เทศน์พระ

หนึ่งแบบอย่าง

๑๘ ก.พ. ๒๕๕๔

 

หนึ่งแบบอย่าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต. หนองกวาง อ. โพธาราม จ. ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังเทศน์ เทศน์คือคำบอกกล่าวกัน การเตือนสติกัน เราเป็นพระนะ เวลาบวชพระขึ้นมา อายุ ๒๐ ขึ้นไปบรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่มีปัญญา เราถึงไปบวชพระกัน ฉะนั้นทำไมต้องบอกกล่าว การเตือนสติเพื่อให้ระลึกถึงสติของเรา ระลึกถึงตัวของเรา

เราเป็นพระเห็นไหม วันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ปกติเวลาเราภาวนานะ วันพระ วันโกน เราจะถือเนสัชชิกกันเป็นเรื่องพื้นฐาน การประพฤติปฏิบัติเพื่อเอาแก่นเอาสาร

ในปัจจุบันนี้การประพฤติปฏิบัติเราอ่อนแอ เวลาเราคุ้นชินสิ่งใด ทำสิ่งใดแล้วความเคยชินทำให้เราไม่ระวังตัว เวลาเราเปลี่ยนสถานที่ใหม่เราจะตื่นตัวตลอดเวลา การจะตื่นตัวเห็นไหมถ้ามีสติ หลวงตาบอกว่า “สติกั้นคลื่นได้ทั้งหมดเลย” เวลาความคิดความต่างๆ ที่มันโถมกระหน่ำเรานี้ เพราะเรามีอารมณ์ร่วมกับความรู้สึก เวลาเรามีความคิด โดยธรรมชาติของความคิดเห็นไหม

ถ้าเราไม่มีธรรมชาติของความคิด รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง ความรับรู้ ความรู้สึกเห็นไหม ความคิดเวลาเกิดจากจิต มันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วเรามีอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับเขา ยิ่งคิดยิ่งเจ็บช้ำน้ำใจ ยิ่งคิดยิ่งมีอารมณ์ร่วม ยิ่งคิดยิ่งมีความรู้สึก พอมีสติ สติมันระงับยับยั้งเพราะมีสติ สติคือพลังงานให้พลังงานมันมีสติ พลังงานมันทรงตัวของมัน

เพราะพลังงานเห็นไหม เสวยอารมณ์ถึงมีความคิด พอมีสติขึ้นมาความคิดจะเจือจางลง ความคิดต่างๆ จะเจือจางลง พอมีสติสัมปชัญญะสามารถกั้นถึงคลื่นของทะเล คลื่นของความคิด ถ้าเรามีสติเห็นไหม

นี่เตือนสติ เตือนเราเห็นไหม วันนี้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เรามีความสำคัญจริงไหม ถ้ามีความสำคัญจริงนะ หลวงปู่ขาว เวลาท่านภาวนาของท่าน ท่านมีทางจงกรม ๓ เส้น เส้นหนึ่งบูชาพระพุทธ เส้นหนึ่งบูชาพระธรรม เส้นหนึ่งบูชาพระสงฆ์ ท่านจะเดินจงกรมของท่านตลอดเวลาถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งๆ ที่ว่าท่านพ้นจากทุกข์แล้วนะ ท่านยังภาวนาของท่านเป็นวิหารธรรม

ฉะนั้นการภาวนาเพื่อสิ่งใด การภาวนาเพื่อความอยู่สุขสบายเห็นไหม เครื่องยนต์เราเก็บไว้ ถ้าเครื่องยนต์ของเราไม่ได้บำรุงรักษาเก็บไว้มันจะชราคร่ำคร่าแล้วเสียหายไป ใช้สอยอะไรก็ไม่ได้ เครื่องยนต์เราเก็บไว้นะ เราคอยบำรุงรักษา เราคอยติดเครื่อง เราคอยดูแลรักษาไว้เครื่องยนต์นั้นจะใช้ประโยชน์ได้ แล้วจะใช้ประโยชน์เมื่อไหร่มันจะใช้ประโยชน์ได้ทันที

ร่างกายของคน ความรู้สึกของคน ความนึกคิดของคนเห็นไหม เราภาวนาอยู่ เราบริหารของเราอยู่ตลอดเวลา มันกระฉับกระเฉง มันมีความคล่องตัว สนิมมันไม่เกาะต่างๆ เห็นไหม นี่วิหารธรรม

แต่เราไม่เป็นอย่างนั้น เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่นะ ถ้าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เราต้องบูชาพระพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการภาวนาของเรา เราจะตั้งสติของเรา ภาวนาของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เราทำนะ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเป็นแบบอย่างของเรานะ ท่านเสียชีวิตไปแล้ว หลวงตาท่านเสียชีวิตไปแล้วนั่นคือแบบอย่างหนึ่ง แบบอย่างนั้นสิ้นสุดขบวนการของแบบอย่างนั้นแล้วแบบอย่างนั้นจะเป็นคติธรรมเราได้ไหม เป็นสิ่งสะเทือนใจเราได้ไหม ถ้ามันมีความสะเทือนใจเรา เป็นคติเตือนใจให้เราตื่นตัว นี่จะเป็นประโยชน์กับเรามาก

ชีวิตๆ หนึ่งที่ประสบความสำเร็จ บวชมาแล้วประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราก็เอามาเป็นครูบาอาจารย์ของเรามา เป็นคติของเรา เป็นแบบอย่างของเรา ถ้าเป็นแบบอย่างของเรา เราจะทำอย่างไรเพื่อประโยชน์กับเรา

ถ้าเรามีสติปัญญาแบบนี้เราระลึกอยู่เห็นไหม เราจะพร้อมในตัวเราเองนะ ถ้าเรามีสติพร้อมกับจิตของเรา เราจะพร้อมในตัวของเรา แล้วความพร้อมอันนี้การทำสิ่งใดมันก็ไม่มีความผิดพลาด

แต่ถ้าเราไม่มีสติของเรา เราก็มองแบบโลกไง มองด้วยความเสียใจ มองด้วยความสะเทือนใจ สิ่งที่สะเทือนใจเห็นไหม เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เราก็ต้องตายเหมือนกันมันสะเทือนใจนะ ความสะเทือนใจมันเสวยอารมณ์ จิตกับอารมณ์มันเสวยกัน ถ้าเรามีอารมณ์ความรู้สึกตามนั้นไป มีอารมณ์ร่วมไปกับความนึกคิด เราก็มีความดีใจเสียใจไปตลอดเห็นไหม

แต่ถ้าเรามีสติเรายับยั้งของเรา สิ่งนี้เป็นประโยชน์นะ เป็นประโยชน์เตือนใจของเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านยังสะเทือนใจได้

นี่ครูบาอาจารย์ท่านพลัดพรากจากเราไปเลยล่ะ เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่งล่ะ เราจะหาสิ่งใดเป็นที่พึ่ง ถ้าเรายังสร้างความมั่นคงของเราไม่ได้ เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง เราต้องพยายามสร้างความมั่นคงของเรา ความมั่นคงเห็นไหม ดูสิ ตึกรามบ้านช่องมั่นคงขนาดไหน เขาต้องมีการซ่อมบำรุงรักษา แล้วหัวใจของเราล่ะ ร่างกายยังชราคร่ำคร่า ทุกอย่างต้องชราคร่ำคร่าไปหมดนะ

แต่จิตใจของเรา เราจะมีสติปัญญาอย่างไร รักษามันอย่างไร สิ่งนี้เป็นนามธรรมแต่ถ้ามีสติปัญญาดูแลรักษาตลอดไปเห็นไหม “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเรามีสติปัญญาแล้วกำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ความสงบของใจมันต้องมีกับเรา

ถ้าความสงบของใจมีกับเราเห็นไหม ความสงบของใจมันมีมาจากไหน มันมาจากสติ มันมาจากปัญญาอบรมสมาธิ มาจากคำบริกรรม ถ้ามีคำบริกรรมเรารักษาสิ่งนี้ไว้เราเห็นประโยชน์ใช่ไหม สิ่งใดถ้าเราเห็นเป็นประโยชน์ เราพยายามจะทำสิ่งนั้นเพื่อประโยชน์กับเรา แล้วเราเห็นโทษของการคลุกคลีไหม เห็นโทษของการไม่ภาวนาไหม เห็นโทษของการปล่อยอารมณ์ไปตามธรรมชาติของมัน เหมือนวัวเหมือนควายที่ปล่อยไปเที่ยวกินหญ้ากินพืชไร่ของคนอื่น เขามาปรับมันเสียหายหมดนะ

นี่สติปัญญาของเรา ความรู้สึกของเราความนึกคิดของเรา เวลาเราปล่อยเห็นไหม มันฟุ้งซ่าน มันคิดของมันไป เหมือนวัวเหมือนควาย เที่ยวไปกินพืชผลของคนอื่น แล้วก็มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับชาวบ้านเขาตลอดไป ความคิดของเรา ถ้าไม่มีสติปัญญามันเป็นอย่างนั้น นี่เราต้องเห็นโทษ ถ้าเราเห็นสิ่งใดเป็นประโยชน์เห็นไหม

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เหตุอะไรที่สร้างประโยชน์กับใจของเรา เราต้องมีสติปัญญาเพื่อเหตุนั้น ถ้าเพื่อเหตุนั้นชีวิตของเราก็ร่มเย็นเป็นสุขเพราะเรารักษาเหตุที่ดี แต่ถ้าชีวิตเราจะเร่าร้อนก็เหมือนวัวเหมือนควายที่ปล่อยไปเที่ยวระรานชาวบ้านเขา นี่ก็เหมือนกัน เราปล่อยความคิดของเราไปเห็นไหม ความคิดเราเราไม่มีสติปัญญา เราคิดสิ่งใดเราก็พร้อมกับความคิดนั้นไป

ความคิดของเรามันกระเจิดกระเจิงไปตามแต่อารมณ์ความรู้สึก เราก็คิดด้วยความพอใจของเราเพราะมันขาดสติ คำว่าขาดสติ แล้วเวลาเราบอกว่า “เวลาปฏิบัติมันขาดสติได้อย่างไร เราก็รู้ตัวเราอยู่ตลอดเวลา”

รู้ตัวนี้รู้ตัวโดยสามัญสำนึก ไม่ใช่รู้ตัวยับยั้งความคิด ถ้ารู้ตัวยับยั้งความคิดมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่รู้ตัวในความสามัญสำนึกมันก็เหมือนคน คนก็มีความรู้สึก ลมพัดมามันก็เย็นนะ แดดออกมามันก็ร้อน เวลามีสิ่งใดมาสะเทือนใจมันก็ขนลุกขนพอง นี่มันสามัญสำนึกนะ สติแค่นี้มันไม่พอ สติแค่นี้มันเป็นสติของสามัญสำนึก สติของปุถุชน เราต้องสร้างของเรามากกว่านั้น ถ้าสติมันมากกว่านั้นเห็นไหม น้ำหนักที่มันมากขึ้นกว่านั้นมันก็สามารถยับยั้งได้

ถ้ามันยับยั้งความรู้สึกความนึกคิด ไอ้ควายตู้ตัวนั้น ไอ้ความรู้สึกนึกคิดที่มันออกไปเที่ยวระรานชาวบ้าน มันเที่ยวไปกินหญ้าคนอื่น ไปกินพืชพันธุ์ธัญญาหารของคนอื่นแล้วเขาก็มาปรับโทษเอา มันทำความเสียหายกับเรา เวลาความรู้สึกความนึกคิดอย่างนั้น มันออกไปมันให้โทษกับเราเห็นไหม

ถ้าเรามีสติปัญญา เรายับยั้งความคิดเรา ยับยั้งไอ้ความรู้สึกนึกคิดที่มันไปเที่ยวทำลายคนอื่นเห็นไหม สิ่งนี้เป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ ว่าสัตว์ถ้ามันไปกินพืชไร่ของคนอื่น เขาต้องปรับค่าเสียหายเราต้องยอมรับผิดชอบ แต่ความคิดที่มันไปกว้านเอาความรู้สึกต่างๆ ไปกว้านเอาความรู้ความเห็นต่างๆ แล้วมาเหยียบย่ำตนเอง มาทำลายตนเอง เราจะปรับกับใคร? เราจะปรับใครล่ะ? เราจะปรับโทษอย่างนี้ เราจะไปปรับใคร? เราปรับใครไม่ได้เลย เพราะเราเริ่มต้นชนปลายไม่ถูกเลย

วันนี้วันสำคัญทางพุทธศาสนานะ วันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ยืนยันได้ว่ามรรคผลมีจริง เราประพฤติปฏิบัตินี่มันมีจริง ถ้ามีจริงเราต้องมั่นใจของเราสิ ตั้งสติของเรา เราต้องทำของเราได้สิ ถ้าเราทำของเราสิ่งนี้ได้เห็นไหม สติปัญญามันจะเกิดกับเรา

อาศัยไง อาศัยวันสำคัญทางพุทธศาสนา อาศัยความมั่นคงในครูบาอาจารย์ของเรา เราต้องมั่นคงว่าสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมาทั้งชีวิต มันต้องมีเหตุมีผล อาศัยความมั่นใจเห็นไหม เหมือนนักกีฬาที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแล

การภาวนาของเรานะ มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำคอยบอกคอยแนะ ถึงชี้นำเราจะไม่ฟังก็ได้ ความจริงไม่ฟังเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งใดก็ได้ ถ้าฟังแล้วมันตัดรอนสิทธิ์ของเราไง ถ้ามันจะปล่อยเป็นควายตู้เที่ยวไปทำลายคนอื่น สิทธิเสรีภาพ สิ่งนี้มันเป็นความรู้สึกของเรา เรารักษาสิทธิ์ของเรา

แต่เวลาครูบาอาจารย์บอก “สิ่งนั้นเป็นโทษ สิ่งนั้นเป็นโทษ” เรายังไม่เห็นโทษของมัน ในเมื่อเราไม่เห็นโทษของมัน เราก็ว่าสิ่งที่ครูบาอาจารย์พูดมันคอยรอนสิทธิ์เรา เราไม่ต้องการ เราไม่ยอมเชื่อ ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แล้ววัดผลสิ วัดผลว่าสิ่งที่ไม่เชื่อ ที่เรากระทำมันวัดผลเป็นอย่างไรกับเรา ให้ผลเป็นความเร่าร้อน

แล้วเวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ความสุขอื่นใดเท่ากับความสงบไม่มี” แล้วถ้ามันเป็นความสุขความสงบ แล้วจิตใจที่เร่าร้อนนี้มันเป็นความสงบจริงไหม มันมีความสุขจริงไหม ถ้ามันมีความสุขความสงบ ทำไมมันขัดแย้งกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ

ถ้ามันขัดแย้งเห็นไหม นี่เราตีความผิด เรามีความเห็นผิด แล้วความเห็นผิดเราใช้อารมณ์ของเราผิด แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันถูกต้อง เราจะทำอย่างไรล่ะ? ทำอย่างไร นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกไง ความเป็นปัจจัตตัง ความสัมผัสของใจมันจะรู้เองว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ถูกหรือผิด

ถ้ามันเป็นความถูกนะ เวลาเป็นความถูกเห็นไหม เวลาเราปฏิบัติโดยการปฏิบัติของเรา เวลาจิตมันลง เวลาจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมาโดยที่ว่าเราตั้งสติของเรา โดยสติปัญญาของเรามันไม่ทันกับอาการของจิตที่มันจะรวมลงนะ เรายังงงนะ เอ๊ะ มันทำอย่างไร มันทำไมถึงลงสมาธิได้ ทำไมมันมีความสุขเห็นไหม นี่คือปัจจัตตัง ผลที่เวลามันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาโดยที่เราจัดลำดับเหตุการณ์มันไม่ถูกต้อง ลำดับเหตุการณ์ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็แล้วแต่ ถ้าจิตมันลงขึ้นมาก็คือมันลง

ความสมดุลของมันไง ไม่มีใครจะบังคับให้จิตลงหรือไม่ลง หรือบังคับให้มันเป็นความปรารถนาของตัว มันไม่มีหรอก ! แต่ถ้าเวลามันประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเป็นข้อเท็จจริง มันมีสติปัญญา เราฝึกหัดใหม่ใช่ไหม เราก็ลองผิดลองถูกของเราไป ต้องทำของเราไป จนมีความชำนาญในวสี ชำนาญในการกระทำ ถ้าชำนาญในการกระทำสิ่งนั้นมันจะเกิดขึ้นมา

พอมันเกิดขึ้นมาชำนาญในวสีมันเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์แล้วเราจะทำของเราบ่อยครั้งเข้า มันจะรวมลงหรือไม่รวมลงมันไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราทำงานของเรา งานมันจะเสร็จหรือไม่เสร็จเราทำของเราไป มันถึงเวลาเสร็จมันต้องเสร็จสมบูรณ์ของมัน นี่งานไม่เสร็จหรืองานจวนจะเสร็จ แต่เราอยากให้เสร็จ เราอยากให้มันเป็นไป มันกลับไม่เสร็จ มันกลับจะสร้างความละล้าละลังให้กับจิตของเรา มันกลับสร้างการทำงานของเราให้ละล้าละลัง นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันจะลงหรือไม่ลง มันเป็นเหตุเป็นผลของมันโดยข้อเท็จจริงของมัน

ฉะนั้นพอเวลาชำนาญในวสี หน้าที่ของเราปฏิบัติของเราไป เราทำของเราไป ทำสภาวะแบบนั้น จิตลงหรือไม่ลงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจิตลงหรือไม่ลง เราก็ย้อนกลับมาหาว่าทำไมมันถึงไม่ลง มันมีสิ่งใดที่มันขัดแย้งกับใจของเรา มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคของเราเห็นไหม เราก็แก้ไขของเรา

เวลาพระปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม อดนอนผ่อนอาหาร มันมีวิธีการมีอุบาย เพราะกิเลสมันอยู่กับเรานะ กิเลสมันอยู่กับใจ เราเกิดมาพร้อมกับอวิชชา สิ่งนี้อวิชชามันรู้หมด

นี่ดูสิ อยากจะบวช อยากจะภาวนา อยากจะเป็นพระอรหันต์ กิเลสมันก็รู้ด้วย เวลาเราคิดดีมันก็ดีกับเรา เวลาเราทำคุณงามความดีของเรา แต่เวลากิเลสมันมีโอกาสของมัน มันย้อนกลับเห็นไหม มันบังเงานะ มันทำให้เราผิดพลาด มันทำให้เราถลำไป พอสิ่งนี้เกิดขึ้นมาเราจะมีความผิดพลาด

เวลาปฏิบัตินะ สิ่งที่เราทำแล้วมันไม่ได้ผลเป็นเรื่องของกิเลสของเราทั้งนั้นเลย แต่เรื่องคุณธรรม สัจธรรม ความจริง ไม่เคยให้โทษกับใคร ไม่เคยให้ผลกับใครเห็นไหม คติธรรม ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาแล้ว

วันนี้วันมาฆบูชา ๑,๒๕๐ องค์เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย พระอรหันต์มีจิตสะอาดบริสุทธิ์นะ ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทำลายสิ่งใด ไม่ทำทุจริตสิ่งใด ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว นี่ไงวิหารธรรม รักษาใจของตัว แต่ของเราๆ ต้องการสภาวะแบบนั้น เราต้องการครูบาอาจารย์แบบนั้นเป็นคติตัวอย่างกับเรา เราถึงต้องตั้งสติของเรานะ นั่นแบบอย่างของเรา แบบอย่างหนึ่งชีวิต ถ้าเริ่มต้นจนถึงที่สุดแห่งชีวิตนะ เรากราบไหว้เคารพบูชาด้วยเต็มหัวใจ

แต่ถ้าหนึ่งชีวิตนั้นมันยังพลิกแพลง มันยังเปลี่ยนแปลงของมัน เรายังไว้ใจสิ่งใดไม่ได้เลย ทำไมชีวิตของเราเองไว้ใจตัวเองไม่ได้ล่ะ ทำไมเราไปไว้ใจครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม

นี่ไงแก้วสารพัดนึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึกของตัว ของคนเรานะ เราเป็นชาวพุทธ พุทธมามกะ เราต้องกล่าวถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันเหมือนกับว่าเราอยู่บนถนนเห็นไหม มันมีซ้ายและขวาขนาบไว้ไม่ให้เราตกไปข้างใดข้างหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก แล้วเรามีศีล มีข้อบังคับเรา เราจะไปบนเส้นทางนั้น

คนเรานะมันมีขึ้นมีลง จิตใจของคนเวลามันสูงส่งขึ้นมามองเห็นสิ่งใดมีสติปัญญาพร้อมไปหมดเลย จิตใจเวลามันตกต่ำขึ้นมานะ รถวิ่งไปบนถนนมันก็มีขึ้นภูเขา ลงภูเขา ลงห้วย ลงหนอง ลงคลอง ลงบึง มีสะพานข้ามไป นั่นสะพานนั้นมันเป็นสิ่งที่รัฐบาล รัฐชาติเขาทำไว้เพื่อความสะดวกกับตัว เพื่อประชาชน เพื่อความเป็นอยู่ของเราเห็นไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอาศัยสิ่งนั้นเป็นเครื่องอยู่เป็นเครื่องดำเนินไป แต่ผลของเราล่ะ ถนนนั้นสิ่งนั้นมันเกิดวิกฤตได้ ถึงเวลามันเสียหายต้องซ่อมบำรุงของเขาเพื่อประโยชน์กับประชาชน

ธรรมและวินัยที่เราศึกษามา แล้วผลประโยชน์รถของเราจะแล่นไปบนนั้น ให้ความสะดวกสบายของเราให้เป็นประโยชน์กับเรา เราจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องย้อนกลับมาดูสติของเรา เตือนสติเรา เตือนตัวเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เราอยู่ของเราเห็นไหม

ดูสิ เวลาสัตว์มันอยู่ของมัน วันคืนล่วงไปๆ มันอยู่ของมันไปวันๆ หนึ่งนะ เราเป็นมนุษย์แล้วเราได้บวชเป็นพระในพุทธศาสนาด้วย วันคืนล่วงไปๆ วันคืนล่วงไปๆ หน้าที่ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นเครื่องอยู่ คนเราถ้าไม่มีเครื่องอยู่ มันเอาอะไรเป็นเครื่องอยู่ นี่ไงคำว่าเครื่องอยู่ข้อวัตรปฏิบัติเราต้องทำ

บอกว่า ถ้าปล่อยวาง ปล่อยวาง ทุกอย่างไม่ต้องทำเลย ข้อวัตรก็ไม่มี สิ่งใดก็ไม่มี อยู่ไปวันๆ หนึ่งไง นั่นมันยิ่งกว่าสัตว์ สัตว์มันยังมีฤดูกาลของมัน มันยังย้ายถิ่นของมัน เวลามันหลบลมหนาว มันแสวงหาอาหารของมัน มันต้องย้ายไปตามธรรมชาติของมัน

นี่เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วบวชเป็นพระเห็นไหม มนุษย์เขาเป็นชาวพุทธ เขาว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญามันต้องเอาชีวิตรอด เอาชีวิตของบุคคลผู้นั้นเพื่อจะไม่ให้ตกลงไปในที่ชั่ว เพื่อไม่ให้ตกลงไปในอบายมุข เพื่อไม่ให้ตกลงไปในที่การทำบาปอกุศล นั่นพูดถึงคฤหัสถ์เขานะ

นี่เราเป็นพระเห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติเราบำรุงรักษาของของสงฆ์ไว้เพื่อสงฆ์จากจตุรทิศจะได้มาพึ่งพาอาศัย ได้มาพักเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขในที่พักอาศัยนั้น เราทำข้อวัตรไว้เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ

แต่ผู้กระทำเป็นประโยชน์ส่วนตน ผู้กระทำเราเป็นคนกระทำ มันเป็นเครื่องอยู่ให้จิตมันมีเครื่องอยู่นั้น เวลาจิตมันมีเครื่องอยู่นั้น มันมีพัฒนาการของมันเห็นไหม เวลามันเข้าไปภาวนาใหม่มันมีการผ่อนคลายออกมาจากการกระทำ มันไม่ได้ผ่อนคลายออกไปโลกไง มันผ่อนคลายออกมาจากพุทโธๆๆ ผ่อนคลายออกมาจากการใช้ปัญญาในการวิปัสสนา มันใช้กำลังของมันมาก

เวลามันผ่อนคลายออกมา แล้วผ่อนคลายออกมาสู่ข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ได้ผ่อนคลายออกไปสู่โลก เห็นไหม แล้วเวลามีสติปัญญาขึ้นมา เราก็กลับเร่งความเพียรของเราเข้าไป สิ่งนี้มีการกระทำจิตมันมีการผ่อนคลาย มีการกระชับ มีการต่างๆ เพื่อประโยชน์กับใคร? เพื่อประโยชน์กับจิตดวงนั้น เพื่อประโยชน์กับการกระทำของใจดวงนั้น แล้วใจดวงนั้นมันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ในหัวอกของเรานี่ไง

เราแสวงหาธรรมกันเห็นไหม เวลาเราเปิดพระไตรปิฎก เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธพจน์ สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เวลาเราเปิดหัวใจของเรา ถ้าเรามีสติปัญญา จิตใจเราสงบขึ้นมา เราเปิดหัวใจของเรา ในหัวใจของเรามันมีสิ่งใด ในหัวใจของเรามันมีความสงสัยสิ่งใด

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรม “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควรแก่ธรรมมันต้องเข้าสู่สัจธรรม เราก็ปฏิบัติของเรามา ทำไมมันมีความสงสัย มันมีสิ่งใดขุ่นใจของเราอยู่ ความขุ่นใจในหัวใจ มันมีความขุ่นใจอยู่ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจไปหมดเลย แต่ถึงที่สุดแล้วในหัวใจของเราล่ะ

ในหัวใจของเรา ในความบีบคั้นในหัวใจของเรา ในความลังเลสงสัยในใจของเรามันมีสิ่งนี้อยู่ แล้วสิ่งนี้เห็นไหม มันตกตะกอนอยู่ในใจ มันจะไปไหนล่ะ เวลาตายไป นี่ไง กิเลสตัวนี้มันก็พาตายพาเกิดอยู่อย่างนี้ และถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็จะเอาตะกอนในหัวใจเรานี้ออกให้ได้ ถ้าเราเอาตะกอน เอากิเลสตัณหาทะยานอยากในหัวใจของเราออกให้ได้ ทำอย่างไร? ถ้าทำอย่างไรเห็นไหม ทำไมครูบาอาจารย์ของเราท่านทำมาได้

ท่านก็ทำชีวิตแบบอย่างเลยเห็นไหม ตั้งแต่บวชจนสิ้นชีวิตไป ๙๐ ปี ๑๐๐ ปี ท่านทำให้ท่านอยู่ในธรรมวินัยด้วยความสง่างาม ด้วยความน่าเคารพบูชา แล้วเราล่ะ! เราล่ะ! เราจะทำอย่างไรเห็นไหม เราทำเพื่อตัวเรานะ ถ้าเราคุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกในหัวใจของเรา สิ่งใดที่เราคุ้นชิน ทำซ้ำๆ ซากๆ มันเป็นจริตเป็นนิสัยของเราไปนะ

แต่ถ้าเราไม่คุ้นชินกับมัน สิ่งนี้เป็นความคิด สิ่งอะไรต่างๆ เราพิจารณากับมัน ถ้าความคิดในทางข้อวัตรปฏิบัติเป็นคุณงามความดี อย่างนี้เราต้องเหยียบคันเร่ง แต่สิ่งใดที่มันอืดอาดยืดยาด มันเห็นว่าเป็นโทษนะ ถ้าเห็นเป็นโทษเห็นไหม เหมือนกับไข้ ถ้าคนไข้เริ่มเป็นไข้ มันจะเริ่มคัดจมูกน้ำมูกไหลอะไรต่างๆ ถ้าเราเป็นไข้เราต้องบำรุงรักษาร่างกายของเราให้พ้นจากไข้

จิตใจของเราถ้ามันยืดยาด มันเนือยนาย มันไม่สนใจ มันเห็นสิ่งใดเป็นโทษ มันเริ่มติดเชื้อแล้ว ติดเชื้อกิเลสไง กิเลสมันเริ่มครอบงำแล้ว ถ้ากิเลสมันเริ่มครอบงำเราจะต้องมีสติปัญญา หาสติปัญญาพยายามสลัดทิ้งอารมณ์อย่างนี้ให้ได้ ถ้าเราสลัดอารมณ์อย่างนี้ทิ้งเห็นไหม เหมือนคนเป็นไข้ คนเริ่มไม่สบายเขาต้องดูแลรักษาตัวของเขา คนเป็นไข้นะ ไข้หวัดถ้าร่างกายแข็งแรงไข้มันก็จะหายไปโดยธรรมชาติ

จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจถ้ามันตื่นตัวตลอดเวลา มีสติปัญญาของมันตลอดเวลานะ มันจะไม่ให้กิเลสตัณหาทะยานอยากครอบงำบนหัวมัน ถ้าบนหัวมันนะคือบนหัวใครล่ะ บนหัวมันก็คือบนหัวใจเรานี่แหละ บนหัวใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี้ ผู้ที่เห็นโทษในวัฏสงสาร ผู้ที่ว่าเห็นภัยในวัฏสงสาร คือการเกิดและการตาย

แต่การเกิดและการตาย การเกิดมานี้เกิดเพราะมีเราใช่ไหม เพราะเรามีอวิชชาโดยธรรมชาติของมัน มันเลยเกิดเป็นเราใช่ไหม แต่เพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธพบพุทธศาสนา แล้วได้ออกบวชเป็นพระ เพราะเราเห็นว่าโลกนี้เขาอยู่กัน เพราะสมบัติของโลกไม่มีวันจบสิ้น หน้าที่การงานทำขนาดไหนมันก็ต้องมี สมบัติของเรามันก็ต้องมีลูกมีหลานมารับมรดกตกทอดกันไป งานไม่มีวันจบเพราะ ! เพราะเรามีปากมีท้อง

คนมีปากมีท้องนะ เขาต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย คำว่าปัจจัยเครื่องอาศัยก็ต้องดูแลรักษากันไป สิ่งนี้ในโลกมันไม่มีที่สิ้นสุด ตายจากชาตินี้ไป ก็ไปชาติใหม่ไปเกิดในชาติไหน ก็อาหาร ๔ แล้วแต่การดำรงชีวิตในผลของวัฏฏะ อาหาร ๔ กวฬิงการาหาร วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร อาหารในวัฏฏะนี้ จิตนี้เกิดในวัฏฏะต้องมีอาหาร ๔ นี้เป็นเครื่องดำรงชีวิต

สิ่งที่เป็นเครื่องดำรงชีวิตมันก็ดำรงชีวิตของมันตลอดไป นี่เรื่องของโลก เรื่องของความวิตกกังวลว่า สิ่งที่เป็นอาหารของเรา เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของเรา เราต้องมีเครื่องอาศัยของเรา เราก็พยายามแสวงหา แล้วแสวงหามาก็เพื่อความมั่นคงในชีวิต เรามีหมู่คณะ มีชาติมีตระกูลต่างๆ ก็แสวงหากันไป มันไม่มีวันจบเห็นไหม เรื่องหน้าที่การงานมันไม่จบเพราะเรามีปากและท้อง

พระก็เหมือนกัน เราบิณฑบาตมาฉัน เราฉันเพื่อดำรงชีวิตไว้เพื่อจะภาวนา เพื่อจะรื้อภพรื้อชาติ รื้อสิ่งต่างๆ ในหัวใจของเรา ถ้าเราไม่รื้อภพรื้อชาตินะ งานของอาชาไนย เราเป็นสัตว์อาชาไนยเห็นไหม ดูสิ สัตว์ทั่วไปมันกินทุกอย่างโดยธรรมชาติของมัน สัตว์อาชาไนยมันจะกินแต่ยอดหญ้า มันกินแต่น้ำที่สะอาด

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นพระ เราบิณฑบาต เช้าขึ้นมาชาวบ้านเขาหุงหาอาหาร เขาตักข้าวปากหม้อใส่บาตรพระเห็นไหม นี่เรากินอาหารยอดหญ้า แล้วเราสัตว์อาชาไนยเลือกอาหาร สิ่งใดฉันแล้วโงกง่วง สิ่งใดฉันแล้วไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย ถึงมันจะมีรสมีชาติขนาดไหนก็ไม่กิน

แต่ถ้าสิ่งใดฉันเข้าไปแล้ว ดำรงชีวิตเพื่อให้กระเพาะอาหาร เพื่ออะไรต่างๆ เพื่อให้มันขับเคลื่อนไปได้เท่านั้นเอง แต่การภาวนานะ นั่งสมาธิภาวนาแล้วจิตใจแจ่มใส ปัญญามันจะเกิดโดยการไตร่ตรองการใคร่ครวญ การที่ฝึกฝนมันจะเกิดความขยันหมั่นเพียร สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์เห็นไหม

นี่คือดำรงชีวิตเหมือนกัน โลกเขามีปากมีท้องเขาก็ต้องหาอยู่หากินเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา เราเป็นพระ บริขาร ๘ ปัจจัย ๔ เห็นไหม บาตรเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคด้วยน้ำดองมูตรเน่า ที่อยู่อาศัยก็กลดไง โคนไม้ นี่มีพร้อม เกิดมาในสัจธรรมเห็นไหม นี่คือบุรุษอาชาไนย เขาอยู่ในโลกเขาก็ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนไปกับโลกของเขา เพราะนี่มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องบุญกุศล เรื่องของบาปอกุศล ใครทำบุญทำชั่วสิ่งใดมา จังหวะและโอกาสของคนมันแตกต่างกันไป

แต่เรามาบวชพระแล้วนะ เวลาเรานั่งสมาธิภาวนามันก็เหมือนกัน ถ้าเราสร้างบุญกุศลของเรามา เราทำสิ่งใดจังหวะ กาลเทศะ ภาวนาที่ไหนมีแต่คนคอยสนับสนุน ไปอยู่ที่ไหนนะ สิ่งนั้นมันจะเป็นประโยชน์กับเราตลอดไปเลย

แต่ถ้าเรามีแต่บาปอกุศลนะ ไปอยู่ที่ไหนนะ วัดนั้นก็กำลังจะร้าง ต่างคนต่างก็จะแยกย้ายกันไป เราไปก็เป็นคนสุดท้าย มันเป็นนะ แต่ถ้ามีอำนาจวาสนานะ ขณะที่หลวงปู่มั่น ขณะที่ครูบาอาจารย์ท่านกำลังประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเกิดมาพบสังคมนั้น เราเกิดมาพบสังคมหมู่นั้น เขากำลังแข่งขันกันภาวนา สังคมนั้นเขากำลังแข่งขันกันนั่งสมาธิภาวนา เขาใช้ปัญญาของเขา แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้น เราก็ได้อยู่ในสังคมนั้น สังคมนั้นก็ชักนำให้เรามีความมั่นคง มีความองอาจกล้าหาญ มันคึกคัก! นี่ก็บุญเหมือนกันนะ

คนเรามันอยู่ที่บุญวาสนานะ ถ้าบุญวาสนาจังหวะและโอกาสสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรามันจะส่งเสริมเราตลอดไปเลย สิ่งที่เป็นบาปอกุศล ทางโลกและทางธรรมเหมือนกัน คนทางโลกเห็นไหม ถ้าอยู่ทางโลกขยันหมั่นเพียร มีสติปัญญา องอาจกล้าหาญ เวลาบวชมาแล้วนะ สิ่งนั้นมันจะทำให้คนๆ นั้นภาวนาไปมันมีหลักมีเกณฑ์

แต่คนเรานะจับจด ละล้าละลังกับทางโลก เวลาบวชมาแล้วก็เป็นพระ ละล้าละลังอยู่อย่างนั้นเห็นไหม เวลาเป็นพระเราประพฤติปฏิบัติกันด้วยความกระฉับกระเฉง ตื่นตัวเพื่อให้เป็นจริตนิสัย ให้มันคล่องตัว คล่องตัวนั้นคือการฝึกสตินะ มันเป็นการฝึกสติโดยตัวมันเอง

แต่ว่าเวลาเราฝึกสติเราก็นึกถึงสติ สติมันจะมานะ โอ้โฮ ตั้งสติ ทำสมาธิ ปัญญามันจะเกิด แล้วเวลาก้าวเดินอยู่ไม่มีสติเหรอ? เวลาเราทำข้อวัตรปฏิบัติมีสติไหม? เราทำข้อวัตรปฏิบัติอยู่มันก็ฝึกได้ทั้งนั้น การฝึกของเรา ดำรงชีวิตประจำวัน มันก็ฝึกของมันไปเห็นไหม นี่เราทำข้อวัตรอยู่ก็มีสติ ถ้าเรามีสติเราทำสิ่งใดก็สมบูรณ์แบบตลอด

แต่เราทำด้วยความเผอเรอ เราทำด้วยความคึกคะนอง สิ่งต่างๆ อย่างนี้มันก็ทำให้สติเราขาดตกบกพร่องอยู่ตลอดเวลา โลกมันเป็นอย่างนั้น โดยสามัญสำนึกของจิตมันเป็นอย่างนั้น นี่อยู่ที่อำนาจวาสนา มันถึงมีขิปภาภิญญาไง ผู้ที่ปฏิบัติเร็วรู้เร็ว ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ยาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เป็นหลักเกณฑ์อยู่แล้ว เป็นหลักเกณฑ์คือผลของวัฏฏะ บัว ๔ เหล่า จิตใจของเราจะเป็นบัวเหล่าไหนก็แล้วแต่ มันไม่ใช่เป็นบัวเหล่าใดเหล่าหนึ่งแล้วมันต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป ถ้ามันเป็นอย่างนั้นตลอดไป เราจะมาแก้กรรมกันได้อย่างไร

เวลาเราบวชมาแล้วนะ เรามีความทุกข์ยาก คนบวชมาแล้วเขาก็ต้องอยากพ้นจากทุกข์ทั้งนั้นนะ ทีนี้การพ้นจากทุกข์มันก็พัฒนาของมันขึ้นมา จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จากกัลยาณปุถุชนมันใช้ปัญญาใคร่ครวญ ถ้าใคร่ครวญเป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์มันก็เป็นโสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

นี่จิตมันพัฒนาได้ ไม่ใช่ว่าเราเป็นสิ่งใดแล้วจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป แต่ผลของวัฏฏะ คำว่าผลของวัฏฏะ เห็นไหมจริตนิสัยมันเป็นอย่างนั้น สันดานของคนคือสันดาน สันดานอะไรก็แล้วแต่มันก็แก้กิเลสได้เหมือนกัน ก็แก้ให้ตรงกับสันดานนั้น ถ้าเราแก้ให้ตรงกับสันดานนั้น เวลาเราทำสิ่งใด ถ้าจิตใจมันสะเทือนใจ เห็นไหม เวลาฟังธรรม เวลาฟังถึงอสุภะ เวลาฟังถึงการพิจารณาจิต ขนลุกขนพองมันสะเทือนใจ ความสะเทือนใจนะ เหมือนอาหารเลย เราสั่งอาหารเห็นไหม ฆราวาสเขาไปกินอาหาร สั่งอาหารมา กลิ่นอาหารนั้นมา แล้วมันถูกใจนัก ถ้ากลิ่นอาหารนี้มาล่ะเหม็นนัก กลิ่นอาหารนี้มาไม่ถูกใจนัก เห็นไหมกลิ่น ถ้ามันได้กลิ่นก่อน เวลามันกินอาหารนั้น มันก็อยากจะกิน

นี่ก็เหมือนกัน จริตนิสัยเหมือนกลิ่นนั้นนะ กลิ่นของมันเห็นไหมจริตนิสัย กลิ่นอันนี้ไม่ถูกใจ แต่อาหารก็คืออาหารนะ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำ เราต้องตั้งใจของเรา ถ้าจริตนิสัยมันจะอ้าง กิเลสเวลามันอ้างนะ ธรรมะเขาเอาไว้ขัดเกลากิเลส เวลาฟังธรรมๆ เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อการต่อสู้กับกิเลส

ไอ้เราฟังธรรม กิเลสมันอ้างธรรมไง “ก็จริตเราไม่ชอบว่ะ ก็จริตเรามันไม่ต้องการอย่างนี้ล่ะ แล้วมึงต้องการอะไรล่ะ มึงจะเอาที่ไหนล่ะ” นี่อ้างจริตไง อ้างจริตนิสัยว่าอย่างนี้ไม่ถูกใจ แล้วถูกใจมันอยู่ไหนล่ะ? ถูกใจก็ยังไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรเลย เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ถูกใจไปทุกเรื่อง แล้วไอ้เรื่องถูกใจก็ยังไม่รู้ว่าจะไปถูกใจตรงไหน

นี่คืออ้างธรรมะ แต่ถ้ามันเป็นการประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ธรรมะนี้จะขัดเกลากิเลสของเรา จริตมันไม่ชอบ สิ่งใดก็ไม่ถูกใจไปซักอย่างเลย ไม่ถูกใจก็ตั้งสติ ไม่ชอบเพราะอะไร สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนมาเห็นไหม ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านทำมา ท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย ท่านจะถูกจริตหรือไม่ถูกจริตท่านก็ฝืนของท่าน ท่านบังคับของท่าน

มันถูกจริตหรือไม่ถูกจริตเราเลือกไม่ได้ สถานที่บางสถานที่มันไม่มีมันเลือกไม่ได้ ไม่ถูกจริตก็ต้องดำรงชีวิตอย่างนี้แล้วภาวนาไปก่อน แล้วถ้ามันมีโอกาสเราจะพลิกแพลงได้ เรามีโอกาสเรามีที่ออกได้มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เวลามันไม่ถูกจริตก็คือไม่ถูกจริต แต่สติปัญญาของเราๆ จะควบคุมมันอย่างไร แล้วเราจะบังคับจิตของเราให้ทำมันต่อเนื่องเห็นไหม การปฏิบัติธรรมเห็นไหม ทำที่นี่ถูกจริตเพราะมันพอใจ โอ้โฮ สมาธิดีมากเลย พอเปลี่ยนที่ไปไม่ถูกจริต ไม่ถูกจริต สมาธิที่ได้มาก็เสื่อมหมดเลย ปัญญาที่เคยคล่องตัวก็ภาวนาไม่ได้เลย

แล้วจะไปเอาจริตที่ไหนล่ะ จะไปหาจริตที่ไหน มันเสื่อมไปหมดแล้ว จริตส่วนจริตนะ ผลของการปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การปฏิบัตินะ ผลที่ปฏิบัติมา มันเป็นประโยชน์กับเรา

สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เราจะต้องแก้ไขเรา เราไม่เชื่อตลอดเห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ไม่ให้เชื่อตัวเอง ไม่ให้เชื่อเรา เราเชื่อเราไม่ได้เพราะว่ากิเลสมันอยู่กับเรา

ฉะนั้นถ้าเรามีครูบาอาจารย์เราลงใจกับครูบาอาจารย์ ถึงจะไม่เชื่อ ถึงจะมีความขัดแย้ง เราก็ควรจะทดสอบก่อนว่าสิ่งนั้นทำแล้วมันจะได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ถ้ามันได้ประโยชน์จริงนะเห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านสอนถูก

แต่เราทำมันผิด พอมันผิดผิดเพราะอะไร ผิดเพราะความเข้าใจผิด ผิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผิดเพราะความอ่อนแอ อินทรีย์ไม่แก่กล้า ตัดสินธรรมวินัยโดยเข้าข้างตัวเอง ตัวนี้สิ่งนี้ตัวเองเคยชอบ สิ่งนี้เราเคยทำต้องเป็นอย่างที่เราคิด อย่างที่เราทำ

แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าให้ทดสอบ ให้ตรวจสอบ พิจารณาไปก่อน ทำไปก่อน เวลาถ้าทำไปก่อนเห็นไหม จิตใจเราเคยสงบร่มเย็นอยู่แล้ว ถ้ามันมีการฝืน มีการต่อต้าน แต่ถ้าเรายังเชื่อมั่นของเรา เราปฏิบัติของเราไปก่อน

เวลาจิตมันลงนะ เพราะจิตเราดีอยู่แล้วใช่ไหม เพราะมันปฏิบัติมา จิตมันมีสมาธิ มันมีปัญญาของมัน แต่มันต่อต้าน มันยังไม่มีเหตุผล แต่พอภาวนาไปโดยใช้เหตุใช้ผลและใช้ปัญญาไป เวลามันลงเห็นไหม มันลงลึกไปกว่าของเดิมไง เพราะจิตเราดีอยู่แล้ว แล้วพิจารณาอยู่ใช่ไหม มันต่อต้านว่าสิ่งนี้มันไม่เป็นธรรม ใจเราเป็นธรรม สิ่งที่เราฟังมาเหตุและผลที่เราฟังมาสิ่งนั้นไม่ใช่ธรรม ใจเราต่างหากที่เป็นธรรม มันก็ได้เท่าทุนอยู่นี่ไง

แต่ถ้ามันเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมถ้าปัญญามันออกใคร่ครวญ ปัญญามันออกพิจารณาเข้าไป เวลามันพิจารณาของมันไป ถ้ามันสมดุลของมัน มรรคสามัคคีมันปล่อยวางของมัน มันลึกซึ้งเข้าไปๆ “ก็ไหนว่าไม่ถูกต้องไง”

นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ผลของการปฏิบัติมันฟ้อง ผลของการปฏิบัติมันตอบโจทย์ เอง นี่ปัจจัตตัง ในการประพฤติปฏิบัติผลของการปฏิบัติมันจะตอบใจเรานี่แหละ ความเป็นจริงมันตอบของมันเอง

แต่เวลาเราศึกษามา เห็นไหม ดูกิเลสเวลามันหลอกลวง สิ่งนั้นจะไม่พอใจ ไม่ได้ดั่งใจ มันต่อต้านหมด แล้วหาเหตุหาผลมาสนับสนุนด้วยนะ โอ๋ ปัญญาอย่างนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ โหย ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาขนาดนี้ ท่านไม่น่าโง่ขนาดนี้เลย เวลามันหาเหตุผลมาสนับสนุนมันนะ

แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วพอจิตมันลงนะ มันเศร้าใจ มันสังเวช เรามันโง่ได้ขนาดนี้ ปฏิบัติมาเราโง่ได้ขนาดนี้ ทิฐิมานะมันสุมหัว มันเท่ากับภูเขา มันไม่ยอมรับความจริงเลยแต่เวลาปฏิบัติไป ถ้าเรายังไม่รับความจริงเห็นไหม นี่ทิฐิมานะดั่งภูเขา แล้วกิเลสตัณหามันอยู่บนยอดเขานั้นอีกนะ มันขี่ภูเขานั้นอีกชั้นหนึ่ง เราปฏิบัติไปภูเขามันทับอยู่ในหัวใจเรานี้ เพียบแป้ไปหมดเลย แล้วเราจะต่อสู้อย่างไร

แต่ถ้ามีสติปัญญาแล้วบริกรรม แล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วใช้ปัญญาของเราไป มันจะสูงกว่าภูเขา กิเลสมันจะมีอำนาจขนาดไหนบนเหนือภูเขานั้น มันจะสู้ปัญญาของเราไปไม่ได้หรอก จะเป็นภูเขาหรือทิฐิมานะอยู่บนยอดเขา กิเลสอยู่บนเขามันก็อยู่บนภวาสวะ อยู่บนภพ มันตั้งอยู่บนหัวใจของเรานี่แหละ ภูเขาที่มันตั้งอยู่ข้างนอกมันเป็นสิ่งเปรียบเทียบ ภูเขามันตั้งอยู่บนแผ่นดิน

แต่ไอ้ภูเขาไอ้ความทิฐิมานะในหัวใจ มันสร้างขึ้นใหญ่ขึ้นเล็กลงอยู่ที่ทิฐิของเรานี่ไง ถ้ามันใหญ่ขึ้นก็เพราะทิฐิของเราไปเสริมมันๆ ก็ใหญ่ขึ้น ถ้ามีสติปัญญาใคร่ครวญภูเขามันจะเล็กลง เล็กลงๆๆ เล็กลงจนมันต้องพลัดตกไปจากภวาสวะ พลัดตกจากภพในหัวใจไป มันจะพลัดตกจากหัวใจ มันตั้งอยู่บนใจเราไม่ได้ไง

ในเมื่อธรรมะมันออกกวาดล้าง ธรรมะมันออกวิปัสสนาด้วยอสุภะ มันทำลาย ภูเขา ทำลายกิเลสอวิชชาบนภูเขานั้น ทำลายลงไปจากหัวใจทั้งหมดเลย แล้วมันทำลายอย่างไร มันทำลายเพราะมันมีปัจจัตตัง มีสันทิฏฐิโก มันจะรู้จะเห็นของมันตามความเป็นจริง

นี่พูดถึงคติธรรมนะ แบบอย่างของครูบาอาจารย์เรา หลวงตาท่านก็ล่วงไปแล้วนะ แบบอย่างชีวิตหนึ่งก็จบสิ้นไปแล้ว ต่อไปก็เป็นประวัติศาสตร์ จะศึกษาได้ด้วยทางตำรับตำรา ชีวิตของท่านก็ล่วงไปแล้ว ชีวิตที่เป็นแบบอย่าง เราควรจะเอามาเป็นคติแบบอย่างของเรา ไม่ควรปล่อยให้ล่วงพ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่มีเอกบุรุษ สุภาพบุรุษผู้ใดจะทำให้เป็นสมประโยชน์

ส่วนใหญ่แล้วในการประพฤติปฏิบัติในวงการของเรา มันก็มีหน้าไหว้หลังหลอก มีแต่การหลอกลวง มีแต่การปลิ้นปล้อน มันไม่มีความจริง ในเมื่อหัวใจไม่จริง สิ่งที่แสดงออกมามันไม่จริงไปตั้งแต่ต้น ไม่จริงออกมาตั้งแต่ใจ การแสดงออกไปมันก็มีแต่มารยาสาไถย

แต่ถ้าเป็นชีวิตแบบอย่าง เอกบุรุษของครูบาอาจารย์เราเห็นไหม ออกจากหัวใจของท่านก็มีแต่ความเมตตา บอกว่า “หมู่คณะให้ปฏิบัติมา แล้วเวลาใครปฏิบัติมาถึงตรงที่ท่านพูดไว้ แล้วจะมากราบศพผม ถ้าใครคัดค้าน ใครไม่เห็นด้วย ใครต่อต้าน ใครคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากให้ปฏิบัติไป มันต้องพิสูจน์กัน ถ้าพิสูจน์กันถึงจุดหนึ่ง ถึงวันใดวันหนึ่งที่ปฏิบัติไปถึงจุดนั้น แล้วจะมากราบศพผม”

ท่านพูดไว้ประจำ บัดนี้ท่านล่วงไปแล้ว คำพูดอย่างนั้นมันก็เป็นเสียงที่เราได้บันทึกเทปกันไว้ ชีวิตท่านได้ผ่านไปแล้วนะ แบบอย่างหนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว นี้คือแบบอย่างหนึ่งของครูบาอาจารย์เรา จิตใจของเราชีวิตของเราเป็นเอกสิทธิ์ของเรา

สิทธิ เอกสิทธิ์ในชีวิตของเรา เรามีสิทธิที่จะเลือกได้ว่า เราจะทำสิ่งใดก็ได้ หัวใจของเราเป็นนามธรรมที่ไม่มีใครมีสิทธิที่มาครอบคลุมควบคุมได้ อยู่ที่ความพอใจของเราว่าเราจะควบคุมด้วยสติปัญญาของเราอย่างไร

เรามีสติปัญญาขนาดไหน เราจะควบคุมใจของเราขนาดไหน เอกสิทธิ์ ! สิทธิของเรา ประโยชน์ของเรา นี่คือประโยชน์ของเรา ถ้าเป็นธรรมมันก็เป็นประโยชน์ตามความเป็นจริง ถ้ามันเป็นกิเลสเห็นไหม เอกสิทธิ์ของเรามันก็ทำลายโอกาส ทำลายความรู้ความเห็นของเรา นี้มันเป็นคติของบุคคลคนนั้นเอง

ฉะนั้นวันนี้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐องค์ มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราก็มีจิตใจที่มีความมั่นคงอย่างนั้นเหมือนกัน ท่านก็เป็นชีวิตเป็นแบบอย่างให้เราได้มีคติธรรม ท่านล่วงไปแล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ตั้งสติ มันเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องความคิดที่ใครจะบังคับไม่ได้ เราจะมีสติปัญญาเพื่อประโยชน์กับตัวเรา ไม่ใช่ประโยชน์กับครูบาอาจารย์ที่ท่านล่วงไปแล้ว ไม่ใช่ประโยชน์กับคนอื่นทั้งสิ้น ประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษเราต้องเลือกเอง เอวัง