ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปฏิบัติจึงรู้

๑๕ ม.ค. ๒๕๕๔

 

ปฏิบัติจึงรู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๓๑๔. เนาะ

ถาม : ๓๑๔. เรื่อง “จิตกับขันธ์”

ที่หลวงพ่อเคยบอกว่า “จิตไม่ใช่ขันธ์” หมายถึงเมื่อเรามีสติ สมาธิทันเหตุการณ์ สัญญาเกิดก็ตัดขาด ขาด ขาด ไปจนจิตไม่สามารถใช้ขันธ์ได้ เมื่อนั้นจิตก็ขาดจากขันธ์ มีจิตตัวหนึ่งเห็นจิตอยู่ฝั่งหนึ่ง ขันธ์ที่ไหลผ่านไปเหมือนสายน้ำแต่ไม่สัมผัสกัน จิตจึงไม่ใช่ขันธ์.. ถูกผิดประการใดหลวงพ่อช่วยเมตตาตอบด้วย

หลวงพ่อ : อันนี้คือการปฏิบัติ เห็นไหม เวลาเขาปฏิบัติไปเขามีอาการของเขา ทีนี้คำว่าจิตไม่ใช่ขันธ์ ! จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ เราเปรียบเหมือนตะกอนน้ำ.. น้ำกับตะกอน ตะกอนกับน้ำคนละอันเด็ดขาด แต่ในน้ำนั้นมีตะกอน ฉะนั้นถ้าในน้ำมีตะกอน ถ้วยน้ำมีตะกอนถ้ามันขยับตะกอนกับน้ำก็ต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป

ความสัญชาตญาณของมนุษย์ มีความคิดกับพลังงาน ฉะนั้นเราจะแยกว่าตัวไหนเป็นพลังงาน ตัวไหนเป็นความคิด พลังงานคือจิต ความคิดคือขันธ์ เพราะความคิดมันต้องสมบูรณ์แบบถึงจะเป็นความคิดออกมาได้ เช่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูปคืออารมณ์.. รูปารมณ์ รูปที่เป็นอารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกนี่มันสมบูรณ์ด้วยขันธ์ ๕ ฉะนั้นพอสมบูรณ์ด้วยขันธ์ ๕ นี่คือขันธ์ ๕ นี่คือขันธ์ แต่ขันธ์ถ้าไม่มีพลังงาน ขันธ์มันก็เป็นขันธ์ตาย ขันธ์ที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ขันธ์จะขยับเขยื้อนได้ต่อเมื่อมันมีพลังงานขับเคลื่อน ตัวพลังงานขับเคลื่อนนั้นคือจิต ทีนี้ตัวพลังงานเฉยๆ มันขับเคลื่อนไปนี่มันขับเคลื่อนไปในอะไรถ้ามันไม่มีขันธ์

ฉะนั้นขันธ์กับจิตมันอยู่ด้วยกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน มันเหมือนกับสิ่งที่เป็นชิ้นเดียวกันโดยสามัญสำนึก ทีนี้พอมันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณา นี่เข้าใจตามความเป็นจริง มันถึงเห็นว่าจิตกับขันธ์ไม่ใช่อันเดียวกัน

“จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์”

ฉะนั้นจิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์นี่มันโดยข้อเท็จจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยข้อเท็จจริง โดยวิทยาศาสตร์ โดยข้อเท็จจริงที่มันเป็นจริง แต่นี้โดยข้อเท็จจริงที่มันเป็นจริงนี่ มันเหมือนกับเด็กกับผู้ใหญ่ ในเมื่อเด็กมันไม่สามารถเข้าใจความหมายที่ผู้ใหญ่พูดได้ แต่มันเข้าใจตามสามัญสำนึกของมันได้

นี่ก็เหมือนกัน เราหัดปฏิบัติเราก็ว่าความคิด นี่ความคิดเป็นอะไร จิตเป็นอะไร นามเป็นอะไร เวทนาเป็นอย่างไร พวกเราจะคิดกันจนหัวแทบแตกเลยมันไม่รู้เรื่องหรอก แต่ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้าเข้าใจนะ ธรรมะพระพุทธเจ้า ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนั้นเข้าใจหมดเลย แต่พอเวลาเอาเนื้อหาข้อเท็จจริงนี่ไม่รู้เรื่อง จับต้องอะไรไม่ได้ จับต้องอะไรไม่ได้.. พอจับต้องอะไรไม่ได้ปั๊บ เราทำสิ่งใดปั๊บเราก็ให้ค่ามันไง อ๋อ.. อย่างนี้เป็นจิต อ๋อ.. อย่างนี้เป็นขันธ์ อ๋อ.. อย่างนี้เป็นเวทนา

เวลาภาวนาเข้าไป เราเริ่มต้นภาวนาเข้าไปเราจะเริ่มทดสอบประสบการณ์ เขาเรียกว่าปริยัติกับปฏิบัติ.. พอเราปฏิบัติไป ความปฏิบัติไปเหมือนเด็ก เด็กกับผู้ใหญ่ เห็นไหม ผู้ใหญ่พูดนี่เด็กจะเข้าใจตามผู้ใหญ่ไม่ได้ แต่ความรับรู้ความต่างๆ เขาเข้าใจได้ในระดับของเขา

ฉะนั้นจิตเวลามาปฏิบัติเหมือนเด็กๆ พวกเรานี่เหมือนเด็กๆ เลย จิตที่หัดปฏิบัติใหม่เหมือนเด็กๆ หมด จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูกสักอันหนึ่ง แต่เด็กมันจะบอกว่าผู้ใหญ่นี่เป็นไดโนเสาร์นะ ผู้ใหญ่นี่ยุ่งมากเลย มันเก่งตลอดเลย นี้พอมันเก่งตลอด พอภาวนาไปมันก็จะมีประสบการณ์ของมัน ทีนี้พอประสบการณ์ของมันมันก็ลงที่คำถามนี้ไง ลงมาที่คำถามว่าจิตที่หลวงพ่อเคยบอกว่า “จิตไม่ใช่ขันธ์”

หลวงพ่อเคยบอกว่า.. แล้วก็คงค้านในใจน่าดูเลยนี่ โอ้โฮ.. มันก็ยุ่งไปน่าดู เพราะว่าผู้ใหญ่พูดกับเด็กไง เด็กมันเข้าใจไม่ได้หรอก ฉะนั้นพอเวลาปฏิบัติไปใช่ไหม

ถาม : หมายถึงเมื่อเรามีสติ สมาธิทันเหตุการณ์ สัญญาเกิดก็ตัดๆๆ จนไม่สามารถใช้ขันธ์ได้ เมื่อนั้นจิตก็ขาดจากขันธ์ มีจิตตัวหนึ่งเห็นจิตอยู่ฝั่งหนึ่ง ขันธ์ที่ไหลผ่านเหมือนสายน้ำที่ไม่สัมผัสกัน จิตจึงไม่ใช่ขันธ์.. ถูกผิดประการใด

หลวงพ่อ : ถูก ! ถูกในระดับหนึ่งนะ ฟังให้ดีพอบอกว่าถูกปั๊บว่าถูกหมดเลย.. ตอนนี้มันมีปัญหามา เมื่อวานลูกศิษย์เขามาคุยด้วย เขาบอกหลวงพ่อพูดไปนี่เขาค้านหมดเลย ผิดทุกอย่างเลย เพราะอะไรรู้ไหม มันถูกในระดับหนึ่ง นี่ระดับของเด็กใช่ไหม กับระดับของผู้ใหญ่ ระดับของผู้ทรงคุณวุฒิ ความถูกผิด ปัญญานี่มันแตกต่างกันทั้งนั้นแหละ พอบอกว่าถูกปั๊บเขาจะเอาอันนี้มาเป็นมาตรฐานเลย มันถูกของผู้ปฏิบัติใหม่แต่มันไม่ถูกหรอก

คำว่าถูกนี่นะถูกหมายถึงว่าถ้าเป็นสัมมาสมาธิ จิตนี่ เห็นไหม ขันธ์เหมือนเปลือกส้ม สมาธิเหมือนเนื้อส้ม ส้มกับเปลือกส้ม ซื้อส้มมามันก็ได้ส้มมาหนึ่งผล ส้มหนึ่งผลมีทั้งเปลือกส้มและเนื้อส้ม โดยสามัญสำนึกของความคิดมันเหมือนส้มลูกหนึ่ง เหมือนความคิดลูกหนึ่ง พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะผ่านจากเปลือกส้มเข้าไปสู่ผลส้ม.. เปลือกส้มคือขันธ์ เปลือกส้มคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.. จิต ! จิตคือตัวเนื้อส้ม เนื้อส้มคือตัวจิต ตัวเปลือกคือตัวขันธ์ คือสามัญสำนึก คือความรับรู้สึกเรา

ฉะนั้นถ้าเราคิดนี่เราคิดโดยเปลือก ส้มหนึ่งผลมันมีเปลือก ไปวางไว้ที่ไหนก็คือส้มผลนั้น ผลนั้น ผลนั้น.. ถ้าเราแกะเปลือกส้มนั้นออกมันก็เป็นเนื้อส้ม ถ้าแกะเปลือกออกนี่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันหดเข้ามาเป็นเนื้อส้ม.. เนื้อส้มมีรสหวาน เปลือกส้มมีรสขม รสขมนะ ความรู้สึกสามัญสำนึกนี่รสขม แต่เราพอใจเราเป็นความสุข ความรู้สึกของเราสัมผัสกันได้แค่เปลือกส้ม ความนึกคิดเรานี่คือเปลือกส้ม จับส้มก็คือทั้งผลนั้นๆ

ฉะนั้นถ้ามันสัมมาสมาธิเข้าไปนี่มันผ่านเข้าไป.. เราจะบอกว่าขันธ์กับจิต ให้เห็นว่าในเมื่อถ้ามันตัดขาดๆ คำว่าตัดขาดนี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสัญญาใช่ไหมตัดขาดๆ มีปัญญาหรือเปล่าล่ะ ถ้ามีปัญญานะมันจะเป็นสัมมา ถ้าไม่มีปัญญานะมันก็เป็นประสบการณ์ของเรา คือเราตัดอย่างนี้ เราใช้ตัดสัญญาๆๆ ใช่ไหม ตัดจนขันธ์ขาด

ไม่ขาดหรอก ตัดจนขันธ์นี่นะ พอเราตัดอยู่ตำแหน่งเดียว พอตัดปั๊บความสืบต่อ เห็นไหม ส้มกับเปลือกส้มนี่ระยะห่างของมัน ระยะห่างของส้มกับเปลือกส้มมันห่าง ระยะห่างของเปลือกส้ม พอเราเห็นปั๊บเราก็บอกว่าโอ้โฮ.. มันอยู่คนละฝั่ง

“มีจิตตัวหนึ่งเห็นจิตอยู่อีกฝั่งหนึ่ง” อันนี้มันเป็นสัญญาของคนได้ ถ้าเราใช้ปัญญาอย่างใด เรามีเป้าหมายอย่างใด เราสร้างเป้าหมายอย่างใด เราทำตามอย่างนั้น มันจะได้ผลอย่างที่เราคิดไง คือความคิดมันเป็นกรอบ แล้วเราทำตามความคิดนั้น เรามาเห็นตามความคิดนั้นมันเลยจิตเป็นฝั่งหนึ่ง จิตมีตัวหนึ่ง ความเห็นอยู่ฝั่งหนึ่ง คือว่ามันแยกระยะห่างได้

แต่นี้มันเป็นความเห็นของบุคคลนะ นี่มันเป็นนิมิต มันเป็นรับรู้ ถ้ามันเป็นนิมิตเป็นความรับรู้นะเขาถามว่าให้หลวงพ่อเมตตาแนะนำด้วยว่าถูกหรือผิด เราจะบอกว่าถ้าเป็นเด็กๆ นี่ถูก ! เด็กๆ หมายถึงว่าเด็กๆ นี่นะเริ่มต้นใครมีลูกน้อยก็อยากให้ลูกเดินได้ ใครมีลูกน้อยก็หวังว่าเมื่อไรลูกจะพูดได้ วันไหนลูกจะเดินได้ ใครภาวนาอย่างไรก็หวังว่าวันใดจิตเราสงบได้ ถ้าจิตสงบได้นะ เด็กมันจะหัดเดินหัดพูดมันก็ต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา

จิต ! จิตถ้าจะหัดภาวนามันต้องทำความสงบของใจเป็นธรรมดา ฉะนั้นเวลาเห็นจิตตัวหนึ่งเห็นอยู่อีกฝั่งหนึ่งมันก็เหมือนเด็ก เด็กมันหัดเดินมันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันหัดพูดก็พูดผิดพูดถูก เด็กมันพูดไม่ให้ผิดเลยนะ เวลาเด็กพูดเป็นห้ามผิดสักคำนี่ไม่มีคนพูดได้หรอก เด็กมันก็พูดไม่ชัด พูดผิดบ้างมันเป็นเรื่องธรรมดา

จิตมันมีการเห็นของมัน เห็นไหม ที่ว่าเห็นนิมิต เห็นต่างๆ เป็นความผิดหมด เป็นความผิดหมด.. จริงหรือ ! จริงหรือ ! การฝึกหัดของจิตมันก็มีการทดสอบมันเป็นธรรมดา แต่ทดสอบแล้วจิตนั้นมันต้องมีวุฒิภาวะ อะไรผิดอะไรถูกมันต้องแยกแยะของมันเป็น ถ้าจิตอันไหนมันแยกแยะว่าอะไรผิดอะไรถูกได้มันก็จะเจริญงอกงามมา มันก็เข้าสัมมาสมาธิ แต่จิตที่มันอ่อนแอมันแยกถูกแยกผิดไม่เป็นใช่ไหม มันก็ว่านู้นถูก นู้นถูกเหมือนเด็ก ลูกเรานี่มันเถียงทุกวันแหละ มันว่ามันถูกทั้งนั้นแหละ พ่อแม่นี่ยุ่งมาก โอ้โฮ.. พ่อแม่นี่รำคาญมาก พ่อแม่ว่าหนูผิดทุกวันเลย หนูนี่เทวดานะ

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปมันมีผิดมีถูกมันเป็นเรื่องธรรมดา มันเรื่องธรรมดาของวงกรรมฐานนะ วงกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ท่านเป่ากระหม่อมใครมาท่านจะรู้เลย ท่านจะวางรากฐานมา หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่หล้านะ ว่าหลวงปู่หล้านี่บวชในงานศพหลวงปู่มั่น.. หลวงปู่หล้าแล้วก็หลวงปู่ตัน แล้วก็หลวงปู่ลี นี่หลวงตาท่านบวชให้ แล้วท่านเป่ากระหม่อมมา ท่านเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กๆ เลย

ท่านเลี้ยงมาตั้งแต่ว่าภาวนาให้ตั้งสมาธิให้เป็น ภาวนาให้เป็น ท่านเลี้ยงของท่านมานี่มันจะรู้อย่างนี้ แต่ถ้ามันเป็นปริยัตินะ ว่าพุทธพจน์ ! พุทธพจน์ ! พุทธพจน์เอาบรรทัดวัดตลอด เอาบรรทัดจับเข้าไปตลอดเลย เอียงนู้นบรรทัดจับตลอด แล้วเด็กมันจะโตอย่างไรล่ะ

แต่ถ้าวงกรรมฐานเรานะ นี่หลวงตาท่านพูดเองว่าหลวงปู่ตัน หลวงปู่หล้า หลวงปู่ลี บวชในงานศพหลวงปู่มั่น นี่ท่านเป่ากระหม่อมมา ท่านเลี้ยงมา ท่านดูแลมา ท่านคอยประคองมา ถ้าประคองมานี่ความผิดความถูกอย่างนี้มันเกิดมาตลอด ถ้าความผิดความถูกอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา เราจะบอกว่าถ้ามันจะผิดมันจะถูกนี่เราทำไปเถอะ เรามีครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์จะคอยแนะนำเราเอง

ฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่ขันธ์นี่นะ มันไม่ใช่ขันธ์แต่ ! แต่ในวัฏฏะ ผลของการเกิดการตาย จิตกับขันธ์.. มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เทวดามีขันธ์ ๔ พรหมมีขันธ์ ๑ เห็นไหม คำว่าแล้วแต่เกิดในสถานะไหน ชาตินั้นธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร

ฉะนั้นจิตไม่ใช่ขันธ์ ! คำว่าไม่ใช่ ไม่ใช่แน่นอน เพียงแต่ไม่ใช่ ที่ว่าขาดๆ อย่างนี้ ถ้าขาดอย่างนี้ปั๊บมันก็เป็น.. ถ้ามันเป็นจริงนะมันจะเข้าสู่สมาธิไง แต่ถ้าจิตไม่ใช่ขันธ์โดยความเป็นจริงนะจิตต้องสงบก่อน ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้ววิปัสสนาโดยจิตที่เป็นสมาธิ จิตเป็นสัมมาสมาธินี่จะเห็นกายไง กาย.. เห็นกายด้วยเจโตวิมุตติคือเห็นกายเป็นนิมิต เห็นกายโดยเป็นภาพ เป็นปัญญาวิมุติ เห็นกายโดยความรู้สึกจะเป็นขันธ์ ๕ แล้วแยกแยะมัน เห็นไหม

นี่เราจะแยกแยะว่าขันธ์ พอแยกแยะขันธ์นะ พอขันธ์ถ้าเราแยกแยะส่วนใดส่วนหนึ่ง ขันธ์นั้นมันจะหมุนไปไม่ได้ ขันธ์นั้นมันจะไม่สมบูรณ์ในขันธ์ ๕ จะไม่สมบูรณ์ในขันธ์ ๕ อารมณ์เกิดไม่ได้ ความคิดเกิดไม่ได้ ความคิดถ้าไม่มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.. กระบวนการของมันเป็นกระบวนการที่มันจบสิ้น ความคิดไม่มีเกิด !

ความคิดฟุ้งซ่านๆ ที่เขาว่ากันไป ฟุ้งซ่านมันเป็นผล แต่ความเกิดของความคิดมันมาจากไหน ความเกิดของความคิดมันมาจากไหน.. นี่ถ้ามันเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงนะ เห็นความคิดมันเกิดมาจากไหน นี่พอความคิดมันดับ มันดับแล้วเหลืออะไร ดับแล้วเหลือจิต จิตคืออะไร จิตคือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิออกรู้อะไร ออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ในธรรมคืออะไร คือธรรมารมณ์ ธรรมคือขันธ์ ๕ ไง ธรรมคือความคิด ความรับรู้สึกของเราที่เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะอะไร เป็นธรรมเพราะจิตมีสัมมาสมาธิ พอเป็นธรรมขึ้นมา จิตเป็นสัมมาสมาธิจิตมันแยกอย่างไร พอแยกขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันขาดอย่างไร ถ้ามันขาดอย่างนั้นถึงว่าจิตไม่เป็นขันธ์จริงไง

จิตไม่เป็นขันธ์จริงต้องเกิดเป็นวิปัสสนาญาณ แต่นี้จิตที่ว่าจิตกับขันธ์นี่มันเป็นสมถะ คือเราพยายามทำความสงบของใจไง แล้วเราก็งงว่านี่มันขันธ์อย่างไร เพราะอะไร เพราะสัญญาตัดๆๆ นี่มันไม่มีปัญญาหรอก ตัดๆๆๆ นี่ตัดสัญญาๆๆ ตัดจนมันแยกออกไป ตัดนี้มันก็เหมือนบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่แหละ คำว่าตัด เห็นไหม มันเหมือนกัน คนภาวนาเป็นมันจะเข้าใจได้ คำว่าตัดๆๆ คือว่าไม่ให้ความคิดสืบต่อไง ให้พลังงานกับความคิดมันแยกกัน แยกกันด้วยสติของเรา แยกกันด้วยสติของเราแต่มันไม่มีปัญญาวิปัสสนา ถ้าในเมื่อมันไม่มีปัญญาวิปัสสนานี่ มันตัดๆๆ อย่างนี้มันก็เหมือนกับคำพุทโธ พุทโธ.. พุทโธเพื่อเอากำลัง

ฉะนั้นถ้ามันขาดอย่างนี้ เห็นไหม เพราะคำว่าตัดๆๆ นี่มีปัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญญา มรรค ๘ ครบไหม นี่มรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ นี่ถ้ามันอย่างนั้นปั๊บ จิตกับขันธ์จะแยกให้เห็นชัดๆ เลย จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ ทุกข์เป็นทุกข์แยกออกเลย สังโยชน์ขาดเลย ถ้าขาดนี่เป็นพระโสดาบัน.. นั่นเป็นตามความเป็นจริงนะ ฉะนั้นจิตไม่ใช่ขันธ์

จิตกับขันธ์.. ใช่ ! จิตกับขันธ์ นี่ความรับรู้ รู้ได้แค่นี้ไง เพราะคำถามเขาบอกว่า “ตั้งแต่หลวงพ่อบอกว่าจิตไม่ใช่ขันธ์” นี่เขาก็งงนะ แต่งงก็ส่วนงงไปเถอะ ในพุทธพจน์ก็ส่วนพุทธพจน์นะ เวลาปฏิบัติไปมันจะปฏิบัติไป.. นี้ว่าจิตกับขันธ์นะ

อันนี้สิมันจะยาวมากเลย จะให้เห็นว่าปริยัติกับปฏิบัติมันแตกต่างกันอย่างไร คำถามคนๆ เดียวกันนะ เขาถามไปเรื่องปฏิบัติก่อน แล้วเขาถามปฏิบัตินี่เขาพูดออกมาโดยที่แบบว่า พูดแล้วมันไม่เต็มปากเต็มคำไงเพราะว่ามันไม่ชำนาญ แล้วเขาก็ถามปัญหาซ้อนมาอีกปัญหาหนึ่งเป็น ๒ ปัญหา ในคนๆ เดียวกัน ฉะนั้นเราจะตอบทีละเรื่องนะ ตอบเอาที่เขาพยายามจะพูดให้เป็นกรรมฐานก่อน

 

ถาม : ๓๑๕. “กราบนมัสการปีใหม่ครับหลวงพ่อ พร้อมคำถาม”

กราบนมัสการปีใหม่ ๒๕๕๔ ครับ ขอให้ธาตุขันธ์หลวงพ่อมีพลานามัยแข็งแรงนะครับ ขอบพระคุณหลวงพ่อที่ให้แง่คิดผมมากมายหลายด้าน มากกว่าเดิมที่ผมเคยรับรู้หลายเท่า มีคำถามยาวสักหน่อย แต่อาจมีการอ้างอิงเหมือนครั้งแรกๆ ที่ผมถามหลวงพ่อ คำถามนี้เกี่ยวกับการตรวจสอบความเห็น (ทิฐิของผมครับ ต้องการทราบว่าเห็นถูกต้องหรือเปล่า)

๑.ครั้งแรกๆ ผมได้ยินหลวงพ่อเทศน์ว่า “จิตไม่เคยตาย” ตอนนั้นผมฟังแล้วงงมาก ย้อนพิจารณาไปมาอยู่น่าจะเป็นเดือนจึงเข้าใจว่า ที่ตายนั้นคือกาย ขันธ์ ๕ ประกอบกัน แบบนี้ผมเข้าใจถูกหรือผิดครับ

หลวงพ่อ : มันก็ถูกส่วนหนึ่ง ถูก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่มันไม่ถูกทั้งหมดไง ถูก ๘๐ เปอร์เซ็นต์

จิตไม่เคยตาย ! จิตไม่เคยตายนี่มันถึงว่าจิตนี้มันเป็นธาตุรู้ที่มหัศจรรย์ ทีนี้ธาตุรู้มหัศจรรย์ พอพูดนี่มันมีชาวพุทธเราพูดมากเลยว่าจิตไม่เคยตายจิตมั่นคงนี่มันจะเป็นอาตมัน เป็นอาตมันคือฮินดูไง เขาบอกว่าพูดอย่างนั้นไม่ถูก เขาจะบอกว่าจิตนี้มันตายก็คือตาย แต่ความจริงปฏิบัติแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ คือสิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่ควรเป็นประโยชน์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คือ ๘๔,๐๐๐ ข้อ แต่ถ้ามันจะพูดออกไปให้มันแตกแขนงแยกออกไปนี่มันจะไปได้อีก เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เหมือนกับใบไม้ในป่า”

ธรรมในพระไตรปิฎกนี่เหมือนกับใบไม้ในกำมือ.. ๘๔,๐๐๐ นี่คือใบไม้ในกำมือกำมือหนึ่งเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง ความจริงมันเหมือนป่าทั้งป่าเลย มันมีมหาศาลที่มหัศจรรย์ที่จะพูดอีกมากมายได้หมด ฉะนั้นคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีข้อจำกัด พอข้อจำกัดอย่างนั้นปั๊บ บอกจิตไม่เคยตายก็ว่าจิตไม่เคยตายๆ มันอธิบายไปนี่มันก็เหมือนใบไม้ในป่า เราจะอธิบายกันไปจนคนที่ไม่มีหลัก มันก็เลยจับต้นชนปลายไม่ถูก

ฉะนั้นคำว่าจิตไม่เคยตาย.. จิตมันไม่เคยตายเพราะมันย้อนกลับมาถึงจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนไปบุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่ไม่มีต้นไม่มีปลาย เห็นไหม แล้วเวลาท่านย้อนกลับไป ดูสิว่าเป็นพระโพธิสัตว์นี่ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มันยืดยาวขนาดไหน นี่มันไม่เคยตาย.. ถ้ามันเคยตายนะ ๔ อสงไขย การตายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่จนนับต้นนับปลายไม่ได้

เราจะบอกว่าเหมือนกับการทำงานยังไม่เสร็จใช่ไหม เราทำงานยังไม่เสร็จเราต้องทำงานต่อไปจนกว่างานเราจะเสร็จใช่ไหม จิตก็เหมือนกัน จิตเวลามันสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ มันสร้างมาๆๆๆ เห็นไหม สร้างมาเป็นพระพุทธเจ้า นี่มันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันสร้างมาตลอด ทีนี้พอมันสร้างมาตลอด นี่ไงถ้ามันตายมันตัดตอนกัน ผลของกรรม พันธุกรรมทางจิตมันจะส่งต่อกันอย่างไรล่ะ มันจะพัฒนาการต่อเนื่องกันไปอย่างไรว่าจะไปเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันเลยจิตไม่เคยตาย

ฉะนั้นจิตไม่เคยตายนี่มันไม่เคยตาย แต่การตาย ภพชาตินี่ อย่างที่ว่า “การตายคือขันธ์ ๕ ที่ประกอบกันนี้ใช่ไหมครับ” ถูก ! การตายคือวาระของมนุษย์ไง จิตนี่เวลาไปเกิด เห็นไหม วนในวัฏฏะมันเป็นวาระใด นี่วาระมนุษย์ วาระเทวดา วาระพรหม ตกไปวาระของสัตว์เดรัจฉาน เวลามันไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานล่ะ ๗ วัน ๘ วัน นี่ ๗ วัน ๘ วันหมดอายุขัยแล้ว มันตกวาระใดนี่วาระมันเปลี่ยน แต่ตัวประธานคือตัวจิตมันไม่เคยเปลี่ยน มันมีของมันอยู่อย่างนั้น มันถึงมีเวรมีกรรมคือเราที่นั่งอยู่นี่ไง

ทำไมจิตเราไม่เหมือนกัน ความคิดเราไม่เหมือนกัน ความรู้สึกเราไม่เหมือนกัน เกิดในพ่อแม่เดียวกันนะ แม้แต่เกิดเป็นคู่แฝดไข่ใบเดียวกันนะ คู่แฝดนี่คิดไม่เหมือนกัน ไข่ใบเดียวกันเลยทำไมมันไม่เหมือนกัน แล้ววาสนาก็ไม่เหมือนกัน สองคนนี้ไม่เหมือนกันเลย แฝด ๔ แฝด ๗ แฝด ๘ อะไรนั่นน่ะมันไม่เหมือนกันหรอก เพราะจิตหนึ่ง จิตมันไม่เคยตายไงจิตแตกเป็น ๒ ไปไม่ได้ แต่เวลามันเกิดมันเกิดมาอย่างไร.. นี่พูดถึงจิตไม่เคยตายนะ

ถาม : ๒. หลวงพ่อได้เทศน์ว่า “วิญญาณไม่ใช่จิต” ซึ่งมันขัดกับความเข้าใจเดิมๆ ของผม แต่แล้วความมั่นใจที่ว่าหลวงพ่อเป็นพระปฏิบัติ หลวงพ่อต้องพูดจริงสิ สิ่งที่เราเข้าใจเดิมๆ อาจจะเข้าใจความจริงไม่หมด ผมพิจารณาไปเรื่อยๆ คำตอบที่ผมได้มีดังนี้

๑.จิตคือทั้งหมด แต่วิญญาณคือส่วนย่อย ขึ้นอยู่กับภพชาติ ขึ้นอยู่กับขันธ์ ขึ้นอยู่กับอายตนะ (นี่ข้อหนึ่ง)

๒.จิตคือขาออกที่เรียกว่าจิตดวงเดียวเที่ยวไป (นี่อีกข้อหนึ่ง)

๓.วิญญาณคือขาเข้า คือความรับรู้อารมณ์ต่างๆ เข้ามา

แบบนี้ผมเข้าใจถูกหรือผิดครับ ครบถ้วนหรือไม่ครบถ้วนอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : กรณีอย่างนี้นะเราดีใจ เราดีใจว่าคนไปตรึกธรรมะอย่างนี้ เราใช้ประสบการณ์ของเราว่าถ้าทำอย่างนี้เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ คือเราตรึกในธรรม เราจะเกิดปัญญา เกิดความพิจารณา ความเกิดอย่างนี้นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แล้วมันก็เกิดความเข้าใจขึ้นมาอย่างนี้ นี้พูดถึงเข้าใจอย่างนี้นะ เดี๋ยวคำถามต่อไปมันจะเฉลยตรงนี้หมดเลย

อันนี้เราบอกว่านี่เขามีพื้นฐานทางวิชาการ คือเขาเป็นปริยัติว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วนี่เขามาปฏิบัติเพราะเขามาฟังเทศน์เราแล้วเขาพยายามปฏิบัติตาม แล้วเขาใช้ปัญญาของเขา เขาตรึกได้แค่นี้ ตรึกนี่คือใช้ปัญญา เห็นไหม ปัญญาแยกแยะ ถ้ามันตรึกแล้วมันปล่อยเขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าตรึกอย่างนี้ นี่คือการภาวนาอย่างหนึ่ง คือปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา

ฉะนั้นเวลาบอกวิญญาณไม่ใช่จิต แล้วความรู้สึกจิตคือทั้งหมด.. ใช่ ! จิตคือทั้งหมดคือภพ จิตคือภพนะ อาสวะ ๓ ! วิชาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ.. วิชาสวะ ภวาสวะ

ภวาสวะคือภพ.. ภพคือฐีติจิต ภพคือตัวจิต

วิญญาณ.. อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง เห็นไหม นี่ปฏิจจสมุปบาท ในวงรอบของพลังงานก่อนที่มันจะตั้งเป็นภพขึ้นมามันจะมีความปฏิสัมพันธ์ของมัน.. จนความปฏิสัมพันธ์ของมันครบรอบ พอครบรอบขึ้นมามันเป็นภพ มันเป็นความรับรู้ไง นี่ความรู้สึก จิตเดิมแท้ๆ ฐีติจิตนี่ !

ฐีติจิต เห็นไหม มันจะมีปฏิสัมพันธ์ของมัน จนกว่ามันจะรับรู้ของมัน ถ้ามันไม่มีปฏิสัมพันธ์ของมัน มันรับรู้โดยตัวมัน มันก็รู้ของมัน แต่มันรับรู้โดยไม่รับรู้ตัวมันเองนั่นคือตัวจิต ! ตัววิญญาณล่ะ.. รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ..

วิญญาณนี่มันมีวิญญาณหยาบ วิญญาณละเอียด วิญญาณคือส่วนย่อย ขึ้นอยู่กับภพชาติ ขึ้นอยู่กับขันธ์ ขึ้นอยู่กับอายตนะ อันนี้มันเป็นวิญญาณในวัฏฏะ วิญญาณในวัฏฏะที่ว่าวิญญาณของพรหม.. วิญญาณของพรหม วิญญาณของเทวดา วิญญาณของมนุษย์ วิญญาณของสัตว์ สัตว์มันก็มีความรับรู้ของมัน

ฉะนั้นมันมีอยู่ที่ขันธ์ อยู่ที่ขันธ์ที่เขาว่านี่ปัญญาของเขา นี้เราจะบอกว่าวิญญาณ วิญญาณอายตนะใช่ไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.. วิญญาณ วิญญาณในอายตนะ เช่นเสียงกระทบหู แต่เรามีความรู้สึกนึกคิดเรื่องอื่นไป เรารับรู้แต่เสียงแต่เราไม่รู้ว่าเสียงนั้นคืออะไร พูดถึงความหมายว่าอะไร มันไม่เกิดโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ เห็นไหม นี่กลิ่นถ้ามันมีวิญญาณรับรู้ กลิ่นเกิดจากจมูก

วิญญาณเกิดจากจมูก วิญญาณเกิดจากตา วิญญาณเกิดจากสัมผัส นี่วิญญาณในอายตนะ ถ้ามีวิญญาณในอายตนะ นี่วิญญาณในขันธ์ ๕ วิญญาณในขันธ์ ๕ ก็เหมือนที่เมื่อกี้นี้ที่ว่าจิตกับขันธ์ เพราะมีขันธ์ถึงเกิดอารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก.. นี้พูดถึงเวลาถ้าเราไม่ปฏิบัติเหมือนเด็กน้อย มันเรื่องใหญ่มากแบกไม่ไหว แต่เวลาคนปฏิบัติไปใช่ไหม พื้นฐานเลยนะเพราะมันต้องผ่านนี่เข้าไป พอจิตสงบแล้ววิปัสสนาไปเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์นะ อู้ฮู.. เรื่องนี้หยาบมากเลย แต่คนเวลาปฏิบัติใหม่เรื่องนี้สุดยอดลำบากที่สุดเลย เวลามันเข้าไปไง

ฉะนั้นที่เขาบอกว่า “จิตคือทั้งหมด วิญญาณคือส่วนย่อยที่ขึ้นอยู่กับภพถูกหรือเปล่าครับ”

จิตก็คือจิต ขันธ์ก็คือขันธ์ แล้วขันธ์ก็มีขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างกลางคือโสดาบัน ไอ้ขันธ์อย่างหยาบนะเวลาเราพิจารณาขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ พอขันธ์ ๕ ขาด นี่สังโยชน์ขาดเป็น ๓ ตัวเป็นพระโสดาบัน แล้วเวลาขันธ์อย่างกลาง เห็นไหม ถ้าเราพิจารณาขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่เป็นอุปาทาน พอเวลากามราคะ ปฏิฆะมันขาด มันเบาลงนี่เป็นสกิทาคา นี่ขันธ์อย่างกลาง

ขันธ์อย่างละเอียดนะ ขันธ์อย่างละเอียดนี่มันเป็นขันธ์ของโอฆะเลย มันเป็นปฏิฆะ โอฆะ นี่ขันธ์อย่างละเอียด พอขันธ์อย่างละเอียด นี่จิตมันพิจารณาขันธ์ ถ้ามันปล่อยขันธ์นี่นะ ปล่อยขันธ์คือปล่อยแม่ทัพ พอปล่อยขันธ์นี่ขันธ์ขาดแล้วมันเหลืออะไร เหลือแต่จิต เหลือแต่ภพ แล้วเหลือแต่ภพ นี่เหลือแต่ภพ ภพนี้จะทำลายอย่างไร.. มันต้องทำลายขันธ์ ทำลายจิต ทำลายทุกอย่างเลย

นี้การทำลาย.. คำว่าทำลายทุกคนว่าเป็นการตื่นเต้น การว่าเราจะทำลายมันต่อเมื่อสิ่งที่เราพูดอยู่นี้ พวกขันธ์ พวกจิตมันเป็นสื่อ มันเป็นพลังงาน มันไม่ใช่กิเลส แต่กิเลสมันคือตัวอวิชชา มันใช้ขันธ์ ใช้สัญญา ใช้ต่างๆ ออกเป็นสื่อสารกัน นี้ออกเป็นสื่อสารนี่มันมีกิเลสบวกเข้าไปด้วย นี้พอเราทำลายๆ จริงๆ นี่เราจะทำลายกิเลส แต่กิเลสมันอยู่กับขันธ์ ฉะนั้นเราถึงต้องทำลายขันธ์ไปด้วย พอทำลายขันธ์ไปด้วย พอทำลายขันธ์แล้วนี่กิเลสมันตาย พอกิเลสมันออกจากขันธ์ไป ขันธ์ก็เลยกลายเป็นขันธ์สะอาดไง เลยเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์ไง

โอ้โฮ.. ขันธ์บริสุทธิ์ได้อย่างไร งงอีกนะ นี้พูดถึงเวลาพิจารณาไป เห็นไหม มันถึงเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันถึงบอกจะเห็นชัดได้ต่อเมื่อมันพิจารณาขึ้นไป

ฉะนั้นนี่พูดถึงว่า “จิตคือทั้งหมด แต่วิญญาณคือส่วนย่อยๆ ที่เกิดอยู่บนภพ ขึ้นอยู่กับขันธ์ ๕ ขึ้นอยู่กับขันธ์ที่ขึ้นอยู่กับอายตนะ” อันนี้คือปัญญานะ ปัญญาพิจารณาไป.. ที่เราพูดนี่เราพูดเป็นหลัก แต่เวลาผู้ถามปัญหามานี้มันอาจจะแบบว่ามีแตกแขนงปลีกย่อยออกไป คืออุบายวิธีการคนเรานี่มันหลากหลาย

ฉะนั้นสิ่งที่พูดมานี้เกือบถูก ถ้าเป็นครูให้คะแนนนี่ให้คะแนน ๕๐-๕๐ คือให้คะแนน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ยังไม่ครบ ๑๐๐ ให้ทำมาอีก !

 

ถาม : ๒. จิตคือขาออกที่เรียกว่าจิตดวงเดียวเที่ยวไป

หลวงพ่อ : อันนี้จิตดวงเดียวเที่ยวไป นี้เป็นคำพูดของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านพูดว่า

“จิตดวงเดียวเที่ยวไปบนขื่อบนคา ไม่มีวันพบหมดจบสิ้น”

ฉะนั้นคำว่าขาออกนี่ จิตมันเป็นจิตทั้งหมด แต่นี้สิ่งที่ออกไปนี่มันสื่อออกไปในอารมณ์หยาบ อารมณ์ละเอียด ฉะนั้นจิตคือจิตทั้งหมด จิตคือตัวจิต ขาออกนี่ถ้าขาออกมันไม่เป็นขันธ์สื่อออกมาไม่ได้ ที่มันออกมาก็คือขันธ์นั่นแหละ แต่เวลาเที่ยวไปนี่มันก็เที่ยวของมันไป

ฉะนั้นจิตเที่ยวไป.. ใช่ ! คำว่าจิตดวงเดียวเที่ยวไปนี่เที่ยวเกิดบนภพชาติต่างๆ นี้ความหมายของคำนั้นใช่ไหม ทีนี้เขาบอกว่าขาออกนี่มันเป็นเจตนา ถ้าพูดถึงปริยัตินะ ขาเข้ามันเป็นเจตสิก เพราะมันมีทั้งออกทั้งเข้า เราสื่อออกไปกับเรารับรู้เข้ามาใช่ไหม.. อันนี้พูดถึงข้อที่ ๒ นะ

 

ถาม : ๓. วิญญาณคือขาเข้า คือการรับรู้อารมณ์ต่างๆ เข้ามา

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ ! มันธรรมชาติ วิญญาณก็คือวิญญาณนี่แหละ แต่เวลากระทบรู้ อารมณ์ที่รู้สึกคือวิญญาณ.. วิญญาณในอายตนะไง แต่ตัวปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณคือจิตที่ตัวเกิดตัวตาย นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันอวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง เห็นไหม สัญญาอย่างหยาบ สัญญาอย่างละเอียด สัญญาต่างๆ มันเป็นขั้นตอนของมัน.. นี่พูดถึงทั้งหมดนะ เพราะคำพูดนี้เขาพูดถึงฝ่ายปฏิบัติ นี้พูดถึงฝ่ายปฏิบัติ

“แบบนี้ผมเข้าใจถูกหรือเปล่า วิญญาณคือขาเข้าทั้งหมด”

ไม่ใช่ ! ขาเข้าคือกระทบเข้ามา วิญญาณคือขาเข้า สิ่งที่เข้ามาคือเจตสิกกระทบ เห็นไหม นี่ขาเข้าทั้งหมด ความรับรู้ทั้งหมด ขาเข้าคือรูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ไม่ใช่มาร สิ่งที่กระทบทั้งหมดเป็นบ่วงเป็นสิ่งล่อ อยากให้เรารู้ไง รูปหญิง รูปชายกระทบกันนี่อยากรู้อยากเห็นอยากต่างๆ เห็นไหม เป็นรูปกระทบเป็นสิ่งล่อ

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ไม่ใช่มาร !”

นี่วิญญาณขาเข้ามา วิญญาณกระทบมันส่วนกระทบ แต่ตัวจิตมันมีกิเลสอยู่ มันเป็นสิ่งล่อล่อให้กิเลสเราฟูไง ล่อให้เราออกไปรับรู้ไง นี่เวลาถ้าภาวนาเป็น กระบวนการอย่างนี้จะรู้หมด นี่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่คือปัญญาในขั้นของสมถะ คือปัญญาของขั้นความสงบ คือปัญญาขั้นหาเหตุหาผล มันรู้ได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งนะ แต่จะบอกว่าถูกผิด.. นี่เราพูดเป็น..อย่างถูกนี่ถ้าบอกว่าตอบโดยส่วนตัว มาคุยกันส่วนตัวนี่บอกถูก.. ถูก แต่ ! แต่ต้องทำต่อไป ทำให้มันถูกมากกว่านี้

ถาม : แบบนี้ผมเข้าใจถูกหรือผิดครับ ครบถ้วนหรือไม่ครบถ้วนครับ

หลวงพ่อ : อธิบายแล้ว

ถาม : ปล. ความเข้าใจในข้อ ๒ นี้ไม่ได้มาจากการอ่านนะครับ ผมพิมพ์มาเรื่อยๆ ดูแล้วข้อมูลยาว ขอตัดขึ้นใหม่อีกคำถามครับ

หลวงพ่อ : นี่เขาบอกว่า “ผมพิมพ์มานี้ไม่ได้เกิดจากการอ่านนะครับ” นี่พูดถึงการปฏิบัติมานะ แต่จริงๆ แล้วปัญญาของเขานี่เขาอ่านมาเยอะ

 

ถาม : ๓๑๖. “คำถามต่อเนื่องครับ” (นี่ปริยัติทั้งหมดเลย นี่มันจะมาออกตอนนี้)

ตัดมาเป็นคำถามใหม่ ขออภัยทานด้วยนะครับ ด้วยข้อมูลนี้ใช้ภาษาทางปริยัติ และศัพท์เฉพาะยากๆ ต้นฉบับเขามาอย่างนี้ครับ ข้อมูลชุดนี้มาจากที่ผมค้นคว้าเพิ่มเติม ผมจะพยายามเพิ่มการอธิบายศัพท์บางคำเผื่อเอาไว้ เท่าที่เห็นว่าน่าจะจำเป็น

ที่ผ่านมาในเทศนาหลายๆ ตอน ผมก็เชื่อมั่นในเทศนาของหลวงพ่อ ซึ่งทุกวันนี้ยากที่จะหาผู้ที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เทศนาความจริงให้ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติธรรม สิ่งที่ผมสงสัยคือในข้อความต่อไปนี้ ความเห็นกลุ่มไหนที่เป็นสัมมาทิฏฐิและไม่สุดโต่งครับ ที่ผ่านมาความเข้าใจเรื่องนิพพาน เรื่อยไปถึงความจริงสูงสุดอื่นๆ เช่น สุญญตาหรือธรรมกาย ในทางพุทธมีความหมายหลายหลาก การตีความเรื่องนี้ของนักปราชญ์แบ่งออกเป็น ๓ แนวทางคือ..

๑.สายที่ถือว่าขันธ์ ธาตุ อายตนะ จิต และนิพพานมีอยู่จริง ทั้งหลายนี้มีอยู่แยกจากกัน สายนี้คือสายของเถรวาท เรียกว่าพวกสัจจะนิยม กลุ่มนี้จะยืนยันทั้งตัวรู้ อัตวิสัย คือจิตจะจริงแต่เปลี่ยนแปลง ยืนยันสิ่งที่ถูกรู้ ภาวะวิสัย คือรูปว่าจริงแต่ไม่เที่ยง และยืนยันสิ่งที่ถูกรู้อีกอย่างคือนิพพานว่าจริงเสมอโดยไม่แปรเปลี่ยน.. เถรวาทยืนยันความมีอยู่จริงของตัวรับรู้และสิ่งที่ถูกรู้ ตัวรับรู้คือจิต (เจตสิก) อยู่ในสภาพสังขตะ สิ่งที่ถูกรู้คือรูปอยู่ในสภาพสังขตะ สิ่งที่ถูกรู้คือนิพพานอยู่ในสภาพอสังขตะเป็นความจริงเที่ยงแท้

๒.สายที่ถือว่าไม่มีอะไรอยู่จริง ไม่มีอะไรอยู่จริงๆ ทั้งนั้นที่ยืนยันไม่ได้ เพราะทุกสิ่งไม่มีแก่นสาร บอกไม่ได้ว่านิพพานมีอยู่จริง สายนี้คือสายที่สอนเรื่องสุญญตา

มาธยมิกะ ไม่ยืนยันความมีอยู่จริงของทั้งตัวรู้และสิ่งที่ถูกรู้

จะถือว่าทั้งคู่นี้มีอยู่ก็ได้ อยู่ในสภาพสัมพัทธ์ หรือ สังขตะเท่านั้น

๓.สายที่ถือว่าความจริงคือนอกจากจิตไม่มี เราไม่อาจยืนยันอะไรโดยไม่ผ่านจิต ดังนั้นจิตเป็นความจริงเดียวมีอยู่ เรียกสายนี้ว่าพวกจิตนิยม ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับจิตนิยมทางฝั่งตะวันตก สายนี้แบ่งออกเป็น ๓ สายย่อย กล่าวคือ

ก.สายที่เห็นว่าจิตเกิดดับต่อเนื่อง ความหลุดพ้นหรือนิพพานมีความหมายเท่ากับ ตถตา ความเป็นเช่นนั้นเอง

ข.สายที่เห็นว่าจิตอมตะ ความหลุดพ้นคือการกลับไปสู่จิตเดิมแท้ดวงเดียวกัน สายจิตนิยมยืนยันเฉพาะความมีอยู่จริงของตัวรับรู้จิต

๓.๑ จิตที่มีอยู่จริง แต่อยู่ในสภาพสังขตะ จึงไม่ยืนยันว่าจิตมีอยู่เที่ยงแท้ นิพพานเป็นเพียงนาม ใช้อธิบายจิตที่บริสุทธิ์ นิพพานไม่มีอยู่จริง.. สำนักที่สอนแบบนี้คือโยคาจาระในอินเดีย

๓.๒ จิตที่มีอยู่จริงและอยู่ในสภาพอสังขตะ ยืนยันว่าจิตมีอยู่เที่ยงแท้ นิพพานเป็นนามใช้อธิบายจิตบริสุทธิ์จึงไม่มีอยู่จริง แต่จิตบริสุทธิ์มีอยู่.. สำนักที่สอนแบบนี้คือสำนักพุทธศาสนาสายมหายานในจีนส่วนใหญ่

อธิบายศัพท์เพิ่มเติม..

๑.มาธยมิกะคือนิกายที่เน้นเรื่องสุญญตา ถ้าสมัยนี้ก็คือ นิกายเซน

๒.สัมพัทธ์สิ่งที่วัดผลอาจคล้ายคลึงตามปัจจัยที่เปลี่ยนไป เช่นเวลามีความสุขรู้สึกว่าเวลาสั้น เวลามีความทุกข์รู้สึกว่าเวลานั้นนาน ทั้งๆ ที่วัดจากนาฬิกาแล้วเป็นเวลาเท่ากัน

๓.โยคาจาระ มีทัศนะเรื่องวิญญาณต่างไปจากเถรวาท มีความเชื่อเรื่องวิญญาณ ๘

หลวงพ่อ : โอ้โฮ.. นี่คือข้อถามปัญหาที่ ๒ ถ้าปัญหาที่ ๒ มาเห็นไหม พอเข้ามาแล้วมันก็เป็นเรื่องปริยัติทั้งหมดเลย ฉะนั้นพอเรื่องปริยัตินี่เพราะว่าสงสัย เพียงแต่นี้ทดสอบทิฐิกันไง

เรื่องเถรวาทนี่สุญญตา.. สุญญตาหรือธรรมกายในพุทธศาสนา ไอ้สายนี้นะเราพูดถึงว่าถ้าปฏิบัติแล้วจึงรู้ สิ่งต่างๆ นี้เราก็สงสัยไปหมดแหละ เราจะบอกว่าเวลาพระเจ้าอโศกมหาราช เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระเจ้าอโศกฯ นี่อีก ๑๐๐ ปีถึงเกิดมา แล้วเชื่อมั่นในพุทธศาสนามาก แล้วฟื้นฟูพุทธศาสนาเสร็จแล้วนี่ส่งออกไป ๘ สาย สายของเรามาจากลังกา เห็นไหม มาลังกา มาลังกาแล้วมาสุวรรณภูมิ นี่สายนี้มามันเป็นเถรวาทส่วนใหญ่ แล้วออกไปทางจีนต่างๆ นี่ออกไปทางนู้นก็มี ฉะนั้นออกไปทางนู้นมันก็เลย..

เราจะบอกว่าสิ่งที่แตกต่าง เห็นไหม เวลาพุทธศาสนาเผยแผ่ออกไป ในภูมิภาคนั้น ในชุมชนนั้น ในพื้นฐานเดิมของวัฒนธรรมประเพณีเขานั้น นี่มันก็ทำให้ศาสนานี้มีมุมมองแตกต่างไปจากสภาวะศีลธรรมหรือวัฒนธรรมของเขา.. วัฒนธรรมไง ฉะนั้นวัฒนธรรม นี่วัฒนธรรมของเขามันก็เปลี่ยนแปลงใช่ไหม วัฒนธรรมของเขาพุทธศาสนามันเข้าไป พุทธศาสตร์เป็นหลัก ทีนี้ความเห็นความแตกต่างกันไป มันก็แตกต่างกันไปโดยสภาวะแวดล้อม สภาวะต่างๆ

นี้ในปัจจุบันนี้ พอเริ่มย้อนกลับมาปัจจุบันนี้ เห็นไหม โลกมันแคบ นี่ทุกอย่างเราออกสืบค้น พอออกสืบค้นตามแนวคิดต่างๆ แล้วเราก็จะเอามารวมกันว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่สิ่งที่สืบค้นนี่มันมีอายุมา ๒,๐๐๐ กว่าปี.. พระเจ้าอโศกมหาราช นี่ศาสนาพุทธนี้ ๒,๕๐๐ ปี พระพุทธเจ้าอโศกฯ นี่ ๒๐๐ ปีแล้วถึงมาทำสังคายนา มันก็เท่ากับ ๒,๓๐๐.. ๒,๐๐๐ กว่าปีนี่ศาสนามันเผยแผ่มา

ทีนี้วัฒนธรรมประเพณี นี่รัฐต่างๆ ในโลกล่มสลายไปไม่รู้ว่ากี่รอบแล้ว ล่มสลายไปแล้วเกิดรัฐใหม่ เกิดรัฐใหม่ เมืองไทยนี่ ๗๐๐ ปี ศาสนาพุทธนี่ ๒,๐๐๐ กว่าปี แล้วบอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ พุทธศาสนากับประเทศไทยมีมาคู่กัน แล้วพุทธศาสนามันมี ๒,๐๐๐ กว่าปี เมืองไทยมี ๗๐๐ ปีมันคู่กันตรงไหนล่ะ

ฉะนั้นเวลามันเข้ามาอย่างนี้ปั๊บ สิ่งต่างๆ นี่เราศึกษาได้นะ เราบอกว่า “ปฏิบัติแล้วจึงรู้” ถ้าเราศึกษาไปแล้ว ถ้าการประพฤติปฏิบัติในพุทธศาสนา ส่วนมากสอนชี้เข้ามาที่หัวใจหมดเลย ถ้าสอนชี้เข้ามาที่หัวใจนะ ความรู้ความเห็นต่างๆ ในสายไหนๆ ที่เขาว่ามานี่นะเราพิจารณาของเราสิ

หลวงตาเวลาท่านพูดนะ ท่านบอกเลยท่านบอกว่า “ให้ดูใจของเรา” นี่ความเกิดและความตายของเรานี้สำคัญที่สุด ความเกิดและความตายของเรา นี้ความเกิดและความตายของเรา เราก็พยายามจะแก้การเกิดและการตายของเรา นี้พอแก้การเกิดและการตายของเรา เราก็มีความสงสัย พอมีความสงสัยเราก็กลับไปศึกษา พอศึกษาแล้วเราก็เจอนี่ ๓ สาย ๔ สาย ๘ สายมานี่ พอ ๓ สาย ๘ สายขึ้นมา เราศึกษาไปแล้วเราจะว่าสายไหนถูกล่ะ เพราะสายไหนถูกเราก็จะไปวิจารณ์กันว่าสายไหนผิดสายไหนถูกอยู่อย่างนี้

ถ้าสายไหนผิดสายไหนถูก แต่ใจเราทุกข์มากเลย แต่ถ้าเราย้อนกลับมา เราวางสิ่งต่างๆ ที่เราศึกษา นี่วางไว้หมดเลย แล้วกลับมาที่ว่าพุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ อย่างข้อที่ ๑ เห็นไหม ปัญหาที่ว่า “กราบนมัสการปีใหม่” เออ.. อันนี้เกิดจากประสบการณ์ เห็นไหม เวลาปฏิบัติขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเราแล้วมันเกิดความรู้ความเห็น

“จิตคือทั้งหมด วิญญาณเป็นส่วนย่อย จิตคือขาเข้า”

นี่มันเป็นการทดสอบใจเราว่าการเกิดการตาย ความรับรู้อารมณ์ของเรานี่มีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมากน้อยแค่ไหนปั๊บ นี่มันก็มีข้อสงสัย ข้อสงสัยว่าข้อที่ ๒ นี้ เพราะว่าเราศึกษามา ๓ สาย พอ ๓ สายขึ้นมา จิตทั้งหมดกับที่เป็นขันธ์นี่มันเข้ากับสายไหนล่ะ มันเข้ากับสายไหนก็ยิ่งงงไปใหญ่เลย

งงขนาดไหนก็วางไว้ เป็นพวกสัจจะนิยมนะ พุทธศาสนาของเราเป็นสัจจะนิยม มีความเปลี่ยนแปลง นี่อัตวิสัย จิตมีจริงอยู่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ถูกรู้.. จิตมีอยู่แต่มันมีการเปลี่ยนแปลง อารมณ์มันมีการเปลี่ยนแปลง แต่ละภพแต่ละชาติก็ตัดแต่งพันธุกรรมของจิตเราให้มันดีขึ้น.. นี้เถรวาทถือว่าอย่างนั้นล่ะ เราถืออย่างไรนี่ให้เรารู้ได้

ถาม : นิพพานคือสิ่งที่มีอยู่เที่ยงแท้ สุญญตา นิพพานคือมีอยู่จริง

หลวงพ่อ : มันเป็นความเห็น คือว่าไปเอา.. นี่มันเหมือนกับมู้ดดี้ ให้เครดิตกับประเทศในโลกนี้ว่าจะให้โลกไหนมีเครดิตมากเครดิตน้อย ก็ไปตรวจสอบในเงินคงคลังของเขาว่าประเทศนี้มีเงินเท่าไร มีเงินคงคลังเท่าไรแล้วก็จะให้เครดิตเขา

อันนี้ก็เหมือนกัน สายต่างๆ เราไปศึกษาแล้ว กับเราไปให้เครดิตเขา เรามีความเชื่อถือเขามากน้อยแค่ไหน แล้วเราจะปฏิบัติแค่ไหน แต่เงินของเราล่ะ.. แม้แต่ในประเทศไทย นี่เมืองไทยมีเงินคงคลัง มีความมั่นคงของการคลังเราสูงมาก แต่เงินในกระเป๋าเราไม่มีเลย เงินในกระเป๋าเรานี้ไม่มีเลย แต่ถ้าในประเทศไทยนี่เงินคงคลังมีความเข้มแข็งมาก แล้วเงินในกระเป๋าเราเราก็มีคุณธรรมของเราด้วย เราจะเข้าใจทุกๆ อย่าง

ฉะนั้นเรื่องจิตต่างๆ จิตที่มันเป็นเจตสิกนี่เราถึงบอกว่า “ปฏิบัติแล้วจึงรู้”

เพราะเขาถามมาทีละข้อๆ นะ จะตอบทีละข้อๆ เย็นนี้ถึงจะจบนะ ฉะนั้นอันนี้เราตอบไปเพราะว่ามันเป็นปริยัติไง มันเป็นปริยัติแล้วมันเป็นสายต่างๆ ด้วย

“จิตมีอยู่จริง อยู่ในสภาพต่างๆ” ไอ้นี่มันก็อยู่ที่คำสอน มันเหมือนกับเซน เหมือนกับอะไรรู้ไหม เซนนี่เขาเป็นพวกมหายานเขาเป็นอาจริยวาท คือถ้าอาจารย์สอนแล้วลูกศิษย์จะเชื่อตามอาจารย์นั้น ฉะนั้นเวลาเป็นมหายานแล้วเขายังแยกย่อยออกไปว่าเป็นสายไหนๆ วัชระญาณต่างๆ เพราะมันเป็นอาจริยวาท คือเชื่อหัวหน้าว่าอย่างนั้นเถอะ หัวหน้าว่าอย่างไรก็เชื่อตามหัวหน้าไปก่อน

อาจริยวาท.. อาจารย์มีความรู้มีความเห็นอย่างไร ถ้าอาจารย์เก่ง อาจารย์ที่มีถึงที่สุดแล้วสอนถึงที่สุดได้ แต่อาจารย์ที่มีความรู้ขนาดไหนก็สอนตามนั้น แล้วลูกศิษย์เชื่อตามอาจารย์ อาจารย์ได้แค่นั้นลูกศิษย์จะไปไหนล่ะ ลูกศิษย์ก็ได้แค่นั้น

นี่คืออาจริยวาท สายมหายาน เพราะวัฒนธรรมเขาเป็นอย่างนั้น ขงจื้อต่างๆ แล้วเป็นเซน เป็นเต๋า อันนี้ถ้าเราศึกษาพุทธศาสนาด้วย ศึกษาวัฒนธรรมของเขาด้วยมันจะเห็นภาพหมดเลย ถ้าเห็นภาพต่างๆ ไปมันก็เป็นปริยัติ มันเป็นทฤษฎี ฉะนั้นพุทธศาสนานี่สอนเข้ามาที่ใจของเรา แล้วถ้าเราแก้ใจของเราแล้ว นี่สิ่งต่างๆ เข้าใจได้หมด แล้วมันเกิดความสังเวชเรื่องของวัฏฏะของโลกไง

ดูสิพุทธศาสนานี่ออกไปจากชมพูทวีป ออกไป ๘ สาย ความรู้ความเห็นของศาสนาพุทธแตกต่างออกไป แต่ความรู้ความเห็นของศาสนาพุทธนี่ ถึงที่สุดถ้าพูดถึงผู้ที่ปฏิบัติในสายต่างๆ ถ้าเขาสิ้นสุดแห่งทุกข์หมดเขาก็คือเป้าหมายเดียวกัน ทีนี้พอเป้าหมายเดียวกัน นิพพานมันคืออะไรล่ะ นิพพานมันคืออะไร

นิพพานสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ไม่มีอยู่อะไรนี่.. นิพพานมันก็คือนิพพาน แล้วนิพพานนี่นิพพานถ้ามันเป็นความจริง นี้เพียงแต่ว่าคนจดจารึกมันแตกต่างกันไป อย่างเช่นนิพพานในมหายาน เห็นไหม ลุกขึ้น เม้มปากแล้วนั่งลง.. มันพูดออกมาไม่ได้ ที่ว่ามามันก็เป็นสมมุติทั้งหมด

ฉะนั้นเราบอกว่าจิตพระอรหันต์ ก็เลยบอกว่าไม่มีหรอกจิตพระอรหันต์ไม่มี.. เขาสมมุติว่าจิต สมมุติมาเพื่อจะพูดกันไง คือบัญญัติศัพท์ภาษาขึ้นมาเพื่อจะคุยกัน แต่ความจริงมันพ้นจากสมมุติบัญญัติไปทั้งหมด นิพพานคือพ้นจากสมมุติ พ้นไปหมดเลย แต่บัญญัติศัพท์ไว้ว่าจิต ! จิตพระอรหันต์ แล้วจิตพระอรหันต์กับจิตปุถุชน จิตพระอรหันต์กับจิตกิเลสแตกต่างกันอย่างไรล่ะ อ้าว.. จิตพระอรหันต์เป็นจิตพระอรหันต์ใช่ไหม แล้วจิตปุถุชนจิตเราจิตกิเลสเนี่ย แล้วจิตกิเลสกับจิตพระอรหันต์มันแตกต่างกันอย่างไร

มีอยู่อันหนึ่งตอบไปแล้ว เรื่อง “สมมุติว่าจิต” จิตไม่มีหรอก พระอรหันต์ไม่มีจิต ถ้ามีจิตคือมีภพ แต่มันเป็นสมมุติไง สมมุติเป็นภาษาที่เราจะมาสื่อกัน ฉะนั้นเวลาที่ว่าเป็นนิพพานแล้วก็พูดออกมาๆ พอพูดออกมาปั๊บนี่มันเป็นสมมุติ แล้วทีนี้ลูกศิษย์ลูกหาเขาจดกันนี่เขาตีความนะ ตีความสมมุตินั่นล่ะ พอตีความสมมุติแล้วมันก็แตกไปใหญ่เลย ยิ่งตีความไปยิ่งตกทะเล ตีความไปตีความมาเอาปืนมายิงกันนะ แบ่งข้างยิงกันดีกว่า อาจารย์เดียวกันนี่แหละแล้วแบ่งข้างเลย ยิงกัน ! ยิงกัน ! เพราะตีความนี่ไง

เพราะเข้าไม่ถึงใช่ไหม แต่ถ้าเข้าถึงแล้วจบ.. ไม่ยิงเลยไม่ยิง มันเป็นอย่างนี้ ! มันเป็นอย่างนี้ ! กอดคอกันร้องไห้นะ แต่ถ้ามีความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้ว แบ่งข้างแล้วยิงกัน แต่ถ้ามีความเข้าใจกัน กอดคอกันนะ ลูกศิษย์อาจารย์เดียวกันนะ จะสำนึกถึงอาจารย์ของตัว สำนึกบุญคุณพระพุทธเจ้า กอดคอแล้วสังเวชว่ากิเลสมันทำพวกเราได้ขนาดนี้ กิเลสมันหลอกพวกเรา แล้วแบ่งพวกเราเป็น ๒ ฝัก ๓ ฝ่ายแล้วทะเลาะกันเอง

เวลาถ้ามันเป็นกิเลสนี่มันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมไม่มีหรอก ไม่มี เพียงแต่ที่เราพูดนี่เพราะอะไร เพราะมันเป็นปัญหาของคำถาม มันเป็นปัญหาที่มา เราจะพูดให้มันจบไง

ฉะนั้นถ้าพูดถึงความจริงแล้วนะ ความจริงมีหนึ่งเดียว คือว่าอริยสัจมีหนึ่งเดียว นิพพานมีอันเดียวเหมือนกันหมด แต่ถ้านิพพานไม่เหมือนกันแสดงว่าคนหนึ่งผิดคนหนึ่งถูก นิพพานอันหนึ่งถูก นิพพานอันหนึ่งผิด แต่ถ้านิพพานอันเดียวเหมือนกันแล้วไม่มีเถียงกันเลย นิพพานคือนิพพาน แต่ถ้าเถียงกันนะมันมีนิพพานอันหนึ่งผิด นิพพานอันหนึ่งถูก หรืออาจจะผิดทั้งคู่ก็ได้ เถียงกันทั้งคู่ เถียงกันไปเถียงกันมาผิดทั้งคู่เลย เลยหานิพพานไม่เจอ

ถาม : ลูกไม่เคยปฏิบัตินั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิหรือการเดินจงกรมจิตจะไม่สงบ จิตจะคิดนู้นคิดนี่ทำให้ไม่สามารถนั่งสมาธิและเดินได้นานค่ะ

หลวงพ่อ : เวลาเราคิดถึงทางโลกนะ เวลาเราคิดทางโลกเราคิดได้ตลอด แต่เราคิดถึงทางธรรมนี่เราคิดไม่ได้ เห็นไหม ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังสิ นี่เวลาวาดภาพสวรรค์ชั้นไหน พรหมชั้นไหน นรกชั้นไหน เขาวาดได้หมดเลยเพราะอะไร เพราะจิตของพวกเรานี่เคยเกิดเคยตายในวัฏฏะ แต่พอให้วาดโสดาบัน ให้วาดสกิทาคา ให้วาดอนาคา ให้วาดนิพพาน ไม่มีใครวาดได้ เว้นไว้แต่สุญญตามันขีดวงกลมไว้.. นี่สุญญตา ! วงกลม แล้ววงกลมมันก็ยังกลิ้งอยู่นะ

นี่ไง แล้วทีนี้เราจะย้อนกลับมาที่นี่ เห็นไหม จิตที่ไม่เคยผ่าน.. เราอยู่กับโลกมา เราอยู่กับโลก เราศึกษามาได้ ถ้าศึกษาได้นะทำงานได้หมดเลย แล้วเวลาให้นั่งสมาธินี่ทำไมนั่งไม่ได้ล่ะ นั่งไม่ได้เพราะเราไม่เคยปฏิบัติ พอนั่งไม่ได้ไม่เคยปฏิบัติ นี่มันอยู่ที่ศรัทธาจริต พุทธจริต พุทธจริตคือผู้มีปัญญา พุทธจริตนี่มันสงสัยไปหมด นู้นก็ไม่มีเหตุผล ไม่ได้ ต้องศึกษาไปหมดเลย แล้วไปพุทโธ พุทโธนี่มันพุทโธไม่ลงหรอก เพราะพุทโธ พุทโธนี่มันศรัทธาจริต คือความเชื่อนำ ความเชื่อความมั่นคงนำ

ถ้าความเชื่อความมั่นคงนำเพราะเราเชื่อมั่น เราเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าสอนจริง เราเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าทำได้จริง เราก็นี่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ อะไรมาบอกไม่เชื่อ เชื่อพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราขืนมันเนี่ยมันลงได้ แต่ถ้าเป็นพุทธจริตคือพวกนี้ปัญญาชน ปัญญาชนพุทโธไม่ได้ เพราะพุทโธมันเหมือนกับการท่องจำ พุทโธมันเหมือนกับสภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม มันออกมาตามนั้น มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นเอง ฉะนั้นมันเลยไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับก็ต้องใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญานะปัญญาตรึกในธรรม พอตรึกในธรรมนี่เขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่ปัญญาใคร่ครวญเข้ามา

นี่เพราะว่าเราจะต้องใช้อุบายใช้วิธีการหาใจของเราเอง เวลาทุกข์ แก้ว แหวน เงิน ทองไม่ทุกข์กับเรา เวลาสุขนะ โอ้โฮ.. ใส่แก้ว แหวน เงิน ทองนี่สุขมากเลย เวลาทุกข์นะ ก็เหมือนกันเท่าเดิมนี่แหละ มันไม่เห็นช่วยเราสุขได้เลย ฉะนั้นเวลาสุขทุกข์นี่มันไม่ได้อยู่ที่แก้วแหวนเงินทอง ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหนังมังสา มันอยู่ที่หัวใจ ! หัวใจสุขหัวใจทุกข์มันอยู่ที่หัวใจ

ฉะนั้นเวลาเราจะปฏิบัตินี่เราจะค้นหาใจของเรา ใจของเรานี้เป็นนามธรรม เป็นนามธรรมที่ว่าไม่ใช่วัตถุสิ่งใดที่มันจะวัดค่าได้ แม้แต่ทางการแพทย์เขาก็วัดแต่คลื่นหัวใจนี้ได้เท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องหัวใจ สุขทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ใจ ฉะนั้นสุขทุกข์จริงๆ นี่เราเชื่อพุทธศาสนาว่าสุขทุกข์จริงๆ อยู่ที่ใจ เราพยายามจะเริ่มให้หัวใจเรารู้จักสุขรู้จักทุกข์ เราต้องเริ่มค้นหาหัวใจของเรา

ถ้าค้นหาหัวใจของเรา เราตั้งสตินั่นล่ะเราตั้งพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิคือมีสติ นั่นล่ะเริ่มต้นค้นคว้า เริ่มต้นนับหนึ่งที่เราจะค้นคว้าหาใจของเรา แต่เริ่มค้นคว้าปั๊บ เริ่มต้น เห็นไหม เริ่มต้นถ้าเราไม่ขยับเงามันก็ไม่ขยับ พอเราขยับเงาก็จะขยับ เราไปยืนที่แสงแดดสิ เรากางแขนกางขาอย่างไร เงาก็จะออกมารูปแบบนั้น ถ้าจิตของเรา จิตของเรานี่เราไม่กำหนดพุทโธ ไม่ได้ควบคุมสิ่งใด มันก็อยู่ตามสบายของมัน พอเริ่มต้นขยับจะจับมันนะ ดูสิมันขยับของมัน แล้วจับนี่จับไม่ถูก เห็นไหม

ดูนะเราถามตัวเองให้เป็นกรณีศึกษา ถามตัวเองว่าเรามีปัญญาแค่ไหน ทุกคนจะว่าเราฉลาด แล้วเราฉลาดทำไมเราค้นหาตัวเราไม่เจอล่ะ อ้าว.. แล้วฉลาดไหนว่าฉลาดล่ะ ต้องสรุปว่าเรานี่โง่น่าดูเลย เพราะเราฉลาดเรื่องของคนอื่น เราฉลาดเรื่องของข้างนอกได้ แต่เราไม่สามารถรู้จักตัวเราเองเลย แต่ถ้าเราตั้งสติของเรา เราค้นคว้าของเรา เราจะเข้าไปหาสู่ใจของเรา เราจะต้องเริ่มต้นจากหญ้าปากคอก

คำว่ายากไหม.. ยาก ยาก ! เพราะการศึกษาสืบค้นทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาสืบค้นออกไปจากภายนอก ตัวจิต ตัวพลังงานถ้าส่งออกข้างนอกนี่มันชำนาญนัก มันจะไปกว้านเอาความสุขความทุกข์มาทับถมมัน แต่เวลาทวนกระแส พระพุทธเจ้าบอกธรรมะของพระพุทธเจ้าคือการทวนกระแส การทวนกระแสคือเอาตัวจิต เอาความรับรู้ของจิตเข้าค้นหาตัวมัน แต่ถ้ามันส่งออก เห็นไหม ดูสิคนออกทำงานนอกบ้านเก่งทุกคนเลย บอกให้กลับมาทำงานบ้านนี่ไม่มีใครเอานะ ไม่มีใครอยากกลับทำงานบ้านเลย อยากทำงานข้างนอก ทำข้างนอกมันอิสระ

นี่จิตส่งออก ทางที่ว่าเราสืบค้นทางวิชาการของเรา แต่เวลาเอาจริงนะ เวลาเอาจริงเราจะเอาเข้านี่มันจะมีความลำบาก.. ที่เราพูดนี่เราพูดถึงเหตุผลไง ถามปัญหากันมาเราถามถึงเหตุผลว่าทำไมเราทำไม่ได้.. เราทำไม่ได้ นี่ทุกคนรู้ผิด รู้ถูก รู้ชั่ว รู้ดี แต่ทำไมเราฝืนความรู้สึกเราไม่ได้ ถามตรงนี้ ทุกคนนะรู้ผิด รู้ถูก รู้ชั่ว รู้ดีนะ แต่มันก็ไหลไปกับเขา เออ.. ทำไมมันไหลไปล่ะ ทำไมจิตมันไหลไปกับเขา เพราะขาดการฝึกฝนนี่ไง

ถ้าเราฝึกเราฝนนะ รู้ผิด รู้ถูก รู้ชั่ว รู้ดี แล้วเอ็งรู้แล้วเอ็งรู้จักอะไร เอ็งมีสติไหม นี่เตือนตัวเองไว้ เห็นไหม รู้ผิด รู้ถูกแล้วพัฒนาใจของเรา ถ้าใจของเรารู้ผิด รู้ถูกมันก็ผิดนะไม่ไป.. ถูกนะ นี่หลวงตาบอกว่าถ้าเราพุทโธ พุทโธนะมันเหมือนรถ รถเรา ทุกคนบอกว่ารถนี่เครื่องแรงเท่าไร คันเร่งเร่งได้เท่าไร แต่ไม่มีใครบอกหรอกว่ารถนี้เบรกดีเท่าไร เบรกดีขนาดไหน ถ้าเบรกไม่ดีหัวทิ่ม

ถ้ามันไม่ดีเราก็เบรก.. เบรกไว้ เบรกไว้ สิ่งที่เบรกไว้คือตั้งสติไว้ ฝืนไว้ ฝืนไว้ แต่ถ้ามันดีนะ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม เหยียบคันเร่ง เหยียบคันเร่ง เหยียบคันเร่ง.. เราจะทำคุณงามความดีของเรา นี่เราต้องฝึกอย่างนี้ จะภาวนาได้หรือภาวนาไม่ได้ อยู่ที่การฝึกของเรา ตั้งสติของเราไว้ ถ้าเวรกรรมไม่มีหนักหนาจนเวรกรรมมาตัดช่องให้ทำไม่ได้เลยนะ

มันมีเหมือนกันนะเวรกรรมบางทีสร้างมามากทำอะไรไม่ได้เลย เรามีพระเพื่อนองค์หนึ่ง อยากท่องปาติโมกข์นัก พอจับปาติโมกข์ทีไรปากเน่าทุกทีเลย มันเกี่ยวอะไรกับการท่องล่ะ พอท่องปาติโมกข์นี่ปากเน่าเลย พอวางปาติโมกข์ปากก็หาย อ้าว.. มันเกี่ยวอะไรกับตัวหนังสือล่ะ นี่กรรมของคนนะ คนทำกรรมอะไรมา มันจะให้ผลอย่างนั้นล่ะ ฉะนั้นคนที่ทำไว้ตอนนี้บอกว่า โอ๋ย.. ทำอย่างนั้นไม่มีกรรมๆ พอเกิดถึงเวลานี่มันมาเอง มันมาเองไม่ต้องห่วง มันมาเองโดยของมันเลย

หยิบหนังสือปาติโมกข์นะปากเน่า อยากจะสวดปาติโมกข์มากเพราะสวดปาติโมกข์นี่ทำ การแทนพระพุทธเจ้า คือช่วยงานในหมู่สงฆ์ เวลาสวดปาติโมกข์ สวดไม่ได้เลย สวดทีไรปากเน่าทุกที วางทิ้งเลยนี่หาย.. นี้เราบอกว่าถ้าภาวนานะ ถ้ากรรมมันไม่ตัดช่องจริงๆ นี่เราทำได้ แต่คนเรานี่เวรกรรมมันมี ถ้าคำว่าเวรกรรมมันมี อันนั้นเราต้องทดสอบ ฉะนั้นเราตั้งใจของเราไง ตั้งใจของเรานะตั้งสติไว้

ที่เราพูดนี่เราให้ใช้ปัญญา ใช้หาเหตุหาผล เรานะเราจะแก้ปัญหาของเราได้ด้วยปัญญา ปัญญานี่มันต้องหาเหตุหาผลกับตัวเราเอง ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดีหรือไม่ดี.. ดี เรารู้อยู่ ภาวนานี่เป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราทำความสงบของใจนี่มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดด้วยอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ แบงก์นะเอาไปฝากธนาคาร ถ้าธนาคารล้มยังสูญเปล่าเลย แต่ไอ้ทรัพย์อันนี้นะอยู่กับใจไม่ต้องเอาไปฝากใคร ฝากใจเราไว้นี่มันเป็นอริยทรัพย์

เรากำลังหาอริยทรัพย์อยู่ ทรัพย์ที่มันเป็นทิพย์ ทรัพย์ที่จะไปกับเรา นี่ถ้าถามว่ามันยากไหม.. ยาก ยากแล้วเราก็ตั้งใจของเรานะ ตั้งใจของเรา ผ่อนคลายมันให้หมดเลย แล้วพุทโธของเราไปเรื่อยๆ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง เฉพาะกิริยากระทำ แต่จิตใจเราทำของเราจริง แต่ถ้าเราบอกว่าเราทำอย่างนั้น ปฏิบัติ ๕ ชั่วโมงต้องได้สมาธิเท่านั้น ปฏิบัติ ๒ ชั่วโมงต้องได้สมาธิเท่านั้นนี่มันเครียด เราไปเหตุผลอนาคตมาบีบคั้นตัวเราทำไม เราจะต้องทำของเรา ถ้าได้ก็ถือว่าได้ ไม่ได้ก็ถือว่าได้ทำแล้ว

ขณะที่เราเดินจงกรม เห็นไหม นี่เขาเรียกว่าบุญ กิริยาวัตถุ เราจะนั่งจะนอนอย่างไรก็ได้ เรามานั่งสมาธินี่บุญ บุญเพราะเราเสียสละกิริยา กิริยาที่เรามีความสุข เราเสียสละกิริยาของเราเพื่อเป็นกิริยาสำรวมถวายพระพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม บุญเกิดตรงนี้.. เดินจงกรม เราเอากายของเราทั้งกายนี่บูชาพระพุทธเจ้า ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ถือว่าได้บุญแล้ว เราได้บูชาพระพุทธเจ้าแล้ว ด้วยร่างกายของเรา ด้วยเจตนาของเรา ด้วยความตั้งใจของเรา

เราได้ถวายบูชา ยกร่างกายนี้ทั้งร่างถวายบูชาพระพุทธเจ้าไปแล้ว แล้วเราจะไปเสียใจอะไร ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว สบายใจ.. ได้ก็ได้ เพราะได้บูชาพระพุทธเจ้าแล้ว เอาอาหารมาถวายพระนี่ โอ้โฮ.. ประเคนถวายพระไป นี้เอาร่างกายทั้งหมดถวายพระพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่บุญ ! กิริยาวัตถุ

บุญ ! กิริยาวัตถุ.. กิริยาที่เราได้ทำนี้เป็นกิริยาของบุญ เราได้ตั้งใจทำแล้ว แล้วตั้งใจทำของเรา ถ้ามันประสบความสำเร็จ อืม.. เราก็เป็นศาสนทายาท เราก็เป็นศากยบุตร เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคนหนึ่งที่เราได้ทำ แล้วได้ประสบผลสำเร็จ

เราเป็นศาสนาทายาทนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม บอกพญามารมันดลใจ “เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่ยอมนิพพาน”

เผยแผ่ศาสนามา ๔๕ ปี มารก็นิมนต์มาตลอดนะ จนวันสุดท้ายวันมาฆะฯ นะ

“บัดนี้ ! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับพวกเราไง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา เป็นศาสนทายาท เป็นเจ้าของศาสนา ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันได้สัมผัส เห็นไหม เราเกิดความเป็นจริงขึ้นมาในหัวใจ นี่เราได้ของจริงของเรา นี่ธรรมของเรา ความรู้สึกของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง