เทศน์เช้า

ดูกิเลส

๒๑ ส.ค. ๒๕๔๒

 

ดูกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธนะ เราพยายามกัน ศึกษาตำรามา ศึกษาวิชาการ ศึกษาอะไรกันมา เพื่อจะชำระกิเลสของเราไง เรานี่มีความทุกข์กันอยู่ เพราะว่าเราเกิดมาพร้อมกิเลส เราเป็นชาวพุทธ เราต้องศึกษา ศึกษาหรือว่าพยายามเข้านี่ มีปัญญาศึกษา การเชื่อในครูบาอาจารย์ยังต้องมีปัญญา ฟัง เห็นไหม มีปัญญา ถ้าเรามีพื้นฐานของใจ ใครภาวนามีพื้นฐาน ถ้าคุยกันแล้วต้องมีเขาผิดหรือเราผิดอยู่คนหนึ่ง ลองมีการโต้แย้งกันต้องมีคนผิดคนหนึ่ง นี่ปัญญา ถ้าเรามีปัญญาอยู่แล้วเราจะรู้ตลอดไป แต่ถ้าไม่มีปัญญาล่ะ? เราเชื่อตามกันไป ตามกันไป

สังคมไทยนะ สังคมไทยเป็นสังคมชาวพุทธ ชาวพุทธนี่พระพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว ครูบาอาจารย์เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว แล้ววางสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมประเพณี วัฒนธรรมประเพณีนี่ประเสริฐมากเลย ประเสริฐกว่ากฎหมาย ถ้าทำผิดศีลธรรมประเพณี แต่ศีลธรรมประเพณีคนเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึง

ผู้ที่เป็นหัวหน้า ผู้ที่คงแก่เรียน เห็นไหม เข้าถึงหมดเลย การทำประเพณี ถูกต้องตามประเพณี แต่คนทำใหม่ๆ เหมือนเด็กๆ จะทำผิดทำพลาด แต่ก็ไม่ถือกัน เพราะการจะเข้าหา การจะฝึกฝนประเพณี ประเพณี เช่น เทศกาลบวช เทศกาลทำบุญ ประเพณีทั้งนั้นเลย ทำผิดทำถูกก็ไม่ผิด แต่มันให้ผลหรือไม่ให้ผลไง ให้ผล ถ้าผิดศีล ผิดประเพณี ผิดศีลมันก็เป็นกรรมใช่ไหม? เป็นบาป เป็นอกุศลไป

นี่ทำบุญประเพณี แล้วพอคนมากขึ้น คนมากขึ้นถึงได้มีแง่กฎหมายไง ถึงได้บัญญัติกฎหมายมาเพื่อควบคุมคนใช่ไหม? เพื่อควบคุมคนให้อยู่ในกฎหมาย ถ้าเราไม่ทำผิดกฎหมาย เราก็ไม่ผิด กฎหมายก็เป็นกฎหมาย บังคับไว้ แต่เราเป็นประชาชนชาวไทย เราต้องนับถือ เราต้องยอมรับกฎหมายของเมืองไทย เราถึงเป็นประชากรของเมืองไทย แล้วศาสนานี่ประเสริฐ ใครก็รู้ว่าศาสนาประเสริฐ ศาสนานี้ชำระกิเลส เห็นไหม ชำระกิเลสนะ ชำระกิเลส แล้วเราไปศึกษา เราไปจำมา ถ้าเราทำไม่ถึงที่สุดเราจะไม่รู้

อย่างเช่นที่เกิดปัญหาอยู่นี่ เป็น ๙ ประโยคนะ จบถึง ๙ ประโยค จบ ๙ ประโยคคือศึกษาตำราหมดแล้ว ทั้งตู้เลย ๙ ประโยคนี้สิ้นสุดของการศึกษาตามพุทธศาสน์ ตามบาลี นี่หมดเลย เป็น ๙ ประโยค แถมยังแต่งตำราด้วย แต่งตำราการตกนรก สวรรค์อีกกี่ภพกีชั้น เพราะอะไร? แต่งได้ละเอียดลออเลยเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เพราะ เพราะว่าได้ศึกษามาจากพระไตรปิฎก ศึกษามาหมดเลย เห็นไหม มีวิชาการคือศึกษามา ศึกษามาแล้วยังรู้ขนาดว่าเขียนเป็นตำราออกมาได้ แล้วก็ได้สมณศักดิ์ขึ้นมาตั้งแต่ชั้นพระครู ชั้นเจ้าคุณสามัญ เจ้าคุณชั้นราช เจ้าคุณชั้นเทพ เจ้าคุณชั้นธรรม เจ้าคุณชั้นพรหม

เป็นถึงพรหม พรหมผู้ให้ความบริสุทธิ์ผุดผ่องกับโลกเขา แล้วปฏิบัติ เห็นไหม ศีลธรรมประเพณี คนที่ศึกษาศาสนามันต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างไรในครั้งพุทธกาล แล้วภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา “มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง เราจะไม่นิพพาน เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ บัดนั้นเราจะนิพพาน”

เป็นถึงชั้นพรหม เป็นสมณศักดิ์ชั้นพรหม แถมยังได้เป็นผู้ปกครองด้วย แต่เวลาตัดสิน ตามธรรมวินัยไม่ตัดสิน ไปตัดสินตามกฎหมายไง พรบ. คณะสงฆ์ที่เป็นกฎหมาย เอากฎหมายมาตีความ มันไม่เข้าถึงหลักความจริงเลย เห็นไหม ศาสนาพุทธสอนให้ชำระกิเลส แก้กิเลสไง แล้วที่ตัดสินนี่มันกิเลสหรือไม่กิเลสล่ะ?

นี่เราต้องย้อนกลับมา ถึงบอกว่าศีลธรรมประเพณีมันเหนือกฎหมาย ธรรมวินัยนี่เหนือกฎหมายมากเลย แค่เจตนาผิดมันก็ผิดแล้ว ความคิดผิดมันก็ผิดแล้ว แต่อย่างนี้ยังตีแง่ความกฎหมายให้เห็นว่าปริยัติไง การศึกษามา ๙ ประโยคไง ศึกษามาถึง ๙ ประโยค สิ้นสุดของการศึกษาปริยัติแล้ว ยังแต่งตำรามาสอนคนอื่นทั้งหมดเลย แต่ลืมสอนตัวเองไง ลืมความเห็นของตัวเอง ความเห็นถูกเห็นผิดนั้นไง

นี่ถึงว่าศาสนาชำระกิเลส แล้วมันชำระได้จริงไหมถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติเข้าไปรู้ตามความเป็นจริง มันหักห้ามความอยากของใจไม่ได้ รู้ๆ อยู่ว่าผิดมันก็ฝืนความผิด กิเลสมันเป็นอย่างนั้นแหละ เราเป็นชาวพุทธเพื่อจะชำระใจให้มีความสุขขึ้นมา สุขไหม? สุขขึ้นมาไหม? แล้วถ้าเราฝืนของเราเองมันถึงจะสุข นี่ไม่ได้ฝืนนะ ปล่อยออกไป แล้วยังออกมา ถึงบอกว่าต่อไปไม่ต้องไปใส่บาตรนะ เพราะว่าโยมมาโทษพระไม่ได้ พระก็อยู่ส่วนพระ โยมก็อยู่ส่วนโยม ต่อไปก็ต้องไถนากินกันแล้วแหละ พระก็ต้องไถนาแล้ว โยมไม่ต้องมาใส่บาตร เพราะว่าใส่บาตรแล้วพูดอะไรไม่ได้

พูดได้ ในครั้งพุทธกาล มียาจกเข็ญใจนิมนต์พระมาฉันไง แล้วพระกลัวว่าโยมเป็นคนจน แล้วจะใส่บาตร เช้าไปจะฉันไม่อิ่ม ไปบิณฑบาตฉันก่อน แล้วก็เสร็จแล้วถึงไปกิจนิมนต์เขา พอไปฉันเข้านี่เขาเป็นยาจกเข็ญใจ คนจนจริงอยู่ แต่มีคนมาช่วยงานมาก พออาหารมาประเคนพระ พระฉันได้นิดเดียวก็อิ่ม ทำไมถึงอิ่มล่ะ? อิ่มแล้ว เพราะอะไร? เพราะไปบิณฑบาตมาก่อน โกรธมาก โกรธมากเพราะถือว่าดูถูกเขาไง ว่าเขาจะไม่มีภูมิปัญญาจะเลี้ยงพระได้ เขาก็เลยเอาอาหารนั้นใส่บาตรจนเต็มบาตรเลย แล้วบอกประชดว่าให้กลับไปฉันวัดซะ กลับไปฉันวัด

แล้วพอตอนเย็นก็เป็นความทุกข์เกิดขึ้นมาว่า เราทำบุญแล้วจะได้บาปหนอ เราทำบุญได้บาป หรือว่าเราทำบุญจะได้บุญไหม? ไปหาพระพุทธเจ้าไง ตกเย็นไปถามพระพุทธเจ้าเลย บอกว่า

“ตั้งใจทำบุญ แต่ทำประชดประชันอย่างนี้จะได้บุญไหม?”

ถามพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าบอก “ได้ เพราะว่าเราใช้แรงงานของเราหามาเป็นเงิน เป็นทองแลกเปลี่ยนมา แล้วเรามาถวายพระ พระได้ฉันของเรา”

พอฉันแล้วพระพุทธเจ้าเทศน์อย่างนี้จริงๆ นะ ว่าได้ฉันของเรา หรือใช้ของเราไป แล้วมันเกิดพลังงานขึ้นมา เพราะชีวิตนี้สืบต่อมาด้วยสิ่งที่โยมถวายมา แล้วไปทำสมาธิ เกิดปัญญาธรรมขึ้นมา อันนั้นเกิดเป็นบุญเป็นกุศลไหม? นั่นแหละของเราทั้งหมด ดีอกดีใจกลับมานะว่าเราทำบุญแล้วได้บุญ นี่ใส่บาตรแล้วมีความผิดยังไปถามพระพุทธเจ้า ไปถามพระพุทธเจ้าว่าผิดหรือถูกไง ว่าโยมผิดหรือพระผิดไง

นี่ง่ายๆ เลย มีเต็มไปหมดเลย แล้วศึกษาปริยัติมาถึง ๙ ประโยค แล้วทำไมยังว่ากล่าวโทษไม่ได้ ผิดไปหมด เอากฎหมาย พรบ. ที่แต่งกันขึ้นมาเอง คือว่าศีลธรรมประเพณีมันตกผลึกมาจากชาวพุทธ อันนั้นก็เยี่ยมแล้วนะ นี่ถึงว่าแก้กิเลสหรือเพิ่มกิเลส ให้เห็นว่าชาวพุทธถ้าไม่ได้ปฏิบัติ การทำสมาธิ พวกเราการทำสมาธิ แค่ทำให้จิตสงบนี้ก็แสนทุกข์แล้ว เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันต่อต้าน เห็นไหม กิเลสมันต่อต้าน ปฏิบัตินี้มันถึงจะชำระกิเลสได้จริงไง แล้วปฏิบัตินี่เป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตน รู้เพราะชำระกิเลสไง

กิเลสขาด ดั่งแขนขาด สังโยชน์ขาดไป ๓ สังโยชน์อ่อนตัวลง ๒ สังโยชน์ขาดไป ๕ พระอนาคามีนี่สังโยชน์ขาดไป ๕ ตัว กามราคะ ปฏิฆะไม่มี เพราะความผูกโกรธไม่มี ความเก็บสะสมไว้ในใจมันขาด ขาดเพราะขันธ์มันขาด ข้อมูลเดิม สัญญาจำได้หมายรู้ในใจมันขาดออกไป แต่ขาดมี ถ้าขาดหายเลย พอขึ้นสังโยชน์อีก ๕ ตัวเป็น ๑๐ เห็นไหม เป็นพระอรหันต์ ถ้าขาดหายไป ทำไมพระพุทธเจ้ากลับไปเยี่ยมพระเจ้าสุทโธทนะ ทำไมจำว่าพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพ่อได้ ทำไมจำสามเณรราหุลได้ จำนางพิมพาได้

ความจำนี่เป็นสัญญาไหม? ถึงว่ามี ขาดมีไม่ใช่ขาดสูญ เวลาขาดออกไปแล้วกิเลสมันเชื่อมอยู่ กิเลสขาดออกไป แต่ข้อมูลเดิมถึงว่าภารา หะเว ปัญจักขันธา กับขันธมาร กิเลสมารไง ขันธ์ ถ้าอย่างพวกเราเป็นขันธมาร มันเป็นมารหมด เพราะมารตัวเชื่อมต่อมันไม่ขาด แต่พระอริยบุคคลนี่เป็นภาระ เป็นภาระเฉยๆ ไม่ใช่มาร มันมีอยู่ เห็นไหม มันถึงว่าเป็นขันธ์ ๕ ที่เป็นทุกข์ หรือขันธ์ ๕ ที่เป็นภาระ ขันธ์ ๕ ที่เป็นภาระคือมันยังมีอยู่ สมมุติ

นี่เวลามา พระอรหันต์มาสอน เห็นไหม มาสอนครูบาอาจารย์ ที่ว่ามานี่มาโดยอะไร? มาโดยสมมุติ แต่สมมุตินั่นไม่ใช่สมมุติอย่างเรา สมมุติละเอียดมากเพราะเข้าอยู่ในสมาบัติ อยู่ในจิต จิตอันนั้นเป็นสมมุติมา นี่มาโดยสมมุติ คือมาโดยขันธ์สืบต่อกับโลกนี้ไง ภาษาโลกนี้ไง ภาษาใจๆ ภาษากลางภาษาใจ ภาษาที่สืบต่อมา ภาษาเพื่อที่จะให้รู้ว่าคนนี้รู้ ผู้ใหญ่อยากจะสอนเด็ก เด็กมันจะเออกันก็ต้องเออ แต่ก็ต้องสื่อให้เด็กมันเข้าใจไง เด็กมันจะบอกว่าอันนี้เป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราทำให้เด็กเข้าใจได้ อันนั้นแหละถูกต้อง

นี่ก็เหมือนกัน พระอรหันต์มาสื่อกับผู้ที่ยังไม่ถึงจุด ก็ต้องสื่ออย่างนี้เพื่อจะสอนกัน เพื่อจะให้รู้ ถึงว่ามาโดยสมมุติ สมมุติอันนี้เป็นขันธ์ แต่เป็นภาระไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นเรานี่เป็นทุกข์หมด แล้วเวลากิเลสมันสงบเข้าไป เห็นไหม นี่มันไม่ขาดแต่สงบเข้าไป การประพฤติ การทำสมาธิ การบีบคั้นกิเลลสเข้าไป ถึงว่าปริยัติ หรือการศึกษาเข้ามา พูดบ่อย พูดว่าศึกษาธรรมะเข้ามา ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อชำระกิเลสเรา ศึกษามาเพื่อหนุนกิเลสเราไง

เรารู้ อาจารย์มหาบัวบอกบ่อย อาจารย์มหาบัวพูดบ่อย เห็นไหม “พอเป็นมหาก้าวจะไม่ออก มันหนักความเป็นมหาของท่าน” นี่ครูบาอาจารย์พูดอย่างนั้นนะ เรียนมาถือว่ารู้ไง ถือว่ารู้ กิเลสมันก็บอกว่ารู้ใช่ไหม? แล้วก็รู้แบบนักกฎหมาย นักกฎหมายมีทั้งดีและไม่ดี นักกฎหมายที่ใจเป็นธรรม นักกฎหมายนั้นเยี่ยมมาก ช่วยเหลือคนจน ตัดสินกฎหมายตามเสมอภาค

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจที่เป็นกลางจะตัดสินตามเสมอภาค นักกฎหมายนั้นเข้าข้าง นักกฎหมายกินสินบน นักกฎหมายที่ตีความกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายไง รู้กฎหมายเพื่อจะแยกไปตามกฎหมาย เห็นไหม มันไม่มีศีลธรรม ศีลธรรมนี่ทุกคนมองก็รู้ว่าผิด นี่เสียงดังก็ว่าผิดอยู่แล้ว ทำไมไม่พูดนุ่มนวล พูดเสียงดัง เสียงดังนี่ผิด แต่เนื้อหาสาระในเสียงนั้นมันผิดหรือไม่ผิดล่ะ? ถึงว่ามันแก้ได้ บางอย่างแก้ได้ บางอย่างแก้ไม่ได้ แต่ในเมื่อเสียงดังผิด ประเพณีรู้ว่าผิด แต่ถ้าคนฟังเป็นจะฟังเนื้อหาสาระใช่ไหม?

กฎหมายก็เหมือนกัน กฎหมายพูดถึงว่ามันบิดไป ศีลธรรม ประเพณีมันก็รู้ๆ อยู่แล้ว ถึงว่าขนาดนั้นมันยังรู้เลย ถ้าศีลธรรม ประเพณีตามธรรมวินัย กฎหมายจะไม่มีค่าเลย แล้วตัดสินไม่มีผิดหรอก แต่นี่ตัดสินผิด ไม่ใช่ผิดธรรมดา ฟังสิ ๙ ประโยค คนไม่เรียนมายังรู้ นี่ถึง ๙ ประโยค แต่งตำราสอนคนอื่นอีกต่างหาก เป็นถึงพรหมอีกต่างหาก ยังเป็นผู้ปกครองอีกต่างหาก

นี่มันมาดูกัน เราไม่ได้ไปว่าเขาในทางนู้น อาจารย์ท่านสอนอยู่บอกว่า “ให้ดูใจเราทุกคน” สิ่งที่เป็นไปมันเป็นเรื่องของกรรม กรรมมันพัดไป แต่ให้เห็นว่าการศึกษาอย่างนั้นแล้วแก้กิเลสได้ไหม? นี่มองตรงนี้ จุดสำคัญมันอยู่ตรงนี้ไง ตรงที่ว่าศึกษาจน ๙ ประโยค ได้ถึงชั้นพรหม แล้วมันชำระกิเลสของตัวเองได้บ้างไหม? ถ้าชำระกิเลสของตัวเองได้ เราก็ควรจะศึกษาบ้าง ถ้ามันชำระไม่ได้ ทำไมเราไม่ปฏิบัติขึ้นมาจากใจเราเลยล่ะ?

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ก็รู้ธรรม ธรรมอันเดียวกันไง เราปฏิบัติมันถึงชำระกิเลสได้ เราสุขจริงจากเราตรงนี้ไง เราสุขจริง เรารู้จริงไง เรารู้จริงก็ชนะตนไง ชนะตน อย่างอื่นก็เป็นแค่ส่วนประกอบ ชนะตน เห็นไหม พอชนะตนแล้ว ใครมาถามปัญหาก็ตอบได้ ใครถามปัญหาไง สิ่งนั้นควรจะเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นเป็นอย่างไร ถ้าไม่ชนะตน ตนอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัย สัตว์มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัตว์สังคมต้องอาศัยฐานเป็นที่พึ่ง เกาะเขาไปทั่ว

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อพึ่งตัวเองไม่ได้ก็อาศัยหมู่คณะไปทั่ว แล้วไม่ทำให้มันสะอาดขึ้นมาไง หมักหมมขึ้นไป มันจะบานไปข้างหน้า ที่พูดนี้เพราะอะไร? เพราะมันจะบานไปข้างหน้า คิดว่าเป็นการช่วยกันเพื่อจะกลบปัญหา มันจะกลบไม่ได้ มันจะบานไปข้างหน้านะ ถ้าตัดไฟแต่ต้นลมนะมันจบ แล้วศาสนานี้จะมั่นคง นี่เข้าใจว่าจบแล้วไม่จบ เพราะเดี๋ยวนี้ข้อมูลข่าวสารมันรู้กันทั่วโลก แล้วพระไตรปิฎกใครก็กดได้ มันปิดไม่อยู่หรอก มันปิดไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าปิดไม่ได้ เราจะพูดความจริงให้มันจบ พวกเรานี่ศาสนาพุทธบริสุทธิ์ผุดผ่องกันทั้ง ๒ ฝ่าย

ไอ้นี่ก็พูดไปอย่างหนึ่ง โยนกันไปก็โยนกันมาเพื่อจะหลบหลีก แล้วมันไปลบล้างกฎหมายได้ไหมล่ะ? ไปลบล้างพระไตรปิฎกในคอมพิวเตอร์ได้ไหมล่ะ? เพราะคอมพิวเตอร์มันขายไปทั่วโลก ใครก็กดได้ ข้อไหนๆ ก็กดได้ ใครๆ ก็ศึกษาขึ้นมาเหมือนกัน แล้วศึกษาขึ้นมาก็อยู่ที่หัวใจ มันถึงเทียบเข้ามาให้ดูได้ไง คนที่มีจิตใจประเสริฐเป็นกลาง อ่านก็ยังรู้เลยว่าอะไรผิด อะไรถูก แค่มองก็รู้ว่าผิดหรือถูกแล้ว ไม่ต้องไปอ่านเลย ไม่ต้องไปวิเคราะห์ขนาดว่ารู้นรก สวรรค์ สวรรค์ชั้นนั้น นรกชั้นนั้น รู้ถึงว่าทำอย่างไรให้มันจบ แต่ทำไมตัดสินออกมาเป็นอย่างนี้ล่ะ?

นี่กิเลส เราชาวพุทธไง เราชาวพุทธเราจะชำระกิเลส หรือว่าชำระไม่ได้ก็ให้.. อาจารย์มหาบัวบอกว่า “ไฟให้เอาไว้ในเตา มันจะเป็นประโยชน์ไง” ไฟให้เอาไว้ในเตา เห็นไหม มันก็ต้มหุงทำกับข้าว ทำอะไรได้ นี้กิเลสเราก็เหมือนกัน ให้มันอยู่เฉพาะในใจของเรา ให้มีพลังงาน ให้เรามีชีวิตสืบต่อไป นี่ก็เป็นประโยชน์ของเรา เพราะเราก็อยากทำ อยากนี้เป็นมรรคอีกต่างหาก จากกิเลสพลิกเป็นมรรค พลิกเป็นความดีความชอบขึ้นมา แล้วทำของเราไป แต่ถ้ามันไม่ได้จำกัดตรงนี้เลย สัตว์สังคม แล้วอาศัยแต่ข้างนอก แต่หัวใจไม่มีหลักไง

ในสมัยพุทธกาล ชาวประมงในสาวัตถีไปจับปลาได้ เป็นปลาทองคำ ผิวเป็นทองคำทั้งหมดเลย เอาขึ้นมานี่ไม่กล้ากิน เอาไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล ไปอ้าปากท้องพระโรง ปากนี่เหม็นมากเลย พระเจ้าปเสนทิโกศลบอกว่าไม่มีใครรู้หรอก ต้องไปถามพระพุทธเจ้า ให้มหาดเล็กเอาไปถามพระพุทธเจ้าไง ไปถามพระพุทธเจ้า เอาไปก่อนแล้วตัวเองตามไปถามพระพุทธเจ้า

“ทำไมปลานี้ถึงเกล็ดเป็นทองคำล่ะ? แล้วทำไมอ้าปากเหม็น?”

ปลานี่เขาเคยเป็นพระไง เคยเป็นพระ เคยเป็นผู้สั่งสอน สั่งสอนคือว่าสั่งสอนตามธรรมของพระพุทธเจ้า นี่บุญกุศลนั้นเกิดขึ้นมา แล้วพอสอนไปมาก ลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นเรื่อย สอนผิดไปเรื่อย สอนตามความเห็นของตัวไง พอมีคนเข้ามานับถือมาก รู้มาก อวดดีไง เอากล่าวตู่พุทธพจน์ นี่ตายจากนั้นไปตกนรกหมกไหม้ ฝืนจากอเวจีขึ้นมาเรื่อยๆ เศษของกรรมได้มาเกิดเป็นปลานั้นไง ผิวที่เป็นทองคำเพราะว่าห่มผ้ากาสาวพักตร์ สอนลูกศิษย์ลูกหา ๕๐๐-๖๐๐ องค์ไง แต่ที่ปากเหม็นเพราะกล่าวตู่พุทธพจน์ไง

นี่ในสมัยพุทธกาล ในพระไตรปิฎกก็มี บุญมันส่วนบุญ บาปมันส่วนบาป ทำดี คนมีทำทั้งความดีและทำทั้งความไม่ดี ไอ้ความดีต้องให้ผลเป็นบุญแน่นอน แต่ให้ผลชาติไหน จังหวะไหน นี่กรรมถึงว่ากรรมนี้เป็นอจินไตยไง มันจะให้ผลช่วงไหนของเรา เราทำความดีแล้วมันจะให้ช่วงไหน กรรมชั่วทำแล้วจะให้ช่วงไหน คนเรามันถึงสุขๆ ทุกข์ๆ ทุกข์ๆ สุขๆ ไปเรื่อยไง แต่ถ้าเรามีสติ เราเชื่อพระพุทธเจ้า เราต้องพยายามฝืนไม่อยากทำกรรมไม่ดีไง เพื่อจะให้เราไปเกิดในสิ่งที่ดี นี่มันถึงว่าถ้าเชื่อกรรม ถ้าเชื่อจริงแล้วมันหักห้ามตนได้จริงนะ

ดูสิทำความดีมันแสนยาก จริงอยู่ เป็นผู้ปกครองนี่ เป็นผู้ตัดสินถูกผิด เหมือนผู้พิพากษา มันได้ผลทั้ง ๒ ฝ่าย ทีนี้มันทำอย่างไรจะลงไป ถ้ามีธรรมมันก็ต้องเอาอะไรก่อน เอาธรรมวินัยก่อน เอาพระพุทธเจ้าก่อน หรือจะเอาใครก่อน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังคิดอยู่ ถ้าตัดสินไปตามความจริงนะ นั่นแหละถึงจะช่วยกันจริง แล้วมันจะได้ประโยชน์

อย่างนี้บาน บานไปข้างหน้านะ บานไปเรื่อยแหละ ถึงว่าไม่ได้ชำระกิเลสอะไรเลย แล้วสะสม มันฟ้อง มันฟ้องถึงการว่าหัวใจเป็นอย่างไร ฟ้องเลยนะ ฟ้องหมดในการกระทำ นี่ฟ้องว่าศึกษามาขนาดนี้ เบื้องหลัง ภูมิหลังออกมา เห็นไหม ภูมิหลังนี่มันแน่นมากเลยในวิชาการ ทั้งในตำแหน่งหน้าที่ แต่ออกมาแล้วเด็กก็ยังหัวเราะเลย