เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑ พ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมเนาะ เวลาเราฟังธรรมะ เห็นไหม เวลาธรรมะ เวลาพ่อแม่สอนเป็นธรรมไหม ถ้าพ่อแม่สอนมีหลักการมันก็เป็นธรรม แต่ถ้าพ่อแม่สอนในทางที่ผิดล่ะ พ่อแม่สอนลูกในทางที่ผิดได้ไหม ? ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ พ่อแม่ก็สอนในทางที่ผิดได้

ดูสิ ลัทธิศาสนาต่าง ๆ เขาก็สอนตามลัทธิของเขา เวลาพุทธศาสนานะ เวลาเราว่าเราเป็นชาวพุทธ ๆ กัน ลูกเราตั้งแต่เล็กแต่น้อย เห็นไหม ชาวพุทธคืออะไร เมื่อก่อนศีล ๕ ท่องไม่ได้นะ ตอนนี้เรามาฟื้นฟูกัน เพราะเด็กมีการศึกษาทางพุทธศาสนาขึ้น ทางพุทธศาสนา เห็นไหม ถ้าเรามีศาสนา จิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าจิตใจมีหลักมีเกณฑ์ ดูสิความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าความร่มเย็นเป็นสุขเราพูดกันได้

เวลาเราอ้าง ดูสิเวลาคนทำผิดเขาบอกว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” นี่เขาพูดกันไป มันเป็นเช่นนั้นเพราะมันผิดไปแล้ว เวลาทำผิดก็อ้างศาสนา เวลาทำถูกต้อง ถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน

เรามีศรัทธาความเชื่อนะ ถ้าเรามีศรัทธา “ศรัทธา” เรามีความเชื่อของเรา เราก็ทำบุญกุศลของเรา มีศรัทธาความเชื่อ เราเข้ามาคลุกคลีกับศาสนา คำว่า “คลุกคลี” เข้ามาคลุกคลี เข้ามาใกล้ศาสนาแล้วได้ฟังธรรม แล้วฟังธรรมนี่ ความเชื่อทำให้เราศึกษา

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ศรัทธาเป็นอริยทรัพย์” ถ้าเราไม่มีศรัทธาความเชื่อสิ่งใดเลยนี่ชีวิตเรามีอะไร

ดูสิผู้ที่มีการศึกษา เขาว่า “ไม่นับถือศาสนาใดเลย เพราะศาสนาเป็นเรื่องความงมงาย ศาสนาพิสูจน์ไม่ได้”...พิสูจน์ไม่ได้เพราะเขาไม่ได้พิสูจน์ไง แต่ถ้าเขาจะพิสูจน์ขึ้นมาล่ะ

ศรัทธาคือความเชื่อ ถ้าความเชื่อ เรามาปฏิบัติด้วยความเชื่อกัน ในปัจจุบันนี้เรามีความเชื่อใช่ไหม เรามีความเชื่อมั่นในพุทธศาสนา แล้วพระพุทธศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทุกข์นี่พิสูจน์กันได้ เวลาทุกข์นี่ทุกคนพิสูจน์ได้ เวลาที่สุดแห่งทุกข์ เราจะพ้นจากทุกข์ไป

แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา เราเอาศรัทธามาปฏิบัติ พอเราปฏิบัติด้วยความศรัทธาของเรา มันไม่เป็นตามข้อเท็จจริง เห็นไหม ถ้าตามข้อเท็จจริงขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่เรามีสติ ถ้ามีสติขึ้นมา สติมันจะยับยั้งทุก ๆ อย่างได้ ยับยั้งความคิด ความรู้สึกของเรานี่ ความรู้สึก ความนึกคิด เราจะยับยั้งได้เพราะสติมันยับยั้ง แต่เพราะมันขาดสติ แต่พอขาดสติ เราก็ว่าเรามีสติ เรามีสติเพราะเรานึกเอาเองไง เรานึกว่าสติ แต่ข้อเท็จจริงในการระลึกรู้ไม่มี ถ้าการระลึกรู้ไม่มีมันก็ห้ามความรู้สึกนึกคิดนั้นไม่ได้

แต่ถ้าเรามีสติความรับรู้สึกนะ เวลามีสติ ความรู้สึกนั้นต้องหยุดได้ ถ้ามีสติ ความรู้สึกมันหยุดได้เลย แต่เพราะเราขาดสติ แต่เราว่าเรามีสติ เห็นไหม เพราะความเชื่อ ศรัทธาคือความเชื่อ พอเรามีสติแล้ว เรามีทุกอย่างแล้ว เพราะเราศึกษามาแล้ว เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาหมดแล้ว เราทำตามความเชื่อของเรา ทำตามความศรัทธา ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริง

ถ้าตามข้อเท็จจริง สติต้องเป็นสติ สมาธิต้องเป็นสมาธิ พอมีสติขึ้นมาสมาธิมันจะเกิดขึ้น พอสมาธิเกิดขึ้นจะเกิดปัญญาเกิดขึ้น ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น มันเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาพระปฏิบัตินะ เวลาเดินไปเดินมาด้วยความขาดสติ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเห็นนะ ความเห็นเหมือนเราไง เรานะ เรารักลูกเราไหม ถ้าลูกเราทำความผิดพลาดขึ้นไปเราจะตักเตือนลูกเราไหม นี่ครูบาอาจารย์ท่านเห็นลูกศิษย์ของท่านเวลาเดินไปเดินมาด้วยความเหม่อลอย ท่านบอกว่า “นี่ซากศพเดินได้”

เพราะมันขาดสติ เห็นไหม “ซากศพ” เพราะขาดสตินี่มันขาดทุก ๆ อย่างเลย เหมือนศพ ทั้ง ๆ ที่มีจิตอยู่นะ มีจิตอยู่ มีความรู้สึกรับรู้อยู่ แต่มันขาดสติ มันเหม่อลอย พอเหม่อลอยนี่เหมือนซากศพเดินได้ แล้วเราปฏิบัติกันมันเป็นอย่างนั้นไหม

เวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติเอารูปแบบนะ “นี่เวลาเดินจงกรมก็เดินจงกรมกันแล้ว เดินจงกรมนั่งสมาธิแล้วทำไมเราไม่ได้ผลสักที เราทำขึ้นมานี่เราทำตั้งนานแล้ว เห็นไหม ครูบาอาจารย์บอกว่า ‘การปฏิบัติแล้วจะมีความสุข ๆ’ ทุกข์มากเหลือเกิน”

หลวงตาท่านบอกนะ “สุนัขมันมี ๔ เท้านะ มันวิ่งไปดีกว่าเราอีก มันวิ่งไปวิ่งมา มันวิ่งทั้งวันเลย ยิ่งมีอะไรไปปลุกเร้ามันจะวิ่งไปเลย” นี่มันมี ๔ เท้า เรามี ๒ เท้านะ เราเดินจงกรมนี่มีสติไหม ถ้ามีสตินะ มีสติอยู่ไหน มันมีการฝึกหัดนะ

“ดอกบัวเกิดจากโคลนตม” ทุกคนเกิดจากความฟุ้งซ่านนี่แหละ เกิดจากจิตที่มันหมักหมม ที่มันทุกข์ร้อนในหัวใจนี่แหละ แต่ก็ต้องคลี่คลายกัน การคลี่คลายกันทำให้สิ่งนี้มันเริ่มเจือจางลง แล้วถึงที่สุดความนึกคิดนี้มันหยุดได้ พอมันหยุดได้นั่นคือสัมมาสมาธินะ สมาธิคือจิตมันหยุดนิ่ง สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดคือความคิด เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดแล้วให้มันหยุดนิ่งได้มันจะมีพลังงานของมันมาก

แต่เวลาบอกว่า “เราปฏิบัติกันแล้ว มันปฏิบัติมา ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงแล้วมันก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ มันซื่อบื้อ จะว่าเป็นสมาธิก็ไม่ใช่ จะบอกว่าเป็นความฟุ้งซ่านก็ไม่ใช่ มันหยุดเฉย ๆ หยุดแบบไม่รู้อะไรนะ มันทำอะไรก็ไม่ถูก เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่เป็น แล้วมันทำอย่างไรต่อไป” เห็นไหม เพราะการทำด้วยความคุ้นชิน

หลวงตาท่านจะเตือนลูกศิษย์มากว่า ความคุ้นเคยกัน ความคุ้นชิน มันจะทำให้เรานอนใจ การนอนใจอันนั้น นี่สติมันขาดไปแล้ว ความพร้อมของใจมันขาดไปแล้ว

แต่ถ้าเราตื่นตัวตลอดเวลา เห็นไหม “อ้าว ! ตื่นตัวมันก็ไม่เป็นสมาธิสิ”...ตื่นตัวด้วยความมีสมาธิไง

“น้ำนิ่งแต่ไหลอยู่” น้ำนิ่ง เห็นไหม ดูสิน้ำทะเลมันหมุนเวียนตลอด กระแสน้ำอุ่น กระแสน้ำเย็น มันเปลี่ยนแปลงให้เกิดแพลงก์ตอน เกิดอาหารในทะเล ความเปลี่ยนแปลงของทะเลมันหมุนเวียนของมันตลอดเวลา นี่เรารู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจมันมีความรู้สึกอยู่ สติมันชัดเจนอยู่ แต่มันมีความสงบ สงบโดยสติพร้อมมันถึงมีพลังงานไง สมาธิมันถึงมีพลังงานของมัน ถ้ามีพลังงานของมัน มันทำสิ่งใดขึ้นมาจะเป็นประโยชน์กับมัน เห็นไหม มันตื่นตัวตลอดเวลานะ การตื่นตัวของเรา บอก “ตื่นตัว ๆ” เราเข้าใจกันเองว่า การเผลอ พลั้งเผลอ การอับเฉา การยอมจำนน นั่นเป็นสมาธิ คือการไม่รู้อะไรคือเป็นสมาธิ

พอการรับรู้ “นั่นไม่ใช่สมาธินะ มันตื่นตัวนะ มันตื่น”...การตื่นตัวนั่นแหละคือสมาธิ แล้วสมาธิในการตื่นตัว “น้ำนิ่งแต่ไหลอยู่” มันมีพลังงานของมัน มันมีกำลังของมัน เห็นไหม นี่พอมีกำลังของมัน ด้วยปัญญา ปัญญาด้วยสมาธิรองรับ มันจะเกิดโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่ถอดถอน ปัญญาที่เป็นประโยชน์กับเรา

ไอ้ตอนนี้ปัญญาที่มันเกิดขึ้น ปัญญาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษาด้วยสัญญา ศึกษาด้วยการจำมา พอศึกษาด้วยสัญญามา มันมีกิเลสเราในหัวใจใช่ไหม มีอวิชชาในพลังงาน พลังงานไม่ใช่ความคิด ความคิดเกิดจากพลังงาน พลังงานคือตัวภพ ตัวภพคือตัวกิเลส คือตัวอวิชชา แล้วมันเอาความคิด ความคิดคือขันธ์ ขันธ์คือเปลือก เอาขันธ์นั้นไปศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า

แล้วไอ้กิเลส ไอ้อวิชชา ไอ้ตัวพลังงาน...“นิพพานจะมีจริงหรือเปล่า สมาธิก็เป็นแบบนี้ ทำสมาธิแล้วก็ไม่มีปัญญา ปัญญาคือชำระกิเลส” มันฟุ้งซ่านของมันไป มันจินตนาการของมันไปนะ

ถ้ามีสติ เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดนี่แหละ ความคิดที่มันคิดเรื่องจินตนาการ “นิพพานจะมีหรือเปล่า สมาธิมันจะเป็นอย่างไร ทุกอย่าง...” แล้วเราตั้งสตินะ ตั้งสติไล่ความคิดเข้ามา คิด...คิดทำไม ความคิดมันออกมาจากไหน ? ความคิดนี้มันเกิดจากพลังงาน ความคิดเกิดจากจิต ไม่ใช่จิต แล้วถ้ามีสติปัญญาไล่ความคิดเข้ามาความคิดมันก็หยุด พอความคิดมันหยุด หยุดแล้วมันเหลืออะไร ? ความคิดหยุดมันก็เหลือพลังงาน ถ้าพลังงานเผลอก็คิด พอมีสติขึ้นมา ความคิดมันหยุดมันก็เหลือพลังงาน

พอมีพลังงาน นี่ไง “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ถ้าจิตเดิมแท้นี้อวิชชามันครอบงำอยู่ ไม่รู้สึกตัวมันอยู่ มันก็เสวยอารมณ์ มันก็คิดตามสติปัญญาของมันไป แต่ถ้ามีสติปัญญา เห็นไหม มีปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา มันก็ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา การหยุดนั่นล่ะคือการปล่อย แต่เรายังไม่เห็นพลังงานเพราะมันเพิ่งหัด ฝึกหัดไง

บอกว่า “น้ำ...นี่จอกแหนมันบังน้ำไว้ พอเราแหวกจอกแหนออกเราก็เห็นน้ำ เราแหวกความคิดออกเราก็เห็นจิต”...เออ ! เราแหวกความคิดออกเราเห็นจิต แล้วจิตทำอะไรต่อไปล่ะ ? อ้าว ! เห็นน้ำแล้ว น้ำทำไม เห็นน้ำแล้วก็ยกเลิก จอกแหนมันก็ปิดน้ำไว้

นี่ก็เหมือนกัน พอสติตามความคิด ความคิดมันหยุด หยุดแล้วเหลืออะไรล่ะ “อ้าว ! แล้วแหวกจอกแหนก็ต้องเห็นน้ำสิ แล้วแหวกจอกแหนทำไมไม่เห็นน้ำล่ะ ?” จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ผ่องใสแบบน้ำ แล้วน้ำนี่มันคืออะไร ? น้ำก็คืออวิชชาไง น้ำก็คือกิเลสไง

กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างหยาบ ๆ เราเห็นไหม ดูสิเรามีความฟุ้งซ่าน เรามีความโทสะ โมหะ นี่กิเลสอย่างหยาบ ๆ กิเลสมันเกิดจากความคิด มันหยาบ ๆ ทั้งนั้น แต่นี้เวลากิเลสอย่างกลางล่ะ กิเลสอย่างกลางก็ปฏิบัติกันอยู่นี่ ศรัทธาความเชื่อนี่ล่ะ กำลังสมบุกสมบันกันอยู่นี่ เวลามันผ่องใสล่ะ ผ่องใสก็กิเลสอย่างละเอียดไง กิเลสอย่างละเอียดคือตัวมันไง

ในเมื่อมันเป็นกิเลสแต่ต้น มันก็เป็นกิเลสตลอดไป แต่ถ้ามันดับกิเลส มันชำระกิเลสมาแต่บั้นปลาย มันก็ชำระเข้าไปสู่ต้นนั่นน่ะ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา พอเป็นอนาคาก็เข้าไปเห็นจิตเดิมแท้ พอจิตเดิมแท้ จะไปทำจิตเดิมแท้อย่างไรให้มันสิ้นกระบวนการของมันไป

นี่ไง ศรัทธาคือศรัทธานะ ถ้าเราปฏิบัติด้วยศรัทธา ตอนนี้เรามีศรัทธาเชื่อมั่นกันมาก แล้วเพราะด้วยศรัทธาของเรา พอเราปฏิบัติไปแล้วกิเลสมันก็เข้ามาต่อต้าน เห็นไหม เวลาบอกว่า “ปฏิบัติธรรมแล้วทุกข์แล้วยาก ธรรมะทำไมมันทุกข์ขนาดนี้”...ธรรมะไม่เคยให้ทุกข์ใคร

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง” ใครปฏิบัติถือศีล มีศีลมีสัตย์ในหัวใจ คนที่จะมารังควานเขาก็เกรงใจคนที่มีศีลมีสัตย์ ถ้าเราถือศีลถือสัตย์ขึ้นมาเขาจะเกรงใจ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง” เราปฏิบัติตั้งสติของเรา เราทำความสงบของใจของเราขึ้นมา ถ้ามันมีเหตุมีผลของมันโดยข้อเท็จจริงของมัน มันต้องสงบแน่นอน เห็นไหม ธรรมะจะคุ้มครองเรา คุ้มครองที่ไหน ? คุ้มครองที่มีความสุข

แล้วถ้ามีใครเข้าไปถึงสัมมาสมาธิ ใครจิตเข้าไปถึงความสงบแล้ว มันจะตื่นเต้น มันเป็นความมหัศจรรย์ ดูสิสินค้าที่ไม่มีขายในท้องตลาด สัมมาสมาธิที่ไม่มีขายในวัฏฏะนี้ แล้วเราสามารถฟื้นฟูของเราขึ้นมา เราสามารถสร้างของเราขึ้นมา เราสามารถมีสมบัติ ถ้าจิตใครสงบเข้าไปแล้วมันจะมีความมหัศจรรย์ มันจะจำความรู้สึกอันนั้นได้แม่นยำมาก ความรู้สึกอันนี้มันจะฝังคาใจอันนี้ตลอดไป นี่ทรัพย์ภายใน ถ้าใครทำจิตสงบเข้ามาแล้วมันจะมีคุณค่าของมัน

เราหาทรัพย์ภายนอกกัน หากิตติศัพท์ หากิตติคุณ นี่โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ให้เขาสรรเสริญนินทากันอยู่นั่นแหละ แต่ถ้ามันเป็นจริงของเรานะ ใครจะนินทา ใครจะว่าร้ายอย่างไรก็แล้วแต่ จิตของเราเป็นอย่างนี้ จิตเราเป็นอย่างนี้ เรารู้ของเรา แล้วจิตอย่างนี้จะคุยกับครูบาอาจารย์ ครูที่ประพฤติปฏิบัติ มันจะคุยภาษาเดียวกัน

ถ้าจิตอย่างนี้ไปพูดกับคนไม่รู้เรื่องนะ “อู๋ย ! ผิดแล้วนะ ออกนอกทางแล้วนะ ไปไหนก็ไม่รู้นะ ปัญญามันก็ไม่เกิดนะ”...เตี้ยอุ้มค่อม ไอ้เขาก็ไม่รู้ ดันไปคุยกับเขา

แต่ถ้าเราไปคุยกับครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นจริงขึ้นมานะ ท่านจะยกของเราขึ้นมา “ถูกต้อง ก้าวเดินต่อไป พัฒนามันขึ้นไป ก้าวเดินขึ้นสู่ที่ความดีงามของมันขึ้นไป พัฒนาของมันขึ้นไป” ครูบาอาจารย์ของเราต้องผ่านกระบวนการมาทั้งหมด ครูบาอาจารย์เราท่านเห็นของท่านแล้ว ท่านจะชี้นำเราได้หมดล่ะ ถ้าชี้นำเราไม่ได้ จะเป็นครูบาอาจารย์เราได้อย่างไร เพราะเราปฏิบัติไปแล้วเราต้องรู้

ทางวิชาการเราศึกษาทันกันนะ การปฏิบัติก็ถึงทันกัน ทันกันต้องจิตที่มันยกระดับขึ้นจะทันกันหมดล่ะ แล้วทันกันจะรู้ความจริงเข้าไปเรื่อย รู้ความจริงเข้าไปเรื่อย เห็นไหม ศรัทธาคือความเชื่อ เรามีความเชื่อมั่นแล้ว เราปฏิบัติของเราแล้วเราต้องค้นคว้า ไม่ใช่ให้ความเชื่อนั้นบังตาเรา อย่าให้ศรัทธานั้นบังตา ศรัทธาคือศรัทธา แต่ความจริงมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความจริงต้องสู้ความจริงให้มันเป็นตามข้อเท็จจริงนั้น

ศรัทธาดีมาก ศรัทธา อริยทรัพย์ดึงเราเข้ามาให้เรามาค้นคว้ากันอยู่นี่ แต่เวลาเราค้นคว้าแล้วเราอย่าปักใจเชื่อสิ่งใด อย่าเอาศรัทธามาบังหน้าเรา แล้วเราปฏิบัติตามความเป็นจริงนั้น จะทุกข์จะยาก ทุกข์ยากเพราะเราจะดับทุกข์

เวลาเราเหยียบหนาม เวลาเราจะบ่งหนามเราเจ็บทั้งนั้นน่ะ เวลาเราเหยียบหนาม เหยียบอะไรขึ้นมา เราจะบ่งออกจากเท้าเรานะ เจ็บทั้งนั้นน่ะ ไม่เจ็บมันออกไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ทุกข์มันเป็นความจริง ถ้าเราไม่แก้มัน เราจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างใด แล้วบอกว่าจะไม่ให้ทุกข์เลย มันจะลอยมาจากฟ้าเหรอ มรรคผลจะลอยมาจากฟ้า เอามาจากไหนล่ะ

แต่นี่มันทุกข์ ทุกข์ก็สู้ ทุกข์ก็ทำ แล้วเดี๋ยวมันจะรู้เองว่าเวลามันปล่อยวางแล้วมันดับ แล้วมันดับอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร สองพันกว่าปีนี่พิสูจน์ได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องมั่นใจของเรา แล้วทำของเราให้ตามข้อเท็จจริงนั้น แยกแยะไปตามข้อเท็จจริงนั้น ธรรมะยังจะละเอียดลึกซึ้งกว่านี้ไปอีกมากมายนะ

ฉะนั้น ของแค่นี้เราก็รับกันไม่ไหวแล้ว เห็นไหม ถ้าธรรมะมันจะละเอียดลึกซึ้งมากมายข้างหน้าไปขนาดไหน เราจะต้องตั้งสติ แล้วเราค้นคว้าของเรา มันเจอสิ่งใดที่มหัศจรรย์เราก็รับรู้ไว้ รับรู้ไว้ แล้วรับรู้แล้ววางไว้ เพราะอะไร

เพราะสิ่งนั้นเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่เป็นมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ขณะที่พบนั่นน่ะ ขณะที่สัมผัส ขณะที่เป็นปัจจัตตัง พอมันผ่านไปแล้วเป็นอดีตหมด นี่มันต้องเป็นปัจจัตตังตลอด มันจะเป็นความจริงตลอด แล้วเราจะแก้ไขของเราตลอด ตั้งสติของเราตลอด แล้วทำของเราขึ้นไป นี้เป็นความจริง

ดูสิเงินเราต้องการมากขึ้น ๆ ธรรมะเราก็ต้องการละเอียดขึ้น ดีขึ้น ดีงามขึ้น ฉะนั้น การปฏิบัติของเรา เราต้องเข้มแข็งของเรา หัวใจ ถ้ามันมีสัจจะ มีความจริงของมัน มันเข้มแข็งของมัน นี้คืออำนาจวาสนาของเรานะ

ศรัทธาเป็นความดีอันหนึ่ง ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ ระหว่างที่ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา เป็นต่าง ๆ นี้เป็นกระบวนการของธรรมะ แล้วเวลาถึงผลของมันนั้นมันเป็นถึงที่สุด เห็นไหม อกุปปธรรม อฐานะที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อันนั้นเป็นความจริงอีกอันหนึ่ง ฉะนั้นเราปฏิบัติของเรา

ในพุทธศาสนานี่ลึกลับซับซ้อน แต่ไม่ใช่ลึกลับซับซ้อนด้วยที่ว่าสิ่งใดพิสูจน์ไม่ได้ ลึกลับซับซ้อนเพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ไม่มีอะไรบังไว้เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ไม่มีกำมือในเรา” เห็นไหม แบตลอด สอนหมดเปลือก สอนทุกอย่าง พวกเราต่างหากทำเข้าถึงไม่ได้ ไม่มีอะไรบังไว้ แต่คำว่า “ลึกลับซับซ้อน” เพราะมันละเอียดลึกซึ้งเท่านั้นเอง แต่ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้ เราทำเข้าถึงจริงจะได้เป็นความจริงของเรา

ฉะนั้นพุทธศาสนาถึงท้าทายให้เราประพฤติปฏิบัติ ท้าทายให้จิตของเราได้เข้าถึงธรรม เข้าสู่สัจจะความจริง ฉะนั้นเรามีศรัทธาความเชื่อแล้วนี่เป็นอันหนึ่งนะ แล้วประพฤติปฏิบัติของเราเป็นอีกอันหนึ่ง แล้วผลของเรา เห็นไหม ธรรมะส่วนบุคคล

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป พระอานนท์คร่ำครวญน่าดู “อานนท์ เราไม่เคยเอาสมบัติของใครไปเลย เราเอาแต่ของของเราไปคนเดียว เราเอาแต่สมบัติของเราไป” พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเอาของท่านไป นี่ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติก็จะเป็นสมบัติของเรา แล้วเราจะเอาของเราไปเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง