ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฟังธรรมเป็น

๑๙ พ.ย. ๒๕๕๔

 

ฟังธรรมเป็น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๐๒. ไม่มี

ข้อ ๗๐๓. ไม่มี

ข้อ ๗๐๔. ไม่มี

ถาม : ๗๐๕. เรื่อง “ขออนุโมทนาบุญ”

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ โยมได้อ่านหนังสือ “ปลูกดอกบัวที่ใจ” แล้วเข้าใจแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาจิตทั้ง ๕ เรื่อง ได้ประโยชน์กับโยมมากๆ ค่ะ โยมกราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และมีอีกหนึ่งบทสนทนากับแม่ชีที่หัวหิน ในหนังสือ “สมมุติว่าจิต” เรื่องราวคล้ายกับที่โยมเป็นอยู่ แต่ไม่เหมือนทั้งหมด มีข้อปลีกย่อยหลายอย่าง ในเนื้อหามีเทปการพิจารณาจิตที่หลวงพ่อให้แม่ชีไปฟังด้วย แต่ไม่มีแจกในปัจจุบัน

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) นี่เขาเขียนมา

ถาม : โยมขอมาปฏิบัติภาวนาที่วัดนี้ได้หรือไม่คะ เพื่อจะได้กราบเรียนข้อปฏิบัติของโยม ขอเลขบัญชีธนาคารหลวงพ่อด้วยค่ะ เพื่อจะได้พิมพ์หนังสือให้คนอื่นได้ศึกษามากขึ้น ขอบพระคุณอย่างสูง

หลวงพ่อ : เรื่องการมาปฏิบัติที่วัด มันต้องติดต่อกับทางสำนักงานจะรู้ได้ แล้วเลขบัญชีนี่เราไม่รู้เรื่องหรอก จริงๆ นะเราจำเลขบัญชีเราไม่ได้หรอก ทั้งเลขบัญชี ทั้งอะไรนี่ติดต่อไปที่สำนักงาน เพราะทางเราไม่รู้เรื่อง หน้าที่เรามีแต่ตอบปัญหา ฉะนั้น กรณีที่ว่าจะมาปฏิบัติที่วัดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ทีนี้เราจะย้อนกลับมาเรื่องขออนุโมทนา สิ่งนี้เขาไม่ได้ถามมา แต่เขาอ่านแล้วได้ประโยชน์ เขาอนุโมทนามาว่าหนังสือ “ปลูกดอกบัวที่ใจ” กับ “สมมุติว่าจิต” เห็นไหม ไปอ่านแล้วได้ประโยชน์มาก ได้ประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น คำว่าได้ประโยชน์มาก เราจะเอาตรงนี้มาเป็นประเด็น แล้วจะตอบปัญหา ปัญหาคือว่า หลวงตาท่านบอกว่า

“ฟังธรรมะเป็น หรือฟังธรรมะไม่เป็น”

คำว่าฟังธรรมะไม่เป็นท่านบอกว่า หลวงตาท่านพูดถึงตัวท่านเองนะ ว่าเวลาท่านบวชใหม่ๆ แล้วท่านไปศึกษาอยู่ในปริยัติ สมเด็จทุกองค์หลวงตาได้ฟังเทศน์หมด ท่านบอกเจ้าฟ้า เจ้าคุณชั้นไหนเราก็ฟังเทศน์รู้เรื่องหมดเลย เราฟังเข้าใจหมดเลย แต่เวลาออกปฏิบัตินะ พอมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นครั้งแรกท่านบอกว่าท่านงงเป็นไก่ตาแตกเลย ท่านบอกว่าฟังไม่ออก ฟังไม่ออก ท่านบอกฟังไม่รู้เรื่อง ฟังเทศน์หลวงปู่มั่นไม่รู้เรื่อง

หลวงตาท่านบอกว่าเรานี่เราฟังเทศน์มา เทศน์สมเด็จเราก็ฟังมาแล้ว เทศน์เจ้าฟ้า เจ้าคุณไหนเราก็ฟังมาแล้ว เราฟังเข้าใจทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมเรามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นไม่เข้าใจ ทำไมเรามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นไม่เข้าใจ? นี่คำว่าไม่เข้าใจ เห็นไหม นี่ในธรรมไง ในการฟัง อานิสงส์ของการฟังธรรม การฟังธรรมนะ สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วตอกย้ำ สิ่งที่ลังเลสงสัย สิ่งที่มันขัดแย้งในหัวใจได้แก้ไข พอเราแก้ไข ถึงที่สุดแล้วทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว

นี่ถ้าฟังธรรมแล้วมันจะได้ประโยชน์อย่างนั้น ฟังธรรมแล้วมันได้ประโยชน์ แต่ถ้ามันฟังธรรม เห็นไหม นี่ในปัจจุบันเราบอกว่าฟังธรรมแล้วได้บุญๆ เราฟังธรรมกันเป็นประเพณีนะ พอเป็นประเพณี มีเทศน์ที่ไหนเราก็ไปนั่งฟังกัน พอเทศน์ที่ไหนนะ พระก็เทศน์ไป โยมก็คุยกันไป ปรึกษาหารือทุกเรื่อง นี่แล้วก็ฟังเทศน์ไป ฟังทำไม? ฟังเอาบุญ ฟังเทศน์เอาบุญกัน

นี่ไปนั่งสัปหงกโงกง่วง ก็ไปฟังเทศน์เอาบุญกัน นี่ฟังธรรมไม่เป็น ไม่เป็นเพราะอะไร? เพราะมันไม่รู้เรื่อง มันไม่เป็นประโยชน์ไง แต่ถ้าฟังเป็น เห็นไหม ถ้าฟังเป็นหลวงตาท่านบอกว่าท่านฟังเจ้าฟ้า เจ้าคุณมาหมด เพราะสมัยนั้นก็เป็นประเพณี การฟังเป็นประเพณีนี้อย่างหนึ่งนะ แต่ถ้าการฟังนะ การฟังแล้วได้ประโยชน์ พอฟังเทศน์หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “จิตนี้เป็นนักท่องเที่ยว”

ท่านพูดถึงประสบการณ์ของท่าน พระไตรปิฎกท่านก็เคารพนะ นี่เวลาพูดอย่างนั้นปั๊บก็บอกว่า เหมือนกับพระกรรมฐาน ครูบาอาจารย์พากันไม่เคารพพระไตรปิฎก ไม่เคารพได้อย่างไร? เวลานึกพุทโธ พุทโธ เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า

“ระลึกพุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ”

เพราะนึกพุทโธจิตเป็นผู้นึก พอจิตเป็นผู้นึกมันก็สะเทือนหัวใจของเรา หัวใจนี้มันเกิดสามโลกธาตุ เวลามันสิ้นกิเลสไป เห็นไหม พอสิ้นกิเลสไปหลวงตาบอกว่าเวลาจิตมันพ้นจากวัฏฏะ มันเหมือนกับพญามังกร มันไปในอากาศ อวกาศ มันไปได้ทั่ว มันเวิ้งว้างไปหมดเลย นี่จิตมันครอบสามโลกธาตุ

ฉะนั้น เวลาจิตนี้มันนึกพุทโธมันก็สะเทือนสามโลกธาตุ แล้วเรานึกพุทโธ พุทโธกันอยู่ แล้วมันไม่เคารพพระพุทธเจ้าที่ไหน? เคารพสุดเคารพเลยแหละ เคารพมากๆ แต่ด้วยความเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้ว เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนจิตมันเป็นพุทโธซะเอง นึกพุทโธไม่ออกนะ เอ๊อะ! เอ๊อะ!

นี่พุทโธแท้ๆ มันคือตัวพลังงาน ตัวจิตนั้น ถ้าจิตนั้นมันเข้าถึงตัวพุทโธ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตัวพุทโธนี่เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่ในปัจจุบันนี้ผู้รู้มันไม่มี ผู้รู้มันเป็นพลังงานใช่ไหม? แต่เรามีความคิดไง เราก็คิดพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เลยไม่กระเทือนไง ระลึกพุทโธ พุทโธก็เร่ร่อนไง ระลึกพุทโธ พุทโธก็ไม่มีรากไง เพราะพุทโธนี่ นึกพุทโธใครเป็นคนนึก? จิตเป็นคนนึก ถ้าจิตไม่เป็นคนนึก มันจะนึกพุทโธมาได้อย่างไรล่ะ?

ถ้านึกพุทโธแล้ว พอพุทโธจนละเอียดเข้าไป พุทโธเข้าไปสู่ตัวจิต ถ้าเข้าไปสู่ตัวจิตแล้ว จิตมันเป็นตัวพุทโธซะเอง จิตมันนึกพุทโธไม่ได้มันก็เอ๊อะ เอ๊อะเลย นี่ไงเคารพมากๆ ฉะนั้น พอเคารพมากๆ พอเวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาท่านจะบอกจิตนี้เหมือนนักท่องเที่ยว การเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพท่านเทศน์ของท่าน หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ของท่าน หลวงตาท่านบอกว่า “ใหม่ๆ ฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่องเลย”

ฉะนั้น หลวงตาท่านพูดอยู่ เวลาท่านอยู่ที่บ้านตาดนะ เวลาคนมาฟังเทศน์ท่าน ท่านชี้เลยนะ คนนี้ฟังเทศน์เป็น คนฟังเทศน์เป็นนะ เวลาหลวงตาเทศน์ปั๊บนิ่งเลยนะ นิ่งเลย คนเวลาหลวงตาเทศน์นะคุยกันจ๊อกแจ๊กๆ ไอ้คนนี้ฟังเทศน์ไม่เป็น เพราะมันไม่สนใจ มันไม่สนใจฟังเทศน์ไม่เป็นหรอก แต่ถ้าฟังเทศน์เป็นนะ พอหลวงตาท่านขึ้น พอเริ่มมีเสียงขึ้นมานะจะเงียบกริบเลย เพราะอะไร?

อย่างเช่นเวลาเราไปหาหมอ เราไปต่างๆ เราต้องการให้ยานั้นเข้ามารักษาร่างกายใช่ไหม? เวลาหลวงตาท่านเทศน์ นั่นล่ะธรรมะมาแล้ว นี่พอเสียงของธรรมมานะ ไอ้ผู้รับมันต้องเปิดคลื่นของมันทั้งหมด เปิดทุกอย่างรับธรรมะนะ แล้วมันจะไปห่วงเรื่องอะไรล่ะ? เห็นไหม มันก็ปิดทุกเรื่องหมดแหละ เปิดแต่หูไว้ฟังเสียง พอหูนั้นมานี่ฟังเทศน์เป็น ฟังเทศน์เป็นเพราะมันฟังเสียงมันถึงฟังเทศน์เป็นไง

เวลาหลวงตาท่านพูด หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดบ่อย เวลาหลวงปู่มั่นนะ เวลาฟ้าคะนองนี่ครืนๆ ฝนมันจะตกนะ อู๋ย รีบเลยนะ รีบวิ่งไปที่กุฏิหลวงปู่มั่น ไปที่ไหน ไปใต้ถุน ไปฟังไง เพราะว่าพอหลวงปู่มั่นเริ่มเสียงดังขึ้น คือมีพระขึ้นไปถามปัญหาท่าน หรือมีพระในวัดปฏิบัติแล้วมีข้อติดขัด จะขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น พอหลวงปู่มั่นเริ่มเสียงดังขึ้น นี่ฟ้าคำรามแล้ว พอฟ้าคำรามนะ ถ้าใครได้ยินเสียงฟ้าคำราม รีบๆ เลยนะเอาภาชนะจะไปรอฝนไง จะไปรอฝน

พอฟ้าคำรามนะฟ้าจะผ่า พอฟ้าจะผ่า หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงตาท่านพูดเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมท่านพูดเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมท่านพูดเหมือนกัน พอเริ่มฟ้าจะคึกคะนอง ฟ้าคะนองมาแล้ว พอฟ้าคะนอง ไอ้พวกลูกศิษย์ก็รีบเอาภาชนะจะไปรอน้ำ เอาหัวใจไปรอน้ำ ไปรอน้ำอมตะธรรมของท่าน พอไปรอน้ำท่านก็เทศน์เปรี้ยง เปรี้ยง อู้ฮู ฝนตก ฟ้าร้องเต็มที่เลยนะ น้ำเต็มถังเลย ถังใครถังมัน เปิดรับน้ำนั้น

นี่ฟังเทศน์เป็นเป็นอย่างนี้ นี้ถ้าฟังเทศน์เป็น เห็นไหม มันได้ประโยชน์ไง โอ้โฮ ฝนตก ฟ้าร้องขนาดไหนนะมันได้น้ำมา ได้ทุกๆ อย่างมา นี่เทศน์พระป่าเป็นแบบนี้ ถ้าฟังเทศน์เป็นหลวงตาท่านจะชี้บอก “คนพวกนี้ฟังเทศน์เป็นนะ” ถ้าคนฟังเทศน์ไม่เป็นนะ คนเทศน์ก็เบื่อ พอเริ่มจะเทศน์นะมันแข่งแล้ว เทศน์ ๓ ธรรมาสน์ ๑๐๐ ธรรมาสน์ด้วย มันเต็มศาลาเลย นู่นก็เทศน์ นี่ก็เทศน์ แล้วไอ้พระก็ต้องเทศน์อีกนะ

ไอ้พวกฟังเทศน์ไม่เป็น มันขัด มันแย้งไปหมด มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แล้วยังคิดนะ ยังเกิดทิฐิมานะนะ ก็เทศน์สิ ก็เทศน์มาสิจะฟัง ก็เทศน์มาสิ ก็เทศน์มาสิจะฟัง ฟังห่าอะไรมึงเทศน์แข่งกูอยู่นั่น มึงจะฟังอะไรของมึง นี่มึงก็เทศน์แข่งกูอยู่เนี่ย แล้วมึงฟังเทศน์เป็นหรือเปล่า? แล้วมึงได้ประโยชน์กันหรือเปล่า?

นี่ไงฟังเทศน์ไม่เป็น แต่ถ้าฟังเป็นนะ พอเสียงขึ้นปั๊บทุกคนจะเงียบกริบเลย เงียบกริบเพราะอะไร? เพราะมาแล้ว มาแล้ว เพชร นิล จินดามันจะมาแล้ว รอเก็บเอา รอเก็บเอา ไอ้นี่มันไม่สนใจเพชร นิล จินดาอะไรเลย เพชร นิล จินดามันยังไม่รู้จัก แล้วเพชร นิล จินดาลอยมามันไม่เอา มันจะไปเอาไก่ไง

ไก่ได้พลอย มันไม่เอาพลอย มันจะเอาข้าวเปลือก มันจะไปเอาข้าวเปลือก มันไม่เอาหรอก เพชร นิล จินดามันไม่เอา มันจะไปเอาข้าวเปลือก พอเอาข้าวเปลือกมันได้อะไร? นั่นน่ะฟังเทศน์ไม่เป็น ถ้าฟังเทศน์เป็นมันเป็นแบบนี้ ฉะนั้น คนฟังเทศน์เป็นกับคนฟังไม่เป็น แล้วถ้าคนฟังเทศน์เป็นมันจะได้ประโยชน์ นี่พอมันได้ประโยชน์ขึ้นมา เห็นไหม

ถาม : อ่านหนังสือของหลวงพ่อแล้วอนุโมทนามาก “ปลูกดอกบัวที่ใจ” อ่านแล้วเข้าใจแนวทางการปฏิบัติของจิตทั้ง ๕ เรื่อง เป็นประโยชน์มากๆ

หลวงพ่อ : คำว่าเป็นประโยชน์มากๆ นี่เพชร นิล จินดา เพชร นิล จินดานะ เราเอามาประดับร่างกาย เอามาไว้แลกเปลี่ยนเป็นเงินเป็นทอง หลวงตาบอกว่าแก้ว แหวน เงิน ทองมันยังหาได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย หาตามข้อมือนี่แหละ หาตามนิ้วมือนี่แหละ เพชร นิล จินดามีเต็มไปหมดเลย แต่ครูบาอาจารย์แต่ละองค์จะหาได้แสนยาก แสนยาก

ฉะนั้น ถ้ามันแสนยาก แล้วนี่เวลามันแสดงออกมา มันแสดงออกมาจากไหน? มันแสดงออกมาจากใจ ฉะนั้น การฟังธรรมนี่ยากมาก ยากตรงที่ผู้แสดงมันไม่มี มันไม่มีธรรมในใจ มันเอาอะไรมาแสดง ฉะนั้น ไปหาเพชร นิล จินดาก็ไปหาเอาตามข้อมือ ตามนิ้วมือเขา เต็มไปหมดเลย แต่ครูบาอาจารย์ไปหาที่ไหน? ไปหาที่ไหน? มันหามันหาที่นี่

นี่หลวงตาพูดทั้งนั้นแหละ เวลาพูดนี่จำขี้ปากหลวงตามาพูดทั้งนั้นแหละ เราจะไปมีความรู้อะไร? ก็จำขี้ปากหลวงตามา ก็ฟังหลวงตามาทั้งนั้นแหละ พอจำขี้ปากมาก็นี่ไง นี่พอเขามาพูด นี่ไงถ้ามันเป็นมันจะได้ประโยชน์ไง พอได้ประโยชน์ขึ้นมา นี่เขาเรียกลงใจแล้วนะ ถ้าใจมันลงนะ มันพูดสิ่งใดมันได้ประโยชน์ ถ้าใจไม่ลงไม่ได้ประโยชน์หรอก ไม่ได้ประโยชน์ ฝนจะตก ฟ้าจะร้องขนาดไหนมันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แล้วเวลาฟังเทศน์ไปก็ไม่เข้าใจด้วยนะ แล้วเข้าใจก็คิดว่าการเทศน์มันก็เหมือนเทปคาสเซ็ทไง เวลาเปิดแล้วมันก็หมุนไปเรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์เทศน์แล้วก็เทศน์ไปสิ เทปมันไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึกนะ แต่จิตมันมีความรู้สึก แม้แต่เทศน์ออกไปนี่นะ ถ้าเป็นธรรม ถ้าเขารับมันก็เป็นประโยชน์กับเขา ผู้เทศน์ไม่ได้อะไรหรอก ผู้เทศน์เป็นผู้แสดงธรรม แต่เวลาถ้าเทศน์ออกไปแล้วนี่ถ้าเขาไม่รับล่ะ? แล้วเกิดเป็นโทษล่ะ?

ถ้าเกิดเป็นโทษนะ เวลาครูบาอาจารย์เรานี่นะท่านเคารพในธรรม เคารพในธรรมคือว่าธรรมะนี่หามาได้ยากมาก แล้วถ้าท่านแสดงธรรมอยู่ แล้วมันเกิดแรงต้าน เขาเรียกว่า “มันสบประมาทธรรม”

ถ้ามันสบประมาทธรรม คนเทศน์มันสังเวช มันสังเวชนะ เพราะว่าผู้ที่แสดงนี่สังเวชมาก ธรรมะนี้กว่าจะได้มา เอาชีวิตแลกมา กว่าจะได้มาทุกข์ยากแสนเข็ญขนาดไหน? ทำไมจะต้องเอามาให้เขาย่ำยีกันขนาดนั้น เห็นไหม หลวงตาใช้คำว่า “ไม่เคารพธรรม”

เวลาฟังเทศน์ท่านท่านบอกว่าถ้ากิริยาไม่สงบระงับ กิริยาไม่เรียบร้อยท่านจะไม่แสดงธรรม เห็นไหม ในเสขิยวัตร ภิกษุ ผู้ไม่ใช่คนป่วย นั่งอยู่หรือนอนอยู่ ภิกษุยืนอยู่แสดงธรรมเป็นอาบัติทุกกฏ เพราะว่าเขาไม่เคารพไง แต่ถ้าเขาป่วย

นี่เว้นไว้แต่คนป่วย ถ้าคนป่วยนะจะไม่เป็นไร ถ้าเขาไม่ป่วยเขาต้องเคารพธรรม ถ้าเคารพธรรมมันก็เหมือนกับเปิดหัวใจ ถ้าเปิดหัวใจเทศน์ออกไปมันก็จะได้ผล แต่ถ้าเขาไม่เคารพธรรม ไม่เคารพธรรมมันก็เหมือนเราคุยกัน เห็นไหม เขาถึงบอกว่าเทศน์อย่างนี้ไม่รู้เรื่องเลย เทศน์ออกมาไม่รู้เรื่องเลย เออ เขาบอกองค์นั้นดี องค์นี้ดีไปฟัง ฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลย

มันจะรู้อะไรล่ะ? เพราะมันไม่เคารพ มันไม่เคารพ มันไม่เข้าใจ อะไรเป็นเพชร นิล จินดา อะไรเป็นข้าวเปลือก มันไม่รู้เรื่อง พอไม่รู้เรื่องนี่ฟังไม่เป็น ฟังไม่เป็นแล้วเกิดทิฐิอีกนะ ทิฐิเอาตัวรู้ เอาความรู้ความเห็นของตัวเข้าไปเทียบ เอ๊ะ เขาว่าอาจารย์องค์นี้ก็ดี เขาว่าอาจารย์องนี้ก็ดี ท่านเทศน์นี่เข้าใจดี๊ดี ทำไมเราฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลย แสดงว่าอาจารย์ไม่ดี แต่ไม่ได้บอกว่าตัวเองไม่ดีนะ ไม่ได้บอกว่าตัวไม่ดี ไม่ได้บอกว่าเราไม่รู้ ไม่บอกหรอก บอกอาจารย์ไม่ดี นี่ฟังไม่เป็น ถ้าฟังเป็นนะ ฟังเทศน์ ฟังเป็น ฟังดีมันจะได้ประโยชน์กับเรามาก

ฉะนั้น เขาอนุโมทนามา ว่า “ปลูกดอกบัวที่ใจ” กับ “สมมุติว่าจิต” อ่านแล้วได้ประโยชน์มาก นี้ไม่ได้ฟังเทศน์นะ นี้อ่านเอาเลยล่ะ ถ้าอ่านแล้วนี่ให้พิจารณาเอา เพราะว่ามันเหมือนกับยา ยามันมีหลายขนาน เวลาไปโรงพยาบาล ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคอะไร? หมอให้ยาด้วยอะไร?

นี่ก็เหมือนกัน บางคนบอก อู้ฮู นี่ดีมากๆ เลย แต่คนมาอ่านบอกอันนู้นดีกว่า อันนี้ไม่ดี อันนู้นมันดีกว่า เขาถูกกับยาชนิดนั้น ถ้าใครถูกยาชนิดไหน เขาบอกว่ายาชนิดนั้นดีกว่า คนนั้นก็บอกว่ายาชนิดนี้ดีกว่า อย่างที่พูดเมื่อกี้ตอนเช้า นี่ดีกับดีทะเลาะกัน ทะเลาะกันเรื่องอะไร? ทะเลาะกันเรื่องดีกว่า อันนู้นดีกว่าอันนี้ อันนี้ดีกว่าอันนั้น

ฉะนั้น ใครได้ประโยชน์กับสิ่งใด ใครได้ประโยชน์กับใคร สิ่งนั้นดีกับคนนั้น คนนั้นได้ประโยชน์กับตรงนั้น เอาตรงนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่เขาเอาประเด็น ประเด็นที่ว่าเขาได้ประโยชน์นี่แหละ เราถึงบอกว่าฟังเป็น ถ้าฟังเป็น ฟังธรรมเป็นนะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าฟังไม่เป็นนะ ฟังไม่เป็นมันก็ต้องค่อยฝึกหัด

ถ้าฟังไม่เป็น แล้วเราพยายามฝึกฝนของเรานะมันจะได้ประโยชน์ ถ้าเรามาฟังไม่เป็น แล้วก็ไม่ฝึกฝน ไม่ดัดแปลงเรา ไม่แก้ไขเรา มันจะไม่ได้อะไรไปเลยนะ แล้วก็จะทิฐิมานะนั่นแหละ โอ้โฮ เราดีนะ อาจารย์องค์นั้นก็เทศน์ให้เรารู้เรื่องไม่ได้ อาจารย์องค์นั้นก็แก้เราไม่ได้ ไม่มีอาจารย์องค์ไหนแก้เราได้เลย โอ้โฮ เราสุดยอด เราสุดยอดเลย ไม่มีอาจารย์องค์ไหนแก้เราได้เลย นี่ไงมันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าเราแก้เรา เราดูแลเรา แล้วนี่เราหาของเราไปเรื่อยๆ ว่ามีอาจารย์องค์ไหนจะแก้เราได้ ถ้าแก้เราได้จะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่คนฟังเป็น คนใฝ่หา มันจะได้ประโยชน์ตรงนี้ไง ประโยชน์ที่เราจะได้ในพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาของเรา ถ้าเราแก้ไขขึ้นมา มันจะเป็นปัญญาที่ดีขึ้นมา เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้พูดถึงการฟังธรรมเป็นนะ

แล้วฟังอันนี้ อันนี้ถามมานี่แปลกมาก

ถาม : ๗๐๖. เรื่อง “ทำบุญกึ่งๆ ปนบาป ผลลัพธ์ของกรรมจะเป็นอย่างไรครับ”

หลวงพ่อ : อันนี้เหมือนกับคล้ายๆ จะว่าเราเลย (หัวเราะ) ชอบเหน็บคนนู้น เหน็บคนนี้ มันกึ่งๆ มันไม่เสวยสุขสักที เหมือนกับจะย้อนศรกลับมาที่เราเลยล่ะ แต่เราก็จะตอบ ให้เห็นประโยชน์นะ

ถาม : นมัสการหลวงพ่อครับ ขอถามว่า การที่เราทำบุญบางอย่างเป็นแบบปนบาป ทำนองว่าให้เบาะแสแก่ตำรวจจับโจร โจรนั้นต้องถึงความเดือดร้อน ต้องคดีความต่างๆ ต้องติดคุกรับโทษ ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าโจรจะต้องโดนแบบนั้น หรือทำนองว่า เรารู้ว่าคนๆ นี้โกงอะไรอย่างไรบ้าง มาเป็นผู้เสียหายที่รู้เท่าทันแล้วโกงอย่างไรบ้าง เราเป็นผู้เสียหายที่รู้เท่าทัน แล้วเราเที่ยวประกาศ ประณามให้คนอื่นระวังตัวและหลีกเลี่ยง ซึ่งทำให้เขาต้องเสียผลประโยชน์ เสียชื่อเสียง ซึ่งบางครั้งก็เดือดร้อนถึงคนรอบข้างเขาด้วย

หลวงพ่อ : (หัวเราะ) อันนี้คล้ายๆ กับคนพูดเลย เที่ยวประณามคนนู้น คนนี้ เอ๊ะ คำถามนี้มันแปลกๆ

ถาม : ทีนี้อยากจะถามว่า

๑. อยากทราบถึงผลลัพธ์ของกรรมนั้นครับ ว่าจะได้ผลบาปอย่างไรกลับมาครับ?

๒. แล้วจริงๆ ในการทำบุญกึ่งบาปแบบนี้ พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์สอนไว้อย่างไรบ้างครับ? ขอบพระคุณครับ

หลวงพ่อ : ทำบุญกึ่งบาป ปนบาป เที่ยวประณามคนนู้น ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่มุมมองหรอก เวลาที่เราพูดเรื่องอย่างนี้ เราพูดอย่างนี้มันมองได้หลายแง่มุมไง อย่างที่ว่ายามีหลากหลายชนิดนัก ฉะนั้น ถ้าเวลาเรื่องทำบุญกุศล เรื่องต่างๆ เห็นไหม อยู่ที่วุฒิภาวะของจิต จิตที่เขาพอใจ

เวลาคนถามพระพุทธเจ้าบอกว่า “ควรทำบุญที่ใด?”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ควรทำบุญที่เธอพอใจ”

เพราะคำว่าพอใจมันจะให้คนๆ นั้นได้สร้างประโยชน์ ฉะนั้น คนๆ นั้นจะพอใจกับใครต้องทำบุญที่ตรงนั้น แต่ถ้าบอกว่าคนๆ นั้นไม่ดี คนนั้นดีกว่า คนๆ นั้นเป็นพระที่ว่าไม่มีคุณธรรม มีคุณธรรมคือครูบาอาจารย์ของเรา แต่เขาไม่เคารพครูบาอาจารย์ของเรา เขาไม่ทำ เขาทำกับพระองค์นั้น ฉะนั้น

“เธอควรทำบุญที่ไหน? เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ”

นี้พระพุทธเจ้าสอนเองนะ ในพระไตรปิฎกอีกแหละ นี่บอกว่าไม่เคารพพระไตรปิฎก เคารพ พระไตรปิฎกบอกว่า “เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ” เห็นไหม เธอพอใจทำเลย เพราะทำไปก่อน แต่ถ้าทำแล้วมันได้ศึกษาแล้ว ทีนี้ศึกษา นี่สิ่งที่เราพูด เวลาเราพูด เวลาเราตอบปัญหาธรรมะ บางทีปัญหามันมีหยาบๆ มันมีเรื่องพื้นฐาน แล้วมีเรื่องสูงสุด

คำว่าสูงสุดมันพัฒนาการขึ้นไป อย่างเช่นเวลาพัฒนาขึ้นมาปั๊บนี่มันต้องถูกต้อง นี้คำว่าถูกต้อง คนๆ นี้เวลาเขาถามปัญหามา เขาถามปัญหาถึงว่าเขาจะทำอย่างไรถึงได้โสดาปัตติมรรค เขาถามมาว่าทำอย่างไรเขาถึงจะได้มรรค ได้ผล ถ้าคำว่าได้มรรค ได้ผล ความจริงมันมีอยู่แล้วก็พูดตามความจริงนั้น

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ท่านสอน ท่านบอกให้ทำบุญๆๆ แต่ท่านไม่ได้สอนให้เข้าถึงโสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรค คือเขาไม่ได้สอนให้การภาวนาเข้าถึงหลักเกณฑ์ ถ้าเข้าถึงหลักเกณฑ์ ทีนี้หลักเกณฑ์มีอันเดียว อย่างเช่นทำความผิดคดีอาญา คดีแพ่ง คดีต่างๆ คือถ้าทำความดีมันก็ต้องได้ผลตามนั้น นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริง ใครจะสอนอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผลของมันโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล มันจะเข้ามาสู่ตรงนั้น

ฉะนั้น เวลาเขาพูดขึ้นมาแล้วเขาให้ทำบุญกุศลกัน เขาให้ทำอะไรต่างๆ

“เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ”

เธอพอใจที่ไหนเธอทำเลย เธอพอใจก็ทำตามสบาย เธอพอใจที่ไหนเธอทำเลย แต่ถ้าจะเอาโสดาปัตติมรรค จะเอามรรค เอาผล มรรคผลมันก็ตรงนี้ไง แล้วถ้าคนพูดมรรคผลที่มันบิดเบือน มันผิดเพี้ยนไปจากมรรคผล นี่เราพูดตรงนี้ต่างหาก

แหม เราไม่ใช่ประกาศ ไม่ได้ประณาม ไม่ใช่ แต่เราพูดถึงมรรคผล มรรคผล มรรคผล ถ้ามันจะเข้าสู่มรรคผล มันต้องเข้าสู่มรรคผลอย่างนี้ๆๆ แล้วถ้าเธอพอใจที่ไหน เธอทำบุญที่นั่น ก็เรื่องของเธอ แต่ถ้าเธอจะเข้ามรรคผล ถ้าไม่เข้ามรรคผลตรงนี้มันเข้ามรรคผลไม่ได้หรอก มันไม่มีทางที่จะเข้ามรรคผลได้

แล้วถ้าเราบอกว่ามรรคผล เราบอกถึงมรรคผล ถ้าเธอพอใจทำบุญที่ไหน? แล้วเราบอกว่ามรรคผล ถ้ามรรคผลเราผิด ก็บอกมาสิว่าพระสงบพูดผิดอย่างไร? เออ ก็บอกว่าพระสงบพูดผิดสิ นี่ประณามเขา ประกาศเขาว่าผิดๆ ตัวเองก็พูดผิด ตัวเองก็จะชักนำให้เขาไปนรกอเวจี ตัวเองจะพาเขาไปไหน? ก็พูดมาสิ! มันจะได้จบ (หัวเราะ)

เราไปประณามใคร ไม่ได้ประณามใครเลย แต่เวลาพูดเรื่องทานก็เรื่องทาน แต่เวลาพูดถึงเรื่องการปฏิบัติ เรื่องเอามรรค เอาผลมันก็ต้องพูดความจริงกัน ถ้าพูดความจริง แล้วศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความจริง ศาสนาแห่งปัญญา ถ้าไม่พูดถึงความจริงจะเอาความจริงมาจากไหนล่ะ? เอาความจริงมาจากไหน?

ฉะนั้น พอเราพูดความจริงขึ้นมา เห็นไหม เที่ยวประกาศเหมือนตำรวจ เวลาบอกให้ตำรวจจับโจร พอบอกให้ตำรวจจับโจรแล้วนี่ โจรเขาก็ต้องมีโทษ มีภัย มันน่าเห็นใจเขา เวลาเป็นโจรไปแล้วนะ เป็นโจรไปแล้วเขาไปเป็นคนดีก็มี ในสมัยพุทธกาลนะ เทวทัตจ้างให้โจรไปยิงพระพุทธเจ้า ๘ คนหรือ ๑๖ คน นี่แหละ

มันมีหลายกระแส ทีแรกว่าเป็น ๔ เพราะว่า ๔ ขั้นตอน ๔ ชั้นนะ ๔ คนแรกให้ไปยิงพระพุทธเจ้า แล้ว ๔ คนไปยิงคนยิงพระพุทธเจ้า แล้วอีก ๔ คนก็ไปยิงคนที่ยิงอีก ๔ คนนั้น ถึงกับ ๔ ตัดคัทเอาท์ ๔ ตอน เทวทัตนี่ เทวทัตนะจ้างโจรไปยิงพระพุทธเจ้า เหมือนจ้างมือปืนไปเก็บพระพุทธเจ้า ไปถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศน์จนเอาโจร ๔ คนนั้นบวชเป็นพระอรหันต์ ๔ คนต่อไปรอจะเก็บไอ้ ๔ คนที่ไปยิงพระพุทธเจ้า ไม่มาสักกที ไม่มาสักทีก็เดินไปดูว่าอยู่ที่ไหน ไปถึงพระพุทธเจ้าเทศน์เอาบวชหมด

นี่ไงทำบุญแบบกึ่งๆ เขาไม่ได้ทำบุญแบบกึ่งๆ เขาตั้งใจมาฆ่า เขาตั้งใจมาฆ่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการจนเขามาบวช จนเขาสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย นี่เวลาการทำบุญนี่นะ กุศลทำให้เกิดอกุศล คนไปวัดนะไปทำบุญกุศลกัน ไปนินทาพระไง อู๋ย พระนี่เสียงดัง พูดไม่ได้รู้เรื่อง นี่ตั้งใจไปทำบุญนะ กุศลตั้งใจไปทำบุญเลย ไปถึงวัด โอ้โฮ เขาว่าพระสงบนี่ดี พอไปเจอ เฮ้ย นี่พระหรือนักเลง

นี่เจตนามานะ ตั้งใจมาเลยเป็นกุศล พอมาเจอเจ้าพ่อเข้านี่เป็นอกุศลแล้ว กลับเลย นี่ไง แต่เวลาเป็นอกุศลนะ เขาว่าพระองค์นี้มีเสียงดังมาก พอไปฟังเข้ามันจับประโยชน์ได้ เห็นไหม อกุศลมาจับผิดไง มาดูเลย พระองค์นี้เขาว่าอย่างนั้นๆๆ พอมาฟังแล้ว เอ๊ะ มันไม่ใช่ มันมีเหตุมีผล เหตุผลรวมลงสู่ธรรม

หลวงตาพูดบ่อย “เหตุและผลคือธรรม”

มันมีเหตุ มีปัจจัย มันต้องมีเหตุมันถึงมีผล มันไม่มีเหตุเอาผลมาจากไหน? มันไม่มีผลเลย บอกหลวงตารับรอง หลวงตารับรอง แล้วผลมันอยู่ไหนล่ะ? หลวงตารับรองอะไรล่ะ? เหตุมันไม่มี ผลมันไม่มีหรอก บอกว่าหลวงตารับรอง หลวงตารับรองอะไร? หลวงตาต้องรับรองเหตุผลสิ เพราะหลวงตาเป็นนักเหตุผล หลวงตาบอกท่านเป็นนักเหตุผล ท่านเป็นผู้มีเหตุมีผล ถ้ามีเหตุมีผล ถ้ามันมีเหตุมีผลนะ แล้วเหตุผลมันแสดงออกได้

ฉะนั้น เหตุและผลคือธรรม ถ้ามันมีผลมันก็เป็นธรรม ถ้ามันไม่มีผลล่ะ? หลวงตารับรองก็ส่วนหลวงตารับรองสิ หลวงตา เราเคารพหลวงตาจะตาย หลวงตาก็คือหลวงตา แต่รับรองใคร คนนั้นถ้ารับรองแล้วมีผลต้องพูดผลออกมา ผลพูดออกมา เหตุและผลคืออะไร? อะไรเป็นโสดาปัตติมรรค อะไรเป็นโสดาปัตติผล

พูดตรงนี้ก่อน โสดาปัตติมรรคนี่เข้าอย่างไร? ทางเข้าสู่มรรคเข้าอย่างไรบอกมา บอกทางเข้าสู่มรรคมา ถ้าบอกทางเข้าสู่มรรคไม่ได้ เหตุไม่มี หลวงตาจะรับรองก็ส่วนหลวงตา แต่เราไม่เชื่อ ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้! แต่ถ้ามันเป็นไปได้มันต้องมีเหตุมีผล เห็นไหม นี่ขนาดว่าเขาจะไปฆ่าพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าเทศน์เอาจนเขาบวชหมดเลย

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : ธรรมกึ่งๆ บาป แล้วผลจะเป็นอย่างไร? อยากทราบผลของกรรมนั้นครับ

หลวงพ่อ : ผลของกรรม กรรมคืออะไรล่ะ? กรรมอะไร? ถ้าทำคุณงามความดีนะ ทำบุญกึ่งๆ ถ้าเป็นกุศลนะ ถ้ากุศลเป็นอกุศล เห็นไหม ในชาวพุทธเราทิ้งศาสนาพุทธ ขายจิตวิญญาณ แล้วไปเข้ารีตนี่เยอะแยะไป นี่ไง ขายจิตวิญญาณของตัวไปเข้ารีต นี่ผลของกรรมๆ เขาทิ้งไปเลย ไอ้นั่นเรื่องของเขา ฉะนั้น นี่ว่าผลลัพธ์ของมันเป็นอย่างไร? ผลลัพธ์นะ ถ้าเป็นมหาโจรไปฆ่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเทศน์เอาจนเป็นพระอรหันต์ ผลลัพธ์มันคืออะไร?

ดูสิดูลูกชายอนาถบิณฑิกเศรษฐี เห็นไหม อนาถบิณฑิกเศรษฐีศรัทธาพระพุทธเจ้ามาก เชตวัตปูเงินซื้อที่เลย แล้วลูกชายไม่เห็นด้วยไง แต่อยากจะแก้ลูกชายไง จ้างนะ จ้างให้ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ฟังเทศน์แล้วมาเอาตังค์ ฟังเทศน์แล้วมาเอาตังค์ พอเริ่มคุ้นชินนะ อนาถบิณฑิกเศรษฐีบอกว่าจ่ายเพิ่มให้เป็น ๒ เท่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีบอกเพิ่มเป็น ๒ เท่า ไปฟังเทศน์จับเนื้อความมาด้วยว่าพระพุทธเจ้าพูดเรื่องอะไร? พระพุทธเจ้าพูดเรื่องอะไร?

ทีแรกไปฟังเทศน์ก่อน พอกลับมาก็จ่ายตังค์ๆ เพิ่มให้ ๒ เท่า ให้จับใจความได้ว่าพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องอะไร? ให้ ๒ เท่า พอเริ่มจับใจความไง เริ่มจับใจความ เหตุและผล หลวงตาบอกว่าเจ้าแห่งเหตุและผล ถ้าไม่มีเหตุ ผลไม่มี ถ้าจะมีผลมันต้องมีเหตุมาก่อน ถ้ามีผล ไม่ใช่ผลที่ไปจำของคนอื่นมา ไม่ใช่ผลที่ไปลิขสิทธิ์ของใครก็ไปปั๊มมาๆ ผลมันจะเกิดเอง แล้วถ้าใครทำเป็นมันจะรู้ ถ้าใครทำไม่เป็นไม่มีสิทธิ์ เป็นไปไม่ได้ นี่พระกรรมฐาน พระป่าเขามีความจริงในหัวใจกันอย่างนี้

ฉะนั้น เวลาอนาถบิณฑิกเศรษฐีบอกว่าให้ลูกชายไปฟังแล้วจำเนื้อความมา พอจำเนื้อความ คำว่าจำเนื้อความ ทำความเข้าใจเหตุ เห็นไหม พอเข้าใจเหตุขึ้นมา พอมันมีเหตุมีผลขึ้นมา โอ้โฮ ช็อกเลยนะ ช็อกเลย เพราะเหตุผลมันสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พอกลับไปบ้าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ถือตังค์ไว้แล้ว ทุกวันมาปั๊บรีบมาเอาตังค์ เพราะไปฟังเทศน์เอาตังค์ไง นี่กึ่งๆ ไง ไปฟังเทศน์ ฟังธรรมแล้วก็จะเอาเงินกัน

นี่ก็เหมือนกัน ไปวัดไปวาก็ไปทำธุรกิจการค้ากัน ไปหาผลต่างกัน ไปหาความ โอ๋ย พูดไปเดี๋ยวจะเข้าหมู่ไม่ได้ (หัวเราะ) พูดไปเดี๋ยวเข้าหมู่ไม่ได้นะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาไปฟังเทศน์ก็เอาตังค์ พอจิตมันปิ๊ง พอมันฟังเทศน์ขึ้นไป กลับไปถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีถือตังค์รออยู่ ไม่กล้าเข้ามานะ เรียกหาลูกชาย ลูกให้มาเอาตังค์ อายพ่อ เข้าไปหาพ่อไปรำพันนะ เวลาเป็นแล้ว นี่สุภาพบุรุษไง

“พ่อเลี้ยงมาตีนเท่าฝาหอย เลี้ยงชีวิตนี้มา มีทิฐิมานะที่ผิดพ่อก็ดูแลมา พ่อให้ไปฟังธรรมๆ พ่อเลี้ยงชีวิตมานะ ให้ไปฟังธรรมก็จะเลี้ยงหัวใจ ไปฟังธรรมก็ยังไปฟังธรรมเพื่อเอาตังค์ ไปฟังธรรมก็มาเอาตังค์” พูดถึงสลดไง รำพันนะสลดใจมาก

“ไปฟังทีไรก็กลับมาเอาตังค์ๆ คราวนี้ตังค์ไม่เอาแล้ว คราวนี้ตังค์ก็ไม่เอา เอาไม่ได้ เอาไม่ลงแล้ว”

นี่รับไม่ได้เลย นี่ไปฟังธรรมมาเพื่อเอาตังค์ ฟังไปๆ ฟังไปจนใจเป็นพระโสดาบัน ตังค์ก็ไม่เอา เพราะอริยภูมิมันมีค่ากว่าตังค์ ประมาณค่าไม่ได้เลย พอประมาณค่าไม่ได้เลย นี่ไงอนาถบิณฑิกเศรษฐีแก้ลูกของเขามา

นี่ไงคำว่าทำบุญกึ่งๆ เราจะบอกว่ามันกึ่งๆ อยู่แล้ว มันกึ่งๆ เพราะใจเรามีกิเลส ใจทุกคนมันทำแล้วละล้าละลัง มีความคิดหน้าคิดหลังทั้งนั้นแหละ แต่ในเมื่อถ้าจิตใจ เห็นไหม

“เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ”

ถ้าจิตมันดีแล้วเรารีบทำ เพราะว่าปฏิคาหก ปฏิคาหกคือให้ด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งที่เราหามา หามาด้วยความบริสุทธิ์ เวลาเราให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ให้แล้วยังดีใจ ถ้ามันดีใจก็ดีใจ ดูนะ ดูหลวงตาสิ หลวงตาเมื่อก่อนหน้านั้น ก่อนที่ออกมาช่วยชาติ ทุกคนเคารพรักหลวงตาทั้งนั้นแหละ ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติมันได้ธรรมะเข้มข้นหมดแหละ พอหลวงตาออกมาช่วยชาติ หลวงตาออกมาเพื่อประโยชน์กับชาติ แกงหม้อใหญ่ กับสังคมกลุ่มใหญ่

มีลูกศิษย์หลวงตาเยอะ เอาหนังสือหลวงตามาเช็ด มาล้างอย่างดีเลยแล้วไปคืนหลวงตา นี่เพราะอะไร? เพราะเห็นว่าเมื่อก่อนเข้มข้น พูดธรรมะเข้มข้น พอมาแล้วมันเป็นเรื่องโลกๆ นี่ไงพอหมู่มันใหญ่ขึ้นไป นี่กึ่งๆ ไหมล่ะ? ลูกศิษย์หลวงตาทั้งนั้นเลย ได้ข่าวว่าเอาหนังสือไปคืนหลวงตาเยอะแยะ สมัยที่ออกมาช่วยชาติ อย่างนี้ทำบุญไม่กึ่งใช่ไหม? สะอาดบริสุทธิ์เลย เคารพแล้วเคารพตลอดไป เอาหนังสือมาเช็ด มาล้าง แล้วเอาไปคืนกันนะ กึ่งๆ หรือเปล่า? กึ่งๆ ไหม? (หัวเราะ)

คำว่ากึ่งๆ เราจะบอกว่า นี่ด้วยความเข้าใจผิดของพวกอภิธรรมไง บอกว่าปฏิบัติต้องห้ามมีกิเลส ห้ามอยากๆ มันเป็นไปได้จริงหรือ? ในเมื่อจิตใต้สำนึกคนมีอวิชชา มีความไม่รู้อยู่ มันจะสะอาดบริสุทธิ์ไปได้จริงหรือ? สะอาดบริสุทธิ์ก็พระอรหันต์เท่านั้นแหละ พระอนาคายังไม่สะอาดบริสุทธิ์เลย แล้วถ้ามันไม่สะอาดบริสุทธิ์ แล้วปฏิบัติไม่ได้ เพราะมันมีกิเลสอยู่ปฏิบัติไม่ได้ ก็มีกิเลสนี่เขาถึงให้ปฏิบัติ ก็มีกิเลสนี่ไง เขามาปฏิบัติเพื่อให้พ้นกิเลสไง

ฉะนั้น พอมีกิเลสอยู่นะเราก็ตั้งใจปฏิบัติ นี่อยากในเหตุ อยากในการประพฤติปฏิบัติสิ เราไม่ได้อยากในผล อยากในเหตุมันมาเอง เวลาพิจารณาไป กำหนดพุทโธไป พอเวลาสมาธิมันเกิด นี่ไงนี่มันมา เดี๋ยวอยากได้อีกแล้ว เห็นไหม นี่กึ่งๆ แล้ว อยากได้ๆ แล้วไม่ได้เลย พอทิ้งหมด สละหมด แล้วทำไปๆ อ้าว ได้อีกแล้ว

นี่ถ้ายังมีกิเลสอยู่นะมันก็มีกึ่งๆ อย่างนี้แหละ ไอ้กึ่งๆ มันมีตลอด พอปฏิบัติไปถึงสิ้นกิเลสแล้ว ตอนนี้ไม่มีกึ่งแล้ว เพราะไม่มีกิเลสมาปนเลย แสดงออกจะฟ้าผ่า ฟ้าร้อง จะพลิกฟ้าคว่ำดิน ธรรมล้วนๆ ไม่มีกิเลสเจือปนเลย ถ้าเป็นธรรมแล้วไม่มีกิเลสเจือปนเลย แต่ขณะที่ยังมีกิเลสอยู่ไม่มีทางที่จะสะอาดได้ จะแสดงตัวขนาดไหน

สันตกาย เห็นไหม นอนนิ่ง นั่งนิ่ง อู้ฮู สงบเสงี่ยมเรียบร้อยหมดเลย คนเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกไม่หรอก ไปเรียกสันตกายมา แล้วเทศน์ให้สันตกายฟัง นี่กายมันเป็นน่ารังเกียจอย่างนั้น กายเป็นอสุภะอย่างนั้น เทศนาว่าการจนสันตกายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย แล้วก็บอกว่านี่แต่เดิมเขาเกิดเป็นราชสีห์มา ๕๐๐ ชาติ

นี่ไงมันไม่มีหรอก มันไม่มี ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์นะมันมีความคิด มันมีอวิชชา มันมีกิเลสในหัวใจทั้งนั้นแหละ ถ้ามีกิเลสในหัวใจ ทำบุญก็เป็นอย่างนี้ ทำบุญก็เราตั้งใจของเรานี่แหละ แต่เราอยากรู้นักว่าใครทำบุญแล้วไม่ได้คิดอะไรเลย มีหรือ? มีไหม? เว้นไว้แต่พระอรหันต์ ไม่มีหรอก

ฉะนั้น คำว่ากึ่งๆ ปนบาปมันก็เป็นเรื่องอันหนึ่ง ผลลัพธ์ของมัน เห็นไหม ถ้าเราเป็นสัมมาทิฏฐิ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ถ้ามันมีมรรคหยาบๆ เราทำให้ละเอียดขึ้นมามันก็จะมาสู่ความดี เขาบอกว่า

ถาม : ผลลัพธ์ของกรรมนั้น จะได้ผลบุญหรือบาปอย่างไรกลับมาครับ

หลวงพ่อ : ปฏิคาหก เราตั้งใจด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ถ้ามันทำบุญแล้วมันได้บุญ พอได้บุญขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เราทำ เห็นไหม เรานี่เป็นอลัชชี เรานี่ทำลายศาสนา แล้วคนก็ไม่รู้ใช่ไหม? มาทำบุญกับเราเยอะแยะเลย แล้วเราก็เที่ยวทำลายศาสนาไป อ้าว แล้วนี่ผลลัพธ์เป็นอย่างไรล่ะ? ผลลัพธ์ไอ้คนที่ส่งเสริมเรามันก็ต้องรับไปด้วย เพราะเอ็งให้กำลังกูมาไปทำลายศาสนาไง

นี่ผลลัพธ์ไง แต่ถ้าเราเป็นคนดีล่ะ? เราเป็นคนดี เราเป็นผู้ที่ดูแล เราช่วยกันล่ะ? อันนี้ก็รับผลดีไป มันมีไง เขาเรียกว่าสายบุญสายกรรม หลวงตาพูดบ่อย “ถ้าไม่มีสายบุญสายกรรมไม่เชื่อเราหรอก” แต่ถ้ามีสายบุญสายกรรมนะ นี่ก็เหมือนกัน ลูกศิษย์ลูกหา สายบุญสายกรรม เชื่อแต่ปาก ใจไม่เชื่อเยอะแยะไป ใจนี่จะแซงหลวงตาด้วย วิ่งหน้าจะแซงไปข้างหน้านู้นน่ะ

ลูกศิษย์นะๆ หลวงตาชมนะ หลวงตาชมนะ มันแซงไปข้างหน้านู่น ไปนั่งหน้าหลวงตาด้วย ความคิดมันไปนั่ง แต่ไม่กล้าหรอกกลัวหลวงตาอัดเอา นี่ลูกศิษย์หลวงตา แต่ความคิดมันไปนั่งอยู่ข้างหน้า มันออกหน้าไปก่อนหลวงตาด้วย กึ่งๆ ไหมล่ะ?

ถาม : ๒. แล้วจริงๆ แล้ว การทำบุญกึ่งบาปแบบนี้ พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์สอนไว้อย่างไรบ้างครับ

หลวงพ่อ : สอนไว้ๆ หลวงตาท่านบอกว่าให้พยายามฝืนทน นี่เวลาเข้าพรรษา เห็นไหม ท่านบอกว่าให้ตั้งสัจจะ ตั้งสัจจะนะ อย่างน้อยตักบาตรกับพระวันละองค์ก็ยังดี ถึงบางวันก็สวดมนต์ แล้วถึงเวลาในพรรษาก็ให้ได้ภาวนา ให้แย่งชิงมันมา หลวงตาท่านสอนว่า

“ให้แย่งชิงคุณงามความดีจากกิเลสในหัวใจเราออกมาบ้าง”

มันกึ่งๆ นี่กิเลสมันก็จะชักลากเราไปตลอดแหละ เราก็แย่งชิงมันมาด้วยความดีของเรา ด้วยเจตนาของเรา ด้วยความดีของเรา เห็นไหม แย่งชิงไง แย่งชิงมาทำบุญ แย่งชิงมาสวดมนต์ แย่งชิงมานั่งประพฤติปฏิบัติ แย่งชิงมากำหนดพุทโธ เราแย่งชิงจากกิเลสมันมาบ้าง แย่งชิงกึ่งๆ ไอ้บาปๆ นั่นน่ะเอามาเป็นบุญบ้าง แย่งชิงจากความเป็นบาปให้มาเป็นบุญ

หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ หลวงตาท่านสอนว่าให้แย่งชิงมันออกมา เงินทอง เห็นไหม แบงก์บาทกำไว้บนเปียก จนเปื่อย จนยุ่ย แล้วไม่ได้สละเลยนะ แย่งชิงมันมา อย่าให้กิเลสเอาไปกินให้หมด ได้ยินหลวงตาพูดหรือเปล่า?

หลวงตาพูดประจำ นี่จำขี้ปากมา (หัวเราะ) จำขี้ปากหลวงตามา แย่งชิงมันมา แย่งชิงมันมา แย่งชิงมันมาทำคุณงามความดี แย่งชิงมันมาทำประโยชน์ แย่งชิงมันมา แล้วทำประโยชน์ ทำมากเข้าๆ จนมันคุ้นชิน พอมันคุ้นชินมันทำจนเคยชิน ถ้ามันไม่ทำมันไม่พอใจ มันทำไม่ได้ เห็นไหม นี่แย่งชิงมันมา หลวงตาสอนอย่างนี้ นี่ครูบาอาจารย์สอนไง แล้วครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย หลวงตาท่านพูดประจำ ท่านพูดกับเราด้วย

“หงบเอ้ย ใครจะทำความดี ความชั่วมันเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีว่ะ”

เราจะทำความดีกัน ใครจะทำชั่ว ทำเลวเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดี! เราจะแย่งชิงมันมา หลวงตาพูดกับเราบ่อย ย้ำตรงนี้มาก

“ใครจะดี ใครจะชั่วเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดี เราจะทำคุณงามความดี”

นี้เราทำคุณงามความดี แต่ แต่เพราะทำความดีมันก็ไปเตะลูกตาคนอื่น มันไปเตะตาเขา มันเลยขัดแย้ง อันนี้พูดไปนะ นี่เรื่อง “ทำบุญกึ่งๆ” ไอ้เรื่องไม่พูดอย่างหนึ่ง แต่เวลาบอกเที่ยวประณาม เที่ยวประกาศถึงคนอื่น ไม่ได้ประณาม ประกาศ เขาถามมา นี้มันอยู่ที่คำถามไง คำถามถ้าเขาถามเรื่องภาวนา เราก็จะเข้มข้นหน่อยหนึ่ง ถ้าคำถามเรื่องสัพเพเหระนะไม่สนหรอก

นี่ดูสิที่ว่าข้อ ๗๐๒. ข้อ ๗๐๓. ข้อ ๗๐๔. คำว่าไม่มีๆ ไม่เอามา นี่เขาถามมาเหมือนกัน ตัดทิ้งๆๆ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่ตอบหรอก ไม่ยุ่ง ไม่ยุ่งด้วยๆ อะไรที่ถามมาไม่เป็นประโยชน์ไม่ยุ่ง ทีนี้เพียงแต่เวลาถามมาแล้วมันก็ถามมาอย่างนี้ นี้ว่ากึ่งๆ นะ

นี่เริ่มต้นตั้งแต่ฟังเป็น ฟังไม่เป็น ฟังเป็นมันเป็นประโยชน์ไง ฟังไม่เป็นนี่ยังล่อด้วย ยังล่อว่ากึ่งๆ นี้เป็นอย่างไร? จะเตือนคนพูดให้คนพูดมีสติ อย่าไปประณามเขา อย่าไปประกาศเขา อย่าไปเปิดโปงเขา ไม่ได้เปิดโปงนะ เราเห็นประโยชน์กับคนถาม เวลาคนถาม ถ้าเขาถามถึงการปฏิบัติ เขาลังเลสงสัย เหมือนคนหลงทางแล้วไปในทางแยก ทางแพร่ง เราบอกทางให้เขาถูกต้อง เราสงสารว่าเขาขับรถหลงทาง แล้วเราจะบอกทางให้เขาไปทางที่ถูก เราพูดเพื่อประโยชน์แค่นี้

ทีนี้พอประโยชน์แค่นี้ปั๊บ เวลาเขาได้แผนที่จากใครมา แล้วเขาหลงทางกันไปไกล แล้วเราบอกให้เข้ามาตามทาง นี่มันก็เป็นการให้เขาเห็น ว่าเขาได้รับแผนที่ชี้ไปในทางที่ผิด แล้วเราบอกทางเขาเพราะเขาหลงทาง ก็เท่านั้นเอง เท่านั้นแหละ เราไม่ยุ่งกับใครหรอก แต่ถ้าเขามาถามทางเราไง ว่าทางนี้ไปอย่างไร? ทางนี้ไปอย่างไร? เราก็พยายามชี้ทางให้เขาเท่านั้นเอง เท่านั้นเองจริงๆ

เพราะว่าเราเข้าใจ เราอยู่กับหลวงตามา เรื่องอย่างนี้มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มันมีมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว เรื่องพระ เรื่องเจ้า ในสังคมมันมีมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว มันไม่ใช่จะมามีวันนี้ แล้วจะมีพรุ่งนี้ไปหรอก มันจะมีมากไปกว่านี้อีก มันมีมา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่มั่นคง ไม่มีครูบาอาจารย์ของเรา มันก็ไม่มีใครมายุ่งหรอก

หลวงตาลองเป็นหลวงตาที่ไม่มีใครรู้จักสิ ใครจะรู้จักหลวงตาบ้าง? คนรู้จักหลวงตาเพราะหลวงตาท่านมีชื่อเสียงน่ะสิ แต่ถ้าหลวงตาไม่มีชื่อเสียงใครจะรู้จัก? ใครจะเอาหลวงตาบ้าง? ที่มาเอาก็เอาเพราะชื่อเสียงเท่านั้นแหละ นี้เรื่องของเขา นี่ว่าจะไม่ยุ่งแล้วนะ มันจะล่อเขาอีกแล้ว เอวัง