงจะเป็นสามัคคีไปได้

อย่างเช่น ๑ กิโลมี ๑๐ ขีด ๒ ขีดของมรรค ๑ ตัวให้เป็นมรรคสามัคคี มันไม่ใช่ ผู้ใดปฏิบัติยากรู้ยาก ผู้ใดปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เห็นไหม นี่ทำไมฟังเทศน์พระพุทธเจ้าอยู่ สำเร็จไปได้เดี๋ยวนั้นเลย อันนั้นก็สำเร็จไปได้เลย อันนั้นเพราะว่ามีวาสนาบารมีอยู่ข้างหลัง มีวาสนานะ หนึ่งมีวาสนา แล้วต้องประสบปัจจุบันด้วย ถ้ามีวาสนาเก็บไว้

ดูสิทำไมคนเกิดมาทุกคนอยากเป็นผู้นำของคน ในยุคหนึ่งจะมีกษัตริย์อยู่องค์เดียว แล้วกษัตริย์องค์นั้นต้องมีบารมีมากถึงปกครองประเทศได้ แล้วคนที่สมควรจะเป็นกษัตริย์ แต่ยังมาเกิดในยุคนั้นก็เป็นกษัตริย์ไม่ได้ มันต้องสมควรกับปัจจุบันด้วย ไม่ใช่มีวาสนา วาสนานี้มันมีกาล มันสร้างได้ วาสนาบารมีนี่สร้างได้ แล้วก็ใช้ไปมันก็ลดหย่อนไปได้ ฉะนั้น ถึงบอกว่าผู้ใดวาสนาบารมีสมควรแล้ว เหมือนกับไข่จะสุก ไข่จะสุกมันต้องจังหวะนั้นปั๊บมันก็มีอาการสัมพันธ์กันไป มันจะเกิดชีวิตใหม่

จิตนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาล เวลาเดินไปเจอครอบครัวนั้นที่ว่ายากจน ยาจกเข็ญใจนั่นน่ะ แล้วยิ้มบอกพระอานนท์นะ “ถ้าครอบครัว ๒ คนตายายนี้ เจอพระพุทธเจ้าตั้งแต่จิตใจเขาเจริญรุ่งเรืองอยู่ อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี”

แต่ขณะนี้ก็เจออยู่ ปัจจุบันด้วย นี่ขณะปัจจุบันเจออยู่ แต่เจอต่อเมื่อหัวใจมันเศร้าหมองไปแล้วไง เป็นเศรษฐีคหบดีร่ำรวยมาก แต่ติดการพนันไง เล่นจนหมดเนื้อหมดตัว จนหมดนะสมบัตินี้หมดเลย แล้วกลับมาเป็นขอทานไง ก็เจอพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ปัจจุบันนั้น ปัจจุบันนี้เข้ามาเจอพอดีไง

นี่ก็เหมือนกัน มีวาสนาบารมีด้วยจากอดีตชาติมา มันมีมาหมด เห็นไหม วาสนาบารมีมันถึงอยู่ในกำมือของเราไง อยู่ในกำมือ อยู่ในการประพฤติปฏิบัตินี้ไง ถึงว่าแม้แต่เราตั้งใจ เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราตั้งใจสะสมใจเดี๋ยวนี้ มันก็เป็นวาสนาแล้ว วาสนาเพราะมีโอกาสแล้ว นี่เป็นโอกาส ถึงว่าไข่ที่สุกที่เกิดเป็นชีวิตใหม่ขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตั้งใจมันก็เป็นไป นี่อำนาจวาสนาไง ถึงว่าเป็นไปไม่ได้ จะให้เป็นสูตรสำเร็จไง ว่าขนาดนี้ ๆ จะได้เป็น เพราะมันเกี่ยวกับวาสนา เกี่ยวกับจริต เกี่ยวกับนิสัย เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ ถึงได้บอกว่าตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ เห็นไหม แสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ ๕ ไง ตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะมา แสดงธัมมจักฯ จนจบไป “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะรู้องค์เดียวล่ะ ? แล้วอีก ๔ องค์นั้นก็ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เหมือนกัน พระอัสสชิก็นั่งฟังอยู่พร้อมกันนั้น ความเห็นก็ต้องเหมือนกัน เพราะฟังธรรมมาแล้วอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาด้วยกัน ปัญจวัคคีย์นี้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามาด้วยกัน จิตนี้พยายามทำความสงบมาด้วยกัน ตั้ง ๖ ปีพยายามอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามา ก็พยายามจะเดินตามให้ได้ไง รอแต่วิชาการของพระพุทธเจ้าที่จะสอนมา รอแต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่จะสอนมาเท่านั้นแหละ เพียงแต่ขอให้พูดเบิกทางเถอะ แต่เวลาสอนออกมา เวลาแสดงธัมมจักฯ ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ได้องค์เดียว อีก ๔ องค์ทำไมไม่รู้ล่ะ ?

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” นี่เพราะความรู้อันนั้นมันเป็นปัจจุบันธรรม เพราะจิตนี้มันทำงานอยู่พอดีไง ทำงานอยู่พอดี อยู่ในหัวใจใช่ไหม ? รับรู้อยู่ แล้วนี่กระทบเข้าไป เหมือนการจะรู้ออก รู้วิธีการเดี๋ยวนั้น รู้อย่างนั้น แต่อีก ๔ องค์ก็ฟังเหมือนกัน แต่รู้แบบไม่เป็นปัจจุบัน รู้เป็นอดีต อนาคต เทียบเคียง เคลื่อนไหวไป คาดหมายไง มีการคาดการหมายด้วย คือเหมือนกับแสงเลเซอร์ยิงเข้าไปที่เป้าหมายนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะยิงตรงพอดี แต่อีก ๔ องค์นั้นยิงคลาดเคลื่อนไป แต่ยิงคลาดเคลื่อนไปก็มีเลเซอร์เหมือนกัน มีเลเซอร์เหมือนกันก็ต้องรอบสองไป พอรอบสองไป อีก ๔ องค์นั้นก็รู้ขึ้นมาเหมือนกัน รู้ขึ้นมาแล้วถึงได้แสดงอนัตตลักขณสูตร ถึงสำเร็จไปทั้ง ๕ องค์

นี่ถึงว่าปัญญามันต้องเกิดขึ้นเป็นปัจจุบันธรรม ทั้ง ๆ ที่ปัญจวัคคีย์นี้พระอรหันต์ทั้งหมดนะ แต่ความรู้เข้ามาก็ไม่เหมือนกัน ความที่ไม่เหมือนกันอันนั้น เห็นไหม ถึงว่าปัญญามันเกิดขึ้นอย่างไร ถึงบอกว่าผู้รู้จริงมีนะ ผู้รู้จริง ผู้ชี้นำมีอยู่ตรง มีอยู่จริง มีอยู่จริงตรงไหน ? ความคาด ความหมายของเรามันเป็นการเทียบเคียง เห็นไหม อาจารย์มหาบัวสอนว่า “ปัญญาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราใคร่ครวญสอดส่องอยู่ เปรียบเทียบตลอดเวลา”

มันเป็นปัญญาอยู่แล้ว แล้วเทียบเคียงทำไมไม่เป็นปัญญาอีกหรือ ? เป็น เป็นปัญญา แต่มันเป็นปัญญาที่ว่ามันยังไม่ปัจจุบันเทียบเคียง ความเทียบความเคียงมันเป็นปัจจุบันที่ไหนล่ะ ? แต่ความเทียบความเคียงอันนี้มันก็เป็นการก้าวเดินเข้ามา เห็นไหม การก้าวเดินเข้ามาเรายังเห็นว่ามันยังไม่รวมตัว มันลัด มันเลาะกิ่งเข้ามา มันเลาะกิ่ง เลาะทาง ทางที่เป็นขวากเป็นหนามเราเดินไปไม่ได้เลย แล้วเราเปิดทาง เบิกทางไป

ความเบิกทางไป พอก้าวเดินไปอันนี้ก็ถูกต้องแล้ว เห็นไหม ถึงบอกว่าการก้าวเดินไปมันถูกต้องเพราะว่าอะไร ? เพราะว่าการก้าวเดินอันนี้ไปมันถึงมี ๑ มี ๒ มี ๓ มี ๔ ขึ้นไปไง แต่ความก้าวเดินไป ทำไมไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ ? ทำไมไม่เป็น ?

เราคาดหมาย นี่การคาดหมายของเราถึงได้ทำความผิด เช่น บอกว่าสมาธินี่นะ พอจิตสงบเข้าไป พุทโธมันจะหายออกไป คำว่าพุทโธจะหายออกไป อันนั้นเป็นอัปปนาสมาธิ เห็นไหม ถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธอยู่ จิตมันสงบเข้ามา สงบแล้วรู้เสียงข้างนอกอยู่ ความสงบเข้ามายังนึกพุทโธได้อยู่ พุทโธได้อยู่ นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อุปจารสมาธิมันเข้าไป จิตนี้มีพลังงาน พอจิตมีพลังงานมันรับรู้ได้ มันถึงเคลื่อนไหวได้ การเคลื่อนไหวได้คือการวิปัสสนาได้ไง

อัปปนาสมาธินี่ลึกลงไป ลึกลงไปจนพุทโธจะหายไปด้วย เริ่มจากคำบริกรรมจะเริ่มหายไปก่อน คำบริกรรมจะหายไป แล้วพอคำบริกรรมหาย ลมหายใจก็จะขาดออกไป มันจะไม่รับรู้สึกไง กระทบรู้สึก ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกมันมีความรู้สึกอยู่ มันก็ไม่มีความรู้สึก แต่มันหายใจโดยละเอียดอ่อนเข้าไป นี่ลึกเข้าไป ๆ อันนั้นเป็นหลักความจริงที่จิตสงบ จิตที่เป็นบาทฐานที่เข้ามาถึงอัปปนาสมาธิไง เราเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น

นี่ความเข้าใจของเรา พอเราภาวนากันเราถึงว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธ เรากำหนดพุทโธได้ชัดเจนมากใหม่ ๆ แล้วเราก็จะปล่อยให้จางไป ๆ เข้าใจว่าถ้าพุทโธหายไปจะเป็นสมาธิไง เลยกลายเป็นนั่งหลับหมดไง กลายเป็นตกภวังค์ไปเลย เพราะมันไม่เข้าตามสัจจะความจริง มันเข้าตามความอนุโลมของเรา เราคาดหมายของเรา เราคาดหมายจะให้จิตเรารวมลงสมาธิ เห็นไหม แล้วเราก็ปล่อย ความจริงมันต้องใช้สติระลึกรู้อยู่ พุทโธ พุทโธให้ชัดเข้าไป ความที่พุทโธชัด สติพร้อมนี่มันจะเข้าถูกทาง แต่เพราะความเข้าใจผิดว่าพุทโธมันจะจางหายออกไป มันก็จางหายได้ เราไม่นึกมันก็ไม่มีพุทโธ แต่นี่นึกขึ้นมา นึกขึ้นมาเป็นพิธีไง

เริ่มต้นถูกต้องวิธี เราเริ่มบาทฐานก้าวเดิน แล้วเราก็จะอ่อนลง ๆ สติมันก็จางไปพร้อม พุทโธก็จางไปพร้อม แล้วก็ตกภวังค์หายไปเลย เราเข้าใจว่าอันนั้นเป็นสมาธิ นี่ความเห็นโลก มันถึงว่าไม่ตามความเป็นจริง ตามสัจจะความจริง อริยสัจไง อริยสัจนี่กำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไปตลอด พุทโธเข้าไปตลอด สตินี่พร้อมหมด ถ้าความพร้อมของคำบริกรรมมีอยู่มันจะลงเอง พอลงเอง พุทโธนี่ เฉือนพุทโธให้แรงขนาดไหน ตะโกนออกมาขนาดไหนมันก็จะเริ่มจางออกไปเองโดยธรรมชาติของมัน

การจางออกไปธรรมชาตินี่มันฝืนไง ขนาดลมหายใจจะขาดไป มีความตกใจว่าลมหายใจจะขาด เราไม่ตายหรือ ? มันไม่ตาย พอไม่ตายสติเราพร้อมมันจะเข้ามา ถ้าสติเราพร้อม ไม่ตายหรือ ? ไม่ตาย เราต้องนึกพุทโธขึ้นมาสิ เรากลัวตาย ออกมานี่สติมันจะฟุ้งออกมา มันจะคุ้ยเขี่ยจิตนี้ออกมา แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไปเรื่อย ๆ มันจะไม่กลัว สิ่งใด ๆ เกิดขึ้นนี่คืออาการของมันทั้งหมด อาการหลอกลวงของกิเลสทั้งหมด อาการหลอกลวงที่ไม่ต้องการให้เราประสบสิ่งที่ดีทั้งหมดในความเคยใจของเรา เราก็กำหนดพุทโธ พุทโธเข้าไป กำหนดแรง ๆ อยู่อย่างนั้นแหละ มันหายไปโดยอัตโนมัติไง มันจะหายไปเอง

เฮ้ย มันนึกไม่ได้ นึกไม่ได้เราก็นึกสติไว้สิ ถ้ามันรู้อยู่ มีสติพร้อมอยู่ มันก็เหมือนกับเราทำงานอยู่ ความคล่องตัวของมัน นี่แล้วมันจะหายไป หายไปเฉพาะคำบริกรรม แต่มันจะรู้พร้อมไง มันจะรู้พร้อมตลอดเวลา รู้จริง รู้เห็นจริง รู้ว่าสติจะลงอย่างไร ? สมาธิ สักแต่ว่ารู้ เห็นไหม รู้จริงแต่ไม่รู้ออก มันถึงรับเสียงข้างนอกไม่ได้ รับอะไรไม่ได้ สักแต่ว่ารู้ไง เห็นไหม นี่การคาด การหมายของเรา

นี่ก็เหมือนกัน พอจะก้าวเดินวิปัสสนาออกไป การใช้ปัญญามันเทียบเคียง ถูกต้อง มันเทียบเคียง เทียบเคียงปั๊บมันก็สอนใจไง นี่คือใช้ธรรมอบรมใจ ให้ใจยอมรับธรรมคือยาใช่ไหม ? เมื่อก่อนเอ็งทุกข์เอ็งยากอยู่ เห็นไหม ไอ้กิเลส ไอ้หัวใจของเรานี่ทุกข์ยากตลอดเวลา แต่ในเมื่อเราเทียบเคียงแล้วเราก็ปล่อย เฮ้อ ปล่อย วาง นี่เทียบเคียงเข้าไป มันปล่อยต้องปล่อยอย่างนี้ก่อนสิ ปล่อยเข้าไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ปล่อยเข้าไปเรื่อย ๆ ต้องหมั่นฝึก ต้องหมั่นซ้ำ หมั่นพยายามพิจารณาตลอดเวลา นี่คือปัญญา ก้าวเดินออกไปด้วยปัญญา แต่พอมันปล่อยออกไปแล้วเราจะเข้าใจว่าอันนี้เป็นผลไง

นี่มันผิดตรงนี้ไง เป็นสเต็ปไง ความคิดถ้าปล่อยอย่างนี้เป็นผลอย่างนั้น ๆ เห็นไหม พอคำว่าเป็นผลมันไม่ก้าวเดินต่อไป นี่ภาวนามยปัญญามันจะไม่เกิดตรงนั้น จิตนี้มหัศจรรย์มาก ความใคร่ครวญของจิตจะมหัศจรรย์มหาศาลเลย เพราะจิตมันออกไป มันสงบเข้าไป มันเป็นอุปกิเลส ความเวิ้งว้าง ความสว่างไสว มันเป็นกิเลสอย่างละเอียด พอกิเลสอย่างละเอียด ความเห็นอย่างละเอียดเข้ามา มันเห็นแปลกโลกไง เห็นแปลกจากความเห็นเดิมของเราใช่ไหม

มันเวิ้งว้าง มันรู้ แล้วมันอิ่มความพอของมันอยู่ภายใน แต่อิ่มชั่วคราว เราว่าอันนี้เป็นผล พออันนี้เป็นผลมันก็ต้องเกิดมานะ เกิดทิฏฐิ เกิดความยึดมั่นในความเห็นของตน พอเกิดความยึดมั่นในความเห็นของตนแล้ว มันถึงว่าความยึดมั่นอันนั้นมันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา มันต้องแปรสภาพไป พอแปรสภาพไป แต่เรายังยึดความเห็นเดิมนั้นได้ เราถึงเอาอดีตมาพูดกันไงว่าเคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นอย่างนั้น จิตเคยเป็น

นี่ปัญญาเทียบเคียงมันได้แค่นี้ แต่มันก็เป็นปัญญา เห็นไหม ปัญญาที่ครูบาอาจารย์สอนว่าการเทียบ การเคียง การสอดส่อง ขุดคุ้ย การพิจารณาอยู่ตลอดเวลา นั้นคือปัญญา การฝึกปัญญา แต่มันยังไม่รวมลงเป็นปัจจุบัน ไม่รวมลงปัจจุบันแบบพระอัญญาโกณฑัญญะเห็นตามความเป็นจริง แต่มันเทียบเคียงได้แบบพระอัสสชิ พระอัสสชิ พระอะไรยังเทียบเคียงอยู่ ยังไม่เห็นตาม แต่มันก็ก้าวเดินขึ้นมาจากปกติมหาศาลเลย ถึงบอกว่าการชำระกิเลสขาดนี้มันต้องเป็นสมุจเฉทปหานไง

การสมุจเฉทปหาน คือพระอัญญาโกณฑัญญะสมุจเฉทปหาน รู้ในปัจจุบันนั้น ไม่มีกาล ไม่มีเวลา จนพระพุทธเจ้าว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เห็นไหม แต่พระอัสสชิ พระมหานามะ ยังไม่รู้เพราะอะไรล่ะ ? แต่ก็รู้เทียบเคียงขึ้นมา เป็นอันนั้นไม่ใช่สมุจเฉทปหาน แต่เป็นตทังคปหาน มันเลาะเข้ามา ๆ เลาะทางเข้าไป แต่ยังไม่สุดสิ้นจบระบบอันนั้นออกไป ยังไม่จบระบบอันนั้นออกไป กิเลสมันยังไม่ขาดออกไป มันถึงย้อนกลับเข้ามาได้ การย้อนกลับเข้ามามันตีกลับ พอการตีกลับกิเลสมันจะฟุ้งออกมา

ดูอย่างเช่นเด็ก นี่ความหลงผิดของเด็ก พอเด็กมันรู้เท่ามันก็จะปล่อย ความหลงผิดของผู้ใหญ่ ความหลงผิดของผู้ใหญ่จะหลงผิดมาก ทีนี้ความหลงผิดของในใจที่เห็นไงว่าตัวเองเป็น สังเกตสิว่าทิฏฐิมานะในใจนั้นสูงจรดฟ้าขนาดไหน แล้วมันจะฟังใคร ? พอไม่ฟังใครเสร็จแล้วมันยังแปรสภาพอีก เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมนี้ต้องแปรสภาพไป พอแปรสภาพไป ความเห็นอันเก่ามันเกิดขึ้น กิเลสมันเกิดขึ้น แล้วมันก็ไปกดอันนั้นไว้ไม่ลง ความเห็นผิดอันนี้มันถึงเป็นโทษกับตัวเอง

พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนะ ว่าถ้าเราทำตัวเราเองผิดพลาด ความผิดอันนี้ยังน้อยกว่าเราทำให้คนอื่นผิดพลาดนะ เราพาคนอื่นหลงใหลผิดพลาดไป อันนั้นยังเป็นโทษมากขึ้นไปอีก เพราะอะไร ? เพราะเราทำคนอื่นให้เสียประโยชน์ไปด้วย เห็นไหม นี่มันถึงบอกว่าผู้รู้จริงมีอยู่ ความเห็นจริง ความเห็นจริงมันต้องเกิดขึ้นจากการขับไสของเราเข้าไป อย่างที่ว่าพระพุทธเจ้าบอกแล้ว “อานนท์ เธออย่าถามให้เสียเวลาไปว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว มรรค ผลมันจะหมดกาลหมดสมัยเมื่อไหร่ มันไม่มีหมด”

“อานนท์ เราบอกไว้กี่หนแล้วว่า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” แต่สมควรในการชำระกิเลส เห็นไหม สมควรในหลักข้างใน

นี่ปัญญามันจะก้าวเดิน มันจะก้าวเดินไปอย่างนั้น ก้าวเดินไป ๆ ถ้ามันยังไม่เกิดสมุจเฉทปหานขึ้นมาเมื่อไหร่ ในหัวใจมันยังไม่ได้ตัดกิเลสออกไป สังโยชน์ขาดออกไป เราจะไม่นอนใจ มันจะเวิ้งว้างขนาดไหน มันจะเป็นความมหัศจรรย์ขนาดไหน อันนั้นก็เป็นความมหัศจรรย์ มันถึงย้อนกลับมาส่งเสริมศาสนาว่าการประพฤติปฏิบัติเข้าไป มันจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์จากโลกนี้มาก ถึงบอกว่ามันจะเหนือโลก เหนือสงสาร เหนือทุกอย่าง ในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มี ความเห็นอันนี้ไม่มี

ดูอย่างเวลาทำสมาธิเข้าไปสิ คนเราทำสมาธิขึ้นไปบนสวรรค์นะ ไปสื่อกับสวรรค์ ไปสื่อกับเทวดา รู้อดีตอนาคตไป อันนั้นมันเป็นอนิจจังทั้งหมด มันเป็นอนิจจังทั้งนั้นเลย เพราะสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในพวกเทวดานั้น เขาก็ยังเป็นอนิจจังในตัวของเขาเอง ในตัวของเขาเองยังเกิดยังดับอยู่ แล้วเขาจะเอาความจริงจากที่ไหนมาพูด เขาก็ต้องพูดในการปฏิบัติดักหน้า ดักหน้าที่ว่ามันหมุนไป ทุกคนรู้ว่าวันนี้พระอาทิตย์ขึ้นมันต้องมาถึงกลางวัน แล้วถึงตอนเย็นพระอาทิตย์ต้องตกไป พรุ่งนี้พระอาทิตย์ต้องขึ้น

เราก็พยากรณ์ได้ พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็จะขึ้นที่เก่า แล้วก็จะตกไปอีก เว้นไว้แต่ฤดูสมัย พระอาทิตย์จะอ้อมหน่อยนึง นั่น สิ่งนี้มันเป็นอยู่โดยธรรมชาติ แต่การชำระสิ่งที่ไปรู้พระอาทิตย์นี่สิ พระอาทิตย์ที่ขึ้น ใครเป็นผู้เดือดร้อนกับพระอาทิตย์ที่ขึ้น พระอาทิตย์ขึ้น เห็นไหม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นแค่พวงดอกไม้นะ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ไอ้กิเลสที่ไปติดในรูป รส กลิ่น เสียงนั้นต่างหาก กิเลสคือความเคยใจของเรา แม้แต่วิปัสสนาปัญญาเกิดก็ติด

อาจารย์ท่านบอกว่า “ขณะเราภาวนาอยู่ ไม่ใช่ว่าเราจะปะทะกิเลสตลอดไป กิเลสมันก็อยู่ท่ามกลางที่เราภาวนาอยู่นั้นน่ะ” อันนั้นถึงว่ามันถึงไม่เป็นปัจจุบัน เห็นไหม กิเลสมันมีอยู่แล้วหนึ่ง การคาดการหมายหนึ่ง แต่เป็นการก้าวเดินที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีหนึ่งจะนับสองมาจากไหน เพียงแต่ว่าเราภาวนากันไปแล้ว เราไม่ได้ผลกันตรงนี้ไง เราไปได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ดิบ ๆ สุก ๆ ไง ตาบอดแล้วคลำช้างกัน แล้วว่าอันนี้เป็นช้าง ๆ ไง เราเลยไม่มีใครจับช้างได้จริง ๆ สักตัวหนึ่งในกำมือไง หัวใจนั้นไม่เป็นธรรม หัวใจนั้นเป็นธรรมแล้ว สิ่งใดจะเข้าไปยุ่งกับธรรมอันนั้นได้ล่ะ ? ธรรมอันนั้นเหนือโลก เห็นไหม

ธรรมอันที่เหนือโลกมันก็ต้องสร้างเหตุขึ้นไปอย่างนี้ สร้างเหตุขึ้นไป เทียบเคียงเข้าไป ๆ มันจะเลาะเข้ามา เลาะเข้ามา แต่มันก็เป็นเข้าไป เข้าไปเรื่อย ๆ เข้าไป มันจะหลุดออกไปเรื่อย ๆ ตทังคปหานไปเรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้ว พอตทังคปหานแล้วคิดว่าตทังคปหานนี้เป็นผลไง

ตทังคปหานไม่ใช่สมุจเฉทปหาน สมุจเฉทปหานกิเลสขาดปานแขนขาด สิ่งที่ขาดออกไปจากแขนของตัว กระเด็นออกไปจากตัวใครจะไม่รู้ สังโยชน์ขาดออกไปจากใจ ความมหัศจรรย์ตรงนั้นต่างหากมันถึงจะเกิดขึ้นแบบมหาศาล แต่ในเมื่อเลาะเข้ามานี้ ความปล่อยวางขึ้นมามันก็เหมือนกับอารมณ์ของความเป็นสมาธินั่นแหละ แต่มันลึกกว่า ลึกกว่าเพราะการปล่อยวางนี้ปล่อยวางด้วยปัญญา

การปล่อยวางด้วยปัญญา กับการปล่อยวางด้วยสมาธิต่างกัน การปล่อยวางด้วยสมาธิคือว่ากำหนดพุทโธเข้าไป พุทโธเข้าไปจนหายหมด มันเวิ้งว้างหมด แต่มันเหมือนกับเอาเศษสวะไว้ใต้พรม เห็นไหม มันมีอยู่ในใต้พรม มันรู้อยู่ว่ามีอยู่ แต่ปัญญาใคร่ครวญกิเลส เวลามันขาดเข้ามา มันถึงจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิก็จริงอยู่ มันก็หมุนเข้ามา ๆ

ฟังนะ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิกำหนดพุทโธเข้าไป จิตนี้มันจะสงบแบบที่ว่าลึกเข้าไปเลย จนสักแต่ว่ารู้ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันอบรมเข้ามา มันปล่อย มันถอด มันถอนเข้ามาเหมือนกัน แต่ความรู้มันก็เหมือนกันปกตินี่แหละ แต่มันหายความสงสัยไง หายความสงสัย หายความเคลือบแคลง หายความที่ว่ากังวล มันก็หายความเคลือบแคลง ความสงสัย ความกังวลหายไป นี้คืออะไร ? นี้คือนิวรณธรรมไง

พอนิวรณธรรมหลุดออกไป หลุดออกไปจากใจเรื่อย ๆ ใจละเอียดเข้ามา ใจละเอียดเข้ามา ความคล่องตัวของใจที่มันก้าวเดินไปมันจะง่ายขึ้น ในการใช้ปัญญาอบรมสมาธิหมุนเข้ามา มันถึงว่ามันจะไม่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ยอมรับอยู่ว่ามันไม่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ มันเป็นสิ่งที่ว่าปล่อยวาง โล่ง โถง ปล่อยวางเข้ามาเรื่อย แล้วมันจะไปเหมือนกันตรงที่ว่าสมุจเฉทปหานตรงนี้ มันจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์จนตัวนี้ลอยเบา เหมือนกับ.... (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)