เทศน์บนศาลา

ศิลปะการหลบหลีก

๓ เม.ย. ๒๕๕๔

 

ศิลปะการหลบหลีก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม การฟังธรรมนี้แสนยากจริงๆ นะ ที่เราฟังกันอยู่ทุกวันๆ มันเป็นนิยาย ถ้าเป็นนิยายเราจะเข้าใจได้ ความเข้าใจของเราเพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องจินตนาการ เรื่องการศึกษา เรื่องความเข้าใจ มันทันกันได้

แต่เรื่องธรรมะนี้ ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลกหาฟังได้ยาก ทีนี้เราเกิดมาพบพุทธศาสนา เราเกิดมาเพราะเรามีบุญกุศล เราเกิดมาท่ามกลางกึ่งกลางพุทธศาสนา ถ้าไม่มีหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น ไม่มีครูบาอาจารย์ของเรา ใครจะรื้อค้นมา ปฏิบัติไปเถอะหัวชนฝาขนาดไหนมันก็แล้วแต่ความคิดของตัว

มันเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันก็เป็นความจริงธรรมะโกหกไง บอกว่าเป็นธรรมๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง แต่ธรรมของเราเป็นความโกหกแน่นอน เพราะพอเราไปรู้ไปเห็นขึ้นมา มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ เวลาใครปฏิบัติมาก็บอกว่า

“โอ้โห ปัญญาละเอียดมาก ปัญญาละเอียดมาก” ยังไม่ได้ปฏิบัตินะ แค่เริ่มต้น

ปัญญาของเรา ปัญญาที่เป็นการนึกคิดของเรา โดยสามัญสำนึกก็อย่างหนึ่ง พอเรามีความสำนึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เวลาเรามีความสำนึกตัวรู้จักนึกคิดขึ้นมา เราว่าปัญญานี้ละเอียดๆ ละเอียดเพราะอะไร ละเอียดเพราะมันยับยั้งตัวเราได้ไง แต่เดิมเราโดนความคิดเรากระชากลากถูไปทั้งนั้นนะ เราจะคิดสิ่งใด เราจะทำสิ่งใดเราว่าเราทำดีคิดดี แล้วมันมีทางวิชาการรองรับก็ยิ่งคิดว่าตัวเองคิดถูกเข้าไปใหญ่เลย พอว่าตัวเองคิดถูก คิดถูกอย่างไรล่ะ คิดถูกเพราะเราทำถูกต้องทางวิชาการ ถ้าทำถูกต้องทางวิชาการมันก็เป็นทางวิชาการ มันเป็นเรื่องความเข้าใจได้

แต่ทางวิชาการเราทำแล้ว เราได้ประโยชน์สิ่งใดล่ะ เราก็ได้ประโยชน์ว่าเราทำงานแล้วเราประสบความสำเร็จ แล้วประสบความสำเร็จแล้วเรารู้จักตัวเองไหมล่ะ เรารู้จักจิตใจของเราไหม มันก็ไม่รู้จักจิตใจของเราเลย จิตใจของเราเห็นไหม ทั้งๆ ที่ความรู้สึกนึกคิดออกมาจากใจของเรา

ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความรู้สึกนึกคิดใช่ไหม แล้วบวกกับทางวิชาการเข้าไป ทางวิชาการนี่เราเข้าใจเรารู้ได้ ถ้าคนมีความรู้ทางวิชาการ มันจะมั่นใจของมันนะว่าเราทำถูกต้อง ทำสิ่งใดเราก็ทำได้เต็มไม้เต็มมือ ทำสิ่งใดเราก็ประสบความสำเร็จ

แต่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นประสบความสำเร็จของโลกเขา เป็นความสำเร็จ ดูสิ เราไม่เกิดมา เขาก็มีคนทำหน้าที่อยู่แล้ว พอเราเกิดมาในหน้าที่นี้ เราก็ทำหน้าที่ของเราต่อไป เราตายไปหรือเราเกษียณอายุราชการไป มันก็จะมีคนทำหน้าที่ต่อๆ กันไปอย่างนี้ มันเป็นเรื่องอะไรล่ะ ก็เป็นเรื่องของโลกใช่ไหม แล้วเรื่องของเราล่ะ

เรื่องของเรา ปกติเราก็ใช้ชีวิตของเราชีวิตหนึ่ง แล้วเราก็จะตายไปข้างหน้า พอตายไปแล้ว เราก็เป็นชาวพุทธ เราก็เกิดตาย เดินไปส่งกันที่เชิงตะกอน แล้วก็ไปเศร้าโศกเสียใจกัน ถึงจะไม่ร้องไห้ ถึงเราจะเข้าใจพุทธศาสนาเรื่องสัจธรรม เราก็ไม่ร้องไห้ แต่เราก็มีความลังเลสงสัยว่า เรามาทำอะไรกัน ตามประเพณีจะได้บุญไม่ได้บุญก็ถามทุกที

“ทำอย่างนี้จะได้บุญหรือเปล่า? ทำอย่างนี้จะได้บุญหรือเปล่า? ”

นี่ไงมันก็เกิดความสงสัย ความสงสัยมันคืออะไรล่ะ ธรรมะมันแก้ตรงนี้ต่างหากล่ะ ธรรมะมาแก้ความสงสัย มาแก้ความเข้าใจของเรา

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยเวลาสร้างสมบุญญาธิการมา เกิดที่ลุมพินี “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” นี่เพิ่งเกิด แต่ด้วยบุญญาธิการ ออกรื้อค้นอยู่ ๖ ปี ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอยู่ มันก็เป็นความเห็นมุมมองทางโลก ทางวิชาการนี่แหละ เพราะว่าเราอยากพ้นจากทุกข์ใช่ไหม มีแรงปรารถนาว่าจะพ้นจากทุกข์ อยากจะได้โพธิญาณ ทุกข์มาก เวลาครองเรือนอยู่นี้ทุกข์มาก ดูสิ ต้องรับผิดชอบ ต้องอะไรต่างๆ มันแบกรับภาระไปหมด

แต่ถ้าเราเสียสละออกมาแล้ว เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะช่วยเหลือเจือจานสัตว์โลก เพราะเราก็ทุกข์มาก่อน เราอยากช่วยเหลือเจือจาน เป็นถึงกษัตริย์จะได้สถาปนาอยู่แล้ว ไปเที่ยวสวนไปเห็นยมทูต เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย “เราต้องเป็นอย่างนี้หรือ?” มันสะเทือนหัวใจจนออกบวช

ออกบวชแล้วศึกษาค้นคว้าเพื่อจะเอามาช่วยยกโลกทั้งหมดขึ้นไง เวลาศึกษาไป ปัญจวัคคีย์ตั้งแต่พยากรณ์แล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะทำนายว่า “เป็นศาสดาแน่นอน” คือออกบวชแน่นอน มีความมั่นใจมาตั้งแต่ต้น

แต่เวลาอุปัฏฐากอยู่ ก็อุปัฏฐากกันด้วยความรู้สึกนึกคิด มันก็เป็นทางโลก หวังเต็มที่เลยจะให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา เราจะได้มีทางออก เราจะได้เป็นไปได้ ทำไมปัญจวัคคีย์ไม่ปฏิบัติแข่งล่ะ

เพราะทางโลกเดี๋ยวนี้มีแต่การแข่งขันกัน ไม่ยอมรับกัน แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วสาวก สาวกะ อย่างเราจะทำอย่างไร เราจะดันของเราไปได้อย่างไร เราดันไปไม่ไหวหรอก เราดันไปก็อย่างที่ว่า เราปฏิบัติกัน เราเป็นสาวก สาวกะ เราดันกันไปก็เป็นจินตนาการของเรานี่แหละ แล้วเป็นนิยายด้วย เป็นสิ่งที่เขาแต่งมาเป็นเรื่อง เป็นโคลง เป็นกลอนขึ้นมา โอ้โห ซึ้งมากๆ แต่ความจริงเข้ามา มันเป็นเรื่องอะไรที่เรารู้ไม่ได้เลย

ฉะนั้นเวลาปัญจวัคคีย์รอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอเวลาทรมานตน ทรมานตนคือว่า เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร กิเลสมันอยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเราใช่ไหม กิเลสอยู่ที่ไหน เราก็ต่อสู้ทางนั้น พอต่อสู้ขึ้นมาทุกคนมันก็ต่อสู้ด้วยความรู้สึกนึกคิดกับร่างกาย กิเลสมันอยู่ที่เรา อดอาหารอดอะไรต่างๆ ทรมาน ทำทุกรกิริยาทั้งหมดเลย

มันไปไม่รอดนะ มันไปไม่รอดทั้งนั้น แต่ว่าปัญจวัคคีย์ส่งเสริมอยู่ เห็นถึงความเข้มข้น เห็นถึงการกระทำ เห็นถึงการปฏิบัติ อื้ม มันมีความหวังไง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบแล้วด้วยความรู้สึกของตัว เพราะมีบุญญาธิการ มันไปไม่ได้แล้ว เพราะทรมานตนกั้นลมหายใจจนสลบถึง ๓ หน

สลบก็คือตายนะ ถ้าคนสลบไปช็อกไปนี่ถ้าไม่ฟื้นขึ้นมาก็ตาย กั้นลมหายใจทุกอย่าง ทำทุกอย่างหมดแล้วนะ แต่ด้วยปฏิภาณด้วยบุญญาธิการของตัว “เราไม่มีทางไปแล้ว” คิดถึงโคนต้นหว้า เราต้องฟื้นฟูร่างกายก่อน อานาปานสติ แล้วฉันอาหารของนางสุชาดา เพราะนางสุชาดาก็มีเหตุการณ์ต้องไปถวายอาหาร ต้องถวายเพราะเขาถือของเขา

ปัญจวัคคีย์ไปเห็นเข้า ทนไม่ได้เลยนะ “นี่กลับมามากๆ” ทิ้งไปเลย นี่ความเห็นโลก ความเห็นเป็นโลกกับเป็นธรรม แล้วความเห็นเหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความเป็นผู้นำ มีเชาว์ปัญญามากกว่า ฉันอาหารของนางสุชาดาแล้ว คืนนี้จะนั่ง ถ้าไม่ได้ตรัสรู้จะยอมเสียชีวิตเลย ยอมตายเลย

นี่เอาเรื่องของหัวใจแล้ว เวลาอดอาหาร เวลาทำทุกรกิริยา มันเป็นเรื่องของร่างกาย เราดูสิ ความรู้สึกนึกคิดเรา เราทรมานร่างกาย มันไม่ทวนกระแสกลับไปที่ใจ เพราะมันส่งออก การกระทำของเราก็ส่งออก มันส่งออกมาจากความรู้สึกนึกคิด เวลาคิดถึงอานาปานสติ อานาปานสติมันเป็นอย่างไรล่ะ

อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้ากำหนดลมหายใจออก จิตมันไปอยู่ที่ไหนล่ะ มันเกาะลมไว้ มันไม่คิดถึงสิ่งใดเลย ขณะที่เกาะลมไว้จิตมันสงบเข้ามาเพราะอะไร เพราะคิดถึงโคนต้นหว้าที่เคยเกิดประสบการณ์มาแล้ว

คราวที่เป็นราชกุมาร เวลาจิตมันสงบแล้ว เงาของต้นหว้าไม่คล้อยตามไปเลย แล้วความสุขอย่างนั้นมันซาบซึ้งใจ ความสุขอย่างนั้นคิดถึงโคนต้นหว้า แล้วกำหนดลมหายใจ เวลาไปทรมานตน ไปทำทุกรกิริยามา ๖ ปี จิตใจมันมีกำลังของมันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่ถูกทางเท่านั้นเอง

พออานาปานสติ พอจิตเข้ามา เริ่มปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ มัชฌิมายาม จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะ พอสำเร็จแล้ว เราพูดตรงนี้บ่อยเพราะอะไร เพราะให้เห็นว่าโลกกับธรรมไง แล้วตั้งใจนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นปฏิบัติมาเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์กับโลกทั้งนั้น มาเพื่อประโยชน์ของโลกเลย แล้วตั้งใจเต็มที่เลย แล้วพอประสบความสำเร็จมันก็ต้องพอใจสิ

เรามีความรู้จริงแล้ว เราต้องการจริงแล้วเราจะไปช่วยโลกเลย กลับทอดอาลัยนะ เพราะโลกเขารู้กับเราไม่ได้ “จะไปสอนเขาได้อย่างไร?” เสวยวิมุตติสุขอยู่นะ แล้วมันลึกลับซับซ้อนจนจะสอนกันไม่ได้

แต่เวลาเราเรียนทางวิชาการกัน เราเรียนทางโลกกัน เราเรียนเรื่องปัจจัยเราเรียนกันขึ้นมา เรียนบาลีเรียนต่างๆ เราเข้าใจไปหมด เราเข้าใจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจด้วยทางวิชาการนะ แต่จริงๆ ไม่รู้หรอก จริงๆ ก็งง จริงๆ แล้วนิพพานมันเป็นอย่างไร ทางวิชาการแปลได้หมด เข้าใจได้หมด แต่มันเป็นอย่างไร?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จริงขึ้นมา เพราะเขารู้กับเราไม่ได้ ทอดธุระนะ แต่ถึงที่สุดแล้วเพราะอะไร เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมา พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกได้สร้างมาหมดล่ะ สร้างมาคือมันมีเบื้องหลังมา สร้างมาคือมันต้องมาเป็นแบบนี้ไง แต่มันต้องเป็นแบบนี้เพราะมีการสร้างมา

แต่ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาด้วยสิ่งใด ด้วยมรรคญาณ ด้วยมรรค ๘ นี่ไงนี่ศาสนาพุทธเรา

อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ มรรค ๘ สิ่งต่างๆ เป็นหัวใจที่เราจะรื้อค้นเข้ามาในหัวใจของเรา เราจะแก้ไขของเรา นี่ข้อเท็จจริงมันอยู่ที่นี่ ดูสิเวลามีการกระทำขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมา แล้วเขาจะรู้ได้อย่างไร ถึงสุดท้ายแล้วเล็งญาณนะ เล็งญาณต้องเอาคนที่มีวุฒิภาวะ คนที่มีหลักมีเกณฑ์ก่อน

ดูสิ อาฬารดาบส เพราะเคยทำสมาบัติมาด้วยกัน ก็ตายเสียแล้ว แล้วจะเอาใครดีล่ะ เอาปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากมา ๖ ปี ก็ทำความสงบร่มเย็นมาด้วยกัน ทำความสงบเพราะอุปัฏฐากอยู่ก็ปฏิบัตินี่ล่ะ เพียงแต่ว่าปฏิบัติไม่มีครูบาอาจารย์ ปฏิบัติอุปัฏฐากไปแล้วปฏิบัติของท่านไป จิตใจมันก็มีพื้นมีฐาน แต่มันก็มีพื้นมีฐานแบบโลกๆ นั่นแหละ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปเทศนาว่าการ ยังมีการต่อต้านยังมีอะไรอยู่ แต่ถึงที่สุดแล้วเพราะได้สร้างมาด้วยกันอยู่แล้ว “เธอจงเงี่ยหูลงฟัง เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” เทศน์ธรรมจักรไป พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ขึ้นมา มันรู้ได้ขึ้นมาเพราะใคร รู้ได้เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม รู้ได้เพราะความรู้จริงใช่ไหม แล้วปัญจวัคคีย์ก็ต้องมีอำนาจวาสนา ด้วยเชาว์ปัญญาของตัวมันถึงจะรู้ได้จริง ถ้ารู้ไม่ได้จริงนะมันก็เป็นเรื่องโลกๆ หลบหลีกไปอย่างนั้น มีการหลบการหลีกไป ยิ่งหลบหลีกขึ้นไป

ดูสิ ดูพระฉันนะ เป็นผู้ที่เอาม้ากัณฐกะออกมากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาออกมาบวชแล้ว ไปนั่งอยู่โอ่อ่ามากนะ แล้วบอกว่า “ฉันเป็นคนเอาพระพุทธเจ้าออกเอง” คือถือตัวถือตนว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเขาๆ มีปัญหาไปหมด ไปอยู่ไหนนะโอ่อ่ามาก ใครจะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องผ่านเขาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่พูดอะไรสักคำนะ

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานสั่งพระไว้เลยนะ สั่งพระอานนท์ไว้ พระอานนท์ถามเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์นี่คร่ำครวญเลยล่ะ

“สรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำอย่างไร”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ใช่สรีระของเธอ เป็นสรีระของชาวมัลละกษัตริย์เขา”

“ถ้าเกิดชาวมัลละกษัตริย์เขาถาม ข้าพเจ้าจะตอบว่าอย่างไร?”

“ถ้าชาวมัลละกษัตริย์เขาถามก็ตอบว่าให้ทำเหมือนกับจักรพรรดิ พันไว้ด้วยผ้าขาวแล้วใช้น้ำมันชุบแล้วพันด้วยผ้าขาวกี่ชั้นๆ บอกหมด”

“แล้วต่อไปถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ในศาสนานี้ก็ต้องเกี่ยวข้องกับผู้หญิง กับผู้ที่เข้ามาอุปัฏฐากในพระพุทธศาสนาให้ทำอย่างไร?”

“เธอไม่ควรพูดกับเขา”

“ถ้าจำเป็นจะพูดล่ะพระเจ้าข้า”

“เวลามีความจำเป็น อยู่ด้วยกันมันก็ต้องสื่อสารกัน ถ้าจะสื่อสารกับเขามันก็ต้องมีสติ ถ้ามีสติแล้วค่อยคุยกับเขา ตั้งสติไว้”

แล้วพระพุทธเจ้าสั่งมาจนถึงเรื่องพระฉันนะนะ บอกให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ ไม่ให้พระทั้งหมดคุยกับพระฉันนะ เพราะพระฉันนะดื้อมาก โอ่อ่า ถือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสมบัติของตัว เพราะออกบวชด้วยกัน เป็นคนเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมาบวช ให้ลงพรหมทัณฑ์ อย่าให้พระพูดด้วย ให้ยกออกจากหมู่ไปเลย

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พูดไหม เพราะมานั่งเฝ้าอยู่หน้ากุฏินะ ใครจะมาก็ต้องผ่าน พระอานนท์ยังไม่ทำเลย แต่พระฉันนะด้วยกิเลสตัณหาทะยานอยาก ด้วยความยึดมั่นถือมั่นของตัวว่าเป็นสมบัติของเขา เวลาบอกว่า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว บอกพระอานนท์ให้ลงพรหมทัณฑ์ พอลงพรหมทัณฑ์ยกออกจากหมู่ พอเสร็จงานแล้ว พระอานนท์ ประกาศลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ พระฉันนะเสียใจมาก เพราะว่าโอ่อ่ามาก ตัวเองถือหน้าถือตามาก ทีนี้พอลงพรหมทัณฑ์ใครๆ ก็ไม่พูดด้วย

เพราะสมัยพุทธกาล สมัยโบราณนะ เขาเป็นสุภาพบุรุษ สิ่งใดที่มันเป็นประเพณี ถ้าเขาไม่พูดด้วยนี่มันเสียหายมาก เข้าป่าไปเลยนะด้วยความเสียใจ พอเข้าป่าไป มันได้สำนึก พอได้สำนึกก็ไปประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติก็เพราะมีบุญไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวช ก็ออกมาด้วยแล้วเอาม้ากลับ เวลาตั้งสติพระฉันนะขึ้นมา พระฉันนะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้นะ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ดูความเห็นสิ ก่อนหน้านั้น คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสมบัติของเรา เราเป็นคนพาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมาบวชเอง พอพาออกมาบวชแล้วนะ ใครจะทำสิ่งใดก็ต้องผ่านเขาไง นี่ยึดมั่นถือมั่นเห็นไหม ความยึดมั่นถือมั่นว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสมบัติของเขา แต่เวลาเขาลงพรหมทัณฑ์แล้วเขาประพฤติปฏิบัติในป่า

พอมันสิ้นกิเลสกลับมา ตอนที่พระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์ก็เสียใจมาก เสียใจเพราะว่ามีความเสียหาย พอไปประพฤติปฏิบัติของพระฉันนะจนสำเร็จแล้ว กลับมาหาพระอานนท์ บอกว่า จะมาปลงอาบัติไง ลงพรหมทัณฑ์แล้วจะให้สงฆ์ประกาศขึ้นมา แล้วจะอยู่กรรม แล้วจะให้สงฆ์ยกเข้าหมู่ใหม่

พระอานนท์บอกว่า “ไม่มีอะไรต้องให้อยู่แล้ว เพราะเวลาพระฉันนะไปประพฤติปฏิบัติสิ้นเป็นพระอรหันต์แล้ว มันจบแล้ว”

จบ แต่ถ้าเราเป็นปุถุชน เรายังมีความกังวลในหัวใจ เราต้องเดินตามธรรมวินัย ถ้าเราเดินตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเราไม่เดินตามความเป็นจริงขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องโลกๆ

เรื่องโลกๆ โดยยึดมั่นถือมั่นว่าสมบัติของเขา แต่พระอานนท์ไม่เห็นยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดเลย พระอานนท์เปิดกว้างให้ทุกๆ คน พระอานนท์ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น นี่คือความเป็นประโยชน์นะ

โลกมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเราประพฤติปฏิบัติกัน เราต้องการความจริง ถ้าเราต้องการความจริง เราปฏิบัติจริง เราเกิดเป็นชาวพุทธพบพุทธศาสนา แล้วเรามีเจตนา มีความตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติ มันก็เหมือนนะ มันเป็นเวรเป็นกรรมของคน

ถ้าคนดี “กาในฝูงหงส์” เราบวชใหม่เราศึกษาใหม่นี้เหมือนกา กา โดยสัญชาตญาณ เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากใช่ไหม ดูอีกาสิ กามันเที่ยวกินสิ่งของที่มันพอใจ มันก็ว่าของมันไป แต่ “ฝูงหงส์” ถ้ากาในฝูงหงส์ หงส์คือครูบาอาจารย์ที่เราหาได้ ครูบาอาจารย์ของเราถ้าเป็นความจริง ท่านจะดูแลปกป้องรักษาเรา จากกาจะเป็นฝูงหงส์นะ

แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากนะ “หงส์ในฝูงกา” คำว่าหงส์ในฝูงกา เวลาเราบวชใหม่ ดูสิเรามีศรัทธามีความเชื่อ เวลาเราบวชขึ้นมา มันสะอาดบริสุทธิ์นะ สังเกตได้ไหมเวลาพระที่เขาบวชออกมาจากโบสถ์ เขาจะทำบุญกัน เขาบอกว่า “พระที่บวชออกมาจากโบสถ์ไม่มีอาบัติเลย” สดๆ ร้อนๆ เป็นภิกษุโดยญัตติจตุตถกรรม สดๆ ร้อนๆ เขาจะทำบุญนะ ดูสิออกจากโบสถ์ เขาจะใส่บาตรด้วยปัจจัยต่างๆ เขาอยากจะทำบุญกัน นี่ด้วยความเชื่อของโลกเขา

ฉะนั้น ถ้าเราบวชออกมาด้วยญัตติจตุตถกรรมออกมาเป็นพระ มันก็มีศักยภาพ เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นหงส์ แต่ถ้าเรามีบาปมีกรรมด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราเป็นหงส์ใช่ไหม แต่เราเชื่อกา เชื่อกาคือผู้นำไง ถ้าผู้นำไม่มีหลักเกณฑ์ในหัวใจนะ มันเหมือนกา!

กามันเอารัดเอาเปรียบ ยิ่งกาเหว่านะดูสิ มันเอาไข่ไปให้คนอื่นฟัก ทุกอย่างมันทำอะไรไม่เป็นเลย แต่มันอาศัยเขาดำรงชีพ แล้วถ้ามันเป็นหงส์ในฝูงกาล่ะ มันก็เป็นเวรเป็นกรรมของคน ฉะนั้นถ้าเราเป็นความจริง เราประพฤติปฏิบัติ “กาลามสูตร” เราต้องทำความจริงของเรา

เรามีความจริงของเรา เราเข้าเผชิญกับความจริงของเรา เราไม่หลบไม่หลีก ธรรมะหลบหลีก มันจะหลบจะหลีกของมัน เพราะการหลบหลีกคือเราไม่เอาจริงเอาจังของเรา เราจะได้สิ่งใดเป็นประโยชน์กับเราล่ะ มันจะไม่ได้สิ่งใดมาเป็นประโยชน์กับเราเพราะเราหลบเราหลีกของเรา

ความหลบหลีกนี้มันหลบหลีกโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก หรือหลบหลีกเพราะว่าด้วยเชาว์ปัญญาที่เราไม่รู้จริงล่ะ

การหลบหลีกเห็นไหม ดูสิ เวลาเราปฏิบัติกัน เราอยู่กับครูอยู่กับอาจารย์ ถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริง เราจะได้ความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเราอยู่กับครูบาอาจารย์แต่เราไม่ได้ปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา แต่เราอยู่กับครูบาอาจารย์เห็นไหม มันเหมือนกาเกาะภูเขาทองนะ

อีกาเกาะภูเขาทอง ภูเขาทองใครก็กราบไหว้ ภูเขาทองเขาใส่พระบรมสารีริกธาตุ ทุกอย่างเขากราบไหว้เชิดชูบูชา แล้วเราเป็นอีกาไปเกาะอยู่ แล้วก็คอยหลบคอยหลีก มีศักยภาพคิดว่าตัวเองเป็นหงส์ คิดว่าตัวเองเป็นทอง ทองก็คือสีทองคำ แต่อีกามันสีดำ มันไปกันไม่ได้หรอก ฉะนั้นสิ่งที่มันหลบมันหลีก มันหลบหลีกอยู่กับครูบาอาจารย์ที่มีศักยภาพ ที่มีชื่อเสียงขึ้นมา มันก็มีศักยภาพขึ้นมาด้วย ฉะนั้นปฏิภาณของการหลบหลีก ถ้ามันหลบหลีกขึ้นมา เวลามันแสดงธรรมขึ้นมามันจะมีเชาว์ปัญญาได้ไหม มันมีเชาว์ปัญญาได้เพราะอะไร เพราะว่า “กาเกาะภูเขาทอง”

นี่ก็เหมือนกัน เพราะเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ แต่ความหลบหลีกมันทำให้กิเลสหน้าด้านนะ กิเลสมันเป็นกิเลสอยู่แล้ว ฉะนั้นยิ่งเข้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่มีศักยภาพเป็นสิ่งที่เชื่อถือ มันยิ่งเกิดทิฏฐิมานะขึ้นมา มันยิ่งหน้าด้าน การแสดงออกของกิเลส เวลามันแสดงออกมา เวลาพูดธรรมขึ้นมานี่มันเหมือนเลย มันเหมือนเพราะเราอยู่กับครูบาอาจารย์มาใช่ไหม เราจะแสดงสิ่งใดเราก็แสดงได้เหมือนเลย แล้วเลวทรามกว่า เลวทรามกว่าเพราะมันหลบหลีก พอมันหลบหลีกขึ้นมาเพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ

แต่การแสดงออกมาตัวเองก็รู้ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านพูดว่า

“ฟังจนชินหู พูดจนชินปาก แต่ใจมันด้าน”

ถ้าใจมันด้านก็เพราะเก็บความด้านนั้นไว้ในหัวใจ แล้วแสดงธรรมะออกไปนะ นี่ไง ศิลปะในการหลบหลีก ถ้ายิ่งหลบหลีกเข้าไป มันยิ่งทำให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากยิ่งถลำลึกเข้าไป ยิ่งถลำลึกขนาดไหน มันก็สร้างแต่ปัญหา แล้วปัญหาของใคร? มันก็สร้างปัญหากับหัวใจนั่นล่ะ

หน้าไหว้หลังหลอก! เวลาต่อหน้าทำเป็นมีความสุขความรื่นเริง แต่ในหัวใจมันเศร้าหมองนะ ความจริงมันคือความจริง! ดูสิเวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาในร่างกายของเรา เวลาไข้ขึ้นมาตัวร้อนขนาดไหนมันเป็นไข้ขึ้นมา เวลาคนไข้ขึ้นมากๆ เขาต้องใช้ผ้าชุบน้ำเย็น แล้วให้ร่างกายมันได้ผ่อนคลายไข้ออกไปนะ

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจมันมีของมัน ถ้ามันหลบหลีกเห็นไหม นี่อีกามันเกาะภูเขาทอง มันอาศัยสิ่งนั้น นี่ไงกาในฝูงหงส์หรือหงส์ในฝูงกาล่ะ เพราะมันเป็นไปได้ทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถ้าครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ ไม่มีหลักเกณฑ์ในหัวใจเลย

หงส์นะ พระบวชมาดีๆ เป็นผู้ที่ใฝ่ดีนะ มันชักนำกันไปจนเสียหาย นี่คือกาในฝูงหงส์ ครูบาอาจารย์เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นหงส์ แต่เราเป็นกา เราจะแก้ไขของเราอย่างไร ถ้าเราทำความเป็นจริงของเราขึ้นมา เราจะเป็นความจริงของเราขึ้นมาได้ เราจะไม่หลบไม่หลีกนะ

ความหลบหลีก เพราะมันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็น ๑ เพราะว่าเราปฏิบัติแล้วมัน ปฏิบัติไม่ได้ เราปฏิบัติแล้วมันไม่เข้าถึงสัจธรรมอันนั้น เราไม่ใช่หลบหลีก แต่มันไม่รู้ไม่เห็น แต่สิ่งนี้ถ้าเราพยายามของเรานะ ภพชาติจะสั้นเข้า ปฏิภาณไหวพริบมาจากไหน คนเราที่มันมีความฉลาดแหลมคม มันมาจากไหน?

ความฉลาดแหลมคมก็เกิดจากการทำสมาธิภาวนานี่แหละ เราทำสมาธิภาวนา ถ้าไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันจะเป็นพันธุกรรมทางจิต มันได้ตัดแต่งของมัน มันได้แก้ไขของมัน ถ้าได้ตัดแต่งแก้ไขของมัน เราพยายามจะทำภพชาติให้สั้นเข้า เราพยายามของเรา ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สร้างคุณงามความดีขนาดไหน

ดูสิในทศชาติ ๑๐ ชาติ พระเตมีย์ใบ้ เวลาแกล้งเป็นใบ้ เขาตัดหู ตัดจมูก ตัดทุกอย่างเลย เพราะอะไรเพราะมันมีคู่เวรคู่กรรม คู่เวรคู่กรรมเพื่อสร้างบารมีมา พันธุกรรมของจิตมันได้แต่งมา มันได้สร้างมา แล้วของเราล่ะ เราทำมาขนาดไหน แต่ในปัจจุบันนี้เรามีความศรัทธา มีความเชื่อของเรา เราต้องพยายามมีขันติ มีความอดทน มีการกระทำของเรา

ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา มันจะไม่หลบไม่หลีก มันจะซื่อตรง คนเรานะถ้ามีความซื่อตรง มีความเป็นสุภาพบุรุษขึ้นมา มันจะเข้าไปสู่ความจริงนั้น กิเลสมันคอยเอารัดเอาเปรียบจิตใจเราอยู่แล้ว แล้วเราทนกับสิ่งเร้าของกิเลสไม่ไหว หลบหลีกไปมันทำให้กิเลสยิ่งหน้าด้านนะ ยิ่งหลบหลีกขนาดไหนมันยิ่งทำให้กิเลสของเรามันพองตัวขึ้นมา

เราปฏิบัติกันเพื่ออะไร เราปฏิบัติกันเพื่อชำระกิเลสใช่ไหม แต่ถ้ามันชำระกิเลสได้ เราไม่หลบหลีก เราเผชิญหน้ากับมันเลย ถ้าเผชิญหน้า ดูสิ พุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เราต้องเผชิญหน้ากับมัน เราไม่หลบหลีก มันจะมีความทุกข์ความยากขนาดไหน เราก็ต้องสู้กับมัน

เพราะโลกเขาก็ทุกข์ก็ยากของเขา โลกเขาทำของเขา เขาก็ทุกข์ยากของเขา เราเกิดมา “ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง” แต่เพราะมันเป็นความพอใจ เราก็ว่ามันเป็นความสุข ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วก็ทุกข์ดับไป มันมีอะไรที่เป็นแก่นสารมีความจริงอยู่บ้างล่ะ มันไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเป็นความจริงเลย

แต่ด้วยการเกิด ด้วยผลของวัฏฏะ ด้วยการเกิดของบุญกุศล ด้วยเกิดเป็นมนุษย์ มันยังมีกฎหมายรองรับ ถ้าเกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นเปรตเป็นผีมันก็เป็นอีกสถานะหนึ่ง

ในปัจจุบันธรรม ปัจจุบันนี้เราเป็นมนุษย์ แล้วมีสติปัญญา เชื่อมั่นในสัจธรรม ในเมื่อโลกมันซ้อนกันอยู่ ธรรมกับโลกมันอยู่ด้วยกัน เรื่องของโลก โลกเขาต้องมีความมั่นคงในชีวิต เขาทำของเขา เขามีสิ่งใดเพื่อความมั่นคงของชีวิต มั่นคงขนาดไหน มันสู้สัจธรรมไม่ได้ ถ้าเรามีสัจธรรมขึ้นมา เราจะมีจุดยืนมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรามีจุดยืนของเรามากขึ้นมา เรามีสติปัญญาของเรา งานภายในไง งานของเราคืองานอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายนอก ทรัพย์สมบัติหากันมาก็ยากแค้นสนเข็ญอยู่แล้ว เรื่องการหาทรัพย์นี่

การหาทรัพย์ หาทรัพย์มาทำไม เวลาเป็นหนี้ ถ้าเรามีทรัพย์ขึ้นมา เราก็ปลดหนี้เรา เวลาทุกข์ ทุกข์ด้วยความเป็นหนี้ ทุกข์ด้วยความอยากหายจากการเป็นหนี้ ทุกข์ขึ้นมาเพราะมีข้าวของเงินทองจะต้องรักษา แต่ถ้าเรามีความดำรงชีวิตของเราได้ แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา นี่ไงเราตั้งสติของเราขึ้นมา อ๋อ.. สติเป็นแบบนี้ เวลาจิตสงบขึ้นมา จิตสงบมันเป็นแบบนี้

ในปัจจุบันนี้นะ เราเลินเล่อกันจนว่า สติ สมาธิหรือปัญญานี้ บอกว่ามันจะเป็นเองๆ โดยธรรมชาติของมันเลย เห็นไหม หลบหลีกจนจิตมันด้าน พอจิตมันด้านแล้ว มันก็จะเคลมเอาว่าสิ่งใดเป็นธรรม เพราะอะไร เพราะศิลปะในการหลบหลีก มันหลบไปหลีกมา นี่! หงส์ในฝูงกา

ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์อย่างนั้น ที่บอกว่า “สิ่งใดจะเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องมีการกระทำ ทำให้มันทุกข์ทำไม เพราะยิ่งทำก็คือการทุกข์”

อ้าว.. ถ้ามันทำแล้วเป็นทุกข์ขึ้นมา แล้วทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ล่ะ

“ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นิโรธเกิดจากมรรคญาณ “

แล้วทุกข์ไม่ควรกำหนดมันจะไปจบกันที่ไหน ทุกข์ไม่กำหนด เราไม่มีโจทย์ เราไม่มีสิ่งใดเลย เราไม่มีการกระทำอะไรเลย แล้วมันจะทำสิ่งใดขึ้นมาให้เป็นผลมาตอบโจทย์นั้นล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้มาจากไหน? แล้วสิ่งที่เป็นอยู่นี้มันทุกข์กันที่ไหน นี่ไงเรื่องของโลกเขา “ทุกข์.. ทุกข์เพราะเราขาดแคลน ทุกข์เพราะเราไม่มี” ก็แสวงหากันมาจนท่วมท้น แล้วมันหายทุกข์ไหมล่ะ มันหายทุกข์ได้หรือเปล่า มันก็มีทุกข์อันอื่นต่อไป

ทุกข์อย่างหยาบ ทุกข์อย่างกลาง ทุกข์อย่างละเอียด ทุกข์มันก็มีของมันตลอดไป คนขัดสนเงินทองก็บอกว่า “ถ้าเรามีเงินทองก็จะมีความสุข” แสวงหามาจนมีเงินทอง “ถ้าเรามีมากกว่านี้จะมีความสุข” แสวงหามามากจนไม่มีที่จะเก็บ “ถ้ามีล้นฟ้าแล้วมันจะมีความสุข” นี่ไง ที่ไหนมันจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ล่ะ

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราไม่หลบไม่หลีกนะ เราตั้งสติของเรา พุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ถ้าไม่หลบไม่หลีกมันจะเข้าสู่สัจธรรม เพราะหลบหลีกมันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็น ๑ คือโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากพาหลบหลีก แล้วเราก็ร่วมมือด้วยไง พอเราร่วมมือด้วย แสดงว่าเราทำลายตัวเรานะ เพราะเราบวชมาเพื่อสิ่งใด เราบวชมาเพื่อสัจธรรม เพื่อคุณงามความดี เพื่อความจริง

ถ้าเราหลบหลีก หลบหลีกนั้นมันทำลายเรา ทำลายเราเพราะอะไร เพราะชีวิตของเรา ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ทุกคนต้องตายไป แล้วถ้าเราปฏิบัติตามความเป็นจริง เราจะได้สมบัติตามความเป็นจริง ถ้ามันปฏิบัติแล้วไม่พบไม่เห็นใช่ไหม เวลาจะฆ่ากิเลสต้องเผชิญหน้ากับกิเลส ขุดคุ้ยหามันด้วยสัมมาสมาธิ ขุดคุ้ยหามันแล้วพิจารณามัน จนถึงจะชำระมันเป็นขั้นเป็นตอนขันไป

แต่ถ้าเราไม่เจอ เราทำของเราไม่ได้ เราก็ไม่หลบหลีก เราก็พยายามทำความสงบของใจ เราก็พยายามสร้างจิตใจมาให้มีเชาว์ให้มีปัญญา มีเชาว์มีปัญญาเพราะเหตุใด?

“ทำบุญร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง

เราถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำจิตให้สงบหนหนึ่ง

เรามีความสงบร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับเราเกิดปัญญาหนหนึ่ง”

ดูสิเราทำบุญร้อยหนพันหน กับเราถือศีลให้เป็นปกติหนหนึ่ง แล้วศีลของเรามันเกิดสมาธิขึ้นมา เพราะมันเป็นความจริงอย่างนี้ เพราะมันมีศีลมีธรรมเกิดขึ้นมาในหัวใจ มันจะไม่หลบหลีก

สิ่งที่หลบหลีก หลบหลีกเพราะสิ่งใด หลบหลีกเพราะมันมีกิเลสในหัวใจ หัวใจมันปลิ้นปล้อนมันหลอกลวงเรา ดูสิ หงส์ในฝูงกา เวลากามันหลอกเราล่ะ เวลาครูบาอาจารย์เขาหลอกเรานะ เขาพูดปลิ้นปล้อน เขาพูดของเขาไป แต่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ แต่ถ้าหงส์มันมีสติปัญญานะ มันจะรู้เลยว่า หงส์กับกาเวลามันขันจะไม่เหมือนกัน มันร้องไม่เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดแล้ว สัจธรรมมันคือสัจธรรม สัจธรรมมีหนึ่งเดียว เวลาพูดแสดงออกมันจะเป็นหงส์หมด มันจะพูดออกมาเหมือนกันเลย ถ้ามันเหมือนกัน เรามีสติปัญญาของเรา เราพิจารณาของเราได้

เราทำความเป็นจริงของเรา เรามีครูบาอาจารย์ที่ดี เราทำของเรานะ อำนาจวาสนาถ้ามันเป็นอย่างนี้ก็วางไว้ หนึ่ง แต่เราจะไม่ทำให้กิเลสมันพอกพูนขึ้นมา เราจะไม่หลบหลีกจนจิตใจมันด้าน เวลาจิตใจมันด้านแล้วมันอ้างธรรมนะ เพราะอะไร เพราะกามันเกาะภูเขาทอง แล้วบวชเป็นพระนะ

ประเพณีวัฒนธรรม เขาบอกว่ามีพระเขาจะยกไว้ อย่างไรก็แล้วแต่ พระท่านศีล ๒๒๗ ข้อ ศีลท่านมากกว่า ทุกอย่างมากกว่า เขาจะยกไว้ พระเราก็เลยทำหลบหลีก กิเลสมันหลบหลีก ไม่เคยทำความสงบของใจ ไม่เคยได้เห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา มันเลยสนุกของมันไง มันสนุกเพราะว่า สังคมเขายอมรับ สังคมเขาเชื่อถือ

แต่ถ้าเราจะเอาความจริง เราเกิดมาเป็นชาวพุทธพบพุทธศาสนา แล้วเราออกบวชเพื่อจะชำระกิเลส เราจะต้องมีสัจจะ ถ้ามีสัจจะ มันก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ตัวศีลนี่แหละ ตัวสำคัญ เพราะตัวศีลเห็นไหม เวลาคนภาวนาพุทโธๆ นะ ถ้ามันผิดศีล เราพุทโธๆ ศีลมันจะบอกว่า “เรานี่โกหกตัวเอง เราทำเป็นปาจิตตีย์ ทุกกฎปาจิตตีย์ นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์” มันจะรู้ของมันนะ

ถ้ารู้ของมัน ถ้าคนซื่อสัตย์ ไม่หลบไม่หลีกนะ เวลาเดินจงกรมมันก็บอก “เอ็งโกหกตัวเอง” เพราะไอ้ตัวนิวรณธรรม ความนิวรณ์มันเป็นความกังวล นั่งอย่างไรก็ไม่สงบหรอก ถ้าเราคนมีสติเราคนฉลาด เราจะบอกเลย อันนี้เป็นความผิด ถ้ามีพระเราจะปลงอาบัติ ถ้าเป็นกลางคืน มันเป็นตอนเที่ยงคืน ตี ๑ พระเขาก็จำวัดกันอยู่ ถ้าเราจะปลงอาบัติ อย่างนี้จิตใจมันก็ดีขึ้น แล้วถ้าพูดถึงถ้าเป็นกลางวัน ถ้าเป็นสิ่งใดเป็นกังวลนะ ปลงอาบัติทันที

พระเราเวลาปฏิบัติกันเขาทำกันอย่างนั้น เวลาทำเป็นความผิดเป็นอะไรต่างๆ มันรู้อยู่ว่าเป็นความผิด พอรู้ว่าเป็นความผิดปั๊บ ใจนี้รวนแล้ว ไม่เป็นปกติแล้ว แต่ถ้าเราไม่มีความผิดเลย จิตใจมันมั่นคง พอจิตใจมันมั่นคงเราจะกำหนดพุทโธก็ได้ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ แล้วเราตรึกในธรรมก็ได้ ธรรมารมณ์ เราตรึกในธรรมขึ้นมาเพื่อฝึกหัดหัวใจ ถ้าฝึกหัดหัวใจ เราไม่หลบหลีกสิ่งใดเลย เราจะเผชิญกับความจริง ความจริงมันคืออะไร ความจริงมันคือความรู้สึกเรานี่แหละ ความรู้สึกที่มันเป็นปกติ ความรู้สึกของเราที่มันฟุ้งซ่าน ความรู้สึกของเราที่มันเกิดจากใจนี้

การประพฤติปฏิบัติคือการควบคุมใจของเรา การประพฤติปฏิบัติคือต้องการรื้อถอนกิเลสในหัวใจของเรา เพราะในหัวใจของเรามันเป็นความรู้สึกของเรา มันเป็นคุณสมบัติของเรา มันพาเรามาเกิดแล้วเราก็หลงตัวเราเอง ไปมองแต่โลกธรรม ๘ มองแต่สิ่งรอบข้าง มองแต่ปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ไม่เคยมองความรู้สึกอันนี้ที่มันมีคุณค่าเลย ดูสิเราเป็นพระ เรามีบริขาร ๘ โยมนะเขามีเครื่องอาศัยของเขา เราก็ไปมองกันว่าสิ่งที่เป็นเครื่องอาศัยจะเป็นแฟชั่น จะมีความสวยความงาม จะมีคุณสมบัติดีเลิศ แต่ลืมตัวเองหมดเลย

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา มันจะมองกลับมาที่ใจของเรา สิ่งนี้เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยเท่านั้น พระเรามีบริขาร ๘ ถือผ้า ๓ ผืน ฉันมื้อเดียวอะไรต่างๆ การฉันมื้อเดียว ในการประพฤติปฏิบัติ เราไม่หลบไม่หลีกสิ่งใดเลย เราจะสู้กับความจริง แต่ถ้ามันหลบหลีกนะ มันอยากได้ของดีๆ

ดูสิใน สมัยพุทธกาล เวลาพระจะออกบิณฑบาต เช้าขึ้นมา “วันนี้เขาจะใส่บาตรอะไรเรา” มีสตินะ “วันนี้จะใส่บาตรอะไร” คือนึกอยากตามกิเลสไง ถ้าอย่างนั้นกิเลสมันกินก่อน อย่างนี้ไม่บิณฑบาต ไม่ให้กิน เราก็ไม่กินด้วยเพราะเราไม่บิณฑบาต เราก็ไม่ได้ฉัน พอเราไม่ได้ฉัน กิเลสมันก็ไม่ได้กิน แต่พอกิเลสมันคิดนะ “วันนี้ออกบิณฑบาตเขาจะให้อะไรเรา” อยากจะได้ของประณีต อยากได้อะไร อย่างนี้ไม่พาบิณฑบาต ไม่พาฉัน พอตัวเองไม่ได้ฉัน กิเลสก็ไม่ได้กิน

นี่ไงมันมีสติ ถ้าศีลมันสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เราจะเริ่มมีพื้นฐานขึ้นมา ศีล ความไม่หลอกลวงตัวเอง ถ้าจิตใจมันฝึกขึ้นมาจนซื่อตรงกับเรา ไอ้เรื่องความหลบหลีก ศิลปะการหลบหลีก หลบหลีกจนใจมันด้าน หลบหลีกจนมันมีโวหาร มันมีโวหารเพราะมันอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการตลอด เรานั่งฟังอยู่ทุกวันมันก็มีโวหาร แล้วกิเลสเต็มหัวใจ มันก็ใช้โวหารนั้น ตัวเองก็หลบหลีกความจริง แล้วก็อาศัยธรรมของครูบาอาจารย์นั้นออกไป

มันไม่ใช่ราชสีห์หรอก มันไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันจะมีประสบการณ์จริง เราตั้งสติของเรา แล้วเรามีศีลของเรา ซื่อสัตย์กับเรา ทำตามความเป็นจริงของเรา เราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราเป็นกา เราบวชใหม่ ครูบาอาจารย์ท่านเป็นทองคำ กามันเกาะภูเขาทองคำ เราก็พยายามจะสร้างของเรา

ภูเขาทองคำนั้นเป็นสัจธรรม เป็นธรรม แล้วภูเขาทองคำที่เราอาศัยครูบาอาจารย์นั้น ท่านเป็นทองคำจริงๆ แต่เรายังเป็นกา ถ้าเราหลบหลีกด้วยตัณหาความทะยานอยาก เราก็พยายามว่า “ฉันเป็นทองคำนะ” อีกามันเป็นทองคำไปไม่ได้หรอก เราต้องตั้งสติของเรา เราจะต้องฝึกของเรา เราจะต้องดัดแปลงของเรา เราจะต้องทำความเป็นจริงของเรา

ถ้าทำตามความจริงของเรานะ ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างไร ขอนิสัยจนได้นิสัยแล้ว เราก็เอาข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ พอจิตใจมันมีเครื่องอยู่ เราก็ทำตามนั้น เรามีเวลาของเรา เราก็พุทโธๆ ของเรา เข้าทางจงกรมของเรา นั่งสมาธิของเรา พยายามทำใจของเราให้สงบมา ถ้าใจของเราสงบขึ้นมาได้ ร่มเย็นขึ้นมาได้ เราออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญามันรู้ของมัน มันเห็นของมันนะ

“รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงดอกไม้แห่งมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

แต่ถ้าเป็นตำราก็คือตำรา เป็นของครูบาอาจารย์ก็เป็นของครูบาอาจารย์ เป็นของหมู่คณะก็เป็นของหมู่คณะ แต่จิตใจเราเศร้าหมอง จิตใจเรามันมีสิ่งต่างๆ กดถ่วงอยู่ตลอดเวลา แต่พอเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา พุทโธๆ แล้วจิตมันสงบ แล้วไปไหนบางทีบอกว่ามันพุทโธแล้วไม่สงบ ถ้าไม่สงบเพราะเหตุใด?

มันก็เริ่มตั้งแต่เราอยู่กันอย่างไร เราปล่อยสติเราพลั้งเผลอทั้งวันเลย ถึงเวลาเดินจงกรมก็บอกจะบังคับให้มันพุทโธ ให้จิตใจมันอยู่ มันไปเกาะเกี่ยว มันไปแสวงหาสิ่งที่มันหมักหมมในใจไว้มหาศาลเลย แล้วเราก็จะให้มันสงบๆ แต่ถ้าเราภาวนาแล้วมันไม่ได้ผล เราจะเริ่มต้นแล้ว

ตั้งแต่ตื่นนอน ตื่นนอนแล้วเราทำสิ่งใดบ้าง บิณฑบาตกลับมาแล้ว เราจัดหาสิ่งใดลงบาตรเราบ้าง เราฉันแล้วเวลาเรากลับไปเดินจงกรม ง่วงเหงาหาวนอนไหม ถ้ามันไม่ง่วงเหงาหาวนอน ทำไมเราทำของเราไม่ได้ มันจะหาเหตุหาผลทั้งนั้น พอหาเหตุหาผลเราก็จะเห็นโทษ พอเห็นโทษขึ้นมา เราก็จะตั้งสติของเราขึ้นมา ตั้งสติตั้งแต่เช้าเลย ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาเราจะตั้งสติดูแลหัวใจของเรา

อย่าคิดอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ควรคิด ให้ควรคิดถึงสิ่งที่ดี ทำไมครูบาอาจารย์ท่านทำของท่าน ประสบความสำเร็จของท่าน ท่านทำแล้วผ่านไปได้ เรายังผ่านไม่ได้ อันนี้เราต้องพิสูจน์ของเรา เราอย่าน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเราอาศัยครูบาอาจารย์อยู่แล้ว

สิ่งนี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านดูแลเราอยู่แล้ว เราต้องพัฒนาตัวเรา ถ้าเราพัฒนาตัวเรา มันก็มีสติยับยั้งความคิด ยับยั้งความคิดมันก็ยับยั้งกิริยาทั้งหมด มันก็ไม่มีสิ่งใดออกกระทบกับใจ ทีนี้พอเข้าทางจงกรม มันก็มีช่องทางที่จะเป็นไปได้ นั่งสมาธิภาวนามันก็มีช่องทางที่จะเป็นไปได้ เราก็ต้องตั้งสติของเราขึ้นมา นี่ไงมันไม่หลบหลีก มันเข้าเผชิญ

ถ้าเข้าเผชิญนะ จิตไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ถ้าจิตมันสงบก็รู้ว่ามันสงบ พอจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว ความคิดความอ่านจะแตกต่างไป เห็นบุญเห็นคุณของศาสนา เห็นบุญเห็นคุณไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะโลกเขาปากกัดตีนถีบกันไป แต่เราดำรงชีวิตของเราแบบน้ำมันเครื่องหยอดล้อเกวียนพอให้หมุนไปได้

ชีวิตของเรามีเท่านี้จริงๆ ถ้าฉันมาก ฉันสิ่งใดที่ไม่มีสติปัญญา มันทำให้ง่วงเหงาหาวนอน มันทำให้การประพฤติปฏิบัตินี้มีแต่อุปสรรค แต่เราฉันเพื่อดำรงชีวิต เหมือนเราหยอดน้ำมันนั้นพอให้ล้อเกวียนนั้นหมุนไปได้ การประพฤติปฏิบัติมันก็จะสะดวกสบายขึ้นมา เราจะเห็นของเราเลย

ถ้าอาหารมากเกินไป ธาตุขันธ์มันทับจิต ถ้าอาหารมันพอประมาณ ถ้ามันเข้าได้เข้าเข็ม ลดมันอีก พอลดขึ้นไป สิ่งที่มันจะมากดทับจิตมันก็ไม่รุนแรง เราก็มีสติปัญญาของเรา เราพยายามพุทโธๆ ของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราขึ้นมา มันเริ่มได้เหตุได้ผลขึ้นมา นี่ไงเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามีสติปัญญาของเราขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นเลย

ถ้ามีสติ มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้น แล้วพอทำสิ่งนี้ ใครเป็นคนบังคับตัวเอง? ครูบาอาจารย์ที่ไหนท่านบังคับเรา มันเป็นความสมัครใจทั้งนั้น มันเป็นความเห็นคุณทั้งนั้น ความเห็นคุณเพราะเรามีสติปัญญา เราเห็นคุณในข้อวัตรปฏิบัติไง เห็นคุณในธุดงควัตรไง

ธุดงควัตร ๑๓ เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ศีล สมาธิ นี้เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ถ้ามันเครื่องขัดเกลาเราจะมีปัญญา เราจะเห็นคุณ เห็นคุณว่าทำธรรมแล้วมันได้ประโยชน์ขึ้นมา ได้ประโยชน์ขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเราไม่หลบหลีกไง เราเผชิญกับมัน เราเผชิญกับใคร ก็เผชิญกับกิเลสของตัวไง เราเกิดมาด้วยอวิชชา เราเกิดมาด้วยความหลง เราเกิดมาด้วยความไม่รู้ เราถึงเกิดเป็นมนุษย์มา

แต่เกิดมาได้มนุษย์สมบัตินี้เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะเป็นอริยทรัพย์ เพราะเราพบพระพุทธศาสนา เราถึงได้ทำความเป็นจริงขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมา มันก็มีเชาว์มีปัญญาขึ้นมา มันยับยั้งได้หมดเลย

แต่เดิมสิ่งใดผ่านมาเราจะยับยั้งไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติ เพราะคนก็ต้องอยู่ด้วยอาหารใช่ไหม อาหารนี้มันก็เป็นศีลเป็นธรรมใช่ไหม เพราะเราบิณฑบาตมาด้วยความถูกต้องชอบธรรม มันเป็นธรรมมันไม่มีอะไรผิดเลย มันเป็นคุณประโยชน์เป็นคุณงามความดีด้วย มันเป็นความดีเพราะบิณฑบาตเป็นวัตร ในเมื่อคฤหัสถ์เขาก็ได้ทำบุญกุศลของเขา เขาได้ทำหน้าที่ของเขา เขาได้ตักข้าวปากหม้อของเขาได้ใส่บาตรมา เขาได้ทำบุญกุศลเขามีความสุขของเขา เขาเทิดใส่ศีรษะ เขาเทิดใส่บนหัวนะ กว่าเขาจะตักบาตร เขาตักแล้วเขาก็มีความสุข เขาก็อุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรของเขา เขาได้ประโยชน์แล้ว

เราบิณฑบาตมาก็ด้วยความถูกต้องชอบธรรม ได้มานี้มันสิทธิของเราทั้งนั้นเลย ทำไมเรามีสติปัญญามักน้อยสันโดษว่า เอาเท่านี้ก็พอ เอาเท่าที่ว่าคำ ๒ คำเพื่อดำรงชีพนี้ก็พอ สิ่งที่เหลือเราก็เอาทำประโยชน์ต่อไป ให้ทานต่อไป

ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนทำล่ะ ถ้ามีการเข้าเผชิญกับสัจจะความจริง มันจะเป็นคุณงามความดีไปหมดเลย แล้วพอจิตมันสงบขึ้นมา มันสงบขึ้นมาเพราะเราพอใจ มันจะไม่มีอะไรเบียดเบียนหัวใจ มันจะไม่มีอะไรทำให้เราเดือดร้อนคับข้องหัวใจเลย เพราะเราทำมาด้วยความถูกต้องชอบธรรมแล้วเรายังมักน้อยในสิ่งที่เราได้มา แล้วสิ่งที่เกินมาก็ทำประโยชน์ต่อไป

แล้วพอมันพอใจขึ้นมา นี่ไงมันไม่มีนิวรณธรรม มันไม่มีความลังเลสงสัย มันไม่มีอะไรปิดกั้นจิตเลย แล้วมันมีการกระทำด้วยความเป็นจริง เวลาเราบอกเรามีปัญญานะ โอ้โห เรามีปัญญามีทางวิชาการ เรารู้ไปหมดเลย แต่เราไม่มีสติปัญญาเอาชนะตัวเองเลยแต่เมื่อเรามีสติปัญญาเอาชนะตัวเอง ปัญญาแค่นี้แหละ แค่เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา อย่าให้มันไปตามตา ตามหู ตามจมูก ตามลิ้น ตามกาย ตามใจ

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วง เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วก็ไม่ทันมัน แล้วมันก็เป็นขี้ข้า มันรัดคอตลอด บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมารมันก็มายุมาแหย่ แล้วเราก็ไป นี่ฉลาดทุกเรื่องเลย! แต่กับตัวเองนี่โง่น่าดูเลย.. แล้วยังหลบยังหลีกอีกนะ ยังว่าตัวเองเก่งอีกนะ ยังไปเทศน์สอนเขาอีกนะ สิ่งนี้ไม่ดีๆ ไอ้ที่ว่าไม่ต้องทำสิ่งใดเลย มันจะหายไปเองน่ะมันดี

มันจะดีตรงไหน? ดีเพราะตัวเองยังไม่รู้จักตัวเอง ดีเพราะตัวเองยังไม่เห็นตัวเอง แต่ถ้าเราทำความตามเป็นจริงของเรา จิตมันสงบเข้ามา ปัญญามันเกิดขึ้นมา วัตรปฏิบัติการดำรงชีวิต มันเป็นเรื่องคุณงามความดีไปทั้งนั้นเลย

ในเมื่อคุณงามความดีเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยฝากไว้กับพุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสกอุบาสิกาเขาก็ปลื้มใจของเขา เขาได้ทำบุญกับพระที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจ เขาทำบุญด้วยหัวใจของเขาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ พระก็ได้ดำรงชีวิตแบบศากยบุตรพุทธชิโนรส เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง มันก็สะอาดบริสุทธิ์

ความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข แล้วเรามีสัจจะมีความจริงขึ้นมา ทำความสงบของใจขึ้นมา ถ้าใจมันสงบแล้ว ความรู้ความเห็นที่มันมีสติปัญญาขึ้นมา มันชัดเจนขึ้น มันควบคุมตัวเองได้มากขึ้น แล้วสังคมมันจะมีความร่มเย็นเป็นสุข แต่สังคมก็คือสังคมใช่ไหม แล้วเราล่ะ พอเป็นเราขึ้นมาเราก็มีสติปัญญาย้อนทวนกระแสกลับมา จิตสงบแล้วให้ออกฝึกหัดใช้ปัญญา

ปัญญา ถ้าไม่มีการฝึก ไม่มีการใช้ ปัญญาไม่เกิดหรอก เพราะว่าปัญญามันจะเกิดจากสัมมาสมาธิ.. “ศีล สมาธิ ปัญญา” ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้เกิดสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ เพราะมีศีล มีการกระทำ ไม่มดเท็จ ไม่หลอกลวง ไม่หลบไม่หลีก ไม่ทำให้จิตนี้มีแต่ความหน้าด้าน แล้วมันไม่หน้าด้านไม่หลอกไม่ลวง

ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์จะทำให้เกิดสมาธิที่มั่นคงแข็งแรง สัมมาสมาธิที่สะอาดบริสุทธิ์จะทำให้เกิดปัญญาการชำระกิเลส สมาธิอันนี้ ถ้ามันร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา ออกขุดคุ้ยหา เขาบอกว่า “พิจารณาเห็นกายๆ” การเห็นกายนะเห็นได้ด้วยอำนาจวาสนา คนเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมีอำนาจวาสนาจิตสงบมันจะเห็นกาย แต่ถ้าสงบต่อไปจะเห็นหรือไม่เห็นล่ะ ถ้าเราไม่มีการฝึกหัด

ดูสิ นักบินเขาขับเครื่องบิน ถ้าเขาไม่ได้ขับเครื่องบินโดยกาลเวลาที่เนิ่นนานเกินไป เขาต้องฝึกหัดใหม่หมดเลยนะ นี่ก็เหมือนกัน ความเร็วของใจ ใจนี้เร็วมาก ถ้าสติปัญญาของเรามันมีความสงบของมันขึ้นมา เราออกพิจารณากายอย่างไร ถ้าออกพิจารณากาย มันมีสติคอยควบคุมให้มันเป็นไป สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เห็นไหม มันมีสติมีสมาธิ

แล้วหัดฝึกใช้ปัญญา ปัญญาอย่างไร พอมันพิจารณากายเห็นกายขึ้นมามันสะเทือนหัวใจอย่างไร ถ้ามันสะเทือนหัวใจ หัวใจของเรามันมีความเห็นผิด โดยจิตใต้สำนึก สรรพสิ่งนี้เป็นเรา เราแสวงหามันก็เป็นเรา ของของเราอยู่กับเราจะไม่เป็นของเราได้อย่างไร มันเป็นโดยสมมุติ มันเป็นโดยอำนาจวาสนาที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่สัจธรรมมีคุณค่ามากกว่านั้น เพราะสัจธรรม ถ้าจิตมันเป็นธรรมขึ้นมา จิตเป็นธรรมถ้าเป็นโสดาบันมันเกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้น

แต่ถ้าเราเป็นปุถุชน มันไม่มีต้นไม่มีปลาย จิตใจของเรามันก็เท่ากับสสารในอวกาศ สสารอวกาศนี้ไม่มีที่สิ้นสุด มันก็วนเวียนไป เปลี่ยนแปลงไปโดยธรรมชาติของมัน จิตของเรามันเป็นส่วนหนึ่งของสสาร เป็นธาตุรู้ มันจะเวียนตายเวียนเกิดไปโดยธรรมชาติของมัน

ฉะนั้นถ้าเราพิจารณาของเรา เรามีสติปัญญา เราพิจารณาของเราขึ้นมา สสารอันนี้ ธาตุรู้อันนี้ ความเห็นผิดของมันอันนี้ เราจะมีสติปัญญาขึ้นมาเพราะความเห็นผิดของมัน เห็นผิดเพราะอะไร เห็นผิดเพราะจิตใต้สำนึกของทุกคนเห็นแก่ตัว

ทุกคนต้องยึดมั่นถือมั่นในธรรมชาติของมัน การยึดมั่นถือมั่นในธรรมชาติอันนี้ ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมามันจะรู้ของมันจะเห็นของมัน พิจารณากายขึ้นมา เวลากายมันแปรสภาพ มันจะเหลือสิ่งใดที่เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นตัวเป็นตนก็เป็นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น

นี่ไง ทิฏฐิมันผิด “สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส” ในเมื่อมันมีความเห็นผิด แล้วความเห็นผิดอันนี้เราจะพิสูจน์กันได้อย่างไร พิสูจน์กันด้วยกาย ด้วยเวทนา ด้วยจิต ด้วยธรรม แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ?

กิเลสนั้นมันเป็นนามธรรม แต่มันอาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ เป็นการแสดงออก เวลาละสังโยชน์ สังโยชน์มันอยู่ที่ไหน เขาบอกว่า ละสังโยชน์ก็จะไปหาสังโยชน์มาละ สังโยชน์ที่ไหนมันจะมาละ สังโยชน์มันเป็นนามธรรม มันเป็นผลจากการยึดมั่นถือมั่น มันเป็นผลจากการเห็นผิด ถ้ามันมีความเห็นถูกขึ้นมา สังโยชน์มันต้องขาดไปเป็นธรรมดาของมัน

เวลาสังโยชน์มันขาด มันขาดอย่างไร ถ้าไม่มีการกระทำ ไม่มีความเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเรามีความเป็นจริงขึ้นมา เราไม่หลบไม่หลีกนะ เราทำเป็นจริง เราเป็นกาอยู่ในฝูงหงส์ ฝูงหงส์ฝูงของหมู่กรรมฐานของเรา เราต้องทำความจริงของเราขึ้นมา

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ เป็นความจริงที่ไหนล่ะ จริงที่ใจ จิตใจของเรามีการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นสติ สติเกิดที่จิต สติเกิดที่ไหนล่ะ เกิดที่กระดูก เกิดที่แขน เกิดที่ขน เกิดจากร่างกายของเราหรือ มันก็เกิดจากจิตทั้งนั้น พอมีสติขึ้นมา มันควบคุมขึ้นมาได้ มันทำของมันขึ้นมาได้ มันก็เกิดสัมมาสมาธิ เกิดสัมมาสมาธิแล้วออกค้นหา ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในกายนั้นกิเลสอาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด

ถ้ามันเห็นผิดนะ มันเห็นผิดตั้งแต่จิต เพราะจิตมันเห็นผิด พอเห็นผิดทุกอย่างมันก็ยึดไปหมดโดยธรรมชาติของมัน “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ” ในเมื่อฐีติจิตอวิชชามันพาผิด ความรู้สึกความนึกคิดมันผิดออกมาจากจิตใต้สำนึกทั้งหมด

ฉะนั้นก่อนที่เราจะไปรื้อค้น เราจะไปทำความสะอาดของใจ เราจะรื้อค้นเข้าไป เราก็ต้องอาศัยความสงบของใจเข้ามา แล้วจับสิ่งที่จิตมันเกาะเกี่ยว มันจะเกาะเกี่ยวในเรื่องอะไร? ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ จิตอาศัยขันธ์ ๕ มันเสวยอารมณ์มาจากขันธ์ ๕ ดูสิ ขันธ์ของเรานี้เป็นขันธมาร แต่ขันธ์ของพระอรหันต์เป็นภาระไม่ใช่ขันธมาร “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ขันธ์นี้เป็นภาระ

ขันธ์ ๕ นี้มันไม่ใช่กิเลส แต่ขณะที่ว่าเราเป็นมาร มันเป็นกิเลสชัดๆ กิเลสมันอาศัยขันธ์นี่แหละ อาศัยความรู้สึกนึกคิดของเรา ดูสิ ความรู้สึกนึกคิดผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ออกไปรับรู้สิ่งภายนอก มันก็เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

แต่เรามีสติปัญญา เราควบคุมของเราขึ้นมาเรื่อยๆ จนบ่วงของมาร เราละเราวางหมด สิ่งที่เอามาหลอกเรา เพราะมันเป็นปุถุชน พอเราละเราวางอย่างนี้เราก็ทำความสงบของใจได้ง่ายขึ้น พอจิตใจเราควบคุมได้ง่ายขึ้น เรามีความชำนาญในวสีมากขึ้น ทำความสงบของใจเราก็ทำได้ง่ายขึ้น ควบคุมได้ดีขึ้น ดีขึ้นเพราะเหตุใด เหตุผลของมันก็เกิดจากการดำรงชีวิต

ถ้าเราเห็นว่าสมาธิ เราเห็นสติของเรามีคุณค่าขึ้นมา การดำรงชีวิตขึ้นมา เราดำรงชีวิตด้วยความกระเหม็ดกระแหม่ กระเหม็ดกระแหม่ขึ้นมาเพราะว่าให้ร่างกายมันอยู่ในความควบคุมของเราได้ ให้มันเบา ให้มันสะดวก ให้มันสบายในการประพฤติปฏิบัติ

พอประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็ควบคุมสมาธิของเราได้ดีขึ้น ควบคุมจิตใจของเราได้ดีขึ้น เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาอะไร ถ้าเราน้อมไปเห็นกาย มันเห็นกายด้วยอำนาจวาสนานี้มันจะเห็น เห็นแล้วมันจะสืบต่อเนื่องขึ้นไปอย่างไร เราจะต้องทำต่อเนื่องขึ้นไป

การทำต่อเนื่อง การเห็น การทำความสงบของใจ จิตใจนี้ทำสงบได้ยากมาก แต่การดำรงให้จิตใจสงบได้ต่อเนื่องๆ นี้ยิ่งยากกว่า การเห็นกาย การพิจารณากาย เราเคยเห็นกายได้ครั้งหนึ่ง แล้วการเห็นครั้งต่อๆ ไปล่ะ แล้วการเห็นกายครั้งแรก เราตั้งสติไว้ให้กายแปรสภาพขึ้นไป มันจะอยู่กับเราได้ไหม

ถ้ากำลังของสมาธิมันไม่พอ มันก็อยู่กับเราไม่ได้ ถ้ากำลังสมาธิของเราพอ เราจะรำพึง เราจะสั่งให้ร่างกายของเราให้แปรสภาพให้เราดูอย่างไรก็ได้ ถ้ามันแปรสภาพขนาดไหนแล้วมันแปรสภาพของมันขึ้นไปด้วยกำลังของมรรคญาณ

มรรคญาณคืออะไร คือสติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ พอปัญญาชอบมันแปรสภาพให้เราขึ้นไปมันก็ฝึกฝนจิตของเรา จิตของเราได้ฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า ได้เห็นความแปรสภาพ ได้เห็นไตรลักษณญาณเกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้าๆ

ไตรลักษณญาณเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาเพื่อใคร เกิดขึ้นมาเพื่อให้จิตมันได้ฝึกฝนขึ้นมา ให้เห็นตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนี้คืออะไร ความเป็นจริงนี้คืออริยสัจเป็นมรรคญาณ ไม่ใช่เป็นตามความจริงโดยความนึกคิด ความเป็นจริงที่เราหลบหลีกกิเลสของเรา แต่ไปจดจำ ไปฟังโวหารจากครูบาอาจารย์ แล้วออกไปจินตนาการ ไปพูดให้เขาเชื่อถือศรัทธา แล้วมันเป็นเรื่องโลกๆ ด้วยนะ กิริยามารยาทขึ้นมานี่ โอ้โห นิ่มนวลอ่อนหวาน.. แต่มันมีกิเลสตัณหาทะยานอยาก มันคอยจะเชือดคออยู่

แต่ขณะที่เราทำความจริงของเราขึ้นมา มันจะไม่มีมารยาสาไถยนะ ถ้าเป็นคุณธรรม มันจะไม่มีมารยาสาไถย ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มันจะสะอาดบริสุทธิ์ ความสะอาดบริสุทธิ์มันเกิดจากอะไร?

ความสะอาดบริสุทธิ์ “สีลัพพตปรามาส” มันไม่ลูบไม่คลำไง แต่ถ้ามันไม่มีตรงนี้มันลูบมันคลำ สิ่งใดก็แล้วแต่การลูบการคลำมันเป็นเล่ห์เป็นเหลี่ยม “สีลัพพตปรามาส” เป็นเล่ห์เป็นเหลี่ยมเป็นกลต้องการให้เขาเชื่อถือศรัทธา ต้องการศักยภาพ ต้องการทุกอย่าง แต่มันไม่เป็นความจริง เพราะมันเป็นมารยาสาไถย!

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันไม่เป็นมารยาสาไถย เพราะมันสะอาดบริสุทธิ์ตั้งแต่เรามีศีล ถ้าเราไม่มีศีลขึ้นมา เราจะเข้ามาสู่ความเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้ ถ้าเป็นสมาธิมันก็เป็นมิจฉา แต่เพราะเราไม่มารยาสาไถย เพราะเราเริ่มต้นจากความสะอาดบริสุทธิ์ของเราด้วยศีลของเรา ด้วยการที่เราจะเผชิญกับความจริงของเรา ถ้าเราจะเผชิญกับความจริงของเรา เห็นไหม

เรามีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้คอยชี้นำเราที่ดี แต่เราจะต้องมีความซื่อสัตย์ของเราด้วย ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดี แต่เราไม่ซื่อสัตย์ของเรา มันก็เป็นกาในฝูงหงส์ไง มันจะเป็นศิลปะการหลบหลีกไง มันหลบหลีก หลบหลีกมันสะดวก แต่มันจะมารยาสาไถย เอาโวหารของครูบาอาจารย์นั้นออกไปเพื่อประโยชน์กับตน มันก็ไปพอกพูนกิเลสมากขึ้น มันไม่ได้ทำลายกิเลสเลย

แต่ถ้าทำลายกิเลส มันทำลายเพื่อความสะอาดของใจ ถ้าใจมันทำความสะอาดของใจมันก็ย้อนกลับมาด้วยน้ำพักน้ำแรง น้ำพักน้ำแรงนะ ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดที่ไหน? ศีล สมาธิของครูบาอาจารย์ก็เป็นของท่าน ศีล สมาธิของใครก็เป็นของบุคคลคนนั้น ถ้าน้ำพักน้ำแรงของเราเกิดขึ้นมา มันก็จะเป็นศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แล้วถ้ามันมีน้ำพักน้ำแรง ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นของเรา เราจะหวั่นไหวไปกับใคร! ในเมื่อมันมีกิเลสอยู่มันยังไม่สิ้นสุดของมัน มันก็หวั่นไหวไปตามกิเลสนี่แหละ

มันจับพลัดจับพลูไง เดี๋ยวก็สมาธิดี เดี๋ยวก็ปัญญาดี สมาธิดีกับสมาธิมากเกินไป ถ้าสมาธิมากเกินไปนะ เวลาพิจารณากายนี่กายใส.. ใสมากเพราะกำลังของสมาธิ เพราะเรามีสมาธิมากเกินไป ภาพของกายมันใส.. ใสเป็นแก้วเลย แต่พอมันมากมันก็คงที่ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาให้มากขึ้น มันก็แยกแยะมากขึ้น สมาธิมันก็หนุนปัญญาขึ้นมา สมาธิมันก็ไปเพิ่มเข้าที่ปัญญา

พอศีล สมาธิ ปัญญา มันสมดุล ความสมดุลนี้ภาพกายนี้มันก็จะแปรสภาพเป็นไตรลักษณ์ แต่ถ้าสมาธิมากขึ้นภาพกายนี้จะชัดเจนมาก แต่ถ้าสมาธิอ่อนหรือสมาธิไม่มีเลย ภาพกายก็ไม่มีเลย เราเคยเห็นภาพกายขึ้นมา เราเคยพิจารณากายด้วยอำนาจวาสนาขึ้นมา แต่เราไม่มีความชำนาญ เราไม่สามารถตั้งภาพกายนี้ได้ เราไม่สามารถ วิภาคะ แยกแยะชิ้นส่วนของกายนี้ได้

ถ้าแยกแยะชิ้นส่วนของกายนี้ได้ สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิ “มารเอยเธอเกิดจากความดำริของเรา” ทิฏฐิเห็นไหม ไม่ใช่ความคิด ทิฏฐิความคิดของเรา เราก็คิดว่ามันเป็นจริงนี่แหละ แต่ทิฏฐิมานะมันยังยึดมั่นของมันอยู่ ความเห็นก็คือความเห็น ทิฏฐิก็คือทิฏฐิ ปัญญาก็คือปัญญาของมัน

ในเมื่อมีปัญญาของมัน มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา มันก็แยกแยะของมัน มันเป็นไปไม่ได้เห็นไหม นี่ไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถ้าเป็นตามความเป็นจริงมันจะรู้ของมัน รู้ว่าถ้าสมาธิมันเข้มแข็ง สมาธิกล้าเกินไปมันก็จะเป็นแบบนี้

เวลาใช้ปัญญาขึ้นไป ใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้ามันมีความชำนาญมากขึ้น ใช้ปัญญาขนาดไหน พอใช้ปัญญาขึ้นไปแล้วเห็นกายไม่ได้เลย พิจารณานึกกายขึ้นมา กายมันก็ไม่มีเพราะว่ามันไม่มีกำลังของสมาธิรองรับ

นี่ไง มรรคสามัคคีเป็นอย่างไร เวลาที่มันสมุจเฉทปหานกิเลสเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันเป็นอย่างไร?

ถ้าเราไม่หลบไม่หลีก ศิลปะในการหลบหลีก เวลาเขาหลบหลีกเขาคิดว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเขา สิ่งนี้เป็นคุณธรรมของเขา แล้วอ้างอิง เพราะหลบหลีก แล้วไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็อ้างอิงโวหารของครูบาอาจารย์ไปตลอด

แต่ถ้าไม่หลบไม่หลีก โวหารของครูบาอาจารย์ท่านชมนะ ถ้าลูกศิษย์ลูกหา ประพฤติปฏิบัติที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ไหนไม่ชมบ้าง ครูบาอาจารย์ที่ไหนท่านก็ต้องชมใช่ไหม คำชมของครูบาอาจารย์ก็คือคำชม

มันก็เหมือนหมากับเจ้าของหมา เจ้าของเขาชมหมา เจ้าของเขายุหมา หมามันก็คึกคัก หมาก็คือหมา เจ้าของก็คือเจ้าของ ครูบาอาจารย์ของเราท่านดูแลเราอยู่ก็เหมือนเจ้าของหมา ไอ้พวกเราก็เป็นหมา หมาที่ซื่อสัตย์ หมาที่กตัญญู หมาที่มันจะประพฤติปฏิบัติของมันตามความเป็นจริงขึ้นมา

ครูบาอาจารย์ของเราก็คือครูบาอาจารย์ของเรา เราถือว่าโชคดีเกิดมามีครูบาอาจารย์ เกิดมาไม่ใช่หมาพเนจร ไม่ได้เกิดมาเร่ร่อน เกิดมาเป็นหมามีเจ้าของ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านฝึกมา เราก็สู้ทนของเรา แก้ไขของเรา มันเป็นความจริงของเราขึ้นมานะ

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้าความจริงมันเป็นความจริงขึ้นมา มันพิจารณาของมันถึงที่สุด มันขาดนะ จะขาดในกายก็ได้ ขาดในเวทนาก็ได้ ขาดในจิตก็ได้ ขาดในธรรมก็ได้ มันอยู่ที่จริตนิสัย แล้วมันขาดอันเดียว เวลามันขาด ขาดที่กายก็ขาดหมด ถ้าพิจารณากายจน สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ขาดหมด

เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม รู้หมด ขาดที่กาย จะรู้เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม ในขั้นของโสดาบันรู้หมดเลย ผู้ที่ไปขาดในเวทนาก็จะเข้าใจเรื่องของกาย เรื่องของจิต เรื่องของธรรม เหมือนกันหมด ขาดอันเดียว ขาดหนึ่งเดียวจะรู้เหมือนกันหมดเลย เพราะมันเป็นขั้น มันเป็นอริยสัจหนึ่งเดียว เวลาสรุปแล้ว สรุปได้เหมือนกันหมด นี่ขณะจิตที่มันเป็น ไม่ใช่ว่าพิจารณากายแล้วพิจารณาเวทนา

ฉะนั้นมันเป็นที่ความถนัด ถ้าเราพิจารณากายของเรา เวลามันเจ็บป่วยขึ้นมา เราจะพิจารณาเวทนาเป็นการผ่อนคลาย เป็นการที่ว่าเราจะแยกแยะประสบการณ์ ไม่มีปัญหา แต่เวลามันขาด เหมือนกัน เราจะกินอาหารอะไรก็แล้วแต่ เวลาอิ่มก็คือจบ พิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเพียงแต่ว่า ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องพิจารณาไล่กันไป คำว่าพิจารณาไล่กันไป สิ่งที่มีอยู่นี้มันเป็นภาพรวม ภาพรวมให้ทุกๆ คน ให้จริตนิสัยของทุกๆ คนมีโอกาส

คนเรานะ ถ้ามีอำนาจวาสนาพิจารณากายก็ได้ ถ้าบอกว่าเราเป็นคนไม่มีอำนาจวาสนา เวลานั่งเวทนามันก็เกิดชัดๆ อยู่แล้ว เวลามันมีความเสียใจมีความฝังใจ เวทนานั้นก็ซัดกับเวทนาเข้าไปเลยสิ แต่ถ้าบอกว่าเวทนามันสู้ไม่ไหว พิจารณาจิต เวลาทำจิตสงบไปแล้วมันเศร้าหมองมันผ่องใส พิจารณาจิต พิจารณาธรรมคือความคิด ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้ามีสมาธิมันถึงเป็นธรรม ถ้าไม่มีสมาธิมันเป็นโลก เป็นโลกมันก็เป็นความฟุ้งซ่าน แต่ถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมามันเกิดกับความคิดขึ้นมา นี่คือธรรมารมณ์ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ นี่คือปัญญาวิมุตติ

แต่ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันเป็นสัมมาสมาธิขึ้นมา มันพิจารณากายก็ได้ พิจารณากายเป็นภาพก็ได้ พิจารณากายเป็นปัญญาก็ได้ พิจารณากายเป็นปัญญาคือเทียบเคียงว่ากายนี้ การดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ ร่างกายนี้มันต้องการหาสิ่งใด เราพิจารณาของเรา หัวใจมันทำงานอย่างไร สมองมันทำงานอย่างไร ร่างกายของเรามันมีไขกระดูกมันสร้างอะไรขึ้นมา แล้วพิจารณาของเราสิ ดูความมหัศจรรย์ของมัน

ถ้าจิตมันตรึกนะ มันเหมือนนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เวลาเขาอยู่ในห้องทดลองของเขา เขามีสติปัญญาของเขา เขาพิสูจน์ของเขา มันจะมีผลสำเร็จของเขา เขาจะคิดทดลองวิจัยของเขาเป็นขั้นๆ ไป นั่นเป็นเรื่องโลกๆ นะ

แต่ถ้าเราพิจารณากายโดยใช้ปัญญา เรามีสติมีปัญญา ถ้ามันมีสติมันมีสมาธิขึ้นมามันพิจารณาขึ้นไปมันเห็นภาพ พอจิตมันเห็นภาพขึ้นมา พอพิจารณาไปมันเห็นการเปลี่ยนแปลง พอมันเห็นการเปลี่ยนแปลงมันเป็นไตรลักษณ์ จิตมันก็ปล่อย นี่ไง พอจิตมันปล่อยขึ้นมา มันก็ปล่อยอะไรล่ะ ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นไง

ถ้ามันปล่อยความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา พอมันปล่อยขนาดไหนนี่เขาเรียกตทังคปหาน ตทังคปหานคือมันปล่อยชั่วคราว ปล่อยซ้ำปล่อยซากเราขยันหมั่นเพียรของเรา ถึงที่สุดมันปล่อยๆ จนขาด! ถ้ามันขาดคือขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลง

ปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชนอย่างไร เวลาคนเดินโสดาปัตติมรรคเดินอย่างไร แล้วถ้ามันไม่ถึงโสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรคมันเจริญแล้วเสื่อมได้ แต่ถ้าวันไหมมันขาด มันเป็นโสดาปัตติผล โสดาปัตติผลเป็นอกุปปธรรม อฐานะที่มันจะเปลี่ยนแปลง มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้! เว้นไว้แต่มันจะขึ้นไปเป็นสกิทาคา อนาคา แต่ถ้ามันจะลงมาต่ำ เป็นไปไม่ได้! มันเป็นอฐานะ มันจะไม่มีการลงต่ำ มันเป็นโสดาบันแล้วจะเกิดอีก ๗ ชาติอย่างมาก

อย่างเช่น พระอานนท์ สำเร็จในชาตินั้นเลย ถ้าสำเร็จชาตินั้นมันสำเร็จเพราะอะไร สำเร็จเพราะมีมรรคมีผล มีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริงดำเนินการไป ถ้ามันไม่มีข้อเท็จจริงไม่มีการกระทำ...

ศิลปะในการหลบหลีก มันจะหลบมันจะหลีกขึ้นมาเพื่อสร้างเวรสร้างกรรม สร้างความมักมากในหัวใจ แล้วมันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ นี่แค่ขั้นโสดาบันนะ แล้วสกิทาคา อนาคา อรหันต์ มันจะเป็นอย่างไรอีก แล้วถ้ามันเป็นไปได้จริงนะ มันเป็นความสะอาดบริสุทธิ์

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้สุดยอดมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งปฏิญาณมาว่าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ขณะที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ทอดธุระเลยล่ะ ทอดธุระนะว่ามันจะทำได้อย่างไร คือมันจะแตกต่างกับเรื่องโลกๆ มาก

แต่ในปัจจุบันนี้ เราว่าเรื่องทางวิทยาศาสตร์เจริญ โลกเจริญ เราเข้าใจกันเองว่าพวกเรานั้นมีปัญญา แล้วเราคิดว่ามีปัญญาแล้ว ปัญญาอย่างนี้มันจะเป็นปัญญาฆ่ากิเลส เราก็เลยคิดว่าใช้ปัญญาอย่างนี้กันไป แล้วใช้ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาคลายเครียด ถ้ามันเครียดนัก เราก็ตรึกในธรรมะกัน มันก็จะผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายความเครียดความตึงในหัวใจเท่านั้น แล้วเราก็ว่าสิ่งนี้สะดวกสบาย อย่างนี้เป็นความจริง

มันเป็นไปไม่ได้เลยนะ มันเป็นไปไม่ได้เลยเพราะว่ามันเป็นโลกกับธรรม เรื่องของโลกมันก็จะเป็นโลกตลอดไป เรื่องของธรรมนะ ถ้าเป็นศีล สมาธิ ปัญญาก็ต้องเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ว่าเป็นความคลายเครียด ว่างๆ สะดวกสบายอย่างนั้นจะเป็นสมาธิ สมาธิมันมีอยู่แล้ว สมาธิคือความตั้งมั่นของใจ แล้วเราตรึกในธรรม พอมันผ่อนคลาย นั้นมันคือผล ผลของมันเห็นไหม

เราจะบอกว่าในการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดผลของมันคือสมถะ ถ้ามันเป็นสัมมาก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้ามันเป็นมิจฉาล่ะ มันปล่อยวางขนาดไหนมันก็ปล่อยวางด้วยความเห็นผิด ปล่อยวางด้วยความหลงผิด

ความหลงผิดมันปล่อยวางได้อย่างไร? ความหลงผิดมันปล่อยวางได้ด้วยหรือ?

เวลาเราเผลอเราลืมเราปล่อยวางไหม? ความหลงผิด ปล่อยวางด้วยความหลงผิด พอความหลงผิดขึ้นไปมันก็เป็นมิจฉา พอมิจฉามันก็เร่ร่อนของมันไป แต่ถ้าเราจะเอาสัมมา เอาตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะต้องมีหลักมีเกณฑ์ของมัน

นี่พูดถึงโลกกับธรรมนะ ทีนี้เราก็เข้าใจว่าเรามีปัญญา เราเข้าใจว่าเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเราคิดขึ้นมามันก็คือปัญญา มันก็เป็นวุฒิภาวะ เป็นการอ่อนด้อยของใจ ใจของคนมันอ่อนด้อย ความคิดอย่างไรมันก็คิดแต่เรื่องของกิเลส คิดแต่ให้กิเลสมันเหยียบย่ำ

แต่ถ้ามันมีอำนาจวาสนาบารมีนะ มันมีคุณธรรมในหัวใจ มีวุฒิภาวะที่ดี มันใช้ปัญญานะ แล้วมันจะตรวจสอบ ทำไมมันเป็นอย่างนี้? มันจะดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร? มันจะตรวจสอบของมันนะ แล้วตรวจสอบจริงหรือไม่จริง เรานี่รู้ก่อน

เพียงแต่ว่าเราสงสัย สงสัยเราก็ไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะคอยแนะนำว่าผิดหรือถูก ครูบาอาจารย์จะชี้ว่าผิดหรือถูก ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะ เว้นไว้แต่กาในฝูงหงส์ อาจารย์ที่เป็นกา มันร้อง ก๊า.. ก๊า.. ก๊า.. แต่มันไม่รู้หรอก

พวกที่ฟังธรรมไม่เคยเข้าไปในหมู่การปฏิบัติ จะไม่รู้หรอกครูบาอาจารย์ที่เป็น ก๊า.. ก๊า.. ก๊า.. นี่ตอบปัญหาอย่างไร แต่ถ้าเป็นหงส์นะ อีกามันมาถามหงส์ หงส์จะอธิบายได้หมดเลย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเรามีครูบาอาจารย์ที่ดี ท่านรู้ก่อน พอเราไปอ้าปากพูด ท่านรู้แล้ว! เพียงแต่รู้แล้วก็ต้องรอเราพูดให้จบใช่ไหม ถ้าไม่จบเดี๋ยวลูกศิษย์ก็จะน้อยใจ “อาจารย์น่ะไม่ฟังสักที.. พอพูดก็จะใส่เลยๆ” เพราะพูดนี้มันบอกถึงวุฒิภาวะของใจ

คนไม่รู้ไม่เห็นพูดไม่ได้! คนรู้เห็นอย่างไรมันก็พูดเท่านั้น!

แล้วคำพูดสิ่งที่เป็นสัจธรรม มันละเอียดลึกซึ้งที่มันมากกว่านั้นมหาศาลเลย ฉะนั้นมันเหมือนหมอเลย หมอเห็นคนไข้เข้ามาในโรงพยาบาลจะรู้เลยว่าคนไข้เป็นอะไร ในการเดินของเขา ในกิริยาของเขา อาการปวดอย่างไร มันแสดงออกอย่างไร เขารู้แล้ว เพียงแต่ว่าเขาก็ต้องถามด้วยมารยาทใช่ไหม ว่าเราเป็นอะไรๆ

นี่ก็เหมือนกันพออ้าปากพูดมันก็รู้แล้ว แต่เราก็อยากจะให้ฟังจนจบ ก็ต้องฟังจนจบ ถ้าจบแล้วก็บอกเป็นอย่างนั้นๆ แล้วเราแก้ไขไป ถ้าเป็นหงส์ แต่ถ้าเป็นกา มันก็ก๊า.. ก๊า.. ก๊า.. สัญญาทั้งนั้น! เป็นอย่างนั้นๆ แล้วไม่มีถูกหรอก! เหมือนหมอเถื่อน ด้วยความชำนาญ อาศัยความชำนาญรักษาไป แต่ไม่มีข้อเท็จจริง คือไม่มีทางวิชาการรองรับ แต่ถ้าเป็นหมอเขามีวิชาการรองรับนะ

ถ้าเป็นอย่างนี้รักษาไปแล้วมันจะมีโรคข้างเคียงอย่างนี้ มันจะต่อเนื่องเป็นอย่างนั้น แล้วถ้ามันหายมันจะดีอย่างนั้น ผลของยาจะให้เป็นอย่างนั้น

ธรรมะก็เหมือนกัน ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันเกี่ยวเนื่องต่อเนื่องกัน พื้นฐานดีพื้นฐานแน่น มันจะทำให้การปฏิบัติขึ้นไปสะดวกสบายขึ้น พื้นฐานอ่อนแอแล้วปฏิบัติไปมันจะหลบหลีกนะ พื้นฐานอ่อนแอมันไปไม่ได้ มันขึ้นไม่ได้เลย พอมันขึ้นไม่ได้เลยมันก็หลบหลีก พอหลบหลีกมันก็สร้างสม กลายเป็นเล่ห์กล กลายเป็นมารยาสาไถย มีแต่การหลอกลวง พูดสิ่งใดไม่มีคำจริง

แต่ถ้าเป็นธรรมจริงๆ นะ มันใสสะอาด มันพูดโดยธรรมชาติ ไม่มีมารยาเลย พูดตรงไปตรงมาไม่มีลูบหน้าปะจมูก ถ้าเป็นธรรมนะ ใสสะอาด พูดตรงไปตรงมา แต่ถ้าเป็นมารยาสาไถย เป็นเรื่องของกาๆ นี่มันเป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่า ศิลปะในการหลบหลีก ถ้าศิลปะในการหลบหลีกแล้ว มันก็สร้างสมให้เป็นโทษไป เราเป็นสุภาพบุรุษ เราจะซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์กับตัวตนของเรา ซื่อสัตย์กับชีวิตของเรา เราจะทำคุณงามความดีของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง