เทศน์พระ

ต้องไม่ทำ

๖ พ.ย. ๒๕๕๓

 

ต้องไม่ทำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ เทศน์วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ฟังธรรม ! ธรรมเหนือโลก สิ่งที่เป็นสัจธรรม มันจะเข้ามากระเทือนหัวใจของเรา เวลาแสดงธรรมออกมาจากเสียง เสียงมีเนื้อหาสาระ เสียง โสตวิญญาณ โสตะคือโสตประสาทรับรู้ อายตนะ ถ้ามันสะเทือนก็สะเทือนหัวใจไหมล่ะ ถ้ามันสะเทือนหัวใจ นี่สัจธรรม มันสะเทือนหัวใจเรา ให้เรามีความรับรู้ ให้มีความรู้สึก ให้มีสติปัญญา ให้เห็นภัยในวัฏสงสาร

เวลาเราเกิดมา เกิดมาด้วยกรรม เกิดมาแล้วได้ศักยภาพของมนุษย์มา มนุษย์นี้คือร่างกาย ตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นมา จนได้ออกบวชเป็นพระเป็นเจ้า สิ่งนี้เป็นมนุษย์สมบัติ

แต่มนุษย์สมบัติ คนมีชีวิต.. มนุษย์สมบัตินี้มันจะเคลื่อนไหวได้ ถ้าจิตออกจากร่างไปเขาเรียกว่าซากศพ เพราะจิตวิญญาณมันออกจากร่างนี้ไป ผลมันทางวัฏฏะ มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปตามผลของกรรม

ฉะนั้น สิ่งที่ยังมีจิตวิญญาณอยู่ ทำให้เรายังมีชีวิตอยู่ เรายังมีความรู้สึกอยู่ เรายังมีโอกาสอยู่ ถ้ามีโอกาสอยู่นะ เราจะมีการแก้ไขของเราได้ ถ้าเรามีการแก้ไขของเราได้ เราเป็นผู้ที่มีสติปัญญานะ

ดูสิ ทางการแพทย์เขา ห้องผ่าตัดเขาไม่ให้ติดเชื้อ เขาต้องปลอดเชื้อ เครื่องมือการแพทย์เขาต้องฆ่าเชื้อ ถ้าไม่ฆ่าเชื้อแล้วเอามารักษาคนไข้ การรักษาคนไข้เพื่อให้คนไข้นั้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่มันติดเชื้อเข้าไปมันจะเพิ่มเชื้อโรค เพิ่มการเจ็บไข้ได้ป่วยให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไป

เราเป็นผู้มีสติปัญญา เรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้า เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราต้องมีสติมีปัญญาของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ความปกติของใจเรา มันมีศีลโดยธรรมชาติอยู่แล้ว การบวชมา เรามีศีล ๒๒๗ มาตั้งแต่วันอุปัชฌาย์ญัตติจตตุถกรรมยกข้อหมู่ ศีลมันมีสมบูรณ์มาแล้ว

คำว่าศีลสมบูรณ์แล้ว ฉะนั้นศีล โดยความปกติของใจ ศีลของพระเรามี ๒๒๗ เณรมีศีล ๑๐ ศีลนี่มันมีโดยปกติ ฉะนั้นเรื่องของศีลมันเป็นเรื่องพื้นฐาน ทีนี้พอเรามีศีลเป็นปกติแล้ว เราจะมีสติปัญญาขึ้นมาเพื่อความสงบของใจ

ถ้าเรามีสติปัญญาเพื่อทำความสงบของใจ เราจะรักษาของเราเพื่อความปกติของใจ สิ่งที่เราทำสิ่งใด แล้วมันมีความผิดพลาด มันมีความวิตกกังวล ผลนี้ถ้าการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตมันผิดศีลขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นมา ความรู้สึกเรามันจะบอกเลย โกหกตัวเองๆ

ถ้ามันมีความโกหกตัวเอง เรากำหนดพุทโธๆ เพื่อความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา เราจะเกิดปัญญา เราจะเกิดการใคร่ครวญขึ้นมาเพื่อเราจะเข้าสู่สัจธรรม แล้วถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา เรายังหลอกตัวเราเองอยู่ว่าสิ่งที่เราทำผิดศีล

เราทำผิดศีลขึ้นมา แล้วเราไม่ได้ปลงอาบัติ สิ่งนั้นมันก็หลอกลวงเรา มันก็มีความกังวลในหัวใจของเรา มันก็ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราละล้าละลัง จะเข้าไปสู่สัจจะความจริง มันเป็นการสักแต่ว่า ทำสักแต่ว่า ผลเป็นสักแต่ว่า สักแต่ว่าทำ แต่หัวใจมันละล้าละลัง มันไม่เป็นความจริงของมัน

ฉะนั้นการแก้ปัญหา เราต้องปลงอาบัติก่อน การปลงอาบัติเห็นไหม ด้วยความเป็นปุถุชน ความเป็นสามัญสำนึกของคน การกระทำ ๒ ขายังมีความผิดพลาด ยังมีรู้พลั้ง ๒ ขายังรู้พลั้ง ๔ ขายังรู้พลาด เราก็เหมือนกัน เรายังมีความผิดพลาดของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันผิดพลาดเป็นธรรมดา

แต่เมื่อพอมีความผิดพลาดแล้ว อริยวินัยสิ่งที่ว่าผิดแล้ว เราทำความผิดแล้วเราปลงอาบัติ สิ่งที่เราปลงอาบัติ เราสารภาพว่าเราทำความผิดไป เราสารภาพเพราะมันขาดสติไป เราทำขึ้นมาเพื่อจะปลงอาบัติ เพื่อเป็นอาบัติแล้วเราจะตั้งต้นใหม่ สิ่งนี้นี่เป็นอริยวินัย ผิดแล้วรู้จักสำนึกผิด แล้วพอสำนึกผิดแล้ว เราจะสำรวมระวัง เราจะไม่ทำต่อไป

ในการประพฤติปฏิบัติมันตัดกังวล ในการปลงอาบัติคือการตัดกังวล คนที่จะไม่ผิดเลยมันไม่มีหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มันก็มีความผิดพลาด ทั้งความเห็นผิดเพราะคิดว่าเราจะปฏิบัติกับคนอื่น คนอื่นจะมีทางวิชาการนั้น จะทำให้เราสามารถพ้นจากกิเลสได้ ความผิดพลาดโดยความคิดว่าผิด คิดว่าถูก มันคิดผิดอยู่แล้ว.. คิดผิดอยู่แล้ว แล้วยังไปทำความผิดอยู่กับเขา มันก็ผิดพลาดมาโดยธรรมดา

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามารื้อค้นเอง ด้วยสัจธรรมของตัวเอง ผิดถูกขึ้นมา เราพิสูจน์ด้วยตัวเราเอง จนความผิดพลาดที่เราไปศึกษากับคนอื่น เพราะว่าวุฒิภาวะเขาด้อยมาก เขาปฏิญาณตนว่าเขาเป็นศาสดา เขาปฏิญาณว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาเป็นเจ้าลัทธิต่างๆ เขาสั่งสอนกันอยู่ เขาว่าเขาเชื่อของเขาว่าเขาเป็นของเขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษาของเขา ก็คิดว่าจะเป็นแบบเขา แต่ ! แต่เพราะมีวุฒิภาวะใช่ไหม พอศึกษาไปแล้ว เราพิสูจน์ตรวจสอบในหัวใจของเราได้ใช่ไหม ว่าสิ่งนั้นมันไม่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริงขึ้นมาก็วางๆๆๆ ปล่อยวางเข้ามา หลีกเลี่ยงเข้ามาๆ เพื่อปฏิบัติกับตัวของเรา สุดท้ายแล้วทดสอบมาจนไม่มี จึงกลับมาปฏิบัติด้วยตัวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

เวลาปฏิบัติด้วยตัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง อันนี้มันเป็นการพิสูจน์กับตัวเราเอง ไม่ได้พิสูจน์กับคนอื่น ไม่ได้พิสูจน์กับเจ้าลัทธิต่างๆ ไม่ได้พูดคำสอนของใคร ไม่ได้อยู่ที่คำสอนของใครที่จะให้เราพิสูจน์กับเขา เพราะว่าเขามีเป้าหมาย มีมุมมอง มีทัศนคติของเขา แล้วเราไปศึกษากับเขา เป้าหมายเขาก็ผิด ทุกอย่างของเขาก็ผิดอยู่แล้ว

แต่แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอปฏิบัติไปแล้ว เขาเชื่อว่าถูก แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เชื่อ แล้วพิสูจน์แล้วว่ามันไม่ใช่ ก็เลยย้อนกลับมาฝึกฝนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พิสูจน์ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ตรวจสอบกันเอง พิสูจน์กันเอง จนเข้ามาสู่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง จนพิสูจน์ตรวจสอบ จนถึงสิ้นกิเลสไป

พอสิ้นกิเลสไป วางธรรมและวินัยไว้ เราจะมาประพฤติปฏิบัติกัน เราศึกษาธรรมวินัย ถ้าเราศึกษาธรรมวินัย สิ่งใดธรรมวินัยบัญญัติไว้แล้ว ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก มันเป็นตามธรรมวินัย ถ้าตามธรรมวินัย ถ้าเราทำผิดพลาดไปแล้ว ความผิดก็คือความผิด

ถ้าความผิดขึ้นมามันต้องปลงอาบัติ การปลงอาบัติคือการสารภาพ การยอมรับผิด.. กรรมก็คือกรรม กรรมคือทำมาแล้วก็ต้องเป็นกรรมอันนั้น แต่ ! แต่สิ่งที่ว่าเราสารภาพไปแล้ว เราปลงอาบัติไปแล้ว เราเริ่มต้นใหม่ของเรา

ฉะนั้น เวลาเราทำผิดพลาดไปแล้ว ความผิดก็ต้องเป็นความผิดสิ ฉะนั้นพอทำความผิดไปแล้ว ความผิดจะไม่มี เป็นไปไม่ได้ใช่ไหม นี่สังคมของสงฆ์ ถ้าสังคมของสงฆ์ ถ้าเราทำความผิดพลาดนั้นไป ความผิดพลาด.. เพราะเวลาต้องตรวจสอบขึ้นมา ความผิดพลาดว่าทำไม่ได้ เป็นสังฆเภท ! เป็นสังฆเภท !

อะไรก็จะเป็นสังฆเภท ตรวจสอบอะไรไม่ได้เลยเป็นสังฆเภท ไม่ควรกระทำเลยเป็นสังฆเภท แล้วเป็นสังฆเภทที่ไหน.. มันไม่เป็นสังฆเภทหรอก มันเป็นคุณงามความดี ถ้าเป็นสังฆเภท เวลาครูบาอาจารย์ ดูสิ หลวงปู่มั่น เวลาพระ.. ซากศพเดินได้ เวลาพวกลูกศิษย์ลูกหาทำความผิด ท่านไปถึงกุฏิเลยนะ “ใครมันจะข้ามหัวผู้เฒ่าว่ะ” เวลาพระมีความเห็นผิด มีความเห็นว่าหลวงปู่มั่นท่านไม่เข้าใจเรื่องนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์

เรื่องอาหารที่มันแรมคืน ท่านบอกว่าได้ทับทิมมา ได้สิ่งใดมา ท่านบอกว่า “สิ่งนี้มันเป็นน้ำตาล ถ้ามันอยู่ในถุงนี้มันไม่เปื้อนอามิส เพราะมันอยู่ในถุงพลาสติก แล้วมียางรัดไว้อย่างนี้มันไม่เปื้อนอามิสหรอก ถ้าไม่เปื้อนอามิส จะเก็บเอาไว้ฉันเป็นสัตตาหกาลิกก็ได้”

แต่ผู้ที่ไม่เห็น ผู้ที่ไม่เข้าใจ เพราะถือว่าบิณฑบาตมาตอนเช้ามันเป็นอาหาร มันเป็นกาล มันเป็นยาวกาลิก เป็นกาล.. เป็นกาลแล้ว แต่ว่ากาลิกมันไม่ใช่คน มันไม่อะไรกับคน นี่ไงความเห็น พอความเห็นผิดอย่างนี้ หลวงปู่มั่นท่านว่า “ใครจะข้ามหัวผู้เฒ่าว่ะ ใครมันเก่งนักจะมาข้ามหัวผู้เฒ่า”

ถ้าอย่างนี้มันเป็นสังฆเภทสิ การเป็นสังฆเภทที่ไหน มันไม่เป็นสังฆเภทเพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านตรวจสอบเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม เพื่อความถูกต้องดีงามของศีลธรรม เพื่อความถูกต้องของธรรมและวินัย ถ้าความถูกต้องของธรรมและวินัย เวลาพระทำผิดขึ้นมา บอกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก บอกว่าทำไม่ได้เป็นสังฆเภท.. มันไม่เป็นสังฆเภทหรอก

สังฆเภทหมายถึงว่าในสังคมสงฆ์นั้น อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แต่มีคนอิจฉาตาร้อน อยากดัง อยากใหญ่ อยากจะมี อยากจะปกครองสงฆ์ แล้วยุแหย่แตกแยก อย่างนั้นถึงเป็นสังฆเภท สังฆเภทคือสิ่งที่เขาเป็นสงฆ์ สงฆ์ต้อง ๘ องค์ขึ้นไป สงฆ์เป็นสงฆ์ แยกเป็นสังฆเภทตั้งแต่ ๕ องค์ขึ้นไป

แต่ถ้าเรามีพระองค์หนึ่ง ใครองค์หนึ่งทำความผิด พระองค์ไหนทำความผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะโกหกมดเท็จ ! ผิดเพราะมดเท็จ โกหกมันก็มุสาอยู่แล้ว ให้องค์นั้นเป็นโสดาบัน ให้องค์นี้เป็นโสดาบัน ให้องค์นั้นเป็นอรหันต์ ให้เขาไปหมดเลย เพราะตัวเองเป็นตัวแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอนาคตังสญาณ จะสร้างพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ พระอรหันต์เยอะแยะไปหมดเลยจะเปลี่ยนแปลงได้ นี่มันโกหกมดเท็จอย่างนี้ !

แล้วถ้าพูดถึงคนเขาไม่เชื่อ คนเขาก็จะตรวจสอบ.. มันสังฆเภทที่ไหน.. มันสังฆเภทตรงไหน.. ตรงไหนเป็นสังฆเภท.. มันไม่มีสังฆเภทหรอก สังฆเภทมันต้องเป็นว่าพระที่เขาอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข แต่มันมีคนอยากดังอยากใหญ่ อยากจะมีอำนาจปกครองสงฆ์ แล้ววางเล่ห์กลเพื่อจะให้ตัวเองนั่งอยู่บนหัวพระไง จะให้พระขึ้นมาเป็นพื้นเป็นฐานของตัวเอง อย่างนั้นหรือเป็นสังฆเภท

สังฆเภทคือทำให้สงฆ์เขาแตกแยก สงฆ์ที่เขาอยู่ร่มเย็นเป็นสุขแล้วแตกแยก แต่มันมีโจร มันมีมหาโจร มันมีคนฉ้อฉล มีคนหลอกลวง มีคนเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสินค้าขายหากิน แล้วมีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนี้ผิด มันเป็นสังฆเภทตรงไหน

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมวินัยมันจะพัดซากศพเข้าสู่ฝั่ง” ทะเลนี้เป็นที่สะอาดบริสุทธิ์ สิ่งใด คลื่นมันจะซัดเข้าสู่ฝั่ง ธรรมและวินัยมันจะ ซัดไอ้พวกมหาโจรออกไปจากธรรมวินัย มันถึงเวลามีเวรมีกรรม คนที่ทำมันรู้ คนที่ทำต้องไม่ทำความชั่ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สิ่งใดถ้าทำแล้วและระลึกได้ทีหลัง.. เสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

ฉะนั้นเวลาตัวเองทำ ทำทำไมล่ะ เวลาตัวเองทำ โน่นก็โสดาบัน นี่ก็โสดาบัน มันโสดาบันมาจากไหน หลวงปู่มั่นท่านยังไม่เคยพูดขนาดนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา “เออ ! จิตมันได้หลับแล้ว มันไม่เกิดห้าอัตภาพเว้ย มันมีหลักมีเกณฑ์”

นั่นน่ะ ท่านพูดของท่านก็แค่นี้ล่ะ พูดว่าคนเรามีหลักมีเกณฑ์ มันก็รู้กันน่ะ มันรู้แล้ว คนที่ปฏิบัติจะเป็นอะไร เขาเป็นปัจจัตตัง เขารู้มาตั้งแต่ต้น ถ้าไม่รู้ตั้งแต่ต้นเราจะไม่กล้าหรอกว่าจะเอาธรรมะของเรา คือปฏิบัติแล้วเรารู้เราเห็นขึ้นไปน่ะ แล้วไปรายงานครูบาอาจารย์ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก เราเชื่อมั่นของเราอยู่แล้ว

แต่ทีนี้ด้วยการฝึกฝน ว่าเราฝึกฝนมาจากครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านปั้นเรามา ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนเรามา ในเมื่อสิ่งใด ดูสิ เวลาพ่อแม่ตักอาหาร อย่างข้าวโอ๊ต ตักอาหารอ่อนๆ ให้ลูกกิน ลูกมันได้ถ้วยจานนั้นไปมันก็ดีใจ โอ้โฮ.. พ่อแม่ให้อาหารมา แล้วมันกินอิ่มหนำสำราญ มันเก็บล้าง แล้วมันชื่นชมพ่อแม่ว่าพ่อแม่นี่รักลูก มันก็รักพ่อแม่มัน

นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์ พ่อแม่ครูอาจารย์สั่งสอนเรามา เราได้กินอาหารนั้นแล้ว มันอิ่มท้อง มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เราก็ไปรายงานท่าน มันเป็นที่โสดาบันนั้นเขาเป็นจริง มันเป็นจริงที่ผู้ปฏิบัติมันเป็นจริงขึ้นมา

ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เราก็ไปรายงานท่านว่าเป็นผลงานของท่าน หลวงปู่มั่น หลวงตา ท่านพูดบ่อย “เราสั่งสอนมามหาศาลเลย มันไม่มีใครเอามรรคผลมาคุยให้ฟังบ้างว่ะ” มันไม่มี.. นี่ไง เวลาครูบาอาจารย์ ท่านก็ปรารถนาว่าให้พวกเรายืนได้ ให้พวกเรามีหลักหัวใจ

เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะได้มากได้น้อยเราก็ไปรายงานท่าน รายงานทำไม ถ้าพูดถึงทำไมต้องรายงาน มรรคผลนี่มันต้องให้คนรายงาน มรรคผลมันต้องให้คนรับประกันอย่างนั้นเหรอ มรรคผลมันก็เกิดขึ้นมาจากหัวใจที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว ใครปฏิบัติได้ผล มันก็เป็นผลขึ้นมา ถ้ามันได้ผลตามความเป็นจริงนะ

ถ้ามันไม่ได้ผลตามความเป็นจริง มันก็ละล้าละลัง มันก็ลังเลสงสัย มันมีความเฉา มันมีความไม่องอาจกล้าหาญ มันมีการเก็บซ่อนไว้ในหัวใจ แล้วเวลามันเป็นมหาโจร มันจะพูดเพื่อเอาผลประโยชน์ขึ้นมา มันก็ว่ามรรคผลนิพพาน มันก็ว่าของมันไปเรื่อย แล้วเวลาคนจะมาบอกว่า

“มรรคผลนิพพานมันเป็นอย่างไร”

“เป็นสังฆเภทนะ เดี๋ยวมันเป็นสังฆเภท”

“สังฆเภทแล้วมึงทำทำไม !”

สังฆเภทแล้วทำทำไม ! พูดทำไม ! ถ้าพูดออกมามันก็ต้องมีเหตุมีผลว่ามันเป็นโสดาบันอย่างไร มันเป็นประโยชน์ขึ้นมาอย่างไร สังฆเภทตรงไหน มันเป็นการตรวจสอบกัน มันสังฆเภทตรงไหน

เวลาสวดปาฏิโมกข์ ดูสิ เวลาคนสวดปาฏิโมกข์แล้วมีคนตรวจทานอยู่ คนตรวจทานเป็นสังฆเภท เขาจะสวดปาฏิโมกข์กันมึงมาตรวจทานทำไม อักขระผิดก็ต้องเตือน อักขระผิดก็ต้องบอก อย่างนี้ก็เป็นสังฆเภทนะสิ

นี่คือความสะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม เพราะเราตรวจสอบเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของสังคม สะอาดบริสุทธิ์ด้วยสังฆกรรม สังฆกรรมนั้นจะเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา

มันไม่เป็นสังฆเภทหรอก คำก็อ้างสังฆเภท สองคำก็อ้างสังฆเภท แต่เวลาจะโม้ !! เวลาจะหลอกลวงเขา.. เวลาจะล้วงกระเป๋าเขา.. เวลาจะครอบงำชีวิตของเขา.. ไม่บอกว่าสังฆเภทเลย โอ๊ย.. มาบวชนะ.. มาบวชนะ.. บวชแล้วจะได้มรรคผลนิพพาน นั่นน่ะชีวิตของเขา นั่นน่ะสังฆเภท !

สังฆเภทด้วยตัวเอง ตัวเองทำลายชีวิต ทำลายอิสรภาพของเขา ทำลายความเห็นของเขา เขาจะอยู่ในสังคม เขาจะดำเนินชีวิตของเขาไป เอามาเป็นพื้นฐาน มันโกหกตรวจสอบมาตั้งแต่นั้น นี่พูดถึงสังฆเภทไง คำก็สังฆเภท สองคำก็ว่าเป็นสังฆเภท สังฆเภทมันอยู่ที่ไหน.. สังฆเภทหมายถึง...

ดูสังฆเภทสิ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปกครองสงฆ์ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เทวทัตอยากจะปกครองสงฆ์ พอเทวทัตอยากปกครองสงฆ์ ด้วยเล่ห์กลได้ไปเสนอว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่แล้ว ชราภาพแล้ว แล้วปกครองสงฆ์ก็ไม่กระฉับกระเฉง ต้องเทวทัตดีกว่า ขอพรว่าต่อไปนี้ห้ามทำกิจนิมนต์ ต้องอยู่ในกุฏิ ต้องอยู่ในโคนไม้ตลอดไป ไม่ให้ฉันเนื้อสัตว์ ไม่ให้อยู่ในกุฏิ ต้องอยู่กับโคนไม้ตลอดไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ อนาคตังสญาณ รู้อดีต อนาคต รู้ถึงอำนาจวาสนา รู้ถึงบารมีของคน รู้ถึงคนหยาบ คนละเอียด คนที่ปฏิบัติได้มากได้น้อย ถ้าใครปรารถนาจะอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้ ให้เป็นคราวเป็นกาล เป็นคราวเป็นกาล อยู่โคนไม้ได้ ๘ เดือน ใครจะปรารถนาถือธุดงค์ ก็ถือธุดงค์ข้อวัตรก็มีอยู่แล้ว ถ้าใครปรารถนา เพราะจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน คนเราสร้างบุญสร้างกรรมมาแตกต่างกัน ฉะนั้นใครทำแล้วได้ประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาต

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่บัญญัติ ! ไม่บัญญัติต้องทำอย่างนั้น ถ้าบัญญัติทำอย่างนั้น ทุกคนที่โอกาสเขาจะได้ประโยชน์ของเขากลับไม่ได้ เพราะเขาทำอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไม่ได้

ถ้าเขาทำแบบที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไม่ได้ แต่บางอย่างที่เขาทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตตรงนั้น นี่เทวทัตขอ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาต โพนทะนาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอ่อนแอ

คนเรานะถ้ามันมองถึงเวลาพูดจะเอาความดีใส่ตัว พูดได้หมดล่ะ เทวทัตเวลาเอาดีใส่ตัวนี่ ..พระพุทธเจ้าอ่อนแอ ..พระพุทธเจ้าปกครองสงฆ์ไม่กระชับ เราปกครองประชับ นี่พระพุทธเจ้าแยกสงฆ์ไปเลย นี่สังฆเภท !

สังฆเภทเพราะว่าอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปกครองสงฆ์อยู่นะ แล้วสงฆ์ที่ปฏิบัติอยู่ ใครจะมาปกครองดีกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านวางธรรมวินัยไว้ ปกป้องถูกต้องดีงามอยู่แล้วล่ะ แล้วมันมีใครมาจากไหนล่ะ เที่ยวเอาโสดาบันไปแจกคนโน้นแจกคนนี้หมด แล้วจะทำให้ใครเป็นพระอรหันต์ไปหมดเลย มันมีคุณสมบัติมีค่าขนาดนั้น มันมาจากไหน

แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้ว มันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงขึ้นมา จะมาพิสูจน์กันน่ะ สังฆเภทนะ.. เวลาทำไม่บอกสังฆเภท เวลาเขาจะตรวจสอบบอกสังฆเภท เวลาทำไม่พูดสังฆเภทนะ เวลาตรวจสอบแล้วว่าสังฆเภท พอสังฆเภทขึ้นไปเวลาตรวจสอบขึ้นไป อุ๊ย.. มันจะแตกสามัคคี เดี๋ยวมันแตกสามัคคี

ใครเป็นเอดส์ เราก็บอกว่าเอาเลือดไปป้ายคนอื่นหมดเลย สามัคคีกัน เอาไหม..เอาไหม.. สามัคคีมันสามัคคีบนอะไร สามัคคีบนในความเน่าเฟะ สามัคคีในการโกหกตอแหล สามัคคีโดยการมุสา สามัคคีโดยการคนหนึ่งได้เปรียบ อีกคนหนึ่งเสียเปรียบ สามัคคีอย่างนั้นใครเอา ความสามัคคีต้องเสมอภาคสิ !

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เทวทัต ! แม้แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เรายังไม่ให้ปกครองสงฆ์เลย เทวทัตมีคุณสมบัติอะไร เทวทัตจะมาปกครองสงฆ์”

นี่ ! ความสามัคคีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ให้ปกครองสงฆ์ ให้สงฆ์ปกครองสงฆ์กันเอง ให้สงฆ์ที่อยู่ร่วมกัน ด้วยเคารพบูชา

ดูสิ เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าเรารักครูบาอาจารย์ของเรา จิตใจมันยอม การปกครองอย่างนั้นมันจะร่มเย็นเป็นสุข เพราะอะไร เพราะหัวหน้าเป็นธรรม ถ้าหัวหน้าเป็นธรรมนะ ปกครองเราเป็นธรรม สิ่งที่ความปกครองเป็นธรรม ถ้าปกครองเป็นธรรม...

ดูสิ เวลาอยู่กับหลวงตา “ใครมีอะไรบอกมา ใครมีอะไรขาดเหลือบอกมา ใครมีอะไร” นี่ไง ท่านถาม ท่านดูแล ท่านไม่ได้บอกว่าสามัคคีแล้วไม่ต้องพูดอะไร สามัคคีแล้วไม่ต้องมาดูเลยนะ ฉันไม่มีความผิดนะ ให้ทุกคนเป็นโสดาบันหมดเลย

แต่ ! แต่ห้ามดูอาจารย์นะ ถ้าดูอาจารย์โสดาบันเสื่อมหมดเลย ห้ามหันมามองนะ ฉันจะทำอย่างไรก็ได้ แล้วได้โสดาบันกันหมดเลย ถ้าวันไหนเอ็งสงสัย เอ็งหันมามองหัวหน้า โสดาบันเอ็งเสื่อมทันทีเลยนะ ! สามัคคีอย่างนี้เหรอ? สามัคคีกันอย่างนี้ใช่ไหม? สามัคคีมีชนชั้นใช่ไหม สามัคคีไม่มีการตรวจสอบใช่ไหม ถ้าอยู่อย่างนี้เป็นสามัคคีเหรอ?

นี่ไง เวลาอ้างว่าต้องสามัคคีนะ ต้องสามัคคีบนฝ่า...กูไง ! สามัคคีแล้วกูเหยียบหัวไว้ ! อย่างนี้เป็นสามัคคีไหม อ้างว่าต้องสามัคคีกัน เดี๋ยวจะแตกแยก เดี๋ยวสงฆ์จะแตกแยก สามัคคีกันไว้ อย่าพูด !

สิ่งที่ทำ เราพูดกัน เพราะเวลาพูดมันขาดสติ เวลาพูดนะ เวลาทำต้องไม่ทำ ! ถ้าไม่ทำมันก็ไม่ผิด ! ถ้าทำมันผิดแล้วก็บอกว่าผิด แล้วบอกว่าเราผิดไปแล้ว แล้วปลงอาบัติ แล้วทำแก้ไขไปมันถึงจะถูกต้อง ถ้าใครโกหกมุสาก็เป็นปาจิตตีย์ ใครโกหกแล้วได้ผลอย่างไรมามันเป็นอาบัติ

ถ้ามันเป็นอาบัติแล้วปลงอาบัติแล้ว เออ.. เราเคยพูดอย่างนี้ แล้วอย่างนี้มันเป็นความผิด ตอนนี้สำนึกผิดแล้ว ก็ขอปลงอาบัติ แล้วสามัคคีกัน ใช้ได้ ! ถ้าใครทำผิดแล้วยอมรับผิด แล้วมาปลงอาบัติกัน มันก็สามัคคีกันได้ ถ้าไม่ปลงอาบัติไป นานาสังวาส เกิดเพราะสงฆ์ถือศีลแตกต่างกัน

ถ้าพูดถึงว่าสิ่งที่เราทำมามันเป็นอาบัติ มันผิดศีลผิดธรรม แล้วบอกว่าต้องสามัคคีกัน ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการทำอะไรไป คนรังเกียจมันมีนะ ถ้าคนเขารังเกียจกันไป นานาสังวาสเกิดเพราะถือศีลต่างกัน ถ้าศีลโดยปกติถือศีลเสมอกัน นานาสังวาสไม่เกิด

นานาสังวาสคือเราอยู่ด้วยกัน มีทิฏฐิเสมอกัน มีความเห็นเสมอกัน เราปฏิบัติด้วยกัน นี่คือสมานสังวาส แต่ถ้าเราถือศีลแตกต่างกัน เรามีความเห็นแตกต่างกัน นั่นล่ะมันจะลงไปสู่นานาสังวาส นานาสังวาสหมายถึงว่าถือศีล หรือถือศีลต่างๆ หรือแตกต่างกัน ถ้าถือแตกต่างกัน

ดูสิ ดูภิกษุชาววัชชี เริ่มต้นตั้งแต่น้ำอยู่โคนขัน น้ำในขันที่ราดส้วม ถ้าเป็นของบุคคลเหลือน้ำในขันนั้นเหลือไว้ได้ แต่ถ้าเป็นของสาธารณะเพราะใช้ร่วมกันต้องคว่ำขันทั้งหมด ไม่อย่างนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ แค่นี้แหละ ! ความเห็นต่างกันแค่นี้เอง แยกออกไปเป็นสองฝักสองฝ่าย

พอสองฝักสองฝ่าย พระพุทธเจ้ามาสมาน ขอให้พระพุทธเจ้าจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด คือว่าพระพุทธเจ้าไม่ต้องยุ่ง จะทะเลาะกันจะทำไม กำลังมันอยู่ กำลังทะเลาะกัน สุดท้ายพระพุทธเจ้าบอกว่า

“ถ้าอย่างนั้นเธอจะเป็นนานาสังวาสนะ เธอจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เธอจะร่วมกินกันไม่ได้ เธอจะร่วมนอนกันไม่ได้”

นานาสังวาสเห็นไหม ห้ามกิน ห้ามนอน ห้ามลงสังฆกรรม ห้ามทุกอย่างเลย ก็ยังไม่ยอม จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนีไปอยู่ป่าเลไลย์โน่นน่ะ จนชาวบ้านเขาไม่ใส่บาตรขึ้นมา ถ้าจะใส่บาตรต้องไปนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับขึ้นมา พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับขึ้นมา ถึงทำสามัคคี อุโบสถสามัคคีขึ้นมา ย้อนกลับขึ้นมาให้เห็นร่วมกัน ให้เห็นตรงแนวเดียวกันว่าอะไรเป็นอาบัติ อะไรไม่เป็นอาบัติ เหมือนกันให้หมด

ถ้าเหมือนกันหมด พอพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการขึ้นมา พระเป็นอรหันต์ขึ้นมาเต็มไปหมด ทั้งๆ ที่ความเห็นผิดนะ แต่เวลาเขาแก้ไขของเขา เขาก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาหมดเลย

เหตุการณ์ครั้งนั้น พระสองฝ่ายพอพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ กลับมา...หมดเลย เพราะอะไร เพราะความสำนึกไง เพราะความสำนึกว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด ไม่ใช่ว่าโน่นก็เป็นสังฆเภท เวลาพูดถึงธรรมวินัยก็ต้องสามัคคีกัน เดี๋ยวมันจะแตกแยก

แตกแยกบนฝ่าเท้าเอ็งใช่ไหม แตกแยกบนความเห็นทิฏฐิของเอ็งใช่ไหม ถ้าเอ็งมีความเห็นอย่างนั้นนะ ถ้าไม่พูดก็คือไม่พูด แต่นี้เพราะอะไร เพราะว่าเขามาถามปัญหา เขามาคุยกับเรา เราก็พูดออกไป ถ้ามันพูดออกไป เพราะว่าแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน

ใช่ ! มันเป็นเรื่องของเขา เราพูดนี้เราพูดโดยหลักการ แต่สิ่งต่างๆ เราไม่เคยไปตอแยใครหรอก แล้วเราไม่ยุ่งกับใครอยู่แล้ว แต่ในเมื่อศีลธรรม พูดสัจจะ สัจจะก็คือสัจจะ อะไรผิดหรืออะไรถูก ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ถ้าเขาว่าผิดก็คือผิด

เวลาเขาถามว่าอันนี้อะไร หนึ่งบวกหนึ่งเป็นเท่าไหร่ หนึ่งบวกหนึ่งไม่รู้ สองเป็นสองก็ไม่รู้ พูดไปเดี๋ยวมันจะแตกแยก เดี๋ยวมันเป็นสังฆเภท หนึ่งบวกหนึ่งตอบไม่ได้เดี๋ยวเป็นสังฆเภท สองบวกสองก็ตอบไม่ได้เดี๋ยวเป็นสังฆเภท หนึ่งบวกหนึ่งก็เป็นสอง สองบวกสองก็เป็นสี่ อ้าว.. มันสังฆเภทตรงไหน !

นี่ก็เหมือนกัน นี่เขาบอก เวลาเขาถามปัญหา ปัญหาก็คือปัญหา บอกว่านี่ไง มันจะมีพระอรหันต์อย่างนั้น เป็นโสดาบันอย่างนั้น แล้วมันเป็นอย่างไร.. มันเป็นอย่างไร อ้าว ! แล้วถ้าไม่มีหนึ่งบวกหนึ่งมันก็ไม่มีปัญหา ถ้าไม่มีหนึ่งบวกหนึ่งมันก็ไม่มีสอง ถ้าไม่มีโสดาบันมันก็ไม่มีเหตุไปเป็นโสดาบัน

อ้าว ! ถ้าเป็นโสดาบัน เป็นโสดาบันอย่างไร อ้าว ! เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์เป็นอย่างไร พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ แล้วเป็นอย่างไร พระอรหันต์ มันมีแต่หมูหัน หมูหันเมืองตรัง ๕๐๐ ตัว อร่อยด้วย ! แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์มันจะหันที่ไหน

นี่ความจริงมันเป็นแบบนี้ แต่ทีนี้ถ้ามันเป็นสัจจะนะ อย่าตะแบง เวลาพูด เวลาเราทำความผิดเราทำได้ ฉะนั้นเวลาเราทำความผิดแล้ว ทำให้มันถูกซะ ถ้ามันถูกมันก็คือจบ ถ้าเป็นอาบัติก็ปลงอาบัติ อาบัติมันความผิดพลาด ความพลั้งเผลอนะ

ปาปมุต.. ปาปมุตเนอะ ที่ว่าไม่เป็นอาบัติ นั่นน่ะถ้าอย่างนั้นไปแล้ว เดี๋ยวสวดปาฏิโมกข์ ที่ว่าเป็น สตฺ ตาธิกรณสมถ ยกเว้น ๗ ประเภทนี้ สติวินัย สิ่งที่ได้ตัดสินแล้ว สิ่งนี้จะรื้อฟื้นไม่ได้ สิ่งนี้ไม่เป็นอาบัติ สิ่งนี้พ้นจากธรรมวินัย พ้นจากปาฏิโมกข์ พ้นจากธรรมวินัย ๗ อย่าง สติวินัย ผู้ที่มีสติสมบูรณ์

ถ้าในสมัยพุทธกาล ก็องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องสวดยกว่านี่เป็นสติวินัย สติวินัยก็ไม่ผิดในธรรมวินัย เป็นปาปมุต ปาปมุตคือไม่ผิด ดูสิ พระจักขุบาล เดินจงกรมอยู่ ฝนตกแล้วเดินจงกรม เป็นพระอรหันต์นะ.. เดินจงกรม.. ทีนี้คนตาบอดเหยียบสัตว์ตาย แล้วภิกษุชนบทประเทศมาเที่ยวอยู่ เห็นอย่างนั้น “เวลาตาดีก็ขี้เกียจ เวลาตาบอดอวดเดินจงกรม เหยียบสัตว์ตายเป็นแพเลย”

ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ใช่ ! เขาเป็นปาปมุต”

ปาปมุตคือเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่มีอาบัติ เหยียบสัตว์ตายหนึ่งตัวก็หนึ่งปาจิตตีย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่เป็น” ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าเป็นปาปมุต ยกขึ้นไป แต่ปาปมุตมาอย่างไร

คำว่าปาปมุตนี้ เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระโสดาบัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝึกสอน เวลาสอน เป็นพระอรหันต์เป็นอย่างไร เวลาเป็นพระอรหันต์มันต้องมีของมัน

เราเป็นปาปมุต ไม่ใช่ว่าขี้หมูราขี้หมาแห้งจะเป็นปาปมุต ยกให้เป็นปาปมุต มันไม่เป็นหรอก ถ้าเป็นปาปมุตโดยการยกนะ โดยสงฆ์ยกพระองค์นี้เป็นปาปมุต คือไม่เป็นอาบัติ ถ้าเขาอยู่ดำรงชีวิตของเขา แล้วเขาทำชีวิตของเขาให้เศร้าหมองหรือเป็นอาบัติ เขาก็ทุกข์ร้อนในใจเขา เขารู้ใจเขา ทุกคนรู้ โกหกคนอื่นได้หมด โกหกตัวเองไม่ได้หรอก ความเป็นจริงในหัวใจเรามันฟ้อง

ถ้าเราทำมีความผิดขึ้นมา มันจะกดทับหัวใจเรา หัวใจคนที่ทำนั่นน่ะ เพราะอะไร เพราะภวาสวะภพ ถ้ามันมีภพ มันมีจิตอยู่ มันมีความรับรู้อยู่ มันเป็นอาบัติ เพราะกรรมมันมีของมัน ทำอยู่ข้างนอกมันก็เป็นกรรมใช่ไหม แล้วกรรมมันมาจากไหน มันมาจากจิต ถ้าจิตมันมีภพอยู่ มันมีจิตอยู่ ยังมีกิเลสอยู่ มันมีตัวตนของมันอยู่ มันทำแล้วมันมีผล

ถ้ามันมีผลขึ้นมา มันเศร้าหมองในใจนั้น มันละล้าละลัง มันทุกข์ของมัน ปาปมุตอะไร ปาปมุตละล้าละลัง ปาปมุตเราสงสัย ปาปมุตจะเอาหัวปักดินอยู่อย่างนั้น ปาปมุตที่ไหน

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ มันเป็นกิริยา มันไม่มีสิ่งใดจะกระทบกระเทือนธรรมธาตุอันนั้นได้เลย มันว่างเปล่า ดูสิ กำแพง เราเดินผ่านไม่ได้หรอก มันไม่กลัวสิ่งนั้นเลย นี่คือปาปมุต ถ้าปาปมุต ปาปมุตโดยธรรมชาติ ปาปมุตโดยสัจธรรม ปาปมุตโดยความเป็นจริง

ถ้าปาปมุตอย่างนั้นแล้วจะมีใครสวดหรือไม่มีใครสวด เพราะมันเป็นปาปมุตอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นปาปมุต มันมีเวรมีกรรม สิ่งใดมันจะกระทบกระเทือนสิ่งนี้ไม่ได้เลย ถ้าสิ่งนี้ไม่ได้เลย นี่ไง มันเป็นโดยตัวมันเอง ! โดยความเป็นจริงมันเป็นโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว

แต่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไร เพราะพระเราอยู่ด้วยกันเป็นสังคมใหญ่ พอพระเป็นสังคมใหญ่ มันก็มีพระปุถุชน พระเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันอยู่ในสังคมด้วยกัน ทีนี้วุฒิภาวะความเห็นของพระมันแตกต่างกัน ถ้ามันแตกต่างกัน อะไรเป็นอะไรมันก็ไม่รู้เรื่องหรอก

ฉะนั้นไม่รู้ พระพุทธเจ้าถึงบอกบัญญัติไว้ให้มันเป็นความจริงอย่างนี้ นี่ธรรมวินัย ! เราอยู่กันอยู่กันด้วยธรรมวินัยนะ ธรรมวินัยให้เราอยู่ร่วมด้วยกัน แต่ความเป็นจริงในใจอันนั้นมันเป็นความจริงอันนั้น ถ้าความจริงอันนั้น มันเป็นความจริงขึ้นมา เพราะความจริงขึ้นมา จะมีธรรมวินัยหรือไม่มีธรรมวินัย จิตใจหรือระดับคุณธรรมในหัวใจมันพ้นจากโลกสมมุติไปแล้ว มันพ้นจากสมมุติบัญญัติ มันเป็นความจริงของมัน

ฉะนั้น ความจริงก็คือความจริง ถ้าความจริงนะ มันไม่แสดงกิริยาออกมา แบบว่าหน้าไหว้หลังหลอก ต่อหน้าก็พูดอย่างหนึ่ง เวลาผลเกิดขึ้นมาแล้ว ปิดทางไง ! มันจะเป็นสังฆเภท มันทำสิ่งใดไปแล้ว มันทำให้แตกร้าว มันไม่เป็นความสามัคคี แล้วความสามัคคีบนอะไร

ทีนี้เพียงแต่ว่าสังคม ถ้าสังคมอย่างเรา พวกเราเวลาธุดงค์ไป มีนะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าที่ไหนสังฆกรรมนั้นถ้ามันเป็นบาปเป็นกรรม เราเห็นแย้งเขาแล้วเราพูดไม่ได้ เพราะสังคมนั้นมันมี ในชาววัชชีบุตร เขาสวดอุโบสถ แล้วเขา ชาตรูปรชตํ แต่เขารับเงินรับทองกัน แล้วมีพระมาฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้พระสารีบุตรไปจัดการ เพราะเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร พระสารีบุตรบอกว่า

“ไม่ได้หรอก โอ๊ย.. พระที่นี่แบบว่าเขาเป็นหมู่เป็นคณะกัน แล้วเขาเข้าข้างกัน เขามีปัญหา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้เอาพระขึ้นไป แล้วลงพรหมทัณฑ์ไล่ออกไปให้หมด”

แล้วถ้าเราไปอยู่ที่ไหน เราไปอยู่องค์เดียว ถ้าเกิดว่าหมู่สังคมเขาใหญ่ ที่ไหนเขาทำความผิดพลาดไว้ เราค้านไว้ในหัวใจ เช่นเวลาเราลงอุโบสถ ถ้าอุโบสถมันมีความเสียหายใช่ไหม เราก็ค้านในใจของเราไว้ว่าสังฆกรรมอันนี้ กรรมร่วมอันนี้ สภาคกรรม.. กรรมที่จะสร้างกรรมขึ้นมา เราไม่เห็นดีเห็นงามด้วยเลย

แต่เราอยู่ในสังคมอย่างนี้ เราไม่มีทางออก เราค้านไว้ในหัวใจ คือเราต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ของเราองค์เดียว แต่สังคมเขาเห็นผิดของเขาก็สาธุ เพราะว่าเราไปทำให้เขาเห็นถูกกับเราไม่ได้ แต่เราก็รักษาหัวใจของเรา เราค้านไว้คือเราไม่เห็นด้วย แต่เราไม่พูดออกมาไง เราค้านไว้ในใจ แต่เราไม่พูดออกมา

นี่ ! เวลาถ้าเราเข้าไปในสังคม ว่าความสามัคคี.. ความสามัคคี.. ถ้าเขาความเห็นของทิฏฐิไม่เสมอกัน ทิฏฐิเขาทิฏฐิลามก ทิฏฐิเขาเห็นแก่ตัว ทิฏฐิเขาฉ้อฉล ทิฏฐิเขามีฉ้อฉลกลใน เราบังเอิญไป เพราะเราธุดงค์ไป.. เราเที่ยวไป.. เวลา ๑๕ ค่ำ เราจะซักผ้า เราจะลงอุโบสถ เราจะไปสังคมสงฆ์

เราเคยเจออย่างนี้มา แล้วเราเจออย่างนี้มาเราก็หลบหลีกเอา หลบหลีกเอาโดยประสบการณ์ของเราว่า ความสามัคคีถ้าเราแก้ไขก็ไม่ได้ เราไม่ได้สามัคคีกับเขาหรอก แต่เรารักษาใจของเรา เรารักษาหัวใจของเรา เรารักษาตัวตนของเรา เพื่อจะไม่ให้เศร้าหมองไปกับเขา เพราะการประพฤติปฏิบัติ การจะพ้นจากทุกข์ไป เราจะต้องแสวงหานะ

ดูสิ การเกิดในภพชาติหนึ่ง เวียนว่ายตายเกิดกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้อริยทรัพย์นี้มา แล้วได้อริยทรัพย์นี้มา ดูสังคมสิ ประชากรเดี๋ยวนี้เกือบเจ็ดพันล้าน เขาก็มีความสุขรื่นเริงกันอยู่ทางสังคมเห็นไหม มันมีเท่าไรที่เราเสียสละชีวิตของเรา แล้วมาถือศีล ออกมาเป็นนักพรต ออกมาประพฤติปฏิบัติ ออกมาดัดแปลงใจของเรา ออกมาเพื่อจะหาสัจธรรม

สัจธรรมที่ไม่ได้ซื้อหาด้วยเงินทอง สัจธรรมที่ไม่ใช่วัตถุแร่ธาตุทางโลกที่เขาหากันได้ มันเป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นมาจากหัวใจ มันเป็นสัจธรรมตั้งแต่ ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นสัจธรรมที่ว่าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สติมันก็เป็นสติขึ้นมา สมาธิก็เป็นสมาธิขึ้นมา มันไม่ใช่วัตถุที่โลกเขาจะหากันได้ มันเป็นสิ่งที่เราพยายามค้นคว้า แล้วเราพยายามแสวงหาของเราขึ้นมา เราจะมาทำของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อคุณงามความดีของเรา

แล้วมันมีเท่าไรล่ะ โลกเขามีอยู่เกือบเจ็ดพันล้าน พระสงฆ์เรามีเท่าไร แล้วหมู่คณะในวงปฏิบัติเรามีเท่าไร แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะมีครูอาจารย์ของเรา เราจะมีหมู่คณะของเรา แล้วมาถึงบอก มาเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา เพื่อจะให้สังคมเรามันน่าเชื่อถือ ในสังคมเรามีแต่ข้อเท็จจริง ในสังคมเราไม่ใช่มีแต่การฉ้อฉล

พูดอีกอย่างแล้วทำอีกอย่าง ! แล้วพูดเวลาทุกข์ไปแล้วมัน.. อย่าทำสิ อย่าพูดสิ เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนี่มันเป็นสมบัติของพระ สมบัติของเรา เราก็รักษา ทุกคนก็ถนอมรักษาศีลของตัวใช่ไหม ทุกคนก็รักษาสติสมาธิของตัวใช่ไหม ทุกคนก็ต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม ทุกคนก็ต้องการความเป็นสัมมาสมาธิ ความเป็นความถูกต้องดีงามใช่ไหม

เพราะเราสละชีวิตมาแล้วเพื่อมาหาความจริง แล้วเรามาหาความจริง เราจะมาตรวจสอบความจริง แล้วมันจะผิดไปไหน เพราะเราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ เราต้องการความจริง แล้วความจริงพิสูจน์ได้ ความจริงพูดที่ไหนมันก็เป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริงมันพูดไม่ได้

ทำไม.. เดี๋ยวมันจะแตกสามัคคี ยิ่งตรวจสอบเป็นสังฆเภท มันสังฆเภทที่ไหน? มันสังฆเภทเพราะเราทำผิดไว้แล้ว สังฆเภทในหัวใจเรา มันแตกสลายในหัวใจเราไง แหม.. ไม่น่าพูดเลย เพราะพูดไปแล้วเป็นหลักฐาน พูดไปแล้วเขาจะย้อนศร

มันสังฆเภท มันจะแตกร้าวในใจของเรา แตกร้าวในใจของผู้พูด แตกร้าวในใจของคนที่จะทำฉ้อฉล แต่มันไม่เป็นสังฆเภทจริงหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพูดกับมารน่ะ

“มารเอย ! เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเรายังไม่เข้มแข็ง กล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ไม่ได้ เราจะไม่ยอมปรินิพพาน”

มารนิมนต์แล้วนิมนต์อีก ดลใจแล้วดลใจอีกนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พยายามเผยแผ่ พยายามทำให้สังฆะของเรานี้เข้มแข็งขึ้นมา จนสุดท้ายนะก็อยากอยู่ อยากจะให้มันเข้มแข็ง แสดงเป็นอุบายกับพระอานนท์ถึง ๑๖ หน ถ้าพระอานนท์นิมนต์ไว้ มันก็มีเหตุพูดกับมาร พระอานนท์ก็นึกไม่ได้ นึกไม่ได้ มารก็นิมนต์แล้วนิมนต์อีก จนถึงที่สุดนะ

“มารเอย ! บัดนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน”

โลกธาตุหวั่นไหว โลกธาตุหวั่นไหวหมด นี่ไง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถเข้มแข็ง มีความสามารถ มีความเข้มแข็ง กล่าวแก้สิ่งที่ทำให้ศีล สมาธิของพวกเรา ให้มันเศร้าหมอง ให้มันฉ้อฉล พูดอย่างทำอย่าง พูดหน้าพูดหลัง โสดาบันแล้วโสดาบันอีก เดี๋ยวพูดบ้าง เดี๋ยวไม่พูด เดี๋ยวร้อยแปดพันเก้า มันมีศีลตรงไหน ! ศีลมันอยู่ตรงไหน ! แล้วศีลมันไม่มีแล้วมันสะอาดบริสุทธิ์มาจากไหน ! แล้วพวกเราทำคุณงามความดีกันแล้วบอกว่าเราเสียหาย เราเสียหาย สังฆเภทๆๆ สังฆเภทที่ไหน !

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมและวินัยไว้แล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดถ้ามันโกหกมดเท็จ เราก็จะเอาความจริงเข้าไป เพื่อให้ความโกหกมดเท็จนั้นให้มันหายไป ให้เป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าอย่างไหนเป็นความจริง มีแต่ความจริงกับความจริงขึ้นมา มันก็จะเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ พวกเราก็อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยความตายใจ ลงใจ อยู่กันด้วยความรื่นเริง ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่ต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงว่าอะไรมันจะ… เชื้อโรค เชื้อความผิดนี้มันจะย้อนกลับมาทำลาย เราอยู่กันด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ มันก็มีความสุข นี่ไง มันจะเป็นสังฆเภทที่ไหน มันเป็นความจริง มันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้นสังฆเภท หรือสามัคคี สามัคคีธรรม ห้ามตรวจสอบ ห้ามอะไร เดี๋ยวมันจะแตกแยก คนพูดน่ะเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเป็นสามัคคี มันพูดกันได้ คุยกันได้ทั้งนั้น แล้วถ้าทำจริง ถ้าเป็นความจริงก็อยากจะโชว์ใช่ไหม อยากจะออกทีวีด้วย

ทีนี้พอความไม่เป็นจริงน่ะซ่อนใหญ่เลย แต่พอไฟมันสว่างขึ้นมา มันส่องขึ้นมา เดี๋ยวเป็นสังฆเภทนะ เดี๋ยวแตกความสามัคคี ปิดใหญ่เลย แต่เวลาพูดๆ ออกไปทำไม ถ้าไม่ทำมันก็ไม่มีเหตุ ถ้ามันมีเหตุแล้วไม่แก้ที่เหตุ มันจะไปแก้ที่ไหน แล้วถ้าไม่แก้ที่เหตุมันก็จะเศร้าหมองไปอย่างนั้น นี่สังคมสงฆ์ ! เอวัง