เทศน์เช้า

ภูมิของใจ

๓o มี.ค. ๒๕๔o

 

ภูมิของใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญญากับผู้รู้นี้ เวลาท่านบอกว่า “ปัญญากับผู้รู้เป็นผู้นิพพาน” ความจริงผู้รู้เป็นนิพพาน ปัญญาเป็นมรรค มรรคแบกไปไม่ได้หรอก ปัญญาเป็นมรรคใช่ไหม ปัญญามันต้องใช้ขณะต่อสู้สมุจเฉทปหาน แล้วปัญญานี้มันเป็นมรรครวมตัว เพราะปัญญามันจะติดกับผู้รู้ไปไม่ได้ ผู้รู้นี้กลั่นออกไป เราก็ยอมรับ เรายังให้ค่าออกไปเป็นบวกอยู่ เป็นบวกที่ว่าปัญญากับผู้รู้หมายถึงว่าผู้รู้ไปด้วย ปัญญาไปด้วย

แต่ถ้าพูดถึงปัญญามันก็เหมือนกับกิริยา ผู้รู้นี่มันเป็นความรู้สึกอยู่ ฉะนั้นกิริยานี้มันใช้หมดแล้วมันถึงเป็นผู้รู้ออกมา ผู้รู้ต่างหากที่เป็นผู้สิ้น ปัญญานี้เป็นกิริยาต่างหาก ปัญญาเหมือนมรรคใช่ไหม มรรคสามัคคี มรรคไง มรรคปหานไง อันนี้ก็ยังใหม่ๆ อยู่ ท่านยังอาจจะยังใหม่ๆ หรืออย่างไร แต่ว่าคงจะไม่ใหม่แล้วนะ

อันนี้เพียงแต่เราถึงว่าความชอบไง หรือว่าจริตนิสัยต่างกัน คำพูดต่างกัน แต่ความหมายอันเดียวกัน มันยังไม่ว่ากัน แต่ถ้าบอกว่าปัญญาไปพร้อมกับผู้รู้มันก็เป็นสอง นิพพานเป็นหนึ่งด้วย เพราะอย่างที่รู้นี่ ถ้าพวกนั้นรู้นะ แบบว่ารู้เฉยๆ รู้แบบไม่รู้อะไรเลย ถูกต้อง เออ.. อย่างนี้ถูก ก็ลองมองสิ มองแล้วไม่ให้ค่า ถ้าให้ค่านั่นคือปัญญา

โยม: (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ: เออ.. ถ้าอย่างนี้ถูกต้อง ... ...

โยม: (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ: นั่นรู้เป็นอักษร รู้แบบปัญญาขันธ์ ปัญญาขันธ์คือว่าความแบ่งแยก อันนี้เป็นปัญญาผู้รู้

เรื่องผาติกรรม ถ้าเราพูดมันเป็นภาษาพระ เราพูดแล้วเราเข้าใจของเรา แล้วโยมเข้าใจหรือไม่เข้าใจโยมก็จะงง ผาติกรรมมันก็เหมือนกับการแลกเปลี่ยน แต่เป็นผาติกรรม ดูอย่างวัดบางวัดเขาจะซื้อที่ไว้เลย แล้วเขาจะลงพวกผลไม้ไว้ ทางเมืองจันท์นี่มีเยอะเลย แล้วเวลาโยมเข้ามาประมูลเอาผลไม้นี่แล้วแบ่งกับวัดคนละครึ่ง นี่เขาเรียกผาติกรรม เห็นไหม มันเป็นธุรกิจในศาสนา ก็อาจจะได้นะ

ฉะนั้นการผาติกรรมก็เหมือนกับการแลกเปลี่ยน ฉะนั้นมันเป็นวิธีการที่จะแก้ไข ฉะนั้นเราถึงว่า ไปทำผาติกรรมหมายถึงการแลกเปลี่ยนแล้วให้มันพ้นไป เราถึงไปทำผาติกรรม แต่พระบอกว่าไม่ต้องอะไรนี่ มันเป็นคนละประเด็นนะ เพราะให้อยู่แล้ว ต้องให้อยู่แล้ว แต่เรารู้เรื่องหลักศาสนา เราเป็นคนแก้ปม เราทำของเราเองใช่ไหม เพราะปมอยู่ที่ใจเราใช่ไหม เราแก้ปมของเรา เราทำเลย

ผาติกรรมมันเป็นการแลกเปลี่ยน มันเป็นขั้นตอนที่ ๒ แต่ขั้นตอนที่ว่าความจริงแล้วศาสนาเราเป็นศาสนาที่บริสุทธิ์ ศาสนานี้บริสุทธิ์มากนะ คือว่าให้ทานไง อย่างเช่น เราไปวัดไปขอพระนี่จะไม่มีเลย แต่นี่เราไม่รู้เราไปหยิบเองโดยที่เราไม่เข้าใจ นี้มันเป็นปมของใจเรา เราแก้ปมของใจเรา นี้มันเป็นขั้นตอนที่ ๒ ในเรื่องทางศาสนา คำว่า “ผาติกรรม” เขาทำกันเป็นพื้นๆ อยู่แล้ว

อย่างเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ พอไปทำแล้ว เอ๊ะ.. มันจะแก้ไขอย่างไร แก้ไขได้อย่างนี้ เหมือนกับแลกเปลี่ยนกัน เพราะวัดมันมีอย่างนี้ บางทีวัดบางวัดเขาต้องหาอย่างนั้น หาเงินเข้ามาเป็นของสงฆ์เพื่อจะใช้จ่าย เขาทำผาติกรรมกันอะไรกัน ของในวัดนี่ก็แบบว่าเป็นธุรกิจไป นั่นเป็นแบบทางโลก เอาโลกมาผสมมากแล้ว ถ้าเป็นธรรมแท้ๆ นี้ไม่มี

พลอยกับเพชรนี่ ผู้หญิงเขาให้ค่าอันไหนมากกว่ากัน น่าจะเพชรเนาะ แต่เพชรน่าจะ... (เพชรมากกว่า) เพชรมากกว่า เราจะพูดถึงว่าไก่ได้พลอยไง เราถึงว่าไก่ได้เพชรว่ะ(หัวเราะ) ต้องไก่ได้เพชร เราเห็นเป็นไก่ได้เพชรไก่ได้พลอย แล้วไก่ได้พลอย ไก่มันจะเห็นเลยว่า พลอยกับข้าวเม็ดหนึ่ง ข้าวมีค่ามากกว่า เพราะข้าวมันกินได้ เราว่าไก่นั้นไม่ฉลาดหรือว่าเราไม่ฉลาด นี่พูดถึงวุฒิภาวะของใจ ภพภูมิของใจมันสูงต่างกัน

ไก่ได้พลอยมันไม่มีคุณค่าเลย แต่เรารู้จักคุณค่า เราเลยทุกข์แทนไก่ จริงไหม แต่ไก่มันไม่ทุกข์เลย ไก่เห็นพลอยกินไม่ได้มันก็ไม่สนเลยนะ มันอยากของที่กินได้ แต่เรา โอ้โฮ นี่พลอยนะ มันมีค่ามากทำไมไก่ไม่รู้จัก ก็เหมือนกับที่เวลาเราไปดูเขา เขาไม่รู้เรื่องอะไรของเราหรอกใช่ไหม เขาไม่รู้เรื่องนะ เขาว่ามาอย่างนี้มาทำไมกัน แล้วใครเป็นไก่ได้พลอยล่ะ เราก็เป็นทุกข์

ไก่ได้พลอยเห็นไหม เราคิดแทนไก่ หรือไก่มันจะหัวเราะเยาะเราเนาะ “พลอยเอาไปทำไม พลอยเอาไปเก็บเป็นภาระ สู้ข้าวเม็ดหนึ่งก็ไม่ได้ ข้าวได้กิน”

อ้าว เราจะหัวเราะไก่หรือไก่จะหัวเราะเราล่ะ อ้าว เราคิดมุมกลับนะ เราจะหัวเราะไก่ ไก่ไม่รู้จักพลอย หรือไก่บอกว่า “โอ๊ย คนนี้โง่มากนะ ของที่กินได้ก็ไม่เอา ไปเอาของที่กินไม่ได้มาเก็บรักษาไว้” ใจมันเป็นอย่างนั้นนะ นี่วุฒิภาวะ ภพของใจ ภพที่สูงขึ้นมาด้วยการฟังธรรม เราจะสังเกตไหม โยมนี้จะงงมากเลย งงมากว่าทำไม

อย่างเช่น เราไปอ่านหนังสือพระไตรปิฎกกัน พระที่ไปถามพระพุทธเจ้าไง กำลังสงสัยมากเลย อยู่ในขั้นสุดท้ายแล้วจะไปหาพระพุทธเจ้า เดินไปหาพระพุทธเจ้าแล้วฝนมันตก ก็เข้าไปใต้กุฏิ ฝนก็ตกลงมา น้ำลงมากระทบกันเป็นฟองขึ้นมา เป็นตุ่มขึ้นมาแล้วมันก็แตก เป็นตุ่มแล้วก็แตก พิจารณาแค่นั้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา กลับ!

คิดดูสิ พอเข้าใจตามความจริงนะ เดินกลับนะ เดินขึ้นบันไดไปหาพระพุทธเจ้า กับพอมาเดินพิจารณาอยู่พักหนึ่ง ปล่อยวางเสร็จแล้วหันกลับเลย ดูสิ แล้วพวกเราเห็นกันชินตา ฝนตกทุกวัน เห็นทุกวัน แล้วเราได้อะไรขึ้นมา ใจมันยังไม่ถึงตรงนั้นไง

ฟังธรรมตรงนี้ เห็นไหม เวลาหลวงพี่พูดอะไรไป เราสงสัยอยู่ เราโอ้โฮ เราโล่งอก เห็นไหม นี่ความสว่างของใจขึ้นมา ความสว่างมันสูงขึ้นมาเรื่อยๆ มันเข้าใจขึ้นมาเรื่อย ภพอยู่ที่ตรงนี้นะ อยู่ที่ความเข้าใจ นี้มันจะให้เสมอกันมันเป็นไปไม่ได้

ความเป็นไปไม่ได้ เราถึงว่าเราจะไปยุ่งกับเขาไม่ได้ บางอย่างนี่ต้องปล่อยไป ปล่อยไปนะ เราต้องอยู่ในระดับนี้ ระดับของเรา เราสูงขึ้นมาๆๆ เพราะเราฟังธรรม การให้ทานนะ ศีล สมาธิ ปัญญา ใช่ไหม ทาน ศีล ภาวนา เริ่มให้ทานก่อนแล้วจะมีศีล มีศีลเท่าไหร่ ถ้าเราไม่เข้าใจจะมีศีลได้ยังไง ศีลอันนี้ผิดอันนี้ถูก ศีลเห็นไหม ใช้ปัญญา แล้วมีปัญญาอีกเห็นไหม ปัญญานี้เข้ามาชำระกิเลส

ฉะนั้นการฟังธรรมในศาสนาพุทธ การฟังธรรมต่อหน้าพระพุทธเจ้าเป็นอันดับหนึ่ง อาจารย์มหาบัวเป็นคนพูดเลย “การฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเป็นอันดับหนึ่งเลย” เพราะนั่งฟังอยู่เราทุกข์หรือเราไม่สบายใจอยู่ เพราะเราไม่รู้ เราสงสัย ถ้าเรามีปัญญา ปัญญานี้เข้าไปแก้ความสงสัยนะ เช่น เราหิวข้าวหิวน้ำมันก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ความทุกข์ใจเวลามันหลุดออกไปเป็นปล้องๆ มันต่างกันไหม นี่ความทุกข์ใจ

ความทุกข์ใจความกังวลแล้วมันหลุดผลัวะออกไปๆ มันโล่ง มันสว่าง นี้พูดถึงความเข้าใจนะ แล้วพอมาสมุจเฉทปหาน มันตัดกิเลสออกเป็นชั้นๆ ล่ะ ภูมิของใจ ภพของใจ ตรงนั้นสำคัญกว่า จากปุถุชนเลยกลายเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วก็ตัดออกๆๆ ตัดออกขึ้นไปเลย อันนั้นมันไม่เสื่อมไง อย่างเรานี่เห็นไหมสงสัยฟังแล้วมันเข้าใจตอนนี้ เดี๋ยวก็สงสัยอยู่ เห็นไหม มันไม่ขาด ไม่สมุจเฉทปหาน เป็นอกุปปธรรม กุปปธรรมกับอกุปปธรรมไง ธรรมที่เสื่อมกับธรรมที่ไม่เสื่อม ธรรมในหัวใจ มีธรรม!

อย่างเช่น เราเดือดร้อน เราไม่ค่อยสบายใจ แต่เราไปทำสมาธิขึ้นมานะ จิตมันอิ่ม เห็นไหม จากจิตที่หิวกระหายกับอิ่มเต็ม การทำงานมันก็ต่างกัน การเลือกกินอารมณ์ก็ต่างกัน การเลือกกินอารมณ์นะ อย่างที่มันกินอารมณ์ จิตมันเสวยอารมณ์ แต่ถ้าจิตเราเป็นสมาธิเราทันมัน พอมันจะกินอารมณ์ที่ผิดเราจะปฏิเสธเลย เราจะปฏิเสธได้นะ เพราะว่าจิตมันอิ่มไง กับเมื่อก่อนเหมือนกระดาษซับ อิ่มไม่เป็น เจออะไรมันจะดูดผลัวะๆๆ เลย มันติดหมด มันติดหมด เห็นไหม นี่จิตมันอิ่ม

จิตมันอิ่มหมายความว่า สุขมันสุขอย่างนี้ สุขแบบว่าไม่หิวโหย ไม่กินอารมณ์ทุกอย่างที่ขวางหน้า อารมณ์ที่มากระทบมันจะผูกมัดหมดเลย แต่ถ้ามันอิ่มแล้วมันก็ต้องเสวยแต่สิ่งที่ดีไง เป็นประโยชน์ไง นั่นนะภพภูมิของใจ

มันละเอียดมากนะ ความละเอียดของกิเลส อย่างที่หนังสือว่ามันอยู่ลึกกว่าเห็นไหม มันอยู่ลึกๆ ข้างใน มันอยู่ลึกๆ สมาธิมันเข้าไปไม่ถึง ไม่เห็นหน้ามัน มันอยู่ข้างหลังไง ก่อนหน้านี้เราถึงว่าเราโง่หรือเราฉลาด พวกเรานี้โง่นะ ไม่ได้ฉลาด โง่มากเลย เพราะว่าเราคิดว่าความเข้าใจมันจะปล่อยวาง นี่ศึกษากันมามัดคอตัวเองนะ แต่ความจริงแล้วมันเป็นประสบการณ์ต่างหากล่ะ

ความเข้าใจมันหลอกตัวเองอีกทีหนึ่ง แล้วภาวนาเข้าไปนะ เราจะตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนเลย อันนี้พระพุทธเจ้าพูดไว้หมดแล้ว แต่เราไม่เข้าใจกันเองว่าธรรมะด้นเดาไง ธรรมะด้นเดาคือว่าด้นเดา เรื่องการศึกษานี่ด้นเดาไหม เพราะเป็นของของคนอื่น แล้วเราฟังเขามา เขาเล่าอะไรให้เราฟัง เราก็พยายามจำมา แล้วเราจะรู้จริงตามความเป็นจริงไหม นี้เราก็จินตนาการไว้ พอจินตนาการไว้เวลาทำแล้ว เราก็บังคับใจเราให้เหมือนกับจินตนาการนั้น เพราะเหมือนกับว่าเราไปตั้งโปรแกรมไว้ก่อนแล้ว คอมพิวเตอร์เขาตั้งโปรแกรมไว้ก่อนแล้ว แล้วทำไปเดี๋ยวก็ต้องออกตรงนั้น

พอออกมาตรงนั้นปั๊บมันก็เป็นการหลอกกัน ๘๐ เปอร์เซ็นต์เกือบเป็นของจริงแต่ไม่ใช่ เสียประโยชน์มากเลย แต่ถ้าเวลาจะปฏิบัตินี่เราปล่อยเลย ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง กำหนดพุทโธอย่างนี้ ของง่ายๆ หญ้าปากคอก ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง อันนั้นถึงจะดื่มของจริงนะ รสของจริง เวลาจิตมันสงบขึ้นมามันจะเป็นของจริง ขนพองสยองเกล้านะ ใหม่ๆ ครั้งแรกๆ ขนจะพองหมด ตัวจะใหญ่เลย ปีติมันจะเกิดไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าเราไปจินตนาการไว้ก่อนมันอีกอย่างหนึ่งเลย คล้ายๆ กัน มันจะมีอาการคล้ายๆ กันแต่ไม่ใช่ใครว่าโง่หรือฉลาดล่ะ มันถึงเป็นดาบ ๒ คมไง การศึกษาเป็นดาบ ๒ คม เหมือนกับว่าเราไปฟังใครมา ทางโลกยังศึกษามาเพราะเก็บไว้เฉยๆ แต่การปฏิบัติมันต้องอย่างนี้เลย

ฉะนั้นเวลาฟังธรรมสงสัยอะไรอยู่ในใจ พูดมาเถิด ผลัวะๆๆ มันจะเข้าถึงใจ คือว่ามันเป็นปัจจุบันธรรมไง เหมือนกับของมันดิบถ้ามันโดนไฟมันก็จะสุกขึ้นมา ใจเวลามันสงสัยอยู่มันเป็นปัจจุบันธรรม

ฉะนั้นสังเกตเวลาที่เราฟังเทป ถ้าเทปนั้นมันเป็นข้อสงสัยนะ มันก็แก้ได้ เห็นไหมบางอย่างในเทปพอฟัง โอ้โฮ! ตื่นเต้นมากเลย แต่ไม่เหมือนฟังสด ฟังสดนี่มันเป็นปัจจุบันเลย ปัจจุบันมีเสียงเกิดเดี๋ยวนั้นๆ ถึงว่าจำเป็นมากในการฟังธรรมไง เป็นอันดับหนึ่ง เพราะธรรมนี้มันแก้กิเลส ทานนั้นเป็นบุญนะ บุญกุศล เห็นไหม ทำบุญเป็นบุญ เห็นไหม อยากมีทรัพย์มากให้บริจาคทาน กุศลคือเกิดปัญญาไง กุศลคือความเข้าใจล่ะ

จากเริ่มทำบุญก่อน พอทำบุญไปจิตใจมันก็สบายขึ้นมันก็มีบุญกุศล เพราะอย่างน้อยๆ คนที่ทำบุญเขาว่าคนนี้เป็นคนดี คนนี้เป็นคนดี ความช่วยเหลือมันจะมีมา ถ้าคนดี สายตาที่มองคนดี คนดีมองกันสายตามันไม่เป็นโทษนะ สายตามันอ่อนโยน สายตามันมีความเห็นใจ แต่ถ้าคนไม่ดีนะ ลองเกลียดคนไหนสิ สายตานี้แข็งกร้าวมาก นี้บุญเกิดตรงนั้น มีแต่สิ่งที่หนุนเราขึ้นมาๆ นี่ไงบุญ

กุศลเกิดจากเราเห็นผลของมัน เราเข้าใจของมัน เห็นไหม ปัญญานี่กุศล ความเข้าใจ นี่เราทำตรงนี้เลย เพราะตรงนี้ต่างหาก กุศลคือความเข้าใจ พอความเข้าใจย้อนกลับไปที่บุญใหม่สิ จากที่ทำแบบไม่รู้เรื่องเลยกับทำแบบรู้เรื่องแล้ว อันนี้เห็นไหม เพราะมีปัญญาแล้ว มีกุศลแล้ว ทานมันก็เป็นทานที่บริสุทธิ์ขึ้นมา ทานละเอียดขึ้นมาเรื่อยๆ ศีลก็ต้องดีขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นขั้นเป็นตอน

เราถึงว่าให้เป็นขั้นเป็นตอน ศาสนาให้เป็นขั้นเป็นตอน ภพของใจไง วุฒิภาวะเหมือนไก่ได้พลอยนั่นล่ะ จริงๆ นะ มันคิดได้ ๒ ประเด็น เราก็รู้ว่าไก่มันไม่เข้าใจว่าของนั้นมันมีค่าหรือไม่มีค่า แต่ไก่มันก็หัวเราะในใจว่าเป็นของไม่เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ เพราะโลกนี้มันเป็นสมมุติทั้งหมด แต่เราไม่รู้ แต่สมมุติก็เป็นสมมุติสิ

พระพุทธเจ้าถึงได้บอกปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยไง ของมีค่าเพราะว่าเราให้ค่า แต่ของเขาของมีค่าสำหรับร่างกาย อย่างนักภาวนาเห็นไหม อย่างอาจารย์ที่ว่าเมื่อก่อนภาวนาแล้วใช้ปัญญามาก

นี่พูดเลย เราคิดของเราเองนะ พูดถึงว่าเวลาสูงขึ้นไปไปติดแล้วปัญญามันหมุนตลอดเวลา ต้องกลับมาพุทโธๆๆ ใหม่เห็นไหม เหมือนกับคนหัดภาวนาใหม่เลย ถึงว่าจะว่าอะไรไม่มีคุณค่าไม่ได้เลย มันอยู่ที่ว่าเราจะใช้ช่วงไหน ควรใช้อะไรไง

อย่างเช่น รถคันหนึ่งกี่ล้าน สายไฟฟ้าลองขาดไปสักเส้นหนึ่งสิ สายไฟนั้นแค่เส้นละเท่าไหร่ แต่รถคันนั้นวิ่งไม่ได้นะ ถ้าสายไฟตรงนั้นขาดไปเส้นเดียวเท่านั้นล่ะ แล้วมันมีคุณค่าไหม ทุกอย่างมันให้ผลถึงกันหมดเลย มันต่อเนื่อง มันเกี่ยวพันกันไปหมดเลย

อย่างในธรรมะพระพุทธเจ้า มือมันเถียงกับปาก มือมันบอกว่า “ปากเอาเปรียบ ปากมีแต่กินไง” มือนี้มันเอาไปใส่ให้ปาก มือบอกว่า “ไม่ได้ ปากนี้เอาเปรียบ” มือก็ไม่ยอม มือไม่เอาของใส่ปากเพราะปากเอาเปรียบมือ ปากกินอย่างเดียว มือไม่ได้กินเลย อ้าว ปากก็ไม่ได้กิน พอไม่ได้กินแรงก็ไม่มี มือก็ยกไม่ไหว เห็นไหม

ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้นจริงๆ นะ เวลามันเถียงกัน มือกับปาก ปากเอาเปรียบ ปากหน้าที่กินอย่างเดียวไง หน้าที่คอยเคี้ยว หน้าที่คอยลิ้มรสอย่างเดียว มือมีหน้าที่ทำ แต่พอมันไม่เอาใส่เข้าไป พลังงานมันจะเอามาจากไหน มือก็ตายไปด้วย เพราะว่าเถียงกัน เกี่ยงกัน ตรงไหนมันจะลงตัวพอดี

นี่ก็เหมือนกัน ครบรอบวงจร เราทำอย่างไรให้ปัญญาเราเกิดขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาของเราให้ดีขึ้น มันเป็นประโยชน์กับเราเองนะ เป็นความดีของเรา ถ้าหลง ถ้างงก็จะเป็นอย่างนั้นนะ จับประเด็นผิดมันก็วิ่งออก (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)