ธรรมะครึ่งลูก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันข้อ ๓๕๐. เนาะ
ถาม : ๓๕๐. เรื่อง จิตผู้รู้
ดิฉันหัดนั่งสมาธิแบบแค่ต้องการความสงบมา ๓ ปีค่ะ ไม่ศึกษาอะไรเลย ไม่เข้าวัดด้วย เพราะวัดแถบบ้านชอบปลุกเสกรูปเอาเงินเข้าวัด แต่ไม่เห็นสอนวิธีหลุดพ้นจากทุกข์ให้เลย ก็ลองทำเองค่ะ นั่งจนสงบแทบไม่ได้ยินอะไรเลย มีปีติสุขบ้าง มีนิมิตบ้าง แต่สุดท้ายก็ติด ต่อไปไม่ได้ ไม่เห็นมีทางไหนให้พ้นทุกข์ เลยมาเริ่มศึกษาแต่ไม่เคยไปปฏิบัติธรรมที่ไหน ก็เริ่มจากการฝึกมีสติสัมปชัญญะอยู่กับปัจจุบันขณะ พร้อมกับนั่งสมาธิไปด้วยประมาณเกือบปีค่ะ เริ่มเดินจงกรมบ้าง อ่านพระไตรปิฎกบ้าง และกำลังเรียนอภิธรรมทางไปรษณีย์เรื่องเจตสิกจิตและ ปรมัตถธรรม เพิ่งเสร็จการวัดผลค่ะ
เห็นวิญญาณในขันธ์ ๕ เมื่อประมาณครึ่งปีก่อน และเพิ่งเห็นจิตผู้รู้เมื่อ ๔ เดือนก่อน คือนั่งดูทีวีอยู่ นางเอกกำลังร้องไห้ เราก็เอาตัวเองเป็นนางเอกค่ะ ก็กำลังร้องไห้น้ำตาก็เอ่อ อยู่ดีๆ ก็มีจิตหนึ่งตรัสขึ้นมาว่า ปรุง! หลังจากนั้นความรู้สึกทั้งหมดก็หายไป น้ำตาที่คาอยู่ที่เบ้าตา คิดต่อไม่ได้สักพักหนึ่ง เป็นแบบนี้ประมาณ ๑ วันค่ะ กัลยาณมิตรบอกว่าเป็นจิตผู้รู้ และก็จะเห็นจิตผู้รู้อยู่ห่างจากวิญญาณในอายตนะพอสมควร แบบแยกกันออกเป็นสายน้ำคนละสาย แต่หลังจากนั้นจิตผู้รู้กลับไม่ค่อยแยกออกจากวิญญาณค่ะ มาแบบติดแนบและแบบแนบเนียน แล้วเราจะคิดต่อหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าเห็นประโยชน์ที่คิดต่อหรือเปล่าคะ
(คำถาม) ทำให้สงสัยว่าจะใช่จิตผู้รู้หรือเปล่าคะ หรือว่าเป็นแค่ปัญญาคะ แต่ปัจจุบันนี้เห็นความไม่เที่ยง จิตเกิดดับตลอด ตอนดับกิเลสจะเห็นจิตที่ดับเป็นมรณะ คือมันดับแบบตายไปแล้วค่ะ จิตและเจตสิกตัวใหม่ที่ไปรับรู้ทางอายตนะ ปัจจุบันจะตัดด้วยนันทิ (นันทิขยสูตร) ความเพลินและความสิ้นไปของนันทิจึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ ขนจะลุกซู่เลยค่ะ
ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้เป็นอกาลิโกจริงๆ ขอบคุณในความเมตตาของอาจารย์ค่ะ เพิ่งเจอเว็บนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ฟังที่พระอาจารย์สอนท่านอื่นแล้วมีคำว่า อ๋อ! อ๋อ! ตลอดเลยค่ะ อยากไปศึกษาธรรมะที่วัดค่ะแต่มีกรรมไปไม่ได้
หลวงพ่อ : อันนี้คำถามของเขานะ แล้วเดี๋ยวเขาจะถามต่อมาอีกเลย คนเดียวกันแต่จะตอบอันนี้ก่อน แล้วเสร็จแล้วเขาก็ถามซ้ำมาเลย เพราะเขารอไม่ทันเนื่องจากมันช้า
เริ่มจากเริ่มต้นมันมีความปรารถนาดี เห็นไหม นี่ไม่เคยไปวัดไหนเลย ไม่เคยไปไหนเลยเพราะเห็นพระเห็นวัดแล้วรับไม่ได้ ส่วนใหญ่สังคมไทยจะเป็นอย่างนั้น เราเห็นพฤติกรรมของวัดทั่วๆ ไปนี่เรารับกันไม่ค่อยได้ พอรับกันไม่ได้เราก็ต้องฝึกเอง หาเอง ค้นเอง พอหาเองค้นเองเพราะว่าอย่างไรเราก็เชื่อพระพุทธเจ้า
มันมีนะบางคนถึงไม่เชื่อ พระสงฆ์นี่เขาไม่นับถือเลยนะ เขานับถือแต่พระพุทธกับพระธรรมเท่านั้น พระสงฆ์เขาไม่นับถือเลยเพราะเขาเห็นพฤติกรรมแล้วเขารับกันไม่ได้ อันนี้มันอยู่ที่เวรกรรมของคนนะ แต่ถ้าคนฉลาด ในสังคมทุกสังคมจะมีคนดีและคนเลว ในสังคมทุกสังคมมีสิ่งดีและสิ่งที่ไม่ดีปนกันอยู่ ฉะนั้นดูสิพระก็คือพระ เราจะรู้กันได้อย่างไรว่าพระองค์ไหนดีและพระองค์ไหนไม่ดี ฉะนั้นพอเราเห็นไปแล้วมันก็รับไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา
แต่! แต่ถ้าคนมีสติมีปัญญานะเขารู้จักแยกแยะ รู้จักค้น รู้จักหาแล้วเขาจะเจอของเขา ไม่อย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บ เห็นไหม นี่ก็คือพายเรือในอ่างไง พอไม่มีใครปั๊บก็ฝึกเอง เราก็เคยคิดเราก็ฝึกเอง แล้วคนก็ถามบอกว่าต้องไปวัดไหม ต้องไปวัดไหม เราบอกไปวัดนี่จริงๆ นะ ไปวัดนี่เปรียบเหมือนไปโรงพยาบาล ไปวัดนี่ ถ้าคนเราเจ็บไข้ได้ป่วยโดยที่โรคภัยไข้เจ็บเป็นปกติ เป็นหวัดเป็นไอนี่มันหายโดยธรรมชาติของมันนะ แต่ถ้าเราเป็นโรคร้ายเราจะไปไหน
ในการปฏิบัติถ้าเรายังไม่มีปัญหาขึ้นมามันก็เหมือนกับเป็นหวัดเป็นไอ นี่มันรักษาทำได้ทั้งหมดแหละ แต่เวลาปฏิบัติถึงที่สุดพอไปเจอวิกฤติ ไปเจอสิ่งอะไรในหัวใจนี่เราแก้ไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ปั๊บเราก็ต้องพยายามเอาหัวเราชนฝาดันของเราไป เพราะดันของเราไปนี่มันมี ๒ อย่างคือผิดกับถูก ถ้าผิด ผิดก็ดิ่งเลย แต่ถ้าถูกนะ ถูกก็มาเลย แต่ถูกนี่จะมีส่วนน้อย ส่วนน้อยเพราะอะไร ส่วนน้อยเพราะว่าอำนาจวาสนาของคน
อำนาจวาสนาของคนนะ อำนาจวาสนาของคนเพราะอะไร เพราะเรายกย่องหลวงปู่มั่นมาก หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เพราะปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ทั้งคู่ หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า สององค์นี้ท่านปรารถนา คำว่าปรารถนามันก็ต้องมีบารมี มันสร้างบารมีมาเยอะ พอสร้างบารมีมาเยอะปั๊บ พอเวลาปฏิบัติไปมันจะเจอวิกฤติในใจขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ด้วยอำนาจวาสนาบารมีอันนั้นมันพยายามจะหาทางออกจนได้
อย่างพวกเราถ้าบารมีเราไม่ถึงนี่มันไปไม่ไหวไง มันไปไม่ไหวหรอก พอไปเจออะไรที่มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ อื้อฮือ.. หัวก็ชนฝาอยู่แล้วนะ มันยังมีกิเลสคอยรั้งไว้อีกนะ เดี๋ยวเอ็งจะเป็น เดี๋ยวเอ็งจะตาย เขาไม่ปฏิบัติกันแล้ว มรรคผลมันไม่มี โอ้โฮ.. เราเองเราก็เจอปัญหา งานเราก็มหาศาลอยู่แล้ว มันยังมีกิเลสคอยทิ่มคอยตำอยู่นี่ อู้ฮู.. ฉะนั้นคนที่จะเป็นไปได้โดยตัวเองนะต้องมีบารมีพอสมควรเลย
ฉะนั้นเวลาถ้าเราประพฤติปฏิบัตินี่เราจะหาอย่างไร เห็นไหม เขาบอกต้องไปวัดไหม ไปวัดนี่เราบอกเหมือนไปโรงพยาบาล แต่! แต่ถ้าโรงพยาบาลไหนไม่มีหมอ มันมีแต่เครื่องมือแพทย์หมอก็รักษาไม่ได้ วัดนะมันก็คือสิ่งปลูกสร้าง มันก็อิฐ หิน ทราย ปูนเหมือนกัน โรงพยาบาลก็อิฐ หิน ทราย ปูนเหมือนกัน แต่ถ้าเราไปโรงพยาบาลไปเจอหมอที่ยอดหมอ หมอที่มีความชำนาญมาก โรคภัยไข้เจ็บมานี่เขาก็รักษาให้หายหมดแหละ
เราไปวัดไปเจออาจารย์ที่ดี ไปเจอพระที่ดี เห็นไหมก็เหมือนหมอ หมอที่โรงพยาบาลนั้นเป็นหมอที่มีชื่อเสียง เป็นหมอที่มีศักยภาพ หมอนั้นเขาจะรักษาคนไข้ โอ้โฮ.. คนไข้มีแต่ความยิ้มแย้มแจ่มใส โรงพยาบาลนั้นมีชื่อเสียง โรงพยาบาลไหน ไปไหนนะหมอก็คือหมอนะ รักษาไข้ เลี้ยงไข้ นี่พยายามรีดเอาเงินนะ โรงพยาบาลนั้นใครก็ไม่อยากไป โรงพยาบาลบางโรงพยาบาลไปนี่ไม่มีเครื่องมือแพทย์ไม่มีอะไรเลย ส่งต่อๆ ไอ้นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
วัดก็เหมือนกัน เปรียบเหมือนวัดเลย เปรียบเหมือนพระเลย พระก็เหมือนกับบุคลากรในโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็คือสิ่งปลูกสร้าง นี่เราต้องคิดเปรียบเทียบอย่างนี้แล้วเราต้องเลือกเอา นี้เพียงแต่พอเห็นแล้วเราก็ปฏิเสธไปเลย แล้วเราก็ปฏิบัติของเราไป.. ใช่! พอปฏิบัติไปก็ด้วยการคิดค้นต้องศึกษาพระไตรปิฎก เรียนอภิธรรมทางไปรษณีย์เรื่องเจตสิก เรื่องปรมัตถ์ แล้วพอเรียนไปแล้วนี่
เราจะบอกว่าคนเรียนนี่นะเรียนไป แล้วการปฏิบัติของเราเหมือนกันไหม พอปฏิบัติไปแล้วนะเห็นวิญญาณในขันธ์ ๕ เห็นวิญญาณในขันธ์ ๕ เมื่อประมาณปีก่อน ถ้าเห็นวิญญาณในขันธ์ ๕ พอจิตมันเริ่ม ถ้าจิตมันสงบนะ ถ้าเรากำหนดพุทโธ กำหนดอานาปานสติ กำหนดอะไรก็ได้ทำจิตให้สงบ พอจิตสงบเข้าไปแล้วมันจะเห็นตามข้อเท็จจริง แต่การศึกษาการเรียนมานี่มันเป็นทฤษฎี พอทฤษฎีแล้วพอเราปฏิบัติแล้วทฤษฎีนี้มันจะสร้างภาพ
นี่ที่เวลาหลวงตาท่านจบมหา เห็นไหม พอไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมาท่านค้นคว้ามาก่อน ท่านเห็นว่าลูกศิษย์เวลาปฏิบัติไปแล้ว คิดดูสิเราปฏิบัติไปเราต้องมีภาคปฏิบัติ เพราะภาคปฏิบัติมันจะเกิดตามข้อเท็จจริง แล้วภาคทฤษฎีของเรามันจะลบล้างภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติมันจะขัดแย้งกัน
ภาคทฤษฎีมันไปล่วงหน้าแล้วใช่ไหม เพราะภาคทฤษฎีเราเรียนนิพพานจบแล้ว นิพพานเราเรียนกันมาจบแล้ว ภาคทฤษฎีนี่มันจบแล้ว ทีนี้ภาคปฏิบัติยังไม่มี พอเราเริ่มต้นภาคปฏิบัติมา ภาคทฤษฎีนี่มันจะมาโต้แย้งเลย ภาคทฤษฎีมาแล้ว ไอ้นั่นก็เป็นอย่างนี้ ไอ้นี่ก็เป็นอย่างนั้นมันจะสร้างภาพไหม เพราะภาคทฤษฎีเราล่วงหน้าไปแล้ว แต่ภาคปฏิบัติเรายังไม่เกิดขึ้น
ฉะนั้นเวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นถึงบอกว่า มหา.. ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เทิดใส่หัวไว้นะ เราเทิดบูชาไว้
ทีนี้เขาไม่คิดอย่างนั้นเขาคิดว่าถ้าเราปฏิเสธแล้วเป็นการดูถูกเหยียดหยาม แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ เราเทิดบูชาไว้ เราเทิดบูชาไว้คือทฤษฎีเราศึกษามานี่เราวางไว้ก่อน เราเทิดบูชาไว้ หลวงปู่มั่นท่านพูดขนาดนี้พูดว่าต้องใส่เข้าไปในลิ้นชักแล้วเอากุญแจลั่นมันไว้อย่าให้มันออกมา
ออกมาคืออะไร ออกมาคือพอกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เอ๊ะ.. นี่เป็นสมาธิหรือเปล่า พุทโธ พุทโธ โอ๋ย.. นิพพานแล้ว อู้ฮู.. พุทโธนี่จิตว่าง นี่ลั่นกุญแจไว้อย่างนี้ไง คือไม่ให้ภาคทฤษฎีมันออกมาส่งเสริมกิเลสเราไง นี่พูดถึงเวลาศึกษา ทีนี้พอเวลาศึกษามันเกิดขันธ์ ๕ เกิดอะไรต่างๆ นี่วางไว้ไง
ฉะนั้นที่ว่าเวลานั่งดูทีวีอยู่ เห็นนางเอกกำลังร้องไห้ก็เอาตัวเราเป็นนางเอก แล้วเราก็ร้องไห้จนน้ำตาเอ่อคลอ จิตหนึ่งตัดปั๊บว่าปรุง สติมันมาไง สติมันมา สมมุติว่าเรากำลังคิดสิ่งใดอยู่นี่เราคิดไป เห็นไหม เราคิดไป เราคิดอารมณ์ร่วมไป เขาเรียกว่าสัญญาอารมณ์ พอมีสติมานี่สติมันตัด มันตัดเพราะอะไร ตัดเพราะเราได้หัดภาวนามา คนเรานี่นะหัดภาวนามา อย่างเช่นเราไม่มีเงิน เราไปซื้อปัจจัยสิ่งใดเราจะแลกสินค้าไม่ได้เลย แต่ถ้าเรามีเงินอยู่บ้างใช่ไหม เงินห้าบาทเราก็แลกสินค้าได้ขนาดนี้ ถ้าเขามีเงินร้อยบาทเขาก็แลกสินค้าได้มากกว่า ถ้าเขามีเงินพันบาท หมื่นบาท แสนบาท เขาจะแลกซื้อสินค้าได้มากกว่า
สมาธิ! ถ้าจิตเป็นสมาธิมีคุณภาพ มันก็เหมือนกับมีเงินหนึ่งบาท ห้าบาท สิบบาท สมาธิตัวนี้คือตัวทุน ตัวทุนคือตัวนี้ ถ้าไม่มีสมาธินะเหมือนกับเราไม่มีเงินเลย ถ้าเราไม่มีเงินเลยนี่เราไม่สามารถซื้อสิ่งใดได้เลย ถ้าเราไม่สามารถซื้อสิ่งใดได้เลยเราก็ไปยืนอยู่หน้าสินค้าอยู่ที่ห้างนั้นนะ เวลาใครเดินเข้าเดินออกก็นี่ไม่มีตังค์เลยขอความเมตตา เขาก็จะให้เราชิ้นสองชิ้น เราก็ดำรงชีวิตได้
เราไม่มีสมาธิเลย เราตรึกในธรรมเราพิจารณาของเรามันก็ได้ แต่ได้เป็นของเราหรือเปล่า เราไปยืนหน้าห้างนะ เราไปยืนหน้าห้างสรรพสินค้าแล้วก็ขอเขาว่าเรานี่ไม่มีเงิน เราขออาหารเพื่อดำรงชีวิต ด้วยความเป็นมนุษย์ใช่ไหม มนุษย์เขาก็มีความเมตตาทั้งนั้นแหละเขาก็ให้เราได้ อันนี้ก็เหมือนกัน พอเราไม่มีสมาธิเลย เราไม่ทำสิ่งใดเลยแต่เราตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้าไง เราตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้ามันก็เกิดภาพนั้นๆ เพราะมันมีของมันอยู่แล้ว
มันมีอยู่แล้ว ฉะนั้นพอสติมันทันมันก็หยุด หยุดได้มันก็หยุดได้.. แต่มันจะมีแค่นี้เพราะคำถามข้างหน้ามันจะตอบคำถามนี้หมดเลย ฉะนั้นสิ่งที่ว่า เขาว่าอันนี้มันเป็นอะไรนะ กัลยาณมิตรบอกว่ามันแค่จิตผู้รู้ ไม่ใช่อะไรเลยไม่ใช่จิตผู้รู้ด้วย..
จิตผู้รู้คือสมาธิ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตผู้รู้คือตัวจิต ร้องไห้อยู่นี่มันจะมีจิตผู้รู้เหรอ ร้องไห้คืออารมณ์ สัญญาอารมณ์เพราะมันสะเทือนใจ พอมีสติ สติมันก็หยุดความรู้สึกอันนั้น ความรู้สึกเกิดจากจิต ความเศร้าความโศก ความดีความชั่ว ความคิดอารมณ์ต่างๆ เกิดจากจิต ทุกอย่างเกิดจากจิต จิตนี้คือพลังงานรับรู้เฉยๆ อารมณ์สัญญาทั้งหมดเกิดจากมันทั้งหมด ทีนี้เกิดจากมันถ้าสติมันทันมันก็หยุด ทีนี้พอมันหยุดแล้ว หยุดแล้วมันเป็นแม่น้ำคนละสายเลยเพราะมันรู้มันเห็นไง
ความรู้ความเห็นนี่มันเกิดจากการปฏิบัติ ถ้ามีการปฏิบัติมันจะมีรู้มีเห็นของมัน ถ้ารู้เห็นขึ้นมานี่อกาลิโก ธรรมทั้งหลายไม่มีกาลไม่มีเวลานี่เป็นอย่างนี้ ทีนี้พอคำถาม คำถามสงสัยว่าใช่จิตผู้รู้หรือเปล่าคะ.. จิตผู้รู้นี่ประสาเรานะ จิตผู้รู้มันเป็นพื้นฐานมันมีมาตลอด แต่เวลาสิ่งที่เกิดขึ้นมาเกิดจากจิตผู้รู้นี่มันเกิดในสัญญาอารมณ์ เกิดในความรับรู้ เกิดในดีใจ เสียใจนี่เกิดจากจิต ถ้ามันตัดมาแล้วนี่มันปล่อยมา แต่ปล่อยมาเราเห็นจิตหรือเปล่าล่ะ ถ้าเราเห็นจิตของเรามันก็เป็นสมาธิเป็นสมถะทั้งนั้นแหละ หรือมันเป็นแค่ปัญญา
มันเป็นปัญญาอยู่แล้ว พอสติ.. ปัญญานี่เห็นไหม ปัญญาคือปัญญา พอเราปัญญาคือต้องเป็นปัญญา ปัญญามันมีโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา มันมีโสดาปัตติมรรค นี้คือปัญญาขั้นโสดาบัน มีสกิทาคามรรคเป็นปัญญาขั้นของสกิทาคา เป็นอนาคามรรคเป็นปัญญาของขั้นอนาคา เป็นอรหัตตมรรคเป็นปัญญาของขั้นพระอรหันต์ จะเป็นพระอรหันต์ได้ต้องมีอรหัตตมรรค
ฉะนั้นสิ่งที่ว่าปัญญานี่มันละเอียดมาก มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ ทีนี้ว่าเป็นปัญญาไหม พอบอกเป็นปัญญาปั๊บก็บอก อู้ฮู.. ฉันมีปัญญาแล้วนะฉันจะฆ่ากิเลส ไม่ใช่! ปัญญาอย่างนี้คือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญารอบรู้ในความคิดไง เรามีความคิดนะ เรามีความคิดนี่คิดอะไรก็แล้วแต่ คิดเรื่องดีเรื่องชั่วก็แล้วแต่ เรามีสติตามความคิดเรา พอเราตามปั๊บความคิดจะหยุด ความคิดเรานี่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิความคิดมันมีอยู่ใช่ไหม เรามีสติตามความคิดไปความคิดนี่หยุดเลย
ความคิดหยุดคืออะไรหยุด ความคิดหยุดคือขันธ์หยุด ขันธ์ไม่ทำงาน แล้วมันเหลืออะไร ถ้ามันเหลือผู้รู้อยู่นั่นล่ะสมถะ ฉะนั้นว่ามันเป็นปัญญาหรือเปล่าคะ มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินะ แล้วพอเป็นสมาธิแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นไป ในปัจจุบันนี้ไม่เที่ยง คือมันดับตายไปแล้วจิตคือตัวใหม่ ไอ้ตัวใหม่ตัวเก่านี่มันเป็นอภิธรรม เห็นไหม ว่าจิตมีกี่ดวงๆ ไง แล้วเราก็พยายามจะสร้าง
เราจะบอกเลยนะว่าปัญญาอย่างพวกเรานี่มันไม่ทันปัญญาพระพุทธเจ้าหรอก ปัญญาพระพุทธเจ้านะ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง นี่ปัจจยาการ อิทัปปัจจยตาความเร็วความเห็นของมัน แล้วไม่ใช่ความเร็วอย่างนี้ เราแค่ความเร็วของความรู้สึกนี่เราว่าจิตนี้เร็วเต็มที่แล้ว แต่เวลาภาวนาไปนะโสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค อนาคามรรค อรหัตตมรรคนะ เราจะเห็นว่าจิตนี้มันเร็วขนาดไหน มันเร็วกว่านี้ไง
มันก็เหมือนเราขับรถกันอยู่นี่ ไปดูรถสูตรหนึ่งมันขับในสนามสิมันเร็วกว่าเราอีก แล้วสูตรหนึ่งมันขับบนถนนได้ไหมล่ะ รถสูตรหนึ่งนี่ถ้าเขามาขับบนถนน เขาขับผิดกฎหมายหมดแหละ เพราะมันไม่เกิน ๑๒๐ แล้วในสนามนี่มันขับ ๓๐๐-๔๐๐ กิโลเมตร นี้เราจะบอกว่าความเร็วนี่นะ นี่ว่าความเร็วๆ มันยังอีกไกล ทุกคนว่าพอเจอจะเร็วทั้งนั้นแหละ แต่มันจะเร็วกว่านี้ไปอีกเรื่อยๆ นี่พูดถึงนะ
อันนี้ว่า ปัจจุบันนี้จะตัดด้วยนันทิ นันทิราคะสะหะคะตา มันอยู่ในธรรมจักร นันทิคือราคะ นันทิคือตัณหา.. ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี่ความต้องการตัดมัน จะตัดด้วยนันทิ แหม..
ความเพลิน ความสิ้นไปของนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ ขอโทษนะอันนี้คือนิยายนะนี่ กำลังจะแต่งนิยายเหรอ เพราะว่านันทิคือความสิ้นไปแห่งราคะ ถ้ามันตัดนันทิมันก็ตัดตัณหาคือสมุทัยไง ไอ้นี่เราพูดถึงภาคปฏิบัตินะ แต่นี้เพราะว่ากำลังเรียนอภิธรรมทางไปรษณีย์ไง ก็เลยเอาอภิธรรมมา เพราะธรรมดาทฤษฎีไง ภาคปฏิบัติเราแค่นี้ใช่ไหม แต่ทฤษฎีมันล่วงหน้าเราไปแล้วใช่ไหม ทีนี้พอปฏิบัติไปแล้วก็พยายามจะเอาความรู้สึกเราเทียบเข้าสู่ทฤษฎีไง เพราะเราเรียนทฤษฎีมันล่วงหน้าไปแล้ว มันไปแล้วนะจะตัดด้วยนันทิ
นันทิเขาตัดทิ้งด้วยมรรค นันทิคือตัณหา เอาตัณหาตัดตัณหาไม่ได้! เอามรรคญาณตัดตัณหาต่างหาก เอาธรรมตัดกิเลส เอาธรรมตัดกิเลสไม่ใช่เอากิเลสมาตัดธรรม นันทิ ตัณหานี่คือกิเลส ตัณหาคือสมุทัย เอาสมุทัยมาตัดธรรมไม่ได้ มันจะเอาธรรมไปตัด นี่พูดถึงเราตอบแค่นี้ก่อนเดี๋ยวไปข้อหน้า เดี๋ยวมันจะไปยุ่งกันข้างหน้า
ความเพลินจะตัดด้วยนันทิ ความเพลินความสิ้นไปของนันทิมันมีความสิ้นไปแห่งราคะ ขนลุกซู่เลยค่ะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโกจริงๆ ขนลุกซู่นี่ พอเราใช้คำว่านันทิหรือไม่นันทิคือตัณหา แต่ถ้าขนลุกซู่นี่ถ้ามันมีปัญญาขึ้นมา คำว่ามีปัญญาขึ้นมามันจะเข้าทัน เข้าทันความรู้สึกของเรา พอมันปล่อยมันก็จะมีอาการตอบรับ ถ้าอาการตอบรับมันจะเป็นอย่างนั้น
คนเดียวกันเลยนะ คำถามคนเดียวกัน เพราะว่า.. ไม่อ่านชื่อเขา ข้อ ๓๕๑. อันนี้ข้อแรกนะ ข้อแรกเขาเขียนมาเรื่อง จิตผู้รู้ เขียนซ้ำมาเลย
ถาม : ๓๕๑. เรื่อง นิมิตและพลังงาน (อันนี้ไม่อารัมภบทเลย)
๑. ดิฉันเคยนั่งสมาธิสมัยก่อนมีนิมิตบ้าง แต่เนื่องจากไม่มีครูอาจารย์จึงกลัว เลยอธิษฐานจิตขอให้ไม่เห็นนิมิตค่ะ ทำให้ตอนนี้ต้องอาศัยปัญญาของตัวเองล้วนๆ ในการพิจารณาขันธ์ ๕ อสุภะ สติปัฏฐาน ๔ และอื่นๆ เพราะแทบไม่เห็นนิมิตเลย ปัจจุบันบางทีก็เห็นเป็นแสงจ้าบ้างไม่จ้าบ้าง เห็นเป็นควันลอยบ้างแค่นั้นค่ะ สำหรับราวเกาะของสติ ดิฉันได้สลับกันเวลาดูลมหายใจกับพุทโธค่ะ แล้วแต่ขณะที่ทำนั้นแบบไหนทำแล้วสงบเร็วกว่า ส่วนการพิจารณาแต่ก่อนก็ถนัดแต่ใช้จิตพิจารณาขันธ์ ๕ บ้าง อสุภะ แล้วก็มาจากสัญญาล้วนๆ ทำให้รู้สึกติดขัดค่ะ เพราะอุเบกขามันไม่แรงเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนเคยปล่อยวางหมดไม่ว่ากุศล อกุศล ทำให้รู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นที่โล่งว่างค่ะ นั่นคือสูงสุดที่ทำได้ค่ะ แต่พักหลังมันไม่มีอะไรจะให้ไปต่อแล้ว เพิ่งมาฟังคำสอนของท่านอาจารย์ได้เดือนหนึ่งค่ะ ก็ลองเอาพุทโธแบบชัดๆ ไปใช้ กลับสงบอย่างเดียวจิตไม่ยกขึ้นพิจารณาเลย อยากให้อาจารย์ช่วยชี้แนะว่าควรจะทำอย่างไรดีคะ
๒. ดิฉันใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕ ค่ะ เข้าใจว่าเป็นปัญญาทางโลกจึงเห็นแต่ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดเป็นอัตตาของเรา แต่ฟังจากอาจารย์สอนท่านอื่นอาจารย์บอกว่า ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ อันนี้พอเข้าใจได้ แต่ ขันธ์ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ดิฉันไม่เข้าใจค่ะ ปัญญายังอ่อนด้อย พระอาจารย์ช่วยกรุณาตอบด้วย
๓. ดิฉันมักจะรู้สึกถึงพลังงานบางอย่างในร่างกาย ไม่ว่าจะนั่งสมาธิหรือไม่ก็ตาม รู้ถึงจิตไปรับรู้การเกิดดับตลอดและเร็วมาก ปัญญาพิจารณาเหมือนกับว่าเป็นพลังงานของธาตุ ๔ ที่ยึดเกาะเกี่ยวกันไว้ ธาตุดินเหมือนอณูเล็กๆ ในร่างกาย มีธาตุลมเป็นการพัดไหว ธาตุน้ำดึงดูด และธาตุไฟเป็นพลังงาน ทั้ง ๔ ธาตุล้วนอาศัยกันและกัน โดยแสดงออกทางช่องว่างทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในกายตลอดเวลา
ถ้าวันไหนเกิดไม่สบายตรงจุดไหน เช่นปวดตาเพราะการอ่านมาก ก็จะรู้สึกเด่นเป็นแบบแปล๊บๆ บริเวณที่ปวด แต่ส่วนอื่นๆ ของกายก็รับรู้คล้ายๆ มีแรงกระเพื่อมโย้ไปมา ถ้าจิตไปรับรู้ก็ใช้ปัญญาเห็นกายธาตุ ๔ ไม่เที่ยง เห็นเวทนาเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนกราฟระฆังคว่ำ แต่จิตที่ไปรู้เร็ว เกิดดับเร็ว ทำให้ตัดเป็นช่วงๆ พอตัดก็ปล่อยวางโดยใช้มรณานุสติค่ะว่าอะไรไม่รู้ที่เกิดขึ้นมันตายไปดับไปแล้ว ที่เกิดใหม่ก็ไม่ใช่ของเก่า มีความตายเกิดดับในตัวนับไม่ถ้วน ทำให้บางทีก็เบื่อหน่ายค่ะ ละซึ่งตัณหาได้ชั่วคราว แต่ด้วยไม่เคยมีอาจารย์สอน ไม่เคยไปปฏิบัติธรรมที่ไหนเลยไม่ค่อยแน่ใจว่าสิ่งที่เห็นนั้นถูกไหมคะ
พักหลังๆ เห็นบ่อยๆ ชักชินแล้ว และก็ไม่รู้จะเอาไปทำให้เกิดความก้าวหน้าอะไรต่อได้อีก ก็ดูไปเป็นธรรมดาน่ะค่ะ เคยถามเพื่อนเพื่อนบอกว่า จะไปสนใจอะไรก็จิตละเอียดขึ้น รับรู้การสะเทือนก็แค่นั้น ดูไปสิว่ามันเป็นๆ หายๆ บังคับบัญชาไม่ได้ก็เลยใช้ปัญญาพิจารณาไปแค่นี้ไม่รู้ถูกหรือเปล่าคะ
หลวงพ่อ : นี่ผลของอภิธรรม ผลของการไม่ได้มีสมาธิ ผลของการไม่ปฏิบัติมันก็แค่นี้ อภิธรรมนี่ปฏิบัติไปเถอะ ปฏิบัติไปเอาไว้มาเถียงกันก็เท่านั้นแหละ มันจะเอาอะไรไปมากกว่านั้นล่ะ มันปฏิบัติไปแล้วมันเป็นจริงได้ขนาดไหนล่ะ เพราะถ้าไม่ลงลึกในความเป็นจริง ในภาคปฏิบัติครูบาอาจารย์ให้พุทโธ พุทโธก่อน แล้วพุทโธถ้าจิตมันลง เห็นไหม จิตมันลง จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ แล้วเอาตัวจิตนั้นชำระตัวจิตนั้น ชำระตัวเองคือมาฟอกจิตของตัวเอง แล้วจิตของคนมันติดอะไรล่ะ
จริตของคน เห็นไหม พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม บางคนก็พิจารณากาย บางคนพิจารณาเวทนา บางคนพิจารณาจิต บางคนพิจารณาธรรม การพิจารณาเอาอะไรพิจารณาล่ะ ถ้าไม่เริ่มต้นเอาจิตพิจารณาเอาอะไรพิจารณา ถ้าจิตพิจารณาถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่นี้เขาบอกว่าไม่ได้ พวกพุทโธนี่มันเป็นสมถะ มันจะเกิดสมาธิมันไม่มีปัญญา มันไม่ดีสักอย่าง พอไม่ดีสักอย่างเขาก็ใช้สามัญสำนึก ใช้ความรู้สึกนี้พิจารณาไป พอพิจารณาไปนี่พิจารณาไปเอาอะไรพิจารณาล่ะ มันก็เป็นโลกียปัญญา
มันก็เหมือนนักเรียนไปโรงเรียน นักเรียนไปโรงเรียน เห็นไหม เขาก็ใช้ปัญญาเหมือนกัน แล้วพอจบมาก็ได้กระดาษมาใบหนึ่ง งานยังไม่มีทำเลยนะ พอไปทำงานต้องไปฝึกงานอีก ทดลองงานก่อน ถ้าทำเป็นถึงจะให้เงินเดือน ทำไม่เป็นไล่ออก ไอ้นี่ก็ใช้ปัญญาก็เหมือนเด็กไปโรงเรียนก็นั่งพิจารณากันไป แล้วพอเป็นสมถะไม่ได้นะไม่ได้ มันเป็นสมถะ มันจะเกิดนิมิต มันจะทำให้เสียหาย
นี่เพราะเราไปตัดทางของตัวเองไง ไปตัดทอนตัวเองแล้วเวลาปฏิบัติแล้ว พอปฏิบัติไปใหม่ๆ มันก็ตื่นเต้นนะ นักเรียนไปโรงเรียนมันก็สนุกนะ พอเวลาไปมันได้รางวัลใช่ไหม ไปโรงเรียนมันทำแล้วมันได้ผลประโยชน์ใช่ไหม นี่ก็เหมือนกันภาวนาทีแรกมันก็ได้ผลประโยชน์ พอทำไปๆ นะมันก็แค่นั้นแหละค่ะ มันก็ไปต่อไม่ได้แล้วค่ะ แล้วก็ไม่รู้จะไปอย่างไรค่ะ
มันก็แค่นั้นแหละ! ไอ้ญาณ ๑๖ ญาณ ๑๖ ญาณ ๘ ญาณ ๗ แหม.. ผ่านพิจารณากาย ผ่านญาณ ๘ ญาณ ๗ แล้วทำอย่างไรต่อ ก็ทบทวนสิคะ ก็ไปทบทวนสิคะ.. ก็กลับไปทบทวนอีก ก็ผ่านแล้วไปทบทวนอะไรอีกคะ ก็เท่านั้นแหละคะ ก็ไปทบทวนใหม่คะ ก็แค่นั้นแหละเพราะมันไม่มีความจริง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริงทำความสงบมาก่อนเพราะอะไร เพราะไปรังเกียจซะก่อนไง ไปรังเกียจสมถะ ไปรังเกียจสมาธิ
ถ้าพูดประสาเรานะคือไปรังเกียจตัวเอง ไปรังเกียจจิตของตัวเอง จิตสงบก็คือจิตเรา ถ้าเราทำความสงบของใจ ใจเราเป็นผู้สงบเสียเอง แล้วเราไปปฏิเสธตัวเราเองเสียก่อน เราไปปฏิเสธตัวของเราเองแล้วเราจะไปทำอะไรกัน ก็มันจะเป็นสมถะ ก็มันจะเกิดนิมิต ก็มันไม่มีผลประโยชน์สักอย่างหนึ่งเลย มันต้องใช้ปัญญาๆ ก็ใช้ปัญญาสามัญสำนึกเข้าไป พอปัญญาไปๆ ก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ มันไปไม่ได้อีกแล้วค่ะ ไม่รู้จะไปอย่างไรค่ะ
เพราะเราเจอมาเยอะมาก เพราะเราเป็นนักปฏิบัติ เวลาคุยกันผู้ที่ปฏิบัติอภิธรรมเยอะมาก ผ่านญาณ ๗ ญาณ ๘ ผ่านกายแล้ว ผ่านญาณ ๑๖ เหลือขั้นโคตรภูเท่านั้น แล้วโคตรภูนี้ทำอย่างไร โคตรภูมันเพิกกิเลสอย่างไร โอ้โฮ.. มาถามเราเยอะมาก เพราะญาณ ๑๖ มันญาณฆ่ากิเลสไง เขาก็มีญาณ ๑ ญาณ ๒ ญาณ ๓ ถึงญาณ ๑๕ ญาณ ๑๖ พอญาณ ๑๖ มันไม่เกิดสักทีเพราะอะไร เพราะมันไม่ได้ฆ่ากิเลสสักที
ก็ไม่เคยฆ่ากิเลสเลยแล้วโคตรภูญาณมันมาจากไหนล่ะ ก็โคตรภูญาณกูไม่เคยเจอไงแต่กูท่องได้ชัดเจนมากเลย แล้วกูท่องมาทุกวันเลยญาณ ๑๖ ญาณ ๑๖ แล้วพอเสร็จแล้วก็มาถามเรา คนมาถามเยอะแต่เราไม่อยากจะพูดออกมา แล้วก็นี่เวลาปฏิบัติไปแล้วก็ผ่านญาณ ๗ ผ่านญาณ ๘ ญาณ ๗ หรือญาณ ๘ มันเป็นสมถะ เพราะพอเวลาปฏิบัติไปตั้งแต่เริ่มต้น ญาณ ๗ หรือญาณ ๘ นี่จำไม่ได้เป็นสมถะ แล้วพอสมถะแล้วมันก็จะผ่านกาย พอผ่านกายแล้วญาณที่ ๑๖ มันเป็นญาณโคตรภู เป็นญาณที่ฆ่ากิเลส แล้วเวลาพวกพระที่เขาปฏิบัติกันเขาก็มาถามเราใหญ่เลย ไอ้โคตรภูญาณนี่เป็นอย่างไร เขาก็มาถาม
นี้เราพูดถึงเพราะว่านี่เขาไปเรียนอภิธรรมไง แล้วเขาถามมา เห็นไหม เราก็บอกว่าสิ่งนั้นเพราะเราไปรังเกียจตัวของเราเอง แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เราเรียนเราศึกษามาขนาดไหนนี่นะมันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นธรรมสาธารณะ สิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ นี่เป็นสาธารณะประโยชน์กับสังคมกับโลก แต่เวลาปฏิบัติไปนี่ มันเป็นประโยชน์ส่วนตน มันไม่ใช่สาธารณะมันเป็นประโยชน์ของส่วนตน ส่วนของบุคคลคนนั้น
ใครปฏิบัติธรรมคนนั้นสมควรแก่ธรรม จิตดวงนั้นจะเป็นผู้ได้รับผล จิตดวงนั้นจะเป็นผู้พ้นกิเลส ฉะนั้นการปฏิบัตินั้นถึงเป็นธรรมะส่วนตน ธรรมะส่วนจิตดวงนั้น.. ธรรมะส่วนจิตดวงนั้น ดวงนั้นต้องมีพื้นฐานมีการกระทำขึ้นมา ถ้าจิตดวงนั้นมีการกระทำขึ้นมา จิตดวงนั้นจะมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าจิตดวงนั้นทำความสงบของใจได้ จิตดวงนั้นก็มีหลักมีเกณฑ์ จิตดวงนั้นถ้าเกิดมีการพิจารณาขึ้นมา มันจะเป็นมรรคญาณขึ้นมา มันจะชำระกิเลสของจิตดวงนั้น ถ้าชำระกิเลสของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นจะเป็นโสดาบัน จะเป็นสกิทาคา จะเป็นอนาคา จะเป็นพระอรหันต์ด้วยจิตดวงนั้น
แต่เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ถูกต้อง สาธุ! เคารพบูชานะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่เคารพบูชามาก แต่เคารพบูชาโดยความเป็นจริง ไม่ใช่เคารพบูชาด้วยการเอาว่านี่เป็นพุทธพจน์แล้วเอาพุทธพจน์นี้ไปเหยียบย่ำทำลาย ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะที่จะเกิดขึ้นจริงกับใจของเรา โดยเอาธรรมสาธารณะนี้ไปเหยียบไปย่ำ ไปให้ธรรมะส่วนบุคคลเกิดไม่ได้ เพราะธรรมะส่วนบุคคลเวลาเกิดขึ้นมาบอกว่าสิ่งนั้นผิดๆ ต้องให้เหมือนกับธรรมะสาธารณะ
ธรรมะสาธารณะ.. เพราะมีธรรมะสาธารณะ เราได้ศึกษากันแล้ว เราถึงได้ประพฤติปฏิบัติมันถึงเกิดธรรมะส่วนตน ถ้าธรรมะส่วนตนขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมา ธรรมะส่วนตนเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด ธรรมะส่วนตนถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิมันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมาของมัน มันทำความจริงขึ้นมามันจะเป็นปัญญาของมันขึ้นมา
นี้คือธรรมะส่วนตน ธรรมะส่วนตนคือจิตเราเป็นนี่แหละ แต่พอธรรมะส่วนตนมันจะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากพื้นฐาน จากศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเราไปปฏิเสธความเป็นตนของเราขึ้นมาก่อน ปฏิเสธความเป็นสมาธิ ปฏิเสธจากความเริ่มต้นของจิต ถ้าจิตไม่เริ่มต้นจากศีล สมาธิมันจะเกิดปัญญาขึ้นมา ทีนี้มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร
แต่ขณะที่ว่าเราเกิดปัญญาๆ กันอยู่นี้มันเป็นปัญญาสาธารณะ ปัญญาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปัญญาสาธารณะ เป็นปัญญาในทฤษฎี เป็นปัญญาทางวิชาการที่เขาไว้ใช้ในสังคมโลก แต่มันไม่เป็นปัญญาของเรา มันไม่เป็นความรู้ของเรา มันไม่ได้เกิดขึ้นจากความเป็นจริงของเรา มันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมาได้อย่างไร
ฉะนั้นถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม มันถึงว่า ข้อ ๑. ดิฉันเคยนั่งสมาธิ แต่ก่อนไม่มีครูบาอาจารย์ก็เลยอธิษฐานเอา
ฉะนั้นเวลาสิ่งที่เกิดแสงเกิดต่างๆ นี่มันจะเกิดควันลอย เกิดแสงจ้าสิ่งต่างๆ การทำสมาธินี่เห็นไหม ธรรมะส่วนตน! ธรรมะส่วนตนนี่นะมันยังแตกขยายแยกออกไป ธรรมะส่วนตนคือของส่วนตนทุกคน แต่ธรรมะส่วนตนนี่ตนมาจากไหน ตนมาจากจิต ตนไม่ใช่เรานะ นาย ก. นาย ข. นี่ใบทะเบียนบ้านเปลี่ยนชื่อได้หมดเลย จะโอนสัญชาติอะไรก็ได้ ไปอยู่ชาติไหนก็ได้โอนได้หมดแหละ เราไปอยู่อเมริกากี่ปีนะเดี๋ยวกูจะขอเปลี่ยน กูจะถือ ๒ สัญชาติ มันเปลี่ยนได้ทั้งนั้นแหละ
นี้มันไม่ใช่ตน ถ้าบอกว่าถ้าจิตมันสงบ พอธรรมะส่วนตนแล้วนะมันจะบอกว่า จิตนี้มันมีพันธุกรรมของมัน จิตนี้มีพันธุกรรมทุกๆ ดวงนะ พันธุกรรมของจิตคือบาปกรรมของมัน บาปกรรมของจิตแต่ละดวงมันเกิดมานี่ อดีต ประวัติศาสตร์เราพลิกแพลงไม่ได้ จิตแต่ละดวงมันเคยเกิดตายมาแต่ชาติแล้วๆ มา มันได้สร้างบุญสร้างกุศลของมันมา พอมันสร้างบุญสร้างกุศลของมันมามันก็เป็นพันธุกรรมของมัน พอพันธุกรรมของมัน เวลาทำความสงบของใจมันต้องสู่ต้นขั้วของเขา คือพันธุกรรมของเขาเริ่มสงบตัวลง ทีนี้พันธุกรรมที่สงบตัวลงมันก็แตกต่างหลากหลายกันไป ฉะนั้นในภาคปฏิบัติแล้วถึงไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีการทำเหมือน
พุทโธเหมือนกัน อานาปานสติเหมือนกัน แต่เวลาจิตมันสงบมันสงบของมัน อย่างเช่นบุคคลคนหนึ่ง ทำความสงบของใจใช่ไหม เดี๋ยวก็สงบเดี๋ยวก็ไม่สงบ สงบแล้วเดี๋ยวก็ทำไม่สงบอีก ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ นี่ถ้าเราทำงานของเราเป็นแล้ว เราทำได้เราต้องทำได้ตลอดไปสิ ทำไมเราทำได้ ครั้งต่อไปทำไม่ได้แล้ว ทำไมมันทำไม่ได้ ก็ทำๆ ไปเดี๋ยวมันเสื่อมแล้ว แล้วทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ
นี่พันธุกรรมของมัน แม้แต่ตรงกับพันธุกรรมของมันก็แล้วแต่ แต่เรามีกิเลสไง เรามีกิเลส ตัวที่กิเลสนี่มันตัวเร้าคอยเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นอานาปานสติก็ได้ พุทโธก็ได้ แต่ให้เป็นตามข้อเท็จจริง ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกเฉพาะจิตดวงนั้น
ฉะนั้นเราทำไปแล้ว นี่ไง ไปปรึกษากัลยาณมิตร ก็เหมือนเรากินข้าวอยู่เราก็ถามเพื่อนว่าอร่อยไหม อร่อยไหม เรากินข้าวอยู่นะแล้วถามเพื่อนว่าอร่อยไหม เพื่อนมันไม่ได้กิน เพื่อนมันนั่งดู นี่เราปฏิบัติอยู่แล้วเราไปถามเขาว่าเป็นอย่างไร กัลยาณมิตรมันก็บอกไง ก็มันไม่ได้ปฏิบัติใช่ไหม เรากินข้าวอยู่นะแล้วเราไปถามคนไม่ได้กินว่าเป็นอย่างไรอร่อยไหม
นี่ปฏิบัติอยู่แล้วไปถามเขา มันก็เป็นจิตหนึ่งนั่นล่ะ ประสาเราว่าแล้วเพื่อนมันจะรู้อะไรล่ะ ตัวเองก็ไม่รู้ เพื่อนก็ไม่รู้ คนตาบอดมันก็จูงคนตาบอด แล้วมันก็ไปคุยกัน แล้วมันก็คุยไม่จบ แต่ถ้ามันปฏิบัตินะเราพุทโธไป
ข้อ ๑ เห็นไหมเขาบอกว่า เขาอธิษฐานไม่ให้เกิด ฉะนั้นมันเกิดเป็นแสงเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ เราจะบอกว่าให้ตั้งใจนะ ให้ตั้งใจ นี่เขาบอกว่าเขาใช้อานาปานสติด้วย ใช้พุทโธด้วย ถ้าใช้พุทโธก็พุทโธไปเรื่อยๆ อย่างที่เราพูดว่าพุทโธชัดๆ มันจะได้ประโยชน์มาก คำว่าพุทโธชัดๆ ประสาเราว่ามันตัดพันธุกรรมของทุกๆ คนออกหมด แล้วมาอยู่ที่พุทธานุสติ เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง
พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราจะมีพันธุกรรม เราจะมีสิ่งใดที่มันเป็นจริตนิสัยของเราก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นเรื่องส่วนตน แต่ถ้าเราพุทโธเราเอาใจของเราไปไว้ที่พระพุทธเจ้าทั้งหมด พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วสิ่งใดจะเกิดหรือไม่เกิดช่างหัวมัน พุทโธอย่างเดียว พุทโธอย่างเดียวแล้วให้ชัดๆ ทำอยู่อย่างนี้ ด้วยความศรัทธาด้วยความมั่นคงเดี๋ยวจะรู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร พออะไรเป็นอะไรนะทีนี้มันอยู่ที่ความมั่นคงใช่ไหม
อย่างเช่นมันมีแสงสลับมา มันมีแสงจ้ามา มันมีควันลอยมาอะไรนี่ เวลาจิตมันสงบนี่นะเหมือนกับเราเปิดประตู เวลาเปิดประตูเข้าบ้าน ประตูบานใหญ่บานเล็ก การเปิดประตูมันต้องมีอากาศแน่นอน อากาศมันพัดไหวให้เรารับรู้ได้ จิตมันจะเข้าสู่ความสงบนี่มันมีของมันรู้ได้ ฉะนั้นพอสิ่งนี้รู้แล้วเราก็ตื่นเต้นกันทุกคน พอจิตมันสงบ อู๋ย.. มันปีติ มันขนพอง นี่คืออาการเราจะเปิดประตู เราจะเข้าสู่จิต เราจะเข้าไปสู่ตัวของเรา อาการอย่างนี้เราไม่ต้องไปฝังใจ บอกแล้วพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ มันจะตัดทุกอย่างหมด
เราอยู่กับพลังงานอันเดียว พลังงานของเรา เห็นไหม เราเกาะพุทโธ เกาะพระพุทธเจ้าไว้ให้สงบเข้ามาๆ คำว่าสงบเข้ามา พลังงานตัวนี้มันไม่ได้แฉลบไปคิดอย่างอื่น โดยพุทโธอยู่อย่างเดียวมันไม่แตก เห็นไหม มันจะลงสู่ฐาน แต่ถ้าเราคิด พอความคิดเรามันแตกออกไปหมด ความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มันก็เหมือนพลังงานเรากระจายไป พอพลังงานกระจายไปมันก็ไปของมัน แล้วพอกระจายไปแล้ว สิ่งใดที่มันพอใจ อู๋ย.. สิ่งนี้ชอบ สิ่งนี้ไม่ชอบ มันยิ่งปรุงยิ่งแต่ง ยิ่งยึดยิ่งมั่น พลังงานนี้มันจะกว้างไปเรื่อยๆ
แต่พุทโธ พุทโธนี่มันรวมพลังงานเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว แล้วถ้าหนึ่งเดียวถ้ามันลงสู่จิตได้ พอรวมเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวมันจะมี เห็นไหม เห็นแสง เห็นควัน เห็นอะไร จะเห็นอะไรก็แล้วแต่กิเลสมึงอย่ามาหลอกกู กูไม่สนพุทโธอย่างเดียว หลวงตาสอนเลยนะ เวลาพุทโธนี่เหมือนโลกนี้มีแต่เรากับพุทโธเท่านั้นอย่างอื่นไม่มี ไม่เกี่ยว พุทโธอย่างเดียว ฟ้าจะถล่ม โลกจะทลายไม่สน พุทโธอย่างเดียว พิสูจน์กันอย่างนั้นแล้วเดี๋ยวจะรู้
ถาม : ๒. ดิฉันใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕ ค่ะ เข้าใจว่าเป็นปัญญาทางโลก จึงเห็นแต่ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดเป็นอัตตาของเรา แต่ฟังจากอาจารย์สอนท่านอื่น อาจารย์บอกว่า ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ปัญญาอันนี้พอเข้าใจได้ แต่ ขันธ์ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ดิฉันไม่เข้าใจค่ะ
หลวงพ่อ : แสดงว่าไม่เคยฟังเราพูดก็เลยไม่เข้าใจค่ะ คนที่เขาฟังเราพูดนี่เขาบอกว่าหลวงพ่อไม่ต้องอธิบายหรอก หลวงพ่ออธิบายไปหลายๆ ครั้งแล้วน่าเบื่อ หัวเราะเลยล่ะ ไม่อยากฟังใช่ไหมกลัวพูดซ้ำ
ขันธ์มันไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์คือความคิดไง ขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารมันปรุงแต่ง สังขารคือสังขารมันไม่ใช่ทุกข์หรอก แต่เราทุกข์เพราะเราคิด ถ้ามันทุกข์ใช่ไหมเวลาคิดเรื่องสุขทำไมมันสุขล่ะ ทำไมเราคิดเรื่องทุกข์มันทุกข์ล่ะ เวลาอุเบกขาทำไมไม่เป็นล่ะ คือมันเป็นพลังงานเฉยๆ ขันธ์ ๕ นี่เหมือนไฟ เหมือนกระแสไฟฟ้า เพียงแต่เวลาไปเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เข้าใช้กับเครื่องครัว มันก็เป็นประโยชน์กับสิ่งนั้น
ไอ้นี่พอขันธ์ ๕ มันเข้าไปในอะไรล่ะ รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม พอเข้าไปในอะไรนี่สิ่งนั้นเราพอใจหรือไม่พอใจ มันถึงเกิดทุกข์ตรงนั้นไง แต่ถ้าโดยธรรมชาติของมันมันไม่มีทุกข์หรอก มันไม่รู้ว่าทุกข์หรอก ไฟมันรู้ว่าทุกข์ไหม ไฟฟ้านี่มันรู้ว่าทุกข์ไหม ไม่รู้หรอก แต่เราไปจับมันสิช็อตตายเลย คนไปจับไฟคนนั้นตายนะ แต่ไฟฟ้ามันไม่รู้ตัวของมันหรอก ไฟฟ้ามันไม่รู้แต่เราไปจับเราตาย
นี่ก็เหมือนกัน ตัณหาความยึดมั่นถือมั่น พอใจหรือไม่พอใจไปยึดเข้าเราก็ตาย แต่ขันธ์ก็คือขันธ์ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ต่อเมื่อคนทำได้เข้าใจได้แล้วไม่ใช่ทุกข์ แต่พวกเรานี่ทุกข์เด็ดขาดเลย เพราะความคิดมันเกิดพร้อมกับนันทิไง เพราะมันเกิดกับตัณหาไง ตัณหามันเกิดขึ้นมามันล่วงเข้าไปมันก็ยึดมั่นถือมั่นของมันไป ทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันถึงไม่ใช่ทุกข์ ถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่เป็น ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่เป็น แต่ที่มันเป็นอยู่นี้เพราะว่ามันมีตัณหา มันมีเราเข้าไปบวกมันเลยทุกข์ไง
ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ขันธ์ ๕ เท่ากับสสารอันหนึ่งนะ สสารนี้มันไม่รู้ตัวมันเองหรอก แต่สสารนั้นเรามีชีวิต มีจิต มีธาตุรู้เข้าไปบวกมันถึงมีความรู้สึกขึ้นมาได้ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่เข้าใจได้เพราะไม่ใช่เราใช่ไหม เอ็งกับข้าคนละอัน เอ็งกับข้าคนละมันไม่เข้าใจได้ แต่เวลาทุกข์นี่มันเข้าใจไม่ได้.. ไหนว่าเรียนอภิธรรมไง อภิธรรมไม่ได้สอนใช่ไหมล่ะ
ถาม : ๓. ดิฉันมักจะรู้สึกถึงพลังงานบางอย่างในร่างกาย นั่งสมาธิหรือไม่ก็แล้วแต่ รู้จิตว่ามันเกิดมันดับและเร็วมาก ปัญญาที่เหมือนพลังงานมีธาตุ ๔ ยึดเกาะเกี่ยวกันไป
หลวงพ่อ : ไอ้การพิจารณาธาตุ ๔ นี่มันการพิจารณากาย เราพิจารณากายเพื่อให้จิตนี้ฉลาด ทีนี้การพิจารณากายว่าธาตุ ๔ มันพิจารณาได้ ไม่ใช่! ธาตุ ๔ มันไม่มีชีวิตนะ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันพิจารณาไม่ได้หรอก ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตอยู่คือจิต ทีนี้สิ่งที่มีชีวิตอยู่คือจิตมันเกาะเกี่ยวธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันประมวลเข้ามาเกิดจากไข่ไง
จากไข่ เห็นไหม ดูสิจากไข่ของแม่ สเปิร์มของพ่อ เกิดมาเป็นมนุษย์ นี่มันถึงมาเกิดเป็นธาตุ ๔ เอาดิน น้ำ ลม ไฟมากวนๆๆ กันแล้วปั้นเป็นตุ๊กตาให้เป็นคนได้ไหม ไม่ได้ คนจะเกิดได้จากปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเกิดอยู่ในไข่ นิวเคลียสเกิดจากไข่ เกิดปฏิสนธิ พอเกิดปฏิสนธิขึ้นมามันเกิดธาตุ ๔ ธาตุ ๔ จริงๆ พระพุทธเจ้าเปรียบแล้ว ถ้าพระอรหันต์นะ ร่างกายมนุษย์ก็ดิน น้ำ ลม ไฟนี่แหละ แต่ตอนนี้มันเป็นหรือเปล่าล่ะ ตอนนี้มันเป็นเนื้อนะ เพราะอะไร เพราะมันมีจิตอยู่ไง
เราบอกว่าร่างกายของเรามันเปรียบเหมือนอาหาร อาหารนี่นะถ้ามันมีไฟอุ่นอยู่มันไม่เน่าหรอก อาหารถ้าไม่มีไฟอุ่นอยู่ก็เน่า พลังงานคือตัวจิตนี่มันคือไฟ พลังงานตัวนี้มันเผาผลาญอยู่ไง มันเผาผลาญให้ร่างกายมันเกิดการหมุนเวียนไง เราก็มีชีวิตไป ๑๐๐ ปีไง แต่ถ้าจิตออกปั๊บเน่าทันที ฉะนั้นถ้าจิตเน่าทันที ธาตุ ๔ มันจะพิจารณาอย่างไร การพิจารณาเหมือนกับว่าเป็นพลังงานของธาตุ ๔ ยึดเกาะเกี่ยวกัน
นี่เป็นพลังงานของธาตุ ๔ ธาตุ ๔ มันเอาอะไรมาเป็นสถานะเป็นภพไง เป็นภพคือสถานะของมนุษย์ที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ มนุษย์เกิดขึ้นมา แล้วเวลากายทิพย์เทวดาเขามีร่างกายไหม นรกอเวจีเขามีไหม มันเป็นไปนี่ผลของวัฏฏะ ถ้ามันเกิดของมันอย่างนั้น รู้สึกของมันอย่างนั้น ปัญญาของเรามันใช้ปัญญาพิจารณาธาตุ ธาตุมันอาศัยกัน ถ้าพิจารณาอย่างนี้อาศัยกันแต่ต้องใช้จิตพิจารณาไง
เราถึงบอกสติปัฏฐาน ๔ ของเขาไม่มี สติปัฏฐาน ๔ จะมีต่อเมื่อจิตสงบ พอจิตสงบพอมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมนี่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เพราะอะไร สติปัฏฐาน ๔ เพราะมันสมบูรณ์ไง มันครบองค์ประกอบ องค์ประกอบคือตัวจิต ตัวจิตมันพิจารณาของมันใช่ไหม ตัวจิตมันพิจารณาเพราะตัวจิตมันปิดใช่ไหม พอพิจารณาขึ้นไป มันเห็นของมันมันก็ปล่อยของมัน เห็นไหม นี่คือสติปัฏฐาน ๔ แต่ตัวจิตมันไม่มี
ตัวจิตมันไม่มีเราก็นึกเอา เรานึกว่ากาย เวทนา จิต ธรรมเหมือนกัน นึกเอาเป็นจิตไหม เป็นจิตแต่! แต่มันมีโลกมากั้นไว้ไง มีโลกคือสามัญสำนึกเราไง มีโลกคือความที่เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้านี้มาเขาเรียกโลก
โลกกับธรรม! ตัวโลกมันมากั้นไว้ พอตัวโลกมากั้นไว้นี่เราพิจารณา ดูสิตอนนี้ทุกคนให้นึกได้เลย เห็นไหม ทางวิชาแพทย์เขาศึกษายิ่งกว่าเราอีก เขานึกเขาก็เห็นหมดแหละแล้วเขาเป็นอะไรล่ะ ถ้ามันไม่มีโลกมากั้นอยู่นะ หมอนี่เป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะหมอเขาศึกษาเรื่องกายมนุษย์นะ หมอนี่อนาโตมี่เขารู้หมดแหละ เขามีศัพท์ของเขาด้วย เขาเข้าใจของเขาหมดเลย แล้วหมอเป็นอะไร หมอก็มาหาตังค์ไง
หมอศึกษาร่างกายของมนุษย์มาหาตังค์ แต่พระพุทธเจ้าพุทธานุสติให้จิตสงบเข้ามาก่อน มันเอาสิ่งที่เป็นโลกนี่ออกไป เอาสิ่งที่เป็นตัวตนนี้ออกไปเพราะมันเป็นสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิพอมันเห็นกายขึ้นมามันสะเทือนหัวใจเลยนะ ถ้าจิตเห็นกายจิตจะหวั่นไหว จิตจะหวั่นไหว จิตจะกระเทือน พอจิตหวั่นไหวจิตกระเทือน เห็นไหม นี่เพราะมันไม่มีโลกบังไว้ ไม่มีโลกคือไม่มีตัวตนไม่มีเราบังไว้ เพราะเป็นสมาธินี่มันไม่มีตัวตนแต่ก็เป็นชั่วคราว ฉะนั้นพอเป็นอย่างนั้นไปปั๊บมันก็จะเป็นไป
นี่เราพูดถึงธาตุ ๔ การพิจารณาธาตุ ๔ ถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ องค์ประกอบมันไม่มี คือมันนึกเอาเพราะสถานะของโลก เห็นไหม ดูสิเขาว่ากันนะ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไม่มี ดูสิคนที่ฆ่าคนตายยังอยู่สบายเลย ไม่เห็นมีโทษอะไรเลย มันไม่มีโทษเพราะอะไร เพราะมันมีโลกบังไว้นี่ไง
โลกคือชีวิตเรา ชีวิตเกิดมาชีวิตหนึ่งมีโลก โลกนี้เกิดมาจากไหน เกิดมาจากบุญจากกรรม บุญกรรมพอมันเป็นเรานี่บุญกรรมนี้มันมารองรับสถานะนี้เอาไว้ ทีนี้สถานะนี้ไปทำชั่ว พอทำชั่วขึ้นมาเพราะสถานะของกรรมดีมันเกิดมาเป็นมนุษย์นี่มันรองรับไว้ แต่กรรมชั่วนั้นเป็นอีกกรรมหนึ่ง ทีนี้กรรมนี้มันรับไว้มันก็ยังไม่ให้ผลใช่ไหม พอตายตูม! กรรมดีกรรมชั่วมันให้ผลตลอด เพราะว่าสถานะของโลกของมนุษย์ที่มันรับไว้มันได้จบสิ้นลง พอจบสิ้นลงนะมันก็ต้องขับเคลื่อนไปตามอำนาจของกรรม นี้อำนาจของกรรมเพราะมันเป็นไป
ฉะนั้นนี่เขาบอกว่าสิ่งที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไม่มีนี่ทำไมมันถึงยังไม่เห็นผล ไม่เห็นผลเพราะกรรมเก่ามันมาหนุน มีกรรมเก่า เห็นไหม กรรมดีกรรมเก่า.. กรรมใหม่! กรรมใหม่คือการทำกรรมปัจจุบันนี้ กรรมดีกรรมชั่ว กรรมเก่านี้มันรองรับไว้ ไอ้กรรมใหม่มันก็เกิดอยู่ แต่กรรมเก่ารองรับไว้มันก็ยังไม่ถึงสถานะนั้นๆ
ฉะนั้นเราบอกว่ามันมีแต่กรรมซ้อน ซับซ้อนกันไป นี้กรรมถึงเป็นอจินไตย ฉะนั้นถ้าจิตมันรู้มันเห็นของมันโดยสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ามันตัดตัวตน มันเข้ามาสัมมาสมาธิ มันไม่มีโลกนี้บังไว้ มันเห็นตามความเป็นจริงนะ พอเห็นกายตามความเป็นจริง แล้วคิดดูสิจิตพอเห็นกาย แล้วมันบอกว่าให้กายนี้แปรสภาพ ให้มันผุกร่อนไป ให้มันทำลายตัวมันไป ทำไมมันเห็นได้ล่ะ ทำไมเห็นได้ แต่เรานึกเอาเราก็นึกได้ไหม.. ได้! นึกเลย จินตนาการเลยนะ
โอ้โฮ.. เกิดเป็นมนุษย์มันก็อืดขึ้นมา แล้วมันก็ยุบไป นึกได้หมดแหละ! แล้วเป็นอะไรล่ะก็กูนึกเอาไง เป็นตรงที่กูนึกเอา นี่โลกมันบังไว้ เพราะอะไร เพราะขาดสัมมาสมาธิ เพราะไปดูถูกตัวตนเราเองเสียก่อน ไปดูถูก ไปเห็นว่าสมถะไม่สำคัญ ทุกอย่างไม่สำคัญ ต้องใช้ปัญญาแล้วปัญญามันจะดีไป
วันนี้คำถามนี่มันถามมาให้.. เขาเรียกว่าอะไรนะ มันเปิดช่องมาให้ใส่เต็มที่เลย เพราะเขาถามมาพอมันแบบว่าสะเทือนใจไง
ถาม : ด้วยไม่เคยมีอาจารย์สอน ไม่เคยปฏิบัติธรรมที่ไหน เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าสิ่งที่เห็นนั้นถูกไหม พักหลังๆ เห็นบ่อยๆ ก็ชักชินแล้ว และก็ไม่รู้จะเอาไปทำให้เกิดความก้าวหน้าต่อไปได้อย่างใด ก็ดูเป็นของธรรมดาๆ ไป เคยถามเพื่อนเพื่อนก็บอก จะไปสนใจอะไร จิตก็แค่ละเอียดขึ้น รับรู้การสั่นสะเทือนก็แค่นั้น ดูไปสิว่ามันเป็นๆ หายๆ บังคับบัญชาไม่ได้ ก็เคยใช้ปัญญาพิจารณาได้แค่นั้น ก็รู้อยู่แค่นั้น
หลวงพ่อ : เห็นไหม มันก็แค่นั้นแหละ แค่นั้นจริงๆ เพียงแต่ว่าเรามาปฏิบัติธรรมก็ว่าเราได้ปฏิบัติธรรมเป็นชาวพุทธเท่านั้นเอง แต่มันเสียดายโอกาส เสียดายที่ว่าเราเกิดมาพบพุทธศาสนาแล้วมีครูมีอาจารย์ ศาสนาที่กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่นี้เป็นผลจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์นี่เยอะมาก ถ้าหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ไม่ประพฤติปฏิบัติจนสังคมเขายอมรับ ไอ้ภาคปฏิบัติมันไม่เจริญรุ่งเรืองมาขนาดนี้หรอก
ฉะนั้นสิ่งที่มันจะเจริญรุ่งเรืองมามันก็ต้องยอมให้เครดิตหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราที่ค้ำยันขึ้นมา ให้พวกเราได้มีโอกาส ได้พบ ได้มีความศึกษา ได้มีการค้นคว้า แล้วเราจะทำของเราได้ขึ้นมาแค่ไหน แล้วก็ย้อนกลับมาเป็นเพราะปัญญาชน เป็นเพราะต้องอยากปฏิบัติ เป็นเพราะเพื่อประโยชน์กับเรา พอศึกษาแล้วมันก็ออกมาเป็นอย่างนี้ ลูกครึ่ง ครึ่งลูก.. ลูกครึ่งไง ปฏิบัติก็ปฏิบัติ เรียนก็เรียน ทั้งทฤษฎี ทั้งปฏิบัติก็เลยกลายเป็นธรรมะครึ่งลูก เอวัง