เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ก.พ. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเรานะ สังคมเรา นี่เราต้องการให้สังคมเข้มแข็ง อยากให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วเราจะร่มเย็นเป็นสุขด้วย แต่ความจริงคือเราร่มเย็นเป็นสุขก่อน แล้วเราพยายามช่วย พยายามเป็นหลักสังคมจะร่มเย็นเป็นสุข ไก่เวลามันเจาะฟองไข่ออกมานะแม่มันฟัก พอแม่มันฟักออกมาเป็นตัวนะ แม่มันจะปกป้องดูแลลูกมัน กลัวเหยี่ยวจะมาฉกไป กลัวมันจะเจออุบัติเหตุ กลัวสัตว์จะคาบมันไปกิน เวลาแม่ไก่มันรักษาลูกไก่ของมันนะเพื่อให้ลูกไก่โตขึ้นมา

เด็ก เห็นไหม ดูสิเยาวชนมีความรู้สึกนึกคิด ถ้าความรู้สึกนึกคิดของเขาในเรื่องศาสนา เหมือนลูกไก่ ลูกไก่เวลามันฟักออกมาพ่อแม่ต้องดูมันนะ มันไม่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ “ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า เราองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด เราเป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา” พอเจาะออกมาแล้ว เป็นผู้เข้มแข็ง เป็นผู้รู้แจ้งโลกธาตุ มีอนาคตังสญาณรู้อดีต อนาคต

อดีต อนาคตมันมาจากไหน? มันมาจากบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาความรู้สึกนึกคิดของเรา เวลามันเติบโตขึ้นมา มันสนใจในศาสนา มันสนใจในการประพฤติปฏิบัติ มันเหมือนไก่นะ เหมือนลูกไก่ที่ออกจากฟอง แม่มันฟักออกมา พอแม่มันฟักออกมา แม่มันต้องปกป้อง ต้องดูแล ต้องทำให้ลูกมันเข้มแข็ง ต้องให้ลูกมันรู้จักว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นสัตว์ที่มันจะคอยโฉบเราไปกิน เวลาเหยี่ยวมันโฉบมานะ นี่สัตว์มันจะวิ่งเข้าหาที่หลบที่ซ่อน เพราะมันกลัวเหยี่ยวโฉบมันไปกิน

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดเราขึ้นมา กว่าจะมีศรัทธาความเชื่อขึ้นมา มีศรัทธาความเชื่อขึ้นมานะ แล้วกิเลสมันก็ฉกไปกิน ศาสนานี้มันหมดกาลหมดเวลาแล้ว มรรค ผล นิพพานมันไม่มี ปฏิบัติไปมันก็ปฏิบัติไปเสียเปล่า ทำตนให้ลำบากไปเฉยๆ นี่เวลาลูกไก่มันโตขึ้นมานะ กว่ามันจะเติบโตขึ้นมา เขาต้องปกป้องดูแลมัน เวลามีศรัทธา มีความเชื่อ มีความมั่นคงในหัวใจ กิเลสมันจะฉกไปกินหมดเลย แล้วกว่ากิเลสมันจะฉกไปกิน เห็นไหม ใครจะดูแลมัน ใครจะป้องกันมัน ใครจะรักษามัน

นี่เวลาจะดูแลรักษามัน ดูแลรักษาเพื่ออะไร? เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาเทศนาว่าการมา ได้พระอรหันต์มา ๖๐ องค์ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖๑ องค์

“เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก”

นี่โลกนี้เร่าร้อนนัก เห็นไหม เวลาสร้างศาสนทายาทขึ้นมาก็เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของโลกไง คนๆ เดียวจะไปรับผิดชอบทั้งโลกมันเป็นไปได้อย่างไร? มันก็ต้องมีองค์กร มันก็ต้องมีเครือข่าย มันก็ต้องมีสร้างศาสนทายาท ศาสนทายาทเพื่อมีธรรมในหัวใจขึ้นมา เพื่อเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นหลักในศาสนาขึ้นมา ร่มโพธิ์ร่มไทรมันจะเป็นที่พึ่งอาศัย ร่มเงามันก็เป็นที่อาศัยของสัตว์โลกแล้ว

แม้แต่ร่มเงาของมันก็ได้ที่พึ่งอาศัย มันยังให้อาหารเรา มันยังให้ที่พึ่งพาอาศัยเรา เปลือกของมันเป็นยารักษาโรค มันเป็นไปหมดเลย นี่ธรรมโอสถ ถ้าธรรมโอสถ ถ้าโดยทางโลกเขา ผู้ใดมีจิตเป็นสาธารณะ มีเป็นธรรม โลกก็ร่มเย็นเป็นสุข ผู้ใดมีกำลังช่วยเหลือเจือจานใช่ไหม? ผู้ใดเป็นผู้ชี้นำ นี่ผู้ใดๆ ผู้ใดคือมาจากใคร? ศาสนทายาทมันก็มีเข้มแข็ง มีอ่อนแอ มีปัญญามากขึ้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนมันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากการที่เราศึกษา การที่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะมาจากไหนล่ะ?

เวลาศึกษาขึ้นมา เห็นไหม ในทางโลก จำมาเท่าไหร่ก็ลืม ศึกษามาเท่าไหร่ก็ต้องทบทวน ทบทวนแล้วทบทวนเล่ามันก็จะลืมไปจากหัวใจ ก็ต้องทบทวนขึ้นมา แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินะ เวลามันทุกข์ เวลาทุกข์ขึ้นมา จิตใจมันจมอยู่กับใต้กิเลสที่มันเหยียบย่ำทำลายอยู่ นี่มันอึดอัดขัดข้อง เวลากิเลสตัวสุดท้ายนะ กิเลสหยาบๆ นู่นก็เป็นของเรา นี่ก็เป็นของเรา เวลากิเลสมีความโกรธ มีความอาฆาตมาดร้ายมันก็กระทบกระเทือนไปนะ กิเลสตัวสุดท้ายคือตัวอาลัยอาวรณ์

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส”

กิเลสที่ละเอียดลึกซึ้งนะ มันเฉยๆ อยู่นั่นน่ะ พลังงานเฉยๆ พลังงานที่ไม่มีสิ่งใด มันเป็นภวาสวะ เป็นภพ เป็นตัวพลังงาน ตัวพลังงานตัวส่งออก กิเลสตัวสุดท้ายคือตัวอาลัยอาวรณ์ ตัวคร่ำครวญนั่นน่ะ นี่มันละเอียดไง ทีนี้กิเลสมันอยู่ไหนล่ะ? กิเลสมันอยู่ไหน? นี่ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะตีความเอาไอ้นั่นเป็นกิเลส ไอ้นี่เป็นกิเลส ชี้เข้าไปที่อื่นหมดแหละ ไอ้นั่นเป็นกิเลส ไอ้นี่เป็นกิเลส ไม่ชี้มาที่ตัวเลย ไม่ชี้เลยนะ นี่เวลาพูด เห็นไหม หนวกหูๆ คนอื่นพูดหนวกหูหมดเลย แล้วทำไมคนพูดไม่หนวกหู?

เวลาพูดนะ ถ้ามันมีคุณธรรม มันมีธรรมมา สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ น้ำถ้ามันพอดีพอควรของมัน มันเป็นการเกษตรกรรม มันเป็นการเลี้ยงสัตว์ มันเป็นการทำประมง มันเป็นการทำอาหาร มันเป็นประโยชน์ไปหมดเลย แต่ถ้าน้ำมันหลากเกินมานะ มันท่วมท้น มันทำลายหมด ถ้าน้ำมันแห้งแล้งเราก็อยู่กันไม่ได้ การแสดงฤทธิ์ในพุทธศาสนาคือการแสดงธรรม การแสดงธรรมคือการบันลือสีหนาท นี่กิเลสมันกลัวธรรมนะ กิเลสมันไม่มีเหตุผล เราจะไปหาเหตุผลกับกิเลส กิเลสมันหัวเราะเยาะเลย แต่ถ้าธรรมนี่มีเหตุผล ธรรมะมีเหตุมีผล เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม

ฉะนั้น เหตุและผลโดยใช้ปัญญาของเรานะ ธรรมคือสัจจะ คือมีข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงนี่มันแสดงออกมา เห็นไหม แสดงออกมามันไม่มีเหตุผลโต้แย้งได้ กิเลสมันกลัวธรรม เพราะมันไม่มีเหตุมีผลที่จะโต้แย้งธรรมได้ แต่ในปัจจุบันนี้ เวลาเราเกิดขึ้นมา ในสติปัญญาของเรามันเป็นปัญญาของกิเลสไง เพราะกิเลสมันพาใช้ กิเลสมันคิดขึ้นมา กิเลสมันต้องการขึ้นมา เพราะกิเลสมันคืออะไร? กิเลสตัวที่ละเอียดที่สุดคือตัวพลังงาน อวิชชาตัวความไม่รู้ พอพลังงาน เห็นไหม พลังงานส่งออกมันก็ส่งออกไปในความคิด ในความคิดมันก็ไปหาเหยื่อ มันก็ไปหาผลประโยชน์ของมันนะ

นี่ความรู้สึกนึกคิด ธาตุไม่ใช่กิเลสหรอก ธาตุเป็นกิเลสไม่ได้ แต่ตัณหาความทะยานอยากมันอาศัยความรู้สึกนึกคิด อาศัยอารมณ์ไปหาเหยื่อ มันต้องการสิ่งใดมันก็เอาไปตะครุบสิ่งนั้น เห็นไหม ความรู้สึกนึกคิดไม่ใช่กิเลส แต่ตัณหาความทะยานอยากในความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นกิเลส ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาปัญญาที่มันออกมา มันออกมาจากไหน? มันออกมาจากพลังงาน พลังงานเป็นอวิชชามันจะมีปัญญาสะอาดบริสุทธิ์ไปได้ไหม? มันถึงเป็นปัญญาของกิเลสไง

ในปัจจุบันนี้ที่เราใช้ปัญญาๆ ปัญญาของกิเลสคือวิชาชีพใคร มุมมองใคร จริตใคร ตัณหาใคร ก็มุมมองตามนั้น แล้วก็เถียงกันด้วยความดีนะ ทุกคนคิดดีหมดเลย แล้วก็ความดีกับความดีทะเลาะกัน ทะเลาะกันด้วยเรื่องความดีนะ ทะเลาะกัน แต่ถ้าเวลาถึงที่สุดแล้วมันจะย้อนกลับไป ถ้าทำความสงบของใจก่อน ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอันนี้มันไม่มีที่มาที่ไป นี่งงไหม? แต่ปัญญาของเราปัญญาจากสัญญา เราจำมา เราศึกษามา เรามีข้อมูลมา เขาเรียกว่าสัญญา กิเลสมันรู้ทันแล้ว

กิเลสมันเอาสิ่งนี้ล่อลวงเรานะ บิดเบือน บิดเบือนให้ความคิดเราไม่จริง ความคิดเรามีกิเลสผสมมา ความคิดเรามีอนุสัย ความรู้สึกนึกคิดของเราเจือมาตลอด มันมีกิเลสเจือมาตลอดมันถึงไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันถึงเป็นภาวนามยปัญญาไม่ได้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา แล้วทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบ ความสงบ เห็นไหม ดูสิเวลาเราฟุ้งซ่าน เราอึดอัดขัดข้อง ถ้าความสงบคือความโล่ง ความปลอดโปร่ง ความโล่งโถง ความสงบ ความระงับ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา

สมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธินะเป็นปัญญากิเลสหมดเลย ตัวสมาธิทำให้กิเลสมันสงบระงับลง พอกิเลสสงบระงับลงแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา การฝึกหัดใช้ เห็นไหม ถ้าไม่ฝึกหัดใช้ขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ เวลาเขาบอกว่าใช้ปัญญาๆ ปัญญาที่ใช้อยู่นี่เป็นปัญญาหมดเลย ปัญญาของกิเลสทั้งนั้น คิดจนจบ คิดกระบวนการมาจบสิ้นหมดแล้ว ปล่อยวางหมดเลยนะ เดี๋ยวก็คิดอีก เดี๋ยวก็ทุกข์อีก เดี๋ยวก็เผาอีก ไม่มีวันจบหรอก ไม่มีวันจบ แต่เขาคิดว่าจบ แล้วเวลามันเสื่อมนะคอตก

เวลาบอกเราก็ทำดี เราทำดีมาหมดแล้ว เราใช้ทุกอย่างมาหมดแล้ว ทำไมมันอัดอั้นล่ะ? มันไปไม่รอดล่ะ? แต่ถ้าเราทำความสงบของใจก่อน ทำความสงบของใจแล้ว เวลาเกิดปัญญา ปัญญาที่ไม่ใช่สัญญา คือไม่มีต้น ไม่มีที่มาที่ไป คือไม่มีสัญญา ไม่มีใครไปสร้างมันขึ้นมา มันจะเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากสัจจะ ถ้าปัญญาเกิดจากสัจจะนะมันมาจากไหนล่ะ? มันก็มาจากเริ่มต้น ถ้าเรายังไม่มีตรงนี้เราก็ฝึกหัด ฝึกความคิดไป นี่มันจะหมุนไปเรื่อยๆ ธรรมจักรมันจะหมุนไปเรื่อยๆ หมุนไปคือปัญญารอบหนึ่ง มันก็ปล่อยวางหนหนึ่ง ปล่อยวางหนหนึ่ง

มันต้องมีเหตุมีผลของมันนะ มันต้องจับกิเลสได้ มันต้องจับผู้ร้ายได้ มันต้องจับผู้ฉ้อโกงได้ แล้วมันพิจารณา เอ็งฉ้อโกงอย่างไร? เอ็งยึดมั่นอย่างไร? เอ็งทำไมยึดมั่นขนาดนั้น? เอ็งทำไมทำให้ข้าทุกข์ขนาดนี้? เอ็งทำไมทำลายข้าตลอดมา? พิจารณาไปเถอะ พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก นี่มันจะยอมสารภาพไปเรื่อยๆ ยอมสารภาพไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจนตรอกนะ สังโยชน์ขาด ทิฏฐิมานะ ทิฏฐิของใครทิฏฐิของมัน ทุกข์ของใคร ทุกข์ของมัน

เวลาเหตุผลมันชำระล้างนะ เวลามันขาดนะ สังโยชน์มันขาด เห็นไหม ดั่งแขนขาด ความผูกพันของใจที่มันขาดออกไปจากใจ ปอกเปลือกไง ปอกเปลือกหัวใจ ปอกเปลือกความรู้สึกนึกคิด ปอกมันออกๆ ถ้ามันจริงนะ เวลามันปอกมันขาดนะ สิ่งที่ขาดขึ้นมา นี่ลูกไก่ เวลาพ่อแม่มันฟักมา พ่อแม่มันจะดูแลรักษาด้วยความผูกพัน จิตใจที่มีศรัทธา มีความเชื่อ ครูบาอาจารย์พยายามจะชี้นำ พยายามจะปกป้อง พยายามจะป้องกันให้มีโอกาส โอกาสในการประพฤติปฏิบัติ โอกาสในการใช้ปัญญา

เวลากรรมฐานเรานะ เวลามีครูบาอาจารย์เรียกว่า “พ่อแม่ครูจารย์” พ่อแม่คือการดูแลรักษาในทางความเป็นอยู่ อาจารย์คือรักษาในทางหัวใจ พ่อแม่ครูจารย์นะจะปกป้อง จะดูแล เราจะไม่รู้หรอกว่าคนที่ประพฤติปฏิบัติเขาต้องการเวลาอย่างใด เขาต้องมีความสงบระงับขนาดไหน เขาต้องการเวลาส่วนตัวที่เขาพยายามจะต่อสู้กับกิเลสของเขาอย่างใด? ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมาจะรู้ จะรู้ว่าสิ่งที่เป็นความมุมานะ ความบากบั่นอันนั้นมันจะต้องมีเป้าหมาย มันต้องมีคุณธรรม คือมีความสงบระงับ มีความสุขอันนั้นหล่อเลี้ยง ถ้าไม่มีความสงบระงับ มีปัญญาหล่อเลี้ยง เขาจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิแบบนั้นไม่ได้

คนที่จะนั่งสมาธิ เดินจงกรมด้วยความวิกฤติ อุกฤษฏ์ เพราะเขามีธรรมะ มีสมาธิในหัวใจของเขา มีปัญญาที่หล่อเลี้ยงในใจของเขา เขาจะมีสิ่งที่หล่อเลี้ยงใจของเขา เขาถึงแสดงกิริยาอย่างนั้นออกมาได้ แต่อย่างเรานี่เรายังไม่มีอาหารอย่างนั้น ไม่มีอาหารของใจที่ให้ใจมันฮึกเหิมได้ขนาดนั้น เราทำแล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลานตลอดไป เวลาแม่ไก่มันดูแลลูกไก่ มันก็ดูแลด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก เวลาธรรมของครูบาอาจารย์ดูแลลูกศิษย์ลูกหา เห็นไหม เวลาซึ้ง หลวงตาท่านบอกว่า

“อยู่กับหลวงปู่มั่นนะกลัวก็กลัว กลัวหลวงปู่มั่นก็กลัว”

กลัว กลัวเพราะสิ่งที่เราไม่รู้นี่ท่านรู้ ท่านชี้มานะ ท่านชี้มาในใจของเรา นี่อันนี้เป็นกิเลส อันนั้นเป็นกิเลส เราไม่เห็นไง

“กลัว! กลัวก็กลัว รักก็รัก เคารพก็เคารพ แต่กลัว!”

กลัวเพราะอะไร? กลัวเพราะสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยในหัวใจของเรา เราต้องการเอาออก แล้วเราไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน? เหมือนคนทำผิด แล้วเจอเจ้าหน้าที่นี่กลัวมาก กิเลสในหัวใจมันทำผิด ฉะนั้น มันก็กลัวเป็นธรรมดา แต่ในเมื่อเราอยากจะสำรอก อยากจะคายมันออก เราก็ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง เห็นไหม กลัวก็กลัว รักก็รัก เคารพก็เคารพ นี้เป็นผู้ที่ระหว่างลูกศิษย์กรรมฐานกับครูบาอาจารย์เขาเป็นแบบนั้น

เราดูเด็กน้อย เวลาเขาถามปัญหาของเขา เขามีศรัทธาของเขา เขาไร้เดียงสานะ เขาสนุกครึกครื้น เขายิ้มแย้มแจ่มใส นี่เพราะเขาไร้เดียงสา เขายังไม่รู้หรอกว่ากิเลสมันโหดร้ายแค่ไหน มันทำให้ชีวิตของคนผิดพลาดได้อย่างใด ฉะนั้น นี่เวลาธรรมะเป็นอย่างนั้น เวลาตอบปัญญา โอ๋ย มีความสุข หัวเราะยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะเขายังไร้เดียงสา เขายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เขายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ แต่ถ้าเขาปฏิบัติไปแล้วนะเขาจะต้องมีสติ เขาต้องมีปัญญาของเขา เขาจะต้องรักษาใจของเขา เพราะสิ่งนั้นจะเป็นมรรคญาณ สิ่งนั้นจะเป็นสัจจะ เป็นความจริง

ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่เกิดกับเขา จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา จะทำให้เขารู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด จะทำให้เขารู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งนั้นจะเป็นสมบัติของเขา ถ้าเป็นสมบัติของเขา ถ้ายังไม่รู้มันไร้เดียงสา ไร้เดียงสานี่ดูแล้วมันน่ารัก มันไร้เดียงสา แต่จะประพฤติปฏิบัติมันจะไร้เดียงสาไม่ได้ มันจะต้องรู้ทัน ถ้าเราไร้เดียงสา จะเป็นเหยื่อให้กิเลสมันดื่มกินอยู่อย่างนั้นตลอดไปได้อย่างใด? แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมามันจะมีคุณธรรมของมัน มันจะมีปัญญาของมัน มันจะตอบโต้ จะมีการกระทำ อันนั้นจะเป็นประโยชน์นะ

นี่พูดถึงว่าเวลาจิตที่มันมีศรัทธา มีความเชื่อ เหมือนลูกไก่ตัวอ่อนๆ แล้วแม่ไก่จะดูแลมัน จะฟูมฟักมัน ให้มันเติบโตขึ้นมาในหัวใจของเรา ในการประพฤติปฏิบัติธรรมของเรา เรามีสติปัญญา เป็นพ่อเป็นแม่ที่จะรักษาใจ เราต้องสร้างแม่ไก่ของเราเอง เราจะปกป้องลูกไก่ของเราเอง เราจะพัฒนาหัวใจของเราเอง แล้วเราจะบรรลุธรรมเอง เอวัง