ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รอกิเลสจูง

๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๔

 

รอกิเลสจูง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๕๒. เขาถาม

ถาม : ๗๕๒. เรื่อง “บารมีเต็ม” ครับ

หลวงพ่อ : เรื่องบารมีเต็ม นี่ผู้ปฏิบัติไง

ถาม : ๑. ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้อย่างไรว่าบารมีเราได้สั่งสมมาใกล้เต็มหรือยัง หมายความว่าเราจะประเมินตัวเองได้แค่ว่าปฏิบัติแล้วจะถึงมรรคผลชาตินี้ หรือต้องรอไปอีกชาติหน้า

๒. ถ้าผู้ปฏิบัติ ในใจลึกๆ อยากจะปฏิบัติฮึดแบบสุดๆ เอาอย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แต่บางอารมณ์ก็มีท้อแท้เหนื่อยหน่ายบ้าง แต่ถ้าบารมีเขาจะเต็มในชาตินี้ อย่างไรก็ถึงมรรคผลใช่หรือเปล่าครับ

๓. การเป็นผู้ปฏิบัติแบบถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง กับเป็นผู้ปฏิบัติแบบฮึดสุดๆ ต้องเอาให้ได้ ควรจะวางใจแบบไหนครับ ขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : นี่เขาถามนะ นี่ผู้ที่ปฏิบัติเขาถามมาเยอะมาก

ถาม : ๑. ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้ได้อย่างไรว่าบารมีเราได้สั่งสมมาใกล้เต็มหรือยัง หมายความว่าเราจะประเมินตัวเองอย่างใด? แล้วจะถึงมรรคผลในชาตินี้ หรือต้องรอชาติต่อไป

หลวงพ่อ : คำว่าชาตินี้หรือชาติต่อไป ยกกรณีตัวอย่างแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาคืนวันวิสาขะได้หญ้าของพราหมณ์ ๗-๘ กำ แล้วอธิษฐานว่าเราจะนั่ง คืนนี้เราจะนั่ง แล้วถ้าไม่ตรัสรู้เราจะยอมตาย จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย นี่อธิษฐานคืนนั้น เสียสละชีวิตกันคืนนั้นเลย

นี่พูดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิษฐานนะ ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า เราปฏิบัติแล้วเราจะหวังชาตินี้หรือชาติหน้า เราจะบอกว่าพระพุทธเจ้านะ พูดถึงพระพุทธเจ้านี่มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ว่าท่านจะไม่ปฏิบัติ ทีนี้พูดถึงว่า “ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ” ไง ถ้าไม่ปฏิบัตินะก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ผลก็ต้องไปอีกชาติต่อไป แล้วชาติต่อไปนี่ไม่แน่

อย่างเช่นชาวพุทธเรา นี่ชาวพุทธเราบอกว่าประพฤติปฏิบัติแล้ว ตายไปแล้วจะไปเกิดบนสวรรค์จะปฏิบัติต่อ ชาติหน้าเกิดมาแล้วขอให้พบพระพุทธศาสนา ชาติหน้าจะปฏิบัติต่อ คำว่าชาติหน้ากับชาตินี้นะ นี่ตอนนี้เราคิดแบบนี้ ชาติหน้าเราจะคิดแบบนี้ไหม? อย่าว่าแต่คิดแบบนี้นะ ชาติหน้าไปเกิดเป็นอะไรยังไม่รู้เลย แล้วชาตินี้จะคิดแบบนี้หรือ? แต่ตอนนี้เราคิดได้ เราบอกว่าปฏิบัติมานี่สุดความสามารถแล้ว จะปฏิบัติต่อเอาชาติหน้า

นี่เราคิดนะ แต่ถ้ามันจะเป็นไปนะ มันจะเป็นไปหมายถึงว่าเวลาปฏิบัติ เวลาตาย เห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติ เวลาเกิด มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก มันมีเพื่อนพ่อของพระสารีบุตร พระสารีบุตรบวชแล้วนะ บวชแล้วนี่เพื่อนของพ่อแบบว่ารู้จักคุ้นเคยกันมา แล้วก็จะไปเทศน์สอนเขาไง เขาอายมาก เขาเป็นคนจนไง พระสารีบุตรไปปั๊บหลบทุกทีเลย หลบไป หลบมา หลบมา หลบไป จนวันหนึ่งเขาไปรับจ้าง พอรับจ้างแล้วเขาเอาผ้ามาถวายพระสารีบุตรหรืออย่างไรนี่แหละ พอเสร็จแล้วเขาก็ตายไป

พอตายไปนะ พอตายไป นี่เพราะได้ถวายผ้าพระสารีบุตรผืนนั้น ตายไปไปเกิดเป็นลูกเศรษฐีนะ พอไปเกิดเป็นลูกเศรษฐีตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ นี่เด็กยังไร้เดียงสา ยังแบเบาะ เขาก็นิมนต์พระมาทำบุญ พอนิมนต์พระมาทำบุญนะ นี่เวลาทำบุญ เด็กมันใช้นิ้ว เวลาเขาอุ้มไปมันใช้นิ้วเกี่ยวผ้า เกี่ยวผ้าที่ทำบุญ เกี่ยวให้ตกถึงพระสารีบุตร แล้วเด็กคนนั้นพอ ๗ ขวบแล้วบวช เด็กคนนั้นเป็นพระอรหันต์เลย

นี่ไงเพราะพระสารีบุตรตั้งใจจะสอนๆ ในธรรมบทหรือในพระไตรปิฎกนี่แหละ เราอ่านแต่เราจำไม่ชัดเจน เดี๋ยวพูดเรื่องคำว่าไม่ชัดเจนนะ เดี๋ยวหาว่าพระสงบนี่มั่วน่าดูเลย แชมป์ของการมั่วเลย (หัวเราะ) เราจะบอกว่าเราได้อัตถะ พยัญชนะจำไม่ได้ รายละเอียดเล็กน้อยนี่ แต่เนื้อหาชัวร์ เนื้อหาชัวร์ว่าเป็นเพื่อนพ่อหรือเป็นญาติทางไหนนี่แหละ แล้วพระสารีบุตรจะไปโปรดประจำ

นี่เราบอก “ชาตินี้หรือชาติหน้า” ไง จะประเมินอย่างใด? เราจะประเมินอย่างใดว่าเราจะรู้ได้หรือไม่ได้ ฉะนั้น เราอธิษฐานว่าเราจะไปต่อชาติหน้าๆ เราต้องตั้งใจปัจจุบันนี้ให้ดี ถ้าสุคโตนี่ดีนะ ถ้าปัจจุบันนี้ดี ไปมันไปดีแน่นอน แต่ถ้าปัจจุบันเวลาออก เวลาไปมันเสวยภพแล้วนะ พอตายปั๊บเสวยภพๆ แล้วเสวยภพอย่างใดล่ะ? ถ้าไปเป็นสัมภเวสีล่ะ? เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมล่ะ?

แล้วอย่างประสาเรา นี่ประสาเราเลยนะเวลาเรามีอะไรฝังใจ พอไปนี่ อย่างเช่นเวรกรรม เห็นไหม เรื่องเวร เรื่องกรรมเรามีปัญหากันมา เราสังเกตได้ไหมว่าบางทีเราเห็นหน้าใครมันรู้สึกว่าผูกพันมาก บางทีเจอหน้าใครมันรู้สึกว่าต่อต้านๆ นี่มันมีของมัน กรรมมันเป็นเรื่องมันฝังมาจากใจเลย ฉะนั้น สิ่งนี้เราคิด เราคิดปรารถนาอยากได้เป็นแบบโครงสร้างเลย แต่เวลากรรมมันให้ผล มันทำให้โครงสร้างนั้นมันไม่ได้ดั่งใจเรา ถ้าไม่ได้ดั่งใจนั้นมันเป็นเรื่องหนึ่งนะ

ฉะนั้น คำว่า “บารมี” นี่ผู้ที่ปฏิบัติจะรู้ได้อย่างไรว่าบารมีเราใกล้เต็ม หรือไม่ใกล้เต็ม เราบอกใกล้เต็ม ถ้าไม่ใกล้เต็มนะเราจะไม่สนใจเรื่องนี้เลย โยมสังเกตได้ไหม? โดยส่วนใหญ่เวลาผู้ที่ฟังเทศน์ ถ้าฟังเทศน์พระปฏิบัติ ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นะ มันฟังเทศน์ ถ้าคนฟังแล้วเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจ ฟังแล้วมันซาบซึ้งใจ ฟังแล้วสะเทือนใจ นั่นล่ะมีบารมี แต่ถ้าบางคนนะสังเกตได้เขาฟังแล้วเขาบอกว่าใช้ไม่ได้ เขาต้องถูกแม่แบบ แม่แบบคือพระไตรปิฎก จะเคลื่อนจากนั้นไม่ได้ ถ้าเคลื่อนจากนั้นเขาถือว่าผิด

คำว่าแม่แบบไง แม่แบบมันเป็นทฤษฎี มันเป็นปริยัติหมดเลย แล้วถ้าเทศน์อย่างนั้นเขาพอใจมาก ถ้าเขาพอใจมาก ฉะนั้น เวลาปฏิบัติเรานี่มันมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติมันเป็นทฤษฎี คำว่าทฤษฎีนี่อย่างเช่นนะ อย่างเช่นพวกเรียนจบวิศวะมา เวลาเรียนวิชาการ มันต้องเป็นทางวิชาการใช่ไหม? มีเพื่อนหลายคนนะเขาจบวิศวะแล้วมาบวชอยู่ด้วย เขาบอกหลวงพ่อ ผมนี่รู้ไปหมดเลยนะ แต่ให้ผมทำนี่ผมทำไม่ค่อยได้หรอก ไอ้กรรมกรกินแรงรายวันมันชำนาญกว่าผมอีก แต่ถ้าเอาทฤษฎีมันสู้ผมไม่ได้หรอก ผมนี่รู้ทุกอย่างเลยนะ แต่เวลาผมทำจริงๆ ผมทำสู้มันไม่ได้หรอก ทำสู้มันไม่ได้

ปริยัติ นี่ไง นี่แม่แบบๆ แต่เวลาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติลงไป เราลงไปในพื้นที่ หน้างานมันจะมีปัญหาไปมหาศาลเลย แล้วเราจะแก้อย่างไร? ฉะนั้น ถ้าเราต้องตรงปริยัติเลย แล้วทีนี้ปฏิบัตินะ พอปฏิบัติที่ไม่ได้ผลกันตรงนี้ พอเวลาปฏิบัติไปแล้วนะยึดแม่แบบไว้ไง ต้องเป็นแบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้ จิตมันเลยไม่ลง จิตมันเลยไม่ละเอียดลงไง ถ้าจิตมันละเอียดลงนะ พอจิตละเอียดลงปั๊บเขาบอกไม่ได้ มันเป็นสมถะ เขาปฏิเสธ ๑.ปฏิเสธสมถะ ๒.ปฏิเสธนิมิต

ทีนี้พอจิตมันลง พอจิตมันลงใช่ไหม? มันจะต้องมีการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวเรานั่งอยู่นี่ ถ้าไม่มีอากาศผ่านเราก็อัดอั้นมากเลย แต่ถ้ามีอากาศถ่ายเท เห็นไหม เราจะมีความปลอดโปร่ง เราจะมีความร่มเย็น เราไม่อึดอัดใช่ไหม? เวลาจิตมันลง จิตมันลงมันมีการเคลื่อนไหว ทีนี้มันจะรู้ มันจะเห็นอะไรมันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นเรื่องธรรมดา จิตมันจะเคลื่อนไหว มันจะเปลี่ยนแปลงมันต้องมีปฏิกิริยาของมันแน่นอน

แต่เขาบอกไม่ได้ ผิด ไม่ได้ ผิด เพราะอะไร? เพราะยึดแม่แบบ ยึดไว้เลยนะ ต้องอย่างนี้ๆ นี่คือปัญญานะ ปัญญา อันนั้นมันสัญญา มันจำมา มันจำว่าต้องเป็นแบบนั้นไง นี่เพชรนะกว่ามันจะเป็นเพชร ดูสิมันต้องอายุขนาดไหน? นี่ด้วยกาลเวลาของมัน ด้วยแร่ธาตุจนมันเป็นเพชร แล้วเวลาที่มันเป็นมันเท่าไร? ไอ้นี่เราบอกว่าเพชร เขียนเลยนะเพชร ใช่ก็เพชร แต่ไม่มีเพชรแท้ แต่เขียนเป็นชื่อว่าเพชร ปริยัติคือชื่อ แต่ปฏิบัติคือตัวเพชร

ฉะนั้น เวลาอำนาจวาสนา ถ้าฟังนะมันเป็นอีกชั้นหนึ่งนะ ถ้าเป็นทฤษฎี เราศึกษาแม่แบบนี่ถูก แต่มันเป็นปริยัติ ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้วางไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธล่ะ? ทำไมปริยัติ ปฏิบัติไม่เป็นอันเดียวกันล่ะ? ทำไมปริยัติต้องไปปฏิบัติล่ะ?

นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คือศึกษาแล้วปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วมันจะไปเจอประสบการณ์ จิตมันจะมีประสบการณ์ของมัน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนมันจะประพฤติปฏิบัติ มันจะมีปฏิกิริยาของมัน ถ้ามีปฏิกิริยาของมัน เห็นไหม เนี่ยสิ่งนี้ถึงว่ามีวาสนา ถ้าฟังแล้วเข้าใจนะ แต่ส่วนใหญ่แล้วฟังไม่เข้าใจ ฟังแล้วนี่จะย้อนกลับไปแม่แบบ บอกว่าผิด พระพุทธเจ้าไม่พูดอย่างนั้น แล้วเขายังพูดด้วยนะว่าปฏิบัติไม่เคารพๆ

โธ่ ดูนะดูลูกกตัญญูเวลามันดูพ่อแม่มัน มันเคารพพ่อแม่มันขนาดไหน? ไอ้ลูกที่มันไปทำงานต่างถิ่นนะมันบอกรักพ่อแม่มัน รักพ่อแม่มันนะ แต่มันไม่เคยกลับไปดูพ่อแม่มันเลย ไอ้ลูกกตัญญูนี่นะมันดูพ่อแม่มันทั้งวัน ทั้งคืนนะ มันรักษาพ่อแม่มัน ไอ้ผู้ปฏิบัตินี่พุทโธ พุทโธ พุทโธ เขาอยู่กับพุทธะ เขาอยู่กับรัตนตรัย บอกว่าไม่เคารพๆ ไอ้ผู้ที่มันไปทำงานต่างถิ่น มันไม่เคยดูพ่อแม่มันเลยนะ มันบอกมันรักพ่อ รักแม่ รักพ่อ รักแม่ แต่มันไม่เคยดูพ่อแม่มันเลย แต่ไอ้ผู้ปฏิบัติ เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทธานุสติมันอยู่กับพระพุทธเจ้า

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

แล้วคนที่มันอยู่กับพ่อแม่มัน มันจะรักพ่อแม่มันไหม? แล้วบอกว่าไม่รักพ่อแม่มัน มันไม่เคารพพ่อแม่มัน มันรักพ่อแม่มัน แล้วมันเคารพพ่อแม่มันมาก แล้วมันจะรักษาพ่อแม่มันด้วย แต่มันรักษาด้วยการกระทำ แต่เวลาลูกกตัญญูเขาไม่อวดนะว่าเขากตัญญู แต่สังคมเห็นว่าเด็กคนนี้กตัญญู สังคมเขาถึงว่านี่ลูกกตัญญู

แต่ลูกกตัญญูที่มันดูพ่อแม่มัน มันทุกข์น่าดูนะ มันต้องเช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว มันต้องดูแลพ่อแม่มันนะ มันจะมาประกาศว่ามันกตัญญูไหม? มันทำงานของมัน แต่ไอ้สังคมที่เห็น สังคมที่เขาดูแล เขาจะดูว่านั่นล่ะลูกกตัญญู นั่นล่ะมันรักพ่อ รักแม่จริง ฉะนั้น บอกว่าไม่รักพ่อ รักแม่ มันอยู่ที่การกระทำจริงหรือไม่จริงต่างหากล่ะ นี่กระทำจริงนะ

นี่พูดถึงว่าถ้ามันเป็นบารมีๆ เราบอกว่าถ้าคนฟังแล้วเข้าใจ คนฟังแล้วสนใจ คำว่าสนใจ ถ้าไม่สนใจโยมจะไม่ตั้งใจมาปฏิบัติกัน แล้วพอมาปฏิบัติมาทำไม? มาขันน็อตตัวเองไง มาขันน็อตหัวใจนี่ไง หัวใจที่มันวิ่งเต้น มันเผ่นกระโดด มันบีบคั้นใจ เราจะมาขันน็อตมัน มาดูแลมัน ถ้าเราจะมาขันน็อตมัน มาดูแลมัน แล้วขันน็อตอย่างไรล่ะ?

ขันน็อต เวลาขันน็อต พูดอย่างนี้ปั๊บนี่ทฤษฎี แม่แบบ นี่เราจะขันน็อต จะดูแลมัน มาถึงก็โอ้โฮ ดูแลแล้วจะมีความสุข ความสบาย ไม่ใช่ ทางจงกรมครับ ทางจงกรม นั่งสมาธิครับ จะดูแลมันก็ต้องดูแลมันด้วยสติ ดูแลมันด้วยการปฏิบัติ ถ้าดูแลมัน พอบอกว่าเราไปดูแลนะก็เหมือนกับกตัญญูไง กตัญญูก็ไม่เคยไปดูพ่อแม่มันเลยนะ บอกว่ากตัญญู ไอ้คนเขาดูพ่อแม่เขาอยู่บอกว่านั่นไม่กตัญญู

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จะดูแลจิตๆ ดูแลจิตอย่างไรล่ะ? ไปถึงก็ไปนั่งเหม่อใช่ไหม? ทุกข์ ทุกข์ อยากกลับบ้าน โอ๋ย ร้อนน่าดูเลย อ้าว นี่จะดูแลมันหรือ? อ้าว ถ้าดูแลมันก็ตั้งสติสิ พอตั้งสติเข้าไปถึงตัวมัน เข้าไปดูแลใจของตัว พอเห็นใจของตัว พุทโธ พุทโธนั่นล่ะดูแลมัน ถ้าเพราะเราฟังธรรมแล้วเราเชื่อของเรา เรามีอำนาจวาสนา เขาถามว่า

ถาม : แล้วอย่างไรถึงว่ามีบารมีล่ะ?

หลวงพ่อ : ๑. บารมีนี่ฟังเทศน์กรรมฐาน คือฟังเทศน์ปฏิบัติแล้วเข้าใจ ถ้าเข้าใจนะ พอเข้าใจมันก็จะมีการเริ่มขวนขวาย นี่เราก็อยากได้ ทุกคนก็อยากได้ กรณีนี้นะ ตั้งแต่กรณีของหลวงตา กรณีของครูบาอาจารย์เรา แล้วทั้งเราด้วย ก่อนที่ออกปฏิบัติใหม่ๆ ออกปฏิบัตินี่หาครู หาอาจารย์หาที่ไหน? หลวงปู่มั่นท่านหาไม่ได้เลย นี่ไง นี่พอกว่าจะหาได้นะ กว่าจะหาครูบาอาจารย์ได้ หลวงตาท่านพูดเลย ท่านจบมหา ท่านบอกว่า

“ถ้ามีใครชี้บอกเรา เราจะสละชีวิตให้กับอาจารย์องค์นั้นเลย”

ขนาดจบมหามานะ เรียนมาจบมหามาแล้ว ถ้ามีใครชี้ทางเรา บอกทางเรา เราจะยอมตายถวายครูบาอาจารย์องค์นั้นเลย พอไปเจอหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นคอยบอก คอยชี้ คอยแนะ แล้วเวลาคอยบอก หลวงตาท่านเล่าอย่างนี้ ท่านบอกว่าถ้าเวลาพูดกันโดยแบบว่าความเป็นอยู่นี่เหมือนพ่อกับลูกนะ หนุงหนิงๆ เพราะอะไร? เพราะเป็นผู้อุปัฏฐากใช่ไหม? เราเป็นคนดูแลครูบาอาจารย์ใช่ไหม? ท่านบอกเวลาหันเข้าหาธรรมะนี่นะฟ้าผ่าทุกทีเลย พอหันเข้าไปหาธรรมะนี่ เปรี้ยง! เลย

ความจริงคือความจริง ความดูแลกันมันเป็นเรื่องการดูแลกันแบบลูกศิษย์กับอาจารย์ แต่ธรรมะคือธรรมะ ธรรมะเป็นความจริง พอหันเข้าหาธรรมะนะกระเด็นทุกที พอกระเด็นทุกทีมันก็ เออ มันจะเป็นการไม่รักกันไหม? รัก รักเพราะอะไร? เพราะว่าความจริงต้องพูดความจริง ถ้าไม่พูดความจริง เอ็งจะเข้าสู่ความจริงไม่ได้ เอ็งต้องเอาความจริง ถ้าความจริงก็เปรี้ยง! เปรี้ยง! ทุกทีเลย

นี่เวลาเราปฏิบัติ ถ้าเรามีอำนาจวาสนาเราจะแสวงหาอย่างนั้น แล้วเราเข้าใจอย่างนั้นได้ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นได้ ถ้าเราฟังเข้าใจได้ เราก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติกัน นี้พอประพฤติปฏิบัติกันก็เข้ามาตรงนี้อีกแล้ว

ถาม : แล้วจะรู้ได้อย่างไร? จะประเมินตัวเองได้อย่างไรว่ามีบารมีหรือไม่มีบารมีล่ะ?

หลวงพ่อ : หลวงตาท่านสอนอย่างนี้นะ ท่านบอก

“คนมีบารมี หรือไม่มีบารมี ตรงกับการปฏิบัติของเรา ถ้าเรากำหนดลมหายใจ ลมหายใจเข้าชัดๆ กำหนดลม รู้จักลม อานาปานสติชัดๆ ถ้ามันปลอดโปร่งโล่ง แล้วสะดวกสบาย นั่นล่ะคือทางของเรา”

ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วจิตมันลงได้ นั้นก็คือทางของเรา ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วมันเครียด พุทโธ พุทโธแล้วมันไม่ได้ ให้ระลึกถึงความตาย มรณานุสติ คนเรานี่ระลึกถึงความตายนะ บอกตายๆ เอ็งต้องตาย เอ็งต้องตายมันฝ่อนะ แต่บางคนให้นึกถึงความตาย พอนึกถึงความตายแล้วขาอ่อนเลยนะ มันจะตายจริงๆ มันจะตายเลยนะ มันไม่ทำอะไรเลย อย่างนี้ก็ไม่ตรงกับจริต เห็นไหม แต่ถ้าใครฮึกเหิมนะ พอระลึกถึงความตายมันก็เฉาเลยนะ อืม ตายเนาะ ตายก็ไม่ได้อะไรไปเลย ตายแล้วจะไปดิ้นรนเอาอะไร? สิ่งที่มันจะดิ้นรนมันก็สงบลงได้

นี่ระลึกถึงความตาย ระลึกถึงเทวดา ระลึกถึงอะไร มันอยู่ที่เราระลึกแล้วมันปลอดโปร่ง ระลึกแล้วนะมันทำได้ แล้วมันไปได้ อันนั้นท่านบอกว่านี่คือทางของเรา ฉะนั้น เราจะประเมินตัวเองอย่างไร? คำว่าเราประเมินตัวเองนะ ฉะนั้น

ถาม : ถ้าเราปฏิบัติไป จะถึงมรรคผลชาตินี้ไหม?

หลวงพ่อ : ถ้าเราเป็นหนี้ ๑๐๐ บาท เรามีเงิน ๑๐๐ บาท ไปใช้หนี้ ๑๐๐ บาทเราก็ปลดหนี้ได้ ถ้าเราเป็นหนี้เท่าไรไง ฉะนั้น ถ้าเราเป็นหนี้ ๑๐๐ บาท แต่เราไม่มีเงิน ๑๐๐ บาทไปปลดหนี้ได้ ชาตินี้มันก็ไปไม่ได้

ฉะนั้น ไอ้ว่าชาตินี้หรือรอชาติหน้ามันไม่ใช่ เวลาเราปฏิบัติไปนี่เกือบเป็นเกือบตายนะ แต่เวลามันจะเป็นผลสรุปนี่งูแลบลิ้นนะ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น มันจะสมดุลตรงนั้นพั่บ! จบเลย ถ้ามันสมดุลนะ มรรคสามัคคี แต่เวลามันหมุนไป เวลาทำนี่เกือบเป็นเกือบตายนะ ลองผิด ลองถูก ล้มลุกคลุกคลาน นี่ปล่อยบ้าง ไม่ปล่อยบ้าง ทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่า แต่เวลามันจะสรุปนะ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น พั่บ! จบ แต่กว่าจะลงจบตรงนั้นได้เราต้องพยายามของเราเต็มที่

ทีนี้คำว่ารอชาตินี้หรือรอชาติไหน? มันไม่มีใคร เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระบางองค์ อนาคตังสญาณนี่จะรู้ว่าสมควร ไม่สมควร เวลาสมควรไป ดูสิอย่างเช่นพระพุทธเจ้า ใครมีอำนาจวาสนาแล้วจะสิ้นอายุขัย ไปเอาคนนั้นก่อน ถ้าไม่เอาคนนั้นก่อนเขาก็ไปชาติหน้า แล้วพอไปชาติหน้าไปเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ ถ้าเป็น ถ้าเอาได้นะ พระพุทธเจ้าจะต้องไปเอาอาฬารดาบส อุทกดาบสไง นี่เป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้านะ คือสอนมาก่อน สอนสมาบัติไง แล้วพอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วจะสอนใครก่อน? จะสอนใครก่อน?

คำว่าจะสอน เห็นไหม หนึ่งเขาต้องมีพื้นฐาน เขาต้องมีพื้นฐานนะ ถ้าเขาไม่มีพื้นฐานเขาฟังเราพูดไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เสวยวิมุตติสุขเสร็จแล้ว จะออกเผยแผ่ธรรมนี่จะเอาใครก่อน? เล็งญาณไปนะ นี่อาฬารดาบส อุทกดา บส เพราะว่าดูว่าพื้นฐานเพราะเคยอยู่กับเขามา รู้ว่าพื้นฐานเขามีพื้นฐาน เขามีสมาบัติ ๘ พอจะไปเอาเขานี่ โอ้ น่าเสียดายตายไปเมื่อวานนี้เอง นี่พอตายไปก็เกิดชาติใหม่ เกิดเป็นพรหม

ถ้าเกิดเป็นพรหม นี่ในเมื่อเขามีพื้นฐานแล้ว พอเขาไปเกิดเป็นพรหมทำไมไม่ตามเขาไปที่พรหมล่ะ? เพราะเวลาไปพรหมมันไม่ใช่อาฬารดาบสแล้ว ถ้าเขาระลึกไม่ใช่นะ พอไปคุยกับเขาบอกว่าจำได้ไหม? อาฬารดาบสเขาบอกเขาไม่รู้เรื่อง เขาเป็นพรหมเขารู้เรื่องอะไร? มันอยู่คนละภพ คนละชาติ

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณไป โอ๋ย น่าเสียดายตายไปเมื่อวานนี้แล้ว นี่เล็งไป เอ๊ะ องค์นั้นก็ไม่ได้ ฉะนั้น ปัญจวัคคีย์อยู่กันมา ๖ ปี พอปัญจวัคคีย์อยู่กันมา ๖ ปี สมาธินี่เพราะรู้ อยู่ด้วยกันมา ๖ ปีจะรู้เลยว่ามีพื้นฐานไหม? พอมีพื้นฐานก็ไปเอาปัญจวัคคีย์ก่อน พอเทศน์ไปแล้วนี่ ๕ องค์นี้พร้อม แต่เวลาได้ ได้พระอัญญาโกณฑัญญะองค์เดียว ๕ องค์ได้องค์เดียว อีก ๔ องค์นั้นต้องเทศน์ซ้ำ เทศน์ซ้ำถึงได้ตามมา เห็นไหม

นี่พื้นฐานมันไม่เหมือนกัน พอพื้นฐานของคนไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันจะประเมินตัวเองอย่างไร? ประเมิน เราประเมินว่าเราทำแล้ว นี่เราทำแล้วเรามีทางไปได้ไหม? ถ้าเราทำนะเราปฏิบัติบูชา เดี๋ยวจะมีอยู่ข้อหลังไง หรือว่าทำแบบถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง (หัวเราะ) เพราะว่าคำถาม เราเห็นว่าคำถามนี่ทุกคนก็สงสัยอย่างนี้หมดไง เราถึงพยายามเอาคำถามนี้มาตั้ง แล้วจะอธิบายให้เราเข้าใจ

นี่ข้อที่ ๑. เห็นไหม เพราะข้อที่ ๑. ทุกคนคิดอย่างนี้หมด ทุกคนว่าเราจะประเมินตัวเองอย่างไร? เพราะเดี๋ยวนี้เป็นปัญญาชนใช่ไหม? เราจะบอกว่าเราดำเนินอย่างไร? แล้วผลจะตอบแทนอย่างไร? เพราะมีคนมาถามเราเยอะมาก เมื่อก่อนนะบอกว่ามรรคสามัคคี มรรคสามัคคีคือช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แล้วถ้ามรรคสามัคคีมันจะใช้จำนวนของสมาธิเท่าไร? สติเท่าไร? ปัญญาเท่าไร? ให้มันรวมลง

เขาจะมาชั่งน้ำหนักเอาไงว่ามรรค ๘ มันสมดุลแค่ไหน? มรรค ๘ นี้มันถึงจะมาสมดุลพอดีไง เราบอก อืม มันจะชั่งน้ำหนักกันเลยเว้ย ฉะนั้น พอชั่งน้ำหนักปั๊บมันก็ไปขัดแย้ง ไปขัดแย้งกับโทสจริต โทสจริตก็ต้องชั่งน้ำหนักด้วยอะไร? โลภะ เห็นไหม โทสะ โมหะ นี่จริตมันแตกต่างกัน พอแตกต่างกันเราจะชั่งด้วยอะไร?

ฉะนั้น มันถึงบอกว่ามันต้องเป็นสมดุลของคนๆ นั้นไง ถ้าโทสะ โทสะนี่มันกระทบแรง โทสะนี่ธาตุไฟจะรุนแรงมาก แต่ธาตุไฟพวกโทสะจะมีปัญญา โลภะ พวกหลงไง พวกเข้าใจ พวกหลงใหล พวกไหลไปตามความรู้สึกของตัว นี่มันแตกต่างกันตรงนี้ไง ฉะนั้น แตกต่างตรงนี้ ทีนี้เวลาสอน เห็นไหม นี่เวลาสอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแต่ละองค์ก็สอนไม่เหมือนกัน สอนเป็นปัจจุบัน สอนเฉพาะหน้าเลย เฉพาะหน้านี่ติดอะไรแก้ตรงนั้นเลย

ฉะนั้น คำว่าประเมินตัวเองอย่างใด? มันประเมินว่า หนึ่งเราทำแล้วเราพอใจไหม? เราสมัครใจไหม? ถ้าพอใจใช่ไหม? นี่เราพอใจ ทีนี้คนเราจะไม่พอใจตรงไหนรู้ไหม? จะไม่พอใจเวลาโยมไปคุยกัน คนๆ นั้นไปปฏิบัติมาบอกที่นั่นฉันไปมา ๒ วันจิตดี๊ดีเลย ไอ้เราไปมาเดือนหนึ่งแล้วไม่ได้ไง

อ้าว คิดแล้วนะ เราไปเดือนหนึ่ง ภาวนาตากแดดทั้งวันเลย นั่นเขาไปวัดนั้นมา ๒ วัน แหม เขาดี๊ดี ดีของใคร? ดีของใคร? ดีของเด็ก เห็นไหม ให้มันนอนเล่นๆ นี่มันดี เด็กนี่บอกให้นอนนะ เอานมป้อนมันนี่มันบอกดี๊ดีเลย แล้วผู้ใหญ่จะนอนแล้วให้ป้อนขนมได้ไหม? ไม่ได้ เราโตแล้วเราต้องทำงาน เราต้องมีหน้าที่การงาน เราต้องรับผิดชอบ

ฉะนั้น ว่าไป ๒ วันดี๊ดี เราบวชใหม่ๆ เราเห็นพระที่ไหนพอไปปฏิบัติมานะ โอ้โฮ หลวงพ่อไปที่นั่นสิอย่างกับสวิตเซอร์แลนด์เลยนะ โอ้โฮ เราก็ไปนะ โอ้โฮ ทุ่งนาทั้งนั้นเลย สวิตเซอร์แลนด์อะไรของเอ็งวะ? คือเขาไม่เคยเห็นป่า พอเขาไปเจอป่าเขาก็ตื่น อู้ฮู ที่นี่ดี๊ดี ไอ้เราดีๆ เราก็คำนวณเลยนะ ดีๆ นี่ต้องแบบป่าทึบเลย ไปถึงแล้ว โอ๋ย ต้นไม้ ๒ ต้น ทุ่งนาทั้งนั้นเลย สวิตเซอร์แลนด์อะไรของเอ็งวะ?

นี่ที่ว่าเวลาประเมิน พวกเราจะมีปัญหาตรงนี้ไง ปัญหาเวลาเขาบอกว่าไปที่นั่นมา ๒ วันก็ดี ปฏิบัติอย่างนั้นก็ดี ปฏิบัติก็ดี เราไม่เคยเชื่อเรื่องอย่างนี้เลย เราไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะอะไร? ไม่เชื่อเพราะเราปฏิบัติเองเกือบตาย แล้วมึงทำ ๒ วันดี ๒ วันดี ๒ วันดีคือว่าเขาไม่เคยทำอะไรเลย อย่างเช่นเราไม่เคยทำอะไรเลย เราไม่รู้อะไรเลยเราก็ว่าดี เพราะอะไร? เพราะเราไม่รู้ว่าถูก ว่าผิด ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ ซื่อบื้อๆ อย่างนี้ดี๊ดี ไม่ต้องทำอะไรเลย ซื่อบื้อๆ นี่พอ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย ซื่อบื้อๆ ปฏิบัติแล้วว่างๆ ซื่อบื้อเลย ดี๊ดี

เรานี่มันเชื่อคนอย่างนั้นไม่ได้ หลวงตาสอนไว้ “คนโง่มากกว่าคนฉลาดมาก” โลกนี้คนโง่มากกว่าคนฉลาด คนโง่เขาพูดขนาดไหนนะไม่มีเหตุมีผล หลวงตาสอนประจำ แต่ถ้าคนฉลาดพูดนะเขามีเหตุมีผล สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ หลวงตาสอนประจำ แต่ถ้าคนโง่เป็นแสน เป็นล้านพูดนะไร้สาระ ทีนี้พอไร้สาระ แต่มันกลับกันไง พวกเราไปเอาสิ่งที่ไร้สาระเป็นสาระ

เขาปฏิบัติ ๒ วันดี ไอ้เราก็ว่า เออ ดีเนาะ ที่ไหนดี เร่งไปบ้างสิ ไปถึงนี่ ถ้าเรามีหลักเกณฑ์ใช่ไหม? เราไป ๑๐ วันยังไม่ดีเลย เขาไป ๒ วันดี เราไป ๑๐ วันยังไม่ดี แต่เราก็เชื่อเขาไปแล้ว พอเราเชื่อเขาไปแล้วนะ เชื่อ ๑ เชื่อ ๒ เชื่อ ๓ เชื่อ ๔ พวกเราถึงได้โลเลไง แล้วก็เสียใจไง ปฏิบัติมาเกือบตาย โอ๋ย ไม่เห็นได้เรื่องเลย ไอ้คนนั้นปฏิบัติที่นั่น ๒ วัน ๓ วันดีไปหมดเลย ดีเพราะอะไร? ดีเพราะไร้สาระ ดีเพราะไม่สนใจสิ่งใดเลย

เป็นไปไม่ได้ เราไม่เคยเชื่อสิ่งนี้เลย ฉะนั้น ถ้าไม่เชื่อสิ่งนี้ปั๊บเราถึงต้องเข้มแข็งมุมานะของเรา เราเข้มแข็งมุมานะของเรานะ ดูนะนักฟุตบอล ถ้าเขาไม่ได้แข่งนะเขาต้องรักษาความฟิตของเขาตลอด ถ้าเขาไม่รักษาความฟิตของเขานะ เขาจะหมดจากอาชีพนักฟุตบอลอาชีพเลย แล้วนี่จิตใจของเรา เราจะรักษาจิตใจของเราให้มั่นคงของเราเพื่อปฏิบัติธรรม แล้วจะปล่อยให้ร่อนเร่อย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ทำไมโลกเขาเชื่อกัน

เดี๋ยวนี้โลกเขาเชื่อกันนะ อะไรที่สะดวก อะไรที่เรียบง่าย อะไรที่ไม่ต้องทำอะไรเลย สิ่งนั้นดีๆ นี่บอกว่าถ้าเราไปฟังเขาแล้ว เขาบอก ๒ วันดี ๒ วันดี เราถึงจะได้รวนเรไง แต่ถ้าเขาจะพูดอย่างไรมันเรื่องของเขา ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรานะ เราจะรู้เลยว่าสิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าสิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้ เราจะทำสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าเราจะทำสิ่งที่เป็นไปได้ เราถึงจะต้องเข้มแข็ง แล้วเราทำของเรา แล้วพอเป็นจริงขึ้นมานะ พอเป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันสงบเข้ามาได้นะเราจะรู้เลยว่า อืม มันเป็นแบบนี้

นี่หลวงตาจะพูดประจำว่าถ้าจิตมันเคยลองได้สงบสักหนหนึ่ง แล้วเราทำไม่ได้อีกเลย มันจะฝังใจไปตลอดชีวิตเลย เพราะ เพราะมันไม่มีซื้อขายในท้องตลาด ปัญญาของคนไม่มีซื้อขายนะ ทุกคนบอกนี่อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วจะฉลาดๆ ก็หนังสือก็เยอะแยะ แท่นพิมพ์มันพิมพ์ออกมามันต้องฉลาดกว่ามึง อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วฉลาด ความที่ฉลาดมันอยู่ที่เราอ่านมากแล้วเราใคร่ครวญ เราอ่านแล้วถ้าเราไม่ใคร่ครวญเราก็ไม่ได้หรอก

ฉะนั้น แหม อธิบายซะยาวเลยล่ะ อธิบายว่า “เราจะประเมินตัวเราอย่างไร?” เราประเมินตัวเรา แล้วสิ่งที่เขาว่าดี๊ดีๆ บางทีเวลาเราคุยกันเราก็คุยกัน ดูอย่างทางธุรกิจ เห็นไหม เวลาเขาจะคุยกันเขาต้องคุยเรื่องผลประโยชน์ของเขา เขาพูดอะไร สุดท้ายเขาก็ชักเข้าสู่ผลประโยชน์ของเขา ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไปที่นู่นมาแล้วก็ดี ไปที่นี่มาแล้วดี ดีทำไมเอ็งไม่อยู่นั่นล่ะ? ดีเอ็งกลับบ้านทำไม? ถ้าเอ็งปฏิบัติ ๒ วันดี เอ็งอยู่ ๔ วันเอ็งจะได้เป็นพระอรหันต์แล้วนะ ปฏิบัติมา ๒ วันดีนะ แต่กลับมาบ้าน ถ้ามึง ๒ วันดี ๔ วันจะเป็นพระอรหันต์แล้ว อยู่ที่นั่นสิ ทำไมไม่อยู่?

มันไม่จริงสักอย่างหนึ่งนะ แต่มันเป็นคารม แล้วพวกเราถ้าไม่มีจุดยืนนี่ตายหมด นี่โลกนี้เป็นกระแสหมด เดี๋ยวนี้การปฏิบัติเป็นตลาดนะ การปฏิบัติเป็นตลาด เอาเรื่องตลาดมาหาผลประโยชน์กัน แต่ถ้าเป็นความจริงเขาเรียกว่าคนเรามันซื่อตรงกับตัวเอง ซื่อตรงกับคำพูดนะ คือใครทำอย่างใดก็ได้อย่างนั้น ใครทำได้มากก็ได้มาก ใครทำน้อยก็ได้น้อย ใครทำไม่ได้ก็ให้ขวนขวายเอา นี่ความจริงมันเป็นแบบนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าไม่สามารถทำให้ใครได้ แต่ชี้ทางได้ บอกได้ แล้วก็ชี้ทางบอกอยู่นี่เราต้องเข้มแข็ง

ฉะนั้น คำว่า “ประเมินตัวเอง” ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปเอาชาตินี้ ชาตินี้ได้เท่าไรเอาเท่านั้น ถ้ามันถึงที่สุดแล้วนะเราสร้างบุญญาธิการไป นี้การประเมินตัวเองข้อที่ ๑.

ถาม : ๒. ถ้ามีผู้ที่ปฏิบัติ ในใจลึกๆ อยากปฏิบัติแบบฮึดแบบสุดๆ เอาแบบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แต่บางอารมณ์ก็มีท้อแท้ เหนื่อยหน่ายบ้าง แต่ถ้าบารมีของเขาเต็มในชาตินี้ อย่างไรก็ถึงมรรคผลใช่ไหมครับ

หลวงพ่อ : ถ้ามันมีอารมณ์ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย ตรงนี้มันจะไม่ถึง คำว่าถึง นี่เหตุ เห็นไหม “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้ามีเหตุผลสมบูรณ์มันก็เป็นสัมมาสมาธิถ้าทำความสงบ ถ้าใช้ปัญญาโดยเหตุผลสมบูรณ์มันก็จะพ้นจากกิเลส

ฉะนั้น บางอารมณ์ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย ตรงท้อแท้ เหนื่อยหน่ายนี่แหละ เหตุผลมันจะด้อยลง ถ้าเหตุผลมันด้อยลงนะ ที่ว่าถ้าบารมีเต็มแล้ว ถึงจะเหนื่อยหน่าย จะท้อแท้มันก็จะถึงมรรคผลใช่ไหม? ไม่ใช่ ไม่ใช่ เพราะว่าเหตุผลต้องสมบูรณ์ ต้องเต็ม ต้องเต็ม เพราะมรรคผลมีหนึ่งเดียว

โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ใครจะปฏิบัติทางไหน? แนวไหน? ใครจะปฏิบัติปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ เวลามันสรุปลงนะมันอันเดียวกัน ถ้ามันไม่อันเดียวกันพูดไม่ได้หรอก แม้แต่อาจารย์สิงห์ทอง เห็นไหม อาจารย์สิงห์ทองท่านบอกท่านพูดไป ท่านบอกกิเลสมันหายไปโดยไม่รู้ว่ามันหายตรงไหน? ไปคุยกับหลวงตา หลวงตาท่านยังยอมรับเลย ถ้ามันเป็นความจริง คือความจริงอันเดียวกันนั่นแหละ จะมาแนวไหน ทางไหนเหมือนกันหมด

ฉะนั้น คำว่าเหมือนกันหมด มันต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกันหมด ฉะนั้น จะอ้างว่าจริตนิสัยไม่เหมือนกัน อะไรไม่เหมือนกัน จริตมันก็จริตสิ จะทำก็ทำให้เหมือนกัน นี่อย่างเช่นคนเราเป็นข้าราชการ เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมกร เป็นอะไร เวลาได้เงิน ๑ บาท ๑ บาทมันเท่ากันไหม? แบงก์บาทเหมือนกันไหม? เหมือนกัน จะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ เงินบาทก็บาทหนึ่ง ๑๐๐ ก็ ๑๐๐ เหมือนกันหมดแหละ

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันได้ผลแล้วมันก็เหมือนกันหมดแหละ นี้คำว่าเหมือนกันหมด ทีนี้คำว่าท้อแท้ เหนื่อยหน่ายมันไปทอนไง มันไปทอน แล้วเขาบอกว่าถ้าบารมีเราถึงแล้ว ท้อแท้ เหนื่อยหน่ายมันก็ถึงมรรคผลชาตินี้ใช่ไหม? คนมาด้วยกัน ๕ คน บอกจะเดินไปถึงปลายทาง อีกคนหนึ่งบอกว่าไปก่อนจะนั่งอยู่นี่ แล้วพอไปถึง ๕ คนถึงหมดหรือ? ไม่ใช่ ไอ้คนนั่งอยู่มันไม่มา ถ้ามันเหนื่อยหน่ายแล้วมันมาไม่ได้ มันไม่มาหรอก

ฉะนั้น บารมีถึงหรือไม่ถึงมันอยู่ที่การปฏิบัตินะ ปฏิบัติให้จริงจัง ให้เข้มข้น แล้วเวลามันทุกข์ มันยากมันเรื่องธรรมดานะ เวลามันทุกข์ มันยาก มันท้อแท้ พอท้อแท้เดี๋ยวก็ฮึดขึ้นมาใหม่ มันท้อแท้นะ พอท้อแท้ คำว่าท้อแท้นี่สติมันขาดแล้ว พอท้อแท้นี่นะคำบริกรรมมันขาดช่วงแล้ว เราจะใช้ปัญญา แบบว่าเราทำงานอยู่มันไม่ต่อเนื่อง พอไม่ต่อเนื่อง ช่องว่างนั้นน่ะกิเลสมันสอดเข้ามา พอมันสอดเข้ามามันก็เป็นเว้นวรรคแล้ว เว้นวรรคแล้วมันจะต่อกันอย่างไรล่ะ?

ฉะนั้น ต่อกันอย่างไรเราก็ปล่อย แล้วเราก็เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นเราทำมาต่อเนื่องๆ ความต่อเนื่องนั่นน่ะ ในพระไตรปิฎกทุกข้อ เห็นไหม เพราะการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอคือการทำไม่ต่อเนื่อง พวกเรานี่ทำไม่ต่อเนื่อง อย่างเช่นเวลาปฏิบัติถึงทีหนหนึ่งมันปล่อยทีหนึ่ง แล้วก็ปล่อยไปเลย แล้วจะมาปฏิบัติใหม่ก็ต้องมาฟื้นใหม่ แต่ถ้ามันปล่อยแล้วนะ พอปล่อยปั๊บมันก็จับอีก พิจารณาซ้ำเข้าไปอีกมันก็ปล่อยอีก ปล่อยอีกก็จับอีก พิจารณาซ้ำเข้าไปก็ปล่อยอีก พอปล่อยอีกก็จับอีก ก็พิจารณาซ้ำไปเรื่อยๆ เพราะเวลามันปล่อยแล้ว มันปล่อยมีไง

เวลาปล่อยหมดแล้ว เห็นไหม เฮ้อ ว่าวง สบายเลย ใครสบายวะ? เออ มึงอยู่นี่อีกแล้ว ซัดต่อ พิจารณาต่อ พอพิจารณาต่อมันก็ปล่อยอีก อู้ฮู โล่งหมดเลย เออ ใครรู้ว่าโล่งวะ ก็มึงไง จับอีก ต่อไปอีก ต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปเรื่อยๆ นะ มันจะปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า เวลามันขาด ขาดคือมรรคสามัคคี มรรคญาณมันทำให้ขาด พอมันขาดนี่ผลัวะ! ขาดหมด เอ๊อะ! เอ๊อะ! ไม่มีอะไรเลย แต่รู้อยู่

คำว่าขาด ยถาภูตัง ยถาภูตังเกิดญาณทัศนะไง ยถาภูตัง ญาณทัศนัง เห็นไหม เกิดยถาภูตังคือการขาด เกิดญาณทัศนะเห็นว่าการขาด โอ๋ย ชัดเจนมาก คนไม่รู้พูดไม่ได้หรอก ก็คนไม่รู้มันก็จะย่ำอยู่กับที่ นี่พูดถึงอย่าให้มีเหนื่อยหน่ายนะ พอเหนื่อยหน่ายนะ เพราะคำว่าเหนื่อยหน่ายมันจะเข้าข้อที่ ๓.

ถาม : ๓. การเป็นผู้ปฏิบัติ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง กับผู้ที่ปฏิบัติแบบฮึดสุดๆ ต้องเอาให้ได้ เราควรวางใจแบบไหน?

หลวงพ่อ : มันก็ต้องวางใจแบบผู้ปฏิบัติจริงจังสิ ฮึดสุดๆ นั่นล่ะ คำว่าฮึดสุดๆ คือสติสมบูรณ์ ระลึกรู้เต็มๆ ก็คือสติสมบูรณ์ แต่พอเราระลึกรู้ปั๊บเดี๋ยวมันก็อ่อนลงๆ สติเป็นแบบนี้ พุทโธคำแรกนี่สติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คำที่ ๒ เหลือ ๙๙ คำที่ ๓ คำที่ ๔ มันจะเหลือ ๙๐ พอเหลือ ๘๐ สติมันจะอ่อนลง พอฮึดปั๊บสติมันจะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วบอกถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างนี่ ๕๐-๕๐ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ แล้วปฏิบัติถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างแล้วบอกจะเอา

ไม่ได้ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง นี่กิเลสกับธรรมมันคลุกเคล้ากัน เวลาเราปฏิบัติ นี่เราปฏิบัติเป็นธรรมๆ นี่สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เป็นธรรมๆ กิเลสมันก็โดนเบียดไปๆ เห็นไหม นี่เราเบียดก่อน เราเสียดสีให้กิเลสมันอ่อนแรงไปๆ พออ่อนแรงไปจนมันยืนไม่ได้ พอเราใช้ปัญญาของเรา พอมันรวมลงมรรคสามัคคี มันสมุจเฉทขาดผลัวะ! สิ่งนั้นมันก็สมบูรณ์ของมันขึ้นมา ถ้ามันสมบูรณ์ขึ้นมา เห็นไหม นี่มันก็เป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น คำว่าเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ กับถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างมันจะเป็นอันเดียวกัน เขาบอกอันเดียวกันได้อย่างไร? หลวงพ่ออ่านผิด นี่มันก็เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ จะถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่างมันก็ไม่ใช่อันเดียวกันแล้ว นี่คำว่าไม่ใช่อันเดียวกันนั้นคือตัวเขียน แต่ถ้าการปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเราไม่สมบูรณ์ของเรา สติ เห็นไหม สติ มหาสติ

คำว่าสตินะเราตั้งของเรา แล้วมันสมบูรณ์ของเรา พอเราปฏิบัติไปแล้วเราจะรู้เลย สติแบบนี้เราสร้างขึ้นมา อู้ฮู ล้มลุกคลุกคลานนะ แต่พอมันละเอียดเข้าไป พอมันเป็นมหาสติ เราเองนี่ประสบการณ์ของเราเอง ถ้าสตินะเหมือนโทษฟรีคิกธรรมดา แต่ถ้าเป็นมหาสตินะจุดโทษเลย เพราะจุดโทษระหว่างประตูกับผู้เตะ แต่ถ้าเป็นสตินะฟรีคิก มันมีตั้งกำแพงได้ มันมีป้องกันได้ นี่สติ ถ้ามหาสตินะตัวต่อตัว จ่อกันเลยตัวต่อตัว ผิด

นี่ความรู้สึกของเรา เวลาเราปฏิบัติไปนี่ อ๋อ อย่างนี้เป็นสติ อ๋อ มหาสติเป็นแบบนี้ แล้วจะเป็นสติอัตโนมัตินะ เป็นสติพร้อมตลอดเลย สติจะพร้อมตลอด เวลามันหมุนของมันเต็มที่แล้วสติจะพร้อมตลอดเลย นี่ปฏิบัติไปมันถึงจะรู้ไง แล้วมันถึงจะซึ้ง ซึ้งคำว่าสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ เราถึงบอกสติมันยังมีเข้มแข็ง อ่อนแอ มีเข้มแข็งกว่านั้น

ถ้าเราไม่เข้าใจนะ สติก็คือสติไง สติก็คือสติ สติสมบูรณ์ตลอด สติ แหม ปวดหัว แต่เวลาคนปฏิบัติไปแล้วมีมรรคหยาบ มรรคละเอียด เวลามรรคมันละเอียดเข้าไปมันจะชำระกิเลสแบบละเอียด แต่นี้เราทำอยู่นี่มรรคหยาบๆ มรรคหยาบๆ ยังล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้นะ เราพยายามทำของเรา ตั้งสติใหม่ไง

นี่คำว่า “บารมีเต็ม” เขาถามเรื่องคำว่าบารมีเต็ม แล้วเราจะปฏิบัติอย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไร?

ถาม : ๑.การประเมินตัวเองอย่างไร?

๒.การปฏิบัติแล้วนี่เราจะตั้งใจอย่างใด?

๓.ทำแบบว่าถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง หรือว่าต้องทำแบบสุดๆ

หลวงพ่อ : นี่อย่างนี้มันเป็นเรื่องในหัวใจทุกๆ ดวงใจที่มีอยู่ แล้วเวลาเราปฏิบัติไป สิ่งที่ในทุกดวงใจมีอยู่เพราะเรามีกิเลส เรามีอวิชชา แต่ แต่มีมาก มีน้อย ถ้ามีมาก เห็นไหม ก็ทำให้แบบว่าเราจะต้องมีต้นทุนมากขึ้น เหมือนกับรถ รถนี่ถ้ารถของใครบุกป่าฝ่าดงมามันสกปรกมาก เวลาล้างมันก็ต้องล้างมาก รถใครโดนฝุ่นมา ฝุ่นมันเกาะมาเล็กน้อยก็ล้างง่ายขึ้น รถใครจอดอยู่เฉยๆ ไม่ได้ไปไหนเลยก็ล้างสะดวกขึ้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราปฏิบัติ นี่เราจะประเมินตัวเอง เราจะประเมินตัวเองว่าเราเป็นตรงไหน? ถ้าเราเป็นตรงไหน? ฉะนั้น รถของเราใช้แล้วเราก็รักษาของเรา ดูแลของเรา ทำความสะอาดของเรา มันจะลำบากลำบนขนาดไหนเราก็ต้องดูแลของเรา เพื่อประโยชน์กับรถของเรา รถคือหัวใจ หัวใจมันขับเคลื่อนไปด้วยมรรคญาณ หัวใจมันขับเคลื่อนไปด้วยสติ ขับเคลื่อนด้วยปัญญา ขับเคลื่อนไป ขับเคลื่อนไปสู่ความสะอาดของมันนะ

ฉะนั้น อย่างที่ว่าปฏิบัติไป เขาถามว่าบารมีเต็มอย่างไร? บารมีเป็นเรื่องบารมี ฉะนั้น ถ้าความเข้าใจของพวกเรานะ ถ้าบารมีเต็มแล้วก็เหมือนเรานี่มีเงินเต็มตัวเลย ไปไหนเรามีเงินจะซื้อได้หมด บารมีเต็มคือมันสะดวกสบายไง บารมีเต็มก็ต้องทำนะ บารมีเต็ม บารมีเต็มหมายถึง ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาที่สวนลุมพินี เห็นไหม เกิดมาเพิ่งเกิดนะ บอกว่า “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” นี่บารมีเต็ม บารมีเต็ม

แล้วยังมีครอบครัวนะ เสร็จแล้วเวลาออกประพฤติปฏิบัติอีก ๖ ปี บารมีเต็มนะ ๖ ปีนี่ทำทุกรกิริยาขนาดไหนบารมีเต็ม บารมีเต็มทำทุกรกิริยาอยู่ อดอาหารจนขนเน่า กลั้นหายใจจนสลบถึง ๓ หน นี่บารมีเต็ม บารมีพระพุทธเจ้าเต็มแน่นอน แต่เต็มขนาดไหนถ้าไม่ปฏิบัติ เต็มนะเดี๋ยวก็พร่อง แล้วก็วนในวัฏฏะ

บารมีเต็มหรือบารมีไม่เต็มต้องปฏิบัติด้วย บารมีเต็มหรือบารมีไม่เต็มเราตั้งใจทำของเราด้วย พอเราตั้งใจทำของเราไปนะ อย่าท้อถอย โยมอย่าท้อถอย เราเคยเป็นแบบโยมมาก่อน เราอยู่ในป่า ในเขานะ อดอาหารนี่ท้องร้องจ๊อกๆ หิวมาก อดนอนนะ ๗ วัน ๗ คืน อดนอนทั้งพรรษา ๓ เดือนเราไม่เคยนอนเลย อดนอน ๓ เดือน อดอาหารด้วย เดินจงกรมนี่โอ้โฮ อยากจะคลานไป มันเพลียหมด มันไม่มีแรงเลย แต่ก็ทำมา

มันจะทุกข์ยากขนาดไหน เพราะเราเกิดมาแล้ว เราไม่อยากเกิดอีก เราจะไปนะสู้อย่างเดียว แล้วขณะที่บอกว่าล้มลุกคลุกคลาน ที่ทำอยู่นี่ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้อะไรเลยเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะทำไม่เป็น เพราะภาวนายังไม่เป็น สู้ด้วยกำลังใจอย่างเดียว ไม่ได้อะไรเลย แต่พอมาอยู่กับหลวงตา มาอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านคอยประคอง ท่านสอนบ้าง แล้วเราเอาสิ่งนี้มาเป็นต้นทุน แล้วก็สู้อยู่อย่างนี้

อดนอน ไม่กินข้าวทุกข์มาก แต่ด้วยหัวใจที่ว่าจะไปให้ได้ แล้วมีกำลังใจอันหนึ่ง ก็คือหนึ่งพระพุทธเจ้า สองหลวงปู่มั่น เวลามันทุกข์เต็มที่นะ มันบอกกับตัวเอง ว่าทุกข์ของเอ็งนี่นะไม่ได้ขี้เล็บของหลวงปู่มั่นหรอก โอ้โฮ ไอ้ทุกข์ๆ นี่หายหมดเลย เวลามันสู้ไม่ไหวนะ สู้ไม่ไหวเลยนะมันจะบอกกับตัวเอง พูดกับตัวเองไง

“ทุกข์ของมึงนี่นะไม่ได้ขี้เล็บหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นทุกข์กว่านี้เยอะนัก พระพุทธเจ้าทุกข์กว่านี้เยอะนัก”

ไอ้ที่ทุกข์ๆ อยู่นี่หายเกลี้ยงเลย สู้อีกๆ นี่ทำมาอย่างนี้ บารมีเต็มหรือไม่เต็ม ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราไม่เอาจริง บารมีก็คือบารมี บารมีคืออำนาจวาสนา จังหวะที่เราควรจะได้ลาภ ได้ต่างๆ แล้วถ้าเราไม่ได้เดี๋ยวมันก็พร่องไป แต่ถ้าเราได้ แล้วเราขวนขวายทำของเรา นี่เราปฏิบัติของเรา แล้วมันจะเป็นความจริงของเรา อย่าท้อถอย เราต้องเข้มแข็ง ปฏิบัตินะ

“ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม”

ปัจจุบันนี้ในโลกเขานะด้นเดาธรรมกัน ไปจำเค้าโครงเรื่องของครูบาอาจารย์มา ฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์มา แล้วก็สร้างพล็อตเรื่องไว้ในใจ แล้วก็ปฏิบัติขึ้นมา จิตมันก็หลอกเอาเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็มรรคผล นิพพานเต็มไปหมดเลย แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราจริงๆ นะ เราทำของเรา เราทำของเรา ให้มันเป็นจริงของเรา ไม่มีพล็อตเรื่อง

เวลามันจะมีพล็อตเรื่องมานะ หลวงตาท่านปฏิบัติพิจารณาอสุภะจนมันหายหมดเลย ไม่เห็นหัว เห็นหางมันเลย ท่านบอกว่าอย่างนี้ไม่เอา มันไม่มีเหตุมีผล ท่านไปเอาสุภะมาเทียบไว้นะจนจิตมันไหวขึ้นมาอีก ถ้าเราไม่มีสตินะ พอมันพิจารณาอสุภะจนหายหมดเกลี้ยงเลยนะ ก็บอกพระอรหันต์นะก็ติดอยู่นั่นล่ะ มันก็หันอยู่ในกิเลสนั่นล่ะ มันยังมาไม่ได้หรอก

นี่มันมีพล็อตเรื่องของมัน ในปัจจุบันนี้โลกเขาเป็นกันอย่างนั้น ภาวนากัน เห็นไหม สร้างพล็อตเรื่องไว้ จำของครูบาอาจารย์ไว้ แล้วปฏิบัติขึ้นมา นี่จิตมันก็สร้างขึ้นมา เป็นพระอรหันต์หมดเลย แต่ถามว่าปฏิบัติอย่างไร? ไม่รู้ เพราะไม่กล้าพูด เพราะตัวเองก็สงสัย กลัวจะโดนขัดแย้ง แต่ถ้าผู้ปฏิบัติจริงที่เราทุกข์ เรายากอยู่นี่เราเข้มแข็งของเรา

ถูกก็รู้ว่าถูก ผิดก็รู้ว่าผิด ถ้ามันผิดเพราะว่ามันไม่มีคำตอบให้ตัวเอง ไอ้นี่มันแปลว่าอะไร? สงสัย ถ้าสงสัยไม่ใช่ มันไม่มีคำตอบให้ตัวเอง มันไม่ปัจจัตตัง มันไม่สันทิฏฐิโก ถ้ามันมีคำตอบให้ตัวเองหมดนะ มันเป็นอย่างนี้! มันเป็นอย่างนี้! ทำไมมันเป็นอย่างนี้ แล้วมันโต้แย้งไม่ได้ เห็นไหม ถ้ามันเป็นอย่างนี้ “ผู้ใดปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม”

โลกเขาปฏิบัติธรรมด้นเดาเอา ด้นเดาเกาหมัด หลวงตาว่าอย่างนั้น ด้นเดาเอา คาดหมายเอา ไม่สมควรแก่ธรรม เราต้องปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรม พยายามของเรา จะทุกข์ จะยาก เกิดมาชีวิตนี้มีค่า เรามีโอกาสแล้วเราต้องทำเพื่อตัวเราเอง เอวัง