เทศน์บนศาลา

กว่าจะเป็นหลวงตา

๒๓ ก.พ. ๒๕๕๔

 

กว่าจะเป็นหลวงตา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลสรีระสังขาร พระธรรมวิสุทธิมงคล
(หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

 

 

ขอโอกาสครูบาอาจารย์ทุกๆ องค์ครับ

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

 

“มรณะ - มรณานุสติ” เราเป็นชาวพุทธนะ เราเป็นชาวพุทธกันทุกคน เรามีการศึกษามาแล้วว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เป็นเรื่องธรรมดา” แต่พอเรามีการศึกษากันแล้วเราก็มีการปฏิบัติ พอเรามีการปฏิบัติเราถึงเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านสอนถึงความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วความจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี้มันมาจากไหน?

สิ่งที่เป็นโลกมันต้องวิบัติไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นโลกมันต้องหมุนไปเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่เป็นความรู้สึกล่ะ หลวงตาท่านในเรื่องของโลกคือสังขารร่างกายท่านดับไปเป็นธรรมดา แต่หัวใจท่านไม่เคยดับ! ความเป็นจริงไม่เคยดับ สิ่งที่มันไม่เคยดับเพราะเหตุใด สิ่งนั้นมันไม่เคยดับเพราะท่านได้ทำของท่านจนถึงที่สุดของท่านแล้ว เห็นไหม ท่านถึงนั่งอยู่ในหัวใจของเราไง!

ครูบาอาจารย์ท่านล่วงไปแล้ว แต่ท่านไม่เคยล่วงไปจากหัวใจของเราเลย ท่านนั่งอยู่ในกลางหัวใจของเรา เพราะเหตุใด ท่านนั่งอยู่ในกลางหัวใจของเราเพราะท่านพูดว่า “ในการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของท่านมีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือท่านเสียสละเพื่อความพ้นทุกข์ของท่าน อีกคราวหนึ่งคือท่านเสียสละเพราะว่าท่านได้ช่วยชาติ”

การเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของหลวงตา ท่านบอกว่า ท่านเสียสละอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือท่านเสียสละเพื่อตัวของท่าน เพราะท่านได้พ้นจากกิเลสของท่านไป ท่านไม่มีสิ่งใดอยู่ในหัวใจของท่าน ท่านถึงทำความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติได้ เพราะมันไม่มีสิ่งใดคาในใจของท่านเลย

กว่าที่จะพ้นจากหัวใจของท่านได้นั้นเพราะเหตุใด เห็นไหม เวลาท่านเกิดมาตั้งแต่เป็นชายขอบของสังคม แต่เพราะมีการศึกษา แต่เพราะมีอำนาจวาสนาบารมีของท่านเอง ท่านก็ออกศึกษา เวลาท่านบวชแล้วท่านไปอยู่กับอุปัชฌาย์ พอไปเห็นอุปัชฌาย์เดินจงกรมอยู่ ท่านไปถามว่า “จะทำอย่างใด?” อุปัชฌาย์ก็บอกว่า “พุทโธสิ”

ท่านบอกว่า ท่านก็พุทโธๆๆ เห็นไหม ท่านพุทโธจนจิตของท่านสงบ มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ เสร็จแล้วท่านก็ตั้งสัจจะว่า ท่านจะมีการศึกษา ท่านอยากเรียนก่อนเพื่อเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน เวลาท่านไปเรียนอยู่ ๗ ปี เห็นไหม ท่านบอกว่า พุทโธๆ นี้ทำให้หัวใจของท่านสงบได้ถึง ๓ หน แล้วมันฝังใจมาก สิ่งที่ฝังใจของท่าน เห็นไหม เป็นความสุขของท่าน

แต่เพราะเวลาท่านไปศึกษาจนจบบาลีมา แล้วท่านออกปฏิบัติครั้งแรก ท่านก็ปฏิบัติของท่าน เพราะมีการศึกษา “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” การศึกษาปริยัตินี้สำคัญมาก ถ้าพวกเราไม่มีทฤษฎีในทางวิชาการ ในการประพฤติปฏิบัติของเราในการกระทำของเรามันก็จะขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าเรามีทฤษฎีในการประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” คำว่า “ปฏิเวธ” ก็คือผลของการปฏิบัติ

ฉะนั้นเวลาศึกษามาแล้ว ด้วยเวลาที่ท่านออกศึกษา ท่านก็มีทางวิชาการของท่านมา ท่านบอกว่า ตอนท่านปฏิบัติครั้งแรก ท่านกำหนดดูจิตเฉยๆ ดูจิตเฉยๆ ทั้งๆ ที่เคยพุทโธมาแล้ว ตอนกำหนดพุทโธนั้นจิตรวมได้ถึง ๓ หน แต่พอมาดูจิตเฉยๆ “จิตนี้แข็งเป็นหิน ดั่งภูเขา”

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันก็เสื่อม พอมันเสื่อมขึ้นมานี้ ท่านบอกว่า เพราะไปดูจิต จิตของท่านถึงเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน ท่านก็พยายามหาทางออกของท่านอยู่ นี่คือคนที่มีความมุมานะ ท่านหาทางออกของท่านอยู่ว่า “เป็นเพราะเหตุใดถึงจิตเสื่อม?”

แล้วท่านก็ออกไปหาหลวงปู่มั่น เพราะท่านกำลังเข้าไปใหม่ๆ เห็นไหม แล้วหลวงปู่มั่นท่านจะไปเผาศพ จึงทิ้งให้หลวงตาท่านอยู่คนเดียว ท่านถึงมาค้นคว้าของท่านเองว่า

“ทำไมจิตเราถึงเสื่อม?”

“เพราะมันคงจะไม่มีคำบริกรรม มันไม่มีสิ่งที่ยึดเหนี่ยว ไม่มีสิ่งที่ให้เกาะไว้” ท่านถึงกลับมาพุทโธๆๆ

ทั้งๆ ที่พุทโธมาก่อน! แต่ทำไมถึงทิ้งพุทโธออกไปล่ะ ทิ้งพุทโธไปดูจิต เห็นไหม จิตก็เลยเสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน สุดท้ายแล้วท่านก็กลับมาพุทโธใหม่ พุทโธจนจิตมั่นคง พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พอพุทโธจนพุทโธไม่ได้ เห็นไหม มันก็เจริญแล้วเสื่อมเหมือนกัน เพราะมันอยู่ในขั้นของสมาธิ

นี่คือที่จะบอกว่า คราวที่ท่านเสียสละชีวิตมีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือการประพฤติปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอด อีกคราวหนึ่งคือเพื่อออกมาช่วยชาติ (ก็เพราะได้มีการเอาตัวรอดอย่างนั้นก่อน)

ท่านก็มาพิจารณาของท่าน จิตมันเสื่อม พอไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า “จิตนี้เหมือนเด็กๆ มันต้องกินอาหาร เวลามันออกไปเที่ยวของมัน ถ้ามันหิวมันจะต้องกลับมาแน่นอน ให้พุทโธไว้”

พอท่านพุทโธๆๆๆ มันก็กลับมามั่นคง ทีนี้เวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่านไป พอนั่งสมาธิไป เพราะคนเรามีกิเลส กิเลสมันก็ต้องมีการโต้แย้งเป็นธรรมดา พอนั่งไปก็เกิดเวทนา

“นี่มันเพราะเหตุใด? เพราะเหตุใด?”

“อย่างนี้ต้องต่อสู้!”

ท่านถึงกำหนดของท่าน เห็นไหม นั่งตลอดรุ่ง

การพิจารณาตลอดรุ่งนี้มันตลอดรุ่งอย่างไรล่ะ เพราะว่าสิ่งที่พิจารณาตลอดรุ่งนี้มันเป็นการภาวนา แต่ขณะที่จิตท่านไปประสบกับสิ่งที่มันโต้แย้งขึ้นมาในหัวใจ เพราะท่านพุทโธๆ จนจิตสงบใช่ไหม พอจิตสงบมันก็เป็นบาทฐาน “ศีล สมาธิ ปัญญา” ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นต่อสู้ตลอดรุ่งนี้มันพิจารณาเวทนา ตั้งแต่หัวค่ำจนกว่าจะตลอดรุ่งนี้พิจารณาแล้วมันก็ปล่อย พอมันปล่อยเสร็จแล้วมันก็ลงสู่สัจธรรม แต่มันก็คลายตัวออกมาอีก ก็พิจารณาซ้ำเข้าไป.. ซ้ำเข้าไป.. ถึงที่สุด! มันมีเหตุมีผลของมัน “ตั้งแต่บัดนี้ไปมันจะไม่มีวันเสื่อม.. ตั้งแต่บัดนี้ไปมันจะไม่มีวันเสื่อม..”

เพราะเราไปหาครูบาอาจารย์ เราก็ต้องรักครูบาอาจารย์เป็นธรรมดา ท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่น ไปอธิบายให้ท่านฟัง หลวงปู่มั่นก็บอกว่า “จิตนี้มันไม่เกิด ๕ อัตภาพเว้ย! จิตนี้มันมีกำลังของมัน” ตั้งแต่วันนั้นมาก็ไม่เสื่อม เห็นไหม พอสิ่งที่ไม่เสื่อม ท่านก็รักษาของท่าน ก็พิจารณาของท่านไปตลอดรุ่ง.. ตลอดรุ่ง.. ก็มีธรรมะขึ้นไปส่งหลวงปู่มั่นทุกวัน แต่หลวงปู่มั่นท่านเห็นว่ามันจะทำมากเกินไป เพราะพ่อแม่ก็ต้องรักลูกเป็นธรรมดา หลวงปู่มั่นท่านจึงบอกว่า

“ม้า เวลาที่เขาจะใช้งาน ถ้ามันดื้อนัก เขาก็ต้องให้มันอด แต่ถ้ามันฉลาดขึ้นมา มันไม่ดื้อนัก เขาก็ให้มันกินบ้าง” เห็นไหม อันนี้อันหนึ่ง

สอง เวลาภาวนาไป จากที่ว่าจิตมันไม่ตาย ๕ อัตภาพแล้ว ก็มาพิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ จนธาตุขันธ์มันกลับไปสู่สถานะเดิมของมัน ธาตุขันธ์กลับไปสู่สถานะเดิมเพราะเหตุใด? ธาตุขันธ์มันกลับไปสู่สถานะเดิมเพราะท่านมีพื้นฐานของท่าน ท่านปฏิบัติของท่านผิดมาก่อนแล้วมาถูก พอพิจารณาเข้า.. พิจารณาเข้า.. มันก็ปล่อยวางไปได้ เพราะมีครูมีอาจารย์ไง แล้วหลวงปู่มั่นก็คอยแนะคอยนำ เห็นไหม พอแนะนำบ่อยครั้งเข้าๆ พิจารณาไป.. พิจารณาไป.. จนมันกลับไปสู่สถานะเดิม “ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ” ธาตุ๔ มันแยกออกไปจากมัน จิตมันแยกออกไปจากมัน มันรวมลง! พอมันรวมลงก็มีความสุขมหาศาล

แล้วท่านก็ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น พอไปรายงานหลวงปู่มั่นท่านก็รับฟังไว้ แล้วหลวงตาท่านก็พิจารณาต่อสู้ต่อไปด้วยความที่อยากจะได้อย่างนั้นอีก แล้วท่านก็ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ไปบอกว่า “จิตที่มันรวมนั้นมีความสุขมาก อยากจะได้ความสุขอย่างนั้นอีก”

หลวงปู่มั่นท่านตอบว่า “มันมีหนเดียวเท่านั้นแหละ!” เวลามันสมุจเฉทปหานมันมีครั้งเดียว แต่เวลาที่มันพิจารณา มันต้องพิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาบ่อยครั้งเข้า เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า เวลาวิกฤตเกินไป หลวงปู่มั่นท่านก็รั้งไว้ เวลาปฏิบัติไป อยากได้อย่างนั้นอีกแต่มันก็ไม่มีอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะถ้ามันขาดแล้ว มันก็ขาดไป แสวงหาอยู่อย่างนั้น ท่านถึงติดอยู่ตรงนั้น ๕ ปี

หลวงปู่มั่นท่านพูดอย่างนี้ “มันมีครั้งเดียวแหละ จิตที่เป็นอย่างนี้มันเป็นเหมือนเราตอนอยู่ที่ถ้ำสาริกา”

ตอนที่หลวงปู่มั่นอยู่ที่ถ้ำสาริกา ท่านเป็นโรคถ่ายท้อง ท่านก็ใช้ยาของท่านอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้วจะรักษาอย่างไรมันก็ไม่ฟัง พอมันไม่ฟังท่านก็ทิ้งยาหมดเลย แล้วมาพิจารณาร่างกายของท่าน เห็นไหม เวลาจิตมันรวมลง จิตรวมลงนี่หนึ่ง จิตรวมลงเพราะมันพิจารณาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากร่างกาย แล้วทิ้งทั้งหมด จิตรวมลงเกิดความสว่างไสว เห็นเป็นยักษ์ที่ถือตะบองจะมาตีท่าน

อันนี้มันเป็น ๓ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคืออริยสัจ สัจจะความจริง เวลาพิจารณาแล้วสัจจะ อริยสัจมันทำลายกิเลสลงมาชั้นหนึ่ง ประเด็นสองคือจิตรวมลงไปแล้วเกิดแสงสว่างมีความสุขนั้นเป็นอีกอันหนึ่ง แต่ด้วยอำนาจวาสนาของท่าน มันก็มียักษ์ที่จะมีตีท่านในนิมิต เป็นประเด็นที่สาม

เขาบอกว่า “พวกที่กำหนดพุทโธ พวกที่ทำสมถะมันจะเกิดนิมิต นิมิตนั้นมันจะทำลายการปฏิบัติ”

นิมิตจริงก็มีนิมิตปลอมก็มี!

ฉะนั้นเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดของท่านอย่างนั้น แต่คนจดจารึกหรือผู้ที่เขียนประวัติหลวงปู่มั่นกลับบอกว่า “หลวงปู่มั่นสำเร็จอยู่ที่ถ้ำสาริกา เพราะท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาท”

แต่ความจริงมันไม่ใช่! เพราะหลวงตาท่านเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่มั่นเวลาจิตท่านสงบขนาดนั้นแล้ว ท่านกำหนดไปดูเจ้าคุณอุบาลี เจ้าคุณอุบาลีท่านกำลังพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ไม่ใช่หลวงปู่มั่นพิจารณาปฏิจจสมุปบาท!

เสร็จแล้วหลวงปู่มั่นท่านก็คิดถึงหมู่คณะ ท่านอยากจะเป็นหลักเป็นชัย เวลาท่านกลับมาภาคอีสาน ท่านมาสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ที่ว่ากองทัพธรรมนั่นไง เวลาปฏิบัติไป หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “กำลังเราไม่พอ.. กำลังเราไม่พอ..” ถ้าหลวงปู่มั่นได้สำเร็จที่ถ้ำสาริกา ทำไมหลวงปู่มั่นจึงบอกว่า “กำลังเราไม่พอ” แต่เพราะกำลังไม่พอ ท่านถึงทิ้งหมู่คณะขึ้นไปเชียงใหม่

ทีนี้หลวงปู่มั่นเวลาท่านพูดถึงครูบาอาจารย์ของเราว่า “เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา” ถ้าเหมือนเราที่ถ้ำสาริกานั้นคือพิจารณาขนาดที่ว่า “โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง” ฉะนั้นเวลาหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านก็บอกว่า “เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟัง เวลาหลวงปู่เจี๊ยะไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านบอกกับหมู่คณะว่า “มีพระหนุ่มๆ องค์หนึ่ง ปฏิบัติอยู่ ๓ ปี มีความรู้เสมอเรา เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา”

นี่ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำของท่านจริง ท่านทำความเป็นจริงของท่าน เห็นไหมฉะนั้นเวลาหลวงตาท่านติดสมาธิอยู่ ๕ ปีนี้ท่านติดอยู่ในขั้นไหน เห็นไหม เวลาอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ นี่ไงการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม “ศีล สมาธิ ปัญญา”

ใช่.. ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ปัญญาของใคร? ถ้าปัญญาของเรา เราก็ต้องมีปัญญาที่เข้าข้างตัวเราเอง แต่เวลาเรามีครูบาอาจารย์ ถึงเราจะเข้าข้างตัวเองขนาดไหน หลวงปู่มั่นท่านก็คอยประคอง ท่านพยายามจะดึงออก เห็นไหม ดึงออกให้พิจารณา หลวงปู่มั่นเทศน์อยู่เกือบทุกคืนที่หนองผือ ขณะที่เทศน์นี้เวลาลูกศิษย์ไปส่งการบ้าน ครูบาอาจารย์ท่านก็ต้องรู้ของท่านอยู่แล้ว ท่านก็พยายามหาทางออกให้ ทั้งเผดียง ทั้งบอก ด้วยวิธีต่างๆ เห็นไหม

แต่คนเรามันก็มีความเห็นของตัวเหมือนกัน ในเมื่อมีความเห็นของตัว เห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่นท่านหันกลับมา

“จิตเป็นอย่างไร? จิตเป็นอย่างไร?”

ครูบาอาจารย์ก็ตอบว่า “จิตดีมาก.. จิตดีมาก..”

จิตดีมาก มันดีของใครล่ะ เพราะเรามีกิเลสใช่ไหม เรามีความรู้สึกของเราใช่ไหม ดีเพราะเราพอใจใช่ไหม แต่มันไม่ดีตามความเป็นจริงน่ะสิ! ในเมื่อมันไม่ดีตามความเป็นจริง แล้วจะออกอย่างไรล่ะ เพราะมันเป็นสมบัติของเรานะ

นี่ล่ะครูบาอาจารย์ เห็นไหม เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เราถึงเคารพครูบาอาจารย์ของเรามาก เพราะครูบาอาจารย์ของเรา “พ่อแม่ครูอาจารย์” คือท่านเลี้ยงทั้งร่างกาย เลี้ยงทั้งจิตใจ

ท่านพยายามดึงเราออกมา เวลาหลวงปู่มั่นท่านหันกลับมาหาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม

“สุขอย่างนี้มันสุขแค่เศษเนื้อติดฟันเท่านั้น สุขกว่านี้ ความดีกว่านี้ ยังมีอีกมากมาย”

“แล้วความดีที่ดีกว่านี้ทำอย่างไรล่ะ? ”

“ความดีที่ดีกว่านี้ เราก็ต้องออกแสวงหาออกค้นคว้าสิ ถ้าออกค้นคว้ามันก็จะเจอของมัน”

“ถ้าความดีที่มันดีกว่านี้แล้วสิ่งที่เห็นอยู่นี้มันเป็นอย่างไรล่ะ อย่างนี้มันก็เป็นสัมมาสมาธิสิ”

“ถ้าสัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้านี้อย่างหนึ่ง สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้มันไม่มีสมุทัย แต่สัมมาสมาธิของเรามีสมุทัยไง”

ด้วยเหตุด้วยผลหลวงตาท่านถึงออกแสวงหาออกค้นคว้า พอออกค้นคว้าไป ก็ไปเจออสุภะ สิ่งที่ได้เจออสุภะนี่ก็คือการต่อสู้กัน

เราจะบอกว่า ความเมตตา ความรักอาลัยอาวรณ์ ของอาจารย์กับลูกศิษย์ ระหว่างหลวงปู่มั่นกับหลวงตา ท่านเคารพบูชากัน ท่านรักกัน ท่านถนอมรักษากันอย่างไร ท่านถึงจะทำให้จิตใจนี้พ้นออกไปจากทุกข์ได้อย่างไร เห็นไหม ถนอมรักษานะ

ท่านบอกว่าเปรียบเหมือนฟุตบอล ถ้าเรามีแต่เล่นแบบปิดเพราะกลัวแพ้ มันก็จะมีแต่เสมอกับไม่แพ้ไม่ชนะ เพราะว่า “เหมือนเราที่ถ้ำสาริกา” นั้นมันรองรับไว้แล้ว แต่ถ้ารุก มันก็อาจจะเสมอกับชนะ หลวงปู่มั่นท่านก็พยายามปลุกเร้าให้ออก

เวลาจิตมันติดแล้วจิตมันจะออกได้นี้ ถ้าคนไม่เป็นจะไม่รู้ แล้วทำไม่ได้ เวลาติดสมาธิอยู่ ก็ว่าสมาธินี้มีความสุขมาก แต่เวลาทำได้ เวลาออกไปปฏิบัติ ออกไปค้นคว้าไปเจออสุภะ เห็นไหม เวลาปัญญามันเริ่มหมุน หลวงตาท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่น ไปบอกท่านว่า “เวลาติดสมาธิ ก็บอกให้มันออก นี่ก็ออกมาแล้วนะ พอออกมาแล้ว ตอนนี้มันไม่ได้พักได้ผ่อนเลย”

หลวงปู่มั่นท่านก็บอกว่า “ไอ้บ้าสังขาร! ไอ้บ้าสังขาร! ”

บ้าสังขารเพราะอะไร เพราะการใช้ปัญญาอย่างเดียวโดยที่ไม่มีสมาธิรองรับ ใช้ไปแล้วมันก็จะเป็นสัญญาไป การก้าวเดินไปมันจะต้องกลับมาด้วย กลับมาทำสัมมาสมาธิ กลับมาเอาสมาธิรองรับ

ครูบาอาจารย์ที่ท่านผูกพันกันมาจะมีความเคารพ ความรัก ความเคารพ ความรัก มาจากอะไร ก็มาจากประสบการณ์จริงที่มันเกิดขึ้น เพราะเรารู้ของเราแล้ว แต่ทำไมความรู้ของเรามันไม่เป็นความจริงล่ะ? แล้วทำไมความรู้ของครูบาอาจารย์มันเหนือกว่าเราล่ะ?

เวลาทำไป ปฏิบัติไป เห็นไหม ในเวลานั้นหลวงปู่มั่นท่านก็เริ่มป่วยไข้ หลวงตาท่านก็พยายามดูแลครูบาอาจารย์ด้วย ทั้งประพฤติปฏิบัติไปด้วย ท่านทำของท่านไปเรื่อย จนถึงที่สุด เวลาหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไป หลวงตาท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านไปนั่งอยู่ที่ปลายเท้าแล้วร้องไห้อยู่คนเดียว รำพันว่า “จิตนี้มันไม่ฟังใคร บัดนี้อาจารย์ก็ล่วงไปแล้ว จิตนี้มันกำลังต่อสู้อยู่ แล้วมันจะหาใครเป็นที่พึ่ง”

มันมีความละล้าละลังอยู่ในหัวใจ ความรักความเคารพมันถึงเกิดอย่างนี้ สุดท้ายแล้วพอหลวงปู่มั่นท่านล่วงไปก็ต้องจัดการเรื่องสรีระของท่าน หลวงตาท่านก็แสวงหาของท่าน พยายามของท่าน รักษาของท่าน จนถึงที่สุด เห็นไหม ที่เป็นอสุภะ ความเป็นจริงออกมาจากของจริง ออกมาจากใจนี้ เป็นอสุภะ มันจะไวขึ้น เร็วขึ้น ละเอียดขึ้น จนมันเข้ามาสู่ใจของเรา ใจของเราเป็นอสุภะเสียเอง อสุภะข้างนอกมันเป็นอาการของใจทั้งหมด เวลามันทำลายกัน มันเข้ามาทำลายในหัวใจดวงนั้น เห็นไหม พอทำลายหัวใจดวงนั้น มันก็พ้นออกไป พอพ้นออกไป ท่านก็ออกแสวงหาต่อเนื่องไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ละเอียดขึ้นไป

เวลาละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนี้ ขณะนี้ไม่มีหลวงปู่มั่น ท่านจะต้องแสวงหาของท่านเอง ในการออกแสวงหาของท่านเอง เห็นไหม ขณะที่ท่านไปวัดดอยธรรมเจดีย์ เวลาจิตมันสงบขึ้นมาขนาดไหน มันสว่างไสว.. มันลึกลับ.. มันมหัศจรรย์ขนาดไหน.. มหัศจรรย์แต่มันก็มหัศจรรย์ในอวิชชา มันมหัศจรรย์อยู่ในมาร

ท่านมาถึงที่บ้านผือ ชาวบ้านเขาเป็นโรคเสียดอก เวลาท่านพิจารณาของท่านอยู่ แล้วท่านมาเป็นโรคเสียเอง เห็นไหม ยังไม่อยากตาย ไม่อยากตายเพราะรู้อยู่ว่าถ้าตายแล้วมันยังคาอยู่ ยังไม่อยากตาย ท่านก็พิจารณาของท่าน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ มันก็มาเจ็บไข้ได้ป่วย จนถึงที่สุดธรรมมาเตือน “ท่านก็เคยพิจารณาเวทนามาแล้ว สิ่งนี้มันก็คือสิ่งที่ท่านเคยพิจารณามาแล้ว ทำไมไม่พิจารณา” ท่านก็มาพิจารณาเวทนาจนมันปล่อยหมด เวลามันปล่อยนี้จิตมันปล่อย เวลาพิจารณาไป จิตมันปล่อยแล้วมันก็จับ เห็นไหม เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิด

“เอ๊ะ! อย่างนี้ ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ?”

เพราะด้วยวุฒิภาวะการศึกษาของท่าน ท่านเรียนของท่านมา เห็นไหม ถ้ายังมีความสงสัย ก็ไม่ใช่! ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ “เกิดดับ เกิดดับ.. อย่างนี้ไม่ใช่!” พออย่างนี้ไม่ใช่ ท่านก็ย้อนกลับมาพิจารณาของท่าน ธรรมะก็มาเตือนอีก “แสงสว่างทุกอย่างนี้มันเกิดจากจุดและต่อม”

เวลาเข้าไปเจอมันนะ เวลาเจอจุดและต่อมแล้วใคร่ครวญจุดและต่อม ท่านพูดอยู่ว่า “ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ ท่านจบไปแล้ว” เพราะหลวงปู่มั่นไม่อยู่ ท่านถึงพยายามเอามาพิจารณาของท่าน เพราะท่านพิจารณาของท่าน ท่านถึงมีความชำนาญมาก การรื้อค้น การต่อสู้ การแยกแยะ การกระทำของท่าน พอท่านผ่านขั้นนี้ไป เห็นไหมว่าทำไมท่านถึงเอาความรู้ เอาความชำนาญนี้มาแก้หลวงปู่คำดี มาแก้หลวงปู่บัว เพราะความชำนาญของแต่ละบุคคล บุคคลจะมีความชำนาญอย่างใด ก็เพราะมีการกระทำอันนั้น

ท่านถึงบอกว่า การเสียสละที่วิกฤตในชีวิตของท่านมีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือการเสียสละเพื่อตัวของท่านเอง เป็นการกระทำในหัวใจของท่าน แล้วอีกคราวหนึ่งคือท่านเสียสละเพื่อโลก

คราวที่เสียสละเพื่อโลกนี้ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่เพราะเหตุใด ยิ่งใหญ่เพราะไม่ใช่การต่อสู้ของเราเอง ในการสละของเราเองนี้เราอยู่ที่โคนไม้หรืออยู่ที่ไหนเราก็ทำของเราได้ เพราะมันเป็นเรื่องของเรา มันเป็นเรื่องภายใน มันเป็นการกระทำ จะอยู่ในกุฏิ จะอยู่โคนไม้ จะอยู่ป่า จะอยู่ที่ไหนเราก็ทำได้ แต่ขณะที่ออกมาช่วยโลกมันต้องอยู่กับสังคม มันเป็นเรื่องของสังคม แล้วจะชักนำสังคมให้มีความเห็นไปกับเราได้อย่างใด? มันเป็นการชักนำสังคมมาหาเราได้อย่างไร?

ท่านถึงบอกว่า เวลาท่านไปพูดกับหลวงปู่ลีว่า “เราจะช่วยโลกด้วยกัน ถึงเราจะกัดก้อนเกลือกิน เราก็จะกินก้อนเกลือ!”

คำว่า “กัดก้อนเกลือกิน” นี่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะครูบาอาจารย์ของเรานี้ไม่มีใครทิ้งหรอก แต่คำว่า “กัดก้อนเกลือกิน” นี้มันบอกถึงการสู้หมดหน้าตัก! ชีวิตนี้ก็ให้!

ท่านทำของท่านมาขนาดนี้ เห็นไหม นี่เพราะอะไร เพราะโลกหวั่นไหว ในเมื่อขวัญของประเทศมันไม่มี เศรษฐกิจมันล่มสลายไป ทุกครอบครัวทำร้ายตัวเอง เศรษฐกิจในครอบครัว ธุรกิจของครอบครัวมันล่มสลายไป แล้วจะเอาใครเป็นที่พึ่ง! มันไม่มีใครเป็นที่พึ่ง แล้วจะพึ่งใคร

ทางโลกเขาบอกว่า “ในระบบเศรษฐกิจนี้ นักธุรกิจทำลายทำเสียหาย ทำไมจะต้องให้ตาสีตาสามาช่วยชาติ ทำไมไม่ให้นักธุรกิจมันช่วยกันเอง”

นักธุรกิจมันก็จะผูกคอตายกันหมด แล้วมันจะเอาอะไรมาช่วย!

แล้วท่านเสียสละตัวของท่านออกไป เห็นไหม การเสียสละอย่างนี้มันยิ่งใหญ่กว่าทองคำ ๑๒ ตันนั้น แต่ทองคำ ๑๒ ตันนี้มันเป็นเหมือนการพาดเสาไฟฟ้า เวลาเราเห็นคนพาดเสาไฟฟ้า เวลาเราเดินสายนี้ต้นทุนมันแพงมาก แต่หลวงตาท่านพาดสายอันนี้เพื่อผลบุญ เพราะเวลาท่านพาดสาย ท่านทำของท่าน ท่านบอกว่า

“ใครๆ เขาก็เห็นกันในเรื่องเงินทอง แต่เราไม่เคยเห็นอย่างนั้น เราเห็นแก่ธรรม ถึงคราวที่ธรรมะมันจะได้ออก”

ธรรมะที่จะได้ออก เห็นไหม ออกมาเพื่อศีลธรรม จริยธรรม ให้คนมันได้ฟื้นฟูขึ้นมา สิ่งนี้มีคุณค่ามากกว่าเงินทองมหาศาล เราไปเห็นกันแค่คุณค่าของเงินทอง ว่าได้ทอง ๑๒ ตันและเงินอีกมหาศาล แต่เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ท่านบอกว่า

“สิ่งนี้มันเป็นแค่วัตถุ มันเป็นเรื่องปลายเหตุ ถ้าคนไม่มีความมั่นใจ ถ้าคนไม่มีความศรัทธา จะเอาอะไรมาให้ ที่เขาเอามาให้เพราะความมั่นใจในตัวท่าน”

เพราะท่านบอกว่าในวิกฤตหนึ่ง คือวิกฤตที่ท่านช่วยตัวท่านเอง พอเมื่อท่านช่วยตัวท่านเองได้แล้ว ในหัวใจนี้มันไม่มีสิ่งใด ไม่มีเหลือบใดมีสิ่งที่เห็นแก่ตัวอยู่ในนั้น ในเมื่อมันไม่มีสิ่งใดเห็นแก่ตัวอยู่ในนั้น เห็นไหม เวลาท่านบอกกับหลวงปู่ลี “เราจะกัดก้อนเกลือกิน! เราจะสู้หมดหน้าตัก! เราจะทำทุกอย่าง! ”

เพราะการประพฤติปฏิบัติ เวลาอยู่ในป่า เวลามันสละตาย มันก็สละมาแล้ว อยู่ในป่านี้สละตาย ชีวิตนี้ทิ้งมาหลายรอบแล้ว คนที่ปฏิบัติมาจะเข้าใจว่าเวลาวิกฤตขึ้นมา กิเลสมันจะบอกว่า ตาย! ตาย! ตาย! ตาย! ตาย! แล้วเราก็ยอมแพ้ ยอมแพ้! การสละชีวิตนี้พระป่าเขาสละมามากมายมหาศาลแล้ว แต่มันไม่เคยตายเสียที ถ้ามันตายก็ตาย! แต่มันก็ไม่ตาย

ฉะนั้นเวลาออกมาสู้ออกมาช่วยโลก เรื่องการเสียสละของท่าน ตายก็คือตาย! เวลาเกิดวิกฤต เห็นไหม “เหรียญมี ๒ ด้าน” ความเห็นต่างเราไม่คัดค้าน เวลาคนจ้องจะทำลายท่าน ท่านบอกว่า “ถ้าจะฆ่า ก็ฆ่าได้แต่ร่างกายนี้เท่านั้น”

ในพระไตรปิฎกมีบอกว่า “แม้แต่เวลาเขาฆ่าพระอรหันต์ เขาตัดคอ มันก็แค่มีดผ่านเข้าไปในกระดูก ผ่านเนื้อออกไป แต่ไม่เคยผ่านสิ่งใดได้เลย”

ท่านพูดขนาดนั้น เพราะจะบอกว่าในการช่วยโลกนี้เราได้ช่วยมาด้วยกัน วิกฤตเราก็เจอมาด้วยกัน ความทุกข์ความลำบาก ความยาก ความแค้น เราก็เจอมาด้วยกัน อันนี้มันเป็นเพราะว่าเรามีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ของเรานี้ไม่ได้เห็นแก่ตัวท่าน ไม่ได้เห็นแก่หมู่คณะใด แต่เห็นแก่สังคมโลกทั้งหมด เขาจะดี เขาจะชั่ว เราก็ช่วยเหลือทั้งนั้น ดูสิ ใจที่เป็นธรรม ใจที่เป็นธรรม จะไม่บอกว่าใครถูกใครผิด

แต่เขาบอกว่า “ผิด เพราะว่าผู้ทำธุรกิจเขาทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ชาวไร่ชาวนาเขาไม่รู้เรื่อง ทำไมต้องไปเอาชาวไร่ชาวนาเขามายุ่งด้วย”

แต่หลวงตาท่านไม่มองตรงนั้น ท่านไม่มองว่าใครทำ เห็นไหม พาดเสาไฟ แสงสว่างนี้ใครจะรังเกียจแสงสว่างนี้ แสงสว่างนี้มันมาจากไหนล่ะ? ธรรมในหัวใจของท่าน มันสว่างครอบโลกธาตุ ท่านต้องการให้สัตว์ทุกตัวได้มีส่วนร่วมด้วย การกระทำของท่านเพื่อประโยชน์กับโลกทั้งนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์กับโลก สิ่งนี้เป็นประโยชน์ตลอดมา เราก็เห็นอยู่

นี้คือหลวงตาของเรา ด้วยสรีระท่านตายไปแล้ว แต่ด้วยคุณงามความดีไม่มีวันตาย มันจะสถิตอยู่ในหัวใจของเราตลอดไป ใครเกิดมาได้พบ ใครเกิดมาได้เห็น ใครเกิดมาได้สัมผัส ใครเกิดมาได้รับใช้ สิ่งที่เป็นคุณธรรมอันนี้มันจะอยู่ในใจของเรา เห็นไหม นี่คือคุณงามความดีของครูบาอาจารย์เรา

เขาบอกว่า “พระป่า.. อยู่แต่ในป่า หลับตามีแต่พุทโธ มันจะรู้อะไร”

ดูผลงาน! ดูตั้งแต่หลวงปู่มั่น ดูตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ แล้ววางรากฐานมาให้พวกเรา

บัดนี้เราเป็นลูกหลาน คำว่า “หลวงตา” นี้เป็นหลวงตาของประชาชนเขา คำว่า “พ่อแม่ครูจารย์” เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของภิกษุเรา ภิกษุเราเคารพรัก ถ้าเราจะเรียกว่า “หลวงตา” มันก็ไม่ถึงใจ แต่ถ้าเรียกว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” จะเข้าถึงหัวใจของเรา

เหรียญมันมี ๒ ด้าน ทุกอย่างมีทั้งนั้น ฉะนั้นความเป็นจริงอันนี้เราเกิดมาพบ เกิดมาประสบ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ โลกมันเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างมันต้องหมุนไปตามผลของวัฏฏะ วัฏฏะมันจะเวียนวนของมันไป แต่ถ้าเราทำของจริงนะ

คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า คิดถึงหลวงตา หลวงตาจะอยู่กับเรา คิดถึงคำสอน คิดถึงคำสั่งคิดถึงการปฏิบัติ หลวงตาจะอยู่กับเรา! เอวัง