เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๓ พ.ค. ๒๕๕๔

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราชาวพุทธ ถ้าเราทำบุญกุศลแล้วเราได้ฟังธรรม เห็นไหม รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีที่พึ่งนี้เท่านั้นนะ ที่อื่นไม่มีหรอก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาอยู่ในราชวังมีปราสาท ๓ หลัง มีความเร่าร้อน มีความเผาในดวงใจ

เวลาไปเที่ยวสวน เห็นยมทูต คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหรอ มันเร่าร้อนนะ มันเผาในหัวใจ เวลาราหุลเกิดขึ้นมา เห็นไหม เวลาจะออกบวช ละล้าละลัง คำว่า “ละล้าละลัง” จิตใจมันเร่าร้อนแค่ไหน ถ้ามันจิตใจเร่าร้อนแค่ไหน ในทางสถานะจะเป็นกษัตริย์ มันมีสถานะพอสมควรนะ

ฉะนั้น พูดถึงทางโลก ๆ สิ่งที่ทางโลกเราต้องจุนเจือ เราอาศัย เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็สะท้อนไง มันเทียบเคียง การเทียบเคียงนี่เทียบเคียงเพื่อประโยชน์ได้ เช่น คนอื่นทำไมเขาทำได้ ทำไมคนอื่นประสบความสำเร็จ อย่างนี้มันเทียบเคียงเพื่อเกิดกำลังใจ แต่ถ้าเทียบเคียง เราน้อยเนื้อต่ำใจนะ เทียบเคียงว่าเราด้อยกว่าเขา เราต่ำต้อยกว่าเขา

ดูมานะ ๙ สิ เราเสมอเขานะ สำคัญตนว่าเสมอเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา...เราสูงกว่าเขา สำคัญว่าสูงกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา นี่ความสำคัญ

นี่ก็เหมือนกัน พอเราเทียบเคียงแล้ว ถ้าเราไปยึดมั่นนี่มันเป็นมานะ มันเป็นความสำคัญ มันก็เผาหัวใจทั้งนั้น ถ้าเราเทียบเคียงด้วยสติปัญญา เห็นไหม ทำไมเขาทำได้ ถ้าเขาทำได้ เราต้องทำได้ ถ้าเราเทียบเคียงเพื่อเกิดกำลังใจ อย่างนี้มันเทียบเคียงได้ นี่ไง ความเร่าร้อนของใจ ถ้าความเร่าร้อนของใจอยู่ในสถานะไหนมันก็มีการเผาลนทั้งนั้น กิเลสมันเผาลน ความเผาลนนี้เป็นพลังงานนะ

แต่ถ้าเป็นพลังงานที่สะอาดล่ะ พลังงานที่สะอาด เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เสวยวิมุตติสุข ก็เป็นคนมีชีวิตเหมือนกันนี่แหละ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเร่าร้อนก็เร่าร้อนนัก เวลาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะเร่าร้อนนัก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาแล้ว ทำไมมันร่มเย็นเป็นสุขล่ะ ก็หัวใจอันเดิมนี่แหละ แต่หัวใจอันเดิมมันเปลี่ยนแปลง มันแก้ไขของมัน

นี่รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์...พระพุทธ พระธรรม เพราะอะไร ? พระพุทธ พระธรรม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้ยืนยันตามความเป็นจริง พระธรรมคือธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว แล้วพระสงฆ์ล่ะ เวลาพระสงฆ์ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันจะยืนยันความเป็นจริงของเราให้กับเราได้

ถ้าไม่ยืนยันความเป็นจริงให้กับใจเราได้ เห็นไหม เรานะ จิตใจเราคาดเดาไม่ได้ มันต่ำต้อย เราก็ไปเห็นอิทธิฤทธิ์ อภินิหาร เห็นความรู้แปลก ๆ ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม เราไปเห็นแล้วเราทึ่งไง นี่ถ้าเป็นธรรมนะต้องไปที่สนามบิน แล้วกราบเครื่องสแกน กราบเลย เพราะเวลาคนพกอาวุธไปนี่มันร้องทั้งนั้นน่ะ ทำไมไม่กราบมัน เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ทั้งนั้น

แต่ธรรมะนี่สิ ธรรมะเวลามันเข้าไปถึงหัวใจ มันเข้าไปถึงหัวใจได้อย่างไร ถ้าเข้าไปถึงหัวใจได้ การเข้าถึงหัวใจมันมีขั้นตอนของมัน ถ้ามีขั้นตอนของมัน เห็นไหม รัตนตรัยเป็นที่พึ่งของเรา โลกจะเป็นอย่างไร ความฉ้อฉล ความเป็นไปของโลก ความเป็นไปของผู้ชี้นำนั้น อันนั้นเป็นเรื่องของเขานะ

อย่างเช่นที่เขาว่าปล่อยปลาอะไร กินปลานั้นไม่ได้...มันเกินไป มันเกินไป มันเป็นการคลุกเคล้าไง ทำไมมันจะกินไม่ได้

เนื้อ ๓ ส่วนนะ เวลาเทวทัตไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่าไม่ให้ฉันเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต ถ้าอนุญาต มันไปตัดรอนความดีของคนมหาศาลเลย

ในสมัยพุทธกาลนะ เวลาควายมันจะตาย เห็นไหม เวลามันทำงานอยู่มันทุกข์มันยากของมันมาก แล้วมันเห็นคนไปวัดไปวา เห็นคนไปทำบุญกุศล มันก็อยากจะเป็นอย่างนั้น มันอยากจะพ้นจากทุกข์ เพราะควายเวลาเขารำพันนะ เวลาไถนาก็ต้องเอาใจเจ้าของ จะทำอะไรก็ดูว่าเจ้าของจะอนุญาตไหม ถ้าไม่อนุญาตนะเขาไม่ให้กินด้วย เขาตีเอาด้วย มันเจ็บปวดไปหมด แต่ถ้าเป็นคนมันมีสิทธิ มันมีกฎหมายคุ้มครอง

เวลาเขาตายลงนะ เขามาเข้าฝันพระที่ว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก “เกิดมาเป็นควาย มันทุกข์มันยากขนาดนี้ แล้วบัดนี้มันก็ตายลงแล้ว ถ้าพรุ่งนี้เขาเอาเนื้อมา หรือว่าเขาเอาสิ่งใดมาถวาย ขอให้ฉันให้หน่อย”

ขอให้ฉันเพราะเขาจะได้ประโยชน์จากเนื้อของเขา เขาไม่มีสิ่งใดทำประโยชน์ได้เลย เขาขอให้ฉันเนื้อของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา ได้ทำบุญเพื่อเขาตายแล้ว เขาจะได้ไปเกิดเป็นบุญกุศลของเขาบ้าง นี่ไง ทำไมเขาขอให้กินล่ะ สัตว์ตัวนั้นมันขอให้กินด้วยนะ

นี้บอกปล่อยปลาอะไร กินปลานั้นไม่ได้...มันปลาคนละตัว ถ้ามันเป็นปลาตัวเดียวกัน มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา

เนื้อ ๓ ส่วนที่พระฉันได้

๑. ไม่ได้เห็น

๒. ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง

๓. ไม่รับรู้ต่าง ๆ ทั้งสิ้น

มันเป็นเรื่องเวรกรรมของสัตว์ เวลาควายมันจะตาย มันยังมาเข้านิมิตเลย ขอให้กินเนื้อมันเพื่อประโยชน์กับมัน เห็นไหม แล้วนั่นเขาบอกว่าปล่อยปลาอะไร กินปลานั้นไม่ได้ พออย่างนี้มันก็จะไปขัดแย้งกับสังคมไปหมดนะ มันจะเกร็งไปหมด ชีวิตเรานี่จะเกร็งไปหมดเลย ทำอะไรมันจะติดขัดไปหมดเลย

เราเข้าไปในร้านอาหาร ร้านอาหารนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของร้านอาหารนั้นเขาไปหาของเขามา แล้วถ้าเราไปร้านอาหาร เราสั่งอาหารอะไรมา เราสั่งที่เขาทำสำเร็จแล้ว...เขาทำสำเร็จแล้วนะ ไม่ใช่ว่ามันยังมีชีวิตอยู่ แล้วบอกเราต้องการตัวนี้ ๆ อันนั้นเพราะมันเจาะจง

“ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น” แต่อันนี้รู้เห็นไง เห็นสัตว์มันว่ายอยู่ในน้ำ “จะกินตัวนี้ จะกินตัวนี้” นั่นล่ะเจาะจง นี่กรรมชัดเจน จะเอาตัวนี้ แล้วเขาก็ฆ่าตัวนี้ให้เรา เห็นไหม อย่างนี้ผิด

แต่เราไม่รู้ไม่เห็น ของไม่รู้ไม่เห็น แล้วเราบอกว่า “มันเป็นกรรม เป็นกรรม” มันเป็นกรรมอะไรของมัน มันเป็นเรื่องของเขานะ นี้มันเป็นเรื่องของเขา

ถ้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะสอนอย่างนี้ แล้วนั่นเขาสอนอย่างไร แล้วมันเป็นรัตนตรัยไหม มันเป็นธรรมไหม ? มันไม่เป็นธรรม ถ้ามันเป็นธรรมนะ เป็นธรรม เป็นอิสรภาพ แต่ละคนมีสิทธิเหมือนกัน แล้วสัมมาอาชีวะแล้วแต่คนจะเลือก เลือกทำอาชีพใด ทำสิ่งใด ถ้าเขาต้องการอาชีพอย่างนั้น เขาทำอย่างนั้น เขาก็ต้องยอมรับเวรรับกรรมของเขาไป ไอ้เรามีอาชีพอย่างใด เราทำกรรมสิ่งใด มันหน้าที่ของเรา แต่เขาทำกรรมสิ่งนั้น

มันเป็นโวหารนะ “บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน” เขาว่ากันไป อย่างนี้พระบาปที่สุดเลย บิณฑบาตทุกวัน กินทุกวัน พระนี่บาปมาก เช้าขึ้นมาก็บิณฑบาตแล้ว ไปเอาบาปของเขามาหมดเลย เพราะโยมเขาทำกันหมด เขาทำอาหารมาใส่บาตร “บาปอยู่ที่คนทำ กรรมก็อยู่ที่พระ” พระฉันแล้วไง มันเป็นโวหาร

มันสัมมาอาชีวะนะ เนื้อมันถูกต้อง ถ้ามันถูกต้องแล้วนี่เราไม่ต้องไปอย่างนั้น กรณีอย่างนี้ มันเป็นกรณีที่ว่ามันเป็นโวหารแล้วพูดกันไป แล้วสังคมก็ติดข้องกันไป ถ้าติดข้องกันไปนะ เรามาพิจารณาของเราให้เป็นตามความเป็นจริงสิ ถ้าอย่างนี้ชีวิตจะอยู่กันอย่างไร

ถ้าอย่างนี้เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไปเอาพระเจ้าสุทโธทนะ ไปเอานางพิมพา ไปเอาราหุล แล้วสุดท้ายขึ้นไปเอาแม่บนดาวดึงส์

ทำไมแม่อยู่บนดาวดึงส์ ทำไมต้องไปเอาแม่ที่นู่นล่ะ ? เห็นไหม มันไม่เหมือนกัน สถานะของครอบครัว แม่ก็ไปอย่างหนึ่ง พ่อก็ไปอย่างหนึ่ง ภรรยาก็ไปอย่างหนึ่ง ลูกก็ไปอย่างหนึ่ง แต่เอาเป็นพระอรหันต์หมดเลย แต่การสอน เวลาจะไปเอานี่พระพุทธเจ้าเอาแตกต่างกัน

พระเจ้าสุทโธทนะเจ็บช้ำน้ำใจมากเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวช ก็อยากจะให้เป็นจักรพรรดิ ก็หวังกับราหุล ถึงเวลาแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มาเอาไปอีก นี่เจ็บช้ำมากนะ พอเจ็บช้ำมากถึงได้ขอพรไว้ว่า “ต่อไปนี้ ถ้าใครจะบวชต้องให้พ่อแม่อนุญาตก่อน” เพราะว่าพ่อแม่ไม่อนุญาต เห็นไหม

เพราะพระเจ้าสุทโธทนะก็หวังให้ราหุลเป็นจักรพรรดิ เสร็จแล้วก็ไม่ได้หมดเลย แต่นี่มันเป็นสมบัติทางโลก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการขึ้นมาแล้วนี่เป็นพระอรหันต์หมดเลย แล้วพอเป็นพระอรหันต์ วิธีการมันแตกต่างกัน

อันนี้ก็เหมือนกัน ความดำรงชีวิตของคนมันแตกต่างกัน อาชีพ หน้าที่การงานมันแตกต่างกัน แล้วจริตนิสัยของคนก็แตกต่างกัน แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเปิดกว้าง เห็นไหม เวลาขั้นของสัมมาสมาธิ เราทำความสงบของใจ นี่น้ำเต็มแก้ว แต่ในขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต

ถ้าปัญญามีขอบเขตนะ กิเลสมันหลบซ่อนแน่นอน กิเลสมันหลบซ่อนแล้วกิเลสมันบังเงานะ พอมันเป็นผู้มีอิทธิพลในหัวใจใช่ไหม มันให้ทำลายความรู้สึกนึกคิดหมดเลย แล้วมันก็มาอยู่ในความรู้สึกเรา

ทำลายความรู้สึกความนึกคิด แล้วใต้ความรู้สึกนึกคิดมันคืออะไร ? นี่มันหลบมันซ่อนอยู่ของมันนะ ถ้าปัญญามันต้องขุด ต้องคุ้ย ต้องถาก ต้องถาง ต้องพิจารณาของมันจนรอบ มันอยู่ที่ไหน มันมีอย่างไร พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คราดแล้ว หมั่นคราดหมั่นไถ

หลวงปู่มั่นบอกไว้ ทำนา ทำนาในที่เดิม ปู่ย่าตายายเราก็ทำนาบนที่ดินนี้ เราก็ทำนาบนที่ดินนี้ ลูกหลานเราก็ทำนาบนที่ดินนี้ หมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นพลิกหมั่นแพลง หมั่นดูแลรักษาหัวใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติก็ต้องทำในหัวใจของเรา ถ้าทำในหัวใจของเรา เราพิจารณาของเรา เราแก้ไขของเราไป ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ เราจะรู้ของเรา

กรณีอย่างนี้ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง เล่าให้ฟังว่า ชื่อหลวงปู่อุ่น หลวงปู่อุ่นเหมือนกัน นี่ก็ไม่ชอบเหมือนกัน นู่นก็กินไม่ได้ นี่ก็กินไม่ได้ หลวงปู่มั่นท่านเล่นเอาเลย “สอนผมมา สอนผมมา อะไรมันผิดมันถูก สอนผมมา”

หลวงปู่มั่นท่านเอาจนอยู่นะ เอาจนแบบว่าเลิกจากความทิฏฐิอันนั้น ว่าถ้าในสมัยปัจจุบันนี้เรากินอาหารเพื่อสุขภาพ อันนี้เพื่อสุขภาพ แต่มันไม่ใช่กินเพื่อชำระกิเลส นี่เพิ่มกิเลส มันมีแต่เพิ่มกิเลส เพราะมันเกิดทิฏฐิมานะในการกระทำของเราว่าสิ่งนี้ถูกต้องดีงาม มันจะเกิดไปเสริมทิฏฐิมานะ

การกินมันฆ่ากิเลสไม่ได้หรอก การกินไม่มีการชำระกิเลสได้ แต่การไม่กินสิชำระกิเลสได้ เพราะการไม่กิน มันหิว มันกระหาย มันมีความทุกข์ เราก็หาเหตุหาผลว่าทำไมมันทุกข์มันสุขอย่างไร ไอ้การไม่กินสิมันทำให้เรากระหาย ไอ้การกิน ยิ่งกินยิ่งสะสมขึ้นไป

ฉะนั้น การกิน การอยู่ ฆ่ากิเลสไม่ได้หรอก แต่การฆ่ากิเลสได้มันต้องใช้มรรคญาณ มันต้องใช้กิริยาของใจ เวลาใจมันขับมันเคลื่อนไปนี่เป็นกิริยาของมัน มันเป็นการกระทำของมัน เขาฆ่ากิเลสกันที่นั่น เขาฆ่ากิเลสกันที่มรรคญาณ เขาไม่ได้ฆ่ากิเลสกันที่การอยู่การกินนี้หรอก การอยู่การกินเรามีแต่เราจะผ่อน เห็นไหม อดนอนผ่อนอาหารให้มันน้อยลง ๆ ๆ ยิ่งน้อยลงขนาดไหน จิตใจมันยิ่งผ่องแผ้ว ๆ ผ่องแผ้วเพราะอะไร เพราะไม่มีอะไรทับมัน

“ธาตุขันธ์ทับจิต” เวลาธาตุขันธ์ เวลาอุดมสมบูรณ์ขึ้นไป กินอิ่มนอนอุ่นมันก็สัปหงกโงกง่วง “ธาตุ-ขันธ์” ขันธ์คือความรู้สึกนึกคิด เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันมีความทุกข์ความยาก ความทุกข์มันก็ทับจิต เวลามันทุกข์อะไรขึ้นมา มันดูแต่ความทุกข์ไง

หลวงตาสอนว่า “อย่าเสียดายอารมณ์ความรู้สึก” อารมณ์ความรู้สึก ความสุข ความทุกข์นั่นเราไปเสียดายมันไง อะไรเป็นอะไรก็จะไปกอดมันไว้ไง เราต้องพิจารณามัน ทำลายมัน พิจารณามัน พอมันโดนตีกระจายหมดแล้ว มันจะไม่มีในความรู้สึกนึกคิดของเรา

การที่ไม่มีในความรู้สึกนึกคิดของเราเพราะอะไรล่ะ ? เราใช้ปัญญาแยกแยะของเรา มันก็จะทำลายของมันไป ถ้ามันทำลายของมันไป แล้วมันเหลืออะไรล่ะ ? มันก็เหลือพลังงาน เหลือตัวของเราไง ถ้าเหลือตัวของเรา นี่มันเป็นความสุข ความสุขเพราะว่ามันปล่อยวางความเป็นภาระรุงรังของมัน ถ้ามันปล่อยภาระรุงรังของมัน เห็นไหม นี่ไง รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

“พระธรรม” ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรม แล้วสิ่งที่ว่าเราปล่อยนก ปล่อยปลา เราปล่อยชีวิตเขา เราให้ชีวิตเขา แล้วเราไปกินอะไรเขาอีกล่ะ

เราไม่ได้กินเขา เราปล่อยเขาไปแล้ว นกก็บินไปแล้ว ปลามันก็ลงน้ำไปแล้ว แล้วอาหารของเรา การดำรงชีวิตนี่ แล้วมันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นเนื้อ ๓ ส่วน ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่รู้อะไรเลย นี่เราไม่รู้สิ่งใด ๆ เลย

คนไม่รู้ เห็นไหม เขาบอก “ถ้าไม่รู้ ไม่ผิดพลาดเลยหรือ ?”

ถ้าไม่รู้ ทำไปมันก็ผิด แต่นี้มันเป็นผลของวัฏฏะนะ กรรมของเขาก็มี กรรมของเราก็มี เวลากรรมของเขา กรรมของเรา สิ่งต่าง ๆ ผลมันให้ของมัน เราจะไปโต้แย้งอย่างไรก็ไม่ได้ ฉะนั้น เราตั้งสติของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก รัตนตรัยเป็นที่พึ่งของเรา อย่างอื่นไม่ใช่ กรรมนะ กรรมก็คือกรรม แต่สัจธรรมก็คือสัจธรรม เราพยายามแสวงหาสัจธรรมของเรา เอาความจริงในหัวใจของเรา สิ่งนั้นมันเป็นผลของวัฏฏะมันให้นะ ดูสิเราเดินไปเหยียบหนาม มันก็เจ็บเท้า แล้วเราก็จะบ่งมันออก เราเหยียบเอง เจ็บเอง

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรา ความรู้สึกนึกคิดมันเหยียบย่ำหัวใจของเรา แล้วเราก็หลงผิดไป แต่ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทำความสงบของใจเข้ามา สิ่งที่มันเหยียบย่ำมา สิ่งที่มันปักเสียบหัวใจขึ้นมานี่ เราทำความสงบของใจเข้ามา มันจะหลุดออกไปจากใจของเรา แล้วเราพยายามสร้างปัญญาของเราขึ้นมา ถึงที่สุดแล้วเราจะเข้าใจสิ่งนี้หมด

มันเห็นแล้วมันขำ ปล่อยอะไรแล้วกินไม่ได้ มันเป็นไปได้อย่างไร ปล่อยปลาตัวหนึ่ง แล้วปลาทั้งโลกกับปลาตัวนั้นมันเหมือนกันได้อย่างไร ปลาตัวเดียวกับปลาทั้งโลก พูดออกมาได้อย่างไร งงมากเนาะ เอวัง