ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รู้จริงไม่อำ

๖ พ.ย. ๒๕๕๔

 

รู้จริงไม่อำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันคำถามเก่า มันข้อ ๖๘๗. เนาะ

ถาม : ๖๘๗. เรื่อง “การเบิกบุญและการอุทิศให้ผู้อื่น”

หลวงพ่อ : เขาถามมา เขาเขียนมาบอกว่า “โยมได้ฟังเรื่องการอุทิศส่วนกุศล” ทีนี้การอุทิศส่วนกุศล เขาพูดบอกว่าให้พูดให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางไง ฉะนั้น คำว่าเป็นแนวทางนี่ ถ้าประสาเราในการปฏิบัติเขาเรียกว่าเป็นปัจจุบัน ถ้าปัจจุบัน เห็นไหม เวลาในพระไตรปิฎกเขาพูดถึงอริยสัจ พูดถึงสัจจะความจริงเหมือนกัน

สัจจะความจริง เวลาเราปฏิบัติกัน ทุกคนในปัจจุบันนี้เราจะไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า พอระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ทุกคนไปแล้วบอกว่ามีความซาบซึ้ง มีความอะไรนั้นก็ถูกต้องอยู่ เพราะมันเป็นระดับของความรู้สึก ระดับของโลกไง ระดับของโลกเพราะจิตใจของเราเกิดในปัจจุบันนี้ เวลามีการศึกษาแล้วเราจะว่า ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้วพระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า? ศาสนามีจริงหรือเปล่า?

ฉะนั้น เวลาไปนี่ ไปเห็นความจริงเข้ามันก็เป็นการยืนยัน พอเป็นการยืนยันเราก็ซาบซึ้ง พอซาบซึ้งมันก็เป็นความรู้สึกอันหนึ่ง ฉะนั้น ในการไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ไปเพื่อยืนยันว่ามันเป็นความจริง ฉะนั้น ถ้าเป็นความจริงแล้ว นี่เวลาเราเป็นปัจจุบัน เวลาเป็นปัจจุบันเพราะเราศึกษา เราศึกษาแล้วเรามีความรู้เราก็พิจารณาของเราว่ามันจะเป็นความจริงหรือเปล่า? ฉะนั้น เราก็เอาสิ่งนี้มาเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าพูดถึงสัจจะความจริง เห็นไหม

หลวงตาท่านบอกว่า “ทุกข์ในสมัยพุทธกาลกับทุกข์ในสมัยนี้ก็เหมือนกัน”

เหมือนกัน อันเดียวกัน ความกังวลของคนเหมือนกัน ทุกข์อันเดียวกัน เพียงแต่ว่าโลกมันแตกต่างกัน กาลเวลาแตกต่างกัน เทคโนโลยีมันแตกต่างกัน สมัยโบราณ ๒,๐๐๐ กว่าปี การสื่อสาร การคมนาคมทุกอย่างมันยังไม่มี พอยังไม่มีมันก็ทำให้ความรู้สึกของคนเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะกว่าข่าวสารจะมาถึงกันมันช้ามาก แต่ในปัจจุบันโลกนี้มันเล็กมาก การสื่อสารปัจจุบันนะถ่ายทอดสดไปรอบโลกหมดเลย พอไปรอบโลกปั๊บเราก็เอาสิ่งนั้นเป็นตัวตั้ง พอสิ่งนั้นเป็นตัวตั้งปั๊บ พอเรามาพูดถึงเรื่องการอุทิศส่วนกุศล

อุทิศส่วนกุศลมันมีมาแต่ดั้งเดิม ดั้งเดิมคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บอกไว้เอง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เวลาพระโมคคัลลานะไปสวรรค์ ไปต่างๆ แล้วกลับมาบอกว่าชาวบ้านคนนั้นคนนี้ตายแล้วไปอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ไหน? แล้วพระพุทธเจ้าเป็นคนพยากรณ์ว่าใช่ๆๆ พระพุทธเจ้ารับประกันหมดเลย

ถ้ารับประกันหมด เห็นไหม การกระทำนี่หลวงปู่มั่นท่านก็เห็นของท่าน ฉะนั้น สิ่งที่เราทำอยู่แล้วมันสมบูรณ์อยู่แล้ว มันสมบูรณ์ของมันอยู่แล้ว ถ้ามันสมบูรณ์อยู่แล้ว สิ่งที่เขามาทำทีหลังนี่ว่าเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบัน เป็นการกระทำเดี๋ยวนี้ นั่นเป็นความเห็น ความเห็นของคนที่เห็นตามกันไป ฉะนั้น เราไม่ต้องไปยึดสิ่งนั้น

มันมีของเดิมอยู่แล้วนะ การอุทิศส่วนกุศล การอุทิศคือการเจาะจง มันมี อยู่ในธรรมบทก็มี เวลาทำบุญไปแล้ว นี่ทำบุญไป แล้วสิ่งนี้มันเป็นบุญสาธารณะทุกคนก็ได้ร่วมกัน แต่ถ้าเป็นการเจาะจง อุทฺทิสฺส คือเจาะจงบุคคลคนนั้น ฉะนั้น บุคคลคนนั้นเวลาเราอุทิศส่วนกุศล เห็นไหม เราถึงบอกว่า ปู่ ย่า ตา ยาย เราชื่อนั้นๆๆ นี่พอชื่อนั้นมันก็ต้องเป็นของบุคคลคนนั้นๆ ไง แล้วพอถึงสุดท้าย

นี่เวลาเราอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ให้ปู่ ย่า ตา ยายเราอุทิศไปเรื่อยๆ แล้วก็สรรพสัตว์ทั้งหลาย สัพเพ สัตตา เพราะว่าเราคิดใช่ไหม? อย่างเช่นเงิน ๑ บาท พอเราใช้ ๑ บาทไป เงิน ๑ บาทก็จบ แต่ในทางบุญกุศลนะ เงิน ๑ บาท เราอุทิศให้คนหนึ่งได้ ๑ บาท อุทิศให้คนอื่นได้อีก ๑ บาท อุทิศให้คนอื่นได้อีก ๑ บาท อุทิศ ๑๐๐ หนก็ได้ ๑๐๐ บาท

แต่โดยความตระหนี่ของเรา เห็นไหม เงิน ๑ บาท เราก็บอกเจาะจงเลยว่าให้ปู่เรา ๑ บาท พอให้ ๑ บาทแล้วมันก็เป็น ๑ บาทใช่ไหม? เราให้ย่าอีก ๑ บาท ให้เจ้ากรรมนายเวรอีก ๑ บาท ให้ทุกคน เพราะมันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึก มันได้ตลอดไง ไม่ใช่อุทิศให้ยาย ๑ บาทแล้วทุกคนก็หมดเลย นั่นเพราะเราคับแคบที่จิตใจเรา แต่ถ้าจิตใจเราไม่คับแคบนะ อุทิศให้ปู่ ๑ บาท ย่า ๑ บาท ยาย ๑ บาท เพราะ ๑ บาทก็คือ ๑ บาท

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าการอุทิศส่วนกุศล บุญนะเหมือนกับแสงเทียน เทียนนี่เราจุดต่อๆ กัน เทียนเรายังอยู่เต็ม เห็นไหม เทียนเราอยู่เราก็จุดต่อๆๆ ไป อุทิศส่วนกุศลมันได้ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วถ้าไม่มีที่สิ้นสุดทำไมต้อง อุทฺทิสฺส ทำไมต้องเจาะจงด้วยล่ะ? คำว่าเจาะจงนี่นะ ผู้รับนะ เวลาคนไปเกิด สัมภเวสี หรือสิ่งต่างๆ มันอยู่ในดินแดนของใคร? แล้วกำลังของใคร?

ในกำลังของใคร ดูสิในธรรมบทนะ เวลาพระกัสสปะออกจากฌานสมาบัติ ใครมาทำบุญกับพระกัสสปะจะได้บุญมาก นี่พระอินทร์ปลอมตัวมา ปลอมตัวมาเป็นคนทุกข์คนยาก แล้วมาใส่บาตรพระกัสสปะ พระกัสสปะพอเห็นอาหารนี่มันสัมผัส ก็เลยกำหนดจิตดู

“โอ้โฮ มหาบพิตร มหาบพิตรอย่าขี้โกงสิ มหาบพิตรอย่าขี้โกง นี่ที่ทำเพื่อมาสงเคราะห์คนทุกข์คนยาก มหาบพิตรไม่ควรมาฉ้อโกงบุญของเขาไป”

“โอ๋ย ข้าพเจ้าเป็นคนทุกข์คนยาก”

“คนทุกข์คนยากเพราะอะไร?”

คนทุกข์คนยากเพราะว่าเป็นพระอินทร์นะ ปกครองเทวดา แต่มีผู้ใต้ปกครองที่เป็นเทวดาที่แสงเขามากกว่า บุญเขามากกว่า บุญมากกว่า ปกครองเขามันแบบว่าคนที่มีกำลังน้อยกว่า ไปปกครองคนที่มีกำลังมากกว่ามันแบบเสียศักดิ์ศรี ว่าอย่างนั้นเถอะ ก็มาทำบุญ เพิ่มบุญกุศลเพื่อจะให้มีแสงมากกว่า ให้เท่ากันหรือมากกว่า

ฉะนั้น เวลาคนตายไปแล้ว ตรงนี้มันไม่เท่ากัน พอไม่เท่ากัน การที่จะรับบุญกุศลต่างๆ มันไม่เหมือนกัน ถ้าเรา อุทฺทิสฺส เจาะจง เฉพาะๆๆ ทีนี้พอเฉพาะปั๊บเข้ามาตรงนี้แล้ว เข้ามาที่ว่าอย่างนี้ก็เป็นการที่ว่าเราเห็นแก่ตัวสิ เราทำอะไรเราเห็นแก่ตัว ไม่ได้เห็นแก่ตัว ถ้าใจเราเป็นธรรมขึ้นมา ๑ บาทคือ ๑ บาท แต่ ๑ บาทนี้มันอุทิศได้ร้อยๆ ครั้ง พันๆ ครั้ง ล้านๆ ครั้ง กับอุทิศหนเดียว อุทิศหนเดียวก็คือเท่านั้นใช่ไหม? อุทิศต่อๆๆ ไปเลย อุทิศต่อเนื่องกันไป ถึงที่สุดแล้วสัพเพ สัตตา สัพเพ สัตตามันก็ได้กว้าง

อย่างเช่นเราอนุโมทนาบุญ เห็นเขาทำบุญกุศลเราอนุโมทนาไปกับเขา เห็นไหม จิตใจ มันเรื่องของจิตใจ บุญมันเรื่องของจิตใจ เรื่องของจิตใจที่เป็นสาธารณะ จิตใจยิ่งเป็นสาธารณะ เวลาทำบุญกุศลเราเปิดกว้างมันจะได้บุญกว้าง ฉะนั้น สิ่งที่มีมาโดยดั้งเดิม พระพุทธเจ้าถูกต้องแล้ว แล้วสิ่งที่เขาพูดกันไป สิ่งที่เขาพูดกันไป แล้วเราเชื่อกันไปมันก็เรียวแหลม เรียวแหลมไปเรื่อยแหละ เรียวแหลมไปเรื่อย แล้วถ้ามันทำได้ก็ทำได้

อันนี้พูดถึงการอุทิศนะ อุทิศบุญกุศลให้มันจบเท่านั้น จบเท่านั้นพอ

ข้อ ๖๘๘. นะ

ถาม : ๖๘๘. เรื่อง “กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ”

หลวงพ่อ : นี่นะเราจะบอกว่าเขาถามปัญหามา แล้วเขาบอกเขาถามปัญหามาเยอะมาก ไม่อ่านรายละเอียดไง เขาบอกว่า

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง จริงๆ แล้วโยมมีคำถามที่อยากจะกราบเรียนหลวงพ่อ อยากได้ความกระจ่างสำหรับตัวเองมากกว่านี้ แต่ทุกครั้งที่เขียนมามักจะบอกเล่า หรือถามแบบกว้างๆ มากกว่า ที่โยมไม่กล้าถามเพื่อประโยชน์ของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะโยมรู้สึกผิดที่ยังไม่ได้ไปกราบหลวงพ่อเลย (เขาว่านะ ยังไม่เคยเจอตัวกันเลย แต่ถามมาเยอะ)

หลวงพ่อ : ถ้ามันคุยกัน หรือว่าเวลาเขาแก้ธรรมะกันระหว่างครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงตากับหลวงปู่มั่น ถ้าเวลาหลวงตาเข้าไปถึงใกล้ๆ นะ หลวงปู่มั่นจะรักหลวงตามาก ฉะนั้น เวลาพูดถึงเรื่องความเป็นอยู่ พูดถึงทางสังคม โอ้โฮ จะรักอย่างพ่อกับลูกเลย แต่เวลาพูดธรรมะท่านบอกว่า พอหันมาธรรมะนี่ไม้หน้าสามทุกที เปรี้ยง! กระเด็นเลย เพราะธรรมะคือสัจจะ มันไม่มีพ่อ ไม่มีลูกไง

พ่อกับลูกนี่เราอยู่ในสังคมมันมีความผูกพัน มีความรัก นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่สัจจะความจริงคือความจริง ความจริงมีหนึ่งเดียว ความจริงนี่ ถ้าคนได้ความจริงคนนั้นจะเป็นคนดีหมด ฉะนั้น นี่ก็เหมือนกันจะย้อนกลับมาที่นี่ ย้อนกลับมาที่ว่า

ถาม : เพราะที่ถามมากว้างๆ อยากจะถามที่มีความกระจ่างสำหรับตัวเองมากกว่านี้เยอะมาก แต่มันยังไม่กล้าเขียนมา เพราะว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว

หลวงพ่อ : อันนี้ยกไว้ ยกไว้หมายความว่า ถ้าจิตใจคนมีหิริ มีโอตตัปปะมันจะพูดเรื่องดีๆ ไง คนมีหิริ มีโอตตัปปะ มีความละอาย มีความเกรงกลัว พวกนี้ทำดี คนดี คิดดีได้ง่าย คิดชั่วได้ยาก คนชั่ว คิดชั่วได้ง่าย ทำดีได้ยาก นี้พูดถึงคนดี เห็นไหม ฉะนั้น เขาเขียนมาเพื่อขอบคุณเฉยๆ ความจริงไม่ต้องตอบก็ได้ แต่จะตอบเพราะอะไร? เพราะมันจะเกี่ยวเนื่องกับอันหลัง

นี่เอามาตอบเพราะว่าคนดีคิดเรื่องดีๆ ได้ง่าย ทำความชั่วได้ยาก คนชั่วคิดแต่เรื่องชั่วๆ ทำชั่วได้ง่าย ทำดีได้ยาก คนดีมีหิริ มีโอตตัปปะ ฉะนั้น มีหิริโอตตัปปะมันจะทำความดี ฉะนั้น ความดีอยู่ที่การกระทำ ใครตั้งสติได้ ใครทำสมาธิได้ คนนั้นก็จะมีคุณธรรมในหัวใจ ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ หัวใจจะเข้มแข็ง หัวใจจะมีหลัก มีจุดยืน มีต่างๆ มีความภูมิใจ

คนมีความภูมิใจนะ ประสาเรานี่ว่าลุยไฟได้เลยนะ เดินลุยไฟไป ถ้าเราไม่มั่นคงเราลุยไฟไปไม่ได้หรอก แล้วคนลุยไฟไป ตัวเองไม่เป็นไรเลยเพราะอะไร? เพราะหัวใจเหนือทุกๆ อย่าง ถ้าจิตใจเรามีคุณงามความดี จิตใจที่มั่นคงมันเป็นแบบนั้น คำว่าลุยไฟ ลุยไฟยังลุยได้เลย นับประสาอะไรกับเจอวิกฤติในชีวิต เจอความผูกพันต่างๆ สิ่งนี้มันไม่มีค่า มันไม่มีอำนาจจะโยกคลอนจิตใจของเราได้ไง ฉะนั้น ถ้าจิตใจมีคุณธรรมจะเป็นแบบนี้

ฉะนั้น อันนี้เขาบอกว่ากราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ จบ

ข้อ ๖๘๙. ไม่มี

ข้อ ๖๙๐. ไม่มีนะ

อันนี้ข้อ ๖๙๑. คำถามนี้มันเป็นคำถามที่ว่ามันมีเลศนัยไง คำว่ามีเลศนัย ข้อ ๖๙๑. นะเขาถามว่า

ถาม : ๖๙๑. เรื่อง “ท่านว่าสัตว์ก็เข้านิพพานได้”

หลวงพ่อ : คำถามนี่เขาเถียงแล้ว

ถาม : ท่านว่าสัตว์ก็เข้านิพพานได้ แล้วก็ขอให้หลวงพ่อตอบให้ละเอียด อยากให้หลวงพ่อลงรายละเอียดคำสอน หากว่าไม่เห็นสมควรอยากให้ลงรายละเอียดมาก แล้วเขาบอกว่าถ้าเห็นไม่สมควรก็ไม่ต้องก็ได้

หลวงพ่อ : ไม่ต้องก็ได้แล้วเขียนมาทำไมล่ะ? สิ่งที่เขียนมานะ

ถาม : ท่านว่าสัตว์ก็เข้านิพพานได้ ท่านอ้างถึงพระองค์อื่น ว่าพระองค์อื่นบอกว่าสัตว์ก็เข้านิพพานได้ สัตว์มีนิพพานอยู่แล้ว ทุกอย่างมีนิพพานอยู่แล้ว

หลวงพ่อ : มันเป็นไปไม่ได้ นี่พูดเอาความเป็นจริงกันนะ ถ้าจะถามเรื่องอย่างนี้นะต้องถามไปที่สวนสัตว์ ถามไปที่เขาดิน ถามไปที่สัตว์แพทย์ เพราะว่าสัตว์แพทย์เขาจะรักษาดีกว่าเรา สัตว์ก็เข้านิพพานได้ในพระไตรปิฎกมันไม่มี ถ้าสัตว์เข้านิพพานได้นะ ดูสิ อย่างเช่นเขาถามว่าฆราวาสนี่ถึงนิพพานได้ไหม?

มันมี มันมีอย่างเช่นพระเจ้าสุทโธทนะก็เข้านิพพาน ในพระไตรปิฎก ใครเข้านิพพานได้มันมี ฆราวาสเข้านิพพานได้ มนุษย์นี่ คนที่ไม่ได้บวชเป็นพระเข้านิพพานได้ แล้วพระพุทธเจ้าเทศน์เอาจนสิ้นกิเลสเลย มันมี สิ่งที่มันมีนะ แล้วมนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้านี่เข้าถึงนิพพานได้ ในพระไตรปิฎกตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ทั้งหมดเลยว่าสัตว์เข้าถึงนิพพานไม่มี ไม่มีหรอก มันไม่มีอยู่แล้ว ผลมันไม่มีไง

ถ้าผลไม่มีปั๊บ แต่คนที่ปฏิบัติเขาจะรู้ของเขา เขาจะรู้ของเขา เขาอยู่ที่ไหนล่ะ? อยู่ที่ว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า? มันเป็นจริงไหม? เพราะโดยธรรมชาติพระพุทธเจ้าบอกไว้เลย อบายภูมิ สิ่งที่เป็นสัตว์เดรัจฉานมันอยู่ในอบาย เพราะอบายที่มันมีกับเรามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ทีนี้สิ่งที่เขาคิดเราจะบอกว่า นี่มันเป็นโลกทัศน์ มันเป็นความเห็น นี่มันจะไปอำกันไง อำกัน อำตัวเองจนตัวเองไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรไง ว่านิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานมีอยู่แล้ว ทุกอย่างก็มีนิพพาน กรณีอย่างนี้ในพระไตรปิฎก ในเถรวาทเรามันไม่มีหรอก แต่ถ้าในมหายาน ในมหายานนะ อย่างเซนเขาพูด เห็นไหม นิพพานอยู่ในมด นิพพานอยู่ในอุจจาระ นิพพานอยู่ในนั้น

ถ้านิพพานอยู่ในนั้น ไอ้คำสอนอย่างนี้มันเป็นอาจริยวาท มันเป็นความเห็นที่เขาพูดถึงบอกว่าอย่างพวกเรา สมัยตั้งแต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราบอกว่ามรรคผลนิพพานพวกเขายังแทบไม่เชื่อเลย แต่เพราะหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านทำจนสังคมเชื่อมั่น เชื่อถือไง ฉะนั้น ที่บอกว่านิพพานเป็นสิ่งที่สูงส่ง เราจะบูชา เห็นไหม นิพพานะ ปัจจโย โหตุ อะไรที่เขากล่าวคำอันนั้นกัน นี่เขายกไว้สูงส่งจนคนไม่กล้าเอื้อมถึง

นี่พูดถึงถ้าเราบูชากัน เห็นไหม บูชาจนเป็นสิ่งที่เคารพบูชา สิ่งที่เป็นค่าสูงส่งจนเราไม่กล้าเอื้อมถึง แต่นี้มันเป็นความรู้สึกใช่ไหมว่ามันสูงส่ง แต่ในมหายานเขาจะพูดเพื่อลบทิฐิอันนี้ไง นิพพานอยู่ในสัตว์ นิพพานอยู่ในต่างๆ ไอ้นี่มันเป็นคำพูด เป็นโวหาร เป็นคำสอนให้เราเชื่อมั่น ให้เรามีความกล้าหาญ ให้เรามีความจงใจ ให้เราปฏิบัติว่าเราก็สามารถทำได้

นี่ในมหายานนะ เราอ่านมาหมด เราศึกษามา เราก็นักปฏิบัติ เราก็ต้องค้นคว้าหาทางออกเหมือนกัน คำสอนในมหายานพูดเรื่องเซน พูดเรื่องอย่างนี้มีเยอะไปหมด แต่คำว่ามีเยอะไปหมดนะ นิพพานอยู่ในสัตว์ นิพพานอยู่ในอุจจาระ นิพพานอยู่ในมด นิพพานอยู่ที่นั่น นิพพานอยู่ที่อื่นหมดเลย นี่บอกว่ามันมีอยู่นั้นเพื่อให้คนทำได้ไง แต่ในสัจจะความจริง ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้จริง รู้จริงว่านิพพานมันอยู่ที่ไหน? นิพพานมันมีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้วพระโพธิสัตว์ก็ต้องมีนิพพานสิ

ดูสิเจ้าชายสิทธัตถะยังไม่มีนิพพานเลย นิพพานไม่มีอยู่ในหัวใจใครหรอก ไม่มี แต่พูดถึงว่าสิ่งที่มีสัจจะ มีความจริงมันมีอยู่แล้ว ฉะนั้น มาบอกว่าสัตว์ก็เข้านิพพานได้ เราก็อ้างพระองค์นู้น อ้างพระองค์นี้ มันจะมาอำกันไง ไม่ต้องมาอำ เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้น พูดถึงเขาบอกให้ลงรายละเอียด ให้ลงรายละเอียดเพื่ออะไรล่ะ? เพื่อเป็นมุมมองใช่ไหม? เพื่อจะเอาสิ่งนี้ไปเป็นประโยชน์หรือ? เพราะพูดไปคือว่ามันเป็นคำถามอำพรางไง จะอำพราง ประสาเรานะทางโลกเขาบอกว่าอย่างนี้ เขาบอกว่า “เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย” มีเจตนาดีนะ เจตนาดีทำให้อย่างนู้น เจตนาดีรักษาอย่างนั้น แต่ประสงค์ร้าย

นี่ก็เหมือนกัน คำถามที่ถามมา ตอบไปก็เสีย ไม่ตอบก็เสีย เสียทุกอย่างเลย นี้พูดถึงคำว่าเสียนะ ทีนี้เรา เพราะพอเห็นคำถามมันก็เข้าใจถึงมุมมองของคนถาม ว่าคนถามนี่โลกทัศน์ของเขาเป็นแบบนั้น ถ้าโลกทัศน์เป็นแบบนั้นแล้ว ถ้าโลกทัศน์เป็นความจริงนะ โลกทัศน์เป็นอย่างนั้นจริง วิสัยทัศน์เป็นอย่างนั้นจริง ถ้าวิสัยทัศน์เป็นอย่างนั้นจริง ความจริงมีก็เอาความจริงมาพูดกัน เอาความจริงสิ

ถ้าเรามีความจริงในหัวใจเราใช่ไหม? เราปฏิบัติแล้วเรารู้จริงตามความจริงนั้น ทำไมเราไม่กล้าเอาความจริงนั้นมาตีแผ่ออกมา เวลาคุยธรรมะกันเขาเอาความจริงมาตีแผ่กัน เอาความจริงมาชนกัน ถ้าเอาความจริงมาชนกันแล้ว ถ้ามันมีความจริงแล้ว นี่ความจริงนั้นมันเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แล้วความจริงนั้นมันพิสูจน์ได้

ฉะนั้น ความจริงมันไม่จริง เราถึงบอกว่ารู้จริงมันไม่อำ นี่มันอำไง มันเป็นความไม่จริง พอความไม่จริงขึ้นมาก็หาเหตุอ้างทางวิชาการ อ้างเหตุอ้างผลรองรับ ถ้าอ้างเหตุอ้างผลรองรับ เอาอะไรมารองรับล่ะ? ตอนนี้พอหาเหตุผลรองรับ ในพระไตรปิฎกมีไหมว่าสัตว์ไปนิพพานได้ แล้วในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้ายืนยันไหมว่ามีสัตว์

แม้แต่นาค ที่ว่านาคที่แอบมาบวชพระ แล้วพอเขามีสติอยู่เขาเป็นมนุษย์ เขาแปลงเป็นมนุษย์ได้ เวลาเขาอยู่ในกุฏิ เห็นไหม พอถึงเวลาอยู่ในกุฏิ คลายสตินะนอนหลับอยู่ พอคนเปิดเข้าไปนี่โอ้โฮ เต็มกุฏิเลย พอเต็มกุฏิพระก็ตกใจไปฟ้องพระพุทธเจ้า พอฟ้องพระพุทธเจ้า พอได้สติขึ้นมาเขาก็กลับเป็นพระอย่างเก่า พอมีสติไง มีสตินะพระพุทธเจ้าเลยบอกว่าไม่ได้ สัตว์เดรัจฉานไม่ได้ พอสัตว์เดรัจฉานไม่ได้ก็เสียใจมาก เพราะอยากจะปฏิบัติ เสียใจมาก พอเสียใจมากก็เลยขอไว้ไง ว่าถ้าต่อไปมีการบวชนะบอกให้มีชื่อไว้ เห็นไหม

มันไม่มี มันไม่มีหรอก ทีนี้ไอ้สิ่งที่ว่าเขาคุยกัน ที่ว่าสัตว์นิพพานได้ นิพพานได้ เดี๋ยวนี้การคมนาคมมันสะดวกไง อย่างเช่นประเพณีวัฒนธรรมแต่ละพื้นถิ่นมันก็ไม่เหมือนกัน แล้วเวลาคนไปเจอมาก็เอามาปฏิบัติในวัฒนธรรมพื้นถิ่น ในวัฒนธรรมพื้นถิ่นกับธรรมวินัยมันก็คนละเรื่องกันนะ ถ้าคนละเรื่องกัน ฉะนั้น สิ่งที่คนละเรื่องกัน ธรรมวินัยถ้าพูดถึงสิ่งนั้นมันอยู่ในหลักได้ก็อยู่ในหลัก

ถ้าอยู่ในหลักไม่ได้ อย่างเช่นถ้าพระขับรถมันเป็นสิ่งที่น่าเกลียดมากนะ พระขับรถนี่สังคมไม่ค่อยยอมรับหรอก แต่ถ้าพระพายเรือสังคมยอมรับ พระพายเรือเพราะการคมนาคมของเขา ถ้าเขาไม่พายเรือบิณฑบาตนะ สิ่งที่การคมนาคมทางน้ำเขาจะพายเรือ เห็นไหม พระพายเรือบิณฑบาตไม่น่าเกลียดนะ แต่ถ้าพระขับรถบิณฑบาตนี่น่าเกลียด

นี่เพราะมันเป็นความจำเป็น สังคมยอมรับได้ ถ้ายอมรับได้ ฉะนั้น ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องการพายเรือ เรื่องต่างๆ ที่พระไปในทาง ที่เอามือละไปแล้วไปโดนสาหร่ายขาด เป็นปาจิตตีย์ไม่ได้ปลงอาบัติ แล้วไปเกิดเป็นจระเข้หรือเป็นอะไรนั่นน่ะ ในพระไตรปิฎก นี่พูดถึงสัตว์

ที่เราพูดนี่เราคิดว่าการกระทำอย่างนี้มันทำไม่ถูก เพราะว่าเขียนมานี่เขียนมาเพื่อจะแบบว่าให้ลงรายละเอียด ให้ลงรายละเอียด ถ้าความจริงมันมี ถ้านิพพานมันอยู่ในสัตว์ สัตว์ไปนิพพานได้ เขาเขียนมาเยอะ เขียนมาแต่เราไม่ลง ไม่พูดถึงรายละเอียดว่าสัตว์มันนิพพานได้ จากมันร้อนมามันเป็นเย็น สัตว์ก็มาฝึกได้ สัตว์เขามาฝึกใช้งาน

ไอ้นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นะ คำว่าเทศน์คือคำยกตัวอย่าง เรายกตัวอย่างกันว่าสัตว์ เห็นไหม สัตว์เขายังฝึกได้ ช้างเขายังฝึกมาทำงานได้ แล้วหัวใจเราทำไมฝึกไม่ได้ นี่ถ้ามันเป็นธรรมนะ เป็นธรรมเวลาสามเณรลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เห็นไหม สามเณรอายุ ๗ ขวบ นี่บิณฑบาตไปกับพระสารีบุตร เวลาไปเห็นเขาชักน้ำเข้านา เห็นนายช่างดัดคันศร ถามพระสารีบุตรนะ ว่า “น้ำมีชีวิตไหม? คันศรมีชีวิตไหม?”

พระสารีบุตรบอก “ไม่มี”

สิ่งที่ไม่มีชีวิตเขายังทำประโยชน์ได้ แล้วจิตใจเรานี่เป็นสิ่งที่มีชีวิต ทำไมเราจะพัฒนาใจเราไม่ได้ นี่กลับมาภาวนาจนเป็นพระอรหันต์นะ กรณีนี้ถ้าเราเอามาเปรียบเทียบ ว่าเราเลวกว่าสัตว์ สัตว์มันยังทำคุณงามความดีได้ ท้าวโฆษกก็เป็นสุนัข เป็นสุนัขแล้วไปเกิดเป็นเทวดา สัตว์มันทำความดีได้ สัตว์ทำความดี ความชั่วได้ แต่สัตว์ไปถึงนิพพานไม่ได้! ไม่ได้! ไม่มีหรอก เป็นไปไม่ได้

แต่สัตว์มันทำคุณงามความดีได้ สัตว์มันยังรักของมันได้ รักลูก รักหมู่คณะของมัน รักลูกของมัน มันดูแลลูกของมัน มันตายแทนลูกของมัน เห็นไหม นั่นมันเรื่องของเขา สัตว์นี่ช่วยมนุษย์ สุนัขช่วยให้มนุษย์พ้นจากการเสียชีวิต สุนัขช่วยคนให้รอดพ้นจากการเสียชีวิตเยอะมากเลย นั้นมันก็เป็นเรื่องบุญกุศล มันเป็นเรื่องของบุญกุศล แต่มันจะมีปัญญาที่ว่ามรรคญาณจะเข้ามามันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มี

ฉะนั้น จะมาอ้างที่พระเขาบอกว่านี่เดรัจฉานมันก็นิพพานได้ มันสงบ มันเย็นของมัน เราก็ได้ข่าวมาเหมือนกัน ว่าเมื่อก่อนผู้เขียนก็เคยยกพระองค์นี้ว่าเขาสอนผิดๆ ก็บอกว่าเขาสอนผิดแล้ว ทำไมวันนี้อ้างเขาล่ะ? ทำไมวันนี้มาอ้างเขาออกมาว่า “เขาบอกว่าสัตว์เป็นนิพพานได้”

นี่ไงที่ว่ามันฉ้อฉล มันฉ้อฉลตรงนี้ไง เมื่อก่อนก็ว่าเขาสอนผิด ถ้าเขาสอนผิด ผู้เขียนก็รู้ว่าคำสอนเขาผิด ถ้าคำสอนเขาผิด แล้วเอาความผิดมาอ้างให้เป็นความถูกต้องแล้วให้เราตอบ ก็รู้ว่าผิด แล้วเราบอกว่าถูก เราก็บอกว่าผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด นี่มันก้ำกึ่งกันไง มันถึงไม่ถูกต้อง

มันไม่ถูกต้องหรอก มันไม่ถูกต้อง ตัวเองก็รู้อยู่ เพียงแต่วิสัยทัศน์นี่อำไง รู้จริงไม่อำ นี่อำตัวเองไง อำว่านิพพานมันมีอยู่แล้ว แม้สัตว์ก็ต้องมีนิพพาน สิ่งต่างๆ มีนิพพาน พอมีนิพพานขึ้นมา ทีนี้ก็จะอ้างตัวเอง ที่ว่าเขาผิดแล้วมาอ้างให้มันถูก มันไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้นะเราไม่ต้องเอามาเป็นภาระรุงรัง

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาสอนนะ สอนพระองค์หนึ่งก็ไปอย่างหนึ่ง สอนพระองค์หนึ่งก็ไปอย่างหนึ่ง ตั้งแต่สอนพระยสะ เห็นไหม ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ เวลามาสอนชฎิล ๓ พี่น้อง นี่โทสัคคินา โมหัคคินา ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ เวลาสอนนะอยู่ที่นิสัย เพราะชฎิล ๓ พี่น้องเขาบูชาไฟ พอเขาบูชาไฟ นี่บูชาไฟแล้วมันเพ่งตบะ บูชาไฟมันเป็นตบะ มันเพ่งธรรม มีฤทธิ์ มีอำนาจ พอมีฤทธิ์ มีอำนาจนะพระพุทธเจ้าบอกเลย

“มีฤทธิ์ มีอำนาจมันเป็นของร้อนไหม? ถ้าฤทธิ์มันเป็นของร้อน แล้วนี่โทสัคคินา โมหัคคินา ความโลภ ความหลงก็เป็นของร้อน”

นี่ชฎิล ๓ พี่น้องได้คิด ได้ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเกิดมรรค เกิดมรรคทำลายอวิชชา นี่ไงถ้าอริยสัจมันเป็นแบบนี้ ปัญญามันเป็นแบบนี้ เวลาพระพุทธเจ้าสอนนะ สอนแต่ละคน สอนพระอรหันต์แต่ละองค์ก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกันเลย สอนปัญจวัคคีย์นี่อนัตตลักขณสูตร

“รูปนี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์?”

“เป็นทุกข์พระเจ้าค่ะ”

“เป็นทุกข์แล้วเธอยึดไว้ทำไม? เธอยึดไว้ทำไม?”

“เวทนาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์? สัญญาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์?”

นี่เวลาสอน เห็นไหม เวลาสอนปัญจวัคคีย์ก็สอนเรื่องขันธ์ ๕ ขันธ์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์? ถ้าเป็นทุกข์ยึดไว้ทำไม? มันเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา? มันเป็นอนัตตา แล้วอนัตตามันคงได้หรือไม่ได้? นี่สอนไปมันก็จบ เห็นไหม นี่สิ่งที่สอนมันยังเป็นจริต เป็นนิสัย แล้วเป็นนิสัย แล้วสัตว์มันจะรู้ได้ไหมล่ะ? สัตว์มันรู้อย่างนี้ไม่ได้ อย่างเช่นสัตว์ที่มันรู้ภาษาคน เวลาสอนมันพูดกับมันรู้เรื่อง

คำว่ารู้เรื่อง มันก็รู้เรื่องแค่คำสอนนั่นแหละ ดูสิเวลาปฏิบัติไปมันไม่ใช่เหมือนนกแก้ว นกขุนทองนะ นกแก้ว นกขุนทอง แม่จ๋าๆ พอแม่จ๋าก็ให้กล้วยชิ้นหนึ่ง แม่จ๋าให้กล้วยชิ้นหนึ่ง มันคิดว่ากล้วยคือแม่จ๋านะ เพราะความรู้ของมันไม่รู้เรื่องหรอก มันเข้าใจไม่ได้ สิ่งที่เข้าใจไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นนะมันจะไม่มีตรงนี้ไง มันจะไม่มีที่ว่ากรรม

กรรม เห็นไหม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วเกิดในสถานะไหนที่จะรับรู้ธรรมได้ ฉะนั้น คำว่ารับรู้ธรรมได้แค่ไหน? แค่ไหน? ในพระไตรปิฎกบอกไว้ชัดเจนแล้ว ถ้าชัดเจนแล้วสิ่งนี้มันถึงไม่มี มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพียงแต่ว่าในสังคมใด หรือในหมู่ชนใดมันก็มีคนดีและคนชั่ว สัตว์ที่ดีก็มี ถ้าสัตว์ที่ดีแล้วมันก็ดีแค่นั้นแหละ

ในเวลาสังคมที่ไม่ได้ภาวนานะ ก็ดูพระไตรปิฎก ดูทางวิชาการให้เป็นทางวิชาการ แต่ในสังคมของพระป่า สังคมของครูบาอาจารย์เรา เวลาภาวนาไปนี่ธัมมสากัจฉา เวลาภาวนาไปนะ หลวงตาใช้คำว่า “ครอบครัวกรรมฐาน”

ครอบครัวกรรมฐานเวลาออกจากป่ามาเขาจะคุยกัน อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดว่า อาจารย์สิงห์ทองท่านเป็นคนที่ว่าเชื่อยากมาก หลวงตาท่านบอกว่าท่านเป็นคนดื้อ ท่านจะไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ ถ้าไม่มีเหตุผลท่านจะไม่เชื่อสิ่งใดเลย อาจารย์สิงห์ทองก็ไม่เชื่อสิ่งใดเหมือนกัน ฉะนั้น พออาจารย์สิงห์ทองท่านธุดงค์ไปทางนครพนม

ทีนี้พอธุดงค์ไป พอไปถึงกลางคืนนะมันพิสูจน์กันเลยล่ะ เป็นงูใหญ่มากเลื้อยมาถึงที่หัวนะ มาขู่ฟ่อๆ ใหญ่มาก ท่านบอกว่างูนะตานี่เท่ากับไข่เป็ด ไข่ห่านเลย คิดว่าหัวมันจะใหญ่ขนาดไหน? ขู่ฟ่อๆ เลยนะ แต่ท่านก็รักษาสติ ท่านก็รับรู้ แล้วท่านก็มาบอกว่ามันมีจริง มันมีจริงไง เราจะบอกว่าสิ่งที่มีจริง สังคมปฏิบัตินะ พอจิตเข้าไปรับรู้ จิตเข้าไปรู้สิ่งต่างๆ นี่เขาจะมาคุยเป็นธัมมสากัจฉา ถึงจะได้รู้ ถึงจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร ถึงจะได้รู้ว่ามันมีจริงหรือเปล่า

ฉะนั้น สังคมปฏิบัติเป็นอย่างหนึ่ง สังคมปฏิบัติมันจะมีประสบการณ์ทางจิต ถ้าประสบการณ์เขามีอย่างนั้น สิ่งที่ประสบการณ์ของจิตมันมีของมันนะ ถ้าประสบการณ์ทางจิตมี ฉะนั้น เวลาทางโลกศึกษามาเป็นทางวิชาการ ทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฎี มันเป็นสิ่งที่มองกันด้วยตาเนื้อ แต่ถ้าเป็นตาใจล่ะ? ถ้าตาใจไปรู้ไปเห็น ถ้ารู้เห็นนะ

เพราะเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านระลึกได้ ระลึกถึงจิตของเราเองเคยเกิดในภพชาติใดมา ท่านเคยเป็นมาก็มี อย่างเช่นหลวงปู่ชอบ เห็นไหม หลวงปู่ชอบเวลาของท่านนะ ท่านบอกว่าท่านทำความสงบของใจ แล้วคู่บารมีของท่านมาบอกกับท่านไง ว่านี่เป็นคู่บารมีนะ ในชาติปัจจุบันนี้หลวงปู่ชอบมาเกิดเป็นหลวงปู่ชอบ แต่ตัวเขามาเกิดเป็นไก่ เกิดเป็นแม่ไก่ พอเกิดเป็นแม่ไก่ แล้วในนิมิตนั้นก็บอกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้ายังไม่เชื่อ พรุ่งนี้เช้าออกไปจะแสดงให้ดู ฉะนั้น พอเช้าขึ้นมาหลวงปู่ชอบไปบิณฑบาต แม่ไก่ในวัดนั้นจะมาจิกที่จีวร ดึงตลอด ดึงตลอด

นี่เราจะบอกว่าประสบการณ์ทางจิต ประสบการณ์ทางจิตมันไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ประสบการณ์ทางจิตเรื่องนิมิต เรื่องความรู้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณระลึกอดีตชาติไป ตอนนั้นยังไม่เป็นพระพุทธเจ้านะ พอจิตสงบแล้วนี่ระลึกไป มันเหมือนกับเทคโนโลยีนี่เลย เหมือนกับเรานี่โปรแกรมเลย เหมือนกับสิ่งที่เรามีข้อมูลไว้ พอจิตมันสงบไปแล้วมันจะสาวเข้าไปในข้อมูลเดิม

เพราะจิต เห็นไหม จิตนี่เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง เกิดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งชาติหนึ่ง เราเกิดมาเป็นเราใช่ไหม? ประสบการณ์ของจิตนี้มีใช่ไหม? พอเราสิ้นชีวิตนี้ไป จิตมันยังอยู่ใช่ไหม? จิตมันก็เกิดต่อไปใช่ไหม? พอจิตเกิดต่อไป สิ่งนี้จิตนั้นมันก็เกิดต่อไป มันซับลงที่นั่น ซับลงที่นั่นไง เป็นสัญญา

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญาในขันธ์ ๕ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง ขันธ์อันละเอียด ที่หลวงตาบอกขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ ขันธ์ที่มันอยู่กับจิตเลย ขันธ์ที่มันเป็นปฏิสนธิจิต มันเป็นปัจจยาการ มันไม่ใช่เป็นขันธ์เป็นกอง นี่จากสัญญาอย่างหยาบ สัญญาอย่างละเอียดมันย่อยสลายเข้าไปอยู่ในนั้นอย่างไร? แล้วปฏิสนธิจิตมันมีข้อมูลอย่างนั้น เวลามันเกิดมันตายนี่สิ่งนี้มันมีของมันอยู่

ถ้าจิตมันสงบเข้าไป ถ้าเรารู้อดีตชาติ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นอะไร แต่ว่าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วไปฝึกฝนกับเจ้าลัทธิต่างๆ มา ๖ ปี พอ ๖ ปีแล้วกลับมาจะเริ่มค้นคว้าของตัวเอง เห็นไหม พอจิตสงบเข้ามา เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีอาจารย์ ไม่มีใครบอก รู้เอง ถ้ารู้เอง พอจิตสงบเข้าไปมันก็เข้าไปถึงข้อมูลเดิม มันเป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ มันไม่มีวันจบ ตั้งแต่พระเวสสันดรไปนี่ ๑๐ ชาติไป ต่อไปเรื่อยๆๆ ไม่จบหรอก

ไม่จบ พอไม่จบก็ดึงกลับเลย นี่สติรั้งจิตกลับมา กลับมาเป็นปัจจุบัน พอมันกลับมาปัจจุบันปั๊บ พอจิตสงบเข้าไปนี่ลึกเข้าไป เห็นไหม จากเปลือก จากข้อมูล เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ พอจิตมันสงบลง นี่จากอดีตชาติละเอียดขึ้นไป ละเอียดมากกว่า ละเอียดมากกว่าระดับที่จิตออกไปบุพเพนิวาสานุสติญาณ คือย้อนอดีตจากข้อมูลของจิต จากข้อมูลเดิมของจิตนี่แหละ

ทีนี้พอละเอียดเข้าไป พอจิตมันไม่ถึงที่สุด เห็นไหม มันต้องตายไป แล้วไปเกิดเป็นอะไร? จุตูปปาตญาณ แล้วถ้าย้อนมันก็เกิดตายๆๆ เพราะจิตมันยังเกิดตายอยู่ แล้วย้อนกลับมา พอจิตมันสงบลง สงบลงมันเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว เพราะมันได้ส่งไปหน้าไปหลัง ไปอดีตก็ไม่ใช่ ไปอนาคตก็ไม่ใช่ กลับมาอยู่ในปัจจุบัน พออยู่ในปัจจุบันเกิดอาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณทำลายอวิชชา พอทำลายอวิชชา

นี่ไงไก่ตัวแรกที่เจาะเปลือกอวิชชาฟองไข่ ไก่ตัวแรกที่เจาะเปลือกอวิชชาออกมา นี่พอเจาะออกมามันก็จบ เห็นไหม พอมันจบมันเป็นความเข้าใจจากความเป็นจริง ถ้าความจริง นี่ไงเวลาครูบาอาจารย์ของเราที่บอกว่าเวลาในวงกรรมฐาน ในวงกรรมฐานเขาจะคุยกัน เขาจะรู้กันว่าระดับไหน คนที่จิตมันรู้อดีตชาติ รู้ต่างๆ มันมีนะ ของจริงเขาไม่อำ

แล้วของจริง เวลาเราอยู่กับหลวงตา ท่านบอกว่าหลวงตาเป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น แล้วเป็นนักปราชญ์ เป็นผู้มีสติปัญญามาก ถ้าวันใดเห็นครูบาอาจารย์ออกจากป่ามากราบหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านรู้แล้วว่าผู้ที่มากราบหลวงปู่มั่น ประเพณีของกรรมฐานนี่ไปออกทำวิจัยมา ไปออกค้นคว้ามา ออกธุดงค์มา จะต้องมีประสบการณ์ จะต้องมีมุมมอง จิตมันต้องมีสิ่งใดมา จะมารายงานครูบาอาจารย์

หลวงตาท่านบอกเลยนะ ถ้าวันไหนมีครูบาอาจารย์มาท่านไม่ไปไหนหรอก ท่านเมียงๆ มองๆ อยู่ทางนั้นน่ะ พอถ้าอาจารย์ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นท่านก็เข้าไปแอบฟังด้วย เข้าไปนั่งฟังด้วย ไปฟังด้วยเพราะว่าสิ่งนี้เขาไปกระทำของเขามา

เราจะบอกว่าสิ่งที่ในวงกรรมฐาน เวลาเขามาพูดเขาไม่ไปพูดกันเอง เขามาพูดกับผู้รู้จริง เขามาเปิดอกกับหลวงปู่มั่น หลวงตา ครูบาอาจารย์เราท่านก็เปิดอกกับหลวงปู่มั่น แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านตรวจสอบกับตัวท่าน ท่านตรวจสอบกับหลวงปู่เสาร์ ท่านตรวจสอบกับเจ้าคุณอุบาลี นี่แล้วความที่มั่นคงที่สุดคือปัจจัตตัง คือสันทิฏฐิโกในหัวใจของหลวงปู่มั่น

ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า “หมู่คณะให้จำหลวงปู่ขาวไว้นะ หลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้ว” นี่องค์ไหนได้คุยกับเราแล้ว แล้วคุยอย่างไร? คุยจบสิ้นอย่างไร?

นี่มันมีข้อมูล แล้วถ้าคุยแล้ว แล้วดูพฤติกรรมของหลวงปู่ขาวสิ ดูพฤติกรรมของครูบาอาจารย์ของเราสิท่านอยู่ในร่องในรอยไหม? ท่านเป็นธรรมไหม? ถ้าท่านเป็นธรรมอันนั้นมันจบ ฉะนั้น ถ้าเป็นธรรมแล้วเราก็เคารพบูชากันไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราคุยกันเป็นความจริงเถอะ เราคุยกันด้วยความเป็นธรรมนะ ถ้าจะเขียนมาอำกันอย่าเขียนมา นี่รู้จริงเขาไม่อำ แต่นี้รู้ไม่จริง รู้ไม่จริงแล้วจะอำ ในวงกรรมฐานเรา ในวงครูบาอาจารย์ของเราท่านรู้จริง แล้วท่านพูดจริง ท่านเป็นสุภาพบุรุษ ท่านมีสัจจะ พูดจริงแล้วพูดกัน ๒ คน พูดกันจบแล้วนะเหมือนกับไม่ได้พูด คือไม่เอามาพูดข้างนอก ไม่เอามาพูดข้างนอก

ฉะนั้น ที่เราพูดถึงครูบาอาจารย์ เราพูดนี่เราพูดเพื่อเชิดชู เราพูดถึงครูบาอาจารย์ทุกคนจะบอกว่าพระสงบไปเอาคำพูดมาจากไหน? เพราะตัวเองก็อยู่กับครูบาอาจารย์มา ทำไมไม่ได้ยินแบบนี้ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ หลวงตาท่านบอกว่าท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านรู้ท่านเห็นอะไร ท่านไม่พูดทั่วไป แต่ท่านจะพูดเฉพาะ เฉพาะหลวงปู่มั่นกับหลวงตา หรือหลวงปู่มั่นกับครูบาอาจารย์ที่น่าเชื่อถือ ที่พูดแล้วไม่เอาสิ่งนี้ไปทำเสียหาย พูดไปแล้วไม่เอาสิ่งนี้ไปบิดเบือนให้มันเสีย

ท่านจะพูดกับหลวงตา หลวงตาจะมีเรื่องหลวงปู่มั่นเยอะมาก แล้วท่านเก็บไว้ในใจ ท่านบอกว่า ประวัติหลวงปู่มั่นที่เขียนมานี่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นไฮไลท์ ที่เป็นอะไรท่านไม่เขียนออกมา ท่านบอกเขียนมานี่กลัวสังคมรับไม่ไหว ท่านไม่เขียนออกมานะ ประวัติหลวงปู่มั่นหลวงตาท่านเขียนแค่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเรื่องพิสดาร เรื่องที่ว่าลึกลับต่างๆ เก็บไว้ เหมือนกับหลวงตาท่านว่า ถ้าไม่มีโครงการช่วยชาติ ธรรมะของท่านจะตายไปกับท่าน แต่เพราะมีโครงการช่วยชาติ ธรรมะนี้ถึงได้มาเผยแผ่

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะของหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในใจของท่าน ท่านจะพูดเฉพาะ เฉพาะท่านกับผู้ที่ไว้ใจได้ ผู้ที่จะเป็นประโยชน์ ผู้ที่สิ่งที่พูดไปแล้วเป็นประโยชน์กับเขา เขาเอาไปเป็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติ เขาไม่ใช่เอาสิ่งนี้ไปบิดเบือนเพื่อเป็นโทษ สิ่งที่พระสงบพูด ที่พูดออกมานี่เขาว่าเอามาจากไหน? เอามาจากไหน?

ไปเอามาจากไหน? ก็เอามาจากหลวงตานั่นแหละ แต่หลวงตาท่านพูดหลังไมค์ ท่านไม่พูดออกมาเป็นที่สาธารณะ ท่านพูดเฉพาะ แล้วพูดแล้วมันเป็นที่วุฒิภาวะของผู้รับ ผู้รับฟังเข้าใจได้หรือเปล่า? ถ้าท่านพูดแล้วผู้รับไม่เข้าใจใช่ไหม? ท่านพูดเรื่องดีมากเลย เป็นคุณธรรมมากเลย ไอ้คนรับรับไม่เป็น มันก็ฟังไปตกทะเล ไม่รู้เรื่องหรอก คำพูดของหลวงตาที่ท่านฟังจากหลวงปู่มั่นมามีคุณค่ามาก แต่คนรับรับเป็นหรือเปล่า? รับเป็นประโยชน์หรือเปล่า?

เขาถามเรื่องสัตว์ไปนิพพานได้หรือเปล่า? ทำไมเราพูดไปยืดยาว เราพูดไปยืดยาวให้เห็นว่าสังคมที่เป็นจริง กับสังคมที่ไม่เป็นจริง แล้วสังคมที่ไม่เป็นจริง ความรู้เรานี่หางอึ่ง ความรู้ของเราอ่อนด้อย เหมือนเด็กไร้เดียงสา แล้วไปสอนเรื่องนิพพาน สัตว์ก็ไปนิพพานได้

ความรู้เราอ่อนด้อย ความรู้เรามีจุดบกพร่อง จะพูดออกไปที่ไหน เราไปยืนอยู่ในที่สาธารณะ ทุกคนเขาตรวจสอบ เขามองเรามาได้ แต่ถ้าความรู้ที่เป็นความจริง เขาจะยืนในที่ลับ ในที่แจ้ง เขาไม่หวั่นไหวกับสิ่งใดหรอก เขาพูดได้ เพียงแต่ว่ามันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

สิ่งใดเป็นความจริง พูดแล้วไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก

“สิ่งที่เป็นจริงแต่ไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่พูด สิ่งที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ยิ่งไม่พูดใหญ่”

สิ่งที่เป็นจริงต้องเป็นประโยชน์ด้วย สิ่งที่เป็นจริงแล้วเป็นประโยชน์กับเขา นั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะพูด ถ้าสิ่งที่เป็นจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์ท่านไม่พูดให้ใครฟังหรอก พูดแล้วไปเถียงกัน ทะเลาะกัน ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก สิ่งที่เป็นจริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่พูดหรอก

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นจริง แล้วถ้าสิ่งที่ไม่จริงแล้วเราเอามาพูด แล้วนี่จะล่อ จะหลอกให้พูดอีกด้วยนะ รู้จริงไม่อำนะ สิ่งนี้อย่ามาอำกัน เอวัง