เทศน์บนศาลา

ชาล้นถ้วย-น้ำกิเลสกับน้ำธรรม

๑๘ ส.ค. ๒๕๔o

 

ชาล้นถ้วย-น้ำกิเลสกับน้ำธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๐
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมนะ ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า แสวงหาธรรมน่ะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เกิดมา พระพุทธเจ้าเกิดมา เอกบุรุษเกิดจากโลก โลกธาตุก็หวั่นไหว ตรัสรู้ธรรม โลกธาตุก็หวั่นไหว ตรัสรู้ธรรมแล้วเราถึงได้มีโอกาสฟังธรรมไง

พระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ จักรของธรรมได้เคลื่อนแล้วไง พระพุทธเจ้าเกิดไง ประสูติออกมาเป็นมนุษย์ปุถุชนนี่ โลกธาตุนี้หวั่นไหวเลย ตรัสรู้ก็หวั่นไหว ปรินิพพานก็หวั่นไหว มหัศจรรย์ เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุด

การเกิดน่ะ พระพุทธเจ้าเกิดแสนยาก การเกิดเป็นมหัศจรรย์ขนาดนั้นแล้วถึงได้ มนุษย์ถึงมีทางออก ถึงได้ฟังธรรมไง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็มีคนอยากจะแสวงหาทางออกอยู่นะ มีลัทธิ มีพวกพยายามหาทางออกอยู่ พยายามปฏิบัติกันอยู่ ว่าหาทางออกให้พ้นจากวัฏวนให้ได้ สังสารวัฏนี้น่าเบื่อหน่ายนัก วัฏวนนี้หมุนเวียนไป เกิดๆ ตายๆ ซ้ำๆ ซากๆ อยู่นี่ ไม่รู้จักหาทางออก

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้ว เราถึงได้ฟังธรรม ธรรมกับโลกนี้ไม่เหมือนกันไง ความคิดของโลก ความผูกพันในทางโลก คิดเท่าไรก็เอาความร้อนมาใส่ตัว ความคิดทางโลกมีแต่ความเร่าร้อน ความเร่าร้อนนะ แต่ก็ต้องเร่าร้อนไป เพราะไม่รู้จักทางออก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ท่านดับกิเลสของท่าน เย็นสบายแล้ว

เย็นนะ เย็นไม่เย็นเปล่า เพราะเป็นศาสดา พอเย็นแล้วยังรู้ทาง รู้วิวัฏฏะ วัฏวนไง วัฏฏะกับวิวัฏฏะ วัฏวนมาอย่างไรไง บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันวนมานะ มันวนมาแสน ไม่มีที่สิ้นสุดได้เลย ท่านถึงได้มาแจงเรื่องของกรรมไง กรรมจำแนกให้มนุษย์เกิดต่างกัน กรรมจำแนกสัตว์เกิดทุกข์ๆ ยากๆ ต่างๆ กัน ไม่เสมอกัน

แล้วจิตนี้มันเที่ยวมา ล่องเล่น เร่ร่อนมา ไม่รู้สักเท่าไร จิตนี้มันเร่ร่อนมานะ ในวัฏจักรมันวนเวียนมาตลอด จิตนี้ถึงได้สะสมมาไง มันสะสมความดำมืดในหัวใจมันสะสมมามาก มากสุดๆ แล้วเราพอจะมาดับไง เราเริ่มจะมาให้มันสงบลง ทำไมมันสงบได้โดยยาก นี่กรรมที่มันสะสมมาในหัวใจมันแสนมหาศาล มันเยอะมาก มันเยอะจนแบบว่าเราไม่มีโอกาสไง จะว่าอย่างนั้นเลยนะ

เพราะเวลาเราฟังธรรม ว่า “ชาล้นถ้วย” ชาล้นถ้วยนี่มันใส่เข้าไปไม่ได้นะ น้ำล้นแก้วเราจะเติมไปได้อย่างไร มันก็หกหมด วัฏวนนี้ จิตนี้สะสมมาจนมันเต็มหัวใจ พอมันเต็มหัวใจ ธรรมะแทรกเข้าไปไม่ได้เลย ธรรมนี้จะแทรกเข้าไปในหัวใจของจิตอย่างพวกเราที่เกิดซ้ำๆ ซากๆ ได้แสนยาก ทั้งๆ ที่ว่าพบพระพุทธศาสนา พบธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วทำไมมันใส่ไม่เข้า มันล้นน่ะ กิเลสมันล้นหัวใจ ล้นจนไม่สามารถธรรมนี้จะแทรกเข้าไปในใจเราได้เลย

แล้วก็ว่าพบพระพุทธศาสนา ได้อ่านพระไตรปิฎก ได้ฟังธรรม แล้วมันเข้าไปถึงซึ้งในหัวใจเราบ้างไหม มันล้นจนเราไม่สามารถ มันจะแทรกเข้าไปไม่ได้ ต้องพยายามสงบใจไง จะเผาอย่างไรให้น้ำในแก้วในบกพร่องลงบ้างเพื่อจะให้ธรรมะเข้าไปแทรก แทรกเข้าไปได้ไง ถ้ากิเลสมันยุบยอบตัวลง แก้วนั้นมีที่ว่างบ้าง ให้ธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้สภาวะตามความเป็นจริงได้แทรกเข้าไปไง

ถึงต้องทำความสงบใจก่อน ใจต้องมีความสงบ ทำความสงบใจให้เกิดขึ้น ทำสมาธิให้จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่น จิตไม่คลอนแคลนนะ อย่างน้ำเต็มแก้วนี่มันก็เต็มแก้วโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แถมเต็มแก้วแล้วมันยังแกว่งไปอีก มันไม่ตั้งมั่น มันแกว่ง ต้องให้แก้วนี้อยู่กับที่ น้ำในแก้วนั้นถึงไม่กระเพื่อม

นี่ว่าใจของเรา เราแสวงหาธรรม เราว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ธรรมชาติของกิเลสที่อยู่ในหัวใจนั้นมันล้นแก้ว ล้นแก้วแล้วยังขยับ จะเอาแก้วนี้หนีไม่ให้ธรรมะเข้าอีกด้วย ล้นแก้วยังเอาน้ำเทใส่ มันยังอยู่ได้รับน้ำนี้ก็ยังดี นี่มันแกว่งไปจนน้ำนี้ก็ใส่ไม่ลง เห็นไหม พยายามให้เกิดความมุมานะ เราต้องเกิดมุมานะ ต้องเกิดความเด็ดเดี่ยว ธรรมะนี้เป็นของประเสริฐ สัจจะ อริยสัจจะ ความประเสริฐอันเลอเลิศ เอาภาชนะ เอาคนที่อ่อนแอ เอาคนที่ไม่จริงจัง เข้าไปจับของประเสริฐได้อย่างไร ของประเสริฐมันต้องเอาภาชนะที่ประเสริฐพอกัน สมควรจะรับกันได้มันถึงจะเข้าไปรับธรรมะอันนั้นได้

ใจผู้ปฏิบัติ ใจผู้อยากจะพ้นทุกข์มันก็ต้องมีความเข้มแข็ง มันต้องกัดเพชรขาด มันต้องมีความมานะอดทน จงใจ ความจงใจ ความตั้งใจ จงใจให้มั่นคง มรรคผลต้องมีจริง การประพฤติปฏิบัติจะไม่เหนื่อยเปล่า ในประวัติของพระพุทธเจ้า ในประวัติของอัครสาวกต่างๆ ได้มรรค ได้ผล ตำบลต่างๆ ที่ไปสำเร็จแต่ละองค์ แต่ละองค์มานี่มันได้ฟังแต่ข่าวคนอื่น แต่ก็ให้มั่นใจว่าจริง มีจริงน่ะ ของนั้นมีจริงอยู่ เราตั้งใจ เราจงใจจริงอยู่ มันต้องเข้าถึงความจริงนั้นได้ ถึงว่า การประพฤติปฏิบัติมันไม่เสียเปล่า การประพฤติปฏิบัติไม่เสียเปล่าก็ทำให้เรามั่นใจขึ้นมาไง ความจงใจ ความมั่นใจ มันจะว่าอยู่ที่ผลไง

“การทำงาน” การทำงานถ้าได้สิ่งที่ตอบแทนพอสมน้ำสมเนื้อหรือว่าเกินกว่านั้นเราก็มีความตั้งใจทำ การลงทุนทำธุรกิจ การลงทุนทำอะไรก็แล้วแต่ การค้านั้นมีผลกำไรมา การค้ามีผลกำไรมาเราจะมีความอยากทำ การค้านี้ล้มเหลว ล้มเหลวทุกที ทำให้ความตั้งใจเราก็คลอนแคลนไป นี่ความจริงใจ ความตั้งใจ การค้า การกระทำ การค้าการธุรกิจข้างนอกมันยังมีฝ่ายต้องตรงข้ามไง มีผู้ค้าต้องมีลูกค้า เราต้องเป็นผู้ค้า ใช่ไหม มันต้องมีต้องสนองกันมันถึงจะเป็นผลขึ้นมา

แต่การประพฤติปฏิบัติมันอยู่ในหัวใจเราเอง มันเป็นว่า เรากับเราเท่านั้น เราเป็นผู้จงใจ เราเป็นผู้มั่นคง เราเป็นผู้บังคับให้ใจเรา เห็นไหม มันง่ายกว่ากับที่ว่า ต้องมีของคู่ ต้องมีของคู่ระหว่างตรงข้ามมันถึงจะได้เป็นประโยชน์ขึ้นมา แต่นี่มันก็ต้องข้าม แต่ตรงข้ามภายในไง ตรงข้ามระหว่างกิเลสกับธรรมไง

นี่เราเอาธรรมะ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าบอก กิเลสมันกลัวธรรมเท่านั้น กิเลสไม่เคยกลัวใดๆ เลยในโลกนี้ เพราะสิ่งใดๆ ในโลกนี้เป็นเหยื่อมันทั้งนั้นเลย สิ่งของในโลกนี้ วัตถุทุกอย่างเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นพวงดอกไม้นะ เป็นเหยื่อแห่งมาร เหยื่อหมดนะ เหยื่อแห่งมาร ไม่ใช่เหยื่อแห่งธรรม

ทำไมว่าเหยื่อแห่งมาร? เพราะใจนี้เป็นมารอยู่แล้ว เอาวัตถุมาส่งเสริมไง มันก็ลุกจรดท่วมเมฆ ไฟกิเลส ไฟราคะ โทสัคคินา โมหัคคินา ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง มันไม่รู้ตัวตน ไม่รู้ตัวตน อย่าว่ารู้ความโลภเลย ไม่รู้ตัวคน เพราะความโลภกลบทั่วหัวใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันกลบ มันมิดหัวใจ หัวใจมันไม่มีทางจะเป็นอิสระ หัวใจไม่มีทางจะผ่านออกมาได้เลย แล้วยังเอาวัตถุ ยังเอาเชื้อไฟเข้าไปเสริมไง เอาเชื้อไฟเชื้อเพลิงใส่เข้าไปในไฟ ไฟลุกจรดท่วมเมฆเลย ถึงว่ากิเลสไม่กลัวสิ่งใดๆ ในโลกนี้ สิ่งใดๆ ในโลกนี้เป็นเหยื่อของมันทั้งหมด เป็นสิ่งส่งเสริมมันทั้งหมด ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติต้องดับให้หมด

โลกนี้มีของโลกเขา เพราะเราไปเกาะเกี่ยว โลกนี้เหมือนไม่มี การประพฤติปฏิบัติ ความจงใจ ความตั้งมั่น มีหัวใจกับเราเท่านั้น มีพุทโธ มีสติ มีความระลึกรู้อยู่อย่างเดียว โลกนี้มีเหมือนไม่มี ไม่ยอมรับรู้สิ่งใดๆ เลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ เอาให้อยู่ไง นี่ทำให้ใจตั้งมั่น ตั้งมั่นแค่ใจตั้งมั่นนะ แก้วแค่หยุดนิ่งเฉยๆ ยังต้องให้มันนิ่งเข้าไป นิ่งเข้าไป จับไว้อยู่ จับแก้วให้ตั้งไว้เฉยๆ อย่าให้มันสั่น อย่าให้มันไหว

แล้วทำอย่างไรให้น้ำในแก้วนั้นบกพร่องลง? ใจตั้งมันแล้ว ให้มันลงไปอีก ลงไปอีก จิตกับสมาธิมันจะลึกเข้าไปๆ นั่นแหละถึงจะเริ่มยุบยอบลง ยุบยอบลงทางโลกไง โลกยุบยอบลง ธรรมก็ได้ขึ้น ถ้าโลกยังเป็นใหญ่อยู่ ธรรมเกิดไม่ได้ โลกเป็นใหญ่อยู่ ธรรมเกิดไม่ได้

โลกในหัวใจ โลกกับธรรมที่ใจเรา ใจเราเป็นโลก ใจเราไม่เป็นธรรม ใจเราเป็นโลก โลกมันเป็นโลก มันเข้ากัน มันคิดไปแต่เรื่องของโลก มันไม่คิดมาเป็นเรื่องของธรรม นี่เพราะใจมันยังเป็นโลกอยู่ ถ้าความเป็นโลกที่มันเบาลง เบาลง มันเบาลง โลกนี้เป็นธุรกิจ โลกนี้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ธรรมนี้เป็นการให้ทาน ธรรมนี้เป็นการเผื่อแผ่ เป็นการเจือจาน เป็นความเจือจาน เป็นการให้อภัย ให้ทุกสรรพสัตว์ในโลกนี้มีความสุข

ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลายทั้งสิ้น จงมีความสุข ความสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย นี่ธรรมมันจะเกิด ถ้ามีธรรมเกิดจะไม่เบียดเบียนกัน ไม่รังแกกัน ไม่เอาเปรียบกัน แต่ถ้าโลกมันเอาเปรียบต้องพยายามให้โลกมันเบาลง เบาลง เบาลง นี่เอาเปรียบในหัวใจ

หัวใจก็เป็นโลก โลกก็เป็นโลกเท่าๆ กัน แต่ถ้าเป็นธรรมมันเริ่มขึ้นมาเป็นธรรม มันก็เกิดความเย็น ความคิดที่เกิดขึ้นมานั่นล่ะ คิดดี-คิดชั่วนั่นล่ะมันย่ำยีกันเองในหัวใจ เราคิด ความคิดนั้นล่ะ นี่มันไม่สงบเพราะอย่างนี้ เพราะความโลภ โลกมันยังหมุนอยู่ โลกดับ ดับๆ เราสงสารตัวเราเอง ให้สงสารใจเราเอง สงสารใจไง ใจมันเร่าร้อนหาผู้จะช่วยมันออก ใจมันทุกข์ ใจมันเบียดเบียน จนคอตกนะ คอตก เศร้าซึม หงอยเหงานะ น้ำตาร่วง นี่เวลามันเกิดความทุกข์ แล้วใครเป็นคนเสวยทุกข์ล่ะ? ใจเท่านั้นเป็นผู้เสวยทุกข์นะ

เวลากิเลสมันยุแหย่ใจเราน่ะ มันเผ่น มันเที่ยวคว้ามาทั่ว ความคิดใดๆ ที่ใครเคยว่าไว้ ความคิดที่เกิดขึ้นจากในหัวใจที่มันอุ่นขึ้นมากิน ความคิดที่เราไม่พอใจ มันเอามาสุมลงที่ใจ เห็นไหม เราจะบอกมันเลยว่าอันนี้คือกิเลส อันนี้เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เราจะปฏิเสธได้ไหม ถ้าเราปฏิเสธ เราปฏิเสธสิ นี้แหละเหยื่อของมัน นี่มันเข้ามาทับถมใจ

พอมันเหยื่อ เหยื่อของมาร แล้วกิเลสก็ไม่รู้ ไปกว้านมา กว้านมากินอาหารเป็นพิษทั้งหมด แล้วเวลามันดับไปแล้วนี่กิเลสมันเสี้ยมเข้ามาให้เรากลืนแต่อาหารที่เป็นพิษเข้าไป แต่มนุษย์เวลาทุกข์ขึ้นมานี่ใครทุกข์ล่ะ? เหมือนกับเราเป็นพ่อแม่คน ลูกๆ ออกไป ไปหาแต่เรื่องหาแต่ราวเข้ามาให้เรา เราเป็นพ่อเป็นแม่ เราก็ต้องวิ่งไปแก้ไขเรื่อง ไปทำเรื่อง ไปวิ่งเต้นเพื่อจะให้เรื่องนั้นยุติลง เพื่อให้ลูกเราปลอดภัย ไม่โดนการทำโทษ

กิเลสมันไปกว้านมาก็อย่างนั้นน่ะ มันวิ่งเต้นออกไปกว้านเข้ามา กว้านเข้ามา เหมือนเป็นลูกของใจ อาการของใจ มันไปกว้านเอาอาหารที่เป็นพิษเข้ามา ไปหาเรื่องหาราวมา แล้วมันก็หนีไป พอกิเลสมันเป็นผู้ยุยงให้เราคิด พอคิดจบแล้วหัวใจมันทุกข์ กิเลสไม่ได้ทุกข์ด้วย

ลูกๆ หาเรื่องมาให้เราเสร็จแล้ว ลูกๆ ก็ไป พ่อแม่เท่านั้นต้องมารับหน้า เวลาใครเข้ามานี่พ่อแม่ต้องออกมารับหน้าหมด เพราะลูกของเรา เราต้องปกป้อง นี่ยังเห็นเป็นตัวตนนะ แต่ใจมันไม่เห็นหรอกว่าเป็นลูกหรือไม่เป็นลูก เพราะว่ามันคิดเอง มันก็กว้านเข้ามาใส่ใจมันเอง แล้วใจก็เร่าร้อน ใจก็อยากหาที่ออก ใจก็อยากจะหาคนช่วย นี่ธรรมะพระพุทธเจ้า

ถึงจะว่า ธรรมะมีธรรม ธรรมเป็นน้ำ น้ำดับไฟ ไฟให้อบอุ่น ไฟพอเริ่ม ไฟดับไปมันก็ยังร้อนอยู่ มันก็เริ่มอุ่น เย็นขึ้น นี่น้ำดับไฟ น้ำดับไฟ

จิตใจเร่าร้อน จิตใจหาทางออก จิตใจพยายามจะหาผู้ที่จะช่วยเหลือ แล้วเราเป็นใคร เห็นไหม นี่กิเลสมันจะรู้ว่ากิเลสกลัวธรรมกลัวอย่างนี้ จะเริ่มกลัวธรรมของพระพุทธเจ้า เราก็แสวงหาธรรมเข้ามาสิ ว่าสิ่งนั้นเป็นความผิด อาหารนี้เป็นโทษ สิ่งนี้เป็นของแสลงใจ เราเริ่มไม่กิน เราเริ่มฝึกลูกเรา เราเริ่มฝึกอาการของใจไม่ให้ไปจับต้องสิ่งที่เป็นไฟ ไม่รู้หรือว่านี่เป็นไฟ จับเข้าไปก็ร้อนทุกที...นี่มีธรรม ก็เหมือนเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มันจะไปหาเรื่องเขาหรือ มันไปหาเรื่องเขานะ มันจะไปทำแต่คุณงามความดีขึ้นมา ลูกที่ดีไปทำคุณงามความดีมาเขาก็ชมว่าลูกคนนั้นๆ เห็นไหม อาการของใจที่ทำความดีออกไป เราก็ทำ ไปวัดไปวา ไปฟังครูบาอาจารย์ ไปประพฤติปฏิบัติมันก็ได้ความร่มเย็นเข้ามา นี่ลูกออกไปทำความดี มันก็เข้ามาถึงใจเหมือนกัน

ใจนี้เป็นผู้ที่จะหาทางออก อาการที่คิด อาการของใจ เพราะธรรมชาติของจิตมันหมุนออก มันเป็นวัฏฏะ มันวนออกไปอยู่เรื่อย การฟังธรรมก็เพื่อยับยั้งไม่ให้กินของที่ของแสลง ให้พยายามสร้างสมคุณงามความดี นี่อาการของใจมันออกไป เริ่มเบา น้ำในแก้วเริ่มเบาลง เบาลง บกพร่องลงไป จากเรื่องที่เป็นพิษ น้ำที่เป็นพิษ เป็นธรรม โลกกับธรรม จนทำเรื่อย ทำเรื่อยนี่ ดูใจของตัวเองเรื่อย บังคับไปเรื่อย ไม่ให้ออกไปเอาแต่สิ่งไม่ดีเข้ามา หาเรื่อย เช็คเรื่อยๆ เช็คใจ ตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลา นี่มันก็เป็นการช่วยเหลือใจโดยอัตโนมัติ

ใจมันเร่าร้อน ใจมันจะหาทางออก แต่มันไม่มีใครช่วยเหลือมัน ธรรมะก็เริ่มช่วย แล้วเราก็ใช้สติ สติก็เป็นธรรม สติปัญญานี่ “สติธรรม ปัญญาธรรม” เราก็ดูแลของเราไปเรื่อย ดูแลไปเรื่อย แล้วก็หมุนเข้าไปเรื่อยๆ มันก็เบาลง เบาลง เบาลง นี่ธรรมะเริ่มขึ้น ฝ่ายดีก็เริ่มขึ้น เราว่าอันไหนเป็นกิเลส นี่กิเลส นี่ใจเป็นกิเลส ใจมันคว้าเข้ามาเอง แต่เรายับยั้งให้ได้ สติกดไว้ก่อน แล้วยังมีสติยุยงส่งเสริมความคิดที่ดีด้วย นี่ธรรมะเริ่มเกิด ธรรมะเริ่มหมุนออก

นี่กิเลสกลัวธรรม กิเลสไม่กลัวอะไรเลย เพราะของในโลกนี้เป็นของเสริมกิเลสทั้งนั้น ของให้กิเลสมันได้อ้วนพี มันยิ่งอ้วนพีเท่าไรมันยิ่งข่มเหงหัวใจเราให้เศร้าหมอง ให้เจ็บช้ำ แต่ถ้ามันลองเบาลง ธรรมะได้หมุนขึ้นไป หมุนขึ้นไป ร่างกายคนไม่อ้วน ไม่ถึงกับเสียรูปทรง แต่เข้มแข็ง อดทน เข้มแข็งในทางความดีไง นี่ปัญญาหมุน ปัญญาหมุนเพื่อให้ใจนี้อิสระขึ้นมา ให้แก้วนั้นว่างขึ้นมา ให้เป็นภาชนะที่จะมาใส่ธรรมไง

จากน้ำเต็มแก้ว น้ำก็พร่องแก้ว ใส่ธรรมนะ ใส่ธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมเกิดขึ้นได้ตรงไหน? จิตสงบนี้มันมีมาดั้งเดิม จิตสงบนี้ นี่แก้วเปล่าๆ มันมีมาแต่ดั้งเดิม แก้วเปล่าๆ ก็ใจไง ใจเปล่าๆ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส หมองไปด้วยอุปกิเลส” จิตดั้งเดิมนี่มันผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส นี่แก้วเปล่า

ผ่องใส มันผ่องใสอย่างไรล่ะ ผ่องใสแล้วอะไรมาเกิด ผ่องใสแล้วตัวไหนมันเป็นกิเลสล่ะ? “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสไง ฐีติจิต จิตปกติไง แต่กิเลสมันอยู่ในความผ่องใสนั้น เพราะมันเป็นอนุสัยอยู่เป็นเนื้อเดียวกันกับผ่องใสของจิต จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส

เริ่มเติมน้ำเข้าไป น้ำของธรรมไง “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” พอมันผ่องใส มันก็มีความสงบ มีความสุข “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” เย็นสิ ก็มันไม่ออกออกไปกว้านไม่ออกไปกินเหยื่อ เราควบคุมใจของเราได้ เรากำหนดใจของเราเข้าไปถึงฐานของมันไง ฐานคือว่าตัวหมุนออก ตัวมอเตอร์ ตัวไดร์ ตัวปั่นไฟ แต่ไฟนี้มันอยู่ในอำนาจของเรา นี่มันผ่องใส มันมีพลังงานในตัวมันเอง ออกไปเรื่อย ไฟนี่ออกไปเรื่อย

แต่เดิมไฟมันออกไปแล้วมันออกเข้าไปในเครื่องจักร ออกไปกว้าน เป็นเครื่องจักรออกไปกว้านเป็นโรงงานไปเลย หมุนออกไปเป็นทางโลก เรายับยั้ง ยับยั้งเข้ามา จนมันหมุนในตัวมันเอง มันหมุนอยู่ แต่มันไม่ได้ออกไปเป็นโรงงานประกอบอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมของกิเลส

ทีนี้เราพลิกออกมา ถ้าอย่างนั้นแล้วเราไม่ยกขึ้นวิปัสสนามันก็จะออกไปอย่างเก่าเพราะมันเป็นธรรมชาติอย่างนั้นมันถึงสะสมมา มันเป็นพลังงานที่ต้องหมุนไปตามวัฏฏะ เพราะมันมีเชื่ออยู่ มันมียางเหนียวอยู่ มันมีอย่างเหนี่ยวอยู่ มันต้องหมุนไปโดยธรรมชาติของมัน การเกิด เราเกิดมานี้ก็เพราะตัวนี้ ตัวธรรมชาติตัวนี้มันบังคับให้เกิด เราปฏิเสธความเกิดของเราไม่ได้ เราปฏิเสธความเป็นมนุษย์ไม่ได้ เราปฏิเสธพลังงานตัวนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นพลังงานธรรมชาติที่เป็นไปอย่างนั้น

แต่เราเป็นผู้ที่มีหู มีตา เป็นผู้มีวาสนา เป็นผู้เข้ามาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนลงไปถึงก้นบึ้งตรงนี้ก่อน แล้วเอาก้นบึ้งตัวนี้ขึ้นมาวิปัสสนา วิปัสสนาในกาย เวทนา จิต ธรรม จิตมันผ่องใส จิตมันมีความสุข มันจะเคลิบเคลิ้มหลงใหล หลงใหลได้ปลื้มเลย นี่เป็นสมาธิ สมาธิตัวนี้จะไม่เกิดปัญญาถ้าเราไม่ขุดค้น เราไม่ขุดค้นเราไม่เริ่มหัดประพฤติปฏิบัติ

การทำจิตให้สงบนี้เป็นการบังคับจิตให้เบาบางลง มีความสุขจนเผลอเรอไง นี่ศาสนาพุทธถึงได้เยี่ยม เยี่ยมตรงนี้ เยี่ยมตรงในมรรค ในความดำริชอบไง ความดำริที่จะเกิดคุณงามความดีต่อจากจิตสงบ ต่อจากฐีติจิตนี้ไง เพราะฐีติจิตนี้เราเป็นเรา เราทำจิตให้สงบ จิตมีความสุข จิตเพลิดเพลิน เราว่าเราเป็นผู้วิเศษ

คนได้ลิ้มรสความสงบของใจ ความเบา ความเวิ้งว้างอันนี้มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์อยู่แล้ว ถ้าคนไม่มีวาสนาจะได้แค่นี้แล้วหยุด แล้วเข้าใจว่าอันนี้เป็นทางที่สูงสุด มันไปต่อไปไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชนะกิเลส พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอก ได้ชำระไอ้ยางเหนียว ไอ้ตัวนี้หมดแล้ว แล้วสอนว่าความดำรินี้จะออกจากกิเลสเรายังไม่ได้ทำ

ความดำริออกจากกิเลสนะ กิเลสมันติดในกายมนุษย์ ติดในกายเรา ติดในใจเรา ติดในความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ มันถึงได้ออกไปวิ่งเต้นเผ่นกระโดดข้างนอกได้ ฉะนั้นต้องให้ชำระกลับมาที่ตรงก้นบึ้งของใจตัวนี้ ก้นบึ้งของหัวใจเป็นตัวติด ติดในกายก็ติด ติดในความคิดตัวเองก็ติด ทั้งดีและชั่วมันก็ติด มันละดีและชั่วไม่ได้ ถึงปล่อยได้ก็ปล่อยได้ชั่วคราวตรงนี้ไง

พอปล่อยได้นี่มันเป็นอาการของใจ มันละเอียดลึกซึ้งจนจับต้องไม่ได้ ก็ว่ามันไม่มีน่ะ มันละเอียดลึกซึ้งจนเราจับต้องไม่ได้นะ แต่เรื่องของใจ อาการของใจกับตัวใจ กับตัวมรรคอริยสัจจัง มันเป็นนามธรรมเหมือนกัน มันจับต้องกันได้

ความดำริออกจากกิเลส ออกจากกิเลสจะไปปีนต้นไม้ไหนออกล่ะ จะไปปีนภูเขาไหนออก? ภูเขา ต้นไม้ไหน ก็ปีนออกไม่ได้ ดวงอาทิตย์ดวงไหนก็ออกไม่ได้ มันถึงออกได้ ความสว่างกลางหัวใจ เพราะก้นบึ้งของใจเป็นผู้ติด เหาะเหินเดินฟ้าไปไหนมันก็เป็นไปตามเหาะเหินเดินฟ้านั้น จรวดอวกาศเขาก็ไปกันทั่ว เขาชำระกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสนี้มันอยู่ที่หัวใจ ฉะนั้น ความใสกลางใจนี้ก็ต้องกลับมาดูความใสกลางหัวใจนี่ไง หันใจกลับมาดูมันจะเห็น เพราะนามธรรมกับนามธรรมไง

ความดำริหักเข้ามา ความดำริน้อมใจเข้ามา มาดูกาย ถ้าจิตมีวาสนามันจะเห็นกายขึ้นมา ไม่มีวาสนาก็ดูความเศร้าหมองของใจสิ มันใสขนาดไหน มันมีความเศร้าหมองอยู่ในตัวมันนั่นน่ะ พลังงานตัวใดก็แล้วแต่ ใช้ไปแล้วมันต้องเสื่อมสภาพลง พลังงานของจิตนี้ก็เหมือนกัน พลังงานของจิตนี้ที่สว่างไสวอยู่นี้มันก็เหมือนกับพลังงานทางโลก

ดูอารมณ์ของเราสิ มันดี เดี๋ยวมันก็ไม่ดี มันสุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ มันผ่องใสขนาดไหน เดี๋ยวมันก็เสื่อมสภาพลงมา แต่เสื่อมสภาพไม่เหมือนทางโลก ไม่เหมือนทางวัตถุ ทางวัตถุเสื่อมสภาพแล้วจะหมดไปเลย แต่ทางนามธรรมเสื่อมสภาพแล้วก็ขึ้นมามีใหม่ มันอยากๆ เบื่อๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ อารมณ์ความอยาก อารมณ์ความเบื่อ ความผ่องใสในใจก็เป็นแบบนั้น เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ แล้วมันเกิดดับได้ มันเกิดดับได้โดยอัตโนมัติ เพราะมันเป็นธาตุรู้ เป็นธาตุอันหนึ่ง แต่เป็นธาตุนามธรรม ฉะนั้นดูตัวนี้เข้ามามันก็จะเห็นความแปรสภาพ ความแปรสภาพไง

สิ่งใดในโลกนี้ ถ้ามันเป็นอนิจจังมันต้องเป็นทุกข์ ถึงจะมีความสุขอยู่นะ ความสุขในความละเอียดของใจนั่นล่ะ แต่มันก็เป็นอนิจจัง มันแปรสภาพให้ดู มันแปรสภาพโดยธรรมชาติ แต่เราไม่เห็นความแปรสภาพอันนี้ เราจะรู้ว่ามันแปรสภาพต่อเมื่อมันหมด เสื่อมไปแล้ว พอสิ่งนี้เสื่อมไปเราจะรู้เลยว่าเพราะมันเกิดความร้อนขึ้น ความเย็นในหัวใจมันหมดไปแล้วมันจะเกิดความร้อนแทน เรายังไมรู้เลย นี่ผู้ที่ปฏิบัติยังไม่รู้เรื่องเลย มันเกิดขึ้นมาเราก็เย็นอยู่กับมัน มันเสื่อมไป ยังไม่รู้ว่าเสื่อม จนกว่ามันเร่าร้อนแล้วถึงจะรู้ เพราะความเร่าร้อนนั้นมันบอก แต่ความเสื่อมเราไม่เห็น

พอความเร่าร้อนมันบอก มันก็รู้ว่ามันเสื่อมไปแล้ว เราจะคืนอย่างไร? นี่อาการของใจมันเป็นโดยอัตโนมัติ มันเป็นโดยธรรมชาติของใจมันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เวลาเราแสวงหาเข้าไป แสวงหาเข้าถึงจุดนี้มันก็แสนยากอยู่แล้ว แล้วมันแปรสภาพนี้เราก็ไม่รู้อีก เพราะเราไม่ยกขึ้นให้มันเป็นของจริง ของจริงหมายถึงว่ามันเป็นอกุปปธรรม มันขึ้นเลย มันไม่เสื่อม มันไม่แปรสภาพ มันไม่แปรสภาพอีกเลย นี่มันไม่แปรสภาพได้ก็ต่อเมื่อมันต้องเผาผลาญตัวมันเอง มันต้องเปลี่ยนพลังงานในตัวมันเองให้เป็นพลังงานที่เย็น

พลังงานที่จะเผาผลาญตัวมันเองนี้ มันก็ต้องเผาผลาญที่กายและจิตนี้ เห็นไหม เอาพลังงานในตัวของมันน่ะเผาผลาญตัวมันเอง ให้มันแปรสภาพจากของดิบให้มันเป็นของสุกไง จากของที่เสื่อมสภาพ อย่างเช่นดินเหนียว เขาปั้นโอ่ง เขาเผาด้วยไฟแล้วมันจะกลายเป็นอิฐ พลังงานของใจก็เหมือนกัน เผาด้วยวิธีการวิปัสสนาไง กายหรือใจ เผาด้วยตบะธรรม ดูความแปรสภาพ วิธีการทำงานไง

วิธีการทำงาน ดูสิ ดูความแปรสภาพ นี่พลังธรรมกับพลังธรรมเจอกันไง พลังภายในกับพลังกิเลสไง พลังกิเลสมันแอบแฝงอยู่ที่ใจ เอาพลังของธรรมที่อยู่ในหัวใจ เข้าไปจับมัน แล้วใช้พลังอันนั้นสู้กัน นี่วิปัสสนา นี่ธรรมจักร ปัญญาของธรรมเคลื่อน เคลื่อนเพราะเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต เราเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ที่ได้วางแนวทางไว้ไง

ทางมีอยู่ ปูไว้ให้เดิน เราเองเดินไม่ถูกต้อง เดินไม่ถูกต้องนะ ไม่ถูกต้องแล้วยังไม่ถูกต้องเปล่านะ ยังหันกลับมาติเตียนด้วยว่า ยกขึ้นวิปัสสนานี้ให้มันเหนื่อย ให้มันทุกข์ ให้มันยาก จิตสว่างไสว จิตมีความสงบนี้ อันนี้ก็เป็นผลแล้ว วางแนวทางไว้แล้ว เราไม่เดินเปล่า ยังติเตียน นี่ดูกิเลสสิ ดูกิเลสในใจ ดูโลกในใจนี่ โลกในใจมันยังขี่ธรรมในใจเราเลย แล้วจะให้คนอื่นรักเรา ใจเราเองมันยังไม่รักใจเราเองเลย มันยังทิ่มตำในใจเราเอง กิเลสมันยังเหยียบย่ำอยู่เลย นี่หันกลับมาดูใจของตัว แล้วมันจะประเสริฐ

ประเสริฐที่ว่า ไหนว่ารักตัวตนจริง ไหนเรารักเราจริง รักเราจริง ทำไมเราไม่ทำใจนี้ให้มันพ้นล่ะ ทำไมเราไม่กินสิ่งที่ดีล่ะ เราไม่พัฒนาสิ่งที่ดี ไม่ทำตามครูบาอาจารย์สอน ไม่ยกขึ้นวิปัสสนา

มันไม่ยก ไม่ยกเปล่า มันยังติมันยังเตียน นี่กิเลสมันเสี้ยมขนาดนั้น แล้วมันอยู่ที่ไหน? มันก็คือเรานี่แหละ ความเคยใจในหัวใจนั่นล่ะ มันไม่อยากทำงาน มันอยากจะนอนสบายๆ มันอยากจะนอนอยู่ นอนอยู่ในที่นอนไง แล้วก็ให้เขาเอาเงินมากองที่หน้าตักไง

พอมันสงบขึ้นมันก็อยากจะเอาผล เอาผลว่าเขามาประเคนให้เลย ใครจะมาประเคนให้ ประเคนให้ก็มีแต่กิเลสมันหลอก กิเลสประเคนให้ มันว่าอันนี้เป็นธรรม บอกเดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวก็ร้อน ถึงว่านี่กิเลสมันหลอก นี่เผาภายใน เราถึงไม่ให้เชื่อตนเอง ไม่ให้เชื่อกิเลสมันเสี้ยมไง

เวลาธรรมะหมุนเข้าไปเป็นกิริยาฝ่ายธรรมหมุนเข้าไป ต้องคอยเช็ค คอยตรวจสอบอารมณ์ของตัวเองอยู่ตลอด อย่าประมาท อย่านอนใจ อย่านอนใจตัวเอง อย่าเชื่อความคิดตัวเอง อย่าเชื่อทุกอย่าง ต้องให้มันเกิดโดยตามสภาวะ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคอยเพ่งดู คอยยกขึ้นวิปัสสนา คือให้มันหมุนด้วยปัญญาไง

การเพ่งดูนั้นเป็นการจดจ่อ การใช้ความคิดผ่อนเป็นบางครั้งบางคราวไง อย่างการเราทำงานแสนเหนื่อยยาก ทำงานนี้เหนื่อยมาก อยากจะพักบ้าง...ถูกต้อง การเพ่งอยู่นี้เพื่อเอาไปต่อสู้ไง แล้วพักปุ๊บยันไว้เฉยๆ พักยกนะ ถ้ามันสู้ปุบๆ มันหมุนด้วยปัญญานี่ พลังงานภายใน พลังงานของร่างกายเราใช้ เหงื่อไหลไคลย้อย มันล้า แล้วมันเหนื่อยมาก พลังงานของใจ ความคิดภายในเหนื่อยกว่า พอเหนื่อยกว่ามาก มันเครียด มันตึง แล้วมันเสื่อมเอา แล้วสู้ไม่ไหว อันนั้นถึงได้เพ่ง เพราะถ้าไม่เพ่งแล้วเราแพ้เลย มันย้อนกลับเลย แล้วมันจะเบื่อ เพ่งดู ยันไว้ การบันไว้นี้มันมีแรงของสมาธิไง จิตนี้ยังมีพลังงานอยู่ ยังยันไว้ได้อยู่ ยันไว้ก็พัก เฮ้อ! ถอนหายใจ ถอนหายใจนะ

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนามันไม่เพ่ง มันหมุนเข้าไปเลย หมุนเข้าไปนั่นน่ะ หมุนเข้าไป อันนี้คืออะไร ไหนใส ไหนอ่อน ไหนมันแปรสภาพ นี่หมุนเข้าไป หมุนเข้าไปนั่นนั่น อันไหนๆๆ ความคิดนั่นล่ มันเผาโดยอัตโนมัตินะ นามธรรมกับนามธรรมมันสู้กัน เราคิดว่าความคิดนี้คิดลอยๆ...ไม่ใช่ ถ้าคิดลอยๆ คิดแบบนี้ คิดแบบโลกนี่ แต่นี้เราต่อสู้มาตั้งแต่น้ำเต็มแก้ว จนพร่องมา จนเป็นแก้วว่างแล้ว แก้วว่างมันก็มีเวทีต่อสู้ไง

ในแก้วนี้เป็นเนื้อที่ว่าง พอเนื้อที่ว่างมันก็มีให้ความคิดนี้หมุนได้ไง แต่ถ้าเป็นคิดแบบข้างนอกเลยนี่ เออ! อันนี้ใช่ อันนั้นเป็นความคิดที่คิดลอยลม แต่ความคิดหรือความปฏิบัติอันนี้มันไม่ลอยลม มันมีเนื้อที่ว่างในหัวใจให้มีการต่อสู้เกิดขึ้นแล้ว มันเปิดสนามแล้ว เปิดเวทีของใจขึ้นมาวิปัสสนา มันเป็นความคิดอันเดียวกัน แต่ความคิดนี้มันพร้อมด้วยสมาธิ พร้อมด้วยความเพียร พร้อมด้วยงานชอบ ความคิดอันนี้มันเป็นวิปัสสนา มันเป็นสังขาร แต่มันก็มีพลังงานของใจหมุนเข้า เป็นความคิดหมุนเข้า เป็นความคิดเย็น นี่ธรรมจักรของพระพุทธเจ้า

ธรรมจักรไง จักรนี้หมุน หมุนเข้าไปเชือดไง เผาผลาญพลังงานนี้จนพลังงานนี้หรือว่าตัวใจนี้ เป็นตัวใจที่สุข เห็นไหม ไม่แปรสภาพ ไม่แปรสภาพนะ พอยันถึงชุดจุดหนึ่งแล้วก็ไม่เสื่อม จิตนี้ไม่เสื่อม จิตนี้ไม่ตก จะไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่เสื่อมลงมาจากนี้อีกแล้ว เราก็เป็นคนที่ว่า ขึ้นไปอยู่บนที่มั่นคง คนที่ไม่เคยยืนอยู่บนที่มั่นคงเลย ยืนอยู่บนกลางอากาศ กลิ้งหมุนไปตลอด คนตกจากอากาศมันจะกลิ้ง มันจะหมุนตลอด แล้วความคิดเราหรือในวัฏฏะนี้มันก็เป็นอย่างนั้นตลอดเลย แล้วพอถึงว่า เรายืนอยู่บนธรรมของพระพุทธเจ้าชั้นหนึ่ง คนหมุนกับคนไม่มีจุดยืน ต่างกันขนาดไหน นี่ความสุขมันจะเกิดขึ้น

ความสุขจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาจากจิตสงบมาเป็นขั้นๆ ตอนๆ นะ จนสงบเฉยๆ กับจนยืนตั้งมั่น พิจารณาเผาผลาญจนแปรสภาพ ไม่คลอนแคลนอีกแล้ว นี่จิตของเราชาวพุทธที่ว่าเป็นผู้มีวาสนาไง นี่พยายามขึ้นมานะ เผาขึ้นมา เผาขึ้นมา เผาขึ้นมา พอจิตขึ้นมามันมีผลมีงาน มีผลงานขึ้นมา มีความสุขขึ้นมา มันเริ่มสุขขึ้นมาเรื่อยๆ จิตนี้ก็สุขด้วย

ความสุขนี้มัน ๒ ชั้นนะ ชั้น ๑ คือความสุขที่เราเวิ้งว้าง เรามีความสงบ ใจมันเสพธรรมเป็นอาหาร เย็นสบายนะ แล้วยังไม่เสื่อมสภาพอีก...๒ ชั้นไหม? กับเริ่มต้นมา ถ้าไปเสพแล้วอนิจจังถอนออก เป็นไตรลักษณ์ อันนั้นเราเข้าไปเสพแล้วออกมามันเสียดาย คนเคยกินอาหารดีๆ แล้วไม่มีโอกาสได้กินอีก มันคิดถึงอันนั้นแล้วมันก็ไม่มีความสามารถเข้าไปกินได้อีก เพราะอะไร? เพราะมันทำจิตขึ้นมาจนเสมอระดับนั้นไม่ได้

แต่ถ้ามันตั้งมั่นแล้วนี่กลับมาสงบทันที ใจมันอยู่ในอำนาจของเราไง เราจะกินอาหารชนิดไหนเราก็มี เราพอจะมีกินได้ตลอด จิตนี้ถึงเริ่มตั้งมั่น ไม่เสื่อมสภาพ มันมีฐานที่จะขึ้นต่อไป มีฐานแล้วไง จากเมื่อก่อนบังคับไม่ได้เลย จะไปไหนก็ต้องวิ่งหาไปข้างนอก แต่เดี๋ยวนี้มันอยู่กับตัวเราแล้ว มันอยู่ที่ตัวเรา มันอยู่ที่ข้างกายเรา เราจะใช้เมื่อไรก็ได้ นี่จิตตั้งมั่น จิตที่ไม่เสื่อมจากฐานอันนี้ มันก็ดู นี่ถ้าใจ

ทีนี้พอมันมีความสุขขึ้นมา แก้วมันเติมธรรมเข้าไปแล้วช่วงหนึ่ง ทีนี้แก้วมันยังว่างอยู่ เราดูสิ ดูใจ ดูไป จิตมันมีฐาน มันทำได้ใช่ไหม จิตมีฐานคือจิตมีพื้นฐานอยู่แล้ว พอดูกลับมา กาย เวทนา จิต ธรรมอย่างเก่านั่นล่ะ “กาย เวทนา จิต ธรรม” พิจารณากายก็กายได้ พิจารณาจิตก็ได้ ธรรมก็ได้ ไอ้ใสๆ ที่ว่านั่นล่ะ มันใส

ความใสนี่มันต่างระดับชั้น ความใสนะ จิตใสต่างกัน จิตใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แต่หมองไปด้วยอุปกิเลส กับจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แต่กิเลสมันเริ่มจางออกไปนี่ความใสต่างกันแล้ว ความใสของพื้นฐานใจก็ต่างกัน แต่กิเลสมันก็ต่างกัน กิเลสตัวข้างบนมันก็ยิ่งใสไปอีก ใสกว่า มันอยู่ในความใสนั้น แต่ตบะธรรม ความตบะธรรม ความประพฤติปฏิบัติ ความจดจ่อ ต้องเจอกัน

ในโอ่ง ในแก้วนี่มันมีความว่างอยู่ เราเอามือไปควาน ต้องจับต้อง อย่างน้อยอากาศข้างนอกกับข้างในก็ต้องต่างกัน อากาศในโอ่งกับอากาศข้างนอกมันต่างกันอยู่แล้ว ชักมือเข้าไปกับออกมา ความนี้ต่างกัน ทีนี้ใจเข้าไปดูก็เหมือนกัน เอาใจนี้เข้าไปเพ่งดูในความรู้สึกอันนี้ มันต้องจับต้องกิเลสได้ จับต้องหมายถึงการพบหน้า กิเลสนี้อาศัยเครื่องมือคือขันธ์ คือความคิดของเรานั่นล่ะเสี้ยมออกมา มันอาศัยทางสืบต่อไง เราตัดให้มันสั้นเข้ามา สั้นเข้ามา เราตัด ขันธ์นอก-ขันธ์ใน

กิเลสนี้อาศัยพลังงานที่วิ่งออกมาแล้วมันก็เสี้ยมออกมาตลอด มันอาศัยอันนี้เป็นสะพาน เป็นทางผ่าน แต่จิตเราก็ย้อนกลับ ย้อนกลับเข้าไปดู ทางที่มันวิ่งออกมานั่นล่ะ ทางที่มันอาศัยความคิดเราออกมา จากขันธ์ภายใน “ขันธ์ภายใน” คือความคิดภายใน “ขันธ์ภายนอก” ความคิดเรื่องข้างนอก ขันธ์ข้างนอก แต่ขันธ์ข้างในมันอุ่นอยู่ อย่างเช่นเราคุยกับใครก็อีกอย่างหนึ่ง เราคิดแต่เราไม่ได้พูดออกมาก็อย่างหนึ่ง นี่กิเลสมันอาศัยตรงนี้เป็นทางออก อาศัยตรงนี้

อย่างเช่นเราพูดเผลอ พูดผิด พูดถูก ไม่อยากจะพูดมันก็พูดออกมา นี่กิเลสมันเสี้ยมออกมาทางนี้ มันเอาทางนี้เป็นทางออกมัน แล้วก็ย้อนกลับเข้าไปดู ย้อนกลับ ดูความคิดอันละเอียดเข้าไป ความคิดอันละเอียดเข้าไป จากคำพูดก็เป็นความคิด จากความคิด ต้นของความคิดอยู่ไหน ถ้าใจมันยังคิดออกมาได้ อาการของใจยังคิดออกมาได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ากางเป็นตาข่ายเข้าไปหา “ตาข่าย” ข่ายของปัญญาญาณเข้าไปดูความคิดของตัว ความคิดนี้มันก็เป็นธรรมชาติ แต่กิเลสที่มันมากับความคิดสิ เราจะดูตรงนั้น ตรงที่กิเลสมากับความคิด ดูความคิด เวลามันเกิดทำไมเราดับไม่ได้ บางอย่างเราก็รู้ คิดถูกคิดผิด แต่พอมันเกิดขึ้นเราดับไม่ได้นะ เราหยุดให้มันหยุดเลยไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันมียางเหนียวไง มีตัวกิเลสนี้กระตุ้นอยู่ไง

ทีนี้ถ้าเราใช้ปัญญาเข้าไปตรวจสอบ เข้าไป ทำไมมันหยุดไม่ได้ เพราะเหตุใด เห็นไหม มันก็เข้าไปใคร่ครวญอยู่ภายในอีก นี่ปัญญาญาณ ความคิดจะเร็วขนาดไหนก็แล้วแต่นะ ความคิดของใจนี่เร็วมาก ปัญญาก็เร็วมาก ถ้าเราฝึก เราฝึกบ่อยๆ แพ้บ่อย ใหม่ๆ นี่จะเริ่มแพ้ ความคิดตรงไหนก็แพ้ ชั้นไหนก็แพ้ ความละเอียดเข้าไปมันยิ่งแพ้ รถวิ่งช้า รถวิ่งเร็ว รถที่เหาะมาเลย

เวลาความคิดมันออก มันลึกเข้าไป มันจะเร็วขึ้นเท่านั้น มันลึกเข้าไป มันจะละเอียดกว่านั้น ละเอียดจนแบบว่าเราแทบหาไม่เจอ มันเป็นชั้นๆๆๆ เข้ามานะ เราก็ต้อนมา ต้อนเข้ามา ต้อนเข้ามา ต้องให้เจอความคิดนี้ ต้องจับต้องได้ ถ้าเราจับต้องไม่ได้ เราจะเอาที่ไหนเป็นต้นของความคิด เราจับต้องตัวกิเลสไม่ได้ เราจะเอาอะไรมาเป็นที่วิปัสสนา เราจับตัวความรู้สึกที่มันกระตุ้นออกมาไม่ได้แล้วเราจะเอาจำเลยที่ไหน? งานขุดคุ้ย งานค้นเขี่ยหากิเลส หาจำเลย จำเลยที่ในหัวใจของเรา จำเลยข้างนอกไม่เกี่ยว

จำเลยคือว่า ไอ้กิเลสที่มันยุแหย่ออกมาจากความคิดที่เราไม่พอใจ เราอยากให้มันหยุดคิดก็ไม่ได้นี่มันมาจากไหน? นี่ปัญญาญาณมันจะตรวจสอบได้นะ ปัญญาญาณ วิปัสสนาญาณ สามารถตรวจสอบความคิดตัวนี้ได้ กิเลสอาศัยความคิดออกมา ปัญญาญาณอาศัยตรวจสอบความคิดเข้าไป การต่อสู้เกิดขึ้น วิปัสสนาเกิดแล้ว ปัญญาญาณได้หมุนแล้ว ความขยันหมั่นเพียรอยู่ที่เรา การปลงใจ การขุดคุ้ย การเพ่งดูอยู่ นี่งานภายใน

งานนี้เป็นงานที่ประเสริฐที่สุด งานอย่างนี้เป็นงานที่ผู้จะพ้นออกจากโลกไง นี่ธรรมพระพุทธเจ้าประกาศกังวานอยู่ตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาตลอด แต่เราไม่เคยได้ยินเลย ไม่เคยกังวานขึ้นมากลางหัวใจของเรา เสียงระฆังเหง่งหง่างก็อยู่แต่ข้างนอก มันไม่สามรถดังเหง่งหง่างลงไปกลางหัวใจได้ ถ้าเราใช้วิปัสสนาญาณนี้เกิดขึ้น มันแว่วๆ มานะ ความแว่วๆ เสียงแว่วๆ มันเข้ามาแล้ว เพราะอันนี้มันเข้ามาถึงหัวใจแล้ว

คำว่ามันจะกังวานในใจเราขึ้นมาแล้ว นี่เราถึงว่าเป็นผู้ที่มีบารมีไง ผู้ปฏิบัติเท่านั้นเป็นผู้ที่ยกตนออกจากกิเลส ออกจากวัฏวน ออกจากวัฏฏะนะ วัฏฏะเป็น ๔ ขั้นตอน เราพาด เราก้าวขึ้นมาเหยียบขั้นแล้วน่ะ วัฏฏะที่ ๒ ไง วงเวียนวังวนที่ ๒ เราจะพ้นจากวังวนที่ ๒ ขึ้นไป นี่ปัญญาญาณเกิด เกิดขึ้นจากความมุมานะ ความบากบั่น แล้วก็มีช่องทางที่พระพุทธเจ้าวางศาสนาไว้ เราถึงเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราถึงเป็นผู้ที่สมควรจะฟังธรรม ฟังธรรมแล้วปฏิบัติธรรม ฟังธรรม-ปฏิบัติธรรม ธรรมกังวานขึ้นกลางหัวใจ ฟังธรรม-ปฏิบัติธรรม

ฟังธรรมไม่ปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ฟังสักแต่ว่าฟัง ฟังธรรม-ปฏิบัติธรรม ธรรมประกาศอยู่โต้งๆ ธรรมประกาศอยู่ อกาลิโก ไม่อาศัยกาล ไม่อาศัยเวลา ขาดแต่ความมุ่งหมาย ขาดแต่ความเพียร ขาดแต่วิปัสสนาญาณที่เราไม่ยกขึ้น เรายกขึ้น เรายกขึ้น เห็นไหม เราไม่ยกขึ้น ธรรมเกิด ธรรมเป็นไป ธรรมหมุนอยู่ แต่ด้วยความเซ่อ ด้วยกิเลสมันยุแหย่ ด้วยการปัดมือ ปัดไม้ จากหัวใจไง นี่กิเลส

ความคิดที่ว่าควรจะเป็น ควรจะใช่...ควร ขนาดมันหมุนอยู่ กิเลสมันก็ยังเสี้ยมออกมาเลย ตรงนี้ใช่ ตรงนี้มันหมุนรอบแล้วความเข้าใจหยุด ความเข้าใจ ความใคร่ครวญ บางทีมันไม่รอบไง มันใคร่ครวญเข้าใจพอเข้าใจ มันว่าอันนี้ถูกต้องแล้ว มันไม่สมุจเฉทปหาน ความเข้าใจเป็นความเข้าใจ ความหมุนไปของปัญญาให้มันหมุนไป หมุนไปจนมันเป็นธรรมจักร มันหมุนไปตลอด หมุนจนมันเที่ยง หมุนจนมันเป็นมรรคสามัคคีไง มันจะปหานเอง มันสมุจเฉทเอง เพราะขาดออกไปเอง ธรรมเป็นธรรม กังวานกลางหัวใจ มีความสุข มีความประเสริฐ

เราเกิดขึ้นจากเป็นปุถุชน มนุษย์ธรรมดานี่แหละ ทำไมธรรมมันกังวานขึ้นกลางใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส อิ่มเอิบกลางหัวใจของตัว มันชุ่มฉ่ำไปด้วยธรรมทำไมมันจะไม่สุข ความสุขแท้ ความสุขอันประเสริฐ ความสุขในโลกไม่มี โลกหาไม่เจอ ความสุขของโลกหาไปหาเถอะ มันสุขขนาดไหน มันก็พร้อมกับความร้อนมาด้วยกัน ความสุขทางโลกจะสุขแล้วทุกข์ไปพร้อมกัน แล้วทุกข์มากกว่าสุขหลายร้อยเท่านะ สุขเพราะทุกข์มันดับเท่านั้น แต่กังวานในใจนี้สุขล้วนๆ นะ สุขล้วนๆ สุขเนื้อๆ เลย

“เนื้อของธรรม” เนื้อของธรรมเข้ากับเนื้อของใจ ใจที่วนไปตามกระแสของโลก ครึ่งหนึ่งแบ่งออกมาให้ธรรมแล้วไง ครึ่งแก้ว วิปัสสนาต่อ พอมีความสุข เสพสุขพอสมควร มันก็เห่อเหิมไปอยู่พักหนึ่งล่ะ แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้ายัง...น้ำครึ่งแก้ว น้ำยังไม่เต็มแก้ว

วกกลับดูอย่างเก่า วกกลับมาดูของเดิม จิตเดิมแท้นี่ล่ะ จิตเดิมแท้นี้มันเป็นกามราคะ จิตเดิมแท้เป็นตัวคิด กายมันคิดไม่ได้ ความคิดมันขาดออกจากขันธ์ แต่ความคิดที่ขาดออกมาจากขันธ์ ขันธ์นี้มันเป็นขันธ์ภายใน แล้วกายนี้มันคิดไม่ได้ กายนี้มันเป็นธาตุ แต่ขันธ์นี้ออกมา จิตเดิมแท้นี้ออกมา ออกมาด้วยกามราคะไง มันชุ่มอยู่ในกามของมันเอง ตัวจิตเป็นตัวคิด ตัวจิตเป็นตัวเสพ ตัวจิตเป็นตัวกาม ตัวจิตนั้นเป็นตัวกาม นี่ต้องยกขึ้นอีก เพราะถ้าถึงจุดเข้าไปค้นคว้านะ ค้นคว้าในโอ่ง ในแก้วของเรา ค้นจนเต็มที่นะ พอเจอตัวกาม ตัวกามมันเป็นตัวกามมันเอง ความว่างในแก้วนั่นล่ะมันก็เป็นความรับรู้อยู่ภายใน ตัวชุ่มอยู่ ตัวชุ่มอยู่น่ะ

“จิตเดิมแท้” แล้วแท้ขนาดไหน? เราว่าจิตเดิมแท้นั้นมันประเสริฐ มันประเสริฐต่อเมื่อคนอื่นมาเสริมมัน มาดูมัน แต่ตัวมันเองก็ประเสริฐขนาดไหนมันก็ชุ่มอยู่ในตัวมันเองไง นี่มันจะเผาอีกล่ะ เผาอย่างไร? ถ้าลงมา จิตมันคิดออกมาถึงกาย มันก็เป็นกามราคะ ถ้าจิตมันคิดของตัวมันเองอยู่ พิจารณาอยู่ เข้าไปตรงนั้น มันเป็นอสุภะไง ความเป็นสุภะ-ความเป็นอสุภะไง

ความเป็นสุภะมันก็ติดในความสวยของมันนั่นน่ะ ในความอิ่มพอใจของมันไง ฉันนี้เป็นคนประเสริฐ ฉันนี้เป็นผู้มีศักดินา ฉันนี้เป็นคนยอดเยี่ยม ฉันนี้เป็นผู้ที่อยู่บนหัวคนไง ฉันนี้ขี่คอคนอยู่ไง มันเกิดความมานะ เกิดความอหังการขึ้นมาน่ะ นี่ติดในความงาม ความพอใจของตัวก็เป็นกาม กามมันกามฉันทะ ความพอใจ กามราคะมันกามข้างนอก กามภายในไง กามภายใน ความคิดที่มันเหยียบย่ำคน ความคิดที่มันเหยียบย่ำ มันอยู่บนหัว นี่เป็นความคิดของเราเอง แล้วความคิดอย่างไหนมันคิดเสมอกันล่ะ นี่ขันธ์มันอยู่ตรงนี้ ขันธ์แท้ๆ มันอยู่ตรงนี้ไง

คำว่า “ขันธ์” ขันธ์คือขันธ์ ๕ “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ” มันหมุนเป็นวงรอบ มันถึงเป็นความคิดขึ้นมาได้ ความคิดเฉยๆ นี่มันเป็นตัวใดตัวหนึ่ง อย่างเช่นเป็นสัญญาก็ความระลึกรู้เฉยๆ สังขารก็ปรุงเฉยๆ ถ้าไม่มีวิญญาณรับรู้ เห็นไหม นี่ตัวขันธ์ไง ขันธ์คือมันวงรอบ มันจะใสขนาดไหนก็ความคิดที่ไม่มีตัวตน มันใสจนจับต้องไม่ได้ ก็หมุนกลับ นี่ปัญญากิเลสมันหมุนออก ปัญญาธรรมหมุนเข้า หมุนเข้าสิ ถึงจะละเอียดขนาดไหน มันยึดมั่นตัวมันเองขนาดไหนก็ดูเข้าไปสิ ดูเข้าไป เพราะอะไร เพราะหัวใจมันมีรับรู้ไง มันมีสุขกับทุกข์ไง ถ้าคิดอันนี้มันหนัก

ความสุข ความทุกข์ อันละเอียดในใจไง ความสุข ความทุกข์ อันละเอียดนะ แม้แต่เราคิด เราก็ไม่พอใจ เอ๊ะ! เอ๊ะ! เอ๊ะ! เราคิดเองนะ เราคิดเอง เรารู้เอง คนอื่นไม่รู้หรอก เราคิดเอง ถ้ามันกลับมาดู เอ๊ะ! มันหมอง มันเศร้าหมอง ความสุข ความทุกข์ อันนี้มันจะเทียบค่า เทียบค่าว่าเราถูกหรือผิดไง เทียบค่าว่าเป็นระหว่างโลกไง โลกกับธรรมไง ระหว่างความผิดกับความถูก ระหว่างความทุกข์กับความสุข นี่ปัญญามันหมุนเข้าไป จับต้องตรงนี้แล้วใคร่ครวญ นี่คือตัวฐานใหญ่ นี่คือตัวที่เราจะชี้ชัดว่าอันใดผิดหรืออันใดถูก ปัญญาญาณต้องหมุนเข้า หมุนเข้า หมุนเข้าไป หมุนเข้าเพื่อใคร? ไม่ใช่ทำงานเพื่อคนอื่น ไม่ใช่ทำงานเพื่อจะมาพิสูจน์กับใคร แต่ทำงานที่กลางหัวใจ เพื่อจะดูใจของตัว เพื่อจะยกใจนี้ให้มันลอยขึ้นไปสูงกว่านี้ เพื่อให้ความสุขที่ละเอียดกว่านี้

ความสุขที่ได้มานี่มันก็ประกาศความเป็นจริงอยู่แล้วว่ามรรคผลมันมีจริง ว่าตัวความเป็นจริงตัวความสุขแท้ ความสุขที่พระพุทธเจ้าสอน ธรรมจะกังวานในใจ มันกังวานเข้าไปลึกๆ ลึกๆ ลึกๆ เข้าไปมันมีความสุขขนาดไหนน่ะ ถ้ามั่นใจมันหมุนเข้าไปดู หมุนเข้าไปดู หมุนเข้าไปนี่ใช้พลังงานอย่างแรง ช่วงนี้เป็นช่วงที่พลังงานต้องแรง เพราะมันเป็นตัวเราเองแล้วไง มันเป็นตัวภายใน เมื่อก่อนยังอาศัยคนนั้นพูดกระทบกระเทือนกันบ้าง แต่ตอนนี้เป็นความคิดเราล้วนๆ เลย

จากที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมากระทบ แต่ยังต้องอาศัยความสุขความทุกข์ในใจเราเป็นเครื่องกระทบ ถ้าสิ่งนอกกระทบ เรายังจะรู้ได้ง่ายกว่า แต่อาศัยความสุข เอาความเศร้าหมองในใจเท่านั้น กระทบนะ มันละเอียดเข้าไปไง ความกระทบ ความให้ผลของกิเลสมันให้ผลละเอียด ต้องใช้ธรรมะที่ว่าละเอียดเข้าไปจับต้อง จับต้องแล้วก็วิปัสสนา จับต้องแล้วก็เทียบค่า ทำไมเราเซ่อขนาดนี้ เราก็ว่าเราฉลาด เราว่าเราเป็นเรา ทำไมความคิดอย่างนี้เราจะปล่อยมันเกิดขึ้นมาให้ย่ำยีเราได้อย่างไร

หมุนเข้าไป พิจารณาเข้าไป ความสวยและไม่สวยต้องหลุดออกไป ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีการกระทบกระเทือน หรือมีการเคาะ การต่อสู้อยู่แล้วมันจะอยู่คงที่ได้ ถ้าเรามีความมุมานะ ยกเว้นแต่เราไม่จริง เราทำไม่ได้ดั่งใจแล้วเราท้อแท้ ถ้าเรามุ่งมั่น เรากระทบกระเทือน เราต้องตี เราต้องต่อสู่อยู่ ต้องชนะเข้าวันหนึ่ง

สงครามเกิดที่ใดต้องมีแพ้และชนะเท่านั้น สงครามเกิดที่ใด แต่เราไม่ยอมทำสงคราม เราไม่กล้าต่อสู้ไง เรากลัวแต่จะทุกข์ จะเหนื่อย จะเมื่อย จะล้าไง ถ้าสงครามเกิด เรามีการต่อสู้ เราสู้เข้าไปแล้ว สักวันหนึ่ง สักอารมณ์หนึ่ง สักวินาทีหนึ่ง สักจุดหนึ่งที่จิตกระเพื่อม...ขาด ขาดเลย ขาดอันนี้ อู้หู! แก้วมันสะเทือนเลย เกือบเต็มแล้ว น้ำเกือบเต็มแล้ว ความสูงของน้ำมันมาก พอมันสะเทือน แก้วเกือบเต็มแล้ว จนหมุนเข้าไปอีกน่ะ แก้วเกือบเต็ม แต่ยังไม่เต็ม

สิ่งที่ยังไม่เต็มเพราะอะไร เพราะตัวมันยังลอยอยู่ข้างบนไง ความว่างที่ลอยอยู่ข้างบนนั่นน่ะ มันเป็น ๓ ส่วนแล้ว มันเป็น ๓ ใน ๔ อีกส่วนหนึ่งยังไม่ได้เติมลงไป เอาที่ไหนมาเติมล่ะ? ก็ตัวที่มันว่างอยู่นั่นน่ะ ไอ้ตัวที่มันว่างอยู่ข้างบนนั่นน่ะ มันมีตรงที่ว่าง ตรงที่ว่างนี้เป็นตอจิต ตรงที่ว่างนี้อะไรไปใคร่ครวญมัน เพราะมันว่างอยู่ข้างบน อยู่ภายใน อยู่บนนั่นน่ะ? ก็ตัวจิตไง ตัวจิตน่ะ จิตนี่หาอย่างไร?

ไอ้ความสุข ความทุกข์ที่เราเทียบค่าเมื่อกี้ มันยังความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากภายใน แต่ตอของจิต มันจะเอาอะไรไปเทียบค่ามัน มันละเอียดยิ่งกว่านั้น ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เราจะเทียบค่าว่าความสุขความทุกข์ภายในที่ละเอียดเลย มันเป็นแสงที่สว่างหรือมืดเท่านั้น มันเป็นความอ้อยอิ่ง อ้อยอิ่งออเซาะเท่านั้น มันเป็นความอาลัยอาวรณ์จากภายในไง มันจะเติมน้ำเต็มก็ควรจะเต็มแก้วซะ เป็นความอาลัยอาวรณ์ เป็นความอ้อยอิ่ง

แต่ในการใคร่ครวญ ในการต่อสู้ ในการพิจารณานะ ลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งจนคนแทบไม่ทำ ไม่ทำเลย เพราะว่ามันแทบจะให้ค่ากันไม่ได้เลย มันละเอียดจนเป็นหนึ่งเดียว ขันธ์เดียว ขันธ์ยอด นี่ธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ไม่มีทางเห็น ไม่มีทางหลงเด็ดขาด แล้วเรามีวาสนาหรือไม่มีวาสนา เรานี่เป็นผู้ที่มีวาสนาหรือไม่มีวาสนา เพราะเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต พวกเรานี่เป็นลูกศิษย์ตถาคตนะ แล้วพระพุทธเจ้าประกาศธรรมกังวานมาตลอด ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว หัวใจเราจะต้องกังวานสิ ระฆังกลางใจ เก๊ง น้ำเต็มเลย

พอน้ำเต็ม น้ำอันนี้เต็มแก้ว ธรรมเต็มหัวใจ กับน้ำชาเต็มแก้วนั่นน่ะ เราเติมมันก็ล้น ธรรมเต็มแก้วแล้ว อะไรมาเติมมันน่ะ อะไรก็ใส่ไม่ได้ อะไรก็ออกไม่ได้ ความเต็มด้วยธรรม กับความเต็มของโลก คนละเรื่อง ความเต็มของโลกมันมีแต่ความทุกข์ ความเต็มของธรรมมันมีแต่ความประเสริฐ ความประเสริฐเลอเลิศ เห็นไหม นี่โลกกับธรรม

ความเต็มของโลกมันเป็นน้ำชานี่ น้ำชามันจะให้ประโยชน์อะไร มันให้ค่าอะไร? มันจะให้โทษแก่ร่างกาย แต่น้ำของธรรม น้ำจืดสนิท ธรรมะนี้จืดสนิท เย็น เป็นของประเสริฐ ถ้าเรากังวานในกลางหัวใจ หัวใจนี้เป็นธรรม ธรรมอันนี้ไม่คลอนแคลน ไม่ให้ค่า ไม่มีการเหยียบย่ำใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าซ้ายหรือขวาดีกว่ากัน ชั่วหน้าหรือหลัง...ไม่มี ให้ค่าก็ไม่ได้ ลดค่าก็ไม่ได้ แล้วมันจะเอาความลำเอียงมาจากไหน ถึงว่าเป็นกลางไง มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมา ความเสมอต้น ความเสมอปลาย ไม่มีการคลอนแคลน ไม่มีล่อลวง ไม่มีการมาแปรสภาพตอนหลัง...ไม่มี มันต้องยืนคงที่ตลอด คงที่ ถึงว่าเป็นธรรมแท้ไง

นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรม ฟังธรรมนะ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะกังวานกลางหัวใจ เอวัง