ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ศีลกับปัญญา

๑ ม.ค. ๒๕๕๔

 

ศีลกับปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๓๐๕. เรื่อง “การถือศีลต้องใช้ปัญญา ควรพิจารณาอย่างไร”

ถาม : “การถือศีลต้องใช้ปัญญา”

นมัสการหลวงพ่อครับ ผมเคยฟังในเทศน์หลวงพ่อมีใจความว่า “การถือศีลต้องใช้ปัญญา ไม่เช่นนั้นจะดำเนินชีวิตบนโลกได้ลำบากมาก” เพราะผมเห็นว่าศีลเป็นบาทฐานของการภาวนา ถ้าไม่มีศีล หรือศีลไม่สะอาดก็ภาวนาไม่ขึ้น แต่การดำรงชีพในเพศฆราวาสต้องทำมาหากิน ยากที่จะถือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ทั้งๆ ที่มีความตั้งใจถือศีล ๕

๑. ขอให้หลวงพ่ออธิบายหลักการและแนวทางปฏิบัติ การถือศีลต้องใช้ปัญญาให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วยครับ และในยุคโลกาภิวัตน์ ปัจจุบันรูปแบบสิ่งต่างๆ ในการเชื่อมโยงกันที่ดูเสมือนไร้ขอบเขต ซึ่งทำให้เราอาจมีส่วนผิดศีลโดยไม่รู้ตัว ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเป็นคำถามคือ..

๒. ถือศีลต้องไม่ทำงานในบริษัทหรือโรงงานที่ผิดศีลด้วยใช่ไหม อย่างเช่นธุรกิจที่มีการฆ่าสัตว์และแปรรูป ธุรกิจเครื่องดื่มเหล้าเบียร์เพราะถือว่ามีส่วนในการทำผิดศีล หรือแม้แต่ในแผนกไอทีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บัญชี ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์หรือผลิตเหล้าแต่อย่างไร เพียงเทียบเคียงกรณี ขนาดแค่ให้คนยืมเงินเพราะสงสาร แต่เขาเอาไปเป็นทุนทำแท้ง เราจะต้องมีบาปด้วยเลย ทั้งที่ไม่รู้เรื่องด้วย เหล่านี้ความจริงเป็นอย่างไรครับ

๓. ถือศีลต้องไม่ซื้อหุ้นของธุรกิจที่ผิดศีลใช่ไหม อย่างไรครับ

หลวงพ่อ : นี่มันเป็นปัญหาโลกแตก.. ปัญญาโลกแตก เห็นไหม ตั้งแต่ว่าข้อ ๑

ถาม : ๑. ขอให้หลวงพ่ออธิบายหลักการและแนวทางปฏิบัติ การถือศีลที่ต้องใช้ปัญญาให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วยครับ และในยุคโลกาภิวัตน์ ปัจจุบันรูปแบบสิ่งต่างๆ และการเชื่อมโยงกันที่ดูเสมือนไร้ขอบเขต ซึ่งทำให้เราอาจมีส่วนผิดศีลด้วย

หลวงพ่อ : อันนี้นะมันระดับทาน ศีล ภาวนา ! เรื่องของทานคือการเสียสละ เห็นไหม การเสียสละ แต่เรื่องของศีลนี่ เรื่องของศีลมันก็เหมือนธรรมและวินัย ธรรมคือรัฐศาสตร์ วินัยคือนิติศาสตร์

ธรรมและวินัย ! พระพุทธเจ้าบอกธรรมและวินัย.. ธรรมคือสัจธรรมความเป็นจริง ศีลคือข้อบังคับ.. ฉะนั้นสิ่งที่ว่าถือศีลต้องใช้ปัญญา คำว่าใช้ปัญญานี่บางคนถือศีลโดยเริ่มต้นนี่นะมันจะมีความทุกข์มาก ทำอะไรก็ผิด ทำอะไรก็ผิด เพราะเราถือว่าเราต้องถือศีล แล้วถือศีลมันก็เหมือนกับเป็นกรอบที่ดำรงชีวิตเลย กรอบที่เราขยับไม่ได้เลย

สิ่งที่เราขยับไม่ได้ ศีลนี่นะ พูดถึงศีลมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่วินัยก็คือวินัย กฎหมายก็คือกฎหมาย ไม่ยกเว้นใครทั้งสิ้น กฎหมายไม่มีการยกเว้นใครนะ ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงอยู่แล้ว ฉะนั้นศีล ๕ ก็คือศีล ๕

ทีนี้พอว่ากฎหมายไม่ยกเว้นบังคับใคร แต่เวลาที่มันเป็นธรรมขึ้นมาล่ะ นี่สิ่งที่เป็นธรรมเพราะเราถือโดยที่ว่ามันเป็นความเห็นของเราไง พอเป็นความเห็นของเรา เห็นไหม นี่สิ่งนั้นมีชีวิตกินไม่ได้ อะไรไม่ได้.. นี่มันมีคนมาพูดเป็นมุขตลกเยอะมาก บางคนถือศีลนะก็ว่าตัวเองถือศีลไม่เคยกินสัตว์ที่มีชีวิตเลย เวลาไปตลาดพอเขาเห็นคนๆ นี้มา เช่นปลานี่เขาขาย ๕ บาท ๕ บาทใช่ไหม แต่คนนี้มาเขาทุบให้ตายก่อนเลยเขาขาย ๑๐ บาท คนนี้อยากกินก็ต้องซื้อเขา แล้วพอเห็นเขามาก็ทำอย่างนั้น

นี่ไงเราไปบอกเขาว่าเราถือศีลทำไมล่ะ เราไปบอกเขาว่าเราถือศีลทำไม เราสามารถเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ เราจะกินอะไร แบบว่าเราไปซื้อของนี่เราบริหารได้ไง เราไม่จำเป็นว่าจะต้องเอาสิ่งนี้ แล้วต้องได้สิ่งนี้ แล้วต้องเป็นสิ่งที่ว่าไม่ผิดศีลด้วย ฉะนั้นพอไม่ผิดศีลนี่เราบริหารได้ เราเปลี่ยนแปลงได้

ฉะนั้นการถือศีลต้องใช้ปัญญานี่มันมีปัญญาของมันนะ.. เรายกตัวอย่างนะ อันนี้ยกตัวอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการชี้โพรงให้กระรอก ไม่ใช่ทำให้คนมีแต่ความ แบบว่าตะแบงหรือฉ้อฉล มันมีอยู่ในสุตตันตปิฎก สามีเป็นนายพรานป่า ภรรยานี่เป็นภรรยานายพรานป่า นายพรานป่าออกล่าสัตว์ ออกล่าสัตว์ทุกวันเลย พอออกล่าสัตว์ขึ้นมา ภรรยาใช่ไหมก็ต้องเตรียมอาหาร เตรียมธนู เตรียมทุกอย่างให้พร้อมเลย แต่ขณะที่ทำนี่ไม่เคยเห็นด้วยเลย ไม่เห็นด้วยๆ แต่เพราะการดำรงชีพไง ดำรงชีพของเขา

สามีออกป่าไปล่าสัตว์ พอล่าสัตว์ใช่ไหม ไปยิงสัตว์มันก็ฆ่าทั้งนั้นแหละ แล้วสิ่งนั้นก็เอามาเป็นอาหารด้วย แล้วเอามาขายด้วย แต่ภรรยานี่ไม่เห็นด้วย พอเวลาทำสิ่งใดเจตนาบอกไม่เห็นด้วยๆ สามี ภรรยาคู่นี้เวลาตายไปนะ นี่สามีตกนรกอเวจี ภรรยาเป็นพระโสดาบัน.. อยู่ในพระไตรปิฎก ภรรยานี่เป็นพระโสดาบันนะ

ทีนี้พอเวลาพระนี่คำว่าถือศีลๆ คำว่าศีลนี่ใช่ ! มันมีองค์ประกอบไง ถ้าไม่อย่างนั้นปั๊บมันเหมือนกับว่าเรานี่ฉ้อฉล ตะแบงหาทางออก.. นี่ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลขาด ! ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด.. หลวงตาจะพูดบ่อยศีลด่างศีลพร้อย เห็นไหม มันด่างพร้อย มันไม่ถึงกับขาด แต่มันด่างพร้อย มันเศร้าหมอง ถ้าเราทำผิดมันเศร้าหมองแน่นอน

นี้คำว่าเศร้าหมอง แล้วมันด่างพร้อย มันทะลุ ถ้าครบองค์ประกอบขาด ! ศีลขาด.. ทีนี้พอศีลขาด เราจะบอกว่านะมันต้องมีปัญญา คำว่ามีปัญญานี่อย่างเช่นเราร่างกายปกติ เราไปที่ไหนเราก็สะดวกใช่ไหม อย่างเช่นเรานี่เราเป็นคนพิการ ถ้าเราเป็นคนพิการเราจะไม่สามารถดำรงชีวิตแบบคนปกติได้ ในปัจจุบันเขาเรียกร้องสิทธิของคนพิการ เห็นไหม ในทางเท้า ในรถไฟฟ้าต้องมีที่ขึ้นที่ลงของคนพิการ นี่เขาเรียกร้องสิทธิของเขาคนพิการ อย่างเช่นเราพิการส่วนใดส่วนหนึ่ง เราจะทำปกติแบบคนปกติไม่ได้

ฉะนั้นถ้าเกิดเราพิการขึ้นมาล่ะ เราจะประกอบให้ถูกต้องตามแบบคนปกติ ตามศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติได้ไหม มันก็ทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ก็แสดงว่าเรานี่หมดสิทธิสิ เราไม่มีโอกาสปฏิบัติใช่ไหม เราก็มีโอกาสไง

เราจะพิการมากหรือพิการน้อยก็แล้วแต่ สิ่งที่พิการคือส่วนที่พิการ แต่หัวใจไม่มีพิการ ! หัวใจไม่พิการ การปฏิบัติเราไม่เคยพิการ !

ฉะนั้นถ้ามันพิการใช่ไหม พิการสิ่งใดนี่มีคนร้องทุกข์มาก พอบอกว่าเป็นคนพิการใช่ไหม แล้วคนพิการโดยกำเนิดก็มี คนพิการโดยอุบัติเหตุก็มี แล้วคนพิการโดยกำเนิดนี่กรรมอะไร แล้วคนมาพิการโดยอุบัติเหตุนี้กรรมอะไร นี่เขาบอกว่าเพราะพุทธศาสนาให้เชื่อเรื่องกรรม แล้วพอเชื่อเรื่องกรรม พอทำสิ่งใดก็บอกว่านี่เป็นกรรมๆ

บางคนไม่ยอมรับนะ เรามีกรรมอะไร เกิดมานี่เป็นกรรมอะไร แล้วบอกว่าเป็นกรรมๆ แสดงว่าเพราะคำว่าเป็นกรรมนี่เขาตีความว่ามีกรรมคือทำความผิดพลาดมา คือทำความไม่ดีมา พอทำความไม่ดีมา ถ้าเราพิการแสดงว่าชาติที่แล้วเราทำไม่ดีหมดเลยเหรอ เราเป็นคนเลวขนาดนั้นเลยเหรอ

ทีนี้คำว่าพิการ เวลากรรมมันให้ผลนะ เวลาให้ผลนะดูสิเราพิการตั้งแต่กำเนิด หรือเราพิการเพราะมาประสบอุบัติเหตุ แต่ขณะพิการแล้วนี่พิการมันก็ส่วนร่างกายใช่ไหม แต่สิ่งที่เป็นหัวใจนี้มันมีโอกาสอยู่ ฉะนั้นที่คำว่าต้องใช้ปัญญานี่คือว่าไม่ให้เถรตรงเกินไป ไม่ให้ขวางโลกไง ! ถือศีลไม่ใช่ว่าถือศีลแล้วก็ขวางโลก ขึ้นป้ายเขียนไว้ สักที่หน้าผากเลย “กระผมถือศีลนะ ! อู้ฮู.. ทำอะไรต้องทำให้ถูกต้องนะ”

มันไม่ใช่อย่างนั้น ! เราถือศีลก็ถือศีลไว้ในใจใช่ไหม เราใช้ปัญญาเราสิ เราใช้ปัญญาเราว่าเหตุการณ์อย่างนี้ กรณีอย่างนี้เราจะทำให้มันดีที่สุดอย่างไร ให้มันผิดน้อยที่สุดเป็นอย่างไร ถ้ามันทำได้มันก็ผ่านไปได้ เพราะว่าเวลาพระเรา เห็นไหม องค์ประกอบของศีล เพราะถ้าคำว่าศีลขาด เวลาเราเห็นพระนี่ทุกคนบอกว่าพระองค์นี้ผิดศีล พระองค์นี้ทำผิด.. องค์ประกอบมันครบไหม แล้วถ้าเขามีเหตุผลของเขา เพราะว่าในวินัยนี่นะ ในวินัยของพระมันก็เหมือนกฎหมาย มันมีอาบัติ-อนาบัติ

อาบัติหมายถึงว่าผิดเป็นอาบัติ อนาบัติคือไม่เป็นอาบัติ.. มันไปล่วงอย่างเช่นเราทอดกฐินนี่ ทอดกฐินนะ โดยปกติพระนี่นะเช้าขึ้นมาผ้า ๓ ผืน อรุณขึ้นนี่ต้องผ้า ๓ ผืนอยู่ในหัตถบาตร อยู่ใกล้ตัวถึงศอกหนึ่ง แต่พอได้กฐินจำพรรษา ๓ เดือนนะ อานิสงส์ของมันคือไม่เป็นอาบัติในเวลา ๑ เดือน ถ้าใครได้รับกฐินด้วย เราจะทิ้งจากผ้าผืนใดผืนหนึ่งได้ถึง ๔ เดือน นี่ไงแล้วเรารู้ไหมว่าคนๆ นั้นเขามีสิทธิ.. นี้ตามกฎหมายนะตามวินัยนะ แต่พระปฏิบัติเรานี่ไม่เอา คือว่าก็ถือ ๓ ผืนตลอดเวลา

ฉะนั้นวินัยบังคับนะบังคับว่า ภิกษุห้ามฉันเนื้อดิบ ภิกษุห้ามฉันเลือดสดๆ ภิกษุห้ามฉัน ! เว้นไว้แต่ผีเข้า วิกลจริต.. สมมุติว่าเราเป็นพระ เราปฏิบัติเราวิกลจริต พอวิกลจริตแล้วเราควบคุมตัวไม่ได้ เราทำสิ่งใดไปนี่ผิดศีลไหม.. ไม่ผิด ! แต่ถ้าวันไหนเราระลึกตัวได้ เรากลับมาฟื้นเป็นปกตินะห้ามทำเด็ดขาด ถ้าทำแล้วผิดทันทีเลย แต่ขณะวิกลจริตนี่ ภิกษุแสดงธรรมต่อผู้ที่ไม่เป็นไข้.. การยืนกับการนั่งนี่เป็นการเคารพกันในสมัยพุทธกาล

ภิกษุยืนอยู่ บุคคลที่ไม่เป็นไข้นั่งอยู่ ภิกษุแสดงธรรมเป็นอาบัติทุกกฎ.. ถ้าอย่างโยมนี่ ถ้าโยมไม่พร้อม ดูกิริยาที่ว่าไม่เคารพแล้วภิกษุแสดงธรรมไป ภิกษุเป็นอาบัติทันทีเลย แต่ ! แต่ภิกษุแสดงกับคฤหัสถ์ที่เป็นไข้ อย่างถ้าโยมไม่สบาย โยมไม่สบายแล้วควบคุมตัวเองไม่ได้ ภิกษุแสดงธรรมได้ไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นอาบัติ.. แต่ถ้าเป็นปกติเป็นอาบัติ !

นี่มันมีข้อยกเว้นของเขาอยู่ถ้าในวินัยนะ นี่พูดถึงในวินัย ๒๒๗ นะ ๒๑,๐๐๐ ด้วย แต่นี้ศีล ๕ ย้อนกลับมาที่ศีล ๕ ถ้าย้อนกลับมาที่ศีล ๕ นี่เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจิตใจเรามันเป็นวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เราเคยพูดไว้บ่อยมาก ว่าเวลาแสดงธรรม ครูบาอาจารย์ก็แสดงเป็นวิทยาศาสตร์นี่แหละ แต่วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ วิทยาศาสตร์นี่เป็นสูตร เป็นสูตรเป็นทฤษฎีที่สำเร็จแล้ว แต่ธรรมะนี่มันละเอียดอ่อนกว่าวิทยาศาสตร์ เห็นไหม มันเล่ห์เหลี่ยม มันหลบหลีกได้

ฉะนั้นถ้าปัญญานี่ เวลาเราใช้ปัญญาพิจารณาของเราไป มันจะตามความรู้สึกความนึกคิดไปตลอด ตามไปถึงที่สุดนะ มันจะลงใต้ดิน มันจะมุดไปในจิตใต้สำนึก มันจะมุดไปไหน ปัญญามันจะตามเผาไปตลอดเลย ตามเข้าไปถึงก้นบึ้งของมันเลย แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นะเราคิดจบทีหนึ่งก็จบแล้วนะ เห็นไหม ที่เขาคิดนี่ว่ามันใช้ปัญญาแล้ว มันปล่อยวางหมดเลย เป็นอะไร เป็นภาวนาซ้ำเป็นภาวนาใหม่ นี่มันปล่อยวางแล้วพิจารณา

เพราะเราคิดแบบวิทยาศาสตร์ใช่ไหม วิทยาศาสตร์นี่พวกโยม เห็นไหม ล้างถ้วยล้างจานเสร็จแล้ว นี่เสร็จรึยัง เสร็จแล้ว เสร็จแล้วแล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ ได้อะไรก็เสร็จงานแล้วไง พรุ่งนี้ต้องล้างใหม่เพราะพรุ่งนี้ต้องใช้อีกแล้ว.. ความคิดที่เกิดขึ้นมานี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นเวลาเราถือศีลนี่เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลก คิดแบบวิทยาศาสตร์แต่มันไม่ได้คิด อย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้ ที่ว่าอย่างเช่นเรานี่เราพิการมากพิการน้อย เห็นไหม

จิตใจของคนมันไม่เหมือนกันไง จิตใจของคนนะ ถ้าคนมันละเอียดใช่ไหมมันก็บอกอย่างนี้ผิดๆ มันจะเอาตามข้อเท็จจริงเลย แต่ถ้ามันเป็นว่าของคนมีความจำเป็น อย่างเช่นธุรกิจที่เขาถามขึ้นมา ถ้าเราเกิดในตระกูลนั้นล่ะ เราเกิดมานะ.. มันมีคนมาถามมาก คนมาถามว่าเขาเกิดมาในตระกูลทำประมง ในบ้านของเขา ในตระกูลของเขามีเรือประมงเยอะมาก แล้วเขาเป็นลูกหลานที่ต้องรับมรดกตกทอดทำการประมง แต่เขาไม่อยากทำเขามาปรึกษา

นี่หลายคนมากนะ เรารับการปรึกษาอย่างนี้ ๓-๔ คน ที่ว่าครอบครัวเขามีเรือเดินทะเล บางครอบครัวมี ๒ ลำ ๔ ลำ แล้วแบบว่าเขาเป็นลูก เขาต้องรับผิดชอบต่อจากพ่อแม่ของเขา แล้วจะให้ผมทำอย่างใด ผู้หญิงก็แล้วจะให้หนูทำอย่างไร หนูไม่อยากได้ หนูไม่ต้องการ หนูต้องการทำอาชีพของหนูเอง คือเขาออกมาทำงานนอกบ้าน แต่สุดท้ายแล้วที่บ้านเขาก็ต้องคิดอย่างนั้น เราจะบอกว่าถ้าเราเป็นคนอย่างนั้นเราจะทำอย่างไร เห็นไหม เรายกถึงว่าถ้าเราพิการเราจะทำอย่างไร

นี้การถือศีล ถ้าเราถือโดยเคร่งครัด เราถือโดยอย่างนั้นแล้วนี่มันก็ต้องมีอุบาย คำว่าอุบายเหมือนกับว่าพระกัสสปะ เห็นไหม พระกัสสปะเป็นลูกชายคนเดียว เป็นเศรษฐี พ่อแม่อยากให้มีครอบครัวมาก แต่ตัวเองก็อยากบวชมาก ทีนี้ด้วยความว่ากตัญญูกตเวทีก็รับปากพ่อแม่ว่าจะบวช แต่พยายามจะหา พ่อแม่ก็ไปหาคู่ให้ไปหาผู้หญิงให้ พอหาผู้หญิงนี่พอดีมันมีบุญสร้างมาเหมือนกัน ผู้หญิงก็มีความคิดเหมือนกับพระกัสสปะ ก็เลยสัญญากันว่าเราจะแต่งงานกัน แต่งงานกันในนาม แต่เราจะอยู่กันแบบพรหมจรรย์ แล้วตั้งสัจจะไว้ เวลาอยู่ด้วยกันนะเอาดอกไม้ตั้งไว้บนที่หัวนอน ดอกไม้จะสดอยู่ตลอดเวลาเลย

นี่ก็อุปัฏฐากพ่อแม่ทั้ง ๒ ฝ่าย จนพ่อแม่ทั้ง ๒ ฝ่ายเสียชีวิตหมดแล้ว ก็ตกลงกันว่าทรัพย์สมบัติเอามาแจกเขาหมดเลย เอามาสละทานหมดเลยแล้วออกบวช สามีไปทางหนึ่ง ภรรยาไปทางหนึ่ง แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่เลย.. นี่เห็นไหม เขาจัดการของเขา แล้วเราจะมีความเข้มแข็งอย่างนั้นไหม

นี้พูดถึงความเห็นนะ ขอบเขตของการถือศีล วันนี้เขาบอกว่าให้หลวงพ่อแนะนำ ให้อธิบายว่าจะทำอย่างไร อธิบายไปแล้วก็เลยจับประเด็นไม่ได้เลยว่าไม่รู้จะทำอย่างไร อธิบายไปแล้วไม่รู้จะทำอย่างไรเลย

เราจะบอกว่าบุคคลคนๆ หนึ่ง ในครอบครัวหนึ่ง.. หรือในครอบครัวหนึ่ง บุคคลใดก็แล้วแต่ ทั้งๆ ที่บุคคลหลายคนนั้น มันก็จะมี แบบว่ามีปัญหาไม่เหมือนกัน ปัญหาที่บุคคลจะเผชิญนี่มันไม่เหมือนกัน บางคนมันมีข้อบีบคั้นมากกว่า บางคนมันก็แบบว่ามีทางออกได้ ฉะนั้นมันอยู่ที่กรรม เห็นไหม กรรมที่มันจะแสวงหามาอย่างใด แล้วเราจะทำอย่างใด เราพิจารณาของเรา

คำว่าพิจารณานะ ในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันถ้าเราทำอยู่นี่มันผิด เพราะเราอยู่ในวงจรที่มันผิดพลาด เราจะทำอย่างไรเราถึงจะออกจากวงจรนี้ไป เราจะทำอย่างไรให้วงจรนี้ไม่กระทบกระเทือนเพราะเรา เราจะออกไปจากวงจรนี้ ให้วงจรนี้เขาอยู่ของเขากัน เขาอยู่ของเขากันได้ แล้วเราจะสละตัวเราออกจากวงจรนี้ไปอย่างใด.. นี่ถ้าคิดเป็นนะ

เราถือศีล นี่เราจะถือศีลแต่เราอยู่ในโลก ถ้าเรายังมีกรรมอยู่ เราจะต้องทำเหตุการณ์ อย่างเช่นนะ เดี๋ยวจะข้อต่อไป.. นี่อย่างเช่นเรามีปัญหาขึ้นมาต่างๆ เราจะทำอย่างใด

ทีนี้ข้อต่อไป ข้อ ๒. เห็นไหม

ถาม : ๒. ถือศีลต้องไม่ทำงานในบริษัท และโรงงานที่ทำผิดศีลด้วยใช่ไหมครับ อย่างเช่นธุรกิจที่มีการฆ่าสัตว์และแปรรูป ธุรกิจเครื่องดื่มเหล้าเบียร์ เพราะถือว่ามีส่วนร่วมในการทำผิดนั้น ทั้งๆ ที่แผนกบัญชีก็เกี่ยวข้องในการฆ่าสัตว์ ผลิตเหล้า.. แต่อย่างไร เทียบเคียงใดๆ ขนาดไหน ขนาดแค่ให้คนยืมเงินเพราะสงสาร แต่เขาเอาไปเป็นทุนทำแท้ง เราก็ต้องมีบาปด้วย

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้เราจะบอกว่าไม่มีบาปเราก็ว่ามี ไอ้อย่างนี้ทำไมเราให้เขาล่ะ ทำไมเราให้เขา เราให้เขาเพราะว่ามันมีบุญคุณกันใช่ไหม มันให้เขาเพราะความสงสาร.. สงสารนี่สงสารตอนน้ำท่วมคนจมน้ำนี่น่าสงสารกว่าอีก ฉะนั้นคำว่าสงสารต่างๆ นี้ก็ว่ากันไป อย่างเช่นที่ว่านี่ เห็นไหม ถ้าเราทำงาน ทำผิดศีลในโรงงานที่เขาแปรรูปสัตว์ ทำเบียร์ เหล้า แม้แต่แผนกบัญชี

เราจะบอกว่าแผนกบัญชีกับผู้ผลิต หรือการกระทำนี่ผลมันเท่ากันไหม ผลมันก็ไม่เท่ากัน ผลมันไม่เท่ากัน.. นี้เวลาไปทำ เวลาเราไปทำงานนี่ เพราะพระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนี้ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ.. สัมมาอาชีวะ ไม่ควรค้าเครื่องฆ่าสัตว์ ไม่ควรค้าพวกเบ็ดพวกอะไรนี่เราไม่ควรค้า

นี่อย่างนี้เราเลือกได้ไง ถ้าเราทำธุรกิจเราเลือกได้ใช่ไหม แต่ถ้าเราเกิดมาในสังคมนั้นล่ะ เราเกิดมาในบ้านนั้นล่ะเราจะทำอย่างไร เพราะว่าโลกกับธรรมมันอยู่ด้วยกัน โลกกับธรรมนะ ถ้าอย่างนั้นแล้วเราหาทางออกของเราเอง นี่พูดถึงสัมมาอาชีวะ พระพุทธเจ้าบอกว่าให้เลือกตั้งแต่เริ่มต้นเลย

ฉะนั้นอย่างที่เราเข้าไปทำงาน คนมันมีหยาบมันมีละเอียดแตกต่างกันนะ ถ้าคนหยาบ คนหยาบเขามองไม่เห็นเรื่องอย่างนี้เลย แต่ถ้าคนละเอียด เห็นไหม เพราะกรณีนี้เพราะหลวงตาเคยมาพูดที่โพธาราม ท่านเล่าให้ฟังเองว่าอธิบดีกรมประมงมาถามปัญหาท่าน เพราะว่ามันเป็นปัญหานะ มันเป็นปัญหาว่าศีล ๕ นี่ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามกระทำสิ่งต่างๆ แต่ธุรกิจสัตว์น้ำที่มันส่งออก เมื่อก่อนเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นปั๊บมันก็ไม่ทำด้วยความมั่นคง

หลวงตาบอกว่าให้เรานี่ไปสร้างบ้านอยู่ในป่าช้าได้ไหม บอกไม่ได้ ทุกคนก็สร้างบ้านในหมู่บ้านทั้งนั้นแหละ ท่านก็บอกว่าความเจริญบนซากศพของคนอื่น กับความเจริญโดยถูกต้อง มันแตกต่างกันนะ ความเจริญ เห็นไหม ถ้าคนเขาเห็นอย่างนั้น ความเจริญของเขาอย่างนั้น มันก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเราจะทำให้ถูกต้องมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่พูดถึงมันเป็นทางเลือก คนเรามันต้องมีทางเลือก มันมีทางออก ถ้าคนเรามีทางออกนะ กรรมเก่า กรรมใหม่ไง.. กรรมปัจจุบันนี้ อย่างเช่นปัจจุบันนี้ถ้ากรรมเก่าเราว่ากรรมเก่าไม่มีเลย แล้วกรรมปัจจุบันนี้เราไปเจออุบัติเหตุล่ะ นี่ก็คือกรรมใหม่ แต่ถ้าเรามีกรรมเก่ามา เห็นไหม ทำไมอุบัติเหตุต้องมาเกิดที่นี่ล่ะ มันมีกรรมเก่ามาจึงทำให้ประสบอุบัติเหตุ อุบัติเหตุนั้นคือกรรม

เขาบอกอุบัติเหตุกับกรรมนี่อันเดียวกันหรือเปล่า เขาบอกเวลาเกิดกรรมนี่เขาบอกไม่ใช่ มันเป็นอุบัติเหตุ ! มันเป็นอุบัติเหตุไม่ใช่กรรม มันเป็นอุบัติเหตุ.. ใช่ ! มันเป็นอุบัติเหตุ แต่ถ้ามีสติสักหน่อยหนึ่ง มีความระมัดระวังสักหน่อยหนึ่ง มันจะเกิดอุบัติเหตุไหมล่ะ เรานี่เป็นคนที่ระมัดระวังมาตลอดเวลาเลย แต่วันนี้ทำไมต้องมาเผลอให้มันมีอุบัติเหตุล่ะ นี่กรรมของคนมันมีซับซ้อนมา

ฉะนั้นเราจะบอกว่า ในปัจจุบันนี้เราจะเลือกให้มันสะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมดเลยนี่ มันไม่ใช่ว่าเราเกิดมาทุกคนเป็นเหมือนผ้าขาว แล้วมาปัจจุบันนี้ต่างคนต่างเป็นผ้าขาวหมด เราก็เลือกอะไรก็ได้ใช่ไหม แต่เราเกิดมาจากกรรม นี่มันแตกต่างหลากหลายไง ถ้ากรรมคนที่มาดีมันก็ดี เกิดมาเห็นไหม สัมมาอาชีวะเลย พ่อแม่ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามหมดเลย แล้วก็ชักชวนลูกไปทางที่ดีหมดเลย ถ้าเราเกิดมาเจอสภาวะแบบนั้นล่ะ

มันมี กรณีอย่างนี้มันมีมากในพระไตรปิฎก นกแขกเต้า.. นกแขกเต้ามันมีคู่แฝด คู่แฝดใช่ไหม แล้วมันเกิดมา ๒ ตัว ตัวหนึ่งฤๅษีชีไพรเอาไปเลี้ยง อีกตัวหนึ่งโจรเอาไปเลี้ยง นี่นิสัยมันไปคนละเรื่องเลย ไอ้ตัวที่ฤๅษีเอาไปเลี้ยงก็เป็นนิสัยผู้ทรงศีล ไอ้ตัวที่โจรเอาไปเลี้ยงมันเป็นคนดูต้นทางให้โจร มันไปคนละทางเลย

มันมีในพระไตรปิฎกนี่นะมันมี เวลาพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องสิ่งใด มันมีที่มาที่ไป พระพุทธเจ้านี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นการที่สร้างอะไรมา แล้วจะมาประสบผลอย่างใดเลย ฉะนั้นพอท่านพูดอย่างนั้นปั๊บ นี่เวลามีปัญหาพระจะมาถาม พระพุทธเจ้าจะบอกว่ามันเป็นเพราะเหตุนี้ มันเป็นเพราะเหตุนี้

ฉะนั้นย้อนกลับมาที่ว่าในชีวิตปัจจุบันของเรานี่มันมาจากอะไร มันมาจากอะไรแล้วนี่อันนี้เราไม่พูดถึง เราไม่พูดถึงหมายถึงว่าอดีต ประวัติศาสตร์เราไม่ต้องไปพูดถึง เราไม่ไปแก้ไขมันหรอก ประวัติศาสตร์เราไม่เคยคิดแก้ไข แต่ประวัติศาสตร์นี่ เรามาจากประวัติศาสตร์ไง มันมีที่มาไง นี่ประวัติศาสตร์มันมีที่มาของเราใช่ไหม ถ้าเรามีที่มา อย่างเรานี่พอมาแล้ว มาเจอปัจจุบันนี้เราจะแก้ไขอย่างใด

ถ้าแก้ไขอย่างไรนี่มันถึงว่า ถ้าที่มานี่มันทำให้เราแบบว่ามันรุนแรง เราก็ต้องมีความเข้มแข็ง เพราะว่าความรู้สึกความนึกคิดของเรานี่มันต่ำต้อยกว่าคนอื่น แต่ถ้าคนนี้ที่มาเขาเข้มแข็ง เขามาที่ดี ความรู้สึกความนึกคิดของเขาก็แตกต่างกันไป

ฉะนั้นเรื่องที่ว่า เราจะไปบอกว่าให้บริษัทธุรกิจในโลกนี้สะอาดบริสุทธิ์หมดเลย หรือถูกต้องดีงามหมดเลย หรือเราต้องไปอยู่ในสิ่งที่เป็นธุรกิจที่บริสุทธิ์หมดเลยนี่มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเราบวชใหม่ๆ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ทีนี้พอเวลาเรามาจากอีสานมันมีพระมาด้วยไง เขามาเห็นที่บ้าน เพราะที่บ้านมันทำเส้นก๋วยเตี๋ยวไง เขาบอกบ้านมึงดีเนาะ สัมมาอาชีวะว่ะ กูก็ยังงงเลย เราคิดไม่ถึงนะ คือว่ามันเป็นข้าว มันเป็นแป้ง มันทำเป็นอย่างนั้นไป เวลาเขาไปดูเขาพูดนี่เราแปลกใจ ถ้ามันเป็น ไอ้นี่มันอยู่ที่ว่าเราเลือกไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนี้เราจะเลือกได้

นี่พูดถึงว่าการถือศีลต้องใช้ปัญญานะ !

ถาม : ๓. ถือศีลต้องไม่ซื้อหุ้นในธุรกิจที่ผิดศีลด้วยใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ไอ้การซื้อหุ้นนี่นะเป็นการลงทุน เพราะเรื่องการลงทุนนี่นะ เรื่องทำธุรกิจกับความผิดศีล ความผิดศีลมันอยู่ที่ว่าใจของคนสะอาดนะ มันมีอยู่ลูกศิษย์คนหนึ่งเขาเล่าให้ฟังนะ เขาว่าเขาเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เขาบอกว่าเขาไม่เคยวิ่งเต้นอะไรเลย.. แปลกนะ เขาพูดเองว่าเขาไม่เคยวิ่งเต้นอะไรเลย แล้วถึงเวลาจะมีการโยกย้ายนี่มันบังเอิญนะ บังเอิญว่าจะมีนาย ก. กับนาย ข. นี่จะวิ่งเต้นมาคู่หนึ่ง เขาจะแข่งขันกันมา สุดท้ายแล้วเขาไม่ต้องทำอะไรเลยนะ เขาเป็นตาอยู่ทุกทีเลย

แปลกมากนะ เขาบอกเขาพูดด้วยสัจจริงว่าเขาไปทำงานเขาไปทำงานสุดความสามารถเขานั่นแหละ แต่เขาไม่เคยไปวิ่งเต้นเรื่องอะไรที่ว่าโดยการวิ่งเต้นของเขา แต่พอมันมีปัญหาขึ้นมานี่มันจะมีตาอินกับตานา ทุกทีมันจะมีตาอินกับตานาเขาแข่งขันกัน พอเขาแข่งขันปั๊บนะ มันลงไม่ได้นะมาลงที่ตาอยู่ทุกทีเลย

นี่เขาพูดของเขา แต่ในความรู้สึกของเราสิ เราว่าคนนี้แปลก คนนี้แสดงว่าเขาสร้างบุญของเขามาดี.. เขาสร้างบุญของเขามาดี เพราะธรรมดาคนเรานี่หน้าที่การงานใครก็อยากเจริญทุกคนแหละ ใครไม่อยากได้ ก็อยากได้ทั้งนั้นแหละ อยากได้แต่ไม่ถึงกับทำนอกกติกา คือไปวิ่งเต้นเขาไม่เคยทำ แต่อยากได้ไหม.. อยาก แต่ไปทำอย่างนั้นไม่ทำ แต่บังเอิญคนอื่นเขาไปแข่งขันกัน พอไปแข่งขันกันแล้วก็มาตกที่เขา

นี้พูดถึงว่ามันได้มาเอง มันได้มาเองนะ แต่ถ้าเราจะลงทุน เราจะซื้อหุ้นนี่ต้องไม่ใช่ที่ผิดศีลด้วยใช่ไหมครับ.. ไอ้นี่มันอยู่ที่เราเลือก เห็นไหม มันหยาบกว่าคนที่เขาพูดเมื่อกี้นี้ที่บอกว่า เขาทำดีของเขา พอเขาทำดีของเขา นี่เราเชื่อมั่นของเรา พอเชื่อมั่นของเราแล้วผลมันต้องให้ผลตามนั้น ถ้าให้ผลตามนั้น นี่ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ใช่เวลาของเรา

แต่ถ้าเราเป็นคนที่ขาดแคลน เราเป็นคนที่อัตคัด เราทำคุณงามความดีของเราเพื่อความดีของเรา พอยังไม่ได้ความดีของเรานี่เราทุกข์มากเลย แต่คนอื่นเขาทำความดีของเขาเพื่อความดีนะ ถ้าเขายังไม่ถึงวาระของเขา เขาก็ไม่ตื่นเต้น แต่ถ้าเมื่อไรถึงวาระของเขา นี่ความดีของเขาให้ผลเขา เห็นไหม เราไม่บกพร่องไง ถ้าเราไม่บกพร่องมันจะเป็นอย่างนั้นไป

นี่พูดถึงการถือศีลเนาะ อันนี้สิมันจะมี เพราะศีลมันถึงมีการภาวนา !

 

ถาม : ๓๐๖. กามราคะกับกายราคะ (นี่คำถามนะ) เรื่อง “กามราคะกับกายราคะ อันเดียวกันหรือเปล่าครับ อันเดียวกันไหมครับ”

ทำไมผมมองไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่นในกายสังขาร ของสวยของงามโดยเฉพาะรูปกายของอิสตรี ทั้งสีสัน วรรณะ และความรู้สึก บางครั้งผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมเองที่เป็นผู้สร้างจินตนาการว่ามันสวย มันดี มันสุข มันน่าสนใจ ผมไม่อาจจะสร้างสติเพื่อพิจารณาธรรมอย่างนี้ได้เลย นั้นเป็นเพราะว่ากรรมของผมยังไม่หมดใช่ไหมครับ สิ่งที่ผมกระทำยังต้องกระทำต่อไปอีกใช่ไหมครับ จึงไม่สามารถละมันทิ้งได้ ผมมีความอยาก และไม่อยากมีความกำหนัดในกามที่เกิดจากกายสังขารของมนุษย์ นั้นเพราะอะไรครับ

ความไม่สนใจ ความสุขนั้นมีอยู่ แต่ความไม่สนใจในความงาม ในรูป ในขันธ์ไม่มีเลย ผมควรพิจารณาอย่างไร ควรเริ่มต้นใหม่หรือแก้ไขอย่างไร

วันนี้ผมรู้ว่ามันทุกข์นะที่ต้องไปรู้สึกอย่างนั้น และตอนนี้ผมเริ่มรู้แล้วว่าเรานี้โง่เหลือเกิน โง่จนไม่อาจก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้ กราบขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : นี้เขาถามปัญหา ปัญหาของเขาคือเขาพยายามจะพิจารณากามราคะ เห็นไหม เขาถามว่ากามราคะกับกายราคะนี่มันอันเดียวกันหรือเปล่า..

เพราะคนภาวนาแล้วมันก็อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะทำอะไรให้มันพัฒนาของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แต่พอภาวนาไปแล้วนี่ทำไมผมไม่เห็น ไม่รู้ ไม่เข้าใจ.. นี่สิ่งนี้เป็นทุกข์นะ คือคำถามนี้เป็นคำถามกำปั้นทุบดิน คืออยากพ้นทุกข์แต่ไม่รู้จะไปทางไหน อยากจะตัดกามราคะ กามราคะกับกายราคะนี่เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า อยากจะชนะมัน อยากจะฆ่ากิเลส แต่ไม่รู้ว่ากิเลสจะฆ่าที่ไหน แล้วฆ่าอย่างใด.. นี่ไงคำถามถึงบอกว่า เวลาผมภาวนาไปแล้ว เห็นไหม ถ้าภาวนาไปแล้วนี่มันเหมือนกับไม่รับรู้อะไรเลย นี่มันไม่ใช่ธรรมะไง

นี่ไงถือศีลใช่ไหม พอถือศีลแล้วมันมีปัญญาขึ้นมา มีปัญญาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา พอเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมานี่ศีล สมาธิ ปัญญา.. พอมีศีลทำให้จิตใจมันสงบ พอจิตมันสงบนะมันก็เหมือนว่าเรามีอาวุธ เรามีมีด มีพร้า มีสิ่งใดที่จะเอาไปทำให้มันประสบผลสำเร็จได้ แต่เราบอกว่าเราถือศีลใช่ไหม เราก็เริ่มภาวนาของเรานะ แล้วก็เงียบหายกันไปหมดเลย

“ทำไมผมไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่นของสังขาร.. ทำไมผมมองไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่นของสังขาร ของสวยของงาม โดยเฉพาะรูปกายของสตรี ทั้งสีสัน วรรณะในความรู้สึก บางครั้งผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมเองที่เป็นผู้สร้างจินตนาการว่ามันสวยมันงาม”

นี่เวลาเขาเห็นมันเห็นหยาบใช่ไหม อย่างเช่นเราสร้างจินตนาการแล้วรับรู้นี่มันอารมณ์หยาบๆ ถ้าสติมันทันมันก็จบ พอมันจบแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ ทำอะไรกันต่อไป.. นี่ไงถ้าเราจะทำต่อไปได้มันต้องให้จิตลึกกว่านั้น คำว่าลึกกว่านั้นคือมันต้องมีสมาธิ มีสมาธิมันจะมองเห็น มันจะมีสมาธิ

ศีล สมาธิ ปัญญา ! สมาธิ เห็นไหม วิปัสสนาคือจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยสัจธรรม ถ้าโดยสัจธรรมนี่มันก็จะเห็นโดยความเป็นจริง แต่นี้ความคิดความรู้สึกของเรามันเป็นโลกียปัญญา เป็นปัญญาที่ศึกษา ปัญญาที่เข้าใจมา ปัญญาที่ศึกษาธรรมมา เห็นไหม นี่ว่าจิตสงบแล้วพิจารณากาย พอพิจารณากาย พิจารณากายผ่านกายแล้วก็เป็นโสดาบัน ใครมาก็พิจารณากาย พูดเป็นวิทยาศาสตร์ไง พูดเป็นสูตรสำเร็จไง

จิตสงบแล้วพิจารณากายสิ สติปัฏฐาน ๔ สิ เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ความจริงมันไม่มี ไม่มีเพราะอะไร ไม่มีเพราะจิตมันไม่สงบ ไม่มีเพราะมันไม่มีผู้กระทำ แต่มันมีโดยวิทยาศาสตร์ มีโดยตำราไง นี่สติปัฏฐาน ๔ นะ พุทโธ พุทโธนี่เป็นสมถะ นี่พวกนี้ไม่มีปัญญาหรอก แต่ถ้าใช้ปัญญามันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ของใคร

ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ก็นี่ไง พอมันทำจบแล้วอะไรต่อล่ะ ก็ผมไม่รู้ไม่เห็น จบแล้วก็คือจบแล้ว เพราะอะไร เพราะมันไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีรากเหง้า ไม่มีต้นขั้ว ไม่มีบัญชี ถ้าจิตมันสงบเข้าไป มันสงบลงสู่จิต.. สู่จิตนั้นคือตัวรากเหง้า ภวาสวะคือภพ ! ปฏิสนธิจิต.. ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมต่างๆ

ปฏิสนธิจิตคือรากเหง้าคือต้นขั้ว ถ้าจิตสงบมาสู่ต้นขั้วนั้น สลิปตรวจสอบได้ เงินโอนไปที่ไหน เงินของใคร ใครโกงใคร เดี๋ยวตรวจสอบหมด ถ้ามันเป็นความจริงตรวจสอบได้หมด ถ้าตรวจสอบได้หมดมันก็ชำระกิเลสได้.. นี่เงินโอนไปโอนมา โอนกันไปไม่มีสลิป ไม่มีตั้นขั้ว มันเป็นการคอรัปชั่น คอรัปชั่นธรรมะนะ คอรัปชั่นของพระพุทธเจ้า มันก็เลยบอกว่านี่ว่างๆ สบายๆ นี่ไงมันไม่มีสลิป มันไม่มีการโอนเข้าโอนออก มันไม่มีการไปมา แล้วมันก็งงอยู่นี่

กามราคะกับกายราคะเลยนะ เขาคิดว่ากายราคะ.. คือความคิดวิทยาศาสตร์ไง ความคิดวิทยาศาสตร์ว่าถ้าเป็นกายราคะคือเพศตรงข้าม คือหญิงกับชายนั่นคือราคะ แต่เขาไม่ได้บอกว่าใจกูเป็นราคะ ไม่ใช่ร่างกายนั้นเป็นราคะ ร่างกายนั้นเป็นสิทธิของเขา

พระพุทธเจ้าบอกว่ากิเลสนะไม่ใช่อยู่ที่รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ใช่กิเลส สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่ใช่กิเลส ไม่มีอะไรเป็นกิเลสเลย กิเลสคือความไม่รู้ คืออวิชชาที่ใจนี้เท่านั้น ไม่ใช่ผู้หญิงเป็นกิเลส ไม่ใช่ผู้ชายเป็นกิเลส ผู้ชายก็เป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็เป็นผู้หญิงมันเกี่ยวอะไรกัน ผู้ชายเขาก็เป็นผู้ชายใช่ไหม ผู้หญิงเขาก็เป็นผู้หญิงใช่ไหม เขาเป็นกิเลสเหรอ

ตัวเขาเป็นกิเลสกับใจเขาแต่เขาไม่เป็นกิเลสกับเราหรอก เขาไม่ได้เป็นกิเลสให้เราไปฟุ้งซ่านถึงเขาหรอก เขาไม่รู้อะไรกับเราหรอก ผู้หญิงมันเดินผ่านไปแล้ว ผู้หญิงมันกลับบ้านนอนแล้วเราเพิ่งคิดได้ แหม.. ผู้หญิงคนนี้ส๊วย สวย.. นี่ไอ้ความคิดได้นั่นคือกิเลส ไอ้ผู้หญิงที่มันผ่านไปแล้วมันไม่ใช่กิเลส

ฉะนั้นกายราคะไม่มี ! กายราคะไม่มี มีแต่กามราคะ.. กายก็คือวัตถุอันหนึ่ง กายเป็นวัตถุอันหนึ่ง แต่นั่นด้วยความเห็นวิทยาศาสตร์ไง เห็นไหม วิทยาศาสตร์พิจารณากายๆ แล้วพิจารณาไปแล้วก็จะเป็นโสดาบัน แล้วก็คนบอกพิจารณากายแล้วนะผ่านกาย เราเดินผ่านป่าช้านี่กูเดินผ่านศพเยอะแยะเลย กายเป็นร้อยๆ กาย ผ่านมาแล้วได้อะไร.. ไม่ได้อะไรหรอก ไม่ได้อะไรเพราะอะไรรู้ไหม ไม่ได้อะไรเพราะว่าไม่ใช่ภาคปฏิบัติ

ปริยัติ ปฏิบัติ ! ปริยัติคือการศึกษา ปริยัติคือวิทยาศาสตร์ เราศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า ศึกษาแล้วก็คือการศึกษา แต่ในการปฏิบัติ เห็นไหม เป็นการพิสูจน์ตรวจสอบ.. ฉะนั้นสิ่งที่ว่านี่ สิ่งต่างๆ เขาพูดเองหมดนะ

“สิ่งต่างๆ นี้มันเหมือนผมเองที่เป็นผู้จินตนาการว่ามันสวย มันดี มันสุข มันน่าสนใจ ผมไม่อาจสร้างสติเพื่อพิจารณาธรรมอย่างนี้ได้เลย”

นี่ผมไม่อาจสร้าง ! สร้างไม่มี การสร้างนี่นะคือการฝึก บางทีเราบอกว่าลองสร้างขึ้นมา สติต้องสร้างขึ้นมา สมาธิต้อง.. คำว่าสร้างของเรานี่นะมันเป็นเขาเรียกว่าสารตั้งต้น มันเป็นตัวนำ พอเรามีการสร้างว่าเราต้องการสติ เราฝึกหัดสติจนมันเป็นตัวมันเองไม่ใช่การสร้าง ไม่ใช่สารตั้งต้น มันเป็นสติ ทำสมาธิเราก็พยายามตั้งสติให้มันเป็นสมาธิ นี่สารตั้งต้น.. ถ้าไม่มีสารตั้งต้นเราจะไปประกอบสิ่งนั้นขึ้นมาไม่ได้

คำว่าสารตั้งต้น เห็นไหม เวลาพิจารณากาย ถ้าจิตเราสงบแล้วเห็นกายไม่ได้ เราต้องรำพึงถึงกายขึ้นมา นึกเอา ! นึกเอาในสมาธิ นึกเอาขึ้นมา จนมีความชำนาญแล้วไม่ใช่นึก พอมีความชำนาญแล้วถ้านึกนะมันเป็นสัญญา แต่พอเราฝึกหัดจนมันขึ้นมาเป็นความจริงแล้ว พอตั้งเป็นกายขึ้นมาพิจารณามันจะละลายไป มันจะเน่ามันจะเปื่อยผุพังของมันไป ตามแต่กำลังของจิตที่มีกำลัง นี่เป็นข้อเท็จจริง

นี่สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ ! เกิดตรงจิตมันสงบแล้ว พิจารณาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมด้วยข้อเท็จจริง.. แล้วข้อเท็จจริงนี่ เห็นไหม เวลาเราต้มน้ำเราทำอาหาร เวลามันโดนความร้อนนี่อาหารมันจะสุกไหม เราทำอาหารนี่อาหารจะสุก

ตบะธรรมมันมี สติมันมี สมาธิมันมี เวลามันพิจารณาของมันไปด้วยตบะธรรม มันมีพลังงานของมัน พลังงานตัวนี้มันทำให้เกิดเป็นอสุภะ พอเป็นอสุภะนี่มันจะแปรสภาพของมันไป แล้วผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นคือใคร ก็คือตัวจิต ถ้าตัวจิตมันมีการกระทำแบบนั้น นี่คือการกระทำแบบนั้นมันถึงจะเป็นภาคปฏิบัติ ฉะนั้นการปฏิบัติมันต้องมีพื้นฐานไง

ที่บอกว่าคำว่าต้องมีสารตั้งต้น โอ๋ย.. อย่างนี้มันก็นึกเอาน่ะสิ.. ถ้ามันเป็นกิเลสมันนึกเอาอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นความจริงมันไม่ใช่นึกเอา มันฝึกจนมันเป็นจริงขึ้นมา พอเป็นจริงขึ้นมานี่เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง ไม่ได้เชื่อใคร.. พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อใคร ไม่ให้เชื่อพระพุทธเจ้า ! ไม่ให้เชื่ออาจารย์ที่สอน ! ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้ปฏิบัติขึ้นมา ให้มันเป็นจริงขึ้นมา ให้เชื่ออันนั้นเป็นปัจจัตตัง อันที่รู้ที่เห็นนั้นเป็นปัจจัตตังขึ้นมา.. นี้คำว่าเป็นปัจจัตตังขึ้นมา สิ่งนั้นต่างหากมันถึงเป็นสันทิฏฐิโก นี่มันถึงจะชำระกิเลสโดยใจดวงนั้น

ฉะนั้นสิ่งที่เขาถามมา “กามราคากับกายราคะนี่ให้ทำอย่างใด.. ความสนใจนี่เขาบอกว่าทุกข์มากนะ ความไม่สนใจความสุขนั้นมีอยู่ แต่ความไม่สนใจในความสวยงาม ในรูปในขันธ์ไม่มีเลย ควรจะพิจารณาต่อไป”

คำว่าไม่มีเลยนี่มันแบบว่ามันว่าง มันว่างคือมันวาง มันวางนี่มันไม่รู้ว่าใครวางใครไง แต่ถ้าเป็นความจริง ถ้ามันมีสตินะ มันมีตัวเรานี่เราเป็นผู้ทำงาน ทำงานจบแล้วมันปล่อยวางโดยที่ว่าการพิจารณากาย พิจารณากายจนมันรวมลงมันขาดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์.. กายเป็นไป กายแยกออกไป จิตมันแยกออกไป ทุกข์มันแยกออกไป จิตรวมลงสู่ ! จิตรวมลงสู่ ! เห็นไหม หลวงตาพูดประจำ “เวลาเป็นโสดาบันนี่นะ เวลากายกับจิตมันแยกออกจากกันนี่อย่างคนละทวีปเลย เหมือนกับยุโรปกับเอเชียนี่มันแยกออกจากกันเลย”

นี่มันแยกออกจากกัน มันรวมลง พอรวมลงนี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วอะไรรวมลงล่ะ.. จิตเป็นจิตแล้ว สิ่งที่รวมลงคืออะไรล่ะ แล้วรวมลงสู่ฐานของมัน ชำระของมันแล้วสังโยชน์ขาด ๓ ตัวแล้ว แล้วมันเหลืออะไรล่ะ ! มันเหลืออะไร มันเป็นอย่างใด มันเป็นเช่นใด

นี่ผู้ภาวนาเป็น ครูบาอาจารย์ท่านภาวนาเป็นของท่าน ท่านจะรู้ของท่านหมดล่ะ.. คำว่ารู้ของท่านนะ มันพิจารณาของมันไปแล้วมันจะเป็นตามความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมัน นี่ความจริงคือความจริง ความจริงมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีอันเดียว ใครพูดก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าพูดหรือใครจะพูด พระศรีอริยเมตไตรยจะมาพูดก็อันนี้แหละอันเดียวกัน ทุกคนจะรู้เหมือนกัน แล้วพิสูจน์ได้เหมือนกัน แต่ถ้าคนไม่รู้ จำอย่างไรก็พูดไม่ได้

เวลาพูดมันเป็นวิทยาศาสตร์นี่พูดสำเร็จเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ! กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์แล้วเป็นอย่างไรล่ะ ก็กายเป็นกายแล้วทำอย่างไรล่ะ.. ตอบไม่ได้หรอก ตอบไม่ได้เพราะอะไร เพราะของไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นตอบไม่ได้

แต่ถ้าของเคยรู้เคยเห็นนะเวลาทำไปแล้วมันจะพัฒนาการของมัน ไม่ใช่ว่าพอจิตสงบแล้วพิจารณากายสิ พอจิตสงบแล้วพิจารณากายสิ ใครมาก็พูดอย่างนี้ว่าพอจิตสงบแล้วพิจารณากายสิ แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ ก็พิจารณาแบบวิทยาศาสตร์ไง พิจารณาแบบดูหนังสารคดีพอทำหนังจบก็คือจบ แล้วเป็นอะไรล่ะ พอหนังจบแล้วก็ต่างคนต่างกลับบ้านใช่ไหม กิเลสยังท่วมหัวอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ก็ทำแบบวิทยาศาสตร์ไง

แต่ถ้าเป็นจริงหนังจบแล้ว หนังจบแล้วเราเป็นอะไรล่ะ มันเหลืออะไรล่ะ เรารู้อะไรล่ะ เราเข้าใจอะไร แล้วเราทำอย่างไรได้ ถ้ายังไม่ได้อะไรแสดงว่าเรายังไม่รู้จริงไหม เราก็ต้องทำใหม่ ทำซ้ำๆๆ จนกว่าเราจะเข้าใจได้หมด เราจะปล่อยวางได้หมด.. ถ้าเราปล่อยวางได้หมด เราอธิบายได้หมด อันนั้นถึงจะเป็นได้

เราจะบอกว่าสิ่งที่ทำมา สิ่งที่ว่าการพิจารณากามราคะกับกายราคะมันพิจารณาโดยวิทยาศาสตร์โดยโลก แต่ถ้าเป็นความจริงต้องพยายามปัญญาอบรมสมาธิ หรือคำบริกรรมให้จิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาแล้วนี่ที่ว่าพอมันปล่อยวางหมด มันเบลอหมด นี่มันปล่อยวางหมดเลย ทำอะไรไม่ได้ กำหนดอะไรไม่ได้เลย นั่นคือไม่มีอะไรเลยเพราะไม่มีสติ.. ถ้ามีสติ สมาธิก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญา.. เพราะมีสติ สมาธิถึงเป็นสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิออกไปพิจารณากายมันถึงเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าไม่มีสมาธิพิจารณากายมันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาแบบวิทยาศาสตร์ ปัญญาแบบโลก

ปัญญาแบบโลกคือปัญญาแบบเราคิดใคร่ครวญให้มันจบกระบวนการไปถึงความคิดรอบหนึ่ง จบแล้วก็คือคิดจบแล้วไง แต่ถ้าพอเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือใช้คำบริกรรมพุทโธให้จิตสงบเข้ามา ไอ้ตัวจิตนั้นแหละ ไอ้ตัวภวาสวะ ไอ้ตัวภพนี่ปฏิสนธิวิญญาณนั่นล่ะ ไอ้ตัวจิตใต้สำนึกนั่นล่ะ มันจะออกไปพิจารณา ออกไปพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม แล้วมันจะสำรอกคายสิ่งที่อยู่ในใจมัน อยู่ในจิตใต้สำนึกนั้น อยู่จิตก่อนสำนึกนั้น อยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่จิตเดิมแท้ นั้นคือตัวสังโยชน์

ตัวสังโยชน์ ตัวผูกมัดมันอยู่ที่จิตเดิมแท้ มันไม่ได้อยู่ที่ความคิด ความคิดนี้หยาบมาก พลังงานคือจิตนี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส คือจิตเดิมแท้ออกมาคิด ออกมาคิดถึงเป็นสังขาร.. สังขาร ความคิด ความปรุงความแต่งมันเกิดจากจิต มันไม่ใช่จิต แล้วไปคิดกันอยู่ที่ความคิด ความคิดเกิดขึ้นแล้วก็ดับที่ความคิด ไอ้จิตใต้สำนึกนั้นมันนอนตีกินอยู่นั่นสบายมากเลย มันบอกว่าชาวพุทธนี้โคตรโง่เลย ปฏิบัติโง่ๆ เลย ปฏิบัติที่ความคิดเลย ไม่ได้ปฏิบัติที่จิต

นี่กิเลสมันหัวเราะเยาะ มันขี่หัวอยู่ นี่เพราะอะไร เพราะคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบปริยัติ คิดแบบการศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ถ้าปฏิบัติตามข้อเท็จจริง จิตสงบเข้ามา จิตไม่สงบกับจิตสงบมันก็ต่างกัน ก็รู้แล้วว่าอันนี้สงบ อันนี้ไม่สงบ พอจิตสงบแล้วออกใช้ปัญญา มันจะรู้เลยว่าปัญญาที่เป็นโลกียปัญญา

“โลกียปัญญาคือปัญญาอบรมสมาธิ โลกุตตรปัญญาคือปัญญาฆ่ากิเลส”

โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญาแตกต่างกันอย่างใด.. ความแตกต่างอันนี้มันเกิดมาจากไหน มันเกิดจากจิตสงบโดยภาคปฏิบัติที่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เป็นคนตอกย้ำ มันตอกย้ำเพราะอะไร มันตอกย้ำเพราะท่านปฏิบัติมาแล้ว ท่านผ่านกิเลสมาแล้ว ไอ้เราไม่เคยทำ ไอ้เรานี่ไปก้อปปี้มา ไปเอาแบบอย่างมา แล้วก็มาทำ

ผมวางหมดแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ก็เลยเข้าใจว่า กายราคะมีหรือเปล่า.. ไม่ใช่ ! มันไม่มีประสบการณ์จริงไง แต่ประสบการณ์นี่เป็นประสบการณ์ ถ้าอย่างนี้นะมันมีสุตมยปัญญา.. นี่คือจินตมยปัญญา คือจินตนาการด้วยเรา แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญานี่มันจะไปอีกชั้นหนึ่ง

นี่ไงมิติ เห็นไหม เราบอกปัญญาคนละมิติ ความรับรู้คนละมิติ.. คนละมิติจริงๆ นะ มิติของสามัญสำนึกเรา นี่มนุษย์ มิติของการปฏิบัติ นี่ไงสมมุติบัญญัติ บัญญัติคือสัจธรรมของพระพุทธเจ้า เวลามันผ่านพ้นไปแล้วนะมันจะเป็นธรรมแท้ๆ มันพ้นจากบัญญัติไปด้วย พ้นจากสมมุติ พ้นจากบัญญัติแล้วบอกเป็นวิมุตติ วิมุตตินี่ก็เป็นสมมุติอันหนึ่งเพราะสมมุติว่าวิมุตติไง แต่ความจริงมันมีผล ผลคือความจริงอันนั้น แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไรก็เลยบอกเป็นวิมุตติ

แล้วเขาบอก เวลาเขาเถียงกันไงปริยัติเขาบอกว่าวิมุตติก็สมมุติ วิมุตติก็นึกเอาขึ้นมา.. ใช่ ! วิมุตติก็สมมุติ แต่สมมุติว่าวิมุตติไง สมมุติว่าวิมุตติเว้ย สมมุติว่าเป็นธรรมน่ะทำไม เพราะมันเป็นธรรมจริงๆ แต่พูดกันไม่ได้ใช่ไหม กูก็ต้องสมมุติมาคุยกับมึงนี่ไง ก็เลยสมมุติว่าวิมุตติ

เขาก็บอกว่านี่มันเป็นสมมุติ วิมุตติก็เป็นสมมุติ.. ใช่ ! มันก็เป็นสมมุติ เพราะสมมุติมาเพื่อสื่อความหมายกันไง แต่ผู้ที่เข้าถึงจริงเขารู้จริง.. เขารู้จริงของเขา เขามีเหตุมีผลของเขา เขามีสัจธรรมรองรับความรู้สึกของเขา อันนั้นถึงว่าเป็นการปฏิบัติเนาะ

นี่เขาถามมา เพราะคำถามนี่มันเป็นสองแง่สองง่าม.. สองแง่สองง่ามเพราะอะไร เพราะว่าอย่างนี้เป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นอย่างไร ถ้าเราตอบไปแล้วนี่มันก็ตอบแต่คำถามนี้ แต่ที่เราตอบนี่นะเราตอบถึงว่า ที่มาของผู้ปฏิบัติ

ที่มาของการปฏิบัติมันจะมีคำถามนี้ขึ้นมา ถ้ามันมีความจริงคำถามมันจะไปอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าการปฏิบัติเริ่มต้นมา มันเป็นวิทยาศาสตร์หมดมันก็ออกมาเป็นแบบนี้ แล้วถ้าตอบตรงนี้ปั๊บมันก็ครึ่งๆ กลางๆ ใช่ไหม คำตอบอันนี้เลยย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้นการปฏิบัติ ตั้งแต่ทำสติ สมาธิ ปัญญา แล้วออกมาเป็นความจริง

อันนี้มันเป็นจินตมยปัญญา จินตนาการของผู้มีกิเลส กิเลสก็เป็นอย่างนี้ แล้วถ้าตอบอันนี้มันก็จะวนอยู่ในนี้แหละ ออกไปไม่ได้หรอก อ้าว.. ปัญญาก็ใช้แล้ว ว่างก็ปล่อยว่างหมดแล้วกายราคะก็รู้แล้ว กามราคะก็รู้แล้ว แล้วได้อะไรล่ะ.. ถ้าได้ไม่ถามมาหรอก ที่ถามมายังงงอยู่ พองงอยู่เราถึงบอกว่าเริ่มต้นถ้าจะให้ถูกต้องเริ่มต้นกลับมาตั้งสติ ต้องมีปัญญาอบรมสมาธิ หรือมีคำบริกรรมให้จิตสงบ

พอจิตสงบแล้วมันจะมีอาวุธ มีธรรมาวุธไปต่อสู้คัดง้างกับกิเลส แล้วถ้าทำลายกิเลสแล้วมันถึงจะเป็นวิมุตติ เป็นสัจธรรมเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เอวัง