ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ชุดความคิด

๒o พ.ย. ๒๕๕๔

 

ชุดความคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอาเนาะ อันนี้มันข้อ ๗๐๗. เลยล่ะ ข้อ ๗๐๗. เนาะ

ถาม : ๗๐๗. เรื่อง “พิธีเบิกบุญเก่ามาใช้มีจริงไหมคะ”

หลวงพ่อ : นี่เขาถามนะ

ถาม : อาจารย์ตอบสั้นๆ ก็ได้ค่ะ หนูกลัวเป็นประเด็นสังคม

หลวงพ่อ : เขาว่านะ แต่ก็ถามมา

ถาม : หนูกลัวเป็นประเด็นสังคม เพราะว่าเขากำลังมีการเบิกบุญเก่าของเขามาช่วยชาติ มีการอะไรต่ออะไร

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดกันนะ เวลาเขาพูดกันอย่างนี้ปั๊บ นี่คือคำถาม แล้วก็บอกว่า

ถาม : อยากสอบถามอาจารย์ พิธีแบบนี้มีจริงไหม? มันเป็นการเข้าข่ายฉ้อโกงไหม? (อันนี้เขาว่าของเขา)

หลวงพ่อ : ทีนี้คำถาม ถ้าคำถามอย่างนี้มา แสดงว่าผู้ถามก็ไม่แน่ใจอยู่แล้ว ว่าพิธีที่เขาทำกันอยู่นั้น ว่าเบิกบุญเก่า บุญใหม่มาใช้กันเพื่อจรรโลงความมั่นคงของชีวิตมันมีจริงหรือเปล่า ฉะนั้น กรณีนี้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นคงไม่ถามมา ถ้าถามมา ทีนี้เราจะบอกว่าสังคมเป็นแบบนี้ เราจะบอกว่ามันเป็นชุดความคิด

เวลาชุดความคิด เห็นไหม ดูสิโดยทั่วไป เดี๋ยวนี้มันจะมีมากเลย มีมากว่าพุทธพยากรณ์ พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพยากรณ์อย่างนั้น แล้วก็พิมพ์แจกกันไปทั่ว เป็นชุดความคิดของใครของมัน พอชุดความคิดเกิดขึ้นมาแล้วก็เชื่อ พอมีความเชื่อก็แผ่กระจายกันออกไป เราถึงว่ามันเป็นชุดความคิด แล้วชุดความคิดนี้มาจากไหน?

ชุดความคิดนี่ก็เป็นพระพุทธเจ้าที่อยู่ในพระไตรปิฎก ที่บางทีมันตกหล่นไป แล้วมันไม่มีใครเคยเอาสิ่งนี้มาใช้ หรือมันมีอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว คนเขาไม่ค่อยได้สนใจ มันก็เลยอยู่ในพระไตรปิฎก เดี๋ยวนี้มีครูบาอาจารย์ที่มีบารมี มีวาสนา ไปรื้อค้นเข้า ไปเจอเข้าก็เอามาบอกกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม มันเป็นชุดความคิดไง ถ้าชุดความคิดแบบนี้มันน่าสงสารนะ

ทีนี้พอมันน่าสงสาร น่าสงสารหมายความว่าเวลาพวกเรานี่เป็นชาวพุทธโดยสายเลือด เราก็เชื่ออยู่แล้วรัตนตรัย เราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าบอกว่าเป็นพุทธพยากรณ์เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า นี่พวกเราก็เชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง พอเราเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง แล้วเรื่องมันจะจริงหรือไม่จริงนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่เราเชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง พอเชื่อไปครึ่งหนึ่งมันก็มีปัญหาขึ้นมา

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ พูดถึงพระพุทธเจ้าบอกว่าอจินไตย ๔ มันเรื่องของกรรม ฉะนั้น พระพุทธเจ้าให้เชื่อเรื่องกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ในเมื่อมันทำมาแล้วมันก็เป็นกรรมทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นกรรมแล้ว นี่กรรมเก่า กรรมใหม่ ก็แก้กรรมกันนะ อู๋ย แก้จนขาวสะอาดเลย แก้จน แหม สะอาดบริสุทธิ์เลย สะอาดบริสุทธิ์มันก็เป็นกรรม มันจะเอาความสะอาดบริสุทธิ์มาจากไหน? นิพพานเป็นเมืองแก้ว ถ้าเมืองแก้วก็ถือผ้าคนละผืนเว้ยไปเช็ด เดี๋ยวแก้วกูจะหมอง

อ้าว นิพพานเป็นเมืองอะไร? อ้าว ถ้านิพพานเป็นเมืองแก้ว เตรียมสั่งผ้ามาได้เลย เดี๋ยวฝุ่นมันจับแก้ว นี่แล้วว่านิพพานเป็นความว่าง ความว่างเดี๋ยวมันก็ไม่ว่าง นิพพานมันก็คือนิพพานนั่นล่ะ แต่เวลาเป็นชุดความคิดของใครชุดความคิดของมัน พอเกิดชุดความคิดปั๊บสังคมก็ต้องเชื่อกันอย่างนั้น พอสังคมเชื่อกันอย่างนั้นนะ นี่เราจะบอกว่าปัญหานี้มันเป็นปัญหางูกินหาง

“กบเอ๊ย กบทำไมเธอถึงร้อง?”

“เพราะท้องมันปวด”

“อ้าว ท้องเอ๊ยทำไมถึงปวด?”

“ปวดก็เพราะกินข้าวดิบ”

“ข้าวเอ๊ยทำไมมันถึงดิบ?”

นี่ไงงูกินหาง เดี๋ยวก็กลับมาว่าทำไมฝนตก? ฝนตกเพราะกบมันร้อง (หัวเราะ) เดี๋ยวก็ฝนตก ฝนตกเพราะกบมันร้อง มันร้องเพราะอะไร? ร้องเพราะปวดท้อง ปวดท้องทำไม? ปวดท้องเพราะว่ากินข้าวดิบ มันก็วนกลับมาที่กบมันร้องนั่นแหละ ชุดความคิดมันไม่จบหรอก แล้วมันเป็นงูกินหางอยู่อย่างนี้ ถ้ามันเป็นงูกินหางอย่างนี้ เราจะบอกว่าชุดความคิดแบบนี้มันเป็นสูตรสำเร็จ แต่คำว่าน่าสงสารนี่เพราะว่าเรามีสติปัญญากัน เรามีสติปัญญาเราถึงมีความสังเวช มีความสงสาร แต่ถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริงนะ

คำว่าข้อเท็จจริง เห็นไหม นี่วุฒิภาวะ วุฒิภาวะของจิต จิตทำมาดี จิตทำมาไม่ดี ถ้าจิตทำมาดีนะ เขาก็มีสติ มีปัญญาของเขา แต่ส่วนใหญ่จิตเราอ่อนแอกัน พอจิตอ่อนแอ โทษนะ นี่บอกว่าศาสนาพุทธทำไมรังแกกัน? ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาพุทธทำไมฉ้อโกง? มันบอกว่าศาสนาพุทธๆ หมดเลยนะ มันไม่บอกว่าคนนะ มันบอกว่าศาสนาพุทธ แล้วศาสนาพุทธมันเกี่ยวอะไรกับเอ็งล่ะ?

ศาสนาคือตัวศาสนาใช่ไหม? สังคมคือสังคมใช่ไหม? ทีนี้สังคมเชื่อศาสนา สังคมทำตามศาสนาหรือเปล่าล่ะ? สังคมไม่ทำตามศาสนานี่ สังคมทำตามไสยศาสตร์ สังคมทำตามความเชื่อของตัว สังคมไม่ได้ทำตามศาสนา ถ้าสังคมทำตามศาสนานะ ศาสนาเขาสอนอย่างไรล่ะ? ศาสนาเขาสอนอย่างไร? ศาสนาเขาไม่ให้เชื่อ นี่เขาไม่ให้เชื่อ ให้เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่ชุดความคิด เห็นไหม พุทธพยากรณ์

เราไปที่ไหนเราก็เจอนะ เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนก็เจอ เขาจะพิมพ์ไว้ พิมพ์ไว้แล้วไปวางไว้ให้คนหยิบกัน นี่เดี๋ยวก็ไปวางไว้นั่นกองหนึ่ง เดี๋ยวก็ไปวางนั่นกองหนึ่ง พุทธพยากรณ์ โลกนี้จะแตกนะ น้ำจะท่วมโลกนะ โอ ปลาจะกินดาวนู่นน่ะ ก็ว่ากันไป เรื่องวิทยาศาสตร์นะ เวลาบิ๊กแบง เวลาเกิดหลุมดำ โดยจักรวาลการเกิดของโลก โลกมันก็มีชีวิตของมัน นี่วิทยาศาสตร์เขายังพิสูจน์ได้เลย ฉะนั้น วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้มันกี่ล้านๆๆ ปีล่ะ?

ทีนี้พระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เห็นไหม สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ คำว่าไม่พยากรณ์ถึงว่าโลกนี้เป็นอจินไตย โลกเป็นอจินไตยคือมันจะมีของมันอยู่อย่างนี้ นี่คำว่าอจินไตยมันคาดหมายไม่ได้เลย แล้วนี่ว่าอจินไตย ๔ เรื่องโลกพระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้แล้ว แต่มันก็ไปเอามาอีกนะ เอามานะ พุทธพยากรณ์นี่โลกจะแตกๆ

พระพุทธเจ้าก็พยากรณ์ไว้แล้วอจินไตย ๔ อจินไตย ๔ ก็คือโลกด้วย โลก กรรม พุทธวิสัย ฌาน อจินไตย ๔ นี่เป็นอจินไตย แล้วพยากรณ์ตรงไหน? พยากรณ์ตรงไหน? นี่พยากรณ์ นี่พูดถึงว่าบุญเก่า บุญใหม่ กรรมเก่า กรรมใหม่ เบิกบุญกัน เอาบุญเก่ามาเสริมบุญใหม่ ว่ากันไปนะ เราบอกว่ามันน่าสังเวช น่าสังเวช คำว่าน่าสังเวช น่าสังเวชที่ว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว เราทำตามหลักของเรา เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? เรามั่นคงของเรา

นี้เราเป็นชาวพุทธของเรา เราก็ไปเชื่อเรื่องอย่างนั้น พอไปเชื่อที่ว่าทำอย่างนั้นแล้วจะได้บุญอย่างนั้น ทำอย่างนั้นแล้วได้บุญอย่างนั้น แล้วเวลาเราดูเขา เห็นไหม ทรงเจ้าเข้าผี เราว่านั่นไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่พุทธศาสนา นี่เป็นศาสนาถือผี ถือผีเขาก็เชื่อกันนะ เขามีคนเชื่อ มีคนศรัทธาของเขา เขาก็ทำได้ แล้วเวลาว่าเราเป็นชาวพุทธๆ แล้วผู้นำทำอย่างนี้มันเป็นศาสนาผีไหมล่ะ? มันเป็นความจริงในพุทธศาสนาไหมล่ะ? แล้วถ้ามันบอกว่าพุทธศาสนา พุทธศาสนาแล้วพิสูจน์กันด้วยวิธีใดล่ะ? มันเป็นชุดความคิดของเขาใช่ไหม?

แต่ถ้ามันเป็นศาสนานะ เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ฆราวาสนี่อนุปุพพิกถาก่อน เรื่องของทาน เรื่องบุญกุศล เรื่องของเทวดา เรื่องของสวรรค์ เห็นไหม นี่เรื่องของวัฏฏะไง พอเรื่องของวัฏฏะแล้ว คำว่าเรื่องของวัฏฏะ เรื่องของเนกขัมมะ พอเนกขัมมะปั๊บ นี่อนุปุพพิกถาเสร็จแล้วนะ ถ้าจิตใจมันเห็นภาพแล้ว คือเราเห็นภาพไง เห็นภาพของการเกิดและการตาย เห็นภาพว่าจิตนี้ ถ้าทำบุญกุศลมันไปเกิดดี ไปเกิดบนสวรรค์ ถ้าเกิดบนสวรรค์มันก็เป็นอนิจจัง

แล้วถือเนกขัมมะ เนกขัมมะก็หมายถึงว่าเราออกบวช ออกประพฤติพรหมจรรย์ ฉะนั้น ถือเนกขัมมะ พอถือเนกขัมมะ เห็นไหม ก็เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาออกเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วเห็นสมณะ พอเห็นสมณะขึ้นมาก็อยากออกประพฤติปฏิบัติใช่ไหม?

อนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถานี่ทำบุญกุศล เห็นไหม ทำบุญกุศลแล้วมันได้สวรรค์ใช่ไหม? ได้สวรรค์แล้วเราก็ถือเนกขัมมะใช่ไหม? ถือเนกขัมมะก็เหมือนกับนักบวช นี่เห็นสมณะ พอเห็นสมณะแล้วจิตใจอ่อน จิตใจควรแก่การงาน การงานคืออะไร? การงานคือจิตใจนั้นมันจะเริ่มชำระล้างของใจดวงนั้น ก็ต้องเทศน์อริยสัจ เทศน์อริยสัจก็อย่างเช่นที่หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราเทศน์กันอยู่นี่ เทศน์อยู่นี่คือเทศน์อริยสัจ เห็นไหม เทศน์อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์เลย ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เพราะว่าพื้นฐานไง

พื้นฐาน ดูสิสังคมที่ว่าชุดของความคิด นี่เขาว่าทำบุญกุศลแล้วเป็นอย่างนั้น เอาเสริมบุญกัน เสริมเพื่อความมั่นคงๆ มั่นคงมันก็เป็นเรื่องโลกๆ ถ้าเรื่องโลก เห็นไหม เวลาเราศึกษาขึ้นมา อย่างเช่นปริยัตินี่ธรรมและวินัย พอธรรมวินัย วินัยธรธรรมกถึก วินัยธรธรรมกถึกเกี่ยวกับเรื่องวินัย เรื่องการปกครอง เรื่องการปกครองก็ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า

ทีนี้พอเรื่องธรรมกถึก ธรรมกถึกนี่พูดถึงเรื่องอริยสัจ เรื่องที่ปฏิบัติไปแล้วจิตมันสัมผัสอะไร? พอจิตสัมผัสอะไรขึ้นมามันไปอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม ทีนี้สิ่งที่ว่าชุดของความคิด ที่เขาบอกว่าเรื่องพุทธพยากรณ์มันก็เป็นเหมือนกับตำราที่ให้เราศึกษา ถ้าเราศึกษาขึ้นไปมันก็เป็นปริยัติ ถ้าเป็นปริยัติขึ้นมามันก็หมุนไปกับโลก โลกมันก็หมุนกันอยู่อย่างนั้นแหละ

ถ้ามันหมุนกันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้ามาปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบไม่ได้ ถ้าจิตสงบไม่ได้ โลกุตตรปัญญามันก็ไม่เกิด ถ้าโลกุตตรปัญญาไม่เกิดมันก็ไม่เข้าใจสิ่งใดเลย แต่ถ้าโลกุตตรปัญญามันเกิดนะ สิ่งที่เขาบอกกันนั่นน่ะมันเรื่องโลก คำว่าเรื่องโลกๆๆ เรื่องโลกคือความเป็นไปของเรานี่ไง

ความเป็นไปของเรา เห็นไหม ความเป็นไปของเรา ถ้าเรายังหมุนวนกันอยู่อย่างนี้นะ

“กบเอ๊ยทำไมจึงร้อง?”

“เพราะท้องมันปวด”

สรุปก็คือว่าเพราะฝนมันตก ฝนมันตกเพราะกบมันร้อง เรื่องโลกเป็นเรื่องของวัฏฏะ มันจบที่ไหนล่ะ? มันไม่จบหรอก เพียงแต่เราบอกว่าวุฒิภาวะ หมายความว่าสังคมเวลาเกิด เวลาตายมันมีความรู้สึกนึกคิดของคนมันมีเยอะมาก นี่จริตนิสัย ความแตกต่าง ฉะนั้น เวลาพูดถึงอริยสัจมันมีหนึ่งเดียว แต่วิธีการที่มา

หลวงตาท่านพูดบอกว่า สมัยที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านยังมีอยู่ เห็นไหม หลักการอันเดียวกัน คืออริยสัจอันเดียวกัน ฉะนั้น อริยสัจอันเดียวกัน มันไม่แตกต่างกันมากหรอก แต่จริตนิสัย โดยความถนัดของคนนี่มีบ้าง แต่โดยหลักมันไม่เสียหาย คือโดยหลักมันไม่ผิดไง

ครูบาอาจารย์ทุกองค์ก็สอนขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา จะด้วยความถนัดของครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ แต่ส่วนใหญ่แล้วบอกพุทโธ พุทโธนะ พุทโธลมหายใจเข้าออกนะ พุทโธเฉยๆ นะ พุทโธเร็วๆ นะ บอกว่าปัญญาอบรมสมาธินะ บางองค์ก็อานาปานสตินะ เห็นไหม นี่การกระทำโดยหลักเพื่อความสงบของใจเหมือนกัน พอใจมันสงบแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมา มันเกิดปัญญา หรือครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้อยู่แล้ว ท่านจะบอกว่าถ้าพิจารณาอย่างนี้มันจะเป็นอย่างนี้

เหมือนเราเลย เดินทางมานี่ ใครขับรถมาจากบ้าน เห็นไหม มันจะผ่านระยะทางมา จะรู้เลยว่าระยะทางมันมาเท่าไร? แล้วถ้าเรามาสายทางเดียวกัน คนเดินทางไป นี่เขาจะรู้กำหนดได้เลยว่ามาถึงวัดนี้ใช้ระยะทางเท่าไร?

การปฏิบัติก็เหมือนกัน พอจิตสงบแล้วมันจะเกิดปัญญาอย่างไร? แล้วถ้าจิตมันสงบใช่ไหม? พอสงบแล้วนะ ถ้าเขาเกิดเขารู้ เขาเห็นของเขา นั่นก็เรื่องของเขา แต่มันยังไม่ถึงที่สุด มันยังไม่ถึงที่สุดหมายความว่าจิตมันมีอาการอย่างนั้น จิตมันเป็นอย่างนั้น แต่เขาต้องทำพื้นฐานให้มั่นคงขึ้นมา แล้วเขาจะพัฒนามา นี่ครูบาอาจารย์คอยชี้ คอยนำเข้ามา ถ้าชี้นำเข้ามาแล้ว เรื่องบุญเก่า บุญใหม่มันก็จะวางไว้แหละ เรื่องโลกก็คือเรื่องโลกนะ นี้เราติด เห็นไหม

นี่ถ้าครูบาอาจารย์บอกว่า “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ถ้ามรรคหยาบๆ นี่เรื่องของกรรมมันเป็นเรื่องของกรรม มันเรื่องของศาสนาไหม? ใช่ ถ้าเรื่องของกรรมนะ ถ้าเรายังย่ำอยู่กับที่อยู่อย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องโลกๆ อยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราพัฒนาของเราขึ้นไป เห็นไหม แม้แต่เราอนุโมทนา เช้าขึ้นมาเราจะประพฤติปฏิบัติของเรานะ เราไม่มีเวลา เราทำไม่ได้ เราอนุโมทนาไปกับเขา แม้แต่อนุโมทนาไปกับเขามันก็เป็นอนุโมทนาบุญ บุญที่เกิดจากการเห็นร่วม การดีใจกับเขา

อนุโมทนาทาน เห็นไหม การเสียสละทาน นี่ทานมันเสียสละได้มหาศาลเลย นี่อย่างนี้ได้บุญหรือเปล่าล่ะ? เพราะถ้าเราอนุโมทนาไปกับเขา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราทำความดีของเรา ดูสิอย่างที่เขาเกิดน้ำท่วม เขาบอกเลยนะน้ำท่วมหรือจะสู้น้ำใจคน นี่อนุโมทนาคือความรู้สึก คือหัวใจ ถ้าใจมันอนุโมทนา ใจมันระลึกดี ใจมันทำคุณงามความดี มันทำคุณงามความดีมันดีที่นี่ แล้วถ้ามันสงบมันสงบที่นี่นะ

ไอ้ที่ว่าของเก่า ของใหม่มันเรื่องโลกๆ แล้ว เรื่องข้างนอกแล้ว ถ้าเรื่องข้างนอกเราก็วางของเราไว้ เราวางของเราไว้ แต่! แต่ถ้าวุฒิภาวะมันอ่อนด้อย เวลาเขาพูดสิ่งใดก็เชื่อไปกับเขา แล้วทำไปนี่มันเป็นกระแสสังคมใช่ไหม? กระแสสังคมเขาชักนำกันไป พอชักนำกันไปมันก็เหมือนกับที่ว่าอุปาทานหมู่ ถ้าอุปาทานคนเดียวมันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ถ้าอุปาทานหมู่ หมู่ไปกันหมดเลยนะ มันก็ไปตามกันหมด

ฉะนั้น สิ่งนี้ ถ้าความคิดเขาเป็นแบบนี้ แล้วมันเป็นสูตรสำเร็จ เดี๋ยวนี้เป็นสูตรสำเร็จหมดเลย อะไรก็เป็นสูตรสำเร็จ เช่นการปฏิบัติก็เหมือนกัน จะทำอย่างนั้น ทำอย่างนั้นแล้วจะเป็นอย่างนั้น เป็นสูตรสำเร็จไปเลย พอสูตรสำเร็จขึ้นมา ทำครบสูตรแล้วได้อะไร? ได้งงนะ ปฏิบัติเต็มไปหมดเลย ทำทุกอย่างไปหมดเลย แล้วอย่างไรต่อล่ะ? แล้วอย่างไรต่อ? งงนะ

อ้าว ชุดความคิดมันทำครบแล้ว อ้าว เป็นรูปแบบหมดเลย นี่เพราะอะไรล่ะ? เพราะว่ามีการศึกษาใช่ไหม? เป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? นี่เวลาปฏิบัติใช่ไหม? จิตสงบพิจารณากายสิ เราได้ยินบ่อยมาก จิตสงบแล้วพิจารณากายสิ แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?

การพิจารณากายนะ เหมือนกับเราทำอาหาร นี่เราทำอาหาร ดูสิเราปิ้ง ย่างอะไรก็แล้วแต่ เราจะกลับอย่างไรล่ะ? พอเวลามันโดนความร้อนเข้าไป เห็นไหม มันจะสุก มันมีกลิ่น มันรู้ของมัน มันจะสุก มันจะได้ที่ หรือเราจะต้องการเท่านี้ นี่แล้วถ้าเป็นชุดของความคิดมันก็บอกว่านี่ไงก็เอาขึ้นสิ เวลาย่างก็ย่างสิ เวลาพลิกก็พลิกสิ แล้วพลิกอย่างไรล่ะ? ทำอย่างไร?

แต่ถ้าคนมันทำมันรู้ คนมันทำ มันรู้มันเห็นของมัน นี่บางทีเราพลิกแพลงได้ อ้าว เดี๋ยวไฟมันอ่อน เดี๋ยวไฟมันแรงล่ะ? แล้วเดี๋ยวถ้าไฟมันแรง ๕ นาทีมันไหม้แล้ว แล้วบอกว่าต้อง ๕ นาทีนะ ๕ นาทีแล้วจะให้พลิก ๕ นาทีมันก็ลุกเป็นไฟไปแล้ว ๕ นาทีอย่างไรล่ะ? นี่ไงถ้าชุดความคิดมันเป็นชุดความคิด มันบอกเป็นสูตรสำเร็จ แต่เวลาทำขึ้นมามันมีรายละเอียดนะ มันมีโอ้โฮ อีกเยอะเลย ฉะนั้น ถ้าทำแล้วมันจะเข้าใจ

ทีนี้พอเป็นชุดความคิด พอจิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ พอพิจารณากายแล้วเป็นอย่างไรล่ะ? พิจารณากายแล้ว อ้าว พิจารณากายแล้วก็ผ่านกายไง แล้วผ่านกายแล้วทำอย่างไรต่อล่ะ? อ้าวผ่านกายแล้วก็เป็นโสดาบันไง อ้าว แล้วโสดาบันยังงงขนาดนี้ล่ะ? อ้าว ก็งงอย่างนี้แหละเป็นโสดาบัน ถ้ารู้มันไม่เป็นโสดาบันหรอก เพราะรู้เป็นโลก ต้องงงๆ อย่างนี้เป็นพระโสดาบัน เออ ชุดความคิดมันสำเร็จมา แล้วมันทำอะไรกัน?

นี่เพราะเรายึดกันว่ามันต้องเป็นทางวิชาการ เราปฏิบัติมันต้องมีวิชาการ มันต้องชัดเจน มันต้องเป็นปัญญา คนที่ไม่มีปัญญาปฏิบัติไม่ได้ มันเป็นโลกุตตรปัญญานะ มันเป็นปัญญาเหนือโลก ปัญญาที่มันถอดมันถอนนะ ถ้าปัญญาอย่างนั้น นี่แล้วครูบาอาจารย์แต่ละองค์ เวลาเทศน์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์เมื่อก่อนเวลาเทศน์มันสรุปแล้วลงที่เดียวกันหมดเลย ถ้าลงที่เดียวกันอันนั้นน่ะเหมือนกัน แต่พอชุดท้ายๆ ชุดหลังๆ มันจะเริ่มมีครูบาอาจารย์ที่เริ่มแหวกแนวไง

บอกว่าไม่ต้องทำความสงบเลย ใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาจะเป็นอย่างนั้น มีแหวกแนวมาหลายองค์ พอแหวกแนวมีคนไปถามหลวงตา พอไปถามหลวงตา ธรรมดานี่ อย่างว่าแหละมันสะเทือนในหมู่คณะท่านก็ไม่ค่อยพูดหรอก แต่เวลาท่านบอก เขาจะอ้างว่า

“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธรรมจักรฯ ไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ ฉะนั้น ปัญจวัคคีย์ไม่ได้ทำสมาธิทำไมเป็นพระอรหันต์ได้?”

นี่เวลาชุดความคิดของเขาสำเร็จมาแล้ว พอชุดความคิดเขาสำเร็จมาแล้ว เขาก็จะหาอ้างอิงให้สมกับความคิดเขา นี้หลวงตาท่านก็บอกว่า

“ปัญจวัคคีย์เขาไม่ต้องทำสมาธิเพราะเขามีสมาธิอยู่แล้ว”

เขามีสมาธิเพราะเขาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี คือเขาทำสมาธิมา ๖ ปี พร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ แล้วปฏิบัติมาด้วย เขาก็ทำสมาธิมาพร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละ

ฉะนั้น คนที่มีสมาธิด้วยกัน ทำไมต้องไปสอนสมาธิเขาอีกใช่ไหม? เรามาด้วยกัน กินอิ่มหนำสำราญมาแล้วบอกว่ากินข้าวๆ จะบ้า ก็กินมาด้วยกัน แล้วจะมากินข้าวอะไรอีก? นี่เขาบอกว่าทำไมเขาไม่ต้องทำสมาธิ ทำไมเขาใช้ปัญญาไปเลย ทำไมเขาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้? ใช่ เขาสำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะเขามีสมาธิอยู่แล้ว เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรู้ของท่านอยู่แล้ว ท่านก็สอนเรื่องปัญญาไปเลย

แต่เวลาอนุปุพพิกถา เห็นไหม เริ่มตั้งแต่ทานเลย ให้เสียสละทานก่อน เสียสละทานแล้ว หลักการมั่นคงแล้วก็จะได้บุญกุศล ก็จะไปเกิดเป็นเทวดา พอเกิดเป็นเทวดาก็จะมาตายอีกนะ ตายจากเทวดาแล้วมาเกิดอีกนะ ไปเป็นเทวดาเราก็ถือเนกขัมมะของเรา นี่เพราะยังไม่ไปเกิดเป็นเทวดาใช่ไหมก็ถือเนกขัมมะ เนกขัมมะก็ถือบวช ถือบวชก็เป็นสมณะ สมณะแล้วเทศน์ธรรมจักรฯ

นี่ไงมันอยู่ที่บุคคล อยู่ที่กาละ อยู่ที่เทศะ อยู่ที่บุคคลคนไหนเขาทำอย่างไร เขาคิดอย่างไร แล้วจะแก้ไขเขาเป็นขั้นเป็นตอน ถึงไม่ใช่ชุดความคิดไง ไม่ใช่ชุดความคิด มันเป็นประสบการณ์ มันเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงขึ้นมาไง ทีนี้พอครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมขึ้นมา ท่านก็ไปถึงอริยสัจอันเดียวกัน แต่เวลาพวกแหวกแนวขึ้นมานี่ เห็นไหม ไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องใช้สมถะ ไม่ต้องใช้

มันเป็นไปไม่ได้เลย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมรรค ๘ มันมีสัมมาสมาธิ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มันมีพร้อมในมรรค ๘ แล้วไปบอกไงบอกว่าไม่ต้องทำ มันเป็นไปได้อย่างไร? ในเมื่อมรรคมันมรรค ๘ แล้วบอกมรรค ๗ นะ สมาธิก็ไม่ต้อง สติต่อไปก็ไม่ต้องเหลือมรรค ๖ นะ แล้วเดี๋ยวไม่มีมรรคอะไรเลย มีอันเดียวคือปัญญาล้วนๆ เลยนะ เป็นดำริชอบอย่างเดียว เป็นปัญญาอย่างเดียว แล้วไอ้มรรคอีก ๗ นั้นไม่ต้อง พอไม่ต้องนี่มันเป็นไปได้อย่างไรล่ะ? เพราะอะไร? เพราะมันมรรคสามัคคีไง ถ้ามรรคไม่สามัคคีมันจะเป็นไปได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นเลย

นี่ความคิดใครมันคิดโดยเฉพาะ แล้วมันก็ไปเอาชุดความคิดของเขามา พอเอาชุดความคิดมานะ ลองได้ขยายความไปเถอะ ลองได้ขยายความเปรียบเทียบกับธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า นี่มันขัดกันไปหมดเลยล่ะ แต่ถ้าเป็นความจริงนะธรรมก็คือธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ที่ ๔ พระศรีอริยเมตไตรยเป็นองค์ที่ ๕ อนาคตวงศ์พระพุทธเจ้าอีกเป็นสิบๆ องค์ แล้วตรัสรู้ขึ้นมาเป็นอันเดียวกัน มันจะไปขัดแย้งกันได้อย่างไร?

ฉะนั้น ผู้ที่รู้จริงมันจะไม่ขัดแย้งเลย มันจะเป็นไปทางเดียวกัน นี่เราไปศึกษาอะไรมา ครูบาอาจารย์องค์ไหนพูดอะไรขึ้นมา แล้วมาเทียบเลย เทียบเลย ถ้ามันขัด มันแย้งกัน มันต้องมีการผิดแน่นอน ธรรมของพระพุทธเจ้าจะไม่มีขัดแย้ง พระพุทธเจ้าพูดอยู่ในพระไตรปิฎกบ่อยมาก

“ธรรมของเรามันจะไหลลื่นไปเลย”

ทาน ศีล ภาวนามันจะไปเป็นชั้น จะไม่มีสิ่งใดขัดแย้งกับสิ่งใดเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เทศนาว่าการเสียเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นคนวางไว้เอง มันจะมาขัดแย้งกันอย่างไร? มันมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นแหละ มีมรรคหยาบ มรรคละเอียด มันมีเรื่องสเต็ปตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคา อนาคา มันละเอียด หยาบแตกต่างกันเท่านั้นเอง แล้วแตกต่างหมายถึงว่าขั้นตอนของมัน แล้วพอมันไปแล้วมันส่งกัน เหมือนกันหมดเลย มันไปถึงที่สุดได้เลย นั่นถึงว่ามันเป็นความจริง

แหม วันนี้พูดเยอะนะ เพราะให้เห็นว่าถ้าเป็นสูตรสำเร็จ เป็นชุดความคิดมา แล้วเรานี่เราบอกว่าเป็นพุทธพยากรณ์ต่างๆ เราก็ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแย้งนะ เราไม่ได้คิดโต้แย้งด้วยการเหยียดหยาม ด้วยอะไร เราคิดโต้แย้งเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ นี่ไม่เป็นบาปหรอก ถ้าสิ่งใดเราทำเพื่อจาบจ้วง ทำเพื่อความเสียหาย ขึ้นต้นด้วยอกุศลมันก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? เราอยากประพฤติปฏิบัติใช่ไหม? เราอยากได้ความจริงใช่ไหม? เราจะคิดด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ คิดด้วยความถูกต้องนี่ไม่บาปหรอก

ฉะนั้น ว่าถ้าเป็นพุทธพยากรณ์ พุทธพยากรณ์มาจากไหน? มาจากพระไตรปิฎกหน้าไหน? มาจากพระไตรปิฎกหน้านั้น ท่านพูดเรื่องอะไร? ท่านพูดกับใคร? ท่านพูดโดยปรารถนาอะไร? เพราะพระพุทธเจ้าเวลาพูดจบแล้วจะมีอยู่ข้างหลัง พูดเพื่ออะไร? พูดทำไม? ท่านพูดบ่อยในนั้นมี

ฉะนั้น ชุดความคิดมันเฉพาะ แล้วมันกลมกลืนกับธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไปไม่ได้ เราไม่ต้องไปเชื่อแล้วเราวางไว้ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ แล้วเราเอาความจริง เอาความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความจริง เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ไม่มีกำมือในเรา พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้”

ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำกันมันเป็นเรื่องของคนที่จิตใจอ่อนแอ จิตใจอ่อนแอแล้วเห็นกระแส แล้วติดกระแสสังคม แล้วพอเห็นว่าเป็นเรื่องของพุทธศาสนา มันมีมากนะ มันมีอยู่อันหนึ่งที่เขามาเผยแผ่ในเมืองไทยเมื่อก่อนนั้นน่ะ แล้วเขาเผยแผ่ไปแล้วมันไม่เวิร์คเขาก็หยุดไป

สุดท้ายแล้วเขาไปจ้างมหาที่สึกไปแล้วไง จ้างมหาที่สึกไปแล้วมาเป็นที่ปรึกษา พอมหาเป็นที่ปรึกษานะ เขาบอกว่าถ้าจะมาเผยแผ่ในเมืองไทยต้องอิงพุทธศาสนา ฉะนั้น ลัทธิที่เขามาเผยแผ่ก็เลยเอาพระพุทธรูปไปตั้งไว้ บอกว่านี้เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา เท่านั้นแหละดังเป็นพลุแตกเลย เดี๋ยวหลังไมค์จะเล่าให้ฟัง

ทีแรกนะเขามาเผยแผ่แล้วมันไปไม่รอด สุดท้ายไปจ้างพวกมหาที่สึกเป็นฆราวาสมาเป็นที่ปรึกษา เขาบอกถ้าจะมาเผยแผ่ในเมืองไทยต้องอิงพุทธศาสนา อิงพุทธะ อิงพระพุทธเจ้าไว้ แล้วสุดท้ายแล้ว ทีนี้เขาก็เลยเอาพระพุทธรูปมาตั้งไว้ว่าเป็นพุทธศาสนาเหมือนกัน โอ้โฮ ดังเป็นพลุแตก ดังไปมาก

ข้อ ๗๐๘. (หัวเราะ) เปลี่ยนเรื่องแล้ว

ถาม : ๗๐๘. เรื่อง “สอบถามว่าเพี้ยนไปหรือเปล่าคะ?”

กราบนมัสการหลวงพ่อ กราบเรียนท่านอาจารย์ว่าทำไมรู้สึกเบื่อหน่ายมากคะ ทุกวันนี้กำหนดอารมณ์แทบทุกวินาทีเลย เห็นอะไรมันก็เป็นขันธ์ ๕ ไปหมด รู้ได้จากหัวใจค่ะ รู้ว่าสิ่งที่ทำ มันทำไปเพราะต้องทำ ไม่เกี่ยวกับจิตเลย กายทำก็ทำไป จิตก็อยู่ส่วนจิตไป

บางทีเดินอยู่เหมือนเดินตัวเปล่าๆ ลอยๆ ขึ้นมา รู้ว่าแค่เดินอยู่ ไม่มีอะไรเลย งงเหมือนกัน ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย แต่มีสติรู้ว่าทำอะไรอยู่นะคะ แต่บางทีก็มีอารมณ์เหมือนที่จิตกับกายทำงานกันแบบเดิมๆ บางทีก็รู้ว่าเบื่อเพราะไม่ได้อย่างใจ แต่ไม่บ่อย แต่ที่เบื่อมากก็เพราะว่ามันเป็นขันธ์ ๕ ค่ะ

ถ้าถามว่าทำไมรู้ว่ามองอะไรเป็นขันธ์ ๕ เพราะเคยนั่งสมาธิเห็นตัวเองเป็นกระดูก พอเห็นปั๊บ ถัดมาก็ปิ๊งขึ้นมาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือเป็นวงจรค่ะ เหมือนวงจรของผีเสื้อที่ออกไข่เป็นหนอนดักแด้ แล้วก็เป็นผีเสื้อ รู้สึกได้มาจากข้างในจากหัวใจเลยค่ะ หรือว่าเพี้ยนไปหรือเปล่าคะ?

หลวงพ่อ : นี่เวลาเขาเข้าใจเขาคิดว่าเขาเพี้ยนไป คำว่าเพี้ยนหรือไม่เพี้ยนนี่นะ เราจะพูดอย่างนี้ ถ้าเห็นเป็นขันธ์ ๕ คำว่าเห็นเป็นขันธ์ ๕ มันก็ผ่านไปแล้ว นี่สิ่งที่ผ่านไปแล้วนะ ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาวันนี้เรากินข้าวอิ่มแล้ว แล้วพรุ่งนี้เราจะทำอย่างไรต่อไป?

ฉะนั้น ในปัจจุบันธรรมใช่ไหม? เช่นถ้าจิตเราสงบแล้ว เราเคยนั่งสมาธิจนเห็นเป็นกระดูก แล้วมันมีความรู้สึกว่ามันเป็นขันธ์ ๕ คือว่ากายนี่มันแยกออกจากกัน เราเข้าใจ พอมันแยกออกจากกันแล้วมันก็เป็นขณะนั้น คำว่าเป็นขณะนั้นมันก็ซับมาอยู่กับใจ ซับมาอยู่กับใจนะ อย่างเช่นเราเคยนั่งสมาธิใช่ไหม? พอจิตเราเป็นสมาธิขึ้นมา นี่ความเป็นสมาธิกับจิตมันเป็นอันเดียวกัน เรียกว่า “ปัจจัตตัง”

พอปัจจัตตัง เวลาเราคิดถึงสมาธิของเรา เราจะมีความสุขของเราว่าสมาธิเป็นอย่างนี้ ความสุขเป็นอย่างนี้ ความระงับเป็นอย่างนี้ แต่เวลามันฟุ้งซ่านมันก็ทุกข์ ทีนี้นี่พูดถึงสมาธิ แต่นี่พูดถึงขันธ์ ๕ ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นขันธ์ ๕ มันก็เป็นอดีตไปแล้ว เป็นขันธ์ ๕ มันก็เป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ ใช่ไหม? นี่สิ่งที่ว่าเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายไปเบื่ออะไร? เบื่อหน่ายแล้วเบื่ออะไร?

ถ้ามันเป็นขันธ์ ๕ ถ้าจิตมันสงบแล้วพิจารณากระดูก แล้วมันเห็นเป็นขันธ์ ๕ แล้ว ขันธ์ ๕ ก็คือขันธ์ ๕ ทีนี้พอมันมีปัญญาขึ้นมา นี่ปัญญามันอยู่กับเราใช่ไหม? เวลาเราก้าวเดินไปไหน มันแบบว่าถ้าปฏิบัติใหม่ๆ ปฏิบัติใหม่มันปล่อยวางใหม่ ปล่อยขันธ์ ๕ ใหม่ๆ เวลามันอยู่ ๒-๓ วันมันรู้อารมณ์อย่างนี้ แต่ถ้ามันหลายวันเข้าๆ อารมณ์อย่างนี้มันไม่เกิดกับเราแล้ว อารมณ์อย่างนี้มันเป็นสัญญาไง มันเป็นสัญญาสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เรารู้ นี่พอมันเป็นอดีต อนาคต สิ่งที่เรารู้ก็คือความจำ มันไม่เป็นความจริงที่เกิดในปัจจุบัน

ทีนี้พอเกิดในปัจจุบัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เดินจงกรมอยู่ ยังภาวนาอยู่ เวลาภาวนาขึ้นมามันก็เป็นปัจจุบัน สู้กันขณะนั้น แต่เวลาเราออกจากภาวนามาแล้ว เห็นไหม เวลาเราออกจากภาวนามันก็ดำรงชีวิตประจำวันนี่แหละ ดำรงชีวิตประจำวันเราก็ใช้ชีวิตประจำวันของเราไป ก็ทำตามความเป็นจริงอย่างนี้

ถ้าทำความเป็นจริงอย่างนี้ ความเบื่อหน่าย ถ้ามันเบื่อหน่ายนะ เราจะบอกว่าธรรมะนี่นะ ถ้าเรามีสติปัญญามันเป็นธรรมะ ธรรมะนี่ถ้ากิเลสเอาไปใช้มันก็อ้างธรรมะเหมือนกันนะ เวลากิเลสเอาไปใช้มันก็อ้างธรรมะ บอกอันนี้เป็นธรรมนะ อันนี้เป็นขันธ์ ๕ นะ อันนี้เบื่อหน่ายนะ นี่ดูนะในสมัยพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลมีพระนะ เวลาพระภาวนาไป เห็นไหม ในปาราชิก ๔ การฆ่าคนตาย แม้แต่ฆ่าตัวตายก็เป็นปาราชิก

ฉะนั้น เวลาพระในสมัยพุทธกาล พระเวลาภาวนาไปแล้วเห็นเป็นอสุภะ เห็นเป็นอสุภะมากเลย แล้วสุดท้ายนะก็ไปจ้างให้พวกช่างตัดผมเชือดคอ เชือดคอแล้วให้เอาบริขารเป็นค่าจ้าง นี่มันมีอยู่คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าเข้าหลีกเร้น บอกพระอานนท์ว่า

“เราจะเข้าหลีกเร้นนะ ห้ามใครเข้ามาหาเรา”

พอห้ามใครเข้ามาหาเรา เพราะพระพุทธเจ้ารู้อนาคตว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นไง ฉะนั้น พระก็มาปฏิบัติกัน พอปฏิบัติกัน นี่เห็นเป็นอสุภะ เห็นเป็นความน่ารังเกียจ พอน่ารังเกียจก็ฆ่าตัวตาย บางองค์ก็ไปหาช่างกัลบก ให้เขาเอามีดเชือดคอตาย แล้วก็ให้บริขารเขา ทีนี้พอพระพุทธเจ้าออกมาจากหลีกเร้น เอ๊ะ พระทำไมมันพร่องๆ ไป ถามพระอานนท์ พระอานนท์บอก โอ้โฮ พระฆ่าตัวตายเยอะเลย

ฉะนั้น พอพระฆ่าตัวตาย พระพุทธเจ้าก็เอาเหตุนั้นเป็นเหตุไง เอาเหตุนั้นเป็นเหตุ นี่ไงประชุมสงฆ์ ประชุมสงฆ์ว่าเหตุที่เขาทำอย่างนั้น แล้วก็ถามว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น นี่เขาทำกรรมอะไรมาถึงเป็นอย่างนั้น เขาทำกรรมมา นี่ถ้าจำไม่ผิดนะว่าหมู่บ้านๆ นั้นเขาเคยเป็นชาวประมง หรือเขาทำอะไรกันมานี่แหละ คือว่าเรื่องกรรมของเขา สุดท้ายแล้วเวลาภาวนาไปมันเกิดความรังเกียจ เกิดความรังเกียจก็เชือดคอๆๆ

นี้พูดถึงเวลามันเกิดนะ ตั้งแต่นั้น พอเหตุนั้นเกิดขึ้นมาพระพุทธเจ้าเลยบัญญัติไง ห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามหมดเลย การปาราชิก ๔ ฆ่าเขา ฆ่าเรา นี่ห้ามหมดๆ ฉะนั้น อันนั้นเป็นเรื่องกรรม นี้เราจะบอกว่าการภาวนา เหตุการณ์อย่างนี้มีอยู่ในสมัยพุทธกาล ถ้าเหตุครั้งพุทธกาล พูดถึงว่าเวลาเขารังเกียจตัวเองไง มันรังเกียจจนทนไม่ไหว จนทำลายตัวเอง อันนั้นเพราะมันมีเวรมีกรรม แต่อันของเรานี่ถ้ามันเป็นแบบนั้น

แน่ะ ถ้ามันเป็นแบบนั้น เห็นไหม นี่มันเบื่อหน่าย มันเบื่ออารมณ์ เบื่อความรู้สึกนึกคิด มันเบื่อไปหมดเลย เบื่อชีวิตหมดเลย ถ้ากิเลสมันเอามาใช้ เหมือนกับพระพวกนั้นที่ว่ากิเลสเอามาใช้ กรรมของเขาเป็นกรรมของเขาอันหนึ่งนะ แต่เวลากิเลสเอามาใช้ มารมันดลใจนะ มารมันดลใจ พอเบื่อหน่าย คนเบื่อหน่าย คำว่ามารดลใจมันก็ให้เราคิดไปทางนั้น คิดไปทางว่าพอเบื่อหน่ายแล้วก็ทำลายมันซะ พอมันเบื่อหน่าย

ในสมัยปัจจุบัน เมื่อหลายปีที่แล้วมันมีลัทธิหนึ่งบอกว่า “โลกนี้มีเพราะมีเรา” ฉะนั้น ถ้าไม่มีเราโลกนี้ก็เป็นพระอรหันต์ไง ก็ฆ่าตัวตายกัน แล้วสุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าไม่ให้ฆ่าตัวตาย พระพุทธเจ้าให้ฆ่ากิเลส การฆ่ากิเลสคือฆ่าตัณหาความทะยานอยาก ไม่ใช่ฆ่าชีวิต ไม่ใช่ฆ่าชีวิต ฆ่ากิเลส ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลามารดลใจ มันดลใจให้พระพวกนั้นคิดออกไปทางนั้น

ฉะนั้น เวลาเราเบื่อหน่าย เห็นไหม เวลากิเลสมันดลใจ (หัวเราะ) อันนี้กิเลสมันดลใจ ดลใจให้เบื่อหน่าย ทั้งๆ ที่เราปฏิบัติ ทีนี้พอเขาถามมาว่า “มันเพี้ยนไปหรือเปล่า?” ถ้ามันไม่เพี้ยนนะเรากลับมาทำความสงบของใจ เรากลับมาทำความสงบนะ แล้วเราตรวจสอบเอง ตรวจสอบว่าเวลาเราเห็นเป็นขันธ์ ๕ เราก็รู้เท่า เราก็เห็นโทษของมัน แต่ในปัจจุบันนี้กิเลสมันก็เอาสิ่งที่เป็นสัญญา มันเอาสิ่งนี้มาเป็นฉากบัง แล้วก็ทำให้เราสับสน

เวลาภาวนาไป ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะคอยชี้ คอยแนะ คอยเตือน คอยบอก แต่ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์นะ แล้วเราก็บอกว่านี่ก็ภาวนานะ นี่ก็เห็นขันธ์ ๕ นะ นี่ก็เบื่อหน่ายนะ นี่ก็ทุกข์นะ อ้าว ก็เลยกลายเป็นว่าการภาวนาไปนี่มีแต่ความทุกข์ ความยากทั้งนั้นเลย ทำมาขนาดนี้แล้วยังมาทุกข์อีก แล้วพอทำไปแล้ว นี่เวลาไปเห็นเป็นขันธ์ ๕ น่าเบื่อ แล้วเดินไปมันมีแต่ความทุกข์ ความยาก มีแต่ความงุนงง มีแต่ความสงสัย

ความงุนงง ความสงสัย เพราะว่านี่มันเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสคืออวิชชา คือความไม่รู้จริง พอความไม่รู้จริงมันก็สงสัยอยู่แล้ว พอความสงสัยขึ้นมามันก็คิดซ้อนๆ คิดซ้อนเข้าไป เราวางสิ เราวางสิ่งนี้เลย ถ้าเราเคยนั่งภาวนาจนเห็นกระดูก เห็นร่างกายนี้เป็นกระดูกหมด เราเห็นแล้วมันก็สังเวช สังเวชแล้วมันก็วาง ฉะนั้น วางแล้วนี่เราก็ต้องทำซ้ำอีกให้เห็นความถนัด วันนี้เราได้ย่างเนื้อ เราได้ทำอาหาร พรุ่งนี้เราทำอีกก็ชำนาญขึ้น ชำนาญขึ้นก็ทำได้คล่องแคล่วขึ้น ทำได้ดีขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเคยเห็นกระดูกมาแล้วเราก็ภาวนาอีก ถ้ามันจะเห็นก็เห็นอีก ถ้าไม่เห็นมันก็เห็นในรูปแบบอื่น เราก็ทำของเราให้จริงให้จัง ถ้าไม่จริง ถ้ามันทำแล้วมันทุกข์ยากนักเราก็แค่ทำความสงบของใจ พักใจ ทำงานเหนื่อยล้านักเราก็มาพักผ่อน พักในสมาธิ พอเราพักในสมาธิ จิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์แล้วเราก็ใช้ปัญญาในการวิปัสสนา พอวิปัสสนาแล้ว พอมันเหนื่อยอ่อนเราก็กลับมาพักในสมาธิ พอพักในสมาธิจนสดชื่น เข้มแข็ง มีกำลังใจเราก็ไปวิปัสสนา มันก็ทำไป นี่มันเป็นผลงานของเรา

“เราจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร”

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของคน ความเป็นจริงขึ้นมานี่ มันก็กลับมาถอด มาถอน ตัวมันจะเบา มันจะลอยอย่างไร? เบาโดยมีสติปัญญานะ เพราะว่าเบาโดยมันถอดถอนกิเลส กิเลสมันเบาลงเราก็เบาไปด้วย แต่ถ้ามันเบาโดยไม่มีหลักการ เบาโดยว่าวเชือกขาด เบาโดยเครื่องบินเครื่องดับ เครื่องบินไปอยู่บนที่สูงเลยนะ แล้วเครื่องดับหมดเลยนะ เบาร่อนไปเลยนะ มันจะเอาหัวปักโลกไง นี่ถ้ามันจะเบาอย่างไรเราก็มีสติ เราก็รับรู้ของเรา เราแก้ไขอย่างนี้ไง

นี่ที่เราพูดมันเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งเขาว่าเพี้ยนไป ถ้าคนภาวนาแล้ว ถ้ากิเลสมันหลอกมันก็บอกว่ามันจะเพี้ยนไป แต่ถ้าจิตไม่ปกติ มันรู้ มันเห็นของมันไปโดยสัญญาอารมณ์ อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง คือเห็นโดยโลกไง เห็นโดยโลก พอเห็นไป เห็นเหมือนนิมิต เห็นเหมือนเรารู้ แต่ความจริงมันไม่ใช่ อันนั้นจิตไม่ปกติเราก็ต้องดูแล เพราะนี่มันเป็นคำถามโดยกระดาษ มันไม่มีคนให้ตรวจสอบว่าคนถามทำมาเป็นแบบใด มันแค่กระดาษแผ่นหนึ่ง อ่านกระดาษแล้วก็ตอบกระดาษอยู่นี่ มันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบ

ฉะนั้น มันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบว่ามันเป็นอย่างที่เขาเขียนมาจริงหรือเปล่า? แต่ถ้านี่เราพูดตามแง่มุมที่ตัวอักษรมันชี้ไปได้ มันชี้ไปได้ ตัวหนังสือมันชี้ไปได้ เห็นไหม ว่าภาวนาแล้วมันเบื่อหน่ายมาก ทุกวันนี้มันกำหนดทุกอารมณ์ทุกวินาที ก็เหมือนกับทำอยู่ มันเหมือนจะเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็เกิดจากเรา ขันธ์ ๕ นะ ขันธ์ ๕ มันเหมือนไฟฟ้า เห็นไหม เครื่องใช้ไฟฟ้ามันไม่ให้โทษใครหรอก ไม่ให้โทษใคร

ขันธ์ ๕ มันก็ไม่ให้โทษใครหรอก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ให้โทษใครเลย มันให้โทษใครไม่ได้ แต่มันมีกิเลสอีกตัวหนึ่งที่ไปยุแหย่ เพราะถ้าขันธ์ ๕ นะ นี่สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง คิดดีก็ได้ คิดร้ายก็ได้ คิดชั่วก็ได้ คิดส่งเสริมก็ได้ ฉะนั้น คำว่าคิดได้ใครเป็นคนยุแหย่ล่ะ? ไอ้กิเลสที่มายุแหย่นั่นล่ะ ฉะนั้น ขันธ์ ๕ มันไม่ให้โทษใครหรอก ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้าขันธ์ ๕ กับจิตแยกออกจากกัน พระโสดาบัน

ฮึ มันไม่ใช่นี่ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ สังโยชน์ตัวหลักเลย ถ้าสังโยชน์ตัวหลักมันขาดออกไปก็พระโสดาบัน อ้าว ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่เรา แล้วนี่มันเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายขันธ์ ๕ แล้วทำไมทิ้งขันธ์ ๕ ได้ไหมล่ะ? ก็ทิ้งไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ มันไม่ใช่เรา แต่มันก็เหมือนเรา (หัวเราะ)

มันไม่ใช่เราแต่เราก็คิด นี่มันไม่ใช่ๆ มันก็ยังมีอยู่ ถ้าเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พิจารณาไปเรื่อยๆ นะ อันนี้โดยหลักมันมาถูกแล้วแหละ โดยหลักมันมาถูก

ฉะนั้น ที่ถามว่า

ถาม : ทำไมถึงมองว่าเป็นขันธ์ ๕

หลวงพ่อ : ถ้าถามนะ ถ้าว่านั่งเห็นเป็นกระดูก พอเห็นเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือเห็นเป็นวงจร นี่คำว่าเห็นเป็นวงจรคือปัญญามันเกิด พอปัญญามันเกิดมันเข้าใจหมดไง ถ้าปัญญามันเกิดปั๊บมันตัดความสงสัยหมดเลย ถ้าเห็นเป็นวงจรปั๊บมันเป็นวงจรของมันเลย นั่นคือเห็นในขณะนั้น แล้วถ้าพิจารณาซ้ำเข้าไปนะ เดี๋ยววงจรจะละเอียดเข้าไป

พอวงจร นี่วงจรนี้เกิดจากอะไร? วงจรนี้เกิดจากจิต แล้วจิตมันมีอะไร? จิตมันมีอวิชชา แล้วอวิชชามันอยู่ในจิตได้อย่างไร? นี่ถ้าพิจารณาปัญญามันจะลึกเข้าไปๆๆ เวลามันขาดนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันขาด ขันธ์กับจิตขาดออกจากกันเลย หลวงตาบอกว่า “แยกเป็น ๓ ทวีปเลย” ห่างกัน มาเชื่อมกันไม่ได้อีกเลย อยู่กันโดยสัจจะเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ต่างอันต่างจริง จิตก็จริงของจิต กายก็คือจริงของกาย ขันธ์ก็จริงของขันธ์

ขันธ์ก็จริงของมันนะ มันเป็นความจริงของมันอันหนึ่ง แต่นี่มันไม่จริงเพราะอะไร? เพราะเราไปรวบมารวมกันไง แต่ถ้ามันแยกหมด ต่างอันต่างจริง มันเป็นความจริงเลย จิตก็จริง รู้ก็รู้จริง เห็นไหม เราถึงบอกว่าถ้าจิตจริง สมาธิจริง โสดาบันก็จริงๆ จิตปลอม สมาธิปลอม โสดาบันก็โสดาบันปลอมๆ เพราะมันปลอมเอง มันปลอมขึ้นมา ถ้าจิตจริง โสดาบันจริงมันจะเป็นความจริง ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติไปมันจะลงหลักอย่างนี้ นี่ถ้าปฏิบัติมันลงตรงนี้

นี่พูดถึงเขาถามว่า “มันจะเพี้ยนหรือเปล่า?”

ที่เราตอบนี่นะเราพยายามอธิบาย ถ้ามันปฏิบัติแล้วได้จริงมาตามหลักการ เราอธิบายนี่มันจะเป็นการต่อยอด เป็นการปฏิบัติต่อเนื่องไป แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง เขาปฏิบัติไม่ได้จริง เขาฟังไม่รู้เรื่องหรอก หลวงพ่อ ไปไหนมาสามวาสองศอก ถามอย่างหนึ่งก็ตอบอย่างหนึ่ง ถ้าคนไม่รู้ ไม่รู้หรอก แต่ถ้าคนรู้จะรู้ ก็อย่างที่ว่านี่

“กบเอ๊ยทำไมถึงปวดท้อง?”

“อ้าว ก็ฝนมันตก”

“ฝนทำไมถึงตกล่ะ?”

“ก็กบมันร้อง”

ตอบไปตอบมาก็เลยเป็นกบปวดท้อง กบฝนตกอยู่อย่างนี้เนาะ เอวัง