ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจมันเป็น

๑๓ ก.พ. ๒๕๕๔

 

ใจมันเป็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาเลยเนาะ มันข้อ ๓๓๓. เลยล่ะ

ถาม : ๓๓๓. เรื่อง “กราบเรียนถามพระอาจารย์สงบ ศีลภิกษุมีกี่ข้อคะ”

ศีลพระภิกษุมี ๑๕๐ ข้อหรือ ๒๒๗ ข้อ

หลวงพ่อ : ประเพณีวัฒนธรรมไทย ถ้าบอกประเพณีวัฒนธรรมเขาก็จะบอกว่าพระไตรปิฎก ข้อเท็จจริงสำคัญที่สุด

เราก็พูดอยู่วัฒนธรรมนี่มันไม่ใช่ธรรม ธรรมะเหนือวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือเปลือก แต่สังคมไทย สังคมไทยเถรวาทนี่เขาถือมา ๒๒๗ จะบอกว่า ๒๒๗ ใช่ไหม แล้วที่ว่า ๑๕๐ ฉะนั้นมันก็เป็น ๒ มาตรฐาน ถ้าทำอย่างนี้ไปมันก็เป็นนานาสังวาส นานาสังวาสนี่ภิกษุจะเข้ากันไม่ได้

ฉะนั้นถ้าพูดถึงเป็นความจริง ๑๕๐ หรือ ๒๒๗ เรายังไม่ควรเอามาปฏิบัติ เราควรจะเอาทางวิชาการมาถกกันให้จบก่อน หมายถึงว่าถ้าเรามีความเห็นอย่างนี้ แต่เรายังไม่ทำให้มันแตกเป็นสองกลุ่มสามกลุ่มไปก่อน แต่ถ้ามันเป็นมุมมองเราต้องเอามุมมองนี่มาถกกันก่อน มาทำการวิจัยให้สรุปกันว่าเราจะลงกันที่ไหน แล้วถ้าทำอย่างนั้นไป สงฆ์มันก็เป็นหมู่เดียว

เหมือนกับสภา ถ้าเวลาเขาประชุมกัน ถ้าไม่ใช่ ส.ส. เขาไม่ให้ประชุมนะ แม้แต่ได้เลือกตั้งแล้ว กกต. ยังไม่ยอมรับ ยังไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมนะ แล้วนี่ศีล ๒๒๗ กับศีล ๑๕๐ เขาจะประชุมกันอย่างไร เขาจะลงอุโบสถกันได้อย่างไร มันก็เป็นนานาสังวาสนะ ถ้าเป็นนานาสังวาสมันเป็นทิฐิ มันเป็นมุมมอง นี่อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติในการใช้ชีวิตของพระนี่พระต้องลงอุโบสถ ทีนี้การลงอุโบสถ ในเมื่อความเห็นแตกต่างกันถือว่าเป็นนานาสังวาส ภิกษุเป็นนานาสังวาส จะร่วมอยู่ ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมอุโบสถ ร่วมทำสามีจิกรรมกันไม่ได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นเราไม่ลงรายละเอียดนะ

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ กรณีการประพฤติปฏิบัติทำไมเราไม่พูดกันเรื่องธรรมะล่ะ ทำไมเราไม่พูดกันเรื่องศีล ศีลมันเป็นพื้นฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิทำอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร แล้วชำระกิเลสอย่างไร ถ้ามันชำระกิเลสไปแล้วนะไอ้เรื่องศีล ๑๕๐ หรือ ๒๒๗ นี่ไม่เป็นปัญหาเลย.. หลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่ชา พวกพระ หลวงปู่ทองรัตน์ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านบอกไม่ให้ญัตติเป็นธรรมยุต ท่านบอกถ้าญัตติเป็นธรรมยุตหมดแล้ว แล้วฝ่ายมหานิกายเขาจะเอาอะไรเป็นที่พึ่งอาศัยกัน

นี่ดูน้ำใจของหลวงปู่มั่นสิ น้ำใจของหลวงปู่มั่นบอกว่ามหานิกายนี่ไม่ต้องญัตติ ไม่ต้องญัตติ ที่ญัตติท่านก็ให้ญัตติ ที่ไม่ให้ญัตติท่านก็ไม่ให้ญัตติ ท่านบอกว่าให้เป็นหลักเป็นชัยในฝ่ายของมหานิกายเขา เขาจะได้มีหลักยึด เขาจะได้มีที่ปรึกษา เขาจะได้มีครูบาอาจารย์ชี้นำของเขา นี่มันไม่เห็นแบ่งแยกตรงไหนเลย พอเราปฏิบัติธรรมไปแล้ว ทำถึงที่สุดแล้วมันก็อันเดียวกันนั่นแหละ เห็นไหม ท่านถึงบอกว่าไก่มันยังมีชื่อว่ะ.. คณะไหนชื่อไหนก็แค่ชื่อไง นี่แค่ชื่อ แค่ชื่อมันก็เป็นแค่พื้นฐาน

ฉะนั้นจะบอกว่าศีลภิกษุ ๑๕๐ หรือ ๒๒๗ เราจะบอกถ้าเป็นวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมเถรวาทคือ ๒๒๗ ไอ้ ๑๕๐ เขาจะพูดอย่างไรนั่นมันเรื่องของเขา เป็นทิฐิเป็นความเห็นของเขา พอความเห็นของเขา เขาก็ต้องไปสางทิฐิกันเอง แล้วพอเวลาปฏิบัติเป็นโสดาบันอย่างไร เป็นสกิทาคา เป็นอนาคาอย่างไร เป็นพระอรหันต์อย่างไรอย่างนี้ดีกว่า มาพูดกันที่นี่ดีกว่า.. ในชามข้าว เราต้องบอกว่าในชามข้าวนี่มันมีอาหารหรือเปล่า เราบอกว่าชามข้าวใครสวย ชามข้าวของฉันดีกว่า กรอบไง แล้วในชามนั้นมีอะไรบ้าง ในชามข้าวมีอาหารไหม มีข้อเท็จจริงไหม มีความเป็นธรรมไหม

ฉะนั้นเราจะไม่ลงรายละเอียดนะมันเป็นเรื่องของฝ่ายปกครองเขา แต่ถ้าพูดถึงโดยประเพณีวัฒนธรรม ๒๒๗ แล้ว ๒๒๗ มาตลอด แม้แต่ ๒๒๗ ด้วยกัน แม้แต่ถือต่างกันก็ยังแยกเป็นคณะอยู่นี่ แล้วนี้ไปนี่มันไปอีกคณะหนึ่งเลย ฉะนั้นพระที่ลงอุโบสถอย่างนั้นออกมาแล้วมันจะเข้ากับหมู่ได้อย่างไร

นี่มันก็เป็นปัญหาไปนะ มันเป็นปัญหาไป ยกไว้ ให้เป็นหน้าที่ของพระฝ่ายปกครอง เขาต้องปกครองสงฆ์ เราเป็นพระป่า เราเป็นผู้ปฏิบัติ เราไม่มีอำนาจ อำนาจโดยข้อกฎหมายไม่มี แต่เขามีทิฐิ เราก็ต้องมีทิฐิเนาะ เราก็มีความเห็นของเราเหมือนกัน ทิฐิของเขา ๑๕๐ ก็เรื่องของเขา เราก็มีทิฐิของเราเหมือนกัน เห็นไหม มันก็แตกแล้ว แล้วถ้าเราทำเพื่อสมานสามัคคี กระทำเพื่อแตก แค่นี้มันก็เห็นแล้วว่าทำเพื่ออะไร แล้วทำแล้วได้ประโยชน์อะไรเนาะ

ถาม : ๓๓๔. เรื่อง “ในชีวิตประจำวันหนูรู้สึกจิตสังเวชอยู่บ่อยๆ หนูควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเจ้าคะ”

นมัสการหลวงพ่อ หนูนั่งสมาธิฟังธรรมหลวงพ่อทางอินเตอร์เน็ต พอหนูได้ยินหลวงพ่อพูดคำว่า “ตาย” น้ำตามันไหลขณะนั่งสมาธิอยู่ เป็นถึง ๖ ครั้งค่ะ ครั้งที่ ๗ หนูเห็นตาซ้ายหนูหลุดออกมาจากเบ้าตา หน้าตาเละเลย หลังจากนั้นในชีวิตประจำวันหนูก็รู้สึกจิตสังเวชอยู่บ่อยๆ เช่น

๑. ไปโรงพยาบาลเห็นการเกิด การแก่ การเจ็บ จิตเกิดสังเวชน้ำตาไหล

๒. อ่านหนังสือธรรมะถึงว่า เราเกิดมาหลายแสนหลายล้านชาติ กระดูกกองกันเป็นภูเขา ร้องไห้กันจนน้ำตาเป็นแม่น้ำ จิตก็เกิดสังเวชน้ำตาไหลอีก

๓.เดินไปตามถนนเห็นผู้คน จิตคิดว่าทุกคนเกิดมาเพื่อรอเวลาตายกันเท่านั้น จิตเกิดสังเวชน้ำตาไหลอีก

หนูรู้สึกเบื่อหน่าย หนูควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเจ้าคะ กราบนมัสการ

หลวงพ่อ : เวลาจิตมันดี นี่น้ำขึ้นก็มีน้ำลง เวลาน้ำขึ้น เวลาจิตใจของคนมีคุณธรรม จิตใจของคนมีความรู้สึกที่ดี มันทำให้สลดสังเวช น้ำตาไหลนะ

เวลาหลวงตาท่านพูดนะ “น้ำตาล้างภพล้างชาติ กับน้ำตาเศร้าโศกเสียใจทุกข์ยากมันแตกต่างกัน” น้ำตาทุกข์ๆ ยากๆ น้ำตาสร้างโลก น้ำตาทุกข์ยากเสียใจมีแต่ความสร้างโลก น้ำตาชำระล้าง เห็นไหม น้ำตา เวลาปฏิบัติไปถึงที่สุดนะที่สุดแห่งทุกข์ น้ำตาแตกพังไปหมดเลย มันเหมือนน้ำตาที่ชะล้างครั้งสุดท้าย เราจะไม่เกิดมาเจ็บช้ำน้ำใจอย่างนี้อีกแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่มันเป็นมันเป็นธรรมสังเวช

ธรรมสังเวช อาหารนี่ เราทำอาหารกว่าอาหารจะสุกมันต้องกึ่งดิบกึ่งสุก แล้วอาหารจะสุกต่อไปข้างหน้า.. จิตของคน จิตของคนเวลามันดิบๆ เห็นไหม มันไม่คิดสิ่งใดเลย มันเอารัดเอาเปรียบ มันเอาแต่ทำลายตัวมันเองโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลย นั่นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราไม่เคยสังเวช เราไม่เคยฉุกคิด เราไม่เคยมีสิ่งใดสะกิดใจเลย แต่เวลามันเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม นี่ฟังธรรมนะ ฟังธรรมแล้วมันสะเทือนหัวใจนี่สุดยอดมาก

เพราะการสะเทือนหัวใจนะ พอสะเทือนหัวใจทำให้มีสติมีความยั้งคิด พอมีความยั้งคิดนะ พอมีความยั้งคิดนี่มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปเลยนะ ถ้าเรามีความโลภ ความโกรธ ความหลงตามแต่จริตนิสัยของเรา มันจะย้ำคิดย้ำทำเหมือนร่องน้ำ ร่องน้ำนี่น้ำมันไหลไปทางร่องน้ำตลอดไป ร่องน้ำจะเป็นคลอง เป็นแม่น้ำ เป็นทะเล

ความคิด ความทุกข์ ความยากนี่มันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะอยู่อย่างนั้นแหละ ทีนี้พอร่องน้ำมันเปลี่ยน เห็นไหม พอเราฟังเทศน์เรามีปัญญาของเรา เราศึกษาของเรา แล้วมันเปลี่ยนแปลงของมัน นี่มันมีสติ พอมันมีสติมันเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิด มันเปลี่ยนแปลงชีวิตนะ เวลาคนทำคุณงามความดีมันเป็นความดีพื้นฐาน คนเขียนปัญหามาถามเยอะมาก ไม่อยากอยู่อยากจะบวช เวลาพระเราบวชนี่สึกหมดแล้ว มาบวชกับเรานี่สึกเกลี้ยงเลย

นี่ก็เหมือนกัน อยากบวช โอ๋ย.. อยากจะประพฤติปฏิบัติ โอ๋ย.. อยากอะไรนี่ เวลาน้ำมันขึ้น น้ำมันขึ้น เวลาน้ำมันลงโอ้โฮ.. ดินนี่แตกระแหงไปหมดเลย น้ำไม่มีสักหยด

ฉะนั้นเวลาน้ำมันขึ้นเขาถามว่า “หลวงพ่อหนูจะปฏิบัติตัวอย่างไรคะ”

เราตั้งสติไว้ เราตั้งสติของเรานะ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์นะ คือมันเป็นคุณสมบัติของจิต คุณสมบัติของเรา มันได้มีความกระทบมีความรับรู้สึกนี่มันเป็นความดีของเรา แต่สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดคงที่หรอก ความชั่วมันก็แปรปรวนนะ ความดีมันก็แปรปรวนนะ ความแปรปรวนเพราะจิตเรา ความรู้สึกนึกคิดเรามันแปรปรวน ไม่มีอะไรคงที่หรอก

ฉะนั้นเวลาถ้ามันชั่ว เวลามันทำชั่ว.. คำว่าแปรปรวน ถ้าเรามีสติยับยั้งนี่เราแก้ไขได้ ความชั่วก็แก้ไขได้ ความดีเราควรจะส่งเสริมให้มากขึ้นไม่ใช่แก้ไข ความดีแก้ไขให้เป็นความชั่วไม่เอา ความชั่วแก้ไขเป็นความดีได้ ความดีจะส่งเสริมให้มากขึ้น.. หลวงตาท่านสอนว่า รถ ในขบวนของรถนี่นะเบรกนี่สำคัญมาก รถถ้าไม่มีเบรก รถออกไปจะวิ่งบนถนนไม่ได้หรอก มีแต่ความเสียหายตลอดไป เบรกของรถนี่นะ เบรกต่อเมื่อเรามีสิ่งกีดขวาง เราจะเลี้ยว เราจะกลับหัวมันต้องมีเบรก

สติปัญญาของเรา เราจะต้องมีเบรก คำว่าเบรก เห็นไหม ในชีวิตเรามีสติปัญญา เบรกนี่สำคัญมากเลย แต่ถ้าเวลามันมีสิ่งที่เป็นคุณงามความดี เช่นระยะต้องเป็นทางไกล รถเราจะเดินทางไกลเราต้องเหยียบ เราต้องเหยียบคันเร่งเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น.. จิตของเราเวลามันดี เวลามันดี เห็นไหม น้ำตาไหล คิดถึงความตาย ชีวิตนี้มันน่าเศร้าใจ นี่เหยียบคันเร่ง เหยียบคันเร่ง ! เพราะอะไร เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง เดี๋ยวมันก็จะตก เดี๋ยวมันก็จะตก

นี่จะให้ทำอย่างไรเจ้าคะ.. สิ่งที่มันจะเสียใจร้องไห้ต่างๆ มันไม่มีผลกระทบอะไรกับเราหรอก มันไม่มีผลกระทบในชีวิตประจำวันเราหรอก เพียงแต่มันเตือนสติแล้วมันเป็นแบบปีติ มันเป็นเริ่มต้นที่ว่าเรามีความรู้สึกนี่มันเป็นปีติ.. วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ พอเกิดปีติ เกิดน้ำตาไหล เกิดต่างๆ นี่มันเกิดปีติ เกิดความสุข แต่ปีตินี่พอเราเจอบ่อยๆ ครั้งเข้ามันก็จะเจือจางไป เจือจางไป เราตั้งสติของเราไว้

เวลาเราเห็นนะ จิตใจมันยังดีอยู่ เห็นนี่เป็นคนดี โยมเห็นโจรเขาปล้นร้านทองกันไหมล่ะ เวลาเขาปล้นร้านทองเขาต้องสังเกต ต้องรอจังหวะแล้วเขาค่อยปล้นชิงทองของเขา นี่เวลาอารมณ์อย่างนั้นเป็นอย่างไรล่ะ แล้วเวลาเราไปเดินบนถนน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายนี่เขาจะรอวันตาย เห็นไหม จิตใจที่เป็นสาธารณะ จิตใจที่เป็นประโยชน์ แต่คนที่เอารัดเอาเปรียบบนถนนเขาทำอะไรกันล่ะ

เขาบอกว่า “เวลาเดินบนถนนเห็นผู้คน คิดว่าทุกคนเดินมาเพื่อรอเวลาตายทั้งนั้น จิตเกิดสังเวช” นี่ถ้าคนมีจิตใจอย่างนี้หมด บนถนนนั้นจะมีการแย่งชิงกันไหม บนถนนนั้นจะมีการเบียดเบียนกันไหม บนถนนนั้นมีแต่คนดีๆ ทั้งนั้นเลย แล้วเราจะหาจิตคนดีๆ อย่างนี้ได้ไหม มันมีกี่คน นี่จิตของคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นของเราดีอยู่แล้วเราทำคุณงามความดีของเรา

“หนูควรปฏิบัติตัวอย่างไร” นี่ถ้ามันศึกษาแล้วทำความสงบของใจซะ ทำความสงบของใจ สร้างพลังงาน ถ้าพลังงานมันดีขึ้นมาชีวิตเราจะดีขึ้น ชีวิตประจำวันเราก็ทำงานของเรา มีเวลาปั๊บเราก็ภาวนาของเรา เร่งภาวนาของเรา ดูคุณภาพจิตของเรามันจะขึ้นได้สูงแค่ไหน ถ้าคุณภาพจิตของเราสูงขึ้นมานะ พอจิตมันสงบขึ้นมานะ พอมันออกพิจารณาของมัน มันจะแปลกประหลาดกว่านี้

อันนี้มันเป็นเรื่องของอภิญญาไง คำว่าอภิญญานี่จิตรู้วาระจิต จิตรู้นี่มีฤทธิ์ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องของฌานโลกีย์ นี่ก็เหมือนกันมันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกมันยังไม่เข้ามาสู่ความสงบไง มันก็มีความรู้สึกอย่างนี้ แต่เพราะจิตใจมันมีคุณภาพยังดีอย่างนี้ มันก็คิดอย่างนี้ แต่ถ้าเวลาเข้ามาสู่ความสงบนะ นี่เรากำหนดพุทโธ ถ้าจิตมันดีอยู่แล้วให้มันสงบเข้ามา พอมันปล่อยเรื่องสังเวชต่างๆ เข้ามามันสงบของมันเข้ามา แล้วออกพิจารณาของเรานะ ออกพิจารณาชีวิตจริงๆ นี่แหละ นี่มันจะถอดถอนนะ ถ้าคราวนี้ถอดถอนนะมันมีคุณภาพเลย เพราะจิตถ้ามันถอดถอนกิเลสแล้วมันจะเป็นอกุปธรรมคือสิ่งคงที่ไง

วัฒนธรรมประเพณี เห็นไหม วัฒนธรรมเกิดจากจิต วัฒนธรรมนี่มนุษย์สร้างขึ้น มนุษย์ทำขึ้น แต่ถ้าตัวธรรมล่ะ ตัวธรรมคือตัวจิตมันเป็นธรรม ถ้าตัวจิตเป็นธรรมนะสิ่งนั้นเป็นสภาวะแวดล้อมอยู่ข้างนอก นี่มันจะเป็นคุณธรรมเข้ามา.. ฉะนั้นตั้งสติ ถ้ากำหนดลมหายใจ กำหนดพุทโธ กำหนดอะไรก็แล้วแต่นี่กำหนดชัดๆ เข้ามา มันจะละเอียดเข้ามา แล้วพยายามสร้างขึ้นมา แล้วออกใช้ปัญญาอีกรอบหนึ่ง

นี่การใช้ปัญญา “ข้อ ๓. เดินไปบนถนนเห็นผู้คน” เดินไปบนถนน เห็นไหม “จิตคิดว่าทุกคน” เราเดินไปบนถนนทุกคนนี่ ประสาเรานะมันจะเป็นเรื่องของโลก เป็นสัญญาอารมณ์ เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้ามันสงบเข้ามานะมันจะเป็นอริยสัจ มันเป็นสัจธรรมที่จิตมันทำงาน ตอนนี้เราทำมาหากินกันอยู่ ใช้ชีวิตประจำวันของเราไปนี่เราใช้วิชาชีพ เราก็มีจิตเหมือนกันทำงานเหมือนกันแต่ทำงานเพื่อดำรงชีวิต

แต่ถ้าจิตล้วนๆ ภาวนามยปัญญาคือจิตล้วนๆ พอมันสงบเข้ามานี่มันย้อนกลับเข้าไปข้างใน เวลามันทำงานของมันมันเป็นมรรคญาณ.. อริยทรัพย์อันนี้ ความเป็นทิพย์อันนี้มันจะทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตมหาศาลเลย แล้วถ้าเข้าใจแล้วปัญหานี้มันจะพ้นไป

 

ถาม : ๓๓๕. เรื่อง “กระผมจะต้องปฏิบัติอย่างไรเพิ่มเติมอีกครับ”

กระผมภาวนาดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ควบคู่กับการดูลมหายใจแล้วนึกพุทโธ พุทโธเร็วๆ จึงทำให้กระผมมีความรู้สึกตั้งมั่นแยกตัวออกจากความสุขความทุกข์ จิตที่นึกพุทโธ พุทโธไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ความสุขความทุกข์มีการเปลี่ยนแปลง กระผมอยู่กับจิตที่นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ ส่วนความสุขความทุกข์ก็ปล่อยให้เขาเปลี่ยนแปลงไป สุดแล้วแต่เหตุและปัจจัยของเขาเอง ด้วยวิธีการนี้จึงทำให้ผมผ่อนคลายความหนักหน่วงถ่วงใจออกไปได้ทีละเล็กทีละน้อย กระผมขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า กระผมจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไปครับ

หลวงพ่อ : ดูการเคลื่อนไหวเนาะ

“กระผมภาวนาดูการเคลื่อนไหวของกาย ควบคู่กับดูลมหายใจและนึกพุทโธไป”

ถ้าทำมาอย่างนี้ ถ้าถามหลวงตา หลวงตาบอกว่า “ถูก !”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป”

“ให้ซ้ำเข้าไปอีก ทำต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องไป” เพราะมันถูกแล้ว พอมันถูกแล้วนี่มันเป็นเรื่องหยาบใช่ไหม เราพัฒนามันก็จะละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ

ถูก ! พิจารณาลมหายใจ พิจารณาพุทโธ แล้วพิจารณาการเคลื่อนไหว พิจารณากายไป เพราะเวลาอยู่กับพุทโธ เห็นไหม ความสุขความทุกข์มันเปลี่ยนแปลง อารมณ์มันยังเปลี่ยนแปลงอยู่ ทำต่อไปเรื่อยๆ ทำต่อไปเรื่อยๆ

ถูก ! คำว่าถูกไม่ใช่ถูกแล้วจบ ถูกแล้วต้องขยัน ถูกแล้วต้องทำให้มากขึ้น ถูกแล้วขยันหมั่นเพียรไป มันจะทำของมันไป

 

นี่คำถามเขา เขากลับไปพอดี คำถามเขาคือคำถามนี้ อันนี้ยาว อันนี้มันจะถามมาเยอะ แล้วนี่ว่าที่ดีจะดีอันนี้

ถาม : ๓๓๖. เรื่อง “เพราะเหตุใดเมื่อเกิดปัญญาโดยพิจารณากายว่าไม่มีตัวเราแล้วกิเลสจึงหาที่ลงในจิตไม่ได้”

กราบนมัสการถามหลวงพ่อ ๓ คำถาม

๑. นั่งสมาธิแล้วพิจารณาดูกายไปมา แล้วเห็นภาพกายชัดเจนมากในใจ แล้วเอ๊ะ.. มันเป็นเราตรงไหนหว่า เลือดที่พุ่งขึ้นพุ่งลง ที่นึกไม่ออกว่ามันเป็นเราตรงไหน มามองด้านข้าง มามองด้านหลังก็นึกไม่ออกว่ามันเป็นเราตรงไหน เห็นมีแต่เนื้อแดงๆ บ้าง เนื้อสีแดงเข้มๆ บ้าง กำลังเคลื่อนตัวไปเคลื่อนตัวมาเล็กน้อย มันเป็นเราตรงไหนก็นึกไม่ออก เอ๊ะ.. แล้วตกลงความเป็นตัวเรามันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็นึกไม่ออก แต่ประเดี๋ยวเดียวก็ปิ๊ง ! ขึ้นมาเลยว่า

“อุ๊ย.. แต่ไหนแต่ไรมามันก็ไม่เคยมีตัวเราเลยนี่หว่า โอ้.. แต่จิตที่หลงคิดว่ามีตัวเรายึดแน่นอยู่ในจิตเรามาได้ตั้งนาน มันช่างซื่อบื้อเหลือเกิน”

เท่านั้นเองจิตนี้บริสุทธิ์มากเลยครับ ลืมตาออกมาใช้ชีวิตทางโลกมี

๑.๑จิตที่บริสุทธิ์ไม่มีกิเลสอะไรอยู่ที่จิตนี้เลย ตามความรู้สึกของผมนะครับ

๑.๒ แต่รู้ว่าควรทำอะไร และก็ทำหน้าที่ไปตามสมมุติในโลก เช่นสามี บิดา ลูก และอื่นๆ

๑.๓ ที่ทำลงไปเพราะต้องการให้เกิดความดี และผลดีๆ ตกแก่โลกใบนี้เท่านั้น จิตใจมีแต่ความเมตตากรุณา

อาการอย่างนี้เป็นอยู่พักหนึ่งแล้วก็เป็นปุถุชนตามเดิม เรียนถามหลวงพ่อว่าเมื่อเกิดปัญญาแล้ว โดยพิจารณากายว่าตัวเราไม่เคยมีมาเลย เหตุใดกิเลสจึงหาที่ลงจิตไม่ได้เลย ส่งผลให้เกิดความบริสุทธิ์มาก

หลวงพ่อ : เราจะอธิบายตรงนี้ก่อน อธิบายเวลาเขาภาวนา เห็นไหม เวลาคนภาวนาไป นี่เขาเรียกว่าปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ผลเกิดกับตัวเอง แต่ตัวเองก็ยังไม่เข้าใจ อย่างเช่นการพิจารณากายนี่ถูกต้องแล้ว การพิจารณากายมาเรื่อยๆ เวลาพิจารณากาย ขณะพิจารณาจิตมันเริ่มสงบ เห็นไหม จิตสงบแล้วพิจารณากายไปนี่เกิดปัญญา ปัญญามันจะเคลื่อนไหวไป

ถ้าเวลาทำความสงบของใจนะ พุทโธ พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธินี่ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือสมาธิ แต่พอเกิดสมาธิแล้วเราใช้ปัญญาออกไป ใช้ปัญญาออกไป เห็นไหม ที่บอกว่าพอจิตมันสงบแล้วพิจารณาดูกาย.. ถ้าดูกายไปนะ พอดูกายไป ถ้าจิตยังไม่สงบดูกายไปมันก็เพื่อความสงบ แต่พอดูกายไปพอจิตมันสงบแล้วนี่มันเกิดสมาธิ

สมาธิเป็นพื้นฐาน เวลาพิจารณากายไปนี่มันเกิดอะไร มันเกิด เห็นไหม อย่างเช่นปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าจิตคนสงบยากนะ พุทโธ พุทโธนี่มันสงบไม่ได้ แต่คนทำสมาธิจนชำนาญแล้วนี่จิตมันสงบได้ง่ายขึ้น พอสงบได้ง่ายขึ้น พอเวลาทำงานไปมันจะเกิดความชำนาญขึ้น ฉะนั้นการพิจารณาดูกายไปนี่ใจชัดเจนมาก ดูซ้ายดูขวาดูต่างๆ ขณะที่ดูนี้คือการกระทำ

นี่เวลาเราทำงานอยู่ ทำงานอยู่ แต่ผลมันจะเกิดตรงนี้ที่ว่า “อุ๊ย !” พอมันปิ๊ง ! ขึ้นมา พอมันปิ๊ง ! ขึ้นมาจิตมันสมดุลมันลงตัวไง พอมันลงตัวปั๊บนี่เขาเรียกตทังคปหานมันปล่อยวาง มันปล่อยวางชั่วคราว พอมันปล่อยวางปั๊บ พอขณะมันปล่อยวางดูสิของที่เรากำ มือเรากำของอยู่ แล้วมือนี่เราปล่อยวางของไป มือเรากับของนี้มันแยกจากกัน

สัญญาอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดของคนกับจิตนี่มันอยู่ของมันโดยธรรมชาติของมัน ความคิดของเรากับตัวพลังงานนี่เขาเรียกเสวยอารมณ์ มันจะอยู่ของมันโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเรามีสตินะเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป พอเวลามันปล่อย เห็นไหม เวลามันปล่อยนี่เพราะจิตมันต้องปล่อยขันธ์ จิตต้องปล่อยอารมณ์ พอจิตปล่อยอารมณ์มันจะเป็นสมาธิ นี่มันขั้นของสมถะ แต่พอเวลาพิจารณาไปพิจารณากาย พิจารณากายนี่เวลามันปล่อย พอมันอุ๊ย ! พออุ๊ยแล้วมันก็ปล่อย พอปล่อยปั๊บนี่มันไม่มีตัวเรานี่หว่า มันไม่มีตัวเรานี่หว่า

มันไม่มีตัวเราอยู่แล้ว มันไม่มีแต่ ! แต่เพราะเรามีกิเลสอยู่ เพราะกิเลสมันพายึดอยู่ พอมันพายึดอยู่เราก็เลยไม่เข้าใจ แต่พอเราใช้ปัญญาพิจารณาปั๊บมันก็ปล่อย พอปล่อยขึ้นมา เห็นไหม พอปล่อยขึ้นมาว่า “ทำไมเราช่างซื่อบื้อขนาดนี้ ทำไมเราช่างซื่อบื้อขนาดนี้”

นี่เวลาครูบาอาจารย์พิจารณาไปนะ พอเวลามันปล่อย หรือว่าเวลามันขาดนะ “ทำไมเราโง่ขนาดนี้ ทำไมเราโง่ขนาดนี้” มันจะรำพึงขึ้นมานะทำไมเราโง่มากๆ ของมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วแต่เราไม่เห็น นี่มันเส้นผมบังภูเขา ดูธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นพอมันปล่อยอย่างนี้เพราะจิตมันมีกำลังของมันมันถึงปล่อยของมันได้

ฉะนั้นการที่ว่าพิจารณาอย่างนี้ถูกแล้ว แล้วทำแล้ว เพราะพอมันปล่อยแล้วปั๊บอาการที่เขาบอกไง “ข้อ ๑.๑ จิตที่บริสุทธิ์ไม่มีกิเลสอะไรอยู่ในจิตนี้เลย” คำว่าเป็นสมาธินี่มันเป็นสมาธิแต่มีกิเลสอยู่ใช่ไหม เวลามันปล่อยขึ้นไปนี่มันไม่มีอยู่เลย แต่ความรู้สึกมันมีความรู้สึกอย่างนั้น

ถาม : ๓. อาการอย่างนี้มีอยู่พักหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นปุถุชนเหมือนเดิม

หลวงพ่อ : นี่ตทังคปหานมันเป็นอย่างนี้ ถ้าตทังคปหาน ทำอย่างนี้นี่ถูก ถูกแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไป.. ขยันต่อไปมากๆ

ถาม : เหตุใดกิเลสจึงหาที่ลงจิตไม่ได้เลย

หลวงพ่อ : ไม่ใช่กิเลสมันหาที่ลงจิตไม่ได้ เพราะเราพิจารณาแล้วเราปล่อยกิเลสใช่ไหม กิเลสแบบว่าไฟฟ้านี่มันมีสวิตซ์ เรากดสวิตซ์นี่ไฟฟ้ามันมาได้ไหม สวิตซ์นี่เราปิดเปิดสวิตซ์ พอเราปิดสวิตซ์ไฟฟ้าก็ดับใช่ไหม เราเปิดสวิตซ์ไฟฟ้าก็มาใช่ไหม นี่เวลาพิจารณาไปเราปิดสวิตซ์เป๊าะ ! ไฟฟ้ามันก็ขาด มันก็มาไม่ได้เพราะคัตเอ้าท์มันตัด

นี่ก็เหมือนกันเวลาพิจารณาปั๊บขันธ์กับจิตมันแยก “เหตุใดกิเลสถึงลงจิตไม่ได้เลย” ลงไม่ได้แค่ตอนนั้น ตอนหลังก็ลงได้ พอเปิดสวิตซ์ก็ลงได้ พอปิดสวิตซ์ปั๊บไฟมาไม่ได้ ทีนี้พอปิดสวิตซ์นี่เราปิดเปิดเป็น เห็นไหม ถ้าเราปิดเปิดไม่เป็นนี่มันไม่มี มันธรรมชาติของมัน ดูสิดูไฟฟ้าสถิตบนอากาศสิ เวลาฟ้าผ่านี่ใครปิดเปิดมันได้ ไม่มีสิทธิ์หรอก มันผ่ามาทีหนึ่งล้านๆ โวลต์นี่ใครไปปิดเปิดมันได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติใช่ไหม

แต่เวลาเราปฏิบัติของเรา ความรู้สึกความนึกคิด บ้านของเรานี่เราเดินกระแสไฟ เราเดินสายไฟเข้าเราต้องมีสวิตซ์ปิดเปิดใช่ไหม เพื่อความสว่างของเรา เราปฏิบัติกันอยู่นี้เราทำสมาธินี่ก็เพื่อเดินสายไฟในบ้านของเรา เวลาเดินสายไฟเสร็จถ้ายังใช้ไม่เป็นก็เปิดไฟไม่เป็นก็ยังมืดอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราเปิดไฟเข้ามันก็เข้า เปิดไฟออกมันก็ออก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาขึ้นไปมันมีอาการของมัน มันมีการกระทำของมัน มันบริหารเป็นของมัน จิตมันเป็นของมัน พอมันพิจารณาแล้วมันก็ปล่อย พอปล่อยปั๊บเราก็ปิดไฟ ไฟก็ไม่มา

ถาม : กิเลสจึงหาที่ลงจิตไม่ได้เลย ส่งผลให้จิตนี้สะอาดบริสุทธิ์

หลวงพ่อ : กิเลสที่มันมาไม่ได้เพราะมันใช้ปัญญาพิจารณากาย แล้วพอพิจารณาปั๊บมันก็ปล่อยวางชั่วคราว อันนี้เรียกว่าตทังคปหาน คือการประหารกิเลสชั่วคราว คือการปล่อยวางไม่ใช่สมุจเฉท คือมันยังไม่สุดสิ้น ยังไม่ถึงที่สุด ถ้าไม่ถึงที่สุดนะปล่อยไว้นะจิตจะเสื่อมได้ ในระดับนี้ยังเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมอยู่ ถ้าเสื่อมก็ถอยกรูดๆ เลย ถ้าเจริญขึ้นไปเราต้องขยันหมั่นเพียรขึ้นไป ขยันหมั่นเพียรขึ้นไป

ถาม : ๒. ไม่ทราบว่าอยากรู้เรื่องที่เกินตัวไปหรือไม่ครับ คือจิตที่บริสุทธิ์มากที่ผมกล่าวมาตามข้อที่ ๑ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ที่สุดในชีวิตที่ผ่านมาของผมเลยครับ แต่อยากทราบแบบคนรู้น้อยแต่มีความสงสัยมากว่า จิตที่บริสุทธิ์มากกว่านี้ จิตที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้มีลักษณะอย่างใด แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะถึงจิตนั้นครับ

หลวงพ่อ : จิตที่บริสุทธิ์แบบความรู้น้อยนี่มันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่จิตได้สัมผัส นี่ในการปฏิบัติกับครูบาอาจารย์เรา มันมีตรงนี้เป็นเครื่องยืนยัน คือมันแบบว่าเวลาปฏิบัติแล้วนี่ใครหลอกใครไม่ได้ ความรู้มีเท่าไรมันก็รู้ได้แค่นั้น ฉะนั้นถ้าจิตที่ว่ามีความรู้น้อยแต่บริสุทธิ์นี่เราก็ได้สัมผัสแค่นี้ มันก็เป็นความจริงแค่นี้

ถ้าความจริงแค่นี้ เราปฏิบัติมากไปกว่านี้ “นี่จิตที่บริสุทธิ์ในชีวิตที่ผมผ่านมานี้ อย่างของผมนี้” ถ้าเราพิจารณากายไปซ้ำอีกมันจะเข้าไปสู่จุดนี้ จุดนี้เป็นฐาน ถ้าเราปฏิบัติจากฐานนี้มันจะสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น เราใช้คำว่าพัฒนาการของจิตประจำ จิตนี้จะมีพัฒนาการของมัน มีวิวัฒนาการ พัฒนาการของมันโดยการวิปัสสนามันจะมีพัฒนาการของมัน มันจะเจริญขึ้น ดีขึ้น

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ถึงบอกว่าให้ซ้ำ ให้ขยัน ให้หมั่นเพียร ถ้ายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์เราต้องมีความขยันหมั่นเพียรมันจะพัฒนาการของมัน มีปัญญาของมัน มันจะมีความคล่องตัวของมัน มันจะสะอาดบริสุทธิ์ไปมากกว่านี้ๆ จนถึงที่สุดเวลามันขาดโยมจะรู้ได้ตามความเป็นจริงเลย

ฉะนั้นจะให้ตอบนี่ หลวงปู่ตื้อท่านบอกอย่างนี้นะ หลวงปู่ตื้อท่านบอกให้ถามมาเลย ยิ่งเรื่องพันชาติที่แล้วหมื่นชาติที่แล้วยิ่งดีใหญ่เลย ตอบได้ชัดเจนเลยเพราะไม่มีใครรู้ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าให้อธิบาย อธิบายอย่างไรก็ได้ จะอธิบายให้มันบริสุทธิ์ขนาดไหนก็ได้

อันนี้มันเทียบไม่ได้นะ เราจะอธิบายตรงนี้นิดหนึ่ง เขาเรียกว่า “ขณะจิตที่ใหญ่และเล็ก” ขณะจิตที่ใหญ่ ความใสความสะอาด บารมีมันจะกว้างใหญ่มาก เวลาเป็นโสดาบันทีหนึ่งสะเทือนหัวใจ สะเทือนเลื่อนลั่นเลย แต่ถ้าขณะจิตเล็ก คือคนสร้างบารมีมาน้อย เวลาเป็นโสดาบัน เวลาขณะจิตที่มันเป็นโสดาบันนี่มันก็แค่นิ่มๆ นวลๆ หรือว่ามีความกระทบกระเทือนที่รุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน

นี่มันอยู่ที่วาสนานะ คำว่าวาสนานี่คนไม่เท่ากันหรอก ฉะนั้นจะบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วทุกคนจะทำให้ถึงจุดนั้นไม่ใช่ ! ไม่ใช่ ! เวลาสะอาดบริสุทธิ์นี่มันสะอาดบริสุทธิ์เฉพาะจิตของดวงนั้นๆ แล้วมันอยู่ที่วาสนาว่าสร้างมามากมาน้อย มันก็เหมือนกับโทสจริต โลภจริต จริตของคนนี้แตกต่างกัน ฉะนั้นเวลาสรุปมันก็สรุปผลเท่ากัน แต่อารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกัน

ฉะนั้นมันอยู่ที่ขณะจิต ขณะจิตของคนสร้างบารมีมามากมาน้อย แล้วเวลาถ้าสร้างบารมีมามากนะ ผลสะเทือนนี่สะเทือนเลื่อนลั่น จิตนี่โอ้โฮ..มันจะสั่นไหวมหาศาลเลย แต่ถ้าคนมีบารมีนุ่มนวล นี่ผลเหมือนกัน โสดาบันเหมือนกันแต่ให้ผลนิ่มนวล เห็นไหม มันมีค่าแตกต่างกันนะ ไอ้ค่าแตกต่างอันนี้.. นี่ตรงนี้ถ้าคนไม่เป็นไม่เข้าใจ แต่เราก็คิดใช่ไหม เราเรียนจบใช่ไหมหน่วยกิตต้องครบ คะแนนต้องผ่าน ทุกคนต้องผ่านหมด

ถ้าโดยอริยสัจเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่มันมีผลด้วยไง อย่างเช่นเราหน่วยกิตครบเราผ่านนะ แต่เรามาคนเดียวนี่เหงาน่าดูเลย เวลาคนอื่นนะเขาหน่วยกิตครบมา โอ้โฮ.. เพื่อนเขาเยอะนะมากันแบบฮือฮาเลยนะ มันแตกต่างกันตรงนี้ มันแตกต่างกันว่าเขามาทั้งครอบครัว เขามีบริษัทบริวาร ไอ้เรามาคนเดียว มาถึงเหงาอยู่คนเดียว แต่เหงาคนเดียวมันก็ผ่านเหมือนกัน คือโสดาบัน สกิทาคา อนาคามีค่าเท่ากัน มันแตกต่างกันที่อำนาจวาสนาของคน

ฉะนั้นไอ้ตรงนี้ถ้าพูดไปแล้ว พอพูดไปแล้วปั๊บหลวงตาพูดอย่างนี้ไง เวลาพูดปั๊บนี่มันเป็นสัญญาทันที คนจะจับตรงนี้เป็นบรรทัดฐาน แล้วต้องทำให้ได้อย่างนี้ ถ้าไม่ได้อย่างนี้ผิด มันก็เลยไปคาดหมายก็เลยผิดเลยไง ทั้งที่เราจะถูกนี่แต่เพราะเราไปคาดหมายเอง

ถาม : ฉะนั้น “จิตที่จะบริสุทธิ์มากกว่านี้มีลักษณะอย่างไร”

หลวงพ่อ : เราอยากให้ปฏิบัติขึ้นไปเนาะ ไม่ใช่ว่าไม่ตอบหาทางออกนะ แต่อยากจะให้คนปฏิบัติเป็นปัจจัตตัง เป็นประโยชน์กับคนนั้นเอง

ถาม : ๓. ผมลองพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเวลาทำให้เราทุกข์นั้นขันธ์ ๕ มันทำงานอย่างไร แล้วรู้สึกมันฝืดๆ งงๆ ไม่ค่อยได้ปัญญา แถมจิตจะร้อนรนไม่ค่อยสงบเย็นเหมือนโดนกิเลสเล่นงาน แต่ถ้าพิจารณากายคงคำบริกรรมไว้ แล้วคงลมหายใจไว้ชัดๆ จิตใจจะมีความสุขสบายโดยไม่ต้องไปคิดพิจารณาอะไรมากมาย อยากพิจารณากายก็ไล่ไปตามกายเลย ถ้าปรากฏภาพกายขึ้นมาก็พิจารณาไปเลย ไม่ต้องคิดอะไรมากมายให้ปวดศีรษะจิตใจร้อนรน สะดวกสบายดี

เรียนถามหลวงพ่อว่า ถ้าผมทำความสงบแล้วพิจารณากายอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาขันธ์ ๕ ว่ามันทำให้เกิดทุกข์อย่างไรเลย ซึ่งโดยประสบการณ์ส่วนตัวผมค่อนข้างมั่นใจว่า การพิจารณากายอย่างเดียวเป็นวิธีสู้และทำลายกิเลสได้ดีมาก ขอได้โปรดหลวงพ่อเมตตาแนะนำด้วยว่าดีหรือไม่ถ้าเราจะพิจารณากายเพียงอย่างเดียว

หลวงพ่อ : ดีสิ ! พิจารณากายเพียงอย่างเดียว.. กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว แต่ก่อนหน้านั้นเวลาถามปัญหามาเราก็บอกว่าให้พิจารณา ให้มีอุบายให้อะไรนี่เพื่อเราจะหาหนทางของเราไง แต่นี้พอเราหาหนทางแล้ว ตอนนี้หนทางของเราเจอแล้วแหละ การพิจารณากายแล้วนี่มันให้ผล เห็นไหม มันปิ๊ง ! ทีนี้ตอนที่มันปิ๊งหรืออะไรต่างๆ ที่มันเกิดมานี่เพราะว่าเรายังไม่มีกิเลสมาคอยหลอกไง แต่พอรู้ว่าทางนี้ถูกต้องนะเดี๋ยวกิเลสมันจะปิดไง

ฉะนั้นเวลาพิจารณาขันธ์ ๕ ถามว่าการพิจารณาขันธ์ ๕ คือว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติพิจารณาขันธ์ ๕ ไปนี่เพราะมันใช้ปัญญา คือว่าปัญญาชนส่วนใหญ่ต้องใช้ปัญญา แต่เวลาเราบอกว่าจิตเป็นสมาธิแล้วพิจารณา นี่มันบอกว่าสิ่งนี้มันไม่มีเหตุไม่มีผล แต่คำว่าการพิจารณานั่นล่ะคือปัญญา !

ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือตาเห็น.. ไม่ใช่ตาเนื้อ ตาจิต เพราะตาจิตมันเห็น เพราะโดยสามัญสำนึกของจิตมันบอกว่าสรรพสิ่งนี้เป็นเรา โดยจิตใต้สำนึกโดยกิเลสนะมันบอกชีวิตนี้เป็นเรา อะไรก็เป็นเราโดยจิตใต้สำนึก ! โดยธรรมะบอกไม่ใช่ แต่โดยจิตใต้สำนึกนี่มันบอกว่าใช่ พูดไปอย่างไรมันก็ว่าใช่ บอกมันบอกว่า ไม่ใช่เราๆ มันมีการศึกษามันยอมรับทางทฤษฎี แต่มันไม่ยอมรับตามความเป็นจริง ไม่ยอมรับ ! พอมันไม่ยอมรับ พอจิตเราสงบใช่ไหมเราพิจารณากาย เวลากายมันแปรสภาพนั่นล่ะมันสอนจิต

นี่คือปัญญา ปัญญาที่มันเป็นปัญญาเฉพาะหน้า ปัญญาเวลาผลกระทบ ปัญญาที่เกิดขึ้นจริง ที่จิตมันลุ่มหลงอยู่ พอมันเห็น นี่พอมันเห็นปั๊บมันก็ปิ๊ง เห็นไหม ที่มันปิ๊งแล้วมันปล่อย นั่นล่ะคือผล ! ผลการพิจารณาขันธ์ ๕ ก็เป็นแบบนั้น ผลของการพิจารณาจิต พิจารณาทุกอย่างต้องเป็นแบบนั้น พอพิจารณาไปแล้วมันปล่อยอย่างนั้น พอปล่อยอย่างนั้นนั่นล่ะถูกต้อง

ฉะนั้นถ้าพิจารณาได้ผล พิจารณากายเลย.. นี่เวลากลับมาพิจารณาจิต เห็นไหม นี่ผลของมัน เวลากลับมาพิจารณาขันธ์ ๕ ว่ามันทำงานอย่างไร “มันรู้สึกฝืดๆ งงๆ ไม่ค่อยได้ปัญญา แถมจิตร้อนรนไม่ค่อยสงบเย็น” แถมจิตร้อนรน.. จิตร้อนรนเพราะอะไร เพราะมันไม่ตรงจริต

ฉะนั้นเขาคิดว่าพิจารณาขันธ์ ๕ เวลาพิจารณาขันธ์ ๕ นะ แล้วเวลากายมันขาดนะ เห็นไหม พอกายมันขาดนะ.. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เวลากายมันขาด สักกายทิฏฐิขาด เห็นไหม เพราะในกายนั่นน่ะมันมีขันธ์ ๕ ในกายถ้าไม่มีจิต กายมันคือซากศพ กายคือมันเป็นวัตถุ แต่เพราะมันมีจิต เพราะจิตนั่นล่ะ พอกายมันขาดก็ขันธ์ ๕ ขาดเหมือนกัน

พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เวลาขาดขาดเหมือนกัน แต่เวลาพิจารณาขันธ์ ๕ เวลาขาดนี่มันตรงตัว เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ! นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่เราต้องไม่ใช่เราตามความเป็นจริง

ฉะนั้นไม่ต้องพิจารณาขันธ์ ๕ เลย คำว่าพิจารณาขันธ์ ๕ นี่ขันธ์ ๕ นี้เราเอาไว้เป็นสำรองไง สำรองไว้ว่าเวลาพิจารณากายแล้วมันอั้นตู้ เราพิจารณาเราทำงานทางใดก็แล้วแต่ด้านใดด้านหนึ่ง ทำบ่อยครั้งเข้าแล้วมันจะเกิดความเคยชิน มันจะเกิดความไม่คล่องตัว เวลาอย่างนั้นเราค่อยเปลี่ยน เราค่อยเปลี่ยนมาเพื่อเป็นสำรองไง นี่เวลาสำรองไว้ เป็นทางออกไว้เพื่อให้การก้าวเดินไปมันต่อเนื่อง แต่ถ้าพิจารณากายถูกต้องแล้วให้พิจารณากายอย่างเดียว

ฉะนั้น “ผมเข้าใจว่าไง” ผมเข้าใจว่าการพิจารณากายอย่างเดียวเลยครับ.. ให้พิจารณากายอย่างเดียวเลย นี่เขาเข้าใจว่าการพิจารณากายเพียงอย่างเดียวก็เป็นวิธีการสู้กิเลส ถูกต้องมันเป็นการสู้กิเลสแล้ว และทำลายกิเลสได้ดีมาก ถ้าทำลายกิเลสได้ดีมาก พิจารณากายซ้ำๆ เข้าไป พิจารณากายให้มากๆ

เวลาไปหาครูบาอาจารย์ เห็นไหม ถ้าหลวงปู่หลุยว่า “ม้างกาย ม้างกาย” ใครจะไปหาหลวงปู่หลุยก็แล้วแต่ท่านถามว่า “ม้างกายหลายบ่” คือว่าพิจารณากายกี่รอบ.. ม้างกายหลายบ่ คือพิจารณากายมากไหม หลวงปู่เจี๊ยะนะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่มั่นเป็นคนพูดไว้บอกว่า หลวงปู่ขาวนี่ได้มาคุยกับท่านแล้ว หลวงปู่ขาวให้หมู่คณะจำหลวงปู่ขาวไว้

เพราะหลวงปู่มั่น สมัยหลวงปู่มั่นนะ มีหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ แล้วครูบาอาจารย์ยังน้อยอยู่ แล้วมีพระปฏิบัติเข้ามาเยอะมาก ทีนี้พระปฏิบัติเข้ามาเยอะมากท่านก็ห่วงมาก ท่านก็ฝากฝังกันไว้ว่าถ้าเวลาท่านไม่อยู่แล้วให้สืบต่อกันไป หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้เราฟังเอง บอกว่าหลวงปู่มั่นบอกไว้เลยว่าหลวงปู่ขาว “หมู่คณะให้จำหลวงปู่ขาวไว้นะ เพราะท่านขาวนี่ได้คุยกับเราแล้ว ท่านขาวนี่ให้จำไว้เลยนะ” หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ล็อกเอาไว้ในใจเลย

ฉะนั้นเวลาท่านออกธุดงค์ ออกจากหลวงปู่มั่นมาท่านไปหาหลวงปู่ขาวเลย ท่านเล่าให้เราฟังเอง พอขึ้นไปหาหลวงปู่ขาวท่านกราบหลวงปู่ขาวเลย “หลวงปู่ครับ ผมเจี๊ยะ ! ผมเจี๊ยะ !” รายงานตัวเลย เพราะท่านรักของท่าน เพราะท่านเชื่อมั่นหลวงปู่มั่น ท่านเคารพคือท่านจะฝากตัวไง

นี้หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังเองนะ พอขึ้นไปกราบหลวงปู่ขาว

“หลวงปู่ครับ ผมเจี๊ยะครับ ผมเจี๊ยะครับ”

พอผมเจี๊ยะครับ หลวงปู่ขาวก็ต้องรู้แล้วว่าหลวงปู่เจี๊ยะนี่อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่เชียงใหม่ ๒ ปี ตอนหลวงปู่มั่นเจ็บป่วยหลวงปู่เจี๊ยะท่านดูแลมาตลอด

ฉะนั้นครูบาอาจารย์เรา ถ้าใครมีคุณกับครูบาอาจารย์เรามันจะผูกพันกันมา ฉะนั้นหลวงปู่ขาวท่านถึงรักหลวงปู่เจี๊ยะมาก หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังนะที่สมัยอยู่ที่ถ้ำกลองเพลมันอัตคัดขาดแคลนมาก แล้วอัตคัดน้ำมาก แล้วหลวงปู่ขาวบอกเองว่าให้หลวงปู่เจี๊ยะนี่ขุดสระ ขุดสระที่ถ้ำกลองเพล หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกเลยนะท่านอยู่ที่เขาแก้วท่านฝากวัดให้ลูกศิษย์เลย ท่านขนพวกดินระเบิดพวกอะไรขึ้นไปเลยนะ ไปขุดไปเจาะระเบิดไอ้สระที่ถ้ำกลองเพล

ฉะนั้นหลวงปู่เจี๊ยะไปอยู่ที่นั่น นี่หลวงปู่ขาวจะคอยจี้หลวงปู่เจี๊ยะตลอด นี่หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง

“เจี๊ยะ ! ม้างกายหลายบ่ เจี๊ยะ ! ม้างกายหลายบ่” คือพิจารณากายมากไหม พิจารณากายมากไหม

หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า “หลายครับ ! หลาย หลายครับ”

ฉะนั้นเวลาพิจารณากาย เห็นไหม พิจารณากายอย่างเดียว พิจารณากายอย่างเดียว ยืนยันโดยครูบาอาจารย์ ยืนยันโดยหลวงปู่ขาวกับหลวงปู่เจี๊ยะนะ

“เจี๊ยะ ม้างกายหลายบ่ เจี๊ยะ ม้างกายหลายบ่”

คือท่านห่วงมาก คือให้พิจารณากายมากๆ ม้างกายหลายบ่ พิจารณากายมากไหม.. พิจารณากายมากไหม ! พิจารณากายให้มากๆ หลวงปู่เจี๊ยะบอก “หลายครับ หลาย” คือมากครับๆ

นี่เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟังนะ แล้วเวลาไปเจอหลวงปู่หลุยล่ะ หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า “ม้างกาย” เห็นไหม ม้างกายให้มากๆ ม้างกายให้ต่อเนื่อง ม้างกายให้ต่อเนื่อง

ฉะนั้นการพิจารณากายนี่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าเวลาเรานี่เราก็พิจารณากายอยู่ แต่เราพิจารณาโดยขันธ์ โดยผ่านขันธ์ คือเป็นทางปัญญา ทางปัญญานี่เขาใช้ปัญญา เห็นไหม นี่ที่ว่าถ้าใช้ทางปัญญาไม่เห็นภาพ แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ นี่เจโตวิมุตติเห็นภาพ พอเห็นภาพขึ้นมาเดินนี่อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี นี่พวกนี้พิจารณากายๆ เวลาหลวงตาท่านพิจารณาเวทนา พิจารณาหลายๆ อย่าง

ไอ้ของเรา เราก็พิจารณาจิต พิจารณาจิตแต่ก็เปรียบเทียบโดยกาย แล้วพอมาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนี่แหละหลวงปู่เจี๊ยะบอกว่าไม่ได้ ต้องพิจารณากาย เราก็พิจารณากายซ้ำที่หลวงปู่เจี๊ยะนี้ พอพิจารณากายขึ้นมา พอจิตมันสงบแล้วขึ้นมาเป็นโครงสร้างเลย ฉะนั้นเราก็พิจารณาได้ แต่ ! แต่ถ้าให้อธิบายนี่เราอธิบายได้ทั้งปัญญาได้ทั้งสมาธิ ฉะนั้นสมาธินี่เราถึงเน้นย้ำไง

เวลาคนฟังเรานี่ คนฟังเรา.. นี่จับประเด็นนะ คนฟังเรานี่เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ! เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกหัดกับตัวเอง แล้วถ้ามีการผิดพลาด บกพร่อง แล้วเราค่อยแก้ไขกันไป เราค่อยแก้ไขกันไปนะ

ถ้าใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕ การพิจารณาขันธ์ ๕ ของเราใช้ปัญญา ขันธ์ ๕ มันเป็นนามธรรม เราใช้ปัญญาการเทียบเคียงแต่มันจับต้องได้เหมือนกัน แต่ถ้าพิจารณากาย พิจารณากายโดยปัญญาก็เหมือนพิจารณากายโดยขันธ์ ๕ พิจารณากายโดยขันธ์ ๕ คือพิจารณาโดยปัญญาเปรียบเทียบ แต่ถ้าพิจารณากายโดยสมาธิ นี่พอเป็นสมาธิแล้วพิจารณากายเลย

อย่างเช่นที่เราบอกว่าเห็นผิวหนัง นี่ด้านข้าง ด้านหลังมันไม่มีตัวเราตั้งแต่ต้น เห็นไหม เห็นมีแต่เลือดแดงๆ พุ่งขึ้นพุ่งลง เห็นแต่ว่ามันเป็นเนื้อแดงๆ มีการเคลื่อนไหวเล็กน้อย.. นี่มันเห็นภาพ เห็นภาพเวลาเราพิจารณาไป แล้วพอพิจารณาไปซ้ำๆๆ พิจารณาแล้ว ถ้าพิจารณานะถ้าสมาธิไม่ดีมันจะฟั่นเฟือน แล้วพิจารณาไปมันจะอึดอัด มันจะไม่มีความสนุก แต่ถ้ามันเป็นสมาธินะ พิจารณาไปแล้วนี่เพราะปัญญามันเกิดไง

เหมือนเราทำงาน เวลาสมองมันปิ๊ง อู้ฮู.. ทำงานสนุกมากเลย พอพิจารณาไปแล้วนี่ปัญญามันหมุนอย่างนี้ พอมันหมุนไปปัญญามันก้าวเดินตามไป เห็นไหม มันไม่เห็นมีเราเลย ไม่เห็นมีเราเลย พอมันสมดุลปั๊บมันก็ปิ๊ง ! พอปิ๊งแล้วมันก็ปล่อย พอปล่อย..

อาการนี่ถ้าคนภาวนาเป็นมันจะรู้ว่าอาการจะเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนี้ อาการจะเป็นอย่างไร อาการของมัน.. แล้วอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้มันอยู่ที่อำนาจวาสนามีมากหรือน้อย ถ้ามากอาการจะสั่นไหวแรงมาก ถ้าน้อยอาการนุ่มนวล อาการนิ่มๆ นี่อาการแตกต่างกัน แต่ปัญญาที่มันปล่อย หลวงตาใช้คำว่า “ไม่เห็นพูดไม่ถูก ไม่รู้พูดไม่ถูก” คนจะพูดได้ต้องรู้ต้องเห็นถึงพูดถูก

ฉะนั้นสิ่งที่พูดมานี่ถูก ! ถูกแล้ว เห็นไหม แล้วความถูกนี่มันก็ตอบโดยตัวเอง ตอบโดยตัวเองว่า “อาการนี้เป็นอยู่พักหนึ่ง แล้วก็กลับมาเป็นปุถุชนเหมือนเดิม” นี่มันก็ถูกอีกแหละ ถูกเพราะมันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว มันปล่อยแล้ว แต่ก็กลับมาเป็นปุถุชน

เราจะบอกว่าดีมาก คือสติปัญญาพร้อมไง ถ้าเราสติปัญญาฟั่นเฟือน หรือเราอยากได้มรรคผลจนเกินไป พอเกิดอาการแบบนี้เราติดแล้ว เราเข้าใจว่านี่คือมรรคผล พอเราเข้าใจว่าคือมรรคผลนะ เราจะเสียประโยชน์เรามากเลย แต่เพราะเรามีสติ เห็นไหม มันจะเกิดสิ่งใดเราก็มีสติปัญญาทัน เพราะมันจะปล่อยวางขนาดไหน.. นี่ถึงว่าเวลาบอกว่า “แล้วที่จิตมันบริสุทธิ์มากไปกว่านี้มันเป็นอย่างใด”

นี่มันมีสติปัญญาสมบูรณ์ เห็นไหม ถ้าสติปัญญาสมบูรณ์อย่างนี้ ความผิดพลาดของเราน้อยมาก แต่นี้ความขยันหมั่นเพียรมันจะเข้าไปถึงสู่ความจริง ขนาดแค่ตทังคปหาน เห็นไหม เวลาปล่อยวางไปแล้ว “แต่รู้ว่าควรทำอย่างใด และทำหน้าที่ตามสมมุติอย่างไร เช่นเป็นสามี เป็นภรรยานี่หน้าที่ของเรา”

เวลามันปล่อยวางแล้วหน้าที่ก็คือหน้าที่ แต่จิตใจของเรามันปล่อยวางได้ นี่ความเป็นไปของมัน มีสติปัญญาของมัน ถ้ามีสติพร้อม มันจะไม่มีความผิดพลาดเลย สติถึงสำคัญมาก ถ้าปัญญามากขนาดไหน การกระทำมากขนาดไหน สติมันจะเพิ่มเติมมากขึ้น.. โสดาบัน สกิทาคานี่สติปัญญา พอขึ้นอนาคาต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญาแล้ว สติปัญญาต้องมากกว่านั้น เพราะกิเลสมันละเอียดมากกว่านั้น แล้วขึ้นไปเป็นสติอัตโนมัตินะมันจะละเอียดไปมากกว่านั้นอีก

ฉะนั้นเราฝึกหัดไปอย่างนี้ถูกต้อง ! จะย้ำ ย้ำตรงที่บอกว่า “พิจารณาขันธ์ ๕ แล้วจิตใจเร่าร้อนร้อนรน” ถ้าจิตใจเร่าร้อนร้อนรนเราปล่อยวางเลย เราไม่ต้องทำ เราพิจารณากาย ถ้าพิจารณากายได้ผล

ฉะนั้นเพียงแต่เวลาพิจารณาจิตแล้วจิตใจเร่าร้อนนี่มันมีผล มันมีผลหมายถึงว่ามันมาเทียบเคียงกับพิจารณากายไง ถ้าพิจารณาเร่าร้อนนี่มันทางออกทางนี้ไม่ได้ เหมือนเราไปทางบกไม่ได้เราก็ไปทางน้ำ ไปทางน้ำไม่ได้เราก็ไปทางบก นี่มันมีทางให้เราเลือกระหว่างทางบกและทางน้ำ พิจารณากาย พิจารณาจิต มันมีให้เราทางเลือก ถ้าเราไปทางน้ำแล้วมันไปไม่ได้เพราะน้ำแห้งตื้นเขิน เราก็ขึ้นบกอ้อมแล้วลงไปทางน้ำอีก

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณากายไปแล้วเวลามันตัน มันพิจารณาไปแล้วมันทำสิ่งใดไม่ได้เราก็มาพิจารณาจิต พิจารณาขันธ์บ้าง แล้วพอมันมีช่องทางไปได้เราก็พิจารณากายต่อไป อันนี้มันเป็นการส่งเสริมกัน ถ้าส่งเสริมกันเราจะไปสู่ความดีได้

ฉะนั้นถูกต้อง การพิจารณากายอย่างเดียวก็แก้กิเลสได้.. แก้กิเลสได้ อย่างเดียว ทีนี้ความเข้าใจของเราต้องกาย เวทนา จิต ธรรม ต้องพิจารณาทั้ง ๔ อย่างนี่ไม่ใช่ ! ทั้ง ๔ อย่างนี้คือวิธีการที่แยกแยะออกไป ใครจะไปทางไหนก็ได้ทางใดทางหนึ่ง เห็นไหม เหมือนกับเราเข้ากรุงเทพฯ คนอยู่ภูมิภาคใดเข้าทางถนนของตนกลับไปสู่กรุงเทพฯ เหมือนกัน

ความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน โสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหัตตผลเหมือนกัน เป็นจุดหมายเหมือนกัน อริยสัจเหมือนกัน แต่จริตนิสัยของคนปฏิบัติแตกต่างกัน เราถึงต้องเดินเข้าไปตามแต่ความถนัด นี่ตามถนัดตรงจริต แล้วมันได้ผลจริงๆ เลย

ถูกต้อง ! พิจารณากายอย่างเดียวเป็นการชำระกิเลสไหม.. ชำระกิเลสโดยความเป็นจริง เอวัง