เทศน์บนศาลา

เทศน์ในวันอาสฬหบูชา

๑๙ ก.ค. ๒๕๔o

 

เทศน์ในวันอาสาฬหบูชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔o
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อย่างที่ว่านั่นนะ วันอาสาฬหบูชา...แล้วเราไม่ทำจริงจังนะ ขนาดที่อยู่กับครูบาอาจารย์น่ะ วันมาฆะ วันอะไรอะไรนี่ อยู่ในป่านะ ให้ทำเลย วันมาฆะ แม้แต่วันพระปกติก็ยังทำให้แบบว่าเปลี่ยนจากปกติ วันพระปกติใช่ไหม แต่เราไม่ให้เป็นปกติไง เราไม่ให้ทำเป็นปกติ

พอวันพระวันพิเศษ เราภาวนาตลอดรุ่งมาตลอด ภาวนามาตลอดรุ่งนะ เพราะปกติก็ภาวนาเป็นพื้นอยู่แล้วไง การภาวนาคือการเก็บเล็กผสมน้อยของหัวใจ การเก็บเล็กผสมน้อยในใจของตนให้มันเป็นรากเป็นฐานขึ้นมาไง

ใจหวั่นไหวนี่ ใจหวั่นไหว ใจทุกข์ ใจเดือดร้อน ใจตั้งมั่น ใจมีความสุข เราปล่อยให้หวั่นให้ไหว เราไม่เก็บเล็กผสมน้อยน่ะ ขนาดวันปกติก็ภาวนาเป็นพื้น วันพระวันเจ้านี่สว่างตลอดรุ่ง แล้วอย่างวันนี้วันอาสาฬหบูชา วันที่พระพุทธเจ้าประกาศสัจธรรม เราก็น่าจะได้ประโยชน์จากวันนี้มากมายเลย เราน่าจะได้ประโยชน์จากวันนี้

ขนาดพระพุทธเจ้าประกาศไว้นะ เหมือนมีคนมายัดเยียดสมบัติให้เราเลยนะ เมตตาขนาดนั้นนะ เพียงแต่ว่าสมบัติมันเป็นวัตถุ โอนเข้าบัญชีมันก็เป็นเงินเป็นทอง แต่นี่เป็นนามธรรม มันยัดเข้าไปในหัวใจเราไม่ได้ไง

พระพุทธเจ้าถึงได้บอก “เราตถาคตหรือครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ แนะแนวทางเท่านั้น การประพฤติปฏิบัติทุกๆ อย่าง เราต้องปฏิบัติขึ้นมาเองไง”

ถ้าเป็นการที่ยัดเข้ามาในหัวใจเราได้ รับรองเลยพระพุทธเจ้ายัดเข้ามาเลยล่ะ อยากให้เราได้ลิ้มรสอันนั้นเด็ดขาด แต่มันเป็นไปไม่ได้ไง เพราะหัวใจมันเป็นนามธรรมน่ะ มันส่งกระแสจิตได้ วูบๆ วาบๆ ให้พวกเรารู้สึกแปลกๆ แต่กิเลสนี่มันเป็นเนื้อเดียวกับหัวใจไง เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะว่าเราเกิดมานี่เกิดมาจากกิเลส กิเลสคือความเคยใจ คือความนอนเนื่องอันนั้นน่ะ มันสะสมอยู่ที่ใจ

ความสะสมอยู่ที่ใจ เริ่มต้นเข้าไปมันก็เลยเป็นประโยชน์ขึ้นมาไม่ได้ มันเลยเป็นโลกไปทั้งหมด เราก็ต้องใช้ปัญญาไง ปัญญาการเสริมตนเอง การเสริมตนเองไง ให้เห็นว่าตัวเองมีคุณค่า อย่ามองคุณค่าของตัวเอง มองถึงเขา มองถึงเราสิ มองถึงครั้งพุทธกาลก็มนุษย์ปุถุชน การแสวงหาก็แสวงหามาด้วยกัน

ปัจจุบันนี้มันก็มนุษย์ปุถุชน ปัจจุบันนี้ก็ทุกข์อันเดิม ทุกข์อันเดียวกันนะ เราไปเข้าใจว่าทุกข์สมัยพุทธกาลเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ทุกข์สมัยปัจจุบันนี้เป็นทุกข์ที่แปลกประหลาด เป็นทุกข์ที่มหัศจรรย์ เป็นทุกข์ที่ทำลายไม่ได้ไง เพราะมันต่างกาลต่างเวลา

ต่างกาลต่างเวลาตรงไหน ทุกข์มันก็อยู่ในหัวใจ อยู่ในหัวใจนะ ความเจ็บแสบปวดร้อนมันก็อยู่ที่หัวใจทั้งหมด ทุกข์สมัยพุทธกาลมันก็อยู่ที่ตรงนั้นล่ะ สิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ต่างออกไป แต่เนื้อหาสาระในเนื้อของทุกข์อันเดียวกันไง แต่เครื่องที่ทำให้เกิดให้ทุกข์มันเร็วขึ้น แล้วมันให้ผลรุนแรงด้วย แต่สมัยพุทธกาลนั้น เครื่องที่ส่งเสริมให้เกิดทุกข์นั้นเกิดช้าไง เกิดช้ากว่าทางนี้ เราเลยมองว่าทุกข์มันต่างกัน

กระแสที่ให้เกิดทุกข์นั้นเปลี่ยนสภาพเท่านั้น แต่เนื้อหาของทุกข์อันเดิม สัจธรรมก็ต้องอันเดิมสิ ฉะนั้น อาจารย์บอกว่า “ธรรมะนี้สดๆ ร้อนๆ” ไง “ยานี้สดๆ ร้อนๆ” ยาทางร่างกายยังมีการหมดอายุ เก็บไว้ในที่ร้อนยังจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่ศาสนธรรมนี้สดๆ ซิงๆ เข้าถึงใจได้ตลอดเวลาถ้าเราพิจารณา เราเป็นผู้ฉลาดเสียหน่อยเดียวเท่านั้นน่ะ

เราไม่เป็นผู้ที่ฉลาดพอนะ เราไม่เป็นผู้ที่ฉลาดพอเลย เราปล่อยให้โอกาส ปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า เห็นไหม ผ่านไปวันแล้ววันเล่าเลย ถ้าเราฉลาดพอ ปัจจุบันไง ปัจจุบันธรรมหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ การแก้ไขในปัจจุบันนี้ไง

เอกสารหรือสิ่งของ เราไปเก็บไว้ในตู้ ในที่เก็บของน่ะ เราต้องเอาออกมาเปิดใช่ไหม เราถึงจะทำงานได้ เราถึงจะได้แก้ไขหรือแต่งเติมเข้า หรือว่าเราจะเดินเรื่องต่อไป อันนี้ก็เหมือนกัน กาลเวลาที่เคลื่อนไปแล้วก็เหมือนกับเราเอาเก็บไว้ในตู้ในที่เก็บแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าปัจจุบันธรรมนี้แหละ กำหนดดู นี่แหละคือปัจจุบันธรรม ปัจจุบันเหตุ เหตุเกิดหรือเหตุไม่เกิด

ถ้าเหตุปัจจุบันนี้เกิด เราก็แก้ไขเหตุปัจจุบันนี้เลย แก้ไขเบื้องหน้าเดี๋ยวนี้ การแก้ไขเบื้องหน้าเดี๋ยวนี้นะ ถึงว่าเป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันธรรมเกิดขึ้นปั๊บ ความเป็นไปภายในก็จะเห็นเดี๋ยวนั้นเลย เห็นไหม ปัจจัตตัง ความรู้จำเพาะตนเกิดขึ้นทันที

ถึงว่าขณะนั่งปฏิบัตินี่เป็นผู้ที่มีวาสนา ขณะนั่งปฏิบัตินี่เป็นผู้ที่พร้อมไง

เราไปไสมานะ อย่างต้นไม้นี่ อย่างไม้จะเอามาก่อสร้าง กว่าเราจะ... ดูสิ กว่าจะโค่นในป่า กว่าจะเข็นออกมาจากป่า กว่าจะมาเข้าโรงเลื่อย กว่าจะมาถึงร้านค้า แล้วเราไปซื้อมา ซื้อมาเอามาส่งเราที่บ้าน ส่งที่บ้านเสร็จ เราถึงค่อยก่อบ้านสร้างเรือน เห็นไหม

ขณะที่จะมานั่งปฏิบัติอยู่นี่ ย้อนกลับไปถึงตอนที่เราไม่เห็นด้วยสิ ย้อนกลับไปตอนใจที่เราไม่คิดเรื่องอย่างนี้สิ มันก็เหมือนกันเลย เราเข็นตัวเราเอง เข็นใจเราเองจนมันอยู่ถึงปัจจุบันนี้ไง นี่เราถึงบอกว่าถ้าปัจจุบันนี้ประพฤติปฏิบัติอยู่ ทำไมเราไม่ได้มรรคไม่ได้ผลไง ไม่ได้สมความปรารถนา ถ้าย้อนกลับไปตรงนี้ เราเข็นตัวเรามานั่งปัจจุบันนี่เราถือเป็นคนมีบุญคนหนึ่งแล้ว เราเป็นคนมีบุญนะ มีบุญเพราะว่าเหมือนกับเราไปกดหน้าแป้นคอมพิวเตอร์น่ะ กดถูกคีย์ไม่ถูกคีย์ คำถามจอภาพจะออกมาหรือไม่ออกมา

อันนี้ก็เหมือนกัน เรามานั่งอยู่หน้าแป้นหัวใจแล้วไง กำหนดไว้เลย ดูว่ามันจะให้ผลตอบแทนกับเราอย่างไรไง กำหนดเอาไว้ กดด้วยนามธรรม กดด้วยสติไง สติกดมา กดมา ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา สติกดไว้ให้ตัวเองกำหนดอยู่กับที่ ไม่ให้จิตไหวออกไปไง ไม่ให้จิตไหวออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ เราจะกดต้องตั้งใจ เห็นไหม จะได้กดถูกที่ กดถูกอักษร แล้วคำตอบจะตอบออกมา

นี่ก็เหมือนกัน เรากำหนดให้ดี อย่าให้แส่ออกไป พอแส่ออกไป นั่นน่ะ ผิดที่ผิดฐาน ออกไปข้างนอก ออกไปข้างนอกเลย ออกไปข้างนอกก็ชักกลับมา ชักกลับมา ชักกลับมาซ้อนน่ะ ซ้อนกระดาษเห็นไหม กระดาษเราซ้อนเป็นแผ่นๆๆ มันก็หนาขึ้นมาได้...นามธรรมมันก็เป็นแบบนั้น แต่เราไม่เห็นภาพเท่านั้นเอง

เรากดไว้ เรารักษาไว้ ให้มันทรงขึ้นมา ทรงขึ้นมานะ จิตตั้งมั่นไง จิตตั้งมั่นมันต้องอาศัยตัวนี้มากที่สุดเลย จิตตั้งมั่น จิตเป็นสุข คือมันเป็นอิสระเสรีจากกิเลสไง อิสระเสรีจากความยุแยง ความยุแหย่ ความยุแหย่ให้ออกจากตรงนี้ไง

การปฏิบัติ ความเฉยอยู่น่ะ อุเบกขามันก็จะไหลลงต่ำ ความไม่ได้คิดนะ แล้วพอเริ่มคิดมันก็วิ่งไปอีก เริ่มคิด คิดออก คิดออก คิดออก เราก็ต้องใช้ปัญญาคิดกลับไง ใช้ปัญญาต่อสู้อย่างที่พูดมาแต่ต้นนั่นล่ะ นี่คือการใช้ปัญญา แต่ปัญญาอันนี้มันเป็นปัญญาที่เราเอาจากข้างนอกเข้ามาไง ปัญญาแบบวิชาการเดี๋ยวนี้ เราเอาจากเมืองนอกเข้ามาเห็นไหม แล้วเราก็มาศึกษาเล่าเรียนกัน

ปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า ปัญญาของครูบาอาจารย์ก็เป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ แต่ก็อาศัยปัญญาอันนั้นมาจุดไฟปัญญาในหัวใจของเรา

ถึงได้พูดแต่เริ่มวางมาเลยว่าเรามีวาสนา เราเป็นคนมีบุญมีกุศล เราเป็นคนมีโอกาสไง มันถึงว่าเราถึงมีไง มันมีฐานไง เหมือนมีชาม มีภาชนะใส่อาหารไง เราถึงจะไม่มี เราก็เดินไปโรงทานสิ เขาก็ตักใส่ภาชนะให้เรา เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ก็ตักใส่ให้แล้ว ชามหรือภาชนะคือเรานี่แหละ คือใจเรานี่ มันจับติดไหมล่ะ จับแล้วหลุดมือ จับแล้วหลุดมือไง ใส่มาในถ้วยในภาชนะก็ทำหกซะ เก็บไว้ต่อเติมไปไม่ได้ เห็นไหม ใส่ภาชนะนะ เก็บไว้ในภาชนะ เพราะจิตนี้มันไม่ดื่มกินไง จิตนี้เสวยอารมณ์ จิตนี้เป็นผู้หิวโหยไง

คนเราหิวข้าวหิวน้ำยังหาดื่มกินเพื่อให้คลายความทุกข์ความร้อน แต่หัวใจนี่มันร้อนๆๆ นะ แล้วก็มีภาชนะอยู่นี่ ใส่เข้าไปแล้วมันก็ยังกินไม่เป็น เห็นไหม มันยังเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ดูสิว่าเราโง่หรือเราฉลาด เราต้องคิดอย่างนั้นเลย จะว่าเราเป็นคนโง่หรือเราเป็นคนฉลาดล่ะ?

ถ้าเราเป็นคนฉลาด มันก็มีพร้อมอยู่ ทำไมเราไม่สามารถให้หัวใจเราดื่มกินหรือเสวยอารมณ์แบบนี้ได้ล่ะ...พลิกแพลงไป พลิกแพลงมาน่ะ ดูใจของตัวแล้วเอามาเป็นประโยชน์ พลิกแพลงสิ

อารมณ์ภายนอกน่ะของยืมมา ของยืมมา ของส่งมา ติดมือหรือไม่ติดมือ ติดมือไหม? ถ้าไม่ติดมือ เราก็ต้องพยายาม ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จต้องอยู่ที่นั่น ความพยายามไง ความพยายามภายนอก ความพยายามภายใน ความเข้มแข็งของกาย ความเข้มแข็งของใจ หัวใจเข้มแข็ง หัวใจกัดเพชร

“หัวใจเข้มแข็ง” ความเข้มแข็งเป็นผู้ที่มีพลัง เห็นไหม ความเข้มแข็ง ความอดทน ความต่อสู้ ความอยากได้ ความมุมานะ ความบากบั่น นี่กำลังใจเกิด กำลังใจจะเกิด เกิดขึ้นจากเราส่งเสริม ไม่ใช่เกิดขึ้นจากมันจะเกิดขึ้นด้วยตัวมันเอง

ถ้าตัวมันเองนี่มันก็เกิดๆ ดับๆ การที่ว่าเราเกิดๆ ดับๆ เกิดโดยความมันเอง เห็นไหม เดี๋ยวเราก็ร้อน เดี๋ยวเราก็หนาว มันเกิดโดยธรรมชาติของมัน จิตนี้มันรับรู้อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องสามารถควบคุมการเกิดการดับให้มันเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เหมือนเราควบคุมสวิตซ์ ควบคุมที่ว่าเราจะเปิดปิดตามแต่ความต้องการของเรา นี่ถ้าฝึกไปมันจะมีความชำนาญไง มีความชำนาญ มีความกำหนดอยู่ การเพ่งอยู่ ความชำนาญให้มากขึ้นมากขึ้น ความชำนาญไง

แต่เรามันมี “ความชำนอน” เพราะมันทำไปแล้วมันปล่อยไปตามเหตุตามผล ตามมันเป็นจะเป็นไป เราไม่ฝืน ความชำนาญอยู่ที่การฝืนไง “ความชำนาญ” อันนี้พอปฏิบัติมากมันกลับเป็นความชำนาญในการที่ไม่สู้ไง ความชำนาญในทางไม่สู้ว่า “เราเป็นผู้มีวาสนาน้อยไง เราเป็นผู้มีวาสนาน้อย เราทำปฏิบัติมาแล้วไม่ได้ผล” มันจะคิดอย่างนั้นตลอด

การปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล เห็นไหม ปฏิบัติอย่างไรถึงไม่ได้ผลล่ะ? ปฏิบัติอย่างไรถึงไม่ได้ผล?

“ปฏิบัติต้องได้ผล” เหตุสมควรแล้วผลต้องเกิดทันที เหตุสมควรไง เหตุสมควรไม่สมควร พลิกใจนะ พลิกความคิด พลิกให้ลงระหว่างกลาง...เพราะเราไปยึดไง เราไปคาดหมายไว้มาก เราไปคาดหมาย ทุกคนฟังเหตุของครูบาอาจารย์ไง “พระองค์นั้นสำเร็จที่นั่น พระองค์นี้สำเร็จที่นี่ คนนั้นได้มรรคได้ผลที่นั่น” อันนั้นมันเสริมกำลังใจ อันนั้นมันเสริมกำลังใจนะ แต่เราไปคาดหมายนี่ คาดหมายว่าเป็นอย่างนั้น เห็นไหม “วิปัสสนึก”

การฟัง การจับ การยึดมานั่นน่ะ แล้วเราคาดให้มันเป็นตามน่ะ มันจะไม่เป็นตามนั้นหรอก การยึดมาแล้วมาใคร่ครวญนั้นอีกเรื่องหนึ่ง การยึดอยากให้เป็นไปนั้นอย่างหนึ่ง จิตใต้สำนึกนี้ร้ายกาจมาก การได้ยินได้ฟังมากๆ มันก็เป็นโทษเวลาปฏิบัติ

เวลาได้ยินได้ฟังมาเพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อธรรมไง

ธรรมคือธรรม แต่กิเลสในหัวใจมันยึดไว้ก่อนแล้วมันจะทำให้เป็นไปสภาพแบบนั้นไง

๑. ไม่เป็นไปสภาพแบบนั้น

๒. ความนึกที่เป็นความคิดว่ามันเป็นอย่างนั้นแล้วไม่เป็นจริง

อันนั้นมันเป็นอารมณ์ที่แปรปรวนไปแล้ว

๑. ผิด

๒. เสพสิ่งที่ผิด

ฉะนั้นอันนี้ต้องวางให้ได้ก่อน ความรู้นี้เก็บเข้าในตู้ แล้วใส่กุญแจไว้ด้วย กำหนดแบบคนที่ไม่รู้ไง พุทโธ พุทโธ หรือกำหนดตั้งใจไว้เฉยๆ แบบคนไม่รู้ เวลาจะเปรียบเทียบไป เปรียบเทียบขณะที่มันเดินปัญญา ขณะเดินปัญญามันจะเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติเลย

แต่ขณะสมถะ ขณะทำความสงบนี้เปรียบเทียบไม่ได้ ต้องดึงไว้ให้ลงไป ให้ลงไป ให้ลงไปให้ลงไปอย่างเดียว กำหนดไว้อย่างเดียว เว้นไว้แต่เป็นปัญญาอบรมสมาธิไง แต่อันนี้มันไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิ ขณะนี้เราทำความสงบใช่ไหม เป็นสมถะ เป็นสมถะเลย เราต้องทำใจเราให้ลง ไปคาดไปหมายไม่ได้ เพราะว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญต่อสู้ไป ไม่ใช่การคาดหมาย

เพราะการคาดหมายนี้ มันจะอยู่ในการทำสมถะนี่ “สมาธิจะเป็นอย่างนั้น สมาธิเป็นแบบนั้น” พอสมาธิมันลงไปแล้ว เพราะว่าการเดินมา เสพอารมณ์ที่ผิด การเดินการใคร่ครวญนี้ อันนี้ว่าเป็นวิปัสสนา พอมันเกิดถ้ามันลงไปอย่างนี้ จะว่าสำคัญตน

“การสำคัญตน” เห็นไหม ถึงว่า “ทุกข์นี้ควรกำหนด” ทุกข์นี้ควรกำหนดไง พระพุทธเจ้าสอนไง ธัมมจักฯ ไง อริยสัจ เกิดญาณ เกิดวิชชา เกิดความสว่าง เกิดความรู้แจ้ง เกิดญาณ การเกิดนี้มันเกิดขึ้นด้วยวิธีใด เราว่าการเกิดๆ คือว่ามันเกิดขึ้นมาเองเหรอ...ยังว่าจิตสงบแล้วจะเห็นกิเลส จิตสงบแล้วมันจะเห็นตัวกิเลสเอง แล้วมันจะชำระกิเลสเอง...มันก็ผิดสิ

จิตนี้ควรกำหนด ทุกข์นี้ควรกำหนด กิจที่ควรทำเห็นไหม ควรทำ กิจที่ควรทำ แต่ถ้ากิจที่ต้องทำเลย “กิจที่ต้องทำ” ควรกำหนดเรากำหนดไปที่นั่น กำหนดไปที่ทุกข์ ทุกข์ในอะไร ทุกข์ในการนั่งมันเกิดเวทนา เห็นไหม ทุกข์อย่างที่ว่าทุกข์เรื่องการประกอบอาชีพนั้นทุกข์ภายนอก เพราะทุกข์ภายนอกนั้นมันเพื่อจะตัด ลด ละจิตเราเข้ามา

แต่ทุกข์ภายใน ทุกข์ภายในนี่ทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ภายนอกนั้นทุกข์สืบเนื่องออกไปจากอารมณ์ไปรับรู้ พอกำหนดจิตสงบเข้ามา สงบเข้ามาน่ะ จิตนี้สงบเข้ามาก็มีความร่มเย็น คือว่าเราเป็นอิสระจากโลก เพราะเราไม่เกาะเกี่ยวกับโลก

พอไม่เกาะเกี่ยวกับโลก จิตมันก็เข้ามาเป็นไปเป็นภายใน จิตเข้ามาเป็นภายในนะ กำหนดทุกข์ภายในไง

กำหนดทุกข์ที่เวทนา เห็นไหม การเจ็บ การปวด ทุกข์ที่เวทนา

กำหนดดูทุกข์ที่กาย

กำหนดดูทุกข์ที่จิต

กำหนดดูทุกข์ที่ธรรมารมณ์ การกระทบภายในหัวใจ

นี่มันเป็นทุกข์ภายในไง นี่กิจที่ควรทำ กิจข้างนอกนั้นเป็นที่เครื่องอาศัย กิจข้างนอกน่ะ ทีนี้ กิจข้างใน เราละเข้ามาแล้ว ละเข้ามาแล้วน่ะ ตัดรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก ความสืบต่อของใจที่ไปเกาะเกี่ยว ใจไม่สงบเพราะมันเกาะเกี่ยว ๓ โลกธาตุ

อย่าว่าแต่โลกธาตุนี้เลย... ๓ โลกธาตุ แม้แต่มันน้อมนึกไปถึงสวรรค์ น้อมนึกไปถึงนรก เห็นไหม แล้วเราตัดเข้ามา ตัดเข้ามาไง จิตนี้หดมา หดตัวเข้ามา หดตัวไม่เข้าไปรับรู้สิ่งต่างๆ ใน ๓ โลกธาตุนี้ หดตัวเข้ามา หดตัวจากโลก หดตัวว่าเพื่อเป็นความอิสระของตัว ความอิสระในการเกาะเกี่ยวภายนอก

“กัลป์ยาณปุถุชน” กัลยาณปุถุชนนี้เป็นผู้ที่สมควรเดินอริยมรรค กัลยาณปุถุชนนี้เป็นผู้ที่ไม่เกาะเกี่ยวกับความเหยื่อภายนอก เหยื่อภายนอกไง เป็นพวงดอกไม้ของมารไง มารอยู่ภายในแต่ไปเกาะเกี่ยวส่วนนี้ภายนอก พอเรารู้เท่าทันสิ่งที่ไปเกาะเกี่ยว เราตัดกระแสการออกไป ไม่ให้กระแสจิตนี้ออกไปเกาะเกี่ยวภายนอก มันจะอยู่แต่ภายในแล้วกำหนดได้ แล้วจะรู้เท่า รู้เท่าจิตภายในไง

จิตนี้เดิมมันครอบ ๓ โลกธาตุ เหมือนกับแสงสว่างที่มันกระจายตัวออกไป แล้วเป็นหลอดไฟน่ะ แสงสว่างในหลอดไฟ เห็นไหม ในหลอดไฟ สิ่งที่กระจายออกไปนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่าแสงออกไปโดยธรรมชาติ แต่หัวใจที่ออกไปนั้น มันก็ออกไปโดยธรรมชาติ แต่แสงที่ออกไปโดยธรรมชาตินี้เป็นแสงของใจ แต่ความรู้สึกในแสงนั้นล่ะ

นี่ตัวดวงจิตมันเป็นแบบนั้น เพราะว่าไฟที่ส่งออกไปเป็นไฟ แต่ความร้อนในไฟ ความรู้สึกอันนั้นดึงกลับเข้ามา มันจะเป็นความรู้สึกภายในหลอด หลอดคือภายในตัวเราเอง ภายในตัวของเราเอง นี่เริ่มกำหนด ถ้ากำหนดข้างนอก เป้ามันใหญ่แล้วเรากำหนดไม่ได้ พอกำหนดมาอยู่ภายในตัวของเราเองแล้ว จิตนี้มันเริ่มเป็นอิสระ มันก็หาสิ

จากที่เป็นขี้ข้าไง จากที่เป็นต้องไปเกาะเกี่ยวโลก มันส่งกระแสไปเหมือนกับเราเป็นกรรมกรคนหนึ่ง รับจ้างแบกทุกอย่างใน ๓ โลกธาตุนี้ แบกมันทุกอย่างใน ๓ โลกธาตุนี้ แล้วเราสละทิ้งเลย เราเป็นผู้ที่อิสระจากการแบกหาม ๓ โลกธาตุนี้ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เราเป็นอิสระทั้งหมด

แต่อิสระในการแบกหามภายนอก การอิสระจากแบกหามภายนอก มันยังต้องกลับเข้ามาอีกนะ กลับเข้ามา กลับเข้ามาเป็นตัวเราน่ะ กลับเข้ามาถึงนี่ อย่างเช่น กรรมกรออกไปแบกหามภายนอก กลับเข้ามายังต้องมาทำงานในบ้านไง ยังไม่สำเร็จ ไปแบกหามภายนอกเพียงแต่เป็นวิชาชีพไง หาเงินหาทองมาเพื่อมาเยียวยาในครอบครัว ไปแบกไปหามภายนอกนั้นก็เป็นภายนอก

พอกลับเข้ามานี่ กลับเข้ามาดูภายในน่ะ มันก็ดูภายในสิ ดูภายใน มันสั้นเข้ามา สั้นเข้ามานะ จิตนี้สั้นเข้ามา ดูภายในรับรู้ไว้ตอนนี้ รับรู้ภายในไง มันจะเกิดขึ้น กายก็ได้ กาย กาย กายนอก กายใน ที่เห็นกายกายข้างนอก แต่เห็นกายในนี้เห็นจากสัจธรรม สัจธรรมนะ เห็นจากสัจธรรม ความเห็นจากสัจธรรมนี้มันไม่มีตัวตนไง

การเห็นว่าเราเห็น เราเป็นผู้เห็นน่ะ อันนั้นเห็นแล้วมันเป็นนิมิต มันรับรู้ แต่ขณะต่อสู้ ถ้าเห็นเป็นสัจธรรม มันไม่มีตัวตนในนั้น ความเป็นตัวตนจะหมดไปไง มันจะหมุนขึ้นไป คือว่าเป็นภาวนามยปัญญาไง หมุนขึ้นไป ปัญญาจะหมุนขึ้นไป จับพลิกจับหงาย จับพลิกจับหงาย ส่งขึ้นไปเรื่อย ส่งขึ้นไปเรื่อย จนมันหมุนในตัวมันเองได้ หมุนในตัวมันเองนะ

ความคิดนี้หมุนไปโดยเราจะเห็นเลย แปรสภาพไง กายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ใช่เรา ถ้ากายนี้เป็นเรา ทำไมความแปรปรวนไปเราควบคุมไม่ได้ ดูอย่างเล็บสิ อย่างเล็บอย่างผมเห็นไหม งอกตลอดเวลา งอกตลอดเวลา มันจะยาวออกมา เราต้องชำระ เราต้องตัดตลอดเวลา ถ้าเราแต่งเล็บให้สวยแล้วเราจะให้อยู่คงที่ได้ไหม...ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ นี่เปรียบเทียบภายนอก

แต่ถ้าเห็นภายในแล้วมันจะเร็วกว่านี้อีก มันจะแปรปรวนจะแปรสภาพให้เราดู แปรปรวนแปรสภาพนะ เพราะเราจับจิต เห็นไหม อย่างเช่น เห็นกายภายใน เพราะเป็นอิสระมาแล้ว เห็นกายภายใน ความเห็นน่ะเราจับไว้สิ ถ้าจิตมันไม่สงบพอ ฐานไม่แน่นพอ ภาพนั้นจะอยู่ไม่ได้ ภาพนั้นจะไหวไปตลอด เห็นแว็บๆๆๆ เข้ามา ถ้าเห็นเป็นแว็บๆ นะ นั่นจิตไม่มั่นคงพอ

แต่ถ้าไม่เห็นล่ะ ทีนี้ ขนาดจับเฉยๆ แล้วพอจับแล้ว ถ้าจิตเรากำหนดไม่มั่นคงพอ เราก็ปล่อยภาพนั้น กลับมากำหนดพุทโธ พุทโธ กำหนดจิตให้มั่น ถ้าเห็นอีก เราก็กำหนดดู กำหนดดูแล้วให้แปรสภาพไง ให้เป็นดิน ให้เป็นน้ำ นี่แปรสภาพนะ ถ้าเป็นเล็บหรือเป็นหนังน่ะให้มันขยายออก ดูความเร็วของมันสิ

การขยายออก คือว่ามันเห็นความแปรสภาพ ที่พูดว่า มันแปรสภาพนี้เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ใจเราก็ว่าแปรสภาพถ้าเราเรียน เราใคร่ครวญมา แต่อันนี้เป็นสัญญา ความเป็นสัญญานี่เชื่อด้วยสัญญาต่างกัน เพราะเราก็ว่าเราเชื่อด้วยสัญญา เราเข้าใจกันว่าหมด นี่ถึงว่ายืมมาไง นี่ถึงว่าเป็นสมบัติของครูบาอาจารย์ไง ศึกษามานี้เป็นสัญญาทั้งหมด

แต่ถ้ามันหยุดเป็นปัจจุบันธรรม มันไม่ใช่สัญญานะ มันเป็นความเห็นกับความเห็นต่อหน้าคือปัจจุบันธรรม แล้วมันจะแตกออกไปโดยเป็นปัจจุบันธรรมเหมือนกัน ความเห็นในปัจจุบันธรรมต้องเป็นปัจจุบันเท่านั้น มันถึงจะแก้ได้ ต้องเอาทุกอย่างมาไว้กองหน้าแล้วเปิดว่ากันขณะปัจจุบันนั้น

การพิจารณาก็เหมือนกัน เหตุปัจจุบันต่อหน้ามันแปรสภาพให้เห็นน่ะ ความที่ว่ามันหลอกอยู่ในใจ มันจะหลอกอยู่ได้อย่างไร เชื่อไหมว่าเชื่อลงไม่ถึงขั้วหัวใจไง เชื่อเพราะว่าสังคมว่าให้เชื่อ เชื่อเพราะเราศึกษามาให้เชื่อ “เชื่อ” เราสงสัยตัวเองทุกคนน่ะ เราก็เห็นตามนั้น เราก็เชื่อตามนั้น แต่ทำไมเราทำตามนั้นไม่ได้ นี่ความเชื่อภายนอกไง

แล้วพอมาถึงตรงนี้ มันถึงว่าร้อง “อ๋อ!” ไง มันเป็นแบบนี้เอง เอ๊ะ! ก็เมื่อก่อนเราก็ศึกษามา แต่ความรู้สึกจะไม่เป็นแบบนี้เด็ดขาด ความรู้สึกที่ศึกษาเล่าเรียนมาหรือฟังมา ซึ้งใจก็ซึ้งใจไปอย่างหนึ่ง แต่ถ้าปฏิบัติเข้าไปถึงจุดแล้วมันเป็นเนื้อเดียวกัน มันจะ “อ๋อ!” เลยนะ วิธีที่ออกจากกิเลสออกอย่างนี้เองไง มันจะออกโดยตัวของมันเอง

ถึงว่าธรรมเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้ ธรรมนี้ถึงว่าถึงเป็นของกลางไง

ธรรมของพระพุทธเจ้านี้ถึงเป็นของกลาง เพียงแต่ว่าเราจะน้อมเข้ามาใช้ประโยชน์ของเราได้ขนาดไหนเอง ธรรมเป็นของกลางนะ ธรรมที่เป็นกิริยาธรรมนะ แต่ธรรมแท้ๆ เราเป็นผู้ปฏิบัติขึ้นมา เราเป็นผู้เข็นขึ้นมาจากหัวใจของเรานะ จากนามธรรมในใจของเราไง ถึงว่าเป็นสมบัติของเราไง

ธรรมอันที่ว่าเราฟังมานั้นเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมของครูบาอาจารย์ แต่เราปฏิบัติขึ้นมาสัมผัสขึ้นมานั้น อันนี้แหละเป็นสมบัติแท้ เป็นสมบัติจริง เป็นธรรมของเรา เป็นธรรมของผู้ปฏิบัติ เป็นธรรมของบุคคลคนนั้นที่เป็นผู้ทำขึ้นมา มันจะรู้เองที่ใจ มันจะรู้เองเลย จะรู้จริงๆ

มันก็จะ “อ๋อ!” ไปเรื่อยเห็นไหม ถึงบางอ้อ ถึงบางอ๋อ บางอ้อเลย อ๋อๆๆๆ ขึ้นไป

เกิดขึ้นจากเรา เกิดขึ้นจากว่าความมั่นคง ความจริงจัง...ของมันมีอยู่แล้ว มันถึงว่าไม่เปลี่ยนจากนี้ไง เราถึงว่าให้เชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าไง ให้เชื่อมั่นในการประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไง ให้เชื่อมั่นแล้วให้หมั่นให้ทำ เราเชื่อมั่นนี่ ขาดเฉพาะความเพียรเท่านั้น

เด็กๆ ก็รู้น่ะ ความร้อนมันเผาให้ของสุกได้ เด็กๆ ก็รู้ แล้วเราว่าความเพียรที่การปฏิบัติน่ะ ถึงที่สุดแล้วมันต้องเป็นไปตามนั้น เราก็รู้ เห็นไหม เด็กๆ ก็รู้ แต่การกระทำน่ะผู้ใหญ่ยังทำยาก การกระทำมันทำยากไง

การพูด การบอก ทีเดียวมันก็เป็นขั้นตอนไป ขั้นตอนไป ขั้นตอนไป แต่เวลาลงมือนี่ทั้งชีวิต เพราะผลมันต่างกันไง เวลาเกิดมานี่ เกิดมาจากไม่มีภพนะ ไม่มีการนับต้นนับปลาย มันสะสมมาขนาดไหน มันสะสมขนาดไหน แล้วมันจะให้มันเบาๆ มือแล้วให้หลุดไป หลุดไป มันไม่ใช่ผงซักฟอกนี่ แช่ไว้ไม่ต้องขยี้มันก็ออก กิเลสมันยิ่งกว่านั้นนะ ผงซักฟอกแช่ไว้ ผ้ามันออกเพราะมันสะอาด เห็นไหม มันโดนขยำ แต่หัวใจนอนเนื่องอยู่ในสิ่งที่ไม่ใช่ผงซักฟอกเลย ธรรมของพระพุทธเจ้านี่ซักฟอกไง ธรรมของพระพุทธเจ้านี่ซักฟอก แต่เราไปนอนเนื่องอยู่ในอะไรล่ะ?

มันนอนเนื่องอยู่ในธรรม เห็นไหม ก็ต้องทำอย่างนี้ พวกเรานอนอยู่ในธรรม ประพฤติปฏิบัติ แช่อยู่ในผงซักฟอก มันจะเป็น-ไม่เป็นเราก็แช่อยู่ เราฝืนอยู่ แต่จริงๆ แล้วมันแช่อยู่หรือเปล่าล่ะ มันแช่อยู่ในธรรมนี้หรือไม่ หัวใจได้แช่อยู่ในธรรมหรือเปล่า? ถามตัวเองไง ต้องถามตัวเอง เราเป็นผู้ถามตัวเอง มันจะสมัครใจ พอใจทำ

ถ้ามันขนาดเห็นธรรมแล้วน่ะ มันก็ยังคิดออกนอกเรื่องนอกราวนะ คิดออกไปนอกเรื่องนอกราวไปเรื่อย ไปเรื่อย ต้องคอยน้อมกลับมา คอยต่อสู้ไง ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์คอยบอก มันจะหยุดเลย มันจะหยุดว่า “แค่นี้แหละ มันพอกินพอใช้ไง”

ความดื้อด้านของใจ ๑

ความไม่เคยรู้เท่า ๑

ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ๑

ไปถึงจุดนั้นมันก็ถือว่าตรงนี้เป็นบั้นปลายแล้วไง ทั้งๆ ที่เริ่มต้นนะ ถึงว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ลึกซึ้งมาก กว้างขวางมาก ไม่สามารถวัดได้ทั้งทางแง่กว้างและแง่ลึก วัตถุใดๆ ยังคำนวณออกมาได้ แต่นี้คำนวณไม่ได้ คำนวณออกมาเป็นแง่ลึกแง่ตื้นไม่ได้เลย

แม้แต่ความลงเป็นสมาธิ มันยังวืดๆ วืดๆ วืดๆ ดิ่งลงไปนี่ไม่รู้ที่สิ้นสุด ความรู้สึกมันไปมากเลย ถึงฐานของจิต พักอยู่นั่นน่ะ นี่ความลึก นี่ลึกอยู่ในขอบเขตไง แต่ถึงจุดแล้วมันว่างเวิ้งว้างไม่มีที่ขอบเขตเลย ความลึกของธรรมะไง ความลึกและความกว้าง

ถึงกับขอบคุณไง ถึงขอบคุณ ถึงนึกซึ้งคุณของพระพุทธเจ้า สิ่งที่กว้างทำให้แคบเข้ามา ให้เราจับขอบได้ ให้เราสามารถเริ่มต้นได้ เริ่มดำเนินได้...

(ไม่มีเสียงเทป)

...ความรู้สึกมันกว้างขวาง นั่นก็ขอบ ให้เป็นบัญญัติออกมาเป็นขันธ์ ๕ ไง “รูป” รูปของจิต รูปของความรู้สึก เวทนาคือความเข้าไปรับรู้รูปนั้น กระทบรูปนั้น เห็นไหม มันก็สื่อกันได้ สัญญาคือเริ่มต้นคิด สัญญา ความคิดนี้มาจากไหน? ความคิดมีสัญญา สัญญาเริ่มต้น สังขารก็ปรุง วิญญาณรับรู้ ครบรอบของรูปของจิต

นี่สื่อได้เลย นี่ขอบไว้ ขีดไว้ให้เป็นบัญญัติไง จากสมมุติมาเป็นบัญญัติ แล้วบัญญัติก็มาคุยกันในบัญญัตินั้น อาการแบบนี้ อาการแบบนี้ อาการแบบนี้... ถ้าไม่บัญญัติไว้มันก็กว้างจนจับต้องไม่ได้ แต่ลึกนี่ลึกมากนะ ก็ยังให้ออกมาเป็นสมาบัติ ฌาน ๔ เป็นอะไรมันก็ว่ากันไป เพื่อให้สื่อกันรู้เรื่องไง นี่พระพุทธเจ้าทำไว้ ความลึก ความตื้น

แล้วต่อไปก็จะเพี้ยนไป เพี้ยนไปน่ะ มันถึงจะต้องคิดไง เพี้ยนไป เพี้ยนไปนะ ต่างคนต่างว่ากันไป ตำราใครอีกอย่างหนึ่ง ในวงปฏิบัติไง เราถึงต้องรีบขวนขวาย ให้เรายิ่งต้องรีบเร่งไง เพราะมัน... ต่อไปนี่เห็นไหม ใครจะบอกความจริงกับเราล่ะ

พระพุทธเจ้าวางไว้ในพระไตรปิฎก ก็อย่างว่าแหละ อ่านพระไตรปิฎกมันก็ต้องไปงงอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ไปงงอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นนะ แต่ถ้าเราปฏิบัติมานี่ มัน “อ๋อ!” มาเรื่อย “อ๋อ!” มาเรื่อย “อ๋อ!” มาเรื่อยไง นี่สมบัติของเรา สมบัติของเราไง มันถึงว่าต้องรีบเร่ง

ปล่อยช้าไป ช้าไปนะ ช้าไปถึงจุดหนึ่งแล้วกลับมาปฏิบัติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ช้าไปด้วยความชินชาเป็นอีกอย่างหนึ่ง

“ความชินชา” ความชินชาเหมือนการดินพอกหางหมู ความชินชาไง ถึงต้องทำให้ตัวเองไม่ชินชากับในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น พลิกหัวใจไง พลิกหัวใจของเรา พลิกดู พลิกดู ไม่ไปชินชากับสิ่งที่เป็นอารมณ์เดิม มันต้องมีความใหม่ขึ้นมาตลอดเวลาไง อาหารใหม่ยกออกจากเตานี่น่ารับประทานทั้งนั้นน่ะ ปล่อยไว้มันก็บูด

แต่อารมณ์เก่าๆ นี่ไม่เคยบูด เราก็ซ้ำเดิมอยู่นะ ซ้ำแต่ของเก่านั่นเห็นไหม เพราะเราไม่ได้พลิกของใหม่ กิริยานั่งปฏิบัติก็กิริยาเดิมนี่แหละ แต่หัวใจมันใหม่ไง หัวใจเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนอาการของใจไป เข็นครกขึ้นภูเขา

ทีนี้ ถ้าปล่อยครกไหลมาจากภูเขาล่ะ ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ มันก็เหมือนกับนะ มันมีไหลลงไปน่ะ เราเข็นไม่ขึ้น เข็นไม่ขึ้น เห็นไหม เราเข็นไม่ขึ้น เราก็เปลี่ยนวิธีใหม่ เปลี่ยนวิธีใหม่ ใช้งัดขึ้นไปอย่างไร ใช้อะไรหนุนไว้อย่างไร เพื่อจะเอาครกนี้ขึ้นภูเขา ขึ้นภูเขาก็ขึ้นสุดยอดของความรู้สึกไง เพราะสมาธิขั้นต่อไปมันก็ต้องเติมมาตลอด

พอปฏิบัติไป มันปฏิบัติไป ปฏิบัติมันฟั่นเฟือน การพิจารณาต่อมากๆ ก็ฟั่นเฟือน ต้องกลับมาพักตรงสมาธินี้ ฉะนั้น สมาธิของพระโสดาบัน สมาธิของพระสกิทาคามี สมาธิของพระอนาคามี มันก็ต้องมีไปตลอด แล้วการจะมีสมาธิในขั้นสูง เห็นไหม เป็นมหาสติ-มหาปัญญา การจับต้องง่ายกว่า การจับต้องง่ายกว่านะ การปฏิบัติขั้นแรกๆ นี่เป็นสติเป็นปัญญา เป็นสติเป็นปัญญามันจับต้องแล้วมันเป็นไปเลย

แต่ข้างบนน่ะ มันจับแล้วมันหาย เพราะมันจับนามธรรม เพราะถ้าละสักกายทิฏฐิแล้ว ละกายนี้ออกไป ถึงจะเป็นกายก็เป็นกายใน กายในที่เป็นกายของขันธ์ กายในเป็นกายภายใน การพิจารณากายภายในเป็นอสุภะ อสุภังไง การพิจารณาอสุภะ เพราะกายภายในมันจะเป็นอสุภะ กายภายนอกนี้มันเป็นความเปลี่ยนแปลง ความแปรสภาพ แต่กายภายในเป็นกายสกปรก อสุภะคือความสกปรก ความโสโครก

ความโสโครกนั้นเกิดจากอสุภะที่ใจ เห็นไหม กายภายใน ใจภายในเพ่งอสุภะอยู่ ภายในมันถึงว่าเป็นมหาสติ เพราะมันจับแล้วจับต้องไม่ได้ มันเป็นความสกปรก มันเป็นความรู้ในความสกปรกนั้นไง มันไม่ใช่ความสะอาด พิจารณาความสกปรกดูสิ ว่าความสกปรก ความโสโครกมันเป็นอย่างไร

ความสกปรกมันเข้ากับความสกปรก เพราะสิ่งที่เกิดจากความสกปรก เห็นไหม อย่างเช่นวัตถุอินทรีย์ที่ปลูกต้นไม้น่ะ บัวเกิดจากตม ความสกปรกนั้นทำให้เกิดคิดอารมณ์ความสกปรกออกมา เราว่าจิตนี้เป็นความสกปรก เราต้องชำระในความสกปรกนั้น แต่จะชำระด้วยอะไร?

ชำระด้วย...เพราะมันเป็นความสกปรก นั่นเป็นภายใน มันเกิดขึ้นได้เร็วมาก ก็ต้องเอามหาสติ-มหาปัญญาที่จับต้อง อาวุธไง ธรรมาวุธเข้าไปชำระตรงนี้ไง “ธรรมาวุธ” วุธที่เป็นธรรม วุธที่เป็นอาวุธ อาวุธอย่างยอด หักเข้าไปตรงนั้นสิ

อสุภะคู่กับสุภะ ความสวยความงามในหัวใจในอารมณ์ความคิดภายใน เปรียบเทียบดู กับความคิดภายในที่มันเป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม สุภะเทียบกับอสุภะ พิจารณาเป็นอสุภะไป อสุภะไปไง

พิจารณาอสุภะไป มันก็จะนอนเนื่องเพราะความ...เราพิจารณาเป็นอสุภะไป มันเห็นตามความเป็นอสุภะจริงอยู่ แต่กิเลสมันอยู่ในนั้น มันก็จะพานอนเนื่องออกไปด้วย พิจารณาอสุภะแล้วให้รู้เท่าความจริงแล้วแยกแยะออก มันจะแยกอสุภะ มันจะแยกกายในออกไป ถ้าเข้าใจแล้วมันจะปล่อยกายภายในไง นี่ภายในจะปล่อยอย่างนั้น

ปล่อยกายภายในแล้วจิตนี้ก็เป็นจิตที่สุภะ สวยล้วนๆ พิจารณากลับมาที่ความสุภะนั้นน่ะ กลับมาดูอีก เพราะมันหลุดออกไปแล้ว มันจะว่าอันนั้นเป็นความว่างแล้ว เป็นความว่างแล้ว แต่ความว่างอันนี้มันว่างแบบว่ามันยังยึดอยู่ อ้าว! ความว่างทำไมมันยึดอยู่ล่ะ ความว่างเป็นความว่างสิ แต่เศษส่วนมันยังมีอยู่ในนี้ไง ถึงว่าพิจารณาอสุภะไป พิจารณาอสุภะไปจนมันแตกสลาย พิจารณาสุภะด้วย เศษส่วนภายในยังมีอยู่นะ ชำระเศษส่วนภายใน ถึงว่าเป็นมหาสติ-มหาปัญญาไง

นี่จิตมันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ถึงว่าลึกมาก ลึกจริงๆ ความลึกก็มีลึกอย่างทางสมาธิมาอย่างหยาบมา ลึกภายใน ลึกจากสภาวธรรมเลย สภาวธรรมเป็นไปตามความเป็นจริงภายใน ว่างขนาดไหนแล้วมันก็ยังมีผู้ที่ว่าคำนวณได้ ยังจับต้องได้ในความว่างนั้นน่ะ

สมาธิก็เป็นความว่าง แต่ความว่างด้วยกิเลส แต่ความชำระสะสางที่อสุภะนี้เป็นการพิจารณาเชื้อโรคในความว่างนั้น ในความว่างนั้นมีอณูที่เป็นเชื้อโรคอยู่ พอกำจัดออกไปแล้ว มันก็ละเอียดเข้าไปอีก มันก็ยังมีเชื้อที่ละเอียดกว่านั้นอีก มันเป็นซับเป็นซ้อนเข้าไป เพราะมันว่างออกหมด เมื่อก่อนยังมีเครื่องมือเข้าไปจับต้อง เข้าไปจับต้อง

นี่มันมหัศจรรย์นะ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามหัศจรรย์มาก ความว่างอันนั้นมันก็ยังย้อนกลับมาดูไง แต่ความว่างอันนั้นน่ะ ความว่างภายในนั่นน่ะ ความว่างที่ไม่มีเชื้อไง

เราดูถ่าน เราเผาถ่านสิ เราเผาถ่านในเตา มันกินตัวมันเอง แต่อันนี้มันไม่เป็นตัวมันเองเพราะมันเป็นวัตถุ มันไหม้ตัวมันเอง มันกินตัวมันเอง แล้วจิตมันกินอย่างนั้นไหมล่ะ เพราะมันเป็นนามธรรม มันเอาอะไรไปไหม้ เอาตบะส่วนไหนไปไหม้ ไปติดไฟอันนี้ให้ติด

เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เห็นไหม การทดลองมันจะมีเครื่องมือเข้าไปจับไง มีมือเทียม มีอะไรเข้าไปจับ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ แต่นี้เหมือนกับเรามองดูส่วนผสม ต้องให้มันเป็นไปตามให้เห็นส่วนผสมด้วย แล้วใช้สายตานี่มองให้มันเป็นไป ไม่มีเครื่องมือใดๆ จับเลย เพราะตัวนี้มันเป็นตัวที่ว่าอะไรเข้าไปจับต้องมันไม่ได้ มันอยู่กลางอวกาศ สภาพไร้น้ำหนัก แล้วต้องให้ทำงานได้ด้วย สภาพไร้น้ำหนักนั้นนะ มันจับต้องลำบาก นี่ว่าความลึกไง

ถึงว่าต้องพระพุทธเจ้าอีกล่ะ เพราะพระพุทธเจ้าเท่านั้นไง พระพุทธเจ้าเท่านั้นนะ แล้วต่อไปถ้ามีตำราแล้ว ในตำราจะพูดไม่ได้อย่างนั้นนะ เพราะในตำราก็วิเคราะห์วิจัยกันไป ถึงว่าเราต้องรีบหาโอกาส เราต้องต่อสู้

คนที่จะบอก ครูบาอาจารย์ที่จะบอกแนวทางได้ขนาดนั้น มันจะน้อยลง น้อยลง เราก็ยังนอนใจกันอยู่ นอนใจกันอยู่ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่มันเป็นคงที่ สิ่งที่เป็นหัวใจนี่ สิ่งที่คงที่ในหัวใจไง มันเป็นสมบัติส่วนตนไง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้แล้ว คนอื่นจะเป็นที่พึ่งเราได้ ต้นโพธิ์ต้นไทรแล้วนกกามันจะอาศัย นี่มันผุมันกร่อนนะ มันก็ต้องแปรสภาพไป มันผุมันกร่อน

แต่ถ้าหัวใจเรานี้ไม่มีวันแปรสภาพ เริ่มตั้งแต่อกุปปธรรมเหยียบขั้นตอนขึ้นมา ไม่แปรสภาพตลอดๆๆๆ เป็นสมบัติของเราน่ะ จะให้ชนชั้นไหน ให้อยู่ในสถานะไหน ทุกคนบ่นกันตลอด บ่นกันตลอดนะว่ามีความทุกข์ สภาวะนั้นก็ไว้ตรงนั้น แต่สภาวะภายในของเรา ถ้าเราทำของเราได้น่ะ มันไม่บ่น มันจะไม่บ่น มันจะถึงจุดอิ่มตัวของมัน แล้วอะไรจะเข้าไปใส่ก็ไม่ได้ จะเอาออกก็ไม่ได้ มันอยู่ในสภาวะแบบนั้น แล้วมันอยู่ในตัวมันเอง ไม่มีการไปและการมาไง ไม่มีการให้ชื่อไง ไม่มีการไปและไม่มีการมา แต่สื่อกันได้

มันเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้ปฏิบัติ มันเป็นหนทางน่ะ มันเป็นหนทางอันเอก มันเป็นหนทางเดียว ทุกคนต้องมาออกตรงหนทางนี้ ทุกคนต้องมาออกหนทางนี้นะ เราอุตส่าห์มาเจอหนทางนี้แล้ว เจอหนทางด้วย เจอวิธีการด้วย เหมือนเจอลายแทงเลย เจอลายแทงนี่ เราจะไปหาสมบัติ เราไม่กล้าไปหรอก เรากลัวอันตราย แต่อันนี้เราก็เจอสมบัติลายแทงหัวใจไง ลายแทงในร่างกายของเราไง ตั้งแต่วันเกิดมา ตั้งแต่วันเกิดเป็นมนุษย์ แล้วท่ามกลางพระพุทธศาสนาด้วย แล้วมาเจอช่วงอันที่ว่าโชติช่วงด้วย มาเจอจังหวะที่โชติช่วงเลย แต่เราจะละโอกาสอันนั้นไปเหรอ

เราไปตีค่ากันเองนะ เราไปเข้าใจกันเองนะ ว่าทำแล้วมันจะทำไม่ได้ ว่าทำแล้วมันสุดวิสัยไง สุดวิสัย สุดเอื้อม สุดมือคว้ามือเรา ไปจาก ๑ ทั้งนั้นนะ ของมากนับขึ้นไปจาก ๑ ของมากของน้อยเกิดจากการปฏิบัติ ถึงเป็น ๑ ก็แบบว่า ๑ ใหญ่ หรือ ๑ เล็กอีกน่ะ

๑ ตัวอักษรใหญ่ หรือ ๑ ตัวอักษรเล็กนั่นมันเป็นวาสนาบารมีของแต่ละบุคคล วาสนาบารมีสร้างสมมาแข่งไม่ได้ไง แข่งอำนาจวาสนากันไม่ได้ วาสนานี้แข่งไม่ได้ แต่อย่างอื่นแข่งได้ การเรียนการศึกษาทันกัน ช้าหรือเร็วเท่านั้น การศึกษาการเล่าเรียนทันกันสักวันหนึ่ง แต่อำนาจวาสนานี้มันมาจากอดีต มันถึงแข่งกันไม่ได้ไง

ของที่สะสมมาจากอดีต ใครจะย้อนอดีตเข้าไปได้ ย้อนอดีตได้ก็ไปแก้ไขอะไร ว่าแก้กรรม แก้กรรมเหรอ แก้กรรมก็แก้กรรมอย่างนั้นไปเอง แก้กรรมในหัวใจเรา ถ้าหัวใจเป็นอิสระแล้วมันจะเอากรรมมาจากไหน ตัดรากฐานของกรรมทั้งหมดเลย กรรมนี้ไม่มีโอกาสเข้าไปถึงหัวใจ ตามทันเฉพาะว่าเศษส่วนของกายนี้เท่านั้น เพราะอะไรเข้าไปเติมไม่ได้แล้วจะเอาอะไรเข้าไปล่ะ

มันลบออกทั้งหมด โปรแกรมของคอมพิวเตอร์ทั้งหมด มันลบออกหมดเลย โล่ง ว่าง ไม่มีเหลืออยู่ในหัวใจนั้น เห็นไหมนี่พระอนาคามี เพราะมันลบโปรแกรมออกแล้ว แล้วตัวเครื่องล่ะ แล้วที่ลบออกแล้วสิ่งที่เหลือที่มันลบออกเหลือแต่ตัวโปรแกรมเปล่าๆ ล่ะ มันลบแต่ข้อมูลใช่ไหม แต่มันยังไม่ได้ทำลายไอ้ตัวโปรแกรมนั้นทิ้งไง นี่ว่างสุดๆ ที่ว่านี่แหละ ที่ว่าจิตว่าง จิตหลุดออกไปจาก

อสุภะแล้วน่ะ พิจารณาอสุภะจนเชื้อไม่มีนั่นล่ะ นี่ลบออกทั้งหมด

แต่ตัวทำลายนั่นน่ะ ทำลายอย่างไร ถึงจุดแล้วมันระเบิดขึ้นมาเองน่ะ...นั่นวัตถุ

แต่หัวใจที่เวิ้งว้างมันจับไม่ได้แล้วมันจะเอาอะไรไประเบิดมัน แล้วมันเข้าใจว่าไม่มีด้วย จนถึงต้องสะกิดใจไง ถ้าไม่มีแล้วมันต้องไม่มีความรู้สึกสิ แต่ทำไมมันรู้สึกสุมหัวอยู่ในอกล่ะ อาการอย่างนั้นจะมีอาการไฟสุมขอนไง มันไม่รับรู้สึก แต่ดูไฟสุมขอนสิ มันจะไหม้เข้ามา ไหม้เข้ามา

แต่นี้มันก็มีวันเฉา มีวันเฉานะ หมายถึงว่ามันมีอะไรขัดข้องอยู่ในใจน่ะ มันว่ามันจะเวิ้งว้าง เวลาพิจารณากลับเข้าไปนี้ไม่มีอะไรเลย พิจารณากลับเข้าไปนี้ว่างหมด เข้าใจหมด ทุกอย่างโลกนี้ข้าเข้าใจหมด รู้รอบไปหมด รู้รอบ รู้ชิด รู้ทุกอย่าง แต่มันก็มีของขวางอยู่ในหัวใจไง มันมีความขวางอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ

เพราะมันยังไม่ทำลายตู้ คิดดู คอมพิวเตอร์ทั้งตู้วางอยู่ เราเดินเราต้องเตะสิ มันยังเป็นวัตถุที่ขวางห้อง ขวางที่เก็บของเราอยู่ไง มันยังขวางลูกตาอยู่ มันไม่ได้สะอาดหมดไปทั้งหมด แม้เราชำระความสะอาดในโปรแกรมมาแล้วก็ตามอยู่

หัวใจก็เหมือนกัน ถึงจุดนั้นแล้วมันก็ยังมีอะไรขวางอยู่ มันยังมีเฉาอยู่ ถ้าหันกลับมาดูไง หันกลับมาดู เกิดความเฉาแล้วมันเกิดความสะดุดใจ เกิดความเฉาแล้วมันเกิดการตั้งหน้าไง ตั้งหน้ากลับมา แม้แต่คอมพิวเตอร์ที่ไม่มีโปรแกรมแล้ว มันก็ยังทำงานได้ มันก็ยังหันกลับมาไง นี่คือหัวใจไง นี่ความลึกของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้

กลับมาดูสิ “อ้อ! ตัวนี้นี่เองคือตัวอวิชชา ตัวนี้เองที่เขาไปเริ่มต้นเขียนโปรแกรมกันไง ตัวนี้เองเป็นตัวที่ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา ไง ตัวนี้เองทำให้เกิดภพชาติไง ทำให้เกิดข้อมูลไง ทำให้เกิดการต่อเนื่องกันไปไง”

พิจารณากลับเข้าไปตรงนั้นน่ะ แล้วมันจะเห็นว่า อ้อ! เกิดดับ เกิดดับ อย่างนี้เอง พอเกิดดับอย่างนี้เอง นี่คือตัวเริ่มต้น นี่คือตัวเจ้าวัฏจักร นี่คือตัวเรือนยอดของกิเลสทั้งหมดเลย ความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหม มันยังเป็นลูกของเจ้าวัฏจักรนี้ เพราะเป็นตัวเริ่มต้น เรือนยอดของกิเลสไง

ถ้าจับต้องได้แล้วสาวเข้าไป ต้องถึงวันที่สิ้นสุด ถึงพระอนาคามีถึงไม่มาเกิดในโลกมนุษย์ไง ไม่เกิดในกามภพ ไปเกิดบนพรหมตรงนี้ไง แล้วสุขไปข้างหน้าไง ก็เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เสียหมดแล้ว ใช้การไม่ได้แล้ว ทิ้งไปแล้วมันต้องทำลายตัวมันเอง เราเอาไปโยนทิ้งใส่ในกองเหล็ก แล้วมันต้องทำลายตัวมัน มันต้องผุไปไง แต่มันไม่สามารถจะทำงานขึ้นมาได้ มันก็ไม่กลับมาเกิดอีก ไปเกิดเป็นพรหมแล้วไป แต่ไปเกิดเป็นพรหมมันอีกนานน่ะ นี้ต้องค้นหาจนถึงที่สุดแล้วทำลายออกไป

พระพุทธเจ้าถึงเปล่งวาจา เปล่งพระอุทาน เห็นไหม ถึงได้ประกาศตนไงว่าเป็นพระอรหันต์ บอกพระปัญจวัคคีย์ไง

“เราไม่เคยพูดเลย เมื่อก่อนเคยได้ยินไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์น่ะ”

เพราะปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธเจ้าน้อมกลับมาฉันอาหารใหม่ น้อมกลับมาเห็นว่าพระพุทธเจ้ากลับมามักมากไง เป็นผู้มักมากจะชำระกิเลสได้อย่างไร เพราะว่าก่อนนั้นอดอาหารทรมานตนเองมาตลอด ยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้

แล้วพอกลับมาเริ่มต้นใหม่มาพิจารณาทั้งกายและจิต เมื่อก่อนทรมานแต่กายไง คิดว่าทรมานหรือว่าการประพฤติปฏิบัติแล้วมันจะสิ้นสุด “คิดว่า” ไง จนไปลองทุกช่องทุกทางแล้วไม่ใช่ หันกลับมาเริ่มฉันอาหารใหม่ แล้วกลับมาพิจารณาทั้งกายและจิตไง ทั้งตัวเครื่อง ทั้งโปรแกรม ทั้งไฟฟ้า ทั้งสิ่งที่มันเกิดขึ้นไง แล้วทำลายจนหมดไง หมดแล้วถึงได้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ไง เตือนพระปัญจวัคคีย์ที่ฟังธรรมอยู่ไง

พระปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธเจ้าเดินมาบอกกันก่อนเลย

“ไม่ให้ต้อนรับ ถ้าปรารถนาแล้วก็ปูอาสนะไว้ ถ้าจะนั่งก็นั่งเถิด”

มีความกระด้างกระเดื่อง เพราะเห็นว่ากลับมาฉันอาหารใหม่ แต่พอพระพุทธเจ้ามาแล้วนี่ด้วยบุญกุศลไง สิ่งที่สัญญากันไว้ลืมหมดเลย ก็ต้อนรับอยู่ แต่แม้แต่คำพูดก็ยังไม่ยอมรับ จนพระพุทธเจ้าต้องพูดคำนี้ไง

“เธอเคยได้ยินไหมว่าเราได้เป็นพระอรหันต์แล้วน่ะ”

ถ้าไม่มั่นใจ ไม่เป็นความเป็นจริง จะกล้าปฏิญาณตนอย่างนั้นเหรอ แล้วพระปัญจวัคคีย์ฟัง ยอมรับฟัง พระอัญญาโกณฑัญญะยอมรับฟังไง เพราะเริ่มพูด เริ่มเปิดภาชนะ เริ่มหงายภาชนะขึ้นมาไง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นมา สิ่งนั้นต้องดับทั้งหมด”

พระอัญญาโกณฑัญญะฟังเข้าใจ เพราะว่าจิตนี้พยายามหิวกระหายอยากจะให้คนคอยบอกทางอยู่แล้ว นี่เกิดพระสงฆ์ขึ้นมาในวันนี้ไง เป็นพระโสดาบันขึ้นมาไง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับทั้งหมด”

ร่างกายนี้รวมเป็นเราแล้ว ร่างกายต้องแตกสลาย แต่แตกสลายการเกิดดับ ตายนั้นแตกสลายโดยธรรมชาติ แต่การเข้าใจ การเห็นความแตกสลายในการวิปัสสนานี้ นี่ไง มันแตกสลายอยู่ในท่ามกลางการวิปัสสนา แต่ในความเห็นภายใน ในการชำระกิเลสภายใน แต่ร่างกายนั้นก็คือร่างกายเดิมนี่แหละ มันได้ประโยชน์ขณะปัจจุบันแล้วออกมาก็เป็นของปกติ แต่มันชำระออกไปแล้วจากกิเลสนั้น

พระอัญญาโกณฑัญญะเห็นความแตกดับอันนี้ ไม่ใช่เห็นความแตกดับที่เราไปนอนตายในโรงพยาบาลกันนั้น อันนั้นเราไปเห็นแตกดับ แต่ไอ้คนตายนี้มันไม่เห็นคนตาย มันตายไปเลย แต่ที่เราวิปัสสนานี้ เราเห็นการแตกดับที่เราเห็นอยู่แล้วเราเป็นคนเข้าใจ เราเห็นการแตกดับของตัวเราเอง เราเห็นการแตกดับของกิเลสที่มันเกาะอยู่ เห็นความแตกดับที่ว่ากิเลสมันชำระออกไปเป็นขั้นเป็นตอน เป็นขั้นเป็นตอน

พระอัญญาโกณฑัญญะยอมรับไง พระปัญจวัคคีย์ยอมรับวันนี้ไง แล้วถึงเทศน์ถึงเทศนาต่อไป พอยอมรับแล้วก็ให้เทศนาเป็นอนัตตลักขณสูตร ขันธ์ ๕ นี่ไง ขันธ์ที่ว่าเมื่อกี้นี่ไง ขันธ์นี้ไม่ใช่เรา สิ่งนี้เราเข้าไปยึดเท่านั้นเอง ก็เลยเกิดขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ ๖ องค์แรกของโลก พระพุทธเจ้าเป็นองค์แรก ปัญจวัคคีย์เป็น ๕ องค์ต่อมา แล้วก็นิพพานไปหมดแล้ว วางแต่ธรรมะเอาไว้ไง ให้เราเป็นเครื่องดำเนินไง

เราอยู่ที่นี่ เราจะดำเนินอย่างไรต่อไป นี่วันอาสาฬหบูชาไง

เราจะดำเนินอย่างไรต่อไป เราจะรีบคว้ารีบขวนขวายไหม เราจะปล่อยให้โอกาสให้หลุดมือไปอีก ๑ ชาติเหรอ...ไม่ใช่ว่า ๑ พรรษานี้นะ เพราะว่ามีชีวิตอยู่นี่ ทุกคนก็ต้องดั้นด้นไปล่ะ ใครจะปล่อยให้ชีวิตนี้อยู่ไปแบบแห้งๆ แล้งๆ ล่ะ แห้งๆ แล้งๆ นะ จะประสบความสำเร็จอย่างไรในโลก มันก็เป็นประสบความสำเร็จไป แต่แห้งๆ แล้งๆ ทั้งร่างกายและหัวใจไง

แต่ถ้าหัวใจอิ่ม หัวใจอิ่มเอิบ หัวใจได้ลิ้มรสของธรรม

เราถึงว่าเกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา เจอศาสนาที่ประเสริฐ แล้วเราถึงได้พอใจไง เราเกิดมาแล้วเราได้ผลตามความเป็นจริง เกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา ได้ทำบุญกุศลนี่มันก็เป็นบุญอันหนึ่ง แต่เห็นไหม แต่การปฏิบัติไปข้างหน้า ไปข้างหน้า ไปอย่างไร

เราลองปล่อยรถออกไปสิ ปล่อยออกไปจากบ้านเราวันนี้ แล้วจะกลับมาวันไหน ออกไปแล้วนี่ก็ไม่แน่นอนทั้งนั้นใช่ไหม ชีวิตนี้ก็เหมือนกัน เราตั้งใจว่าจะทำดีทั้งนั้นล่ะ ตั้งใจว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่เราปล่อยออกไปจากปัจจุบันนี้ ตายดับไปแล้วไปเกิดตรงไหน มันจะหันมาพบจริงหรือเปล่า

ฉะนั้น ถึงว่าถ้าเราเอาของจริงไว้แต่บัดนี้ ถึงจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง

ถ้าคิดว่าเกิดมาแล้วตายไป สร้างบุญกุศลไว้แล้วอยากให้พบพระศรีอารย์ คิดได้อย่างนั้นเหรอ เพราะสิ่งนั้นไม่แน่นอน เราไม่สามารถบังคับกรรมของเราได้หรอก เราไม่สามารถบังคับให้เราไปถึงจุดนั้นได้หรอก เพราะว่าเราไม่รู้เป้าหมายว่าตรงนั้นมันเกิดตรงไหนไง พระศรีอารย์มาเกิดตรงไหน กาลเวลาใด แล้วเราจะบังคับให้กาลนั้นพอดีเหรอ เห็นไหม กาลและโอกาส เวลา

แต่บุญ ไปได้ อธิษฐานเอา ทำบุญแล้วอธิษฐานให้ตั้งลงตรงนั้นไง ความอธิษฐานนี้มันเป็นนามธรรมไง บุญกุศลคุ้มครองไง คนดีไง ให้บุญกุศลคุ้มครองเราไป คุ้มครองเราไปจนกว่าเราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์

เอาล่ะเนาะ อวสาน

วันนี้วันอาสาฬหบูชา พอ...