เทศน์พระ

อยู่เย็น

๓ เม.ย. ๒๕๕๔

 

อยู่เย็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเรานะ เราต้องอยู่ให้ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุขเราอยู่ที่ไหนเราก็อยู่ได้ ถ้าเราอยู่ไม่ร่มเย็นเป็นสุขอยู่ที่ไหนมันก็เดือดร้อน ความว่าเดือดร้อนกิเลสมันทำให้เดือดร้อน เพราะเวลากิเลสมันเผาไหม้เรานะ แล้วมันก็จางไป แล้วมันเหลือใครไว้ล่ะ มันก็เหลือเราเป็นผู้รับผลวิบาก

เวลามีโทสะ โมหะเห็นไหม โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมานะ มันบีบบี้หัวใจแล้วมันก็ไป เวลาโกรธขึ้นมาเราทำตามมันสั่ง พอทำตามมันสั่งจบแล้วความโกรธก็หายไป แล้วเราก็มาคิดเสียดายทีหลังว่าไม่ควรทำ แต่ผลนะ ความโกรธนั้นมันไม่ได้รับผล แต่หัวใจของเรามันได้รับผล เพราะหัวใจเป็นคนพาทำ ถ้าหัวใจเป็นคนพาทำ สิ่งใดเกิดขึ้นมาผลตอบสนองมันอยู่ที่ใจ เพราะใจมันรับผลอันนั้นเห็นไหม

แต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันไม่ได้รับผลกับเรา แต่เวลามันเกิดขึ้นมามันบีบบี้สีไฟเรา แต่มันไม่ได้รับผลกับเรานะ แต่เราทำคุณงามความดีล่ะ เวลาเราตั้งเจตนาในการฟังธรรมขึ้นมา เพื่อให้มีเจตนา เพื่อให้มีความหวังดี เพื่อให้กระทำความดีขึ้นมา เวลาเราทำความดีขึ้นมาแล้วใครมันรับผลล่ะ ก็หัวใจเป็นผู้รับผล หัวใจเป็นผู้เบิกบาน หัวใจเป็นผู้รับรู้

ถ้าหัวใจมันทุกข์ มันก็ทุกข์ของมันด้วยความบีบคั้นของกิเลส แต่เวลาเป็นธรรมขึ้นมา หัวใจมันได้รับความปล่อยวาง ได้รับความสว่างไสว ได้รับความสุขในหัวใจ แต่ความสุขในหัวใจอันนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ มันเกิดขึ้นมาจากเรามีสติ ถ้าเรามีสติขึ้นมาเห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะมากมายขนาดไหนสติยับยั้งมันได้ แต่ฆ่ามันไม่ได้ การฆ่ามันได้เราต้องฝึกขั้นตอนต่อไป

มีสติเห็นไหม มีสมาธิ มีปัญญา ถ้ามีปัญญาขึ้นมาเราจะแก้ไขของเรา ถ้าความร่มเย็นเป็นสุขของเรามันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากไหน...มันเกิดขึ้นมาจากความเพียรของเรา เวลาผลของข้อวัตรปฏิบัตินะ วัตรปฏิบัติของเราเป็นเครื่องอยู่ ตั้งแต่เราตื่นนอนขึ้นมา เราต้องทำวัตรในศาลา เรามีเวลาของเราในเรื่องประพฤติปฏิบัติ

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องมีเวลา เราต้องฝึกฝนขึ้นมา เราต้องดัดแปลงตัวเรา ถ้าไม่ดัดแปลงตัวเราเห็นไหม เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้นอน ๔ ทุ่มจนถึงตี ๒ เท่านั้น นี่พอแล้ว ความพักผ่อนของร่างกายช่วงกลาง ช่วงมัชฌิมากลางคืนนี่พอแล้ว ถ้าเราฝึกฝนจนขนาดนั้นได้ เราประพฤติปฏิบัติของเราได้ เห็นไหมมันต้องฝึกมาตั้งแต่ต้น

นี่ไม่ได้ฝึกตั้งแต่ต้น ดูสิ เอาชะลอมไปตักน้ำมันจะตักน้ำได้อย่างไร มันก็รั่วไหลไปหมด ถ้าเอากระป๋องไปตักน้ำมันจะได้น้ำมา ถ้าเอาชะลอมไปตักน้ำ มันไม่ได้น้ำหรอก น้ำมันไหลออกหมด

นี่ก็เหมือนกัน ในชีวิตประจำวันของเรา เราไม่มีสติปัญญาของเรา มีข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมามันก็ปิดล้อมให้ความรั่วไหลของใจ ถ้ามันปิดล้อมความรั่วไหลของใจขึ้นมา มันจะตักน้ำสิ่งใด น้ำอมตธรรม ถ้าตักน้ำอมตธรรมขึ้นมาในหัวใจเราได้ เห็นไหมมันจะอยู่ในใจของเราได้ แล้วอยู่ในใจของเราได้มันเกิดมาจากอะไรล่ะ มันก็เกิดจากสติปัญญา เกิดจากข้อวัตรปฏิบัติของเรานี่แหละ

ข้อวัตรปฏิบัติเห็นไหม มันให้ผลอะไรกับเรา เวลาเรามีข้อวัตรเป็นเครื่องอยู่ ฝึกฝนดัดแปลงตน ถ้าฝึกฝนดัดแปลงตนขึ้นมาจนมีความพร้อม ถ้ามีความพร้อมขึ้นมา เราทำความสงบของใจขึ้นมา มันจะมีความสงบของใจขึ้นมา ถ้าความไม่พร้อมขึ้นมา มันตักอะไรได้ขึ้นมาล่ะ ทีนี้มันตักอะไรไม่ได้ขึ้นมามันก็มีแต่ความแห้งแล้ง พอมีความแห้งแล้งชีวิตเราก็เร่าร้อน พอชีวิตเราเร่าร้อนขึ้นมา เอ๊ะ ทำไมมันไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมมันมีแต่ความเร่าร้อน

มันจะมีความเร่าร้อนเห็นไหม ตบะธรรม เวลาตีเหล็กเขาต้องเผาให้เหล็กแดงขึ้นมา มันจะตีขึ้นรูปเป็นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้อย่างไรก็ได้ เวลาหัวใจขึ้นมาเราต้องทำความสงบของใจเข้ามา เราต้องตีเหล็กให้แดงขึ้นมา เราต้องเผาเหล็กให้แดงขึ้นมา แล้วเราจะตีมัน เวลาเราจะเผาเหล็กเห็นไหม ดูสิ เวลาเตาเผาเหล็ก สูบลมเข้าไปมันมีความร้อนไหม มันก็มีทั้งนั้น พอเหล็กมันจะแดงขึ้นมา แดงขึ้นมา ก็ต้องตีมันอีก ตีขึ้นมาเพื่อให้มันขึ้นรูปขึ้นมาว่าต้องการวัตถุสิ่งใด

นี่ก็เหมือนกัน ว่ามันร้อน มันเร่าร้อน เร่าร้อนเพราะความเพียรอย่างหนึ่ง ถ้าเร่าร้อนเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบีบคั้น มันไม่มีสิ่งใดเป็นความดีกับเราเลย ถ้ากิเลสมันบีบคั้นขึ้นมา มันมีแต่ความเร่าร้อน มันมีแต่ความทุกข์ มันมีแต่ตัณหาความทะยานอยาก มันมีแต่กากเมือง มันมีแต่เผา เร่าร้อนแล้วไม่มีอะไรเป็นประโยชน์กับเราเลย

แต่ถ้ามันเป็นความเพียรล่ะ ถ้าเป็นความเพียรมันทุกข์ร้อนไหม...มันก็ทุกข์นะ มันก็ทุกข์ร้อนเหมือนกัน แต่ความเร่าร้อนอันนี้มันมีประโยชน์ มันต้องมีของมัน ถ้าไม่มีของมันเราจะตีเหล็ก เหล็กดิบๆ อย่างนี้มันก็หักหมด มันก็แตกหมด มันจะมีประโยชน์อะไรล่ะ

จิตใจของเรานะ ทุกคนก็ว่าอยากได้ธรรม ฝืนทำกันไป ฝืนกันไป ทำกันไป ฝืนไปทำไปมันก็เหมือนกับเราลองตีเหล็กนี่แหละ ถ้าเหล็กไม่ได้เผาตีไปมันก็กระทบกระเทือนไปอย่างนั้น มันก็ตีเหล็กให้มันบุบบี้ไปอย่างนั้น นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน เราจะทำอะไรของเราขึ้นมา เราจะทำประโยชน์ของเราอย่างไรขึ้นมา ถ้าเราทำประโยชน์ของเรา เราจะมีความเพียร เราต้องขยันหมั่นเพียร เห็นไหม ถ้าเราขยันหมั่นเพียรขึ้นมา ทุกข์ไหม...ทุกข์

ทุกข์มันเป็นอริยสัจ ทุกข์มันเป็นความจริง โลกเขาก็ทุกข์กันนะ เกิดมาปากกัดตีนถีบ เพื่อความมั่นคงของชีวิต ทางรัฐบาลก็เพื่อความมั่นคงของโลก เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ ถ้าเป็นผู้นำที่ดี เขาก็นำพาประเทศนั้นไปประสบความสำเร็จ ถ้าผู้นำที่ไม่ดี เขาก็หาแต่ผลประโยชน์ของเขา ทิ้งแต่กากเอาไว้ให้เป็นหนี้เป็นสิน ให้ประเทศชาติต้องเป็นหนี้สาธารณะ แล้วทุกคนก็ต้องมาร่วมกันแบกรับภาระ

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเราเห็นไหม ถ้ามันเป็นความจริงมันก็เป็นความทุกข์ ความทุกข์เพราะอะไร..เพราะชีวิตนี้เกิดมาเป็นอริยสัจ เป็นความจริงอยู่แล้ว ทุกข์เป็นความจริง แต่ทุกข์เพราะอะไร...ทุกข์เพราะว่าถ้าคนไม่เข้าใจมัน มันก็แบกรับเห็นไหม แล้วก็เดือดร้อน เดือดเนื้อร้อนใจเพราะความทุกข์

แต่เราเข้าใจมัน มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงอย่างนี้ ของมันเป็นอยู่ แดดเห็นไหม การยืนอยู่กลางแดดมันก็ร้อน เราเข้าร่มมันก็เย็น นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมีชีวิต มีความรู้สึก มันก็รับรู้ทั้งนั้น เวลานั่งมันก็เจ็บปวดเมื่อยไปทั้งนั้น มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดา เราก็แก้ไขของเราจนเป็นความเคยชินเห็นไหม กิริยามันบังไว้หมดเลย เราเคลื่อนไหวตลอดเวลา เราเลยไม่เห็นว่าอะไรเป็นความทุกข์และความไม่ทุกข์ เพราะกิริยามันเคลื่อนไหว มันโดยสัญชาตญาณ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงเราก็ต้องเผชิญกับความจริงสิ แล้วเผชิญกับความจริง นั่งนานมันทุกข์ไหม...มันทุกข์ มันปวดมันเจ็บไหม...นี่มีสติปัญญาเข้าต่อสู้กับมัน ถ้าต่อสู้กับมันเห็นไหม โดยธรรมชาติของโลกเขา เขาหลบหลีกกันเป็นประจำ เขาหลบหลีกกันมาโดยสัญชาตญาณ โดยความเป็นไป โดยปัญญาของโลก

ดูสิทางการแพทย์ ช่วยเหลือเจือจานกัน เจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูแลกันไปบรรเทากันไปเฉยๆ มันแก้อะไรไม่ได้เลย เพราะอะไร ถึงที่สุดแล้วโรคชรา ถึงเวลาต้องตายแล้วโรคชรามันต้องตายไปข้างหน้าแน่นอน มันก็อยู่กันไปด้วยความไม่รู้ แต่เวลาเรามาปฏิบัติธรรม ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยเราเผชิญกับมัน อะไรเจ็บ อะไรไข้ อะไรป่วย มันมีสิ่งใดเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาไข้มันมาจากไหน เวลามันหายมันหายไปที่ไหน

นี่ไงเวลาครูบาอาจารย์อยู่ในป่าเห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ธรรมโอสถใส่กันเลย อะไรมันตายก่อน สุดท้ายเวลาจิตมันลง มันว่างหมด มันปล่อยหมดนะ ธรรมโอสถมันแก้ไขได้ ธรรมโอสถส่วนหนึ่ง ธรรมาวุธเป็นอีกส่วนหนึ่ง

ธรรมโอสถมันเป็นการบรรเทาความเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เวลาธรรมโอสถขึ้นมา ธรรมาวุธ อาวุธที่จะชำระกิเลส เห็นไหม มันต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วเรามารื้อค้นกัน ดูสิโลกเขาทำงานกันเห็นไหม เวลาทำงานของเขา เขาประสบความสำเร็จ เขามีตัวเลขขึ้นมา เขามีผลงานของเขา

เราทำสมาธิภาวนากัน เราจะมีผลงานของเรา เวลาศึกษาขึ้นมาเห็นไหม นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นทฤษฎีเท่านั้น มันเหมือนทางการช่าง เขามีแบบแปลน เขามีแผนผัง เขามีพิมพ์เขียว เพื่อจะสร้างบ้านสร้างเรือนของเขาขึ้นมา

แล้วถ้าเขามีแบบแปลนพิมพ์เขียวขึ้นมา ไอ้ช่างมันก็อ่านออกนะ เวลาพิมพ์เขียวที่มันละเอียดนะ ช่างของเราอ่านไม่ได้ ต้องจ้างคนเขียนอ่านนะ มันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง นี่ก็เหมือนกัน ทางโลกของเขา เขาได้สมบัติของเขามา เวลาทำของเขาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเขา แล้วเราล่ะ เราเป็นพระนะ เราเห็นภัยในวัฏสงสารใช่ไหม เราถึงได้มาบวชมาเรียนกัน พอบวชเรียนเป็นพระขึ้นมา เป็นพระขึ้นมาเพื่ออะไร เป็นผู้ประเสริฐ ประเสริฐที่ไหน

พระก็เหมือนกัน เวลาทางโลกเขาทำผลงานเอาความดีความชอบกัน เขาได้ตำแหน่งหน้าที่ได้เชิดหน้าชูตาเขา แต่ครูบาอาจารย์ของเราอยู่ในป่าเห็นไหม ผ้าขี้ริ้วห่อทอง! ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหมายเลยว่าเป็นพระดีพระไม่ดี แล้วทำไมเราเชื่อถือศรัทธากันล่ะ เชื่อถือศรัทธาเพราะอะไร เพราะเห็นว่าการไม่ยึดติดของท่าน เพราะท่านไม่ยึดติดแม้แต่ชีวิตนี้ก็ให้

แม้แต่ชีวิตนี้นะ อะไรตายก่อน เวลาภาวนาขึ้นมาอะไรตายก่อน ถ้าเราไม่ภาวนามันก็ตายอยู่แล้ว โลกนี้เขาอยู่กัน ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องตายไปทั้งนั้น แต่ตายไปโดยที่มีอะไรติดไม้ติดมือไปบ้างล่ะ ดูสิคนเกิดมา เกิดมาตายวันนั้นก็มี เกิดมาอายุ ๕ เดือน ๑๐ เดือนตายก็มี ๑๐ ปี ๒๐ ปี ตายก็มี คนหนุ่มคนสาวตายก็มี คนแก่คนเฒ่าตายก็มี มันตายทั้งนั้น มันตายเมื่อไหร่

ถ้าชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แล้วจะมีอะไรเป็นสมบัติของเรา สมบัติเห็นไหม ดูสิขนาดว่าทางโลกเรามีทรัพย์สินเงินทอง ทางทะเบียน ทางนิติกรรมต่างๆ เราเป็นเจ้าของหมดนะ สิทธิเป็นของเราหมดเลย ตายตูมไปเป็นของใครล่ะ ตายตูมไปแบบนี้เขาโอนหมดนะ ก็ตกเป็นของทายาท ถ้าไม่มีทายาทก็ตกเป็นของรัฐบาล

นี่ไงมันเป็นของใคร มันเป็นสมมุติขึ้นมาให้เป็นคติสังคมให้เขาอยู่กันได้ ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสัตว์สังคมใช่ไหม ในเมื่อสังคมเกิดขึ้นมาเอารัดเอาเปรียบใช่ไหม กฎหมายบังคับคนที่ทำผิดกฎหมาย แต่เราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราทำเป็นคนดี กฎหมายก็คือกฎหมาย กฎหมายบังคับต้องการให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมายขึ้นมา เราทำให้มีคุณงามความดีกว่านั้น เพราะเราเห็นแล้วมันสลดใจนะ

หลวงปู่พรมท่านเป็นนายร้อยนะ นายร้อยหมายถึงว่าท่านสร้างฐานะขึ้นมาจนมีฐานะ ที่เขาเรียกว่านายร้อย นายร้อยทางอีสานนี้เขาเรียกว่านายฮ้อย นายฮ้อยนี้เป็นผู้มีฐานะ ๒ คนตายายนะ “แล้วเราจะอยู่กันไปทำไม สมบัตินี้เป็นของใคร” ตกลงกัน ๒ คน แจกหมดเลย แจกชาวบ้านเขาไป แล้วสามีไปทางหนึ่ง ภรรยาไปทางหนึ่ง บวชเป็นพระบวชเป็นชี ออกประพฤติปฏิบัติกันไป หลวงปู่พรมสำเร็จ แต่แม่ชีสำเร็จหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ

นี่ไงอยู่กับเงินกับทอง นั่งเฝ้ากองเงินกองทอง แล้วก็นั่งคิดกัน ๒ คนตายาย “เราอยู่กันทำไม เงินทองมันก็อยู่นี้ เรานั่งเฝ้ามันอยู่ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ลูกหลานก็ไม่มี” ตัดสินใจก็เสียสละแจกหมด นี่จิตใจคนที่มีคุณธรรมเห็นไหม เงินทองมีมหาศาลแต่ไม่มีทายาท ไม่มีใครจะรับผิดชอบเลย แล้วทำอย่างไร ยังดีนะมีสติปัญญา ๒ คนตกลงกันว่าแจก ก็มาแจกด้วยกันเห็นไหม สมบัติหามาด้วยกัน เวลาแจก ๒ คนตายายก็แจกด้วยกัน มันไม่มีอคติในหัวใจ

ถ้าเราคิดหรือเราทำแล้วไม่เห็นสมควรต่อกัน เห็นไหม ถ้าคนหนึ่งทำ อีกคนหนึ่งก็ตรอมใจ อีกคนหนึ่งก็มีความคิดช้ำใจ เสียใจ แล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา แต่ ๒ คนตกลงกันว่าจะแจกด้วยกัน เราหามาด้วยกันแล้วเราก็แจกด้วยกัน มันไม่มีอะไรคาหัวใจ แล้วสุดท้ายออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

อยู่กัน ๒ คนตายาย เงินทองมหาศาลเลย แล้วมีความสุขไหมล่ะ เวลาออกบวชไปแล้วสามีไปทาง ภรรยาไปทาง หลวงปู่พรมท่านตามขึ้นไปอยู่กับหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ ธุดงค์ไป ตามไป เพศนักบวชอย่างเรา เราเข้าใจใช่ไหม เวลาเราออกธุดงค์มันทุกข์ยากขนาดไหน เวลานั่งเฝ้ากองเงินกองทองอยู่นะมันมีความสุขอะไร มันก็มีแต่ความเศร้าความเหงาหงอย

เวลาไปปีนภูเขา ปีนป่าปีนเขา มันมีความสุขมาจากไหน ทำไมเราอยู่กับเงินกับทองเราเศร้าสร้อยหงอยเหงาไม่มีความสุขเลย ทำไมเราเสียสละมันออกไป เราไม่มีอะไรแล้ว มีบริขาร ๘ แล้วเราเข้าป่าเข้าเขาไป เดินไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ หลวงปู่มั่นสอนประพฤติปฏิบัติ

ครูบาอาจารย์ท่านพูดอยู่ เพราะหลวงปู่พรมประสบการณ์ชีวิตท่านมีมาก ท่านเป็นนายร้อย ท่านเป็นพ่อค้า ท่านต้อนวัวต้อนควายจากอีสานมาขายทางภาคกลาง ท่านผ่านสังคมมาเยอะ ท่านเห็นคนมาเยอะประสบการณ์ของท่านเยอะ

เวลาท่านไปเห็นหลวงปู่มั่น นี่ครูบาอาจารย์ท่านเล่านะ “โอ้โฮ หลวงปู่มั่นมีชื่อเสียงคับประเทศไทย แต่ตัวเล็กๆ” หลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่ร่างกายสันทัด ตัวไม่ใหญ่มาก เพราะท่านมีประสบการณ์ทางโลกมากใช่ไหม โอ้โฮ ไปเห็นครั้งแรกท่านคิดในใจว่า “โอ้โฮ หลวงปู่มั่นมีชื่อเสียงคับประเทศไทย แหม ดูลักษณะแล้วก็ไม่ใช่คนตัวใหญ่ ตัวเล็กน้อย คนตัวเล็กนะ”

คืนนั้นหลวงปู่มั่นเทศน์ว่า “อย่าดูคนแต่ภายนอก! อย่าดูคนที่รูปร่างลักษณะ! ถ้าดูคนที่รูปร่างลักษณะเราจะประมาท” คนความจริงมันมีในหัวใจ จะรูปร่างเล็ก จะรูปร่างใหญ่ เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นคนรูปร่างเล็ก ดูรูปร่างเล็ก แต่หัวใจท่านไม่เล็ก หัวใจท่านใหญ่มาก หัวใจท่านครอบโลกธาตุ หัวใจท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ชักนำได้เห็นไหม นี่หลวงปู่พรมท่านผ่านทางโลกมาเยอะ ท่านเห็นของท่านมาเยอะเห็นไหม

เวลาท่านไปเจอหลวงปู่มั่นครั้งแรก นั่นมันคิดขึ้นมาในใจ มันไม่คิดไม่ได้เพราะประสบการณ์มันมีไง ประสบการณ์ของคนมันมี ประสบการณ์ของโลกมันผ่านมา แล้วพอมาดูแต่รูปร่างภายนอก พอไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรกเลย “มีชื่อเสียงคับประเทศไทย” เพราะทั้งชีวิตของท่าน ท่านก็ทำคุณงามความดีของท่าน บารมีธรรมของท่านครอบงำ ครอบหมดทั้งโลกธาตุ แล้วเวลาคนเข้าไปศึกษารูปลักษณ์ภายนอก แต่รูปลักษณ์ภายในล่ะ

ถ้าจิตใจเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราจะเอาอะไรไปวัดเกณฑ์ของท่าน แต่พอไปอยู่กับท่านท่านฝึกหัดขึ้นมา เวลาท่านให้บริกรรมขึ้นมา ท่านให้การบ้านมา นั่นนะรูปลักษณ์ ตอนนี้อยู่เลยเพราะเราทำไม่ได้ เวลาทางโลกมาเราก็ทำมหาศาล เงินทองอยู่กับมันมาจนวิตกวิจารว่า เงินทองเราอยู่กับมันด้วยความเศร้าสร้อยหงอยเหงานะ

เวลามันเอาจริงเอาจังกับตัวเองล่ะ เวลาจะประพฤติปฏิบัติล่ะ เวลาเอาจริงนะเอาจริงอย่างไร ทำให้มันเอาจริงขึ้นมา แล้วเวลาเป็นจริงขึ้นมาเห็นไหม เพราะทางโลกก็ทำมาแล้ว ทุกอย่างก็ทำมาแล้ว แต่หัวใจที่จะเอาให้อยู่กับเรา เราจะทำอย่างไร แล้วครูบาอาจารย์ท่านอุตส่าห์แสวงหา อุตส่าห์ดั้นด้นมา พอดั้นด้นมาเห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านก็ให้อุบาย

การให้อุบาย ให้วิธีการเสร็จแล้วให้ออก เพราะหลวงปู่มั่นท่านจะไม่ให้อยู่กับท่านมาก ท่านจะให้อยู่กับท่าน ๒ – ๓ องค์เท่านั้น ใครได้อุบายแล้วจะให้ออกไปธุดงค์บริเวณใกล้เคียงกัน พอบริเวณใกล้เคียงกันประสบการณ์จริงเห็นไหม มันอยู่ในธรรมชาตินะ เราอยู่ป่าอยู่เขา อยู่กับพวกชาวป่าชาวเขามันจะได้อะไรมา มันก็ได้แค่ประทังชีวิตเท่านั้น เพราะอะไร เพราะเรามีเป้าหมายกันใช่ไหม

เรามีเป้าหมายกันว่าเราจะพ้นจากทุกข์ แล้วอยู่กับกองเงินกองทองมา อยู่กับบ้านกับเรือนมา กองเงินกองทองมันให้อะไรเรา เวลาเรามาอยู่ในป่าในเขาเห็นไหม เราบิณฑบาตกับชาวป่าชาวเขามันได้อะไร มันก็ได้ข้าวไร่ไง เขามีสิ่งใดเขาก็ให้สิ่งนั้น บิณฑบาตอยู่อย่างนั้น ฉันอยู่อย่างนั้นเพื่อดำรงชีวิต เพื่อจะเอาตัวรอดให้ได้

เวลาเราอยู่กับความสุขสบายขึ้นมามันมีประโยชน์อะไรขึ้นมา เวลาไปอยู่ป่าอยู่เขาขึ้นมา มันอัตคัดขาดแคลนไปหมดเลย เวลาอัตคัดขาดแคลนไปหมด อัตคัดเพื่ออะไรเห็นไหม ดูสิเราถือธุดงควัตรกัน เราฉันมื้อเดียว เราฉันหนเดียว เราฉันภาชนะเดียวเพื่ออะไรล่ะ...ก็เพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่ให้มันแลบออกมา เวลากิเลสมันจะแลบออกมา นั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ไม่มีอะไรได้ดั่งสมใจเลย มันจะเอาแต่สิ่งดีๆ มาปรนเปรอมัน แล้วก็นอนเป็นหมูไง กรรมฐานนอนเป็นหมู!

เวลากรรมฐานจะสู้กับตัว มันจะทำอย่างไร มันก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่มีสติ สิ่งใดภาวนาแล้วมันไม่ได้ผล ตั้งแต่เช้าขึ้นมาวันนี้ฉันข้าวกับอะไร อาหารหนัก อาหารเบา พอฉันเสร็จแล้วไปนั่งสัปหงกโงกง่วง เวลาเดินจงกรมขึ้นมา ขาเดินไม่ได้เลย มันเป๋ไปหมด

แต่ถ้ามันอดอาหารล่ะ หิวไหม..หิว แต่ธาตุขันธ์มันไม่ทับจิตใช่ไหม พอธาตุขันธ์มันไม่ทับจิตการภาวนามันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาสิ่งที่เป็นประโยชน์เห็นไหม โลกเขาว่าข้าวของเงินทองของเขาเป็นประโยชน์ อยู่กับมันมาก็มีแต่ความทุกข์ เวลามาอยู่ป่าอยู่เขาขึ้นมา สิ่งใดได้มาก็เพื่อประทังชีวิต

แต่ถ้ามันมีอำนาจวาสนามีบารมีเห็นไหม มันพอใจ พอมันพอใจมันไม่เป็นภาระรุงรังเลย เช้าขึ้นมาเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ห่มจีวรกับสังฆาฏิซ้อนกัน แล้วออกไปบิณฑบาต ได้มากลางป่ากลางเขาก็ฉัน มันไม่มีอะไรเป็นเครื่องพะรุงพะรังเลย ถ้าหัวใจมันมีเป้าหมายที่เป็นจริงนะ

หัวใจมันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ธุดงค์ขึ้นมาเราจะได้อะไรมา ธุดงค์มาแล้วเราไปวางเป้าหมาย ธุดงค์แล้วเราจะสิ้นจากทุกข์อย่างนั้น มันหลอกไปหมดเลย มันจะได้อะไรก็ให้มันได้ในปัจจุบันนั้น มันภาวนาขึ้นมาจิตมันสงบขึ้นมา ให้มันรู้ว่ามันสงบขึ้นมา ถ้ามันไม่สงบขึ้นมาเราจะแก้ไขดัดแปลงของมันอย่างไร

มรรคผลของครูบาอาจารย์ ได้ฟังข่าวของครูบาอาจารย์ก็วางของท่านไว้ แล้วของเราล่ะ ของเรามีไหม ถ้าของเรามีขึ้นมามันก็เป็นอาหารของใจมา มันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจของเราขึ้นมา เราจะไม่ทุกข์ เราจะไม่ร้อน เราจะไม่มีอะไรบีบคั้นในหัวใจของเราขึ้นมา มันพอใจขึ้นมา มัชฌิมาปฏิปทาเกิดอย่างไร

ถ้ามันพอใจของมัน มันปฏิบัติของมันขึ้นมา แล้วเกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมา มันก็รื้อค้นของมันขึ้นมา เราจะอยู่เป็นสุขนะ มันสมบัติของใครก็เป็นของเขา สมบัติของครูบาอาจารย์ก็เป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ หมู่คณะอยู่ด้วยกันก็เหมือนกัน หมู่คณะอยู่ด้วยกันแต่มันไม่เหมือนกัน คนเหมือนคนแต่ไม่เหมือนคนเห็นไหม

คนเหมือนคนนะ คนเหมือนกันแต่อำนาจวาสนาบารมีสร้างมาอย่างไร ในหัวใจมันมีอะไรเป็นพื้นฐาน ถ้าคนมีพื้นฐานจิตใจเป็นสาธารณะ มันเห็นคนดีไปหมดแหละ มันมีน้ำใจเมตตา มันมีเห็นคิดแต่หัวอกคนอื่นไง แต่ของเราจะรวบยอดมาเป็นของเราหมดเลย อะไรก็จะรวบยอดเป็นของเราหมด มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ความเป็นไปได้คือมันมีค่าน้ำใจ ถ้าคนมีน้ำใจต่อกัน คนที่เจือจานต่อกัน ชื่อเสียงเกียรติคุณ ผู้เสียสละทาน ผู้ที่ให้ทานเห็นไหม ดูสิพระสีวลีที่ว่ามีทานมหาศาล ถ้ามีอะไรอดอยาก พระสีวลีไปจะไม่อดอยากเลย มันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากพระสีวลีท่านเสียสละของท่านมา ท่านทำของท่านมา มันเป็นการทำมา

อันนี้เราทำอย่างไรมาเราต้องพอใจสิ เราทำของเรามาอย่างนี้ไง ถ้ามันอัตคัด อัตคัดเพราะเราทำมาอย่างนี้ ถ้าเราจะมีอยู่บ้างแต่เราอย่าไปติดมัน พอมันขาดแคลนขึ้นมา พอเราอัตคัดมา พอมีสิ่งใดมา เพราะเราอัตคัดใช่ไหม ถ้ามีสิ่งใดมาเราก็ต้องให้มันพอใจเรา

เราอัตคัดมามันก็เป็นเพราะเราสร้างมา ถ้ามันได้สิ่งใดมา มันก็ได้ตามธรรมมามันก็ให้เป็นธรรม ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมานะ เราจะอยู่ ๒ คน ๔ คน ๘ คน ๑๐ คน ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมามันอยู่สุขสบายนะ

ถ้าไม่เป็นธรรมอยู่คนเดียวก็ไม่สบาย เพราะอะไร เพราะเราเอามาเราก็เก็บเอง ซ่อนเอง เร้นเอง แล้วมันก็ใช้เอง นี่ไงแม้แต่คนเดียวมันก็หลอกตัวเอง แม้แต่คนเดียวมันก็ทำให้ตัวเองไม่เป็นสุข ดูสิ ดูคนตระหนี่ถี่เหนียวดูมันเก็บของไว้นะ เก็บจนไม่รู้จักกิน ไม่กินเอง ไม่ใช้เอง เก็บซ่อนไว้แล้วไม่มีประโยชน์เลย!

แต่ถ้ามันเป็นธรรมเห็นไหม อยู่คนเดียวมันก็เป็นประโยชน์ เราอยู่คนเดียวเห็นไหม มันก็ตามธรรมวินัย อะไรที่ประเคนได้ประเคนไม่ได้ เก็บได้เก็บไม่ได้ เราไม่ได้เก็บเพื่อเรา เราเก็บเป็นของสงฆ์เห็นไหม กุฎีวัตร เขามีโรงเก็บเป็นกองกลาง มันก็เก็บไว้เป็นกองกลาง ใช้ด้วยกันอยู่ด้วยกัน ถ้าทุกคนมีหัวใจด้วยกันเห็นไหม

นี่ไงอยู่เย็นเป็นสุข ถ้ามันสุคโต ถ้าสุคโตเราเป็นสุขก่อน ถ้าสุคโตปัจจุบันนี้เป็นสุข ถ้าปัจจุบันนี้มันไม่เป็นสุข ว่าจะสุคโตแต่มันเร่าร้อน ทุกอย่างมันคิดของมันไป มันเผามันเองเห็นไหม

เวลาตบะธรรมเห็นไหม มันเผาเหล็กให้แดงแล้วตีเพื่อขึ้นรูปให้เป็นวัตถุสิ่งของ ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันเกิดขึ้นมากับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เพราะเรามาเพื่อดัดแปลงเรา เราจะมาแก้ไขนะ จิตนี้มันพาเกิด ปัจจุบันมาเกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วเห็นภัยในวัฏสงสารออกมาเป็นนักรบ ออกมาบวชเป็นพระกรรมฐาน พระกรรมฐานเห็นไหม กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เวลาเขาบวชเขาเรียนกัน เขาบวชมาเขาเรียนกันเอาทางวิชาการมา สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องไปเรียนกรรมฐาน

นี่ก็เหมือนกัน เราบวชมาเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราเป็นพระกรรมฐาน เราจะหาฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่ตั้งปฏิสนธิจิต ที่เกิด ที่ตาย ปฏิสนธิจิตมันเกิดในไข่ เกิดในน้ำคร่ำ เกิดในครรภ์ เกิดในโอปปาติกะ มันเกิดมาเป็นเราแล้วลืม หาไม่เจอ หาตัวตนไม่เจอ เจอแต่เป็นพระ ก. พระ ข. พระ ง. เจอแต่ชื่อสมมุติที่เขาตั้งให้ พ่อตั้งให้ แม่ตั้งให้ชื่อนี้

พอบวชเป็นพระก็ชื่อนี้ ฉายานี้อุปัชฌาย์ตั้งให้ แต่หาจิตตัวเองไม่เจอ หาความสงบสงัดของใจไม่เจอ หาไม่ได้ มันเลยไม่ใช่พระกรรมฐาน มันเป็นพระกรรมฐานแต่ชื่อ มันไม่เป็นพระกรรมฐานที่เห็นจิตของตัวเอง เห็นจิต เห็นปฏิสนธิจิต เห็นความเร่าร้อนของจิต

มีสติปัญญาขึ้นมาจากฟุ้งซ่าน แล้วมีสติปัญญาบริกรรมพุทโธ อานาปานสติ ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตสงบเข้ามา เห็นฐานที่ตั้งแห่งการงาน เห็นตัวเห็นตนเห็นเรานะ พ่อแม่ตั้งมาก็ชื่อนี้ มันก็ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อุปัชฌาย์ตั้งให้มันก็อยู่ในสำนักพุทธ เวลาเวียนตายเวียนเกิดมันไม่ลากสำนักพุทธไม่ลากกรมทะเบียนนี้ตายไปด้วย พอคนตายเขาก็จำหน่ายทิ้ง พอคนตายสำนักพุทธเขาก็คัดออก ไอ้จิตไปไหนมันก็ไม่รู้ แต่พอจิตเราสงบขึ้นมา เราไปเห็นจิตของเรา เราเข้าใจจิตของเรา ไอ้ชื่อที่สำนักพุทธ อยู่ที่สำนักพุทธมันก็เป็นชื่อสมมุติ ไอ้กรมทะเบียนมันก็เป็นชื่อสมมุติ เพราะมันจะเปลี่ยนเป็นชื่ออะไรก็ได้ แต่พอเราเจอเรานี่ ฮื่ม..

นี่พระกรรมฐานจริงๆ พอมันมีฐานที่ตั้งแห่งการงานเห็นไหม จิตสงบ มีปัญญาขึ้นมาใคร่ครวญของเรา ย้อนกลับมาดูเรา สุคโต ถ้าสุคโตนะ โลกมันเป็นอย่างนั้น ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ความจริงนะความจริงในสัจธรรมอย่างหนึ่ง โลกของเขาอยู่อย่างหนึ่งเห็นไหม

เวลาเราศึกษาธรรมกันเห็นไหม นั่นก็เป็นอนิจจัง นั่นก็เป็นอนัตตา โลกมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันเป็นอนิจจังเป็นอนัตตาที่ไหนล่ะ มันก็เปลี่ยนแปลงแบบวิทยาศาสตร์แบบที่เรารู้เราเห็น

แต่ขณะจิตที่มันเป็นอนัตตานะ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม เป็นสมาธิเสื่อมสมาธิอย่างใด เป็นสมาธิแล้วมันเสื่อมจากสมาธิไป เวลาเป็นสมาธิขึ้นมาเห็นไหม จิตใจมันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมัน เวลาจับต้องเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย เห็นต่างๆ มันฝึกจิต มันได้พิจารณาของมัน มันมีฐานที่ตั้งแห่งการงานเพราะจิตมันสงบ มันมีฐานที่ตั้ง มันเป็นพระกรรมฐาน แต่จิตมันไม่สงบ พอจิตไม่สงบนะ ห่วงเอา อยากได้เอา ตะครุบเอา นึกเอา จินตนาการเอา พิจารณากายๆ

ถ้ามันไม่จริง มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นแหละ ความคิดของเรา เราคิดมาหลายชาติแล้วไม่ใช่ชาตินี้หรอก เราคิดเราจินตนาการมามหาศาล แล้วชาตินี้ก็ยังมาอยู่ในร่องเดิมของมัน อยู่ในร่องของความคิด อยู่ในสัญชาตญาณของจิต มันก็คิดของมัน ธรรมชาติของมัน มันเป็นอย่างนั้น แต่เพราะเรามีสติมีปัญญานะ

เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เราบวชเป็นพระเป็นเจ้าแล้วเรามีสติ เราตั้งใจของเรา เรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนะ มันจะจริงไม่จริงเรารู้ของเรา ครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้แนะคอยบอก แต่ความจริงเราต้องประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาตามความเป็นจริง

ถ้าความเป็นจริงเกิดขึ้นมา มันมีความสงบร่มเย็นเห็นไหม นี่สุคโต เราอยู่กับข้อวัตรปฏิบัติ อยู่กับหมู่คณะ อยู่ก็เพื่อความร่มเย็นนะ เราเป็นพระด้วยกัน เราอยู่ด้วยกัน เราต้องมีเมตตาต่อกัน เพราะชีวิตเหมือนกันนะ เห็นไหม ดูสิ ทางโลกเขาเวลาเขาขัดสน เขายังจุนเจือกัน เขายังช่วยเหลือเจือจานกันด้วยค่าของน้ำใจ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีค่าของน้ำใจ เราจะดูแลกัน เราจะช่วยเหลือกัน เราเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกัน เราเป็นญาติกันโดยธรรม เกิดมามีปากมีท้องเหมือนกัน มีความปรารถนาเหมือนกัน อยากจะพ้นทุกข์เหมือนกัน ใครทำได้เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เราคุยกันโดยธรรมนะ เราคุยกันด้วยธรรม เราคุยเราปรึกษากัน เราจะคุยกันเรื่องว่า ใครตั้งสติ ใครทำสมาธิได้อย่างไร

เรามาปรึกษากัน คำว่าปรึกษาเห็นไหม เรายังมีกิเลส มีทิฐิมานะอยู่ อย่างใดถ้าลงกันไม่ได้อย่าโต้แย้งกัน เรานั่งอยู่นี่ หัวหน้ามี หัวหน้ามี ถ้าเป็นหัวหน้าเห็นไหม เพราะการเป็นหัวหน้าต้องรับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นจะขอนิสัยทำไม

เราขอนิสัยครูบาอาจารย์ทำไม...เราขอนิสัยเพราะเราต้องการได้นิสัยนั้นใช่ไหม นิสัยที่เราได้ขึ้นมา ๕ พรรษานี้พ้นจากนิสัยไป ถ้าพ้นนิสัยแล้วเราจะยืนตัวเองได้ เราบรรลุนิติภาวะ เราสามารถรักษาตัวเองได้เพราะอะไร ๕ พรรษาขึ้นไปส่วนใหญ่สวดปาติโมกข์ได้ สวดปาติโมกข์คือธรรมนูญของสงฆ์เห็นไหม สิ่งนี้เราจะรักษาของเรา ถ้ารักษาของเรา ผิดถูกเราเข้าใจได้เลย

ถ้าไม่สวดปาติโมกข์นะ เวลาเราศึกษากฎหมายก็อย่างนั้น แต่ถ้าเราเป็นนักกฎหมาย เราจะเข้าใจกฎหมายได้หมดเลย นี่ก็เหมือนกัน เราสวดปาติโมกข์ได้ อะไรได้เห็นไหม เราพ้นจากนิสัย ถ้าพ้นนิสัยไปแล้ว มันพ้นจากกิเลสไหมล่ะ..มันไม่พ้น แต่พ้นจากนิสัย นี่ไง ธรรมวินัย สมมุติบัญญัติ

ถ้าสมมุติบัญญัติมันบัญญัติไว้ให้สังคมของเราเห็นมนุษย์เกิดมาแตกต่างหลากหลาย มนุษย์เกิดมาจากพ่อจากแม่แตกต่างกันไป ความรู้ความเห็นมันต้องแตกต่างอยู่แล้ว ฉะนั้นมันต้องมีธรรมวินัยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นสมมุติบัญญัติ

แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นไปล่ะ สมมุติบัญญัติเพื่อให้สังคมมันร่มเย็นเป็นสุขเห็นไหม สิ่งใดถ้ามันทำออกนอกกรอบไปแล้วสิ่งนั้นไม่ดี เราต้องพิจารณา ทีนี้พิจารณาทุกคนพิจารณาก็เข้าข้างตัวเอง แต่ถ้ามันมีธรรมวินัยเห็นไหม พิจารณาแล้วมันต้องตามธรรมนั้น ถ้าตามธรรมนั้น เราจะดูแลกัน

เราอยู่ด้วยกันนะ ฟังธรรมเตือนสติ โลกเขาถึงเวลาแล้วเขาต้องทบทวนตรวจสอบกันเพื่อให้อย่าให้ใครออกนอกลู่นอกทาง ถ้าใครทุกคนไม่ออกนอกลู่นอกทาง ตรงต่อธรรม จะเข้าสู่สัจจะความจริง นี้เป็นข้อบังคับเห็นไหม

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปมันเป็นข้อเท็จจริงในหัวใจอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นนามธรรม นามธรรมคือความรู้สึก ความรู้สึกของคนมันแตกต่างหลากหลายมาก กว่าเราจะบังคับความรู้สึกของคนให้มีความเห็นเหมือนเรา มีความรู้เหมือนเรา มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทีนี้ความเป็นไปไม่ได้ มันเป็นกิริยา แต่ฐานของความรู้สึกอันนั้นเห็นไหม ฐานของความรู้สึกอันนั้น ฐีติจิต ทุกคนจริตนิสัยอย่างไรก็แล้วแต่ ปฏิบัติอย่างไรก็แล้วแต่ พอสงบขึ้นไป มันไปสู่ความสงบตามความจริงอันนั้น

แล้วเวลามันออกรู้นะ เวลาออกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม มันออกรู้ มันต้องรู้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ความจริง ความจริงมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียวนะ อริสัจไม่มี ๒ ไม่มี ๓ หรอก ไม่มีมาตรฐานโน้น มาตรฐานนี้หรอก มาตรฐานของมันก็คือมาตรฐานเดียวกัน

ขิปปาภิญญาผู้ประพฤติปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ผู้ปฏิบัติยากรู้ยาก จะยากขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ผลตอบสนองแล้วโสดาบันคือโสดาบันอันเดียวกัน ถ้าเป็นโสดาบัน แล้วถ้าพูดโสดาบันแตกต่างกันไป โสดาบันมันต้องมีคนผิดคนหนึ่งแน่นอน มันไม่ได้โสดาบันแตกต่างอย่างนั้นหรอก

โสดาบันมีหนึ่ง เพียงแต่ว่าจริตนิสัยเห็นไหม ดูสิเวลาเป็นพระโสดาบันขึ้นมาแล้วอำนาจวาสนาคนมันแตกต่างกันไป แต่ผลของมันก็คือผลของมัน ฉะนั้นอริยสัจมีหนึ่ง สิ่งที่มีหนึ่งมันมีอันเดียว มันมีมาตรฐานเดียว ถ้าเรามาคุยกันมันเข้าใจได้ การรู้ได้ไม่ต้องวิตกกังวล

ส่วนใหญ่แล้วเราวิตกกังวลว่าอันนั้นดีกว่าอันนี้ ทุกคนอยากได้อันที่ดีกว่าอันที่ไม่ดี แล้วนี่สิ่งใดที่มันดีกว่าหรือไม่ดีล่ะ ดูสิเวลาเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสโก เขาบอก “พระอรหันต์อย่างนี้พระอรหันต์แห้งแล้ง”...มันจะแห้งแล้งไปไหน ในเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วจะแห้งแล้งไปไหน

เวลาตำราเขียนออกไป มันก็เขียนออกไปด้วยความเห็นของคน ถ้าความเห็นของคนพอเราศึกษาขึ้นมา เราก็อยากจะได้อภิญญากัน อยากได้หูทิพย์ ตาทิพย์ อยากรู้ไปหมดเลย แต่ไม่อยากได้มรรคเลยนะ

ความเป็นมรรคญาณในหัวใจ หูทิพย์ ตาทิพย์ ไม่ใช่เรื่องของศาสนาเลย มันเป็นเรื่องอภิญญา แล้วในปัจจุบันเทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมา วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมานั้นตอบสนองได้หมดเลย เหาะเหินเดินฟ้า เขาไปอวกาศกันแล้ว เขาไปดาวอังคารกันหมดแล้ว เขาจะไปอยู่โลกใหม่กันแล้วนะ โลกนี้มันสภาวะโลกร้อน เขาจะไปอยู่ดาวอังคารกันแล้ว วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ จะไปอยู่ดาวอังคาร จะไปอยู่ดาวดวงไหนก็แล้วแต่ คนก็เกิดตายเหมือนกัน เกิดในมนุษย์นี้ มนุษย์นี้ก็อยู่ ๑๐๐ ปี เกิดไปอยู่ดาวดวงไหนก็แล้วแต่มันก็เกิดตายเหมือนกัน มันหนีพ้นไปไม่ได้หรอก

แต่สัจธรรมของเราทำได้ สัจธรรมของเราที่เราเห็นโทษในวัฏสงสารขึ้นมา เราพยายามของเราขึ้นมา เกลือจิ้มเกลือ จิตมันเกิดใช่ไหม จิตปฏิสนธิในครรภ์ ในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ ในเมื่อจิตมันเกิดมันต้องแก้กันที่จิตนั้น มันต้องแก้ไปสู่ความบริสุทธิ์อันนั้น

แล้วตอนนี้พุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ เรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ความสามารถเราจะมีพอหรือเปล่า เราจะมีความมุมานะมีความจริงพอหรือเปล่า ถ้ามีความจริงพอเห็นไหม ดูสิ ทุกคนบอกรักตัวเอง ทุกคนมันเป็นคนมีปัญญาทั้งนั้นนะ ทำไมทุกคนไม่มีปัญญาย้อนกลับมาดูตัวเอง ทำไมไม่มีสติปัญญา เวลาคุยโม้กัน โอ้โฮ ปัญญายิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์นะ แต่เวลาจิตของตัวมันไม่เห็นนะ

...คนภาวนาเป็น ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาตัว จะไม่ค่อยคลุกคลี เพราะการคลุกคลีมันทำให้จิตส่งออกแล้วมันกระทบ พอการผลกระทบเห็นไหม

ดูสิ การทำงานที่ละเอียดเห็นไหม เราต้องการมีสติ เราต้องการเวลา เราไม่ต้องการให้ใครรบกวนเรา แต่ถ้างานมันหยาบมันก็ยังพอทำได้ งานละเอียดเห็นไหม สติของเราเราต้องรักษาใจของเรา เราจะมีเวลาที่ไหน จะไปพูดคุยกับใคร เราจะมีเวลาที่ไหนไปสุมหัวกัน มันมาทำข้อวัตรเสร็จแล้วก็ต่างคนต่างแยกกันไป

พอต่างคนต่างแยกกันไปก็หาที่สงบสงัดของตัว แล้วรักษาจิตมันรักษาต่อเนื่อง เวลาจิตนะเวลามันได้ขึ้นมามันมีสติขึ้นมาควบคุมมัน พอมันเผลอนะมันเสื่อม พอมันเผลอมันเสื่อมเห็นไหม

เวลาเรามาฉันอาหารกัน เรามาทำข้อวัตรกันมันจะพยายามควบคุมไว้ มีสติรู้พร้อม รู้พร้อมไป หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงาน เพราะคนเราเกิดมามีปากมีท้อง คนเราต้องอยู่ต้องกิน พอคนหนึ่งต้องกินมันต้องมีข้อวัตร เพราะการอยู่การกินมันต้องอยู่กินที่ไหนล่ะ ก็อยู่ที่ศาลาเห็นไหม เวลาถ่ายก็ถ่ายในห้องส้วม วัจกุฎีวัตร มันต้องทำความสะอาด ต้องดูต้องแล

ไอ้นี่มันเป็นความจำเป็นมันเป็นข้อเท็จจริงของเรา มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็อยู่เราทำของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เพราะรักษาเราเห็นไหม อยู่ให้เป็นสุข สุข..สุคโตเห็นไหม อยู่ให้เป็นสุข ถ้าอยู่เป็นสุขนะ ข้างนอกไม่มีอะไรเป็นสุขกว่านี้หรอก

เห็นไหม คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า คนที่ทุกข์ยากก็อยากหาที่พ้นจากทุกข์ อยากจะพ้นจากทุกข์ ไอ้เราก็เห็นพ้นจากทุกข์เราก็มาบวชเป็นพระเป็นเจ้า พอบวชเป็นพระเป็นเจ้าโลกเขาอยู่อย่างไร ก็อยากจะออกไปอยู่อยากรู้เรื่องนอกโลกอีก

แล้วคนในอยากออกคนนอกอยากเข้า ไอ้เขาก็อยากจะหนีมาเพื่อจะเอาความจริงเข้ามา เรามาแล้วนะ เราเป็นพระแล้วนะ เราเป็นผู้นักรบ เราจะรบเอาชนะตัวเอง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้ว ชนะศึกหมื่นแสนคูณด้วยล้านคูณด้วยพัน สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้น

เวลาโต้เถียงกัน เวลาใช้ปัญญาโต้เถียงกันมันมีแต่เวรแต่กรรม แต่เวลาเราเอาชนะตัวเองเห็นไหม บังคับใจให้ได้ มีสติปัญญารื้อถอน รื้อค้น ถอดถอนกิเลสให้ได้ ถ้ารื้อค้นถอดถอนกิเลส อันนี้ต่างหากชนะตัวเองสำคัญที่สุด

เวลาบอกว่า มีการขัดแย้งกัน มีการโต้เถียงกัน ถ้าเป็นธรรม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เราจะหาความถูกต้องหาความดีงาม หาความถูกต้องความดีงาม มีเท่าไหร่นะต้องใส่ให้หมด เราจะไม่กั๊กไว้ไง ถ้าการกั๊กไว้เห็นไหม เราพูดไม่หมด

ส่วนใหญ่แล้วเวลาพูดธรรมะกัน บอกว่า “ยังพูดไม่หมดเลย ท่านด่วนตัดสินไปก่อน ความเห็นเราก็ยังมีอยู่” อ้างกันทั้งนั้น ความจริงมันก็คือความจริง เพราะความจริงเวลาพูดแล้ว ๑, ๒, ๓, ๔ มันเหมือนกันหมด เริ่มต้นก็ต้องมีรูปแบบเหมือนกัน จะมาทางไหน จะพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่ ๑, ๒, ๓, ๔ มันจะลงอันเดียวกันหมด แต่นี่คนที่มันบอกจะยักท่าโน้นจะกั๊กท่านี้ มันไม่จริงทั้งนั้นนะ ถ้ามันจริงทำไมไม่กล้าพูดออกมา ถ้ามันจริงเห็นไหม มันก็พูดออกมาสิ ถ้าพูดออกมาเห็นไหม ความจริงกับความจริง

คนที่เขาปฏิบัติมาถ้าความจริงเขาจะกล้าค้านความจริงไหม ใครจะกล้าค้านความจริง ใครจะบอกว่าแดดมันเย็น แดดมันจะให้ความร่มเย็นเป็นสุข แดดมันเป็นประโยชน์กับต้นไม้ เป็นประโยชน์กับการกรองแสง เป็นประโยชน์กับเรื่องความเป็นอยู่ของชีวิต มันก็ประโยชน์อย่างหนึ่ง แต่มันก็มีโทษกับคนที่ไม่ต้องการมัน มันมีคุณมีโทษทั้งนั้นนะ เราใช้ประโยชน์อะไรกับมัน

ชีวิตเราก็เหมือนกันนะ ปัจจุบันนี้เข้ามาสู่เป้าสูงสุดคือสมณะ เราได้เพศของสมณะมา เราเป็นนักรบ เรามีโอกาสทางกว้างขวาง ทางของพระเป็นทางกว้างขวาง เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ได้ เว้นไว้แต่จิตใจเราอ่อนแอ จิตใจเราท้อถอย จิตใจเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราก็ตีโพยตีพายโทษทุกอย่างไปหมดเลย

แต่ถ้าจิตใจเราเป็นสุภาพบุรุษนะ ไม่มีสิ่งใดบีบคั้นเราเลย ใจของเราต่างหากมันบีบคั้นเรา ที่ไหนมันก็มืดกับสว่างอย่างนี้แหละ ที่ไหนมันก็เป็นสัจธรรมอย่างนี้แหละ เพียงแต่เราเห็นธรรมความเป็นจริงไหม ถ้าเราเห็นธรรมความเป็นจริงเราจะแก้ไขเรานะ นี้คือการฟังธรรม การฟังธรรมบ่อยๆ เพื่อเตือนสติ การฟังธรรมบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เราเหมือนกับดินพอกหางหมู ให้กิเลสมันเกาะหัวใจ มันพยายามเกาะหัวใจแล้วมันบีบคั้น ต่อไปจะฟังธรรมไม่ได้นะ

พอเทศน์ขึ้นมา “อีกแล้วของเก่าๆ ไม่เห็นมีอะไรดีเลย” แต่ถ้าเวลากิเลสมันพอกหางหมูนะ กิเลสมันพอกหัวใจไว้นะ มันอั้นตู้ มันเอาหัวชนภูเขา มันมีแต่ความเศร้าหมองในใจ มันพอใจมันนะ เพราะมันสะดวกสบาย

แต่ฟังเทศน์คือการเคาะ การทำให้สิ่งที่มันพอกหัวใจนี้เบาบางลง กิเลสถ้าอะไรไปทิ่มแทงมันมันไม่พอใจทั้งนั้นนะ แต่ถ้าสิ่งที่ไปยกยอปอปั้นมันนะ มันจะพอใจมาก แต่ถ้าไปทิ่มไปแทงมัน ไปคอยเคาะให้มีสติปัญญา กิเลสมันเดือดร้อน พอกิเลสมันเดือดร้อนเราก็ว่าเราเดือดร้อนไปด้วย แต่ความจริงมันเป็นกิเลสเดือดร้อน เราจะมีความร่มเย็นเป็นสุขเราต้องมีสติปัญญา คอยฟังธรรมเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง