เทศน์เช้า

ที่สัปปายะ

๑o พ.ค. ๒๕๔o

 

ที่สัปปายะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อคืนพูดของจริงก็คือของจริงไง ความเป็นจริง คนจริง ผู้ปฏิบัติจริง ของจริงกับของจริงมันเจอกัน แต่น่าสงสารนะ น่าสงสาร เมื่อคืนมาพูด บอกว่าให้เบาๆ ก่อน เพราะว่าอะไรรู้ไหม เพราะคิดดูสิว่า คนพื้นที่นี่เห็นพระทำเสียไปหลายชุดแล้ว แล้วเราเข้าไปนี่ “อีกแล้วหรือ มาอีกแล้วหรือ ฟอร์มมา แหม!!! ขึงขังมากันอีกแล้วหรือ”

ฉะนั้นพวกเราจึงต้องไปนิ่มๆ ไง เราถึงมาเตือนไว้ก่อนว่า ให้ไปเบาๆ ให้พวกเราสุภาพๆ อย่าไปแสดงออก “เอาอีกแล้วหรือ จะแสดงออกอีกแล้วหรือ” มันน่าสงสารนะ คนจริง นี่ศาสนามันเป็นอย่างนั้น เขาพูด เมื่อคืนมาที่นี่พูด พอมานี้เขาบอกว่า “อย่างนี้ไม่มีหรอก ที่นั่นเขาไม่ได้ทำกันอย่างนี้”

เขาบอกว่า เพราะว่าผู้ปฏิบัติใหม่กำลังไฟแรงไง บอกว่า อยู่กินกันเฉยๆ มาเที่ยวแสวงหาบิณฑบาตอาหารแล้วก็ฉันไง เรารู้ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่มันกำลังสุดโต่งในการปฏิบัติ ความผิดเล็กน้อยก็ไม่ยอมให้มีไง

แต่ทั้งนี้พวกพื้นที่เขาว่า คนที่อยู่เขาเป็นทุกข์อยู่ว่า ที่นี่จะมีพระอยู่ในวัดหรือเปล่าไง เขาว่าพระที่ว่าพอทำได้ คนที่อยู่ในระหว่างมัชฌิมา ระหว่างกลาง ห่วงแต่ว่าวัดเราจะมีพระหรือเปล่า

ฉะนั้นพระมานี่ถ้าปฏิบัติสมควรแก่พระ เขาก็เอาแล้วไง แต่ถ้าพระปฏิบัติเคร่งครัดมานี่ไปเจออย่างนั้น เขาก็อึดอัดเห็นไหม เมื่อวานเราพูดกัน ๒ คน เราก็ฟังและก็จับไว้ๆ เขาบอกว่า “อย่างนี้ไม่มี ที่นั่นเขาไม่ทำกันอย่างนี้”

ฉะนั้นถ้าที่พูดนะ ถ้าลงไปจะกลายเป็นพลิกเลย เขาบอกจะพลิกให้ดีขึ้นเลย เราจะไปพลิกขึ้นมา เราไปทำก็เพื่อเป็นที่วิเวกไง

เวลาเราศรัทธากัน อย่างเราภูมิใจกันมาก เมืองไทยนี่มีแชมป์โลกกี่คนๆ เราภูมิใจกันมาก ไปภูมิใจตอนเป็นแชมป์โลกไง แต่ไม่ภูมิใจตรงคนที่สร้างมวยขึ้นมาไง

นี่ก็เหมือนกัน เราไปภูมิใจตรงว่าศาสนาเรามั่นคง ถ้าศาสนาเรามั่นคง แต่ไม่มีบุคลากร อันนี้จะเอาอะไรมามั่นคง เหมือนได้ยึดพื้นที่นี้ไว้เพื่อจะมาสร้างนี่ไง ให้มันเป็นที่สร้าง ไปดู! ไปดูว่ามันสมควรไหม ให้ไปดูอย่างนั้น แล้วมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ มานะ จนถึงพวกเราเข้าไป แล้วคอยดูกันไป

มันต้องอาศัยสัปปายะไง อาหารสัปปายะหนึ่ง บิณฑบาตใกล้ที่สุด ๒ กิโล ๔ กิโล ๖ กิโลถึง ๘ กิโล พวกนั้นล่ะ มีพระไปอยู่หลายชุด พระจากกรุงเทพไป ใครๆ ก็อยากอยู่ แต่อยู่ไม่ไหวตรงเรื่องการบิณฑบาต แต่ถ้าพระป่าเรานี้เป็นเรื่องปกติเลย ถือเป็นเรื่องปกติ สภาพพอเป็นไปได้

แล้วที่เขาอยู่นั้น เขาอยู่กันหย่อมเดียว ถ้ามันเป็นไปได้ วันหลังมันขยาย เขาพูดไว้เอง เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่รักษาป่าที่นั่นอยู่แล้ว เขาขยายให้ได้เต็มที่เลย ถ้าเป็นไปได้นะ สำคัญว่าหลักพวกเราไปนี่นะ ที่จริงว่าพยายามจะเอาโยมเข้าไปไง เอาโยมไปก็เหมือนกับว่าบัณฑิตคบบัณฑิต อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เห็นไหม บัณฑิตคบบัณฑิต

พวกเราก็แสวงหาอยู่ ชีวิตนี้สั้นนัก ชีวิตเรานี้สั้นนัก การเกิดนี้แสนยาก เกิดเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา หนึ่งศาสนานี่ใครจะหยิบอะไรติดไม้ติดมือไปไง ใครจะฉวยอะไรติดไม้ติดมือไป ชีวิตนี้สั้นนัก ความเป็นอยู่นี้สั้นนัก ฉะนั้นเราถึงว่า คนมันมีกำลังใจไง เราถึงว่าบัณฑิตคบบัณฑิต หมายถึงว่าผู้ที่ปฏิบัติดี เหมือนพระปฏิบัติเจอผู้ปฏิบัติออกจากป่ามา คุยเรื่องปฏิบัติจะชื่นใจมาก

นี่ก็เหมือนกัน เราหวังดีใช่ไหม เขาก็หวังดี แต่เขายังไม่เจอดีใช่ไหม แล้วเขากำลังแบบว่ากำลังไม่แน่ใจ เราถึงว่าต้องการเอาโยมเราไป นี่เห็นไหม สังคมฝ่ายปฏิบัติไง สังคมลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เรา มันยังมีเพื่อนว่าอย่างนั้นเห็นไหม บัณฑิตคบบัณฑิต แต่คบแบบบัณฑิตนะ

ดูอย่างพระพุทธเจ้าสิ ในวันมาฆบูชา สโมสรสันนิบาตของสงฆ์ บัณฑิตคบบัณฑิตไปแล้วนิ่งเฉยเห็นไหม ไปแล้วเงียบ นั่งอยู่ ๑,๒๕๐ องค์ นั่งเงียบ..นั่นสโมสรสันนิบาตของสงฆ์ สโมสรสันนิบาตของบัณฑิต ความสุข ความสงบ ความเรียบร้อยไง

แต่สโมสรสันนิบาตของโลก ต้องแอ๋ไป ก็แอ๋มา เห็นไหม นี้ถ้าพวกเราไปมันต้องไว้ลายไง ไว้ลายฝ่ายปฏิบัติไง ไปต้องเรียบร้อย อย่าส่งเสียงดังเห็นไหม เราผ่านครูบาอาจารย์มาแล้ว เขามองกิริยาพวกเรา เออ นี่ลูกศิษย์มีครูมีอาจารย์ มันผ่านมา ถ้ำเสือไง ลายเสือ ลายของการปฏิบัติมันมองออก พระเรานี้มองกันออกนะ

พระองค์นี้มาเทศน์จ้อยๆ เลย แล้วบอกใส่รองเท้าไม่มีหูหนีบ พระเขาก็ไม่ฟังแล้ว วินัยไง ธรรมและวินัย ธรรมและวินัยถูกต้องไหม รู้ธรรมรู้วินัยไหม รู้วินัยแล้ว วินัยนี้มันถึงเสริมให้มีธรรมไง ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีสมาธิมันก็นิ่ง ถ้าไม่มีสมาธิมันก็ออกตัว เห็นไหม มันก็ฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่าน ความคึกคะนองของใจเราแสดงออกไปโดยไม่รู้ตัวหรอก

ดูอย่างเช่น เราว่าเป็นเรื่องของกรรม ใครก็แล้วแต่รู้ๆ กันอยู่นะ แต่ก็เป็นทุกคน เรื่องของกิเลสนี้สู้ไม่ได้ เราเป็นสามีภรรยา ลูกคนแรกเกิดมาเรารักขนาดไหน จะหลงเลยล่ะ แล้วลูกคนที่ ๒ เกิดมาล่ะ คนที่ ๓ เกิดมาล่ะ ความรักนี้รักลูกทุกคน แต่รักไม่เท่ากัน คนแรกนี้ขี้ตื่น จะตื่นคนแรกมากเห็นไหม

กรรมของเด็กมาเกิดไง กรรมอันนั้น พี่น้องหลายคนก็แล้วแต่ แต่ลูกคนโตมันมีบุญมากกว่าเพื่อน เพราะพ่อแม่รักมันก่อนใช่ไหม เพราะพ่อแม่เห่อมัน พอคนที่ ๒ ก็รักอยู่ แต่ไม่เห่อเท่าคนแรก นี่ความเห่อของพ่อแม่ เราก็รู้อยู่ แต่ทำไม่ได้หรอก เพราะอะไร เพราะว่าความเคยใจ ใจมันเคย ใจมันรู้ๆ อยู่ว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ วิชาการบอกอย่างนี้

แต่เวลาจิตมันดูดดื่มเห็นไหม ความไม่รู้เท่ากับปัจจุบันนั้น แต่ถ้าเอาคนที่ ๒ คนที่ ๓ มา นี่พูดถึงกรรม มันกรรมของเด็กด้วย กรรมของผู้ที่ที่มาเสวยภพนั้น ทำไมคนที่ ๒ ไม่มาเกิดเป็นคนแรก ทำไมคนที่ ๓ ไม่มาเกิดเป็นคนแรก ทำไมคนแรกต้องมาเกิดก่อน ทำไมคนที่ ๒ ถึงตามมาทีหลังเห็นไหม พูดถึงว่าคนที่ ๒ ไม่มีวาสนาเหมือนคนแรกไง จะว่าอย่างนั้น มันไม่ได้ทำบุญมาเท่ากับคนแรก คนแรกทำบุญมามากกว่า แล้วอย่างนี้ใครก็รู้ แต่เวลาทำ ทำได้อย่างนี้ไหมล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ปริยัติใครก็รู้ แต่เวลาทำ ทำได้อย่างนั้นไหมล่ะ ถึงว่ากิเลสมันอยู่ พร้อมกับความคิดเราออกไป กิเลสมันอยู่ที่ใจ เวลาเรามาประพฤติปฏิบัตินี้แสนยากนะ นี่ถือศีลนี่ ขอศีลกันแต่ไม่เคยปฏิบัติตามศีล เพราะว่าถือรูปแบบไง แต่ไม่เข้าถึงเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระคือการทำตามนั้น ฉะนั้นเราถึงเอาเนื้อหาสาระไง

อย่างเช่น วันนี้ไม่ให้ศีล พอไม่ให้นี่ศีลยกกลับไปเลย ยกกลับไป ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาล ฤๅษีชีไพรอยู่ในป่าจะขอศีลจากใคร เพราะพระยังไม่เกิด สมัยโบราณพระยังไม่มี แล้วฤๅษีในป่าถือศีล ๘ จะขอศีลจากใคร เพราะว่าวิรัติขึ้นมา คือว่าตัวเองกำหนดว่าไม่ทำอย่างนั้น ไม่ต้องมีรูปแบบไง เข้าเนื้อหาสาระเลยว่าฉันเป็นผู้ไม่ทุศีล แบบว่าถือพรหมจรรย์ เห็นไหมศีลเกิดแล้ว

แต่พวกเรานี้ทำไม่ทำไม่เกี่ยว แต่ไปวัดพระให้ศีลก็รับศีลทุกคน รูปแบบว่า ก็ฉันเป็นชาวพุทธ ฉันได้รับศีลแล้ว ฉันมีศีล มีในรูปแบบ แต่ไม่เข้าถึงเนื้อหาสาระไง เนื้อหาสาระมันอยู่ตรงนั้น

ฉะนั้นย้อนกลับมาที่พระปฏิบัติ พระปฏิบัติทำไมต้องไปอยู่ในที่ทุกข์ยากอย่างนั้น ทำไมต้องไปอยู่ในที่สงัดอย่างนั้น ทำไมพระปฏิบัติไม่มาอยู่ในเมืองจะได้สุขสบาย พระปฏิบัติทำไมต้องเป็นอย่างนั้นก่อน ต้องขึ้นต้นตรงนั้นสิ ขึ้นต้นตรงนั้น เพื่อจะบีบรัดให้กิเลสแสดงตัวไง

อย่างเช่น เราถือศีลมันลำบากเห็นไหม ถือศีลนี้ โอ้โฮ ศาสนายุ่งมาก ศาสนาพุทธเรายุ่ง ปล่อยตามสบายไม่ได้ แล้วก็ไปโทษศาสนา แต่ไม่ได้โทษว่าความเคยใจ ไอ้กิเลสมันขัดข้อง กิเลสต่างหากยุ่ง ศีลไม่ยุ่งหรอก ธรรมะเป็นของดี แต่กิเลสมันยุ่ง กิเลสมันต่อต้าน มันไม่พอใจ มันขัดข้อง

พอมันขัดข้อง มันแสดงตัวออกมา เราไม่รู้ว่ากิเลสมันต่อต้านไง เพราะกิเลสเป็นเรา เรากับกิเลสเป็นอันเดียวกัน เพราะความคิดของเรา เราอึดอัด เราไม่สบายใจ เอ้ย!!! เรานี่ แสดงว่าธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ดี ศีลไม่ดี ศีลมันบีบเรา มาบีบที่ไหน มันเป็นข้อเขียน มันเป็นคำสอนอยู่ เราโน้มมาเป็นของเรา เราโน้มมาใช้ มันถึงเป็นประโยชน์ขึ้นมา

เหมือนยา เห็นไหม ที่ครูบาอาจารย์ว่า ยาอยู่ในขวด เราอ่านฉลากยา แต่เราไม่ได้กินยา นี่ก็เหมือนกัน เรารับศีลก็เหมือนกับเราอ่านฉลากยา ถ้าเรากินยา ยาก็ขมก็ฝาด แต่ยามันให้ผล เรางดเว้น นั่นนะ เรางดเว้น นั่นนะเรากินยา พอเรากินยาเข้าไป พอยากับโรคมันต่อสู้กันเราก็โทษยาแล้ว ยาไม่ดีอย่างนั้น แต่ไม่คิดว่าโรคมันจะหายนะ

ถึงว่าทำไมพระต้องไปอยู่อย่างนั้น พระต้องไปวิเวกอย่างนั้น พระทำไมต้องออกธุดงค์เพราะบีบรัดให้ตรงนี้ออกมาไง เพราะเวลาทุกข์มันออก ดูอย่างเช่นฝึกทหารสิ เขาจะฝึกจนเหงื่อไหลไคลย้อยเลย แล้วก็สั่งมันอีก สั่งให้มันทำตาม เพราะพอมันเหนื่อยแล้ว มันจะต่อต้านไง

นี่ก็เหมือนกัน พอเข้าป่านี่มันไปกลัวผี กลัวสัตว์ กลัวเสือ กลัวอด กลัวอยาก ไอ้ความต่อต้านนั้นกิเลส มันจะไม่ยอม เข้าเมืองเถอะ ไปเถอะ กลับเถอะ ไม่ไหวแล้วกลับเถอะ

กลับน่ะกลับไปไหน กลับเข้ามาวนเวียน กลับมาให้กิเลสมันแบบว่าเป็นสัตว์สังคมไง มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หวังพึ่งกัน พออยู่ในสังคมมันนอนใจ แต่พอมนุษย์มันแยกตัวออกไปเหมือนสัตว์ป่า พอสัตว์ป่ามันแยกตัวออกไปมันจะว้าเหว่ มันจะกลัวภัย มันจะกลัวทุกอย่าง ความกลัวภัยนั่นล่ะ

ความกลัวคืออะไร ความกลัวที่เกิดได้จากใจคืออะไร คืออาการของความหลอกทั้งนั้น เวลาเราตายไป มันยิ่งกว่านี้ไหม เวลาเราตายไป มันยิ่งกว่าอยู่ในสภาพนั้นอีก เพราะตายไปมันต้องตกไปในกรรมของตัว

ฉะนั้นเวลาคนเราจะตายถึงได้กลัวมาก ไอ้นี่ไม่ใช่ตาย ไอ้นี่จะมาแก้กิเลสให้มันตาย จะมาฆ่ามันไง จะมาดูหน้ามันไง ถ้าอยู่ในสภาพแบบนั้นถึงจะเห็นหน้ากิเลส เพราะกิเลสมันถึงจะแสดงตัวออกมาไง

เป็นมาแล้ว! บวชพรรษาแรกเลย เนสัชชิก! เขาบอกว่า “ให้เข้าป่าช้าสิ!” เขาท้าไง เดินเข้าป่าช้าจนขาสั่น เดินไปเหมือนกัน กลางคืน คนเดียวเดินเข้าไปในป่าช้า มีศพเต็มไปหมด จนขาเขอนี่สั่นหมดเลย ทำไมมันสั่นล่ะ มันกลัว มันแสดงออก นั่นล่ะ อย่างนั้นมันถึงเห็นออกมา ทำไมกลัว? กลัวเกิดจากอะไร? แล้วไปจริงๆ แล้วมันมีโทษไหม ไม่เห็นมีอะไรเลย

แต่ความกลัวมันเกิดขึ้นมา ถึงว่านี่กลัว กลัวอะไร ความกลัวแสดงออก นั่นคืออาการเราเริ่มจับไง คืออาการสั่นไหว เช่น คลื่นวิทยุมา มันไม่มีเครื่องรับมันไม่รู้เรื่องอะไรเลย คลื่นวิทยุมาเราไม่เห็นอะไรเลย โทรศัพท์มาเราไม่เห็นคลื่นวิทยุเลย แต่ถ้ามีคลื่นรับเห็นแล้ว มันแสดงตัวออกแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ปกติทุกคนว่าตัวเองดี ตัวเองกล้าหาญหมด ตัวเองนี้แน่นอนหมด แต่เวลาเจอสภาพมันไหวขึ้นมา มันกลัวนั่นนะ ไอ้ความกลัวมันจับอาการไง จับที่ว่าจับรูปของใจไง แล้วนี่ไง..นี่ไง..ความที่มันไหวออกมาไง แล้วก็ย้อนกลับไป ไหนว่ากลัว กลัวเพราะอะไร กลัวโดยไม่มีเหตุผล

การทำความดี เดี๋ยวนี้ต้องกลัว ทำไมมันทำความพอใจมันไม่เห็นกลัวอะไร พอเราทำความดี เราขึ้นไป เพื่อจะค้นหาตัวตนของเราเอง ค้นหาตัวตนเพื่อมาชำระสะสาง ค้นหาตัวตนเพราะถ้าการจับอย่างนี้คือจับตัวตนได้นะ เรานี้ไม่เคยเห็นตัวตนเราได้เลย เราว่าเราเป็นนาย ก. เป็นนาย ก. เฉยๆ แต่ไม่เคยเห็นตัวนาย ก. ที่แท้จริง

พออาการเคลื่อนไหวขึ้นมาของใจ แล้วใจจับใจได้นั่นคือเจอตัวตน จับตัวตนนี้เป็นตัวตั้ง ตัวตั้งแล้วก็เอาการพิจารณาเข้าไปถึงจะเห็นตัวตน ตัวตนที่โสโครกไปด้วยกิเลสด้วย ไม่ใช่ตัวตนที่สะอาดนะ จับตัวตนนี้แล้วมาชำระสะสางกัน นี่คือเริ่มต้นการปฏิบัติ

ถ้าปฏิบัติเริ่มจากตรงนี้ได้ถึงจะเริ่มนับหนึ่ง นับหนึ่งนับจากตรงนี้เข้าไป เขาถึงต้องการเข้าป่าไง เพื่อให้ตรงนี้ช่วยบีบช่วยรัด ให้กลับมาหาตัวตนไง นี่ปฏิบัติมาเห็นไหม นั่งกันไปเถอะ ดูกันไปเถอะ เห็นตัวตนหรือยัง? แม้แต่รวมสมาธิมา มันก็แค่รวมสมาธิเฉยๆ ตัดไม่ได้นะ เพราะมันสงบเข้ามา

เช่น มือนี้สกปรก ล้างน้ำมือนี้ถึงจะสะอาด แล้วมือนี้จับมือได้หรือยัง ถ้ามือนี้เกา นี่จับได้ตัวตน ความรู้สึกไง อ๋อ.. นี่ไง อ๋อ.. มือ นี่ไงมือ โอ่.. ความสงบเกิดขึ้น อันนี้ผ่ามือเห็นไหม จับตัวตนได้ถึงจับอาการของมันอีกทีหนึ่ง แต่พอสงบลงนั้นมันเป็นความสุขเห็นไหม เป็นความสุขถึงว่าสมาธิ สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิไง เพราะสมาธินี้มันมีอยู่แล้ว เขาสงบเฉยๆ แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย

แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธินี่เห็นไหม สงบมาแล้วมันจะมีอาการจับอาการได้ ถึงเอาอาการนั้นมาใคร่ครวญไง เอาอาการมาใคร่ครวญว่าดีอย่างไร ชั่วอย่างไร ความติด ความยึดอย่างไร ความกลัวนี้มันจะให้โทษไง ความกลัวนี้นะ มันจะให้โทษกับใจ ให้โทษหมายถึงว่ากลัวแล้วมันจะตื่นเต้น

อย่างเช่น เรากลัวอย่างนี้ เราวิ่งหนี ตกเหวก็ตาย ให้โทษหรือไม่ให้โทษ เราอยู่ในป่า เราไปเจอสัตว์ กลางคืนเราวิ่งไปเลย ตกเหวไป ตายหรือไม่ตาย..ตาย ความกลัวเห็นไหม มันจะให้โทษ แล้วความกลัวนี้ จะให้เราคลายจากความดีด้วย เช่น เราอยู่ในป่าเรากลัวแล้วเราหนีออกมา เราก็ไม่ได้ความดี กลัวแล้วทน กลัวแล้วสู้

หลวงปู่อ่อน ลองไปอ่านประวัติหลวงปู่อ่อนสิ บวชปีแรกเลย ไปอยู่ในป่ากลัวผีมาก ปลูกกุฏิไว้ในป่าไง ปลูกกระต๊อบ ตัดสินใจนะ จะเดินจงกรมมันไม่กล้าลงจากกระต๊อบนะ เวลากลางคืน ไม่กล้าลงหรอก กระโดดลงจากกระต๊อบนะ กระโดดลงทางหน้าต่าง พอกระโดดลงตุ๊บ มันก็วิ่งขึ้นบันได กระโดดลงตุ๊บ วิ่งขึ้นบันได หลวงปู่อ่อนไปอ่านได้ เราอ่านแล้ว โอ้โฮ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นมาทุกองค์ ครูบาอาจารย์เราก็เป็นมาก่อน ไม่มีใครไม่เคยกลัวมาก่อนหรอก ความกลัวนะ

อย่างเช่น อดอาหาร ท้องไม่หิวหรือ...หิว ความกลัว ความหิว ความกระหายนี้ มันเป็นปกติ มันต้องมีอยู่ แต่พวกเราไม่เคยจับมาเป็นประโยชน์ พวกเราไม่เคยจับอาการอย่างนี้มาเป็นประโยชน์เลย เราไปมองแต่ว่าแก้วแหวนเงินทอง อาชีพของเราเป็นประโยชน์ แต่เราไม่มองเรื่องความคิดของเรานี้มันจะเป็นประโยชน์ เป็นปุ๋ยที่จะทำให้เราเป็นคนดีขึ้นมาได้ ไม่เคยมอง

อย่างชีวิตนี้เราไม่เคยมอง เราไม่เคยมองที่ร่างกายของเรา ไม่เคยมองภายในเลย ไปมองแต่ภายนอก เราไม่คิดว่าอันนี้มันจะเป็นประโยชน์ อย่างเช่น อาการไข้ เราว่าอาการไข้นี้ไม่เป็นประโยชน์ ใช่ไหม อาการไข้นี้ไม่อยากให้เป็น แต่อาการไข้นั้นมันเตือนแล้ว ว่าร่างกายนี้วิการแล้ว โรคจะเกิดแล้ว

อย่างเช่น ปวดนี้เพราะอะไร จะได้สาวเข้าไปหาความปวด ความปวดนี้เป็นคำเตือนไง เตือนว่าอวัยวะของเรา หรือว่าโรคภัยไข้เจ็บมันเริ่มรบกวนเราแล้วนะ มันจะเตือน มันจะบอก แล้วเราจับอันนั้นแล้ว เราต้องมาวินิจฉัย มาวิเคราะห์โรค ไม่ใช่ว่าพอมันเกิดก็ไม่ชอบ โน่นก็ไม่ชอบ ลบหมด

อาการกลัวก็เหมือนกัน นี่พูดถึงอาการกลัว อาการที่ต้องการสถานที่วิเวกไง สถานที่ต้องออกปฏิบัติ นี่พูดถึงพระไง ถึงต้องหาสถานที่อย่างนั้น เพื่อมาสร้างบุคลากรของศาสนาเรา เพื่อให้ศาสนามันมั่นคง ถึงต้องวิ่งแสวงหา แสวงหาเราก็แสวงหาประสาพวกเรา แต่นี่มันเป็นไป ถึงเวลามันเป็นไปแล้วเราต้องมีที่เอาไว้

นักฟุตบอล นักกีฬาทุกคนจะเป็นนักกีฬาขึ้นมาได้ต้องมีการฝึกซ้อม ขนาดนักกีฬาที่มีชื่อเสียงแล้ว ไม่ได้ฝึกซ้อมเขายังไม่ให้ลงสนามเล่นเลย นี่การฝึกซ้อมไง ศาสนาก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเดินจงกรมจนวันตาย หลวงปู่มั่นเดินจงกรมจนวันตายนะ แม้แต่เป็นผู้ที่สำเร็จแล้วก็ยังต้องบริหารร่างกาย บริหารธาตุขันธ์ให้มันบาลานซ์กัน ให้อยู่เป็นสุขไง

ความเพียรของพระอริยเจ้าไง เพื่อให้ธาตุขันธ์มันปล่อย มันอยู่สบายๆ เพราะนี่มันเป็นก้อน ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันเป็นก้อนมารวมตัว มันมัด มันรัด ทีนี้พอคลายออกมันก็สบาย ขนาดนั่งยังต้องทำความเพียร

แล้วนี่พระปฏิบัติ แล้วพระเริ่มต้นทำไมถึงไม่ต้องอาศัยสถานที่แบบนั้นเพื่อจะเริ่มต้นความเพียรของเราขึ้นมา นั่นมันเป็นอย่างนั้นไป..ถึงว่าไป ไปดูเขา ดูให้ดูเป็นอย่างไรไป ถึงบอกว่าบัณฑิตคบบัณฑิตไง นั่นศาสนธรรม อยากให้ไปดู ไปดูไว้เฉยๆ แล้วต่อไปคราวนี้ไม่ล่ะ ตอนนี้เขามาดูเรา ต่อไปเขาจะมาดูเรานะ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)