เมื่อรู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันเป็นข้อ ๓๒๕. เนาะ ๓๒๕. เขาแทบไม่ได้ถามปัญหาเลยนะ
ถาม : ๓๒๕. เรื่อง ประสบการณ์ระหว่างปฏิบัติ
โยมได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่วัดท่านอาจารย์ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยถือสัจจะอดอาหาร ๔ วัน และอยู่ใน ๓ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง วันแรกกินปรมัตถ์ วันที่ ๒ ถึง ๔ ดื่มน้ำและน้ำผึ้งส่วนมาก โยมจะเน้นการเดินจงกรม เพราะนั่งแล้วมักเคลิ้มหลับ (หลายครั้งเดินจงกรมติดต่อกัน ๒-๔ ชั่วโมง พอนั่งปุ๊บเคลิ้มหลับปั๊บ) ขอกราบเรียนให้ทราบถึงสิ่งที่ปรากฏในการปฏิบัติที่วัดอาจารย์ค่ะ
๑.ระหว่างเดินจงกรมเกิดฟุ้งซ่านเกิดมาก มีครั้งหนึ่งบอกบังคับตัวเองว่าต้องพุทโธนะ อย่าฟุ้งซ่านนะ แล้วพอบอกกับตัวเองเสร็จปุ๊บ เดินมองไปข้างหน้า เห็นอะไรก็ปรุงแต่งปั๊บ เกิดๆ ดับๆ ติดๆ กัน ๔ เรื่องภายใน ๒๐ วินาที.. เห็นความไวของจิต และพอได้ยินเสียงอะไรก็ตามจะปรุงแต่งทันที เห็นว่าทุกวันนี้คนเราเกิดความทุกข์ฟุ้งซ่าน ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้เห็นรูปและได้ยินเสียงมากระทบ และจึงเกิดการปรุงแต่ง
หลวงพ่อ : อันนี้คือผลของการปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปแล้วนี่จิตเขาเร็วขึ้น เห็นไหม เขาเห็นขึ้น ว่าเห็นแสงเห็นอะไรปุ๊บมันเกิดดับๆ ความคิดของจิต ! อันนี้เพราะปัญหาข้อนี้คือเขาไม่ได้ถามอะไรเลย
ถาม : ๒. วันที่สาม เมื่อออกจากการนั่งสมาธิแล้วเปิดวิทยุช่อง ๑๐๓.๒๕ ซึ่งกำลังรายงานอาการของหลวงตา โยมตั้งใจฟัง เมื่อได้ยินคำว่าหลวงตาอาการดีขึ้น มีความรู้สึกดีใจขึ้นมาแว็บหนึ่ง แล้วอยู่ๆ ก็เกิดอาการตื้นตันจนร้องไห้ เมื่อเริ่มคลายอาการร้องไห้ เห็นภาพหลวงปู่ที่พิจิตรแว็บซ้อนเข้ามา คลายความสงสัยทันทีที่เคยสงสัยว่าทำไมหลวงปู่ร้องไห้เมื่อครั้งเพื่อนๆ และโยมที่เข้าไปกราบ เคยมีคนแปลให้ฟังว่ามาจากธาตุขันธ์ของผู้เฒ่า รู้แล้วว่าร้องไห้ของหลวงปู่ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่จากธาตุขันธ์คนแก่ จากนั้นโยมก็เอ๊ะ.. หรือว่าเรามีอาการขาดสติจึงเกิดอาการแบบนี้ขึ้นมา.. พระอาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ
หลวงพ่อ : นี่พูดถึงเวลามันสะเทือนใจนะ คนเราสะเทือนใจมันเหมือนกับจิตเรานี่ จิตใจเราถ้ามันหยาบนะ สิ่งใดอารมณ์ต่างๆ กระทบมันก็ไม่มีความรู้สึก แต่ถ้าคนจิตละเอียด พออะไรกระทบขึ้นมามันจะรับรู้ของมัน.. นี่จิตหยาบ จิตละเอียด
แล้วจิตหยาบ จิตละเอียดตรงไหน.. เปรียบเหมือนน้ำ น้ำเห็นไหมถ้ามันมีตะกอนอยู่นี่มันมีความขุ่น มีความขุ่น มีความใสแตกต่างกันไป แต่ถ้าพอเวลาน้ำมันจะขุ่นขนาดไหน มันจะปานกลางหรือเล็กน้อยขนาดไหน เวลาตะกอนนอนก้นน้ำก็ใสเหมือนกันใช่ไหม น้ำจะต้องใสเหมือนกัน
คำว่าละเอียด เห็นไหม เวลาจิต เวลาคำว่าหยาบนี่อารมณ์ของคนมันแตกต่างกัน จริตนิสัยของคนนี้แตกต่างกัน แต่ถ้าเราภาวนาของเราไป เวลาจิตมันละเอียดเข้าไปหมายความว่าตะกอนของแต่ละบุคคลมันจะเริ่มนอนก้นแก้วใช่ไหม น้ำนั้นจะใสขึ้นมา น้ำนั้นใสขึ้นมามันจะเกิดอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ นี่อารมณ์ความรู้สึกของคนมันเกิดความตื้นตันใจ มันเกิดการซาบซึ้งนะ เกิดการซาบซึ้ง
เวลาครูบาอาจารย์ เวลาท่านประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นไปท่านจะเห็นคุณของพระพุทธเจ้ามากเลย.. คุณของพระพุทธเจ้านะ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า ธรรมะนี่ใครเป็นคนค้นคว้ามา นี่ว่าธรรมะมีอยู่ดั้งเดิม มีอยู่ดั้งเดิมแบบวิทยาศาสตร์ บางอย่างนี่สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ยังต้องพิสูจน์ไปข้างหน้าอีกมหาศาลเลยนะ
นี่ก็เหมือนกัน บางอย่างที่มันมีอยู่มันมีของมันนี่แหละแต่เราเข้าใจไปไม่ได้ อย่างคลื่นวิทยุเมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักก็ไม่มีใครรู้จักนะ เดี๋ยวนี้พอคลื่นวิทยุเขารู้จักขึ้นมานี่เขาก็รู้ได้ เห็นไหม เขาอธิบายได้ว่าคลื่นวิทยุมันมีในอากาศ มันมีในต่างๆ อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอจิตมันละเอียดเข้าไป พอมันสัมผัสขึ้นมา มันไปรับรู้สิ่งใดมันซาบซึ้งจนร้องไห้เลย เห็นไหม ถ้าจิตคนละเอียดไง
ทีนี้พอจิตคนละเอียด คำว่า ละเอียด เป็นอย่างไรล่ะ ละเอียดเป็นวัตถุนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ.. จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้คือพลังงาน คือตัวธาตุรู้ แต่เวลามันหมองไปด้วยอุปกิเลส มันเศร้าหมองไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก มันเศร้าหมองไปด้วยความขุ่นเคืองของใคร มันเศร้าหมองอย่างนี้ สิ่งนี้มันก็เหมือนกับตะกอนในน้ำ มันก็มีความขุ่นมากหรืออ่อนแตกต่างกันไป มากหรือน้อยแตกต่างกันไป เห็นไหม
ฉะนั้นเวลาจิตมันละเอียดเข้ามา คำว่าละเอียดหมายถึงว่าจิตของทุกคนมันมีสามัญสำนึก มีความรับรู้ แล้วพอมีอะไรกระทบเข้ามากระเทือนใจ นี่ธรรมสังเวช ! เวลาเป็นโลกนี่มันร้องไห้ ความร้องไห้ความทุกข์อาทรของโลกเขามันร้องไห้เพราะอะไร มันร้องไห้เพราะมันทุกข์ไง แต่เวลาพอเรามีความสุข เห็นไหม ดูสิเวลาคนพลัดพรากจากกัน เวลาเจอหน้ากันกระโดดกอดร้องไห้กันโฮๆ นั่นเขากอดกันเรื่องมีความสุขนะ แต่เขาก็สะเทือนใจ เขาก็ร้องไห้ของเขา แต่พอจิตมันละเอียดเข้าไป มันรับรู้สิ่งใดมันสะเทือนไง
นี่ธรรมสังเวช.. มันเป็นธรรมไง มันเป็นธรรม มันสะเทือนหัวใจ แต่ธาตุขันธ์มันก็เหมือนน้ำ น้ำสะอาดเอามาใช้เพื่อประโยชน์ เห็นไหม น้ำสกปรก น้ำเสียนี่เขาไม่ต้องการใช้มัน แต่เวลาเขาบรรจุแล้วก็สาดน้ำออกไปมันมีกิริยาเหมือนกัน มีแรงเหมือนกัน เพราะน้ำเหมือนกัน
ความร้องไห้.. ความร้องไห้ของโลก เห็นไหม ความร้องไห้ของโลกกับความธรรมสังเวชที่น้ำตาไหล นี่ถ้ามองอาการแบบวิทยาศาสตร์ อาการที่เขาเห็นเขาว่ามันก็เป็นอาการของการร้องไห้เหมือนกัน แล้วเราจะแบ่งตรงไหนว่าร้องไห้เป็นบวกหรือร้องไห้เป็นลบล่ะ ร้องไห้เป็นบวกเพราะจิตมันละเอียดเข้ามานี่เรารู้ของเราเอง ธรรมะถึงว่าเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตน.. รู้จำเพาะตนว่าตนทุกข์หรือตนสุข เห็นไหม เวลาสุขนี่ร้องไห้ด้วยความรำพัน อันนี้เวลาภาวนาไป อาการอย่างนี้เกิดขึ้นมานักปฏิบัติจะเข้าใจได้ จะเข้าใจได้
ทีนี้ทางวิทยาศาสตร์ ทางโลก เขาบอกว่าปฏิบัติแล้วต้องเข้มแข็ง.. เข้มแข็งก็มี เวลาเข้มแข็งนะ ดูสิเวลานักโทษ เวลาเขาไปประหารบางคนเขาเดินเข้าไปประหารเฉยเลย เขาไม่มีความสะเทือนหวั่นไหวเลย เขาเข้มแข็งในทางที่ถูกหรือที่ผิดล่ะ นี่เราก็คิดกันอย่างนั้นไง ถ้าความเข้มแข็งมันก็เหมือนกับวัตถุ เหมือนกับเหล็ก เหมือนกับวัตถุที่แข็งแกร่ง มันจะไม่อ่อนไหว อันนั้นมันผุกร่อนในตัวมันเองตลอดนะ มันไม่มีอะไรคงที่หรอก
แต่สัจธรรม.. นี่ความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งคือตัวใจ ใจที่มันปัก เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เหมือนไม้ ๘ ศอก ปักอยู่ในดิน ๔ ศอก พ้นจากดินขึ้นมา ๔ ศอก จะโดนฝนโดนลมขนาดไหนมันก็ไม่หวั่นไหว มันไม่โยกคลอน
มันไม่โยกคลอนก็เหมือนผู้ที่บรรลุธรรม เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคานี่มากน้อยแค่ไหน แล้วเวลามันกระทบกับคุณธรรม กระทบกับโลกธรรมทั้ง ๘ มันมีความสั่นไหวมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่คุณธรรมมากหรือน้อย เห็นไหม แต่การสั่นไหวนี้สั่นไหวด้วยอารมณ์ อารมณ์ไม่ใช่จิต อารมณ์ความรู้สึก นี่ตัวจิตมันมีความมั่นคงแค่ไหน
ถ้ามีความมั่นคง เห็นไหม ดูสิพระอรหันต์ไม่สะเทือนเลย ไม่สะเทือนในวัฏสงสาร ไม่สะเทือนในชีวิต การเกิดและการตายไม่มี พอกิเลสตายแล้วมันไม่มีอะไรตายเลย แต่เวลาสะเทือนใจนะท่านก็รับรู้ได้ รับรู้ได้เพราะมันกระเพื่อม มันเสวยอารมณ์.. ถ้ามันเสวยอารมณ์นะ ถ้ามันมีสติอยู่มันเสวยอารมณ์นี่เสวยอารมณ์ด้วยคนที่รู้เท่า กับเราเสวยด้วยความไม่รู้เท่า เสวยด้วยความทุกข์ เสวยด้วยความตกใจ มันแตกต่างกัน
ถาม : ๓. วันที่สี่มีอาการเหมือนจิตจะรวม เกิดอาการยื้อกัน (เกิดขึ้นเมื่อ ๔ ปีก่อน) โยมเข้าใจว่าเป็นผลจากการถือสัจจะไม่กิน นอนน้อย และได้มีการทำต่อเนื่อง แต่จิตไม่รวมเนื่องจากระยะเวลาที่โยมอยู่วัดปฏิบัติยังน้อย มันเหมือนกับบ่มไม่เต็มที่ อาการยื้อไม่รุนแรงเท่า ๔ ปีก่อน ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือเปล่าคะ
หลวงพ่อ : อาการยื้อ อาการต่างๆ นี่นะ ถ้าพูดถึงอาการยื้อที่มันยังไม่ลง เห็นไหม เวลาจะเป็นสมาธิ นี่เวลาทุกข์ก็ทุกข์ไปเลย เวลาสุขก็สุขไปเลย อุเบกขา.. นี่เวลาฟุ้งซ่าน เวลามันเป็นสมาธิ เวลาต่างๆ ถ้ามันสัมมา ถ้ามันสัมมามันสมดุลแล้วมันจะลง ฉะนั้นพอมันยื้อกันถ้าเป็นคนเป็นนะทิ้งเลย ทิ้งอาการยื้อเลยกลับมาพุทโธ กลับมาที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ
ถ้าคำว่ายื้อนี่มันเสมอกัน เห็นไหม เวลาเรานั่งสมาธิไป เวลามันพิจารณาเวทนา นี่ทุกขเวทนาทุกข์มาก สุขเวทนาก็ติดมันมาก แต่เวลาอุเบกขา เวลามันเสมอกันมันจะชาของมันไปอย่างนี้ แล้วพอมันชาขึ้นมา มันชาๆ นะ มันจะไปข้างใดข้างหนึ่งมันไม่ไปมันอยู่ตรงกลาง ถ้าอยู่ตรงกลางนี่เราจะทำอย่างไร ถ้าอยู่ตรงกลาง ถ้าตรงกลางนี่เหมือนสอยเข็มเราก็อยากให้มันจบ อยากให้มันลง เราก็ลุ้นๆ ยิ่งลุ้นนะจิตมันยิ่งถอย แต่ถ้าเราปล่อยเลย เรากลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธเลย วางสิ่งต่างๆ เลย เห็นไหม พอวางเลยแล้วกลับมาพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ.. ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุนั้นมันเข้าปั๊บจิตมันจะลงได้
นี่เวลามันยื้อ มันยื้อเราต้องปล่อยสิ่งนั้นแล้วมาตั้งใจของเราให้ได้ ถ้าทำของเรานะ ทีนี้พอมันยื้อก็ติดอาการนั้น ความรุนแรงอาการยื้อต่างๆ นะ
ถาม : ๔. วันที่ห้าเป็นวันที่ทานข้าวที่ศาลา เวลาช่วยยกถาดอาหารมองเห็นคนมาทำบุญกันมาก ความรู้สึกดีใจอยู่ก็พุ่งขึ้นมา ประทับใจจนน้ำตาไหลแต่หักห้ามไว้ ไม่เคยมีความรู้สึกแบบนี้มาก่อน ทุกทีจะอนุโมทนาบุญที่คนอื่นมาทำบุญ เพราะเห็นว่าอนุโมทนาบุญกับเขาเราก็ได้บุญแล้ว แถมคนมาทำบุญเยอะด้วย
สุดท้ายขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่จัดสถานที่ให้
หลวงพ่อ : นี่พูดถึงปฏิบัติ อันนี้ถ้าจิตใจเราดีนะ จิตใจเราดีทุกอย่างเราจะมองแล้วมีความสุข ถ้าจิตใจเรามันทุกข์ขึ้นมา มองทุกอย่างเป็นภาพลบเราจะทุกข์ไปด้วยนะ
ถาม : ๓๒๖. เรื่อง หลวงพ่อคะหนูมีปัญหาเวลานั่งสมาธิค่ะ
หนูเพิ่งจะเริ่มทำสมาธิค่ะ มีเรื่องไม่เข้าใจในการนั่งสมาธิคือว่าหลังจากสวดมนต์สมาทานศีล และสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ก็นั่งภาวนานะมะพะทะไปสักพักหนึ่งจะเกิดอาการเหมือนจิตจะหลุด มีอาการเหงื่อซึมวูบๆ วาบๆ เหมือนคนจะเป็นลม และจะรู้สึกปวดตรงกลางระหว่างคิ้วทั้งสอง เป็นเกือบทุกครั้ง นั่งสมาธิไม่ได้ถึง ๕ นาทีสักที แต่ถ้านอนภาวนาจะไม่เป็น จะหลับไปกับการภาวนาเลย
หลวงพ่อ : ถ้ามันปวดหว่างคิ้วนะ มันปวดหว่างคิ้ว เรากำหนดสิ่งใดก็แล้วแต่เราต้องค่อยๆ ทำใหม่ เดินจงกรมก่อนก็ได้ หรือค่อยๆ นั่งนะ ถ้าอาการอย่างนี้ประสาเราต้องแก้ให้หาย ถ้าแก้ให้หายแล้ว โอกาสการภาวนาของเรานี่เราจะมีโอกาสมาก
การนอนทำสมาธิก็ได้.. ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ส่วนใหญ่การนอนแล้วเราจะเข้าข้างตัวเอง เห็นไหม เพราะมันจะหลับไปเลย เพราะเราตั้งใจนอนอยู่แล้ว โดยสามัญสำนึกของคน คนเราต้องพักผ่อน เห็นไหม คนเราต้องนอนพักผ่อน คนเราต้องนอนพักผ่อน ฉะนั้นเวลากำหนดพุทโธ พุทโธ เวลานอนไปมันก็เหมือนกับเรานอนครึ่งหนึ่ง คือว่าเราอยากตั้งใจปฏิบัติ แต่ด้วยความเคยชินว่าเรานอนแล้วก็อยากหลับไปเลย
แต่เวลาคนนอนภาวนา นี่เขานอนภาวนาแต่ชัดเจนเขาไม่หลับนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ในท่านอน ทีนี้คนเราท่านอนเป็นท่าที่เราพักผ่อนเคย เห็นไหม มันก็จะหลับไป เหมือนกับเราตั้งใจภาวนาได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือสามัญสำนึกของคนจะพักผ่อน.. แต่ถ้าการนั่งภาวนา การนั่งภาวนานี่ถ้ามันหลับมันก็โงกง่วง มันก็สัปหงก นี่มันรู้ได้ว่าสิ่งนี้มันตกภวังค์ แต่ถ้าเรานั่งสมาธิ ถ้าจิตมันลง เห็นไหม เรานั่งตัวตรง จิตมันลงไป มันนั่งอยู่นี่มันรู้
เวลาคนนอนฝัน.. เวลาคนนอนฝันนี่นอนแล้วฝันไป ขาดสติมันก็ฝันของมันไป หลวงตาว่า ฝันดิบ ฝันสุก ฝันดิบคือความคิดเราปกตินี่ล่ะ เวลาฝันสุกคือฝันจริงๆ ขาดสติไปเลย.. ฝันสุก ฝันดิบ
ฉะนั้นเวลาเรานอนไป เวลาเราฝันกับเวลานั่งสมาธิถ้าจิตมันลง ถ้าเกิดนิมิต เห็นไหม คือเวลาเกิดนิมิตในขณะนั่งนี่เราไม่ได้หลับนะ เพราะคนที่มีสมาธิ.. มีสติจิตมันถึงมีสมาธิได้ ถ้าลงสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วจิตเห็นนิมิต พอเวลาขณะที่จิตเห็นนิมิต เห็นไหม อันนั้นล่ะมันเหมือนกับเป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงที่ว่าเห็นจริงๆ ไง แต่ถ้าขณะที่ว่าสมาธิมันไม่มั่นคง
นี่ที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เห็นจริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง เพราะอะไร เพราะจิตเรายังมีกิเลสอยู่ไง เวลานอนฝันนี้เป็นเรื่องหนึ่ง เวลานอน เห็นไหม เวลาไม่ฝันก็นอนหลับไป ถ้าฝันก็เป็นเรื่องหนึ่ง เป็นการขาดสติ.. การนั่งสมาธิ เวลาจิตเห็นนิมิต ถ้าเห็นนิมิตนี่การเห็นจริงไหม จริง แล้วเพราะมันเห็นของมันจริงๆ แต่การเห็นนั้นมันยังมีกิเลสอยู่
คำว่ามีกิเลสอยู่คือว่ามันยังไม่จริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันมีกิเลสอยู่มันก็บวกด้วยความพอใจหรือไม่พอใจ ความชอบและความไม่ชอบ มันทำให้นิมิตนี้มันเข้าข้างตัวเอง เห็นไหม ความเห็นนั้นจริงไหม.. จริง ! แต่ความเห็นยังไม่จริง แต่ถ้าพอภาวนาไป เวลาใช้ปัญญาไป นี่เวลามันจะเห็นเป็นนิมิต คำว่าเห็นนิมิตคือเห็นกายไง เห็นกายโดยเจโตวิมุตตินี่คือเห็นของมัน แล้วแก้ไข แยกแยะของมันไป จนกว่าจะถึงที่สุด พอมันชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ความเห็นนั้นจะสะอาดบริสุทธิ์หมดเลย
นี่มันก็เกิดจาก.. ดอกบัวเกิดจากโคลนตม ทุกอย่างเกิดจากโคลนตม โคลนตมนี้เป็นอาหารของดอกบัวนะ นี่จิตใจของเรามีอวิชชา มีความทุกข์มีความยาก มีความลำบาก มีการสัปหงกโงกง่วง มีการเจ็บระหว่างคิ้ว มีต่างๆ นี่มันมาจากนี้ล่ะ.. นี่โคลนตม ! โคลนตมคือความทุกข์ความยาก ความลำบากของเรานี่คือโคลนตม
นี่ดอกบัวมันจะเกิดจากตรงนี้ มันจะเกิดจากความทุกข์ความยากเรานี่ล่ะ มันจะเกิดจากที่เราทุกข์ยากนี่ล่ะ มันจะเกิดเป็นความดีขึ้นมา ถ้าเกิดเป็นความดีขึ้นมาเราก็แก้ไขของเราสิ เราแก้ไขของเรา เห็นไหม นั่งใหม่ ! ตั้งสติแล้วนั่งใหม่ พอนั่งใหม่นี่ ถ้านะมะพะทะก็ให้นะมะพะทะชัดๆ แต่ถ้าของเราพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ถ้าพุทโธชัดๆ นะมะพะทะชัดๆ อาการที่ไปรับรู้หว่างคิ้วมันไม่มี อาการที่รับรู้ต่างๆ อาการที่ว่าจิตเหมือนหลุด มันจะเหมือนมีเหงื่อซึม มีอาการเหงื่อซึม มันจะวูบวาบ
คำว่าวูบวาบนี่เราตั้งอาการเกินไปก็ได้ เราตั้งจิตเกินไปก็ได้ ทีนี้เราตั้งสติสิ เราตั้งสติใช่ไหมแล้วเอาสติอยู่ที่พุทโธ หรือเอาสติอยู่ที่อานาปานสติ อานาปานสติอยู่ที่ลมหายใจไง ถ้าเอาสติอยู่ที่นะมะพะทะ ถ้านะมะพะทะก็เอาสติไว้ชัดๆ ตรงนั้นแหละ อาการเหงื่อซึมเหงื่อเซิม จิตมันไม่รับรู้มันไม่มีหรอก เวลาเรานั่งอยู่คนเดียว เรามีญาติพี่น้องอยู่ในบ้าน เห็นไหม เราไปรับรู้เรื่องอะไรของเขาไหม ญาติพี่น้องในบ้านเขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป ไอ้เราก็นั่งสมาธิของเราไปใช่ไหม
จิต ! ถ้ากำหนดพุทโธมันก็กำหนดพุทโธของมันไป อาการเหงื่อซึม อาการปวดหว่างคิ้วเหมือนญาติพี่น้องของเรามาอยู่ในบ้าน อารมณ์ความรู้สึกมันหยาบกว่าไง อารมณ์ความรู้สึกภายนอก จิตเรากำหนดชัดๆ เห็นไหม เหมือนกับตัวของเรา ตัวของเราเราทำหน้าที่ของเรา นี่อาการเหงื่อซึม เหงื่อไหลไคลย้อย อาการปวดคิ้วนี่อาการเกิดซ้อนมา เกิดซ้อนมาคือมันอยู่รอบนอกของจิต
มันเหมือนกับเราอยู่ในบ้าน เรามีญาติพี่น้องอยู่ในบ้าน ตัวเรากับญาติต่างกันไหม.. ตัวเรากับญาติต่างกัน อาการที่เจ็บไข้ได้ป่วย อาการที่มันวูบวาบนี่มันอาการต่อเนื่องไปไง แต่ถ้าเรากลับมาพุทโธชัดๆ หรือว่านะมะพะทะชัดๆ นะมะพะทะชัดๆ คำว่าชัดๆ นี่สติมันพร้อมอยู่ที่นี่ จิตมันไม่ออกไปรับรู้เรื่องของญาติพี่น้อง จิตมันไม่ออกไปรู้เรื่องของอาการซึม อาการวูบวาบ
ทีนี้ว่ามันเร็วไง จิตมันเร็ว พอมันวูบวาบเราก็อู้ฮู.. เราวูบเราวาบ วูบวาบเกิดจากจิต อาการต่างๆ เกิดจากจิต แล้วจิตนี่มันข้ามขั้นตอน มันข้ามนะมะพะทะมา มันถึงมาเกิดอาการวูบวาบ ถ้าเรากำหนดไปอยู่ที่นะมะพะทะชัดๆ ชัดๆ อาการวูบวาบก็ยังมีอยู่ มีอยู่เพราะว่าเราอยู่ในบ้านเรามีญาติพี่น้อง นี่ญาติพี่น้องเราก็อยู่ในบ้านนั่นล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน อาการวูบวาบ อาการซึมมันมีอยู่ แล้วมีอยู่ ทีนี้ญาติพี่น้องในบ้านเรา ถ้าเรารักษาความรู้สึกของเรา รักษาตัวเรา ญาติพี่น้องก็คือญาติพี่น้องใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้านะมะพะทะชัดๆ นี่เรารักษานี้อยู่ อาการวูบวาบมันจะค่อยๆ จางลงๆ จางลงเพราะอะไร ใน เมื่อเราอยู่ในบ้าน เรามีญาติพี่น้องอยู่นั่นมันเพราะอะไร มันเพราะความรับรู้ ความรับรู้ของเราว่าเรามีใครอยู่ นี่ความรับรู้ความสัมพันธ์มันมี
อาการวูบอาการเหงื่อซึม ถ้ามันต่อเนื่องมาจากนะมะพะทะมันจะเกิดอาการเหงื่อซึม มันก็เหมือนญาติพี่น้อง มันอยู่รอบนอก ทีนี้เราไปรู้อาการรอบนอกเพราะมันชัดเจนไง แต่เราไม่กลับมารู้อาการนะมะพะทะชัดๆ ไง ถ้ากลับมารู้อาการนะมะพะทะชัดๆ มันก็เหมือนกับเรากับญาติเรา ญาติพี่น้องในบ้านเรา เราก็วางเขาไว้ นี่ญาติพี่น้องก็คือสายเลือดของเรา คือตระกูลของเราเราก็รับรู้ แต่ในปัจจุบันนี้เราจะภาวนา เราจะต้องการความสงบสงัด เห็นไหม เราจะรักษาตัวเราเอง
นี่ก็เหมือนกัน นะมะพะทะก็นะมะพะทะชัดๆ นี่เราไม่ออกมารับรู้ มันค่อยๆ จางไป จะบอกมันไม่มีเลย ไม่ใช่ ! บอกนะมะพะทะแล้วจะไม่เกิดเลย.. เกิด ! แต่พอมันเกิดนี่เราเปรียบเทียบ เพราะจิตใจมันอยู่กับพุทโธ อยู่กับนะมะพะทะ พอมันสงบเข้ามาเราก็รู้ว่าสงบ ถ้าไม่สงบเพราะมันออกไปรับรู้อาการอย่างนั้น
นี้อาการเหงื่อซึม อาการวูบวาบนะ แต่ถ้ามันเป็นโดยทั่วไปมันก็คิด นี่มันคิดออกไปข้างนอก เวลานะมะพะทะมันก็แว็บไปทางนู้น แว็บไปทางนี้ แว็บไปทางนี้ นี่จิตมันเป็นอย่างนั้น พอจิตมันเป็นอย่างนั้นเราก็ทำให้ชัดๆ แล้วเราก็แก้ไขของเราไปบ่อยๆ ครั้งเข้ามันจะแก้อาการนี้ได้
เขาพูดอย่างนี้นะเขาบอกว่า แต่ถ้านอนภาวนาจะไม่เป็น จะหลับไปกับภาวนาเลย
ถ้าเราบอกเออ.. อย่างนี้ถูกนะทีนี้ก็เลยนอนกันเป็นหมูเลย พอเป็นหมูว่าภาวนาถูก ไอ้นี่มันเป็นภาวนาครึ่งหนึ่ง เห็นไหม แต่ถ้าเราพยายามแก้ไขการนั่ง การยืน การเดิน แล้วให้ลงสู่การภาวนาได้ มันก็จะเป็นประโยชน์ของเรานะ ถ้ามันเป็นประโยชน์ของเรา อันนี้จะเป็นประโยชน์ของเรา
ฉะนั้นค่อยๆ แก้ไป กำหนดให้ชัดๆ คำว่าชัดๆ นี่การแก้จิตแก้ยาก เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกไว้เลยนะ แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะให้ภาวนามา นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดมันชัดเจนอย่างนี้แหละ แต่เวลาเราฟัง การแก้จิตแก้ยากนะ นี่พูดถึงคนแก้แล้ว แต่เวลาคนที่โดนแก้ โดนแก้คือเวลาจะแก้จิตเรานี่เราจะมีความมั่นคงขนาดไหน อาการมันแบบว่าอาการของจิตมันละเอียด พอเราคิดอะไรมันก็คิดมา อันนู้นก็ถูก อันนี้ก็ถูก แล้วถ้าไปตรึกอยู่คนเดียว ไปนั่งคิดคนเดียวนะคิดไม่ออกหรอก ไหนเป็นญาติ ไหนเป็นเรา
เป็นญาติคือว่าอาการที่หยาบกว่า เราเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมไงว่าเราอยู่ในบ้านเรามีญาติพี่น้อง นี่ถ้าเรากลับมาที่เรา เพราะการภาวนาเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา ไอ้นี่ก็เหมือนกันนะมะพะทะเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา แต่เวลาอาการที่มันเหงื่อซึม เหงื่อซึมนี่ดูสิทางการแพทย์ ความรู้สึกสมองมันต้องสั่ง พอสมองมันสั่ง ร่างกายมีปฏิกิริยาเหงื่อมันถึงออกจากร่างกาย กว่าจะสมองสั่ง กว่าจะเหงื่อออกจากมือ กว่าจะมีเหงื่อ กว่าเวลาปวดหว่างคิ้ว ปวดหว่างคิ้วสมองมันต้องสั่งว่าระหว่างคิ้วนะ ระหว่างคิ้วนี่สมองซีกซ้ายซีกขวามันจะสั่งอย่างไร นี่ญาติพี่น้องมันไกลไง
อาการของกาย ประสากายเวลาแสดงออก จิตมันจบรอบของมันไปแล้ว จิตมันสั่งแล้ว จิตมันคิดรอบของมันแล้วมันก็สั่ง พอสั่งขึ้นมา นี่ศูนย์ประสาทมันก็สั่งออกมา มันถึงบอกว่ามันอยู่ข้างนอก มันเลยเป็นญาติพี่น้องไม่ใช่ตัวเราไง ฉะนั้นถ้าเรานะมะพะทะชัดๆ คือตัวเรานี่แก้ไขอย่างนี้ แล้วมันค่อยๆ จางไปๆ
จะบอกว่าคำว่าถ้ามีเรามันก็มีญาติพี่น้องใช่ไหม ถ้ามีจิตมันก็คือมีกระบวนการของมัน กระบวนการของมันที่มันเสวยอารมณ์ เพราะพลังงานตัวจิตมันไม่ใช่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ความคิด ถ้าเกิดความคิดขึ้นมานี่จิตมันเสวยอารมณ์แล้ว พอเสวยอารมณ์แล้วมันก็เกิดความรู้สึกต่อเนื่องออกมา ฉะนั้นเวลาอาการที่มันเกิดขึ้น เวลาอาการที่ว่ามันเหงื่อซึม มันปวดหว่างคิ้ว มันมีอาการวูบวาบ มันเป็นผลตอบสนองที่มันจบแล้ว
นี่จิตมันไวขนาดนั้น ไวมาก ! แต่ถ้าเรามีสติทัน ทันตัวจิตเลยแล้วกำหนดเลย แล้วถ้ามันพุทโธได้ ถ้ามันอยู่ในตัวมันได้ มันจะไม่ออกมารับรู้อาการเหงื่อไหลไคลย้อย อาการเหงื่อซึมนี้ มันจะไม่ออกมารับรู้ แต่มันรู้อยู่ มันมีความรับรู้อยู่ มันเคยตัวอยู่แล้ว มันก็ค่อยจางไปๆ ถ้าเรามีสติดึงไว้ได้ สิ่งที่อาการเหงื่อซึม อาการหว่างคิ้วต่างๆ มันจะเริ่มอ่อนลงๆ จนหายไป
จนหายไป ! มันจะไม่หายทีเดียว มันไม่ใช่รักษาบาดแผลทางร่างกาย ถ้ารักษาบาดแผลทางร่างกาย เราใส่ยาปั๊บมันจะหายของมันไป แต่จิตนี่รอยแผลเป็นของจิต รอยแผลเป็นของความตกผลึก รอยความตกผลึกเรื่องอาการต่างๆ มันตกผลึกในใจแล้วใจมันซับไว้ มันเป็นอุปาทานยึดตายเลย แต่ถ้าเราแก้ไขของเราไปมันจะแก้ไขออกมาไปเรื่อยๆ
นี่พูดถึงการภาวนานะ.. พูดถึงการภาวนา พูดถึงให้แก้ หนูมีปัญหาการนั่งสมาธิค่ะ นี่นั่งสมาธิทำอย่างนี้ แล้วมันจะค่อยดีขึ้น
ข้อ ๓๒๗. อันนี้สิ
ถาม : ๓๒๗. เรื่อง ขอคำแนะนำในการภาวนาเพื่อต่อสู้กับกามราคะ
โยมมีข้อสงสัยและต้องการคำแนะนะจากท่านอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องอุบายในการภาวนาเพื่อต่อสู้กับกามราคะดังนี้
๑. โยมได้พิจารณาอาการ ๓๒ ไล่ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แยกพิจารณาให้เห็นถึงความไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นธาตุ ๔ และเป็นไตรลักษณ์ ถึงแม้จิตจะพิจารณาเห็นว่ากายเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ทำให้เริ่มมีสติเท่าทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของกามกิเลส ไม่คิดอยากมีครอบครัวเพื่อหลงติดในกามอีกต่อไป แต่โยมสังเกตจิตใจตนเองพบว่า สัญญาความรู้สึกติดในรสของกามเป็นต้นตอของกามราคะในจิตใจ เป็นตัวผลักดันรุนแรง เหนียวแน่น คอยโผล่ออกมากวนจิตเป็นระยะ จึงขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ให้แนะนำการต่อสู้กับกามราคะ และความพิจารณาสัญญาตัวนี้ด้วย
หลวงพ่อ : ถ้าพิจารณาไป พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่มันถูกต้อง ฉะนั้นเวลาพิจารณาไปจิตมันจะเริ่มดีขึ้น ถ้าจิตมันเริ่มดีขึ้นมันเริ่มจะไม่ไปสุงสิงกับเรื่องกามราคะ
คำว่ากามราคะเราคิดว่านี่เป็นโอฆะ มันเป็นเรื่องของโลก เห็นไหม เรื่องสามัญสำนึกของมนุษย์ สัตว์สังคมเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเวลาเราคิดถึงว่าเราจะออกถือเนกขัมมบารมีเป็นพรหมจรรย์ คำว่าพรหมจรรย์นี้มันหนึ่งเดียว ฉะนั้นถ้าเราพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังไป นี่คือการฝึกฝนของเรา ถ้าการฝึกฝนของเรา เราได้พิจารณาเราจะเห็นของมันไป
นี่เห็นเป็นธาตุ ๔ เห็นเป็นปฏิกูล เห็นต่างๆ ถ้าจิตเราดีมันก็ดีนะ แต่ถ้าจิตเราเป็นลบล่ะ ถ้าวันไหนจิตเป็นลบนะมันมองเป็นมุมกลับหมด เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นสมถะ แม้แต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี่เป็นคำบริกรรม ทุกอย่างเป็นสมถะนี่สมถะเพื่อให้จิตสงบ พอจิตสงบแล้วเราต้องมีปัญญาใคร่ครวญไปอีกชั้นหนึ่ง
ฉะนั้นเวลาจิตเราสงบแล้วเราคิดว่าสิ่งนี้คือการชำระกิเลส มันยังไม่เป็นการชำระกิเลส สิ่งนี้เป็นบาทฐาน เป็นบาทฐานของผู้ที่หัดภาวนา ผู้ที่หัดภาวนาเริ่มต้นต้องมีบาทฐานของผู้ภาวนานั้น ถ้าผู้ภาวนานั้นต้องเริ่มต้นทำจิตสงบก่อน เห็นไหม ครูบาอาจารย์กรรมฐานเราจะบอกว่าต้องทำจิตให้สงบ พยายามทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ทำความสงบของใจให้ได้ก่อน.. ถ้าใจสงบแล้ว แล้วออกไปพิจารณามันจะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไง ถ้าจิตสงบแล้วออกไปพิจารณามันจะเป็นวิปัสสนา
วิปัสสนาญาณ.. วิปัสสนานี่เป็นการชำระล้างกิเลส ฉะนั้นจิตใจที่ยังไม่ได้ชำระล้างกิเลส เราพิจารณาขนาดไหนก็แล้วแต่ พอจิตใจมันเริ่มสงบตัวลงเริ่มดีขึ้น นี่มันทำให้เกิด เห็นไหม
ถาม : เห็นตัวผลักดันที่รุนแรงเหนี่ยวรั้งคอยโผล่ออกมากวนจิตเป็นระยะ
หลวงพ่อ : อันนี้ไม่ต้องสงสัย อันนี้คือตัวกิเลสเพราะการพิจารณาเริ่มต้นของเราโดยโลกเรายังไม่ได้ชำระกิเลส มันเป็นการสมถะ มันเป็นการทำความสงบของใจ ใจของเรานี่เป็นความฟุ้งซ่าน ใจของเราเป็นสามัญสำนึก ใจของเราเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นมนุษย์นี่มันคิดโดยโลก คิดโดยวิชาชีพ คิดโดยสัญชาตญาณ คิดโดยความรู้สึก เห็นไหม เป็นสัญญา เป็นข้อมูล แต่มันไม่ได้คิดโดยจิต ไม่ได้คิดโดยจิตเพราะอะไร เพราะจิตเป็นพลังงานเฉยๆ มันสั่งมา เพราะจิตมันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่แล้ว
อวิชชาคือกิเลส เห็นไหม นี่พญามารมันครอบงำของมันอยู่ เวลาออกมานี่ออกมาโดยสามัญสำนึก แต่ถ้าเราพยายามพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังต่างๆ พิจารณาอย่างนี้มันจะเข้าไปสู่ความสงบ.. สงบคืออะไร สงบคือมันวางความคิดไง พอมันวางความคิดได้เหมือนเครื่องยนต์ ถ้าเราซ่อมเครื่องยนต์เราต้องดับเครื่องยนต์ก่อนเราถึงจะซ่อมเครื่องยนต์ได้ เครื่องยนต์ยังติดอยู่เราพยายามซ่อมเครื่องยนต์ทั้งที่ติดๆ อยู่ นี่เรามีอันตรายนะ
โดยสามัญสำนึกระหว่างความคิดกับจิตมันเหมือนเครื่องยนต์ คือมันทำงานต่อเนื่องกัน พอทำงานมันก็เป็นเครื่องยนต์ที่มันหมุนของมันอยู่ เห็นไหม ทำความสงบของใจคือดับเครื่อง ถ้ามันดับเครื่องได้ พอเครื่องมันดับแล้วเราจะซ่อมสิ่งใด เราจะแก้ไขสิ่งใดนี่เรามีโอกาสแก้ไขได้
ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม พอใจสงบแล้วเราพิจารณา มันก็จะไปเห็นตัวผลักดันที่รุนแรง ตัวผลักดันที่เราจับได้ ถ้าเราจับตัวนี้ได้เราจะเห็นสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม.. นี่ตัวผลักดันมันคืออะไรล่ะ มันผลักดันผ่านอะไร มันผลักดันผ่านกาย ผลักดันผ่านเวทนา ผลักดันผ่านจิต ผลักดันผ่านธรรมารมณ์
นี่สติปัฏฐาน ๔ ! บอกว่าถ้าใครยังไม่มีความสงบ จิตยังไม่มีตัวจิต สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอมหมด แต่ถ้าใครมีตัวจิต ตัวจิตคือจิตมันสงบเข้ามา เพราะจิตสงบมันถึงเป็นตัวมันที่เป็นเอกเทศ เห็นไหม เป็นเอกเทศแล้วมันออกพิจารณาของมัน ถ้าออกพิจารณาของมันมันจะไปแก้ไขกามราคะโดยข้อเท็จจริงไง
ถาม : ขอคำแนะนำในการต่อสู้กับกามราคะ
หลวงพ่อ : การต่อสู้กับกามราคะของเรา เราใช้ปัญญานี่เรายับยั้งไว้เฉยๆ การยับยั้งไว้เพราะการต่อสู้กับกามราคะมันต้องเป็นอนาคามิมรรค ถ้าอนาคามิมรรค ถ้ามันตอบสนองเพราะอนาคามิผล กามราคะ ปฏิฆะมันจะฆ่ากันที่นั่น
ฉะนั้นเราไม่ต้องไปหวังไกลเกินไป ไม่ต้องไปหวังว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เราต้องทำจิตใจเราให้สงบให้ได้ ทำจิตใจแล้วมีสติปัญญาเข้ามาให้ได้ มันจะเห็นตัวผลักดัน มันจะเข้าใจตัวผลักดัน ถ้าเข้าใจตัวผลักดัน เห็นไหม ให้มันสงบเข้ามา แล้วมีสติแล้วออกไปจับต้องได้ เหมือนเสือนี่ เราไปดูเสือในสวนสัตว์สิ โอ้โฮ.. เราไปดูสวนสัตว์นี่แหม อู้ฮู.. นี่เสือนะ โอ้โฮ.. เสือเป็นอย่างนั้น โอ้โฮ.. วิจารณ์กันใหญ่เลย เราไปดูเสือในป่าสิ เข้าไปป่าไปดูเสือสิ เผลอมันตะปบกินเลย แต่ไปดูเสือในกรงนะ โอ้โฮ.. เสือมันสวยอย่างนั้น เสือมันสวยอย่างนี้ พอไปดูเสือในป่านะ เผลอเสร็จหมด
อันนี้ก็เหมือนกัน กามราคะของเราในตำรานี่มันเสือในกรง กามราคะในกรงไง จับมาพิจารณาใหญ่เลยนะ โอ้โฮ.. กามราคะ กามราคะ พอไปเจอของจริง เพราะไปเจอเสือในป่ามันตะปบกินเกลี้ยงเลย ไม่เหลือเลย
ฉะนั้นการปฏิบัตินี่มันเป็นขั้นตอนของมัน เราทำความสงบของใจนี่เราทำ มันเป็นโทสะจริต โมหะจริต ราคะจริต เห็นไหม จริตของคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นคนที่ราคะจริต นี่วิตกจริต สิ่งต่างๆ จริตมันเกิดขึ้นมา แล้วแต่คนจะมุมมองนะ ถ้ามุมมองนี่เราไปแก้ไขตรงนั้น ถ้าเราแก้ไขได้มันจะเป็นไปได้
ที่เราพูดอย่างนี้เพราะว่า ถ้าเราบอกว่ากามราคะแก้ไขอย่างนี้ๆ ปั๊บ มีคนจะเชื่อถือว่าต้องทำแบบนี้ไง เราจะบอกว่ากามราคะมันจะไปสิ้นสุดเอาการปฏิบัติข้างหน้านู้นอีกไกลเลย เพราะการปฏิบัติเริ่มต้น การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าสิ้นสุดกระบวนการของมันก็คือโสดาบัน แล้วพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมขั้นต่อไป มันก็จะเป็นสกิทาคา แล้วมันพิจารณากามราคะ นี่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมต่อไปมันถึงจะเป็นอนาคา แล้วถึงอนาคา ถ้าพิจารณาถึงตัวจิต เพราะคำว่าอนาคามันชำระมันจะปล่อยว่างขันธ์ ๕ ทั้งหมดเลย มันเหลือแต่ตัวพลังงานตัวจิตเลย จิตผ่องใส นี่พระอรหันต์จะไปแก้กันที่ภพ ที่ตัวจิตนั้น
ฉะนั้นบอกว่าถ้าเป็นการต่อสู้กามราคะ แล้วอธิบายอย่างนี้ปั๊บมันก็เป็นเสือในกรงเกินไป มันเป็นวิชาการไง มันเป็นเรื่องปริยัติ มันไม่ใช่เรื่องปฏิบัติ ถ้าเรื่องปฏิบัติยังต้องต่อสู้กันอีกไกลเลย ฉะนั้นสิ่งที่ว่าเราตั้งสติอย่างนี้ใช้ได้แล้วล่ะ ตั้งสติแล้วไล่ไป แต่เรามีสติแล้วไล่บ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้านะ
ถาม : ๒. เกี่ยวเนื่องกับกามราคะ โยมได้สังเกตตัวเองก่อนและหลังฝึกภาวนา พบว่าหลังจากได้เริ่มปฏิบัติภาวนา ช่วงแรกการภาวนาจิตใจได้รับความสงบเป็นอย่างดี ไม่มีนิวรณธรรมต่างๆ มารบกวน (ใช้ชีวิตตามปกติ ใช้เวลานอนหลับพักผ่อน ๗-๘ ชั่วโมง ดูหนัง ฟังเพลง คลุกคลีกับหมู่คณะบ้าง แต่ได้เริ่มพยายามถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด)
แต่มาในช่วงหลังๆ พบว่ากิจวัตรเดิมๆ ที่เคยทำมาบางอย่างกลับเป็นตัวก่อกวนเสริมกามราคะให้จิตใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ของมัน การทานมื้อเย็นในปริมาณมาก หรือทานอาหารมื้อดึก ระยะเวลานอนหลับ ๗-๘ ชั่วโมงก็เหมือนมากเกินไปต่อจิตใจ ทั้งที่ร่างกายต้องการพัก แต่จิตกลับถูกรบกวนจากการปรุงแต่งในกามราคะ หรือแม้แต่การเสพความบันเทิงอย่างที่เคยก็กลับทำให้จิตฟุ้งซ่าน โยมพยายามลดผ่อนสิ่งต่างๆ ข้างต้นก็ได้รับผลดี ช่วยลดกำลังอำนาจของราคะไปได้มาก แต่บางครั้งก็ทำได้ยากเนื่องจากชีวิตฆราวาสที่บางครั้งต้องทำงานจนดึก ร่างกายต้องการการพักผ่อน ต้องการอาหารเพิ่มในยามกลางคืน ซึ่งพอได้กระทำก็ดีกับการระงับความทุกข์ แต่กายกับใจกลับต้องถูกรบกวนจากกามราคะอีก จึงกราบเรียบขอคำแนะนำจากอาจารย์เรื่องนี้ว่าโยมควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อลดปัจจัยที่เสริมอำนาจของกิเลส
หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็นประสบการณ์ชีวิตของผู้ถาม แต่ความจริงเรื่องนี้พระพุทธเจ้านี่นะ ผู้ที่บรรลุธรรมเข้าใจเรื่องนี้หมดแล้ว ถึงได้วางธรรมและวินัยให้พวกเราก้าวเดิน
ทาน ศีล ภาวนา.. ศีล เห็นไหม ศีล ๘ ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาไม่กินตอนเย็นไง ศีล ๘ ไม่ดูการละเล่นฟ้อนรำ ไม่ดูหนัง ฟังเพลงไง ทีนี้โดยปกติบอกว่าปฏิบัติปกติไม่ต้องเป็นอะไร ถ้าถือศีล ๕ เราใช้ชีวิตแบบฆราวาส เราไม่ผิดไงแต่พระผิด โยมไม่ผิด ศีลมันต่างกัน
ศีลของมนุษย์ ศีลของปุถุชนเราศีล ๕ นี่ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นศีล ๘ เริ่มผิดแล้ว ศีล ๘ นี่ห้ามนอนในที่สูง ไม่ให้นอนฟูกสูง ไม่ให้ฟังเพลง ไม่ให้อะไรนี่เพราะอะไร เพราะมันไปกวนตรงนี้ไง เห็นไหม เวลาดูหนัง ฟังเพลงมันกระทบไง ถ้ามันไม่กระทบนะ ถ้ามันไม่มีโทษพระพุทธเจ้าไม่บัญญัติไว้หรอก สิ่งที่โยมพูดมานี้พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้หมดแล้ว แล้วเวลาเราปฏิบัติแล้วกรรมฐานเรา เห็นไหม ดูสิการอดนอนผ่อนอาหารก็เพื่ออะไรล่ะ
นี้เขาบอกว่าการนอนนี่นะ การนอนนี่คือการเพิ่มกามราคะ การนอนนี่ ! นอนอิ่มๆ นี่แหละ แต่คนหิวนอน คนง่วงนอนสิ่งนี้จะเกิดน้อยลง ฉะนั้นการนอน การกินต่างๆ ดูสิธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอฉันอาหารเพื่อการดำรงชีวิต ฉันอาหารเพื่อความเห็นภัยในวัฏสงสาร ฉันมื้อเดียว แล้วยังผ่อนอาหารอีกนะ แต่ทางโลกเขานะ เขากินวันละ ๓ มื้อ เห็นไหม เขากินเพื่อกาม เพื่อเกียรติ เพื่อดำรงชีวิต
นี้พระพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้วเวลาแสดงธรรม แต่ถ้าเป็นภิกษุ นี่ภิกษุกินมื้อเดียว แล้วมื้อเดียวยังผ่อนนะ บางคนกินครึ่งท้อง บางคนกินไม่กี่คำ บางคนไม่กินเลย.. พอไม่กินเลย นี่ไงธาตุขันธ์ ถ้าธาตุขันธ์มีกำลังมันมีกำลังหมดแหละ
นี่คำถามนี้มันเป็นคำถามของผู้ที่ปฏิบัติ แต่ถ้าคำถามอย่างนี้ถ้าเป็นพระนะมันเป็นพื้นฐานเลยล่ะ มันเป็นพื้นฐานที่พระเขารู้กันอยู่แล้วว่าสิ่งนี้เกิด.. พอพูดอย่างนี้แล้วพูดถึงหลวงตาทันทีเลยนะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ตอนท่านเป็นพระหนุ่มๆ ท่านบอกว่าท่านไปบิณฑบาตมาจะได้นมข้นหวานมาด้วย บิณฑบาตนะท่านบอกถ้าวันไหนฉันนมข้นหวาน ฉันอะไรนี่ท่านบอกว่ามันมีอาการความรู้สึกเลย ตั้งแต่นั้นมานะเรื่องนมนี่ท่านไม่แตะเลย
เราอยู่บ้านตาด นั่งฉันกับท่านนี่แหละ นมยูเอชทีมันออกทีหลังใช่ไหม ถ้าใครฉันนมยูเอชทีขึ้นมาดื่ม ดูดต่อหน้าท่านนะท่านชี้หน้าเลย ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ! ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ! เราเป็นพระหนุ่มๆ เราฉันเราไม่รู้ตัวนะ แต่หลวงตาท่านเคยผ่านประสบการณ์มาก่อน นมยูเอชทีสมัยเมื่อก่อน ไอ้นมกล่องนี่ล่ะเราได้มานะ เราบิณฑบาตมาเราก็ตั้งไว้ เวลาจะฉันนี่ยกขึ้นมาดูดต่อหน้าท่าน เพราะมันนั่งเป็นวงกลมไง ท่านชี้เลย ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา !
คำว่าชี้อย่างนี้นะแสดงว่าท่านสงสารพวกเรานะ แสดงว่าพวกเราประมาทไง ประมาทเลินเล่อจนมันไม่รู้สึกตัวนะ แล้วถ้าท่านอธิบายว่ามันผิดอย่างนั้นๆ ตอนฉันข้าวอยู่มันไม่ทันใช่ไหมเพราะเดี๋ยวมันฉันหมดกล่อง เดี๋ยวกลับไปแล้วมันจะไปนอนคิด นอนปรุงเรื่องของมันใช่ไหมท่านเอาก่อนเลย ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา !
มันประมาทฉันนมฉันเนยพวกนี้นะ มันจะไปเป็นตัวกระตุ้น แล้วพระหนุ่มๆ ด้วย ฉะนั้นถ้าใครดูดนมต่อหน้านี่ท่านว่า ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ! ทีนี้พระอยากฉันทำอย่างไร ต้องถือนมกล่องไว้ คอยมองว่าท่านหันหน้าไปทางไหนค่อยดูด
นี่เทคนิคการอยู่บ้านตาด อยากกินนมแต่ฉันต่อหน้าก็ไม่ได้เดี๋ยวโดนชี้หน้าบอกว่าไม่ใช่ลูกศิษย์ ฉะนั้นเราก็ถือนมไว้ พอเผลอปุ๊บดูดทีหนึ่งแล้วก็วาง เหมือนคนติดคุกนะ คนติดคุกมันก็อยากจะผ่อนคลาย อยู่กับท่านท่านคอยควบคุมเรา ไอ้เราก็อยากกินไง แหม.. ความอยาก เวลาบิณฑบาตมา เราบิณฑบาตมาได้แล้ว มันสะอาดบริสุทธิ์ถูกต้องตามธรรมวินัยหมดเลย แล้วถ้าเราทำตามนั้น คิดดูสิเราเสริมอาหารเข้าไป แล้วเราก็พยายามพุทโธ พุทโธให้มันเบาขึ้นมา แล้วมันก็มีแรงต้านอยู่ข้างใน
ฉะนั้นเวลาถ้าใครฉันนะท่านชี้เลยนะ ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา แล้วบางทีพวกข้าวโพด ข้าวโพดเป็นฝัก เวลาแกะมันช้านะก็ยกขึ้นมาจะแทะเลย ท่านชี้เลยนะ นั่นกระรอก ! ไม่ใช่พระนั่นน่ะกระรอก รีบวางเลย.. นี่ตอนอยู่กับท่าน เวลาฉันข้าวนี่อย่าเผลอนะ ฉันข้าวโดนทุกที ใครเผลอแล้วผลัวะ ! เข้าหน้าเลย สลบตรงนั้นเลย
นี่การฝึกของครูบาอาจารย์ท่านฝึกมา ฉะนั้นพอโยมถามขึ้นมาเรื่องการอยู่การกิน เราอยู่กับครูบาอาจารย์มา อย่างที่โยมถามมานี่นะมันน้อยเกินไป ท่านเล่นหมดแหละ เวลาวันไหนถ้าอาหารดีมาท่านจะบอกเลยว่าสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่นนี่พระ ๖-๗ องค์ไปบิณฑบาตมาได้น้ำพริกมา อย่างมากก็ช้อนเดียวมันไม่พอแบ่งกัน เอาน้ำมาเติมแล้วก็คนๆ ให้มันพอกัน แล้วตักให้คนละช้อนๆ พอฉันให้มัน.. ประสาท่านว่าให้ฉันพอเป็นขี้
นี่เขาอยู่กันมาอย่างนี้ แล้วการอยู่การกิน นี่โยมพูดเอง คนถามถามว่าเวลาเขาผ่อนอาหารลง เขากินอาหาร เขานอนนี่เขารู้เลยว่ามันเป็นการเสริมกามราคะ เขารู้เลย เห็นไหม อย่างนี้มันเป็นประสบการณ์ของเจ้าตัวที่เจ้าตัวรู้ แต่พวกเรานี่มีครูมีอาจารย์ มีผู้ควบคุม ครูบาอาจารย์ท่านคอยป้องกันให้
หลวงตาท่านบอกเลยว่าพระพุทธเจ้านี่ธรรมวินัย เห็นไหม เหมือนเราเอามือไปจับสิ่งใดที่ผิด ท่านคอยตีมือเราไว้ อย่า ! อย่า ! แต่พวกเราคิดผิดนะบอกพระพุทธเจ้านี่อู้ฮู.. บัญญัติไว้แล้วยุ่งหมดเลย ทำอะไรก็ไม่ได้ โอ๋ย.. ลำบาก แต่ความจริงถ้าคนปฏิบัตินะเหมือนคอยดึงมือไว้เลยนะ อันนี้ทำไม่ได้นะ ! อันนี้ทำไม่ได้นะ ! มันคอยเตือนพวกเราแต่พวกเราไม่รู้ตัวไง
นี่เวลามีครูบาอาจารย์คอยบอก คอยแนะ คอยชี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ฉะนั้นเวลาปฏิบัติว่าเวลาไปกินไปนอนมากแล้วมันไปกระตุ้น มันเป็นอยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ถามคำถามนี้ปฏิบัติใหม่ ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นก็คิดเอาเอง แต่ถ้าอยู่ในสังคมของปฏิบัติ เรื่องอย่างนี้เขารู้กันอยู่แล้ว หลวงตาท่านบอกประสบการณ์ของท่านเอง เพราะตั้งแต่เป็นพระหนุ่มพระน้อยมาท่านประสบการณ์มาอย่างไร แล้วท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่นด้วย หลวงปู่มั่นคอยสอนอย่างไร
ฉะนั้นเวลาท่านเป็นผู้นำนะ อยู่กับท่านท่านจะคอยชี้แนะ คอยบอกคอยต่างๆ แต่การชี้แนะการบอกไม่ใช่บอกแบบพ่อแม่กับลูก พ่อแม่บอกกับลูกนี่โอ๋ไปก็โอ๋มา แต่เวลาการบอกของท่านนี่ไม้หน้าสามตีเข้าใบหน้าเลย ผลัวะ ! ผลัวะ ! ไม้หน้าสามฟาดเข้ากลางศีรษะเลย มันหยุดทุกทีไง พอโดนก็กึก ! กึก ! เลย มันถึงซึ้ง
ท่านถึงบอกว่าเวลาครูบาอาจารย์นี่ทั้งเคารพทั้งกลัว.. ทั้งเคารพ ทั้งกลัว กลัวว่าโดนด่า ทั้งเคารพด้วยแล้วก็กลัวด้วย แต่ลูกกับแม่นี่ลูกไม่กลัวแม่นะ ลูกจะอ้อนจะเอาให้ได้ ไม่ได้ก็จะเอาน้ำตาบีบ เอาน้ำตาขึ้นมานี่แม่ต้องควักให้หมดแหละ นี่การสอนแบบพ่อแม่ แต่การสอนแบบพ่อแม่ครูจารย์นี่ไม้หน้าสามฟาดเข้ากลางศีรษะ แต่เป็นคำพูดนะไม่ใช่ไม้จริงๆ ถ้าไม้หน้าสามเดี๋ยวว่าเกินไป แต่คำพูดนี่มันทิ่มเข้าหัวใจเลย แล้วท่านพูดเลยนะ ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา ถ้าลูกศิษย์เราทำไมไม่ทำตามเรา
ก็เทศน์ให้ฟังทุกวันอยู่แล้วว่าของอย่างนี้มันเข้าไปเสริมกิเลส มันเข้าไปเสริมกาม มันเข้าไปเสริมทุกๆ อย่างเลย แล้วตัวเองก็ต้องการความสงบร่มเย็น แล้วก็ฉันสิ่งต่างๆ เข้าไป ไปรุกเร้ามัน แล้วตัวเองก็เป็นทุกข์เอง ตัวเองเวลาเกิดอารมณ์ขึ้นมาตัวเองก็มีความทุกข์ในหัวใจ แล้วตัวเองก็แก้ไขสิ่งใดไม่ได้ แล้วครูบาอาจารย์ก็ต้องมาโอ๋ๆ อยู่นะ
ฉะนั้นเหตุนี้ ! เหตุการณ์อยู่การกินนี้มันจะเข้าไปเสริมกิเลส ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านถึงยับยั้งการอยู่การกินนี้ แล้วไปอธิบายอยู่อีกครึ่งชั่วโมงก็ไม่เข้าใจ ไม้หน้าสามฟาดไปกลางศีรษะเลยผลัวะ ! จบ.. นี่การสอนแบบครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราสอนมาได้ประโยชน์มากนะ ฉะนั้นการอยู่กับครูบาอาจารย์มันจะได้ประโยชน์อย่างนี้
ฉะนั้นคำถามนี้ถ้ามีครูมีอาจารย์ก็คอยชี้แนะกันไป ฉะนั้นว่า ขอคำแนะนำในการภาวนาเพื่อการต่อสู้กับกามราคะ
การต่อสู้ เห็นไหม การต่อสู้กับกามราคะก็มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไป ฉะนั้นการต่อสู้เริ่มต้นมันเป็นการต่อสู้เพื่อกำราบให้จิตมันอยู่ในอำนาจของเราเท่านั้น คือให้จิตเข้าสู่ความสงบ ทีนี้พอเข้าสู่ความสงบอาการต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาชัดเจน เราก็จะรู้จะเห็นของเรา แล้วเราก็จะแก้ไขของเรา นี่เรามีครูบาอาจารย์คอยแนะนำด้วย แล้วประสบการณ์ของเราเรารู้อะไรถูกอะไรผิด เหมือนขับรถเลย ขับรถนี่เขาขับรถบนถนน เอ็งจะขับรถบนทุ่งนานี่เอ็งก็ผิด เอ็งก็ต้องถอยรถขึ้นมาบนถนนสิ
นี่ก็เหมือนกัน พอภาวนาไปเวลามันสงบมันก็เหมือนบนถนนใช่ไหม เวลามันเสื่อม เวลามันเกิดกามราคะมันก็เหมือนขับรถลงทะเล แล้วเอ็งขับรถลงทะเลถูกหรือผิดล่ะ ก็ผิด.. ผิดเอ็งก็ถอยมาสิ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเอ็งทำผิดเอ็งรู้ว่าผิด ผิดเอ็งก็ถอยมาสิ แต่เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์เรารู้ว่าผิดด้วย แล้วครูบาอาจารย์ท่านประสบการณ์มาแล้วท่านก็คอยบอกเราด้วย ฉะนั้นการอยู่กับครูบาอาจารย์ การปฏิบัติมันถึงจะราบรื่น ราบรื่นนะ ขนาดราบรื่นอย่างนี้เราเองอยู่กับครูบาอาจารย์มันยังสมบุกสมบั่นพอสมควรเลย
นี่การประพฤติปฏิบัตินะ การต่อสู้กับกามราคะแล้วมันจะแบบว่ามันจะเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วจะไปถึงกามราคะ แล้วจะรู้เลยล่ะว่ากามราคะนี่มันรุนแรงแค่ไหน ! มันรุนแรงแค่ไหน ! แล้วจะกำราบมันอย่างไร ไม่อย่างนั้นครูบาอาจารย์ถึงไม่อดนอนผ่อนอาหารต่อสู้กันสุดๆ
การเกิดและการตายนี่เป็นผลของวัฏฏะ เป็นผลของธรรมชาตินะ แล้วเราจะพ้นจากกิเลสไป เราจะพ้นจากผลของธรรมชาติ เห็นไหม ผลของธรรมชาติ ผลของความเป็นอยู่ของการเกิดและการตาย นี่สสารมันไม่มีคำว่าสิ้นสุด แต่เวลาจิตมันชำระกิเลสแล้ว มันสิ้นสุดของมันแล้ว มันไม่เกิดอีกนี่มันทำลายอย่างไร มันมหัศจรรย์ขนาดไหน แล้วสิ่งที่มหัศจรรย์ขนาดไหน สิ่งที่เข้าไปสัมผัสมันยิ่งมหัศจรรย์กว่านั้นอีก
นั่นคือจิตของเรานะ เรามีโอกาสของเรา เราแก้ไขของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง