ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมะเปรียบเทียบ

๑๗ ต.ค. ๒๕๕๓

 

ธรรมะเปรียบเทียบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


 

ถาม : ๑๔๘. คำถามเมื่อวันก่อน มันถามของเก่าไง แล้วขออนุญาตเอากลับมาอีกรอบ

๑. จากที่ได้ถามเรื่องคำบริกรรม สุดท้ายหนูจึงได้ตัดสินใจเลิกบริกรรม แล้วจิตคอยตามรู้ดูอาการพองยุบที่ท้องค่ะ เพราะลองไปที่คำบริกรรมอย่างเดียว ไม่ดูอาการแล้ว อย่างไรหนูก็มีความรู้สึกอาการพองยุบอยู่ดีค่ะ (ยิ่งเวลาความคิดฟุ้งซ่านจนจิตหยุดสงบลง จิตจะกลับไปดูอาการยุบพองอย่างชัดเจนมาก) แต่พอเลิกบริกรรมแล้วจิตคอยตามดูอาการพองยุบ จิตก็ไม่ได้คิดถึงคำบริกรรมอีกต่อไป แต่ก็ยังนั่งต่อไปได้ แล้วจิตก็สงบเร็วขึ้นค่ะ (เพราะจ่ออยู่กับอาการเพียงแค่ที่เดียว ไม่ต้องคอยบริกรรมยุบหนอพองหนออีก)

หนูเกรงว่าจิตที่สงบจะกลายเป็นมิจฉาสมาธิ ดังนั้นจึงอยากทราบว่า ผิดไหมคะที่จะเลือกดูอาการพองยุบไปอย่างเดียว โดยไม่บริกรรมเลย เพราะหนูพยายามให้จิตที่มีคำบริกรรมพุทโธแล้ว อย่างไรจิตก็กลับมาอยู่ดีค่ะ แล้วถ้าผิดควรแก้ไขอย่างไร แต่จริงๆ หนูทำแล้วจิตสงบเป็นสมาธิดีจริงๆ ค่ะ

 

หลวงพ่อ : เห็นไหม นี่เขาบอก เราจะให้เปรียบเทียบ.. ความเปรียบเทียบของมัน นี่ที่เขาบอกว่าเริ่มต้นตั้งแต่ที่ว่ามีคำบริกรรมไง แล้วมันก็ยุบหนอพองหนอ มันติดของมัน เห็นไหม มีคำบริกรรม แล้วยุบหนอพองหนอก็คือคำบริกรรมเหมือนกัน

ทีนี้เพียงแต่ว่าคำบริกรรม เราบอกว่าสิ่งที่เขาบริกรรมกัน คำว่าบริกรรมนี่มันเป็นคำบริกรรมของกรรมฐานเรา ! กรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราต้องมีคำบริกรรม คำว่าคำบริกรรมนี้คือจิตมันมีที่เกาะ

แต่ในความหมายของเขา คำว่ายุบหนอพองหนอ หรืออาการเคลื่อนไหวรู้นี่เขาไม่ใช่คำบริกรรม เขาบอกว่านี่เป็นวิปัสสนา นี่คือการใช้ปัญญา.. นี่ไงเริ่มต้นมันผิดตรงนี้ไง ! ตรงที่ว่าเริ่มต้นเราคิดว่าอันนี้เป็นวิปัสสนา

พอเริ่มต้นคิดว่าอันนี้เป็นวิปัสสนา ก็เหมือนกับเริ่มต้นเราบอกว่าตอนนี้เราเป็นเศรษฐีกันหมดแล้ว นั่งอยู่นี่เป็นมหาเศรษฐีหมดเลย แล้วมันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ... มันเป็นไม่จริงหรอก แต่ถ้าเราบอกว่าถ้าเราอยากเป็นมหาเศรษฐีใช่ไหม เราต้องทำมาหากิน เราต้องตั้งหลักของเรา แล้วอนาคตเราจะเจริญต่อไปข้างหน้า

นี่ก็เหมือนกัน คำบริกรรมนี้มันแค่สมถะ มันไม่ใช่วิปัสสนาหรอก ! ฉะนั้นคำว่าสมถะนี่จิตมันจะสงบเข้ามา นี่เขาบอกว่า “หนูเกรงว่าสิ่งที่สงบขึ้นมาจะเป็นมิจฉาสมาธิ” ถ้ามันเป็นความสงบได้มันไม่เป็นมิจฉา ถ้าสงบได้ถ้าสงบจริงนะ

ถ้ามีความสงบจริง.. สงบจริงหมายถึงว่า มีสติ ระลึกรู้สติ ระลึกรู้ความรู้สึกเราตลอดเวลา แล้วมันมีความรับรู้ เห็นไหม มันมีความรับรู้ ไม่ใช่ว่าว่างๆ ว่างๆ.. ว่างๆ อย่างนั้นเป็นอาการหมด อาการคือเราพูดว่าว่าง แต่ตัวเราเอง เราไม่รู้จักตัวเราเองไง

ฉะนั้นสิ่งที่เขาถามว่า “เป็นมิจฉาสมาธิไหม.. หนูเกรงว่าจะเป็นมิจฉาสมาธิ ดังนั้นจึงอยากทราบว่าผิดไหมถ้าจะเลือกอาการยุบหนออย่างเดียวโดยไม่มีคำบริกรรม”

อาการยุบหนอนะถ้าเราคิดว่ามันเป็นคำบริกรรม ไม่คิดว่ามันเป็นความจริงเลย ถ้าบอกว่ามันเป็นคำบริกรรม.. เป็นคำบริกรรมแล้วมีสติอยู่ ! มีสติอยู่ เห็นไหม เรามีสติอยู่ แล้วถ้ามันเห็นแล้วนี่จิตมันจะปล่อยเข้ามา

นี่เขาบอกว่า “ถ้าหนูพยายามใช้จิตที่บริกรรมพุทโธแล้ว อย่างไรจิตก็กลับมา” กลับมา ! กลับมาแล้วมีความคิดอย่างไร พุทโธอย่างไรจิตมันก็ยังกลับมาอยู่ดี กลับมาเพราะความเคยชินไง กลับมาอยู่กับอาการยุบอาการพอง พออยู่กับอาการยุบอาการพองแล้วมันชัดเจน

มันชัดเจนเพราะอะไรล่ะ.. เมื่อก่อนมันชัดเจนอย่างนี้ไหมล่ะ.. เมื่อก่อนมันไม่ชัดเจนอย่างนี้เพราะเราไม่มีสมาธิไง เราคิดว่าอาการยุบหนอพองหนอนี้เรามองมันเป็นไตรลักษณ์ มันมองเป็นวิปัสสนา พวกนี้เขาคิดว่าเป็นวิปัสสนา

แล้วเขามีความยึดถือของเขา ! เขามีความยึดถือของเขาว่าคำบริกรรมหรือกำหนดพุทโธนี่มันเป็นสมถะ แล้วในขบวนการของเขาบอกว่าสมถะมันไม่เกิดปัญญา เขาห่วงอย่างเดียวคือกลัวว่ามันไม่เกิดปัญญา ฉะนั้นปัญญาของเขามันก็เลยย้อนกลับ.. ย้อนกลับไปอยู่ในสามัญสำนึก ย้อนกลับมาอยู่ปัญญาของโลกียปัญญา มันจะอยู่แค่นี้แหละ มันไปไหนไม่ได้ มันอยู่ในมิตินี้ไงในมิติของสมถะ ในมิติของโลกไง.. ในมิติของโลกคือในมิติของเรา มันจะเกิดความจริงไม่ได้ !

แต่ถ้าเราปล่อยให้มันสงบ เห็นไหม เราปล่อยให้มันสงบเข้าไป มันจะไปสู่อีกมิติหนึ่ง พอมันเกิดอีกมิติหนึ่งแล้วนี่เราถึงบอกว่ามันชัดเจนมาก มันรู้มาก มันดีมาก มันจะดีไปหมดทุกอย่างเลยเพราะมันเห็นของมัน

นี่มันเป็นข้อเท็จจริงของมันอยู่แล้ว ! ฉะนั้นให้ใช้อะไรก็ได้ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พระพุทธเจ้าบอกว่าขอกรรมฐาน ๔๐ ห้อง

ศีล สมาธิ ปัญญา.. สมาธิ ! สมาธิ ! สมาธิ ! คำว่าสมาธิคือตัวจิตนั่นแหละ ! “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ผ่องใสนี่ผ่องใสขนาดไหนนะ นี่มันจะเป็นสัมมาสมาธิ ! แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมาแล้วมันจะถูกต้องของมัน

นี่พูดถึงมันเป็นคำถามเก่า แล้วเอามาถามใหม่...

 

ถาม : ๒. คือก่อนที่หนูรู้จักหลวงพ่อ หนูก็นั่งสมาธิของหนูมั่วไปเรื่อย ตามแต่ความทุกข์จะย่างกราย โดยก่อนหน้านี้หนูใช้วิธีดูจิต ตามความรู้ความคิดที่แว็บเข้ามาแบบรู้เฉยๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ตอนนั้นหนูก็ดูอาการพองยุบแบบบริกรรมไปด้วยค่ะ จนเมื่อไม่นานมานี้หนูรู้สึกว่า รู้แค่ความคิดความรู้สึกอย่างเดียวอย่างไรมันก็ไม่หาย คือจิตยังคิดอยู่ แล้วใจก็ตกอยู่ในความรู้สึกต่างๆ อยู่ดี

จึงย้อนกลับไปดูว่าอะไรทำให้คิด และทำไมจึงคิด แล้วทำอย่างไรจึงจะหยุดคิด จนเห็นอาการที่ยึดเกาะความคิดความรู้สึกนั้น ถ้าหากเป็นความรู้สึกที่รุนแรง เช่นทุกข์มากๆ ก็จะเห็นมันรู้สึกมากเข้าๆ จนบีบคั้น ก็จะมองพิจารณาไปและเห็นว่าที่เราทุกข์มากๆ เพราะเราไปยึดมันเอง มันก็คลายอาการและสงบลงได้ทันทีค่ะ จากนั้นจิตก็จะไปกำหนดรู้อยู่ที่พองยุบเองโดยที่ไม่ได้บังคับค่ะ

อยากทราบว่านี่คือปัญญาอบรมสมาธิใช่หรือเปล่าคะ ?

หลวงพ่อ : นี่ถ้ามันทำถูกต้อง เห็นไหม ถ้ามันทำถูกต้องนะ... เวลาพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน นี่แม่เหล็ก แกนของโลกไง ความดึงดูดของโลก มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน ใครจะปฏิเสธอย่างไร มันก็ปฏิเสธกันที่ลมปาก แต่ข้อเท็จจริงนี่ความดึงดูดของโลก มวลสารในโลกนี้ มวลอากาศต่างๆ นี่มันมีทั้งนั้นแหละ มันเป็นธรรมชาติของมัน.. มันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน

จิตของคนมันเป็นโดยธรรมชาติของมัน ! ใครจะพูดไปอย่างไร นี่มันอยู่ที่อาการความรู้สึกของมันพูดออกไป เห็นไหม

นี่ไงที่เขาพูดถึงว่า “ตอนนั้นหนูก็รู้สึกถึงอาการยุบหนอด้วยเหมือนกัน จนเมื่อไม่นานมานี้หนูรู้สึกว่า รู้แค่ความคิดความรู้สึกอย่างเดียวอย่างไรก็ไม่หาย”

อย่างไรก็ไม่หาย... นี่ถ้าคนเข้าไปเจอแล้วมันจะรู้ของมันเอง !

“คือใจยังคิดอยู่ แล้วก็ตกไปอยู่ในความรู้สึกต่างๆ อยู่ดี จึงย้อนไปดูว่าอะไรทำให้คิด” นี่ไง ปัญญาอบรมสมาธิมันเกิดตรงนี้ไง !

“อะไรทำให้คิด ! แล้วทำไมจึงคิด ! แล้วทำอย่างไรจึงหยุดคิด ! จนเกิดอาการที่ยึดเกาะตามความรู้สึก แล้วถ้าความรู้สึกนั้นรุนแรง ความทุกข์มากก็จะเห็น”

นี่ไง ! ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่เราถามตัวเราเองไง ความคิดมันมาจากไหน.. มันคิดเพราะเหตุใด.. แล้วคิดขึ้นมานี่มันมีเหตุผลอย่างใด.. ถ้ามันมีสติปัญญาอย่างนี้ นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ! ผลของมันคือการปล่อยวาง

มันเป็นข้อเท็จจริงของมันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ แล้วถ้าทำนี่มันก็อยู่ที่จริตนิสัย นี่ปัญญาชนทำอย่างนี้ เพราะปัญญาชนต้องมีสติปัญญา ต้องมีวุฒิภาวะพอสมควร เพราะอะไร เพราะความคิดของเรามันเกิดขึ้นมาเอง เราเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว

ทำไมถึงคิด ก็บอกว่ามันอยากคิดก็คิดไง แล้วพอเรามีสติก็หยุดไง... นี่คืออาการนะ ไม่ใช่ตัวจริงนะ ถ้าตัวจริง นี่พอมันเข้าไปเห็น มันจะไปเห็นจริงของมัน เห็นจริงมันจะลึกกว่านี้ ถ้าเห็นจริงลึกกว่านี้มันจะรู้ของมัน เห็นไหม

ความรู้สึก.. นี่กลับไปดูว่าอะไรทำให้คิด ! แล้วทำไมจึงคิด ! แล้วทำอย่างไรจึงหยุดคิด !

“มันรู้สึกมากเข้าจนบีบคั้น” นี่พอเวลาเป็นข้อเท็จจริง มันจะมีความรู้สึกความบีบคั้น ความจริงนี่ความบีบคั้นหรือความต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น อาการของใจมันจะมีของมัน มันต้องตามเข้าไป รู้ตามความเป็นจริงของมัน

ถ้ารู้ตามความเป็นจริงของมัน เห็นไหม ที่เขาบอกว่า “เมื่อพิจารณาต่อไปจะเห็นว่า ความทุกข์ต่างๆ ที่เราเห็นนี้เพราะเราเข้าไปยึดเอง เมื่อมันคลายอาการออกมันก็สงบทันที” มันคลายอาการออก ! พอมันคลายอาการออก นี่ของที่มันคลายออก มันปล่อยวางแล้วก็กลับไปอยู่สภาพเดิมของมัน

กลับไปสู่สภาพเดิมของมัน นั่นคือตัวจิตแท้ๆ ไง ! ตัวจิตมันปล่อยหมดแล้วมันก็ปล่อยไปสู่ความสงบไง ก็เท่านั้นน่ะ !

ถึงบอกว่าการปฏิบัติทุกๆ แขนง ทุกๆ แนวทางที่ทำ ผลของมันคือสมถะหมดแหละ แต่ในพุทธศาสนาบอกว่ามีสมถะกับวิปัสสนา พวกเราก็เคลมเลยว่าถ้าใช้ปัญญา ใช้ความรู้สึกนึกคิดแล้วจะเป็นวิปัสสนา.. จะเป็นวิปัสสนา คิดกันไปเอง ! คิดกันไปเองไม่เป็นความจริง

แต่พอเวลาคิดไปเองนะมันไม่มีใครรู้จริงขึ้นมา มันก็ไม่มีใครตรวจสอบ ไม่มีใครโต้แย้งใช่ไหม ก็ว่าตัวเองคิดถูก.. คิดถูกทั้งนั้นแหละ พอว่าตัวเองคิดถูกแล้ว เราก็ไปสร้างความว่างอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม นี่อารมณ์สร้างมันไปสร้างกันขึ้นมา พอสร้างขึ้นมาก็อย่างที่เราว่าเมื่อคืน เห็นไหม นั่นมันเป็นความเห็นผิด มีความเห็นผิดใช่ไหม

นี่สำคัญผิด ! เพราะมันสำคัญผิด พอมันสำคัญผิดก็ ! ก็ไปสร้างข้อมูลมารองรับความผิดอันนั้นไง ก็เลยว่ากันไปอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นอยากทราบว่านี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหมคะ.. ใช่ ! นี่แหละคือปัญญาอบรมสมาธิ..

มันมีสมาธิอบรมปัญญากับปัญญาอบรมสมาธิ.. หลวงตาท่านสอนไว้แล้ว.. ปัญญาอบรมสมาธิ ฉะนั้นคำว่าปัญญาอบรมสมาธิ เวลาจะสอนมันต้องสอนกันแบบว่าคนที่มีจริตนิสัยที่มีความรอบคอบ แต่ถ้าโดยทั่วไป.. โดยทั่วไปการทำงานทุกคนก็ต้องการสะดวกสบาย ใครมีลูกมีหลานก็ต้องการให้ลูกหลานตัวเองทำงานสะดวกสบายใช่ไหม

พุทโธนี่เป็นกำปั้นทุบดิน พุทโธ พุทโธ พุทโธมันแบบว่าเหมือนเราฝึกงานไง มอบงานให้เด็กไปแล้วก็ให้เด็กทำเลย พอให้เด็กทำเลยแล้วเราดูแลอยู่ห่างๆ นี่ได้ ! พุทโธ พุทโธ พุทโธมันไม่อันตราย เพราะมันยืนอยู่บนดิน มันยืนอยู่บนพื้นฐาน มันแบบว่าหกล้มคลุกคลานก็แค่นี้เอง แต่ถ้าเขาสร้างตึก ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้นขึ้นไป เราต่อนั่งร้านขึ้นไป แล้วให้เด็กไปทำงานอยู่ข้างบน ถ้าตกมามันแขนขาหัก ถึงเสียชีวิตได้

ความรู้สึก.. ปัญญาอบรมสมาธินี่มันใช้ปัญญา จิตเราเป็นนามธรรมอยู่แล้ว.. แล้วพอนามธรรม นี่นามธรรมเป็นภพ แล้วเราใช้ปัญญาในนามธรรมนั้นอีก มันก็เลยยิ่งละเอียดเข้าไปใหญ่ มันเหมือนกับเราไปทำงานอยู่บนที่สูงไง แล้วถ้ามันผิดพลาดได้.. ผิดพลาดได้คือมันสร้างภาพได้ไง มันเข้าข้างตัวเองได้ มันทำได้ทุกอย่างแหละ

แต่ถ้ามันมีจริตนิสัย เห็นไหม แหม.. อันนี้ถูกใจมาก “อะไรทำให้คิด ! แล้วทำไมจึงคิด ! นี่ไง” อะไรทำให้คิด ! ไล่เข้าไปสิ พอเราไล่เข้าไปแล้วนะ พระพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้เห็นจริงเราก็ไม่ซึ้งใจ

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร.. เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร.. มันดักเราไว้ชั้นนึงแล้ว บ่วงรัดคอไว้แล้ว

เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร.. มันบูชาหัวใจไง อยากให้รู้อยากเห็น อยากคิดอยากเป็นอยากไป มันเป็นพวงดอกไม้ล่อลวงไง ! ความจริงนี่รูป รส กลิ่น เสียงมันก็รัดจิตไว้แล้ว รัดคอไว้แล้ว.. มันรัดคอไว้ว่านี่ทำไมถึงคิด ! ทำไมถึงคิด ! เหตุใดทำให้คิด ! แล้วที่ว่าทำอย่างไรจึงจะหยุดคิด.. หยุดคิดนี่มันต่างอันต่างจริง

รูป รส กลิ่น เสียงนะมันก็อยู่ของมัน จริงของมัน จิตมันก็จริงของจิต มันไม่มีสิ่งใดสัมผัสแล้วยึดกัน ความคิดมันไม่เกิดหรอก.. ความคิดเกิดบอกเพราะมันสัมผัสกัน พอมันสัมผัสกันแล้วมันอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจว่ารูปอะไร เสียงอะไร รสอะไร.. อยาก ! พออยากนี่ความคิดก็เกิด

แล้วถ้าต่างอันต่างจริงนะ ดูสิเราอยู่ปกตินี่ก็มีลมพัด ลมพัดก็เสียงไงทำไมเราไม่คิดล่ะ เพราะเราไม่สงสัยไง แต่พอเสียงคนแว่วๆ นี่แหม เสียงอะไร.. เสียงอะไร.. นี่มันคิดไง

นี่ไงความคิดมันเกิดเพราะเหตุนี้ ! พระพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้ว โจทย์มันมีอยู่แล้วไง เพียงแต่ว่าเราทำไม่เป็น แล้วเราก็ไม่รู้ของมัน แล้วก็ไปเถียงกันปากเปียกปากแฉะ เถียงกันไปเถอะ เถียงไปจนตาย เพราะคนไม่รู้เถียงกัน

เหมือนคนตาบอดไง ใส่แว่นดำๆ หนาๆ นะ แล้วก็คุยแบบนักปราชญ์เถียงกัน แต่คนหูแจ้งตาสว่างนะเขาไม่เถียง.. เขาไม่เถียง เพราะพระพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้ว ! บอกไว้แล้ว โจทย์ในพระไตรปิฏกเขาบอกไว้แล้วว่าอะไรคือกิเลส อะไรคือธรรม บอกไว้ชัดเจน แต่พวกเราไปมั่วกันเองไง เอากิเลสมาเป็นธรรม แล้วเอาธรรมเป็นกิเลส

เอากิเลสเป็นธรรมไง พอใจก็เป็นกิเลส อย่างนั้นมันว่าเป็นธรรม.. แล้วธรรมะของพระพุทธเจ้านะบอกว่าเป็นสักแต่ว่า นี่เอามาเป็นกิเลสไง นู้นก็สักแต่ว่า นี่ก็สักแต่ว่า แต่กิเลสไม่สักแต่ว่านะ กิเลสมันขี่หัวอยู่ มันบอกข้างนอกเป็นสักแต่ว่านะ แต่กิเลสมันครอบหัวมันอยู่ เห็นไหม

ฉะนั้นสิ่งที่ตามความเป็นจริง.. นี่ข้อ ๑๒๘ เขาฟังธรรมะไปด้วย แล้วเขาปฏิบัติไปด้วย แล้วเขาบอกว่า “คำถามวันก่อนขออนุญาตกลับมาอีกรอบ” เพราะเราตอบไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วคำถามอันนี้กลับมา.. กลับมา เห็นไหม กลับมานี่เพราะมันเกิด มันเกิดที่ว่านี่ไง “อะไรทำให้คิด ทำไมถึงคิด แล้วทำอย่างไรจึงจะหยุดคิด... แล้วผลของมันก็ตอบออกมา” เห็นไหม ผลของมันก็ตอบออกมา.. นี่ไงมันคลายออกแล้วสงบทันที !

อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือเปล่าคะ.. ใช่ ! นี่ปัญญาอบรมสมาธิมันปล่อย แล้วทำอย่างนี้บ่อยๆ แล้วทำนี่พอมันปล่อย.. ปล่อยแล้วก็คิดอีก.. คิดอีกก็ปล่อยอีก.. เห็นไหม คิดอีกก็ปล่อยอีก.. ปล่อยอีกก็คิดอีก.. เราหนีตามสติไป เพราะคนเราเกิดมานี่หายใจตั้งแต่อยู่ในท้อง อยู่ในครรภ์มารดาก็หายใจนะ ออกมาก็หายใจนะ แล้วก็จะหายใจจนถึงที่สุด มันตายไปแล้วถึงจะหยุดการหายใจ

ความคิดนะ... จิตนี่ตั้งแต่มามันไม่เคยดับเลย ! นี่สันตติที่มันเป็นพลังงานอยู่นี้มันดับไม่ได้เลย จิตอยู่กับเราตลอดไป ฉะนั้นความคิดที่มันหยุดคิด เดี๋ยวมันก็คิดอีก คือมันเหมือนกับการหายใจไง มันไม่มีวันหยุดหรอก ! ความคิดนี้ไม่มีวันหยุดหรอก แต่เวลาสติเราทันนี่นะ.. สติเราทัน มันเป็นสัมมาสมาธินี่มันปล่อย ต่างอันต่างจริงไง

คำว่าต่างอันต่างจริง.. รูป รส กลิ่น เสียงมันก็จริงของมัน เสียงก็มีอยู่ รูปก็มีอยู่ ต่างๆ มันก็มีอยู่... นี่จิตของเราก็มีอยู่ แต่มันไม่สัมผัสกัน เห็นไหม มันต่างอันต่างจริง แล้วเวลาทำบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า จากปุถุชนจะเป็นกัลยาณปุถุชน

ปุถุชนคือคนหนา ไม่รู้ว่าสัมผัสคืออะไร กิเลสเป็นเรา.. เสียงเป็นเรา.. รูปเป็นเรา.. โอ๋ย.. เรารู้เสียง เดี๋ยวเราก็จะไม่รู้.. เหมือนนักเรียนไง อ่านน้อยๆ กลัวจะไม่ทันเขา จะอ่านให้มากๆ ไง ยิ่งอ่านยิ่งโง่ !

แต่พอวางแล้วกลับมาทำความสงบ แล้วกลับไปอ่านใหม่ มันจะได้ความเข้าใจ พอมีความเข้าใจแล้ว พอเราตามไปนี่มันจะหยุด ! จะหยุด พอหยุดแล้วเดี๋ยวมันก็คิดอีก มันคิดอีก ! มันคิดเราก็ใช้ปัญญาไป แต่พอเราชำนาญขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ให้คิดก็ได้.. ไม่ให้คิดก็ได้.. บังคับไม่ให้คิดก็ได้..

แต่บังคับไม่ให้คิดนะ คนภาวนาฟังนะ ถ้าเราไม่คิดๆ นี่มันจะไม่มีปัญญา พอไม่มีปัญญาปั๊บเราจะปล่อยให้มันคิด แล้วมีสติตามไป แล้วถ้าเราเหนื่อยปั๊บ เราก็มีสติตามให้มันหยุดได้ พอหยุดแล้วนี่เหมือนกับเราทำงานไง ถ้าอะไรยังสงสัยอยู่ เราก็ให้สิ่งนั้นเกิดมาแล้วเราได้ใคร่ครวญ.. ได้ใคร่ครวญ นี่แหละวิปัสสนาเกิดตรงนี้ เกิดตรงที่เราเป็นคนกระทำ เป็นคนที่พิจารณา

แต่ถ้าเป็นปุถุชน มันไม่ใช่เราเป็นคนพิจารณา เราเป็นปัญหาอันนั้นด้วย คือความคิดเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เราคิดเอง ทำเอง บริหารเอง ทุกข์เอง เจ็บช้ำเอง.. อันนี้เป็นเรื่องของสามัญสำนึก เป็นเรื่องของโลก

แต่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม หยุดก็ได้ ปล่อยก็ได้ วางก็ได้ แล้วให้คิดก็ได้ ต้องให้คิด ! ให้คิดขึ้นมาเพื่อแยกแยะหาเหตุหาผล.. หาเหตุหาผลถึงความเป็นไปได้ เห็นไหม นี่ปัญญามันเกิดตรงนี้ ! วิปัสสนามันเกิดตรงนี้ !

ฉะนั้นถึงบอกว่าถูกต้อง ! ถูกต้อง ! ถูกต้องแล้วทำไป มันจะแว็บอย่างไร มันจะเป็นอย่างไร มันจะมีอุปสรรคของมันไปเรื่อย อุปสรรคนี่มีตลอดไป เพราะเราเริ่มภาวนาใหม่ มันจะมีอุปสรรคของมันตลอดนะ อันนี้ไม่เป็นปัญหา

นี่เวลามันเปรียบเทียบกับความจริงไง เราเปรียบเทียบกับความผิดพลาดมา ความผิดพลาดคือเราปฏิบัติมา มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นเรื่องโลกียะ มันเป็นเรื่องโลกๆ แล้วพอมันเป็นธรรม.. “นี่ไงธรรมะเปรียบเทียบ” เปรียบเทียบเพราะจิตมันเป็นไง นี่คนเป็นจะรู้ แต่พอมันเป็นแล้วนี่มันเป็นมากหรือเป็นน้อย

ตรงนี้สำคัญนะ ! ถ้าเป็นมาก เห็นไหม พอเป็นแล้ว คำว่าเป็นแล้ว คือเหมือนกับถ้าเป็นเงินนะ เงินเป็นกระดาษ เอามาไว้ในกระเป๋าแล้วจะเป็นของเราตลอดไป แต่การประพฤติปฏิบัติมันเป็นนามธรรม คำว่าเป็นแล้วคือมันเป็นอยู่ในหัวใจของเรา แล้วจะเอาอีกทีนี่เอาที่ไหนล่ะ

แต่ถ้าเงินในกระเป๋าเรานะ เงินในกระเป๋าเรา จะเอาเมื่อไหร่เราก็ควักออกมามันก็เป็นเงินใช่ไหม เป็นวัตถุ.. แต่สิ่งที่เป็นแล้วนี่ เป็นแล้วมันไม่เป็นกับเราตลอดไปหรอก เราต้องฝึกอีก ชำนาญอีก.. ชำนาญอีก จนมันเป็นด้วยความชำนาญของมัน อันนั้นแหละ จากเป็นน้อยมันจะเป็นมากขึ้น.. เป็นมากขึ้น เก่งขึ้น ชำนาญขึ้น จนอย่างที่ว่าไง ไม่ให้คิดก็ได้.. ให้คิดก็ได้.. จะทำอย่างไรก็ได้

เพราะทำอย่างไรก็แล้วแต่ นี่อย่างนี้วิปัสสนาเกิดตรงนี้ เกิดเพราะเราบริหารจัดการจิตได้ เราบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ แต่นี่ส่วนใหญ่แล้วเราบริหารธรรมะของพระพุทธเจ้าไง รู้ตามตำราว่านี่เป็นอย่างนั้นๆๆ แต่ตัวเองไม่เห็นตัวเองไม่เป็น มันก็เลยไม่ใช่แนวปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมันจะเป็นของมันตามทำนองนี้ !

 

ถาม : ๒๔๙. “ปัญหาเกี่ยวกับการทำสมาธิ พอจิตนิ่งในระดับหนึ่งลมหายใจจะแผ่วเบาลงจนจับไม่ได้”

ผมนั่งสมาธิทำความสงบตามลมหายใจและพุทโธครับ ตามโอกาส ถ้าไม่ได้ใช้อย่างหนึ่งก็ใช้อีกอย่างหนึ่ง ผมนั่งสมาธิจนจิตรวมลงในระดับหนึ่ง ลักษณะอาการก็คือกำหนดรู้ตามลมหายใจไปเรื่อย พร้อมกับบริกรรมพุทโธ จนรู้สึกว่าลมหายใจสั้นเข้า สั้นเข้า ละเอียดเข้า ละเอียดเข้า..

ผลที่ได้ตอนนี้คือความสงบ สงบอย่างนี้มีหลายๆ อาการ เช่น

๑. โดยปกติจะถึงขั้นที่ ถ้ามีเสียงจะได้ยินเสียง.. ถ้ามีกลิ่นจะได้กลิ่น.. ถ้าไม่ได้รู้สึกชอบ ไม่ชอบ เช่นเมื่อหมาหอน เสียงฟ้าผ่า เสียงแมลงต่างๆ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรครับ คือจะเฉยๆ กับสิ่งที่มากระทบครับ แต่ยังมีเสียงนะครับ สิ่งที่รู้สึก คือรู้สึกว่าจิตมันไม่รับอารมณ์ตลอด เหมือนมันแว็บๆ ไประหว่างที่เราประคองไว้กับลมหายใจ พยายามประคองให้จิตอยู่กับลมหายใจ แต่บังคับไม่ได้จริงๆ พอมีเสียงจิตจะวิ่งไปหาเสียงตลอดทุกครั้ง เช่นเสียงแมลง จิ้งหรีดมันร้องเป็นจังหวะ จิตจะวิ่งไปเรื่อยๆ พยายามประคองก็ไม่สำเร็จครับ ลักษณะนี้ควรจะแก้ไขอย่างไร

หลวงพ่อ : ถ้าพุทโธก็ให้พุทโธชัดๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าลมหายใจก็ลมหายใจชัดๆ ไปเรื่อยๆ ระหว่างการฝึกหัด ! ระหว่างการฝึกหัดนี่เสียงมันยังได้ยิน เสียงยังไม่ตัด.. รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมารอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้แหละ

แล้วปฏิบัติขึ้นมานี่เราจะให้ต่างอันต่างจริง แต่จิตของเรามันเป็นยางเหนียว มันเป็นสิ่งที่ว่ารับรู้อารมณ์ มันรับรู้ตลอด มันจริงอย่างหยาบ มันจริงไม่ได้หรอก มันเหมือนกับหิวกระหาย มันต้องเกาะสิ่งใดเพื่อแสดงตนของมัน

แสดงตนนะ ! อาหารของใจ.. อาหารของใจ เห็นไหม ความรับรู้ต่างๆ เป็นอาหารของใจ อยากรู้อยากเห็น อยากเป็นอยากไป เพื่อแสดงใจของมัน เห็นไหม นี่มันถึงรักษาไว้ได้ยาก

ให้พุทโธไว้ชัดๆ ! พุทโธไว้ชัดๆ ! ให้มันจริงของมัน ความจริงมันมีอยู่แล้วแต่มันเป็นความจริงของโลก ความจริงมันมีอยู่ แต่มันเป็นสัญชาตญาณที่เขาทรงตัวของเขาอย่างนั้น

ถ้าเราเอาคำบริกรรม นี่เหมือนเด็กเลย เด็กเดินไม่เป็น เด็กหัดเดินมันเกาะสิ่งใดไว้ แล้วเราจับเด็กหันหน้าไปเกาะอีกอย่างหนึ่ง เดิมเขาเกาะอารมณ์ความรู้สึกของเขา เราก็ให้ไปเกาะในพุทโธ พุทโธ เห็นไหม ถ้าเกาะอารมณ์ความรู้สึก ก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกเรานี่แหละ เราก็พยายามพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ

เด็กก็เหมือนจิต เด็กคือจิต จิตเวลามันยังช่วยตัวเองไม่ได้ เราก็หันเด็กไปเกาะพุทโธไว้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่แล้วมันจะสงบได้ !

นี่ข้อที่ ๑..

 

ถาม : ๒. จากข้อที่ ๑ ผมคะเนว่า ถ้าจะให้ถึงระดับอัปปนาสมาธิ ต้องตัดความรับรู้ทุกสิ่ง เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้กลิ่น ผมจึงพยายามจะจับลมหายใจต่อไป แต่ปัญหาที่ตามมาคือหลังๆ ลมหายใจมันแผ่วมาก จนแทบไม่สามารถจับได้ มันสั้นมากๆ แผ่วมาก พอมันสั้นมาก ผมเลยไม่สามารถประคองจิตให้แนบกับลมหายใจได้อย่างชัดเจนเหมือนตอนแรกๆ ที่ทำสมาธิ ผมควรแก้ไขอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : เพราะจิตมันยังหยาบอยู่ ลมหายใจมันยังหยาบอยู่ มันก็ชัดเจนมาก.. พอจิตมันละเอียดเข้าไปนะ จิตมันละเอียดเข้าไป ลมหายใจมันต้องชัดเจนมากขึ้น !

ลมหายใจชัดเจนนะ.. ขณะที่ลมหายใจชัดเจน ถ้าจิตมันลงไม่ได้นะ บางทีภาวนาไปนี่จิตมันจะกึ่ง.. กึ่งหมายถึงว่าเวลาลงอัปปนาสมาธินี่

เวลาขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนานี่ เวลาเป็นขณิกะนี่มันรอบรู้ ลมหายใจจับต้องได้ สิ่งต่างๆ จับต้องได้.. ถ้ามันลงอัปปนาสมาธิไม่ได้นะ เวลาเราพุทโธ พุทโธไป หรือเรากำหนดลมหายใจไป นี่ลมหายใจจะใส.. ใสขณะไหนก็ใส อยู่อย่างนั้นแหละ

เราต้องลมชัดๆ ชัดๆ เพราะจิตมันจะลง ! ลงนี่อำนาจคือคำว่ารวมใหญ่ “อัปปนาสมาธิคือรวมใหญ่”

ฉะนั้นสิ่งที่มันแผ่วมันสั้นนี่เพราะสติมันอ่อน แล้วเราทำงานอยู่ที่เดียว พอทำๆ บ่อยครั้งเข้า มันทำงานจนมันเผอเรอ คำว่าเผอเรอคือสติมันอ่อนแล้วเผอเรอ.. เผอเรอจับจิตไม่ชัดไง พอสั้นเข้าๆ ไม่สั้นไม่ยาว.. ลมคือลม จิตคือจิต ไม่มีอะไรเกี่ยวกัน !

แต่นี่เพราะว่ากิเลสของเรา กิเลสหมายถึงว่าความสันดานของใจมันจะทำของมัน แล้วมันคาดหมายของมัน พอทำไม่ได้นี่มันเห็นได้แค่นั้น เห็นได้แค่ว่าสั้นๆๆๆ ความจริงมันสั้นเพราะว่าเราไม่พร้อม เราไม่สมบูรณ์ ถ้าเราไม่สมบูรณ์เราก็ต้องตั้งสติ ! ตั้งสติแล้วกำหนดลมไปเรื่อยๆ กำหนดลมไปเรื่อยๆ

ถ้ามันแผ่ว.. พอมันแผ่วขึ้นมานะเรากำหนดลมให้ชัดๆ ไว้ เหมือนกับที่ว่าเวลาเราเล่นกีฬา เห็นไหม ถ้าเราตกลงอะไรกันยังไม่ได้เราขอเวลานอก ขอเวลานอกมาเพื่อปรึกษากัน แล้วเข้าไปแข่งขันใหม่

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตของเรากำหนดลมเข้าไป พอมันละเอียดเข้าไปมันสั้นเข้าไป เราก็ตั้งสติขึ้นมา ให้ชัดๆ ขึ้นมา มันเหมือนกับขอเวลานอก มันไม่ถึงกับว่าเราเลิกเล่นหรือว่าเรายอมแพ้ ทุกคนไปคิดว่ากลัวมันจะหยาบไง เราทำมานี่ผลมันจะได้เสียอยู่แล้ว ถ้าเราตั้งใจขึ้นมาลมมันจะหยาบ มันจะเข้าสู่ความละเอียดไม่ได้ แต่มันไม่ใช่ มันเป็นแรงส่งกัน

แรงส่งหมายถึงว่าถ้ามันสั้นๆ แล้วมันจับต้องไม่ได้ หรือว่ามันแผ่วไป เหมือนนักกีฬาเห็นไหม นักกีฬาที่กำลังแข่งขันกันอยู่แล้วเราไม่เข้าใจกัน ทำอะไรไปมีแต่ความผิดพลาด.. ทำอะไรไปมีแต่ความผิดพลาด มันมีแต่แพ้กับแพ้ นี่ก็เหมือนกัน มันสั้นเข้าๆ แล้วเราไม่ปรึกษา เราไม่ได้ใช้สติ ไม่ได้ใช้กำลังให้ดูจิตไง มันสั้นๆๆๆๆ สั้นจนทำอะไรไม่ได้เลย แล้วก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็เหนื่อย แล้วก็เอาขึ้นใหม่

แต่ถ้าเรามีสติใช่ไหม อันนี้มันผิดพลาด เราแก้ไข... อันนี้เราผิดพลาด เราแก้ไข พอแก้ไขแล้วนี่ลมมันจะชัดๆ ตลอด มันจะละเอียดนะ จิตมันละเอียดเข้ามา มันละเอียดเข้ามาจนกำหนดไม่ได้เลย พอละเอียดจนกำหนดไม่ได้ อันนั้นถึงเป็นอัปปนาสมาธิ !

“ผมคะเนเองว่าถ้าให้ถึงอัปปนาสมาธิ” นี่มันจะดับหมด ดับจริงๆ ไม่ได้สิ่งใดๆ เลย มันสักแต่ว่า... มันเหมือนจับเราเข้าไปอยู่ในห้องมืด ถ้าเราอยู่ในห้องมืดเราจะรับรู้ข้างนอกไม่ได้เลยใช่ไหม

จิตนี่เวลาเราออกมาอยู่ในที่สว่าง เราจะรับรู้ทั้งหมดเลย แรงกระทบทั้งหมดเลย แต่พอจิตมันสงบเข้ามา มันเหมือนอยู่ในห้องมืดไง มันรับรู้อะไรไม่ได้เลย แต่มันรู้อยู่ใช่ไหมเพราะเราอยู่ในห้องมืด

จิต ! ห้องมืดนี่มันเป็นความทุกข์นะ แต่ถ้าจิตมันเข้าอัปปนาสมาธิมันไม่ใช่ห้องมืด มันปล่อย.. มันปล่อยสัญชาตญาณ ปล่อยโอกาสที่เราเป็นมนุษย์.. มนุษย์นะ มนุษย์มีลมหายใจ ถ้าขาดลมหายใจจะตายใช่ไหม นี่มันต้องมีของมันตลอด ขาดลมหายใจไม่ได้ จิตมันจะอยู่ของมันตลอด

ฉะนั้นจิตมันอยู่ของมันตลอด มันอยู่ในชีวิตนี้ มันรับรู้ของมันอย่างนี้ แต่มันไม่เคยเป็นเลย ไม่เคยปล่อย.. ไม่เคยปล่อยเข้ามาเป็นอัปปนา คือไม่เคยปล่อยสถานะของมนุษย์ไว้ แล้วจิตมันเป็นเอกเทศไง จิตมันหดเข้ามาจนมันเป็นเอกเทศ เป็นอัปปนาสมาธิ

คนเป็นได้ยากมาก ! มันเหมือนกับเราเป็นมนุษย์ แต่เราปฏิเสธความเป็นมนุษย์อยู่พักหนึ่ง จิตมันจะเข้าไปเป็นเอกเทศของมัน พอเป็นเอกเทศของมัน นั่นแหละอัปปนาสมาธิ !

มันทำได้ แต่พอเข้าไปอย่างนั้นมันจะไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้รสต่างๆ เลย นั่นเป็นอัปปนาสมาธิ.. อัปปนา !

ฉะนั้นมันจะเป็นอัปปนาหรือไม่เป็นอัปปนา นี่เราใช้ปัญญาได้ เราใคร่ครวญได้ ไม่ใช่ว่าต้องศีล สมาธิ ปัญญา.. สมาธิก็สมาธิโดดๆ เลย ปัญญาก็ปัญญาโดดๆ เลย สมาธินี่เราทำสมาธิ แต่พอมีสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นมา เป็นปัญญาที่เกิดสมาธินี้จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าเป็นปัญญาที่ไม่เกิดสมาธิมันเป็นปัญญาโลกๆ เห็นไหม

ฉะนั้นเวลาสมาธิจะมากจะน้อยเราใช้ปัญญาได้ พอใช้ปัญญาได้มันจะเกี่ยวเนื่องกัน เกี่ยวเนื่องหมายถึงว่าถ้าเราใช้ปัญญาแล้ว ปัญญาอันนั้นจะมาส่งเสริมการทำสมาธิให้ชัดเจนขึ้น

สมาธิก็คือสมาธิ เหมือนบริหารเงินเลย ถ้าเราหาเงินแล้วเราบริหารเงินเป็น เงินของเราจะเกิดประโยชน์มากมายเลย เราหาเงินมาได้แต่บริหารเงินไม่เป็น คนมีจับจ่ายใช้สอยด้วยความฟุ่มเฟือย เงินจะไม่อยู่กับเราเลย เห็นไหม

ปัญญา ! ปัญญาคือการบริหาร ปัญญาคือการเข้ามาดูแลเงิน เข้ามาดูแลสมาธิ พอสมาธินี่เราบริหารจัดการที่ดีขึ้น สมาธิจะชัดเจนขึ้น สมาธิจะดีขึ้น.. มันเกี่ยวเนื่องกัน มันใช้ได้ เพียงแต่ว่าเวลาออกไปใช้ปัญญาวิปัสสนาไง ที่เราโต้แย้งนี่เราโต้แย้งอันนั้น แต่อันนี้เราไม่ได้โต้แย้ง สมาธิก็ต้องใช้ปัญญาเหมือนกัน ฉะนั้นมันใช้ปัญญาได้ !

 

ถาม : ๓. ผมสังเกตเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ พอนั่งไปได้ระดับหนึ่ง กล้ามเนื้อต่างๆ มันจะปล่อยตัว คลายตัว ประสาทที่รับรู้ต่างๆ เหมือนจิตมันจะคลายออกทีละส่วนๆ ถ้ามันคลายออกจนหมด อยู่กับบริกรรมอย่างเดียว แบบนี้คืออัปปนา เป็นไปได้ไหมครับ อันนี้คือผมตรึกเอาเอง

หลวงพ่อ : ไม่เป็นหรอกครับ ! ไม่เป็นหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพอเราคิดว่ามันคลายตัว นี่คือเราคาดหมายไง เราอยากจะให้ต่างอันต่างจริง กายก็ส่วนกาย จิตก็ส่วนจิต เราคาดหมายไป

เราจะบอกว่าไม่ต้องคาดหมายสิ่งใดๆ เลยนะ เรากำหนดลมหายใจ เราก็กำหนดลมหายใจไป “ถ้ามันลงสู่อัปปนาสมาธิ มันเป็นปัจจัตตัง.. มันเป็นสันทิฏฐิโก ผู้นั้นจะรู้เอง”

หลวงตาท่านพูดบ่อยมาก “คนไม่เคยเข้าอัปปนาจะไม่รู้จักอัปปนาหรอก” คนไม่เคยรวมใหญ่จะไม่รู้จักรวมใหญ่ พูดจนตายก็ไม่รู้ ! แต่ถ้าคนเคยเข้าไปสัมผัส คนเคยเข้าไปรู้แล้วนี่ ให้พูดอย่างไรก็พูดถูก ให้พูดอย่างไรก็รู้ เพราะมันเข้าไปสัมผัสมันเข้าไปรู้ฉะนั้นเราไม่ต้องไปวิตกกังวล

ฉะนั้นคำว่าอัปปนาสมาธินี่เราจะบอกเลยว่า อัปปนาสมาธิแค่เข้าไปพักผ่อน เหมือนเราขุดเหมืองไง เราเข้าไปขุดเหมือง เราทำเหมืองสิ่งใดก็แล้วแต่ ไปเจอแร่ธาตุสิ่งนั้นไว้มหาศาลเลย นั่นแหละคือเราไปรู้ไปเห็น เรายังไม่ได้เอาออกมาใช้เลย

เราสำรวจแล้วเรารู้จากขุดเหมือง เห็นไหม แต่เรายังไม่ได้เอาแร่ธาตุออกมาใช้ เราได้ประโยชน์อะไรมากมายนัก เพียงแต่เราภูมิใจว่าเรามีใช่ไหม ทำอัปปนาสมาธิได้ก็แค่เข้าไปพักผ่อนเท่านั้นแหละ แต่เวลาจิตมันออกมาวิปัสสนา มันก็ต้องออกมาดูกาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริงนั่นแหละ

เราจะบอกว่า “อัปปนานี่มันก็เป็นแขนงหนึ่งในการภาวนา” แต่ถ้าการภาวนานี่มันต้องใช้ปัญญาไป คือว่าไม่จำเป็นว่าต้องเข้าอัปปนา นี่สิ่งที่เขาบอกว่า “เข้าอัปปนาสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง.. เกิดปัญญาเอง” ตรงนี้ไงทำให้คนอาจจะมุ่งมั่นเข้าสู่ตรงนี้ เราไม่ควรจะให้เขามุ่งมั่นเข้าไปสู่ตรงนี้ เพียงแต่สมาธินี่ทำให้เกิดกำลังเท่านั้นเอง แล้วเราออกมาใช้ปัญญาของเรา นี่พูดถึงตามความเป็นจริงนะ

 

ข้อ ๒๕๐. ถามมาเรื่อง “คำสอนท่านพุทธทาส” แล้วถามมานี่ อันนี้ไม่ตอบ เพราะธรรมดานี่เราตอบหมดแล้ว ข้อ ๒๕๐ ข้าม ! ข้ามไปเลยเนาะ ไม่ตอบ เพราะว่าเขาถามมา แล้วเขาออกไปข้างนอกไว้หมดแล้ว ถามมาเพื่อจะให้เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเขา เราพูดไว้หมดแล้ว “ธรรมะเหนือธรรมชาติ ! ธรรมะเหนือธรรมชาติ” แล้วอยู่ในเว็บไซด์เราตอบไว้เยอะมาก ธรรมะเหนือธรรมชาติ !

ธรรมะเป็นธรรมชาตินี้เป็นปรัชญา เป็นคำสอนที่เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยสัญชาตญาณ แต่ผู้ที่ปฏิบัติแล้วธรรมะเหนือธรรมชาติเพราะอะไร เพราะจิตนี้มันจะไม่หมุนไปในวัฏฏะอีกแล้ว มันพ้นจากวัฏฏะมันเลยเหนือธรรมชาติไง

ฉะนั้นเราตอบไว้หมดแล้ว ให้ไปค้นหากันเอาเอง !

 

ศิษย์ทางไกลเขาถามเรื่องอัปปนาสมาธิ.. นี่อัปปาสมาธิ อัปปนา เห็นไหม อัปปนาสติ-อัปปนาสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก แล้วเรามีลมหายใจ นี่อัปปนาสมาธิ เป็นอันหนึ่ง.. กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ.. นี่มันก็พุทธานุสติ.. ธัมมานุสติ.. เห็นไหม มันก็เป็นคำบริกรรมแตกต่างกันไป อันนี้เป็นอีกอันหนึ่ง

ฉะนั้นอัปปนาสมาธิ ถ้าพูดถึงอัปปนาสมาธิโดยข้อเท็จจริง โดยทฤษฏี เห็นไหม มันก็มีตามตำราเขาบอกไว้หมดแล้ว แต่เวลาถามนี่มันต้องถามว่า “เวลากำหนดอัปปนาสมาธิ คือทำสมาธิแล้วทำอัปปนานี่มันมีอุปสรรคอย่างใด.. ทำแล้วมันบกพร่องอย่างใด.. ควรแก้ไขอย่างใด เราจะแก้ไขตรงนั้น” แต่เราบอกว่า บอกให้ทำอัปปนาสมาธิ นี่เปิดตำรามันก็มีอยู่แล้วไง แต่เวลามันผิดพลาดสิ เราผิดพลาดอย่างไร เราจะแก้ไขของเราอย่างไร อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้นอันนี้เรื่องอัปปนาสมาธิ !

 

ทีนี้มาตอบเรื่องนี้แล้ว..

ถาม : เรื่องมีเหตุการณ์ ๒ เหตุการณ์

เหตุการณ์ที่ ๑ เมื่อปี ๕๑ ขณะนั่งรถภาวนาพุทโธไปด้วย ได้ยินเสียงคนพูดมาเหมือนอยู่กับพูดกับตัวเอง แล้วหันไปมองก็ไม่เห็นน้องสาวพูดอะไร (นี่ข้อ ๑)

เหตุการณ์ที่ ๒ การปฏิบัติในวันที่ ๖ นั่งสมาธิได้ ๑๐ นาที ได้ยินเสียงผู้ชายพูดคุยอยู่ข้างๆ เสียงดังมาก จึงออกจากสมาธิ เมื่อลืมตาขึ้นเสียงนั้นก็หายไป แล้วหันไปเห็นเพื่อนนั่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร จากเสียงนั้นก็ได้พบว่าเป็นเสียงเดียวกันกับที่ได้ยินขณะนั่งสมาธิ โยมจึงว่า ๒ เหตุการณ์นี้

หลวงพ่อ : ๒ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องธรรมดาเลย เป็นเรื่องธรรมดาหมายถึงว่า ถ้าจิตของเรานี่นะมันเป็นความมหัศจรรย์ของจิต ! จิตถ้ามันสงบ จิตที่มันเป็นนี่มันรู้ได้หมดนะ แล้วความรู้ได้นี่ฤๅษีชีไพรเขาได้อภิญญา ๖ เสียง ! ได้ยินเสียง เทวดาคุยกันยังได้ยินเสียงเลย เสียงในวัฏฏะนี่นะได้ยินหมดเลย คำว่าได้ยินหมดเลยนี่มันเป็นความมหัศจรรย์ของจิตไง จิตถ้ามันจะได้ยินมันได้ยินของมัน

ฉะนั้นถ้าจิตมันได้ยินนี่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาแล้วนี่มันเกิดแค่เป็นครั้งคราว เกิดเป็นครั้งคราวเพราะขณะนั้นเวลานั้นเราได้ยินอย่างนั้น แต่มันไม่เป็นตลอดไปหรอก ! มันไม่เป็นตลอดไป

ถ้าเป็นตลอดไปนะ มันมีเด็กนะ เด็กนี่นะเวลานั่งสมาธิ จับให้เด็กนั่งสมาธิมันนั่งสมาธิได้ง่ายมากเลย แต่พอมันโตขึ้นมานี่มันทำอะไรไม่ได้เลย เพราะขณะที่มันนั่งสมาธิได้ เด็กไร้เดียงสานี่จิตมันใสสะอาดบริสุทธิ์ มันบังคับให้จิตมันตั้งสติขึ้นมานี่มันจะเป็นไปได้อย่างนั้นเลย แต่พอเราโตขึ้นมา เด็กมันจะปล่อยให้เป็นเด็กไม่ได้ใช่ไหม เราต้องมีการศึกษา เราต้องให้มันเท่าทันสังคมเพื่อจะเข้าสังคมได้

ไอ้สังคมนี่คือมายาหมดเลย ทางวิชาการคือมายา.. มายาให้เด็กมันศึกษามันรับรู้ไว้ พอรับรู้ไว้มันก็เอาสิ่งนั้นเป็นหลักใช่ไหม ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างต้องคิดเป็นวิทยาศาสตร์ พอเป็นวิทยาศาสตร์เพราะอะไร เพราะพลังงานของจิตคิดออกไปเป็นวิทยาศาสตร์ นี้พอพลังงานของจิตมันคิดเป็นวิทยาศาสตร์ มันก็เป็นเรื่องของสามัญสำนึกทั้งนั้นเลย

ทีนี้เราภาวนาของเรา เห็นไหม จากวิทยาศาสตร์ จากพลังงาน จากสัญชาตญาณนี่พอจิตมันเข้าถึงตัวมันเองใช่ไหม อย่างนี้นะเป็นเรื่องพื้นๆ เลย นักปฏิบัตินี่เรื่องพื้นๆ เลย ! เรื่องพื้นๆ แบบนี้เขาเรียกธรรมมันเกิดไง เวลาใครนั่งสมาธิไปนะ ใครทำความสงบของใจเข้าไป นี่มันจะเกิดความรู้แปลกๆ ไง คิดอะไรไว้ สงสัยอะไรไว้มันจะตอบเลยนะ ตอบโจทย์สิ่งที่เราคิดเลย

แล้วบอกว่าเสียงที่ได้ยินอะไรนี่ อันนี้แหละที่บอกว่าธรรมเกิด.. ธรรมเกิด เวลาธรรมเกิดนะหลวงตาใช้มุมกลับ หลวงตาบอกว่า “กิเลสเกิด” อย่างพวกเรานั่งสมาธิไปนะ มันจะรู้จะเห็นนะ โอ้โฮ.. เห็นภาพอะไรต่างๆ สิ่งต่างๆ มันบอกเหตุไว้เลย แล้วก็อยากรู้อยากเห็นอย่างนี้อีก.. อยากรู้อยากเห็นอย่างนี้อีกเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓

ไอ้ครั้งที่ ๑ นี่มันเป็นด้วยกำลังของจิต ด้วยความมหัศจรรย์ของมัน ด้วยคุณภาพของมัน มันเห็นตามความเป็นจริง พอเห็นตามความเป็นจริงใช่ไหม คือมันเห็นตามความเป็นจริงขณะนั้นไง แต่ครั้งที่ ๒ นี่อยาก ! นี่หลวงตาบอกว่ากิเลสมันเกิดไง พอใครเคยเป็นหนหนึ่งนะ อยากเป็นครั้งที่ ๒ อยากเป็นครั้งที่ ๓ อยากเป็นตลอดไปจะได้เป็นผู้วิเศษ จะได้รู้อะไรแปลกๆ แต่มันเป็นเรื่องธรรมเกิด.. ธรรมเกิด เรื่องพื้นๆ เลย

พออย่างนั้นปั๊บไม่ต้องไปตื่นเต้นตกใจอะไรทั้งสิ้น มันเหมือนที่หลวงตาพูดไง “แหวกจอกแหน.. แหวกจอกแหน” จอกแหนนี่มันปิดน้ำไว้ พอเราแหวกจอแหนแล้วเราจะเห็นน้ำ

จิตนี่มันโดยสามัญสำนึกมันโดนขันธ์ ๕ ครอบคลุมไว้ ทีนี้เราภาวนาพุทโธ พุทโธนี่มันแหวกจอกแหน มันแหวกออก.. มันแหวกคือพลังงาน คือน้ำ พอน้ำนั้นมันรับรู้อะไรแล้วนี่มันมหัศจรรย์ มันไวไง

“จิตนี้เร็วกว่าแสง” ฉะนั้นเสียงที่คุยกัน เสียงที่ได้ยิน..

ฉะนั้นเวลาภาวนา นี่เวลาคนเขาติเตียนนักภาวนา เขาบอกว่านักภาวนา นี่เขาภาวนาต้องร่มเย็นเป็นสุข ลูกศิษย์กรรมฐานยิ่งภาวนาแล้วฉุนเฉียว ทะเลาะเบาะแว้งกันทุกคนเลย นี่ชวนะมันดีไง

เวลานั่งกันอยู่นี่คนไม่ภาวนานะคุยกันจอกแจกจอแจ เขาก็ไม่สนใจนะ ไอ้คนภาวนานี่ใครมาพูดเสียงดังข้างๆ เขาโกรธนะ เพราะเป็นภาวนา เพราะอยากภาวนา ก็รู้ว่าที่สำนักปฏิบัติจะมาส่งเสียงดังได้อย่างไร นี่ไงก็จะโกรธ เห็นไหม ก็มีการกระทบกระทั่ง เขาบอกว่าพวกกรรมฐานนี้ฉุนเฉียว ทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่อยเลย

ทะเลาะเบาะแว้งก็เพราะตรงนี้ไง ตรงที่ชวนะมันดี ทุกอย่างมันดี แต่พอมันดีไปอย่างนี้ พอมันมีปัญญาควบคุม จากที่ไม่มีปัญญาควบคุมเราก็ไปตามอารมณ์ แต่พอมีสติควบคุมแล้วนี่ อารมณ์นั้นเราควบคุมได้ เราควบคุมได้ว่าเขาไม่รู้ เห็นไหม พอไม่รู้แล้วเราก็ย้อนกลับมาในสัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ.. ถ้าหมู่คณะภาวนาเป็นทุกคน ทุกคนเป็นคนดีหมดเลย ทุกคนจะเกรงใจคนอื่นหมดเลย เพราะกลัวกระทบกระทั่ง

นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะ.. อาจารย์เป็นสัปปายะ.. อาหารเป็นสัปปายะ.. สถานที่เป็นสัปปายะ.. ผู้ปฏิบัติเขาแสวงหาสัปปายะ ๔ นี้ ถ้าเราเจอพรรคพวก เจอหมู่คณะ เจอเพื่อนที่ดี เจอนักปฏิบัติที่ดี เราปฏิบัติไปนี่อู้ฮู.. ร่มเย็นเป็นสุขมาก

เจอหมู่คณะเป็นสัปปายะ.. เจออาจารย์ที่เป็นสัปปายะอาจารย์ที่ดี คอยสั่งสอนเรา คอยชักนำเรา คอยดึงเรา อาจารย์เป็นสัปปายะ.. อาหารเป็นสัปปายะ กินเข้าไปแล้วไม่นั่งสัปหงก ไม่ใช่อาหารสัปปายะเป็นหมูสะเต๊ะ เป็นแต่สเต็ก อย่างนี้ไม่ใช่.. ไม่ใช่ อาหารเป็นสัปปายะคือกินแล้วนั่งหัวตอเลย นั่งแล้วไม่สัปหงก อาหารอะไรกินแล้วสัปหงกอันนั้นไม่สัปปายะ ! ไม่ใช่ว่าอาหารสัปปายะต้องอาหารอร่อย ไม่ใช่..

อาหารสัปปายะคือกินแล้วร่างกายเบา การภาวนาส่งเสริม อาหารเป็นสัปปายะ..สถานที่เป็นสัปปายะ คือสถานที่สงัดวิเวก

“ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นธรรม.. มันเป็นสภาวธรรมที่มันเกิดกับจิตเท่านั้น”

นี่ย้อนมาสิ่งที่เขาบอก จริงๆ แล้วไม่อยากจะเกี่ยวเนื่องตรงนี้ ตรงนี้เราไม่อยากเอามาพูด นี่เขาบอกว่าสิ่งที่มันเป็นไปแล้วมันมาจากอดีตชาติ... อดีตชาตินี่มันกรรมเก่ากรรมใหม่ทั้งนั้นแหละ ถ้าอดีตชาติมันคงจะ ๓๑ ชาติที่แล้ว ๓๑ กัปที่แล้วไง นี่เขาพูดไปนู้นเลย เมื่อ ๑๐๐ กัปที่แล้วเคยทำกรรมอย่างนั้นๆ มา

นี่มันพูดผูกมัด เพราะอะไรรู้ไหม คนรู้จริงนะ คนรู้จริงพระพุทธเจ้าบอกว่า “กรรมเป็นอจินไตย ! กรรมเป็นอจินไตย”

อจินไตยมี ๔ พุทธวิสัยคือปัญญาพระพุทธเจ้าที่ไม่มีใครคาดหมายได้ ลึกล้ำจนไม่มีใครคาดได้ อจินไตยคือไม่มีสิ่งใดวัดได้

กรรม.. กรรมคือการกระทำนี่เป็นอจินไตย... โลกเป็นอจินไตย... ฌานคือความว่างนี่เป็นอจินไตย.. ความว่างของคน สมาธิของคนมันละเอียดลึกซึ้งจนมันมีระดับของมันมหาศาล เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับกรรม เพราะถ้ามีกรรมดีมหาศาล สมาธิจะสุดยอดมาก

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าอดีตชาติจะเป็นอย่างนั้น... เราไม่ใช่บอกว่าเราไม่เชื่อนะ เราจะบอกว่าถ้าพูดอย่างนี้นะมันผูกมัดตัวเอง คือไม่ใช่คนฉลาดเลย.. ไม่ใช่คนฉลาดเลย ฉะนั้นทางโลกที่เขาบอกว่าแก้กรรม.. แก้กรรม ชาติที่แล้วเป็นอย่างนั้นๆ นี่เราไม่ค่อยเชื่อ จะบอกว่าไม่เชื่อเลยก็ได้.. ไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเลยนะ ที่เขาหากินกันอยู่ในท้องตลาดนี่เราไม่เชื่อ ไอ้ที่ว่าแก้กรรม.. แก้กรรม เราไม่เชื่อ

แต่ถ้าแก้กรรมแบบพระพุทธเจ้า แก้กรรมโดยการพุทโธ พุทโธ นั่งสมาธินี่เราเชื่อ.. เราเชื่อตรงนี้ ! เราเชื่อการแก้กรรมที่ตัวเองแก้ตัวเอง จิตของกรรมนั้นแก้ตัวจิตนั้น จิตนั้นจะพ้นจากกรรมทั้งหมด

ไอ้ที่ไปแก้กรรมข้างนอกนี่ไม่มีสิทธิ์.. ไม่มีสิทธิ์ ! ไม่เชื่อ ! จะบอกว่าเป็นการทำธุรกิจทั้งนั้น หาเงินหาทองทั้งนั้น ไม่เชื่อ !

ฉะนั้นพอไม่เชื่อนะ เขาไม่เชื่อกันอยู่แล้วใช่ไหม แต่ตอนนี้พอเขาทำกระแสขึ้นมาได้ มีสำนักแก้กรรมเยอะแยะไปหมดเลย ทีนี้พอคนเชื่อขึ้นมาก็จะบอกว่าเป็นเรื่องกรรม เป็นเรื่องอดีตชาติ.. อดีตชาติว่าเมื่อชาติที่แล้วเกิดเป็นอะไร

จบแล้ว ไม่พูดแล้ว เพราะเราไม่เชื่ออยู่แล้วเป็นพื้นฐาน แต่เราเชื่อเรื่องภพชาตินะ ! เราเชื่อเรื่องภพชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ.. จุตูปปาตญาณ.. การเกิดและการตาย.. เรื่องอดีตชาตินี่เราเชื่อ แต่เราเชื่อตามความเป็นจริง เราไม่ได้เชื่อคนที่เอามาหากินเป็นธุรกิจ แต่เรื่องภพเรื่องชาติเราเชื่อ แล้วมันเป็นจริงด้วย แต่เป็นจริงแบบคนที่รู้จริง ไม่ใช่เป็นจริงที่เอามาเป็นสินค้ากัน... จบ !

 

ถาม : กระผมภาวนาพุทโธ โดยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จนจับความรู้สึกของตัวเองได้จากจมูกถึงช่องท้อง มีอยู่ครั้งหนึ่งนั่งสมาธิไปแล้วเกิดความรู้สึกละเอียดภายใน และค่อยๆ รู้สึกถึงร่างกายว่านั่งอยู่ท่าใดทีละน้อย แต่ยังขยับตัวไม่ได้ ก็พุทโธไปสักพักก็ขยับตัวได้เอง สองวันถัดมาเกิดอาการอย่างนี้อีกครั้ง สังเกตว่าหลังจากเกิดอาการแบบนี้รู้สึกตัวเองว่ามีสติมากขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน และมีความเบิกบานใจ

ภายหลังกระผมเปลี่ยนวิธีภาวนาเป็นพุทโธอย่างเดียว เป็นเวลา ๖ เดือน ครั้งหนึ่งนั่งสมาธิแล้วเห็นความคิดพุทโธไปหยุดความคิดอื่นๆ ที่พยายามจะส่งออกไปภายนอก โดยรู้สึกเป็นรูปร่างของความคิดทั้ง ๒ วิ่งคู่กันไป ความคิดอย่างอื่นพยายามแทรกออกไประหว่างคำว่าพุทโธ เมื่อเห็นดังนั้นผมจึงเร่งพุทโธเร็วขึ้นจนมีช่องว่างก็หยุดความคิด

ปัญหาของผมคือ ผมควรจะใช้วิธีการภาวนาแบบใด พุทโธหรืออานาปานสติ เพราะปัจจุบันสับสนมากครับ แล้วเกิดเป็นความกังวล มารบกวนขณะภาวนา อยากให้หลวงพ่อช่วยแนะนำด้วย

หลวงพ่อ : ถ้าพุทโธ นี่พุทโธดีอยู่แล้วไง ถ้าพุทโธอยู่แล้ว.. นี่ความคิด เห็นไหม ความคิดนะ นี่นามธรรม.. นามธรรม สิ่งที่เราว่าเป็นนามธรรม เราว่าเป็นนามธรรมแล้วจับต้องสิ่งใดไม่ได้ อย่างเช่นว่าจิต เห็นไหม จิตกี่ดวง จิต ๑๐๐ ดวง

คำว่าดวงๆๆ มันเป็นเหมือนอวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา.. ปัจจยาการนี่.. อิทัปปัจจยตานี่... อิทัปปัจจยตาก็คือดวงๆ ที่เขาว่านี่เหมือนกับอิทัปปัจจยตา สิ่งนี้มันถึงมีสิ่งนี้ แต่มันเกี่ยวเนื่องกันไป แต่คนที่จะเห็นสิ่งนี้ได้มันละเอียดมาก แล้วมันเป็นพุทธวิสัย มันเป็นพระพุทธเจ้า นี่ไงที่บอกว่าพระปัจเจกพระพุทธเจ้าสอนไม่ได้.. พระพุทธเจ้าสอนได้..

พระปัจเจกพระพุทธเจ้าเอาอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดมากนี้ คือว่าพุทธวิสัยที่เป็นอจินไตย... พุทธวิสัยที่เป็นอจินไตย นี่จับสิ่งนี้มาร้อยเรียง มาให้เราเห็นเป็นทางวิชาการ แล้วเราก็จะไปเรียบเรียงทางวิชาการ เห็นไหม

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าจิตดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งนี่ไม่มีหรอก ! จิตดวงเดียวนั่นแหละ จิตดวงเดียว เพราะถ้ามันหยุดขึ้นมาก็เป็นดวงเดียวนั่นแหละ ฉะนั้นพอบอกว่าจิตเป็นดวงเดียว เราจะบอกว่าเป็นรูปธรรม.. รูปธรรมไง

เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับพระสารีบุตร เห็นไหม หลานของพระสารีบุตรบอกว่า “ไม่ชอบสิ่งใดเลย.. ไม่ชอบสิ่งใดเลย”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอไม่ชอบสิ่งใด เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ของเธอด้วย เพราะอารมณ์ของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

วัตถุอันหนึ่ง ! เราจะย้อนกลับมาที่พุทโธนี่ไง พอเราพุทโธ พุทโธ เห็นไหม พุทโธจนจับความคิด จนเห็นความคิดเป็นรูปของความคิดที่มันวิ่งแข่งกัน... นั่นน่ะเราเห็นได้ไง แต่เห็นได้เฉพาะคนๆ นี้นะ แล้วจะเห็นได้เฉพาะที่เห็นนี่แหละ ต่อไปพอบอกว่ามันเป็นประโยชน์ มันเป็นสิ่งที่เราจะเป็นประโยชน์ได้ เราจะไปเห็นอีกนี่มันไม่เห็นแล้วนะ... มันไม่เห็น

คำว่าเห็นนะ ดูสิกล้องจุลทรรศน์เขาเอาไว้ดูเชื้อโรค เห็นไหม เขาจะส่องเห็นเชื้อโรคเลย ถ้ามันไม่มีเชื้อโรค กล้องจุลทรรศน์จะส่องเห็นอะไร

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันพุทโธ พุทโธไป ถ้ามันเห็นความคิดจนเป็นรูปธรรมที่วิ่งแข่งขันกับความคิดไป อย่างนั้นเป็นรูป แต่มันเป็นครั้งคราวไง เหมือนอารมณ์ความรู้สึกที่มันเป็นครั้งคราวขึ้นมาที่เราเห็น ดูสิคนพิจารณากาย บางทีเห็นกะโหลก เห็นหนังศีรษะ เห็นอะไรต่างๆ มันเห็นเป็นครั้งเป็นคราว

ฉะนั้นเห็นสิ่งนี้ ถ้าเห็นแล้วนี่คือบรรทัดฐาน แล้วเราก็กำหนดพุทโธแล้วจับสิ่งนี้ไว้ ถ้าพูดถึงเอาพุทโธนะ ! ถ้าพุทโธ พุทโธ... เห็นนักมวยไหม นักมวยหรือนักกีฬาเวลาเขาซ้อมเขาเหนื่อยมาก เขาลำบากมาก แต่เขาก็ต้องซ้อม อันนี้ก็ซ้อมพุทโธ พุทโธ แล้วมันเริ่มเห็นมันเริ่มเป็น เหมือนนักมวยที่แบบว่ามีเทคนิคหมดแล้ว แล้วทำไมมาบอกว่าสับสน เออ.. มันก็แปลกอยู่ หมายถึงว่าเราเห็นของเรา เห็นไหม นี่พอหยุดคิด มันพยายามจะส่งออก “

นั่งสมาธิแล้วเห็นความคิดเป็นพุทโธไปหยุดความคิดอื่นๆ ! แล้วเห็นพุทโธไปหยุดความคิดอื่นๆ ที่พยายามจะส่งออกไปภายนอก โดยรู้สึกเป็นรูปร่างของความคิดทั้ง ๒ วิ่งคู่กันไป”

นี่ไง ! เราจะบอกว่านะ จิตนี้เป็นนามธรรม ! จิตนี้เป็นนามธรรม ความรู้สึกเป็นนามธรรม แต่พอเราพุทโธ พุทโธไปจนมันเห็นเป็นรูปธรรม แล้วมันจับต้องได้ ความจริงมันน่าจะชัดเจนว่า อืม.. เราจับได้ เรารู้ได้ แล้วมันหยุดได้ แล้วมันก็มีความสุขจริงๆ ถ้าเราขยันทำไปมันก็จะละเอียดไปกว่านี้อีก ทำไมไม่ทำต่อไป.. ให้ทำต่อไป

แล้วพอบอกว่า “ความคิดทั้ง ๒ วิ่งคู่กันไป แล้วความคิดอย่างอื่นพยายามแทรกเข้ามาระหว่างคำว่าพุทโธ เมื่อเห็นดังนั้นผมจึงเร่งพุทโธ เร่งขึ้นไป เร่งพุทโธแล้วอยู่กับพุทโธชัดๆ ให้เร็วขึ้น จนไม่มีช่องว่างที่ความคิดนั้นคิดได้”

อันนี้ใช้ได้นะ ! อันนี้ใช้ได้ นี่วิทยานิพนธ์ของแต่ละบุคคล การภาวนาของแต่ละบุคคลมันจะออกมาให้เห็น ถ้ามีผลงานนี่ของใครของมัน ความถนัดของใครของมัน จริตของใครของมัน แล้วทำได้อย่างนี้คือมันมีงานแล้วไง นี่คำว่าภาวนาเป็นหรือไม่เป็น.. เป็นมากหรือเป็นน้อย เห็นไหม

พอมันภาวนาเป็น ความคิดนี้เป็นนามธรรม แล้วเรานี่จับต้องอะไรไม่ได้เลยเราก็งงนะ แต่ความคิดของเราเริ่มเป็นรูปธรรม คือเราพุทโธแล้วเราเริ่มเห็น เราเริ่มจับได้ เหมือนเราทำงานนี่มันเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว แล้วเราจะปล่อยทำไมล่ะ ทำไมจะปล่อยความคิดอย่างนี้ทิ้งไปล่ะ แล้วจะไปเริ่มต้นกันที่ไหนอีกล่ะ

“ปัญหาของผม ผมควรจะใช้วิธีภาวนาแบบใดดีระหว่างพุทโธกับอานาปานสติ”

เราจะบอกว่า ร้านอาหารตามสั่งมันสั่งได้ทุกอย่างเลย เราจะสั่งอาหารอะไรก็ได้ ฉะนั้นไม่ใช่ว่ามีเฉพาะพุทโธ หรืออานาปานสติ หรือธัมโม สังโฆ.. แบบว่าถ้าใครทำสิ่งใดแล้วพอมันจืดชืด เห็นไหม

หลวงตาท่านพูดนะ “หมานี่มันมี ๔ ขา มันวิ่งไปวิ่งมาด้วย เราเป็นคนมี ๒ ขา เดินจงกรมขาดสติ เดินจงกรมสักแต่ว่าเดิน หมามันยังฉลาดกว่า” นี่เวลาหลวงตาท่านเตือนสติลูกศิษย์นะ

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่ออะไรที่มันมีสติ เวลาพุทโธ เห็นไหม คือเราใช้อุบายไง เราไม่ใช่ว่าจะทำอยู่อย่างนี้ แล้วกิเลสมันก็ขี่หัวอยู่อย่างนี้ กิเลสมันกระซิบนะแต่เราไม่ได้ยิน อู้ฮู.. มึงนี่โง่มากเนาะ มึงทำอย่างเดียว กูไม่ต้องออกแรงเลย กูขี่หัวมึงทั้งวันๆ เลย มึงทำไมโง่ขนาดนี้วะ มึงทำไมไม่คิดอุบายพลิกแพลงบ้างวะ เห็นไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน คำว่าพุทโธหรืออานาปานสติอะไรนี่มันเป็นอุบายของเรา มันเปลี่ยนแปลงได้ไง ร้านอาหารตามสั่ง วันนี้เรากินอาหารอย่างนี้ก็ได้.. กินอาหารอย่างนี้ก็ได้ เราเปลี่ยนแปลงได้

คำว่าเปลี่ยนแปลงนะ ไม่ใช่ว่าเราสับสนหรือเราจับจดไง ถ้ามันจับจด พอเราทำบ่อยๆ ครั้งแล้วมันจืดไง มันจืดมันไม่ได้ผลเราก็เปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อให้มันสดชื่น ให้มันชัดเจน เพื่อประโยชน์กับเราไง

นี่พูดถึงว่าปัญหาของผม คือจะใช้วิธีการใดระหว่างพุทโธกับอานาปานสติ ปัจจุบันสับสนมากครับ แล้วเกิดความกังวล... เกิดความกังวล เพราะธรรมดาของที่ไม่รู้ก็เกิดกังวล กังวลเพราะมันยังไม่ชัด... แต่อย่างนี้มันเริ่มชัดแล้วนี่ เราเป็นคนยืนยัน

เพราะอันนี้ เราติดใจอันนี้ ! ติดใจตรงที่ความคิดมันวิ่งคู่กันไปนี่ติดใจ... ติดใจเพราะอะไรรู้ไหม ติดใจเพราะมันจับต้อง มันมีเหตุมีผลไง เราติดใจตรงนี้นะ ตรงที่พุทโธมันวิ่งคู่กันไป แล้วผมก็พุทโธเร่งขึ้นครับไม่ให้มันแซงเข้ามา... นี่ถูกต้อง ! นี่มันเป็นผลงาน อันนี้ถูกต้อง

แล้วเร่งเข้าไป.. เร่งเข้าไปมันก็จะว่าง แต่ถ้าเร่งเข้าไป แล้วเร่งไม่ทัน สะดุดล้มนะ ไอ้ความคิดมันก็ไล่ทัน ก็ลุกขึ้นมาแล้วก็ทำใหม่ มันจะวิ่งไปๆ แล้วมันสะดุดขาตัวเองแล้วล้มก็มีนะ คือพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วอ่อนแรง พุทโธ พุทโธไปแล้วมันไม่ไหว พุทโธ พุทโธไปแล้วแหม.. มันเหนื่อยมาก อย่างนี้ก็มี

อันนี้มันก็อยู่ที่วาสนาของคน อยู่ที่ความเพียรของคน แล้วถ้าพุทโธ พุทโธหนีมันแล้วล้มไปก็ลุกขึ้นมา แล้วก็สะบัดหน้า เฮ้อ ! จะสู้ใหม่.. จะสู้ใหม่

พระพุทธเจ้าสอนว่า “เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร”

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ จะทำให้พวกเราล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ ! อยู่ที่ความเพียรของเรา อยู่ที่ความวิริยะอุตสาหะของเรานะ เราตั้งใจของเรา.. มันไม่มีใครหรอกที่จะได้มาโดยง่ายๆ แล้วจะได้อะไรมาโดยที่เราไม่ได้ลงทุนลงแรง ฉะนั้นเราตั้งใจของเรา

คำถามนี้เขียนมาด้วยความวิตกกังวลก็จริงอยู่ แต่มันก็มีผลในตัวของมันเอง คือทำแล้วเราก็ได้ประโยชน์ของเรา เห็นไหม เราเห็นถึงความสงบ.. เราเห็นถึงความสุขสบาย.. เราเห็นถึงว่ากิเลสกับธรรมมันคู่กัน.. สมาธิ พุทโธ พุทโธนี่คือตัวสมาธิ คือตัวเหตุให้เกิดสิ่งที่ดี.. แล้วไอ้กิเลส ไอ้ความคิดนอกลู่นอกทางมันก็แข่งขันกันมา

นี่มันมีผลงานนะ เหมือนกีฬาเวลาลงแข่งมันมีคู่แข่ง มันได้คะแนน มันได้อะไรนี่มันสนุกนะ แต่ถ้าไม่ได้แข่งขัน ไม่ได้อะไรเลยมันจะจืดชืด คนภาวนาแล้วจับต้องสิ่งใดไม่ได้มันก็จืดชืดนะ

ฉะนั้นสิ่งนี้มี เราบอกว่าที่ทำมานี้ โดยการปฏิบัตินะเราว่านี่คุ้มค่าแล้ว สิ่งนี้ทำให้เห็นถึงธรรม ให้เห็นถึงกิเลส ให้เห็นถึงการต่อสู้ แล้วเราทำของเราไป แต่ถ้าถามว่าหลวงพ่อทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ..

พระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ ลงมาปฏิบัติไม่มีใครดูแลอยู่ ๖ ปี หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าในเขาท่านบอกว่าไม่มีใครดูแลเลย กินข้าวเปล่าๆ ไปที่ไหนมีแต่เขาไล่ เขาว่าเสือเย็น เขาว่าสิ่งนี้มันไปทำลายความเป็นสิริมงคลในหมู่บ้านเขา

นี่ครูบาอาจารย์เราท่านโดนมาขนาดนี้นะ ไอ้นี่แค่ภาวนา มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนี่มันสบายมาก... มันสบายจริงๆ แค่นี้เราจะมาอ่อนแอได้อย่างไร ถ้าอ่อนแอให้ย้อนกลับไปดูครูบาอาจารย์ของเรา ย้อนไปดูหลวงปู่มั่น ย้อนไปดูที่ไม่มีคนดูแลรักษา ท่านยังเอาตัวท่านรอดมาได้ เรานี่มีครูบาอาจารย์นะ เรานี่มีคนคอยชี้นำนะ เราจะอ่อนแอได้อย่างไร เราต้องสู้

ถ้าปฏิบัติไปแล้ว เวลาเกิดสิ่งสันทิฏฐิโก เห็นไหม “ธรรมะเปรียบเทียบ” เปรียบเทียบธรรมะกับกิเลส.. เปรียบเทียบธรรมะกับธรรม..

ธรรมะ เห็นไหม จิตกับกิเลส จิตกับธรรมมันเปรียบเทียบกัน แล้วเราจะมีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจของเรา ในการปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง