ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปฏิจจสมุปบาท

๑๑ ธ.ค. ๒๕๕๓

 

ปฏิจจสมุปบาท
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอานี้ก่อนเลย

ถาม : การดูแลพ่อแม่ดั่งเปรียบเหมือนพระอรหันต์ และการดูแลพระอรหันต์จะได้บุญกุศลต่างกันอย่างใดคะ

หลวงพ่อ : การดูแลพ่อแม่นี่พระอรหันต์นะ เราดูพ่อแม่นี้ได้บุญมาก ได้บุญมากก็เปรียบเหมือนพระอรหันต์ เพราะว่าพระอรหันต์ไปหายาก พระอรหันต์แท้ๆ ไปหาที่ไหน มีแต่พระอรหันต์โดนหลอกหมดเลย พระสงฆ์นี่เราไปหาที่ไหน องค์ไหนเป็นพระอรหันต์ แต่พ่อแม่เรานี้แน่นอนอยู่แล้ว พ่อแม่ของเราอยู่ในบ้านเรา เราดูแลได้ชัดเจนมากเลย แล้วมันได้บุญมากเพราะอะไร มันได้บุญมากเพราะพระพุทธเจ้าบอก ที่ว่าอะไรนะ “อนันตริยกรรม”

การทำลายพ่อแม่ การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด การฆ่าพระอรหันต์ เห็นไหม นี่มันเป็นอนันตริยกรรม ถ้าเราไม่ดูแล มันมีอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเราอยู่ในบ้าน พ่อแม่ของเราเปรียบดั่งพระอรหันต์ ฉะนั้นการดูแลพ่อแม่นี้สุดยอด ! สุดยอด !

ฉะนั้นอันนี้มันพูดถึงว่ามันเป็นสายบุญสายกรรมเลย แต่ ! แต่ถ้าไปดูแลพระอรหันต์ที่เป็นพระสงฆ์ ถ้าดูแลพระอรหันต์จริงนะ.. ถ้าดูแลพระอรหันต์จริง ดูสิหมอเพ็ญศรี เห็นไหม หมอเพ็ญศรีไปดูแลแม่ชีแก้ว ลาออกจากหมอแล้วขายทรัพย์สินขายทุกอย่างไปดูแลคุณแม่แก้ว เพราะเวลาไปดูแลคุณแม่แก้ว ดูแลหลายปีแล้วเอามารักษามันต้องใช้ทุนอยู่ แล้วสุดท้ายพอคุณแม่แก้วเสียชีวิตไป นี่หลวงตาว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วเผาเป็นพระธาตุ หมอเพ็ญศรีเป็นแม่งาน เป็นคนสร้างเจดีย์ให้คุณแม่แก้ว นี่พระอรหันต์

ทีนี้การว่าเป็นพระอรหันต์ เราไปนี่ถ้ามันจริง เห็นไหม คำว่ามันจริงนะ ดูแลพ่อแม่นี่พระอรหันต์ของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูก เราได้บุญกุศลแน่นอน แต่การดูแลพระอรหันต์นั้น มันเป็นพระอรหันต์โดยสาธารณะ เช่น.. เช่นถ้าเป็นพระอรหันต์มันได้แบบว่าเนื้อนาบุญ ! พอเนื้อนาบุญ เวลาทำบุญพระไปถามพระพุทธเจ้าว่า “ทำบุญกันทำบุญที่ไหน”

พระพุทธเจ้าว่า “ทำบุญที่เธอพอใจ”

“แล้วถ้าเอาผลล่ะ” ถ้าเอาผลก็ตั้งแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอนาคาลงมาเรื่อยๆ แล้วถ้าไม่มีล่ะ ไม่มีพระอรหันต์เลยทำอย่างไร ให้ทำสังฆทาน ทำสังฆทานหมายถึงว่าพระที่เป็นสงฆ์ เห็นไหม เพราะมันเป็นสาธารณะ นี่ให้ทำสังฆทาน เพราะสังฆทานเป็นสาธารณะขึ้นไป เพื่อเป็นประโยชน์กับศาสนา

ฉะนั้นสิ่งที่ว่านี้มันเปรียบกันไม่ได้ไง พ่อแม่.. ประสาเราว่าทำบุญกับพ่อแม่มันไม่โดนหลอก มันชัดๆ ทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้าน โอ้โฮ.. ชัวร์ๆ แล้ว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าไปทำบุญกับพระอรหันต์ที่เป็นพระสงฆ์นี้มันได้บุญมาก แต่ ! แต่หันซ้ายหรือหันขวาล่ะ มันจะหันซ้ายหรือหันขวา มันหันไปไหนล่ะ แต่ถ้าเจอของจริง ถ้าเราว่าเป็นของจริงได้จริง อันนั้นได้กุศลมาก แต่นี้ถ้าไปหันซ้ายหันขวา..

เพราะเดี๋ยวนี้มันไปคิดกันอย่างนี้ว่าจะหันซ้ายหันขวาก็ไม่เป็นไร เพราะเราถือว่าเราได้ทำแล้ว ได้ทำแล้ว.. ได้ทำแล้วนะ ได้ทำแล้วมันเป็นบุญกุศล แต่ถ้าทำกับหันซ้ายหันขวา มันไปร่วมมือแล้วเขาเรียกว่าสายบุญสายกรรม กรรมมันเกิดขึ้นต่อกัน ทำไมเวลาเราเห็นว่าสังคมบางสังคมทำตัวไม่ถูกต้องเลย เราก็เห็นชัดเจนมากว่ามันไม่ถูกต้อง ทำไมเขาเห็นว่าดีว่างามล่ะ เห็นไหม นี่สายบุญสายกรรม

หลวงตาท่านพูดอยู่ ท่านบอกว่าท่านได้ทำบุญกุศลมามาก ท่านทำโครงการช่วยชาติ แล้วท่านทำโครงการช่วยชาตินี้ ถ้าไม่มีบุญมีกรรมต่อกัน จะไม่เชื่อไม่ศรัทธา เพราะโครงการช่วยชาติของหลวงตา หลวงตานี้เป็นสุภาพบุรุษ และเป็นพระที่แบบว่าหาที่ติไม่ได้โดยความเห็นของเรานะแต่ทางโลกเขามีอยู่ หาที่ติไม่ได้.. ที่ติไม่ได้เพราะอะไร เพราะเวลาโครงการช่วยชาติของพวกเรานี่ คนทำงานจะรู้ว่าโครงการช่วยชาตินี้โดนขวากหนามขนาดไหน โดนการทำลายขนาดไหน ขนาดเขียนหนังสือโจมตีกัน ขนาดไปร้องเรียนกับเถรสมาคมว่าหลวงตามาเรี่ยไรไม่ได้ขออนุญาต

เขาทำหนังสือร้องเรียนกัน อู้ฮู.. ทำเยอะมากนะ แต่หลวงตาไม่เคยพูดถึงแม้แต่คำเดียวเลย ท่านบอก “ใครจะทำอย่างไรให้ทำไปว่ะ เราจะทำคุณงามความดี” นี่เราจะบอกว่า ที่เราชื่นชมชื่นชมตรงนี้ไง ท่านไม่พูดถึงเรื่องที่เสียหายเลย ท่านไม่พูดถึงคนที่มาเป็นขวากหนามที่มาขวางเลย เห็นไหม เราจะบอกว่า พวกเรานี้พวกเราเป็นลูกศิษย์ใช่ไหม เราก็ชื่นชมโอ้โฮ.. หลวงตาเราทำช่วยชาติ เราก็ดีใจนะ แต่เราไม่เห็นว่าหลวงตาท่านสมบุกสมบั่น ผ่านวิกฤติมาขนาดไหนเลย

นี้พูดถึงว่าเวลาคนที่เขาไม่เชื่อ เราก็เชื่อของเราใช่ไหม เราเชื่อของเราว่าครูบาอาจารย์ของเรานี้ของจริง เพราะอะไร ของจริงตรงไหน ของจริงเราไม่ต้องไปดูที่อื่นหรอก ใครจะพูดกระแส ใครจะชื่นชมนั้นไม่เกี่ยว ของจริงคือเทศนาว่าการของหลวงตา นี่เปิดเสียงธรรมเพื่อประชาชน เปิดที่เวลาเทศน์กลางคืน เทศน์ตลอด บอกถึงวิธีการบอกถึงทุกอย่างในการเข้าถึงเป็นพระอรหันต์ เวลาไอ้พวกที่ว่าหันซ้ายหันขวานี่มันบอกว่ามันเป็นพระอรหันต์ แต่บอกทำอย่างไร มันบอกจำไม่ได้มันเป็นอัตโนมัติ

อย่างนั้นมันไม่ใช่ แต่หลวงตาท่านจะเป็นหรือไม่เป็นนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราฟังเทศน์ของหลวงตา ท่านบอกถึงวิธีการเข้าไปเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่เขาจะพูดถึงวิธีการเข้าไปเป็นพระอรหันต์ เขาไม่บอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาบอกวิธีการทำให้เป็นพระอรหันต์ วิธีการๆ อันนี้.. ฟังอันนี้ที่ว่าเราเชื่อถือศรัทธากัน พวกเรามั่นใจ พวกเราลงใจกันตรงนี้ ตรงที่คำสอนของท่าน คำพูดของท่าน แล้วเวลาเราทำเข้าไปแล้วมันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้นเลย

มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านถึงกราบ เวลากราบพระพุทธรูป กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบพระรัตนตรัย กราบจากหัวใจ.. นี่ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้ อัครสาวกต่างๆ ก็เป็นอย่างนี้ แล้วเวลาเราทำเข้าไปแล้วมันเป็นอย่างนี้ แล้วก็บอกวิธีการด้วย เราเชื่อกันตรงนั้น เราเชื่อกันที่ตรงคำสอนของท่าน เทศน์ของท่านมันจะเข้าไปสู่จุดเป้าหมายได้ เหมือนเรานี่เขามีถนนหนทางให้เราไปสู่เป้าหมาย

นี่เราเชื่อตรงนี้ ! เราไม่เชื่อที่ว่ากระแสคนนั้นชม คนนี้ชม คนนี้ยกย่องสรรเสริญ อย่างนั้นไม่เชื่อ เพราะคนยกย่องสรรเสริญมันเอาอะไรมายกย่อง มันเอาความรู้อะไรมาบอกว่าหันหรือไม่หัน ไม่มีใครรู้ได้หรอก ไม่มีใครรู้ได้ว่าคนไหนจะหันซ้ายหรือหันขวาไม่มีใครรู้ได้ แต่ความสำคัญที่บอกว่าเข้าไปเป็นพระอรหันต์นี้ทำอย่างใด

นี่ต่างหาก ! ที่เราเชื่อมั่นกันเชื่อมั่นตรงนี้ ตั้งแต่หลวงปู่มั่นมาเลย ตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมา ตั้งแต่หลวงปู่ขาวลงมา ตั้งแต่ครูบาอาจารย์ลงมา เห็นไหม เช่นหลวงปู่ฝั้นท่านจะสอน แล้วเวลาท่านสอน ดูสิพุทโธสว่างไสว พุทโธผ่องใส แล้วเวลาท่านมีชีวิตอยู่ทำไมไม่มีใครค้านล่ะ เวลาท่านล่วงไปแล้ว โอ๋ย.. พุทโธมันโง่เง่า พุทโธ.. นี่ก็ว่ากันไป เห็นไหม เพราะเวลาถ้าท่านอยู่นะท่านรู้จริง ท่านรู้จริงท่านต้องแก้ไขได้ท่านต้องพูดได้ ท่านจะบอกว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ไอ้พวกเรานี้มันเชื่อด้วยความเชื่อ มันเป็นกระแส มันเป็นอย่างนั้นเท่านั้นเอง

ฉะนั้นเราจะบอกว่าการดูแลพ่อแม่นี้มันเนื้อๆ มันเนื้อๆ แต่ถ้าการดูแลพระอรหันต์ พระสงฆ์ จะได้บุญกุศลต่างกันอย่างใด.. มันต่างกัน ต่างกัน ทีนี้คำว่าบุญกุศลมันต่างกัน แต่ความต่างนะ เราทำบุญกุศลนั้นมันเพื่อเรา แต่ถ้าพ่อแม่ของเรา เป็นพ่อแม่ของเราแน่นอน

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เรามาพูดบ่อยกับใครก็แล้วแต่ที่เขามีปัญหานะ เราบอกหลวงตาท่านพูดได้ยินไหม “พ่อแม่ของเราจะผิดหรือจะถูก” ท่านพูดคำนี้หลวงตานะ “ถึงพ่อแม่เราจะผิดก็อย่าไปโต้เถียง เพราะมันจะเสียที่เรา” มันเสียที่เรานะ.. ฉะนั้นพระอรหันต์ ถ้าพระอรหันต์ที่ผิด เห็นไหม นี้พ่อแม่เราถึงจะผิด เราจะบอกว่าพ่อแม่ของเรา เรานี่เราอยู่ใกล้ชิด เราเห็นของเราว่าผิดถูกอย่างใด นี้หัวใจมันจะมีตรงนี้ไง ฉะนั้นตรงนี้เราต้องยกไว้ไง

พ่อแม่ของเราจะถูกหรือจะผิด ก็คือพระอรหันต์ของเรา.. คือพระอรหันต์ของเรา ถึงจะผิดก็พระอรหันต์ของเรา ก็พ่อแม่เรา พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ถึงจะถูกจะผิดก็เป็นพระอรหันต์ของลูก.. แต่พระอรหันต์จริงๆ มันผิดไม่ได้ ผิดมันไม่ใช่พระอรหันต์ นี่มันต่างกันตรงนี้ไง

พระอรหันต์ที่เป็นพระสงฆ์ต้องมีเหตุเข้ามาเป็นพระอรหันต์ ถึงเป็นพระอรหันต์โดยสาธารณะ เป็นพระอรหันต์โดยข้อเท็จจริง.. เป็นพระอรหันต์สาธารณะคือเป็นพระอรหันต์ของทุกๆ คน เป็นพระอรหันต์ของเทวดา อินทร์ พรหม เพราะเทวดา อินทร์ พรหมต้องมาฟังเทศน์จากพระอรหันต์ เพราะไม่รู้จักวิธีการเข้าไปสู่ให้จิตสงบ

ฉะนั้นจะบอกว่าพระก็เป็นอย่างหนึ่ง ได้บุญแตกต่างกันอย่างใด.. ได้บุญแตกต่างกันก็เอาพ่อแม่เราไว้ก่อน เอาพ่อแม่เราไว้ก่อน แล้วถ้าเราทำข้างนอกได้เราก็ทำ ทำถึงพระสงฆ์ทั่วไป.. เราจะบอกว่าอย่างนี้นะ พระอรหันต์ที่เป็นพระสงฆ์นี่นะ ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงนะจะเรียบง่าย จะดูแลง่ายที่สุดเลย แต่ถ้าเป็นหันซ้ายหันขวานะ มันจะเรียกร้องทุกอย่างเลย เรียกร้องให้ไปดูแล แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์จริงๆ นะ จะเรียบง่ายเพราะไม่มีกิเลส อะไรก็ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าท่านทิ้งของท่านหมดแล้ว

พระอรหันต์จริงๆ ดูแลง่ายที่สุดเลย ดูแลง่ายมาก เพราะว่าท่านทำใจของท่านสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีปมในใจเลย แต่ถ้าหันซ้ายหันขวานะ มันจะต้องให้ดูแลมันแบบว่า อู้ฮู.. ต้องเอายกมันไว้บนก้อนเมฆ เพราะอยากจะอยู่สูงกว่าชาวบ้าน ฉะนั้นถ้าเราไปเจออย่างนั้นเข้ามันก็เป็นปัญหาของเราเหมือนกัน อย่างเราพ่อแม่ถึงจะผิด ก็เป็นพระอรหันต์ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ หันซ้ายหันขวามันไม่หัน แต่มันมีกิเลสเต็มตัว

นี้กรณีอย่างนี้มันจะดูแลได้อย่างไร มันจะเชื่อได้อย่างไร ฉะนั้นถึงว่าถ้ามันแตกต่างกันอย่างไร มันก็แตกต่างกันโดยเนื้อหาสาระแหละ.. อันนี้อันหนึ่งเนาะ

 

อันนี้สิอันนี้มันถามมา ข้อ ๒๘๖. เรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท”

ถาม : ๑. ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมอันสูงของพระพุทธศาสนาใช่หรือไม่ครับ.. ขอกราบอาราธนาหลวงพ่อโปรดเทศน์เกี่ยวกับธรรมในหมวดนี้ ว่าจะเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัติได้อย่างไร จะว่าการท่องอ่านก็ไม่น่าจะใช่ ขอให้หลวงพ่อโปรดเมตตาสัตว์โลกเพื่อความกระจ่างด้วยครับ

หลวงพ่อ : เมตตาขนาดไหนก็รู้ด้วยไม่ได้ รู้ด้วยไม่ได้หรอก แต่นี้ปฏิจจสมุปบาท.. อิทัปปัจจยตา เวลาเราศึกษาธรรมะกัน เราจะศึกษาให้ถึงปฏิจจสมุปบาท แล้วถ้าว่าเป็นธรรมะอันสูงส่งในพุทธศาสนาใช่หรือไม่.. ใช่ ! ขอกราบอาราธนาให้หลวงพ่อเทศน์

เวลาเทศน์นี่นะ เวลาเทศน์ถ้ามันไม่มีเหตุมันไม่มีผล มันจะเทศน์ไปเพื่ออะไร แต่เวลาเทศน์บนศาลานี้ เห็นไหม เวลาเทศน์บนศาลา แบบว่าหลวงตาท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์ ถ้าวันไหนหลวงปู่มั่นจะเทศน์ พระในวัดป่าหนองผือจะมีความรื่นเริงมาก เพราะเวลาท่านเทศน์ท่านจะชี้ถึงพื้นขึ้นไปเลย แบบว่าเริ่มต้นตั้งแต่ทำสมาธิขึ้นไป ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด

ฉะนั้นกัณฑ์เทศน์ทุกกัณฑ์มันจะขึ้นไป ขึ้นไปจนถึงปฏิจจสมุปบาท.. ปฏิจจสมุปบาทคือจิตเดิมแท้ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส.. จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” นี้กว่าจะถึงจิตเดิมแท้ ความที่จะเข้าถึงจิตเดิมแท้นี้มันเข้าได้กี่ทาง

ทีนี้ปฏิจจสมุปบาทในการของเรานี่ “หรือว่าการท่องอ่านก็ไม่น่าจะใช่”

ฉะนั้นสิ่งที่เราทำกันอยู่นี้ เราปฏิจจสมุปบาทที่ทางวิชาการหรือทางโลกที่เข้าใจอยู่นี้ มันเป็นการเข้าใจโดยท่องอ่าน มันเข้าใจโดยทางวิชาการ ทางวิชาการมีคันถธุระ.. คันถธุระคือฝ่ายปกครอง วิปัสสนาธุระ.. วิปัสสนาธุระคือเขาภาวนาขึ้นไป พอภาวนาขึ้นไป ชำระล้างขึ้นไป จนไปถึงจุดหมายนั้น ไปถึงเหตุข้อเท็จจริงอย่างนั้นเขาถึงแก้ไขตรงนั้นไปตามข้อเท็จจริง

แต่เวลาถ้าพูดถึงวิปัสสนาธุระเขามีการกระทำขึ้นไป เหมือนเราทำงาน เราทำงานตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นมา จนงานของเราพัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จนถึงที่สุดงานของเราจะเสร็จแล้ว มันมีปัญหามากน้อยแค่ไหน เขาจะไปแก้ไขกันตรงนั้น ทีนี้คนเรามันไม่เคยทำงานเลย พื้นฐานก็ไม่มี สิ่งต่างๆ ก็ไม่มี แต่ถามว่าแล้วจะเสร็จอย่างไร จะสรุปอย่างไร ไอ้คำว่าสรุปอันนั้นมันเป็นไปไม่ได้ นี้ทางวิปัสสนาธุระ

แต่ทางคันถธุระ เห็นไหม นี่อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง จะทำเป็นชาร์ต ทำเป็นวิชาการ แล้วก็แปะแจกกันนะว่าอวิชชาจะเป็นอย่างนั้น อวิชชาจะเป็นอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทจะเป็นอย่างนั้น นี่อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง

ปฏิจจสมุปบาทคือวงรอบของอารมณ์หนึ่ง อารมณ์ที่ละเอียดนะไม่ใช่อารมณ์หยาบๆ เหล่านี้ด้วย อารมณ์ของเราเป็นวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นกองรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.. แต่อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง มันละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นเวลาที่ว่าทางวิชาการ นี่คันถธุระที่ทำกันอยู่นี้มันทำทางวิชาการ ทางวิชาการนี้มันเป็นวิชาการขึ้นมาได้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัย

พุทธวิสัย.. พูดถึงสิ่งที่เร็วขนาดไหน สิ่งที่ละเอียดขนาดไหน พระพุทธเจ้าเอามาอธิบายให้ฟัง นี้พออธิบายให้ฟัง เราอธิบายทางวิชาการในพระไตรปิฎก นี้เราเอาพระไตรปิฎกนั้นมาอ้างอิง เห็นไหม แต่จิตใจเราหยาบ จิตใจเราเข้าถึงไม่ได้ จิตใจเรารู้สิ่งนั้นไปไม่ได้ เราก็เลยอ้างอิงกันว่าปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาทก็คืออารมณ์ความรู้สึกเรานี่ไง อวิชชาก็คือเราหลงนี่ไง อวิชชาคือความไม่รู้ไง

นี่พอมันเป็นขึ้นมา เลยเอาอารมณ์ อารมณ์หนึ่งของเรา อารมณ์หยาบๆ ไปเทียบเคียงกับปฏิจจสมุปบาทไง คือเหมือนกับความรู้ของเด็กๆ เอาความรู้ของเด็กๆ ไปเทียบกับความรู้ของผู้ใหญ่ มันเข้ากันไม่ได้ ฉะนั้นเวลาที่ว่า “ถ้าเป็นการท่องอ่านก็ไม่ใช่” มันไม่ใช่อยู่แล้ว.. มันไม่ใช่ !

การท่องอ่านนั้นมันก็เป็นทฤษฎีใช่ไหม การท่องอ่านเป็นทฤษฎี แล้วทฤษฎีนั้นเป็นทฤษฎีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย เป็นพุทธวิสัย แล้วเราเอาสิ่งนั้นมาเทียบเคียงนี่มันเป็นไปไม่ได้เลย แล้วพอมันเป็นไปไม่ได้เลย แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ เห็นไหม ท่านเทศน์กัณฑ์หนึ่ง มันก็ถึงที่สุด เวลาถึงที่สุดมันก็มีส่วนนี้ส่วนยอด.. ส่วนยอดคือว่าจิตเดิมแท้ จิตที่ผ่องใส จิตที่เป็นจุดเป็นต่อม นั่นล่ะ ! นั่นล่ะตัวมันเลยล่ะ

คำว่าตัวมัน.. คำว่าตัวมันคือสำเร็จรูปนะ คำว่าสำเร็จรูปคือเราได้สินค้ามา ที่สำเร็จรูป แต่วิธีการทำสินค้านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำเร็จรูปคืออารมณ์ นี่จุดและต่อมเป็นอารมณ์เป็นความรู้สึกอันหนึ่งเลยล่ะ แต่ที่มันเกิดดับเกิดดับอย่างไร กระบวนการการเกิด กระบวนการที่มันจะหมุนมามันเป็นอย่างไร แล้วกระบวนการจับได้แล้ว แล้วกระบวนการย้อนกลับมันทำอย่างไร กระบวนการย้อนกลับนั่นล่ะปฏิจจสมุปบาท.. มันต้องตรงนี้ นั่นล่ะอรหัตตมรรคมันถึงจะเข้าไปถึงตรงนั้นได้

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ว่า “หลวงพ่อโปรดเมตตาโปรดสัตว์ด้วย” แล้วสัตว์ตัวไหนล่ะ.. มันจะเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือสัตว์มนุษย์ล่ะ นี่สัตว์ประเภทใด

นี่พูดถึงนะ นี้เพียงแต่ว่าถ้าเป็นวิปัสสนาธุระ.. วิปัสสนาธุระนะ หมายถึงครูบาอาจารย์เรา เวลาท่านจะแก้ปัญหานี่นะท่านจะแก้ปัญหาเวลาเทศน์ เวลาเทศน์นี่นะเป็นสาธารณะ เวลาเทศน์บนศาลาเป็นสาธารณะ ตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไปจนถึงที่สุดเลย ที่สุดแห่งทุกข์เลย คือจบ.. คือเทศน์กัณฑ์ไหนก็สิ้นกิเลสหมด

ทีนี้การเทศน์นี้สิ้นกิเลสหมด แต่อุบายแต่ละกัณฑ์มันก็พลิกไปพลิกมา อุบายคราวนี้เป็นอย่างนี้ อุบายคราวหน้าจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่โดยหลักอันนั้นแหละโดยหลัก แต่อุบาย.. อุบายวิธีการ ทีนี้พอคำว่าอุบายปั๊บมันก็กลับมาเรื่องจิตแล้ว.. เรื่องจิตของผู้ฟัง เห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์พระทั้งศาลาเลย พอพระทั้งศาลาเลยนี่จริตมันไม่เหมือนกัน พอจริตไม่เหมือนกัน เพียงแต่หลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์ ใครภาวนา.. ใครภาวนาแล้วติด ถ้าใครภาวนาแล้วยังไม่ติดใช่ไหม พอติดปั๊บท่านจะเทศน์ไปปลดปมนั้น ถ้าปลดปมนั้นมันก็จี้เข้าสู่ใจดวงนั้น เวลาจี้เข้าสู่ใจดวงนั้น เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์จบ พระลงมาจะบอกว่า “โดนใคร ! โดนใคร ! ใครคิดอะไร.. โดนใคร !”

นี่เพราะมันมีเหตุมีปัจจัย หลวงปู่มั่นจะเทศน์เข้าสู่ปมนั้น มันก็เป็นอุบายวิธีการแก่จิตดวงนั้น แล้วถ้าคราวต่อไป หลวงปู่มั่นท่านก็เทศน์อีก พอเทศน์อีกใครภาวนามาล่ะ แล้วใครมีปมล่ะ มันก็เอาปมนั้นเป็นตัวตั้ง นี่มันจริตถึงไม่เหมือนกัน แล้วท่านเทศน์ออกมานี่ไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกันปั๊บทางวิชาการว่า โอ๋ย.. ไม่อยู่กับร่องกับรอยเนาะ เทศน์ไปเทศน์มา

นี่เพราะว่าร่องรอย คำว่าอยู่กับร่องกับรอย หมายถึงว่าในพระไตรปิฎกมันเป็นสูตรสำเร็จแล้ว มันเป็นทฤษฎีที่ตายตัวแล้ว เห็นไหม นี่ใบไม้ในกำมือและใบไม้ในป่า ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้เอง ธรรมแท้ๆ มันเหมือนใบไม้ในป่า ในป่ามีใบไม้ทั่วไป แต่ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าสอนไว้ มันก็เหมือนกับใบไม้ในกำมือที่พระพุทธเจ้าถือกำไว้แล้วสอนพวกเรา

ฉะนั้นเวลาความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป ความรู้สึกต่างๆ เห็นไหม เดี๋ยวนี้มนุษย์เกิดขึ้นมายิ่งมากขึ้น.. พอมากขึ้น จริตนิสัย เวรกรรมของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันหรอก ปมของใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน พิจารณามาเหมือนกัน มาบนถนนเส้นทางเดียวกันนี่แหละ แต่เวลารถมามันจะเสียที่ไหน มันจะมีปัญหาตรงไหนบนถนนเส้นนั้น เห็นไหม นี่บนถนนเส้นนั้นตั้งแต่เริ่มต้นออกขึ้นถนนมา หรือมาระหว่างทาง หรือมาปลายถนน จะมีปัญหาอยู่ตรงไหน

นั้นถนนเส้นเดียวกันนะ เรามาบนถนนนี่เรายังมีปัญหาบนถนนแตกต่างกัน จิตของแต่ละดวง พอเวลาขึ้นบนถนนเส้นทางเดียวกัน แล้วถ้าขึ้นถนนคนละเส้นทางมันก็ไปอีกเรื่องหนึ่งเลย นี้ถ้าขึ้นถนนบนเส้นทางเดียวกัน มันมีปัญหาสิ่งใดมา นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็น เห็นไหม นี่ไงใบไม้ในป่า !

นี่กรรมฐานเรา.. หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับเราบ่อย “หงบเว้ย.. เวลาพูดธรรมะนี่พูดนอกพระไตรปิฎกนะ” ถ้าพูดในพระไตรปิฎกมันเถียงได้ เพราะในพระไตรปิฎกมันมีทางวิชาการอยู่ ให้พูดนอกพระไตรปิฎก นอกพระไตรปิฎกคือความรู้จริงของคนที่พูดไง ถ้าพูดนอกพระไตรปิฎก ทีนี้เขาบอกว่าไม่อยู่กับร่องกับรอย

นี่เวลาฟังธรรมะไป ธรรมะพระป่านะ เขาว่าพวกนี้ไม่อยู่กับร่องกับรอย ถ้าอยู่กับร่องกับรอยก็ต้องสัญญา ก้อปปี้พระไตรปิฎกมาเลย เพี๊ยะ ! เพี๊ยะ ! เพี๊ยะ ! ห้ามขยับเลย ไอ้อย่างนั้นอยู่กับร่องกับรอยใช่ไหม นี่ไงถ้าพูดธรรมะก็ต้องยึดพระไตรปิฎก.. ใช่ ! ยึดพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี้เป็นหลัก ! เป็นหลัก แต่วิธีการ.. วิธีการหรือว่าเทคนิคของมัน มันมีเยอะแยะไปหมดเลย

นี่พูดถึงปฏิจจสมุปบาทไง เขาบอกว่าให้เทศน์เรื่องปฏิจจสมุปบาท.. คำว่าปฏิจจสมุปบาท ถ้าอธิบายนี่มันต้องผ่านเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป อย่างเช่นเวลาเราปฏิบัติกันนี่นะ เวลาพุทโธ พุทโธจิตเราสงบแล้ว เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ไงมันก็เทียบได้อารมณ์เกิดอย่างนี้นี่อวิชชา ไอ้อย่างนี้มันเป็นธรรมะเทียบเคียง ถ้าเทียบเคียงอย่างนี้.. นี่เราก็รู้ใช่ไหมว่าเราไม่สบายต้องใช้ยาอะไร เรารักษาตัวเราอย่างไร

นี่ก็เหมือนกันจิตเราจะรักษาอย่างไร แต่ ! แต่มันถึงเวลาจะรักษาอย่างนั้นหรือยัง นี่ก็เหมือนกันเราเอามาเทียบเคียงได้ เอามาเทียบเคียงกับความรู้สึกของเรา เอามาเทียบเคียงกับใจของเราได้ เอามาเป็นปัญญานี่ได้ แต่ตัวจริง ถ้าใครเห็นตัวจริง ใครเห็นอาการของปฏิจจสมุปบาท โอ้โฮ.. ที่ว่ามันช็อกเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เห็นไหม นี่พูดถึงถ้าเป็นความจริง

ฉะนั้นเวลาใครพูด ครูบาอาจารย์เราเวลาใครพูดถึงว่าเห็นเป็นทางวิชาการนี่ท่านก็ดู.. มันไม่ผิดหรอก ทางวิชาการนั้นถูกไหม.. ถูก ! นี่ที่เขาเขียนกันปัจจยาการนี้ถูกไหม.. ถูก ! พระพุทธเจ้าพูดไว้เองมันจะผิดได้อย่างไร ก็พระพุทธเจ้าพูดไว้เอง ก็ของพระพุทธเจ้า มันถูก ! ถูกเพราะเป็นวิชาการของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธวิสัยแต่พวกเรายังไม่เคยเห็น ไม่เคยเห็นของจริง

นี้ถ้าเห็นของจริงนี่เป็นวิปัสสนาธุระ แต่ถ้าเป็นคันถธุระเป็นการศึกษา เห็นไหม คันถธุระคือการศึกษาเล่าเรียน สิ่งที่เป็นตำรานั้นถูกไหม.. ถูก แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาธุระ ไอ้ที่ว่าถูกนั่นนะมันจะหลอกเราตลอดไป แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง.. อันนี้อันหนึ่งนะ

นี่เขาให้พูดถึงปฏิจจสมุปบาทขอให้เมตตาด้วย.. เราจะบอกว่ามันไม่จำเป็นไง ไม่ใช่ไม่จำเป็นนะ ไม่จำเป็นหมายถึงว่าเราไม่ได้เป็นโรค หรือเรายังไม่เป็นไข้แบบที่ต้องรักษาด้วยยาชนิดนี้ไง แต่ถ้าเวลามันเป็นขึ้นมานะ ยาชนิดนี้.. นี่หลวงตาท่านพูดบ่อย นิวเคลียร์นิวตรอนยังไม่ทันออกไงมันอยู่ในย่าม ท่านบอกท่านเดินไปไหนให้พกย่ามไปด้วย นิวเคลียร์นิวตรอนก็อยู่ในย่ามนั่นล่ะ มันไม่จำเป็นต้องออก มันไม่จำเป็นเพราะมันไม่จำเป็นต้องรักษาใคร

ฉะนั้นถ้าถึงเวลาจำเป็นนะ ถึงเวลาถ้าเป็นจริงถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ตรงนี้เราจะแก้ไขได้หมด ครูบาอาจารย์จะแก้ได้หมดเลย แต่ถ้าตอนนี้เราวิตกกังวลเกินไป เรายังไม่เป็นตรงนั้น.. ปฏิจจสมุปบาท

ถาม : ๒. อันนี้ถามเกี่ยวกับอนาคตครับ ผมเคยได้ฟังหลวงพ่อเทศน์ว่า “พรหมมีอายุนานมาก” แล้วอย่างนี้ใครไปเกิดเป็นพรหมไม่แย่หรือครับ เพราะไม่รู้เวลาที่หมดอายุขัย แล้วมาเกิดใหม่จะมีโอกาสเจอพุทธศาสนาหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นเวลาเราใกล้ตาย หมายถึงผู้ที่ยังไม่ถึงฝั่งนิพพาน เราก็ต้องตั้งจิตเลือกให้เกิดเป็นคนหรือสัตว์ไม่ดีกว่าหรือ เพราะอายุขัยน้อยกว่าพรหม การเกิดเป็นพรหมนี้เสี่ยงที่จะไม่สิ้นภพสิ้นชาติ หรือสิ้นชาติช้ากว่าคน สัตว์ ที่อายุขัยน้อยกว่าครับ โปรดให้ความกระจ่างด้วยครับ ขอบคุณ

หลวงพ่อ : ก็เราก็มีความคิดอย่างนี้ไง นี่เวลาเรามีความคิดอย่างนี้ เรามีความรู้สึกอย่างนี้เราถึงพยายามอธิบาย อธิบายให้โยมเห็นว่าการเกิดเป็นพรหม การเกิดเป็นเทวดา การเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นสัตว์ก็คือการเกิดเหมือนกัน มีทุกข์เหมือนกัน.. นี้เราคิดว่าการเกิดเป็นเทวดานี่มีความสุขๆ มันความสุขระหว่างมนุษย์กับเทวดา แต่เทวดาเขาทุกข์นะ.. เทวดาพอหมดอายุขัยมันก็เหมือนเรานี่แหละ พรหมก็เหมือนกัน แล้วอายุขัยเขามากด้วยพอกลับมานี่

มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก ผู้ที่เกิดเป็นพรหมหลายรอบ คือว่าเกิดตายหลายครั้งบนพรหมนี่นะ เวลามาเกิดเป็นมนุษย์เวลาเป็นศาสดานี่บอกว่าอดีตชาติไม่มี เพราะมันสาวต่อไม่ได้ มันตัดตอนไง มันสาวต่อไม่ได้ว่าอดีตชาตินี่มันจะต่อเนื่องกันไป.. ทั้งๆ ที่มันมีนะ แต่เพราะไปเกิดที่พรหมนานบอกอดีตชาติมันไม่มี มีกี่ชาติๆ เพราะว่าไปเกิดบนพรหมนาน ขนาดบนพรหมนี้มันต่อกันไม่ได้อยู่แล้ว.. นี่ขนาดเขามาเกิดนะ

ทีนี้เวลาเกิดเป็นพรหมอายุขัยมันมากกว่า นี้ถึงบอกว่าการเกิดเป็นมนุษย์ นี่เขาบอกว่า “อย่างนั้นเรามาเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ไม่ดีกว่าเหรอ เพราะอายุขัยน้อยกว่าเขา”

เกิดเป็นคนนี่ดี เกิดเป็นสัตว์ไม่ดี เพราะเกิดเป็นคน เวลาเกิดเป็นคนนี้ทำความดีก็ได้ ทำความชั่วก็ได้ ทำให้สิ้นกิเลสก็ได้.. เกิดเป็นสัตว์ทำความดีได้ ทำความชั่วได้ แต่ภาวนาไม่ได้ เพราะปัญญามันไม่พอ เกิดเป็นสัตว์นี่ไม่ดี ฉะนั้นการเกิดเป็นคนนี่ดีที่สุด

นี้การเกิดเป็นคน เกิดเป็นคนภพชาติแล้วภพชาติเล่า ถ้ามันมีสติปัญญามันก็ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ไปเกิดเป็นเทวดาเวลากลับมานี่ ๕,๐๐๐ ปี ๙ ล้านปี แล้วเวลาเกิดเป็นพรหมนี่เป็นหมื่นๆ ปี นี้มันถึงว่าไปเกิดแล้วเวลาหมุนกลับ.. แต่มันเป็นผลของวัฏฏะ เวลาเกิดแล้วเราไม่รู้ เราไม่รู้ แต่ถ้ามันเกิดมันเป็นอย่างนี้จริงๆ

ฉะนั้นสิ่งที่มาพูดนี้พูดเพื่อให้เห็นว่า สิทธิในการเกิดของเรา นี่เวลามันยังลัดหลั่นกันอย่างนี้ แล้วมันยังให้โทษกับเราโดยที่เวลาจะมาพบพุทธศาสนาอย่างใด

ฉะนั้น “อันนี้ถามเกี่ยวกับอนาคต ผมเคยได้ยินหลวงพ่อเทศน์ว่าพรหมมีอายุมาก แล้วอย่างนี้ใครไปเกิดเป็นพรหมก็ไม่แย่หรือครับ”

เกิดเป็นพรหมนี้มันก็เป็นวิบาก มันเป็นผลไง ผลที่ว่าเราทำสมาธิ ตามที่จิตหนึ่งนี้ถึงไปเกิดเป็นพรหม เพราะเกิดเป็นพรหมนี่พวกฤๅษีชีไพรจะไปเกิดเป็นพรหม แล้วเราทำสมาธินี่ไปเกิดเป็นพรหม

“ถ้าเกิดเป็นพรหมนี้ไม่แย่หรือครับ” นี้เพราะเหตุมันมีอย่างนั้นไง.. เหตุมีอย่างนั้นผลถึงได้เกิดอย่างนั้น ฉะนั้นถ้าเหตุมันมีอย่างนั้นแต่เราจะไม่ให้ไปใช่ไหม เวลาจะตายเราก็พยายามระลึกถึงพระ นี่ให้จิตมันระลึกถึงพระ ระลึกถึงมนุษย์สมบัติ เห็นไหม ก็เกิดเป็นมนุษย์อีก

เรานี่ทุกคนเคยเป็น.. เคยเป็นเคยไป เคยเป็นเคยไปแต่เราเป็นไปโดยอวิชชา ไปโดยกิเลส ไปโดยสิ่งที่ตัณหามันชักนำไป แต่ถ้าเรามีสติ เราพยายามจะดึงกลับมาให้มาเกิดเป็นคนก็ได้ การมาเกิดเป็นคนแต่ถ้ามีสติ เห็นไหม มีสติปั๊บนึกถึงพระพุทธรูปไว้ เวลาคนใกล้ตายนึกถึงพระไว้.. นึกถึงพระไว้ มันจะมาเกิดที่นี่ แต่ถ้าเราจิตหนึ่งนิ่งไปเลย มันก็จะไปตามนั้น

นี้เวลาจะตายขึ้นมานี่จะรู้ เวลาจะตายขึ้นมามันจะทุกข์มันจะสั่นไหวนะ เวลาเราจะตายขึ้นมามันจะสั่นไหว มันจะเป็นอย่างที่เราคาดหมายไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราฝึกไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เรารักษาของเราไว้นี่มันจะรู้ของมัน นี่เวลาเกิดก็ไม่รู้เลย ทีนี้เวลาตายจะรู้นะจะฝึกตาย

นี้เวลาเกิดเป็นพรหมก็อย่างที่ว่านี่แหละ เป็นอย่างที่ว่าเพราะอายุมาก อายุขัยมาก.. แล้วเวลาวนมามันจะเจอศาสนาหรือไม่เจอศาสนา นี่เราก็ปรารถนากันว่าจะไปเจอพระศรีอริยเมตไตรยนู้นล่ะ

ต่อไปข้อ ๒๘๗. ไม่มี

ถาม : ๒๘๘. เรื่อง “ขออนุญาตพิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทาน”

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูเคยมากราบหลวงพ่อแล้ว ๔ ครั้ง มากับรถ... ก่อนมาไม่เคยรู้จักหลวงพ่อมาก่อน มาครั้งแรกงงๆ อยู่เลยล่ะ พอได้ฟังซีดีและอ่านหนังสือของหลวงพ่อที่เอามาจากวัดกลับไปฟัง ทึ่งมากค่ะ บอกกับตัวเองว่า “นี่ไงเจอ...” หลังจากนั้นหนูได้เข้ามาโหลดธรรมเทศนาของหลวงพ่อจากเว็บนี้ไปฟัง พอได้มากราบและฟังธรรมของหลวงพ่อครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ เกิดความรู้สึกเคารพศรัทธามากขึ้น หนูเกิดความศรัทธาพระพุทธศาสนามากกว่าแต่ก่อนมาก จากที่ฟังจากหลวงพ่อ ก่อนหน้านี้ศรัทธาแบบหลอกตัวเอง คือใจมันค้านลึกๆ อยู่ และยังลังเลอยู่ว่าทำไมไม่ศรัทธา ช่วงที่ฟังธรรมของหลวงพ่อขนลุกเป็นระยะๆ วันออกพรรษาขนลุกน้ำตาไหล หนูเขียนจดหมายกราบขอบคุณหลวงพ่ออย่างสูงค่ะ

คำถาม.. หนูต้องการพิมพ์หนังสือกิเลสตบตา และกรรม ของหลวงตา ที่หนูได้จากวัดของหลวงพ่อ ไปพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ครอบครัวและญาติทำบุญ..

หลวงพ่อ : อันนี้เราไม่อนุญาตนะ เราไม่อนุญาตเพราะว่าเขาจะเอาไปพิมพ์ร่วมกับคนอื่นเนาะ ไม่อนุญาต.. ฉะนั้นถ้าไม่อนุญาต เวลาจะไปแจกนี่เราคิดว่ามาเอาที่วัดเราดีกว่า คือเราให้หนังสือเลย เราไม่ต้องเอาไปพิมพ์ไง ถ้าจะเอาหนังสือไปแจก ถ้าเป็นไปได้นะ ใครอยากได้ให้มาขอเราให้ นี่อย่างนี้ ๕๐๐ เล่มเราให้ได้เลย มีทุกอย่างเราให้หมดล่ะ แต่ถ้าเอาไปพิมพ์ เวลาไปพิมพ์มันจะตกหล่น มันจะนั่นได้.. เพราะคำว่าอนุญาต พออนุญาตแล้วเขาจะทำอย่างไรก็ได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเอาไปพิมพ์นี้ไม่อนุญาต ! ไม่อนุญาต แต่ถ้าต้องการขอหนังสือจากวัดเรา เราอนุญาต ให้มาเอาที่วัดดีกว่าถ้าที่วัดมีนะ ถ้าเล่มนี้ไม่มีเอาเล่มอื่น แต่ถ้าขอไปพิมพ์.. เพราะเวลาอนุญาตไปแล้ว พอไปพิมพ์มันจะมีแบบว่า เวลาไปพิมพ์มันต้องมีเหตุการณ์อะไรทำให้มันคลาดเคลื่อนได้ ฉะนั้นเราไม่อนุญาต แต่ถ้ามาเอาที่วัดนี้ให้เลย.. ถ้ามีนะ ถ้ามีอยู่นี่ให้เลย

ฉะนั้นเรื่องพิมพ์หนังสือไม่อนุญาต แต่เรื่องนี่เห็นไหม เวลาฟังเทศน์.. เวลาฟังเทศน์ถ้าจริตมันตรงกันมันก็เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าจริตมันไม่ตรงกัน มาทีแรกก็งงเลยล่ะ มาฟังเทศน์หลวงพ่อทีแรกงงๆ นะ แต่พอฟังไปๆ มันดีขึ้น แล้วเราฟังไปนี่ เพราะว่าถ้าเรามีสตินะเราฟังด้วยเหตุด้วยผล

การฟังเทศน์ เห็นไหม การฟังเทศน์การฟังธรรมนี่เราฟัง.. สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เราได้ยิน ถ้าสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ ทีนี้สิ่งที่ไม่เคยได้ยินและได้ฟัง เราจับแล้วนี่มันต้องมีเหตุมีผล “กาลามสูตรไง.. ไม่ให้เชื่อ !”

เวลาเราพูดกับใครนะ เวลาใครมาหาเราเขาบอกว่า “ไม่เชื่อหลวงพ่อเลย”

เราบอก “อู้ฮู.. เอ็งพูดถูกว่ะ ถ้าเอ็งเชื่อกูนี่โง่ฉิบหาย ถ้าเอ็งไม่เชื่อนี่ถูก” ใครให้เชื่อ.. ไม่ให้เชื่อหรอก เอ็งกลับไปคิด กลับไปคิด อย่าเชื่อนะ.. อย่าเชื่อ !

ทีนี้การฟังเทศน์.. เริ่มต้นเราฟังด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเหตุผลนั้นเป็นความจริงนะ เพราะเราแสวงหาความจริงอยู่แล้ว ถ้าเหตุผลนั้นเป็นความจริงขนลุกเลยนะ เพราะเหตุผลนั้นมันจริง แต่เรายังไม่รู้จริงนะ ถ้าแต่เราตั้งใจอยู่ว่าจะต้องหาความจริง ถ้าเหตุผลจริงขึ้นมา เรานี่ขนลุกเลย..

เวลาเราอยู่กับหลวงตานะคุยกับพระ ถ้าวันไหนหลวงตาท่านเทศน์นะขนลุกขนพองเลยนะ ท่านบอก “เออ ! เอ็งยังมีวาสนา.. เพราะธรรมะมันเข้าสู่ใจ” การที่ขนลุกขนพอง การที่เราจะขนลุกนี้มันมาจากไหน มันมาจากความรู้สึก ธาตุมันลุกพองไม่ได้หรอก แต่ถ้าวันไหนธรรมะมันสะเทือนใจเรานะขนนี้ลุกเลย ! ขนลุกนี้เพราะหัวใจมันสะเทือน

ถ้าเวลาหลวงตาเทศน์นะพวกเรานี่ขนลุกเลย น้ำตาไหลเลย นั่นล่ะคนนั้นมีโอกาส.. มีโอกาสเพราะอะไร เพราะธรรมะมันไหลเข้าไปสู่ใจ ใจมันมีความรู้สึก พอมีความรู้สึกนี่มันแสดงออกทางร่างกาย

นี้ถ้าขนลุกขนพอง นั่นล่ะใจมันรับรู้ ใจมันสั่นไหวไง ไม่ใช่เรา โทษนะเราหนังหนาไง ฟังเท่าไรมันก็ไม่รู้สึกอะไรเลย โอ้โฮ.. ทุบตีขนาดไหนมันก็ยังชินชา นั่นน่ะอย่างนั้นยาก แต่ถ้าเวลาพูดนะ พอเวลาหลวงตาพูดอะไรมันเสียว นี่ขนลุกเลยนะ กลัวผิดไง นู้นก็ผิด นี่ก็ผิด นั่นล่ะมีโอกาส คือว่าหนังไม่หนา พอหนังไม่หนานี่มันมีโอกาส

ฉะนั้นคนมีโอกาส เห็นไหม ฟังธรรมนี่อย่าเชื่อ ! อย่าเชื่อ แต่เราไปพิจารณาของเรา กาลามสูตร พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ ถ้าบอกว่าไปฟังแล้วเชื่อนะ อู้ฮู.. หลวงพ่อดีอย่างนู้นดีอย่างนั้นนะ มึงโกหก ! แต่ถ้ามันจะดีมันจะดีเพราะอะไร ธรรมะนี้มันมีเหตุผลอย่างไร สิ่งใดที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ มันมีข้อมูลของเราอยู่อย่างนี้ แล้วข้อมูลที่มันเหนือกว่า ข้อมูลที่มันดีกว่านี่มันเขย่า มันมาแก้ไขเรา อันนี้ต่างหากถึงจะเป็นธรรมะ !

ธรรมะมันจะมีเหตุมีผลเพราะอะไร เพราะโดยลึกๆ นะพวกเรานี่อยากดี ปรารถนาดีหมดเลย แต่มันเหมือนมีม่าน.. มีม่านอะไรมากั้นอยู่ มีม่านมันทำให้เราสงสัย อื้อ ! อื้อ ! อันนี้ล่ะ อันนี้มันทำให้เราสงสัย แต่ถ้าเราศึกษาเราปฏิบัติเข้าไป มันจะทะลุอันนี้ มันจะทำลายม่าน ทำลายตัณหา ทำลายอวิชชาที่มันเป็นม่านดำ เป็นม่านที่ว่ามันครอบคลุมเราโดยที่เราไม่รู้ตัว

ฉะนั้นเวลาศึกษาไป ไอ้นี่มันจะมาเปิดส่วนนี้ออก มันจะมาทำความสะอาดตรงนี้ พอมันทำความสะอาดไปมันจะรู้ชัดเข้าไป ชัดเข้าไป.. ฉะนั้นฟังธรรม นี่ฟังธรรมอย่างนี้ไง

๑. การฟังธรรมไม่ใช่การจับผิด

๒. การฟังธรรมไม่ใช่ว่าต้องคล้อยตาม

การฟังธรรมนะ ฟังแล้วเอาเหตุเอาผล แล้วเรานั่งพิจารณาของเรา ว่า “จริงหรือไม่จริง” แล้วเวลามันพิสูจน์นี่การพัฒนาของจิต เห็นไหม หลวงตาท่านบอกเลยนะ “ภาวนาไปจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้.. หมู่คณะฟังเรานะแล้วจำไว้นะ ถ้าใครภาวนาถึงนี่จะมากราบศพ !” ท่านท้าขนาดนี้เลยนะ ท่านไม่บอกว่าเอ็งฟังกูนะ เอ็งเชื่อกูนะ แล้วเอ็งทำแล้วจะเป็นอย่างนั้นๆ ท่านไม่เคยพูดอย่างนั้นเลยนะ.. ท่านบอกว่าหมู่คณะจำไว้ คือพระที่ฟังเทศน์นี่ให้จำไว้นะ จำคำพูดที่พูดนี้เอาไว้ แล้วถ้าภาวนามาถึงนี่นะ แล้วเอ็งจะมากราบศพต่อเมื่อท่านล่วงไปแล้ว

ล่วงไปแล้วหมายถึงว่าวุฒิภาวะ การพัฒนาของใจเรายังไม่ทัน ถ้าวันไหนใจเราพัฒนาถึงจุดนั้นปั๊บ เอ้อเฮ้อ ! ถ้าร้อง อ๋อ ! นั่นล่ะ.. จะไปกราบก็แหม.. มันช้าไปแล้ว อีก ๑๐ ปี ๒๐ ปีท่านล่วงไปแล้วเรายังไม่รู้.. ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ถ้าวันไหนรู้นะจะไปกราบศพ จะวิ่งไปกราบ อยากจะกราบ ! อยากจะกราบ แต่ตอนฟังอยู่นี่ว่าไม่ใช่.. ไม่เหมือน.. ไม่ถูก.. ไม่ดี.. แต่ภาวนาไปเถอะ พิจารณาไป พอถึงจุดนั้นปั๊บ..

ท่านถึงพูดไง “จำคำพูดนี้ไว้ แล้วถ้าถึงแล้วจะมากราบศพผม” ยืนยันอย่างนั้นเลย !

เหตุการณ์อย่างนี้เพราะท่านได้เคยประสบมา ท่านกับหลวงปู่มั่นไง เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์ เห็นไหม สุดท้ายท่านก็มาขอขมา ปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดจากใจของท่านมาเอง แล้วพอถึงสุดท้ายแล้ว “ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง”

ใจทุกดวงก็เป็นเหมือนกับที่เรายังมีกิเลส มีม่านบังเราอยู่ มันก็มีอะไรสงสัยอยู่ในใจเรา แต่ถ้าวันไหนเราภาวนาไป เราแก้ไขของเรานะ เราเปิดม่านนั้นออกแล้วนะ มันจะเหมือนกันเลย เราจะกราบ อยากจะกราบ อยากจะขอขมา อยากจะ แหม.. ทำไมตอนนั้นมันดื้อ ทำไมตอนนั้นมันไม่เห็นด้วย.. ก็มันไม่เห็นด้วยจริงๆ เพราะกิเลสเราไม่เห็นด้วย ม่านอันนี้มันบังไว้

ฉะนั้นฟังไปอย่างนี้ถูกต้อง ฟังแล้วไม่ต้องเชื่อ.. ฟังไม่ต้องเชื่อ ถ้าเชื่อ นี่เชื่อเพราะเหตุผลมันดี เชื่อเพราะมันเข้ากันได้นี่ไม่ใช่ ! ให้จับประเด็น จับเหตุผลแล้วใช้พิจารณา จับเหตุผลแล้วเข้าไปเดินจงกรม “ทำไมเราภาวนาแล้วมันไม่ลง.. ทำไมจิตเรามันไม่เป็น” นี่จับเหตุผลแล้วเข้าทางจงกรม แล้วพิสูจน์กัน ! พิสูจน์กัน !

พอพิสูจน์เข้าไปนะมันหนีไม่พ้นเหตุผลหรอก หนีไม่พ้นความจริงหรอก ในเมื่อความจริงมันคือความจริง เราพิสูจน์ความจริงอยู่ เราหาความจริงอยู่ เราต้องเจอความจริง ! ถ้าเราเจอความจริงนี่ อื้อ ! หมดความสงสัย หมดความลังเล มันเป็นอันเดียวกัน ถึงเวลาเป็นอันเดียวกันนะ เราถึงบอกว่า “อริยสัจมีหนึ่งเดียว ! มีหนึ่งเดียว”

ฉะนั้นสิ่งที่การฟังเทศน์การฟังธรรม นี่อย่างนี้สาธุ.. แต่การขอพิมพ์หนังสือนี้ขอไว้ก่อนเนาะ เพราะเราพิมพ์แจกไปก่อน นี่เราพูดประสาเราว่าสิ่งใดที่เรายังควบคุมดูแลรักษาได้ เราก็จะดูแลรักษาไป แต่ถ้าอนาคตไปนะ.. เรามองนะเราอยู่กับหลวงตามา สมัยที่อยู่กับหลวงตานะท่านไม่ให้ใครพิมพ์หนังสือเลย หนังสือหลวงปู่มั่นท่านไม่ให้ใครพิมพ์เลย แต่คนก็เอาไปพิมพ์แล้วเอามาถวายท่านอยู่ แต่สุดท้ายแล้วนะพอมันเป็นสาธารณะ คือว่าผลประโยชน์เพื่อสาธารณะนี่คนมันจะทำ อนาคตมันก็จะเป็นอย่างนั้น

คืออนาคตเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังรักษาได้อยู่.. ตอนนี้รักษาได้อยู่ คือว่าไม่ให้มีอะไรเข้ามาให้มันบิดเบือน ฉะนั้นยังขออันนี้อยู่ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ไปพิมพ์กับหลวงตาด้วยเรายิ่งไม่ให้เลยล่ะ เอาหนังสือเราไปพิมพ์กับหลวงตานี่มันเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าพิมพ์ของหลวงตา นี่หนังสือหลวงตาเยอะมาก พิมพ์ของหลวงตาล้วนๆ เลยนี่เราสาธุ.. ออกตังค์ให้ด้วย แต่ถ้าของเราไปพิมพ์ด้วยมันไม่ได้

ฉะนั้นหนังสือนี้ไม่อนุญาต ! ไม่อนุญาต ถ้าพิมพ์เองไม่อนุญาต แต่ถ้าหนังสือเรามีอยู่ให้ขอมาที่วัด วัดให้หมดเลย วัดให้เองเนาะ เอวัง