ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ของเหม็น

๑๒ ก.พ. ๒๕๕๔

 

ของเหม็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามมันข้อ ๓๓๑. เรื่อง “ระหว่างการทำสมาธิ”

ถาม : จากที่ผมนั่งสมาธิมาเป็นระยะๆ โดยได้กำหนดลมหายใจมีอาการดังนี้ครับ

๑. นั่งสมาธิไปนานๆ สักพักรู้สึกสะดุ้งเหมือนสัปหงก แต่มันเป็นแค่สะดุ้งกระตุกกึก ! หลังจากกระตุกสะดุ้งทำให้สติกลับมา และรู้ว่าสติขาดไปจึงกลับมากำหนดลมหายใจต่อ สักพักสะดุ้งอีก บางครั้งทิ้งระยะเวลานานกว่าจะกระตุก อาการกระตุกนี้มันจะหลับลงภวังค์ใช่ไหมครับ หรือเป็นสาเหตุอื่นๆ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : อาการที่มันสะดุ้งว่ามันจะลงภวังค์นี่ไม่ใช่หรอก มันลงภวังค์ไปแล้วมันถึงสะดุ้ง ถ้าสะดุ้งนี่มันสะดุ้งขึ้นมาจากภวังค์นั่นแหละ อาการสะดุ้ง อาการกระตุก อาการต่างๆ พอเวลามันกระตุกขึ้นมาแล้วมันเหมือนทำให้เราไปสนใจ พอเราสนใจสิ่งใด เหมือนมือเรานี่ไปจับของเหม็น พอจับของเหม็นนี่มันเหม็นแน่นอน แต่เวลาจับของเหม็นแล้วนี่ชอบดม พอมือจับของเหม็นนี่เดี๋ยวก็เอามาดม เดี๋ยวก็เอามาดม ทำไมไม่ล้างให้สะอาดล่ะเอามาดมทำไม ก็มันเหม็นใช่ไหม พอมือไปจับของเหม็นนี่ดมตลอดเลย

จิตพอเวลากระตุก สะดุ้งต่างๆ มันเหมือนจิตมันไปจับของเหม็น เพราะอาการกระตุก อาการสะดุ้งมันไม่ใช่ของดี มันไม่ใช่ของดีเพราะมันเป็นการทำให้กระเพื่อม แต่ด้วยความสนใจของจิต ด้วยความผูกมัดของจิต จิตมันจะรับรู้ตรงนั้น แล้วพอภาวนาไปมันจะเกิดอาการแบบนี้ตลอดไป เหมือนมือไปจับของเหม็นแล้วชอบดมๆ แล้วก็ถามว่าทำไมมันเหม็นแต่ก็ชอบดม

อาการกระตุกก็เหมือนกัน.. วิธีแก้ ! วิธีแก้นะพุทโธไปเฉยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ของเหม็น มือเราจับของเหม็นกลิ่นของเหม็นต้องมี พอกลิ่นของเหม็นมันโชยมา เราอยากจะดมอีกแล้ว อาการกระตุกพอเวลามันเกิดแล้ว พอจิตมันเริ่มถึงตรงนั้นปั๊บ มันจะมีอาการของมัน เหมือนกลิ่นที่เราได้กลิ่นอยู่ อาการกระตุกนั้นเราพุทโธให้ชัดๆ พุทโธให้ชัดๆ อาการนี้จะค่อยๆ เบาไปๆ

ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นพันธุกรรมทางจิต พันธุกรรมของคนไม่เหมือนกัน อาการกระตุก อาการสะดุ้ง อาการตัวโยกตัวคลอน อาการหวั่นไหว อาการต่างๆ อาการร้อยแปด.. เวลาเราเปิดประตูบ้านนะ เวลาเราเข้าบ้านเรา เราเปิดประตูบ้านนี่มันมีอากาศถ่ายเทไหม อากาศถ่ายเทจากประตูมีไหม มีเด็ดขาด

อาการของจิตจะเข้าสู่สมาธิ มันจะเข้าสู่บ้านของตัวเอง จิตเราออกมา จิตนี้มันส่งออก พลังงาน ดูพลังงานสิ พลังงานเวลาเราจุดไฟ พลังงานแสงสว่างมันกระจายออกไป.. ธรรมชาติของจิต ความรู้สึกนึกคิดมันกระจายออกไปเขาเรียกว่าเสวย มันเสวยอารมณ์ มันเสวยไปที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ส้มกับเปลือกส้ม.. ส้มมันต้องมีเปลือกส้มรักษาเนื้อส้ม ความรู้สึกนึกคิดนี่รักษาพลังงาน รักษาตัวธาตุรู้ไว้ ทีนี้ตัวธาตุรู้ไว้ เห็นไหม เวลาจิตมันจะเข้าสู่สมาธิมันคือเข้าสู่ธาตุรู้นั้น เวลาจะเข้าสู่สมาธิเหมือนจิต ส้มนี่เราจะผ่านเปลือกส้มเข้าไปสู่เนื้อส้มนั้น ทีนี้พอเปลือกส้ม เปลือกส้มเราปอกออกเพื่อจะเข้าสู่เนื้อส้มนั้นมันต้องมีอาการ ทีนี้อาการกระตุก เห็นไหม อาการมันอยู่ภายนอก อาการของจิต เขาใช้คำว่าอาการของจิตไม่ใช่จิต อาการของจิต ! ทีนี้อาการของจิตเวลามันแสดงออก นี่มันแสดงออกอย่างนี้

ฉะนั้นเวลาเราพุทโธ พุทโธ อาการแบบนี้ อาการสะดุ้ง อาการกระตุก อาการเคลิบเคลิ้ม อาการกลืนน้ำลาย อาการขนพอง อาการต่างๆ อาการมีทุกคน มีมากมีน้อย แต่ถ้าคนสร้างบารมีมา บางคนมันมีน้อยๆ จนแทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย ถ้าไม่รู้สึกอะไรเลยคือสงบไปนิ่งๆ ก็มี สงบไปโดยที่มีอาการต่างๆ ก็มี

เขาถามถึงวิธีแก้ นี้เราจะบอกวิธีแก้นี่เราจะบอกถึงเหตุก่อน ว่าเหตุที่มันเป็นแบบนี้มันเป็นจริตนิสัยของเรา มันเป็นเพราะเราทำสิ่งนี้มา พอทำสิ่งนี้มา พอเวลาจะเข้าสู่จิต จะเข้าสู่สมาธิมันจะแสดงอาการตามสภาวะของจิต ตามสภาวะของกรรมของแต่ละบุคคล

ฉะนั้นวิธีแก้.. วิธีแก้ก็ตั้งสติไว้แล้วพุทโธ อาการนี้มันจะเริ่มเบาลงๆๆ จนสู่ความสงบ ถ้าเราสามารถเปิดประตูแล้วเข้าสู่บ้านเราได้ก็คือจบ เราเข้าสู่บ้านเรา เข้าสู่ความสงบไง ตอนนี้เราอยู่นอกบ้านทุกคนเลย เราอยู่นอกบ้าน เราอยู่ที่ความคิด เราไม่ได้เข้าไปสู่ตัวความสงบ ฉะนั้นการทำสมาธิคือการเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่หัวใจของตัว ทีนี้การเข้าสู่หัวใจของตัวนี่แล้วแต่ปฏิกิริยาของจิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน.. ปฏิกิริยาของจิตทุกๆ ดวงไม่เหมือนกัน ไม่มีเหมือนกันเลย ถ้าทำเหมือนกันผิด มันไม่มีหรอกที่คนจะทำให้ได้เหมือนกัน

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น วิธีแก้นะตั้งสติไว้ เราพูดถึงเหตุไว้ เราพูดถึงเหตุนี้เพื่อจะให้ทุกคนไม่ต้องน้อยใจ บางคนเวลาคนปฏิบัติมันจะน้อยใจว่า ทำไมเราทำไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมคนอื่นทำได้ มันไปวิตกวิจารแต่ว่าของคนอื่นทำได้ มันก็เหมือนไปดูเงินของคนอื่น ทรัพย์สมบัติของคนอื่นเยอะแยะไปหมดเลย แล้วทรัพย์สมบัติของเราก็น้อยใจว่าเราไม่มีทรัพย์สมบัติ

เราจะมีทรัพย์สมบัติหรือไม่มีทรัพย์สมบัติขอให้ขยัน ! ขอให้ขยัน ขยันทำมาหากิน ทรัพย์สมบัติมันจะมีมา ไปดูสมบัติของเขาแล้วก็น้อยใจๆ แล้วไม่ขยันหมั่นเพียร ทรัพย์สมบัติเราก็ไม่มี แล้วก็นั่งดูทรัพย์สมบัติคนอื่น แล้วก็นั่งคอตก แล้วก็นั่งน้อยใจ

ฉะนั้นที่พูดนี้มันเป็นจริตของเรา มันเป็นกรรมของเรา ไม่ต้องไปตกใจ ไม่ต้องไปน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องทำสิ่งใดทั้งสิ้น กำหนดสติ กำหนดสติแล้วกำหนดพุทโธ พุทโธไป หรือลมหายใจก็ได้แล้วแต่ทำของเราไป อาการแบบนี้จะค่อยๆ หายไป ไม่หายไปโดยฉับพลัน แต่ถ้าเรามีสติระลึกรู้อย่างนี้ แล้วมันจะค่อยๆ จางลง

แบบว่ามันกระตุก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็เหลือสัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พอถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์นะ ถ้า ๔๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์นี่สบายแล้ว สบายเพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติคือจิตมันมีอาการความรู้สึกเป็นอย่างนี้ แต่มันไม่เด่น นี่อารมณ์เรามันไม่เด่น แต่พอสัก ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์นี่มันเด่น พอเด่นขึ้นมาแล้วเราก็ไปยึดมัน แต่ถ้าร่นจาก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ไป โดยธรรมชาติของคนเป็นอย่างนี้ แล้วอาการแบบนี้มันจะค่อยๆ หายไป

ต้องหายไป หายไปได้ คำว่าหายไปได้คือเข้าบ้านได้ คือเข้าสู่สมาธิได้ก็คือจบ ถ้าเข้าสู่สมาธิได้พวกนี้จะไม่มีเลย แล้วจะนิ่งมาก แล้วพอเข้าสู่สมาธิแล้วมันจะมีกำลัง มันจะมีกำลังของมัน กำลังนี้จะเป็นประโยชน์กับเรานะ

ถาม : ๒. ขณะนั่งสมาธิบางทีเห็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนตอนฝันขณะหลับ ควรแก้ไขอย่างไรครับ

หลวงพ่อ : เห็นภาพเคลื่อนไหวนะ “ขณะนั่งสมาธิบางทีเห็นภาพเคลื่อนไหว”

ภาพเคลื่อนไหวกับอาการกระตุกนี่อันเดียวกัน เวลาไปกระตุกนี่เรารู้ได้เลยนะ เวลาภาพเคลื่อนไหว เห็นไหม เปิดประตูบ้านเข้าบ้านอีกแล้ว เปิดประตูบ้านเกิดอากาศถ่ายเท เรามีความรับรู้สิ่งใดมันตอบสนองเห็นเป็นอาการกระตุก.. เปิดประตูบ้าน เปิดประตูบ้านมีอากาศถ่ายเทมีความเคลื่อนไหว เห็นภาพเคลื่อนไหว เห็นภาพเคลื่อนไหว ถ้าไม่เปิดประตูบ้านไม่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีสิ่งใดรับรู้

โดยธรรมชาติของมนุษย์นี่ความคิดส่งออก ความคิดคอมพิวเตอร์มันต้องมีโปรแกรมของมันนะ ดูความคิดเราสิเดี๋ยวเกิดเดี๋ยวดับ เดี๋ยวคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มันคิดมาจากไหนล่ะ มันคิดมาจากจิต ตัวจิตมันมีพลังงาน ถ้ามันไม่มีพลังงานคิดไม่ได้ ไม่มีพลังงานไม่รับรู้นี่ความคิดไม่เกิด ความคิดไม่เกิดหรอกเกิดไม่ได้ แต่ความคิดจะเกิดได้ต้องมีพลังงาน พลังงานคือตัวไฟฟ้าพอเข้าสู่คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะทำงานทันทีเลย

โดยธรรมชาตินี่ดูสิ บางทีเราเห็นภาพ เราเห็นเฉยๆ แต่เราไม่รู้ภาพอะไรนะ เพราะจิตมันไม่ทำงาน จิตมันไม่รับรู้ นี่เขาเรียกอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายมันรับรู้แต่ต้องมีจิต ต้องมีจิต อายตนะนี่กระทบเฉยๆ มีจิตรับรู้ ทีนี้พอมีจิตรับรู้นี่รับรู้สิ่งต่างๆ นี้โดยปกติมันก็รับรู้โดยสัญชาตญาณ โดยความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ขณะเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรืออานาปานสติจิตมันเริ่มมีความสงบ จิตมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเราจากอาการที่ส่งออกเราจะทวนกระแส เราจะกลับเข้าไปสู่ความสงบ พอกลับเข้าไปสู่ความสงบ จิตมันมีการเปลี่ยนแปลงมันจะมีอาการนี้เกิดไง อาการนี้มันจะเกิดว่าจิตมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตมีการเปลี่ยนแปลงภาพมันจะเกิด

นี่เขาบอกว่าพุทโธ พุทโธพวกสมถะมันจะเกิดนิมิต มันจะเกิดอะไรต่างๆ มันไม่เป็นปัญญา มันจะเป็นปัญญาต่อเมื่อจิตสงบแล้วมันจะเป็นโลกุตตรปัญญา.. ปัญญาที่ศึกษากันนี้มันเป็นโลก มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากความคิด ปัญญาเกิดจากภพ ปัญญาเกิดจากอวิชชา เพราะตัวจิตมันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ เราคิดเรารู้สึกสิ่งใดมันรู้โดยอวิชชาครอบงำไปด้วย

ฉะนั้นสิ่งที่ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้านี่ศึกษาขนาดไหนก็แล้วแต่มันเป็นความจำทั้งหมด พอเกิดจากความจำ นี่ความจำก็คือจิตมันจำจากสัญญา สัญญาคืออาการของจิตไปศึกษา แต่ตัวจิตคือตัวอวิชชา จำพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย เรียนศึกษามาจบพระไตรปิฎก เรียนศึกษามาจนถึงพวกประโยค พวกบาลีนี่เรียนจบ ๙ ประโยค จำธรรมะพระพุทธเจ้าได้ เขียนบาลีได้ แต่งธรรมะได้ กระทู้นี้แต่งได้หมดเลยแต่สงสัย นรกมีจริงหรือเปล่า มรรคผลมีจริงหรือเปล่า จิตพ้นกิเลสได้จริงหรือเปล่า

เพราะอะไร เพราะมันไปรู้ที่สัญญา เห็นไหม มันไปรู้ที่ขันธ์ ๕ เพราะพลังงานนี่ พลังงานตัวอวิชชา อวิชชาตัวมันไม่รู้ แต่เวลาศึกษานี่ศึกษาจากสัญชาตญาณ ศึกษาจากขันธ์ ศึกษาจากจิตที่ส่งออกไป ศึกษาจากธรรมชาติของมนุษย์ แต่ไอ้ตัวจิต ไอ้ตัวอวิชชานี่มันสงสัย ศึกษาขนาดไหนก็สงสัย ศึกษาอย่างไรมันก็วิตกกังวล

ทีนี้พอจิตเราพุทโธ พุทโธ เห็นไหม พอเราพุทโธนี่ เราจะต้องการความสงบของใจ เราจะศึกษาจากข้อเท็จจริงจากใจของเรา แต่เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามานี่ เราศึกษามาเป็นปริยัติ.. ปริยัติ ปฏิบัติ ศึกษามาเป็นทฤษฎี ทุกคนมีการศึกษา จบทฤษฎีมาแล้วทุกคนต้องมีการประพฤตปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริง ทีนี้การปฏิบัติตามความเป็นจริงนี่เราพุทโธ พุทโธ จิตมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าจิตมีการเปลี่ยนแปลงภาพเคลื่อนไหวจะเกิด

ถ้าจิตไม่มีการเปลี่ยนแปลงภาพเคลื่อนไหวเกิดได้ไหม ภาพเคลื่อนไหวเกิดได้ต่อเมื่อคนที่ไม่ปฏิบัติ คือคนที่จะเสียสติ คือคนที่จิตผิดปกติ ถ้าจิตผิดปกติมันจะมีภาพหลอน แต่ถ้ามันจิตปกติไม่ใช่จิตผิดปกติ ภาพที่เกิดเกิดเพราะจิตใจมันเข้าสู่จิตของมันเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว

นี่ไง ข้อ ๒. “ขณะนั่งสมาธิบางทีเห็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนตอนฝันขณะหลับ ควรแก้ไขอย่างไรครับ”

เหมือนกับข้อแรกเลย กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ความสงบ เพราะมันสงบแล้วมันมีความรับรู้ มันเห็นภาพเคลื่อนไหวเห็นต่างๆ เรากลับมาสู่ความสงบ เพราะเราไม่ต้องการภาพเคลื่อนไหว เราต้องการสู่ความสงบ ถ้าเราทำสมาธิคือต้องอยู่กับความสงบ แล้วพอจิตมันสงบแล้ว ถ้าออกใช้ปัญญา

ถ้าออกใช้ปัญญา เห็นไหม เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ โดยสัญญาโดยโลกไม่มี สิ่งนั้นเป็นสมมุติ.. สมมุติว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่เมื่อใดจิตของบุคคลสงบลง จิตของคนสงบลง แล้วจิตที่สงบนี้ออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม อันนั้นถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันต้องมีบุคคลผู้ออกไปกระทำ แต่ถ้าไม่มีบุคคลผู้ออกไปกระทำนี่มันเป็นสัญญา มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นการจำ สติปัฏฐาน ๔ ไม่มี ! ไม่มี !

ถาม : ๓. บางครั้งผมใช้พุทโธเร็วๆ แทน แต่ตอนนั่งปกติชอบลมหายใจเพราะรู้สึกเบาสบายกว่านึกคำว่าพุทโธ แต่ก็ใช้พุทโธ พุทโธแก้บ่อยเหมือนกัน เราควรใช้อย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ เพราะจำได้จากเทศน์หลวงตาเคยบอกว่า “ต้นไม้ปลูกแล้วถอน ถอนแล้วปลูกไม่ถูก” หมายถึงอะไรครับ

หลวงพ่อ : หมายถึงว่าความจับจด ความไม่เอาไหนของเรา นี่เราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ถ้าเราใช้พุทโธหรือใช้ลมหายใจแล้วมันมีผลไง คนเราถ้าทำงานมีผลตอบแทน อันนั้นคือถูกต้องแล้ว

ทีนี้คำว่าถูกต้อง แต่คนนี่ พอเห็นคนอื่นทำงานมีผลตอบแทน เราก็อยากทำแบบเขา แล้วเราก็ทำโดยที่ไม่มีผลตอบแทน ย้ายแล้วปลูก ปลูกแล้วย้าย.. คำว่าย้ายแล้วปลูก ปลูกแล้วย้ายมันเหมือนกับคนเราทำงานด้วยความไม่จริงจัง ด้วยความที่ไม่มีผลตอบแทน ถ้ามีผลตอบแทนนี่ถูกต้องนะ แต่คำว่าถูกต้องนี่เราจะทำอย่างใดให้มันพัฒนาขึ้นไป ให้มันมีผลตอบแทนที่มากขึ้นไปกว่านี้

ฉะนั้นถ้าใช้ลมหายใจใช้ลมหายใจเลย ลมหายใจคืออานาปานสติ ถ้าลมหายใจพุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ สิ่งใดก็ได้จิตต้องมีที่เกาะ จิตของเรานี่นะถ้าเราไม่มีอะไรเกาะไว้เลย ถ้าเอาแต่ตามใจตัวนี่มันขี้เกียจไง มันจะไม่ทำสิ่งใด มันจะหายไปต่อหน้าต่อตา แล้วมันบอกว่าสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง เวลามันทำอย่างนั้น ถ้าความถูกต้องอย่างนั้น มันเป็นความถูกต้องแบบวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ เห็นไหม ทุกอย่างสรรพสิ่งในโลกนี้มีความเปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรคงที่นะ มันจะเปลี่ยนแปลงของมันไปตลอดเวลา นี่ทางวิทยาศาสตร์เลย แต่พอเป็นธรรมะปั๊บสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สภาวะที่เป็นวิทยาศาสตร์มันเปลี่ยนแปลง นี่มันเป็นอนิจจัง พอมันเป็นอนิจจังเพราะจิตเราต้องการ จิตเราต้องปรารถนา ต้องให้มันสมความปรารถนา เห็นไหม สิ่งที่ไม่สมปรารถนาเป็นทุกข์.. สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา นี่สภาวธรรม

ทีนี้สภาวะที่ว่าไม่ต้องเกาะสิ่งใดเลย มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ คือว่ามีการเปลี่ยนแปลงแล้วหายไปเลย มันไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นอะไรเลยเพราะไม่ใช่ธรรมะ เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คือโลก โลกนี่สภาวะเป็นอย่างนั้นปั๊บแล้วได้อะไรขึ้นมา ก็ได้ความนึกคิดของตัวเองขึ้นมา พอได้ความนึกคิดของตัวเองขึ้นมาว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เพราะมันว่างหมดๆ ว่างโดยที่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ ว่างโดยสิ่งใดที่ไม่เกิดประโยชน์กับใคร ว่างอย่างนั้นมันว่างเพื่ออะไรล่ะ

ฉะนั้นมันต้องมีประโยชน์ มันต้องว่างแล้วเป็นประโยชน์ เห็นไหม นี่ว่าเวลาเป็นธรรมะๆ นี่เป็นธรรมะส่วนบุคคล ใครทำความสงบได้คนนั้น..

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของความสงบ รสของการใช้ปัญญาถอดถอน รสของการสมุจเฉทปหาน รสของธรรมมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด และละเอียดสุด.. รสของธรรม รสของธรรม แล้วใครได้รับรู้รสอย่างนั้นล่ะ

รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ชนะกิเลส ชนะความสงสัย ชนะความไม่รู้ ถ้าใครปฏิบัติได้ขนาดไหนก็พูดได้ขนาดที่ตัวเองรู้เท่านั้นล่ะ ทำสมาธิได้ก็พูดแต่เรื่องสมาธิ นี่พิจารณาไปแล้วมันว่าง อู้ฮู.. นิพพานคือความว่าง ว่างอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วว่างอะไรล่ะ.. ก็มันว่างไง เพราะอะไร เพราะเขาไม่เคยใช้ปัญญา เขาไม่เคยชำระกิเลส เขาไม่เคยฆ่ากิเลสเขาไม่รู้หรอกว่าฆ่าอย่างใด แต่ถ้าคนฆ่ากิเลสได้มากได้น้อยเขาจะรู้เลยฆ่าอย่างนี้ ฆ่าอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเราทำมาไง เราทำมาอย่างนี้ เราทำมาอย่างนี้ เราทำมาอย่างนี้ มันพูดตามที่ทำมา ฉะนั้นภาคปฏิบัติเขาจะรู้ได้ว่าคนเรามีวุฒิภาวะแค่ไหน

ฉะนั้นเขาถามว่า “ปกติผมชอบลมหายใจ แต่ก็ใช้พุทโธบ้าง” แต่ก็ใช้พุทโธบ้างนี่แสดงว่าฉลาดขึ้น บางคนนี่นะเราแบบว่าเถรตรงเกินไป เราจะลมหายใจก็ลมหายใจตลอด พุทโธก็พุทโธตลอด ตลอดนี่ตลอดในวาระที่ทำนั้น แต่เวลาทำครั้งต่อไปนี่เราทำซ้ำ.. อาหารอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เราบอกว่าสวยงามมาก แต่ถ้าเราใช้ชินชาแล้ว คุณค่ามันจะน้อยลงเรื่อยๆ การประพฤติปฏิบัติถ้าเราอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เวลากิเลสมันรู้ทัน มันจะคอยสร้างภาพ สร้างกรอบให้เราเข้าไปสู่ความจำนนกับมัน

ฉะนั้นหลวงตาท่านใช้คำพูดอย่างนี้

ถาม : เพราะจำได้จากเทศน์หลวงตาบอกว่า..

หลวงพ่อ : เราก็บอกว่า หลวงตาท่านก็บอกว่า “ถ้าทำโดยเถรส่องบาตร ทำโดยเถรตรง โดยไม่ใช้อุบายวิธีการ มันก็เสร็จกิเลสเหมือนกัน”

หลวงตาท่านบอกถูกทั้งนั้นล่ะ แต่บอกถูกนี่แก้ไขคน คนเรานี่นะมันมีความผิดพลาดหลายๆ อย่าง มันมีความผิดพลาด เห็นไหม สภาวะแวดล้อม จริตนิสัย การกระทำ ทีนี้คำแก้ของหลวงตานี่ถูก แต่ถูกเฉพาะเหตุการณ์นั้น ! เหตุการณ์นั้น ! เหตุการณ์นั้น ! ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ เหตุการณ์นี่มันเปลี่ยนแปลงใช่ไหม

เหตุการณ์นี่ดูสิเช้า สาย บ่าย เย็น บรรยากาศก็แตกต่างกัน จิตใจของเราเวลาปฏิบัติ หลวงตาท่านถึงบอกว่าต้องฉลาด ต้องมีอุบาย อุบายไม่ให้กิเลสมันตามทันไง อุบายของเราถ้าเราใช้อุบาย.. อุบายนะ อวิชชานี่มันนอนเนื่องมากับจิตเรา เราคิดอะไรกิเลสเราก็รู้ทันหมดแหละ ฉะนั้นธรรมะที่มันจะเหนือเหตุเหนือผล เห็นไหม มันต้องมีอุบายพลิกแพลงให้เรามีโอกาสได้ว่า เวลาปฏิบัติแล้วกิเลสมันไม่รู้ทันว่าเราจะทำอะไร ถ้ากิเลสมันรู้ทันนะมันเอาเสื่อไปปูไว้ข้างหน้า เชิญๆ นอนตรงนี้ นอนตรงนี้ ตรงนี้ร่มเย็น.. กิเลสมันดักหน้าหมดแหละ ฉะนั้นต้องใช้อุบายไง

ใช่ ! หลวงตาท่านพูดถูก หลวงตานี่พูดถูกแล้วแหละ เราไม่เคยค้านเลยนะ เพราะหลวงตานี่เราเชื่อมั่นของเรามากว่าท่านสำเร็จ ท่านเป็นพระที่มีคุณธรรมมาก ฉะนั้นคำสอนของท่านไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่องเลย แต่ ! แต่เป็นกาลเทศะ.. สอนใคร สอนผู้ที่ปฏิบัติชั้นไหน ชั้นนี้ระดับนี้ท่านสอนแบบนี้ ชั้นระดับที่ละเอียดท่านจะสอนละเอียดกว่านี้ๆ เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

คนภาวนาเป็นมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีวุฒิภาวะ มีจริต มีนิสัย มีความถนัด โฮ้.. อีกเยอะ ! อีกเยอะ ฉะนั้นพอเราทำสิ่งใดฟังสิ่งใดมา จะถือว่าสิ่งนั้นเถรตรง แล้วทำอย่างนั้นไป ประโยชน์ที่ฟังจากท่านนี่ถูกต้องดีงาม แต่ขณะที่เราจะเอามาใช้ประโยชน์นี่ เราต้องรู้จักใช้ แล้วเอามาเทียบเคียงกับใจของเรา

นี้เพราะว่าได้ฟังจากหลวงตา ถ้าหลวงตาพูดอย่างนั้นนี่พระสงบห้ามค้าน (หัวเราะ) เขาเขียนมาจะบอกว่าหลวงตาพูดอย่างนี้ถูก คนตอบห้ามค้านนะ ฉะนั้นหลวงตาพูดถูกเราต้องใช้ให้ถูกด้วยเนาะ

 

ถาม : ข้อ ๓๓๒. เรื่อง “พุทธภูมิ ๒”

หลวงพ่อ : เขาเคยถามพุทธภูมิมาแล้ว แล้วเราตอบไปแล้ว นี่เขาถามย้ำกลับมานะ

ถาม : กระผมมีปัญหาอยากกราบเรียนถามเรื่องพุทธภูมิ คือกระผมมีโอกาสได้ฟังเทศนาธรรมของหลวงพ่อเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๓ ในตอนหนึ่งหลวงพ่อเทศน์ว่า

“ฉะนั้นพุทธภูมินี้เยอะนะ พระเรานี้ในวงการพระเราก็รู้เลยว่าใครปรารถนาพุทธภูมิ หลวงปู่จาม เห็นไหม หลวงปู่จามนี่ก็พุทธภูมิ หลวงปู่ศรีนี่ก็พุทธภูมิ แล้วพุทธภูมินะ เพราะหลวงตาท่านพูดไว้เอง หลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่ศรีนะเพราะหลวงปู่ศรีนี้ไปสร้างเจดีย์ โอ้โฮ.. มหัศจรรย์มาก ทีแรกหลวงตาไปท่านก็พยายามเหมือนกัน ท่านบอกว่าไปเยี่ยมหลวงปู่ศรี หลวงปู่ศรีนี้บารมีเยอะมาก ก็พยายามที่จะเอาแบบหลวงปู่มั่น ก็จะแก้ว่าอย่างนั้นเถอะ ก็บอกว่าพอไปถึงท่านศรีไปไหน เพราะเราไปหาหลวงปู่ศรีจะหนีตลอด ท่านบอกเลยนะ แล้วท่านก็พูดเล่น ท่านบอกถ้าเจอนะเราจะขี้ไว้แล้วจะเตะให้มันกระจายไปเลย ท่านเลยบอกว่านี่เวลาพูด”

หลวงพ่อ : อันนี้เวลาหลวงตาท่านไปเยี่ยมหลวงปู่ศรีบ่อยๆ ตอนที่หลวงปู่ศรียังอยู่วัดที่ศาลาหลังเก่านั้น แต่สุดท้ายหลวงปู่ศรีท่านก็ไปสร้างเจดีย์ของท่าน สร้างสาขาของท่านหลายร้อยสาขา อันนี้ถึงถือว่าเป็นพุทธภูมิ.. ทีนี้คำที่เขาสับสนนะ

ถาม : และเนื่องจากกระผมเคยฟังประวัติหลวงปู่ศรี มหาวีโร ว่าท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ ดังนั้นเรื่องที่กระผมได้ยินมาทั้ง ๒ ขัดแย้งกัน กระผมจึงขอกราบเรียนถามเรื่องข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ แล้วแต่องค์หลวงพ่อจะเมตตาครับ

หลวงพ่อ : เรื่องหลวงปู่ศรีนี่เพราะหลวงตาท่านพูดว่าบารมีใหญ่ คำที่เราพูดนี่นะเราจะไม่อยากลงรายละเอียด เพราะว่าถ้าลงรายละเอียด.. เพราะว่าคำถามนี้มันอยู่ในเว็บไซต์ แล้วเว็บไซต์นี่เขาก็โต้เถียงกัน ฉะนั้นคำโต้เถียงกันว่าหลวงปู่ศรีเป็นพระโพธิสัตว์หรือหลวงปู่ศรีเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นถ้าเราลงไปโต้แย้งนี่เขามีปัญหากันระหว่างทั้ง ๒ ฝ่าย เราจะเป็นฝ่ายที่ ๓ ไง เดี๋ยวจะมีฝ่ายที่ ๔ ฝ่ายที่ ๕ แล้วมันก็จะมีฝ่ายที่ ๖

นี้เพียงแต่ว่าถ้าเราจะพูดเราก็จะบอกว่า นี่เขาบอกว่าเขาได้ฟังจากประวัติหลวงปู่ศรี ฉะนั้นที่พูดว่าหลวงปู่ศรี ครูบาอาจารย์ของเรานี่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของพวกเรานะ ครูบาอาจารย์เพราะหลวงปู่ศรีท่านก็อยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงตาก็อยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วมีการเคารพบูชากันมา

นี้ความเข้าใจ ในความเข้าใจที่ว่าหลวงตาท่านบอกว่า สมัยที่ว่าจะไปหาหลวงปู่ศรี แล้วที่ว่าศาลาใหญ่นี่สมัยนั้น สมัยที่ว่าหลวงตาท่านยังเข้มงวดมาก สมัยที่หลวงตายังไม่ออกมาช่วยโลก ตอนนั้นท่านเข้มงวดของท่าน แล้วท่านก็พยายามจะเอาหมู่คณะไป เพราะหลวงตาท่านได้สร้างผลงานไว้เยอะมาก เพราะท่านเล่าให้ฟังเองว่าท่านไปแก้หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่คำดี หลวงปู่บัว เห็นไหม ท่านแก้ไขพระเยอะมาก ฉะนั้นหลวงปู่ศรีถ้ามีกรณีอย่างนี้ท่านก็พยายามจะแก้ไข แต่สุดท้ายแล้วท่านพูดเอง ที่ท่านบอกว่า ตอนท่านสร้างมากๆ นี่ท่านบอกว่า “บารมีขนาดนี้ ท่านสร้างขนาดนี้ก็เป็นประโยชน์กับท่าน แล้วคนอื่นทำไม่ได้”

คือว่าคนอื่นหมายความว่า คนถ้าไม่มีบารมี พระโพธิสัตว์นี่มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันมีบารมีแตกต่างกันเยอะมากนะ พระโพธิสัตว์บางองค์นี่โอ้โฮ.. สุดยอด เขาเรียกว่าใกล้ บารมีมากเท่าไร ด้วยฌานด้วยสมาธิต่างๆ จะชัดเจนมาก แต่ถ้ายังไม่ใกล้มันก็เสื่อมได้ มันอะไรได้ มันพลิกแพลงได้

แล้วกรณีอย่างนี้ ตั้งแต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็ปรารถนาพุทธภูมิ แล้วท่านก็ละของท่านเอง แล้วท่านก็ไปแก้เจ้าคุณอุบาลีที่วัดเจดีย์หลวง แล้วท่านก็พยายามจะไปแก้ครูบาศรีวิชัย ครูบาศรีวิชัยท่านก็บอกว่า “ไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้ว” คำว่าไม่เป็นอิสระกับตัวเองนี่ก็รู้ว่ามันแก้ไม่ได้ เพราะถือว่าพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว

นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่เชียงใหม่ สมัยนั้นท่านอยู่ร่วมสมัยกับครูบาศรีวิชัยด้วย แล้วครูบาศรีวิชัยท่านก็สร้างบารมี ฉะนั้นคำว่าการสร้างบารมีนี่มันก็มีคู่ไง มีคู่โต้แย้ง เหมือนพระพุทธเจ้ามีเทวทัตมาตลอด ฉะนั้นเวลาครูบาศรีวิชัยอยู่ทางเหนือเขาจะมีผู้ที่ขัดแย้ง มีผู้ที่ขัดแย้งให้บารมีของท่านโอ้โฮ.. มหาศาล

ทีนี้หลวงปู่มั่นท่านก็อยู่ในเหตุการณ์นั้น ท่านอยู่ในเหตุการณ์นั้น ท่านเห็นแล้วท่านก็พยายามจะช่วยเหลือไง ท่านบอกว่า ถ้าจะสร้างบุญญาธิการไปมันก็จะทุกข์ไปอย่างนี้ ก็พยายามจะพูดให้กลับไง แล้วครูบาศรีวิชัยบอกว่า “เราไม่เป็นอิสระกับตัวเองแล้ว” คำพูดแค่นี้เองคำเดียว เพราะว่าพระด้วยกันนี่จะรู้หมด พอรู้ปั๊บหลวงปู่มั่นท่านก็ให้กำลังใจ เพราะหลวงปู่มั่นกับครูบาศรีวิชัยท่านจะพบกันบ่อย ท่านก็จะคุยกันบ่อย

อันนี้เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์นะ ฉะนั้นเรื่องหลวงปู่ศรีเรายังยืนยันความรู้สึกของเรา แต่ ! แต่ในเมื่อโลกเขามีความเห็น นี่หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่าธรรมะของท่าน ในหัวใจของท่าน ทุกคนจะบอกว่าหลวงตานี่เป็นพระอรหันต์ หลวงตาเป็นครูบาอาจารย์ที่ดี ทำไมหลวงตาไม่ไปแก้ปัญหานั้นๆๆ หลวงตาท่านบอกว่า “น้ำพริกถ้วยเดียว”

น้ำพริกถ้วยหนึ่งนี่รสชาติมันเข้มข้นนะ ถ้ามีสิ่งใด มีผักจิ้มน้ำพริกอร่อยนะ แต่น้ำพริกถ้วยนั้นถ้าไปละลายลงแม่น้ำมันจะไม่มีรสชาติเลย เพราะแม่น้ำนี้ใหญ่โตมาก

เราจะบอกว่าปัญหาสังคม ปัญหาของโลก ปัญหาในวัฏฏะนี่มันกว้างขวางลึกซึ้งนัก แล้วเราจะเอาความรู้ความเห็นเถรตรง แล้วไปบอกว่าไปตัดสินปัญหาทุกๆ ปัญหา มันเป็นเรื่องสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นความคาดหวังของโลก ความคาดหวังของสังคม บอกครูบาอาจารย์เรานี่เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี ปัญหาสิ่งใดต้องแก้ได้ ต้องจัดการได้ ทุกอย่างต้องทำได้.. จัดการได้แก้ได้ ถ้ามันเป็นวาระที่แก้ได้ อย่างเช่นหลวงปู่มั่นท่านไปแก้ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ๆ เช่นหลวงตาท่านไปแก้หลวงปู่คำดี หลวงปู่บัว หลวงปู่ฝั้น ท่านแก้ของท่านเพราะฝ่ายที่กระทำนั้นเขาพร้อม เขาพร้อมแบบว่าเขาปฏิบัติมาแล้ว เกือบจะถึงที่สุดแล้วแต่ยังติดขัดอยู่ ท่านก็ไปแก้ต่อ แต่กรณีอย่างนี้หลวงตาท่านพูดอยู่ ท่านพูดบอกว่าบารมีใหญ่นะ ใครอย่าไปนั่นนะ อันนั้นท่านพูดอยู่

ฉะนั้นความเห็นของเรา เรายังเห็นความเห็นของเราอย่างนี้ แต่ในเมื่อโลกเขามีความเห็นไปเพราะว่าความคิดของโลกมันแตกต่างมาก ความเห็นแตกต่างมาก กรณีอย่างนี้ก็มีพระมาคุยกับเราหลายคนจะให้เราเห็นด้วยๆ เราก็ยังไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยหรอก ฉะนั้นเราจะบอกว่าเรายืนอยู่ในความรู้สึกของเรา

ฉะนั้นเจ้าของคำถามว่าเคยอ่านประวัติก็ให้เชื่อประวัติไป หรือว่าจะเชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ความเห็นของผู้ที่เขียนปัญหามาถามนี้ เราไม่ตัดสิน ! เราไม่ตัดสิน ทีนี้เพียงแต่ว่าเราเป็นคนพูดออกมาเองเรื่องพุทธภูมิ เพราะเขาถามมาเรื่องพุทธภูมิ เราเป็นคนยกตัวอย่าง ยกตัวอย่างหลวงปู่จาม ยกตัวอย่างของผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิมันจะมีทัศนคติอย่างนี้ แล้วทำอย่างนี้ เรายกตัวอย่างเพราะว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา เป็นพระในสังคมเดียวกัน เราพยายามจะไม่ยกตัวอย่างพระสังคมอื่น เพราะถ้ายกตัวอย่างพระสังคมอื่น อย่างนี้มันจะมีปัญหากันไปเรื่อยๆ ไง

มีปรารถนาพุทธภูมินี้เยอะมาก เยอะจริงๆ เพราะโดยธรรมชาติของคนใครก็อยากจะมีความสุข ใครก็อยากร่ำรวย ใครก็อยากทั้งนั้นแหละ แล้วทำไปนี่มันถึงที่สุดไหม หลวงตาบอกเลยนะว่าปรารถนาพุทธภูมิล้านองค์ เวลาทำไปๆ ก็ลาไปเรื่อยๆ ลาไปเรื่อยๆ บางทีเราปรารถนาพุทธภูมิ แต่ถ้าเราปรารถนาไม่ได้ชัดเจนมันก็ไม่ได้ผล ถ้าปรารถนาพุทธภูมิชัดเจนขึ้นไปแล้ว เวลามันปรารถนาไปๆ มันไปเห็นว่าจิตเราดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น มันเห็นว่าพ้นทุกข์ดีกว่า

มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่งเขามาถามปัญหาเรื่องภาวนา แล้วเขาภาวนาไป ภาวนาไปนี่ดีมาก จิตของเขานี่ดีมาก แล้วมีความรู้เห็นอะไรแปลกๆ มากเลย แล้วมันไปไม่ได้ไง มันไปไม่ได้เพราะเขาฟังเทศน์หลวงตานี่แหละแล้วเขาอยากพ้นทุกข์มาก แล้วเขาก็มาปรึกษาเรา เราก็บอกว่าให้ลาพุทธภูมิ !

นี่คำพูดเขานะเขาเล่าให้ฟังเอง เขาก็บอกว่าให้กำหนดจิตให้สงบ ลาพุทธภูมิเราคิดว่าจะลากันอย่างนี้เหรอ ไม่ใช่ ! เพราะหลวงปู่มั่นเวลาท่านจะลาพุทธภูมินะ ท่านทำจิตของท่านสงบ พอจิตสงบนี่รำพึงขึ้นมาในหัวใจ รำพึงขึ้นมาในหัวใจ โยมนี้เขาก็ไปทำ พอเขาไปทำนะ พอจิตเขาสงบปั๊บเขาพยายามลา ลาความผูกพันเรื่องคุณงามความดีที่เราสร้างมาไง พอลาปั๊บนะเขานั่งสมาธิของเขา

เขาเล่าให้ฟังเอง มันมีช้างนะช้างทรงเครื่อง ช้างทรงเครื่องเหมือนช้างปกตินี่แหละเดินเข้ามาหาเขาแล้วทรุดตัวลง แล้วเขาก็ภาวนาต่อไปลาอีก ภาวนาต่อไป ภาวนาต่อ พุทโธต่อไป เขาเห็นช้างทรงเครื่องนะเดินเข้ามาหาเขาอีก แต่ ! แต่ช้างทรงเครื่องนี้เล็กลงครึ่งหนึ่ง เล็กลงครึ่งหนึ่งเดินเข้ามาหาเขาแล้วก้มลง ยอบตัวลงอีก เขาก็ลาอีกๆ

นี่การลาพุทธภูมิ นี้เขามาเล่าให้ฟังเองเพราะเราแก้เขาเอง สุดท้ายเขาลาอีก แล้วเขานั่งทำพุทโธ พุทโธไปจิตสงบอีกเห็นช้างตัวเท่าหมูแล้วก็เดินเข้ามา เดินเข้ามานะเขาเห็นของเขาเองนะ เขาเห็นเป็นนิมิตไง เขาเห็นของเขาเองแล้วเดินเข้ามาหาเขา แล้วแบบว่าเหมือนกับช้างหมอบลง ช้างหมอบลงต่อหน้าเขา นี่คือผลของเขาหมดนะ.. เวลาคนทำ นี่บารมีของคนไม่เหมือนกัน เราพูดตั้งแต่ทีแรกแล้วว่าจิตของคน พันธุกรรมของคนไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นหลวงปู่มั่นท่านก็ลาของท่าน หลวงปู่มั่นท่านแก้เจ้าคุณอุบาลีที่โบสถ์วัดเจดีย์หลวงก็เรื่องของท่าน คนจะทำมันต้องมีเหตุมีผล ฉะนั้นสิ่งที่เป็นไป.. โลกนี่เรื่องของจิต ดูสินิสัยใจคอเรายังแปลกประหลาดมหัศจรรย์ขนาดนี้ แล้วความคิดของจิตใจนี่มหัศจรรย์นัก ฉะนั้นพระไตรปิฎกนี่เป็นวิทยาศาสตร์ พอเราอ่านพระไตรปิฎกเราก็ยึดตรงนั้น แต่ในพระไตรปิฎกบอกเลยบอกว่า

“ข้อเท็จจริงในโลกนี้เหมือนใบไม้ในป่า พระไตรปิฎกเหมือนใบไม้ในกำมือ”

คือข้อเท็จจริงที่มันจะเป็นมันยังมากมายมหาศาลกว่านี้เยอะนัก แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ สอนไว้ให้พวกเราทำได้ ทำได้ เท่านั้นเอง ฉะนั้นเรื่องที่เป็นไป คนภาวนาเข้าไปแล้วจะเห็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ว่ามันเป็นอย่างใด

ฉะนั้นเรื่องนี้ เรื่องมันมีความเห็นแตกต่างกันไป เรื่องของสังคม.. เรายกให้สังคมนะ เรายกให้สังคม ยกให้สังคมจัดการกันไป แต่เวลาทุกคนภาวนาแล้วนี่ อย่างเช่นเวลาทำความสงบของใจ ใจจะกลับมาสู่ฐานของตัวเอง สงบที่ตัวเรา แล้วพอจิตของเรา ตัวเราออกใช้ปัญญานี่สติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วถ้าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา เป็นพระอรหันต์บุคคลนั้นต้องเป็นเอง ไม่มีใครจะเป็นคนพยากรณ์ ไม่มีใครเป็นคนจัดการให้ ไม่มี

แม้แต่พระพุทธเจ้านะ เวลาพระมากราบนี่ว่าใครทรมานมา แล้วภาวนามาอย่างไร ถ้ามันไม่มีเหตุไม่มีผลพระพุทธเจ้าไม่รับหรอก นี่ในสมัยพุทธกาลนะมีพระกลุ่มหนึ่งเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้พระไปดักไว้ข้างหน้าไม่ต้องเข้ามาหาเรา ให้เข้าไปที่ป่าช้าเลย พอเข้าไปป่าช้านี่ไปเห็นซากศพมันเกิดความหวั่นไหว พระที่นั่นรู้เองเลยว่าตัวเองไม่ใช่พระอรหันต์

ความจริงเราจะบอกว่าใจของผู้ที่เป็นนี่รู้ทุกคน ! รู้ทุกคน แต่จะเป็นหรือไม่เป็นใจนี่รู้อยู่แล้ว เพียงแต่เวลาพูดออกมามันเป็นการสื่อ แล้วทีนี้สังคม นี่สังคมเกิดปัญหาแล้ว ฉะนั้นสังคมเกิดปัญหาแล้ว.. เราจะบอกว่าตอนนี้เนาะเว็บไซต์เราเลยเป็นถังขยะเนาะ ปัญหาใดก็จะมาตกอยู่ที่เว็บไซต์เราหมดเลย

เว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นมานี้เพราะสงสาร เพราะว่าต้องการพูดความจริงแล้วอยากไว้ให้เป็นประเด็นหนึ่ง เพื่อเวลามีปัญหาเขาเรียกว่าอะไรนะ ความเห็นต่าง.. ให้มีความเห็นต่าง ให้มีสิ่งที่เปรียบเทียบได้ เราถึงคิดจะทำออกไปเพราะเหตุนี้ไง เว็บไซต์เรานี่พูดออกไปๆ เพราะเป็นประเด็นหนึ่ง แล้วเทียบเคียงกันว่าสิ่งใดผิดชอบชั่วดีเพื่อประโยชน์กับสังคม เอวัง