ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กรรมเป็นอจินไตย 1

๓o ต.ค. ๒๕๕๓

 

กรรมเป็นอจินไตย ๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


 

เป็นครั้งที่ ๒ แล้ว กรณีอย่างนี้มันเป็นไปทั้งหมดแหละ มันเป็นไปโดยเรื่องเวรเรื่องกรรม พอเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ทำไมเวลาเราเจอบางคน เห็นไหม บางคนเราเจอนี่ถูกชะตามาก บางคนเจอแล้วไม่ถูกชะตา

ก็อย่างที่ถามนี้แหละ ถูกชะตาหรือไม่ถูกชะตานี่เราไม่รู้.. เราไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรถูกชะตาหรือไม่ถูกชะตาเขา แต่เราไม่รู้.. แล้วอีกอย่างหนึ่งนะอย่างที่เราพูด นี่เราพูดบ่อยเลย เรารักคนนี้ เรามีความเมตตากับคนนี้ เราคิดว่ามันจะเป็นผลตอบสนองกลับมารักเหมือนเรา

ทุกคนจะเสียใจตรงนี้ รักเขา เมตตาเขา อยากให้เขาเป็นคนดี ทำอะไรเพื่อเขา แล้วเขาทำให้เราเจ็บปวดทุกทีเลย แล้วทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ.. รักเขา เมตตาเขา ปรารถนาดีต่อเขา ทำความดีเพื่อเขาทั้งนั้นน่ะ นี่เราคิดใช่ไหม เรารักเขา เราเมตตาเขา เราทำเพื่อเขา เราปรารถนาดีกับเขา เขาก็ต้องตอบสนองให้กลับมาเป็นคนดี แต่ไม่นะ.. กลับมุมตรงข้ามนะ บางคนเราเห็นครั้งแรกเลยไม่ค่อยถูกชะตา ในความรู้สึกเราว่าคนนี้เป็นคนไม่ดีแต่เขารักเรา... แต่ไอ้คนที่เราเมตตาเขา เรารักเขา เราทำเพื่อเขา เขาหาว่าเราไปทำร้ายเขา

เราถึงพูดบ่อยกับคนที่ทำดี เห็นไหม เราทำดีแล้วนี่ ไม่ใช่ว่าเรารักเขา คือเราทำความดีแล้ว มันจะตอบสนองเราเป็นอย่างนั้น.. เรารักเขานี่ดี เราปรารถนาดีกับเขานี่ดี แต่เราปรารถนาให้เขาตอบสนองเราอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้.. เป็นไปไม่ได้เลย.. เอาที่ชัดเจนที่สุดเลยคือระหว่างพ่อแม่กับลูก พ่อแม่นี่รักลูกทุกคนแหละ แต่ลูกบางคนเห็นไหมก็รักพ่อแม่ตอบ

แต่ลูกส่วนใหญ่แล้ว.. เพราะในความเป็นลูกนี้เป็นธรรมชาติ โดยความเป็นลูก ลูกหลายๆ คนมันก็มองกัน.. หรือเห็นว่าพ่อแม่รักคนอื่นมากกว่าเรา ทั้งๆ ที่พ่อแม่นี่รักเขามากกว่าคนอื่นด้วย แต่เขาหาว่าพ่อแม่รักคนอื่นมากกว่าเขา เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเหมือนกับเราตักน้ำใส่ภาชนะ.. ภาชนะเล็ก ภาชนะใหญ่นี่มันบรรจุน้ำได้มากได้น้อยแค่ไหน ถ้าภาชนะมันต่างกัน มันต้องการให้มากกว่านั้นไง แต่เราก็พยายามใส่แล้วนะ

เราจะบอกเลยความรักของพ่อแม่นะ.. ความรักที่สะอาดบริสุทธิ์กว่านี้ไม่มีหรอก ความรักของพ่อแม่สะอาดบริสุทธิ์มาก “ความรักใดเท่ากับพ่อแม่นี้ไม่มี” เพราะพ่อแม่นี่ลูกของเรานะ.. โธ่ ! ลูกของเรา เวลาเราคลอดออกมาแล้วสมบัติของเราชัดๆ เลย สมบัติอย่างอื่นเรายังหามา เรายังมีที่มา ไอ้นี่มันมาจากท้องเรานะ ทำไมเราจะไม่ยึดเป็นสมบัติของเรา

ในเมื่อยึดเป็นสมบัติของเรานี่เราก็รัก เราต้องรักมากที่สุดเลย แก้ว แหวน เงิน ทองเรายังหาที่ไหนก็ได้ หาจากไหนก็ได้ แต่ลูกเรานี่เราคลอดของเราออกมาเองเลย มันต้องให้ความเมตตา มันต้องรักแน่นอน แต่ลูกมันก็ยังคิดว่าไม่เท่ากัน ถ้าเราคิดไม่เท่ากันนะมันอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

เวลาอย่างที่ว่าพ่อแม่ไม่รัก หรือว่ามีแต่ความน้อยใจก็เก็บไว้ในใจ โอ้โฮ.. ความเห็นที่เวลามันฆ่าพ่อฆ่าแม่ มันทำร้ายพ่อแม่นี่แหม.. เจ็บปวดมาก เราก็เจ็บปวด มันทำได้ขนาดนั้นเลย เพราะอะไร เพราะมันบกพร่องตรงนี้ไง ทีนี้พอบกพร่องตรงนี้ปั๊บ ตอนนี้มาคิดตรงนี้ นี่คิดถึงพ่อแม่นะ

แล้วของเรานี่สังคม ! สังคม อย่างเช่นเรายกหลวงตาเลย เราจะไม่ยกตัวเรา เราก็คิดเหมือนกับหลวงตา จริงๆ เราก็ปรารถนาให้ศาสนามันดี ปรารถนาให้ทุกคนมันดี พูดไปทำไปก็เพื่อศาสนา แต่เขาด่าเละเลย ! เขาด่าเละเลยนี่ไง แล้วนี่เราปรารถนากับเขา

ไอ้นี่เราจะบอกว่า มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม.. เรื่องเวรเรื่องกรรมนี้เราไปพูดกับเด็กๆ ไม่ได้นะ ถ้าพูดกับเด็กๆ ว่าเรื่องเวรเรื่องกรรม มันเหมือนพวกเรานี่ไม่รับผิดชอบ อะไรก็ผลักให้เวรให้กรรม.. อะไรก็ผลักให้กรรม.. ทุกอย่างมาแม่งผลักออกหมดเลย ผลักไปให้เรื่องเวรเรื่องกรรม แต่ความจริงมันไม่ใช่ ! เราไม่ได้ผลักออก เรานี่นักวิทยาศาสตร์ เราจะหาข้อเท็จจริงไง คนจะแก้เหตุแก้ผล เราจะแก้ปัญหา ถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริง เอ็งจะไปแก้ที่ไหน

อย่างเรา ๒ คนนี้มองหน้ากัน ก็ไม่ชอบหน้ากันอยู่อย่างนี้ แล้วมันจะไปแก้ที่ไหน มึงจับ ๒ คนนี้มาฆ่าทิ้งเหรอ อ้าว.. นี่มึงไม่ชอบเขา จับมึงยิงเป้า เอาอย่างนั้นเหรอ มันก็ไม่ใช่... ๒ คนนี้มันไม่ชอบกันเพราะเหตุใด นี่เวรกรรมมันมาตรงนี้ ๒ คนนี้ไม่ชอบกันเพราะอะไร อ้าว.. ก็มึงเกิดมา เราต่างคนต่างมา เราก็ไม่เคยเจอหน้ากันเลย ทำไมมันไม่ชอบกัน ถ้าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์จะว่าเอ็งทำร้ายกันก็ไม่เคย เกลียดขี้หน้ากันก็ไม่เคย ก็ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย แล้วพอมาเห็นหน้ากัน ทำไมมันถึงไม่ชอบหน้ากัน

อ้าว.. ก็ไม่เคยทำอะไรกันเลยนะ ปัจจัยมันไม่มี เหตุผลให้ขัดแย้งกันมันไม่มี เพราะไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนเลย ต่างคนต่างมาจากไหน ก็มันเพิ่งมาเห็นหน้ากันครั้งแรก อ้าว.. แล้วทำไมไม่ชอบหน้ากัน มันก็ต้องมีที่มาที่ไปสิ พอไม่มีที่มาที่ไปนะ นี่มันก็เรื่องกรรมแล้ว แล้วพอวิทยาศาสตร์บอกว่า โอ๋ย.. นี่พูดปฏิเสธ !

ทีนี้พอพูดเรื่องกรรมแล้วมันมี ๒ ประเด็น

ประเด็นที่ ๑ ก็ยกให้เรื่องเวรเรื่องกรรม ลัทธิยอมจำนนใช่ไหม คือตัวเองแก้ตัวเองไม่ได้ใช่ไหม ก็ยกให้กรรมมันซะ กูจะได้รอดตัว ลัทธิยอมจำนนนี่ประเด็นหนึ่ง

ประเด็นที่ ๒ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ว่าชาติหน้ากับชาติที่แล้วมีหรือไม่มี ถ้าพูดอย่างนี้ไปมันก็เป็นเรื่องที่พูดเลื่อนลอย เป็นนามธรรมเกินไป ไม่เป็นรูปธรรม แต่เพราะเอ็งไม่ได้ปฏิบัติน่ะสิ เพราะเอ็งไม่ได้เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าน่ะสิ เพราะถ้าเอ็งเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเอ็งต้องเข้าใจถึงตรงนี้ ถ้าเอ็งเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เอ็งต้องเข้าใจถึงตัวพระพุทธเจ้าก่อน

ถ้าเข้าใจถึงตัวพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดมาได้เพราะเหตุใด.. ถ้าพระพุทธเจ้าเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า เราก็เป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน อ้าว.. ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าได้เราก็เป็นพระพุทธเจ้าได้สิ ทำไมเราเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้

เราเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้เพราะเราไม่ได้สร้างเป็นพระโพธิสัตว์มา ไม่ได้สร้างโพธิญาณมา ไม่ได้สร้าง เห็นไหม นี่กรรม.. เริ่มที่กรรมแล้ว แล้วพระพุทธเจ้ามาเป็นพระพุทธเจ้าได้เพราะอะไร เป็นพระพุทธเจ้าได้เพราะ ๔ อสงไขย ทำความดีมา ๔ อสงไขย คือเกิดตาย.. เกิดตายนี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นั่นล่ะพระพุทธเจ้าเกิดตรงนั้น

ถ้าพระพุทธเจ้าเกิดตรงนั้นนี่มันมีที่มาที่ไปแล้ว แล้วเขาจะปฏิเสธว่านรกสวรรค์ไม่มี หรือว่าการเกิดการตายไม่มี.. ทีนี้ถ้าการเกิดการตายไม่มีมันก็จะย้อนกลับมานี่ ถ้าเป็นการเกิดการตายมันมี เพราะการเกิดการตายมันไม่มีไง.. พันธุกรรมทางจิต ! เราใช้คำว่าพันธุกรรมทางจิต พันธุกรรมทางจิตมันก็ปรับแต่งพันธุกรรมมาให้เป็นจริตนิสัยของพวกเราไง แล้วพันธุกรรมอันนี้ เห็นไหม มันขัดแย้งกันมา พอมาเจอหน้ากัน..

นี่เขาบอกว่าเรื่องนี้มันเป็นเพราะเวรเพราะกรรม.. ถ้าเพราะเวรเพราะกรรมก็ต้องอธิบายให้ชัดเจนสิ อ้าว.. เป็นเพราะเวรเพราะกรรม แต่เวรกรรมนี้เป็นอจินไตย.. เป็นอจินไตย ๔ ! โธ่.. มันจะไขว้กันไปเรื่อย

มันเป็นอจินไตย ๔ ! อจินไตยหมายถึงว่า... อย่างพุทธวิสัยเราคาดการณ์ไม่ได้ เพราะเรื่องโลก.. เรื่องกรรม.. เรื่องฌาน.. เรื่องกรรมนี่เห็นไหม กรรมเป็นอจินไตยตรงไหน อจินไตยหมายถึงว่า เรานี่มันคาดการณ์ไม่ได้เลยว่ามันจะเป็นได้ขนาดไหน ดูสิอย่างพวกเรานี้เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ ภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปจะเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย พระศรีอาริยเมตไตรยไปแล้วก็ยังมีอนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์ แล้วถ้า ๑๐ องค์นี่คิดดูสิ กาลเวลาของศาสนารอบหนึ่งมันกี่พันปีกี่หมื่นปี

คำว่า ๕,๐๐๐ ปี นี้เป็น ๕,๐๐๐ ปีเพราะเป็นอายุของศาสนานะ ทีนี้พออายุศาสนาหมดไปแล้วมันต้องปรับสภาพความเป็นไป ถึงจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาตรัสรู้ อายุเวลานี้จะว่ากี่หมื่นกี่พันปีไปเลย

ทีนี้พอกี่หมื่นกี่พันปี สิ่งนี้ที่มันเวียน มันเป็นผลของวัฏฏะที่วัฏฏะมันหมุนเวียนอย่างนี้ เวลาพระพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ คือพระพุทธเจ้ากำหนดรู้ได้ อย่างพวกเรากำหนดรู้ได้ไหม กำหนดรู้ได้นะ ถ้ากำหนดรู้ได้ก็ดูอย่างในสมัยพุทธกาล.. เอตทัคคะ เห็นไหม ดูสิพระอนุรุทธะ เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอรหันต์ลูกศิษย์นั่งล้อมเต็มเลย พระอุบาลีนี่เป็นเอตทัคคะทางวินัยนะ เป็นคนถามขึ้นมาเองว่าพระพุทธเจ้านี้ตายหรือยัง

เป็นพระอรหันต์นะ ! พระอรหันต์เหมือนกัน ได้รับเอตทัคคะมีความรู้เอกเหมือนกัน พระอนุรุทธะที่นั่งอยู่ด้วยกันบอกยัง.. นี่พระอรหันต์ด้วยกันนะ ! แต่ความรู้ไม่เท่ากัน พระอานนท์ถามว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานหรือยัง” พระอนุรุทธะบอก “ยัง ตอนนี้ยังไม่ปรินิพพาน ยังเข้าสมาบัติอยู่” เห็นไหม นี่ความรู้ไม่เท่ากัน ความเห็นไม่เท่ากัน

อย่างนี้นี่ยังรู้ไม่เท่าพระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าย้อนไปอดีตชาติ ย้อนไปถึงว่าเป็นพุทธะได้อย่างไร เป็นได้อย่างไรนี่มันมีตั้งแต่นั้นมา

ฉะนั้นเราจะเปรียบเทียบเหมือนพวกเรานี่แหละ พวกเรานี้ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าหรอก ไม่ได้เป็นไม่ต้องห่วง (ผู้ฟังหัวเราะ) แต่ ! แต่จิตเกิดตายมาเหมือนกัน ! ถ้าจิตพระพุทธเจ้าเกิดตายได้ขนาดนั้น จิตพวกเราก็เหมือนกัน

ถ้าเหมือนกันนี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย พวกเราไม่เกิดไม่ตายเหรอ เราจะยกว่ามันเหมือนกันตรงนี้ไง เหมือนกันที่เวียนตายเวียนเกิดเหมือนกันไง แต่เราไม่ทำคุณงามความดีได้มากขนาดนั้นไง

เราจะยกตรงนี้มา ให้มาเทียบตรงนี้ตรงที่กรรมนี่ไง ! ตรงที่เราทำกับเขาขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่เราก็ทำของเรา แต่เราไม่เสียใจไง.. เราไม่เสียใจว่าเราทำเพราะอะไร เราทำเพราะเราเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า.. นี่ก็เหมือนกันเราก็ทำดี หลวงตาพูดคำนี้ประจำนะเวลาออกโครงการช่วยชาติ

“ใครจะดีใครจะชั่วเรื่องของเขาเว้ย.. เราจะทำความดีว่ะ !”

นี่ก็เหมือนกัน เขาจะมีแรงเสียดสีแค่ไหน แรงเสียดสีเพราะอะไร เพราะเรามีความรู้สึกดีกับเขา แต่เราทำแล้วนี่ผลสนองกลับมามันไม่เป็นความดีอย่างนั้น เราทำความดีอย่างนั้นไปแล้ว เราทำดีแบบทิ้งเหว พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เลย

“บุญที่ดีที่สุดนะคือบุญที่เราทำแล้วไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนโยนทิ้งเหวไปนั่นล่ะ” ทำความดีอันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความดีให้เขาแต่เราไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เลย เราทำดีของเรา.. ทำความดีของเรา นี่เป็นของๆ เรา !

ถ้าเราทำของเราแล้วนะ ผลตอบสนองตรงนี้เราไม่คิดว่าคนๆ นั้นจะเกิดความรู้สึกอย่างไรไง ผลตอบสนองของเราอยู่ตรงนี้ไง คือถ้ามีเวรกรรมต่อกันเราก็ได้ทำแล้ว เราทำความดีแล้ว แล้วเวรกรรมนี้มันก็มากินใจเรานี้ไง ให้มันกัดไป พอมันกัดไปแล้วนะเราจะเพิ่มเติมของเราเอง

ไม่เสียใจ ! โธ่.. ถ้าเสียใจนะหลวงตาเสียใจกว่าเพื่อน เพราะอะไร เพราะท่านให้คนอื่นมามหาศาลเลย แล้วคนที่ให้ไปก็มากัดท่านเยอะแยะไป ท่านก็ไม่สนน่ะ

มันกลับนะเหมือนกับลูกทำร้ายพ่อแม่.. ลูกทำร้ายพ่อแม่ เพราะความที่มันเสียใจว่าพ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ลำเอียง มันถึงทำร้ายพ่อแม่ด้วยความสะใจของมัน แต่ผลที่ตอบสนองนะ เห็นไหม “อนันตริยกรรม”

ถ้าพูดถึงนะว่าเขาทำร้ายพ่อแม่ด้วยความสะใจของเขา เพราะว่าเขารังเกียจพ่อแม่ของเขา ว่าพ่อแม่ไม่รักเขา แต่เขาทำอันนั้นมันแย่มาก แย่มากนี้ผลของมันคืออนันตริยกรรม ! เราทำคนอื่นมันยังไม่มีกรรมเท่านี้เลย

เรามีปัญหากัน เราไม่เข้าหากัน เราทำร้ายกัน หรือเราทำสิ่งต่างๆ มันก็แค่กรรม เพราะมนุษย์ทำของมนุษย์ใช่ไหม แต่ถ้ามนุษย์ทำกับพ่อแม่ เห็นไหม อันนี้เพราะอะไร เพราะเขาทำเพื่อความสะใจของเขา นี่เราพูดถึงการกระทำของเขานะ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีคุณต่อเขา เราทำความดีต่อเขา แล้วถ้าเขามีผลตอบสนองที่ดีมันก็ดีต่อเขา ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะมันก็เป็นกรรมของเขา แต่กรรมของเขาเกิดจากการกระทำของเขา เห็นไหม นี่มันให้ผลอย่างนี้ ! แล้วดูสิยิ่งเราทำร้ายพระอริยเจ้า พระอริยเจ้านี่เป็นกิริยานะ กิริยาคือการแสดงออกนี่เป็นกิริยาทั้งหมด หัวใจของท่านมันปล่อยวางหมดแล้ว

ทางโลกเขานะ สุภาพบุรุษรังแกสุภาพสตรี เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ แต่สุภาพบุรุษทำลายสุภาพสตรีนี้เป็นสิ่งที่โลกรู้ได้ใช่ไหม.. แต่พระอริยเจ้า ผู้ที่จิตใจปล่อยวางนี้ใครรู้ได้ แล้วเราไปทำลายกับจิตใจอย่างนั้น กรรมมันให้มาอีกมหาศาลใช่ไหม

ฉะนั้นเราย้อนกลับมานี่ ย้อนกลับมามีเหตุมีผลก่อนว่าทำไมทำกับเขาแล้วเป็นอย่างนี้.. ทำไมทำกับเขาแล้วเป็นอย่างนี้ อู้ฮู.. คนถามปัญหานี้เยอะมากเลย แล้วกูก็ไม่รู้ว่าจะไปเอาโจทย์ที่ไหนมาตอบ ก็ต้องตอบอย่างนี้ อ้อม.. ไปซะไกลเลย แล้วก็กลับมาตอบโจทย์นี้

ผลมันเป็นอย่างนี้ไง ! ถ้าผลมันเป็นอย่างนี้ปั๊บ แล้วเราเข้าใจในผลของวัฏฏะ เห็นไหม เราถึงซึ้งคำนี้ในพระไตรปิฎกมาก ผลของวัฏฏะ.. เวลาผู้ที่โดนกระทำ โดนกระทำแล้วจะมาขอโทษ.. ไม่ๆๆๆ ไม่ถือโทษเลย นี้มันเป็นผลของวัฏฎะ ก็เหมือนกับน้ำท่วม น้ำท่วมนี่กระแสน้ำมันพัดพวกสิ่งของพวกขยะอะไรมารวมกัน มากระทบกัน มากระทั่งกัน

พวกเราก็เหมือนสวะอันหนึ่ง เกิดในวัฏฏะ แล้วผลของกรรมมันพัดมาให้กระแทกกัน.. กระแทกกัน มาเจอผลการกระทบกัน นี่ผลของวัฏฏะ ! ผลของวัฏฏะ.. เศษสวะหรือสิ่งที่น้ำพัดมามันไม่มีชีวิต พอกระทบกันแล้วมันก็แตกสลาย อันไหนที่แข็งกว่า มันก็ทำลายสิ่งที่อ่อนกว่า แต่มันไม่มีเวรไม่มีกรรมต่อกัน แต่จิตใจเรามี มันเจ็บ.. มันจำ.. มันมีความอาฆาตแค้น.. มันมีความสัมพันธ์ เห็นไหม

แต่นี้ถ้าพูดถึงใจของครูบาอาจารย์เรานี่ ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว มันก็เหมือนกิริยา มันก็เหมือนกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต พอกระทบกันแล้วไม่มีความบาดหมาง แต่พวกเรายังมีอยู่ ถ้ายังมีอยู่เราก็ฝึกของเรา เราเข้าใจตรงนี้ เห็นไหม มันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป อย่าหวัง.. อย่าคาดหวัง ! อย่าคาดหวังว่าเราทำดีต่อใคร ใครจะมีผลตอบสนองอะไรเรามา ไม่คาดหวังไม่อะไรทั้งสิ้น แล้วทำไปอย่างนี้

อย่างเช่นเด็กๆ นี้พ่อแม่รักมันจะตาย โอ้โฮ.. แต่เวลามันฉุนเฉียวขึ้นมามันทำร้ายพ่อแม่มันเลย แล้วมันรู้อะไร ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราไปทำดีกับใครก็แล้วแต่ ใครจะมีผลตอบสนองกับเรามาอย่างไร เรารู้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราก็ทำความดีของเรา

ผลของวัฏฏะนะ.. ถ้าเราภาวนาจนรู้เห็นเป็นอย่างนี้หมดแล้วนะ มันวางหมดนะ มันเข้าใจหมดเลย หลวงตาจะบอกว่า “จิตที่มันได้ชำระล้างแล้ว มันเหมือนกับมังกรที่มันแหวกว่ายไปในอากาศ” มันว่างหมดไง ท่านพูดเองนะ พูดบ่อยเมื่อก่อน บอกว่า “จิตใจที่มันพ้นไปแล้ว มันเหมือนกับพญานาค เหมือนกับมังกรที่มันแหวกว่ายไปในอากาศ มันไม่มีสิ่งใด มันไม่มีขอบเขตอะไรเลย มันครอบคลุมได้หมด”

แต่นี้ของเราไม่เป็นอย่างนั้น มันติดไปหมด มันกระแทกกระทั้นไปหมด นี่ผลของกรรม ! ฉะนั้นใครทำอย่างไรแล้วก็ เออ.. น่าหัวเราะนะ เออ.. เอาอีกแล้วเหรอวะ เออ.. เอาอีกแล้วเนาะ เอาก็เอาวะ.. มันไม่รู้จะหลบยังไง

เขาไม่รู้อะไรกับเราหรอก เขาก็ตามใจตามความเห็นหรือความสะใจเขา.. สะใจ พอใจ เออ.. เอ้า โทษนะ.. มันเรื่องของมึง กรรมของมึงเอาไป ของใครของมัน... บอกเขาก็ไม่ฟัง บอก...เขาก็บอกว่าล้าสมัย หมดยุค ตกยุคแล้ว กูคนรุ่นใหม่ปัญญาชน คนเก่ง เออ.. กูจะดูซิคนเก่งมันจะเก่งแค่ไหนวะ

ผลมันเป็นอย่างนี้ ! ถ้าเราเป็นอย่างนี้ปั๊บนะ อันนี้เราก็วางไว้ แล้วมันจะกระทบมากหรือน้อยขนาดไหน มันก็อยู่ที่ว่าเราสร้างเวรสร้างกรรมมามากขนาดไหน เพราะเรื่องอย่างนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎกเยอะเรื่องพระนี่ พระบางองค์โอ้โฮ.. เกิดมาเห็นไหมดูสิ กินข้าวไม่เคยอิ่มเลย บางองค์เกิดมา ดูอย่างพระสีวลีสิ โอ้โฮ.. มหาศาลเลย ก็เพราะเขาทำมาหมด เห็นไหม ฉะนั้นเวลาอะไรเกิดขึ้นมากับเรานี่เราไม่เสียใจเลย

เราไปสร้างไว้ที่โพธาราม ...เขาบอกว่าผิดนู้นผิดนี่ โอ้โฮ.. เขาว่าเราร้อยแปดเลย เราบอก “ไม่เป็นไรหรอก ผิดเพราะกูทำเอง.. กูกำไว้เองใช่ไหม” เขาจะเอาอย่างนั้น เขาจะเอาอย่างนี้ เขาจะเอาตามใจเขาหมด แต่เราไม่ตามเขาไป เราทำเอง ใครจะด่าก็เอาวะกูทำเอง... ถ้ากูไม่อยากให้เขาด่ากูคล้อยตามเขาไปก็จบ ใครจะดึงไปทางไหน พอกูไม่ไปกับเขาเขาก็ด่า เพราะเราทำเอง จะไม่ให้ด่าก็ได้ ไหลไปตามเขานี่เขาไม่ด่าหรอก แล้วมันได้อะไรขึ้นมาล่ะ

แต่ถ้าเราจะทำเพื่อประโยชน์ เห็นไหม ประโยชน์คือเราทำความดีของเรา เราอยู่ของเรานี่ หลวงตาบอกเลยว่า คนมีปัญญาก็มี คนโง่ก็เยอะ คนมีปัญญาก็มี เขารู้เขาเห็นเองไง แต่เราจะพูดหรือไม่พูดออกมาเท่านั้นแหละ แล้วถึงเวลามันจะเป็นของมันเอง ฉะนั้นเราทำความดีก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ

ปลาเป็นว่ายทวนน้ำ มันต้องลำบากนะ.. ปลาตายนี่มันลอยไปตามน้ำ นอนสบาย.. ให้น้ำมันไหลพัดไป ไอ้ปลาเป็นนี่แม่งเหนื่อยฉิบหายเลย มันจะไปวางไข่ต้นน้ำ แม่งต้องกระโดดข้ามหิน.. ต้องแหวกว่ายขึ้นไป.. แล้วเราจะเป็นปลาเป็นหรือปลาตายล่ะ ถ้าเราเป็นปลาเป็นก็ต้องว่ายน้ำ ต้องเหนื่อย ถ้าเป็นปลาตายก็นอนเฉยๆ น้ำมันจะพัดไป.. มันทำได้ มันรู้ได้

นี่เรื่องเวรเรื่องกรรม โดยหลักเป็นอย่างนี้ แต่โดยปลีกย่อยของแต่ละบุคคล แล้วอย่างในปัจจุบันนี้.. แล้วเวลามันให้ผลนะ โธ่.. ไม่ใช่พูดนะเราเปรียบเทียบก่อนหน้านั้น เห็นไหม เวลาเราไปสร้างที่นู้นน่ะ ถ้าพูดถึงทางโลกนี่ลำบากมาก ต้องหัวเดียวกระเทียมลีบ ไปไหนมีแต่โดนกระทืบ แต่เขาอยู่กันสุขสบายเป็นกลุ่มเป็นก้อนนะ แต่ในปัจจุบันนี้มีแต่คนถาม เฮ้ย.. มึงทำอย่างไรวะ เฮ้ย.. มึงทำอย่างไรวะ เราบอกกูไม่ได้ทำอะไรเลย กูอยู่เฉยๆ แต่อยู่บนหลักการ

นี้โลกมันพิสูจน์ พอพิสูจน์แล้วมันก็อย่างนี้ ทุกคนจะถามว่าทำอย่างไร ทำอย่างไร... ไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่กับหลักการนี่แหละ ถ้ามันผิดจากนี้ไปไม่เอา มันผิดสิ่งนี้ไปไม่เอา.. ไม่เอากับใคร เพราะถ้ามันผิดไปแล้วมันจะผิดไปตลอด แล้วถ้าไม่มีใครยืนหลักไว้เลยนะ อะไรผิดอะไรถูกก็ไม่รู้.. ไม่รู้จริงๆ นะ

เวลาเราจะทำอะไรนี่ดูที่วัดสิเวลาธุดงค์.. พอธุดงค์ไปแล้วนะ พูดถึงว่าถ้าธุดงค์ก็อย่างที่ว่า ถ้าเราทำอะไรมากขึ้นไปนี่ ถ้าทำสิ่งอื่นมันจะดีกว่า เวลาธุดงค์ๆ ก็คือธุดงค์จบเลย ทีนี้เราว่าธุดงค์ๆ หลวงตาท่านพูดเอง ตอนเราอยู่กับท่านใหม่ๆ ท่านบอกว่า “ต้องธุดงค์ !” คำพูดของท่านนะ “ถ้าไม่ธุดงค์.. ต่อไปมันจะมีอยู่เฉพาะในตำรา”

เพราะในตำรามันมีธุดงควัตร แล้วเราก็อ่านแต่ตำราใช่ไหม พออ่านตำราแล้วต่างคนต่างทำไปมันก็เละใช่ไหม แต่นี้พอเราทำขึ้นมานี่ ตำรามันก็มี.. ผู้ที่ทำจริงมันก็มี.. นี้พอเราอ่านตำรามาแล้วมาเจอก็ “เออ.. นี่ไง ! นี่ไง !”

ฉะนั้นเพียงแต่ว่าเราทำไว้ให้มันมีอยู่ในสังคม หลวงตาท่านถึงธุดงค์ แต่ก็อย่างว่าเนาะ พอมันธุดงค์มากไปๆ เวลาธุดงค์.. ยิ่งธุดงค์ยิ่งรวย เอ้า.. เขาธุดงค์ให้จน ! ธุดงค์อะไรก็ไม่รู้..

ธุดงควัตรนี่แล้วแต่เขาจะใส่ มันตามมีตามเกิด แต่เพราะเราทำจนเขามีความเชื่อถือมีความศรัทธา ยิ่งธุดงค์ยิ่งรวย เพราะเขากลัวธุดงค์แล้วมันจะขาดแคลนไง ธุดงค์นี่เขาให้วัด ให้ขาดให้แคลน ให้ควบคุมหัวใจไง.. ทุกคนน่ะ หัวใจทุกหัวใจก็ต้องปรารถนาอยากได้สิ่งที่พอใจ มันก็อยู่ที่กรรมนะ ถ้ามันไม่ได้สร้างมา ไม่ได้ทำมา มึงก็กินแต่ข้าวเปล่าไปเถอะ แต่ถ้ามึงทำมาสร้างมานะ..

พอพูดอย่างนี้ไปแล้วมันยาว มันยาวเพราะว่ายกตัวอย่าง เช่นหลวงปู่ชอบ เทวดามาใส่บาตร แล้วก็ย้อนกลับไปพระสารีบุตร ที่พระโมคคัลลานะไปดลใจเทวดามาใส่บาตรไง มันมีเวรมีกรรม ! มีเวรมีกรรม มีคนทำดี มันอยู่ที่ทำมาหมดเลย

ภาวนาก็เหมือนกัน ภาวนานี่ถ้าใครได้สร้างมา เวลาสร้างมานะเหนื่อยยาก.. มันมีเห็นไหม ที่ว่าเรือแตกมาน่ะ แล้วสำคัญตัวว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วเพื่อนเป็นเทวดาอยู่ เพื่อนคนละชาติตายกันไป บอกว่า “ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์.. ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์” ทีนี้พระพุทธเจ้าเกิดแล้วก็ให้ไปหาพระพุทธเจ้าไง พอไปหาพระพุทธเจ้า ไปฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ พระพุทธเจ้าบอกกำลังบิณฑบาตอยู่ บอกขอให้เทศน์เถอะ เพราะว่าชีวิตมันสั้นนัก พอเทศน์เสร็จปั๊บกลายเป็นพระอรหันต์เลย เห็นไหม แล้วพอจะไปหาบริขารก็โดนควายขวิดตาย ..นี่ฟังเทศน์หนเดียวเลย ! ไปหาพระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย

แล้วอย่างนี้พอเห็นปั๊บใครๆ ก็ว่า โอ้โฮ.. ทำไมมันปฏิบัติง่ายอย่างนั้น แล้วคนเขาก็จะเอามาอ้างไง นี่ลัดสั้นๆ.. ปฏิบัติง่ายๆ.. แต่ย้อนอดีตชาติไป ก่อนที่ยังเป็นนักบวช ๔-๕ องค์ เห็นไหม แล้วขึ้นไปอยู่บนหน้าผาตัดน่ะ

เขาสละชีวิตมาแล้ว.. เขาสละตายมาแล้ว.. มันต้องมีเหตุนั้นมา มันถึงจะมาง่ายอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่ได้สร้างอย่างนั้นมานะ โอ้โฮ.. ถูลู่ถูกังนี่ล่ะ ถูลู่ถูกังนี่ถ้ามันได้ก็ดีไป.. ถ้ามันไม่ได้ มันก็จะทำให้ไปได้ข้างหน้าอย่างที่เขาได้กัน

ฉะนั้นถ้ามันไม่ได้ก็เพื่อให้มันลัดสั้น ก็เพื่อสร้างบารมี.. มันต้องทำมาหมด มันต้องมีเหตุมีผล นี่เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์ๆ ...วิทยาศาสตร์สู้กูไม่ได้หรอก กูวิทยาศาสตร์กว่า แล้ววิทยาศาสตร์กูนี่มันเก็บสะสมไว้ในใจได้ด้วย

 

โยม : ทุกอย่างก็เป็นเวรกรรมทั้งนั้นใช่ไหมคะ ถึงมาเกี่ยวข้องกัน เป็นพ่อแม่ลูกกัน เป็นเพื่อนฝูง เป็นญาติพี่น้อง

หลวงพ่อ : เวรกรรม.. ใช่ๆๆ ใช่ ! เพื่อนฝูง.. แม้แต่กษัตริย์แต่ละแว่นแคว้น เมื่อก่อนก็อย่างนี้ โธ่.. พระพุทธเจ้านะ คิดดูสิเวลาที่เขาไปแย่งน้ำ ก็พ่อตากับพ่อตัว ก็สองฝ่ายสองรัฐ แล้วน้ำมานี่ก็พยายามจะแย่งน้ำเพื่อใช้ทำนาไง พอพระพุทธเจ้ารู้ เห็นไหม ไปนั่งขวางไว้เลย กองทัพยกมานี่นั่ง เวลาญาติเข้ามาก็บอกว่า

“น้ำกับชีวิต.. อันไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน”

ไอ้ที่รบกันก็บอกว่า “ชีวิตมีคุณค่ามากกว่า” ก็เลิกกันไป

ทีนี้พอกลับไปแล้วมันไม่มีจะกิน ด้วยความกดดันก็ยกทัพมาอีกแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไปนั่งขวางอีกแล้ว “น้ำกับชีวิต.. อันไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน”

“ชีวิตมีค่ามากกว่า” ก็กลับไป

ครั้งที่ ๓ ยกมาอีกแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ไป หมดทั้งสองฟากเลย.. แหลกหมดเลย นี่ไงมันห้ามไม่ได้ไง กรรม ! เวลาถึงที่สุดแล้วนะก็รบกัน

เรื่องเวรเรื่องกรรมนี่นะมันเป็นวิทยาศาสตร์... วิทยาศาสตร์หมายถึงว่า เวลามันพัดไปมันวนไป มันจะไปตกในวาระอย่างนั้น.. วาระอย่างนั้น

แล้วนี่เขาถามปัญหาไปเดี๋ยวจะตอบอาทิตย์หน้า เราจะดูอยู่ เด็กมันถาม แล้วมันพูดถึงบอกว่า “อุบัติเหตุหรือกรรม ! อุบัติเหตุหรือกรรม” เขาบอกว่ามันไม่ใช่กรรม มันเป็นอุบัติเหตุ กูก็บอกว่า “อุบัติเหตุนั่นล่ะคือกรรม !” ทำไมอุบัติเหตุมันต้องมาเกิดกับมึงล่ะ ทำไมมันไม่เกิดกับคนอื่นล่ะ

อุบัติเหตุนั่นแหละคือกรรม ! เพราะอุบัติเหตุ.. ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ กรรมนี้แก้ไขได้ ถ้าเรามีสติ อย่างเช่นเวลาขับรถถ้าสติเราดี แค่เราแว็บเดี๋ยวมันก็ผ่านจากอุบัติเหตุไปแล้ว เสี้ยววินาทีนะขับรถนี่ แว็บ ! ลงแล้ว.. แว็บ ! ไปแล้ว.. แล้วถ้าเรามีสติ เห็นไหม แว็บเดียวนี่เราคุมได้.. แว็บเดียวนี่คุมได้ ไอ้นี่มันแก้ไปได้ ! แก้ไปได้ด้วยสติ.. ถ้าแก้ไปได้ด้วยสติ แก้ไปได้ด้วยปัญญานี่มันแก้ไปได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่ามันเป็นกรรมนี่.. กรรมดี กรรมชั่ว มันแก้ไขได้ ที่ว่าแก้กรรมๆ ไอ้แก้กรรมที่ว่าไปแก้กรรมนี้เราไม่เชื่อเลยนะ เพราะแก้กรรมของพระพุทธเจ้าคือหลับตาเนี่ย.. พุทโธนี่แก้กรรม เพราะเวลาที่สุดแล้วกรรมตามมาไม่ทันหรอก ใจนี้มันพ้นไปได้เลย แล้วถ้ามันแรงมา อย่างพระโมคคัลลานะนี่แรงมาก.. แรงมากเพราะฆ่าแม่ไว้ไง ที่พระโมคคัลลานะโดนทุบนี่เพราะกรรมมันแรง การฆ่าพ่อฆ่าแม่ เห็นไหม นี่เพราะกรรมของพระโมคคัลลานะ

โอ้โฮ.. ฟังนี้ไม่ใช่ฟังนิยายนะ นี่เรื่องจริง แต่พวกเรามันคุ้นชินกับเรื่องชาดกก็เลยกลายเป็นนิยาย เป็นลูกคนเดียวไง.. เป็นลูกคนเดียว กับแม่ตาบอดเลี้ยงลูกอยู่คนหนึ่ง ลูกก็รักแม่มาก แม่ก็รักลูกมาก ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ใช่ไหม แม่ก็บอกว่าลูกเราต้องเป็นฝั่งเป็นฝา ก็พยายามจะไปหาภรรยาให้.. ลูกก็ไม่เอาๆ ไม่เอาๆ นะ แม่ก็รักลูกมากใช่ไหมก็อยากจะให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา ก็อุตส่าห์ไปหามาให้ เอาคนดีที่สุดนะ แม่ไปหามานี่เอาคนดีที่สุด พอมาถึงก็เห็นว่าแม่ตาบอดใช่ไหม พอได้ภรรยามาภรรยาก็แบบว่าไม่อยากเลี้ยงแม่ ไม่อยากจะดูแล

พูดทุกวัน.. เพราะแม่ตาบอดใช่ไหม เวลาพระโมคคัลลานะไปหาของป่า กลับมาก็เอาข้าวที่จะป้อนแม่ราดไว้ บอกว่าดูสิแม่ทำสกปรก เป่าทุกวันนะ ! เป่าทุกวัน เป่าจนที่ว่าแม่กับลูกนี่รักกันขนาดไหน ก็ตัดสินใจว่าตอนนี้เอาเลยนะ เอากันเถอะเนาะ บอกกับแม่ว่าจะพาแม่ไปเยี่ยมญาติ พอพาไปถึงกลางป่าใช่ไหม กลางป่านั้นโจรมันมากไง ก็บอกให้แม่ถือเชือกรถม้า ให้ถือไว้แล้วตัวเองก็วิ่งลงไป แล้วบอกว่า “ไอ้โจรมา ! ไอ้โจรมา” ก็ตัวเองนั่นแหละขึ้นมาทุบแม่

พอทุบไปๆ นะ พอทุบแม่ไปคือจะฆ่าไง ก็ภรรยาบอกว่าแม่นี่ยุ่งมาก ปัญหาเยอะมาก แล้วจะทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ ก็เลยวางแผนพาไป พอไปถึงก็ให้แม่จับเชือกเอาไว้ แล้วทำเป็นว่าโจรปล้นแล้วก็วิ่งเข้ามาทุบเพราะแม่ตาบอดไง จะมาฆ่าแม่ แต่ด้วยความรักของแม่ “โอ๋ย.. ลูกหนีไปนะ โจรมา” ไอ้ลูกก็ทุบอยู่ข้างหลังไง ไอ้ด้วยความตาบอด ไอ้ด้วยความรักของแม่นะ.. “ลูกหนีไปให้ไกลเลยนะ อย่าเข้ามาโจรมันมา ไปนะ ! ไปนะ”

พอทุบไปนะ ไอ้คนมันดีอยู่โดยสันดานเดิมไง พอมันทุบๆ ไปแล้วมันสะเทือนใจ กูจะฆ่ายังห่วงเราอีก “ไอ้โจรถอย ! ไอ้โจรถอย” พอถอยไปเสร็จก็กลับมา ไอ้ลูกชายก็กลับมาหาแม่ “แม่เป็นไง ! แม่เป็นไง” แม่ไม่รู้เรื่องนะ ก็สงสารมากเพราะแม่รักจริง ก็พาแม่กลับ ทีนี้พอพาแม่กลับ พอกลับไปถึงบ้านก็ไปตายไง

นี่ชาติหนึ่ง.. แต่ก็ตกนรกอเวจีมหาศาลนะ แล้วก็ทำคุณงามความดีมา ก็มาปรารถนาเป็นพระโมคคัลลานะ กับพระสารีบุตรนี่ปรารถนามา สุดท้ายแล้วด้วยแรงปรารถนานะ...

พระพุทธเจ้า ! พระปัจเจกพระพุทธเจ้าต้องปรารถนา.. พระอัครสาวก ! พระผู้อุปัฏฐากต้องปรารถนา.. สาวก ! สาวกปกติเราไม่ต้องปรารถนา ทำดีทำชั่วมันกลับกัน แต่ถ้าแรงปรารถนานี้ต้องปรารถนาแล้วทำมากกว่า

พระพุทธเจ้านี้ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย.. ผู้อุปัฏฐาก อัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวาก็ต้องปรารถนา มันเป็นตำแหน่งของเขา เขาสร้างของเขามานะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าตั้งให้นะ เขาปรารถนา.. พอปรารถนาแล้วเขาสร้างของเขามา

พอสร้างของเขามา นี้เพียงแต่พอเราสร้างมาแล้วเวรกรรมนี่มันจะลงมา พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่า “เธอจะเกิดเป็นพระพุทธเจ้าที่นั่น.. องค์นั้น.. ชื่อนั้น.. สมัยนั้น” นี่คือพยากรณ์แล้ว พยากรณ์ก็เหมือนกับบล็อก พอบล็อกขึ้นมาแล้วก็กลับไม่ได้ต้องดันไป.. แต่หลวงปู่มั่นเรานี้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้ายังไม่พยากรณ์ ยังกลับได้ นี่สาวก เห็นไหม

ฉะนั้นพอปรารถนามา.. คำว่าปรารถนามา จะบอกว่า อู้ฮู.. ฆ่าแม่ ทำลายขนาดนั้นแล้วมาเกิดเป็นอัครสาวกได้อย่างไร ฆ่าแม่นี่แบบว่าเป็นอนันตริยกรรมมา แต่คุณงามความดีก็ทำมา.. ทำมาปรารถนามาเป็นอัครสาวกได้ พอเป็นอัครสาวกแล้ว พอมาตรัสรู้เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า สุดท้ายแล้วนี่กรรม ! กรรมเก่า กรรมใหม่

เรื่องนี้มหัศจรรย์มาก เพราะเราศึกษามา เราชอบ.. เราศึกษาเรื่องนี้ แล้วมาพิสูจน์กันแต่ละภพแต่ละชาติ พอมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าปั๊บ ก็มาเกิดเป็นพระสารีบุตร แล้วพอพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็ไปเป็นลูกเศรษฐี ก็ไปศึกษาก็ไปหาสัญชัย

เพราะว่าธรรมดาใช่ไหม.. ปัญญาชนทั้งนั้นแหละ คนเก่งไง ต้องไปหาคนที่มีชื่อเสียง ทีนี้สัญชัยเขามีชื่อเสียงก็ไปศึกษากับเขา พอไปศึกษากับเขาแล้ว “นั่นก็ไม่ใช่.. นี่ก็ไม่ใช่..” คือตัวเองมีวุฒิภาวะดีกว่า “ไม่ใช่ๆๆ แล้วมันไม่ใช่อะไรวะ..”

นี่เดี๋ยวนี้ก็สักแต่ว่าไง ปัจจุบันนี้นู่นก็สักแต่ว่า.. นี่ก็สักแต่ว่า.. สัญชัยทั้งนั้นน่ะ ! ไม่มีปัญญา โง่เง่า ! เพราะพระพุทธเจ้าบอกเลย “ในศาสดาทั้งหมด สัญชัยโง่ที่สุด” แต่ในทางโลกนะ ทางวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าสัญชัยฉลาดที่สุด ในทฤษฎีของฝรั่งนะมันคิดอยู่ไอ้เรื่องที่ว่านู้นก็ไม่ใช่.. นี่ก็ไม่ใช่..

ทีนี้พอศึกษามาแล้วไม่ใช่ๆ ตัวเองมีวุฒิภาวะมากกว่า เฮ้ย.. ไม่ใช่ว่ะ เพราะศึกษาจบแล้วไม่เห็นได้อะไร ก็นัดกันไงว่า ถ้าใครเจอของจริงก็ให้มาบอก จนวันหนึ่งไปเจอพระอัสสชิ

“ไม่ใช่.. ไม่เห็น ไม่ใช่ ! พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ไม่เห็น ไม่ใช่เลย ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ.. เย ธมฺมา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กลับไปแก้ที่เหตุนั้น ต้องทำลายเหตุ แล้วผลมันถึงจะเกิด ไม่ใช่ว่า ไม่ใช่ๆๆ”

ปิ๊ง ! เป็นพระโสดาบันเลย ไปบอกพระโมคคัลลานะก็มาเป็นพระโสดาบันเหมือนกัน แล้วไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเป็นพระอรหันต์

พอไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่เดินมานะ... นี่ตรงนี้ในพระไตรปิฎกเขียนไว้ แล้วสังคมโลกติเตียนมากว่าเป็นวิทยาศาสตร์ไง พอมานี่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ “นั่น.. อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา เรามาแล้ว” แล้วพอสำเร็จแล้ว ก็แต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวา

หมู่สงฆ์นี่สะเทือนเลย บอกว่าพระพุทธเจ้านี่ลำเอียง ทำไมไม่ตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะ ไม่ตั้งพระอัสสชิ เพราะบวชก่อน ไม่ตั้งลูกหัวปีไง ไปตั้งลูกคนเล็กๆ เขาติเตียนกันนะ พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ ! ของๆ เขา ! เขาสร้างของเขามา พอตั้งขึ้นมา.. นี่เราจะบอกว่าทำไมถึงโดนทุบ เพราะนี่กรรมมันย้อนมา

เสร็จแล้วพอพระสารีบุตร.. เพราะสมัยก่อนนะ ก่อนที่ศาสนาเราจะวาง มันมีศาสนาอื่นๆ อยู่แล้ว พวกพราหมณ์ พวกลัทธิอื่นๆ มันมีเต็มอยู่แล้ว แล้วพอพระพุทธเจ้าขึ้นมา เหตุผลมันดีกว่าก็ลบล้างกัน พระพุทธเจ้าจะบิณฑบาตตอนเช้านะ จะไปแวะที่นี่นะ ก็ไปคุยธรรมะกัน แล้วพระพุทธเจ้าชนะตลอด.. พระพุทธเจ้าชนะตลอด

นี้มันก็เผยแผ่ไปใช่ไหม มันก็มีพวกคหบดีต่างๆ ทีนี้พอคหบดีต่างๆ เวลาจะยืนยันกันนี่พระโมคคัลลานะขึ้นไปบนสวรรค์ กลับมาบอกเลยว่า บ้านนี้ตายแล้วไปเกิดที่นั่นๆ พระพุทธเจ้าบอกใช่ๆๆ พอใช่แล้วมันชัดเจน สังคมก็ฮือขึ้นมา.. เขาก็คิดวางแผนกัน ว่าจะต้องลบล้างพุทธศาสนา ถ้าลบล้างพุทธศาสนาต้องทำใครก่อน ต้องทำผู้มีฤทธิ์ที่ว่าไปเอาข้างบนมาเป็นการยืนยันก่อน ก็วางแผนฆ่า.. นี่กรรมเก่า ! กรรมใหม่ !

พอวางแผนฆ่า ก็ให้จ้างนายหัวไม้ไปตี ไปทุบ มาครั้งแรกก็เหาะหนี นี่มีฤทธิ์ไง..ไอ้กรรมอันนั้นที่ทุบแม่ ไอ้นี่สร้างคุณงามความดีมา คุณงามความดีทำให้ตัวเองมีฤทธิ์มีเดช เห็นไหม มีฤทธิ์เป็นรองพระพุทธเจ้า มานี่เหาะหนีได้หมดเลย ทีนี้พอมาครั้งที่ ๓ ก็เหาะหนี พอรู้ว่าเขาจะมาทุบก็เหาะหนีแล้ว ครั้งที่ ๒ มาเหาะหนีแล้ว ครั้งที่ ๓ มาพิจารณาดูว่านี่มันเรื่องอะไรวะเนี่ย อ๋อ ! กรรมของเราเอง

อันนี้ย้อนกลับนะ.. ย้อนกลับมาเวลาเขามาด่าพระพุทธเจ้า ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ใช้ฤทธิ์ทำเขาล่ะ เวลาเขามาด่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปล่อยให้เขาด่าทำไม... ฤทธิ์นี่มันมีนะ ! แต่พอทำอะไรไปแล้ว มันก็สร้างเวรสร้างกรรมต่อไป ฤทธิ์นี่เวลาใช้เขาใช้เพื่อประโยชน์ เขาไม่ได้ใช้เพื่อทำลายใคร มันไม่เห็นเหมือนฤทธิ์ทางโลกใช่ไหม แล้วเขามีฤทธิ์กัน แล้วเขาไปเอามาเพื่อทำลายกัน

แต่พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์เอาไว้ทรมาน เอาไว้แสดงให้เห็น เพื่อชักนำให้คนเปลี่ยนใจ เพราะการเปลี่ยนใจนี่ ถ้าเราไม่เปลี่ยนใจนะ.. ใจเราไม่เปลี่ยน ใจเราไม่แก้ไขนะ เราแก้ไขไม่ได้หรอก แสดงให้เห็นเพื่อให้เราปรับอุดมคติ แต่ถ้าเอาฤทธิ์มาแสดง เอาฤทธิ์มาทำลายคนนี้นะ มันก็ทำลายตายเปล่า เพราะมันไม่ได้ปรับอุดมคติไง มันโดนทำลายให้ตายไปใช่ไหม แต่ถ้าแสดงฤทธิ์ให้เห็นนี่.. “โอ้โฮ ! โอ้โฮ ! ใช้เว้ย !” อย่างนี้มันเปลี่ยน เห็นไหม ฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าใช้อย่างนี้ ไม่ใช้ทำลายใคร

ทีนี้พระโมคคัลลานะก็มีฤทธิ์มาก.. มีฤทธิ์มากแต่ไม่ทำลายเขา มีฤทธิ์มากนะแต่นั่งให้เขาทุบตายน่ะ.. เพราะอะไร เพราะใจยอมรับไงว่ามันเป็นกรรมของเรา เราทำแม่เอาไว้ เห็นไหม

มันมีเหตุมีผลทุกเรื่องเลย ! แม้แต่ตัวเองจะโดนเขาทุบตาย แล้วพอเขาทุบตายไปแล้วนะ.. เวลาเราศึกษาเรื่องนี้เราซึ้งมาก ไอ้พวกเราโดนทุบตายนะ พอโดนทุบทีเดียวก็เจ็บตายแล้ว โดนทุบทีหนึ่งก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่พระโมคคัลลานะปล่อยให้เขาทุบตายไปเลย พอตายไปแล้วนะ ด้วยฤทธิ์ของท่าน ท่านรวมร่างเข้าให้เป็นปกติ แล้วเหาะไปหาพระพุทธเจ้า ไปลาพระพุทธเจ้าก่อน ด้วยความผูกพัน พระพุทธเจ้าบอกว่า “สมควรแก่เวลา.. สมควรแก่กรรมของเธอ”

พอลาเสร็จแล้วนะพระพุทธเจ้าให้เทศน์ก็เทศน์ เหาะ.. แสดงฤทธิ์.. แล้วก็เหาะกลับมาที่เก่านะ แล้วคลายฤทธิ์ออก ไอ้ที่รวมร่างเข้ามาเป็นพระโมคคัลลานะแหลกเหมือนเดิม แล้วพระพุทธเจ้ามาเก็บเผาเอง...

นี่เราจะเทียบว่าใจ... ใจของพระอรหันต์ เห็นไหม มันโดนทุบจนตายไปแล้วมันไม่ตกใจ ไม่หวั่นไหว ไม่มีสิ่งใดเลย สามารถรวมร่างกายนี้กลับไปลาพระพุทธเจ้าได้ ด้วยใจที่เป็นปกติ คือการเกิดและการตายมันไม่กระเทือนหัวใจจริงๆ เลย ไอ้พวกเรามีอะไรหน่อยเดียวก็ไหว โอ้โฮ.. จะเป็นจะตายแล้ว นี่เทียบดูใจสิ.. เรื่องของกรรมมันมาขนาดนั้น

ฉะนั้นอย่างของเรานี้มันจะมีมากมีน้อย.. ทุกคนมี ! อยู่ที่ว่ามีมากหรือมีน้อย ถ้าคนมีน้อย.. ประสาเรานะ ว่า ๕๐-๕๐ กึ่งๆ มา ถ้าคนดีมันก็ดีสุดๆ ไปเลย คนเลวก็เลวชัดๆ ไปเลย ไอ้กึ่งๆ นี่โอ้โฮ.. จะต้องลงทุนลงแรงเยอะหน่อย เพราะมันไม่ค่อย.. มันไม่ค่อยเชื่ออะไร แล้วมันก็ไม่ค่อยมั่นใจอะไร แล้วมันก็เลยไปครึ่งๆ กลางๆ อยู่อย่างนี้

ฉะนั้นนี่มันเวไนยสัตว์ ในบัว ๔ เหล่าเขาบอกไว้ เวไนยสัตว์คือเป็นกลาง กึ่งๆ แต่มีโอกาสไปได้ ถ้ามีโอกาสไปได้นี่มันต้องถูไถ มันต้องจริงจัง

นี่กรรม ! สิ่งที่มันกระทบมาอย่างนี้แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องควบคุม ของเราไม่อย่างนั้นนะ ของเราอยู่ที่วัดนี่ ถ้ามันมีใครมาเราก็ดู ถ้าใครมาแล้วไม่ค่อยฟังหรือไม่มีเหตุผล ก็ต้องให้เขาไป เพราะมันเป็นแบบอย่างไง แต่พอเราอยู่กันอย่างนี้ปั๊บมันมีครูบาอาจารย์ เราเคยอยู่ที่นี่ บางอย่างถ้าเราตัดสินได้ก็ตัดสิน ถ้าตัดสินไม่ได้หรือทำไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่ไง เพราะเราไม่มีอำนาจพอไง อำนาจมันเป็นของเจ้าอาวาส เป็นของผู้นำ ถ้าบางอย่างนี่มันอยู่ที่ผู้นำ ถ้าผู้นำมีวินิจฉัยอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร

นี่พูดถึงว่าเราอยู่ในสังคมที่เราจะตัดสินอะไรไม่ได้ ถ้าเราจะตัดสินได้ก็ตัดสินในความคิดเรา ลิงไง.. ลิงปิดหูปิดตา ปิดหูปิดตาแล้วไปปฏิบัติของเรากันเอง ไม่มีใครที่ไม่มีกรรมหรอก แล้วเวลามีกรรมก็ต้องพูดอย่างนี้ ดูเวลาหลวงตาท่านพูด เห็นไหม “ไม่ได้ว่าพวกนี้หรอก ว่าไอ้พวกฝั่งลาวนู้นน่ะ” เพราะไม่ให้กระเทือนใจไง ไอ้ที่พูดนี่พูดยกเหตุผลมาทั้งหมดเลย แล้วก็มาวัดที่ใจเรา

มันเป็นการเปรียบเทียบ ถ้าพูดถึงว่าโดยเฉพาะ โดยตรงมันก็ไม่ฟัง หรือฟังแล้วมันก็มองไม่เห็น ถ้ามันมองเห็นอย่างนี้ปั๊บ แล้วเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น.. เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ ! แต่มันซับซ้อนมาเยอะมาก.. ใจนี่แปลกมาก มันซับซ้อนมาเยอะมาก แต่ละภพแต่ละชาติ

ใครจะปฏิเสธว่ามีหรือไม่มีมันเรื่องของเขา มันเทียบได้กับจริตนิสัยนี่แหละ เวลามันเทียบมา “ทำไมชอบอย่างนี้.. ทำไมไม่ชอบอย่างนี้” มันไม่ใช่แค่เรื่องอาหารเท่านั้นนะ อาหารนี่เลือกไว้เหมือนกัน รสชาติก็ไม่เหมือนกัน กินก็ไม่เหมือนกัน

ความชอบไง ! ความชอบของใจ อะไรถ้ามันถูกใจขึ้นมาแล้วมันปิ๊ง ! เลยนะ แต่ถ้าไม่ถูกใจนะ แหม.. มึงเอ้ย อึดอัด ! แล้วไม่ถูกใจเราแต่ถูกใจเขานี่ ชอบไม่เหมือนกัน.. ไม่ถูกใจเราเลยแต่ไอ้นี่มันชอบ อู้ฮู.. ต้องเห็นทุกวันนะ เขาชอบ เราไม่ชอบ ทำอย่างไรล่ะ ฉะนั้นเรื่องกรรมมันถึงมหัศจรรย์

อจินไตย ! คำว่าอจินไตยคือว่ามันต่อเนื่องกันไม่ได้เลย ไกลกันขนาดนั้นนะ มันถึงเข้าใจเพราะนี่มันเกิดมาเยอะ แล้วไม่ใช่จะถูกหรือจะผิด เอ้า.. เทียบกับเรานะ เอาเทียบกับเราชาตินี้เป็นอย่างนี้ แล้วเราคิดว่าในสมัยยุคน้ำแข็ง เราเป็นคนใดคนหนึ่งในยุคน้ำแข็ง แล้วกับยุคนี้ เราเทียบชีวิตกันสิ แล้วคิดว่าไม่เกิดเหรอ ถ้าสมัยยุคน้ำแข็ง ยุคโลหะ เราเป็นคนเถื่อนคนโบราณ กับเราตอนนี้ แล้วเราเทียบถึงชีวิตเราต้องการอย่างนั้นไหม กับปัจจุบันเนี่ย แล้วเราจะต้องการอะไรต่อไป เราจะทำอย่างไรต่อไป เทียบชีวิตอย่างนี้สิ

ไอ้นี่เรารู้ไม่ได้เลยว่าเราเกิดเป็นใคร แต่ถ้าคนที่เขารู้ได้เขาเห็นนะ เราเคยเป็นอย่างนี้.. เราเคยเกิดเป็นอย่างนี้.. เราเคยเกิดเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าใช้คำนี้นะ เวลาพระพุทธเจ้าพูดว่า “เราเคยเป็นพระเวสสันดร แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็น” เพราะอะไร เพราะธาตุที่เป็นพระพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้าใช่ไหม แต่เราเคยเป็นคืออดีต

นี่ก็เหมือนกัน เราเคยผ่าน.. แต่ตอนนี้นั่งอยู่นี่เว้ย ! ตอนนี้เราอยู่นี่ พอนั่งอยู่นี่ แม่ง อันนู้นไม่เอา จะเอาอันนี้ แต่มันเป็นมาแล้ว แล้วอนาคต.. มันเป็นมาแล้ว ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นจะไม่มีที่นี่ แล้วถ้ามันมีที่นี่ ถ้ามันเป็นเหมือนกันหมด ก็เหมือนกับ เราเปรียบถ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมดใช่ไหม โตโยต้ารุ่นใดก็แล้วแต่ก็ต้องเหมือนกันหมด

ลูกของพ่อแม่คนหนึ่งก็ต้องเหมือนกันหมด เพราะพ่อกับแม่คือโรงงานผลิต ลูกออกมาต้องเป็นโตโยต้าเหมือนกัน รุ่นเดียวกัน เหมือนกัน นิสัยต้องเหมือนกัน ผู้ชายต้องเหมือนผู้ชาย ผู้หญิงต้องเหมือนผู้หญิง ไอ้นี่โตโยต้าออกมาแต่เครื่องอะไรไม่รู้ โตโยต้านะแต่เครื่องมันใช้อะไรไม่รู้

ใจของมันไง ! แล้วเราอาศัยพ่อแม่เป็นแดนเกิด แต่จิตใจเป็นของเขา พ่อแม่นี่เป็นแดนเกิดนะ.. ในปัจจุบันพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่มีบุญมีคุณมาก เพราะชีวิตนี้เราได้มาจากพ่อแม่ แต่อันนั้นเป็นเรื่องของปัจจุบัน แต่จริตนิสัยที่มันดีมาต่อกันมันก็ดี ถ้ามันมีปัญหากันมา มันก็จะมีปัญหา ทีนี้ถ้าเรามีปัญหา แล้วเรามาศึกษาธรรมะนี่เราจะแก้ตรงนี้

ไอ้ที่เราพูดได้ก็เพราะอย่างนี้นะ เมื่อก่อนยังไม่รู้ได้ขนาดนี้ ในบ้านเราก็มีปัญหานะ เรากับพ่อแม่จะมีปัญหา ที่มันมีปัญหาเพราะวัยไง เรามันคนแบบว่ามันจะไปให้ได้ แต่คนโบราณเขาคิดประสาเขา อู้ฮู... ความคิดมันขัดแย้งกันพอสมควร

แต่มันดีอย่างหนึ่ง.. ดีอย่างหนึ่งคือว่าเรามาทางนี้ไง แล้วเวลาเขาจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ เพราะผลงานของเขา ! ผลงานของเขาคือสมบัติของพ่อแม่ไง.. ผลงานของเขาคือสมบัติของเขา แล้วสมบัติของเขานี้มันทำประโยชน์ไง เขาจะรู้หรือไม่รู้.. เขาจะรู้หรือไม่รู้ แต่สมบัติของเขานี่มันเข้ามาเป็นประโยชน์ คือเขาได้เต็มๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาจะรู้หรือไม่รู้เขาก็ได้ของเขาไป

 

โยม : เอ๊ะ... ท่านอาจารย์คะ อย่างพระโมคคัลลานะ แม่ของท่านเป็นแม่ของพระอรหันต์มาตั้งหลายชาตินะคะ แล้วทำไมชาติที่เป็นแม่ของพระโมคคัลลานะที่เกิดเป็นหนอน โยมไม่เข้าใจเลย

หลวงพ่อ : มันก็ย้อนกลับมาถึงแม่ของพระสารีบุตร แม่ของพระสารีบุตรนะลูกเป็นพระอรหันต์ทั้งท้องเลย ! พระสารีบุตร.. พระจุนทะ.. พระเรวัตตะ ๗-๘ องค์นะเป็นพระอรหันต์หมดเลย พระสารีบุตรพอเป็นพระอรหันต์แล้วนี่พระสารีบุตรมีปัญญามาก

ธรรมดาแล้วพระบวชไม่ได้ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาต เพราะตั้งแต่สามเณรราหุลใช่ไหม พระสารีบุตรก็เลยบอกท่ามกลางสงฆ์ ประกาศท่ามกลางสงฆ์ว่า “ถ้าน้องผมจะบวชทุกคนให้บวชได้ เพราะแม่ผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ” เห็นไหม

พระเรวัตตะแอบบวช แม่ก็ต่อต้านนะ เหมือนกับคู่อาฆาตกันมาเลยนะ พยายามจะเอาลูกไว้ให้หมดไม่ให้บวช เพราะเป็นฮินดูเป็นพราหมณ์ ทีนี้ก็จับพระเรวัตตะไปแต่งงาน ฮินดูเขาแต่งงานตั้งแต่เด็กๆ ๗ ขวบ ๘ ขวบจังแต่งแล้ว.. จับไว้ไม่ให้ไปบวช

นี่ไม่ให้ไปบวช ให้ไปแต่งก็ไปแต่ง พอแต่งกลับมา.. พระเรวัตตะก็ฉลาดมาก เด็กๆ นะ ไปถึงก็บอกให้คนเขาหามเกี้ยวมา อินเดียนี่เขามีฐานะ พอบอกว่าจะปัสสาวะก็จอด ลงไปปัสสาวะแล้วก็กลับ.. ทำอย่างนั้นหลายหนนะให้เขาไว้ใจก่อน พอไปถึงข้างทางแล้วก็บอกว่าจอด พอลงไปทำธุระเสร็จแล้วขึ้นมาก็นั่ง ก็หามมาเรื่อยๆ คำนวณจนไปข้างหน้าเจอพระไง พอลงจากนั้นครั้งสุดท้ายแล้วไปเลย ขอบวชเลย พอบวชเสร็จพ่อแม่ก็ช็อก พ่อแม่ก็เจ็บช้ำมาก

เจ็บช้ำมากนะ ! เพราะอะไร เพราะด้วยความผูก จะเอาชนะกับลูกไง จะดึงลูกกลับมาก็คนละศาสนา พอสุดท้ายนี่พระสารีบุตรจะตาย.. ทีนี้พอจะตายนะก็ห่วงแม่ไง ห่วงแม่ว่าแม่เรานี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ พี่น้องเราเป็นพระอรหันต์หมดเลย แม่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ อยากให้พระพุทธเจ้าไปสอนก็สอนไม่ได้ พระสารีบุตรก็กำหนดดู พอกำหนดดูแล้วก็ อ๋อ.. ต้องเราเองไง

พอจะตายก็ไปลาพระพุทธเจ้าว่าจะตาย พอจะตายแล้วก็กำหนดว่าแม่เรานี่ใครจะแก้.. แล้วเวลาเราจะหมดอายุเมื่อไหร่ กำหนดดูวันนี้.. พรุ้งนี้จะตาย ไปลาพระพุทธเจ้า พอลาพระพุทธเจ้าเสร็จก็กลับบ้าน นี่ฟังนะ ! เห็นลูกชายเดินมา “อ๋อ.. ลูกเราเนาะ คงจะมาสึกแล้วแหละ บวชตั้งแต่หนุ่มจนแก่ เห็นไหมทุกข์ตายห่าเลย คงจะคิดถึงบ้าน จะมาสึกที่บ้าน” ยังคิดอย่างนั้นนะ !

ทีนี้ก็เดินเข้าไปที่บ้านไปหาแม่ไง เสร็จแล้วแม่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่พูดกับแม่นะ ก็เข้าไปห้องเก่าที่คลอดไง จนคืนนั้นก็ไปนั่งอยู่ในนั้น... นี่พราหมณ์ไง พอนั่งอยู่ในนั้นปั๊บ หัวค่ำเทวดาก็มาอุปัฏฐากแล้วแสงมันพุ่งมาไง มีแสงพุ่งเข้ามาเลย แม่ก็อู้ฮู.. เปิดเข้าไปหาในห้อง

“ลูกๆ ใครมา”

“เทวดามา”

ก็ยังเฉยนะ ไปจนถึงเที่ยงคืนแล้วพรหมมา เพราะฮินดูเขาถือพรหมมาก พอพรหมมา เพราะพรหมแสงมันใหญ่กว่า แล้วมันพุ่งเข้ามาในห้องไง พรหมก็มาอุปัฏฐากพระสารีบุตร แม่ก็เข้าไปอีก

“ลูกๆ ใครมาน่ะ”

“พรหม ! พรหม ! พรหมมาอุปัฏฐาก”

“อู้ฮู !” เพราะเขาไหว้พรหม เขาบูชาอยู่ แล้วพรหมนี้มาอุปัฏฐากลูกกูเนี่ย อู้ฮู.. ลูกกูใหญ่ขนาดไหนเนาะ ก็ชักเอะใจ เห็นไหม

พอเริ่มเอะใจ.. ก็เพราะเอะใจนี่แหละพระสารีบุตรนะบอกว่า “แม่ ! พรหมนี่นะเป็นคนถือบาตร เป็นคนเช็ดบาตรพระพุทธเจ้านะ ! ไอ้ที่แม่เคารพบูชากันอยู่นั่นน่ะเด็กอุ้มบาตร.. พระอินทร์นี่เด็กล้างบาตรพระพุทธเจ้า !”

อู้ฮู.. ชักได้คิดนะ พอได้คิดแล้วขึ้นเลย “พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ.. รัตนตรัย” พอขึ้นปั๊บ โอ้โฮ.. แม่ปิ๊งเลย เป็นพระโสดาบัน ! เห็นไหม นี่พอฟังแล้วนะ พอตอนสุดท้ายมาพลิกเลย “โอ้โฮ.. ลูกไม่รักแม่ ! ลูกไม่รักแม่ ถ้าลูกรักแม่ลูกต้องบอกแม่มาตั้งนานแล้ว... ลูกไม่รักแม่...” เมื่อกี้ยังบอกจะมาสึกอยู่เลย หัวใจคนมันพลิก.. ใจคนนี้พลิกยากมาก..

ฉะนั้นที่โยมบอกว่าแม่พระโมคคัลลานะไปเกิดเป็นหนอนนี่ใช่อยู่ ! อย่างเวลาลูกของเรา เราเลี้ยงลูกของเรามาด้วยดี แต่ทิฐิมานะระหว่างลูกกับแม่ พ่อแม่กับลูกนะ ลูกไปแก้พ่อแก้แม่นี่หายากมาก ! หายากมากๆ เลย” อู้ฮู.. ก็กูเบ่งมึงมา ! มึงจะมาสอนอะไร” ไม่มีทางหรอก ! ทิฐิมันมี.. พอทิฐิมันมีอย่างนี้แล้วนี่ทิฐิของเขา เห็นไหม แล้วถ้าทิฐิมันเกิดแล้วทำอะไรล่ะ เกิดเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นอย่างนั้น การเกิดและการตายมันอยู่ที่เวรที่กรรมนั่นล่ะ

 

โยม : แล้วทำไมวาสนาเป็นถึงแม่พระอรหันต์

หลวงพ่อ : วาสนาสิ ! แต่กว่าจะได้มามันก็มีของมัน เป็นแม่พระอรหันต์.. แต่ถ้าตัวเองเป็นพระอรหันต์นี่ดีกว่า

(ผู้ฟังหัวเราะ)

เราไม่เถียงนะเพราะอะไรรู้ไหม เพราะเวลาเขาบอกว่า “เกิดเป็นผู้หญิงยาก ! เกิดเป็นผู้หญิงยากเนี่ย” เวลาถ้าเราจับตรงนี้ปั๊บนะ แล้วเวลาเรารู้จริงนะมันจะอยู่ในร่องในรอย อย่างเช่นเวลาเราเกิดเป็นผู้หญิง เป็นทุกข์เป็นยาก แม่ของพระพุทธเจ้านี่ต้องปรารถนา อย่างที่ว่าปรารถนานั่นล่ะ ไม่ใช่ว่าธรรมดาแล้วเราจะคลอดพระพุทธเจ้าได้ ไม่มีสิทธิ์ ต้องปรารถนามาเป็นแม่พระพุทธเจ้า แล้วพอคลอดพระพุทธเจ้าแล้วก็ตาย แล้วพระพุทธเจ้าก็ขึ้นไปเทศน์เอา

ต้องปรารถนานะ บางคนเป็นผู้หญิง เขาจะบอกว่าเป็นผู้หญิงนี่เกิดมามีกรรม.. มันมีกรรมมันมีเวร นี่เราจะบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีผู้หญิง ผู้ชาย ถ้ามันมีผู้หญิง ผู้ชายตายตัวนะ พระอานนท์เป็นผู้ชายไม่ได้..

ผู้หญิง-ผู้ชายนี้ความจริงไม่มี.. มันมีจิตเป็นกลาง แต่ด้วยความปรารถนา ด้วยความชอบของแต่ละคนจะอยากเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย แล้วอย่างพระอานนท์ เห็นไหม เป็นผู้หญิงมาก่อน แล้วไม่ชอบเป็นผู้หญิงก็ปรารถนามาเป็นผู้ชาย ก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ เมื่อ ๕๐๐ ชาติก็มาเป็นผู้ชาย

เราบอกผู้หญิงจะเป็นผู้ชายก็ได้.. ผู้ชายจะเป็นผู้หญิงก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงก็คือผู้หญิง ผู้ชายก็คือผู้ชาย แต่มันออกมาแล้วใช่ไหม มันเป็นสังคมโลก เป็นสมมุติ แต่จริงๆ แล้วนี่จิตมันเป็นกลาง ฉะนั้นพอบอกว่าเป็นผู้หญิงแล้ว ผู้หญิงก็น้อยใจ.. ผู้ชายก็น้อยใจ ! (ผู้ฟังหัวเราะ) ผู้ชายก็จะเป็นผู้หญิงกันนะ ...

กรณีอย่างนี้เขาเถียงกัน เราเห็นมาอย่างนี้เยอะ แล้วเรามองข้ามไปแล้วไง เขาไปเถียงกันว่า “ทำไมไม่บวชภิกษุณี.. ทำไมบวชแม่ชีไม่ได้” เราบอกว่าเราไม่เถียงกันเรื่องถ้วยชามหรอก เราเถียงกันเรื่องอาหาร

เรื่องผู้หญิง ผู้ชายนี้มันเหมือนกับภาชนะ เหมือนกับถ้วยชาม แต่ธรรมะนี้เปรียบเหมือนอาหารในถ้วยชามนั้น แล้วเราไปเถียงไปแย่งกันที่ภาชนะ ว่าภาชนะใครดีกว่ากัน แต่ในถ้วยชามเราไม่มีอาหารเลยเนี่ย ไร้สาระน่าดูเลย.. ภาชนะกูจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันโว้ย ! แต่ให้กูมีอาหารเต็มภาชนะนั้นกูพอใจ.. ใช่ไหม

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติแล้ว ธรรมนี้มันไม่ปิดกั้นใคร ธรรมไม่มีหญิงไม่มีชาย ถ้าเราปฏิบัติธรรมได้ธรรมแล้วนะ ไอ้ภาชนะมันจะมีประโยชน์อะไร ไอ้สมมุติข้างนอกมันจะมีประโยชน์อะไร แต่เราไปติดกันที่สมมุติไง ไอ้นู้นเป็นอย่างนี้.. ไอ้นี้เป็นอย่างนี้.. เถียงกันนะ มึงดีกว่ากู.. กูดีกว่ามึง.. ก็เพราะดีกว่ามันถึงโง่ไง ! ถ้าไม่มีใครดีกว่า มันก็ไปได้ใช่ไหม เพราะไอ้ดีกว่านั่นแหละถึงทำให้มึงโง่

 

โยม : หลวงพ่อคะ พูดถึงเรื่องกรรมเมื่อกี้ค่ะ ถ้าเราคิดบวกกับคนๆ หนึ่ง แล้วเขาจะคิดบวกหรือไม่บวกกับเราก็แล้วแต่

หลวงพ่อ : ใช่ !

โยม : แล้วใจมันยึดมาก ! ใจมันยึดๆๆๆ ทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมปล่อยค่ะหลวงพ่อ หลวงพ่อมีอุบายไหมคะ

หลวงพ่อ : ปล่อยรึยังล่ะ !

โยม : ยังค่ะ

หลวงพ่อ : ไม่ยอมปล่อย.. เราก็ไม่ต้องไปปล่อยที่นั่น ! ไม่ยอมปล่อย.. เราถามใจมัน ถามใจนะ พูดกับใจนะ “มึงกับกูนี่ใช้เวลาพิสูจน์ สิ่งที่เราคิดนี้จริงหรือเปล่า” แล้วถ้าเรายึดเขาเราก็ดูเขาไป เราก็ดูเขาไว้ เราไม่ปล่อยเขานี่ เพราะปล่อยหรือไม่ปล่อย เขาก็เป็นเขา เราก็เป็นเรา แต่มันสุขทุกข์อยู่ที่เรา สุขทุกข์เพราะใจนี้มันไปยึด

ถ้าสุขทุกข์อยู่ที่ใจนี้มันไปยึด.. แล้วถ้าเขาไม่เป็นดั่งแรงปรารถนา ไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนา เราก็ทำดีของเราไปนั่นแหละ แต่เราก็ไม่ต้องไปเป็นขี้ข้าเขา คือเราก็ไม่เป็นทาสอารมณ์เราเองไง เราถึงบอกว่า “กิเลสเท่านั้นที่ทำลายเรานะ ! ไม่มีใครทำลายเราเลย กิเลสเราเองทำลายเราเอง ทิฐิมานะเราทำลายเราเอง”

ความคิดก็เป็นทิฐิอันหนึ่ง ! ทิฐิว่าเราต้องการอย่างนี้ เราทำความดีอย่างนี้ เพื่อปรารถนาอย่างนี้ ให้สมกับความดีของเรา เพราะเรามีแรงปรารถนาอย่างนี้.. นี่ทิฐิของเรา กิเลสของเรา มันเหยียบเราแล้ว มันฆ่าเราแล้ว ! ไม่ใช่เขา ! ไม่ใช่เพื่อนที่เราไปยึดเขาฆ่าเรา ไม่ใช่เพื่อนที่เรายึดเขาทำลายเรา ทิฐิเรานี่แหละทำลายเรา !

ทิฐินี่ทำลายเรานะ พูดกับทิฐิเรา มึงกับกูพิสูจน์กัน ! มึงกับกูพิสูจน์กัน ทำไปอย่างนี้แหละ พอทำไปอย่างนี้แล้วสิ่งที่เราปรารถนา มันจะแสดงตัวของมันเอง โดยธรรมชาติของมันเอง ถ้าสิ่งนั้นผลวิบากหรือผลที่มันเป็น มันจะมาลบล้างทิฐิเราเองไง “กูบอกมึงแล้วมึงไม่เชื่อกู เห็นไหม ! กูบอกมึงแล้วมึงไม่เชื่อกู เห็นไหม” มันจะปล่อยด้วยเหตุผลนี้ ! มันจะปล่อยด้วยปัญญาของเรา มันจะไม่ปล่อยด้วยเป้าหมายนั้น มันจะปล่อยด้วยทิฐิของเราเองนี้ !

ถามมัน ! ถามมัน “มึงกับกูนะ.. เวลาพิสูจน์มึงดูให้ดีนะว่าจะเป็นอย่างที่มึงคิด นี่มึงดูให้ดี” แล้วดูเวลาพิสูจน์กัน แล้วพอผลมันออกมานะ “กูบอกมึงแล้ว ! กูบอกมึงแล้ว มึงไม่เชื่อกู” เห็นไหม คุยกับมัน ! ปัญญาของเรานี้เราต้องตาม

มันเป็นหมดล่ะ.. แล้วพออย่างนี้นะ แล้วคนที่ปรารถนาดีกับเรา แต่ทิฐินี้มันต่อต้าน แล้วเอาเวลานั่นล่ะพิสูจน์ ว่าเขาดีกับเราจริงๆ มึงไม่เชื่อ ! มึงไม่เชื่อ ! ไอ้คนที่ดีกับมึงนี่มึงไม่เชื่อ ไอ้คนที่ร้ายกับมึงนี่มึงเสือกไปเชื่อเขา คุยกับมัน ! คุยกับมัน ! แล้วทำสัญญากับมันไว้.. ทำสัญญากับมันไว้ แล้วดูเวลาพิสูจน์

เราไม่ต้องไปแก้ที่ใคร.. เราแก้ที่ไหนไม่ได้ เราไปแก้ที่เขาไม่ได้ เราไปแก้ที่ใครไม่ได้หมดเลย เวรกรรมของเขา ความเห็นของเขา ทิฐิของเขา เราจะแก้ที่ใจของเรา “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเท่านั้นเอาชนะหัวใจของตน ไม่มีใครเอาชนะหัวใจคนอื่นได้ แล้วสิ่งนี้มันเกิดที่หัวใจของเรา

อันนี้เราคิดบวก.. คิดบวกว่านี่มันเป็นงานของเรา คนที่เขาภาวนานี้เขาไม่มีงานทำ.. ไม่มีงานทำคือว่าเขาทำอะไรไปแล้วมันเลื่อนลอย เขาจับประเด็นไม่ได้ แต่นี้มันมี มันเป็นประเด็น มันเป็นสิ่งที่เราจับได้ เจ็บไหม.. เจ็บ แต่ความเจ็บนี้เจ็บเพราะอะไร เจ็บเพราะมึงโง่ ! พิสูจน์กัน พิสูจน์กัน ความเจ็บนี่แหละ แล้วพอมึงฉลาดขึ้นมานะ ถุย ! โง่ฉิบหาย ! โง่ฉิบหายแล้วมันก็ปล่อย เห็นไหม นี่งานของเรา.. เรามีงานทำ !

เป็นอย่างนี้ทุกคน นี่เวรกรรมมันเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครทำอะไรเราเลย.. ไม่มีเลย ! หัวใจกูทำกูเองไง เจ็บก็เจ็บเอง ถ้ามันรื่นเริงอาจหาญ สุขมันก็สุขเอง ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ! นี่ศาสนาพุทธสอนอยู่ที่นี่ อุปัฏฐากหัวใจของเรา คือดูแล้วท้ามัน พิสูจน์กับมัน.. สิ่งที่เขาคิด ถ้าเราคิดบวกกับเขา เขาไม่เป็นตามเรา.. เราคิดลบกับเขา เขาดีกับเรา นี่พิสูจน์กัน !

สัจธรรม ! ธาตุก็คือธาตุ น้ำก็คือน้ำ น้ำมันก็คือน้ำมัน ธาตุใดก็เป็นธาตุนั้น.. ความดี ! ธาตุของดีก็คือดี ธาตุของชั่วก็คือชั่ว แต่เพราะมึงตาบอด ! มึงไปเห็นความชั่วเป็นความดี เห็นความดีเป็นความชั่ว เพราะมึงโง่เอง ! มึงมันตาบอดเอง ! พอมึงตาบอดเองแล้วนี่มึงฉลาดได้หรือยัง

สิ่งใดมันครอบคลุมใจอยู่ ทิฐิมันครอบคลุมใจอยู่.. พอเราฉลาดขึ้นมามันก็คลายทิฐิอันนั้นออกมา นี่มันปล่อยออกมา ถ้ามันปล่อยได้ เห็นไหม

 

โยม : มันปล่อยได้ไม่กี่ครั้งค่ะหลวงพ่อ

หลวงพ่อ : ขอให้มีครั้งเดียว มีครั้งที่ ๑ มันจะมีครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ถ้ามันเริ่มปล่อยนะถูกต้องแล้ว ถ้ามันไม่ปล่อยเลยสิยาก ถ้ามันปล่อยได้แล้วนะหนหนึ่ง แล้วเราก็พิจารณาของเราไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เราไม่ต้องไปทำให้เราเสียเวลากับเขา เราคิดของเรา แล้วเราดูเวลาเรา อย่างนี้เขาเรียกพิสูจน์

นี่ไงเวลาพิจารณากาย ! เวลาพิจารณากายนะ พอเวลาจิตสงบเราตั้งกายขึ้นมา เวลากายมันเปลี่ยนแปลง กายมันเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม อ๋อ ! มันเป็นไตรลักษณ์ มันไม่มีสิ่งใดเลย มันปล่อยวางได้ สิ่งที่เราคิดผิดกับเขา หรือเรามีความผูกพันกับเขา แล้วเขาแสดงตัวของเขาเอง

ไตรลักษณ์ ! คือภาพมันชัดขึ้นมาเอง ดีหรือชั่วมันชัดขึ้นมาเอง เราเห็นเอง เราจะปล่อยของเราเอง เหมือนพิจารณากาย เหมือนพิจารณาธรรมะเลย แต่เราพิจารณาจากสภาวะสิ่งแวดล้อมภายนอก แล้วเทียบกลับมาที่เรา.. แล้วพอเทียบกลับมาที่เรานะ “โอ้โฮ ! ข้างนอกมันยังหลอกกูขนาดนี้นะ แล้วข้างในจะหลอกกูขนาดไหนนะ” มันจะหดสั้นเข้ามา เห็นไหม

นี่ทวนกระแส ! ธรรมของพระพุทธเจ้าบอกให้ทวนกระแสเข้ามาดูที่ใจของเรา ไม่ใช่ตามกระแส ทวนกระแส.. เอาสิ่งนั้นน่ะ แต่สอนใจเราไง ถ้ามันไม่มีธรรมะนะพอดูสิ่งนั้นแล้วก็ว่า “ไอ้นี่ไม่รักกู.. ไอ้นี่ทำลายกู” นี่คนใหม่ เห็นไหม มันไม่เข้ามาที่เรา มันยังไปข้างนอกอยู่ แต่ถ้ามันปล่อยข้างนอกแล้วมันเข้ามาที่เรา มันจะแก้กันที่นี่.. เป็นทุกคน.. เป็นทุกคน...

นี่พูดถึงเรื่องทางโลกนะ ! ฉะนั้นทางโลกเขาถึงบอกว่า “รักคนที่เขารักเราดีกว่า... คนที่ไม่รัก อย่าไปรักเขา...” โลกเขายังคิดได้เลย ! แล้วธรรมะทำไมคิดไม่ได้ !

รักคนที่เขารักเราดีกว่า.. ไม่มีใครรักเรามากกว่าเราหรอก ! รักคนที่เขารักเราดีกว่า.. ไม่มีใครรักเราเท่าเราแน่นอน ! รักคนนี้ดีที่สุด คือรักตัวเรา ! รักตัวเราที่สุด แล้วอย่างอื่นจะตามมา พอรักตัวเราดีที่สุด เราก็ทำดีของเรา เราก็อยู่กับเราที่ดี คนดีใครๆ ก็ชอบ ทุกคนหาคนดี เขาไม่หาคนชั่วหรอก

ถ้าเรารักเรา เราก็ใช้ชีวิตเราให้อยู่ในร่องในรอย เห็นไหม เราเป็นคนดีนะใครๆ ก็มอง อู้ฮู.. คนนี้ดีๆ เขามองหาคนดี รักเราแล้วทำสิ่งที่ดีๆ พอรักเราแล้วเราทำที่เรา ก็ย้อนกลับมาที่เรานี่แหละ เพราะเราเชื่อมั่นตรงนี้ เราคิดว่าเราทำนี้เราทำดี ใครจะด่าใครจะว่าอย่างไร เรื่องของมึงเหอะ... เพราะเราถือว่าเราทำอยู่ในธรรมวินัย เราทำอะไรให้เราเอาข้อวัตร เอาธรรมวินัยนี่จับ ถ้าผิดจากนี้ไปเราไม่ทำ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างมัน เราทำดีของเรา เห็นไหม ถึงที่สุดของเวลามันต้องปรากฏ ทำดีไว้.. ดีของเราไว้

แต่นี้คนเราส่วนใหญ่มันทนแรงโลกธรรมไม่ไหว เขาว่านี่แม่งทนไม่ไหว ทุกคนทนให้เขาว่าไม่ไหวนะ ไอ้โลกธรรมนี่ไปหมดเลยนะ หลวงตาพูดนี่เราจำแม่นที่สุดเลย

“คนโง่มากกว่าคนฉลาดมาก” โลกนี้มีแต่คนโง่ ! มันโง่โดยตัวมันเอง มันไม่รู้อะไรผิดอะไรถูก แม่งก็พูดพร่ำๆๆ ไป แล้วมึงไปฟังมันได้อย่างไร ! ธรรมะซักข้อหนึ่งมันก็ไม่รู้

หลวงปู่ฝั้นท่านพูดประจำ เวลาท่านมาเทศน์ที่วัดบวรฯ “โอ้โฮ ! ไอ้หัวดำๆ นี่นะ แม่งพูดนิพพานหมดเลย.. พูดนิพพานหมดเลย.. ผมเส้นหนึ่งมันยังสละไม่ได้เลย ! มันจะไปนิพพานกัน” หลวงปู่ฝั้นพูดเอง “ผมบนหัวมันยังสละไม่ได้เลย ! นิพพานทั้งนั้น !”

เราไม่เชื่อ.. ใครจะพูดมรรคผลนะกูซักก่อน ต้องให้กูซักก่อนว่ามึงได้มาเพราะเหตุใด สมบัตินี้ได้จากใครมา.. (ผู้ฟังหัวเราะ) มรรคผลนั้นน่ะ ได้จากใครมา.. มึงทำอย่างไรถึงเป็นมรรคผล กูขอถามนิดนึง.. ถ้ามึงหลอกกูไม่ได้กูไม่ฟังมึงหรอก มึงปล้นเขามา มึงโกงเขามา.. โกงเขามาเดี๋ยวตำรวจจะตามมาจับมึง แต่ถ้ามึงบอกมานะว่าเป็นอย่างไร นี่มึงบอกมานะ เออ.. กูฟัง

นี่ก็เหมือนกันโลกเป็นอย่างนั้น.. นี้จะบอกว่าให้เราทำคุณงามความดีของเรา แล้วไม่ต้องไปยุ่งกับเขาเลย พิสูจน์กัน ! พิสูจน์กัน ! อันนี้มันมี ธรรมดาประสาโลกนะ เราอยู่กับโลก มันต้องเจอกัน มันต้องสัมผัสกัน ต้องทำงานร่วมกัน เราก็คุมใจเราดีๆ ยิ่งเราอยู่ใกล้กันนะ.. น้ำตาลใกล้มดนี่น่ะ ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งนะมันยิ่งได้แข็งแรง พอมันแข็งแรงขึ้นมาแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับมัน

“น้ำตาลใกล้มด” เพราะมดมันเจอน้ำตาลไม่ได้ใช่ไหม จิตใจเราเข้าไปอยู่ใกล้ๆ เขานี่มันก็ต้องหวั่นไหว มันต้องโดนแรงกระทบ ถ้าเรามีสตินะ โอ้โฮ.. สุดยอดเลย ! สุดยอดเลย แต่ถ้าเราไม่มีสติต้องห่างๆ ไว้ก่อน กูไม่เข้าใกล้... เดี๋ยวไปทำร้ายเขาล่ะยุ่งเลย.. ใกล้ๆ ก็ผัวะ ! เลยสิ ต้องให้เข้มแข็งก่อน พอเข้มแข็งได้แล้ว “มาเลย ! มาเลย !” พิสูจน์ได้ ! พิสูจน์ได้ ! ไม่กลัว !

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)