เทศน์บนศาลา

เทศน์ในวันวิสาขบูชา

๒o พ.ค. ๒๕๔o

 

เทศน์ในวันวิสาขบูชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒o พฤษภาคม ๒๕๔o
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ ตั้งใจ เราเป็นเจ้านายเรา กินข้าวปลาอาหาร เวลาเข้าไปตกถึงกระเพาะเรา เราเป็นผู้อิ่ม เราเป็นผู้หิว เราเป็นผู้รู้ร้อนรู้หนาว เราเป็นผู้จะหาความจริงจัง ความจริงจังเลย วันนี้พระพุทธเจ้าก่อนจะนิพพานไง ไปตายที่นั่นเพราะว่าก็ต้องมีสัจจะไปโปรดสุภัททะด้วย

สุภัททะปริพาชกเป็นผู้หนึ่ง เป็นนักบวชนะ เป็นนักบวชแล้วมีความถือตัวถือตนสูงเพราะเป็นพราหมณ์ เป็นผู้ที่รู้ไตรเวทย์มาก ไม่ยอมเข้าไปหาพระพุทธเจ้ามาตลอด เพราะถือว่าตัวเองมีความรู้มาก เพราะไตรเวทย์ใครก็ท่องได้ไง ถือว่าตัวเองมีอายุ ถือตัวเองว่าตัวเองศักดิ์ศรีมาก ไม่ยอมไปหาพระพุทธเจ้า จนถึงวันนี้ วันนี้วันวิสาขะ วันที่ว่าเดือนดับเพราะพระพุทธเจ้าจะนิพพาน ถ้าไม่ไปวันนี้ก็จะหมดโอกาสแล้ว ถึงได้ยอมลดทิฏฐิตัวนี้ ยอมไปหาพระพุทธเจ้าไง

พระพุทธเจ้ากำลังเทศน์สอนอยู่ กำลังเทศน์สอนอยู่เพราะเป็นปัจฉิมโอวาทแล้ว ถึงกาลสุดท้ายแล้ว เข้าไปถามเลยว่า

“ศาสนาต่างๆ เขาบอกว่าเป็นพระอรหันต์อย่างนั้นๆๆ ศาสนาไหนก็ว่าศาสนาของตัวเป็นศาสนาที่ประเสริฐ แล้วศาสนาพุทธของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร?”

“อย่าถามไปเลยสุภัททะ ให้ช้าไปไย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผลหรอก”

อย่างนั้นแล้วไม่ต้องถามมาก ให้พระอานนท์บวชเลย พระอานนท์บวชภายในคืนนั้น คืนนี้พระอานนท์บวชให้ แล้วก่อนพระพุทธเจ้าจะนิพพาน สุภัททะนี้เป็นสาวกที่พระพุทธเจ้าบวชให้แล้วเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายไง

ดูความสามารถของพระพุทธเจ้าสิ ลมหายใจกำลังจะขาดอยู่ก็ยังสามารถเอาสุภัททะปริพาชกจนถึงพระอรหันต์ได้ แล้วเราล่ะ มันก็น้อมมาที่เรา เราล่ะ เราจะทำอย่างไรกัน เพราะเห็นแบบอย่างแล้ว ก่อนที่ไม่มาก็มีความคิดไง การใคร่ครวญ ความคิด ปัญญามากก็หมุนออกไป

ความไม่ยอมรับ ความไม่ยอมรับก็ทำให้คิดมาก พอคิดมาก จิตมันมีพื้นฐานอยู่ มันคิดออกไป พอความคิดออกไป มันเป็นกิเลสไหม ยิ่งมีความคิดมาก กิเลสมันก็ไสมาก ขณะที่เราจะทำความสงบ เราอย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราจะเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เราจะไม่มีความรู้...ต้องสงบความคิดให้ได้

การสยบหรือสงบความคิด มันใช้ความคิดที่ยอดเยี่ยมนะ ความคิดที่เหนือกว่า พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร” กองสังขารคือความคิดของเรานี่แหละ ขันธ์ ๕ ไง สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเป็นนามธรรม แล้วปัญญาที่รอบรู้ความคิดของเรา นี่ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร อันนั้นถึงจะเป็นปัญญาที่เป็นประโยชน์

แต่ถ้าเป็นปัญญาปัจจุบันที่เราคิดอยู่นี่มันเป็นประโยชน์อยู่ครึ่งเดียว มันไม่ใช่ประโยชน์แท้สำหรับขณะปฏิบัตินี้ ครึ่งเดียวหมายถึงว่าความรู้ทางโลก ความรู้ที่เราคิดอยู่มันสะสมมา มันเป็นปัญญาของคนก็ไม่เหมือนกัน ไอคิวคนนี้ไม่เท่ากัน บางคนเห็นอะไรผ่านตาจำได้หมดเลย รู้หมดเลย บางคนอ่านซ้ำอ่านซากคิดไม่ออก

ปัญญาการศึกษามานั้นอย่างหนึ่ง

ปัญญาเดิมแท้ๆ ที่สะสมมาจากบุญญาบารมีนั้นก็อย่างหนึ่ง

แล้วมาปฏิบัตินี้ก็อีกอย่างหนึ่ง

การปฏิบัตินี้ต้องสยบ สยบหยุดมันก็เป็นความสงบ เป็นฐานของใจไง ใจของคนที่จะทำงาน ถ้าใจยังมีความคิดอันเดิมอยู่ การทำงานนั้นก็เป็นทำงานแบบเดิมๆ คำว่า “เดิมๆ” ก็เหมือนอย่างโลกๆ ไง ความคิดทางโลกว่าโลกียะ จะประเสริฐขนาดไหนก็เป็นโลกียะ โลกียะคือความรู้ปัญญาการสร้างวัตถุไว้ประดับโลก

การสร้างวัตถุไว้ประดับโลก ดูสิ บางอย่างบางชนิดมีค่ามหาศาล แล้วเราทำกันไม่ได้นะ เราก็ว่าอันนั้นประเสริฐ อันนั้นเลิศมาก แต่ก็เป็นปัญญาที่ประดับโลก ประเสริฐแค่ไหนคนๆ นั้นก็ต้องตายไป คนๆ นั้นก็ได้บุญกุศลในการก่อสร้าง ในการทำถาวรวัตถุในศาสนาเท่านั้น แต่ดวงจิตดวงนั้นก็ต้องดับหมุนเวียนกลับมาอีก เห็นไหม “ปัญญา” ปัญญาที่เป็นประโยชน์ของโลกมันก็ให้ผลเป็นบุญ

แต่ปัญญาที่สงบสยบความคิดเลย สยบให้มีค่าเป็นศูนย์ในความคิดของเรา อันนั้นมันถึงจะเป็นประโยชน์กับเราเอง ฟังสิ! ถ้าคิดออกไปเป็นโทษ ถ้าหยุดแล้วถึงจะเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตรงไหน? ประโยชน์ตรงที่มันละมันวางความคิดเดิมได้ทั้งหมด

ความคิดเดิมพอวางทั้งหมด เพราะความคิดมันไม่มี มันไม่ฟุ้ง มันไม่มี มันก็ต้องสงบ ความสงบอันนี้ต่างหากที่เป็นสมาธิที่เราว่าความสงบของใจที่เราใฝ่หากันไง ดูสิ สุภัททะเขามีความรู้ขนาดนั้น เขาก็ยังต้องทำใจให้สงบ แล้วก็ต้องพิจารณาภายในคืนนั้น คำว่า “ใจให้สงบ” เขาได้ศึกษามา เขาทำมาของเขาอยู่แล้ว มันมีพื้นฐานของสมาธิและมีพื้นฐานของปัญญา แต่ไม่รู้จักการปรุงไง

เครื่องประกอบของแกงซื้อมาจากตลาดเต็มไปหมดเลย แต่ไม่สามารถว่าอย่างใดๆ ผสมกันออกมาเป็นแกงเผ็ด อย่างใดๆ ผสมกันออกมาเป็นแกงส้ม เห็นแต่กองกันอยู่นั่นแต่ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ความคิดก็เหมือนกัน ปัญญาก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่ใช่มรรคในองค์ ๘ ของเรา มรรคอริยสัจจัง “ความดำริ” ความดำริหักใจเข้ามาให้ถึงขั้วของใจ หักเข้ามาตรงนี้นะ หักเข้ามาดูจุดเริ่มต้นของความคิด มันเกิดที่กลางหัวอก เริ่มต้นของความคิดเรานี่กลางหัวอกเลยล่ะ ความคิดมันออกจากฐานตรงนี้ไง

ภพคืออยู่ที่ศูนย์กลางของใจ ความคิดไม่ได้อยู่ที่สมอง สมองนี้เป็นแค่ประสาทการควบคุมของร่างกายเท่านั้น เราว่าสมองๆ ความคิดๆ นะ อันนั้นเป็นทางวิทยาศาสตร์โลกให้ว่าไป แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่กลางหัวใจ กลางอก ฐานของภพ ฐานของเรา ถ้ามันสงบลงตรงนี้ไง มันสงบลงตรงนี้ สงบลงตรงนี้มันก็เริ่มที่ว่าดึงงานกลับมาตรงนี้ไง

“ความดำริชอบ” เพราะภพที่อยู่อาศัยของใจของกิเลสมันอยู่ตรงนี้ เราจะชำระ เราต้องดึงทุกอย่างนะ ดึงปัญญา ดึงความวิริยะ ดึงความอุตสาหะ ดึงความกระแสของจิตที่มันพุ่งออกที่ว่ามันนิ่มๆ ที่ว่ามันเป็นพลังงาน ให้หันกลับมาชำระตัวมันเอง

มรรคอริยสัจจังอันนี้มันไม่มี ในที่สุภัททะไม่รู้ไง สุภัททะถึงมาถามพระพุทธเจ้าไง

พระพุทธเจ้าถึงบอก มรรคคือองค์ ๘ “ความดำริชอบ” ความดำริก็ความคิดเริ่มต้นชอบ ความดำริคือความเริ่มต้นจากความคิด ก่อนจะคิดมีความดำริก่อน ดำริอันนั้นพุ่งเข้ามา นี่ปัญญา ความดำริชอบ

การงาน “งานชอบ” งานทางโลกเป็นงานทางโลก ตอนนี้เราปล่อยวางหมด เรากำหนดจิตสงบให้เป็นงานภายใน นี่งานชอบคืองานทำใจให้สงบ งานชอบคืองานย้อนใจกลับมา งานชอบคืองานคุ้ยเขี่ยหากิเลส งานชอบคือการไม่ฟุ้งซ่านออกไป เห็นไหม งานมันก็มีหลายระดับ งานทางโลก งานทางธรรม งานการทำใจให้สงบ งานคุ้ยเขี่ยหาโจทย์หาจำเลย งานในการวิปัสสนา งานในการชำระกิเลส งานในการต่อสู้ไง สมุจเฉทปหานอย่างไร

อย่าว่าแต่พิจารณานะ ว่าการต่อสู้กิเลส เอากิเลสมาวางตรงหน้า เอามีดไปสับหัวกิเลสนี่มันยังคิดเลยว่าจะกล้าสับ-ไม่กล้าสับ เพราะกิเลสมันเป็นเรา เอามีดมาจะฟันอยู่แล้ว มันไม่กล้าฟันหรอก มันฟันไม่ลง เราก็ว่าอยากจะชำระกิเลส อยากจะต่อสู้กิเลส อยากจะฟันให้มันขาด...ก็มันเป็นเรา ความคิดนี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา เพราะเราเอาเราเข้าไปบวก เพราะกิเลสมันพาคิด

ถึงสุดท้ายแล้ว กำลังจะได้จะเสียอยู่ เราก็ยังจะแพ้เลย เรายังจะแพ้ความคิดของเราที่มันไสออกมานะ ทีนี้ว่าการขุดคุ้ยมันต้องไม่ให้ประมาทในการกระทำทุกๆ อย่าง

ในการกระทำของเรา ในการทำความสงบนี้กับในการจะวิปัสสนานี้จะเผลอไม่ได้ สติต้องพร้อมตลอด ต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา ไม่ให้เผลอ ไม่ให้มีอะไรแทรกเข้ามา กระทำอยู่ ทำๆ อยู่ ปัญญากำลังหมุนอยู่ มันจะมีความคิดแวบเข้ามาไง “อันนี้ไม่ใช่ ควรจะทำอย่างนั้น ควรทำอย่างนั้น”...นี่กิเลสในท่ามกลางของการประพฤติปฏิบัติ มันจะชักให้เราเสียงานไง ชักให้เราเสียงานนะ นี่เราต้องดูตรงนี้ด้วย ตั้งสติให้ดีแล้วเข้ามา มันถึงจะได้ประโยชน์ขึ้นมาไง ได้ประโยชน์ขึ้นมาจากการกระทำของเรา ประโยชน์เนื้อๆ

พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้แล้ว พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์เป็นผู้บอก เป็นผู้สอน เนื้อๆ คือว่าผู้ที่จะได้ผลต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติ ต้องเป็นผู้ที่ใคร่ครวญ ต้องเป็นผู้ที่ชักเข้ามากลางหัวใจของตัว ไม่ใช่กิเลสไปขาดที่บนฟ้า ไม่ใช่กิเลสไปขาดใต้บาดาล ขาดบนภูเขา ขาดในป่า ขาดในกุฏิกุฏัง...ไม่ใช่ จะนั่งอยู่ที่ไหนกิเลสต้องขาดที่ใจที่เดียว ขาดที่ใจเพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ แต่อาศัยความนั้นผลักเข้ามา น้อมเข้ามา

สิ่งแวดล้อมน่ะ ร้อนนักเราก็ทำไม่ได้ มันทำให้เราหงุดหงิด เย็นนักเราก็ทำไม่ได้ ต้องให้เราอบอุ่นพอสมควร สิ่งข้างนอกมีประโยชน์เท่านั้น แต่ประโยชน์เท่านั้น...ไม่ใช่นะ พอกิเลส การกระทำของเรา มันไปเอาตรงนั้นเป็นเหตุ มันจะเอาตรงนั้นเป็นเหตุ มันจะพาให้เราเสียการเสียงานไง บางอย่างถ้ากัดฟันต้องตั้งสัจจะ ถ้าเรามีสัจจะ ตั้งเลยสัจจะว่าจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น ตั้งขึ้นมา

ถ้าเรายังถามใจ เราถามใจเรา เราควรจะตั้งสัจจะอย่างไรๆ เราควรทำ

ถ้ามีการถาม มีการโต้ตอบอยู่ นั่นน่ะ ปัญญาเกิด

จำไว้ ปัญญาจะเกิดต่อเมื่อมีการฉุกคิด ปัญญาจะเกิดต่อเมื่อมีการสะกิดใจ ไม่ใช่คิดไปสักแต่ว่าทำไปวันๆๆ หนึ่งเท่านั้น สักแต่ว่าทำ ก็สักแต่ว่าผล ทำจริงก็ผลจริง การต่อสู้จริงก็จะได้ผลจริง ผลจริงๆ ผลที่เป็นนามธรรมแต่กลับประเสริฐ

ผลที่เป็นทางโลก ผลที่เป็นวัตถุ...ไม่มีทาง งานใดๆ ไม่มีทางสำเร็จ ในโลกนี้ไม่เคยมีใครทำงานเสร็จแล้วถึงปล่อยวางไว้ ไม่มีเลย จะต้องทำไว้แล้วถึงต้องมีคนมารับช่วงต่อไปๆ เท่านั้น แต่อันนี้งานที่ประเสริฐ คำว่า “ประเสริฐ” เสร็จ! งานใดๆ ที่ทำเสร็จไม่มียกเว้นหัวใจ “เสร็จ” เสร็จสิ้นเป็นขั้นเป็นตอนไปเลย แล้วพอเสร็จแล้ว “หมด” กิจอย่างอื่นที่จะทำอีกไม่มี

ดูสิ ฟังสิ พระอรหันต์เกือบทุกองค์จะเปล่งอุทานอย่างนั้นเลย งานพรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว พรหมจรรย์ไงอยู่จบ จะไม่มีกิจใดๆ เลย ในศาสนาเรา สำเร็จตั้งแต่ ๗ ขวบ พระทัพพมัลลบุตร สำเร็จตั้งแต่ ๗ ขวบ ไม่มีงานใดทำ ขอพระพุทธเจ้าทำงานแทน ขอทำหน้าที่แทนสงฆ์หลายๆ อย่างเลย เห็นไหม ไม่มีต้องทำอะไรอีกแล้ว แล้วอยู่ไปจากอายุ ๗ ขวบ จนกว่าจะเฒ่า จนกว่าจะชรา จนกว่าจะหมดอายุขัย ตรงนี้เป็นประโยชน์หมดเลย เพราะใจนั้นสะอาด คิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ แล้วก็สร้างเป็นกุศลให้คนอื่นต่อไป

ใจเราสกปรกหรือเราเป็นสกปรก เราจะไม่เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง ๑ แล้วเราทำประโยชน์ให้คนอื่นก็ไม่ค่อยได้ผล ๑ แต่ถ้าใจเราสะอาดนะ เราจะทำ-ไม่ทำ ดูสิ เนื้อนาบุญของโลก เนื้อนาบุญของโลกนะ ไม่ต้องทำมันก็เป็น คำว่าเนื้อนานี่มันจะให้ผลตลอด เราเอาอะไรไปหว่านมันจะเกิดทันทีเลยล่ะ ถ้าเนื้อนานั้นไม่ดีล่ะ เนื้อนาบุญของโลกอยู่แล้ว ประโยชน์เกิด แค่นี้ก็เกิดอันหนึ่งแล้ว แล้วยังเป็นดวงตาของโลก

พระพุทธเจ้านิพพานวันนี้ พระอานนท์อุทาน “ดวงตาของโลกดับแล้ว”

เพราะอย่างดวงตาพวกเรามันเห็นแค่นี้ ตาเนื้อก็มองเห็นแค่นี้ จักรวาลเรานี้ เขาจะไป ปล่อยจรวดขึ้นไป ไปถึงดวงดาวดวงไหน เคยเห็นสวรรค์ไหม ไปเห็นมนุษย์ยังไม่เจอเลย แต่ดวงตาของโลก ๓ โลกธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

“กามภพ” นี่ไง เทวดา เรา สัตว์เดรัจฉาน “รูปภพ” พรหม “อรูปภพ” แล้วยังสิ้นไปอีก เหนือขึ้นไปอีก ดวงตา-ไม่ดวงตา รู้แจ้งจบแล้วเห็นไปหมด รู้ว่าเป็นไปได้อย่างไร ไม่สงสัยต่างๆ ในจักรวาลนี้เลยใน ๓ โลกธาตุ ทำไมจะไม่เป็นดวงตาของโลก นั่นประโยชน์ที่เป็นไปได้ แล้วมันอยู่ที่ไหน

เราฟังข่าว สุภัททะก็วันนี้ แต่เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว แล้วข่าวของเราล่ะ ข่าวของเรา เราทำเอง จิตสงบ โอ้! ข่าวเกิดแล้ว นาย ก. ได้ภาวนา วันนี้จิตสงบ เห็นไหม ข่าวของเราเราต้องสร้างขึ้นมาเอง ฟังข่าวของคนอื่นแล้วไม่ขนลุกขนพองหรอก แต่ข่าวของเราเกิดนะขนพองสยองเกล้าในความสุข ขนพองสยองเกล้าในความสุขนะ ในความปีติ เวลาจิตสงบมันจะมีความปีติ มีความอิ่มใจ ตัวพองตัวใหญ่ ขนพองสยองเกล้า จิตมันหวั่นมันไหว ความสุขเกิดขึ้นจากภายใน ความสุขนี้เป็นความสุขที่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากอามิส สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา มันสุขจากฐานเดิม จิตสงบเข้าไป สงบเข้าไป

ถ้ามันมีออกรู้ นั่นอุปจารสมาธิ จิตนี้พอสงบเข้าไปแล้วมันวนออกเป็นอุปจาระ วนออกไปอุปจารสมาธิ จะเห็นต่างๆ อันนั้นก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง แต่ไม่สมควร มันจะทำให้แบบว่าเป็นงานเนิ่นช้าไง พ่อแม่สั่งให้ลูกไปซื้อของที่ตลาด พ่อแม่ก็นั่งรออยู่ว่าลูกจะเอาของมาให้เมื่อไร ไอ้ลูกไปตลาดก็ไปเถลไถลเที่ยวไป มันได้ประโยชน์อะไรล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตส่งออกก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ไปตลาด ไปชมร้านค้า ไปไม่กลับ พอกลับมาแม่ตี จิตมันกลับมามันก็ไปเที่ยวมาแล้ว มันใช้พลังงานไปแล้ว มันก็เพลียมันก็อ่อน เหมือนกัน อุปจารสมาธิมีผลแค่นี้นะ

แต่ถ้าไปพูดในวงปฏิบัติ เขาจะว่า วงที่ว่าเขาเริ่มภาวนากันน่ะ โอ๋ย! ตื่นเต้น ดีใจ...มันเป็นความเกิดที่ให้ติด เพราะว่าพวกเรายังมีกิเลส ยางเหนียวในใจยังมีอยู่ มันอยากจะรู้อยากจะเห็นสิ่งต่างๆ ทั้งนั้นล่ะ พอไปเจอสภาพแบบนั้นแล้วมันติดไง เห็นไหม มันเป็นประโยชน์หรือมันเป็นโทษ? มันเป็นประโยชน์สำหรับแค่เป็นเกจวัดจิตไง ว่าจิตของเรามันเคยมีวาสนาบารมี มันทำแล้วมันได้ผล นั่นน่ะ มีแค่นั้นจริงๆ

แบบเห็นผีเห็นสางนี่ เราก็เห็นว่า อ้อ! เพราะจิตเราเสมอเขาถึงได้เห็นเขา หรือจิตเขาเสมอเรา มาให้เราเห็นเท่านั้นเอง มันเป็นการเห็นว่าจิตนี้มันเคลื่อนขึ้นจากภูมิของจิตปกติ แต่ออกไปแล้วถ้าเรามีสติ เราควบคุม เราทำเป็น มันจะได้ประโยชน์ทั้งหมด แต่ถ้าเราทำไม่เป็น เราปล่อยออกไป กลับมาก็กลับโดนตีอีกด้วย ไปเที่ยวตลาดมาไม่ได้ของกลับมาอย่างที่พ่อแม่สั่งไป

นี่เราตั้งจิต หัวใจของเราเป็นพ่อแม่ ฐานของจิตนี้เป็นพ่อแม่ เพราะฐานของจิตนี้มีกิเลสอยู่ เราต้องการชำระสะสางตัวกิเลสที่อยู่กลางหัวใจ ฐานตรงนี้มันเรียกร้องให้เราช่วยเหลือตัวเราเองไง ทำอย่างไรเราจะมีความสุข ทำอย่างไรเราจะปลดเปลื้องไอ้ความข้องใจ

กิเลส คือความคับแค้น ความข้อง ความบีบรัดกลางหัวใจ เราได้ปลด ได้ชำระความคับแค้น ความบีบรัดในหัวใจออก หัวใจโล่งโถง ว่างไปหมด เป็นอิสระเสรีครอบ ๓ โลกธาตุ เห็นไหม ไอ้ตรงนี้ถึงเป็นพ่อแม่ไง พ่อแม่ถึงต้องการให้ลูกมาช่วยไง ทีนี้อุปจารสมาธิออกไปแล้วมันไปเพลินอยู่ มันไม่กลับมาช่วยพ่อแม่ กลับมาก็ต้องโดนทำโทษ

เพราะสมาธินี้มันเป็นอาการของใจ มันเป็นส่วนหนึ่งของใจ มันเป็นส่วนหนึ่งของมรรคในองค์ ๘ มันถึงได้ว่าไม่เป็นงานทั้งหมด การทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วต้องเอาจิตนั้นคุ้ยเขี่ยหาเหตุผลในจิต ในกาย ในเวทนา ในธรรมนั้นขึ้นมาเป็นจำเลยในการทดสอบ ในการขุดคุ้ยไง

เพราะกิเลสที่ควบคุมหัวใจ บีบรัดหัวใจอยู่มันก็ใช้อาศัยสิ่งที่ว่านี้บีบรัดเข้าไปที่ใจ ร่างกายไม่สมความพอใจมันก็บีบรัด ร่างกายไม่สมความปรารถนามันก็บีบรัด ธรรม ความไม่พอใจ ความเฉา ความไม่พอใจมันก็บีบรัด เวทนา ความสุข-ความทุกข์ในใจ โสมนัส-โทมนัสมันก็บีบรัด มันบีบรัดไปทั้งหมด

สิ่งที่นี้มันเป็นตัวสะท้อนกลับ เราตีเทนนิส อัดเทนนิสเราตีเข้าไปที่กำแพงจะเด้งกลับมา เราจะค้นหาจิต จิตเราสงบแล้วเราจะค้นหากิเลส มันไม่เจอไง เราก็ค้นลงมาที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม เพราะจิตนี้มันไปผูกติดตรงนั้น เราเอาจิต ตัวกระแสจิตที่ว่าจิตสมาธิตีเข้าไปที่เวทนา ตีเข้าไปที่ธรรม ตีเข้าไปที่กาย แล้วขุดคุ้ยตรงนั้น มันจะสะท้อนกลับมา สะท้อนกิเลสมันอยู่ที่นั่น นี่คือการชำระกิเลส

กายไง “กาย” เราว่ากายของเรานี่แหละ กายของเราเป็นประโยชน์อะไร เป็นประโยชน์ เป็นเหมือนถ้ำให้จิตนี้อาศัยเท่านั้นเอง แล้วก็ทำประโยชน์โลกไป แต่ถ้าเราขุดคุ้ย เราดูเข้าไปที่กายสิ กายนี้เป็นเราไหม?...เป็น ก็เราทั้งคนทำไมไม่เป็น จิตมันมัดเต็มที่เลย ถึงว่าตีเทนนิสเข้าไปไง ขุดลงไปที่นั่น “มันเป็นเราจริงเหรอ” ถ้าเป็นสัญญา เป็นความคิด เป็นตำราที่เราเรียนมา ก็ว่าไม่จริง ประเพณีก็บอกคนเกิดมาต้องตาย แต่เวลาตายนี้เห็นเต้นกันทุกคน

นี่ก็เหมือนกัน “กายไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เรา”...ทำไมยึดขนาดนั้นน่ะ ไอ้คำพูดนี่เพราะเราเป็นชาวพุทธไง นี่แหละการจดจำมา...ไม่ผิดหรอก เป็นคุณ เป็นคุณในการศึกษาเล่าเรียน แต่เป็นโทษในการปฏิบัติ อย่างเช่น งานทางโลก สิทธิทางปัญญาของใครคนนั้นก็ต้องใช้ประโยชน์ไป เราไปลักของเขามาใช้ เป็นโทษ-ไม่เป็นโทษ?

ไอ้นี่ก็สิทธิทางปัญญาของครูบาอาจารย์หรือของผู้ที่ปฏิบัติองค์นั้นที่พูด ว่ากายนี้เป็นอย่างนั้นๆ เราฟังมา แต่สิทธิในการใช้เรายังไม่เกิด สิทธิในการใช้ของเรา ถ้าเราจี้ลงไปที่กายนั้น เห็นกายแตกต่อหน้า ปัจจุบันธรรม กายนี้จะแตกออก จะแปรสภาพออกให้เห็น จิตนี้สลดสังเวชจะปล่อยเข้ามา นั่นคือผลงานของผู้ที่ปฏิบัตินั้น

ผลงานของดวงใจทุกดวงที่เริ่มการขุดคุ้ยนั้น อันนั้นถึงเป็นประโยชน์ของเรา อันนั้นเป็นปัญญาแท้ของเรา เป็นปัญญาที่เกิดจากการใคร่ครวญการขุดคุ้ยของนักปฏิบัติอย่างเช่นเราเท่านั้น นักปฏิบัติอย่างเช่นเราเป็นผู้อาชาไนยไง อด อิ่ม หิว กระหาย ปวด ทุกข์ ร้อน ทน นี่อาชาไนย อาชาไนยต่อเมื่ออยู่ท่ามกลางของไฟ ไฟคือความร้อน ไฟคือตบะ ร้อน-ไม่ร้อนดูขาสิ อาชาไนยแม้อยู่ท่ามกลางของไฟก็ไม่หวั่นไหว ท่ามกลางของไฟเลยนะ ไฟในราคะ ไฟในตัณหา ไฟในความไม่พอใจ...ไฟทั้งนั้น

แต่เราใช้ไฟตามกระแสไปตลอด เราไม่เคยทวนกระแส เราเป็นปลาตาย ว่ายตามน้ำไปเรื่อย ฟังธรรมะมาก็คุย เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น...รู้ “ปลาตาย”

แต่นี่ “ปลาเป็น” ทวนกระแสเข้าไป พุ่งเข้าไป อยู่ที่กายนั่นล่ะ อัดเข้าไป อัดเข้าไป อัดจริงๆ

ถ้าไม่เห็น เราพิจารณาไปเรื่อย จนถ้าไม่เห็นก็พิจารณาเวทนา พิจารณา “เวทนาเป็นอย่างไร? ดูหนังดูละครไม่เห็นเป็นอย่างนี้ ทำไมมานั่งนี้มันเจ็บปวดนัก” เราปล่อยอากาศออกไป อากาศมันโล่งไปหมดเลย เราลองปิดสิ มันจะอับ มันจะชื้น...จิตใจมันปล่อยออกไปหมด มันปล่อยตามสบาย มันไม่เห็นเวทนาเลย เวทนาก็ไม่เกิดตัว พอเราบังคับด้วยกิริยาการนั่ง กิริยาเดียวนี่ กิริยาที่เราพับเพียบอยู่นี่ เห็นไหม เราปิดหมด เวทนามันจะเกิดทันทีเลย เวทนาเกิดเพราะอะไร?

เพราะหัวใจมันโดนปิด เพราะหัวใจมันดิ้น เพราะหัวใจไปรับรู้มัน ใจเท่านั้น ใจเท่านั้น ความรู้สึกของเราเท่านั้นที่ไปรับรู้ ถ้าปัญญามันใคร่ครวญ มันตามทัน มันจะปล่อย พอปล่อยนั้น ถ้าปล่อยแบบปกตินะ มันก็จะหาย ถ้าปล่อยแบบว่าปัญญาเราน้อยหรือว่าความใคร่ครวญพลังงานเราน้อย มันจะชา แค่นี้ก็เห็นแล้วว่ามันหลอก

มันคือใคร? มันคือกิเลสไง

ความเคยใจ ใจนี้มันคิดว่าเป็นอย่างนั้น มันหลอก ใจมันหลอก

เราใคร่ครวญไปสิ เราดูของเราไป เราทำของเราไป

“เวทนา” พิจารณาเวทนา การพิจารณาไง พิจารณาเท่าไรมันก็ช่วยเหลือหัวใจเราเท่านั้น ช่วยเหลือความคิดที่ว่าเมื่อกี้นี่ มันลงไปเอาเขาต่างหาก มันคือใจเรานะ ว่ามัน ว่าเขา ว่าเรานี้เป็นคำพูดระหว่างกิเลสกับธรรมเท่านั้น เป็นการโต้ตอบกันระหว่างความคิดกับความคิดเท่านั้น ว่ามันหรือใครนี่จะพูดออกไปข้างนอกไม่ได้ มันจรมา ความคิดนี้จรมา ความคิดนี้เกิดขึ้นจากเราอัดเอาไว้ พอเราขยายออก เราขยับร่างกาย เราขยับขา มันหายแล้ว เราก็ไม่มีโอกาสได้พิจารณาแล้ว นั่นถึงว่าให้เห็นความโง่ของใจเราไง

“สวด” เวลาสวด ปัญญาพระพุทธเจ้า ปัญญาครูบาอาจารย์เวลาพูดมานั่นน่ะ ทุกคนรู้หมด แต่ถ้ามันเป็นปัญญาของเรา ปัญญาของเรามันถึงตัดขาดของเรา ตัดขาด นี่ความโง่-ความฉลาดจะเกิดตรงนั้น ฉลาดมันต้องอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี่เท่าทันหมดนะ เท่าทันความเคลื่อนไหวไปของการหลอก

เราอยู่ในท่ามกลางของหลอกไง “สมมุติ” อยู่ในกลางของสมมุติ แล้วความเคยชินมันแปรสภาพตลอด แปรสภาพตลอด เกิดขึ้นมานี่ทางข้างหน้าคือต้องตายเด็ดขาด ข้างหน้าตายเด็ดขาดอยู่แล้ว แล้วมันแก่ มันเฒ่า มันชราภาพไป ตอนนี้มันนอนใจ มันคิดไม่ถึง มันไม่รู้ มันคิดไม่ถึง ทุกคนเลยเวลายังมาก เวลายังมี นอนใจนะ นอนใจก็นอนจม

ถ้าเราขึ้นมาเป็นตัวของตัวเราเอง เราเป็นนักรบ รบกับความรู้สึกภายในหัวใจ ความสุขแท้น่ะ ความสุขแท้ สุขมาตลอด การภาวนาไปจะมีความสุขเป็นอาหารการกินไปตลอด มันจะหนุนไปเรื่อยนะ จิตเป็นสมาธิจะมีความสุข ไม่อย่างนั้นนักปฏิบัติอยู่ไม่รอดนะ นักปฏิบัติเราจะมีความสุขคอยเจือจานไปเรื่อย เจือจานไปเรื่อย ให้มีความสุขไปเรื่อย สุขในเป็นสมาธิ สุขในการพิจารณาแยกแยะเป็นครั้งคราว มันแยกออก แยกออกนี่จะมีความสุขมาก แล้วจะจำความสุขอันนี้เป็นอาหารของใจ หล่อเลี้ยงใจไปเรื่อยๆ

เวลาทางโลกเขายังมีเครื่องหล่อเลี้ยง เครื่องพักอาศัยกันไป ปฏิบัติธรรมนี่ว่าไม่มี...มี มีให้ใจมันพักเฉยๆ แต่เราต้องเข้มแข็งตลอด แต่ถ้าคนมันได้เข้าไปลิ้มรสไง รสของสมาธิธรรม รสของการใคร่ครวญพิจารณาแล้วปล่อยวาง ปล่อยวางๆ ปล่อยวางจุดหนึ่งๆ นะ ปล่อยวางธรรมดาๆ นี่ปล่อยวาง เช่นเราพิจารณารูป รส กลิ่น เสียงภายนอก มันก็ปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกเข้ามา ปล่อยวางจากรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกเพราะใจนี้มันติดไปหมด ติดไปทั่วโลกธาตุเลย

พอมันพิจารณาสรรพสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นหน้าที่ของเขา มันก็สรุปลงสิ “โลกนี้มีเพราะมีเรา เราดับโลกนี้ก็ไม่มี” เห็นไหม อัดมันเข้าไปสิ ปัญญานี่มันจะทำให้มันไปคิด ไม่อย่างนั้นอัดไม่อยู่นะ

“โลกนี้มีเพราะมีเรา” เพราะเราตายหรือเราอยู่ โลกเขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นน่ะ โลกนี้เขาจะหมุนของเขาไปอย่างนั้น โลกนี้มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เราต่างหากไปพอใจหรือไม่พอใจเขา เราต่างหากจะไปยึดให้มันช้าหรือมันเร็ว จากความคิดของเราเท่านั้น

“เราต่างหาก” ให้เห็นโทษเราเลย

ตัวโทษคือตัวเรา เราจะปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามาจนมันปล่อยได้เด็ดขาด ถึงจุดหนึ่งปล่อยได้เด็ดขาด พอปล่อยได้เด็ดขาดแล้วทีนี้จะกำหนดให้จิตเป็นสมาธิเมื่อไรก็ได้ จะทำใจให้อยู่ในความสงบได้ง่ายขึ้นมากเลย ไม่เหมือนกับว่าปล่อยตามสภาพความเป็นจริงของใจธรรมดาที่ถึงเวลาภาวนาแล้วค่อยมาควบคุมกัน แต่ถ้ามันตัดรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก มันจะมีเฉพาะอารมณ์กระทบระหว่างหูกับเสียง ตากับรูป แล้วจิตรับรู้ มันจะย่นระยะเข้ามาระหว่างแค่อายตนะกระทบปัจจุบันนี้เท่านั้น อย่างอื่นที่เป็นอดีต-อนาคตที่คิดออกไปไง การคิดถึงรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก คิดขึ้นไปเพราะว่ามันเป็นอดีต-อนาคตที่เราจดจำมา

แต่ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชนแล้วมันจะไม่คิดถึงตรงนั้นถ้าเราสติพร้อม ยกเว้นแต่เราปล่อยให้มันคิดเป็นการเป็นงาน เราปล่อยได้ แต่ถ้าเราคิดว่าควบคุมใจ เราคิดปั้บจะตัดเลย ตัดให้มาเหลืออารมณ์กระทบนี้เท่านั้น อารมณ์กระทบนี้ กระทบที่ว่าเสียงกระทบหูนี่ความรู้สึกเกิดขึ้น ความรู้เข้าใจในเสียงนั้นเกิดขึ้นในเนื้อหาสาระ นี้เป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นจากปัจจุบัน จิตนี้มันจะปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามาจนเป็นแบบนี้ พอเป็นแบบนี้เข้า มันก็คุ้ยเข้ามาข้างในสิ มันถึงคุ้ยเข้ามาข้างในได้ไง คุ้ยเข้ามาข้างในก็ในกาย ในกายจากผิวหนังเราเข้าไป เนื้อหา เนื้อ ความเห็นจากการคาดเดาต่างกันนะ ความเห็นจากการคาดเดาว่ามันต้องแปรสภาพ ไอ้นั่นเราคาดเดา

แต่พอจิตมันสงบ มันไม่มีกาลเวลา พอไม่มีกาล ไม่มีเวลา พอมันเห็นตามสภาพนั้น ปัญญามันสั่งได้ สั่งให้แปรสภาพ สั่งให้ไหม้ สั่งให้เน่า มันจะเห็นทันทีในปัจจุบันนั้น มันจะสลดสังเวชมาก แล้วมันจะปล่อยได้จริงๆ ไม่ใช่ปัญญาคาด ปัญญาคาดกับปัญญาจริงจะต่างกันมาก ปัญญาคาด ความคาดความหมายของปัญญาจะต่างกันมากเลย แต่ถ้าเป็นความเป็นจริงแล้วมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

นั้นน่ะ มันเกิดขึ้นจากใคร ถ้าพระพุทธเจ้าไม่เกิด แล้วไม่ตรัสรู้ ไม่มีทางหรอก ไม่มีทาง ยกเว้นแต่พระปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าจะตรัสรู้เองก็พระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น มันเป็นของลึกมาก ลึกลับมาก ลึกจนใครก็หยั่งคาดไม่ได้ แล้วเราก็ไม่เห็นคุณค่าของมันด้วย เราไม่เห็นคุณค่า เราเห็นว่าการสะสม การสั่งสมขึ้นมาของเราเป็นคุณค่าไง ไม่มีใครคิดเลยว่าการชำระสะสาง การยิ่งชำระล้างมันจะเป็นคุณค่า

แต่เวลาเราทำน่ะ เราจะเอาแต่ตัวเลขน้อยๆ ไง แล้วจะให้คุณค่ามากๆ อย่างถือศีล ศีล ๒๒๗ ศีล ๑o ศีล ๘ เอาตัวไหน? เอาตัวน้อย ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาคุณค่า เราเข้าใจผิดเอง เราเข้าใจผิดจริงๆ นะ

ความทุกข์ความร้อนภายนอกมันเป็นไปได้ทุกคน เวลาเราเกิดมา เราเกิดมา ตามหลักธรรมว่าเราเป็นญาติธรรมไง เราเป็นญาติกันโดยธรรม คำว่า “ญาติกันโดยธรรม” หมายถึงว่าเราเกิดมามีสิทธิเสมอกันเพราะเราต้องมีปากและท้อง ต้องทุกข์ยากเหมือนกันด้วยการใช้ปัจจัย ๔ เสมอกันทุกคนเลย นี่ญาติธรรมไง ความเสมอภาคมันเกิดจากตรงนี้ไง ทุกคนมี ๑ ปากและ ๑ ท้อง ต้องดิ้นรนเท่ากัน เสมอภาคมาก ว่าญาติธรรมไง ทีนี้คนเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้คือว่าเป็นญาติธรรม ธรรมชาติ ธรรมพระพุทธเจ้าสอนมาให้เป็นญาติกันทั้งหมดเลย

ทีนี้สิ่งที่ออกไปจากตรงนี้ ออกไปจากตรงนี้มันเป็นที่เราแล้ว มันเป็นที่เรา ญาติกันโดยธรรมไง โอกาสที่จะเข้ามาตรงนี้ไง โอกาสที่จะเข้ามาปฏิบัติไง “โอกาส” โอกาสนี้ก็สำคัญมากแล้ว ถ้าไม่มีคนให้โอกาสเรา คนให้โอกาสเรา เราจะนึกถึงคนๆ นั้นมากเลย ใครให้โอกาสเราได้เกิด ใครให้โอกาสเราได้ทำงาน ใครให้โอกาสเราได้แสดงฝีมือ แล้วกิเลสมันปิดโอกาสเราทั้งหมดเลย แล้วบัดนี้กิเลสมันให้โอกาสเราไง กิเลสมันให้โอกาสนะ คือว่ามันยอมเชื่อ ยอมปล่อยให้เราออกมา ความเชื่อกับความไม่เชื่อ นั่นน่ะ กิเลสชัดๆ เลย

แล้วความเชื่อนี้ปล่อยให้เราออกมา ขณะปฏิบัติอยู่แล้วเรายังไม่เชื่ออีกเหรอว่าผลมันไม่มี...ผลมีเด็ดขาด จนปัจจุบันนี้หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ล่วงไปแล้ว กระดูกเป็นพระธาตุหมดเลย ถ้าเราปักใจเชื่อนะ ๑. ว่าผลมี ความเพียรเรามั่นคง เราจงใจทำจริง พระพุทธเจ้าบอกเลย ในตำรา อย่างสูง ๗ ปี ทำตลอดนะ อย่างสูง ๗ ปี อย่างกลาง ๗ เดือน อย่างเร็ว ๗ วันเท่านั้น เราต้องสำเร็จ ตำรากางไว้ชัดๆ ถ้าตำราไม่จริง ตำราไม่จริง เราปฏิบัติแล้วไม่ได้นี่แล้วเราจะไปเชื่อใคร...ไม่ใช่ ตำรามีจริงอยู่แต่มันขาดเพราะเรา ใจเราไม่จริง “ใจเราไม่จริง” เพราะผลมันมีให้เราเห็น ผลก็มี มรรคก็มี ผลก็มี มีหมด อย่างเช่นเราทุกข์ก็มี สุขก็มี ถ้าทุกข์ยังมีอยู่ ทุกข์ต้องแก้ได้ ของที่มีต้องคู่กับไม่มี

ความลังเลสงสัยเป็นนิวรณธรรม ความเป็นนิวรณธรรมทำให้หัวใจนี้ไม่ปักลง พอไม่ปักลง ผลไม่เกิด เราเข้าใจว่าเราทำ เราเข้าใจว่าทำ เราทำสักแต่ว่า สักแต่ว่าหมายถึงว่าภายใน ความคิดจิตใต้สำนึกมันกันไว้ ถ้าจิตใต้สำนึกนี้ปล่อยโล่ง ๑. จิตใต้สำนึกปล่อยโล่ง ความเชื่อปักลงไป มรรคผลมีจริง ทุกอย่างมีจริงหมด ปักลงไปเลย

กิเลสนี้ร้ายมากนะ แม้แต่ความกังวลนิดเดียว ดูสิ เรายิงแสงเลเซอร์ ถ้าเราตั้งองศาผิดนิดเดียว ไปไกลขนาดไหน แล้วหัวใจ มันเร็วกว่านั้นน่ะ ถ้าความไม่เชื่อนี้นะ มันบิดนิดเดียวนะ มีความแคลงใจหน่อยเดียวเท่านั้นน่ะ ความคิดต่างไปเลย ความแคลงในใจเกิดขึ้นนิดเดียว เป้าหมายต่างไปมหาศาลเลย แล้วถ้ากังวลตัวนี้ นี่ปักใจเชื่อในศาสนาทั้งเหตุและผล เหตุคือการปฏิบัตินี้ เหตุคือการนั่ง เหตุคือการพยายามต้องจงใจ นี้คือสร้างเหตุ สร้างเหตุในการปฏิบัติแต่ไม่หวังผล

ถ้าหวังผล ขณะหวังผล ความคิดที่อยากได้ผลอันนั้นก็เป็นสมุทัยตัวหนึ่ง อยากในการปฏิบัติมันไม่เป็นสมุทัยเหรอ? มันเป็นสมุทัย อยากนี่เป็นสมุทัย แต่สมุทัย อยากกินข้าวกับอยากกินพวกอบายมุข เที่ยวกินเหล้ากินยา อยากเหมือนกันไหม แต่อยากกินข้าวก็คืออยาก อยากเหล้าก็อยาก แต่อยากไปกินข้าวมันเป็นความจำเป็นของร่างกาย อยากกินเหล้ากินยามันเป็นความอยากที่ว่าไม่กินมันก็ไม่เป็นไร อยากในเหตุมันก็เหมือนกับอยากกินข้าว ฉะนั้น เขาถึงจัดว่าอยากอันนี้เป็นมรรค มรรคไง

ความอยากในความเพียร ความเพียรชอบ ความดำริชอบ เป็นความอยากทั้งนั้น เพียรชอบไง ความวิริยะชอบอุตสาหะเป็นความอยากไหม? ต้องเกิดจากความอยาก อยากอันนี้เป็นมรรค แต่ถ้าเราไปอยากในผลนั้นเป็นอยากที่ ๒ ที่มาซ้อนในสมุทัยไง ถึงว่าให้อยากในเหตุนี้

อยากในเหตุแต่ไม่อยากในผล แล้วผลจะเกิด

ถ้าอยากในเหตุ พอนั่งๆ แล้วอยากในผลด้วย เป็นการคาดเดา มันจะเกิดความสุขบ้างพอสมควร เพราะการคาดเดาใหม่ๆ ความไม่เคยชินมันจะเห็นเป็นอุปาทานว่าเป็นจริงไป พอเป็นจริงไปมันจะเป็นอุปาทาน สมาธิที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นสมาธิที่วิการ สมาธิวิการนี้มันไม่เป็นสัมมาสมาธิ ไม่เป็นสัมมาสมาธิมันจะมาประกอบให้เป็นงานที่ถูกต้องยาก งานที่ถูกต้องมันเป็นมรรคในการฆ่ากิเลสไง เช่น เรากำหนดจิตเข้าไป กำหนดการกดการถ่วง สมาธินี้จะเกิด เกิดเพราะอะไร เพราะมันมีเชื้อ ใจนี่มันเป็นความว่างอยู่แล้ว ใจนี่เป็นความว่าง เป็นบางโอกาสนะ

อย่างเช่นว่าสติ ทุกคนมีสติหมด ถ้าคนขาดสติ คนนั้นเป็นคนบ้า ปกติของมนุษย์นี่มีสติพร้อม แต่เป็นสติของปุถุชนน่ะ เป็นสติของเรา เป็นสติของการดำรงชีวิตนี้เท่านั้น แต่ในการสร้างการภาวนาต้องสมาธิ ปัญญา สติ...สติ-ปัญญา มหาสติ-มหาปัญญา แล้วก็เป็นสติอัตโนมัติ สติมันจะพร้อมมากขึ้นไปเรื่อยๆ

อันนี้ก็เหมือนกัน ความว่างของใจมันมีอยู่ ฉะนั้น พอเรากำหนดอะไรก็แล้วแต่ที่เขาเพ่งกันอยู่ มันก็จะเกิดได้ แต่มันมีตัวการกดถ่วงไง ถ้าเรากำหนด เราทำอานาปานสติ เรากำหนดลม เรากำหนดกรรมฐาน ๔o ห้องอย่างใดอย่างหนึ่ง มรณัสสติ เทวตานุสติ พุทโธ พุทโธ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ เรากำหนดสิ่งนี้เป็นอาหารของใจให้ตัด ให้ตัดใจให้สงบไง

ความคิดนี้มันคิดสืบต่อเนื่องออกไป พออันนี้เข้ามาตัดๆๆๆ พอตัดอันนั้น เพราะว่าเราไม่กดถ่วง พอตัดๆ เรื่อย ตัดให้มันเป็นว่างๆๆ ไปเรื่อย เพราะเวลามันจะออกมากินก็ให้กินพุทโธ พุทโธ กินอาหารที่เราป้อนเท่านั้น

กรรมฐานนี้เป็นอาหารที่เราป้อนให้ใจกิน กินตลอดๆ มันจะตัดไปๆ ตัดจนมันเป็นความว่างโดยอัตโนมัติ ความว่างในตัวมันเอง สัมมาสมาธิเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ เป็นสมาธิที่ควรแก่การงาน พอเป็นสมาธิที่ควรแก่การงานนี่เราจะควบคุมง่าย เราจะใช้สอยได้ ใช้สอยทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นสมาธิที่วิการอย่างนั้นน่ะ มันมีความกดถ่วงมา มันไม่เที่ยง มันเบี้ยว มันบิด เวลามันออกไป มันออกไปทางอื่น แล้วจะชักเข้ามาเป็นการงานอย่างนี้ไม่เข้า

ทีนี้เราตั้งใจของเราอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ ตั้งใจอย่างนี้ ตั้งใจให้เป็นปกติอย่างที่ว่านี่ เราอย่าไปห่วง อย่างนั้นจะเป็นประโยชน์ อย่างนี้จะเป็นประโยชน์ เขามาเล่าไง คนมาถึงชักนำไง แล้วเราก็ย้ายไปเรื่อย ต้นไม้ย้ายที่ปลูกไปเรื่อย เกิดประโยชน์กับเราก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่เจริญรุ่งเรืองไปข้างหน้า เจริญรุ่งเรืองกลางหัวใจนะ ปฏิบัติไป ปฏิบัติไปเราได้ประโยชน์ของเราเอง เราจะรู้ประโยชน์ของเราเอง

เวลาหวัง หวังมรรค ผล นิพพาน แต่มันต้องหวังเพราะศาสนาพุทธเป้าหมายคือนิพพานอย่างเดียว เกิดมาแล้วมันต้องสิ้น แต่เวลาการงานก็ทำไป ถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราวาสนาพร้อม แล้วเราทำของเราไปเรื่อยๆ ทำของเราไปเรื่อยๆ ถ้าเวลากิเลสมันขาด เพราะมันชั่วว่าชนะเดียว มันชั่วช้างกระดิกหูไง ถ้าเราตัด ชั่วกาลเวลานิดเดียว แต่เวลาเราสร้างเหตุขึ้นมายาก

เหตุคือว่า อย่างเช่นเราสร้างบ้าน กระเบื้องแผ่นสุดท้าย กระเบื้องแผ่นสุดท้ายที่มุงหลังคาอันนั้นคือเสร็จ ถ้ากระเบื้องสุดท้ายมุงแผ่นนั้น บ้านนั้นก็เสร็จ แต่เวลาเราขนอิฐ ขนทรายเข้ามา ยากขนาดไหน ขนอิฐ ขนทราย ขนของเข้ามาสร้างบ้าน กว่าเราจะเทขึ้นมาได้ แต่กระเบื้องแผ่นสุดท้ายก็แป๊บเดียว เห็นไหม สร้างเหตุตั้งแต่ตอนนี้ ตั้งแต่สมาธิ ตั้งแต่การใคร่ครวญเข้าไปเรื่อย แต่ถ้าถึงจุดมันเป็นไป กระเบื้องแผ่นสุดท้าย พอกระเบื้องแผ่นสุดท้ายมันรู้เอง

ธรรมะนี้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้เลย เป็นขั้นตอนของใจ ประสิทธิ์ประสาทให้ มันขาดลงที่ใจ มันหลุดออกไปที่ใจ ใจนี้ได้ตัดการบีบรัด ตัดไอ้ที่ความกังวลออกไปแล้วชั้นหนึ่ง มันมีถึง ๔ ชั้นนะ ๔ ชั้นกว่าจะชำระสะสางกันได้สะอาด

ถ้าเราชำระ ชำระได้ชั้นเดียวนี่ก็พอใจแล้ว อย่างน้อยชั้นเดียวพอใจเลย เพราะอะไร เพราะไม่ตกต่ำ จิตดวงนี้มีเจ้าของ ฟังดูสิ “จิตดวงนี้มีเจ้าของ” เพราะพระโสดาบันนี้เกิดอีก ๗ ชาติอย่างมากนะ อย่างน้อย ๓ ชาติ หรืออย่างถ้าดีก็ดับในชาตินั้นเลย

จิตดวงนี้มีเจ้าของ จิตดวงนี้จะไม่เคลื่อนไปตามกระแส คือว่าเหมือนกับเราเอาสวะโยนลงน้ำแล้วไหลไปตามน้ำ ถ้าปุถุชน จิตอย่างพวกเราเหมือนกับเขาเอาสวะไปทิ้งไว้ที่แม่น้ำ แล้วแต่กระแสน้ำจะซัดไป เราภาวนา เราเป็นชาวพุทธ เราทำจนจิตเรานี่มีเจ้าของ กำหนดได้เลยว่าเกิดอย่างมากคือ ๗ ชาติเท่านั้นเป็นอันว่าสิ้นสุด

ศาสนาพุทธสอนทั้งปัจจุบัน แล้วยังสอนถึงไปข้างหน้า

คิดดูสิ อย่างจิตเราเป็นเหมือนสวะ สวะจริงๆ นะ เพราะเราเข้าใจว่าเราเป็นคนดี เราจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป เราไม่คิดถึงเวลาจำเป็นเหรอ เวลาจำเป็น เวลาเหตุการณ์เฉพาะหน้านี่มันต้องเป็นไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้น มันไม่มีอะไรคงที่หรอก หัวใจคน วันนี้คิดดี ต่อไปจะคิดอย่างไร แล้วถ้าเหตุการณ์เฉพาะหน้าบีบรัดเข้าเรื่อยๆ เป็นอย่างไร

แต่ถ้าลองเป็น จิตมันภาวนาจนมีขั้นตอนแล้วอย่างที่ว่า ๗ ชาติ มันสีลัพพตปรามาสไง มันจะไม่ประพฤติในความผิด ถ้าความผิดนั้นจะเกิดขึ้น ให้ชีวิตนี้ดับไปเลย ชีวิตนี้ดับก็ได้ไม่เป็นไร ถ้าจะไปทำความผิด เพราะดับไปแล้วมันก็ไปเกิดเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่มีตรงนี้ เราจะห่วงชีวิตมาก เราจะกลัวตาย เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะเอาตัวรอด นั่นมันถึงว่ามันเป็นสวะไง อยู่ที่เหตุการณ์จะมากระทบ มันเหมือนน้ำพัดไปเป็นคลื่น จิตนี้เหมือนสวะถ้าเราไม่จริงจัง ไม่ให้จิตนี้มีเจ้าของ

เราว่าเราเป็นมนุษย์ เราว่าเราเป็นคนประเสริฐ แต่เวลามันดับ จิตมันจะดับ เราจะทำอย่างไร? นี่หลักศาสนาถึงว่าสอนถึงปัจจุบัน สอนทั้งอนาคตไง สอนทั้งเบื้องหน้าไง ตายแล้วให้ไปดี ตายแล้วให้ไปดีถ้ามันไม่ถึงจุดหมาย ถ้าถึงจุดหมาย สอนถึงที่สุดเลย

พิจารณากายนั่นน่ะ พิจารณาเวทนานั่นน่ะ เป็นโสดาบัน

พิจารณากายซ้ำเข้าไปอีกนั่น มันแตกออก กายกับใจออกจากกัน พระสกิทาคามีนะ ก็พิจารณากายเหมือนกัน

แล้วพิจารณาเข้าไปอีก พอลึกเข้าไปอีก มันจะเป็นพิจารณาอสุภะ เป็นกามราคะ คนที่เกิดมาเพราะตรงนี้ เพราะเทวดาก็ยังเสพกาม ถ้าเราเป็นถึงตรงนั้นเราจะเกิดในที่สูง ถ้าเป็นโสดาบันไม่เกิดที่ต่ำก็เกิดบนเทวดา เทวดาก็ยังเป็นกามอยู่ เขายังเสพกันอยู่ เสพด้วยทิพย์ เหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้าเทวดา มันมีเทวดา ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือเทวดาปุถุชนที่ทำบุญกุศลแล้วไปเกิดเป็นเทวดา กับเทวดาพระอริยเจ้า เห็นไหม มันก็ต่างกันตรงนั้นอีก แล้วพูดถึงถ้าไปเกิดบนเทวดาหรือเกิดในที่เป็นประโยชน์ เป็นสุข เป็นสุขในเฉพาะสิ่งแวดล้อม แต่มันเป็นทุกข์เพราะว่าใจนี้มันยังเกิดดับ มันก็กลัวตาย ถึงเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ ก็เหมือนกับเราอยู่ในบ้าน ขณะที่เราเงินเดือนออก อันนั้นเราเป็นเทวดา เพราะเราจับจ่ายใช้สอยด้วยความพอใจเลย นั่นเป็นเทวดา เพราะเงินมันเต็มมือ ขณะที่เงินเราขาดมือเลย แล้วเรามีความจำเป็นต้องใช้เงิน ขณะนั้น นั่นน่ะเป็นทุกข์ เพราะมันบีบรัด เทวดาก็เหมือนกัน มีสุขเฉพาะมีทิพย์ สิ่งที่ใช้อยู่ใช้สอยนี่สะดวกสบายมาก แต่หัวใจมันก็มีต้องการมากกว่านั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะไปเลี้ยงใจให้อิ่มหนำสำราญได้โดยมันอยู่เป็นสุข ยกเว้นเราชำระกิเลสหมด

มันถึงไว้ใจไม่ได้ พอปฏิบัติมามันยังไว้ใจไม่ได้ แล้วมันขยับขึ้นไปเรื่อย ขึ้นไปเรื่อย ขึ้นไปเรื่อย ขึ้นไปเรื่อย แล้วคนมาติดอยู่ตรงนั้นใช่ไหม ถ้าเรา อย่างกามที่ติดอยู่อย่างนั้น “อสุภะ” พิจารณากายนี้ส่วนหนึ่ง พิจารณากายเวลามันแปรสภาพส่วนหนึ่งนะ พิจารณาอสุภะในกายอีกส่วนหนึ่ง “กายในกาย”

แล้วพิจารณาธาตุของกายนี้อีกอย่างหนึ่ง พิจารณากายโดยความเป็นธาตุ มันเกิดขึ้นมาเป็นธาตุ พอเป็นนิมิต นิมิตกับฝันนะ ฟังให้ดีๆ ฝันเป็นฝัน แต่นิมิตนี้ไม่ใช่ฝัน มันจะมีสติพร้อมแล้วมันจะเห็นแล้วมันจะสั่งได้ ฝันเรานอนฝันไปใช่ไหม เรานอนแล้วฝันมันจะเป็นไปตามเรื่องที่เราฝันขึ้นมา ฝันนั้นเกิดจากสังขาร เกิดจากสัญญาดั้งเดิมที่สติไม่พร้อมแล้วมันหมุนเวียนไป

แต่ถ้าเป็นนิมิต ภาพเกิดคล้ายๆ ความฝันแต่ไม่ใช่ มันจะชัดกว่านั้น แล้วเราบังคับภาพนั้นได้ แล้วเรารู้สึกตัวตลอดเวลา แล้วเหมือนกับว่าเราเล่นเกมคอมพิวเตอร์นั่นน่ะ เราเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เรากดคอมพิวเตอร์อยู่ มันเกิดภาพขึ้นมาแล้วเราสั่งให้เป็นไป ถ้าเวลาจิตมันเห็นพิจารณากายหรือพิจารณาภายใน มันจะเป็นอย่างนั้น ถ้าจิตดี ภาพจะชัด ถ้าจิตไม่ดี ภาพมันจะหวั่นไหว เราต้องกลับไปที่จิต คอมพิวเตอร์นี่มันขึ้นมาเป็นคอมพิวเตอร์ แล้วมันเป็นสำเร็จรูปใช่ไหม เรากดเล่นได้ตามอำเภอใจ แต่เวลาพิจารณาภายในไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนั้นตรงที่ถ้าจิตนี้พื้นฐานดี เกมนี้อยู่ ภาพนี้อยู่ชัด ถ้าจิตนี้พลังงานไม่พอ เกมนั้นอย่างน้อยภาพนั้นไหว อย่างดีไม่เห็นภาพนั้นเลย ภาพนั้นตั้งขึ้นมาไม่ได้ ฉะนั้น เวลาภาพนั้นมันไหวหรือมันเป็นอะไร เราต้องทิ้งงานนั้นทันที

งานในการภาวนามีอยู่ ๒ อย่าง ในสมถกรรมฐานคือการต้องเพิ่มพลังงานของจิตตลอดเวลา แล้วงานในการวิปัสสนาคือใช้พลังงานของจิตนั้นไปวิปัสสนาด้วย ใช้ในมรรคองค์ ๘ แต่มรรคองค์ ๘ นั้นใช้ไปแล้วพลังงานนั้นก็จะหมด เสื่อมลงๆ ต้องกลับมาตรงสมถกรรมฐานเพื่อเพิ่มพลังงานของจิตขึ้นมาตลอดเวลา แล้วภาพนั้นถึงจะอยู่คงที่ให้เราพิจารณาได้

พอการพิจารณากำลังเราพอ หรือเราพิจารณาบ่อยๆ เข้า มันจะแตกแล้วแปรสภาพออกให้เห็นตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงของวาสนาบารมีของคน บางคนเห็นหนเดียว ถ้าจิตมันอ่อนมันไหว มันเห็นแล้วมันจะปล่อยเลย ถ้าจิตของคนแข็งกระด้าง มันต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่มันจะขาดได้เหมือนกันเพียงแต่ว่ามากหรือน้อยเท่านั้น เพราะบางคนติดมาก บางคนติดน้อย บางคนติดแบบกลางๆ ถึงว่าการภาวนานี้ไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นสมบัติของส่วนบุคคลเท่านั้น เป็นผู้ปฏิบัติแต่ละบุคคลๆ ที่จะปฏิบัติไปแต่ละบุคคล ไม่มีว่าต้องขนาดนี้ขนาดนี้ถึงเป็นคนนั้น...ไม่ใช่

พระพุทธเจ้าสอนพระสารีบุตรก็ไปอย่างหนึ่ง สอนพระโมคคัลลานะก็ไปอย่างหนึ่ง ตามแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคลที่จะตรงกับความชอบอันนั้น พระพุทธเจ้ารู้ถึงกิเลสอันนั้น ถึงได้สอนเข้าไปตรงที่กิเลสตรงนั้นเลย

แต่พระพุทธเจ้าได้นิพพานไปแล้ว ครูบาอาจารย์ก็เป็นบางองค์เท่านั้นที่จะส่องเข้าไปถึงรู้ว่าคนไหนชอบอย่างไร อย่างนี้มันต้องเป็นบารมีของแต่ละบุคคลที่จะมาเป็นครูบาอาจารย์ ยกเว้นแต่ว่าเรามีวาสนาไปเจอครูบาอาจารย์อย่างนั้นอีกต่างหาก

ฉะนั้น การพบครูบาอาจารย์นี่เป็นของประเสริฐมาก การพบนะ เสมือนนักเรียนเจอครูดีนั่นน่ะ มันจะเป็นวาสนาของนักเรียนหรือวาสนาของครูล่ะ นักเรียนเจอครูที่ดี สอนให้เป็นที่ดี นักเรียนนั้นก็เป็นคนดีแล้วได้วิชาการดีด้วย ถ้านักเรียนนั้นเจอครูไม่ดี ก็เหมือนกัน พระก็เหมือนกัน พระก็ไปมีอย่างนั้นเหมือนกัน เราก็ต้องใคร่ครวญหาไป ไอ้นั้นเป็นเรื่องภายนอกมาเทียบเป็นเรื่องพิจารณาเท่านั้น

จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ใจเรากับกิเลสเท่านั้นเลย

จริงๆ แล้วมันอยู่ที่กลางหัวใจเราเท่านั้นเลย

สิ่งที่ไม่ดีนั้นก็เป็นตัวอย่างได้ สิ่งที่ดีก็เป็นตัวอย่างได้ สิ่งที่ไม่ดีนั้นถ้าเราเป็นประสาเรา เราคิดนะ เราไม่กลัวนักเหรอว่าเดี๋ยวนี้เป็นขนาดนี้ๆ แล้วเราจะไม่ตกรุ่นเหรอ เราจะหาใครเป็นที่พึ่งที่อาศัย เห็นไหม มันก็ทำให้เราขวนขวายในการปฏิบัติ ขวนขวายให้เรารีบหาทางออกนะ

เราจะรอจนกว่าตลาดนี้วาย จนเขาเก็บตลาดหมดแล้วเราค่อยมาหาซื้อของ ถ้าตอนนี้ตลาดตั้งไว้เต็มไปหมดเลย เราก็ต้องรีบขวนขวาย เพราะเราดูสภาพสิ่งที่ไม่ดีมาเป็นตัวอย่าง ถ้าสิ่งที่ดีก็ยิ่งเป็นครูยิ่งยอดใหญ่

“สิ่งที่ดี” ฟังสิ อยู่ครูบาอาจารย์แล้วสอนประจำนั่นน่ะ ยกก็ยกแต่พระจักขุบาล อดนอนไง ปฏิญาณว่าจะอดนอนใน ๓ เดือน เสร็จแล้วเพราะอดนอนมาตลอด ภาวนามาตลอด ใกล้ๆ ออกพรรษาตาเจ็บ พอตาเจ็บไปหาหมอ หมอสมัยโบราณ สมัยพระพุทธเจ้า ต้องนอน ถ้าไม่นอนนี้ตาจะบอด หมอขอให้นอนแต่ตัวเองตั้งสัจจะไว้แล้ว ไม่นอน บอดให้บอดไป สุดท้ายก็ตาบอดเพราะโรคตา ตาบอด พอตาบอด กิเลสก็ขาดพร้อมกัน

“สิ่งที่ดี” ความอุตสาหะขนาดนั้นน่ะ ถึงจะตาบอดก็ยอมแลก แลกกับความสว่างโพลงกลางหัวใจ เอาเข้าแลกเลย แต่ถ้าเราไม่เข้มแข็งพอนะ อ้าว! ตาบอดก็รักษาตาก่อน เอาไว้หายแล้วค่อยมาภาวนาใหม่ อย่างนี้ก็ได้ ก็เป็นวาสนาของเรา วาสนาของบุคคลนั้นไง ว่าถ้าตายซะ จะตาบอดซะ เราจะไม่มีโอกาสปฏิบัติ ถ้ารักษากายไว้ รักษาใจไว้ ถึงเวลายังมีโอกาสปฏิบัติ...ก็ได้

บางทีกิเลสมันหลอก หลอกหลายซับหลายซ้อน

มี...ครูบาอาจารย์สอน นั่งพิจารณาอยู่ พิจารณาข้าวจนข้าวกลายเป็นตัวหนอน ตัวหนอนใน...โทษนะ...ตัวหนอนในส้วมมันเหมือนเมล็ดข้าว พิจารณาเมล็ดข้าวที่เราจะกินนี่เป็นตัวหนอนเลย จนมันขยะแขยงกินไม่ได้ พอกินไม่ได้มันก็อดไป กินไม่ได้จริงๆ มันขยะแขยง มันก็จะตาย จนโหย จนเซหมด ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอก

“นี่กิเลสมันซ้อนเข้ามาในวงปฏิบัติ ถ้าไม่กินก็ตายเปล่า ต้องกิน”

ถ้ากิน ท่านบอกเลย

“กิเลสมันอยู่ที่ใจนะ ไม่ได้อยู่ที่กาย ถ้าตายนี่กิเลสหัวเราะเยาะ เพราะกิเลสมันหลอก หลอกให้เราไม่ยอมกินข้าว ถ้าเรากินข้าวเสร็จแล้วเรายังมีโอกาสได้ต่อสู้กับกิเลส”

เห็นไหม ถึงบอกว่าเป็นอุบายของใครของมัน เป็นสมบัติของใครของมัน เพียงแต่เราจะยึดอันใดมาเป็นอุบาย เป็นที่สะเทือนใจ หรือว่าอุบายที่จะทำให้เรามีความมุมานะ

เป็นประโยชน์ได้หมด ถ้าเรารู้จักคิด รู้จักพลิกแพลง

ในขณะปฏิบัตินะ พลิกแพลงเข้ามา พลิกแพลงเข้ามา พลิกแพลงเข้ามา ให้เป็นประโยชน์กับไอ้ที่ว่ามันจะหลอกให้เราเลิกอย่างเดียวไง เลิก ไม่ปฏิบัติ เลิก หรือว่าเอาไว้ก่อน อันนี้ไม่ต้องพูด มันจะมีเป็นข้อมูลเดิมอยู่แล้ว “เอาไว้ก่อน เอาไว้ก่อน” หรือว่า “เมื่อนั้น เมื่อนี้” เป็นข้อมูลเดิมในใจเลย ออกมาโดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปหา

ทีนี้เราจะหาอันไหนมาถ่วงอันนี้ไว้เท่านั้นล่ะ

ถ้าหามาถ่วงอันนี้ไว้ได้ ความสืบต่อ ความต่อเนื่อง นักกีฬาวิ่ง ถ้าวิ่งถึงเส้นชัยก็จบ นักกีฬาวิ่งเข้าไป พักก่อนแล้วค่อยมาวิ่งเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ นักกีฬานั้นจะถึงเส้นชัยไหม หัวใจในการปฏิบัติ ถ้ากัดฟันหรือว่าดันไปๆ หรือพยายามไปนี่ต้องถึงเส้นชัยเข้าสักวันหนึ่ง แต่ถ้าหัวใจเราปฏิบัติแล้วเราพักไว้ก่อน พักไว้ก่อน จะมาเริ่มต้นใหม่ โอ้โฮ! ยากนะ เพราะว่านักกีฬา ร่างกายมันยังเสื่อมสภาพช้ากว่าหัวใจ หัวใจนี้เสื่อมสภาพเร็วมาก นักปฏิบัติขนาดปฏิบัติว่าได้ผลมากๆ พอเผลอหน่อยเดียวเสื่อมหมดเลย เพราะมันเป็นนามธรรม เรารักษาได้ยากมาก

การทำขึ้นมาก็แสนยาก การรักษาไว้ยิ่งยากกว่า

แต่ถ้าการทำขึ้นมานี่แสนยาก การที่รักษาไว้ก็ยิ่งยากกว่านี้ เราประคองให้ดี แล้วมันหมุนตัดสมุจเฉทปหานแล้วไม่ต้องรักษา มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นอกุปปธรรม ไม่มีวันเสื่อม นี่นักปฏิบัติต้องการตรงนั้น ต้องการไปถึงจุดที่มันไม่เสื่อมๆ เป็นขั้นๆ ไป แล้วไม่ต้องรักษา เพราะมันไปถึงจุดของมันแล้วจะรักษาอย่างไร ถ้ารักษานั้นไม่ใช่ของแท้สิ ถ้ารักษานี้ไม่ใช่ความเป็นจริงของมันสิ ไม่ต้องรักษาเลย มันเป็นธรรมชาติอย่างนั้นเลย

แต่ก่อนที่เราไปถึงจุดนั้น กระเสือกกระสน เสื่อมๆๆ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้แปรสภาพทั้งหมด ยกเว้นอกุปปธรรม กับเอโกธัมโม ธรรมอันเอก ธรรมที่เป็นหนึ่งไม่มีสอง ธรรมในโลกนี้เป็นธรรมคู่ทั้งหมด ขาวคู่กับดำ ไม่ได้คู่กับได้ แต่ถ้าถึงอันเอกแล้วไม่มีเสื่อม ไม่มีเสื่อมนะ

เราจะเดินไปถึงจุดนั้นไหม เราจะไปไหวไหม?

ตั้งใจ ถ้าตั้งใจแล้วต้องถึงจุดนั้น วาสนานี้เกิดจากการปฏิบัติ วาสนานี้ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ เวลาเราปฏิบัติ ทุกคนจะบอกเลย เรานี้วาสนาน้อย เอาแค่วาสนาเรามี...เพราะน้อยกันทุกคนน่ะ ถ้าคนไม่ตักน้ำใส่ตุ่ม ตุ่มมันจะมีน้ำขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราตักน้ำใส่ตุ่ม ตุ่มต้องเต็มด้วยน้ำ ทุกวันๆ นะ

คติธรรมอันนี้ในศาสนามีบ่อย พระพุทธเจ้าเกิดสมัยเป็นกระรอก กระรอก พระพุทธเจ้ายกขึ้นมาเทศน์ให้พระฟังประจำ ไปทำรังอยู่ที่ต้นมะพร้าวอยู่ชายทะเลไง แล้วลมพัดถึงรังนี้ตกลงไปในทะเล กระรอกเป็นแม่ ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ ไปนะ ไปที่ทะเล เอาหางจุ่มน้ำทะเลแล้วสะบัดออก สะบัดอยู่อย่างนั้นน่ะ ทำอยู่อย่างนั้น พอไปหาอะไรกินมากลับมาก็ต้องมาสะบัดอย่างนั้น จนเทวดาทนไม่ไหว เทวดามาถามเลย

“ทำไมกระรอกทำอย่างนั้น?”

“ลูกตกลงไป จะเอาลูกคืน”

“แล้วเอาหางจุ่มน้ำทะเลขึ้นมา เมื่อไรน้ำทะเลมันจะแห้งล่ะ?”

“ก็ไม่รู้ ก็ทำอย่างนี้ทุกวัน จนกว่ามันจะตายไป จนกว่ามันจะแห้ง”

เทวดาทนไม่ไหวนะ ในพระสูตร จนเทวดาต้องเอาขึ้นมาให้

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราเคยเป็นกระรอกนั้น”

นี่ความอุตสาหะของสัตว์ มีในพระไตรปิฎกมากเลย เรื่องความอุตสาหะที่ว่าเป็นคติตัวอย่างนะ สังคมไทย ในนิทานอีสป นั่นน่ะ คัดออกมาจากพระไตรปิฎกเกือบทั้งนั้นเลย แต่ผู้มีปัญญาคัดออกมา คัดออกมา เราอ่านเข้าไปมันก็เป็นคติเตือนใจ นี่ก็เป็นคติเตือนใจ

ถ้าเราเตือนใจ ขออย่างเดียว ขอให้ถามใจตัว ขอให้ถาม ให้มีการตอบ-การถามกัน นั่นล่ะๆ คนจะมีทางออก อันนั้นจะมีคนให้มีทางไป ทางได้หาทางออก ออกคือออกพ้นเลยด้วยนะ ชำระกิเลสออกจากใจแล้วเป็นอิสระเสรีเต็มที่ในหลักของศาสนาพุทธ อิสระเต็มที่เลย พ้นจากโลกทั้ง ๓ พ้นจากบ่วงของเทวดาด้วย พ้นจากของพรหม พ้นหมดเลย เราไม่ต้องไปเกิดอีกที่ตรงนั้น แล้วไม่ต้องเกิดอีกในที่มนุษย์ ไม่ต้องเกิดอีกในที่อบายภูมิ ไม่ต้องเกิดอีกในที่นรก พ้นหมดทั้งนั้นเลย

เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเรา เกิดขึ้นจากภายในของเรา

ฉะนั้น เราต้องเลือกของเราเอง เลือกเอาเองนะ เลือกของเราเองเป็นคนเลือก

เอาล่ะเนาะ เอาล่ะ