เทศน์พระ

พระนักบิน

๑๙ มี.ค. ๒๕๕๔

 

พระนักบิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ตั้งสตินะ ทำใจให้สงบแล้วฟังธรรม ฟังธรรมคือการเตือนสติ ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรม หรือเราไม่ตั้งสติของเราเอง การฟังธรรมมันเป็นเหมือนกับคำบริกรรม ถ้าบริกรรมพุทโธ พุทโธจะเกิดกับเรา ถ้าเราไม่บริกรรมพุทโธ พุทโธมันก็ไม่มี

แต่ถ้าเราพุทโธๆๆๆ จนพุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกัน ใจเป็นพุทโธเสียเอง แต่ขณะที่ว่าเราไม่บริกรรมพุทโธ ทำไมพุทโธถึงไม่มีล่ะ ถ้ารู้ว่าไม่มี ความรู้สึกมันมี แต่มีนะ มีประสาสัญชาตญาณ มันไม่รู้ตัวมันเอง

แต่ถ้าเป็นสมาธิเพราะจิตมันมีสติ สติมันรับรู้ตัวมันเอง มันไม่ส่งออก มันก็ไม่นึกพุทโธออกมา ไม่บริกรรมพุทโธ แต่ตัวมันเองเป็นพุทโธ แต่ถ้ามันเป็นสามัญสำนึกโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ถ้าเราไม่นึกพุทโธ พลังงานมันส่งออก พอมันส่งออกตัวเองก็ไม่รู้ สิ่งนี้พลังงานส่งออกไปก็ไม่รู้ คำว่าพุทโธก็ไม่มี

แต่ถ้าเราพุทโธๆๆ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ คำว่านึกพุทโธเห็นไหม สิ่งที่ว่าอาการของจิตกับจิต คำว่าเรานึกพุทโธคืออาการของจิต แต่ตัวจิตมันเป็นตัวพลังงานมันก็ไม่รู้ของมันเห็นไหม มันไม่รู้ว่ามันส่งออกของมัน เรานึกพุทโธๆ ฟังธรรมก็เหมือนกัน เหมือนกับเรานึกพุทโธคือการฟังธรรม เพราะเรานึกพุทโธ คำว่าพุทโธเป็นคำบริกรรม จิตส่งออกไปได้ถึงคำบริกรรม แล้วมันบริกรรมอยู่อย่างนั้นจนจิตมันสงบเข้ามา นี่ฟังธรรมนะ

พอเราฟังธรรม ธรรมะเห็นไหม สัจธรรมมันเป็นความจริง แต่ความรู้สึกความนึกคิดของเรามันไม่จริง พอมันไม่จริงการฟังธรรมมันก็ได้เปรียบเทียบไง เปรียบเทียบว่าความรู้สึกความนึกคิดของเรากับสัจธรรมมันเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า นี่ไงถ้ามันไม่เป็นอันเดียวกัน หรือถ้าความคิดมันคิดเรื่องสัจธรรม เรื่องธรรมะ แต่สัจธรรมมันเข้าเป็นอันเดียวกัน ถ้าอันเดียวกันเห็นไหม มันก็เข้าสู่ความสงบ

แต่ถ้ามันไม่เป็นอันเดียวกัน มันหาข้อมูลโต้แย้ง นี่ไงการฟังธรรม สิ่งนี้เป็นการฟังธรรม ถ้าใจเป็นธรรมขึ้นมา ฟังธรรมเป็นวิหารธรรม เพื่อความรื่นเริงอาจหาญ แต่ถ้าจิตเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก การฟังธรรมคือการตรวจสอบใจของเรา การฟังธรรมคือการหาแง่มุมของใจของเรา หาแง่มุมนะ เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติกัน

เราประพฤติปฏิบัติกันก็เพื่อควบคุมใจของเรา ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญาในพุทธศาสนา แต่ปัญญาในทางโลกปัญญาเกิดจากสังขาร สังขารนั้นคือตัวปัญญา เพราะตัวสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง นั้นเป็นปัญญาของเรา เพราะมันเกิดจากจิต จิตคือตัวอวิชชา จิตมันไม่รู้ตัวมันเอง พลังงานมันขับเคลื่อนออกไปโดยสังขาร โดยมีอวิชชาควบคุมอยู่ นี่ปัญญาโดยโลกเขา

แต่ถ้าปัญญาของเราล่ะ ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา ความคิดมันเป็นสังขารไหม เป็น เป็นสังขาร แต่สังขารจากจิตที่สงบ จากสังขารที่อวิชชามันสงบตัวลง พอสงบตัวลงความรู้สึกความนึกคิดออกไปเห็นไหม ความรู้สึกความนึกคิดที่มีสติปัญญา อย่างนี้เป็นมรรคญาณ ไม่ใช่ธรรม

อรหัตตมรรค อรหัตตผล เวลาถ้ามันรวมตัวลง อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันเป็นสมมุติทั้งหมด เป็นสมมุติที่ละเอียด แต่เวลามันพ้นออกมา วิปปยุต สัมปยุต คายออกมา แล้วสิ่งที่หลุดออกไป สิ่งที่คายออกไป นี่ธรรมแท้ๆ นะ มันถึงพ้นจากสมมุติไป แต่สิ่งที่ยังเป็นอยู่เห็นไหม สิ่งที่ยังเป็นสมมุติอยู่ คือมันยังมีสมมุติพาดเกี่ยวพาดพิงกันได้

ความพาดพิงกันได้ มันถึงบอกได้ว่านั้นคือสติ นั้นคือปัญญา นั้นคือเวทนา นั้นคือสังขาร มันพาดพิงไง ธรรมชาติมันพาดพิงสิ่งนี้อยู่ แล้วจิตเราเป็นอวิชชา จิตเรามีกิเลสอยู่ มันมีสิ่งนี้ของมันอยู่ ถ้ามีสิ่งนี้ของมันอยู่ การกระทำของเราฟังธรรมขึ้นมาเพื่อทวนกระแสเข้า เพื่อสัจธรรม เพื่อทำคุณงามความดีของเรา

เราบวชเป็นพระ พระที่ดีก็มี ในสังคมมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีรวมกันอยู่ ดูสิ ดูทางราชการเขา สิ่งที่เขาว่านักบิน เวลานักบินเขาหาผลประโยชน์ของเขานะ แต่เจ้าหน้าที่เขาทำหน้าที่ของเขาโดยความชอบธรรม สิ่งนั้นเป็นนักบินหรือเปล่า ไม่ใช่นักบิน

พระเราก็เหมือนกัน พระเราถ้าเราตั้งใจทำคุณงามความดีของเรา เราไม่ใช่นักบิน แต่ถ้าเป็นพระนักบิน มันแสวงหาแต่ผลประโยชน์ของมัน ที่ไหนมีประโยชน์ ที่ไหนมันหาผลประโยชน์ของมันได้ มันจะหาผลประโยชน์ใส่ตัวของมัน เห็นไหม ผลประโยชน์มาก ผลประโยชน์น้อยนะ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่น้อย เขาก็หาผลประโยชน์ของเขาได้แต่ตามความของเขา

แต่คนที่มีหน้าที่มีตำแหน่งที่ใหญ่โต เวลาเขาหาผลประโยชน์เขาหาผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำนะ เขาหาผลประโยชน์ของเขา เขาบินหาผลประโยชน์ เขาฉวยโอกาส เขาทำสิ่งใดเพื่อที่ให้เป็นประโยชน์ของเขา การฉวยโอกาสทางโลกเขาว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเขา

แต่ถ้าเป็นทางธรรมล่ะ กุศล-อกุศล สิ่งที่เป็นธรรมมันเกิดโดยกุศล เป็นคุณงามความดีของเรา สิ่งนั้นเป็นกุศล เกิดเป็นบุญกุศล เกิดเป็นคุณงามความดี

อกุศล เห็นไหม อกุศลเป็นสิ่งที่กระทำเหมือนกัน เรามองว่าเป็นธรรมๆ เรามองว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรม สิ่งนี้เป็นคุณงามความดี แต่มันเป็นอกุศลเพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นพระนักบินไง

นักบินเห็นไหม ดูสิ เขาข้ามเขตกันในการปกครองของเขา การปกครอง กติกาของเขา สังคมของเขาเขาต้องมีกติกาของเขา เวลาเขาทำธุรกิจการค้ากันก็เพื่อผลประโยชน์ของเขา เขาปล่อยปละละเลยกัน ผู้ที่เข้าไปหาผลประโยชน์ พวกนี้คือนักบิน

พระก็เหมือนกัน พระเวลาหาผลประโยชน์ใส่ตัวเอง ตัวเองมันเป็นทางโลก เพราะมันเป็นสังคม ประเพณีวัฒนธรรมสิ่งนี้เขาแสดงออก ดูสิ เวลาลงอุโบสถกันมันเป็นอริยประเพณี สิ่งนี้เป็นประเพณี อริยประเพณี แล้วเข้าสู่สัจธรรม ถ้ามันไม่มีประเพณี มันไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีการกระทำ มันจะเข้าไปสู่สัจธรรมได้อย่างไร ประเพณีวัฒนธรรมของโลกเขามันก็เป็นเรื่องของโลกเขา

ประเพณีวัฒนธรรมของเราเห็นไหม ธุดงควัตร พระกรรมฐาน พระป่า พระผู้ปฏิบัติ ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ถือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร นี่คือธุดงควัตร นี่คือพระธุดงค์ เป็นประเพณีวัฒนธรรม อริยประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอริยประเพณีของพระอริยเจ้า เราเป็นพระอริยเจ้าหรือเปล่า? เราเป็นอริยสงฆ์ เราเป็นสมมุติสงฆ์ แล้วครูบาอาจารย์เป็นอริยสงฆ์ในหัวใจ ถ้าเป็นสมมุติสงฆ์เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา นี่ไงประเพณีวัฒนธรรมเพื่อการกระทำของเราไง

หน้าที่การงานของเราอยู่ที่นี่ ประเพณีวัฒนธรรมของโลกเขามันเป็นประเพณีวัฒนธรรมเพื่อสังคม เพื่อความเป็นอยู่ เพื่อสิ่งที่ห่อหุ้มความเป็นจริงอันนี้ไว้ เวลาเรามาบวช คนที่มีจิตศรัทธาขึ้นมา เห็นภัยในวัฏสงสาร เขาอยู่กับโลกเขา เขาประพฤติปฏิบัติของเขา เขาต้องมีอาชีพ เขาต้องมีหน้าที่การงานของเขา เป็นทางคับแคบ

พอทางคับแคบ พยายามมาบวชเป็นพระแบบพวกเรา เราเห็นว่าโลกเป็นภัยในวัฏสงสาร เราบวชหาทางออกกัน ถ้าบวชหาทางออกกันหน้าที่ของพระคืออะไร งานของพระคืออะไร งานของพระก็นั่งสมาธิภาวนาใช่ไหม งานของพระก็ต้องหาปัญญาใช่ไหม งานของพระสติปัญญามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สติปัญญาก็เกิดขึ้นจากนั่งสมาธิภาวนา เราอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ มันต้องมีกฎกติกาไหม

ถ้ามีกฎกติกา นี่วัฒนธรรมมันเกิดขึ้นมาตรงนี้ ประเพณีวัฒนธรรมมันเกิดขึ้นมา มันต้องมีเพื่อเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เพื่อเป็นหมู่สงฆ์ เพื่อความเป็นอยู่ร่วมกัน ถ้าความเป็นอยู่ร่วมกัน แล้วงานของสงฆ์อยู่ที่ไหน งานของเราอยู่ที่ไหน งานของเราอยู่ในหัวใจของเรา เวลาอยู่ร่วมกันแล้วมีการกระทำร่วมกันมันขัดแย้งกันไหม มันมีสิ่งใดขัดแย้งในหัวใจไหม มันทำด้วยความรื่นเริงอาจหาญ มันทำด้วยความชุ่มชื่นหัวใจ หรือมันทำด้วยความเศร้าหมอง มันทำด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ นี่กุศล-อกุศลเกิดตรงนี้ นี่หน้าที่ของเราอยู่ตรงนี้

หน้าที่ของเราคือดูใจของเรา หน้าที่ของเราคือวัดใจของเรา ใจของเรามันเป็นไปตามความจริงไหม ธรรมและวินัยเป็นเครื่องอยู่ แล้วจิตใจเวลาทำตามธรรมวินัยมันมีเครื่องอยู่ไหม มันมีความพอใจของมันไหม เวลามันไม่มีความพอใจของมัน มันขัดแย้ง ใครเป็นคนขัดแย้ง อะไรมันขัดแย้งในหัวใจของเรา ก็กิเลสตัณหาความทะยานอยากไง

นี่มันเป็นหน้าที่ ความเป็นหน้าที่เห็นไหม ดูสิ เราบวชมาอยู่ในธรรมและวินัย เห็นไหม อาวุโส ภันเต สิ่งที่เราเคารพบูชากัน อาวุโส ภันเต มันเป็นตามกฎหมายนะ

แต่ความลงใจล่ะ ความลงใจ อาวุโส ภันเต ตามกฎหมายเห็นไหม เกิดก่อนบวชก่อน ใครบวชก่อนใครอาวุโสก่อน เราก็เคารพกันตามธรรมวินัย เพราะกฎหมายบังคับไว้ แต่หัวใจเราเคารพจริงไหม หัวใจเรายอมเคารพไหม

ถ้าหัวใจไม่ยอมเคารพ ทำไมมันถึงไม่ยอมเคารพล่ะ เพราะเขาไม่มีคุณธรรมพอ ถ้าเขามีคุณธรรมพอมันเคารพ แม้แต่ไม่เคยเห็นหน้ากัน ได้ยินแต่กิตติศักดิ์ได้ยินกิตติคุณเห็นไหม

ดูสิ...หลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่มั่น ว่าหลวงปู่มั่นมีชื่อเสียงตั้งแต่ท่านเป็นเด็กๆ ตอนท่านเป็นเด็กชาวบ้านเขาล่ำลือมาก ว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอะไร มันเคารพบูชามาตั้งแต่ยังไม่เคยเห็น มันเคารพบูชามาตั้งแต่ยังไม่ทันบวช

ถ้าบวชแล้วก็มีการศึกษาก่อน พอศึกษาก่อนแล้วกลับมา ใครจะชี้ทางของเราได้ก็กลับมาหาหลวงปู่มั่นเห็นไหม มันเคารพกันมาตั้งแต่หัวใจ มันพอใจตั้งแต่ยังไม่ทันเห็น ไม่ได้พบตัว

พอมันรู้มันเห็นเข้าไปโดยสัมผัสเข้าไปมันยิ่งเคารพบูชา เพราะการกระทำนั้นมันทำออกมาจากหัวใจ การกระทำนั้นทำออกมาจากความจริง เพราะใจเป็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรมเห็นไหม นี่หน้าที่ของพระ พระอย่างนี้ไม่ใช่พระนักบิน เพราะอะไร เพราะมันทำงานตามความเป็นจริง ทำงานตามหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือทำที่หัวใจของเรา

แต่ถ้าเป็นพระนักบินเห็นไหม โดยหน้าที่ของเรามันทำไหม ถ้ามันทำหน้าที่ของเราแล้วมันจบสิ้นขบวนการในหัวใจของเราแล้ว มันจะบินไม่ได้ มันจะบินไปไหนไม่ได้ มันจะดูแลหัวใจอันนี้ไง แล้วมันทำตามหน้าที่ ทำตามความเคารพบูชา มันไม่มีอกุศลในหัวใจ ถ้าไม่มีอกุศลในหัวใจการทำนั้นมันสะอาดบริสุทธิ์เห็นไหม ถ้าความสะอาดบริสุทธิ์มันจะมีอะไรกระทบกระเทือนกันบ้าง

ถ้ามีความกระทบกระเทือนกันบ้าง มันก็มีเพราะความไม่รู้ของสังคมเขา สังคมเขาไม่มีปัญญา ไม่มีความรับรู้ได้ ว่าใจที่เป็นคุณธรรมเขามันมีสิ่งใดในหัวใจ มีความปรารถนาสิ่งใดเห็นไหม

ดูสิ...เวลาหลวงตาท่านพูดนะ “ขอให้อยู่คนเดียวพอ เราอยากอยู่คนเดียว” ถ้าอยู่คนเดียวพอดี อยู่คนเดียวอยู่เงียบๆ อยู่ด้วยความสงบของใจ ถ้าใจมีความสงบ มีความพอใจอย่างนั้น ใจอันนั้นเป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่มันพอแล้ว แต่สิ่งที่พอแล้วเห็นไหม ดูสิ คนเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเกือบเป็นเกือบตายเพื่อสิ่งใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา ถึงเวลาบรรลุธรรมขึ้นมา อยากจะสั่งสอนนะ แต่คิดถึงเวลาบรรลุธรรมขึ้นมา “จะสอนได้อย่างไร จะสอนได้อย่างไร”

นี่ก็เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่ออะไร จิตใจนี่อยากอยู่คนเดียว อยากได้ความสงบ แล้วมันสงบได้ไหมล่ะ เพราะสิ่งที่เป็นความสงบคือสุดยอดความปรารถนา

สิ่งนี้จิตใจถึงเป้าหมายในความปรารถนาแล้วมันถึงเป็นดวงตาของโลก มันถึงเป็นคุณธรรม ถึงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก มันต้องพึ่งตัวเองได้ก่อน ถ้าตัวเองทำความสะอาดของใจ ใจสะอาดบริสุทธิ์แล้วมันเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ มันก็จะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เพราะคนอื่นเขาไว้ใจ เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจนี่เป็นประโยชน์กับเขา เขาถึงต้องการตรงนี้ไง ต้องการให้เป็นผู้ชี้ทางเขา ฉะนั้นความปรารถนาที่จะอยู่กับความสงบมันก็เลยสงบไม่ได้ไง

แต่ว่าพวกนักบินนะ มันไม่สงบ มันฟุ้งซ่าน มันมีแต่ตัณหาความทะยานอยาก มันมีแต่ขี้ในหัวใจ แล้วมันก็บินไปเพื่อหาผลประโยชน์ อยากให้เขาลงใจ อยากให้เขาเป็นผู้ชี้นำ เขาก็ไม่อยากให้ชี้นำ เพราะการกระทำนั้นมันไม่สะอาดบริสุทธิ์

ของเหม็น! แมลงวันมันชอบตอมเพราะเป็นของเหม็น แมลงผึ้งมันต้องการอะไร มันก็ต้องการแต่เกสร ต้องการแต่น้ำหวานเห็นไหม มันไม่ไปตอมของเหม็น แล้วเกสรมันอยู่ที่ไหนล่ะ เกสรมันอยู่บนต้นไม้ บนดอกไม้ มันอยู่ในป่าในเขา มันอยู่ที่ที่เขาต้องแสวงหา ของเหม็น อาจม มันมีอยู่ทั่วไป แมลงวันมันบินไปหาอะไร มันบินไปหาแต่ของเหม็น ของเหม็นแมลงวันมันชอบ แต่ของหอมแมลงผึ้งมันชอบ

นี่ไงแล้วเราเป็นนักบวช เราต้องการสิ่งใด เราควรจะมีสิ่งใดเป็นคุณธรรมในหัวใจของเรา เราจะเป็นแมลงผึ้งหรือจะเป็นแมลงวัน เราไม่ใช่พระนักบิน หรือเราจะหาคุณธรรมของเรา แมลงผึ้งมันบินของมัน มันหาแต่น้ำหวานของมัน มันหาเกสรดอกไม้เพื่อผสมพันธุ์ทางเกสรหนึ่ง เพื่อประโยชน์กับตัวมันเองหนึ่ง เพื่ออาหารของตัวอ่อนมันหนึ่ง มันมีงานของมันตลอด มันทำเพื่อสังคมของมัน

แมลงวันมันทำอะไร แมลงวันมันแพร่แต่เชื้อโรค มันหาอาหารของมันแล้วมันก็แพร่เชื้อโรคของมัน นี่ไง เราจะเป็นสิ่งใด เราจะเป็นประโยชน์กับเรา เราต้องตั้งใจว่าเราจะเป็นประโยชน์กับเราจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นประโยชน์ของเราจริงๆ เราต้องทำความจริงของเราขึ้นมานะ

เราจะเป็นพระนักบิน หรือเราจะเป็นพระทำหน้าที่การงานตามหน้าที่ของเรา มันหนีพ้นไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราต้องอยู่กันเป็นสังคม สังฆะเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ใครเป็นใหญ่ ให้สงฆ์เป็นใหญ่

ถ้าให้สงฆ์เป็นใหญ่ สงฆ์ที่ไหนเป็นใหญ่ สงฆ์ที่มีวุฒิภาวะ สงฆ์ที่เป็นสัตบุรุษ ที่ไหนมีสัตบุรุษที่นั่นเป็นสภา ทำมติสงฆ์ ทำมติสงฆ์โดยแมลงวัน มติสงฆ์อะไร? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สงฆ์เป็นใหญ่ มันน่าสังเวชไง ถ้าสังเวชว่าในหมู่สงฆ์นั้น ในสังคมนั้นมีสัตบุรุษ มติสงฆ์นั้นมันก็เป็นมติสงฆ์เป็นที่น่ารื่นรมย์ เป็นที่น่าพอใจนะ

แต่ถ้าเป็นแมลงวันมติสงฆ์นั้นมันเหม็นคลุ้ง นี่ไงดูสิ ดูสงฆ์แต่ละที่เห็นไหม ในพระไตรปิฎก พระที่ท่องเที่ยวมาไปเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเจอพระรับเงินรับทอง เขาไม่ยอมรับ ไม่รับด้วยเห็นไหม พระนั้นก็ลงทัณฑ์ แม้แต่ไปบิณฑบาตก็ไม่มีใครใส่บาตรให้กินเลย เพราะชาวบ้านเขาคุ้นเคยกับพระเป็นอย่างนั้น

มีสัตบุรุษคนหนึ่ง เห็นว่าท่านบิณฑบาตได้ไหม ไม่ได้เลย นิมนต์มาในบ้านแล้วถวายอาหาร เพราะว่าเขาเป็นนักปราชญ์ด้วยกัน “ฝากไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ว่าสังคมมันเลวร้ายขนาดนั้น พระเห็นเงินเห็นทองมีคุณค่า ไม่เห็นคุณธรรมมีคุณค่า เรี่ยไรแต่เงินแต่ทองเท่านั้น” แล้วเวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรไปลงพรหมทัณฑ์ ไล่ออกไป ไล่ออกไป

นี่ไง ให้สงฆ์เป็นใหญ่ สงฆ์ที่ไหนล่ะ? ถ้าสงฆ์สังคมสงฆ์นั้นมีผู้นำที่ดี เราเกิดมาท่ามกลางกึ่งกลางพุทธศาสนา เราเกิดมาท่ามกลางตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านใช้ชีวิตของท่าน เวลาไปอ่านประวัติ ไปศึกษาประวัติของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนะ คนไม่เป็นคนไม่รู้

หลวงปู่เสาร์ ท่านละล้าละลังอยู่ก่อนที่จะเริ่มประพฤติปฏิบัติขึ้นมา “จะไปไหนดี จะไปไหนดี” ตามประวัตินั้นนะ สุดท้ายแล้วมาญัตติ ตอนญัตติขึ้นมาชาวบ้านเขาก็แอนตี้นะ เพราะอะไร เพราะว่าสมัยนั้นที่วัดของท่านมันเป็นที่เก็บประเพณีวัฒนธรรมของสังคม มีตะโพน มีต่างๆ เป็นที่ศึกษาของสังคมเขา พอญัตติแล้วท่านสละทิ้งหมด จนเขาแอนตี้นะ สุดท้ายท่านก็ออกวิเวก

เวลากว่าจะแสวงหานะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านกว่าจะแสวงหา ออกปฏิบัติครั้งแรกพระห่มผ้าดำๆ สมัยก่อนโบราณ ดูสิ ผ้าสีเหลืองทองที่เขาห่มกันอยู่นะ แล้วของเราออกสีกรัก ในประวัติหลวงปู่มั่นเห็นไหม ไปที่ไหนชาวบ้านทิ้งลูกทิ้งหลานวิ่งหนีเลย พระมาน่ะ กลัวขนาดนั้น สังคมไม่เคยเห็น สังคมไม่เคยมี

พอสังคมไม่เคยเห็น สังคมไม่เคยมี แล้วคนที่ประพฤติปฏิบัติจะเอาที่ไหนล่ะ ถ้าสังคมที่เขาไม่เคยเห็นไม่เคยมี เขาจะให้การจุนเจือไหม เขาจะไว้เนื้อเชื่อใจไหม แล้วหนึ่งสังคมเขาก็ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เราเองเราก็ไม่มีหลักมีเกณฑ์ เพราะยังเริ่มต้นปฏิบัติใหม่

แล้วออกแสวงหา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ปรึกษาหารือกันมาตลอด อาจารย์ปรึกษาลูกศิษย์ ลูกศิษย์ปรึกษาอาจารย์ จนหลวงปู่เสาร์บอกเลย บอกว่า “หลวงปู่มั่นท่านมีปัญญามากกว่าเรา เราแก้ไม่ได้หรอก ให้ท่านแก้ตัวเอง”

สุดท้ายหลวงปู่มั่นท่านก็ต้องค้นคว้า ต้องแสวงหาของท่านขึ้นมาเอง ท่านใช้ชีวิตของท่านพิสูจน์นะ แล้วคนที่พิสูจน์อย่างนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ คนที่สร้างบุญกุศลมาถึงจะมีความเข้มแข็งของใจ ถึงจะมีบารมีธรรม

ของเรานะ ครูบาอาจารย์ท่านชี้นำ ชี้โดยตรงอยู่แล้ว เรายังเอาคำสอนคำสั่งของท่าน เอาเทศนาของท่านมาตีความ มาบิดเบือนกันนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น มีแต่พระไตรปิฎก แล้วพยายามค้นคว้าขึ้นมาแล้วเป็นความจริงขึ้นมา แต่นี่ครูบาอาจารย์ของเราแล้วส่งต่อๆ กันมา

ในปัจจุบันเราเกิดมากึ่งกลางพุทธศาสนา เกิดมาตั้งแต่ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านได้ใช้ชีวิตของท่าน ได้ทดสอบตรวจสอบมาจนสู่สังคมยอมรับ จากสังคมที่ไม่ยอมรับเป็นสังคมที่ยอมรับว่ามรรคผลมีจริง

แล้วเราเกิดมากึ่งกลางพุทธศาสนา ว่าศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เราเกิดมาในปัจจุบันนี้มีครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ที่เป็นปัญญาให้เราเห็นกันอยู่ก็มี ถ้าปัญญาที่เราเห็นกันอยู่นี้ เราเกิดมามีอำนาจวาสนาไหม มันมีอำนาจวาสนา แต่มีอำนาจวาสนานี้มันก็เป็นอำนาจวาสนา

ปลา มันต้องอยู่ในกระแสน้ำ มันต้องอยู่ในแหล่งน้ำ แหล่งน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ แหล่งน้ำที่มีออกซิเจนดีๆ ปลามันจะมีความสุขมาก เราเกิดมากึ่งกลางพุทธศาสนา สังคมเขากำลังยอมรับ สังคมเขาเห็นดีงามในการประพฤติปฏิบัติ แต่นี้เราก็ไม่ต้องไปตื่น ปลาอยู่กับน้ำ แต่ตัวมันเองก็ต้องว่ายทวนน้ำ เพราะมันเป็นปลาเป็นไม่ใช่ปลาตาย

นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่ในสังคม สังคมคือสังคม เราคือเรานะ ถ้าเราคือเราแล้วเราจะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์กับเรา หน้าที่การงานของเราอยู่ที่ไหน หน้าที่งานของพระอยู่กับหมู่คณะ มันก็มีข้อวัตรปฏิบัติ เพราะมันอยู่ในสังคม สังคมต้องมีกติกา แล้วอยู่ในสังคมนั้นแล้วสังคมนั้นอยู่เหมือนน้ำ เราเป็นปลา ปลาอาศัยสังคม อาศัยน้ำนี้อยู่ แล้วตัวปลาเองมันทำอย่างไรให้มันเข้มแข็งเข้ามาเป็นตัวของมันเอง

ฉะนั้นเราอยู่ในสังคม อยู่ในสงฆ์ อยู่ในวัด ข้อวัตรปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทางจงกรม กุฏิ ที่นั่งของเรา ที่ปฏิบัติของเรา เป็นเรื่องของเรา เราก็ต้องมีปัญญา ต้องแยกแยะว่าเราอยู่กับสังคม เราอาศัยกันอยู่ เราจะไม่เอาเปรียบใคร เราจะไม่เห็นแก่ตัวกับใคร เราจะทำเพื่อสังคม ทำเพื่อให้คนได้อยู่อาศัยในปัจจัยเครื่องอาศัย

แล้วหน้าที่ของเรา เรายังต้องปฏิบัติของเรา เพื่อความมั่นคงของเรา เพื่อให้จิตใจของเรามันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา ให้มันมีศีล ให้มันมีสมาธิ ให้มันมีปัญญาขึ้นมา ถ้ามีปัญญาขึ้นมา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา

หน้าที่การงานของเรา หน้าที่การงานของหมู่คณะ หน้าที่การงานของโลกก็เรื่องหนึ่ง หน้าที่การงานของเขาก็เรื่องหนึ่ง พอเราอยู่ไปเราประพฤติปฏิบัติไปโดยชีวิตประจำวันของเรา มันก็เป็นเรื่องเดียวกันขึ้นมา เพราะเราทำข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา เราก็มีสติของเราทำข้อวัตรไป เรามีสติของเราดูหัวใจของเรา

เวลาบิณฑบาตก็มีอยู่ในหัวใจของเรา เวลาเรายิ่งเข้าไปภาวนา แล้วเวลาเราภาวนาขึ้นมาเห็นไหม งานสิ่งใดก็แล้วแต่ เวลาทำจำเจขึ้นมาแล้ว มันก็มีความพลั้งเผลอ เริ่มต้นปฏิบัติก็สติดี ความปรารถนาดี แต่พอปฏิบัติไป วันเวลาล่วงไปๆ ความคุ้นชินของมันก็มี ความคุ้นชินเห็นไหม ดูสิ เวลาประพฤติปฏิบัติไป ครูบาอาจารย์ท่านบอกให้เป็นเขยใหม่

เขยใหม่แต่งงานเข้าไปในตระกูลใด เป็นเขยใหม่ต้องระวังตัวไปหมดนะ ต้องทำให้มันถูกต้องเพราะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ เราไม่เคยเข้ามาอยู่ในชาติตระกูลนี้ เราเคยอยู่ในชาติตระกูลของเรา พอเราเป็นเขยใหม่ต้องไปอยู่ในชาติตระกูลใหม่ เขาก็ต้องศึกษา ต้องระวังตัว

นี่ก็เหมือนกัน เราบวชมาให้เหมือนเขยใหม่ เขยใหม่คือเริ่มของใหม่ตลอด อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านจะไม่ให้คุ้นชินกับสิ่งใดเลย ท่านจะให้ตื่นตัวตลอดเวลา นั่งที่ไหนก็ไม่ให้นั่งนาน ไอ้ของเรานั่งจมหัวกัน คุยกันหัวชนกัน เหมือนกับเมาเหล้า เหมือนกับลงยา สิ่งนี้มันไม่ใช่สมณะสารูป ไม่ใช่ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารเห็นไหม เราทำหน้าที่การงานเสร็จแล้ว เวลาของเรามีขนาดไหน เราจะหาที่ของเรา เราจะหาความสงบสงัดของเรา เราจะปฏิบัติเพื่อความเข้มแข็งขึ้นมาในหัวใจของเรา ปลามันอาศัยน้ำอยู่ แต่มันก็ต้องเอาตัวมัน เพราะว่าถึงฤดูกาลต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงไป

ในการประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา จิตใจมันเปลี่ยนแปลงนะ เริ่มต้นก็มีความมั่นคง พอปฏิบัติไปๆ ก็คอตก พอภาวนาไปๆ ก็เลิกดีกว่า พอถึงที่สุดนะ “เราออกไปข้างนอกทำบุญก็ได้” มันไปของมันเรื่อยนะ

น้ำไหลลงต่ำ ความคิดมันจะไหลลงต่ำไปตลอดเวลา เราดูสิ ใจของคนมันเป็นแบบนี้ แล้วเราเห็นสังคมไหม เวลาสังคมเขาเป็นของเขาไป เขาเปลี่ยนแปลงของเขาไป แล้วเราเชื่อเขาได้ไหม ปลามันอยู่กับน้ำ ฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง เวลาหน้าน้ำ น้ำจะหลากมาก เวลาหน้าแล้ง น้ำมันแห้งจนไม่มีที่จะอยู่นะ

สังคมวันเวลามันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ชีวิตของเราล่ะ เราเอาอะไรเป็นหลักประกันในชีวิตของเรา ถ้าเราภาวนาของเรา เรามีจุดยืนของเรา วันเวลามันก็คือวันเวลา จิตมันก็คือจิต ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ของเราขึ้นมา เราจะอาศัยตัวเราเองได้ เราเกิดปัญญาขึ้นมา

ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันก็มีงานทำ จิตของคนถ้ามีงานทำมันจะเพลินกับงานนั้น จิตของคนถ้าไม่มีงานทำมันละล้าละลังนะ ทำความสงบของใจ เราต้องหาทุน เราต้องหาออฟฟิศ นักกีฬาเขามีสนามซ้อมของเขา เราจะทำงานในจิต จิตมันจะออกทำงานมันต้องมีสถานที่เห็นไหม

กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันมีสถานที่ของมัน สถานที่เกิดงานขึ้นมา งานคือกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

แต่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม กาย เวทนา จิต ธรรมมันเป็นกิเลสเหรอ ไม่ใช่! กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่กิเลส แต่กิเลสมันแสดงออกอาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม ความคิด เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่กิเลส พระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้วก็มีขันธ์ ๕ มีความรู้สึก มีความนึกคิดเหมือนกัน แต่ไม่มีกิเลส ขันธ์มันก็เลยเป็นขันธ์บริสุทธิ์

แต่ในปัจจุบันนี้เพราะจิตเรามันมีกิเลส อาศัยผ่านขันธ์ ขันธ์ก็เลยกลายเป็นขันธ์ของกิเลสหมดเลย กิเลสอาศัยขันธ์ อาศัยความคิด อาศัยเวทนา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กิเลสมันเป็นเครื่องมือแสดงออก มันพาใช้ มันใช้ผ่านขันธ์ เราทำจิตเราสงบเข้ามา เราก็พิจารณาเข้ามา กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่กิเลส แต่เพราะจิตเราเป็นกิเลส มันถึงอาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเครื่องแสดงออก

พอเป็นเครื่องแสดงออก เราก็พยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วมันก็สะอาดบริสุทธิ์ชั่วคราว สะอาดด้วยการหินทับหญ้าที่เขาว่า “หินทับหญ้าๆ” นั่นล่ะ ก็ขอให้มันได้ทับเถอะ ถ้ามีหินทับหญ้าขึ้นมามันจะเกิดภาวนามยปัญญา เกิดงานขึ้นมา นี่หินก็ไม่ได้ทับ หญ้าก็ไม่เคยเห็น แล้วก็บอกว่า “หินทับหญ้าๆ” ไม่ทำอะไรเลยมันก็เลยกลายเป็นนักบินไง

บินไป.. บินไปหาผลประโยชน์ บินไปหาลาภสักการะ บินไปหาตำแหน่งหน้าที่ บินเอาแต่ผลประโยชน์ มันไม่ได้บินกลับ ไม่ทวนกระแสกลับมาดูใจของตัว ถ้ามันดูใจของตัวมันจะบินไปไหน เพราะมันบินออกไปจากใจ แรงปรารถนากิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันขับออกไปจากใจ ถ้าใจมันคิด ใจมันปรารถนา ใจมันมีเป้าหมาย มันก็มีการกระทำ มีการแสดงออกมาที่เราเห็นกันอยู่นี้ว่ามันน่าขยะแขยง มันน่าเศร้าใจอย่างนี้ เพราะว่าจิตใจมันมีกิเลส มันถึงได้แสดงออกมาเป็นรูปแบบอย่างนี้ไง

แต่ถ้าจิตใจมันได้กระทำเหมือนกับกรรมฐาน หน้าที่การงานที่ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน ท่านขัดเกลาในใจของท่าน พอขัดเกลาใจของท่านเสร็จ หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ว่า “การแก้จิตนี้แก้ยากนะ หมู่คณะให้ปฏิบัติมา ผู้เฒ่าจะแก้ว่า ผู้เฒ่าตายแล้วไม่มีใครแก้นะ การแก้จิตนะ”

คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แรงปรารถนา แรงขับของกิเลสตัณหาความทะยานจากจิต พอจิตมันคิด จิตมันวางแผน มันจะจินตนาการออกมาจนกลายเป็นนักบินโฉบเฉี่ยวไปหาผลประโยชน์จากข้างนอก ในหัวใจมันก็ไม่รักษา มันก็ไม่ดูแลของมัน เวลามันออกไปทำลายคนอื่นมันทำลายไปหมดเลย แต่เราเห็นสังคมเป็นอย่างนั้น มันเป็นเทศน์กัณฑ์หนึ่งไง

มันเป็นเทศน์กัณฑ์ใหญ่ๆ กัณฑ์หนึ่งเตือนเราว่า ดูสิ ดูสังคมที่คุยนักคุยหนาว่าเป็นสังคมของผู้เสียสละ สังคมของพระกรรมฐาน สังคมของผู้ที่ชำระกิเลส สังคมของผู้ที่ทำให้กิเลสมันแผดเผา มันทำลาย มันเบาบางลง ทำไมเขาทำกันอย่างนั้น! มันเห็นแล้วมันเศร้าใจมาก ถ้ามันเศร้าใจนะ นั่นเป็นเรื่องของสังคมเห็นไหม

นี่ข้อวัตรปฏิบัติ เราอยู่กับสังคม เราอยู่เป็นหมู่คณะกัน หมู่คณะเขาเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นอย่างนั้นไหม เราจะทำตัวเราเป็นอย่างนั้นไหม ถ้าเราไม่ทำตัวเป็นอย่างนั้น เราต้องเริ่มกลับมาตั้งสติ ทำสมาธิเกิดปัญญาขึ้นมา ให้ชำระกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรานี่

ถ้าเรากลับมาชำระกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรานี้ แบบที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า “ให้อยู่ป่าอยู่เขา ให้อยู่ในที่สงบสงัด เพราะกิเลสมันไม่ชอบ กิเลสมันชอบที่สะดวกสบาย กิเลสมันชอบสิ่งที่มีแต่พอกพูนตัณหาความทะยานอยาก”

หลวงตาท่านบอกว่า “เทศบาล ๑ เทศบาล ๒ มันมีแต่กระดูกหมู กระดูกหมา กระดูกวัว กระดูกควาย เอาไปแทะกินกระดูกในสังคม ในตลาด ในลาดเล” ท่านให้เข้าป่าเข้าเขา เข้าไปในที่ที่มันขาดแคลน มันอัตคัดขัดสน มันก็อัตคัดขัดสนแต่เรื่องของโลกเขา แต่มันจะเจริญรุ่งเรืองในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ

แต่หัวใจเราอ่อนแอ หัวใจของเราไม่มีความเข้มแข็ง หัวใจของเรามันก็จะเถลไถลบินเข้าไปแทะกระดูกหมู กระดูกวัวนั่น มันบินไปตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด มันตั้งใจ มันตั้งเจตนาไง ว่าจะไปที่นั่น จะทำอย่างนั้นเพื่ออะไร มันจะไปหากระดูกหมู กระดูกวัว กระดูกควายนั่น มันไม่เข้าไปสู่ความสงบสงัดตามความเป็นจริงเห็นไหม ถ้ามันเข้าสู่สงบตามความเป็นจริง เราต้องมีสติปัญญาของเรา

เราเห็นสังคมมันเป็นเทศน์กัณฑ์หนึ่ง มันเตือนพวกเรานะ มันเตือนให้เรามีสติปัญญาขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างนั้นไหม เราเห็นเขาทำกัน ทำไมมันทำได้ ทำอย่างนั้นมา มันทำมาแล้วมันสะเทือนถึงหมู่คณะหมดนะ คำว่าถึงหมู่คณะ พระเห็นไหม ปลาข้องเดียวกัน พระเสียองค์หนึ่งมันก็พระทั้งหมดนั่นล่ะ

แต่พระไม่เหมือนพระนะ พระที่มีสติปัญญา พระที่รักษาเนื้อรักษาตัวนี่เป็นแบบอย่าง เป็นคติแบบอย่าง ถ้าเราไม่มีคติแบบอย่าง เห็นไหม มันมีตำรับตำรา หลวงตาท่านห่วงเรื่องนี้มาก ท่านบอกว่า “ท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์ ถ้าวัดไหนในพรรษาไม่ถือธุดงค์ ท่านจะไม่เหยียบวัดนั้นอีกเลย” ท่านติ ท่านเตียนมาก ท่านบอกว่า “ต่อไปมันจะมีแต่ในตำรา”

ตำราบอก “ธุดงควัตร” มันจะมีแต่ตัวอักษร คนจะทำไม่เป็น ฉะนั้นท่านถึงบอกว่า “ถ้าเป็นลูกศิษย์ของท่าน ต้องถือธุดงค์อย่างน้อยก็เฉพาะในพรรษานั้น ให้ว่าจากตัวอักษร ให้มีภาคปฏิบัติ ให้เขารู้ ให้เขาเห็น ว่าการปฏิบัติมันปฏิบัติอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังเขาได้เห็น ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติคือเราไม่ได้ถ่ายทอดจากตัวอักษรมาเป็นภาคปฏิบัติ ให้เขาเห็นว่าภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้”

ฉะนั้นถ้ามันปล่อยไปๆ ต่อไปก็มีแต่ตัวอักษร ภาคปฏิบัติมันจะหายไป ท่านเป็นห่วงเป็นกังวลกับเรื่องนี้มาก ท่านถึงบอกว่า “ถ้าเป็นลูกศิษย์เราต้องถือธุดงค์ ต้องถือธุดงค์ในพรรษา ถ้าไม่ถือธุดงค์ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา”

แล้วเวลาท่านพูดออกมา ท่านพูดออกมาอย่างนี้ บอกว่า “ต่อไปมันจะมีแต่ตัวอักษรเท่านั้น มันมีแต่ตัวหนังสือ แล้วการปฏิบัติจะไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น แล้วทำไม่ได้ ก็จะต้องไปลูบๆ คลำๆ เริ่มต้นกันใหม่”

แต่สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้ ใครเป็นคนเริ่มต้นมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเริ่มต้นของท่านมา ท่านพยายามต่อสู้มา การต่อสู้นะ อิทธิพลของอำนาจรัฐ ทำไม่ได้ เพราะพระเขาไม่เคยทำกัน แม้แต่ฉันมื้อเดียวก็ทำไม่ได้ เขาฉัน ๒ มื้อกัน จนหลวงปู่มั่นต้องหนีจากอุบลฯ มาจากอำนาจการปกครอง หนีมาตลอด หนีออกมา หนึ่งหนีออกมาแล้วยังจะต้องประพฤติปฏิบัติ หนีอิทธิพล หนีอำนาจการปกครอง แล้วเข้าป่าเข้าเขาไป แล้วเขาตามมาว่า “อย่าใส่บาตรๆ” เพราะอะไร เพราะเขาถือกันว่าเป็นการอวดดีไง

นี่ไงสังคมถ้าไม่มีผู้นำมา กว่าเราจะต่อสู้เราจะทำของเรามา มันไม่ได้ง่ายๆ อย่างที่เราคิดหรอก สิ่งที่เราได้มามันได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของครูบาอาจารย์เรา ครูบาอาจารย์ของเราใช้ชีวิตแลกมา แลกสิ่งที่กว่าจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงขึ้นมา จนสังคมเขายอมรับ

แล้วเรามาเป็นพระในปัจจุบันนี้ เราคิดอะไรกัน เราเป็นพระนักบินแบบทางโลก เจ้าหน้าที่เขาหาผลประโยชน์กัน เขาเรียกว่า “ตีเมืองขึ้น” หาผลประโยชน์ บินข้ามเขตเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์กัน แล้วสิ่งนั้นมันเป็นเรื่องโลกๆ

แต่เราเป็นพระ แล้วบอกว่าเป็นพระกรรมฐานด้วย แล้วพระกรรมฐานคืออะไร พระกรรมฐานคือการทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดมรรคญาณ ให้มรรคสามัคคี ให้มรรคเข้ามาทำลายอวิชชา ทำลายกิเลสจากภายใน

ถ้ากิเลสจากภายในมันไม่มีแล้ว ทำไมทำตัวกันอย่างนั้น ทำไมไม่มีสติปัญญา ไม่มีความระลึกรู้ ไม่มีสิ่งใดเป็นคติเตือนใจตัวเองเลยเหรอ ทำไมทำได้ขนาดนั้น ฉะนั้นเห็นสิ่งนี้แล้วเราต้องย้อนกลับมาที่เราว่า เราจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็น

ในปัจจุบันนี้เรายังมีชีวิตอยู่นะ เรายังมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่า “ลมหายใจทิ้งเปล่าๆ” หายใจนี่ทิ้งลมหายใจไปเปล่าๆ เราจะไม่ทิ้งลมหายใจเราเปล่าๆ แม้แต่ลมเข้า-ลมออกเราก็จะมีสติของเรา เราจะกำหนดลมหายใจของเรา เราจะกำหนดคำภาวนาของเรา เราจะกำหนดคำบริกรรมของเรา

พุทโธ จะได้หรือไม่ได้ เราตั้งสติอยู่ เราทำของเราอยู่ เราเกาะหลักของเราไว้ จะดีหรือชั่ว เรามีหลักมีเกณฑ์ จิตใจมันมีที่อยู่อาศัย มันจะไม่ร้อน มันจะไม่ดิ้นรน ถ้าจิตใจไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีที่เกาะ มันยิ่งเร่าร้อน พอเร่าร้อนไปนะ มันก็สาดใส่เข้าไปด้วยเห็นไหม แมลงวันนะ ยิ่งเหม็นยิ่งดม ยิ่งดมยิ่งเหม็น ยิ่งเข้าไปอยู่ในสิ่งที่เป็นอาจม

ถ้าเราไม่ต้องการไปอย่างนั้น เราจะเป็นแมลงผึ้ง เราขยันหมั่นเพียร เราจะต้องเกาะคำบริกรรมของเราไว้ เราเกาะลมหายใจของเราไว้ แบบหลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่า “ไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ”

เราเกิดเป็นมนุษย์ บวชเป็นพระด้วย หายใจต้องมีสติ กำหนดอานาปานสติ หายใจเข้า-หายใจออก มีคำบริกรรมพุทโธของเรา เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เราจะเป็นคนดี เราจะเป็นพระดี เราเห็นครูบาอาจารย์ของเรา สร้างสมสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาทั้งชีวิตทุกข์ยากมากนะ

แล้วเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราบวชเข้ามาเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส แล้วเราบวชเข้ามาเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์อยู่ในวงกรรมฐาน เราจะต้องตั้งสติของเรา ทำหลักทำเกณฑ์ของเราขึ้นมา เพื่อต่อไปเป็นศากยบุตร เป็นผู้รับช่วงมรดกของครูบาอาจารย์เรา เป็นทอดๆ ไปให้ศาสนานั้นมั่นคง จิตใจเรามั่นคงก่อน เรามีหลักมีเกณฑ์ก่อน แล้วศาสนาจะมั่นคง มีที่พึ่งอาศัย ครูบาอาจารย์ของเราเป็นเสาหลักของศาสนา เราถึงได้มีร่มโพธิ์ร่มไทรเป็นที่อาศัย ครูบาอาจารย์ของเราล่วงไปแล้ว เราจะทำตัวกันอย่างไรให้มีคติเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง