ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เห็นจริงแล้วไม่ทุกข์

๑๙ มี.ค. ๒๕๕๔

 

เห็นจริงแล้วไม่ทุกข์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๓๕๒. ปัญหาเก่าเขาขอบคุณมาไง

ถาม : ๓๕๒. เรื่อง “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แต่ตัดใจไม่ได้ค่ะ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูเคยถามในเรื่องใจลังเล หนูก็ทราบว่าที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แต่ตัดใจไม่ได้ค่ะ ใจไม่เข้มแข็งพอ กราบเมตตาจากหลวงพ่อด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : กราบเมตตาขอกำลังใจไง เพราะว่าลังเลใจกับชีวิตเรา ชีวิตเรามันก็ลุ่มๆ ดอนๆ ใช่ไหม แล้วเขาก็พยายามภาวนาอยู่แล้วมันตัดใจไม่ได้ เราบอกว่าสิ่งใดที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ คือเราไปกังวลไง เราไปกังวลว่าสิ่งนั้นไม่สมความปรารถนา สิ่งนั้นขาดตกบกพร่อง

สิ่งใดก็แล้วแต่ นี่เราบอกว่าที่ใดมีรัก รักก็หมายถึงว่าเราไปถนอมรักษาสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นจะทำให้เราเสียใจ สิ่งนั้นจะทำให้เราเจ็บปวด ที่ไหนมีความเมตตา พ่อแม่รักลูก เห็นไหม เราก็ปรารถนาดีกับลูก เราก็สร้างคุณงามความดีให้ลูก ได้หรือไม่ได้มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เพราะความเมตตากรุณาเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด นี่พูดถึงนะ

แล้วเขาบอกว่าแต่ใจไม่เข้มแข็งพอ.. หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ หลวงตาบอกชาวพุทธเวลาเจอพระก็ยกมือไหว้ทีหนึ่ง เจอพระก็ยกมือไหว้ทีหนึ่ง ท่านบอกไอ้ยกมือไหว้ก็แค่นั้นแหละ เรายกมือไหว้ไง ยกมือไหว้เป็นประเพณีแต่พวกเราไม่ได้ฝึกไง เราไม่เคยฝึกสติกัน เราไม่เคยยับยั้งความคิดรู้สึกเรา แล้วที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ก็รู้อยู่นะ ที่ไหนมีรักที่นั่นมีทุกข์ก็เหมือนกับโลโก้นั่นล่ะก็เขียนไว้ อ่านก็อ่านไปวันๆ หนึ่งแต่ไม่เคยฝึกไง

ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์เราก็ต้องพิสูจน์สิว่ามันจริงไหม แล้วถ้ามันจริงเราก็มีสติขึ้นใช่ไหม ที่ไหนมีรักเราก็รัก แต่รักเมตตา รักผูกพัน นี่รักแล้ววางไว้ แต่ถ้ารักแบบหูตาบอดไง พอรักแล้วก็เป็นของกู ผิดจากกูไม่ได้ ก็ไปยึดมั่นถือมั่นมันก็เกิดการกระทบกระทั่งกัน

ไอ้เรื่องรักเรื่องความรู้สึกนี่ห้ามกันไม่ได้หรอก แต่เรารักเราเมตตา เราถนอมรักษาของเรา เราก็พยายามดูแลของเรา แต่ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลง ถ้ามันจะเสียหายไปก็เราทำดีที่สุดแล้ว เห็นไหม ที่นั่นมีรัก แล้วที่นั่นไม่มีทุกข์ด้วย.. ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ มีทุกข์เพราะไปยึดมัน มีทุกข์เพราะไปปรารถนาให้สมความปรารถนาเรา แต่ถ้าเรามีรักใช่ไหม เรามีรักสิเราเทิดทูนบูชานี่มันก็เป็นความรัก พ่อแม่เราเราก็รัก ทุกอย่างเราก็เคารพบูชาทั้งนั้นแหละ แต่พอแก่ชราภาพไปมันก็เป็นธรรมดา พอเป็นธรรมดาไปมันก็ไม่ทุกข์ เห็นไหม อันนี้มันเกิดจากอะไรล่ะ เกิดจากการฝึก เกิดจากการฝึกฝน เกิดจากการฝึกหัดหัวใจ เกิดจากการตั้งสติ เกิดจากการกระทำ

ว่าที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แล้วก็หัวปักหัวปำร้องไห้ทุกวัน ก็มีรักก็มีทุกข์ก็ไปทุกข์อยู่นั่นแหละ ทำไมถึงทุกข์ล่ะ ก็เอ็งไม่ฝึกไง เอ็งไม่ฝึก เอ็งไม่พัฒนา เอ็งไม่มีการฝึกฝน ถ้าเอ็งมีการฝึกฝน เอ็งทำให้หัวใจเอ็งเข้มแข็งขึ้นมามันก็ไม่ทุกข์ไง นี่ไงเขาบอกว่าให้หลวงพ่อเมตตา นี่เมตตาแล้ว เพราะเมตตาคือการเราต้องฝึกหัด เราต้องฝึกหัด เราต้องตั้งสติปัญญาของเรา

ไอ้ไม่รักมันไม่มีหรอก ไอ้ความรักความชอบมันมีเป็นธรรมดา แต่คำว่าธรรมดาอย่างนั้น ถ้ามันรักได้เวลามันเสียหายได้เราก็ธรรมดาสิ เวลาเรารักได้ใช่ไหม เรารักได้เราถนอมได้ ถ้ามันเสียหายได้เราก็ต้องรับได้ เรารับได้เพราะอะไรล่ะ เรารับได้เพราะเราฝึกใจเราไง เรารับได้เพราะเราฝึกใจ ฝึกใจว่าสิ่งนั้นมันเป็นอย่างนี้ เห็นไหม วันเวลามันหมุน ๒๔ ชั่วโมง มันเปลี่ยนไปเช้า สาย บ่าย เย็นมันก็หมุนไป ตกเย็นก็นั่งร้องไห้สิเช้ามันผ่านไปแล้ว อ้าว.. เช้า สาย บ่าย เย็น ทำไมเรารับได้ล่ะ รับได้เพราะพรุ่งนี้มันจะมาใหม่ พรุ่งนี้ก็เช้า สาย บ่าย เย็น พรุ่งนี้มันจะมาใหม่

อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่มันพลัดพรากไป มันหลุดจากมือเราไป สิ่งใดมันเสียหายไปเราก็สร้างใหม่ของเราขึ้นมา ความรู้สึกดีๆ ถ้ามันมีกระทบกระเทือนกันแล้วเราก็สร้างความรู้สึกดีๆ ของเราขึ้นมาใหม่ สิ่งนั้นมันเป็นอนิจจัง มันสลายไปแล้ว เห็นไหม อันนี้มันเกิดจากการฝึก

ใจไม่เข้มแข็งพอ.. ใจไม่เข้มแข็งพอเพราะว่าอะไร เพราะมันเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่าสิ่งที่รักแล้วต้องคงที่แล้วมันไม่มี พอสิ่งที่รักแล้วคงที่มันไม่มี สิ่งที่เรารักเรารักบูชาเพราะคุณงามความดีของท่าน เพราะฉะนั้นเรารักสิ่งใดก็แล้วแต่ แล้วมันแปรสภาพไปเราก็รับรู้ได้ แล้วเราก็ทำของเราขึ้นมา

มันเป็นอย่างนี้ มันอยู่ที่การฝึกหัด มันเป็นที่การฝึกหัด อยู่ที่การศึกษา ถ้ามันทำความเข้าใจแล้วเราก็จะไม่ทุกข์ มันสะเทือนใจทุกคนสะเทือนใจแหละ คำว่าสะเทือนใจ เห็นไหม ดูสิธรรมสังเวชมันเป็นธรรมะ แล้วมันสลดสังเวช เวลาเราทุกข์เราร้อนนี่เราเสียใจ แต่มันเป็นความจริง มันต้องเปลี่ยนแปลงไป แล้วมันเป็นธรรมะมันเป็นสัจธรรม มันเป็นของจริง แล้วเราก็สะเทือนใจ

ธรรมสังเวช มันสังเวชว่า เห็นไหม ไม่มีใครกีดขวางได้ ไม่มีใครชะลอสิ่งนี้ได้ มันต้องเป็นไปอย่างนี้แล้วเราก็สังเวช เห็นไหม สังเวชคืออะไร สังเวชคือว่าเราก็เกิด แก่ เจ็บ ตายกันอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นถ้ามันสังเวชขึ้นมาแล้วนี่เราก็ต้องหาทางออก หาทางออกก็มีการฝึกหัด มีการฝึกหัดพัฒนาขึ้นมา ธรรมสังเวชคือธรรมะมาเตือนเรา แต่ถ้าเป็นโลกนี่มันทุกข์ๆๆๆ แล้วมันไม่สังเวชมันจะเอาอีกไง ทุกข์แล้วก็จะมาทุกข์ซ้ำ แต่ถ้าธรรมสังเวชมันเตือนเรานะ เตือนให้เราหาทางออก นี่ธรรมสังเวช

ฉะนั้นมันถึงว่าถึงเป็นธรรมมันก็ยังสังเวชเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาคนไปถาม “มันเป็นอย่างนี้เอง! มันเป็นอย่างนี้เอง!” มันเคยเป็นมาแล้วไม่ใช่หรือ เวลาเตือนพระนะ แล้วมันก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป แล้วพวกเธอประมาททำไม เห็นไหม ธรรมมันเป็นอย่างนี้ ธรรมคือสัจธรรมคือความจริงมันเป็นอย่างนี้ พอเป็นอย่างนี้ปั๊บแล้วเราฝึกใจเราไหม มันเป็นอย่างนี้แล้วใจเราก็เรรวนเราก็ทุกข์ไป

มันเป็นอย่างนี้ พอใจเราเข้มแข็งมันก็สังเวช สังเวชว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องปรินิพพานไป ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป เราเปลี่ยนแปลงไปทุกอย่าง แต่ทุกอย่างไปเรามีกำลังเข้ามา เราฝึกใจเราแล้วเราจะแก้ไขได้ นี่ถึงบอกว่า ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์

ถาม : ๓๕๓. กระผมได้สนทนากับหลวงพ่อ ธรรมะหลวงพ่อนะเมื่อเริ่มเร่งคำบริกรรม.. คำถาม ผมปฏิบัติแล้วมันเสื่อมจะทำอย่างไรดี

หลวงพ่อ : เห็นไหม เคยคุยธรรมะกันแล้วมันปฏิบัติไปแล้ว..

ถาม : เริ่มนั่งบริกรรมแล้วไม่เอาลมครับเอาแต่พุทโธ อาการต่างๆ ก็เกิด แล้วเกิดเร็วขึ้น เพียงนั่งไม่กี่นาทีก็มีอาการปีติซาบซ่าน ตัวไหวโยกคลอน ก่อนได้สนทนากับหลวงพ่อมันนานมาก ล่อมาเป็นชั่วโมงๆ กว่าอาการซาบซ่าน ตัวโยกและปีติจะเกิดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้พุทโธไม่นานก็รู้สึกเลยแต่ครองไม่ได้ครับ มันมาไวไปไวรู้สึกสั้นๆ ลง และบางครั้งถอนการนั่งเพราะอาการง่วงจะตามมาทันที จะรู้สึกอิ่มเอิบก็ง่วงซะแล้ว แล้วสัปหงก

ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เลยลองสลับลมหายใจคู่กับคำบริกรรมก็ง่วงอีก เคยฟังเทศน์ว่า “ถ้าเคลิ้มนี่ปล่อยมันไม่ได้ เพราะง่วงมันหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง” มันไม่รู้สึกชัดพอกับคำบริกรรม อาการปีติก็เริ่มมา แต่แป๊บเดียวสั้นมากๆ แล้วมันก็คลายตัวแบบนี้ มันคือแผ่นเสียงผมตกร่องใช่ไหมครับ ผมกำลังชำนาญในการนั่งหลับใช่ไหมหลวงพ่อ

ไอ้จะใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ฟุ้งซ่านไปโน้น เดี๋ยวเราก็จะได้โน้นได้นี่บ้างล่ะ คิดเข้าข้างตัวเองไปเรื่อยกลายเป็นนั่งตรึกแต่ได้ฟุ้งซ่านมาแทน ทั้งหมดนี้ผมว่ามันเป็นความเสื่อมใช่ไหมครับ ไม่ได้เหตุได้ผลเหมือนอย่างก่อนหน้าที่จะไปสนทนากับหลวงพ่อนั้นก็อยู่แค่ปีติ แล้วหลวงพ่อเปรียบว่า “ได้อมอาหารแล้วต้องกลืนมันให้ได้” ถมเต็มความรู้สึกที่จะก่อให้เกิดแผ่นเสียงตกร่อง ให้นึกถึงรถที่จะข้ามสะพานที่เคยแพ้มันมาตลอด ผมว่าอย่างนี้แก้อย่างใด

ปัจจุบันยังไม่เลิกความเพียรที่ปฏิบัติ ก่อนนั่งก็คิดแล้วจะได้หรือไม่ได้ก็ช่างหัวมัน พยายามทิ้งใจแบบนั้นแต่ไม่คาดหวัง คิดว่าที่ทำนี้ทำถวายพระพุทธเจ้า ถวายเป็นความกตัญญูต่อหลวงพ่อและครูบาอาจารย์ทั้งหมด

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดถึงเจริญแล้วเสื่อม คำว่าเจริญแล้วเสื่อมนี่ไม่มีฐานในการปฏิบัติ.. เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม ถ้าคนปฏิบัติแล้วมันจะมีของมันนะ คำว่าปฏิบัติไปแล้วมันจะเจริญแล้วเสื่อม คำว่าเจริญก็ดีขึ้น ดีขึ้นหมายถึงว่าเราได้รับรู้สิ่งใดๆ บ้าง แต่เราปฏิบัติกันอยู่นี้ เราปฏิบัติกันเห็นไหม บางคนจะบอกว่าปฏิบัติแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ปฏิบัติไปแล้วความซาบซ่านความรับรู้ต่างๆ

เช่นเวลาปฏิบัติไปเกิดปีติ พอเวลาเกิดปีติมันจะขนพอง ตัวพอง เกิดอาการโยกคลอน แล้วพอเราปฏิบัติไปพอเราเกิดปีติอีกว่าทำไมปีติมันไม่ดี เพราะอะไร เพราะมันคุ้นชินไง ปีติครั้งแรกมันจะเกิดอารมณ์และความรู้สึกรุนแรงมาก แต่พอมันเกิดซ้ำๆ มันก็จะจางลงแต่มันมีปีติไหม

นี่จะบอกว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วไม่ได้สิ่งใด ไม่ได้สิ่งใด การปฏิบัติมันได้แล้ว โยมมาทำบุญ เห็นไหม นี่ตอนเช้ามาถวายอาหาร อาหารไปไหนหมดล่ะ อาหารของทุกคนนะพระก็ฉันไปแล้ว โยมก็ทานไปหมดแล้วไม่เห็นมีอะไรเลย แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ นี่มันอยู่ที่การกระทำมันได้ทำไปแล้ว ความรู้สึกนั้นมันประทับไว้แล้ว

ไอ้นี่ก็เหมือนกันเวลาภาวนา เห็นไหม เวลาภาวนาพอจิตมันรับรู้แล้วนี่มันประทับไว้แล้ว ทีนี้พอประทับไว้แล้ว พอมานานเข้ามากเข้ามันจะให้ชัดขึ้น อาหารกินบ่อยๆ เข้า รสที่อร่อยมันก็จืดชืดไป นี่พอทำบ่อยๆ มันเคยตัวไง พอมันเคยตัวขึ้นมาเราก็ต้องทำมากขึ้น ทำมากขึ้น.. ทีนี้สิ่งที่มันไม่เสื่อม เวลามันสงบนะความสงบนั้นมันก็แค่นั้นแหละ เห็นไหม สมาธิมันถึงว่าน้ำเต็มแก้ว แต่เราใช้ปัญญาของเราปฏิบัติขึ้นไป การปฏิบัติมันต้องมีเทคนิคของมัน เทคนิคเวลาสงบแล้วออกใช้ปัญญา พอปัญญาเสร็จแล้วกลับมาทำความสงบ พอทำความสงบแล้วกลับมาออกใช้ปัญญา

นี่การปฏิบัติมันต้องเดินไประหว่างสองเท้า เท้าหนึ่งคือสมถะ เท้าหนึ่งคือวิปัสสนา แล้วว่าในสมถะมีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ.. ใช่! ในเมื่อคนปกติสองเท้ามันก็เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคนขาขาดนะ เขามีขาเดียวนะมันยังดีใส่ขาเทียมขาหนึ่ง ถ้าคนขาขาดสองข้างเลยเขาก็ใส่ขาเทียมทั้งสองข้างเลย ไอ้นี่มีสองขานะ เดินทุกวันเดินจนไม่เห็นประโยชน์ของขาตัวเองไง แต่ถ้าวันไหนขาขาดนะ โอ้โฮ.. เห็นคุณค่าเลยนะ ไอ้คนมีขามันดีกว่าเราอีกเพราะเราไม่มีขาต้องกลิ้งไป

นี่ก็เหมือนกันเวลามันเสื่อมไง เวลาปกติก็เหมือนกับคนมีขามีเท้าอยู่ เดินปกติไม่เห็นคุณค่ามันหรอก เฉย แต่วันไหนเท้าขาดไปล่ะอู้ฮู.. เสียดายเท้า อู้ฮู.. หายไปแล้ว เป็นสมาธิเวลามันเสื่อมไปไง เวลามันมีมันทำของเราขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา แต่เวลามันเสื่อมไปเราก็พยายามทำของเราขึ้นมา พยายามทำของเราขึ้นมา ถ้าเราทำของเราขึ้นมานะ แล้วมันก้าวเดินไปเขาเรียกว่าอำนาจวาสนา อำนาจวาสนานะขิปปาภิญญา เวลาวิปัสสนาไปมันขาดมันรู้ของมันไปเลย แต่ของเรามันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันไม่มีผลตอบ มันไม่มีผลตอบสนองว่ามันสิ้นสุดกระบวนการเมื่อไหร่ คือขณะจิตไง

คำว่าขณะจิตนะ ขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลง ดูสิดูเวลาเปลี่ยนแปลง ปฏิสนธินี่ วิญญาณปฏิสนธิในไข่เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา นี่ขณะที่มันเสวยภพ ขณะที่จิตมันเปลี่ยนแปลงจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จากกัลยาณปุถุชนนี่พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนมันเป็นโสดาบัน ขณะที่เป็นโสดาบันปฏิสนธิมันยังมีการเกิดการตาย จิตธรรมดาจนเป็นจิตพระอริยเจ้ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง ขณะจิตที่มันเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นโสดาบันนี่ เป็นอย่างไรถึงเป็นโสดาบัน แล้วเป็นอย่างไรถึงเป็นสกิทา เป็นอย่างไรถึงเป็นอนาคา เป็นอย่างไรถึงเป็นพระอรหันต์ ถ้าเอ็งตอบไม่ได้ เอ็งตอบไม่ได้เอ็งก็โม้ไง เอ็งก็โม้เอ็งก็จำมา พอจำมานี่จำใครมา จำธรรมพระพุทธเจ้ามา แล้วเวลาพูด อู้ฮู.. พระองค์นี้พูดยอดเลย ทำไมจะไม่ยอดล่ะธรรมพระพุทธเจ้ามันจำมาพูด

จะบอกว่าเราไม่ได้ทำงานนะแต่เราได้เงินมาจากพ่อแม่ เราใช้ทุกวันเราใช้เงินทุกวัน เงินเราก็มีใช้เหมือนกันแต่เราหาเงินเป็นไหม แต่ถ้าเราหาเงินเป็น เห็นไหม นี่หาเงินเป็นก็คือขณะจิตที่มันเป็นเราหาเงินได้ เรามีเงินมีทองเราใช้จ่ายอย่างไรก็ได้ เราได้เงินมาโดยที่เราไม่มีงานทำ

นี่ไง ธรรมะพระพุทธเจ้าไง ไประลึกธรรมพระพุทธเจ้ามาแล้วก็มาคุยโม้กัน แล้วก็บอกอู้ฮู.. เทศน์ดี้ดี คนนู้นก็ดี ทำไมมันจะไม่ดีล่ะธรรมะพระพุทธเจ้ามันดีอยู่แล้ว แต่เวลาปฏิบัติถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะมันจะมีความจริงของมันขึ้นมา ถ้าไม่มีความจริงขึ้นมามันก็ไม่ใช่ความจริงวันยังค่ำ

ทีนี้ว่าเวลามันเสื่อม เสื่อมก็คือเสื่อม กินข้าวแล้วนะพรุ่งนี้ก็ต้องกินซ้ำอีก คนกินข้าวเสร็จแล้วบอกว่าไม่กินตลอดชาติมันไม่มีหรอก นี้ได้สมาธิหนึ่งก็บอกว่าจะไม่ให้มันเสื่อมเลย เกิดเป็นคนก็ไม่ต้องตายเลย เกิดเป็นคนแล้วจะอยู่เป็นคนตลอดไป เกิดเป็นเทวดาแล้วจะเป็นเทวดาตลอดไป เกิดเป็นพรหมแล้วจะเป็นพรหมตลอดไปไม่มีหรอก เกิดเป็นพรหมก็ตาย เกิดเป็นเทวดาก็ตาย เกิดเป็นมนุษย์ก็ตาย ทำสมาธิก็เสื่อม ทำปัญญาก็เสื่อม แต่ถ้าขณะจิตมันพลิกมันจบเป็นโสดาบันไม่มีเสื่อม!

ไม่เสื่อมเพราะว่าอะไร เพราะเป็นกุปปธรรม อกุปปธรรม กุปธรรมคือผลของมัน สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา สภาวธรรมทุกอย่างมันแปรสภาพ สิ่งที่แปรสภาพ พระพุทธเจ้าสอนแปรสภาพ เขาก็เลยบอกว่าธรรมก็แปรสภาพด้วย โสดาบัน สกิทาคา อนาคาก็เป็นอนัตตา โอ๋ย.. ปวดหัว นี่คนภาวนาไม่เป็นไง โสดาบันมันจะแปรสภาพได้อย่างไร สกิทาคาจะแปรสภาพได้อย่างไร นี่ไม่แปรสภาพ กุปปธรรม อกุปปธรรม แล้วเป็นอกุปปธรรมเป็นอย่างไร

อกุปปธรรมคือการไม่แปรสภาพ ถ้ามันไม่แปรสภาพ ทำอย่างไรมันถึงไม่แปรสภาพ ถ้ามันไม่แปรสภาพมันก็ไม่เสื่อมไง นี้เขาบอกว่าถ้ามันเสื่อม มันเสื่อมมันก็เสื่อม ทางเสื่อมกับทางเจริญมันของคู่กัน ถ้ามันไม่มีความเจริญเอาอะไรมาเสื่อม คนเราเวลาไม่เคยปฏิบัติเป็นสมาธิมันจะเสื่อมจากสมาธิไปได้อย่างไร คนไม่เคยใช้ปัญญาเอาอะไรไปเสื่อม มันต้องมีใช่ไหมมันถึงจะเสื่อม ไม่มีจะเสื่อมได้อย่างไรล่ะ

อ้าว.. ในเมื่อมันมีขึ้นมาได้ จากที่เราไม่มีเลยมันมีขึ้นมาได้แล้วมันเสื่อมได้ แล้วทำไมเราจะมีไม่ได้ เห็นไหม เสื่อมกับเจริญ เจริญแล้วเสื่อมมันถึงคู่กันไง ถ้ามันคู่กันขนาดไหนเราก็ฝึกของเรา เราทำของเราถ้าเราทำของเราได้ ถ้าเราไม่เสื่อม เราไม่มีตังค์เราก็ไม่เคยหมดตังค์ เราหมดตังค์ไม่มีตังค์เลย เราก็ไม่เคยมีตังค์แล้วมันจะหมดไปได้อย่างไรล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน มันเสื่อม.. ถ้ามันคิดได้อย่างนี้นะ เพราะเราเคยภาวนามา มันจะเสื่อม มันจะหลง มันจะเข้าใจผิด มันจะให้ค่าตัวเอง อย่างไรก็แล้วแต่ช่างหัวมัน พิสูจน์กันด้วยเวลา มันเสื่อมนะ บางทีเสื่อมด้วย ความหลงคือการเข้าใจผิด เข้าใจว่าได้ธรรม เข้าใจว่าได้นู่นได้นี่คือหลง หลงก็หลงมา หลงอย่างไรก็พิสูจน์กัน ถ้ามันหลงก็ลองพิสูจน์ดูว่าเดี๋ยวมันจะจริงหรือไม่จริงให้เวลาพิสูจน์

เคยหลงนะหลงว่าตัวเองมีธรรม พอมันถึงเวลาก็ว่า อ้าว.. คนมีธรรมเป็นอย่างนี้เหรอ? คนมีธรรมทำไมจิตมันหวั่นไหว คนมีธรรมทำไมเจออะไรนี่จิตตกใจหายหมดเลย แล้วมันมีธรรมได้อย่างไร อย่างนี้ต้องไม่ใช่! ถ้าไม่ใช่มันก็แก้ไขไปเรื่อย แก้ไขไปเรื่อย

นี่มันจะเสื่อมมันจะไม่เสื่อมนะ เราเคยเสื่อมเคยมาทุกอย่างแหละ แล้วมันดีอันหนึ่ง ดีคือว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ช่างดันอย่างเดียวปฏิบัติอย่างเดียว สุดท้ายมันก็ผ่านความเสื่อมนั้นไป ความเสื่อมมันต้องผ่านไป

(โยมอย่าคุยสิ! โยมมาเทศน์แทนเราเอาไหม! มาเทศน์แทนเราเราจะลงไปคุยแทน.. นี่เวลาธรรมะเป็นอย่างนี้ เวลาธรรมะนะเวลาไปเราก็อยากจะไปหาธรรม เราอยากจะไปหาคุณงามความดี เสร็จแล้วเราก็จะเอาความเห็นของเราไปแข่งกับคุณงามความดี ถ้าแข่งกับคุณงามความดีมันไม่จบหรอก บ้านใครบ้านมัน)

เรื่องหนทางธรรมนะ ข้อ ๓๕๔.

ถาม : ๓๕๔. เรื่อง “หนทางธรรม”

เรียนท่านอาจารย์ค่ะ โยมปฏิบัติธรรมมา ๔-๕ ปี ตั้งใจทำไปเรื่อยๆ ผ่อนบ้างเร่งบ้าง เห็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของตนเองคือมีความเข้มแข็งมากขึ้น ความกลัวตายน้อยลง แต่ก่อนกลัวตายมาก ละเอียดมากขึ้น ช่างสังเกตและจิตว่องไวมาก แต่สิ่งที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม คือยิ่งปฏิบัติแล้วยิ่งรู้สึกว่าหนทางสู่นิพพานนั้นมันยังอีกยาวไกลมากจนบางทีรู้สึกท้อ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ขอบพระคุณท่านอาจารย์เมตตาตอบด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : เวลาหมอนี่นะ อาหารการกินเขาจะรักษาของเขามาก เพราะหมอรู้จักโรคภัยไข้เจ็บ พวกเราไม่ใช่หมอใช้ชีวิตสมบุกสมบั่นมาก แต่หมอนี่นะเวลาเขาจะใช้ชีวิตของเขานี่เขาจะรู้เลยว่าเขาจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร เขาจะดูแลตัวเขาอย่างไร

ผู้ปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ปฏิบัติธรรมนะ ดูสิคนที่ไม่ปฏิบัติธรรมหรือคนที่มันไม่สนใจในการปฏิบัติ ดูชีวิตทางโลกเขาใช้ชีวิตกันสิ เขาปล่อยชีวิตเขาสัพเพเหระแล้วเขามีความสุขมาก แล้วเขาก็มองมานะว่าไอ้พวกปฏิบัติธรรมนี่โง่น่าดูเลย ความสุขในโลกนี้มีเยอะแยะเลยมันไม่แสวงหา มันไปทำอะไรกัน มาถือศีล โอ๋ย.. มาอยู่วัด โอ๋ย.. พวกนี้โง่ๆๆ แล้วมันอยู่ของมันมันมีความสุขของมันนะ โอ้โฮ.. มันสัพเพเหระ มันใช้ชีวิตมันตามสบายเลย

ทำไมเขาคิดอย่างนั้นล่ะ เพราะจิตใจเขาหยาบ จิตใจเขาหยาบ จิตใจเขาไม่มีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้งถึงธรรมะไม่ได้ ทีนี้พอเราเริ่มปฏิบัติ เห็นไหม เราปฏิบัติไปแล้ว นี่พอยิ่งปฏิบัติไปๆ “ยิ่งปฏิบัติไปแล้วยิ่งรู้สึกว่าหนทางนิพพานมันยังอยู่อีกไกลมาก... แล้วยังไปอีกไกลมากจนบางทีรู้สึกท้อ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้”

มันเป็นอย่างนี้เพราะเวลาเราปฏิบัติเรารู้ไง เหมือนกับว่าชีวิตของหมอ ชีวิตของหมอเขามีการศึกษามา เขารู้เลยว่าอาหารอะไรเป็นประโยชน์เป็นโทษ มันมีลูกศิษย์เขามานะ เขาบอกเลยนะถ้าเมืองไทยเป็นสิงคโปร์นะ ร้านค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ โดนจับหมดเลย เพราะอาหารที่หาบเร่แผงลอยมาขายมันมีสารพิษทั้งนั้นเลย

เขาบอกว่ากรุงเทพฯ ถ้าเป็นสิงคโปร์นะ ไอ้หาบเร่แผงลอยโดนจับเกลี้ยงเลย เพราะอาหารก็มีส่วนประกอบของพวกสารพิษไง ยิ่งไอ้พวกปิ้งๆ ย่างๆ แล้วปิ้งย่างที่ผูกด้วยเชือกฟางแล้วเวลามันละลายไปในเนื้อย่าง เขาบอกถ้าอย่างนี้พวกนี้ไปอยู่สิงคโปร์นะโดนจับหมด เพราะอะไรเพราะว่าคุณภาพชีวิตมันแตกต่างกัน แต่ของเราเราปล่อยกันตามสะดวกสบายไง

นี่พูดถึงสะดวกสบายปั๊บมันก็เลยหนทางไม่ยาวไกลไง เพราะมันสะดวกสบาย แต่หนทางมันยาวไกลเพราะเราบังคับตัวเอง เพราะเรามีศีล คนมีศีล คนมีความปกติ คนมีชีวิต คนเวลาเพลินแป๊บเดียวนะ แต่เวลาคนทุกข์นี่เวลาทำไมไปช้านัก ช้านัก

นี่ก็เหมือนกันพอเราปฏิบัติ เวลา เห็นไหม เวลานั่งสมาธิ ๕ นาที ๑๐ นาที อู้ฮู.. ปวดมาก เวลานั่งคุยกันทั้งวันได้สบายมากมันก็เลยสบายของมันใช่ไหม เวลาจะปฏิบัตินั่ง ๕ นาที อู้ฮู.. เท่ากับครึ่งวันแล้ว รีบๆ ครึ่งวันแล้วเดี๋ยวมันจะมืด ที่แท้นะไม่ถึง ๕ นาที นี่เพราะอย่างนี้นิพพานมันถึงอยู่ยาวไกลไง คำว่านิพพานอยู่ยาวไกลเพราะว่าเราตั้งใจ เรามีแรงปรารถนา เรามีการปฏิบัติ แต่กิเลสมันก็มาบั่นทอนอย่างนี้แหละ

เวลาปฏิบัติธรรม ธรรมะไม่เคยให้โทษกับใครเลย กิเลสทั้งนั้น ตั้งใจปฏิบัติขนาดนี้ เราตั้งใจปฏิบัติ เราเริ่มทำของเรามา เห็นไหม จิตเราว่องไวมากขึ้น จิตเข้มแข็งมากขึ้น จิตสังเกตเห็นความรู้สึกของตัวเองดีขึ้น นี้คืออะไร นี้คือผลประโยชน์ของเราทั้งนั้นเลย ทุกอย่างนี่นะ สวะมันอยู่ในน้ำ ถ้าน้ำมันลดลงนะสวะมันก็ต่ำ เวลาน้ำเพิ่มขึ้นสวะที่อยู่บนน้ำมันก็สูงขึ้นๆ

ในการปฏิบัติของคนนะ เริ่มต้นปฏิบัติ อู้ฮู.. นู้นก็ดี นี่ก็ดีนะ นี้มันยังเริ่ม พอมันปฏิบัติขึ้นมานะ ปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา สวะมันก็สูงขึ้น สวะคือกิเลสมันก็ครอบคลุมทุกอย่าง แม้แต่ไม่ปฏิบัติกิเลสก็คลุมอยู่ แต่พอปฏิบัติกิเลสมันก็คลุมอยู่ พอคลุมอยู่มันก็มีน้อยเนื้อต่ำใจอย่างนี้

นี้พูดถึงเวลาจิตเสื่อมไง เวลาจิตเสื่อมนะมันจะมีความคิดอย่างนี้ เวลาจิตเสื่อมมันก็เป็นอย่างหนึ่ง เวลาเราปฏิบัติมา เห็นไหม มันมีความคิดอย่างนี้มาคอยบั่นทอนๆๆ นี้คือช่องทางของกิเลส กิเลสมันใช้ช่องทางนี้ทำของมันมา กิเลสมันมีกำลังของมัน มันทำของมัน ฉะนั้นเราจะภาวนาด้วย.. เราจะบอกว่าสิ่งที่มันคิดขึ้นมาอย่างนี้มันก็คือกิเลสไง แล้วเรากำลังจะฆ่ามัน เรากำลังจะดูแลมัน แล้วสิ่งนี้มันเข้ามามันก็มาทอนเราไง

ถ้ามันทอนเรา เรารู้ว่ากิเลสปั๊บ สิ่งที่เราบอกว่านิพพานยังอีกยาวไกล อู้ฮู.. เหมือนจะไม่มีวันถึงที่หมายได้ มันรู้สึกท้อ นี้คือกิเลสไง พอเป็นกิเลสนี่สติก็มาจับตรงนี้สิ จับอาการท้อ เอ็งท้อทำไม เอ็งทำดีแล้วเอ็งท้อทำไม เวลาเอ็งทำคุณงามความดีนี่เอ็งทำไมมาท้อถอย เวลาเอ็งทำความชั่ว เวลาเอ็งปล่อยเนื้อปล่อยตัว เวลาเอ็งไม่ต้องการสิ่งใดเลยทำไมเอ็งไม่ท้อล่ะ ชีวิตทั้งชีวิตทำไมไม่ท้อบ้าง

แก่ไหม.. แก่! ทุกข์ไหม.. ทุกข์! ทำไมไม่ท้อบ้างล่ะ ไม่เห็นท้อเลยเพราะไม่รู้จะท้ออะไร เพราะกิเลสกับเราเป็นอันเดียวกัน แต่พอเราเริ่มปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม มันตรงข้ามไง ตรงข้ามว่าเราจะพ้นจากมัน เราปฏิบัติไปเพื่อจะมีหลักมีเกณฑ์ นี่ทำไมมันท้อล่ะ ท้อก็คือกิเลส ถ้าเราสัพเพเหระนี่ไม่เคยท้อเลยมันไปประสามัน แต่เวลาจะทำดีทำไมมันท้อ ท้อนี่เพราะกิเลสกับธรรมมันแข่งกัน

เราจะบอกว่า เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันมีคุณงามความดีขึ้นมา คุณงามความดีกับสิ่งชั่วร้ายในหัวใจ สิ่งชั่วร้ายนะ กิเลสคือความชั่วร้ายในใจของเราเอง ของคนอื่นก็คือของคนอื่น ของคนอื่นไม่เกี่ยวกับเรา แต่ของเรานี่มันจะบั่นทอนเราเอง แล้วเราทันมัน เห็นไหม เราทันมัน เรารู้จักมัน เรามีสติสังเกตได้

จิตมันละเอียดขึ้น มันช่างสังเกตเห็นความว่องไวของจิต เพราะมันว่องไว มันมีความสังเกต มันถึงรู้สึกว่าสิ่งที่ทำความดีทำไมมันท้อ สิ่งใดๆ มันจะถึงที่สุดได้อย่างไร อันนี้แก้ไขของเราไปเองนะ นี่หนทางธรรม

ถาม : ๓๕๕. เรื่อง “เรียนถามหลวงพ่อสงบเรื่องภาวนา”

ผมได้ฝึกปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ใช้พุทโธเป็นบทบริกรรม ทำไปก็สบายใจดี เบาดี มีนิวรณ์มารบกวนบ้าง ทำไปนานแล้วก็หายคิดไปเอง หลังพึ่งการพิจารณาตามแบบฉบับหลวงปู่เจี๊ยะ “พุทโธดีแล้วดูกาย” ฝึกไปมาติดปัญหาเรื่องการบริกรรมพุทโธแล้วมีการพิจารณากายติดไปด้วย คือบริกรรมไป มีรูปกายปรากฏ เวลาดูกายมีพุทโธปรากฏ ในการพิจารณาไม่รู้ทำอย่างใด เลยทำรวมไปเลยทีเดียวมันก็ใช้ได้ในความคิดผม แต่ไม่รู้ถูกทางหรือเปล่า กลัวเป็นศิษย์หนีครู ท่านสอนให้ทำอย่างหนึ่ง แต่ไปทำอีกอย่างกลัวจะไม่ถูกหลักธรรม ทำไปจะหลงเปล่า อาจารย์ช่วยแนะนำการปฏิบัติของผมหน่อยครับเพื่อนำไปเป็นหลักชัยต่อไป

หลวงพ่อ : ใช้ได้ ถ้าพุทโธ เห็นไหม เวลาพุทโธเราก็พุทโธ พุทโธนี่คือคำบริกรรม ฉะนั้นบริกรรมไปแล้ว หลวงปู่เจี๊ยะให้พุทโธไวๆ หรือว่าให้กำหนดจิตอยู่กับกาย อยู่กับกายแล้วเคลื่อนไหวไปในร่างกาย ท่านบอกว่าถ้าจิตมันเคลื่อนอยู่ในกายเป็นชั่วโมงๆ ได้นั่นคือสมถะ นั่นคือสมถะก็คือกำหนดจิต

ฉะนั้นถ้าคนไม่เคยภาวนานะ บอกกำหนดดูกาย จิตอยู่ในกายตลอดนี่เป็นวิปัสสนา บอกพิจารณากายสิ เวลาเห็นกายแล้วพิจารณากาย.. เห็นกายโดยอะไร เห็นกายโดยสามัญสำนึกกับเห็นกายโดยธรรม ถ้าเห็นกายโดยธรรมจิตมันเห็น จิตสงบแล้วจิตมันเห็น

หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า เวลาจิตมันอยู่ในกายนี่นะมันหมุนเป็นชั่วโมงๆ มันเป็นสมถะเพราะอะไร เพราะจิตมันไม่แว่บออก มันพุทโธ พุทโธ อยู่กับพุทโธตลอดไป ถ้าเรากำหนดจิตอยู่ในกายนะตามข้อของกระดูกให้มันเคลื่อนไป ให้มันเคลื่อนไป ถ้ามันเคลื่อนไปอย่างนี้มันเคลื่อนของมันไป มันไม่แฉลบออก เห็นไหม

มันก็เหมือนเราอยู่กับพุทโธ พุทโธ พอไม่แฉลบออกปั๊บเดี๋ยวจิตมันสงบเข้ามา พอมันอยู่ของมันนี่มันอยู่ในกายๆ พอมันอยู่ในกาย พลังงานมันไม่ได้ส่งออก พอพลังงานมันอยู่ในกาย พลังงานนี้มันจะหดตัวมันเข้ามาจนเป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ พอจิตมันเห็นกายอีกทีหนึ่งนะ เรากำหนดจิตอยู่ในกายนี่นะจิตมันเคลื่อนอยู่ในกาย มันหมุนเวียนอยู่ในกายนี้ แต่พอจิตมันสงบมันเห็นกายนี่มันเห็นเป็นกระดูก เห็นเป็นกระดูกเห็นเป็นกายเลย พอเห็นเป็นกายเลยมันสะเทือนหัวใจเลย อันนี้เป็นวิปัสสนา แต่! แต่มันก็เกิดเป็นครั้งคราว ถ้าจิตสงบมันจะเห็น

เขาว่านิมิตๆ นิมิตนะ นิมิตจริงก็มี นิมิตปลอมก็มี ถ้านิมิตจริงมันเห็นกายนะ พอมันเห็นกายมันสะเทือนหัวใจ ดูสิเราได้แบงก์มา เงินนี่เงินแท้ๆ เงินที่ใช้หนี้ได้ตามกฎหมายเราจะมีความภูมิใจ เราหยิบเศษกระดาษสิ เราหยิบเศษกระดาษมานี่ ก็กระดาษก็คือกระดาษ เห็นไหม เราหยิบอยู่นี้กระดาษก็คือกระดาษ อู๋ย.. ถ้าเป็นแบงก์นะ อู้ฮู.. ใช้หนี้ได้ตามกฎหมายนะ เราจะไปซื้อของได้เลย แต่นี่ไปซื้ออะไรไม่ได้

จิตถ้ามันสงบแล้วไปเห็นกายมันเหมือนแบงก์จริงไง มันมีคุณค่า มันมีความรู้สึกแตกต่างกัน ความรู้สึกที่เรากำเงินอยู่ กับความรู้สึกที่เรากำกระดาษอยู่นี่แตกต่างกันไหม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเห็นกายนะมันสะเทือนหัวใจ ถ้าจิตสงบแล้วมันเห็นกาย วิปัสสนามันเกิดตรงนั้น แต่เราเห็นกันโดยสามัญสำนึกก็เหมือนหยิบกระดาษอยู่ เห็นเขาถือแบงก์กูก็มีแบงก์ เขาถือแบงก์อยู่กูก็มีแบงก์

ด้วยความสำคัญของตนไง ด้วยความสำคัญของเราว่าแบงก์ไงแต่มันไม่ใช่ มันไม่ใช่แบงก์ แต่ถ้าคนเขามีเงินตามกฎหมาย เขาหยิบของเขานี่คือแบงก์จริงๆ มันแตกต่างกันเพราะแบงก์จริงๆ มันใช้ได้ตามกฎหมายใช่ไหม มันใช้ซื้ออาหารก็ได้ มันจะเดินทางก็ได้ มันจะแลกเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ กระดาษเอาไว้ทำไม กระดาษเอาไว้หลอกตัวเองไง กูมีแบงก์ๆ เอาไว้หลอกตัวเองไงแต่ใช้ตามกฎหมายไม่ได้

จิตเวลาวิปัสสนา เห็นไหม ถ้าจิตสงบมันจะเห็นของมันตามความเป็นจริง แล้วมันพิจารณาของมัน ฉะนั้นเวลาถ้าเราพุทโธ พุทโธไป ทีนี้เราพุทโธแล้วก็ดูกายไปด้วย ดูกายนี่ถูกต้อง ทีนี้คำว่าดูกาย ถ้าจิตมันพุทโธแล้วดูกายไปด้วยมันเหมือนกับฝึก

หลวงตาบอกว่า “ปัญญาเกิดเองไม่ได้” ปัญญาไม่มีเกิดเอง สิ่งที่เกิดเองคือสัญญา สิ่งที่เราศึกษาทางวิชาการนี้ มันเกิดเองเพราะเราศึกษามาแล้ว นั่นคือสัญญา.. ปัญญาเกิดเองไม่มี ปัญญาต้องมีการฝึก หลวงตาจะบอกว่า “จิตสงบแล้วต้องฝึกปัญญา” จิตสงบแล้วมันจะเกิดปัญญาไม่มี! ไม่มีหรอก

เราขุดแร่ได้เพชรมา เพชรที่ยังไม่เจียระไน วางไว้เดี๋ยวมันจะเจียระไนเองนี่เป็นไปได้ไหม ได้เพชรดิบๆ มาเม็ดเบ้อเริ่มเลย แล้วบอกว่าเก็บไว้แล้วเดี๋ยวมันจะเจียระไนมาส๊วยสวยเลย มันเป็นไปได้ไหม.. ไม่มีทางหรอก เป็นไปไม่ได้! เราขุดแร่ได้เพชรได้พลอยมา ถ้าไม่เจียระไนมันก็คือเพชรดิบๆ พลอยดิบๆ อย่างนั้นแหละ

เรามีสมาธิมา สมาธินี่ก็คือพลอยดิบๆ แต่ถ้าเจียระไนแล้วมันจะเป็นพลอย เป็นหัวพลอย เป็นหัวแหวน จะเป็นสิ่งใดก็ได้ เพชรก็เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน พอจิตเราพุทโธ พุทโธไป เห็นไหม แล้วเราพิจารณากาย เราดูกายไปเราพิจารณากายไป นี่คือการฝึกปัญญาไง ปัญญาต้องฝึกฝน

หลวงตาบอกว่า “ปัญญาต้องฝึก!” ฝึกจนมันใช้ปัญญาเป็นถึงเป็นภาวนามยปัญญา ไอ้ปัญญาที่เกิดเองๆ นี่เขาเรียกว่าสัญญา ไม่มีปัญญาหรอก! สัญชาตญาณไง ดูสิเราอ่านหนังสือไว้ แล้วเราก็คิดจินตนาการตามหนังสือนั้นสิปัญญาเกิดไหม ก็เกิด แต่ถ้าเราแต่งทางวิชาการเองล่ะ เราเขียนเองมันอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นการที่ว่าเราดูกายไป ดูกายไปนี่คือการฝึกปัญญา ถ้าปัญญามันฝึกไป เราฝึกฝนฝึกปัญญาของเราไปเรื่อยๆ ถ้าปัญญาเราฝึกของเรานี่มันใช้ได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่ามันดูกาย ถ้าเวลาพุทโธไปแล้วดูกายมันเลยติดมาไง เขาว่าตอนนี้เป็นปัญหา คือเรื่องเวลาพุทโธมันก็พิจารณากายไปด้วย เวลาพิจารณากายมันก็พุทโธไปด้วย ถ้ามันสงบนะ เดี๋ยวมันจะสงบเข้ามาเอง.. การปฏิบัติอย่างที่เราว่าตอนเริ่มต้น เห็นไหม เวลาเรานี่ หลงก็เคยหลงมา ให้คะแนนตัวเองก็ให้คะแนนตัวเองมา เวลามันผิดพลาดอย่างไรมันก็เคยผิดพลาดมาทั้งนั้นแหละ แต่! แต่ไม่ทิ้งความเพียร ไม่ทิ้งการภาวนา มันจะภาวนาของมันไปเรื่อยๆ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ทิ้งการภาวนานะมันจะกรองของมันเอง อะไรไม่ดีมันจะละไปๆๆ นะ มันจะเหลือแต่ความจริง ถ้าเหลือความจริงนี่มันก็ถูกต้อง เดี๋ยวมันจะเหลือแต่ความจริง ให้พุทโธ พุทโธของเราไว้ แล้วถ้าพิจารณากายเห็นกายทำของเราไปเรื่อยๆ ทำของเราไป การทำมากน้อยแค่ไหน ผลมันตกผลึกคือประสบการณ์ของตัว มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก การปฏิบัตินี่ต้องเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นการฝึกหัดปฏิบัติขึ้นมา ถึงเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

การปฏิบัติคือการฝึกฝน ทำให้เป็นขึ้นมาจากใจ แต่ในการศึกษา ศึกษาแล้วมันเป็นขึ้นมา นั่นศึกษาคือภาคสุตมยปัญญา ภาคทฤษฏีภาคการศึกษามาเพื่อการปฏิบัติ ทีนี้พอศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วมันจะได้ผลตามความเป็นจริงไหม ถ้าศึกษาขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตใจเราอ่อนแอพอศึกษาขึ้นมาแล้วบอกว่าการศึกษานั้นเป็นความจริงของเรา พอเวลาปฏิบัติไป..

มันปฏิบัติไป เหมือนกับเราเคารพพระพุทธเจ้ามาก ว่ามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันเลยแบบว่าจะยกตัวเองขึ้นเทียบพระพุทธเจ้าไม่ได้ มันก็เลยไม่กล้าทำ ละล้าละลังนะว่าทฤษฏีนี้ อู้ฮู.. พุทธพจน์นี่ไว้บนศีรษะเลย ไว้บนหัวเลย แต่เวลาปฏิบัติไปนี่เราไม่กล้าเทียบ แต่ถ้าเวลามันทำจริงๆ แล้วมันเหมือนกัน สมาธิก็อันเดียวกัน ปัญญาก็อันเดียวกัน

พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติสิ้นกิเลสก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็คือพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็คือพระอรหันต์แต่ท่านสร้างบารมีของท่านมามาก ท่านทำอะไรขึ้นมาแล้วท่านถึงปัญญากว้างขวางมาก แต่พอเวลาปฏิบัติแล้วก็อันเดียวกันนั่นแหละ!

ทีนี้พอเวลาปฏิบัติไปเราก็อู้ฮู.. ไม่กล้ายกตัวขึ้นเทียบ เดี๋ยวว่าจะเป็นการลบหลู่ จะเป็นการตีเสมอ แต่ความจริงคุณธรรมมันเหมือนกัน เราปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลส ทีนี้เวลามันเป็นของมันขึ้นมา ให้มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นจริงๆ ขึ้นมา แต่พอเวลาเป็นจริงๆ ขึ้นมาเราก็ไม่กล้า เราก็แบบว่าเราคนวาสนาน้อย เราปฏิบัติไปมันจะพ้นกิเลสไปได้อย่างไร เราปฏิบัติไปจะมีคุณธรรมได้อย่างไร วาสนาน้อยๆ นี่กิเลสมันตลบหลังไง พอตลบหลังนะทำไปก็ละล้าละลัง ทำไปไม่เป็นเอกภาพ จิตไม่เป็นหนึ่งเดียว แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันปฏิบัติไปนะ

ฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมาในหัวใจของผู้ปฏิบัติแต่ละคนนะ เวลามันทรงคุณธรรมขึ้นมานี่มันเก็บไว้ในใจไง มันกระหยิ่มยิ้มย่องในใจนะ

“คนเหมือนคนแต่คนไม่เหมือนกัน ใจเหมือนใจแต่ใจไม่เหมือนกัน” แล้วมันไม่เหมือนกัน ทำไมมันถึงไม่เหมือนกันล่ะ มันไม่เหมือนกันเพราะมันมีคุณธรรมไง มันมีเหตุมีผลในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกในการปฏิบัติ

ฉะนั้นสิ่งที่ทำมานี้ถูกต้องไหม ถูก! เพียงแต่ถูกแล้วนี่ตอนนี้มันละล้าละลังไง กลัวถูก กลัวจะผิด กลัวจะผิดมันก็น่ากลัวอยู่ แต่ถ้ากลัวจะผิดแล้วเราไม่กล้าทำอะไรเลย มันก็จะไม่ได้สิ่งที่ดีขึ้นไง สิ่งที่ดีขึ้น เห็นไหม สิ่งที่ดีขึ้นไปกว่านี้ ความดีที่จะดีไปกว่านี้ยังมีอยู่ แล้วที่เราทำความดีๆ อยู่ แต่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ แต่เราไปติดดี นี่ที่บอกว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด.. เวลาภาวนาไป เวลามีความรับรู้นี่อันนี้เป็นธรรม แล้วจะขยับไปมากกว่านี้ไม่ได้เลยกลัวไง แต่นี้พอมันติดหยาบอันนี้มันจะลงไปละเอียดได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันรู้สิ่งใดแล้วมันจะมีความรู้ดีกว่านี้ มีความรู้ที่ละเอียดกว่านี้ พอรู้อย่างนี้มันก็ประหลาด มหัศจรรย์อยู่แล้วล่ะ มันจะละเอียดกว่านี้ไปไหนอีก มันไม่กล้า เวลาลงสมาธิเวลามันจะดิ่งลงก็ไม่กล้า ทำอะไรก็ไม่กล้า กลัวเป็นกลัวตายไปหมดเลย แต่ถ้าความจริงนะเป็นไงเป็นกัน! จะตายกี่ชาติก็ให้มันตายไป ตายเป็นตาย โอ้โฮ.. มันเข้าไปนะ มันจะโอ้โฮ.. มหัศจรรย์กว่านี้เยอะเลย

ฉะนั้นใครบอกว่าโอ้โฮ.. มันละเอียดมากๆ เออ! เดี๋ยวจะรู้ว่าละเอียดขนาดไหน มันจะละเอียดขนาดไหนมันก็ละเอียดอยู่ในขั้นตอนของมรรค.. มรรค ๔ ผล ๔ ถ้ามันมรรค ๔ ผล ๔ เราปฏิบัติของเราไปเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ

อันนี้พูดถึงว่าการปฏิบัตินี้ถูกต้องไหม ข้อ ๓๕๕. “เรียนถามเรื่องภาวนา” อันนี้ว่าถูกต้องแล้วทำไปได้ นี่อธิบายให้เห็นถึงผลของมันในการปฏิบัติของมันเนาะ เอวัง