เทศน์บนศาลา

หลงป่า

๑๙ ม.ค. ๒๕๕๔

 

หลงป่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ในป่า อยู่โคนต้นโพธิ์นะ.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมในป่า แล้วไม่หลงป่า ไม่หลงป่าเพราะว่าเอาตัวเองพ้นออกมาจากกิเลสได้ แต่เราฟังธรรมกัน เราปฏิบัติธรรม เราหลงในธรรม.. เราหลงธรรม หลงป่า หลงในกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะว่าป่าคือป่ารกชัฏ เห็นไหม ความคิด ความอ่านนั่นล่ะเป็นป่า

ความคิด ความอ่าน เพราะจิตมันหลงเข้าไปในความคิดความรู้สึกของเรา แต่ถ้าเราอยู่ในป่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่านะ เวลาเทศน์ธรรมจักรก็เทศน์ในป่า เวลาปรินิพพานก็ระหว่างโคนต้นรัง ชีวิตในป่า เห็นไหม ป่านี้มีคุณประโยชน์มาก ป่านี้มีคุณประโยชน์กับสรรพสิ่งสรรพสัตว์ใช่ไหม มันเป็นศูนย์อาหาร มันเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มันเป็นทุกๆ อย่างของสังคมโลก มันให้อากาศ ให้ความร่มเย็นเป็นสุขนะ แต่เวลาเราเกิดมาเราเกิดท่ามกลางโลกท่ามกลางป่า

รกป่ากับรกคน ถ้ารกต้นไม้กับรกคน คนนี่มันมีความคิดหลากหลาย เราเกิดมาในสังคมเกิดมาในโลก ฉะนั้นเวลาฟังธรรมขึ้นมาเพื่อเตือนหัวใจของเรา.. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมามหาศาลนะ กว่าจะมาตรัสรู้ เห็นไหม คำว่าตรัสรู้นี่ตรัสรู้ในอะไร เวลาฟังธรรม ฟังธรรมจากที่ไหน เวลาเราฟังธรรมขึ้นมานี่เราฟังธรรมของเรา แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา มันยึดมั่นถือมั่นของเรานะ มันถือความเห็นความรู้สึกของเรานี้เป็นใหญ่ ความเห็นความรู้สึกนะ ความรู้สึกของเรา ความรู้สึกมันมาจากอะไร มันมาจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

กิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลาเราว่าสิ่งใดมีคุณค่าเราก็แสวงหาสิ่งนั้น เวลาแสวงหาสิ่งนั้น มันไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นอดีตอนาคตไปหมด มันเป็นการคาดการหมาย การคิดการค้นคว้าของเรา สิ่งที่เป็นการคิดการค้นคว้าของเรานี่หลงป่า ! หลงเข้าไปในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาเราเข้าเที่ยวป่าเที่ยวเขานะ เราบวชมาเป็นพระเป็นเจ้า เห็นไหม เราบวชมานี่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราออกธุดงค์ของเรา เราออกประพฤติปฏิบัติของเรา ถึงเราจะอยู่วัดอยู่วา เราก็อยู่สมมุติว่าเป็นป่า.. สมมุติว่าเป็นป่า เราต้องการความสงบสงัด เราต้องการความวิเวก นี่สัปปายะ เห็นไหม เป็นสัปปายะ ๔ อาจารย์เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ

เราแสวงหาของเรา เวลาเราเป็นสัปปายะมันเป็นสิ่งที่สมควรในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าสิ่งนี้เป็นความสมควรในการประพฤติปฏิบัติ เราจะเริ่มค้นคว้ากับเรา เวลาเราทำบุญกุศลกัน ทาน ศีล ภาวนา เราเสียสละทานขึ้นมาเราต้องมีชีวิต เราต้องมีชีวิตเป็นมนุษย์ เราถึงแสวงหาสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ แสวงหาแล้วเราเสียสละของเราขึ้นมา เห็นไหม เราเสียสละ เราทำบุญกุศลของเรา

การทำบุญกุศลของเรานี้เราทำบุญกุศลเพื่ออะไรล่ะ เพื่อความอ่อนน้อมของหัวใจ ถ้าใจแข็งกระด้าง ใจมันคิดของมันตามกิเลสตัณหาความทะยานอยากของมัน แต่เราทำบุญกุศลของเรา เห็นไหม เราเสียสละต่างๆ ดัดแปลงมัน ต่อต้านมัน ความคิดสิ่งใดที่มันอยากทำในสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เรารู้ว่าเป็นโทษนี่เราไม่ทำ เราฝืนมัน ฝืนมันเพื่อจะทำคุณงามความดีของเรา ฝืนมันคือทำคุณงามความดีของเรานะ ต้องฝืนทั้งนั้น.. ถ้าเราไม่ฝืนเราก็ไม่ได้ต่อสู้กับกิเลส

นี่มันกลบเกลื่อนของเราไว้นะ กลบชีวิตของเรา มันทำลายชีวิตของเราทั้งหมดเลย แต่ถ้าเราฝืนมัน เห็นไหม เราเริ่มฝืนมัน เราเริ่มต่อต้านมัน เราเริ่มฝืนมันต่างๆ ฝืนมันด้วยการทำคุณงามความดีของเรา มันอยากไปอยากทำต่างๆ ถ้าสิ่งที่มันไม่เป็นประโยชน์นี่ไม่ทำ เราจะทำแต่คุณงามความดีของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา เห็นไหม เราจะฝืนมันนี่ทาน ศีล ภาวนา ! ถ้าเรามาภาวนา เราเป็นชาวพุทธ.. ชีวิตของเรานะ ถ้ามันประสบความสำเร็จในชีวิตของเรา สิ่งนี้มันเป็นเครื่องอยู่เท่านั้นแหละ เครื่องอยู่นะ เพราะชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากชีวิตนี้ไปแน่นอน

ทีนี้คำว่าพลัดพรากจากชีวิตนี้ไป เห็นไหม โอกาสของเราคือโอกาสในชีวิตนี้ ถ้าชีวิตนี้เราทำคุณงามความดีของเรานะมันเป็นบุญกุศลของเรา ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนจิตใจของเราพ้นจากทุกข์ไป ถ้าชีวิตนี้ตาย มันจะตายก็พอใจ ถ้ามันจะตายก็พอใจแล้ว เพราะเวลามันตายนี่กิเลสมันตายแล้ว มันไม่มีอะไรจะมาหลอกเราว่าจะมีอะไรตายอีก แต่ถ้าเรายังไม่พ้นจากกิเลส เรายังหลงป่าของเราอยู่ หลงความรู้สึก หลงความนึกคิดของเราอยู่อย่างนี้ เวลาถ้ามันตายไปก็ละล้าละลังทั้งนั้นแหละ ตายไปแล้วเราจะไปไหน ตายไปแล้วเราจะไปเกิดเป็นอะไร

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเป็นจะตายขึ้นมา มันต้องเป็นไปตามอายุขัย ถ้าอายุขัยมันถึงที่สุด.. เว้นไว้แต่ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะอะไร เพราะสติปัญญาเขาพร้อม จะเป็นจะตายขึ้นมามันเป็นผลของวัฏฏะ ผลของเวรของกรรมนะ แต่ถ้ามีสติปัญญา ถ้ามันรักษาใจของมัน รักษาความรู้สึกเรา เวลาตาย ดูสิเวลาเป็นลมเป็นแล้ง เห็นไหม มันวูบลงนั่นล่ะมันจะตาย แต่ถ้าคนมีสติมันจะวูบไปไหน มีสติอยู่นี่มันจะไปไหน

มันจะไปไหนถ้ามีสติสตังของมันอยู่นะ มันจะวูบไปไหน ก็มีความรู้สึกอยู่กับผู้รู้มันจะไปไหนล่ะ จะเป็นจะตายนี่มีอิทธิบาท ๔ มันถึงจะรั้งได้ มันจะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ แต่ของเราจะเป็นจะตายขึ้นมา เห็นไหม เราวิตกกังวลไปหมดเลย แล้วชีวิตที่อยู่นี้ทำไมเราไม่ถมความรู้สึกอันนี้ล่ะ ทำไมไม่ถมหัวใจที่มันละล้าละลังอยู่นี่ล่ะ

นี่การถมของเรา เห็นไหม นี่คุณงามความดีอันนี้ประเสริฐที่สุดนะ.. นี่ทาน ศีล ภาวนา เราจะเกิดปัญญา คนเราจะมีปัญญา คนเราจะมีจริตนิสัยอย่างไร มันอยู่ที่การกระทำ อยู่ที่เราฝึกปัญญาเรานี่ล่ะ ฝึกปัญญานี่ไปฝึกที่ไหน ปัญญา เห็นไหม ดูทางโลกเราศึกษากัน ศึกษามาให้เกิดเป็นคนที่ฉลาด เป็นคนที่ทันโลกเขา

นั้นการศึกษานะ ศึกษามาเป็นวิชาชีพนะ คนศึกษามาแล้วจะมีความรู้ขนาดไหน ฉลาดในเรื่องวิชาชีพแต่โง่กับตัวเอง เห็นไหม ถ้ามันฉลาดวิชาชีพแล้วจะเป็นคนฉลาดหมด คนที่มีการศึกษาระดับนั้น ทำไมไปเชื่อ ทำไมไปหลงป่านะ หลงความรู้สึกของตัวเอง หลงสถานะของตัวเอง หลงหน้าตา หลงเกียรติคุณของตัวเอง นี่แล้วก็ให้เขาชักนำกันไป เพราะสิ่งนี้เป็นสัจธรรม เราไม่ได้ศึกษามา

นี่เวลาเราไปปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะพูดอย่างไรก็ไปตามนั้น เห็นไหม พากันหลงไปหมดเลย เวลาดูสัตว์นะ สัตว์ในป่ามันเป็นฝูงมันอยู่ในป่า นี่สัตว์ป่า.. ถ้าสัตว์ป่าเวลามันหลงป่า เวลาสัตว์ฝูง ถ้าเวลามันอพยพมันเป็นไป ถ้าไปไม่ทันฝูง ชีวิตของมันจะต้องผจญภัยของมันเองเลย แต่ถ้าเป็นสัตว์ฝูง เห็นไหม มันไปเป็นฝูงมันจะดูแลกัน ฝูงมันจะรักษากัน ถ้าฝูงมันรักษากัน นี่ถึงอยู่ในป่ามันก็มีฝูงของมันเพื่อจะดูแลรักษามัน แต่ถ้าเราหลงจากฝูงล่ะ นี่เรามีภัยไง

สัตว์กินเนื้อนะ นักล่ามันมีนะ ถ้าเราเผลอนะชีวิตเรา.. ดูสิสัตว์ที่มันกินพืช เวลามันกินพืชของมันมันต้องรักษาชีวิตนะ อิ่มท้องหนึ่ง เวลาจะอิ่มมื้อหนึ่ง นี่มันต้องเอาชีวิตมันเข้าแลก ถ้ามันพลาดมันก็เป็นเหยื่อของเขา มันก็เป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อ นี่ชีวิตมันทุกข์มันยากนะ แม้แต่มันจะกินอาหารซักมื้อหนึ่งมันต้องแลกด้วยชีวิต แต่ของเราเวลาเราทำมาหากินขึ้นมา เราทำความทุกข์ยากของเรา ว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์ๆ ความทุกข์แค่ไหนมันก็ไม่ได้แลกกับชีวิตมาหรอก เราไม่ต้องเอาถึงชีวิตเข้าแลกหรอก

สัตว์มันเอาชีวิตของมันเข้าแลกนะเพื่อความดำรงชีพของมัน นี่แล้วดูสิเวลามันอยู่ในป่า ถ้ามันเป็นประโยชน์กับมัน เวลาป่ามันถึงเวลาแล้ว มันก็ต้องอพยพของมัน ย้ายถิ่นเพื่อให้มีอาหาร เพื่อดำรงชีพของมัน.. มันก็อยู่ในป่าในเขาอย่างนั้นล่ะ มันอยู่ของมัน แล้วเราล่ะเราเป็นมนุษย์ เราเป็นพระด้วย เวลาเราไปเที่ยวป่า เราเข้าไปเที่ยวป่าเพื่ออะไรล่ะ เราอาศัยสิ่งนั้นเพื่อความสงบสงัดนะ

ความจำเจ เราอยู่ของเรา อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา นี่เวลาจิตใจของเรามันฮึกเหิมขึ้นมาเราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ เราก็อยากจะภาวนาของเรา เวลาไปทำแล้วมันประสบความสำเร็จไหมล่ะ นี่เพราะอะไรนะ ป่ารกชัฏของกิเลสเรามันสาหัสสากรรจ์กับป่าเขานะ ป่าเขานี่มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นที่อาศัยของสัตว์ มันเป็นที่ทำกินของมนุษย์ มันเป็นแหล่งอาหารของทั้งสัตว์ ของทั้งมนุษย์ มนุษย์ก็หาอาหารจากป่านี่แหละ ต้นน้ำลำธารมันเป็นแหล่งอาหาร มันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มันเป็นแหล่งสิ่งต่างๆ มันเป็นสิ่งเริ่มต้นของอาหารเลย ของความเป็นอยู่ของโลกเลย สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ เห็นไหม

นี่พูดถึงป่าเขามันเป็นประโยชน์ของมันอย่างนั้นนะ ถ้าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ เวลาเราเข้าป่าเข้าเขาไป เราเข้าไปเพื่อสิ่งใดล่ะ นี่เราเข้าป่าเข้าเขาไปเพื่อความสงบสงัด เราเข้าป่าเข้าเขาไปเพื่อค้นคว้าเราเอง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า เห็นไหม ตรัสรู้ในป่าแล้วไม่หลงป่า เพราะท่านทำลายความรกชัฏของหัวใจออกทั้งหมด

เราเข้าป่าไปเราก็หลงนะ นี่ถ้าเราเข้าป่าด้วยความหลงของเรา เราไม่รู้จักประโยชน์ของป่านั้น สิ่งที่เข้าไปอยู่กับป่านั้น ป่านั้นเป็นทั้งแหล่งอาหาร เป็นทั้งแหล่งพักผ่อน เป็นทั้งแหล่งที่เขาทำวิจัยทางชีวภาพต่างๆ เป็นประโยชน์ทั้งนั้นเลย ฝึกคนก็ได้ ฝึกนักศึกษาก็ได้ นักศึกษาเวลาทำวิจัยต่างๆ เขาก็ฝึกของเขาขึ้นมา นี่เพื่อเอาคนเป็นคนดีขึ้นมา เพื่อมีวิชาชีพขึ้นมา เราเข้าไปป่าก็เหมือนกัน สัตว์ป่ามันอยู่ป่า มันก็เหมือนกับทางโลกที่เขาใช้ประโยชน์จากป่านั้นแหละ

นี่ป่าเป็นแหล่งอาหาร ป่าเป็นทุกๆ อย่างเลย นี่มันใช้เป็นประโยชน์ของเรา แต่เราเข้าไปเราไม่ใช่สัตว์นี่ เราเป็นมนุษย์ เราเป็นพระด้วย เราเป็นมนุษย์แล้วบวชเป็นพระ แล้วเราธุดงค์เข้าไปในป่า เราต้องการเอาสิ่งนั้นเพื่อความสงบสงัด เป็นชัยภูมิในการประพฤติปฏิบัติ.. ชัยภูมินะ สิ่งนั้นเป็นชัยภูมิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ เห็นไหม ตรัสรู้ในป่า แล้วตรัสรู้ที่ไหนล่ะ ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน เราเข้าป่าไปเราต้องเอาสิ่งนั้น ดูสิสัตว์ป่ามันอยู่ในป่าด้วยความทุกข์ยากของมัน มันไม่มีสมอง มันมีสิทธิทำคุณงามความดี มันดูแลฝูงของมัน มันรักษาครอบครัวของมัน มันรักลูกของมัน เห็นไหม มันได้อาหารมามันยังแบ่งปันกัน นี่ถ้ามันแบ่งปันกันนะ ถ้าสัตว์เป็นสัตว์ที่ดี หัวหน้าที่ดี.. ถ้าหัวหน้าไม่ดีมันหวงแหนของมัน มันทำลายๆ ทั้งนั้นแหละ เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมชาติของมัน

นี้สัตว์ป่ามันอยู่ป่าทั้งชีวิต มันได้อะไรขึ้นมา แต่ของเราเราเข้าป่าไป เข้าป่าไปเพื่อความสงบสงัด เห็นไหม เราไม่ใช่สัตว์ เรามีสิทธิเลือกได้ เราจะอยู่ที่สะดวกสบายขนาดไหนก็ได้ เราจะอยู่ด้วยความจำเจขนาดไหน เราจะอยู่ด้วยความพอกพูนกิเลสมากน้อยขนาดไหนก็ได้ แต่เราป่าไปเพราะไปฝึกหัดเราไง เราไม่ใช่ไปอยู่แบบสัตว์ เราไปอยู่แบบมนุษย์ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร

ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ป่ารกชัฏนี่ถ้าเขาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราพลัดพรากเราหลง เห็นไหม เราหลงไป ถ้าหลงป่าไปถึงกับเสียชีวิตได้นะ ถ้าหลงป่าไปเราไม่มีอาหาร เราไม่มีทางออก แล้วเราไม่สามารถดำรงชีวิตได้ เราต้องเสียชีวิตของเราไป แต่ที่เราไปนี่เราไปเพื่อกำราบหัวใจของเรา เพื่อกำราบพญามารในหัวใจของเราที่มันครอบงำเราอยู่นี่ เราไม่มีสิ่งใดจะต่อรองกับมัน เห็นไหม

ดูชีวิตประจำวันเราสิ เราจะทำอย่างไรก็ได้ เราจะออกแสวงหาสิ่งใดก็ได้ เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามา แล้วเราบอกว่าเรารู้แล้วก็ได้ เราจะสร้างภาพอย่างไรก็ได้ มันเข้าข้างตัวเองไปหมดเลย.. แต่สิ่งนี้ เห็นไหม สิ่งนี้เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เรารู้ได้ เรามีความลังเลสงสัย เรามีความลังเลสงสัย เราเข้ามาถึงสัจธรรม นี่เวลาสัตว์ป่ามันหลงป่านะ เวลามันพลัดพรากจากหมู่คณะของมันนะ จากฝูงของมัน มันต้องดำรงชีวิตของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราหลงในธรรมไง เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วเราว่าเราเข้าใจไง เราหลงไปหมดเลย หลงจากทิฐิมานะของเราว่าสิ่งนี้เป็นความจริงของเรา สิ่งนี้เป็นสัจธรรมของเรา.. เป็นสัจธรรมของเรา สิ่งนี้เพราะมันเป็นเรื่องหลงป่า ป่านี้มันเป็นวัตถุนะ ป่านี้เป็นชัยภูมิ ป่านี้เป็นวัตถุเป็นมิตินี้ เป็นวัตถุที่เราจับต้องได้ เราถึงกับเสียชีวิตได้

แต่ถ้าเวลาเราหลงกิเลส หลงธรรมในหัวใจนี่นะมันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดมันทำให้เสียเวลา มันทำให้เรามีทิฐิมานะ มันทำให้จิตใจของเราไขว้เขวออกไปหมดเลย แล้วมันตายไหมล่ะ.. มันตายนะ มันตายต่อเมื่อจิตนี้ เวลามันออกจากร่างนี้ไปมันก็ตายเหมือนกัน แต่เวลาเขาหลงป่าเขาต้องถึงกับเสียชีวิตเพราะว่าเขาไม่มีอาหารดำรงชีวิตเขา ถ้าร่างกายเขาขาดอาหารเขาต้องตาย ตายในความเป็นมนุษย์นี้ แต่จิตนี้มันก็ต้องไปเกิดตามเวรตามกรรมใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดความเห็นของเรามันตายไหม ความคิดความเห็นของเรามันไม่เคยตาย มันเกิดจากจิตมันไม่เคยตาย แต่เวลามันคิด เวลามันหลงไปในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าตัวเองรู้ ตัวเองเห็น ตัวเองฉลาด แต่มันจะออกจากป่านั้นไม่ได้ มันจะออกจากกิเลสนี้ไม่ได้ เพราะมันไม่มีวิธีการที่มันจะออกจากป่านี้ได้

เวลามันหลงธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า แต่ไม่หลง ! ไม่หลงเพราะอะไร เพราะท่านเอาจิตของท่านออกมาจากตัณหาความทะยานอยาก ออกมาจากอวิชชา อาสวักขยญาณได้ทำลายหมด พอทำลายหมดมันจะหลงไปไหน มันทำลายป่าทั้งหมดเลย ไม่ได้ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ทำลายป่ารกชัฏ ทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อวิชชาในหัวใจทั้งหมดเลย แล้วทำลายอย่างไรล่ะ

มันทำลายอย่างไร ทำลายด้วยอาสวักขยญาณ แต่เราไปศึกษา นี่เราไปศึกษาของเราว่าสิ่งนั้นเรารู้ สิ่งนั้นเราเข้าใจ แล้วมันยิ่งหลงเข้าไปใหญ่ หลงธรรมไง หลงสัจธรรมแต่ไม่มีธรรม.. นี่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานี้เกิดขึ้นมาจากไหน เกิดขึ้นมาจากความอ่อนด้อยของใจ เห็นไหม ดูสิว่ามีการศึกษา มีความเข้าใจทั้งหมดเลย มีวิชาชีพทุกอย่างรู้มาหมดเลยแต่ก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจสิ่งนี้เลยเพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นความจริง

ดูสิดูเวลาคนมันหลงเข้าไปในป่านะ เวลาหลงเข้าไปเที่ยวป่าเพื่อความเพลิดเพลิน นี่เราไปอยู่ป่าเพื่อประโยชน์ ถ้าเรารักเราชอบใจของเรา แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ ถ้าเราทำจริงตามหน้าที่ ตามข้อเท็จจริง มันก็มีปัญญาใคร่ครวญได้ มีปัญญาแยกแยะได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรไปและไม่ควรไป.. แต่ถ้ามันด้วยความเผอเรอ ด้วยความวิตกกังวล นี่เวรกรรมมันทำให้พลัดพรากได้ แล้วพลัดพรากได้นี่มันออกจากป่านั้นไม่ได้นะ ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย

นี่เวลาหลงป่า กับหลงกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ป่าในหัวใจ ถ้าหลงป่าในหัวใจนะ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า แต่เราไปหลงในธรรม สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้.. ถ้าเราไม่หลงล่ะ เราไม่หลงเราทำอย่างไร ถ้าเราไม่หลงใช่ไหมเราตั้งสติของเราขึ้นมา

ดูสิสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม.. สัจธรรม ! ถ้าสัจธรรมมันเกิดขึ้นมานะ โดยธรรมะมันเกิดขึ้นมา ธรรมที่เกิดขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้าธรรมะมันไม่ได้เกิดในหัวใจของเราขึ้นมาเลย เห็นไหม เราเอาจิตใจของเรา.. ดูสิเวลาเข้าป่าไปนี่เราเดินด้วยร่างกายของเรา แต่เวลาศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้ามา เวลามันตรึกขึ้นมา มันคิดขึ้นมานี่มันมาจากไหนล่ะ มันก็คิดมาจากหัวใจของเราใช่ไหม

เวลาเราเข้าป่าไป เราไปด้วยร่างกายมันต้องมีถนนหนทางนะ มันไม่มีทางไปของมัน จะปีนเขาลงห้วยต่างๆ มันต้องใช้กำลังของเราไป แต่ความคิด ความคิดมันสร้างภาพ มันคิดขึ้นมานี่มันว่ามันรู้ธรรม มันรู้ธรรม มันเข้าใจของมันไปหมด สิ่งนั้นเป็นธรรมจริงหรือเปล่า.. ถ้ามันเป็นธรรมจริงขึ้นมา นี่สิ่งนี้มันเป็นสุตมยปัญญา

สุตมยปัญญาคือการศึกษา คือการไตร่ตรอง เห็นไหม เวลาเกิดจินตมยปัญญาขึ้นมา การเกิดจินตนาการ จินตนาการโดยที่มีสมาธิมันจะลึกซึ้งกว่านี้เยอะนัก เพราะถ้าไม่ลึกซึ้งกว่านี้นะ เวลาผู้ที่ปฏิบัติไปเวลาหลง เวลาหลงป่า หลงกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าจิตใจที่มันมีพื้นฐานของมัน มันเข้าใจว่าเป็นสภาวะแบบนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีวุฒิภาวะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านวิกฤติอย่างนี้มาท่านเห็นแล้วนะ ท่านพยายามปลุกปลอบนะ เพราะอะไร เพราะการกระทำ ดูสิเวลาเราหลงป่า บริเวณหน้าผาชัน เราจะปีนหน้าผาที่เกิดตะไคร่น้ำ ที่มันเขียวที่มันลื่นมาก เราจะปีนผ่านพ้นสิ่งนั้นไปได้อย่างไร

จิต ! จิตเวลามันพิจารณาขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลามันเกิดวิกฤติขึ้นมา มันเจอสภาพแบบนั้น เห็นไหม นี่ปีนเท่าไหร่ก็ล้มๆ ล้มลุกคลุกคลาน จิตมันผ่านจากวิกฤติอย่างนั้นไปนี่มันทำอย่างไร แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านขึ้นมาแล้วมันจะมีวิธีการอย่างไร นี่ท่านถึงคอยบอกคอยสอนพวกเราไง คอยบอกคอยสอนผู้ที่ปฏิบัติใหม่ไง ว่านี่เวลาเราผ่านเข้าไปในที่ลื่น ผ่านเข้าไปในป่าที่มันมีอันตราย เราจะรักษาตัวเราอย่างไร แต่เวลาปฏิบัติไปเราว่าสิ่งที่ลื่น สิ่งที่อันตรายนั้นเป็นผลนะ มันเข้าใจของมัน

มันเข้าใจของมัน เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปนี่มันจะมีเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่เราลุ่มๆ ดอนๆ เราจะติดขัดของเราไปตลอด ในการปฏิบัติมันมีเล่ห์กล กิเลสนี้เป็นเล่ห์กล มันทั้งล่อทั้งหลอก ทั้งพลิกแพลงเรา แต่เราไม่ได้คิด เราไม่ได้คิดว่านี่เราหลงธรรมะ หลงป่ารกชัฏในหัวใจของตัว แล้วว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เพราะว่าตรึกธรรมใช่ไหม พอมาตรึกธรรมก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมเพราะเราศึกษามานี่ เราศึกษามันเป็นสุตมยปัญญา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีวัฒนธรรมก็มี ครูบาอาจารย์ท่านก็สั่งสอนมาตลอด เห็นไหม ธรรมะได้ฟังทุกคืนทุกวันเลย

นี่สิ่งนี้จิตมันรับรู้ได้ พอจิตมันรับรู้ได้ต่างๆ เวลามันตรึกขึ้นมา สิ่งที่ตรึกขึ้นมาเวลามันมีความเห็นของมันขึ้นมาล่ะ ถ้ามีความเห็นขึ้นมานี่เราว่าเราไม่รู้ได้อย่างไรล่ะ มันก็รู้ของมันได้ ถ้ารู้ของมันได้ แต่เวลาภาคปฏิบัตินะเราต้องเป็นของเราขึ้นมาเอง

สิ่งต่างๆ เวลามันขึ้นมา.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่า แล้วไม่หลงป่า แต่ของเรา นี่กิเลสของเรามันเป็นป่าที่เรายังหาทางออกไม่ได้เลย ถ้าหาทางออกไม่ได้เลย สิ่งที่หาทางออกไม่ได้มันมีประสบการณ์อะไรล่ะ มันไม่มีประสบการณ์สิ่งใดเลย มันช่วยตัวเองไม่ได้เลย นี่มัหลงใหลได้ปลื้มนะ หลงเข้าไปในกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว

ถ้าเราตั้งสติ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แผนที่เครื่องดำเนินเข้าเดินป่าแต่ยังไม่ได้เข้าป่า ยังไม่ได้เข้าป่าเพราะอะไร เพราะมันยังไม่มีผู้เข้าป่า แต่ถ้าแผนที่เครื่องดำเนิน เห็นไหม ดูสิเวลาเขาเล่นเกมกัน เขากดอยู่นั่นแหละ มันเป็นเกมต่างๆ ที่เขาเขียนไว้เสร็จแล้ว มันพร้อมแล้ว นี่กิเลสมันเป็นอย่างนั้นเหรอ กิเลสมันเป็นสูตรสำเร็จอย่างนั้นเหรอ ถ้าเรากดปุ่มแล้วมันจะฆ่า มันจะทำลาย มันจะได้คะแนน เป็นอย่างนั้นเหรอ มันไม่เป็นอย่างนั้น พอไม่เป็นอย่างนั้น..

เกมที่เขาทำขึ้นมาเขาคิดเป็นสูตรสำเร็จมาให้สำหรับเราใช้กดใช้เล่นได้ แต่กิเลสของเรามันพลิกแพลงเพราะมันมีชีวิต มันพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นเกมอย่างนั้นเหรอ นี่กดเอาๆ แล้วได้ตามที่เราปรารถนา ได้คะแนนมา ไม่ได้คะแนนมาก็ขึ้นต้นกันใหม่อยู่อย่างนั้นเหรอ นี่ถ้าเป็นสัญญาอารมณ์เป็นอย่างนั้น สัญญาอารมณ์มันเขียนภาพไว้แล้วในหัวใจ แล้วหัวใจนี่มันเขียนภาพเอาไว้แล้วมันยังมีการบิดเบือนตลอดไป

ตลอดไป เห็นไหม แต่ถ้าเรามีสติของเรา นี่สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม.. ถ้ามีสติธรรมขึ้นมา นี่เริ่มต้น เริ่มต้นสิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นมาเป็นปัจจุบัน มันไม่ใช่เกมที่เขียนเอาไว้ ที่เขาคิดสูตรไว้สำเร็จแล้วให้เราต้องไปเดินแก้เกมนั้น ถ้าเราไปเดินแก้เกมนั้นมันก็เป็นสัญญาทั้งนั้นแหละ ทีนี้ธรรมที่เราศึกษามามันก็เป็นสูตรสำเร็จที่เป็นเกมนั้นมาเลย แล้วก็บอกว่าต้องเดินตามนั้น ต้องทำอย่างนั้น ถ้าออกจากที่นี่ไปแล้วมันจะผิดพลาด ผิดพุทธพจน์ ผิดพุทธพจน์

นี่มันหลงธรรม ! มันหลงธรรม ธรรมอันนี้ไง ดูสิอจินไตย พุทธวิสัยนี่เป็นอจินไตย เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบุญญาธิการมามหาศาล ฉะนั้นเวลาพิสูจน์ด้วยปัญญา.. “อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท มันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น..” เป็นอย่างนั้นเหรอ เป็นอย่างที่ว่าเป็นดวงๆ ดวงๆ อย่างนั้นเหรอ มันเป็นจริงๆ เหรอ ถ้ามันเป็นจริงๆ มันเป็นอย่างไร บอกมาสิมันเป็นอย่างไร “อ้าว.. ก็มันเป็นพุทธพจน์ไง พุทธพจน์มาอย่างนี้ไง ร้อยดวงแปดดวง”

ดวง.. เวลาธรรมนี่นะ เวลาพูดถึงธรรมะ เห็นไหมดูสิทางการศึกษา เด็กขึ้นมา พื้นฐานของเด็ก ถ้าเด็กขึ้นมาเราจะวางพื้นฐานให้เด็กได้อย่างไร เด็กมันโตขึ้นมาเราจะให้ปัญญาของเด็กอย่างไร แล้วเด็กนี่มีเชาว์ปัญญาจะไปทางบริหาร จะไปทางวิชาการ จะไปทางอย่างไร เด็กมันจะมีแววของมัน

จิต.. จิตที่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลามันเป็นขึ้นมานี่พื้นฐานมันต้องมีของมัน ถ้าพื้นฐานมีของมันนะมันจะเข้าใจของมันได้ ความเข้าใจได้นะ นี่ความเข้าใจได้ว่าเริ่มต้นถ้าอย่างเด็กมันวางพื้นฐานการศึกษามา นี่ศึกษาขึ้นมาแล้วพัฒนาขึ้นมา เขาจะเข้มแข็งขึ้นมา แล้วมันจะพัฒนาไปข้างหน้า.. ถ้ามีสติ เก็บหอมรอมริบไว้เป็นสมบัติของเรา ถ้าเก็บหอมรอมริบไว้เป็นสมบัติของเรา เราตั้งสติของเรา ถ้าตั้งสติของเรา ถ้ามีสติการทำสิ่งใดจะเริ่มเป็นกระบวนการของมัน

เวลาสุภัททะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะปรินิพพาน เห็นไหม ว่า “ศาสนาไหนก็ว่าประเสริฐ ศาสนาไหนก็ว่าดียอดเยี่ยมไปหมด” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ไม่มีรอยเท้าบนอากาศ ไม่มีหรอก !”

ศาสนาไหนไม่มีมรรค มรรคญาณเป็นอย่างไร มรรคเครื่องดำเนิน มรรคทางเอกดำเนินอย่างไร ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล การประพฤติปฏิบัติถ้ามันมีศีล สมาธิ ปัญญา.. ศีล สมาธิ ปัญญาก็คือมรรค ๘ ถ้าศาสนาไหนไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีผล เป็นผลไปไม่ได้.. นี่ไงที่ว่าหลงป่าๆ นี่หลงธรรม ! หลงธรรม สิ่งนั้นมันเป็นสูตรสำเร็จ ทุกอย่างมีพร้อมอยู่แล้ว ทุกอย่างกดปุ่มได้หมดเลย มันจะได้คะแนนกันไปหมดเลย ทำผิดทำถูกกดปุ่มเอา

มันไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้ การกดปุ่มเอามันเป็นวัตถุแล้วนะ ดูสิเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้มันเร็วมาก แต่สิ่งที่เร็วขนาดไหนมันก็เป็นสิ่งที่มีโปรแกรมควบคุมได้ หัวใจมันเร็วกว่านั้น แล้วหัวใจที่มันเร็วกว่านั้น ที่มันพลิกแพลงได้มากกว่านั้น ฉะนั้นเราถึงต้องตั้งสติไง ถ้ามีสติขึ้นมา เริ่มต้นตั้งแต่คำบริกรรม เริ่มต้นตั้งแต่ปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี่นะ เรากำหนดพุทโธ พุทโธขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันมีพื้นฐานมันลงของมันได้ ดูสิอำนาจวาสนา.. อำนาจวาสนาดูสิเราทำนาทุกปีนะ ทั้งนาปีนาปรังต่างๆ ดูสิพันธุ์ข้าวของเราขึ้นมาแต่ละปี คุณภาพของข้าวมันให้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน นี่เราทำนาทุกปีนะเราถึงมีข้าวกิน ดูสิที่เขาไปบุกป่า เขาไปเที่ยวป่า เขาหาของป่ากันเพื่อดำรงชีวิตของเขา แต่เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญไง พอโลกมันเจริญ เห็นไหม ทุกอย่างเราทำเป็นอุตสาหกรรม ข้าวเขาต้องทำทุกปีนะ ทำทุกปีเพื่อเลี้ยงประชากรโลกไง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเรามีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญา เห็นไหม นี่อาหารที่เลี้ยงประชากรโลก แต่สิ่งที่มันจะตั้งหัวใจของเราขึ้นมาให้มีศีล สมาธิ ปัญญา.. ศีล สมาธิ ปัญญามันจะเป็นเครื่องดำเนิน ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินเข้าไปสู่หัวใจ ถ้าเป็นเครื่องดำเนินเข้าไปสู่หัวใจ มันจะเริ่มเดินป่าด้วยความถูกต้อง ป่าในหัวใจ ป่ารกชัฏในใจเรา นี่เราจะเดินป่าอย่างไร เราจะกำจัดกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราออกไปจากใจของเราได้อย่างไร

ถ้ามันจะกำจัดกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรานี่ใครเป็นคนกำจัด ใครเป็นคนรับรู้ ใครเป็นคนเริ่มต้นที่จะกำจัด เราเข้าป่าไปโดยที่ว่าไม่มีป่าและไม่มีบุคคลเลยเหรอ คนเข้าป่าก็ไม่มี ป่าก็ไม่มี สิ่งใดก็ไม่มี แล้วเข้าไปแล้ววนไปอย่างนั้น นึกเอาแล้วก็จบเหรอ มันเป็นอย่างนั้นไปได้ไหม นี่เขาหลงป่าเขายังมีบุคคลนะ ยังมีความรับรู้ว่ามีเวรมีกรรม มีความสุขความทุกข์ มีต่างๆ มีการผจญภัยอยู่ในป่านั้น

นี่เขารู้ว่าหลงเพราะอะไร เขาจะรู้ตัวว่าหลงต่อเมื่อเขาไม่มีทางออก เขาจะเสียชีวิตอยู่ในป่านั้นเขาถึงรู้ว่าหลง เขาตายไป แล้วนี่พูดถึงเวลาถ้าเราเริ่มปฏิบัติ แล้วไม่มีสติ ไม่มีเริ่มต้นสิ่งใดๆ เลยนี่มันจะเริ่มต้นกันที่ไหนล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์นะ เวลาตรัสรู้ขึ้นมาเอาอะไรตรัสรู้ เอาใจตรัสรู้.. ถ้าใจที่ตรัสรู้แล้ว เห็นไหม อาสวักขยญาณทำลายอวิชชาในหัวใจทั้งหมดสิ้นแล้ว นี่ตรัสรู้ในป่าแล้วไม่หลง ! ไม่หลงเลย.. ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ถูกต้องหมด แต่ของเรานี่ไปหลงธรรมกันเอง หลงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลงในธรรมนะ หลงในธรรมเพราะเหตุใด หลงในธรรมเพราะเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาความทะยานอยากนี่มันต้องการปรารถนา มันแรงปรารถนาว่าอยากพ้นทุกข์ อยากจะได้มรรคผลนิพพาน อยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วพ้นจากทุกข์ด้วยความนึกเอา ด้วยความคิดเอา แล้วเทียบเคียงเอา จะเอาให้มันเป็นแบบธรรมวินัยตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อมันไม่มีการกระทำเลย

นี่ถ้ามีการกระทำ การกระทำที่ไหนล่ะ การกระทำนี่ไงในหัวใจที่มีสติขึ้นมานี่ไง ถ้าคนมีสติขึ้นมา เห็นไหม ดูสิคนมีการศึกษาทางวิชาชีพมามาก แต่ขาดสติยั้งคิด ใครพูดอย่างไรก็เชื่อเขาไป ถ้ามีสติยั้งคิดขึ้นมานี่มันเป็นจริงไหม พอมันเป็นจริงไหมนี่เราต้องปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ไม่สามารถจะทำให้ใครพ้นจากทุกข์ได้ แต่เป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น” ถ้าคนชี้ทาง เวลาเราปฏิบัตินี่เรารู้ได้ สิ่งที่มันเป็นคุณธรรม เราต้องรู้จักคุณธรรมสิ ถ้าเราไม่รู้จักคุณธรรมสิ่งใดๆ เลย มันจะเป็นคุณธรรมเหรอ

นี่ไงดูสิ ตัวเองหลงก็ไม่รู้ว่าหลง ตัวเองผิดพลาดขนาดไหน ให้กิเลสตัณหามันหลอกขนาดไหนก็เชื่อมันไป มันมีเหตุมีผลอะไร สัจธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ สิ่งใดเป็นเครื่องพิสูจน์กันว่าสิ่งใดเป็นจริงและไม่เป็นจริง สิ่งที่เป็นจริงขึ้นมา ถ้าจิตมันเป็นจริงขึ้นมานี่มันรับรู้ของมัน เห็นไหม เวลาปฏิบัติขึ้นไป มันจะเวิ้งว้างขนาดไหนเราสร้างกันเองนะ เราสร้างว่าป่าก็ไม่มี ผู้หลงก็ไม่มี ธรรมะก็เข้าใจแล้ว แล้วมันมีอะไรตอบสนองล่ะ มันมีอะไรเป็นมรรคเป็นผลบ้าง

นี่ไงที่ว่าหลงธรรม ! หลงธรรม ! ธรรมะมันเริ่มต้นไม่ได้ แล้วท่ามกลางก็ไม่มี ถึงที่สุดก็ไม่รู้เรื่องว่าที่ไหน แต่ถ้าเริ่มต้นมันเริ่มต้นได้ เห็นไหม เริ่มต้นได้ นี่ถ้ามีสติมันจะเริ่มต้นได้.. มีสติ มีสติเริ่มมีคำบริกรรม ถ้ามีคำบริกรรมนะจะเดินป่าก็พร้อม จะเดินป่าก็มีผู้นำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ผ่านมาแล้ว เราจะเข้าป่า เข้าป่าเพื่ออะไร เพื่อความสงบสงัด เข้าป่าเพื่อควบคุมใจของตัว เพราะใจของเรานี่มันดื้อนัก ใจของเรามันดื้อนัก มันอยู่ที่ไหนมันอยู่ด้วยความสะดวกสบายของมันแล้วมันก็เหยียบย่ำเรา ใจของเรามันเหยียบย่ำเราเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากอาศัยอยู่ในหัวใจนี้ มันเหยียบย่ำหัวใจของเรา

ฉะนั้นเราเข้าไป ดูสิธุดงควัตร ถือศีลในศีล ศีลโดยปกตินี่ ๒๒๗ เราก็ถือศีลกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราถือธุดงควัตร เห็นไหม เพราะว่าศีลในศีล ธุดงค์นี้ไม่ถือก็ไม่ปรับอาบัติ ถ้าถือขึ้นมา ถือขึ้นมาเป็นข้อวัตร ถือขึ้นมาเป็นเพราะผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร นี่มันเป็นเครื่องขัดเกลา ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แต่ไม่ใช่การฆ่ากิเลส มันฆ่าไม่ได้

ศีล.. ศีลฆ่ากิเลสได้เหรอ ศีลฆ่ากิเลสไม่ได้แต่ศีลขัดเกลาได้ ขัดเกลาเพื่อปิดล้อมมัน เพื่อปิดล้อมหัวใจที่มันปรารถนา มันต้องการของมันไม่มีขอบเขต เห็นไหม เราก็เอาธุดงควัตรเข้ามา นี่ธุดงค์ ๑๓ บิณฑบาตเป็นวัตร อาสนะเดียวเป็นวัตร ภาชนะเดียวเป็นวัตร สิ่งใดๆ ขึ้นมามันก็แค่อาหาร

สัปปายะ ๔ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ ถ้ามีสัปปายะ ๔ ทิฐิมานะ ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน การประพฤติปฏิบัติด้วยกันจะเกื้อกูลต่อกัน การเกื้อกูลต่อกัน เห็นไหม เราหาหมู่คณะที่เป็นสัปปายะ

สิ่งที่เกื้อกูลต่อกัน สิ่งนี้ในเมื่อมีสติปัญญาขึ้นมานี่มีศีล ! ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธินี่มีศีลขึ้นมา มีความสงบใจขึ้นมา มีความสงบใจขึ้นมานี่เราตั้งสติแล้ว เราตั้งสติของเรา เราพอใจเพราะจิตใจนี้มันดื้อนัก สิ่งต่างๆ พอมันดื้อนัก จิตใจมันดื้อนัก ไอ้ผู้ที่หลงนี่มันดื้อนัก มันหลงมันยังไม่รู้ตัวว่ามันหลงเลย แต่ถ้ามีสติขึ้นมานี่ใครเป็นคนหลง แล้วเราอยู่ไหน

เวลากำหนดคำบริกรรม พุทโธ พุทโธไป เห็นไหม จากที่มันหลงนะ จากที่มันไม่มีสิ่งใดเป็นสัมภาระที่จะดำรงชีวิตของมันเลย ไปอยู่ป่าอยู่เขา เวลาหลงป่าขึ้นมานี่ไม่มีอาหาร ไม่มีสิ่งใดๆ ดำรงชีวิตเลย พอพุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไปนะ นี่พุทโธ เห็นไหม จิตที่หิวกระหายมันได้ดื่มกิน.. นี่สติธรรม สมาธิธรรม !

สมาธิธรรม.. สมาธิคือจิตที่มีอาหารของมัน สมาธิธรรมเป็นอาหารของจิต พออาหารของจิต จิตมันอิ่มเต็มของมัน มันไม่หิวกระหาย คนไม่หิวกระหาย คนหลงป่านะไม่ตกใจ ถ้าคนหลงป่ายิ่งตกใจ ยิ่งตกใจยิ่งไม่มีสติปัญญา มันจะเตลิดเปิดเปิงไป ล้มลุกคลุกคลาน ตกเหวตกบ่อ สัตว์ร้ายคาบเอาไปกินได้หมดเลย.. แต่ถ้าจะหลงขนาดไหนเรามีสติปัญญาของเรา เรากำหนดคำบริกรรมของเรานะ มันมีสติปัญญา มันทรงตัวของมันได้ เราหลงป่า แต่ชีวิตของเราก็มี อาหารของเราก็มี ทุกอย่างเราก็มี นี่เราจะหาทางออก เราจะหาทางออก ถ้ามีทางออกได้เราจะออกจากป่านี้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันตั้งสมาธิของมันขึ้นมาได้ เห็นไหม นี่จิตใจนี้มันหลงของมัน มันหลงในอะไรล่ะ มันหลงในกาย หลงในเวทนา หลงในจิต ในธรรม.. หลงจริงๆ หลงเพราะอะไร หลงเพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก หลงเพราะมันมีอวิชชาความไม่รู้ของมัน

มันไม่รู้จริงๆ นะ ! นี่เรานั่งฟังเทศน์กันอยู่นี้ทุกคนก็บอกว่ารู้หมดล่ะ สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมใครจะไม่รู้ ไอ้นี่มันเป็นศัพท์.. มันเป็นศัพท์ ! มันเป็นนิยามว่าอะไรเป็นกาย อะไรเป็นเวทนา อะไรเป็นจิต อะไรเป็นธรรม แล้วเวทนามันก็มีสุขเวทนา เวทนานี่เวลามันไม่ชอบ สุขเวทนาชอบทำไม.. เวทนานี่ไม่ชอบเลยเพราะมันมีทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา ถ้ามันสุขเวทนาก็ปลื้มใจ ดีใจ อยากจะกอดมันไว้ แต่เวลามันเป็นทุกขเวทนาก็อยากจะผลักไสของมันออกไป

มันก็มีสุขะ มีทุกขะ แล้วเราจะเลือกสิ่งใดล่ะ.. ถ้าเป็นกาย กายของเราก็เสื่อมสภาพ ไม่มีสิ่งอะไรคงที่กับเราตลอดไป นี่แล้วถ้าหลงไปในชีวิตของเรา เห็นไหม เราคิดว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า ปรนเปรอขนาดไหนมันก็ตาย แล้วตายนี่ตายแบบสูญเปล่า ตายแบบไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติของใจนี้ไปเลย แต่ใจพอมันเกิดมาเป็นเรา หน้าที่การงานของเราก็ศึกษา เราก็ทำของเราเราก็มีวิชาชีพต่างๆ เราก็ต้องหามาทั้งนั้น หามาเพื่อดำรงชีวิตไว้ แล้วจิตใจนี่ถ้ามันพลิกแพลงได้ ถ้ามันแก้ไขได้ มันมีการกระทำได้ ไม่ให้มันหลงใหลไป มีสติมีปัญญาคอยควบคุมใจของเราไว้

นี่ใจของเรา เห็นไหม เขาจะมีสุขมีทุกข์ขนาดไหน โลกเขาจะเป็นอย่างไรนี่เพราะอะไร เพราะเราไปมองแต่โลกไงว่าโลกเขาเป็นกันอย่างนั้น เราประพฤติปฏิบัติเราก็จะแปลกโลกเขา เราจะไม่เหมือนกับโลกเขาไปเลย โลกเขาจะเจริญรุ่งเรือง เราเป็นคนทุกข์คนยาก ไอ้เจริญรุ่งเรืองนี่รุ่งเรืองไปไหน รุ่งเรืองไปสู่เมรุไง รุ่งเรืองไปสู่ความตาย แต่ไอ้ที่ไอ้ทุกข์ไอ้ยาก ไอ้ทุกข์ไอ้ยากเพราะมีสติปัญญามันรู้ระลึกรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ถ้ารู้สึกตัวตลอดเวลานี่จะทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ จะไปไหนให้มันเป็นไป มันจะตกนรกอเวจี มันจะไปบนสวรรค์ค้ำฟ้าที่ไหนให้มันไป ถ้าเรามีสติอยู่นี่มันจะไปไหน จิตมันจะไปไหน

นี่เรารักษาของเรา เห็นไหม งานของเรามันอยู่ที่นี่ไง ถ้าเรารักษาของเราที่นี่มันจะทรงตัวของมันขึ้นมา ถ้าจิตมันทรงตัวขึ้นมา พอจิตมันทรงตัวขึ้นมานี่มันพร้อมไง หลงป่าก็มีสติมีปัญญา มีอาหาร จะหาทางออก ถ้าหาทางออกได้ ทางออกด้วยไหน ทางออกด้วยปัญญา เวลาเขาออกจากป่าเขาออกกันอย่างไร เขาก็มีทางของเขาออกใช่ไหม มีผู้นำทางออกใช่ไหม มีคนมาช่วยเหลือจุนเจือให้เราออกจากป่านั้นได้ แต่เวลาจิตเราจะออกจากป่าใครจะจุนเจือล่ะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ทางเอาไว้แล้ว ธรรมวินัยก็ชี้ นี่ชี้ให้มีทางออก ทางออกโดยมัคโค ทางอันเอก นี่จิตนี้มันจะพ้นออกไปได้ ถ้าพ้นออกจากสิ่งนี้ไป ถ้าเราพ้นออกจากสิ่งนี้ไป เห็นไหม อะไรมันจะมาหลอกเราอีกล่ะ อะไรมันจะมาครอบงำเราได้ แต่เพราะเราหลงมันอยู่มันถึงครอบงำ มันถึงผลักไส มันถึงให้เราอยู่ในอำนาจของมัน

ถ้าอยู่ในอำนาจของมันนะ กิเลส พญามารมันอยู่ในภวาสวะ ในภพ ในหัวใจเรานี่แหละ มันมีอำนาจ ! มันมีอำนาจเพราะอะไร เพราะกิเลสนี้มันร้ายนัก กิเลสมันพาเกิดพาตาย มันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันพาเกิดพาตาย ทำคุณงามความดีมาขนาดไหนมันก็ครอบงำมาตลอด มันครอบงำมา ครอบงำมาจนเป็นนิสัย มีความเห็น มีมุมมอง เห็นไหม เวลาเราพูดธรรมะกันไปมุมมองเราจะแตกต่างคลาดเคลื่อนกัน เวลาเราพูดธรรมะหยาบละเอียดอะไรต่างๆ พูดธรรมเหมือนกัน แต่บางคนพูดถึงความละเอียดลึกซึ้ง ไอ้คนนี้หยาบก็ฟังแล้วมันเกินไป แต่ไอ้คนที่เป็นคนหยาบ เวลามันพูดคนละเอียดก็บอกว่าไอ้นี่มันหยาบเกินไป นี่สิ่งนี้มันเป็นอำนาจวาสนาที่สร้างมา ที่มุมมองแตกต่างกัน

ฉะนั้นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันถึงหลากหลาย.. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย บอกไว้ในพระไตรปิฎกว่า ที่ในพระไตรปิฎกมันแค่กำใบไม้ในมือเท่านั้น แต่กำใบไม้ในป่า นี่จริตนิสัยของคนมันแตกต่าง แต่ ! แต่โดยหลักก็คืออริยสัจ โดยหลักนี่ที่หลักนี้ แต่มุมมองวิธีการที่การกระทำ แต่ใครจะเข้มข้น ใครจะปานกลางขนาดไหนให้มันมีสติปัญญา ให้มีสติปัญญาพยายามสร้างสติของเราขึ้นมา แล้วดูแลรักษาใจ ถ้าดูแลรักษาใจ ใจมันจะเข้มแข็งขึ้นมา ใจมันจะมีสติปัญญาขึ้นมา

ถ้ามีสติปัญญา นี่ไงตัวนี้แหละ! ตัวนี้แหละ ถ้าตัวนี้มันออกรู้ เห็นไหม มันออกรู้ออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญานะ.. เวลาทำสมาธินะ เวลาเราหลงป่าไปเราคิดจินตนาการของเราไปหมดเลยว่าเราเป็นผู้ที่มีศักยภาพ แต่ความทุกข์ในใจนี่นะมันจะแผดเผาไปตลอด แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เราจะมีความทุกข์ในการประพฤติปฏิบัติ เราจะมีความทุกข์ในการตั้งสติ พอตั้งสติขึ้นไปแล้วจิตใจมันก็ไม่ได้คิดตามสะดวกสบายของมัน

เวลาเรากำหนดคำบริกรรมจิตใจมันจะคิดเรื่องนอกลู่นอกทาง มันก็ต้องมาทนทุกข์กับพุทโธ พุทโธเนี่ย เวลาเราใช้ปัญญาขึ้นมา ใช้ปัญญาติดตาม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มีสติแล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิควบคุมความคิด ตามความคิดไป ดูความคิดว่ามันคิดเรื่องสิ่งใดด้วยเหตุด้วยผล มันหยุดของมัน เวลามีสติขึ้นไป เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาเพื่อเหตุนี้ล่ะมันทุกข์ มันทุกข์ เห็นไหม มันทุกข์ แต่เพราะเรามีความตั้งใจ เรามีความจงใจ ความทุกข์ ทุกข์เพื่อจะควบคุม ทุกข์เพื่อจะตีแผ่ ทุกข์จะให้เห็นโทษของมันไง

ถ้ามันเห็นโทษของการฟุ้งซ่าน มันเห็นของการที่เราควบคุมใจเราไม่ได้ มันเห็นโทษใช่ไหม มันก็ตั้งใจภาวนา ตั้งใจนั่งสมาธิ เดินจงกรม.. ถ้าตั้งใจนั่งสมาธิ เดินจงกรม เห็นไหม พอเรานั่งสมาธิ เดินจงกรมขึ้นมานี่มันทุกข์ไหม ทุกข์ ลงทุนลงแรงนี่งานอะไรไม่ทุกข์ ทำงานทางโลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำเขาก็ทุกข์ของเขา

เรามีสมณสารูปใช่ไหม เรามีสมณสารูป เรามีความสงบเสงี่ยม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่เวลาปฏิบัติมันก็ทุกข์ทั้งนั้น มันก็ทุกข์เหมือนกัน ! แต่ทุกข์เพื่อจะให้เท่าทันกับจิตของตัวเอง ถ้าเรามีความเท่าทันกับใจของเรานี่มันทรงตัวของมันได้

นี่สัมมาสมาธิ ! จิตมันปล่อยวางเข้ามา เราใช้ปัญญาใคร่ครวญสิ่งใดก็แล้วแต่มันจะปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา.. การปล่อยวาง เห็นไหม จิตมันก็แช่มชื่นขึ้น จิตมันก็มีหลักมีเกณฑ์ขึ้น นี่คนหลงป่าแต่มันมีความแช่มชื่นของมัน มันจะออกจากป่าให้ได้

การหลงป่า ถ้ามีคนชักนำออกจากป่ามันก็จบ แต่การหลงธรรม หลงกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี่มันหลงของมันนะ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านคอยบอก คอยแนะ คอยชี้นำ นั้นเป็นโอกาส เป็นอำนาจวาสนาของเรา ทีนี้อาจารย์ที่จะคอยชี้คอยแนะเรา เราฟังแล้ว อืม.. มันเหลือเชื่อนะ อืม.. มันเหนือโลก อืม.. ใครจะทำได้ขนาดนั้น

ทำได้ ! มันทำได้ต่อเมื่อจิตใจเราเข้มแข็งนะ ดูสิเราจะคิดไหมว่าเรานี่จะมีเงิน สามารถจะซื้อข้าวของสิ่งของได้ เราจะคิดไหมล่ะ เราก็คิดว่าเราไม่น่าจะมีนะ แต่ถ้าเราเก็บหอมรอมริบ เรารู้จักแสวงหา ถ้าเรามีเงินขึ้นมา จำนวนของสินค้าเท่าไร ถ้าเงินเรามีมากกว่าเราซื้อได้ทั้งนั้นล่ะ จิตใจของเราที่ว่าเราทำไม่ได้ๆ นี่แหละ แต่ถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มันก็เหมือนเงินนั่นแหละ

ทุน เห็นไหม สมาธิคือทุน ถ้าเรามีสมาธิขึ้นมา เวลาปัญญามันเกิดนะ เวลาปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธินี่มันทำลายนะ มันทำลายอวิชชานะ มันทำลายความไม่รู้นะ สิ่งใดที่มันไม่รู้ที่พอกพูนในหัวใจเรา เราไม่รู้สิ่งใดเลย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าธรรมวินัยๆ พุทธพจน์ๆ นี่กิเลสมันไม่รู้เรื่องเลย หัวใจมันก็ไม่รู้เรื่องเลย เพราะมันเป็นสุตมยปัญญา มันเป็นการศึกษามาจากขันธ์

ขันธ์ นี่มันเป็นสัญญา ดูเวลาศึกษา เห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.. มันก็คือความคิดความรับรู้สึกเรานี่แหละ มันศึกษามาจากขันธ์ มันศึกษามาจากภาพความจำ สัญญามันจำมา แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามา มันสงบเข้ามามันผ่านขันธ์เข้ามามันถึงสงบได้ ถ้าจิตมันอยู่ที่ระดับของขันธ์นี่มันสงบไม่ได้หรอก

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ ดูสิใช้ปัญญาใคร่ครวญมันก็ขันธ์นั่นแหละ แต่ขันธ์ที่มีสติปัญญา เวลามันพิจารณาเข้าไปแล้วมันก็หยุด มันหยุดมันปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมา ปล่อยมาแล้วเหลืออะไร เหลือพลังงาน พลังงานนั้นคือสมาธิ นี่ตัวสมาธิ เพราะตัวสมาธิมันเป็นสัจธรรม สัจธรรมเพราะจิตมันผ่านเข้ามาในตัวของมัน แต่เวลาเราศึกษานี่เราศึกษาด้วยความคิดไง เราศึกษาด้วยขันธ์ ๕ การศึกษา การค้นคว้า นี่ค้นคว้าโดยขันธ์ ๕ เท่านั้น แต่ถ้าจิตมันปล่อยวางนี่มันจะปล่อยวางเข้ามาสู่มัน

ฉะนั้นเวลาจิตนี่ พุทโธ พุทโธจนจิตมันสงบเข้ามา มันจะเข้ามาสู่ตัวจิต ถ้าเข้ามาสู่ตัวจิต เห็นไหม ตัวจิตถ้ามันมีกำลังของมัน แล้วเราใคร่ครวญของเรา อยู่ที่อำนาจวาสนา ถ้าจิตมันออกไปมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม.. เห็นกายนะ เห็นกายโดยที่จิตมันมีกำลังนะมันจะเห็นกายขึ้นมา เห็นกายนี่มันแทงเข้าไปที่หัวใจ เวลาดูอุปัชฌาย์ให้กรรมฐาน ๕ เห็นไหม เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ.. ย้อนหน้าย้อนหลัง ถ้าไม่ให้กรรมฐาน ๕ การบวชนั้นเป็นพระไม่ได้

การบวชต้องให้กรรมฐาน ต้องให้รุกขมูล สิ่งที่รุกขมูลนี่พระป่าทั้งนั้นล่ะ ! อยู่ในป่าทั้งนั้นล่ะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ในป่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ทำมาเพื่อป่า ป่าโดยวัตถุนะ ป่าโดยสังคมโลก กับป่าในหัวใจของตัว นี่เวลาเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เห็นไหม ถ้ามีเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ สิ่งนี้มันทำให้จิตนี้มันติดพันอยู่ จิตของเรามันไม่ติดพันสิ่งอื่นมากไปเลย

เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ระหว่างตรงข้ามนี่ติดมาก ถ้ามันติดของมัน เห็นไหม มันติด มันยึดมั่นของมันโดยกามราคะ โดยสิ่งที่ฝังใจ โดยกามโอฆะ สิ่งนี้เพราะอะไร เพราะจิตนี้มันเกิดมาในโอฆะนี้ จิตนี้มันเกิดมา.. นี่ไง เราเกิดมาในโอฆะมันก็ติด มันเหมือนกับยางเหนียว ยางเหนียวนี่สิ่งใดมันจะติดไปหมด ปะสิ่งใดมันก็ติดไปหมดใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน มันเยิ้มอยู่ในหัวใจ มันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้ว เพราะว่ามันเยิ้มอย่างนั้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว มันถึงทำให้จิตใจนี้อยู่ในอำนาจของมัน แล้วแต่มันจะบัญชาการ.. หลงใหลได้ปลื้ม อยู่ในอำนาจ อยู่ในครอบงำของเขาหมดเลย แต่พอเราตั้งสติขึ้นมา เห็นไหม พอเราตั้งสติพุทโธ พุทโธขึ้นมา ถ้าจิตมันผ่านตรงนี้เข้ามานี่มันทรงตัวของมันได้

ทรงตัวได้.. ทรงตัวได้กับการใช้ปัญญาในการชำระกิเลสแตกต่างกัน การทรงตัวได้ การรักษาจิตที่จิตมันทรงตัวได้มันถึงจะออกใช้ปัญญา ถ้ามันออกใช้ปัญญานี่เป็นธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจของเราถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมา จนมันพัฒนาการของมันขึ้นมา จนมันมีกำลังของมันขึ้นมา นี่มันจะทำงานของมัน

เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสินี่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่มรรคญาณธรรมจักรมันเคลื่อน เราศึกษามานี่เราศึกษา เราฟังครูบาอาจารย์เทศนาว่าการเพราะอะไร เพราะจิตใจของครูบาอาจารย์ของเราท่านได้ทำของท่านมา ถ้าท่านไม่ได้ทำของท่านมา นี่ปัญญาที่เกิดจากจิต จิตที่มันมีการกระทำ จิตที่มันเริ่มแผดเผาทำลาย มัคคะมันเริ่มเคลื่อนออกไปจากใจ เห็นไหม

นี่สิ่งนี้มันเป็นภาคปฏิบัติ มันเป็นการกระทำ มันไม่ใช่ภาคการศึกษา ภาคการศึกษาที่ว่าศึกษาโดยขันธ์ ศึกษาโดยขันธ์ ๕ คือศึกษาแบบโลก แต่เวลาภาคปฏิบัตินี่ปฏิบัติต้องให้จิตมันสงบเข้ามา นี่จิตมันสงบเข้ามาจนจิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่น จิตมันไม่มีกิเลสชักนำให้มันหลงใหลไป เห็นไหม ถ้ามันไม่มีสติปัญญานี่มันหลงนะ เหมือนคนทรงตัวไม่ได้ ถ้าคนทรงตัวได้ ดูสิดูเด็กมันเล่นลูกข่าง ถ้ามันทรงตัวไม่ได้มันก็ล้ม แต่ถ้าเราเล่นลูกข่างมันปล่อยออกไป ถ้ามันมีกำลังหมุนตัวมันเอง มันจะทรงตัวของมันเข้ามา

จิตนี้เป็นนามธรรม ! แล้วจิตนี้เป็นนามธรรมมันจะทรงตัวของมันได้อย่างไร สิ่งที่ทรงตัวไม่ได้ ที่เราฟุ้งซ่านกันอยู่นี้ ที่เราคิดกันอยู่นี้เพราะว่าจิตมันทรงตัวไม่ได้มันจะมาอาศัยขันธ์ไง อาศัยสัญญา อาศัยสังขาร อาศัยความปรุงความแต่ง จิตมันก็อาศัยเกาะเขาตลอดไป จิตมันพึ่งตัวมันเองไม่ได้เลย แต่เพราะเรามีครูมีอาจารย์ใช่ไหม เพราะเราเป็นกรรมฐานใช่ไหม

ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ! งานของการรื้อภพรื้อชาติ งานนี้มันอยู่บนอะไรล่ะ งานของโลกเขา งานของโลกเขาเขายังต้องมีที่รองรับใช่ไหม เดี๋ยวนี้เขาบอกทำงานที่บ้านๆ เขาทำงานที่บ้านเขาก็มีโน้ตบุ๊กของเขานะ เขามีคอมพิวเตอร์ของเขา เขาจะส่งทำงานกันที่บ้านได้ ทำงานก็คืองาน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่มีกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานมันจะทำงานที่ไหน ถ้ากรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานรื้อภพรื้อชาติ มันต้องรู้จักที่มาที่ไป รู้จักจุดกำเนิด นี่จิตมันคืออะไร เวลาปฏิสนธิจิต จิตมันเกิดเป็นมนุษย์นี่เกิดอย่างไร เวลากำเนิด ๔ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นสัตว์นรกอเวจีนี่มันเกิดอย่างไร

สิ่งที่มันเกิด เห็นไหม ที่มันเกิดนี่คือผลของวัฏฏะ แล้วปัจจุบันนี้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์มีหัวใจ มีภวาสวะตัวภพ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาสู่ฐาน ถ้าสงบเข้ามาสู่ฐาน นี่ไงมันรู้สึกตัวของมันนะ มันมีจิตตั้งมั่น.. มันหลงป่าก็ไม่มีใครรู้ว่าใครหลงเลย เขาหลงป่าเขาก็ตายนะ สัตว์มันหลงจากฝูงมันต้องผจญภัยของมัน ไอ้นี่จิตมันไม่รู้จักตัวมันเอง มันหลงใหลได้ปลื้ม ศึกษาธรรมะแบกหามไว้เต็มหัวใจเลย ! แต่มันไม่รู้จักตัวมันเอง หาตัวเองก็ไม่เจอ แต่พอเวลาพุทโธ พุทโธ พอเวลาจะทำสมาธิเข้าไปนี่สู่ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

ถ้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าจิตมันสงบได้น้อย บอกว่าแล้วเมื่อไรมันจะได้ภาวนาล่ะ เมื่อไรจะได้วิปัสสนา.. วิปัสสนาไม่มี ถ้าจิตไม่สงบ ! จิตสงบแล้วออกไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ด้วย ! ด้วยคุณภาพของมัน.. แต่ที่เขาเห็นกันอยู่นี้ ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ใคร่ครวญได้

ใคร่ครวญ.. จิตเวลาเราตรึกในธรรม เห็นไหม เราตรึกในธรรม เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า เราเป็นชาวพุทธเราศึกษาได้ เราก็รู้หมดแหละ กาย เวทนา จิต ธรรม ทุกคนท่องกันนกแก้วนกขุนทองแต่มันไม่มีอยู่จริง ! มันไม่มีอยู่จริงเพราะจิตมันไม่สงบ มันไม่มีฐานที่ตั้งแห่งการงาน มันไม่เข้าถึงฐาน ไม่เข้าถึงผู้เสียหาย มันไม่เข้าถึงหัวใจ มันเป็นไปไม่ได้ มันเข้าถึงขันธ์ มันเข้าถึงความจำ นั่นเป็นภาคปริยัติ

นี่หลง ! หลงใหลได้ปลื้ม หลงในธรรม แต่เวลาถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ แล้วเรากำหนดนะ พอจิตมันสงบเข้ามาเราใช้ปัญญาได้ เขาว่าแล้วเมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญาล่ะ.. ปัญญาใช้ได้ทุกที่ แต่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ !

ปัญญาอบรมสมาธินะ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐินะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใคร่ครวญ ใคร่ครวญทวนกระแส จากจิตที่มันคิดโดยธรรมชาติของมัน โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากบังคับขับไสให้ออกมาเป็นความคิด มันเป็นเจตนาที่คิดออกมาจากใจ จะคิดดี คิดเลว คิดชั่ว คิดอยู่ตรงไหน มันก็เป็นความคิดของกิเลสหมด เพราะนี่กรรมฐาน ฐานที่ตั้ง.. ฐานที่ตั้งนี่มันไม่มีกำลัง ไม่มีความมั่นคง มันออกไปโดยอำนาจ ดูสิเวลาลมแรงๆ มันพัดสิ่งใดๆ สิ่งใดจะทนกับกระแสลมที่รุนแรง มันจะพัดสิ่งใดไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเกิดจากจิต เกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน แต่มันเกิดโดยอารมณ์ความรู้สึก มันไม่ใช่ฐานที่ตั้ง มันเป็นเหมือนพายุอารมณ์ มันจะพัดของมันออกไปตลอดเวลา เราถึงทำความสงบของใจ ทีนี้คำว่าพัดเขาว่าไม่เห็นมี พัดอะไร ? พายุมันก็ทำลายทั้งนั้นล่ะ นี่มันพัดอะไร ความคิดไม่เห็นมันพัดอะไร สนุกดีซะอีก อู้ฮู.. ยิ่งคิดยิ่งมัน...

ความคิดมันคิดออกไป แต่มันบวกด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ามันบวกด้วยความโลภ คิดด้วยความโลภ มันบวกด้วยความหลง ก็คิดด้วยความหลง มันบวกด้วยความโกรธ มันก็คิดด้วยความโกรธ มันคิดออกไปนี่เพราะมันเป็นสิ่งที่เราคิดด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากคิดตามออกไป มันถึงไม่เห็นโทษไง มันถึงว่าไม่รับรู้สำนึกสิ่งใดๆ

นี่มันหลง ! หลงกิเลส หลงในสัจธรรม หลงไปหมดเลย แต่ถ้ามีสติปัญญา เห็นไหม นี่ที่ว่าใช้ปัญญาๆ นี่ปัญญาอบรมสมาธิจะเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้ามันเป็นปัญญาการศึกษา ปัญญาการจำมา ไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาหลงในธรรม หลงว่ารู้ หลงว่าฉลาด หลงว่าเข้าใจแต่ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใดเป็นสิ่งตกผลึกรับรู้ในหัวใจ นี่แต่ถ้าเราใช้ปัญญานะ ปัญญาอบรมสมาธิ เราตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

นี่ไงมันมีสัมมากับมิจฉา ถ้าเป็นมิจฉานะ ยิ่งดูเฉยๆ ด้วยยิ่งหมดเรื่องเลยไม่ต้องพูดถึง ยิ่งดูเฉยๆ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้ามันเป็นมิจฉามันก็หลงไปในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้ามีสติ ! ถ้ามีสติ.. ถ้ามีสติ เห็นไหม คิดในธรรม ตรึกในธรรม พอตรึกในธรรมขึ้นมา นี่มีสติมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิเพราะเราใคร่ครวญ พิจารณาแล้วนี่มันเห็นโทษ พอเห็นโทษแล้วมันก็หยุด

คำว่าหยุดนะ หยุดนั่นแหละ พอหยุดขึ้นมา เห็นไหม นี่แล้วจะใช้ปัญญาเมื่อไหร่ พอหยุดขึ้นมา คำว่าหยุดนี่มันเข้าไปสู่กรรมฐาน สู่ฐานที่ตั้ง พอหยุดบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า ใช้ปัญญาไล่เข้าไป.. ตรึกในธรรมนี่แหละ ตรึกในความคิดเรื่องโลก เรื่องความเป็นอยู่ เรื่องความนึกคิด ถ้าสติไม่พอความคิดมันก็จะไหลไป แต่ถ้ามีสตินะ ความคิดนั้นหยุดได้ มันหยุดด้วยว่าเราคิดเรื่องอะไร คิดทำไม คิดแล้วเผาลนใจทำไม

นี่มันหยุด หยุดชั่วคราวแล้วคิดต่อ ความคิดต่อนี่เพราะเราไม่มีความชำนาญ แต่ถ้าเรามีสติ เห็นไหม พอมันหยุดเราก็ อ๋อ.. มันหยุดได้ พอมันหยุดได้นะ จากที่ว่ามันหลงจนไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย ไม่มีทางเข้าทางออก นี่รู้ว่าหลง แต่ ! แต่เราเห็นทางไปแล้ว.. ถ้าเห็นทางไป พอมันหยุดได้ใช่ไหม มีสติเราใช้สติตามความคิดไป มันก็หยุดบ่อยๆ หยุดมากขึ้น นี่เราจะเข้าไปสู่ฐานของเรา ถ้าเข้าสู่ฐานของเรา เราใช้ความคิดอย่างนี้คิดบ่อยๆ แต่มีสติปัญญา มีสติตามความคิดไปตลอด

ความคิดนี่มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง แล้วความเห็นถูกต้องนี่การใช้ปัญญา ปัญญามันจะอบรมให้จิตใจสะอาดขึ้น คำว่าสะอาดขึ้นคือมันไม่คิดตามอารมณ์มากเกินไป จิตใจมันจะเริ่มปล่อย เริ่มวาง เริ่มมีกำลังของมันขึ้นมา ขยันหมั่นเพียร แล้วเทียบเคียงได้กับอารมณ์เดิม อารมณ์ที่มันควบคุมไม่ได้ เทียบเคียงกับที่มีสติควบคุมได้ ควบคุมแล้วมันปล่อยได้ แล้วถ้าทำไป คนเราทำงานทุกอย่าง พอทำงานมีรายได้ขึ้นมานี่กิเลสมันจะเข้ามาทำลาย

กิเลสมันจะเข้ามาทำลายเพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต กิเลสมันอยู่ที่ฐานที่ตั้งนั่นล่ะ เพราะกิเลสมันเป็นอวิชชา อวิชชานี่ปฏิสนธิจิต.. เพราะมีกิเลส ขนาดพระอนาคายังไปเกิดบนพรหม พระอนาคาก็ยังมีกิเลสอยู่ เห็นไหม คำว่ากิเลสนี่มันมีอยู่โดยดั้งเดิม “ที่ไหนมีจิตที่นั่นมีกิเลส !”

ถ้าพูดถึงพระอรหันต์ไม่มีจิต เพราะทำลายภพ ทำลายสถานที่ตั้ง ไม่มีสิ่งใดเพราะกิเลสมันตั้งไม่ได้ กิเลสไม่มีสภาวะ ไม่มีสถานที่อยู่มันจะอยู่ที่ไหนล่ะ แต่เพราะมันมีสถานที่กิเลสมันถึงยืนอยู่บนนั้นได้ ฉะนั้นสิ่งที่คิดออกมานี่กิเลสทั้งนั้น ฉะนั้นพอกิเลสทั้งนั้นเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญเข้าไป เราศึกษาของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาบ่อยครั้งเข้า มันมีกำลังของมันขึ้นมาเรื่อยๆ นะ พอมีกำลังขึ้นมามันปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา นี่เราใช้ปัญญา

ทุกคนจะถามว่า แล้วบอกว่าพุทโธ พุทโธเราจะใช้ปัญญาได้เมื่อไร.. พอเราใช้ปัญญาเข้าไป สิ่งใดที่เรามีการกระทำ เห็นไหม เรามีการกระทำแล้วได้ผลขึ้นมา กิเลสมันจะหาช่องหาทาง หาช่องทางทำลายความเพียร ทำลายเหตุผลในหัวใจที่เราได้ประโยชน์ พอกิเลสมันตามมาทันเราก็เบี่ยงมาใช้พุทโธ ใช้พุทโธบ้าง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิบ้าง เราใช้อุบายของเราเพราะกิเลส.. เราหลงอยู่ในกิเลส กิเลสมันก็หลอกล่อ กิเลสมันก็จะให้เราเชื่อตามมัน แล้วบอกว่ามันเข้าใจธรรมะหมด มันรู้ทุกอย่างจบสิ้น มันรู้เข้าใจหมดเลย แต่ตัวเองนี้ยังไม่รู้จัก ตัวเองที่สามารถจะทรงตัวขึ้นมาให้เป็นฐาน เป็นฐานที่ตั้งแห่งการงานเท่านั้น ไม่ได้เป็นสิ่งใดๆ เลย

พอมันมีฐานขึ้นมา เห็นไหม คนมีฐานขึ้นมาเขาเรียกว่าภาวนาเป็นนะ คำว่าภาวนาเป็นนี่มันทวนกระแส มันจะเกิดภาวนามยปัญญา มันจะเกิดโลกุตตรธรรม มันจะเกิดสิ่งมีการกระทำ ถ้ามันเกิดสิ่งมีการกระทำขึ้นมา เห็นไหม นี่มันเกิดขึ้นมามันจะพ้นจากความลุ่มหลงได้ ถ้าพ้นจากความลุ่มหลง เราจะออกป่าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมานะ.. การออกจากป่า ดูสิเวลาป่าที่เป็นป่าทึบมาก ป่าชื้น ทุ่งโล่งต่างๆ ป่านี่มันก็มีหลายระดับของมัน

การเริ่มต้นของเราถ้าเราไปป่าดิบชื้น แล้วอยู่ในกลางใจป่า การกระทำของเรามันต้องใช้กำลังแล้วตั้งสติอย่าตกใจ ไม่ต้องตกใจ การหลงป่านั้นเป็นการเปรียบเทียบว่ามันต้องตาย แต่การหลงในความคิดนี่เรายิ่งตกใจ เรายิ่งไม่มีกำลังของเรามันยิ่งมืดมน แต่ถ้าเรามีกำลังใจของเรา เราตั้งสติของเรา เราจะไม่มืดมนอนธการนะ มันจะมืดมัวขนาดไหน พระอาทิตย์ขึ้นมันจะสว่างหมด

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรามันจะมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากขนาดไหน มันจะปกคลุมหัวใจด้วยความมืดบอด แต่ถ้าเรามีสติ เรามีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ.. ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะนี้มันจะจุดประกายในหัวใจของเรา มันมืดบอดขนาดไหนมันต้องสว่างขึ้นมาได้ มันต้องเห็นหนทางของมันขึ้นมาได้

ถ้าความเห็นหนทางขึ้นมา เห็นไหม ดูสิเวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนากัน ตะวันแจ้งๆ นี่แหละ แต่ในหัวใจเราไม่รู้อะไรเลย นี่มันมืดบอด มืดบอดทางปัญญาไง.. แสงไฟ แสงพระอาทิตย์สว่างไสว แต่หัวใจมืดบอด เห็นไหม ! แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมานะ เวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา เวลาระหว่างค่ำคืนมันจะมืดมนอนธการขนาดไหน แต่หัวใจมันแช่มชื่นนะ หัวใจมันเบิกบาน หัวใจมันมีความสุขของมัน

ถ้ามีความสุขของมัน เห็นไหม ความสุขมันเกิดจากอะไรล่ะ ความสุขมันเกิดจากสติปัญญาที่มันไล่ต้อนทันกิเลสของเรา ให้กิเลสของเราสงบตัวลง ถ้ากิเลสของเราสงบตัวลง จิตใจของเรานี่กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน รักษาสิ่งนี้ไว้แล้วออกฝึกปัญญา ฝึกปัญญาที่เราใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาบ่อยครั้งเข้า คำว่าปัญญาอบรมสมาธิบ่อยครั้ง.. เงิน เห็นไหม เรานับเงินขนาดไหน เราจะมีเงินครบจำนวนที่เราพอใจ

จิต ! จิตถ้ามันใช้ปัญญาอบรมสมาธิบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า พอถึงที่สุดแล้วถ้ามันออกใช้ปัญญา เราจะรู้ได้ว่าปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่มันออกรู้ ปัญญาที่มันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี้ มันสะเทือนขั้วหัวใจ มันสะเทือนฐานที่ตั้งแห่งการงานไง เพราะฐานที่ตั้งคือภพ คือหัวใจ คือสัมมาสมาธิ ถ้าฐานที่ตั้งแห่งการงานมันออกรู้ออกเห็น ออกใช้ปัญญา ถ้าออกรู้ออกเห็นออกใช้ปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิคือการทำความสะอาดฐานนี้ให้มันสะดวกสบายขึ้น ให้ฐานนี้มีกำลังขึ้น แต่พอฐานนี้มีกำลังขึ้นแล้ว เวลาใช้ปัญญาเกี่ยวเนื่องต่อไปมันจะเกิดโลกุตตรปัญญา

โลกุตตรปัญญานี้คือวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณนี้เกิดจากอะไร เกิดจากกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานนี้สะอาดบริสุทธิ์ ฐานที่ตั้งแห่งการงานนี้ไม่มีอวิชชาครอบงำ มันถึงไม่มีความหลง พอไม่มีความหลงมันก็เห็นทางออกใช่ไหม ทางออกที่เราใช้โลกุตตรธรรมคือทางออกแห่งปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ปัญญาที่เกิดจากการภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฝึกหัด ปัญญาเกิดจากการใคร่ครวญ ปัญญาเกิดจากสัมมา งานชอบ เพียรชอบ

งานชอบ ชอบในสมถะ ชอบในวิปัสสนา.. งานชอบ ชอบในการรื้อค้นกิเลส เห็นไหม งานชอบ ความเพียรชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ทุกอย่างชอบ ความชอบธรรม ! ความชอบธรรมเกิดจากการฝึกหัด ความชอบธรรมเกิดจากการจิตที่มันหลงใหลได้ปลื้ม แล้วจิตใจมันตั้งสติปัญญาของมันขึ้นมา แล้วมันฝึกหัด มันมีการกระทำของมันขึ้นมา

นี่ไงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ แต่ตรัสรู้อยู่ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ล้มลุกคลุกคลาน หลงใหลได้ปลื้ม นี่หลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลงกิเลสในหัวใจของตัว แต่เพราะเราประพฤติปฏิบัติ เรามีครูมีอาจารย์คอยชี้นำ เราปฏิบัติด้วยความเข้มแข็งของเรา ด้วยความวิริยะ ด้วยความเพียรของเรา เห็นไหม นี่มันรู้แจ้งขึ้นมาเรื่อยๆ ความรู้แจ้งอย่างนี้ขึ้นมานี่ภาคปฏิบัติมันไม่ใช่ภาคความจำ

ภาคปฏิบัติความจริงรู้ของเรา นี่ภาคปฏิบัติมันเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา หัวใจของเรามันปฏิบัติ ถ้าจิตมันสงบ นี่ไงฐานมันเป็นอย่างนี้ เวลาออกใช้ปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่เกิดจากมรรคญาณ เกิดจากมรรค ๘ เกิดจากสิ่งที่ฝึกหัดขึ้นมา มันเข้ามาชำระล้าง มันถอดมันถอนขึ้นมา.. ถอดถอนที่ไหน ไปถอดถอนในหนังสือ ไปถอดถอนในทะเบียนบ้าน ไปถอดถอนที่ไหน ไม่มี ! มันจะถอดที่กลางหัวใจนี่ มันถอดที่ผู้รู้นี่ มันถอดที่ผู้หลงใหลได้ปลื้มนี่ มันจะมีสติปัญญาขึ้นมา มันจะทำให้มันสว่างไสวขึ้นมา เห็นไหม พิจารณาเข้าไปแล้วปล่อยวางได้มากน้อยขนาดไหน การปล่อยวางนั่นล่ะเขาเรียกตทังคปหาน

ตทังคปหาน ปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางโดยไม่ครบกระบวนการของมัน ไม่ถึงที่สิ้นสุดจบกระบวนการ เราต้องมีความขยันหมั่นเพียร เราจะออกจากป่า ออกจากป่าขนาดไหน ป่ามันก็ยังมีขอบเขตของมัน มันมีภัยของมัน มันมีสัตว์ร้ายของมัน มันมีโรคภัยไข้เจ็บ เห็นไหม จิตใจของเรานี่เราวิปัสสนาไปโดยใช้ปัญญาของเราเข้าไป มันจะมีอะไรเป็นอุปสรรคบ้างล่ะ มันมีสิ่งใดมาทำลายบ้างล่ะ

สิ่งที่มาทำลาย ดูสิเรานั่งสมาธิ ภาวนา ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา เวลาเกิดการกระทบ เวลาเกิดกิเลสนะ เวลามันเห็นว่าจิตใจเรามีกำลังนี่มันจะหลบหลีก มันจะหลบหลีกนะ มันรอให้เราใช้ปัญญา รอให้เราฟั่นเฟือน พอเราฟั่นเฟือน กิเลสมันแสดงตัวออกมา จิตเสื่อมหมดนะ เวลาจิตมันเสื่อม.. เวลาคนที่ปฏิบัตินะทำสมาธิสมาธิก็เสื่อม พอสมาธิเสื่อมเราพยายามตั้งใจของเราขึ้นมา เวลาไปใช้ปัญญา เพราะมีกำลังของสมาธิพอใช้ปัญญา

ถ้าสมาธิ เห็นไหม เวลาจิตมันเสื่อม.. มันเสื่อมเพราะไม่มีสติ รักษาไม่เป็น รักษาไม่ดี เป็นคนสะเพร่า มันก็จะเสื่อมของมัน แต่เวลาสติเราดี สมาธิเราดี เราออกใช้ทางปัญญา ปัญญาที่เป็นโลกุตตรธรรม ปัญญาที่เกิดจากการเป็นภาวนามยปัญญา มันจะเป็นผลงานขึ้นมา มันจะเกิดการปล่อยวางเป็นตทังคปหานนี่แหละ แต่ถ้ามันปล่อยวางแล้ว ด้วยความประมาท ด้วยความไม่ถนอมรักษา เพราะมันใช้งานใช่ไหม พอใช้งานขึ้นมานี่กำลังมันอ่อนลง พออ่อนลงมันก็เสื่อม เสื่อมเพราะทำงาน

เสื่อม ! นี่สมาธิเสื่อม เสื่อมเพราะว่าเรารักษาไม่เป็นมันถึงเสื่อมในตัวของมันเอง เสื่อม ! เสื่อมเพราะใช้มาก เสื่อมเพราะเราใช้ปัญญา เราใช้โลกุตตรธรรม เราใช้ภาวนามยปัญญานี่แหละ เราใช้มากเกินไป พอใช้มากเกินไปมันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาเพราะอะไร เพราะงานชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรมคือมัชฌิมาปฏิปทา คือความสมดุล สิ่งใดถ้ามันใช้มากเกินไป เหมือนมีด เห็นไหม มีดที่เราใช้งานมากๆ ความคมของมันก็จะด้อยค่าไป เราต้องกลับมาลับมีดของเราให้คมกล้าขึ้นไป แล้วเราจะใช้มีดนั้นได้เป็นประโยชน์ได้สมควรกับความคมนั้น

จิต ! จิตถ้าเราใช้ปัญญาออกไปมากน้อยขนาดไหน เวลามันใช้ปัญญาไปมากขึ้นไป มันจะใช้กำลังออกไปแล้ว มันจะเสื่อมถอยของมันขึ้นมา เราต้องกลับมา วางการใช้ปัญญานั้นมากำหนดพุทโธก็ได้ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ.. คำว่าปัญญาอบรมสมาธิคือเราไม่ใช้ปัญญาฟาดฟันกับกิเลส เราใช้ปัญญาให้จิตสงบตัวเข้ามา พอจิตสงบตัวเข้ามานี่เรามาพักของเรา มาพักของเราเพื่อความสมดุล เพื่อความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพื่อความวงจรรอบของมัน ฉะนั้นเราก็จะออกไปวิปัสสนาอีก

ถ้าจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบมันก็ถอนเสี้ยนถอนหนาม มีความสุขนะ.. ถ้าจิตมันเสื่อมไม่สงบ คนเคยสงบแล้วไม่สงบนะมันก็เร่าร้อนในใจ มันเป็นเพราะอะไร เราก็ทำความดีแล้ว เราก็ตั้งสติแล้ว ครั้งที่แล้วก็ทำอย่างนี้มันก็เป็นสมาธิ แต่ครั้งนี้ทำไมทำแล้วมันไม่เป็น ครั้งที่แล้วเพราะมันไม่รู้มันเลยเป็น ครั้งนี้มันรู้แล้วนะ กิเลสมันหลอกล่อนะไม่เป็นหรอก

สิ่งที่เคยทำแล้ว แล้วมันจะได้อย่างนั้น ไม่มี.. สิ่งที่เคยทำแล้วก็แล้วกันไปแล้ว เราต้องทำของเราในปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันทำสิ่งที่เคยทำแล้ว ถ้ามันสมดุลใช่ก็ถูก ถ้ามันทำแล้วไม่ใช่ ไม่ใช่เราก็ต้องตั้งสติแล้วกำหนดมากขึ้น ภาวนาไปมากขึ้น การกระทำของเรามันต้องมีการพลิกแพลง เห็นไหม เราไม่ได้ทำดุ่ยๆ ทำซื่อบื้อซื่อตรงเกินไป กิเลสมันก็ยิ้มๆ เลย

นี่พูดถึงถ้าหลงในธรรมนะ มันก็บอกเลยต้องเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ สูตรสำเร็จไงเหมือนเกมเด็กเล่น เป็นอย่างนั้นเป็นสูตรเลย ต้องทำเป็นสูตรอย่างนั้นๆ ไม่มีทางหรอก ! เป็นไปไม่ได้ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลแต่ละองค์ นี่ความสมดุลของจิตไม่เหมือนกันซักองค์หนึ่ง เอตทัคคะ ๘๐ องค์ ก็ไม่เหมือนกันเลย ไม่มีใครเหมือนใคร

ทีนี้ไม่มีใครเหมือนใคร สิ่งที่เหมือน เห็นไหม สิ่งที่เหมือนกิเลสมันก็รู้ทันแล้ว สิ่งที่ทำเคยได้กิเลสมันก็รู้ทันแล้ว แต่ถ้าทำแล้ว ถ้าเป็นสมดุลอย่างนี้มันลงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งเพราะอะไร เพราะกิเลสมันก็ไม่ทันเราเหมือนกัน ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ เราพลิกแพลงของเรานี่กิเลสไม่ทันหรอก แต่นี้เพราะเรานอนใจไง เรานอนใจเพราะคนที่ใช้ปัญญานะ จิตเวลาสงบแล้วออกใช้ปัญญา คนเวลาจิตสงบมันก็เหมือนกับเราพักผ่อนนอนหลับ เวลาเราออกไปทำงานมันต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ มันไม่อยากไปหรอก แต่ถ้าคนพอมันเห็นผลของการใช้ปัญญาแล้ว เพราะการชำระล้างกิเลสมันต้องใช้ปัญญาจากสัมมาสมาธิ ใช้ปัญญาสัมมาสติ สัมมาสมาธิ งานชอบด้วยต้องลงตรงงานที่เราทำถูกต้องด้วย

มันเห็นผลของมันนะ ดูสิคนเรานะ เราค้าขาย ทำธุรกิจ แล้วมีผลตอบแทนหลั่งไหลมามหาศาล เราก็อยากได้อยากดีทั้งนั้นล่ะ เวลาจิตมันดีนะ เวลาจิตที่เราทำโดยสมดุล เราพิจารณาไปนี่มันปล่อย มันขาด โอ้โฮ.. มีความสุขมาก มันมีกำลังใจทำบ่อยครั้งเข้า ทำบ่อยครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขิปปาภิญญาเท่านั้นที่ปฏิบัติแล้วมันจะชำระล้างกิเลสได้ง่าย แต่เวไนยสัตว์.. ดูสิเวไนยสัตว์ เห็นไหม แม้แต่โลกเดี๋ยวนี้เชื่อเรื่องปฏิบัติเขายังไม่เชื่อเลย แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้วเขายังว่าเลยว่าทำไมพวกนี้มีเวลาว่างมากเนาะ ชีวิตเรานี่ต้องทำมาหากิน

การทำมาหากินมันเป็นความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ นั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะหาหัวใจ หาอยู่หากินให้ใจของเรา เราก็ต้องมีความเพียรของเรานั้นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วความเพียรอย่างนี้ เห็นไหม

“สติ มหาสติ ! ปัญญา มหาปัญญา !”

การภาวนานะ เริ่มต้นล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวนะ สร้างฐานที่ตั้ง เวลาทหารออกรบนะเขาต้องตั้งค่าย ตั้งฐานของเขา ต้องขุดสนามเพาะเพื่อหลบหลีกข้าศึก หัวใจของเรานี่ไม่มีอะไรเลย ไม่รู้เหนือรู้ใต้เลย หลงเข้าไปในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลงเพราะกิเลสมันพาหลง พอหลงเข้าไปในธรรมก็คิดว่าตัวเองมีป้อมคูหาหอรบเรียบร้อยแล้ว พอเวลากิเลสมันเป่าทีเดียวล้มหมดเลย.. ว่าปฏิบัติแล้ว.. เป็นพระอรหันต์แล้ว.. จบ ! รู้จบรู้สิ้น กิเลสมันเป่าหูทีเดียวค่ายคูประตูรบ หอรบล้มหมดเลย

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม นี่เราตั้งสติของเรา เราขุดสนามเพาะของเรา เราตั้งค่ายของเรา นี่กรรมฐาน.. สร้างฐานขึ้นมา ตั้งหลักตั้งเกณฑ์ของเราขึ้นมา แล้วใช้สติปัญญาของเราไป สติปัญญาของเรา เห็นไหม ใครมีสติปัญญาอย่างใดให้ใช้ไปตามนั้น.. เวลาค่ายคูประตูหอรบของแต่ละที่ ถ้าเป็นชายทะเล ระหว่างทับเรือ ทับบกนี่รบพร้อมกัน เขาก็ตั้งค่ายไปอย่างหนึ่ง ถ้าทับบกขึ้นไปบนภูเขาขึ้นไปต่างๆ เขาก็ตั้งค่ายอย่างหนึ่ง

นี้ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติของเรานี่เราได้ผลของเราอย่างใด ปฏิบัติแล้วมันสมควรแก่เรา เราคุยกันเป็น ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เราคุยกันเราปรึกษากันเพื่อผลประโยชน์ เพื่อมาทดสอบกันว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์ แต่ ! แต่ไม่มีใครจะทำให้เหมือนกันแล้วได้ประโยชน์ ไม่มี ! นี่ค่ายคูประตูหอรบแต่ละพื้นที่ ชัยภูมิแตกต่างกัน การตั้งค่าย ถ้าตั้งไม่เป็นนะ ข้าศึกเขาล้อมนะ ไม่มีน้ำกิน ไม่มีข้าวกินอดตายนะ

นี่ก็เหมือนกันเราจะไปเชื่อใคร ! ฉะนั้นเราจะต้องเอาประสบการณ์ของเรา เอาจิตใจของเรา เอาความเห็นของเรา จิตใจที่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วได้ผลขึ้นมา ถ้าไม่ได้ผล ทำไมเราตั้งค่ายตั้งคูแล้วทำไมเราหาเสบียงไม่ได้ ถ้าหาเสบียงไม่ได้จะไปรบกับใคร.. การรบทัพจับศึกเขารบเพื่อความชนะ ไอ้เรานี่จะภาวนาของเรา เราจะชนะกิเลส เราหลงอยู่นี่เราจะออกจากค่ายประตูหอรบเพื่อไปทำศึก เราจะมีเสบียงมาจากไหน

ถ้ามันมีสติปัญญา เห็นไหม เวลาเราสนทนาธรรมกัน ธมฺมสากจฺฉานี่ไว้เป็นคติ แต่ไม่เหมือนกันหรอก ทำแล้วจะให้เป็นเหมือนกันๆ ไม่มีหรอก ฉะนั้นไม่เหมือนกัน แต่เราฟังมา เราฟังมาเป็นคติธรรม.. คำว่าคติธรรมนะ ถ้าเรามีใจนะ ดูสิใจที่เป็นธรรม นี่สรรพสิ่งนี้เป็นธรรมะหมดเลย เพราะใจเขาเป็นธรรม เขามองแล้วนะเป็นคติธรรมสอนใจเขาได้หมดเลย ถ้าจิตใจเราเป็นโลกนะ สิ่งใดที่เกิดขึ้นมันขัดแย้ง มันขัดหูขัดตา จะปฏิบัติขึ้นมาพอเห็นเข้าไปนี่มันแทงหัวใจฟูหมดเลย จิตสงบก็ไม่สงบ เวลาปฏิบัติเคยใช้ปัญญาได้มันก็ไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร

นี่ไงถ้าจิตมันไม่เป็นธรรม เขาบอกว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ..” เป็นธรรมชาติต่อเมื่อใจเป็นธรรม ! เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนโมฆราช เห็นไหม

“โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง ว่างหมดไม่มีสรรพสิ่งเลย”

ความว่างหมายถึงว่า มันเป็นอนิจจังทั้งหมด แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิในหัวใจของเราให้ได้ ถ้าถอนความรู้ว่าว่างนี่โลกก็ว่างด้วย จิตใจก็ว่างด้วย..

ธรรมะเป็นธรรมชาติ.. แต่ใจเราไม่เป็นธรรมชาติ! จิตใจเรามันขัดแย้งไปหมดเลย

ธรรมะเป็นธรรมชาติ.. แต่กิเลสมันท่วมหัว มันจะเป็นธรรมชาติที่ไหนล่ะ

ธรรมะเป็นธรรมชาติ.. ฝนตกแดดออกมันก็ไม่พอใจ มีสิ่งใดขัดแย้งใจ หัวใจมันก็เดือดร้อน แล้วบอกธรรมะเป็นธรรมชาติ !

มันต้องมาถอนอัตตานุทิฏฐินี้ก่อน มันต้องถอนหัวใจของเรานี้ก่อน ถ้าถอนหัวใจของเรา ถอนต่างๆ ในหัวใจ พิษในหัวใจมันไม่ลุ่มหลงในกิเลสตัณหาความทะยานอยากแล้ว.. นี่มันก็เป็นอย่างนี้ โลกเป็นอย่างนี้เอง วันคืนๆ เวลา ๒๔ ชั่วโมงมันก็หมุนอยู่อย่างนี้ มันไม่มีอะไรเลย

นี่ไงมันจะเป็นธรรมต่อเมื่อใจคนนั้นเป็นธรรมแล้ว ! ถ้าใจคนนั้นเป็นธรรมแล้ว พอใจคนนั้นไม่หลงในกิเลส ไม่หลงในป่า ไม่หลงในธรรม.. ไม่หลงในธรรม ! ถ้าใจเป็นธรรมแล้วมันไม่หลง ถ้าไม่หลงในธรรมมันจะไปหลงสรรพสิ่งเรื่องของโลกๆ ได้อย่างไร.. เรื่องของโลก โลกนี้เป็นอจินไตย โลกนี้เป็นวัฏฏะ โลกนี้หมุนของมันอยู่อย่างนี้

นี่โลก นี่สิ่งต่างๆ ที่เป็นโลก ถ้าจิตใจเป็นธรรมแล้วมันไม่หลงโลก ! ถ้าจิตใจไม่เป็นธรรม หลง.. จะเป็นธรรมชาติขนาดไหนมันก็เกิดตายๆ ธรรมชาติมันให้คุณให้โทษ ธรรมชาติถ้าพอใจเรามันก็จะเป็นธรรม มันก็จะเป็นความพอใจ ถ้ามันไม่พอใจเรามันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว นี่จิตใจที่มันยังหลงอยู่นะ

เราหลงป่า เราเป็นกรรมฐาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ในป่านะ แสดงธรรมก็ในป่า ปรินิพพานก็ในป่า แต่ขณะที่ออกมาเผยแผ่ธรรมในนครราชคฤห์ ในแว่นแคว้นต่างๆ เพราะว่าการเผยแผ่ธรรมจะต้องให้ศาสนามั่นคงมันก็ต้องมีเปลือก มีแก่น มีกระพี้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา.. ภิกษุ ภิกษุณีนี่เอาเป็นตัวอย่าง เอาเป็นหลักชัย

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงดำรงชีพเป็นตัวอย่าง เป็นคติตัวอย่าง.. ตรัสรู้ในป่า แสดงธรรมครั้งแรกในป่า ปรินิพพานในป่า คำว่าป่ามันเป็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมจิตใจได้ง่าย เราเป็นพระป่า ถ้าเราอยู่ในป่าจนหลงป่า หลงไปเลยไม่มีหลักมีเกณฑ์ แต่ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ เราจะไม่ลุ่มหลงไปกับป่านะ

ป่านั้นเป็นชัยภูมิ เป็นสถานที่ฝึกหัวใจของเรา เราไม่ใช่สัตว์ป่า สัตว์ป่ามันอยู่ของมันด้วยการดำรงชีพ เราเป็นพระป่าแล้วไม่หลงป่า อาศัยป่าเป็นชัยภูมิฝึกหัวใจขึ้นมาให้มีสติมีปัญญา เพื่อศักยภาพของใจนี้พ้นจากทุกข์ เอวัง