ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระป่าหรือพระโกหก

๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๒

 

พระป่าหรือพระโกหก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำว่าพระป่า พระบ้าน เป็นความเข้าใจผิดนะ พวกเราไปแบ่งกันเองว่าพระป่าหรือพระบ้าน ความจริงพระก็คือพระ เวลาพระบวชมา อุปัชฌาย์อาจารย์จะสอนเห็นไหม เวลาบวชพระ มันก็ได้กรรมฐานเหมือนกัน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เหมือนกัน เวลาบวชพระ ถ้าอุปัชฌาย์ไม่บอกอนุศาสน์ ไม่บอกกรรมฐาน ก็ไม่เป็นพระ พอบวชเป็นพระขึ้นมาแล้วเห็นไหม พระป่า พระบ้านนี้มันแบ่งกันที่ไหน พระป่าหรือพระบ้านนี้เขาไปแบ่งกันที่การปฏิบัติ มันเป็นธรรมเนียมประเพณี แต่ไม่ได้แบ่งว่า ถ้าบวชอย่างนี้เป็นบวชวัดบ้านนะ บวชอย่างนี้เป็นบวชวัดป่านะ ไม่มีหรอก

บวชพระก็คือบวชพระ อุปัชฌาย์ก็เหมือนกัน ถ้าบวชพระจบแล้วคือบวชพระ แต่ถ้าบวชพระขึ้นมาแล้วเราจะศึกษา การศึกษาก็เป็นปริยัติ เห็นไหม แต่ถ้าเราจะออกปฏิบัติแล้ว ตามประเพณีวัฒนธรรม เพราะการออกปฏิบัติคือจงใจว่าจะปฏิบัติใช่ไหม ก็เลยอุปโลกน์กันว่าให้ชื่อว่าวัดป่า พระป่า พระป่าหรือพระบ้านก็คือพระเหมือนกัน

ทีนี้คำว่าสอนแบบพระป่าหรือสอนแบบพระบ้าน พระบ้านเราบวชแล้วใช่ไหม เราจะศึกษาเล่าเรียน ก็เป็นปริยัติ ก็กางตำรา ก็เรียนกัน ก็ท่องจำ ก็เป็นเหมือนทางโลกเห็นไหม ต้องมีการศึกษา มีการสอน มีครูก็สอนกันไป แต่ถ้าจะออกปฏิบัติมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะการปฏิบัตินี้มันเป็นประสบการณ์ตรงของจิต มันไม่ใช่การฝึกสอน มันเป็นประสบการณ์ตรงของจิตใช่ไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นว่าการปฏิบัตินี้ มันต้องอาศัยความสงบสงัด อาศัยผู้รู้จริงคอยชักนำ มันต้องอาศัยความสงบนั้น มันก็เป็นประเพณีการปฏิบัติไง

ทีนี้วัดป่า วัดบ้าน ประสาเราว่า มันก็มาจากขั้วเดียวกัน คือมาจาการญัตติจตุตถกรรม บวชมาจากการญัตติยกเข้าหมู่มาเหมือนกัน ก็พระเหมือนกันนั่นแหละ แล้วมาแบ่งกันตรงไหนว่าวัดป่าหรือวัดบ้านล่ะ วัดบ้านดี ก็ดีนะ วัดบ้านที่มีครูบาอาจารย์ที่ดีก็ดีเยอะแยะไป วัดป่าที่ดีก็มี วัดป่าที่ไม่ใช่พระป่าก็เยอะแยะไป ถ้าบอกว่าการอยู่ป่าอยู่เขา เป็นพระป่า แล้วสัตว์ที่มันเกิดอยู่ในป่าล่ะ เวลาสัตว์มันเกิดในป่ามันตายในป่า เราจะไม่บอกว่าสัตว์มันเกิดในป่าเป็นอริยบุคคลขึ้นมาเลยหรือ มันก็ไม่เป็นเห็นไหม มันไม่เป็นหรอก

ทีนี้คำว่าพระบ้านหรือพระป่านี้ มันอยู่ที่คำสอนถูกหรือผิด ถ้าคำสอนถูกนะ พระบ้านสอนถูกก็คือถูก ก็ดีงาม ถ้าพระบ้านสอนผิดเราก็หลงทางผิดไปใช่ไหม พระป่าก็เหมือนกัน พระป่าสอนถูก สอนถูกคือตรงสู่ธรรม ตรงสู่หัวใจ ตรงสู่การประพฤติปฏิบัติ มันก็ถูกต้อง แต่ถ้าพระป่าสอนผิด มันก็ไม่ใช่

ไม่ใช่ที่พระป่าหรือพระบ้านหรอก มันเป็นพระป่าหรือพระโกหกต่างหาก ถ้าพระป่ามันต้องสอนตามความเป็นจริง ถ้าพระโกหกมันก็สอนตามโกหกไปเรื่อยเฉื่อยอย่างนั้น

ถ้าพระจริงจะสอนตามความเป็นจริง มันอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่า “จริงหรือปลอม ถูกหรือผิด” มันไม่ใช่อยู่ที่ว่าพระป่าหรือไม่พระป่า ต้นไม้เป็นป่าไหม ถ้าเป็นป่าที่ถูก ป่ามันเป็นอย่างไร มันก็ต้องมีข้อเท็จจริงในหัวใจนั้น

ถ้าพูดถึงพระป่าองค์แรกเลยก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ แล้วก็สั่งสอนมา พอสั่งสอนมาเพราะพระพุทธเจ้าท่านเห็นถึงจริตนิสัย เห็นไหม พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “มันจะสอนได้อย่างไรหนอ เขาจะรู้กับเราได้อย่างไรหนอ” เห็นไหม เพราะการประพฤติปฏิบัตินี้มันลึกซึ้งมาก พอลึกซึ้งขึ้นมาก็เผยแผ่ธรรม ทีแรกขึ้นมานี้ ตั้งแต่ปัญจวัคคีย์ ตั้งแต่ยสะ ๖๑ องค์ “เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน” นี่ของจริงๆ เลย พระป่าจริงๆ เลย เพราะตรัสรู้จริงๆ

แต่พอมีมากเข้าๆ พอพระบวชเข้ามาแล้วปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

แล้วการศึกษามันก็เริ่มมาจากพระจุนทะ พระจุนทะเห็นลัทธิต่างๆ พอศาสดาเขาตายพวกพระก็มีการแตกกระสานซ่านเซ็น พระจุนทะเลยไปถามพระพุทธเจ้าว่า “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” พระพุทธเจ้าบอกว่า “เพราะไม่มีธรรมวินัย ไม่มีวินัยไว้” ก็พยายาม อยากให้พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัย พระพุทธเจ้าบอกว่า “บัญญัติไม่ได้” มันจะต้องมีคนทำผิด พระพุทธเจ้าจะไม่บัญญัติอะไรไว้ล่วงหน้า ถ้ามีใครทำผิดท่านถึงจะบัญญัติวินัยขึ้นมา พอมันเริ่มบัญญัติวินัยมาเห็นไหม ก็เริ่มมีกรอบขึ้นมา แต่เดิมไม่มีเลยนะ ตอนไม่มีเลยก็มีแต่พระอรหันต์ทั้งหมดเลย พอมีกรอบกติกามากขึ้นมา พระอรหันต์ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เลย เพราะมันมีกรอบนะ กรอบอันนี้มันก็เหมือนวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่าเราปฏิเสธวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์มันเป็นกรอบตายตัว แต่ธรรมะมันละเอียดลึกซึ้งกว่า เพราะมีความรู้สึกมีชีวิต มันละเอียดอ่อนกว่าวิทยาศาสตร์เยอะแยะไปหมดเลย

วิทยาศาสตร์คือโลก กฎกติกาคือโลก แต่ถ้าความเป็นจริงมันละเอียดอ่อนกว่านั้น แต่คนถ้ามันมีจิตใจที่เป็นธรรมหรือเป็นสัมมาทิฐิ มันจะไม่แหกคอกอันนี้ไป ทีนี้พอมันมีมากขึ้นมาๆ มันก็ออกมาแบ่ง มาแบ่งเป็น คันถธุระ-วิปัสสนาธุระ ธรรมกถึก-วินัยธร หลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นธรรมกถึกใหญ่ เพราะธรรมกถึกก็คือการเทศน์ นักสั่งสอน นี่ไงวัดป่าไง เพราะมันออกมาจากอะไร มันออกมาจากหัวใจ มันออกมาจากความเป็นจริง ถ้าออกมาจากความเป็นจริงแล้วมันจะผิดพลาดตรงไหนล่ะ ก็ออกมาจากความเป็นจริง

แต่ถ้าวินัยธรคือกฎหมาย คือธรรมวินัยที่เราศึกษาใช่ไหม ก็ไปศึกษา ก็มาวิจัย ก็วิจัยกันไป แล้วแต่มุมมอง พอวิจัยขึ้นมาก็เป็นกฎหมาย แล้วกฎหมายก็ออกมาเป็นการปกครอง ในการปกครองมันมีวัฒนธรรม มันมีประเพณี มีสถานที่ มีสิ่งแวดล้อมที่จะเข้าไปเผยแผ่ เผยแผ่เข้าไปที่ไหนล่ะ ถ้าไปในจีนก็เป็นเซนไป เพราะมันมีขงจื๊ออยู่แล้ว พอมาทางสุวรรณภูมิ เห็นไหม มันมีผีอยู่แล้วนะ มันก็เป็นพราหมณ์ไป

นี่ไง มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่พื้นถิ่นที่มันมีไปเห็นไหม นี่ธรรมและวินัยเวลาที่มันเป็นไป แต่ถ้าเป็นวัดป่าที่เป็นความจริงเห็นไหม โพธิธรรมที่เมืองจีนเห็นไหม นั่นล่ะ ต้นแห่งเซน โพธิธรรมเป็นองค์ที่ ๖ เขาถือว่าพระกัสสปะเป็นยอดแห่งผู้นำของเซน ถ้าเซนนั้นคือมาจากพระกัสสปะ โพธิธรรมนี้เป็นองค์ที่ ๖ นี่เข้าไป เพราะโพธิธรรมนี่รู้จริงเห็นไหม ไปถึง กษัตริย์ไม่ยอมรับ ก็ไปนั่งอยู่ในถ้ำ แล้วแสงเทียนมันส่อง ๖ ปีนะ จนเป็นเงาเลยล่ะเป็นรูปร่างขึ้นมาเลย จนกษัตริย์ยอมรับขึ้นมา เพราะรู้จริง ถ้ารู้จริงจะสอนไม่มีผิดเลย แต่ถ้ารู้ปลอมนะ มันโกหกมาสอนจะผิดหมดเลย อย่างพวกที่สอนผิดเห็นไหม

ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าการประพฤติปฏิบัติเป็นความจริง ไม่ใช่ว่าวัดป่าสอนแบบวัดป่า วัดป่านี่เขาทำสมาธิ ผู้ที่อยากทำสมาธิ พอมีสมาธิขึ้นมาบ้างก็คือวัดป่า ไม่ใช่! ไม่ใช่!

ถ้าวัดป่าเป็นสมาธิแล้ว หลวงปู่หลุย หลวงปู่ดุลย์นี้ ท่านทำอย่างไรล่ะ ท่านสอนอย่างไร

ต้องเอาที่ข้อเท็จจริง อย่าอ้างว่าสอนแบบวัดป่า ไม่ใช่!

“สอนจริงหรือสอนปลอม สอนถูกหรือสอนผิด” เอาตรงนี้ ไม่ใช่ที่วัดป่า พอขึ้นชื่อว่าวัดป่าแล้วมันต้องมีทฤษฎี มันไม่มีหรอก อย่างเช่นการทำสมาธินี้ ทำไมมันต้องทำสมาธิ เพราะครูบาอาจารย์ที่เป็นวัดป่าท่านรู้ว่าโลกุตตรปัญญาเป็นอย่างไร โลกียปัญญาเป็นอย่างไร สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา เป็นอย่างไร การปฏิบัติต้องเกิดจากภาวนามยปัญญา ไม่ใช่เกิดจากจินตนาการ แล้วการจินตนาการกับไม่จินตนาการนี้มันต้องมีตัวสมาธิเข้าสู่จิต ถ้าเข้าสู่จิตแล้วถ้าจิตมีสมาธิ และเป็นสมาธิจริง มันจะเห็นจริงของมัน ถ้าเห็นจริงของมัน เห็นไหม มันไม่โกหกไม่มดเท็จ

ถ้าโกหกมดเท็จ สมาธินี่ก็ยังไม่รู้จัก

เขาบอกว่า ใครกำหนดพุทโธจะเป็นฌาน ๒

เราอยากรู้ว่า ใครปฏิบัติได้ฌาน ๒ คนที่เขาชี้ว่าได้ฌาน ๒ นั้นขอพบหน่อย ฌาน ๒ เป็นอย่างไร

เพราะอะไร เพราะฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ นั้นมันเป็นทฤษฎี มันเป็นธรรมวินัย มันเป็นบัญญัติ ฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ และอรูปฌานอีก ๔ สมาบัติ

พอใครทำพุทโธๆ ก็ว่าต้องเป็นฌาน ๒

คำว่าฌาน ๒ คือสำเร็จรูป ใครมาก็ฌาน ๒ แล้วฌาน ๒ เป็นอย่างไร ฌาน ๑ เป็นอย่างไร ฌาน ๒ เป็นอย่างไร

อย่างเรานี้ไม่รู้เรื่องเลย เขาก็บอกว่าเราได้ฌาน ๒ ไอ้คนนี้ไม่รู้เรื่องมันเป็นฌาน ๒ ไอ้คนนั้นมันก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง ก็เป็นฌาน

เป็นฌานที่ ๒ นะ เพราะพุทโธเป็นฌาน ๒

นี่ไง คำว่าสมาธิไม่ใช่ฌาน ฌานคือฌาน สมาธิคือสมาธิ แล้วเขามาบอกว่าพุทโธเป็นฌาน ๒ ก็เหมาเป็นสำเร็จรูปเลย

ถ้าใครกำหนดพุทโธเป็นฌาน ๒ อย่างนั้นหรือ ?

“แล้วหนูไม่รู้อะไรเลยนะ” นั่นล่ะ ฌาน ๒ ไม่รู้เรื่องนั่นแหละเป็นฌาน ๒

นี่แหละ! พระโกหก! ไม่ใช่พระป่า มันสอนแบบโกหกมดเท็จ!

ถ้าสอนจริงนะอะไรเป็นฌาน ๑ อะไรเป็นฌาน ๒ แล้วกำหนดพุทโธมันเป็นฌานได้อย่างไร ถ้ากำหนดพุทโธๆๆ นี่ ถ้าจิตมันสงบเข้าไปเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธินี้ คำว่าสมาธิมันเป็นอย่างไร แล้วจิตมันสงบเข้ามานี้ มันจะรู้ของมันไหมว่า จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตไม่สงบเข้ามาจะไม่รู้ว่าจิตสงบหรอก แล้วจิตสงบกับจิตไม่สงบมันต่างกันอย่างไร ถ้าจิตไม่สงบความคิดที่คิดกันอยู่นี้ อย่างที่พระโกหกสอนกันอยู่อย่างนี้ ว่างๆ ว่างๆ ใช้ดูไป เข้าใจไป รู้ไป ปล่อยวางไป จับปล่อยๆ ไป

มันก็หุ่นยนต์ทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องของธรรมะ ไม่ใช่เลย ไม่ใช่!

ถ้าเป็นเรื่องธรรมะนะ จิตมันจะสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามานี้ จิตมันจะรู้เห็นอย่างไร แล้วถ้าไม่รู้เห็นอย่างไร จะออกฝึกปัญญาอย่างไร นี่ตรงนี้สำคัญ! ออกฝึกปัญญา ออกฝึกปัญญาในโลกุตตรปัญญา ถ้าออกฝึกปัญญา ปัญญามันออกรู้นี้ มันจะเห็นความรู้ต่างว่าโลกียะกับโลกุตตรปัญญามันแตกต่างกันมาก แล้วถ้าเห็นว่าโลกุตตรปัญญามันเกิด เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะจิตมันปล่อยวางจากสัญญาอารมณ์ของมัน จิตมันปล่อยวางธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของจิตนี้มันคิดโดยขันธ์ ๕ มันคิดโดยสามัญสำนึก มันคิดอยู่ตลอดเวลา ปัญญาที่มันคิดอยู่ตลอดเวลานี้ มันปล่อยเข้ามา มันเป็นอิสระเข้ามาได้อย่างไร แล้วมันคิดอีกอย่างไร แล้วมันคิดอีกรอบหนึ่งอย่างไร คิดแบบโลกุตตรปัญญานี้มันคิดอย่างไร แล้วคิดโดยธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติของมันนี้ มันคิดอย่างไร

นี่ไง มันชี้ชัดเจนว่าพระโกหก!

ถ้าพระจริงเขารู้จริงของเขา มันจะรู้เลยว่า การปล่อยวางสัญชาตญาณ ปล่อยวางสามัญสำนึก ปล่อยวางอย่างไรถึงเข้าไปเป็นสมาธิ แล้วออกจากสมาธินี้ไปใช้ปัญญาอย่างไร

นี่ไง พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง ท่านถึงเห็นว่าการปฏิบัติที่มันยาก มันปฏิบัติยากอย่างไร

ทีนี้ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักสมาธิ เห็นไหม ไม่รู้จักสมาธิ แล้วบอกว่าจิตมันเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วบอกว่าออกรู้ จิตเป็นสมาธิออกรู้นะ ออกกระทบกาย จิตออกกระทบ ถ้าจิตออกกระทบ สมาธิเอาอะไรไปกระทบ สมาธิเอาอะไรไปกระทบ การกระทบ มันกระทบอย่างไร

นี่! พระโกหก ไม่ใช่พระป่า พระโกหก

ถ้าพระป่า จิตมันออกรู้ จิตมันสงบแล้วมันออกรู้ ออกรู้กายอย่างไร เห็นกายอย่างไร เห็นกายกับกระทบกายต่างกันอย่างไร ต่างกันมาก

แล้วพอปฏิบัติไปเป็นสมาธินะ เขาบอกว่า ถ้าเป็นสมาธิ อย่ารักษาผู้รู้ การรักษาผู้รู้ เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนไว้ให้ทำลายผู้รู้ นี่ พระหลวงปู่ดูลย์สอนว่าให้ทำลายผู้รู้ อย่ารักษาผู้รู้ ห้ามรักษาผู้รู้ เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนไว้ ว่าห้ามรักษาผู้รู้ ให้ทำลายผู้รู้

หลวงตาจะพูดประจำ หลวงตาบอกว่า “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ จะไม่เสีย”

ห้ามรักษาผู้รู้ นี่หรือ การสอนแบบพระป่า

หลวงปู่ดูลย์สอนบอกให้ทำลายผู้รู้ถูกต้องไหม....ถูก

หลวงตานะ เวลาท่านภาวนาของท่านไปเรื่อยๆ ผู้รู้นี่ ต้องรักษาไว้ รักษาผู้รู้ไว้ แล้วผู้รู้นี้จะออกทำลาย ออกทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เข้ามาเรื่อยๆ จนเป็นผู้รู้ที่สะอาดเข้ามาเรื่อยๆ จนเป็นผู้รู้ที่ละเอียดไปเรื่อยๆ ผู้รู้มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีละเอียดสุด ผู้รู้มันมีหลายซับหลายซ้อนนัก ทีนี้ผู้รู้มันปล่อยเข้ามาเรื่อยๆ หลวงตาท่านบอกว่า ท่านพิจารณาเรื่อย จนจิตมันปล่อยกามราคะหมดนะ พอกามราคะหมดนะ ท่านก็รักษาใจของท่าน ท่านอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ โอ้ วันนั้นเป็นวันพระ ท่านไม่ได้บิณฑบาต ท่านเดินจงกรมอยู่ จิตมันใสมันสว่างไสว มันพุ่ง มันทะลุภูเขาเลากาไปหมดเลย ท่านก็บอกว่า “จิตของเราทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตของเราทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้ จิตของมนุษย์ทำไมมหัศจรรย์ขนาดนี้” นี่รักษาผู้รู้นะ รักษาผู้รู้ๆ มาเรื่อย รักษาผู้รู้ไว้

ที่ว่าหลวงปู่ดูลย์ให้ทำลายผู้รู้ เห็นไหม พอท่านภาวนาปั๊บ ธรรมะมาเตือน เตือนบอกว่าที่สว่างไสวนั้นเกิดจากจุดและต่อม ความสว่างไสวทุกอย่างนั้นเกิดจากผู้รู้ เพราะรักษาผู้รู้มาตั้งแต่เริ่มต้น แล้วทำลายมาตลอด ทำลายสังโยชน์ขาดมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จนเหลือผู้รู้แท้ๆ จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส พอจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันมาจากไหน มันมาจากผู้รู้ เห็นไหม ธรรมะมาเตือนว่าความสว่างไสวนี้มาจากจุดและต่อม มาจากผู้รู้นั้น ท่านงงเลยนะ

นี่คำว่าจะเห็นผู้รู้ได้ มันไม่ใช่ของง่ายๆ ผู้รู้นี้ มันมี ผู้รู้อย่างหยาบ ผู้รู้อย่างกลาง ผู้รู้อย่างละเอียด

ทีนี้พอธรรมะมาเตือน เตือนเองแล้วก็ยังงง ตัวเองนี้งงมากเลย พองงมากแล้วหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้ว ก็พยายามค้นคว้าหาของตัวเองมา จากนั้นมาก็ธุดงค์ไปเรื่อย ก็หาจุดและต่อมอะไรหนอๆ จนกลับมาวัดดอยธรรมเจดีย์อย่างเก่า ที่เดิมนั่นละ แล้วท่านก็กลับมาย้อน ผู้รู้ เข้าไปทำลายผู้รู้ เข้าไปทำลายจุดและต่อม พอทำลายจุดและต่อม พั้บ! เห็นไหม

หลวงตาท่านบอกว่า การประพฤติปฏิบัตินะ นี่พระป่า พระป่าแท้ๆ พระป่าที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา พระป่าที่ได้รับผลมาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเป็นพระป่า สอนตามข้อเท็จจริงมา แล้วหลวงตาเป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น รับคติธรรม รับขบวนการประพฤติปฏิบัติมาเป็นชั้นเป็นตอนมา แล้วปฏิบัติขึ้นมาจนได้ตามความเป็นจริง เห็นไหม

พอได้ตามความเป็นจริง “รักษาผู้รู้ รักษาพุทโธ เราจะไม่เสียหายเลย” การประพฤติปฏิบัติต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย รักษาผู้รู้ตลอด

แล้วถึงที่สุดเห็นไหม รักษาเป็นด้วย พอเข้ามา กลับมาถึงที่เก่านะ จากจุดและต่อม มันย้อนเข้าไปในผู้รู้ พอพิจารณาเข้าไป พอซ้ำเข้าไปละเอียดเข้าไปๆ จนถึงตัวจิตตัวผู้รู้ ผู้รู้มันแยกเป็น ๒ ขั้ว เหมือนมะพร้าวมี ๒ ขั้วขึ้นมา แล้วทำลายดีและชั่ว ทำลายพั้บ! นี่ทำลายผู้รู้

หลวงปู่ดูลย์สอนให้ทำลายผู้รู้นั้นถูก แต่ไอ้พระโกหกมันไม่รู้ มันเลยบอกว่าต้องทำลายผู้รู้ตั้งแต่ต้น มันต้องรักษาผู้รู้มาเรื่อยๆจนถึงที่สุด มันจะไปทำลายผู้รู้ต่อเมื่อคนรู้จริง พอทำลายผู้รู้จริง หลวงตาท่านย้อนกลับไปจนถึงต้นขั้วของผู้รู้ ทำลายผู้รู้หมด เห็นไหม ท่านบอกว่า “จิตที่ผ่องใสจิตสว่างไสวเปรียบเหมือนกองขี้ควาย” ความที่เราหลงความสว่างไสว ความรู้ความเห็นของเราว่ารู้ไปหมด ว่าเข้าใจไปหมด ตอนนั้นมันมหัศจรรย์นะ คนที่ไปรู้ไปเห็นเอง เจ้าของเอง มหัศจรรย์ในความรู้ความเห็น มหัศจรรย์มาก เพราะคนไม่เคยเห็นเคยรู้ มหัศจรรย์กับความรู้นี้มาก จิตนี้มหัศจรรย์ มหัศจรรย์มหาศาลเลย

แต่พอมันเข้าไปถึงทำลายผู้รู้ ผลัวะ! “ความมหัศจรรย์นั้นเหมือนกองขี้ควาย ความมหัศจรรย์นั้นเหมือนกองขี้ควาย!”

ถ้าไม่มีความมหัศจรรย์นั้น ไม่มีผู้รู้นั้น มันจะไปทำลายได้อย่างไร พอมันไปทำลายแล้ว สิ่งมหัศจรรย์นั้นเป็นกองขี้ควาย ตอนนี้เหลืออะไร เหลือธรรมธาตุ เหลือสักแต่ว่าไม่มีอะไรสักอย่างเลย ไม่ใช่จิตหนึ่ง ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น หมดสิ้นกระบวนการต่อไป

เห็นไหม นี่มันมาจากไหนล่ะ ถ้ามีผู้รู้ เห็นไหม ผู้รู้นี้สำคัญมาก แล้วบอกว่าให้ทำลาย

เราพูดบ่อยมากนะ เราพูดบอกว่าตัดรากถอนโคน

เขาบอกว่า ห้ามรักษาผู้รู้ ถ้ารักษาผู้รู้ผิด เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนว่าต้องทำลายผู้รู้

แล้วตาสีตาสาไม่รู้จักอะไรเลยมันก็จะทำลายผู้รู้ แล้วผู้รู้มันอยู่ที่ไหนล่ะ

นี่ล่ะพระโกหกมันสอนนะ พระโกหกมันสอนให้ทำลายผู้รู้ ก็เหมือนพวกเรา ก็เลยขี้ลอยน้ำไง เริ่มต้นไม่ถูกไง จะเดินกระบวนการ ๑ ๒ ๓ ๔ ขึ้นไปอย่างไรในเมื่อมันไม่มีฐานเริ่มต้น แล้วเมื่อไม่มีฐานเริ่มต้นก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ไอ้พระโกหกมันสอนบอกว่าหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกให้ทำลายผู้รู้

โธ่...หลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ตอนจิตมันเสื่อม ท่านบอกเลยนะ ท่านภาวนาอยู่ ๗ ปี ตอนศึกษาอยู่ จิตรวมได้ ๓ หน แล้วพอออกปฏิบัติเห็นไหม เริ่มต้นก็ดูจิต เพราะปฏิบัติโดยสามัญสำนึก เห็นไหม ไปหาอุปัชฌาย์ พระครูวัดโยธานิมิตร

บอกว่า “อยากปฏิบัติ”

“ก็พุทโธสิ”

ก็พุทโธไปเรื่อย พุทโธไปโดยที่ว่าไม่มีสิ่งใดเป็นการต่อรอง ก็พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วศึกษาไปเรื่อยๆ ๗ ปีรวม ๓ หน

ทีนี้พอศึกษาไปเรื่อยๆ ศึกษาจนจบมหา แล้วออกประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ก็คิดว่ามีปัญญามีความรู้ ก็ดูจิต กำหนดจิตเฉยๆ ดูจิตไง ไปอยู่จักราชปีหนึ่งจิตดีมากเลย แข็งเป็นหินเลย สุดท้ายแล้วจิตเสื่อมหมดเลย เสื่อมหมดเลยจะเอายังไงก็เอาไม่ขึ้น ไปหาหลวงปู่มั่นนะ ตอนอยู่กับหลวงปู่มั่น อันนี้ท่านเล่าให้ฟังเอง พออยู่กับหลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านผ่านไปแล้วนะ คนเรานี้นะพอผ่านมาเป็นผู้ใหญ่แล้วย้อนกลับไปดูเราตอนเด็กนะๆ เราจะรู้เลยว่าตอนเป็นเด็กๆ เราคิดอย่างไร ทำอย่างไร

พอผ่านไปแล้วนะ ท่านบอกว่าไปหาหลวงปู่มั่น คอตกเลยนะ จิตเสื่อมหมดเลย หลวงปู่มั่นบอกว่า “จิตนี่เหมือนเด็กๆ มันต้องกินอาหาร ตอนมันเสื่อมนี้มันเท่ากับจิตนี้มันไปเที่ยว พอไปเที่ยวไม่มีอาหารกิน มันต้องหิวโหย เราอยู่กับเรานะ อยู่กับพุทโธๆๆ นี่คืออาหารของมัน พอมันหิวกระหายแล้วเดี๋ยวมันก็จะกลับมากินพุทโธๆ ให้ท่องพุทโธๆๆ ไว้”

ฉะนั้นพอเวลาหลวงปู่มั่นท่านไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ ทิ้งท่านไว้องค์เดียว ท่านบอกว่าท่านก็พุทโธเลย พยายามพุทโธๆๆ อยู่ ๓ วัน อกแทบระเบิด เพราะดูจิตนี้มันสะดวกสบายเร่ร่อนไง ปล่อยสบายๆ เคลิบเคลิ้มสบายๆ พอสบายๆ มันก็ไม่มีที่เกาะ พอท่านเจริญแล้วเสื่อมมาถึง ๖ ปีกับ ๖ เดือน ทุกข์คราวใดเท่ากับจิตเสื่อมอันนี้ไม่มี หลวงตาท่านจำแม่นในหัวใจเลย แล้วพยายามกลับมาพุทโธๆๆๆ พอพุทโธๆ ๓ วันแรกนี้ อกแทบระเบิดเลย เพราะจิตมันเคย เหมือนคนใจแตก เหมือนเด็กมันติดแสงสีเสียง แล้วบังคับไม่ให้มันเที่ยว มันต้องบังคับมัน พอบังคับพุทโธๆๆ นี่อกแทบระเบิดเลย

พอ ๓ วันไปแล้ว มันเริ่มดีขึ้น พอเริ่มดีขึ้น นี่ไง แล้วพอท่านปฏิบัติมา เห็นไหม ท่านจะสอนเลยนะ ท่านจะสอนบอกว่า “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ จะไม่เสีย แต่ถ้าปล่อยผู้รู้ ปล่อยพุทโธจะเสีย”

แต่นี่เขามาบอกว่า ห้ามรักษาผู้รู้ ห้ามอยู่กับผู้รู้ เพราะหลวงปู่ดูลย์สอนให้ทำลายผู้รู้

ไอ้พระโกหกมันไม่เข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจนี้มันต้องรักษาผู้รู้ก่อน เหมือนกับการยึดเมือง เราเข้าไปตีไม่ได้ กิเลสนี่มันหนามาก ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันหนามาก ทีนี้การจะเข้าไปตีเมืองมันก็ต้องไปตีจากชายขอบเข้ามา การตีชายขอบเข้ามา เราจะเอาอะไรไปตีชายขอบมัน

หัวใจของเรา เห็นไหม พุทโธคือเมืองหลวง แล้วผู้รู้นี่คือจักรพรรดิ เราก็ต้องรักษาผู้รู้เพราะผู้รู้เป็นเรา แล้วมันต้องทำลายจากชายขอบเข้ามา ถ้ามันทำลายจากชายขอบเข้ามา เวลามันพิจารณาของมัน สังโยชน์มันขาดไปเรื่อยๆ มันตีจากชายขอบเข้ามา พอชายขอบเข้ามา ผู้รู้! ผู้รู้นี้เป็นตัวฐาน ผู้รู้นี้เป็นผู้ที่เป็นสัมมาสมาธิ ผู้รู้นี้เป็นฐานแห่งปัญญา แล้วผู้รู้ที่เป็นฐานแห่งปัญญานี้ ปัญญามันจะทำลายจากชายขอบเข้ามาเรื่อยๆ เห็นไหม โสดาบัน สังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว แล้วกามราคะปฏิฆะอ่อนไป มันจะเข้ามาถึงผู้รู้นี้

การทำลายผู้รู้นี่ถูกต้อง แต่คนที่จะทำลายผู้รู้นี้ได้มันต้องรู้จริง แล้วการทำลายผู้รู้นี้มันก็ต้องเอาผู้รู้ทำลายผู้รู้ มันจะไปเอาขี้หมาที่ไหนมาทำลายผู้รู้ล่ะ ในเมื่อไม่ต้องรักษาผู้รู้นี้แล้วจะไปเอาขี้หมาที่ไหนมาปฏิบัติล่ะ ไอ้พระโกหก!!!

แหม..แล้วเขาบอกว่าสอนแบบพระป่า

ถ้ามันสอนแบบพระป่า มันต้องรู้จักสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิมันเกิดบนผู้รู้ ผู้รู้นี้จะเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้ามันไม่ต้องรักษาผู้รู้แล้วทำลายผู้รู้ แล้วกำหนดขี้หมาอย่างนั้นมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร

นี่ไง มันไม่ใช่ว่าพระป่าหรือพระบ้าน มันเป็นพระโกหก! ถ้าพระโกหกมันก็สอนโกหกนี่ไง

แต่ถ้าเป็นพระที่เป็นความจริง มันจะมีเป็นขั้นตอนเข้ามา

เราไม่พูดมานานนะ จะบอกว่าถ้ามันไม่จริงก็คือมันไม่จริง จะมาอ้างว่า วัดป่า วัดบ้าน วัดกรรมฐาน พระบ้าน พระป่าไม่เกี่ยวเลย พูดถูกก็ถูก พูดผิดก็ผิด พระป่าพูดผิดก็ผิด ไม่ใช่ว่าพระป่าจะพูดถูกไปหมดทุกองค์ พระป่าถึงประพฤติปฏิบัติมาจะได้จริงมาสักกี่องค์ล่ะ จะว่าพระป่าพูดถูกทั้งหมดหรือ งั้นสัตว์ป่ามันก็พูดถูกสิ อ้าว สัตว์ป่ามันอยู่ในป่า มันเห่ามันหอนก็ถูกนะ แล้วไอ้สัตว์ในฟาร์ม มันผิดหมดเพราะเขาเลี้ยงมัน นี่ก็เหมือนกันไอ้สัตว์ในป่า ถ้ามันผิดมันถูก มันก็ผิดถูกตามธรรมชาติของมัน มันไม่มีหรอก

เพราะเขาพยายามจะพูดไงว่า เวลาเราพูดออกไป เขาก็บอกว่า เหมือนกันๆ

ไม่เหมือน มันไม่เหมือนเพราะอะไร เพราะหลักการ เราพูดบ่อยว่าต้องมีสติ เห็นไหม คนเราถ้าปฏิบัติมันต้องมีสติเป็นพื้นฐาน แล้วสติมันต้องฝึกขึ้นมา สติไม่ใช่จิต และจิตไม่ใช่สติ สติไม่ใช่สัญญา สติไม่ใช่ปัญญา สติก็คือสติ พอมีสติขึ้นมา ผู้รู้มันจะชัดขึ้นมา สติต้องการในกาลทุกเมื่อ ต้องการในทุกสถาน สติมันเป็นสติ สติมันจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เกลือนี้ คือยุทธปัจจัยเลย เกลือนี้ใช้ถนอมอาหาร เกลือนี้ใช้ผสมอาหาร เกลือนี้ใช้ชำระล้างแผล เกลือนี้ทำได้ทุกอย่างเลย แต่เกลือมันก็คือเกลือ สติมันก็คือสติ แต่มีสติแล้ว สติมันจะฝึกขึ้นมาอย่างไรเท่านั้นแหละ

พระป่าสอนให้มีสติก่อน แล้วกำหนดพุทโธ เพราะเป็นคำบริกรรม จิตต้องอาศัยคำบริกรรมพุทโธ มันถึงจะแสดงตัวออกมา พุทโธหรืออะไรต่างๆ นี้เป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นความคิดทั้งนั้น เป็นความคิดขึ้นมาจากจิตทั้งนั้น จิตผู้รู้นี้มันแส่ส่าย มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้าไม่มีอะไรเป็นที่ยึดของมัน มันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จิตมันแส่ส่าย แล้วมันจะอาศัยอะไรเป็นที่ยึดที่เกาะ ก็อาศัยคำบริกรรมเป็นที่เกาะ ถ้าคำบริกรรมเป็นที่เกาะ คนเรามันคนละจริตนิสัย เห็นไหม มันก็อยู่ที่จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยคนชอบ เขาบอกว่าสอนตามคนชอบ มันไม่ใช่ มันสอนตามจริต เราจะชอบหรือไม่ชอบถ้าไม่ตรงจริตของเรา เราก็ใช้ไม่ได้หรอก ถ้ามันไม่ตรงจริตมันก็แก้ไขกิเลสไม่ได้หรอก เหมือนเราเป็นมะเร็ง แล้วไปรักษาเบาหวาน มันจะหายไหม คนเป็นมะเร็งก็ต้องรักษามะเร็ง เป็นเบาหวานก็ต้องรักษาเบาหวาน คนเป็นอะไรก็ไปรักษาตามโรคนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งที่มันเป็นในหัวใจ กิเลสมันติดในสิ่งใด มันก็ต้องรักษาไปตามนั้น มันไม่ได้ว่าอยู่ที่ชอบหรือไม่ชอบ ถ้ามันชอบหรือไม่ชอบ กิเลสมันก็ชอบสบายๆทั้งนั้น ทุกคนชอบสบาย แล้วอาศัยทฤษฎีความสบายออกมา ทุกคนชอบสบาย แล้วมันสบายจริงไหมล่ะ มันจะเป็นตามจริงไหมล่ะ มันไม่เป็นตามจริงหรอก ความเป็นจริงถ้าคนปฏิบัติได้จริงนะ ถ้าพระป่าที่เป็นสัจธรรมพูดตามความเป็นจริงนะ มันถูกหมด จะแกล้งพูดให้ผิดมันก็ถูกนะ คนพูดจริงคนรู้จริงถึงจะทำให้มันเผลอๆไผลๆ มันก็รู้ถึงว่าอย่างนั้นไม่ผิด แต่คนที่ไม่มีนี่จะพยายามแสดงตัวว่ารู้จริงขนาดไหน มันก็ผิด มันพูดไม่ถูกหรอก มันพูดไม่ถูกแล้วก็อ้าง เห็นไหม อ้างหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์บอกว่าให้ทำลายผู้รู้ แล้วพอพูดอย่างนี้ไปนะ เขาก็จะบอกว่า หลวงปู่ดูลย์พูดผิดอีก หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้พูดอย่างนี้ ตีความผิดอีกล่ะ

เวลาอ้างนะ เพราะเราไม่รู้จริง พอเราไม่รู้จริงแล้วเราพูดไป ครูบาอาจารย์ท่านพูดถูก หลวงปู่ดูลย์นี้พูดถูกนะ ตั้งแต่จิตส่งออกก็พูดถูก แต่เพราะเราไม่รู้จริง พอเราไม่รู้จริงเราตีความไม่ได้ พอเราตีความไม่ได้ เราก็พยายามเปลี่ยนแปลงสัจจะอันนั้นให้มาเป็นตามความเห็นของเรา เอาแต่ความเห็นของเรานี้เข้าไปเทียบ แล้วของที่จริงอยู่แล้ว นี่คือดึงฟ้าให้ต่ำ! แล้วเวลาเอามาอ้าง เวลาอ้างครูบาอาจารย์ ก็อ้างเป็นฐานขึ้นไป แต่ไม่ได้อ้างว่าครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างไร แล้วเรามีความเข้าใจในคำสอนของครูบาอาจารย์องค์นั้นจริงหรือเปล่า ถ้ามันจริงอย่างนั้น นี่ไงครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า “การลงใจ ถ้าใจมันลงมันจะไม่ฝืนนะ ฝืนอย่างนี้ไม่ได้”

แต่นี่พูดออกไปเพื่อหนุนความเห็นของตัว แต่ไม่ได้พูดด้วยความซาบซึ้งของตัว เพราะใจมันไม่เข้าถึงธรรม ถ้าใจมันไม่เข้าถึงธรรม มันจะกระด้าง มันจะไม่อ่อนโยน ถ้าใจเข้าถึงธรรมมันอ่อนโยนโดยธรรมชาติของมัน มันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันจะเป็นสัจธรรมของมัน ถ้าสัจธรรมอย่างนั้น เห็นไหม มันอันเดียวกัน มันต้องรู้กัน มันต้องเหมือนกัน

ถ้าเหมือนกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นความปกติของใจ แล้วเกิดสมาธิขึ้นมานี้สมาธิมันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ขาดสติปั๊บสมาธิจะมาเอง แล้วถ้าจงใจตั้งใจผิดหมด

ถ้าจงใจตั้งใจผิดหมด แล้วความเพียรชอบมีไว้ทำไม ความเพียรชอบ ความอุตสาหะ คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ไม่ใช่ความเพียรขี้ลอยน้ำ ความเพียรแบบเลื่อนลอยอย่างนั้นมันเป็นความเพียรขี้ลอยน้ำ เพราะมันตัดรากถอนโคน ตัดรากถอนโคนจิตของตัว

ทำลายนะ เหมือนหลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาเรามีบ้านมีเรือนใช่ไหม เผาบ้านเผาเรือนหมดเลย ทำลายบ้านเรือนตัวเองทำไม ทำลายบ้านเรือนตัวเองเพื่อจะได้มีพื้นที่ทำเกษตรกรรม ทำเกษตรกรรมไปทำไม ทำเกษตรกรรมขึ้นมาเพื่อจะมาปลูกบ้านเรือนนั้น ดูคนมันสอนสิ เรามีบ้านมีเรือนอยู่แล้วใช่ไหม ทำลายให้หมดเลย ทำลายไปทำไมล่ะ จะปรับพื้นที่ ปลูกแตงไง แล้วจะเอาแตงไปขาย ขายทำไมล่ะ ขายเพื่อเอามาปลูกบ้านเรือนอย่างเก่า

นี่! ทำลายผู้รู้ไง ไม่ต้องรักษามันไง

เรามีบ้านมีเรือนอยู่แล้ว เรามีสติอยู่แล้ว เรามีจิตอยู่แล้ว ถ้าเราทำสมาธิเราได้สมาธิอยู่แล้ว เราทำอย่างนี้เราพยายามทำของเรา แล้วก็รักษาของเรา เราจะปลูกพืชผักสวนครัวอย่างไรเพื่อเลี้ยงชีพก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ให้เจริญขึ้นมา

จิตใจเรามีอยู่แล้ว คนมันรู้จริงนะ มันจะไม่ทำลายบ้านเรือนของตัวเอง ทำลายทำไม ทำลายขึ้นมาเพื่อจะเอาพื้นที่ จะปลูกผักปลูกหญ้ามาขายเพื่อจะเอามาสร้างบ้านหลังใหม่

ไม่มี อย่าตัดรากถอนโคน อย่าทำลายจิตของตัวเอง จิตของตัวเองนี้สำคัญมาก เพราะจิตเห็นไหม จิตเป็นผู้ทุกข์ผู้ยาก จิตนี้เป็นภาชนะที่จะสัมผัสธรรม ถ้าสัมผัสธรรมได้จริง จะไม่พูดโกหกมดเท็จอย่างนั้น โกหกมดเท็จมาตลอด

สังโยชน์ขาด ขาดแล้วก็กลับมาอีก

แล้วแว็บก็เห็นนิพพาน ก็เป็นพระโสดาบัน

พระอรหันต์ไม่มีอะไรเลย พระอรหันต์เวลาจะนอนก็ตกภวังค์ไปเลย

พระอรหันต์ยังมีภวังค์อีกหรือ พระอรหันต์มีภวังค์ที่ไหน ภวังค์ไม่มี ภวังค์ไม่มีหรอก หนึ่งพระอรหันต์ไม่มีภวังค์ เพราะจิตมันพ้นออกไปแล้วนี้ เป็นวิมุตติแล้วไม่มีอะไรเลย เป็นสุขอยู่ในวิมุตตินั้น วิมุตติสุขไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าเป็นจิต เห็นไหม เราปฏิเสธตลอดเวลาว่าจิตไม่มี แต่เวลาพูดโดยสมมุติมันก็ต้องอ้างอิงไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านอ้างอิงว่าจิตเป็นอย่างนั้นๆ ท่านอ้างอิง แต่ไอ้คนไม่รู้นะ พอท่านบอกว่า จิตพระอรหันต์มันเป็นอย่างนั้นนะ มันก็สร้างภาพเลย นิพพานเป็นเมืองแก้ว เมืองแก้วมันก็คู่กับเศร้าหมอง สิ่งใดที่ยังพูดเป็นสมมุติได้ มันไม่ใช่ ถ้ายังพูดเป็นสมมุติได้ ไม่ใช่ มันพ้นออกจากสมมุติไปหมด เพียงแต่ว่าเวลาพระพุทธเจ้าพูดถึง เปรียบเทียบ ถ้าคนมีจริงจะเปรียบเทียบได้ ถ้าเปรียบเทียบได้มันจะเป็นความจริงได้ สิ่งที่เป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริง

เราพูดนี้เพราะพยายามจะอ้างอิงเอาทฤษฎีของวัดป่า ของครูบาอาจารย์มา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีสมาธิก่อน แล้วพอสมาธิออกมาแล้วนี่มันจะค่อยๆ ออกมา เราบอกว่าพุทโธเข้าไป จนจิตนี้ปล่อยวางหมด โลกธาตุนี้ดับหมด พูดอย่างนั้นเลยนะ ถ้าดับหมดแล้วค่อยๆ ออกมา พอออกมาแล้วจิตนี้กระทบ นี่เห็นไหม มันเป็นประเด็นทันทีเลย จิตนี้กระทบ จิตนี้มันเป็นแก้วหรือ แล้วสิ่งที่กระทบมันเป็นอะไรล่ะ อะไรกระทบกัน อะไรกระทบกัน

แต่ถ้ามันเป็นความจริง จิตเวลามันลงแล้วนะ มันออกมานี้ มันจับอย่างไร มันรู้อย่างไร จิตมันรู้นี่มันรู้ กระทบอย่างไร ถ้าจิตมันกระทบตามความเป็นจริง

มันบอกถึงว่า จำทฤษฎีมา แล้วพยายามจะพูดให้เหมือน แล้วไม่เหมือนๆ แล้วถ้ามันเหมือนนะ ย้อนกลับมาที่เขาบอกว่า เวลาจะทำสมาธินี้ต้องทำลายผู้รู้

ถ้าห้ามรักษาผู้รู้ คนๆ นั้นก็ไม่มีสมาธิ เพราะสมาธิเกิดบนผู้รู้ ถ้าเราไม่มีใครรู้ใครเห็นสมาธิจะเกิดตรงไหน ผู้ที่รู้สมาธิ มันรู้ชัดๆ เรื่องสมาธินี้ แล้วไม่มีผู้รู้เรื่องสมาธิ สมาธิมันจะเกิดบนอะไร ถ้าทำลายผู้รู้นี้ แล้วสมาธิมันจะเกิดบนอะไร

แต่พูดถึงถ้าเป็นนะ คนเป็นสอนมา ก็ต้องเริ่มต้นจากความไม่รู้ แต่เริ่มต้นจากไม่รู้แล้วก็ต้องทำให้มันชัดขึ้นมา สติชัดขึ้นมาทุกอย่างชัดขึ้นมา พอชัดขึ้นมามันจะเป็นความจริงของมัน พอชัดขึ้นมาแล้ว มันทำของมันไป แล้วมันเห็นสภาวะไป แล้วออกรู้อย่างไร แล้วภาวนามยปัญญาเกิดอย่างไร เห็นชัดเจนเลยว่าปัญญาอย่างที่เกิดขึ้นมานี้ มันเป็นปัญญาโลกียปัญญา มันเห็นชัดมาก

หลวงตาจะพูดเน้นมากนะ หลวงตาจะเน้นมากเลยว่า “ปัญญาสมองกับปัญญาจิต” หลวงตาเน้นมากว่า เวลาภาวนานี้ ไม่ใช่ปัญญาจากสมอง ปัญญาจากจิต ปัญญาเกิดจากกลางอก ไม่ใช่ปัญญาเกิดบนสมอง แล้วปัญญาที่เกิดจากกลางหัวอก ปัญญาที่เกิดจากจิตนี้มันเป็นอย่างไร

นี่คนรู้จริง แล้วผู้รู้มันอยู่ที่ไหน ผู้รู้อยู่กลางหัวอก แล้วปัญญาที่มันเกิดจากกลางหัวอกนี้ แล้วมันออกมาชำระกิเลส มันชำระอย่างไร ของอย่างนี้นะ เวลามันเป็นความจริงเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ท่านสอนท่านก็เห็นใจพวกเรา พวกเราประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าทุกคนประพฤติปฏิบัติแล้วจะได้รู้เหมือนกันหมด แต่เมื่อปฏิบัตินะมันจะแตกแขนงออกไป ใครมีความถนัด มีความคล่องตัว ในการดำเนินงานอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้วนี้ มันจะเหมือนกัน เหมือนกันจริงๆ อริยสัจมีอันเดียว อริยสัจไม่มีสอง จะมาช่องทางไหน ก็เหมือนกัน

สังเกตได้ไหม สมัยหลวงปู่มั่น แล้วพอมาถึงครูบาอาจารย์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่พรหม หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี เคยเถียงกันเรื่องมรรคผลไหม เคยเถียงกันไหม หลวงปู่ฝั้น ไม่เคยเถียงกันเรื่องมรรคผลเลย ทั้งๆ ที่ว่าหลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี พิจารณากายเหมือนกัน แต่พิจารณาไม่เหมือนกัน พิจารณาแตกต่างกัน เช่น หลวงปู่ขาวนี้ หลวงปู่ขาวพูดกับหลวงปู่เจี๊ยะบ่อยเลย “เจี๊ยะ ม้างกายหลายบ่ ม้างกายหลายบ่ ” หลวงปู่เจี๊ยะพูดให้ฟังประจำ “ม้างหลายๆๆ” นี่คนเป็นกับคนเป็นพูดกัน หลวงปู่ขาวถามหลวงปู่เจี๊ยะว่า “เจี๊ยะเอ้ย ม้างกายหลายบ่” หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “ม้างหลายครับ ม้างหลาย” แล้วม้างกายนี้ เอาอะไรไปม้างล่ะ คนเป็นกับคนเป็น เขารู้กันอยู่แล้ว

อย่างเช่น เราเป็นนักขับรถ เราจะรู้เลยว่าขับรถอย่างไร รถรุ่นไหน รถอะไรจะขับอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน “ม้างกายหลายบ่” ถ้าเราไม่มีจิต เราไม่มีอะไรไปม้าง เราไม่มีผู้รู้ไปม้าง จะม้างกันอย่างไร ใครเป็นคนม้างกาย ใครเป็นคนพิจารณากาย แต่ถ้าคนเป็น เห็นไหม “เจี๊ยะเอ๊ย ม้างกายหลายบ่” หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้เราฟังเอง “ม้างหลายหลวงปู่ ม้างหลายๆ” คือพิจารณามากๆ แล้วเอาอะไรพิจารณาล่ะ มันรู้ว่ามันพิจารณา เพราะว่าคนเป็นคือคนเป็น มันมีอะไรไปพิจารณา มันมีผู้รู้ไปพิจารณา เห็นไหม

หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี ครูบาอาจารย์เหล่านี้ นี่พิจารณากายกันทั้งนั้นเลย แล้วมันเหมือนกันไหมล่ะ ทางการประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนกันเลย เพราะต่างคนต่างมีความถนัดแตกต่างกัน แต่ผลล่ะ ทำไมเหมือนกัน ทำไมไม่มีใครบอกใครผิดใครถูกเลยล่ะ ทำไมผลมันเหมือนกัน

นี่พระป่าเขาสอนกันอย่างนี้ สอนกันแบบวุฒิภาวะที่จริง วุฒิภาวะที่จริงนี้ถึงที่สุดแล้ว ลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์จะไปอยู่ในที่เดียวกัน ที่ๆเป็นจริงเหมือนกัน มันถึงไม่มีความแตกต่างไง ไม่ใช่ว่าเราจะบอกว่า สอนแบบพระป่าแล้วก็พูดกันไป เริ่มต้นก็ผิดไปตั้งแต่เริ่มต้นเลย

ถึงบอกว่ามันไม่ใช่พระป่าหรือพระบ้าน มันไม่ใช่ว่าการปฏิบัติมันมีหลากหลาย มันมีถูกมีผิด

เราถึงบอกว่ามันมีพูดจริงกับพูดโกหกไง

มันมีพระป่ากับพระโกหก

ตอนนี้ มันไม่ได้บอกว่าสอนแบบพระป่าหรอก มันสอนแบบพระโกหก

จะจบนะ มันเป็นพระโกหกนะ เอวัง