เทศน์พระ

งานใจ

๒๑ พ.ย. ๒๕๕๓

 

งานใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ตั้งสติให้มั่น ทำใจให้นิ่ง เรื่องข้างนอกไม่เกี่ยว เรื่องข้างนอกเป็นส่วนข้างนอกนะ เรื่องข้างในของเรา ถ้าเรื่องข้างนอกเข้ามายุ่งกับเรา พวกเราจะอยู่กันไม่ได้หรอก แต่นี้มันเป็นเรื่องข้องนอกเขามาอาศัย เห็นไหม

วัด ! วัดกับบ้านต้องอาศัยกัน แต่การอาศัยกัน อาศัยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าอาศัยแต่บ้าน วัดเองก็อยู่ไม่ได้หรอก ถ้าวัดเองอยู่ไม่ได้ โดยวัดทั่วไปในสังคมไทย วัดไหนก็ไม่มีพระ ธุดงค์ไปเถอะ ชาวบ้านเขาก็ขอให้มีพระอยู่วัดก็พอ ไม่ต้องมีพระดีหรือพระไม่ดี ไม่เกี่ยว ! ขอให้มีพระเฝ้าวัดน่ะเป็นพอ เพราะอะไร

เพราะมันจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อมันอยู่คลุกคลีกันขนาดนั้น มันอยู่กันไม่ได้หรอก เพราะเราออกมาจากโลกเห็นไหม เราบวชมา เราทิ้งโลกมาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ แล้วพอประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรายังไปเกี่ยวกับโลกอยู่อย่างนั้น มันเกี่ยวอยู่กับโลก จิตใจเราเป็นโลกอยู่แล้ว แล้วจิตใจเราจะออกมาจากโลก แล้วถ้าโลกมันจะมาทับอยู่อย่างนี้ แล้วเราบอกว่า “เป็นพระ.. บวชเป็นพระแล้วต้องเป็นที่พึ่งอาศัยได้ บวชเป็นพระแล้วต้องเป็นสาธารณะ”

ใช่ ! เป็นสาธารณะมันเป็นแต่นามแต่ชื่อ แต่หัวใจมันไม่เป็น ! หัวใจมันยังเป็นโลกอยู่ หัวใจมันยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำมันอยู่ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์เราสอนบอกว่า “ต้องให้เราหลีกเร้น ! ต้องหลีกเร้นเข้าป่าเข้าเขาไป หลีกเร้นเพื่อเอาใจเรารอดให้ได้” ถ้าเอาใจเรารอดขึ้นให้ได้แล้ว เราถึงออกมาเป็นที่พึ่งอาศัยของโลก นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่นี้จิตใจเรายังหาที่พึ่งไม่ได้เห็นไหม จิตใจเรายังพึ่งตัวเราเองไม่ได้เลย แล้วเราจะให้เราเป็นที่พึ่งของคนอื่น แล้วเวลาใครมาก็ต้องเป็นที่พึ่งของเขา เป็นที่พึ่งของเขา

ตัวเองยังเป็นที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ! แล้วจะไปเป็นที่พึ่งของใคร.. ฉะนั้นเรื่องโลกไม่ใช่เป็นหน้าที่มันเป็นหน้าที่ของหัวหน้า โดยหัวหน้าจะบริหารจัดการเองเห็นไหม ประโยชน์ของเขาก็ประโยชน์ของเขา ประโยชน์ของเราหมายถึงประโยชน์ของศาสนานะ ไม่ใช่ประโยชน์ของเราคือความเห็นแก่ตัว

ประโยชน์ของเราคือการบริหารจัดการ ให้วงในแก่นของศาสนา คือภิกษุ คือผู้ที่ปฏิบัติ แล้วก็กระพี้ แล้วก็เปลือก แล้วอะไรจะมีความสำคัญกว่ากันล่ะ ถ้าแก่นมันสำคัญกว่ากัน แก่นมันจะเป็นหลักให้ต้นไม้นั้นยืนต้นได้ใช่ไหม ถ้ามีพระ ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเราเป็นหลักขึ้นมา ศาสนาก็จะมั่นคงขึ้นมาได้

ถ้าไม่มีแก่นขึ้นมาเลย มันมีแต่เปลือก มีแต่กระพี้ มันเป็นผุยผงไปหมดล่ะ มันสู่สิ่งใดไม่ได้หรอก ฉะนั้นสิ่งที่มันจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้ มันต้องรักษาแก่นมันให้ได้ก่อน ถ้ารักษาแก่นให้ได้ก่อนเห็นไหม เราถึงต้องรักษาใจของเราให้ได้ก่อน ถ้ารักษาใจของเราได้นะ โลกธรรม ๘ ! จะดีขนาดไหนเขาก็ติฉินนินทา จะดีส่งขนาดไหน มันไม่มีถูกใจคนหรอก ให้จะดีสุดขอบฟ้า มันก็ไม่สมใจคนทั้งนั้น

มันเป็นไปไม่ได้ ! คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ถ้าคนโง่มากเขาก็เล่นมารยาสาไถยต่อกัน เห็นไหม ไปวัดก็บริหารจัดการ มันจ้างใครมาต้อนรับแขกก็ได้ จะมาจะเอาอะไรมารับก็ได้ ถ้ารับอย่างนั้น มันเรื่องโลกๆ ศาสนามีเท่านั้นเองเหรอ

แต่ศาสนาเห็นไหม ถ้าศาสนามีขึ้นมา ถ้าเรื่องหัวใจ หัวใจมันมีแก่นสารอย่างไร ถ้าหัวใจมีแก่นสารอย่างไร เราจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ จะอยู่ป่า อยู่เขา อยู่บ้าน จะอยู่ที่ไหน จะอยู่ในนรกอเวจี จะอยู่สวรรค์ บนพรหม จะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ มันก็มีหัวใจ มันก็มีความรู้สึก เพราะจิตมันไปอยู่

ฉะนั้นเราจะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ นอกพรรษา หรือในพรรษา หรือออกพรรษา เราปฏิบัติได้ตลอดเวลา แต่ปฏิบัติได้ตลอดเวลาถ้ามันมีสติปัญญา ผู้ที่ปฏิบัติเองได้ ผู้ที่พึ่งตัวเองได้

แต่ผู้ที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ! ผู้ที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ! มันก็ต้อง “เมื่อนั้น.. เมื่อนี้.. ต้องนั่น.. ต้องนี่.. ต้องโน่น.. ต้อง ! ต้องไปข้างนอกหมดเลย” เพราะมันพึ่งตัวเองไม่ได้ !

แต่ถ้าคนที่พึ่งตัวเองได้ จะนอกพรรษา ในพรรษา จะธุดงค์ ไม่ธุดงค์นะ จะนั่งสมาธิ จะนอนปฏิบัติ จะนั่งปฏิบัติ จะทำอะไรก็ปฏิบัติอยู่ตลอด จิตมันมีสติตลอดเวลา

ถ้าจิตมันมีสติตลอดเวลา เราจะคุมสติของเราเพื่อพัฒนาหัวใจของเรา ถ้าพัฒนาหัวใจของเรา เราพัฒนาของเราได้ “มโนกรรม” กรรมนะ.. การกระทำของใจ ใจมันมีการการกระทำของมัน ถ้าใจมีการกระทำของมัน ใจจะมีการบริหารจัดการของมัน แต่ใจมันเป็นความคิด มันเป็นมโนกรรมจริงอยู่ แต่นี่มันเป็นมโนกรรมโดยกิเลสอวิชชามันปิดหูปิดตา เวลากิเลสอวิชชามันปิดหัวใจ มันถึงบอกว่า ทำอะไร มันถึงเป็นมโนกรรมนะ

มโนกรรมคือว่าการกระทำ มันมีกิเลส มันมีกิเลสวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ มีการกระทำ มีผลของมัน มันหมุนออกไป มันก็เป็นมโนกรรมนั่นแหละ แต่กิเลสมันปิดตามัน พอกิเลสปิดตามัน ไม่มี ! สิ่งนี้มันเป็นเห็นไหม ทุกอย่างมันก็เป็นธรรมชาติ ทุกอย่างมันก็เป็นไปของมัน มันถึงไม่เห็นใจ

ถ้าไม่เห็นใจ ไม่รู้จักตัวใจ มันถึงยับยั้งตั้งสติไม่ได้ เพราะมีสติปัญญามันจะยับยั้งที่หัวใจนั้น ความคิด ! ความนึกคิดเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นมาจากใจ ถ้าใจมันมีของมัน มันรักษาของมันได้ สิ่งนั้นมันก็ไม่มีการกระทำ เพราะมันผิดชอบชั่วดีต้องรู้อยู่แก่ใจ

แต่ถ้ามันเป็นโลกเห็นไหม มันไม่มีสติปัญญา ทำไปโดยอารมณ์ความรู้สึกของตัว เพราะกิเลสมันปิดตาปิดหัวใจ ทั้งที่เป็นมโนกรรมเหมือนกันนั่นน่ะ ถ้ามโนกรรม.. ถ้ามีสติปัญญา.. มโนกรรมก็คือการกระทำ ถ้าการกระทำขึ้นมาเห็นไหม เรามีสติปัญญา เราทำสิ่งใด เราจะยับยั้งได้ สิ่งใดควรหรือไม่ควร เว้นไว้แต่ ! เว้นไว้แต่มันเป็นเรื่องของสายบุญสายกรรม

ถ้ากรรมมันให้ผลเห็นไหม เวลากรรมมันให้ผล สิ่งที่จะให้ผล ดูสิ พระสารีบุตรมีโรคประตัว มีโรคปวดท้อง.. ปวดท้องอยู่ตลอดเวลา พระโมคคัลลานะไปถามว่า

“สิ่งที่ปวดท้องอยู่อย่างนี้ มันรักษาด้วยสิ่งใด”

“รักษาด้วยน้ำยาคู”

น้ำข้าวยาคู.. รินน้ำข้าวตอนเช้า พระโมคคัลลานะดลใจเทวดาเลย เทวดาไปดลใจคฤหัสถ์ คฤหัสถ์เขาก็ทำอาหารถวาย พระโมคคัลลานะไปบิณฑบาตกลับมาก็เอามาฝากพระสารีบุตร พระสารีบุตรไม่ยอมฉัน สิ่งนี้ไม่ยอม สิ่งที่มันเป็นเวรเป็นกรรม สิ่งที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บประจำตัว นี่เป็นเรื่องของพระสารีบุตร พระสารีบุตรท่านมีของท่านอย่างนั้น

ถ้าสิ่งที่เรากระทำ เราทำมโนกรรม กรรมที่เราทำ แต่สิ่งต่างๆ เช่น เป็นกรรมเก่ามันมาให้ผลมาอย่างนั้น สิ่งนี้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก มันจะมีอย่างไรมันก็สุดแต่เวรแต่กรรม แต่เราจะรักษาใจของเราอย่างไรไม่ให้หวั่นไหวไปกับเขา ไม่ให้หวั่นไหวเห็นไหม สิ่งที่เป็นการกระทบจากภายนอก ถ้าสิ่งที่เป็นการกระทบจากภายนอก เป็นสิ่งที่เราบังคับบัญชาไม่ได้

แต่เราจะบังคับบัญชา เราจะควบคุมดูแลใจของเราได้ ใจของเราๆ จะดูแลมัน เราจะรักษามัน เราจะอุปัฏฐากดูแลหัวใจของเรา นี่มโนกรรม ! การกระทำของเรา นั่งสมาธิภาวนาก็เป็นงานของใจ มันเป็นแรงงานในใจนะ ใจเราประพฤติปฏิบัติ แรงงานของใจ ถ้าใจมันทำของมันได้

งานจากข้างนอกมันเป็นข้อวัตร สิ่งที่เป็นข้อวัตรนะเราต้องทำ เราทำของเราเพื่อให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อให้มีการกระทำไม่ให้เกิดนิวรณธรรม นิวรณธรรมมันปิดกั้นสมาธินะ โน่นก็ยังไม่ได้ทำ นี่ก็ยังไม่ได้ทำ สิ่งที่เขาทำ.. เราไม่ทำ มันเป็นนิวรณ์นะ เพราะอะไร เพราะมันสงสัย มันเป็นนิวรณธรรม ถ้านิวรณธรรมนี่มันปิดกั้นสมาธิ ถ้าหัวใจไม่แน่วแน่

ถ้าหัวใจมันแน่วแน่ มันมีการกระทำแล้วไม่มีนิวรณธรรม มันมีความปลอดโปร่ง มันมีความเจาะจง มีความจงใจ มีความตั้งใจ มันทำสิ่งใดมันก็เข้าสู่ใจ ถ้าเข้าสู่ใจนะ มันก็มีความสุขสงบ มีความระงับของมัน

ถ้ามีความระงับของมันเห็นไหม นี่งานของเรา.. งานของเรา โลกนี้จะมีความรื่นเริง จะมีความสุข ความทุกข์ โลกนี้เขาจะมีความทุกข์ยาก โลกนี้เขาจะพลิกฟ้าคว่ำดิน โลกนี้เขาจะเป็นอะไรไป มันเรื่องของโลกนะ เราเกิดมาในโลกนี้แหละ แต่เราสร้างสิ่งนี้ไม่ได้

ดูสิ ดูน้ำท่วมสิ มีภัยแล้งขึ้นมา ใครไปดูแลมันได้ นี่ทางวิทยาศาสตร์เขาก็บอกต้องผันน้ำ ต้องชักน้ำ ต้อง..ทำไปเถอะ มันจากจุดหนึ่งก็ไปอีกจุดหนึ่ง สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของโลก มันถึงคราว ถึงวาระของมัน

ดูสิ เวลาเกิดพายุขึ้นมาเห็นไหม รับรู้นะ.. พายุจะเข้าวันนั้น.. วันนั้นนะ เตรียมตัวรับเห็นไหม แล้วป้องกันอย่างไร มีแต่อพยพคนหนีเท่านั้นล่ะ มันเป็นภัยธรรมชาติ ภัยธรรมชาติเป็นอย่างนั้น โลกมันเป็นอย่างนั้น ! โลกมันเป็นอย่างนั้นเห็นไหม

ถ้าเรารักษาใจของเราล่ะ โลกมันปั่นป่วนอยู่อย่างนี้ โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีเต็มหรอก โลกมันพร่องอยู่อย่างนี้ มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้ แล้วเราล่ะ? เราเกิดมาจากโลกนะ ร่างกายของเรานี้เป็นโลกนะ ลมหายใจเห็นไหม ดูสิ เลือดของเรา กรุ๊ปเลือดต่างๆ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทั้งนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องของโลกทั้งนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องของความจริง โลกทั้งนั้นน่ะ พิสูจน์ได้หมดล่ะ

แต่หัวใจล่ะ.. หัวใจมันพิสูจน์อย่างไร.. หัวใจเราจะดูแลอย่างไร..

เราเกิดมาเป็นนักรบนะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เรามีศรัทธาความเชื่อนะ เราเป็นคนที่มีโอกาสมาก ดูทางโลกเขาสิ เขาขอโอกาสกัน ทำอะไรก็ได้ เขาขอโอกาสให้มีการกระทำบ้าง เรามีความเชื่อมั่น แล้วเรามีครูบาอาจารย์ ไปที่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส ไปดูสิ พระธาตุของหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นเป็นพระธาตุ ! เป็นพระอรหันต์แน่นอน ! ผู้ชี้นำเราบอกเราไว้ตรงๆ แน่นอน !

เราศึกษามามันก็เป็นความจริงอยู่แล้ว ผู้ที่บอกเราก็มีอยู่แล้ว แล้วเราก็มีโอกาสประพฤติปฏิบัติด้วย แล้วเราก็มีความจงใจอยู่ เราตั้งใจอยู่ เราจะทำอะไรกัน?

ถ้าเรามั่นใจของเรา เราทำของเรานะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เราต้องทำความสงบใจของเราขึ้นมาได้ ถึงที่สุดแล้วนะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี ถ้าเราทำจริงของเรานะ

นี้พอเราทำขึ้นมา ดูสิ เวลาเรามีความรื่นเริงอาจหาญในหัวใจ เราก็คิดมุ่งมั่นว่าจะทำ เวลาเราไปเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เห็นไหม ตอนเช้าๆ อากาศดีมันก็ยังพอทนได้นะ พอเริ่มเที่ยงเริ่มบ่ายขึ้นมา โอ้โฮ ! อากาศมันร้อนมาก มันอ่อนเพลียไปหมดเลย แล้วอุณหภูมิมันร้อนขนาดนี้ เวลาอดอาหารมันจะโหยหาขนาดไหน มันจะอ่อนเพลียขนาดไหน ปฏิบัติมามันรู้หมด ! ได้ผ่านวิกฤติอย่างนี้มาแล้ว

มันจะอ่อนเพลียขนาดไหน แต่หัวใจเราจะทุกข์ไหม เราคิดสิ ถ้าเวลาเราทุกข์เห็นไหม ดูสิ เวลามีบาดแผลขึ้นมา มันเจ็บปวดแสบร้อน เราก็รักษา เราก็อยากจะหาย นี่ก็เหมือนกัน กิเลสในหัวใจมันก็เหมือนบาดแผล มันติดมากับใจตลอดเวลา เวลาเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราก็อยากจะหาย แต่เวลารักษามันเจ็บไหม เวลารักษาขึ้นมาต้องทำความสะอาดบาดแผล ต้องใส่ยา

นี่ก็เหมือนกัน เวลานั่งสมาธิ เดินจงกรม ภาวนา มันก็เหมือนทำความสะอาดใจ มันจะทำให้หัวใจนี้สะอาด มันก็ต้องล้างแผลจนเลือดออกหมดนะ แล้วก็ทำแผลใหม่

นี่ก็เหมือนกัน นั่งสมาธิภาวนาเพื่อให้ใจมันสงบ มันจะสงบไหม มันจะทำให้เราเป็นจริงขึ้นมาได้บ้างไหม ถ้ามันจะทำความจริงขึ้นมา มันจะโหยหา มันจะเดือดร้อนขนาดไหน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เวลาเราฝืนใจที่จะทำ ถ้าเราทำของเราขึ้นมาเห็นไหม มันเป็นงานของเรานะ มันเป็นความจริง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง จิตใจนี้สัมผัสได้ จิตใจนี้รับรู้ได้

โลกก็เป็นโลก มันไม่มีวันจบหรอก เรามองสิ มองแต่ทางโลกเห็นไหม คนเกิดมาขนาดไหน จะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน มันก็ต้องตายไปทั้งนั้นน่ะ เวลาเขาไปสวดศพกัน เขาไปชักบังสุกุลกัน ก็เห็นกันทุกวัน เห็นจนคุ้นชิน เห็นจนเป็นความชินชา แต่เวลาเราทุกข์ยากล่ะ มันเหมือนกับคนจมน้ำแล้วขึ้นมาจากน้ำ ถ้าคนจมน้ำแล้วมันขึ้นมาจากน้ำแล้วมันก็ปลอดภัย

นี่ก็เหมือนกัน บวชเป็นพระเป็นเจ้าแล้ว ก็บอกว่า โอ๋ย.. ปลอดภัย เราปลอดภัย บวชเป็นพระเป็นเจ้าเห็นไหม โลกเขาจะเดือดร้อนขนาดไหน ดูสิ ลดค่าเงิน เพิ่มค่าเงิน เราจะไม่เดือดร้อนไปกับเขา มันคิดขึ้นมาแล้วมันนอนใจไง มันตายใจไง มันตายใจว่า “ชีวิตเรา..มันมั่นคงนะ.. มั่นคงด้วยปลีแข้ง”

แต่เวลาสมัยหลวงปู่มั่นเห็นไหม สงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ้าผ่อนไม่มีนะ ทุกอย่างก็ไม่มี เขายังไม่มีจะกิน เขายัง.. เขาจะทำอะไร เพราะเราอยู่บนความเชื่อถือของเขา เวลาคนเขามีศรัทธาความเชื่อ เขาอยากได้บุญกุศล เขาอยากทำบุญกุศลของเขา แล้วเนื้อนาบุญของเขา เขามั่นใจที่ใด ผู้ที่ไปประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง

ชีวิตเราฝากไว้ด้วยปลีแข้ง ! ชีวิตเราฝากไว้กับศรัทธาของญาติโยมเขา !

เราบวชแล้วเราก็มานอนใจ.. นอนใจว่าชีวิตนี้มันมั่นคง โลกเขาจะเจริญ เขาจะอ่อนแอขนาดไหนก็เรื่องของโลกไป แต่เรื่องของเราๆ มั่นคง มันเป็นความคิดเฉยๆ นะ ความคิดถ้ามันเกิดขึ้นโดยแง่ของโลก มันก็เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นแง่ของธรรมนะ เม็ดข้าว ! สิ่งที่จะหามา เขาหามาด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานของเขา บุญกุศลนั้นเป็นของเขานะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราบิณฑบาตมาแล้วเราไม่สมค่าของเขา ดูวัว ดูควายสิ สีมันสีเหลืองๆ ทั้งนั้นน่ะ เวลาเราไปเกิดภพชาติใหม่ เราต้องไปเป็นแรงงานเพื่อชดใช้เขานะ ชดใช้ใคร.. ชดใช้โลก เพราะจิตวิญญาณมันหมุนเวียนกันไป ..จะไปชดใช้ที่เราไปบิณฑบาตเขามา… มันคนละภพชาติแล้ว !

ดูสิ คนใส่บาตรเดี๋ยวเขาก็ตายไปแล้ว เขาตายแล้วเขาก็ไปเกิดใหม่ เราก็จะตายไปข้างหน้า พอเราตายไปข้างหน้า เราก็ไปเป็นวัวเป็นควาย แล้วเขาไปเกิดเป็นสถานะอะไรล่ะ เราเกิดเป็นอย่างไรล่ะ นี่ผลของกรรมนะ ! ใครจะเชื่อ ใครจะไม่เชื่อ ใครจะคิดอย่างไร มันมีอิสรเสรีภาพในความคิด ก็ความคิดเป็นสิ่งที่ใครจะบังคับบัญชาไม่ได้

แต่ผลของกรรม ! ผลของกรรม ! กรรมที่มันทำไว้นะ ฉะนั้นสิ่งที่มันทำไว้ สิ่งที่เราทำมามันคุ้มค่าเขาไหมล่ะ ถ้ามันจะคุ้มค่าในค่าแรงงานอันนั้น ในค่าบุญกุศลของเขานั้น เราจะต้องจริงจังของเรา ถ้ามันจริงจังของเรา สิ่งนั้นมันก็สมประโยชน์ของเขาทั้งนั้นล่ะ

เวลาเขาทำบุญใส่บาตร เขาว่าฝากไปรษณีย์ไป ไปรษณีย์มันโกง ! ฝากไว้ที่ไหน ฝากไว้ไม่ถึงปลายทางหรอก ไปรษณีย์มันไม่ส่งให้ เวลาฝากไป.. ฝากไปทำบุญกับพระ.. ทำบุญกับพระ.. ฝากพระไปเหรอ? มันฝากความจริงต่างหาก อริยสัจอันนั้นมันเป็นความจริง ถ้าความจริงกับความจริงมันเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นเราทำแล้วเราจะต้องมีสติปัญญา ดูสิ ปฏิสังขาโย ฉันอาหารก็พิจารณาว่าเราฉันอาหารเพื่ออะไร อาหารนี่มาจากไหน เราฉันแล้วเป็นประโยชน์อะไร มีสติใช้สอยตลอด ปัจจัย ๔ เรามีสติใช้สอยของเรา ถ้าเรามีสติใช้สอยเห็นไหม นี่ปฏิสังขาโย เราจะมีสติตลอด ถ้ามีสติตลอดนะ มันจะตื่นตัวตลอด ถ้ามันตื่นตัวตลอด ใจมันก็มีโอกาสตลอด มันจะนั่งสมาธิภาวนาก็ได้ มันจะทำสิ่งใดมันก็มีโอกาสทำ !

ไอ้นี่จิตใจมันคิดเตลิดเปิดเปิงไปที่ไหนก็ไม่รู้ มันเหมือนงูลอกคราบ งูเวลามันลอกคราบ ไอ้นี่มันคราบของพระไง มันเป็นพระที่คราบ ! แต่หัวใจมันคิดอะไรอยู่ หัวใจมันเตลิดเปิดเปิงไปไหน? ถ้าหัวใจมันไม่เตลิดเปิดเปิงไปนี่ หัวใจต้องเป็นพระด้วย ถ้าหัวใจเป็นพระด้วย.. จิตใจมันสงบไหม ถ้าจิตใจมันสงบ.. จิตใจเราประเสริฐไหม

“ผู้ใดเห็นธรรม.. ผู้นั้นเห็นตถาคต”

ถ้าเห็นธรรมเห็นตถาคต เราได้บริหารจิตใจของเราบ้างหรือเปล่า เวลาเรากราบพระเห็นไหม ดูสิ เช้ามาก็กราบ เย็นมาทำวัตรทำวาก็กราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบพระ ! กราบพระ ! กราบพระนี่กราบสมมุติสงฆ์ กราบรูปเคารพตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่หัวใจล่ะ ! หัวใจถ้ามันสงบเข้าไปนะ อื้อฮือ..อื้อฮือ..เลยนะ “ผู้ใดเห็นธรรม.. ผู้นั้นเห็นตถาคต” เห็นไหม พอเห็นธรรมเห็นตถาคต คนที่ภาวนาเป็นนะ ศีลธรรมเป็นเครื่องดำเนิน ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินเข้าไปสู่สัจธรรม

ฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาเราสวดมนต์ กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันกราบด้วยหัวใจนะ หัวใจมันลง หัวใจมันชุ่มชื่น เราทำสิ่งใดก็ได้ อยู่ป่า อยู่เขา จะอยู่คนเดียว จะอยู่กับหมู่คณะ อยู่กับใครก็แล้วแต่ ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมมันจะมองเป็นธรรม

ถ้าจิตใจเราเหี่ยวแห้ง จิตใจเรามีแต่ความเร่าร้อนนะ จะอยู่กับใครมันก็ร้อน ไปอยู่ที่ไหนมันก็ร้อน อยู่กับครูบาอาจารย์ ดูสิ เวลาจิตใจเราร้อน เราไปแช่น้ำอยู่มันก็ร้อน

ถ้าจิตใจเรามันดีเห็นไหม อุปัฏฐากนี้สำคัญนะ ไหว้พระไหว้เจ้านั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมขึ้นมา พุทธ.. ธรรม.. สงฆ์..รวมลงเป็นหนึ่งเดียว รวมลงในหัวใจอย่างไร เวลาแค่จิตสงบมันก็รวมเข้ามาเป็นจิตสงบแล้ว พอจิตสงบจิตมันก็เป็นหนึ่ง เวลาจิตออกใช้ปัญญามันก็เป็นมรรค มันเป็นธรรมจักรที่จะชำระกิเลส

ถ้ามันเป็นจักรขึ้นมา ระหว่างที่เราดำเนิน ระหว่างจิตที่มันจะพัฒนาขึ้นไป มันจะดำเนินการของมันไป ถ้าจิตมันดำเนินการของมันไป ใครเป็นคนดูแลล่ะ ถ้ามีสติปัญญา มันก็เป็นสติใช่ไหม ถ้ามีสติปัญญามันก็ดูแลของมัน

ถ้ามันขาดสติล่ะ ถ้าสติเราไม่ดีล่ะ ถ้าสติเราขาดสติขึ้นมาเราจะทำอะไรกัน ดูคนบ้าสิ คนบ้ามันเก็บโน่น เก็บนี่ เก็บของมัน เก็บไม่มีวันจบ มันจะเก็บแล้วเก็บเล่าอยู่นั่นน่ะ มันว่ามันเก็บของมัน มันมีความสุขของมัน มันเพลิดเพลินนะ คนบ้านะ !

ดูสิ ตำรวจเขาบอกว่า “จะไปจับผู้ร้ายนี่ คนบ้าเขากลัวที่สุด” มันมีแรงมาก ๑๐ คน ๒๐ คนก็เอาไม่อยู่นะ เพราะอะไร เวลามันสะบัด.. เขาจะมีแรงมหาศาลเลย แต่เขามีความสุขอะไรล่ะ เพราะเขาคิดอย่างนั้น เขาเพลิดเพลินของเขาอย่างนั้น เพราะเขาขาดสติของเขา เขาถึงเป็นคนบ้า

ไอ้เราคนมีสติ เวลามีสติขึ้นมาเราก็ต้องมีสติสตังนะ คนบ้าเขาเก็บเล็กประสมน้อย เขาก็มีความสุขของเขา เรามีสติขึ้นมา เราต้องดูแลความคิดของเรา ความคิดนี่ จิตมันบ้า ! มันเก็บเล็กผสมน้อย เก็บไปทุกอย่างเลย เหมือนบ้าสมบัติ บ้าความคิด บ้าสิ่งในหัวใจ เอามาแบกหามไว้ แบกหามไว้เท่าไหร่ก็แบกหามไว้ไม่หมด แล้วก็ยังสะสมไว้.. สะสมไว้..

เวลาเห็นคนบ้าก็ โอ๋ย ! เขาเป็นคนบ้า เราเป็นคนดี เรามีสติปัญญา แต่เวลาจิตบ้า ! มันไม่คิดว่ามันบ้านะ โอ้โฮ.. คิดดี ทำดี บ้าแล้วยังไม่รู้สึกตัวเห็นไหม เพราะมันขาดสติ

แต่ถ้ามีสติขึ้นมานะ มันจะพัฒนาของมันขึ้นมา เวลามันเป็นปกติ.. จากบ้า.. จากบ้าความฟุ้งซ่าน บ้าอารมณ์ บ้าความคิดต่างๆ มันกลับมาเป็นอิสรภาพของมัน ถ้ากลับมาสู่อิสรภาพ นี่งานของใจ

งานข้างนอกนะ ดูสิ เวลากรรมกรแบกหามขึ้นมาเห็นไหม มีพระปฏิบัติเขาบอกว่า “อยากเห็นทุกข์มาก” เขาแบกก้อนหินขึ้นเขาลงเขา.. ขึ้นเขาลงเขา อยากเห็นทุกข์ไง อยากจะออกจากทุกข์

บอกว่า “ถ้าเอ็งอยากเห็นทุกข์อย่างนั้นนะ กรรมกรท่าเรือเขาแบกข้าว เขาจะเห็นทุกข์มากกว่ามึงอีก เขาแบกทั้งวันเลย” แบก ๆ ตลอดเวลาจะเห็นทุกข์ได้อย่างไร มันเป็นงานของเขา มันเป็นอาชีพเขา เขายิ่งทำมาก เขาก็ได้มาก.. เขาทำเพื่ออาชีพ

เวลาบ่นว่าทุกข์.. ทุกข์.. ทุกข์สิ ! ทุกข์เพราะมันเป็นงานหนัก งานใช้กำลังมันก็หนัก มันก็ทุกข์ แต่ทุกข์อย่างนี้ก็เป็นทุกข์ประจำโลก มันไม่ได้ทุกข์ในหัวใจ ถ้ามันทุกข์ในหัวใจเห็นไหม เวลาเราอยากเห็นทุกข์ จิตสงบไหม จิตเคยสงบเข้ามาไหม จิตเคยรู้จักตัวเอง มีอิสรภาพไหม

ถ้าจิตมันมีอิสรภาพขึ้นมา จิตนี้มาจากไหน.. ทุกข์มันมาจากไหน.. ทุกข์มาจากการเกิด ถ้ามีการเกิด... ถ้าเราไม่เกิดจิตอยู่ไหน ถ้าไม่มีการเกิดเห็นไหม

จิตเห็นไหม จิตกำเนิด ๔ กำเนิดในน้ำคร่ำ กำเนิดในไข่ กำเนิดในโอปปาติกะ จิตมันกำเนิดนั่นเพราะเรามันยังไม่มีสติปัญญา เพราะจิตที่มันยังควบคุมไม่ได้ จิตที่มันหมายถึงว่ายังวนเวียนอยู่ ขณะที่จิตเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เกิดเป็นกำเนิด ๔ ก็เกิดแล้ว พอเกิดแล้วเห็นไหม ทุกข์มาจากไหน ทุกข์เป็นที่การเกิด ชาติปิ ทุกขา ชาติมีความทุกข์อย่างยิ่ง การเกิดเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง

ถ้าจิตมันมีสติปัญญา มันสาวได้ไปที่การเกิดในชาติปัจจุบันไง แต่ถ้าจิตผู้ที่สงบแล้วแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม เวลาปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ บุพเพคือชาติ อดีตชาติที่มันย้อนไป ไม่ใช่ที่การเกิด เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก่อนเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเป็นใคร ย้อนกลับไปเป็นพระเวสสันดร ย้อนไป.. ย้อนไป.. ย้อนไปเห็นไหม

นี่ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ จิตที่มีหลักมีเกณฑ์ จิตที่เข้าถึงฐานมัน มันไปของมันได้ แต่ในปัจจุบันนี้ อริยสัจ ! อริยสัจคือสัจจะความจริง สัจจะความจริงที่สัญชาตญาณของมนุษย์ที่มันนึกได้ คือนึกได้จากการเกิดนี่ไง การเกิดเป็นมนุษย์นี่มีสถานภาพที่จะมาแบกรับแบกหาม นี่ไงชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ! ถ้าชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ถ้ามันมีปัญญา เราใคร่ครวญ เราแก้ไขของเรา ถ้าเราแก้ไขของเรา นี่งานของเรา ! ถ้างานของเราเกิดขึ้นที่นี่ นี่งานของพระ

เรามีโอกาสเห็นไหม ดูสิ โลกเขาอยากมีโอกาสกัน เกิดมาเป็นทุกข์ พบพุทธศาสนา ศาสนาให้พ้นจากทุกข์ เขามีโอกาส..

เรามีโอกาสแล้วนะ เราบวชเป็นพระเป็นเจ้าอยู่นี่ วันคืนล่วงไป.. ล่วงไปอยู่นี่ จะเข้าพรรษาหรือออกพรรษามันไม่เกี่ยว เข้าพรรษาหรือออกพรรษามันเป็นเวลา มันเป็นวัฒนธรรมประเพณี มันเป็นฤดูกาล เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของโลก

โลกเขาอยู่ของเขา มันก็ต้องมีฤดู มีวิธีการ มีสูงมีต่ำ มีเวลาเป็นวันเป็นคืนของเขาไป เราอยู่กับโลก เวล่ำเวลานี่ เพราะชีวิตนี้ฝากไว้กับโลก ชีวิตนี้ฝากไว้กับเขา เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราก็อาศัยสิ่งนั้นมันก็เป็นวัฒนธรรมประเพณี เป็นเรื่องของโลกๆ นะ เราก็ทำตามเขา จริงตามสมมุติ ในเมื่อวัฒนธรรมประเพณีเป็นเรื่องจริงตามสมมุติ เราก็จริงตามเขาไป เราก็อยู่กับเขาก็จริงตามสมมุติ

แต่ความจริงของเราล่ะ ความจริงที่จะพ้น ถ้ามันจริงตามสมมุติ เราก็อยู่ตามสมมุติ อยู่กับวัฒนธรรมประเพณี มันก็สมมุติไปอย่างนี้ ๕ ปี ๑๐ ปี ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา ๑๐๐ พรรษา ห้าแสนพรรษา ล้านพรรษา มันก็อยู่กับพรรษา การนับสถิติไป

แต่ถ้าเราบวชมา เราอยู่กับหัวใจของเราล่ะ ถ้าหัวใจมันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะย้อนกลับมาที่นี่ ถ้าย้อนกลับมาที่นี่นะ จะเข้าพรรษาหรือออกพรรษานั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเวลาแสดงธรรม เวลาฟังธรรม... โอ่ ! ในพรรษาก็ไม่เกี่ยว นอกพรรษาก็ไม่เกี่ยว ก็เลยกลายเป็นพระผีเลยนะ ไม่ยอมรับอะไรเลย ก็อยู่กับโลกเขาไป นั่นเป็นพระผี พระไม่มีศาล

พระมันมีศาล มันมีสมมุติ มีวัฒนธรรมประเพณี มันก็มี.. ศาลก็มี เจ้ามีศาลเราก็มีศาล.. เราก็มีธรรมวินัยเป็นศาสดา แต่เวลาเป็นธรรม เวลาความคิดที่เกิดปัญญา ปัญญามันต้องมีขอบมีข่ายของปัญญา มันจะเข้าไปรื้อถอนทิฏฐิมานะในใจ ถ้ามันรื้อถอนทิฏฐิมานะในใจ มันจะรื้อถอนอย่างนี้ วัฒนธรรมประเพณีเราก็รู้ เราก็ทำตามเขา แต่หัวใจมันปล่อยวางหมดนะ ทำกับเขา อยู่กับเขา โดยที่ไม่ผูกพันกับเขา เราอยู่กับเขาโดยที่จิตใจมันไม่ผูกพันไปกับเขา เพราะสิ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมประเพณีเห็นไหม

ดูสิ กึ่งพุทธกาล ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ยังมีต่อไปอีกข้างหน้า อีกกี่ร้อยปีกี่พันปี แล้วอย่างชีวิตเราจะอยู่กี่ร้อยปี เราก็รับรู้ด้วยชีวิตเราทั้งนั้นแหละ เราก็ทำตามวัฒนธรรมประเพณีในชีวิตของเรา ถ้ามันเจริญดีงาม มันก็เจริญดีงาม แต่ถ้ามันถึงคราวที่มันอับเฉา มันก็เรื่องของสภาคะ เรื่องของกรรมร่วมกันที่เขาทำกันมา แต่จิตใจของเรารื่นเริงไหม จิตใจของเรานี่จะแบกรับไปกับเขาไหม

ถ้าจิตใจเรารื่นเริง จิตใจเราไม่แบกรับไปกับเขา เรามีจุดยืนอย่างไร เรามีความรู้สึกอย่างไร เรามีความคิดอย่างไร เราทำจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมาได้อย่างไร จิตใจเราจะเข้มแข็งขึ้นมาได้ ทุกคนทำได้นะ

ดูสิ ดูเกลือเห็นไหม ดูน้ำทะเล เขาทำนาเกลือกันเห็นไหม น้ำ ! น้ำทะเล ! เขายังมาทำเป็นนาเกลือเพื่อประโยชน์ เกลือมีไอโอดีนด้วย เดี๋ยวนี้เขายังขาดไอโอดีนกันอยู่เห็นไหม เกลือน้ำทะเล เขาทำของเขาได้ ถ้าคนรู้จักเก็บประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเราเห็นไหม เราหายใจ เราอยู่กับโลกเขา เราจะต้องมีสติปัญญาของเรานะ ตอนนี้มีครูบาอาจารย์เตือน ก็เตือนเราอยู่ เตือนให้เรามีสติ แล้วเรามีการกระทำของเรา เราจะสร้างคุณธรรม สร้างความมั่นคงในใจของเรา มันไม่มีใครจะอยู่ค้ำใครไปจนตายนะ ไม่รู้ใครตายก่อนตายหลัง ถ้าใครตายก่อนตายหลัง ผู้ที่อยู่ยังจะต้องพยายามขวนขวาย พยายามเอาหลักความจริงขึ้นมาในใจของตัวให้ได้

ถ้ามีหลักความจริงในตัวของเราขึ้นมาแล้วเห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าจิตใจมันมีหลักของมันอยู่แล้ว หลักนี้มันเกิดมาได้อย่างไร คนที่จะมีหลัก.. คนหลักลอย.. คนที่ไม่มีหลักเลย.. มันเป็นอย่างไร

คนที่ไม่มีหลักเลย คนหลักลอยเห็นไหม วัฒนธรรมประเพณี สิ่งนี้มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยึดมั่นถือมั่นกันไป อันนี้มันเป็นกติกาของสังคม วัฒนธรรมประเพณีเป็นกติกาของสังคมที่เราก็รับ เราก็เห็นด้วยทั้งนั้นน่ะ แต่จิตใจเราถ้ามันเกาะเกี่ยวไปอย่างนี้นะ มันพึ่งตัวเองไม่ได้ มันก็พึ่งแต่สิ่งภายนอก

แต่ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา มันจะพึ่งตัวของมันเอง เราก็อยู่ คนเราเกิดมามีปัจจัยเครื่องอาศัย โลกเขามีปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา พระเราก็มีบริขาร ๘ นี่ก็ปัจจัยเครื่องอาศัยของพระ แล้วจิตใจเราเป็นพระ เราเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นผลของการเกิดการตายมันเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง

ถ้าการเกิดและการตายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เกิดเหมือนกัน.. แต่เกิดมาเพื่อจะพ้นจากการไม่เกิด ! เกิดมาแล้วเพื่อจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยความเอาจริงเอาจัง โลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำหาเงินหาทองเพื่อดำรงชีวิต เขาว่าเป็นความทุกข์ของเขา นั่นเป็นงานหน้าที่ของเขา

แต่งานของเรา แรงงานในหัวใจของเรา ผู้บริหารจัดการเขาจะรับผิดชอบนโยบาย เขาต้องรับผิดชอบ เขาวิตกกังวลของเขามากนะ เขาวิตกกังวลว่ามันจะเป็นไปได้ไหม เขากำหนดนโยบาย แล้วผู้รับนโยบายนั้นไปประพฤติปฏิบัติ จะเป็นตามนโยบายของเขาไหม มันมีเล่ห์ มีเหลี่ยม มีซับ มีซ้อนเข้าไปในสังคมนะ ทำแล้วทำเล่าก็กำหนดกันเป็นผลประโยชน์กันไปตลอดอย่างนั้น

หัวใจของเรา ! เรากำหนดแล้ว เรามีโอกาสของเราแล้ว เราปฏิบัติของเราแล้ว มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เรียกร้องความรู้สึกของเรามาดูหัวใจของเรา มาดูความเป็นจริงของเรา ถ้าความเป็นจริงของเรา มันจะเป็นความจริงได้มากน้อยแค่ไหน ความเป็นจริง ! ถ้าความเป็นจริงเป็นขึ้นมา เป็นมากหรือน้อยขึ้นมา เรามีหลักยืนของเรา เรามีจุดยืนของเรา หัวใจเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา

ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา.. พระอาทิตย์ขึ้นก็มีพระอาทิตย์ตกนะ เช้า สาย บ่าย เย็น อุณหภูมิของความร้อนต่างๆ แตกต่างกันไป ชีวิตของเราชีวิตหนึ่งก็เหมือนกัน เช้า สาย บ่าย เย็น ถ้าจิตเรามันมีความสุข จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา จะมีความสุขมาก จะเช้า สาย บ่าย เย็น เราก็มีหลักมีเกณฑ์ แต่ถ้าจิตใจเราเร่าร้อนนะ เช้า สาย บ่าย เย็น มันก็ทุกข์ของมันนะ โลกมันเป็นอย่างนี้ โลกมันมีเช้า สาย บ่าย เย็น

แต่ของเราล่ะ.. หัวใจของเราล่ะ.. เข้าพรรษาหรือออกพรรษา มันก็มีกาลเวลาของมันไป สิ่งนี้มันเป็นเรื่องจริงตามสมมุติ มันเป็นจริงตามสมมุติ แล้วธรรมมันก็มาจากสมมุติบัญญัติ มันเกิดมาจากนี้แหละ ต้นไม้ทุกอย่าง สิ่งปลูกสร้างทุกอย่าง มันสร้างอยู่บนดิน ความดีความงามของเรา มันเกิดอยู่บนภวาสวะนะ บนภพ บนฐานของความคิด ความดีความงามของทุกคนเกิดจากความนึกคิด เพราะเรามีเจตนาความคิด เรามีเจตนาดีหรือเจตนาชั่ว มันเกิดจากเจตนาอันนี้ไปทำคุณงามความดี สร้างคุณงามความดีเพื่อมาสู่ใจ

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งปลูกสร้างทั้งหมด พืชพรรณธัญญาหารทั้งหมดตั้งอยู่บนดิน คุณงามความดีของเราทั้งหมดตั้งอยู่บนหัวใจของเรา ตั้งอยู่บนภวาสวะ เพราะกรรมดีกรรมชั่วมันตกอยู่ที่ใจ กรรมดีกรรมชั่วมันเข้ามาสู่ใจนี้ ถ้าสู่ใจนี้เห็นไหม เรามีเจตนาดีของเรา เราสร้างคุณงามความดีของเรา เพื่อให้จิตใจของเรามันมีความผ่อนคลายนะ

ถ้ามีความผ่อนคลายเห็นไหม เช้า สาย บ่าย เย็น ถ้าเราปฏิบัติใหม่ๆ มันมาจากกำปั้นทุบดิน มันมาจากสมมุติบัญญัติ ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ มันมาจากตัวตน มาจากเราทั้งหมด กิเลสเป็นเรา ความคิดเป็นเรา ชีวิตเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา มันเป็นเราจริงๆ ทั้งนั้น มันเป็นจริงตามสมมุติ

เพราะมันต้องจริงตามสมมุติ มันต้องเป็นเราทั้งนั้น การปฏิบัตินั้นมันถึงจะเริ่มต้น ถ้ามีการเริ่มต้น มีการชำระล้าง มีการกระทำของเราขึ้นมา มันจะรู้เห็นขึ้นมาตามความเป็นจริงของเรา ถ้ามันรู้เห็นขึ้นมาตามความเป็นจริงของเรา สิ่งที่การกระทำมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา เช้า สาย บ่าย เย็น มันก็เรื่องของเขา จิตใจเราก็รู้ ถ้าจิตใจเราเปรียบเทียบได้ด้วย ถ้าเกิดปัญญานะ เช้า สาย บ่าย เย็น ก็เหมือนว่าจิตมันดี มีความสุข อากาศตอนเช้ามันก็ดี เวลาจิตมันทุกข์ เวลายามบ่าย เวลามันทุกข์ร้อน มันก็เป็นความทุกข์ จิตถ้ามันร่มเย็นมันก็เหมือนยามเช้า จิตถ้าเวลามันทุกข์มันยากมันก็เหมือนยามบ่าย

เช้า สาย บ่าย เย็น มันเป็นเรื่องของภูมิอากาศ มันเป็นเรื่องของกาลเวลา ความสุข ความทุกข์ในหัวใจมันเป็นเรื่องตัวตน เป็นความจริงของเรา เป็นความรู้สึกของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราแก้ของเรา “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ... ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

จากใจดวงหนึ่ง ใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติ ใจที่ล้มลุกคลุกคลาน ใจที่มันเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีศักยภาพที่มันเห็นทุกข์ยากในสังคม ที่มันเห็นทุกข์ยากในโลกเห็นไหม แล้วเรามาบวชมาเรียน บวชเรียนเป็นนักพรต ! เป็นนักปฏิบัติ ! เพื่อจะรื้อค้นในหัวใจของตัว ถ้าจิตใจเป็นนักพรตนักปฏิบัติขึ้นมานี่ มันจะแก้ไขของมันขึ้นมา

เพราะเราเห็นโทษ.. เห็นโทษของโลก เรามีโอกาสของเราแล้ว อย่าให้จิตใจมันคุ้นชินกับกิเลสนะ ถ้ามันคุ้นชินขึ้นมา เวลามันหนังหนา เวลามันหนาขึ้นมา ความคุ้นชินมันจะทำให้หนาขึ้นมาเรื่อยๆ ความรู้สึกของเรามันเลยหยาบไปเรื่อยๆ ไง แต่ถ้าเราไม่คุ้นชินกับมันนะ คนหนังบางอะไรกระทบไม่ได้ ยิ่งคนมีภูมิแพ้ ถ้าอากาศเปลี่ยนแปลง จะเป็นไข้ เป็นหวัด เป็นไอทันที

จิตใจของเราถ้ามันมีความละอายของมัน ความผิดเล็กน้อย ความผิดอย่างไร มันก็ความผิดของมันนะ ถ้าผิดของมัน มันจะรับรู้ของมัน แล้วมันจะแก้ไขตัวมันเองตลอดไป

ฟังเทศน์ฟังธรรมก็เหมือนกัน ถ้าเราฟังธรรมเห็นไหม เวลามันเข้ามาแทงหัวใจ..ขนลุกขนพองสยองเกล้า ! เวลาขนลุกขนพอง นั่นล่ะหัวใจมันมีความรับรู้ มันมีความรู้สึก คุณธรรมในหัวใจมันมี

แต่ถ้าหัวใจมันหยาบนะ มันฟังจนชินชาหน้าด้าน เวลามันด้านนะ “หลวงพ่อพูดซ้ำๆ ซากๆ พูดทุกวั้น..ทุกวัน.. ไม่เหนื่อยเนาะ”

เหนื่อย ! เหนื่อยมากๆ แต่ก็เตือน มันเป็นการเตือนนะ คนเราเห็นไหม เวลาเตือนขึ้นมา ถ้าจิตใจมันฟังมันมี มันก็เตือนได้ แต่จิตใจมันหยาบ มันจะเตือนได้ไหมล่ะ ถ้าจิตใจมันเตือนขึ้นมา เตือนหาใคร ถ้ามันเตือนขึ้นมา เตือนตลอดฟังธรรม ฟังธรรมไง

เวลาฟังธรรมขึ้นมา เตือนหัวใจของเรา ให้หัวใจเรามันเปรียบเทียบไง เปรียบเทียบกับสิ่งที่มันกระทำจริงหรือไม่จริง จิตใจเราควรเป็นคุณงามความดีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามันเป็นคุณงามความดี ความดีที่เป็นประโยชน์กับใจ ไม่ต้องมีใครบอกเรานะ มันจะเลือกของมันเอง

ถ้าเรากำหนดอย่างนี้.. เราตั้งสติอย่างนี้.. จิตใจมันมีความสงบร่มเย็นอย่างนี้

ถ้าเราตั้งสติอย่างนี้.. มีความคิดอย่างนี้.. ฟุ้งซ่านอย่างนี้.. มันจะมีความเร่าร้อนอย่างนี้

นี่มันรู้ ! ถ้ามีสติมันรู้หมดล่ะ ! มันไม่มีใครที่ไหนมาบอกหรอก

แต่เวลาเตือนขึ้นมาเตือนเพื่อให้ได้คิดไง เวลาธรรมดาเห็นไหม ดูสิ คนที่ชี้ถึงจุดบอดของเรา คนนั้นมีบุญคุณกับเรามาก

ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน เพราะเวลาแสดงธรรมะ แสดงธรรมขึ้นมาเพื่อใครล่ะ.. เพื่อใคร.. ไม่ใช่เพื่อใครเลย ผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมเห็นไหม โอปนยิโกเรียกร้องสัตว์ทั้งหลายให้มาดูธรรม มันก็เกิดจากดวงใจผู้ที่ปฏิบัตินั้นล่ะ มันจะเป็นประโยชน์กับใครล่ะ ประโยชน์กับผู้แสดงมันมีที่ไหน แสดงแล้วมันก็จบ !

เว้นไว้แต่ ! เว้นไว้แต่ผู้แสดงเห็นไหม มันมีแต่ขี้โม้ มีแต่เรื่องไม่รู้จริง ขี้โม้หมายถึงว่าตัวเองไม่เคยประสบพบเห็น พอพูดสิ่งใดไป พอพูดไปแล้วนะ ฮื่อ ! มันจะจริงหรือไม่จริงนะ แล้วถ้าเขาปฏิบัติขึ้นมาเขาเจอความจริงขึ้นมา เขาจะมาโต้แย้งว่า “เอ็งน่ะโม้ ! เพราะความจริงมันเป็นอีกแบบหนึ่ง”

นี้พอแสดงธรรมไปแล้วนะ มันก็หนาวๆ ร้อนๆ ด้วยจะจริงหรือไม่จริงนะ กลัววันไหนเขาจะเอาคำพูดเรามาโต้แย้งกลับไง เวลาเขาไปปฏิบัติจริงขึ้นมา พอเขารู้จริงขึ้นมา เขาก็แย้งกลับ “ผู้แสดง..แสดงผิด ! มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ มันไม่เป็นความจริงสักอย่างหนึ่ง !”

แต่ถ้าเป็นความจริง พูดความจริงไปแล้วนะ เขาจะปฏิบัติขนาดไหนนะ พอมันเป็นความจริงอันเดียวกัน มันเคลื่อนจากที่เดียวกันไปไม่ได้ มันเป็นอันเดียวกัน ฉะนั้นถ้าแสดงธรรมด้วยความเป็นจริง จะพูดที่ไหนก็พูดเพื่อธรรมไง ! พูดเพื่อธรรม ! ไม่ได้พูดเพื่อตัวเองเลย พูดเพื่อธรรม ! ความจริงเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ แล้วผู้ปฏิบัติไปถ้ามันไปสู่ความจริง มันก็เป็นอย่างนั้น.. อย่างนั้น เป็นอย่างนั้นมันก็อันนี้แหละ เป็นอย่างนี้นี่แหละ มันก็เป็นอย่างนี้ขึ้นมา พอเป็นอย่างนี้ขึ้นมา มันจะไปไหนล่ะ

ครูบาอาจารย์ท่านถึงพูดบ่อย “ปฏิบัติไปเถอะ.. ถ้าไปถึงหลักอันนั้นแล้วนะ จะคิดถึงคำพูดผม” คำพูดที่เคยพูด แล้วเราก็จะซึ้งมากเพราะสิ่งนี้ได้พูดไว้แล้ว มันเหมือนการพัฒนาของทางโลกนี่แหละ

ดูสิ ประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา เวลาประเทศที่ยังไม่พัฒนา.. จนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา.. แล้วพัฒนาแล้ว มันไปไหนล่ะ มันก็ไปสู่ความเจริญอันนั้น อันเดียวกันนะ ประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วยิ่งเป็นเรื่องของทางโลกนะ พัฒนาขนาดไหนถึงเวลามันเสื่อมค่า เพราะเวลาเขาคิดทางบัญชีเขาต้องมีค่าเสื่อมค่าตลอดเวลา เพราะเขาก็รู้ว่ามันเป็นอนิจจัง

แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ มันไม่มีการเสื่อมค่า.. กุปปธรรม อกุปปธรรม “กุปปธรรม.. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา”

เวลาคนที่พูด.. ภาวนาไม่เป็นเห็นไหม “ธรรมะเป็นอนัตตา.. สรรพสิ่งเป็นอนัตตา”

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เป็นอนัตตา ! แล้วกุปปธรรม อกุปปธรรม อะไรที่มันพ้นจากอนัตตาไป ! อะไรที่มันพ้นจากความเปลี่ยนแปลงไป ! อะไรที่มันพ้นไปแล้วมันเป็นความจริง !

แต่มันอาศัยความเป็นอนัตตานั่นแหละพัฒนาการของมัน อาศัยความเป็นอนัตตานั่นแหละ อาศัยสมมุติบัญญัตินี่แหละ อาศัยจากการเกิด อาศัยจากคนที่มีกิเลสนี่แหละ อาศัยจากหัวใจที่มันมีความมุ่งมั่นนี่แหละ แล้วมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นไป

พอมันเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงด้วย สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ด้วยสัจธรรม สัจธรรมที่มันรู้มันเห็น เพราะถ้ามันไม่รู้ไม่เห็นมันจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นของดิบๆ มันจะเป็นสุข สะอาด สว่างขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่มันไม่มีการกระทำ มันจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

มันต้องมีการกระทำของมัน แต่การกระทำนั้นมันก็ทำมาจากต้นทุน ทำมาจากจิตที่เกิดโดยอวิชชา ทำมาจากจิตที่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะจิตไม่มีกิเลสแล้วมันจะมาเกิดได้อย่างไร? ถ้าจิตไม่มีกิเลสแล้วพระพุทธเจ้าจะสอนใคร?

พระพุทธเจ้าก็สอนคนที่มีกิเลส แล้วเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเพราะเราเกิด เพราะถ้ามันไม่มีอวิชชาจะมาเกิดได้อย่างไร แล้วมันเกิดขึ้นมา มันก็มีกิเลส พอมีกิเลสขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่น มีการกระทำ นี่ไง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ให้รู้ให้เห็นจริงเถอะ ว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันเป็นอย่างใด”

ถ้ามันเป็นขึ้นมาเห็นไหม จักร ! ธรรมจักร ! จักรมันเคลื่อน สัจธรรมเห็นไหม ปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธิ มันเคลื่อนออกไปด้วยการกระทำ ด้วยปัญญาญาณ ! ด้วยปัญญาญาณในหัวใจของเรา เรารู้ เราเห็น เรามีการกระทำของเราโดยความเป็นจริง นี่งานของใจ !

มโนกรรม ! มโนกรรม ! เวลามโนกรรม ดูสิ สวดมนต์สวดพรทำบุญกุศล มโนกรรมเกิดมาจากใจ มโนกรรมผลมันตอบไปที่ใจ บุญกุศลก็ลงที่ใจ เป็นทิพย์สมบัติ สิ่งที่เป็นบุญกุศลเป็นทิพย์สมบัติ มโนกรรมต่างๆ มันเกิดจากมโนกรรม

แล้วการภาวนามันก็เป็นมโนกรรม ! มันเป็นการกระทำ มันเป็นแรงงานของหัวใจ มันมีแรงงาน มันมีการกระทำ งานของใจ ใจมันขุดหัวใจให้มันพ้นจากกิเลส ขุดหัวใจให้มันเป็นอิสรภาพ มันเกิดขึ้นมาในการกระทำของใจขึ้นมา ถ้าใจกระทำ.. นี่แรงงานใจ ! แรงงานที่มันเกิดขึ้น แรงงานที่กระทำขึ้น ธรรมจักร.. จักรที่มันเกิดขึ้น

พระเรา พระกรรมฐาน พระป่าเราทำกันอยู่อย่างนี้ แต่เวลาทำกันอยู่อย่างนี้ มันทำอยู่ข้างในใช่ไหม เราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราจะเคลื่อนไหวอยู่แต่จิตทำงานอยู่ ดูสิ ดูหลวงตาท่านพูดเห็นไหม จะนั่งฉันข้าวอยู่นี่บอกว่า “ไหนกิเลสอยู่ไหน” มันจะทิ้งผัก มันจะเข้าสู่หัวใจทันทีเลย แม้แต่ฉันข้าวอยู่ กินข้าวอยู่ หัวใจมันก็หมุนอยู่ มันก็เคลื่อนของมันอยู่ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ

ไอ้เราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเกือบตาย ปัญญาไม่เกิดซักที นั่งสมาธิก็ไม่ได้ ปัญญาก็ไม่เห็นเกิด เวลาครูบาอาจารย์ท่านฉันข้าวอยู่มันยังหมุนเข้ามา กำลังจะฉันข้าวนี่แหละ แล้วปัญญามันเกิด มันหมุนเข้ามาในหัวใจ นี่แรงงานใจ ! แรงงานที่เป็นมโนกรรมที่เป็นธรรมจักร จักรมันเคลื่อน ปัญญาญาณมันเคลื่อน มันจะหมุนกลับมา มันอยู่ที่ไหนล่ะ?

มันอยู่ที่ความมุมานะของเรานะ มันอยู่ที่ความมุมานะบากบั่น มันอยู่ที่การกระทำลองผิดลองถูก มันไม่มีใครถูกมาหมดหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ผิดมา แต่ผิดแล้วเป็นครูใช่ไหม พอผิดขึ้นมา อันนี้ผิด แล้วอันนี้ถูก อันนี้ยังไม่ถูก อันนี้มันเคลื่อนจากผิดออกไป พอเคลื่อนจากผิดออกไป มันเคลื่อนออกไปแล้วมันได้ผลตอบแทนอย่างไร

เวลาเรากำหนดอยู่อย่างนี้ จิตมันสงบอย่างนี้ นี่มันตกภวังค์ มันไม่เป็นความจริง เราว่าสงบ เวลาจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา จิตมันลงขึ้นมา ฮื่อ ! มันลงมาอย่างนี้เหมือนกัน มันสู่ความสงบ ครั้งที่แล้วมันตกภวังค์ไป

แต่พอสงบอย่างนี้แล้ว โอ้โฮ ! มันมีสติ มันมีรสชาติ มันเป็นธรรมาวุธ มันเป็นสัจธรรม มันตื่นตัว มันมีความสุข มันมีความสดชื่น เออ.. ถ้ามันเป็นอย่างนี้นะ มันเหมือนกับมีดที่มันคมกล้า มันออกไปใช้ปัญญา มันจะฟาดฟันสิ่งใด

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้ว มันมืดตื้อ สะดุ้งตื่นอย่างนี้ ตื่นขึ้นมา โอ้โฮ.. ว่างๆ แหม.. เวลาหลับลงภวังค์ไป สติมันรู้ตลอดเลย มันเข้าข้างตัวเองตลอดทุกอย่างเลยเห็นไหม ผิดก็รู้ว่าผิด ! ถูกก็รู้ว่าถูก ! มันปฏิบัติของมันไป พอมันถูกขึ้นมา มันก็มีการกระทำมา มันก็แก้ไขของมันขึ้นมา ประโยชน์มันจะเกิดขึ้นมากับเรานะ ถ้าประโยชน์มันขึ้นมาจากจิตเห็นไหม นี่แรงงานใจ !

เราทำงานด้วยสติปัญญา นามธรรม สติมันเป็นชื่อ แต่ความจริงมันจับต้องได้นะ “อารมณ์ความรู้สึกเหมือนเป็นวัตถุอันหนึ่งเลย” นามธรรม.. นามธรรม.. เวลาปฏิบัติมี สติ มหาสติขึ้นมา มันมีสติ มหาสติ มหาปัญญา มีปัญญาอัตโนมัติ มีปัญญาญาณขึ้นไป มันจับต้อง มันพิจารณา มันใคร่ครวญของมัน มันรู้มันเห็นของมันนะ มันเป็นความจริงของมัน มันเกิดจากปัจจัยนั้น เกิดมาจากไหน?

เกิดมาจากเรา.. จากพระนักปฏิบัติ จากพระกรรมฐาน ลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เดินตามรอยครูบาอาจารย์มา แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ตั้งสติขึ้นมา ทำให้มันเกิดขึ้นมาเป็นหลักเกณฑ์ในใจของเรา จากครูบาอาจารย์แล้วปฏิบัติขึ้น แล้วมันเป็นสมบัติของเรา จับต้องได้ ! พิสูจน์ได้ ! ตรวจสอบได้ ! แล้วมันมีความร่มเย็นได้

การแสดงออกไป การแสดงกิริยามารยาทนี่แหละ การพูดการจามันจะละเอียดอ่อน จะหยาบกระด้างขนาดไหน แต่ไม่มีเจตนาของความทุจริต ไม่มีเจตนาของความเป็นมดเท็จ จะรุนแรงก็รุนแรงเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ จะนุ่มนวลอ่อนหวานก็นุ่มนวลอ่อนหวานเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ใช่นุ่มนวลอ่อนหวานเพื่อผลประโยชน์ เพื่อความเคารพนบนอบของคนอื่น ไม่ใช่รุนแรงขึ้นไปเพื่อจะเหยียบย่ำใคร

ความรุนแรง.. ความนุ่มนวลอ่อนหวาน.. มันเป็นจริตนิสัย แต่ถ้าจิตมันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา มันเป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นประโยชน์กับหมู่คณะ สิ่งที่เป็นประโยชน์จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เห็นไหม มันเกิดมาจากไหนล่ะ เกิดมาจากพระนักปฏิบัติของเรานี่แหละ เกิดจากในหัวใจของเรานี่แหละ เกิดจากการกระทำของเรา เกิดจากความตั้งใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

วันนี้วันพระ เราจะลงอุโบสถกันเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของหมู่สงฆ์ เพื่อความสะอาดของนักปฏิบัติเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา เราทำงานจากใจ ทำงานจากภายใน เป็นนามธรรม ทำงานจากการตั้งสติ การเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา

แต่ ! แต่ในเมื่อนกมันยังมีรวงมีรัง เราต้องมีอาวาสอาวาที่อยู่อาศัย กุฏิ กุฏัง เราก็ดูแลรักษา นี้ดูแลรักษามันก็เป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม เราถึงต้องปรึกษาหารือกัน สร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่งเห็นไหม ขอให้ภิกษุจากจตุรทิศที่ยังไม่ได้มา ขอให้มาเถิด... ที่อยู่แล้วขอให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข

ที่อยู่อาศัย ! รวงรังของนก นกมันย้ายถิ่น นกมันบินมาหลบอากาศ มันย้ายถิ่นของมัน มันก็ได้พักได้อาศัย ได้ที่อยู่ที่กิน นกมันย้ายถิ่น มันบินไป มันต้องมีที่พักของมัน มันต้องมีอาหารตามรายทางของมันไป เพื่อย้ายถิ่นไปถึงเป้าหมาย ถึงฤดูกาลมันก็ย้ายกลับ

ภิกษุจากจตุรทิศ ภิกษุลูกศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ของครูบาอาจารย์ก็ย้ายถิ่น ในการปฏิบัติกันมาก็ย้ายถิ่น ย้ายมาตามที่เราสร้างที่อยู่ที่อาศัย อันนี้มันเป็นอาจริยวัตร อาคันตุกวัตร มันเป็นวัตรปฏิบัติของกรรมฐาน มันเป็นวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่ท่านได้เป็นผู้บุกเบิกให้พวกเราได้ทำกัน ให้สังคมสงฆ์ได้อยู่ร่วมกัน ได้ ธมฺมสากจฺฉา ได้สนทนาธรรม ได้แลกเปลี่ยนความรู้สึก เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของสังคมสงฆ์ ! เอวัง