ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฝึกปัญญา

๑ ม.ค. ๒๕๕๓

 

ฝึกปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต


ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันปีใหม่จะพูดเรื่องดี ๆ เรื่องดี ๆ เลยล่ะ มันก็มีนิดหน่อย มันมีนิดหน่อยที่จะต้องแก้ปัญหาอีกปมหนึ่ง แต่เอาตรงนี้ก่อน อันนี้น่าเห็นใจมาก เพราะเขาเข้าไปในเว็บแล้วไอ้เนี่ยลูกศิษย์เอามาให้ กระผมเป็นศิษย์แดนไกลที่แอบปฏิบัติ ได้ฟังธรรมคำสอนหลวงพ่อโดยดาวน์โหลดจากเว็บไซต์เห็นไหม ศิษย์แดนไกล มันเขียนมาฟังแล้วน่าสงสาร เราจะพูดแต่เรื่องดี ๆ เอาเลยนะ

ถาม : ผมมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ผมปฏิบัติสมาธิโดยภาวนาพุทโธ ผมทำแต่ละครั้งทำไม่มากประมาณ ๕-๑๕ นาที จะทำโดยภาวนาไปเรื่อย ๆ ไม่ได้กำหนดเวลาตายตัวบางครั้งที่นั่งทำเป็นรูปแบบ บางครั้งก็ภาวนาขึ้นมาเลยโดยไม่ต้องนั่งสมาธิ เช่นขับรถ นั่งหรือยืน ทำงานไปภาวนาไปก็มี แต่ไม่ได้ไปรบกวนงาน ทำในเฉพาะที่เห็นว่าขณะที่จิตมีความสงบ ความสุขสงบดี ผลที่ได้มีความสุขสงบมาก โดยเฉพาะตอนที่อยู่ในสมาธิ และตอนออกจากสมาธิใหม่ ๆ จิตจะทรงความสุขสงบได้ประมาณ ๕ นาที จากนั้นจิตจะลดระดับความสุขลงมา สุขลงไปสู่สุขน้อย ๆ หากไม่มีอารมณ์ หรือไม่มีใครมารบกวนจะทรงสุขน้อย ๆ ได้ตลอดไป จิตทรงความสุขสงบนี้ บางวันมีได้ตลอดทั้งวัน บางวันมีมาก บางวันมีน้อย ตรงนี้ผมไม่ได้ซีเรียสอะไร ได้ฟังหลวงพ่อว่าจิตมีความสงบแล้วก็ให้ออกด้านปัญญา ไม่ควรสุขทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ผมจึงมีปัญหาเรียนถามหลวงพ่อ หนึ่ง-สองปัญหานี้ เดี๋ยวจะแก้ปัญหาต่อไป

ตอบ : นี้จะพูดตรงนี้ว่าเป็นความดีก่อน เห็นไหมในการภาวนาเวลาจิตมันมีความสุขสงบ มันรู้โดยตัวของมันเองเห็นไหม สุขได้ทั้งวันก็ได้ สุขมาก สุขน้อยก็ได้ เนี่ยสุข สุขทรงตัวได้ ทั้งวันเลย นี่ไงเราเห็นความสุขที่เราภาวนากัน เนี่ยความสงบสุข ถ้าจิตมันสงบ มันมีความสุขของมันในตัวของมันอยู่แล้วนะ ถ้ามีความสุขสงบเราก็รู้ของเรานะ

ถ้าเรารู้ของเรา เราก็ต้องมีจุดยืนของเรา เราทำกันเพื่ออะไรล่ะ เพื่อความสงบสุขใช่ไหม มีคนไปถามหลวงตาบ่อยมาก ว่านิพพานเป็นอย่างไร วิมุตติสุข วิมุตติสุข สุขโดยไม่มีเวทนามันเป็นอย่างไร เราคาดกันไม่ได้ เราก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันพระบวชใหม่ ๆ จะบอกประจำเลย บอกว่าใครภาวนาได้แล้วจะเหมือนหนังจีนนะ จะเหาะเหินเดินฟ้าได้เหมือนมีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เหมือนหนังจีนเลย

แล้วพอปฏิบัติไปมันเป็นอย่างงั้นไหมล่ะ มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก สิ่งที่เป็นหนังจีนนะมันเป็นอภิญญา มันเป็นฌานโลกีย์ ถ้าเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าเป็นแบบหนังจีนนะ มันต้องมีได้แล้วเสื่อม ตัวเบาเหาะเหินเดินฟ้ามีได้ก็เสื่อมได้ ถ้ามีได้เสื่อมได้ ถ้าเราไม่มี ดูสิเราบอกว่า พ้นจากมาร เวลาพ้นจากมาร ไม่มีร่องรอย มันพ้นไปหมดเลย ไม่มีร่องรอยให้มารได้เห็นเลย

นี้การที่มันจะเหาะเหินเดินฟ้าได้ มันเหาะเหินเดินฟ้าด้วยอะไร ด้วยจิตมีกำลังของมันใช่ไหม ถ้าจิตมีกำลังของมัน มันมีได้มันก็เสื่อมได้ อะไรก็แล้วแต่ ที่มันมีขึ้นมาได้ก็เสื่อมได้ พอมีได้ก็เสื่อมได้เนี่ยบอกวิมุตติสุขมันเป็นอย่างไร สุขที่ไม่มีเวทนา สุขที่ไม่มีขันธ์มันเป็นอย่างไร ทุกคนไม่สามารถสุขแบบวิมุตติสุข สุขมาก ๆ สุขอย่างไร

เราจะย้อนกลับมาที่สงบนี่ไง ถ้าสุขสงบใครเป็นคนรู้ว่าสงบอย่างไร จิตใจที่สุขสงบมันสุขสงบมากขนาดไหน แล้วอะไรเป็นเครื่องยืนยันล่ะ แต่บอกว่าสงบ มันมีความสงบของเขานะ บอกว่าทรัพย์ที่เป็นทางโลกนะ ทางหนึ่งเป็นทรัพย์สมบัติทางโลก กับทรัพย์ในหัวใจมันแตกต่างกัน

นี้ด้วยจินตนาการของเรา ด้วยการคาดหมายของเรา…ว่าเรามีทรัพย์แล้ว เราต้อง โอ้โฮ… ทรัพย์ทางโลกใช่ไหม ตัวเลขมีมากเลย แก้วแหวนเงินทองมีมหาศาลเลย ทรัพย์สมบัติมีมากมายมหาศาลเลย คนนี้มีศักยภาพมาก ฉะนั้นคนมีความสุขก็ต้องเหาะเหินเดินฟ้า มันไม่ใช่ ความสุขสงบมันสุขสงบจากหัวใจ

อริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายในคาดไม่ถึง คาดไม่ได้ ฉะนั้นจิตเนี่ย การเวียนว่ายตายเกิดของจิตมันมาในวัฏฏะมา ดูสิดูช่างจิตรกรรมฝาผนังที่เขาเขียน สวรรค์ นรก เขาเขียนได้หมดเลย เพราะจิตมันเคยผ่านไง มันมีข้อมูลของมัน มันจินตนาการได้ ในวัฏฏะเนี่ยเราจินตนาการได้หมดเลย ตั้งแต่พรหมลงมา

แต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ใครจินตนาการได้ พอจินตนาการไม่ได้ก็ว่าง ๆ ว่าง ๆ ในโอ่ง ในไหก็ว่างไง มันก็ว่างในโอ่ง ในไห ว่างในอวกาศไง เนี่ยเพราะคนไม่รู้ ไม่เห็น ถ้าคนรู้เห็นความว่างที่ไม่มีเจ้าของ ความว่างที่มีมันจะว่างอย่างไร ทีนี้ถ้าพูดถึงความสุขอย่างนี้นะ เราบอกว่าเนี่ยโดยถ้าเราเป็นสามัญสำนึก ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแล้วพระพุทธเจ้าสอน ความสุขสงบสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี สุขใดในโลกนี้เท่ากับใจสงบไม่มี

แล้วพอใจมันสงบแล้วมันมีความสุขของมัน ถ้ามีความสุขของมันเห็นไหม…เนี่ยมีคุณค่ามากแล้ว ดูสิเวลาเราทุกข์ขึ้นมาเนี่ย เราวิ่งเต้นเผ่นกระโดดเพระเหตุใด เพราะจิตมันฟุ้งซ่าน เพราะมันจินตนาการ เพราะมันแสวงหา เดือดร้อนไปหมดเลย แล้วนี่มันทำจิตมันสงบแล้ว ไม่รบกวนหน้าที่การงาน

เวลาไม่ได้ไปรบกวนการงาน โดยเฉพาะหน้าที่ขณะที่จิตมีความสงบดี คนทำเนี่ย คนทำถ้ามันภาวนาเป็นสัมมาสมาธินะ มันไม่มีอะไรขัดแย้งหรอก ชีวิตประจำวันก็ปกติหน้าที่การงานก็หน้าที่การงานเราก็อยู่กับงาน พอหมดจากงานเราก็ทำพุทโธของเรา เราก็มีสติของเรา งานก็ไม่เสีย สมาธิ ปัญญาของเราก็ไม่เสีย ทุกอย่างก็ไม่เสีย อยู่ได้ปกติ

มันจะมีอะไรแปลกไปกว่านี้อีกล่ะ มันไม่มีอะไรแปลกไปกว่านี้เลย เนี่ย…ความสุข ความสงบอย่างนี้ถูกต้อง นี้ความถูกต้องแล้ว ทีนี้ด้วยคนเรามันมีความต้องการ พอมีความต้องการเห็นไหม มีความต้องการที่ว่ามีมากกว่านั้นเพราะอะไร เพราะความสงบเห็นไหม สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ แล้วสมาธิมันเสื่อมได้

ความเสื่อมเห็นไหม ดูสิเวลาในฤดูกาลต่าง ๆ มันก็แปรปรวนตลอดเวลา จิตของคน ความคิดของคนมันก็แปรปรวนตลอดเวลา สิ่งใดที่เราได้เสพ ได้สัมผัสบ่อยครั้งเข้ามันจืดมันสนิท มันจืดชืด มันก็ไม่ดูดดื่ม พอมันไม่ดูดดื่มขึ้นมา เนี่ย…มันไม่คงที่ เพราะสิ่งนี้มันยังเป็นอนิจจังอยู่ นี้เป็นอนิจจังอยู่ เนี่ย…เราทำไม่ได้ แค่นี้ก็เป็นฐานของความสุขพอสมควรอยู่แล้ว

แต่ถ้าจะให้เป็นความจริงขึ้นมา เราต้องออกใช้ปัญญา นี้ออกใช้ปํญญามันก็เหมือนพ่อแม่ พ่อแม่เวลาเห็นลูกใช่ไหมก็ต้องการให้ลูกยืนได้ ทรงตัวได้ ในชีวิตประจำวันของเขา ในความเป็นอยู่ของเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาแล้ว…

ถ้าวิปัสสนาญาณเข้าไป มันแก้ไขกิเลสเข้าไป มันจะทรงตัว มันจะเป็นเป็นอกุปปธรรม พอมันเป็นอกุปปธรรม คือเรามีเป้าหมายสิ่งที่แปรปรวนกับสิ่งที่ไม่แปรปรวน ถ้าเป็นอกุปปธรรมมันจะไม่แปรปรวน แล้วไม่ต้องรักษา มันคงที่ตายตัวเลย ถ้าคงที่ตายตัวการคงที่ตายตัวมันเกิดจาการกระทำของเราขึ้นไป จิตนี้สิ่งที่เป็นนามธรรมนี่

ดูสิความสุข ความทุกข์ อารมณ์ที่บีบคั้นใจเรามันก็เป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรมแท้ ๆเลย ทำไมเราสลัดมันไม่ได้ล่ะ อะไรที่มันฝังจิตฝังใจ มันจะเกิดบ่อย ๆแล้วบีบคั้นใจบ่อย ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นนามธรรม ทำไมเราสลัดมันไม่ได้ นี่สิ่งที่เป็นนามธรรมที่มันแปรปรวนไง พอมันแปรปรวน สมาธินี่เวลามันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็แปรปรวนเหมือนกัน พอแปรปรวนเหมือนกัน เราก็รักษาไว้ด้วยสติปัญญาที่ดีขึ้น มันก็มีความสุขสงบอย่างนี้ตลอดไป

แต่เรามันต้องมีความผิดพลาด คนเรานะดูสิ อย่างร่างกายเรามันต้องชราภาพเป็นธรรมดา สรรพสิ่งนี้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว บอกว่า…มันมีโอกาสไง ถ้าจิตมันสงบแล้วนี่ มันมีโอกาสที่จะใช้โลกุตรปัญญา คือการฝึกให้เกิดปัญญาขึ้นมา นี้เราถึงบอกว่า ได้ฟังหลวงพ่อว่าจิตมีความสุขสงบแล้วก็ให้ออกด้านปัญญา ไม่ควรสุขทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ผมจึงมีปัญหาเรียนถามหลวงพ่อว่า

ถาม : หนึ่ง การเดินปัญญานั้นไม่จำเป็นต้องให้จิตเป็นอัปปนาก่อนแล้วค่อยออกปัญญาใช่หรือไม่ครับ เพราะคาดเดาเอาจากที่หลวงพ่อว่าปัญญาอบรมสมาธิ และสมาธิอบรมปัญญา ผมจึงคิดว่าเมื่อจิตสงบในระดับหนึ่งก็ให้คิดพิจารณาออกทางปัญญา หนึ่งนะเดี๋ยวสองต่อไป

ตอบ : เนี่ยถูกต้อง การเดินออกทางปัญญานี่ ไม่ใช่ว่าถูกต้องตั้งแต่ตอนนี้นะ ถูกต้องมาตั้งแต่ทำสมาธิแล้ว ถ้าทำสมาธิถูกต้องขึ้นมา ธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าแสดงธรรมออกมาแล้ว จะไม่มีขัดแย้งกันเลย ธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไหลลื่นเป็นระดับ ๆ ๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์เลย ไม่มีอะไรจะขัดแย้งกันเลย ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ถ้าเป็นธรรมของกิเลสโดยความเห็นของเรา มันจะขัดแย้งกันไปตลอดเลย แล้วทำไปไม่ได้โดยข้อเท็จจริง (โดยข้อเท็จจริงไว้ไปพูดทีหลัง เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เดี๋ยววันนี้วันปีใหม่) นี้ถ้าเดินทางปัญญานี่เห็นไหม เดินทางปัญญาทำข้อเท็จจริง เราจะพูดถึงคำว่าต้องให้จิตเข้าอัปปนาก่อนหรือเปล่า ตรงนี้เป็นประเด็น เป็นประเด็นที่ทำให้คนหลงผิด

ฉะนั้นถ้าจะเข้าอัปปนาก่อนเนี่ยนะ เราจะรอเมื่อไหร่จิตจะเข้าได้อัปปนานะ ในความเห็นของเขา ความเห็นของเขาเขาก็พูดผิด พูดผิดตรงนี้ เราพุทโธ พุทโธ พุทโธเราพุทโธกัน พอจิตสงบแล้วค่อยออกปัญญาแล้วเมื่อไหร่ถึงได้วิปัสสนา แต่เวลาเขาบอกว่าต้องกำหนดดูไปเรื่อย ๆ จนจิตรู้ลักษณะหมดแล้ว ถึงลงอัปปนาแล้วปัญญาจะเกิดตอนนั้นเห็นไหม

คำพูดของเขาขัดแย้งกันเองในคำพูดของเขา คำพูดของเขาครั้งแรกติเตียนว่าการกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธกว่าจิตจะสงบเมื่อไหร่จะได้ออกวิปัสสนา คนที่กำหนดพุทโธนี่ สมถะนี่จะทิ้งชีวิตทิ้งไปเปล่า ๆ แต่เวลาเขาพูดเห็นไหม ถ้าจิตมันจะสงบ จิตมันจะเป็นโลกุตรปัญญาต้องลงอัปปนา ตรงนี้วางไว้ก่อนแล้วเดี๋ยวเราจะยกให้เห็นว่ามันขัดแย้งกันอย่างไร

แต่ถ้าเป็นความจริงนี่นะเป็นความจริง เพราะปัญญามันเริ่มต้น พระพุทธเจ้านะ โอ้โฮ!สุดยอดจริง ๆ สุดยอดจริง ๆ ตรงเวลาที่ธรรมพระพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมขึ้นไป ยสะ มันมีบารมีมาอยู่แล้ว ยสะนะ พระยสะเห็นไหม มีบ้าน ๓ หลังเหมือนพระพุทธเจ้าเลย แล้วมันลูกชายคนเดียว แล้วจิตใจมันสร้างบุญญาธิการมาเหมือน…

หลวงตาบอกว่าผลไม้มันแก่ มันจะหลุดจากขั้วอยู่แล้ว คือบารมีมันเต็ม นี่นะพระพุทธเจ้าออกไปประพฤติปฏิบัตินะ ๖ ปี ๖ ปีพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เห็นไหม แล้วตรัสรู้แล้วเผยแผ่ธรรมมา แล้วมาเดินจงกรมอยู่ พระยสะเนี่ย ยสะอยู่ในบ้านนะ ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ มีปราสาท ๓ หลัง มีทุกอย่างพร้อม สมบัติมหาศาลเลย ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่เดือดร้อนหนอเห็นไหม

เพราะบารมีเต็มไง เดินออกมาบ่นมาเรื่อย หนีออกจากบ้านมาบ่น ที่นี่เดือดร้อนหนอ มันอึดอัด อัดอั้นตันใจ พระพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่นะ “ยสะ ที่นี่ไม่เดือดร้อน ที่นี่สุขสงบ มา ยสะมา” พระพุทธเจ้าเทศน์ปั๊บเป็นโสดาบัน พ่อแม่มีลูกคนเดียว โอ้โฮ ออกตามหาลูกไง พระพุทธเจ้าบังไว้ก่อนเห็นไหม เทศน์ครั้งที่สอง ยสะเป็นพระอรหันต์เลย

พระยสะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมานะ แล้วเพื่อนนะมีเป็นหัวหน้า เป็นกลุ่มมีมาอีกสี่สิบเก้าอะไรเนี่ย ทั้งสี่สิบเก้า ทั้งยสะด้วย ทั้งปัญจวัคคีย์ ทั้งพระพุทธเจ้าเป็นหกสิบเอ็ด ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหมดพ้นบ่วงจากบ่วงที่เป็นโลก และบ่วงที่เป็นทิพย์ บ่วงที่เป็นโลกคือโลกธรรม ๘ คือสรรเสริญ นินทา อยากใหญ่ อยากโต บ่วงที่เป็นโลก ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทาเนี่ยบ่วงที่เป็นโลก บ่วงที่เป็นทิพย์ บ่วงที่เป็นทิพย์นะ สวรรค์ พรหมนะ บ่วงที่เป็นทิพย์

เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและพ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์ เธอจงอย่าไปซ้อนทางกัน แยกทางกันไปเพราะโลกนี้เร่าร้อนนัก นี่พูดถึงพระพุทธเจ้าจะเทศน์สอนผู้มีบารมีเห็นไหม พอเทศน์ปั๊บอริยสัจเนี่ย เป็นพระอรหันต์เลย แต่เวลาพวกประชาชนทั่วไปเห็นไหม พระพุทธเจ้าไม่เทศน์อริยสัจนะ พระพุทธเจ้าไม่เคยเทศน์อริยสัจ อนุปุพพิกถาทั้งนั้นเลย เทศน์ระดับของทานไง เตรียมความพร้อมไอ้พวกเราขี้ทุกข์ขี้ยาก จิตใจมันยัง… พรุ่งนี้จะเอาอะไรใช้ พรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน ลูกที่จะใช้จ่ายจะใช้สอย มันไปติดนั่นหมดเห็นไหม เทศน์อริยสัจไปนะ อริยสัจกินไม่ได้ เงินทองกินได้

พระพุทธเจ้าถึงเทศน์ เทศน์เรื่องของการทานก่อน เรื่องของศีล พูดเทศน์จนจิตใจมันควรแก่การงาน พอควรแก่การงานในอริยสัจ พระพุทธเจ้าถึงเทศน์เรื่องอริยสัจ เพราะอริยสัจ คำว่าอริยสัจหมายถึง จิตมันพัฒนาการเข้ามาสู่อริยภูมิ อริยสัจนะถ้าเป็นใหม่ ๆ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลขึ้นไปเลย

แต่ก่อนที่จะเข้าไปสู่อริยมรรคเห็นไหม จะเทศน์เรื่องของทาน เรื่องของอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้เทศน์เรื่องอริยสัจทั่ว ๆไปเห็นไหม ถึงว่าพระพุทธเจ้าเนี่ยสุดยอดมาก ฉะนั้นประชาชนในการประพฤติปฏิบัติของเรา จะปฏิบัติแล้วเข้าถึง มรรคผล นิพพานเลย เอาที่ไหนมาเข้า ถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมของเราก่อน

การเตรียมความพร้อมนั่น เรื่องของการทำทาน เรื่องของการเสียสละเนี่ยเพื่อความใจพร้อม ดูสิเรามาทำบุญกุศลกัน จิตใจเราก็ไม่เท่ากัน ความเห็นต่างกัน บางคนอยากมานั่งสงบ ๆ บางคนอยากมานี่อยากได้บุญมาก ๆ บางคนมาถือถ้วยชามแล้วไม่ประเคนสักที บางคนพระไม่มองหน้าฉัน พระไม่รับเห็นไหม เนี่ยมันแตกต่างขนาดเนี้ย

แล้วทุกคนภาวนาบอกว่าจะได้นิพพาน นิพพาน นิพพานหมด มันเป็นไปไม่ได้เลย พอมันเป็นไปไม่ได้เลยนะ มันก็ต้องพัฒนาตรงนี้ไง จิตควรแก่การงาน พระพุทธเจ้าบอกจิตของคนเหมือนดิน ดินจะปั้นหม้อ ปั้นไห ต้องนวดต้องตบแต่งต่าง ๆให้มันพร้อมของมัน การพร้อมของมันนะ การพร้อมของมัน เนี่ยจะเทศน์เรื่องอริยสัจเขาต้องรู้กับเรา พูดออกไปเขาต้องรู้กับเรา ไม่ใช่เราพูดอยู่โครม ๆ ๆ นะ เขาบอกว่าจะกลับบ้าน จะกลับบ้าน บ้าน..ยังไม่ได้เก็บ… แล้วมันจะเข้าใจอะไรกันได้

ก็อยู่กันที่ตรงนี้ ตรงที่ว่าเดินปัญญาเนี่ย ปัญญาระดับของการมีความศรัทธา ศรัทธาความเชื่อเห็นไหม ศรัทธาคืออะไร ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม เกิดมาต้องตายแล้วสมบัติหาไว้ให้ใคร แล้วสมบัติจะหาไว้ให้ใคร มันคิดแล้ว อื้ม.. มรณานุสสติจะเกิดนะ พอเกิดขึ้นมา แล้วชีวิตนี้ของใครล่ะ แล้วอย่างนี้นี่เป็นปัญญาหรือยัง ปัญญาเกิดหรือยัง นี่ฝึกปัญญาไง

นี่ปัญญาในระดับพื้นฐานเห็นไหม ถ้าปัญญาพื้นฐานมันมี มันจะพัฒนาของมันขึ้นมา พอจิตมันสงบเราพอเห็นโทษแล้ว สมบัตินี้เป็นสมบัติสาธารณะ แล้วสมบัติส่วนตนมันอยู่ที่ไหน สมบัติส่วนตนใครเป็นเจ้าของมัน สมบัติของเรานะ เช่น อสังหาริมทรัพย์นะเราต้องลงทะเบียน ต้องมีการโอนย้ายเป็นเจ้าของสิทธิมัน

แล้วสมบัติของเราเนี่ยอะไรเป็นเจ้าของมัน แล้วใครเห็นเจ้าของมัน เจ้าของสมบัติที่เป็นบุญกุศลใครเป็นคนเห็นมัน แล้วผู้ที่ได้รับมันอยู่ที่ไหน ทำบุญกุศลกันไปนะ อุทิศส่วนกุศลนะ เจ้ากรรมนายเวรนะ เนี่ยฝากไปกับอริยสัจ ฝากไปกับสัจจะความจริง ทำบุญนี่ไม่ใช่พระส่งนะ ความเป็นจริงมันส่งที่สัจจธรรมอันนั้นมันส่ง

ในเมื่อเราทำสิ่งนั้นแล้ว จิตใจเราเป็นธรรม จิตใจเราเป็นผู้เสียสละ เราจะให้เจ้ากรรมนายเวร ปู่ย่าตายายของเราอุทิศส่วนกุศลนั้นไป แล้วถ้าเป็นบุญกุศลของเราล่ะ เแล้วใครอุทิศล่ะ แล้วมันมาจากไหน มันมาจากไหนแล้วใครเป็นเจ้าของมัน นี่ไงอริยภูมิมันอยู่ที่ไหน บุญกุศลของเรานะ เราต้องอุทิศส่วนกุศล เจ้ากรรมนายเวรถึงจะได้รับส่วนกุศลนั้น

ส่วนกุศลนั้นเพราะอะไร เพราะใจดวงนี้ นี่โทรจิต จิตที่ส่งไปอีกดวงที่เสียไปแล้ว แล้วจิตของเราล่ะ เห็นไหมจิตของเราอยู่ไหน เนี่ยมันตั้งสตินะ จิตของเรามันไม่เห็นเลย ถ้าไม่มีคำบริกรรม ไม่มีปัญญาอบรมสมาธิ นี่ปัญญามันเกิดเป็นชั้น ๆ เห็นไหม ปัญญามันไล่ไปมาเรื่อย ๆ เห็นไหม ถ้าปัญญามันไล่เข้ามา อืม.. อุทิศส่วนกุศลเป็นคนอื่นไม่เคยอุทิศส่วนกุศลให้ตัวกูเองเลย

ทำบุญทุกวันเลย แล้วใครเป็นเจ้าของมันวะ ไม่เคยเห็นใครเป็นเจ้าของบุญเลยนะ เอ้า แล้วบุญนี่มันเกิดที่ไหนนะ พุทโธ พุทโธเข้ามาเห็นไหม มีปัญญาไล่เข้ามา นี่ปัญญาเกิดแล้วนะ นี่ฝึกปัญญานะ ปัญญามันฝึกมาตั้งแต่เริ่มต้นเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา เนี่ย..ปัญญาโลกียปัญญา ปัญญาเนี่ยไม่ใช่ภาวนามยปัญญา โลกุตรปัญญา มันจะเกิดขึ้นมาลอยมาจากฟ้า ไม่มี

มะม่วงสุกมันมาจากมะม่วงดิบ โลกุตรปัญญามันจะเกิดมาจากโลกียปัญญา โลกียปัญญามันเกิดมาจากกิเลส กิเลสมันเกิดที่ไหน กิเลสมันอยู่บนฐีติจิต อยู่บนจิต เพราะจิตดวงนี้มันโดนกิเลสมันครอบงำอยู่ มันถึงได้ทุกข์ได้ยาก นี้พอจิตมันทุกข์ยากมันก็เป็นธรรมชาติของมันใช่ไหม พอมีปัญญาไล่กลับเห็นไหม

มีปัญญาไล่กลับมันก็หดสั้นเข้าไป หดสั้นเข้าไป มันไปสู่พื้นฐานเดิมของมัน สู่พื้นฐานเดิมของจิตเห็นไหม จิตถ้ามีปัญญาไล่เข้าไป จิตกลับไปสู่พื้นฐานของมัน ถ้าไปสู่พื้นฐานของมัน นี่ไง นี่เจ้าของบุญไง เฮ้ย..ใครเป็นเจ้าของบุญวะ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เขาแล้วกูเอาบุญที่ไหน กูไม่เห็นมีบุญเลย พอมันเข้ามา พอจิตมันสงบ โอ้โฮ.. อ๋อ..ไอ้ที่ว่าจิตนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขารู้ แล้วมันเป็นอย่างไร

มันเห็นขึ้นมา พอมันเห็นขึ้นมา พอเห็นอย่างนี้ เนี่ยพัฒนาการของจิต จิตมันพัฒนาการ เพราะมันรู้ โอ้โฮย…เราเที่ยวไปดูทรัพย์สมบัติของคนอื่นนะ เราไปเห็นเรายังทึ่งเลย แล้วเรามีทรัพย์สมบัติขึ้นมาบ้างแล้วทำไมเราไม่พึ่งสมบัติของเรา เนี่ย..ถ้ามีทรัพย์สมบัติของเราแล้ว เรามีตัวตนแล้ว อ๋อ.. ต้นขั้วบัญชีมันอยู่นี่

ต้นขั้วบัญชีทั้งหมด ฐีติจิต ปฏิสนธิจิตนี้มันเวียนเกิดเวียนตายมาในวัฏฏะ พระโพธิสัตว์ก็ปฏิสนธิจิตนี้ก็เวียนตายเวียนเกิดมา ข้อมูลทั้งหมดมารวมลงอยู่ฐีติจิตนี้ เวลาคนเข้าถึงความสงบของจิตนี้ มันเข้าไปเปิดข้อมูล เปิดโปรแกรม มันรู้อดีตชาติได้หมดเลย อดีตชาติสะสมที่นี่ ไม่ใช่จิตวิญญาณที่เรารับรู้อายตนะนี่หรอก

อายตนะที่รับ ๆ นะ วิญญาณเนี่ยตา หู จมูก ลิ้น กายนี่อายตนะ วิญญาณในอายตนะไม่ใช่วิญญาณในฐีติจิต วิญญาณในฐีติจิต อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง วิญญาณในปฏิสนธิจิต วิญญาณในอายตนะ โอ๋ย.. คนละเรื่องเลย.. หยาบ ละเอียดต่างกันราวฟ้ากับดินนะ

ถ้าคนภาวนาเป็นเห็นไหม ดูสิธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เคยขัดแย้งกันเลย มันเป็นสเต็ปขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ขึ้นมาเลย แล้วขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ขึ้นมา พอมันเห็นของมันขึ้นมาเห็นไหม พอมันรู้ เนี่ยรู้ว่าบุญของกูอยู่นี่นะ.. โอ้โฮ! เราอยู่ที่นี่นะ นี่รามีความสุขหรือยัง มีความสุขมาก ๆ พอมีความสุขเห็นไหม ความสุขเกิดจากความสงบแล้วให้ใช้ปัญญาอย่างไรล่ะ

หลวงพ่อบอกว่า อย่าให้สุขทิ้งไปเปล่าประโยชน์ไง เวลาเราทุกข์นะ เราก็ไปหาที่อยู่ที่อาศัย เราก็พยายามเอาตัวเรารอดจากกิเลสให้ได้ เราก็ใช้ปัญญากัน อู้หู.. ตะบี้ตะบัน อู้หู.. ปัญญาหมุนใหญ่เลย ปัญญากิเลสก็บี้ไปใหญ่เลย แล้วก็ทุกข์กันอยู่นี่ ปฏิบัติไม่ได้เรื่อง พอเราสุขขึ้นมานี่ ทำไมเราไม่ใช้ปัญญาล่ะ ใช้ปัญญาสิ

เวลาเราทุกข์ขึ้นมาดิ้นรนจะเอาตัวรอดให้ได้ เวลาสุขขึ้นมามันก็ต้องใช้ปัญญากัน เพราะสุขแล้วจะติดสุขหมด ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม ถึงบอกไม่ให้พระติดสุข ถ้าพระติดสุขนะ มีตู้เย็นมีเครื่องยนต์กลไก มันธุดงค์ไม่ได้แล้ว ออกจากตู้เย็นไปไม่ได้หรอก ไม่มีตู้เย็นจะกิน.. ไม่ให้ติดสุข

ขนาดโลกนะ หลวงตายังไม่ให้ติดสุข ไม่ให้เข้ามาเลย เครื่องยนต์กลไกไม่ให้เข้ามากับพระเลย ให้พระนี่ยืนตัวอยู่ได้กับธรรมชาติอย่างนี้ แล้วจะออกไปวิเวกเมื่อไหร่ก็ได้ จะอยู่ที่ไหนก็ได้ คนอย่างเรานี่นะเคยสุขเคยทุกข์มาแล้ว จะทุกข์อีกเท่าไหร่ มันก็ไม่กลัว คนอย่างเราติดสุขติดแต่ความสุขอย่างนี้ ไม่เคยออกไปเผชิญหน้ากับความทุกข์ ไม่กล้าไปเจอกับสิ่งใดเลย มันจะเจอความจริงได้อย่างไร มันก็เจอความจริงโดยความนึกคิดไง

เขาไปธุดงค์กันมา เขาเอาหนังสารคดีมาฉาย เออกูก็ไปกันมาอย่างเนี้ย อย่างเนี้ย.. คิดตามเขาไป ว่ากูไปธุดงค์มาแล้วไง ทั้ง ๆ ที่เขาไปธุดงค์… ธุดงค์เพื่อหาจิตนะ วิ่งไปตั้งรอบเลยเข้าป่าเข้าเขาเลย ไปหาต้นไม้เหรอ ไปหาอากาศเหรอ ไม่ใช่ ไปหาใจตัวเอง ไปหาต้นขั้วบัญชีว่าสุขทุกข์มันอยู่ไหน บุญกุศลมันอยู่ที่ไหนนะ แล้วพอเจอของมันใช่ไหม พอเจอเข้ามาแล้วเนี่ย…

ถ้าปัญญามันเกิดจากที่นี่ แล้วมันจะไม่ออกใช้ปัญญา ถ้ามันไม่ออกใช้ปัญญาเพราะอะไร เพราะเรามันร้อนนัก เนี่ยเราเข้ามาหลบในร่ม เราจะออกไปตากแดดอีกไหม ไม่มีใครอยากออกไปตากแดดหรอก โอ้โฮ.. ตากแดดแสนร้อนเลย พอเข้าร่ม เออ.. จบแล้วไม่ออกอีกแล้ว แต่ไม่ออกอีก ร่มเนี่ยเดี๋ยวมันก็ล่มสลายไป

ถ้ามันออก…มันทำโดยความคิดความเห็นมันเป็นอย่างนั้น ถ้าออกทำนะ ออกตรึกในธรรมนี่แหละ ตรึกในธรรม ถ้าตรึกในธรรมเนี่ยแหละ…ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงเหมือนคนนี้มีวาสนา พอจิตสงบขึ้นมามันเห็นเลยนะ เห็นกาย เห็นเป็นอวัยะ แล้วเห็นมาก เพราะลูกศิษย์มาพูดให้ฟังเยอะแยะไปหมดล่ะ คนนั้นเห็นเป็นอย่างหนึ่ง คนนี้เห็นเป็นอย่างหนึ่ง เห็นกันแตกต่างหลากหลายมากเลย

แล้วถ้าเห็นจริงนะ เห็นจริงบอกว่าจริงเพราะอะไร จริงเพราะเขาทึ่ง… ความจริงนี่!มันคนที่ไม่เคยพบสิ่งที่เราคาดหมายไม่ถึงแล้วพอไปพบสิ่งนั้น แปลกใจไหม คนที่ไม่เคยคาดหมายเลยว่าเราเจอสิ่งนี้ได้แล้วเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน โอ้โฮ…เนี่ยเห็นกาย เห็นกายเห็นโดยสัจธรรมเห็นอย่างงั้น ไม่ใช่เห็นโดยที่เราคิด

แต่ถ้าสิ่งนี้เกิดไม่ได้แล้วทำอย่างไร ก็มันไม่เกิด ไม่เกิดสักทีเลย แล้วเมื่อไหร่มันจะเกิด ไอ้สิ่งที่คาดหมายไม่ได้มันไม่เห็นมันเกิดสักที อย่างที่เขาพูดข้อที่สองเห็นไหม เขาบอกว่า…

ถาม : ข้อที่สอง เนี่ย…การเดินปัญญาของผม การพิจารณากายก็คิดแบบดิบ ๆ เลยนี่ใช่ไหม

ตอบ : ใช่ ถ้ามันไม่เกิดให้คิดแบบนี้ ให้คิดมันขึ้นมาก่อน แล้วคิดอย่างนี้เป็นสัญญา ก็หลวงพ่อต่อต้านหมดเลย สัญญาไม่ได้ สัญญาไม่ได้ แล้วนี่เป็นสัญญาทำไมมันได้ล่ะ สัญญาไม่ได้ต่อเมื่อขบวนการมันจะจบเนี่ยไม่ได้ แต่เริ่มต้น ถ้าเราไม่บอกสมมุติมีจริง ทุกอย่างมาจากสมมุติ เริ่มมาจากสมมุติ มะม่วงสุกมาจากมะม่วงดิบ จิตใจมันจะสุขขึ้นมามันมาจากใจดิบ ๆ เนี่ย จิตใจดิบ ๆ มันคิดไม่เป็นใช่ไหม เราก็คิดธรรมของพระพุทธเจ้าไง สัญญาไง คิดดิบ ๆ

ไม่เห็นกาย กูก็ตั้งขึ้นมา กะโหลก มึงทำไมมึงไม่รู้จักวะ กะโหลกกูก็รู้จัก กูก็ตั้งกะโหลกกูขึ้นมานี่ไง กูก็พิจารณากะโหลกกูอยู่นี่ ทำไม.. เอ้า พิจารณาไปแล้วมันสลดไหมล่ะ เออ... นี่ถูกต้องพิจารณาดิบ ๆ เนี่ยแหละ พิจารณาดิบ ๆ ให้มันเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ให้กิเลสนะ ฟังนะ ถ้ากิเลสมันจะหลอกเห็นไหม เราไม่ได้เห็นด้วยจิตเรานะ พอเราเห็นด้วยกิเลสใช่ไหม พอจิตมันสงบแล้วจิตมันเป็นอะไรแล้วมันสร้างภาพขึ้นมา สร้างภาพขึ้นมาเราก็ตามมันไป เหมือนกับการตกทอง การตกทองเนี่ยเรามีทองคำอยู่ในคอเรา แล้วพวก ๑๘ มงกุฎมันก็เอาทองเส้นใหญ่มาวางไว้ข้างหน้า แล้วมันก็เจอทองด้วยกัน อยากได้เส้นใหญ่ไหมแบ่งกัน เราอุตส่าห์เอาทองเส้นเราให้เขาไป แล้วเอาทองปลอมมาเพราะเส้นมันใหญ่กว่า

กิเลสมันสร้างเป็นกายไง กิเลสมันสร้างเป็นกาย พอกิเลสสร้างเป็นกาย…กับ…เรานึกกาย กิเลสสร้างหรือเปล่า เรานึกกายเนี่ย… สัญญาดิบ ๆ เนี่ย…เรานึกกายเหมือนกัน แต่ถ้ากิเลสสร้างกายเนี่ย…เราไม่เข้าใจ ไปตามมันนะ นั้นนะกิเลสมันสร้าง พอกิเลสมันสร้างพอเราตามไปเนี่ย…ตกทอง ทองคืออะไร

ทองคือสมาธิของเราไง ทองคือรากฐานของจิตนี้ไง เราปลดรากฐาน ปลดสมาธิ ปลดสติของเรา ยกขึ้นให้กับ ๑๘ มงกุฎไปหมดเลย ๑๘ มงกุฎคือกิเลส แต่สัญญาดิบ ๆ เราว่าเป็นความคิดดิบ ๆ เนี่ย.. เราว่าเราพิจารณา กายดิบ ๆเนี่ยมันเป็นกิเลสไหม มันไม่เป็นกิเลสเพราะอะไร เพราะเราตั้งใจคิด

เราตั้งใจคิดเพราะมันไม่มีงาน ไม่มีการกระทำ เราตั้งใจคิด เราเป็นกิเลส เราเป็นคนตั้งใจคิด เรารู้ เราเป็นคนกระทำ ถ้าเราเป็นคนกระทำ ผิดชอบชั่วดีคือเรา ถ้าทำได้เราเป็นคนทำ ผลงานมันจะเกิดขึ้นมา มันก็จะเป็นปัญญาที่ละเอียดไปเรื่อย ๆ เพราะเราเป็นคนทำ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ เราไม่ได้ทำเลย เราก็ไม่มีการฝึกฝนเลย ปัญญาของเราจะก้าวเดินอย่างไร “นี่คือการฝึกปัญญานะ”

การฝึกปัญญา การก้าวเดินไปทางปัญญา มันเป็นการฝึกฝนทั้งหมด ครูบาอาจารย์พูดประจำ ปัญญาไม่มาจากฟ้า ปัญญาเกิดเองไม่ได้ ถ้าปัญญาเกิดเองเป็นกิเลสหมด เป็นปัญญากิเลสหมด เพราะจิตของเราเป็นกิเลสอยู่แล้ว ถ้าปัญญาเกิดเองเป็นปัญญากิเลสหมดเลย แต่ที่เราฝึกปัญญาขึ้นมา ถึงมันจะเป็นดิบ ๆ แต่จิตมันสงบเราเป็นคนฝึกมันเอง

ทองคำแท้ ๆ เราจะต้องหาเงินหาทองมาไปแลกเอาทองคำมาเป็นของเรา ๑๘ มงกุฎมันเอาทองคำปลอมมาหลอกเรา นี้ทองคำแท้กับทองคำปลอมก็ทองเหมือนกัน สีทองเหมือนกัน แต่คุณภาพทองไม่เหมือนกัน ทองหนึ่งมีคุณประโยชน์ อีกทองหนึ่งใช้ประโยชน์ไม่ได้

ฉะนั้นการฝึกปัญญาต้องฝึกอย่างนี้ คิดดิบ ๆ นี่คิดไปเรื่อย ๆ ลูกศิษย์มาหาเหมือนกัน เนี่ย…ผมปฏิบัติแบบหลวงปู่เจี๊ยะ ผมก็ตรึกในกระดูกนี่ ผมก็หมุนในกระดูกนี่เป็นชั่วโมง ๆ เนี่ยถูกไหม.. “ถูก” เห็นไหมคิดดิบ ๆ ไหม คิดดิบ ๆ ไหมตรึกในกระดูกนี่ เนี่ยเป็นตลอดเวลา เป็นชั่วโมง ๆ อยู่ในกระดูก ตรึกในกระดูกนี่คือว่าเราเอาปัญญาเดินตามข้อกระดูกไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็จะหมุนอยู่ในกระดูก แต่เป็นชั่วโมง ๆ ได้ไหม

ถ้าได้… ถ้าได้นี้คืออะไร นี่คือสมถะเห็นไหม คำว่าสมถะมันดิบ ๆ ไง คำว่าสมถะคือว่าเราเป็นคนคิดไง เราเป็นคนบังคับให้ความคิดเราให้มันอยู่ในข้อกระดูกเหมือนพุทโธนี่ พุทโธคือจิตมันเกาะพุทโธไว้ แต่ถ้าเราเอาจิตของเราไปตามข้อกระดูก ตามข้อกระดูกมันเป็นอะไร มันเป็นอัฐิ เห็นไหมมันเป็นกระดูกแล้วจิตเราอยู่กับกระดูกตลอดไป

มันก็เหมือนจิตนี่เกาะกับพุทโธไว้นี่แหละ แต่มันเกาะกระดูกไว้ไปเรื่อย ๆ จนจิตมันละเอียดขึ้นมา พอจิตละเอียดมันเกาะกระดูกไปอีกนะ หลวงปู่เจี๊ยะพูดบ่อยว่า เวลาจิตมันเดินตามกระดูกไปในโครงสร้างของร่างกายเรา ถ้าเป็นชั่วโมง ๆ เนี่ยมันเป็นสมถะนะ มันเป็นสมถะ แต่มันทำซ้ำไป ซ้ำไป ซ้ำไป เพราะจิตมันละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ มันจะเป็นวิปัสสนาขึ้นมา

วิปัสสนาตรงไหน วิปัสสนาตรงจิตรู้ จิตที่เรานึกแล้วบังคับมัน มันบังคับทีแรกจะขืนมาก พอบังคับได้เป็นชั่วโมง ๆ จิตเนี่ยเหมือนสัตว์พยศ จิตมันพยศ เราพยายามควบคุมมัน สัตว์พยศ ควบคุมจนเราฝึกสัตว์พยศนี้ มันอยู่ในอำนาจของเรา มันใช้งานได้ อย่างวัวอย่างควายที่มันไถนา มันจะมีคุณค่ากว่าวัวควายที่ยังไม่ได้ฝึก

จิตใจที่มันฝึกแล้วมันปราบพยศ จากทีแรกมันพยศมันจะไม่อยู่ในนี้ เราก็บังคับมัน นี่สมถะคือฝึกมัน พอฝึกมันพอจากวัวควายที่มันพยศมันฝึกไม่เป็น จนเป็นวัวควายที่ใช้งานได้วัวควายที่ใช้งานได้เนี่ยเขาเอาลงไปไถนามันจะได้ข้าวได้ปลาอาหารมา เห็นไหม พอบังคับให้อยู่ในร่างกาย มันเป็นสมถะ

คือว่ามันพยศ บังคับมัน ฝึกให้มันใช้งานเป็น บังคับให้มันไถนาเป็น ฝึกมันจนมันไถนาเป็น พอมันไถนาเป็นขึ้นมาแล้วนะ ไถนาเป็น เขาไถนาเพื่ออะไร ไถนาเพื่อหว่านข้าวหวังผลจากพืชผลการเกษตรนั้น จิตถ้ามันอยู่ในกายไปเรื่อย ๆ เห็นไหม มันฝึกของมันเนี่ยเพราะมันอะไร… เพราะจิตมันวนอยู่ในร่างกายเห็นไหม

มันฝึกให้จิตนี้มันไม่ออกนอกลู่นอกทางเห็นไหม มันไม่แฉลบ มันไม่ปลิ้นออกเห็นไหมเพราะวัวควายมันซื่อสัตย์ มันอยู่ในทางของมัน พอทางของมัน มันทำบ่อยครั้ง บ่อยครั้งเข้าจะชำนาญเข้า ชำนาญเข้า ถ้าพิจารณาจิตบ่อย ๆ เข้า จิตมันรู้ที่ว่าทำไมถึงเป็นสมถะ ทำไมถึงวิปัสสนา

เป็นสมถะเพราะจิตมันเริ่มสงบเข้ามา สงบเข้ามา มันควบคุมง่ายเข้ามาเป็นวิปัสสนาเป็นวิปัสสนาเพราะมันเห็นโครงกระดูกใสขึ้น เห็นโครงกระดูกแจ่มชัดขึ้น เห็นโครงกระดูกดีขึ้น แล้วผู้เห็นมันถอดถอนไปเรื่อย ๆ มันถอดถอนไปเรื่อยเห็นไหม มันแตกต่างกัน “เนี่ย…ปัญญามันจะเกิดอย่างนี้”

นี้การออกฝึกใช้ปัญญานี่ มันต้องใช้ปัญญา ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตสงบแล้วก็เหมือนกัน เราตรึกในธรรม ตรึกในธรรมนี่แหละ ไม่มีอะไรมหัศจรรย์หรอก ตรึกในธรรมนี่แหละ ยิ่งตรึกในธรรม จิตสงบยิ่งตรึกในธรรม จิตยิ่งละเอียดขึ้น แล้วยิ่งลึกซึ้ง ทำไมมันปัญญาอย่างนี้ เมื่อก่อนมันไม่เกิดน้า ก็คิดเหมือนกันนะ

เมื่อก่อนคิดก็คิดอย่างนี้ แล้วตอนนี้ก็คิดเหมือนกันเลย ทำไมตอนนี้มันดีกว่าตอนนั้นนะ เอ้า.. ตอนนี้มันดีกว่าตอนนั้นเพราะจิตมันสงบ ตอนนั้นจิตมันไม่สงบ แล้วตอนนี้คิดดีเพราะจิตมันสงบนะ เดี๋ยวตอนหน้าจิตมันไม่สงบขึ้นมาก็คิดเหมือนกัน ทำไมมันไม่ลง คิดเหมือนกันทำไมมันไม่ได้ล่ะ เนี่ยมันได้ มันได้เพราะจิตสงบนี้ต่างหากล่ะ มันได้ไม่ได้มันอยู่ที่จิตนี่ มันไม่ได้อยู่ที่ความคิด

ทีนี้ไอ้ความคิด ไอ้ที่ใช้ปัญญาเนี่ยเพราะมันฝึกจิตไง ฝึกจิตให้จิตมีสภาพแบบนั้นนะ ถ้ามีสภาพแบบนั้นมันก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมา เนี่ย..การฝึกปัญญา การก้าวเดินทางปัญญามันไปของมันแล้วละเอียดไปเรื่อย ๆ ละเอียดไปเรื่อยแล้วมันจับ พอมันเห็นนะ มันเห็นความแตกต่าง

เราจะเน้นตรงนี้บ่อยมากเลย เห็นความแตกต่าง เห็นความแตกต่างเนี่ย แต่ถ้ายังไม่เห็นความแตกต่างเนี่ย เราฝึกของเราไปเรื่อย ๆ การฝึกนี่ เพราะกาลามสูตรไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อประสบการณ์จริงของจิต แล้วประสบการณ์ทางจิตเพราะเราเคยปฏิบัติมาก่อนนะ พอปฏิบัติมาได้หลักได้เกณฑ์แล้ว เราไปอ่านพระไตรปิฎกนะ โอ้โฮ..มันซึ้งแล้วซึ้งเล่านะ

เปิดพระไตรปิฎกครั้งแรกนะ มันซึ้งใจมาก ซึ้งใจสุด ๆ เลย ถ้ามึงไม่ปฏิบัติมาก่อน มึงอ่านพวกนี้ไม่รู้เรื่อง เพราะอ่านไปมันเจอหมดล่ะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ถูกต้องไปหมดเลย ถูกต้องนะ สอุปาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพานเนี่ยนิพพานสุก นิพพานดิบอะไรเนี่ย ที่พระไตร ปิฎกพูดไว้

พอมันไปอ่านนะ อื้อหือ.. อื้อหือ.. มันเข้าใจหมดเลย แล้วก็พูดกับตัวเองนะ ถ้ามึงไม่ได้ปฏิบัติมาก่อน ไม่มีทางที่มึงจะรู้เรื่อง ยิ่งอ่านยิ่งงง ยิ่งอ่านยิ่งไม่รู้เรื่อง แต่ทำมาผิดไหม ไม่ผิดหรอก ถูก ธรรมพระพุทธเจ้าถูกมาก เวลาเราพูดนะ เวลาเราพูดไปลูกศิษย์เขาคัดค้าน บอกว่า หลวงตาท่านจบมหา แล้วไปหาหลวงปู่มั่นเห็นไหม

หลวงปู่มั่นพูดไว้ก่อนเลยบอกว่า “มหา มหาเรียนธรรมของพระพุทธเจ้ามาเนี่ย ธรรมของพระพุทธเจ้าเชิดชูไว้บนศีรษะ ไม่ได้ดูถูกนะ เชิดชูไว้บนศีรษะ แล้วเก็บไส่ลิ้นชักไว้ ความคิดที่ศึกษามาเก็บใส่ลิ้นชักไว้แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้มันออกมา” คำนี้สำคัญมาก “ถ้าความคิดที่ศึกษามาเนี่ยเวลานั้นมาปฏิบัติพร้อมกันเนี่ย มันจะเตะ มันจะถีบกัน”

นี่ภาษาอีสานนะ มันจะเตะ มันจะถีบกัน คือข้อมูลมันจะขัดแย้งกัน ความขัดแย้งไง การปฏิบัติของเรา มันก็เหมือนกับปริยัติกับปฏิบัติ ปริยัติคือการศึกษานี่ต้องท่อง ต้องจำ ทางวิชาการต้องให้แม่น แต่ทางปฏิบัตินะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จะรบมันไง มือหนึ่งก็จะจำ อีกมือหนึ่งก็จะรบ แล้วมันจะไปกันได้ไหม

นี่เหมือนกันข้อมูลที่เราศึกษามา ศึกษาทางวิชาการ ปริยัติศึกษามาแล้วเวลามาปฏิบัติต้องเก็บมันไว้ เพราะมันจะขัดแย้ง ขัดแย้งตรงไหน ขัดแย้งที่มันจะสร้าง อย่างนี้เป็นสมาธิหรือยัง อย่างนี้เป็นปัญญาหรือยัง โอ้ ปัญญาพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นนะ โอ ปัญญาเราจะเกิดแล้ว โอ.. ทำอย่างนี้แล้วปัญญามันจะเกิดทันทีเลยนะ พอจิตมันเข้ามา โอ..อย่างนี้จะลงปัญญาพอดีแล้วนะ โอ๊ย… มันยังไม่ได้อะไรเลยนะ

นี่จะบอกว่าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านจะรู้เรื่องอย่างนี้ดีมาก ครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ ท่านพูดด้วยเคารพบูชา คนที่ประพฤติปฏิบัติมา จนจิตใจเป็นธรรม จะดูถูกดูแคลนสัจธรรมของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร พระไตรปิฎกเป็นสัจธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วเราปฏิบัติกันอยู่เพื่อจะเข้าไปสู่พุทธะ เข้าไปรู้ถึงปัญญาอันนั้น

แล้วสิ่งที่เจ้าของปัญญาที่เป็นคนที่บัญญัติไว้ แล้วเราจะไปดูถูกดูแคลน มันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่สิ่งที่ให้พักไว้ก่อนเพราะว่าสิ่งที่เอาสัจธรรมของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัตินะมันจะเป็นก๊อปปี้สินค้านะ เราก๊อปปี้เขามาเนี่ย ถ้าก๊อปปี้เขามาแล้วเราต่อยอดขึ้นไป มันจะเป็นสมบัติของเรา เราก๊อปปี้มานะ ก๊อปปี้แล้วก๊อปปี้เล่านะ สินค้านี่เขาพัฒนาไปทุกวันนะ ก๊อปปี้ไปนะ เดี๋ยวก๊อปปี้แล้วจะเหลือ… ไม่มีใครซื้อมึงเลย

จำมาแล้วเป็นสัญญาตายตัว ก็จำอยู่ในสมองเลย มันก็จะเป็นซากเป็นไดโนเสาร์อยู่ในหัวมึง มันไม่เป็นความจริงขึ้นมาเห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์พูดอย่างนี้ นี่เราพูดอย่างนี้ เราพูด.. ลูกศิษย์บอกว่ารับไม่ได้ ไม่ยอมรับพระพุทธเจ้าอย่างนี้ไม่ใช่พระ โอ้โฮ.. ว่าไปนู่นเลยนะ นี่ถ้าเป็นพระนี่ต้องยอมรับพุทธพจน์ทั้งหมด แหม…บอกแล้วพุทธพจน์น่ะยอมรับ แต่กูไม่ยอมรับไอ้คนพูดพุทธพจน์ต่างหากล่ะ พุทธพจน์ทำไมจะไม่ยอมรับ นี่พูดถึงปัญญานะ การพัฒนาของปัญญา ปัญญามันจะพัฒนาไปอย่างนี้

ถาม : หนึ่ง การเดินปัญญาไม่จำเป็นต้องให้จิตนี้เป็นอัปปนาก่อน แล้วค่อยใช้ปัญญาใช่หรือไม่ครับ เพราะการคาดเดาเอาจากที่หลวงพ่อว่า ปัญญาอบรมสมาธิและสมาธิอบรมปัญญา ผมจึงคิดว่าเมื่อจิตสงบระดับหนึ่งให้ใช้ปัญญาพิจารณาไปเลย

ตอบ : ใช่ ถูกต้องเลย

ถาม : สอง การเดินปัญญาของผม ผมทำโดยการพิจารณากาย โดยคิดแบบดิบ ๆ เลย คือเมื่อยกรูปกายขึ้นมาแล้วค่อยถลกหนังบ้าง ถอดเล็บบ้าง เปลี่ยนแปลงเส้นผมจากดำเป็นขาวบ้าง ถอดหนังให้เห็นเส้นเลือด เห็นตับไตไส้พุงเป็นต้น โดยการพิจารณานั้น ผมจะคิดขึ้นมาเลย คิดเป็นรูปร่างขึ้นมาในความรู้สึกเหมือนนึกพุทโธ ไม่ทราบแบบนี้ถูกหรือไม่ครับ

ตอบ : ถูก ถูก ถูกโดยขั้นของแบบฝึกหัด แต่ถ้าคนมาถามเพื่อผลของการปฏิบัติถามว่าอย่างนี้ถูกหรือยัง จะบอกว่า ผิด!ทันทีเลย แต่ว่าผิด คำว่าผิดหมายถึงว่า ฟังให้ดีนะ ถามถึงผลของการปฏิบัติคือเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายนึกขึ้นมาอย่างนี้ มันยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่เริ่มต้นถูกไหม ถูก

ใครไปถามหลวงตาตอบปัญหา ถามว่าการพิจารณาอย่างนี้ถูกไหม หลวงตาบอกว่า ถูกแต่ต้องซ้ำไปอีกนะ หลวงตาจะเน้นคำว่าจะต้องซ้ำ ต้องพิจารณาต่อ ๆ ไปนะ คำว่าถูกมันหมายถึงว่า เส้นทางนี้ถูกต้อง แต่เราได้เดินเส้นทางนี้ไปสู่ปลายทางหรือยัง เส้นทางที่ถูกต้องนะเราขึ้นสู่เส้นทางนั้นนั่น…ถูก แต่เราไม่ใช่เดินไปเลยนะ เรานอนอยู่ปากทางนั้นนะ มันจะเน่าอยู่ที่นั่นนะ ไปสู่ปลายทางไม่ได้หรอก

งั้นถึงว่าอย่างนี้ถูกไหม ถูก แต่ต้องซ้ำอีกนะ ต้องซ้ำอีกนะ เรามาวัดนี่ถูกหรือยัง ถูกแล้ว กลับไปเอานิพพานใส่กระเป๋ากลับไปด้วยนะ ก็ถูกแล้วไง นี่มาวัดนี้ถูกไหม ถูกเพราะทำบุญทำกุศลกันใช่ไหม แล้วเอานิพพานใส่กระเป๋ากันเลย ทุกคนกลับไปนิพพานเต็มกระเป๋า ก็ถูกแล้วไง ถูกในขั้นของตรงนี้ไง เราถึงบอกว่าถูกไหม ถูก

แต่ถ้าถามถึงผลเพราะครูบาอาจารย์ เวลาเราสอนแล้วมันต้องวัดผล วัดผลว่าคนที่ปฏิบัติมันพัฒนาไหม มันดีขึ้นไหม การวัดผลเห็นไหม ถ้าเราไม่รู้จริงเอาอะไรมาวัด ถ้าว่าอย่างนี้เป็นการวัดผล ไม่ใช่ แต่ถ้าพูดถึงการฝึกหัดนะถูกไหม ถูก ถูกก็ปฏิบัติไป แล้วพอมันเป็นขึ้นมาแล้วนะ เราจะวัดผลให้หรือไม่วัดผลให้ ผู้ที่ปฏิบัตินั้น รู้จริง นี่สันทิฏฐิโก

แล้วถ้าผู้ที่ปฏิบัติรู้จริงนะ ถ้าอาจารย์บอกผิด ถ้าอาจารย์พยากรณ์ผิด แสดงว่าอาจารย์โง่กว่ากู ลูกศิษย์เก่งกว่าอาจารย์ ถ้าอาจารย์นะฟังความจริงอันนั้นไม่ออก เป็นอาจารย์ไม่ได้ คนที่ฟังความประพฤติปฏิบัติว่าเป็นความจริงหรือไม่จริง อันนั้นไม่เป็น มันเป็นอาจารย์คนไม่ได้ ไม่ได้

พ่อแม่ครูอาจารย์ที่จะเป็นอาจารย์ของคน มันต้องผ่านพฤติกรรมอย่างนี้มาก่อน พอผ่านพฤติกรรมอย่างนี้มา มันถึงรู้ว่าขั้นตอนไหน เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ลูกเราไม่เป็นทารกมาก่อน เราปฏิเสธได้อย่างไรว่าลูกเราเป็นเด็กมาก่อน ลูกเราเป็นวัยรุ่นขึ้นมา ลูกเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราปฏิเสธได้อย่างไร

จิตก็เหมือนกัน มันพัฒนาการขึ้นมาแต่ละรุ่น แต่ละรุ่นขึ้นมา มันพัฒนาของมันขึ้นมาเนี่ย เราจะปฏิเสธได้อย่างไร แล้วถ้าไม่มีทารก มันจะมีผู้ใหญ่มานั่งอยู่นี่ได้อย่างไร ไม่มีจิตเริ่มฝึกหัดมันจะมีพระอรหันต์ได้อย่างไร พระอรหันต์มันก็มาจากการฝึกหัดนั่นนะ หลวงปู่มั่นก็ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นนะ

พระพุทธเจ้า ๖ ปี แล้วใครจะไม่ล้มลุกคลุกคลานมา ก็ล้มลุกคลุกคลานกันมาทั้งนั้น แต่ถ้าล้มลุกคลุกคลานกันแล้วก็ต้องเจริญขึ้นมาสิ เกิดมาก็จะเป็นอะไรนะ ดอกไม้พลาสติกไง เสร็จมาเลย เสร็จมาเลย ไม่ฟัง ไม่เชื่อ ฉะนี้จะแก้ประเด็นตรงนี้ไง

ถาม : ตรงที่ข้อหนึ่ง การเดินปัญญานี้ การเดินปัญญาไม่จำเป็นที่จิตต้องเข้าอัปปนาก่อนใช่ไหม

ตอบ : เนี่ย..คำว่าอัปปนาเนี่ย เนี่ย..ตรงนี้อยากแก้ อยากแก้เพราะอะไรรู้ไหม เพราะนี่มันเป็นประเด็นมามาก แล้วทำคนเราให้ไปติดตรงนั้นไง ฉะนั้นการฝึกปัญญานะ การฝึกปัญญานี่หลวงตาบอกว่า ไม่มีขอบเขต มันใช้ได้หมด แล้วปัญญาหยาบละเอียด มันจะเป็นไปของมัน

ฉะนั้นที่ว่าถ้าจิตต้องเข้าอัปปนาก่อน หมายถึงฝ่ายทางดูจิตเขาบอกว่าต้องให้เข้าอัปปนา เพราะเราก็ดูเอกสารเขามาก เขาบอกว่าเวลาพิจารณาดูไปจนรู้สามัญลักษณะ แล้วจิตมันจะลงอัปปนา แล้วปัญญาจะเกิดตรงนั้น ปัญญาจะเกิดตรงนั้นเห็นไหม คำว่าเกิดตรงนั้น เนี่ยเวลาพูดมันตัดตอนกันหมด พอมันตัดตอน มันไม่พัฒนาการ พอไม่พัฒนาการมันไม่มี

ฉะนั้นถ้าบอกว่า.. เขาบอกว่าเวลาจิตนะ เวลาจิตที่มันลงอัปปนาสมาธิเห็นไหม ที่พระป่าสอน ถ้าลงสมาธิลึก กายจะหายไปเลย เหลือแต่จิตผู้รู้ตัวเดียวล้วน ๆ โลกธาตุหายหมดใช่ไหม คำนี้เป็นคำของหลวงตา เวลาจิตมันรวมลงโลกธาตุดับหมด หายหมด ทีนี้คำว่าโลกธาตุหายหมด อัปปนาสมาธิเนี่ยมันรวมลงหายหมด สักแต่ว่ารู้ มันหายหมดมันเกิดปัญญาอย่างไร มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร เอ้าพูดมา.. ถ้าอัปปนาเนี่ยโลกธาตุหายหมด สักแต่ว่าหมดเลย

พอลงถึงอัปปนาแล้วปัญญามันจะเกิดเนี่ย แล้วโลกธาตุความรู้ดับหมด แล้วปัญญามันเกิดตรงไหน ปัญญามันเกิดตรงไหน ฉะนั้นจึงบอกว่าต้องรอจนกว่าจิตจะลงจนอัปปนา นี่เห็นไหมการเดินปัญญาต้องให้จิตนี้เป็นอัปปนาก่อน แล้วค่อยใช้ปัญญาใช่หรือไม่ แล้วเวลาเขาพูดเอง เพราะเขาบอกว่าจิตต้องลงอัปปนาก่อน ทุกคนก็เลยเชื่อเห็นไหม เราพูดมันประเด็นตรงนี้ไง ทุกคนก็ต้องลงอัปปนาก่อน อัปปนาก่อน เนี่ย.. พูดถึงอัปปนานะ

แต่เวลาเขาพูดสมาธิลึก ๆ เห็นไหม จิตเหลือแต่ผู้รู้ตัวเดียวล้วน ๆ โลกธาตุนี้หายหมด มันขัดแย้งกันไหม เนี่ยคนสอน คนสอนเนี่ยบอกว่าจิตมันจะเกิดที่อัปปนาสมาธิ แล้วบอกสมาธิลึก ๆ โลกธาตุหายหมดเลย เอ้า แล้วมันจะเกิดอย่างไร ปัญญาจะเกิดอย่างไร จากสิ่งที่โลกธาตุนี้หายหมดเลย แล้วไม่มีอะไรเลย ปัญญามันจะเกิดอย่างไร

เราเห็นอย่างนี้มาตั้งแต่ทีแรก เราถึงบอกเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม เราพูดบ่อยก่อนหน้านี้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ปัญญาที่ไปเกิดที่อัปปนานี้มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แล้วถ้ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้นะ คนที่ฝึกสมาธิมานี่จะรู้ระดับ ขณิกสมาธิ อุปาจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธิมันสมาธิเริ่มเข้า ๆ ออก ๆ อุปจาระเนี่ยพอลึกเข้าไปเนี่ย อุปาจาระคือรอบจิต

พอรอบจิต จิตเห็นอาการของจิตที่หลวงปู่ดูลย์สอน เพราะจิตเห็นอาการของจิตเพราะวงรอบของจิต วงรอบของจิตก็คือขันธ์ ตัวจิตคือตัวจิต ทีนี้พอจิตมันเข้าถึงอุปาจาระ เนี่ย ส้ม เปลือกส้ม มันมีวงรอบของมัน มันกระทบกันเห็นไหม เนี่ยที่อุปจารสมาธิ ถ้าอุปาจาระ เนี่ยตรงนี้ปัญญาที่ต่อสู้กัน พยายามใช้ปัญญา ต่อสู้อยู่ตรงเนี้ย พอลึกเข้าไปนี้เป็นอัปปนา

เนี่ย..ขณิกสมาธิ อุปาจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พอลึกเข้าอัปปนานี่ โลกธาตุดับหมดเลย แล้วทำไมต้องเข้าอัปปนาล่ะ การเข้าอัปปนาเนี่ย มันเข้าไปเพราะเวลาเราปฏิบัติกันเห็นไหม ทุกคนบอกว่าอยากจะเห็นกาย ทุกคนอยากจะรู้จริตนิสัย ทุกคนบอกว่าเราจะทำอย่างไรปฏิบัติไปแล้วนี่อยากรู้ทุกคน อะไรที่เป็นจริตของเรา แล้วทำแล้วก็ต่อต้านขัดขืน จิตนี่มันดิ้น ๆ ดิ้น รนตลอดเวลาเลย

ถึงบอก…พุทโธไปเรื่อย ๆ พุทโธไปเรื่อย ๆ จนเข้าไปถึงอัปปนา พออัปปนาเนี่ยพอเข้าถึงอัปปนาสมาธินี่นะ มันจะแบบว่าเราจะได้กำลังร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างเต็มเหนี่ยวเต็มที่มาหมดล่ะ แล้วพอเต็มที่มันคลายออกจากสมาธิมา เราใช้ปัญญาเลย ใช้ปัญญาว่าเราควรจะพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

คือถ้าเข้าอัปปนาสมาธิเพื่อพิสูจน์ เพื่อพิสูจน์ เพื่อตรวจสอบว่าคุณสมบัติ พันธุกรรมทางจิตของเราเนี่ย ควรใช้ประโยชน์ทางใดกับธรรมะ เนี่ยที่ให้เข้าอัปปนาที่พยายามทำกัน เพราะที่อัปปนาจะมีกำลัง กำลังของจิตถ้ามีมากที่สุด กำลังก็อยู่ตรงนี้ กำลังที่เข้าอัปปนาจะมีกำลังมหาศาลเลย แต่กำลังอันนี้คือกำลังนะ นักเพาะกาย อู้หูย.. กล้ามเป็นมัด ๆ เลยนะ แต่ไม่มีสมองทำอะไรไม่ได้

เนี่ยก็เหมือนกันจิตมันเข้าไปมีกำลังขนาดไหน มันออกแล้วมันเพื่อตรวจสอบไง แต่มันเกิดปัญญาไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่มี เพราะด้วยคนพูด พูดได้อย่างไร คนพูดนี่นะไม่รู้จักสมาธิเลย ไม่รู้จักสมาธิเพราะอะไร เพราะว่าเขาพูดถึงสมาธินะ สมาธิลึก ๆ เนี่ยกายจะหายไปหมดเลย เหลือแต่จิตผู้รู้ล้วน ๆ โลกธาตุนี่หายหมด

ถ้าคนรู้จริงอย่างนี้ เคยเข้าอย่างนี้ได้จริง จะไม่พูดว่าปัญญาเกิดจากอัปปนาสมาธิ แสดงว่าทำสมาธิไม่เป็น แต่คุยนักคุยหนาว่าทำสมาธิตั้งแต่ ๘ ขวบ ผ่านหลวงปู่ลี วัดอโศการามมาตั้งแต่ ๘ ขวบ อายุ ๘ ขวบ แค่สมาธินี่มึงยังไม่รู้จักคุณสมบัติของมันเลย คนเป็นสมาธิไม่เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ไม่เป็นปัญญาเนี่ย มันพูดถึงคุณสมบัติของสมาธิถูกหมด พูดถึงคุณสมบัติของปัญญาได้ถูกหมด

ถ้าอวดอ้างว่าทำสมาธิจนชำนาญมาก แต่ยังไม่รู้ว่าอัปปนาสมาธิ เกิดปัญญาได้หรือไม่ได้ แล้วบอกเกิดได้ เกิดได้เนี่ย แล้วเวลามาพูดถึงทำสมาธิเนี่ยเหลือแต่จิตผู้รู้ล้วน ๆ โลกธาตุเนี่ยหายหมด คำนี้ก็ไม่รู้จริง ถ้ารู้จริงมันจะพูดออกมาได้อย่างไร เพราะเราเข้าเผชิญกับความจริง เราเข้าไปเผชิญความจริงแล้วเรายังพูดขัดแย้งกับความจริงที่เราเห็นมา มันเป็นไปได้อย่างไร

พระกรรมฐานที่เขาตรวจสอบกัน เขาตรวจสอบกันอย่างนี้ ตรวจสอบกันว่ารู้จริงหรือไม่รู้จริง มันเห็นการเข้าไปทำอย่างนี้ ถ้ามันรู้จริง มันจะพูดถึงความจริงหมด แล้วคนที่รู้จริงเห็นไหม หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านพูดอยู่ทีหนึ่งว่า สมัยที่หลวงปู่เขียน หลวงปู่เขียนนี่ ๙ ประโยค เป็นเจ้าคณะจังหวัดที่โคราช

แล้วลาทิ้งตำแหน่งหมดเลย แล้วออกไปปฏิบัติ แล้วพอดีพอไปปฏิบัติอยู่ เนี่ยลูกศิษย์ไปทอดผ้าป่าก็นิมนต์หลวงตาไปด้วย หลวงปู่เขียนเป็นเจ้าอาวาสก็เทศน์ไง ท่านบอกว่าฟังเทศน์ตอนนั้นยังเป็นปริยัติล้วน ๆ คือว่ามันไม่มีเกร็ดเลย แต่พอสุดท้ายแล้วท่านป่วยมานอนอยู่ที่โรงพยาบาลเกือบ ๓๐ ปี นอนเจ้าชายนิทรา นั่งอย่างนี้ ๓๐ ปี เนี่ย ๓๐ ปีนี่ปัญญามันจะขุนเต็มที่ เผาแล้วเป็นพระธาตุ เผาแล้วเป็นพระธาตุ หลวงปู่เขียนนะ

เวลาฟังเนี่ยฟังออก ฟังรู้หมดล่ะ มันขัดแย้งชัด ๆ แล้วไม่ใช่ขัดแย้งธรรมดานะไฟท์กันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ปัญญาเกิดที่อัปปนาสมาธิ แล้วก็พูดเองสมาธิลึก ๆ เนี่ยเหลือแต่ผู้รู้ล้วน ๆ โลกธาตุดับหมดเลย เนี่ยมันขัดแย้ง คนพูดมันยังไม่รู้เลยว่ามันพูดเรื่องอะไร

เฮ้อ.. ที่ว่าเป็นประเด็น เพราะคนฟังมาแล้วทุกคนก็ว่าอัปปนาเนี่ย แต่อีกร้อยชาติมันเข้าอัปปนาเป็นหรือเปล่า อัปปนาสมาธิจิตมันรวมลง สักแต่ว่า นี่ลึกมาก แล้วคนทำนี่ต้องสติ สติดีมาก นี้เข้าไปทีนั้น ที่เราเข้า ๆ กัน สมาธิที่เราพูด ๆ กันอยู่นี่นะ มันเป็นสัญญาหมด ว่าง ๆ ว่าง ๆ ไม่มีเลย ไม่มีสมาธิ ไม่ใช่สมาธิ สัญญาอารมณ์จำไว้ สัญญาว่าว่าง ทำสัญญาอารมณ์ให้ว่าง ไม่ใช่สมาธิ ถ้าสมาธิคือตัวมันว่าง ไม่ใช่ความคิดว่าง ตอนนี้เป็นความคิดว่าง ความคิดฟุ้งซ่านแล้วความคิดว่าง แต่ตัวเองไม่ว่าง

ถ้าตัวเองว่างมันจะไม่พูดแบบนั้น ว่าง ๆ ว่าง ๆ เนี่ย.. ถ้า เอ๊อะ เอ๊อะ เนี่ยสมาธิแท้ ตัวมันว่างไม่ใช่สัญญาว่าง ตอนนี้สัญญาความคิดไง ดูจิต ดูจิต ไม่ใช่ดูจิต ดูความคิด ดูความคิด ดูความเกิดดับไม่ใช่ดูจิต หลวงปู่ดูลย์สอนให้ดูจิต ดูที่ตัวว่าง ไม่ดูที่ความคิดว่าง ไม่ได้ดูที่สัญญาอารมณ์ว่าง ผิดมาแต่ต้น ต้นคดปลายตรงไม่มี เอวัง