เทศน์บนศาลา

ธรรมตามน้ำ

๖ เม.ย. ๒๕๕๕

 

ธรรมตามน้ำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แต่นี้มันเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลแล้วนะ ทุกคนมีความรู้สึกนึกคิด ทุกคนมีหัวใจแล้วเรามีอำนาจวาสนา เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่น เห็นไหม ศาสนาของผู้มีกิเลส คำว่า “มีกิเลส” เขาไม่รู้จริงถึงการกำเนิดของชีวิต ชีวิตนี้มาจากไหน เกิดมาเพราะสิ่งใดพาเกิด เกิดมาแล้วมาอยู่ดำรงสถานะนี้เพื่อสิ่งใด แล้วตายไปแล้วไปไหน

นี่พูดถึง เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมมา บุพเพนิวาสานุสติญาณ ก่อนที่จะมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ อดีตชาติที่ได้สั่งสมมา ทำอย่างใดมา ถ้าปฏิบัติไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จุตูปปาตญาณ ยังไปเกิดในอนาคตอีกข้างหน้า

แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณาของท่านในปัจจุบันธรรม เป็นอาสวักขยญาณ ทำลายถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ปฏิญาณตนว่า “เราเป็นพระอรหันต์” แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาก็ปฏิญาณตนของเขาว่าเป็นพระอรหันต์ แต่เป็นอย่างใด

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เราเป็นพระอรหันต์” เป็นที่ไหน? เป็นที่เวลาท่านเทศน์ธัมมจักฯ ปัญจัควคีย์เป็นผู้ที่อุปัฏฐากมา คนที่อุปัฏฐากมาคือคนที่คุ้นเคยกัน อยู่กันมา ๖ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมานี่เป็นผู้ที่รื้อค้นๆ แต่ผู้ที่อุปัฏฐากเขาเป็นพราหมณ์ เป็นพราหมณ์นี่เขาต้องศึกษาวิชาการของเขา เพราะว่าเขาเชื่อมั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขาดูพุทธลักษณะ

พุทธลักษณะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันตรง เพราะว่ามันมีในจารึกของเขามา เราจะบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเบี่ยงเบนหรือหลอกลวงใคร ผู้ที่เขามีปัญญา เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่า “เราสำเร็จแล้ว เราเป็นพระอรหันต์” คำว่า “เป็นพระอรหันต์” มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปฏิญาณตน แต่ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาได้มีปฏิญาณตนว่าเขาสิ้นกิเลสไหม? ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะบอกว่ามีการประพฤติปฏิบัติไปเพื่ออ้อนวอน เพื่อให้ถึงวันสิ้นโลก จะมีผู้มาตัดสินความดีความชั่วของเรา ความดีความชั่วของเราต้องให้มีใครเป็นผู้ตัดสินอีก

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อสิ่งใดเลย ให้เป็นสัจจะความจริงในท่ามกลางหัวใจของเรา นี้เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา เราถึงต้องมีบุญกุศล ถ้ามีบุญกุศล ตอนนี้ วันนี้จะฟังธรรม

ฟังธรรม ธรรมะคืออะไร? ธรรมะคือสัจจะ คือความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมาแล้ว แล้วเวลาตรัสรู้ธรรมมาแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงธรรม แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ผู้ที่แสดงธรรมเขาเอาอะไรมาแสดง ถ้าเป็นการแสดงตามความเป็นจริงนะ สิ่งที่ความเป็นจริง มันจะมีข้อเท็จจริง เป็นความจริง มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นความสมดุล เป็นความจริงที่ว่า ชีวิตนี้ของเราเกิดมานี่เรามีกิเลส เรามีอวิชชา

สิ่งที่คำว่า “มีกิเลส มีอวิชชา” สิ่งนี้มันขับดัน พอมันขับดันของมัน เป็นความจริงของชีวิตนะ ความจริงของชีวิต เวลาเกิด เกิดตามกรรม ใครมีอำนาจวาสนามากสูงส่งขนาดไหน เกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นมนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัตินี้มีคุณค่ามากเพราะจิตมันอยากเกิดมาก

คำว่า “มีคุณค่ามาก” เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบไว้ว่า เหมือนเต่าตาบอด จิตนี้เหมือนเต่าตาบอด อยู่ในทะเลนะ เวลามันโผล่ขึ้นมาจากน้ำ ถ้าเข้าในบ่วง เข้าในบ่วงนั้น เหมือนกับจิตมันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ถ้ามันได้เกิดเป็นมนุษย์เหมือนเต่าตาบอดตัวนั้น โผล่จากน้ำขึ้นมาแล้วอยู่ในบ่วงนั้น แล้วเต่าตาบอดอยู่ในทะเลนี่มันจะโผล่เข้าบ่วง มันจะมีโอกาสมากน้อยได้ขนาดไหน

แต่เมื่อเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มันเป็นโอกาสของเรามหาศาลเลย ทีนี้พอเกิดเป็นมนุษย์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผู้มีปัญญา คนที่มีปัญญาเขาจะเห็นคุณค่าของชีวิตว่าชีวิตนี้มีคุณค่า มีคุณค่าที่ไหน? มีคุณค่าที่ว่าเรายังมีลมหายใจ ยังมีความรู้สึกนึกคิด เรายังแก้ไขและดัดแปลงตนได้ คนที่จะหมดโอกาสที่ได้ดัดแปลงตนคือคนที่เสียชีวิตไปแล้ว

คนเสียชีวิตไปแล้ว เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมนี้ละเอียดลึกซึ้งนัก “จะสั่งสอนใครได้หนอ สั่งสอนใครได้หนอ” แล้วพอถึงเวลาจะออกเผยแผ่ธรรม เล็งญาณไปอาฬารดาบส อุทกดาบส ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศึกษากับเขา ได้สมาบัติ ๘ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความรู้เหมือนเรา เสมอเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอาจารย์สอนได้”

เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเขา ถึงได้รู้ว่าเขาได้สมาบัติ ถ้าเขาได้สมาบัติ จิตใจของเขานี่มันเป็นฌานสมาบัติ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ ถ้าได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรม จะบรรลุธรรม แต่เขาก็ได้ตายไปแล้ว เห็นไหม เขาได้ตายไปแล้ว

พอตายไปแล้ว เล็งบุคคลต่อไปเป็นใคร ปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากเรา ได้ศึกษากันมา ได้อุปัฏฐากกันมา ได้ฝึกฝนมา ๖ ปี ไปเทศนาเอาปัญจวัคคีย์ เอาคนเป็นไง เอาคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่มีโอกาสได้แก้ไขดัดแปลง แต่อุทกดาบส อาฬารดาบสนั้นตายไปแล้ว พอตายไปแล้ว

ตายไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเวลาตายไปในวัฏฏะ จุตตูปปาตญาณ เขาเกิดก็รู้ ทำไมไม่ตามไปสอนเขา คำว่า “ตามไปสอนเขา” เวลาตามไปสอนนะ ตามไปสอนแม่บนสวรรค์ ไปสอนแม่บนสวรรค์ แต่เวลาจะตามไปสอนคนอื่น เขามีความผูกพันอย่างไร ถ้ามีความผูกพันนะ เวลาเขาไปเกิดเป็นภพชาติใหม่ เขาเป็นบุคคลคนใหม่ ความผูกพันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เวลาเราเกิดมา เรายังมีชีวิตอยู่ เรามีโอกาสได้ดัดแปลงแก้ไข ทีนี้การฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเตือนสติไง ฟังธรรม เห็นไหม ใครอยู่บ้านนะ ใครมีทรัพย์สมบัติมาก ใครมีทรัพย์สมบัติน้อย คนนั้นจะรู้ ใครอยู่บ้านหลังใหญ่หลังเล็กก็จะรู้ใช่ไหมว่า เรามีอยู่บ้านหลังใหญ่ เราเป็นคนที่มีฐานะ คนที่อยู่บ้านหลังเล็กคือคนที่มีฐานะด้อยกว่า นั้นสมบัติทางโลก

แต่เวลาฟังธรรมนะ มันเตือนที่นี่ไง เรามีจิตใจที่ใฝ่ศึกษา เรามีจิตใจที่ใฝ่ประพฤติปฏิบัติ เราจะสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้าเราสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมาในหัวใจของเรานะ ใครทำความสงบของใจได้ เหมือนคนที่ตากแดดตากฝน แล้วเขามีบ้าน มีคูหาที่พึ่งอาศัย ถ้ามีคูหาที่พึ่งอาศัย คนที่มีบ้านหลบแดดหลบฝน กับคนที่ไม่มีบ้านหลบแดดหลบฝน มีความทุกข์แตกต่างกันอย่างใด

เรามองกันแต่ว่ามีบ้านในชาติปัจจุบันนี้ เรามองมีบ้านแต่ที่เป็นวัตถุไง แต่เราไม่คิดว่าเรามีบ้านเรือนในหัวใจ คูหาที่พักใจของเรามันอยู่ที่ไหน คูหาพักใจของเราไม่มี เพราะเราไม่รู้จักเลย ถ้ารู้จัก เห็นไหม เราฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ไง ฟังธรรมเพื่อเตือนสติปัญญาของเรา

ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ ทรัพย์ภายนอกเราก็หา เพราะหน้าที่การงานนี่มันเป็นหน้าที่การงาน มนุษย์จะไม่มีหน้าที่การงานได้อย่างไร ถ้ามนุษย์ไม่ต้องกิน ไม่ต้องใช้ มนุษย์ไม่ต้องมีหน้าที่การงาน มนุษย์ต้องกินต้องใช้ ฉะนั้น มนุษย์ต้องมีหน้าที่การงาน ทีนี้หน้าที่การงานของมนุษย์ก็คือปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อหาดำรงชีวิต แล้วดำรงชีวิตนี้ไว้เพื่อสิ่งใด? ดำรงชีวิตไว้เพื่อเราแสวงหา หาอริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายในของเรา ถ้าหาทรัพย์จากภายในของเรา

ทางโลกเขาหาทรัพย์กันนะ เวลาเขาหาทรัพย์กัน คนที่เขาฉลาด ทรัพย์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ ใครเป็นผู้ฉลาดจะหาทรัพย์สิ่งนั้นมาเพื่อตน ผู้มีอำนาจวาสนา แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจวาสนาก็ทุกข์ๆ ยากๆ ของเขาไป แต่ผู้ที่ทุจริต ผู้ที่ทุจริตนะ เวลาเขาฉ้อโกง เขาทำสิ่งใดของเขา คอรัปชั่น เขากินซึ่งๆ หน้า กินซึ่งๆ หน้านะ ความประโยชน์ของเขา เขาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของเขา จะผิดชอบชั่วดี เขาก็ทำของเขา แต่ถ้าคนมีสติมีปัญญาเขาจะทำไหม

เวลาการเกิด เกิดเป็นมนุษย์นี้ ทำไมถึงเกิดเป็นมนุษย์ล่ะ เพราะมันมีมนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติ ศีล ๕ นี้เป็นพื้นๆ ของมนุษย์สมบัตินะ ฉะนั้นเรามีศีล ๕ เวลาครูบาอาจารย์ของเราในกรรมฐานเราบอกว่า ศีลเกิดได้จากการวิรัติเอา ศีลเกิดจากอาราธนา ศีลเกิดจากที่ว่ามันเป็นอธิศีล ถ้าศีลเกิดอย่างนี้ ศีลมันมีอยู่แล้วไง ถ้าศีลมีอยู่แล้ว เกิดจากวิรัติเอา เวลาพร้อมอยู่แล้ว ศีล ๕ มันเป็นพื้นฐานของมนุษย์

ถ้าพื้นฐานของมนุษย์ เราทำความดีความชั่ว เราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ เขาคุยกันประจำ ถือศีล ๔ ก็พอ ข้อไหนที่ไม่พอใจก็ไม่ถือของเขา อย่างนั้นเกิดเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์พิการเอาไหม เกิดเป็นมนุษย์ ทุกคนอยากเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วไม่ใช่สมบูรณ์ธรรมดานะ เกิดมนุษย์สมบูรณ์ด้วย ต้องเฉลียวฉลาดด้วย ต้องมีปัญญาด้วย นี่เวลาเราคิด เราคิดอย่างนั้น

แต่เวลากิเลสที่มันกินหัวใจของเรา ทั้งคว่ำกิน หงายกิน เราก็ไม่รู้ว่ากิเลสมันกินหัวใจของเรา เวลาเราประพฤติปฏิบัติจริง ปฏิบัติธรรม คนที่เขาทำด้วยความทุจริตของเขา เขากินทวนน้ำ คว่ำกินหงายกิน แต่คนที่เขาฉลาดนะ เขากินตามน้ำ เวลาเขากินตามน้ำนะ ถ้าพูดถึงคนที่ไม่มีปัญญา จะไปจับผิดเขานี่ เขากินตามน้ำ

จะบอกว่า เขากินตามน้ำโดยทางโลกเห็นว่าถูกต้องไง แต่มันไม่ถูกต้อง ไม่ผิดทั้งนั้น แต่มันทั้งทวนน้ำและตามน้ำ การคอรัปชั่น ทั้งกินทั้งทวนน้ำและตามน้ำ แต่การตามน้ำนี่คนไล่ไม่ทัน ถ้าคนไล่ไม่ทัน เห็นไหม คนไล่ไม่ทันเพราะอะไร เพราะเขาทำตามกฎหมายนั่นแหละ แต่เขาก็หาช่องทางของเขาเพื่อเอาประโยชน์ของเขา เพราะเขาต้องวางของเขาไว้แล้วว่าเป็นอย่างนั้น นั่นไงกินตามน้ำ

แล้วในการประพฤติปฏิบัติของเรานี่ธรรมตามน้ำ ถ้าธรรมตามน้ำนะ เราประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราก็อยากจะปฏิบัติธรรม นี่ถ้าคนเขาไม่ทำ เขาไม่ประพฤติปฏิบัติของเขา นี่เขาคอรัปชั่น คอรัปชั่นคือว่าเขากินชีวิตของเขา เขาทำลายโอกาสของเขา

คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ นี่ประชาธิปไตย ธรรมาธิปไตย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกธรรมาธิปไตย คนที่เกิดเป็นมนุษย์ ในสัตว์โลกนี่ไม่เคยเป็นญาติ เป็นที่รู้จักกันมาในวัฏฏะที่การเกิดการตายนี้ไม่มี คนที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นญาติกันโดยธรรม สิทธิเสรีภาพ มีปากมีท้องเหมือนกัน จะชนชาติใด เชื้อชาติใดก็แล้วแต่ เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนกัน ใช้ชีวิต มีเป็นปัจจัย ๔ เป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกัน ถ้าจำเป็นเหมือนกันนี่เราเป็นญาติกันโดยธรรม เราเสมอภาคกัน

ทีนี้คำว่า “เสมอภาค” ทางโลก ในทางวัฏฏะมันเสมอภาคกัน ความสิ่งที่เสมอภาค ความเสมอภาค แล้วเวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ มันจะเป็นความจริงนั้นไหมล่ะ นี่ธรรมาธิปไตย แต่ถ้าประชาธิปไตย เขาว่าสิ่งนี้เสมอภาคๆ...มันไม่มี ถ้าธรรมาธิปไตยนะ เราปฏิบัติ เรามีจิต มีความใฝ่ฝัน

เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะทำความจริงของเรา ถ้าความจริงของเรา เราปฏิบัติไปนี่คนที่เขาไม่สนใจ ที่ว่าเขาทำลายโอกาสของเขา เราไม่ทำลายโอกาสของเรา เราอยากประพฤติของเราตามความเป็นจริงของเรา แต่ประพฤติปฏิบัติตามความจริงของเรา มันเป็นความจริงไหมล่ะ

เวลากิเลสมันบังเงา มันบังเงาในใจของเรา ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ไม่รู้ว่านิพพานเป็นแบบใด แต่คำว่า “นิพพานเป็นแบบใด” เราฟังครูบาอาจารย์ของเรา นิพพานเป็นความว่าง คนที่ปฏิบัติขึ้นมานี่ว่าจะเป็นความว่าง ความว่างโดยธรรมตามน้ำไง เพราะจิตใจของเรานะ คนที่จะประพฤติปฏิบัติหรือไม่ประพฤติปฏิบัติ ความคิดมันเกิดดับ ความคิดพอเกิดดับ ความคิด ความทุกข์ ความยาก ที่มันตอกย้ำในหัวใจของเรา

“สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

สิ่งที่เป็นทุกข์นี่ คนจะโง่ คนจะฉลาดขนาดไหน ถ้าเขามีสติปัญญานะ ใช้ดำรงชีวิตไป ความทุกข์ที่ในหัวใจของเรามันจะเจือจานไปๆ เว้นไว้แต่คนที่ผูกอาฆาต การที่อาฆาตมาดร้าย เขาตอกย้ำในใจของเขานี่มันผูกอาฆาตจนเป็นเวรกรรมข้ามภพข้ามชาติ สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องการผูกอาฆาต

แต่ถ้าไม่ผูกอาฆาต สิ่งที่เราปล่อยวางได้ เพราะพื้นฐานศีลธรรมจริยธรรมในพุทธศาสนา ให้อภัยต่อกัน สิ่งที่ให้อภัยต่อกันนะ สิ่งที่เราฝึกฝนจนจิตใจให้อภัยต่อกัน จิตใจเป็นสาธารณะเพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์กับการประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ เห็นไหม ฉะนั้นเขาบอกว่าชาวพุทธนี่ลืมง่ายๆ ลืม ลืมสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราไม่เป็นสิ่งนั้น แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เราต้องตั้งใจ จงใจ ทำคุณงามความดีของเรา ทำคุณงามความดีของเรานะ

ความดีในพุทธศาสนา เขาทำบุญกุศลกันเพื่ออะไร? เพื่อความดีงามของเขา แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรานั่งสมาธิภาวนา เราเพื่อความดีงามในหัวใจของเรา ถ้าในหัวใจของเรามันมีความดีงามขึ้นมานะ มันจะสงบระงับเข้ามา ถ้าจิตใจมันสงบระงับเข้ามา เห็นไหม โดยตามข้อเท็จจริง

ถ้าจิตใจสงบระงับเข้ามา ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะสอน ทำความสงบของใจเข้ามา แม้แต่ทำความให้ใจสงบเข้ามามันก็เป็นงานยากแสนเข็ญพอสมควร เพราะโดยธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของมัน เวลาจิตไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขาก็สถานะของเขา เวลาเขาไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นนรกอเวจีก็สถานะของเขา เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ล่ะ ธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้

มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ในเมื่อธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันเป็นการทำงาน เหมือนกับเป็นสัญชาตญาณของมัน ถ้าสัญชาตญาณทำงานของมัน ถ้าทำงานมันเป็นอย่างนั้นแล้ว ความคิดมันต้องคิดของมันโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราจะมาพิจารณาของเราว่าจิตของเรา เราจะทำงานภายในของเรา งานภายนอกโลกียปัญญา งานเพื่อโลกก็อาศัยความรู้สึกนึกคิด ตรรกะ วิสัยทัศน์นี่ทำงานของเรา

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็รู้ธรรมด้วยการศึกษา เรามีวิชาชีพของเรา เกิดจากอะไร? เกิดจากการศึกษา การฝึกฝน การค้นคว้าของเรา เราจะมีปัญญาของเรา แต่เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ศึกษาค้นคว้าของเราอย่างนี้ เราศึกษา เราฟังธรรมก็เป็นสุตมยปัญญา แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาล่ะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ธรรมอย่างนี้มันจะตามน้ำแล้ว ตามน้ำเพราะสิ่งที่เราศึกษา เรามีความรู้ขึ้นมา มันจะอ้างอิงว่าเป็นแบบนั้นนะ โดยธรรมชาติของจิตมันมีอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของจิต เห็นไหม

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา”

ความคิดมันเกิดดับๆ แต่เกิดดับแบบตามน้ำ เพราะกิเลสมันบวกเข้ามา อนุสัย ความนอนเนื่องของกิเลสมันอยู่กับความรู้สึกนึกคิดนี่ ความรู้สึกนึกคิด คิดขนาดไหน มันก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากบวกเข้ามาตลอดไป มันเป็นโดยสัจจะ มันเป็นข้อเท็จจริง

ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ในเมื่อจิตมันมีอวิชชา ในเมื่อจิตมันไม่รู้จักตัวมันเอง แต่มันรู้จักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไม่รู้จักตัวมันเอง แต่มันมีวิชาชีพของมัน เพราะมันศึกษามาจากขันธ์ ๕ ศึกษามาจากโลกียปัญญา สิ่งนี้มันมีอยู่ตลอดมาใช่ไหม แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ คอยบอกเรา มันจะมีภาพแบบที่เราศึกษามาพร้อม นี่ธรรมตามน้ำ มันว่างๆ มันพูดได้หมด แต่ไม่เป็นความจริงเลย ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย

ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ดูสิ ดูนะ สิ่งที่น้ำเวลามันหลากขึ้นมา มันจะทำลายทุกๆ อย่าง แต่เวลามันแห้งแล้ง ไม่มีน้ำเลยนะ เราก็อยากได้น้ำมาก แต่ถ้าเราอยากได้น้ำมา ถ้าน้ำ มันหลากขึ้นมา เราจะรักษาน้ำอย่างไรเพื่อให้ใช้เวลามันอัตคัดขาดแคลน ถ้าน้ำอัตคัดขาดแคลน มันไม่มีน้ำ เราจะแสวงหาน้ำมาได้อย่างใด สิ่งที่มันเป็นไป

หัวใจของเรา ความรู้สึกนึกคิดของเรา เดี๋ยวก็แห้งแล้ง เดี๋ยวก็หลากท่วมท้นในหัวใจ ถ้ามันหลากท่วมท้นในหัวใจนี่เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะดูแลหัวใจของเราได้อย่างใด ถ้าเราดูแลหัวใจของเรานะ เราฝึกฝน ในทางมารยาทสังคม เขาฝึกฝนกันจนเป็นจริตเป็นนิสัยของเขา เขารักษามารยาทของเขา เห็นไหม มารยาทมันฝึกฝนได้

ในสังคมนะ เวลาเขาทักทายกัน สบายดีไหม? ทุกคนบอกว่าสบายดี แล้วจริงๆ ในหัวใจมันสบายจริงหรือเปล่า เห็นไหม นี่มารยาทสังคม เพื่อมารยาม เพื่อความดีงาม แต่เวลาเป็นความจริงล่ะ เราพูดความจริงได้ไหม เราพูดความจริงไป คนเสียมารยาท คนไม่มีมารยาท

แต่ในทางธรรม เวลาธรรม เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านพูดประจำ ถ้าเป็นธรรมนะ เวลาพูดถึงเรื่องธรรมะนี่จมูกขาดไปเลย ไม่มีลูบหน้าปะจมูก แต่ถ้ามารยาทสังคมนี่มันต้องลูบหน้าปะจมูก มันต้องเว้นจมูกไว้ไง มันเว้นไว้ทำไม เว้นไว้หายใจไง มันจะตัดทิ้งไปเลย มันจะเสมอภาค มันเป็นไปไม่ได้ นี่พูดถึงเวลาโลกเขาคิดกันอย่างนั้น นี่มารยาทสังคม

แต่เวลาความจริงล่ะ สิ่งที่มันเกิดขึ้น เราศึกษามานี่ ธรรม ธรรมอย่างนี้ว่าสิ่งที่เป็นธรรมๆ มันเป็นความไม่จริง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ลูบหน้า ไม่มีปะจมูก ถ้าเป็นความจริงก็ต้องเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เขาบอกว่า สิ่งนี้เวลาประพฤติปฏิบัติแล้วเข้าใจแล้ว ใช้ปัญญาแล้ว รู้แล้ว

เวลาธรรมตามน้ำนะ เพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมีครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติ มันทำเหมือน การทำเหมือน แต่มันไม่จริง เพราะถ้าการทำเหมือน มันต้องทำซ้ำของผู้อื่น ถ้าเป็นการ...นี่ไง ตามน้ำ ตามน้ำแบบนี้แหละ ตามน้ำเพราะมันทำเหมือน ทำให้เป็นไปตามนั้น แต่มันไม่มีความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามจริง นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก จิตดวงใดก็แล้วแต่ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราต้องมีสติปัญญาของเรา เรามีสติปัญญาของเรา มันจะรุนแรง มันจะนุ่มนวลอ่อนหวานขนาดไหน มันก็เป็นจริตเป็นนิสัยของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้น...

คนที่นุ่มนวล มารยามสังคมที่ดี แต่เวลาเขาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาจริงจัง เขาเข้มข้นมากนะ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่มัน...อนุสัยมันนอนมากับใจไม่มีใครสามารถที่จะรู้จะเห็นมันได้ แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราฝึกฝนของเราขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบก็คือมันสงบ

ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าใช้จิตสงบนะ จิตสงบโดยการใช้ปัญญาต่างๆ ที่ว่า เวลาศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่เขาคิดกันอยู่นี้เขาใช้ปัญญาอยู่นี้มันเป็นโลกียปัญญา เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรรกะ โดยจินตนาการ มันจะเกิดความสว่างไสว มันจะเกิดความเวิ้งว้างไหม? เกิด เกิดแน่นอน

เพราะจิตนี้เป็นความมหัศจรรย์มาก จิตคน คนมีความมหัศจรรย์มาก เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ ฤๅษีชีไพรเขาทำความสงบของเขา จิตของเขาเข้าฌานสมาบัติของเขา เขาเหาะเหินเดินฟ้า เขารู้วาระจิต เขารู้ได้หมดล่ะ จิตนี้มหัศจรรย์มากนะ อำนาจของจิต อำนาจที่มีกำลังนี่ จิตนี้มีกำลังมาก แต่กำลังอย่างนั้นมันเป็นกำลังฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์แบบจิตที่มันมีอำนาจอยู่แล้ว มันก็ใช้ในอำนาจของโลก อำนาจของใจที่ครอบงำไว้ เท่านั้นเอง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ นี่สิ่งที่เป็นข้อมูลเดิม แต่เวลาอาสวักขยญาณที่มันเกิดขึ้นล่ะ มันเกิดขึ้นมาอย่างใด ถ้ามันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รื้อค้น เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ “ในมนุษย์ ในบรรดาสัตว์สองเท้า เราตถาคตประเสริฐที่สุด” นี่ไงเป็นไก่ตัวแรก ประเสริฐที่ไหนล่ะ

แต่เวลาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์ เวลามาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต่อว่าประจำ เพราะประเพณีของเขา คนที่อายุน้อยกว่าต้องเคารพคนที่มีอายุมากกว่า เขาเป็นพราหมณ์ผู้เฒ่า ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคารพยำเกรงเขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเกิดเขาตายเดี๋ยวนั้น แล้วเขามาเกิดใหม่ ใครจะอายุมากกว่ากัน” เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาท่านนี่ ผู้ที่มีปัญญาตามความเป็นจริง ไม่ใช่ธรรมตามน้ำ ถ้าธรรมตามน้ำ เห็นไหม จิตนี้มหัศจรรย์นัก เวลาประพฤติปฏิบัติไป มันจะมีสิ่งที่เวิ้งว้าง ว่าง กว้างขว้าง เวิ้งว้างต่างๆ มีความรู้ มีปัญญา

“ธรรมตามน้ำ” ถ้าธรรมตามน้ำ เรารู้ตัวเมื่อไหร่นะว่าสิ่งนั้นเป็นไม่จริง เราจะเสียใจมาก แต่ถ้าเราไม่รู้ตัว ไอ้นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมตามน้ำโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ดูสิ ผู้ที่เข้ามาทำงานในองค์กรสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าเขาเข้ามาทำงานด้วยความตั้งใจของเขา เพื่อองค์กรนั้นมั่นคงแข็งแรง เพื่อประโยชน์กับสาธารณะ จิตใจของเขาจะเป็นคนดีมาก แต่ถ้าเขาเข้ามาในองค์กรนั้นเพื่อเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของเขา ถ้าเขาแสวงหาผลประโยชน์ของเขา เขาเข้ามานี่ เขาก็จะตักตวงเอาแต่ผลประโยชน์ของเขา นี่พูดถึงในองค์กรนะ ในองค์กร ในสถานที่หน่วยราชการ ฉะนั้น ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติล่ะ เขาคิดว่าเขาได้แสวงหาผลประโยชน์กับเขา แต่องค์กรนั้นจะอ่อนแอไปเรื่อยๆ

เราจะเป็นผู้ปฏิบัติใช่ไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะ เขาว่าธรรมะนี้ไม่เคยเสื่อม ไม่เคยบุบสลายไป ธรรมะนี้ไม่มีใครจะไปทำสิ่งให้เศร้าหมองได้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ใครเป็นผู้เสียประโยชน์ล่ะ แต่เราทำงานในองค์กรใด ทำให้องค์กรนั้น ความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้นเสื่อมความเชื่อถือไป

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเรารู้จริง เราปฏิบัติจริงของเรา มันเป็นสมบัติของใคร แต่เวลากิเลสมันเข้ามาในหัวใจของเรา กิเลสที่มันนอนเนื่องมากับหัวใจของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราจินตนาการเอา เราว่าของเรานี่ มันถ้ามันบอกเป็นจริง นั่นน่ะ มันจะเสียดายโอกาสเรานะ กิเลสมันทำลายให้เราไม่ได้กระทำข้อเท็จจริงนั้น

ความเป็นจริง เวลาเงิน ทุกคนก็ต้องการเงินที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย ไม่มีใครต้องการเงินเทียม เงินปลอม ไม่มีใครต้องการเลย แบงก์ปลอมนี่ไม่มีใครอยากได้ ใครก็อยากได้แบงก์จริงๆ ทั้งนั้นน่ะ เพราะแบงก์จริงมันใช้จ่ายใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย แล้วถูกต้องชอบธรรม แต่ถ้ามันแบงก์ปลอมล่ะ แบงก์ปลอมใช้หนี้ได้ตามกฎหมายไม่ได้ แต่เขาก็แอบลักใช้กัน

นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงสังคม นี่พูดถึงทางโลกนะ แต่ถ้าธรรมะนี่ธรรมตามน้ำ มันเป็นแบบนั้น ธรรมตามน้ำเพราะมันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมีธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา เขาจึงพูดให้เหมือน แล้วสังคมเขาเชื่อถือกัน สังคมเขาเชื่อถือเพราะอะไร เพราะสังคมเข้าใจง่าย

เงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้หนี้ได้ตามกฎหมาย เราต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ เราต้องทำหน้าที่การงานของเรา เราถึงได้ผลตอบแทนมา แต่ถ้ามันเป็นเงินปลอม มันเป็นเงินที่เขาพิมพ์ขึ้นมาเอง เขาอาบเหงื่อต่างน้ำด้วยการพิมพ์ เขาไม่ได้อาบเหงื่อต่างน้ำด้วยการประพฤติปฏิบัติ ด้วยสัมมาอาชีวะ ถึงได้ผลตอบแทนนั้นมา

แต่ถ้าเขาทำของเขา นี่ธรรมตามน้ำ มันไม่ทำให้เป็นความจริงขึ้นมาในการประพฤติปฏิบัติ แล้วทำไมเขาพูดได้อย่างนั้น ทำไมเขาเป็นอย่างนั้นล่ะ นี่เขาพูดได้นะ เขาพูดได้เพราะมันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เชาวน์ปัญญาของคนนะ คนที่มีเชาวน์มีปัญญาที่มีโวหาร แต่ถ้าโวหารอย่างนั้น ถ้าเขามีสติปัญญา เพื่อประโยชน์กับเขา เขาจะได้ประโยชน์ของเขา ประโยชน์หมายความว่าชำระล้างกิเลส ไม่ใช่ประโยชน์แสวงหาสิ่งที่เป็นลาภสักการะทางโลก ถ้าไม่แสวงหาลาภสักการะทางโลก มันจะเป็นประโยชน์กับใครล่ะ ประโยชน์กับเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่สร้างเวรสร้างกรรม แต่ไม่ได้แก้ไขใจดวงนั้นให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์

การจะแก้ไขใจดวงนั้นให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ในเมื่อมันทุศีล ในเมื่อมันทำสิ่งที่เป็นอกุศล เพราะจิตดวงที่ทำ จิตนั้นรู้ เห็นไหม ธรรมตามน้ำ นี่มันรู้ได้ ถ้าคนมีสติมีปัญญา แล้วกาลเทศะ กาลเวลามันจะบอก แต่ถ้าเขาบอก แล้วถ้าใครบอกแล้วมันมีสติปัญญานะ เราจะฝืนทน เราจะแก้ไขของเรา ถ้าเราแก้ไขได้ แก้ไขของเราได้ เราจะทำเพื่อตัวเรา

ถ้าเพื่อตัวเรานะ เราประพฤติปฏิบัติ เราพยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจเราสงบระงับเข้ามานะ โดยพื้นฐาน “ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” ความสงบระงับนี่มันเป็นความสุข เห็นไหม “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ทุกข์ควรกำหนด ที่ไหนมีทุกข์ต้องกำหนดที่นั่น เพื่อให้ทุกข์มันดับไป

ทุกข์มันดับไปด้วยวิธีการใด? ทุกข์มันดับไปเพราะว่ามันต้องทิ้งสมุทัย ตัณหาความทะยานอยาก ถ้าตัณหาความทะยานอยาก ถ้าสมุทัยมันดับ ทุกข์มันก็เบาลง ถ้าทุกข์เบาลง เห็นไหม ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ถ้าเรากำหนดพุทโธของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ถ้าจิตมันสงบระงับเข้ามา มันเป็นเครื่องอยู่ไง

“ทุกข์ควรกำหนด” สุขไม่ควรกำหนด สุขอยู่กับเราชั่วคราว สุขเดี๋ยวมันก็จางคลายไป ถ้าจางคลายไป เราก็กำหนดของเรา “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” ถ้าจิตสงบแล้วนะ เรามีสติปัญญาใช่ไหม คนเราถ้ามีวุฒิภาวะ มีอำนาจวาสนา เวลาจิตสงบแล้ว จิตสงบก็คือจิตสงบ จิตสงบไม่ใช่นิพพาน นิพพานคือการดับทุกข์ นิพพานคือการรื้อค้น นิพพานคือมันไม่เกิด แต่จิตมันสงบแล้ว มันสงบแล้วเดี๋ยวมันก็คลายตัว มันเกิดแน่นอน

ถ้ามันเกิดแน่นอน เห็นไหม ฉะนั้นเราไม่คอรัปชั่นตัวเราเอง เราไม่ต้องการธรรมตามน้ำ ธรรมตามน้ำหมายถึงว่ามันไม่เป็นความจริง ถ้ามันไม่เป็นความจริงใช่ไหม เราก็มีสติปัญญาของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ เราก็ทำของเรา

ใครมีกำลังมาก กำลังน้อย กำลังมากก็ยกของได้มาก กำลังน้อยก็ยกของได้น้อย ยกของด้วยกำลัง แล้วถ้ายกของด้วยปัญญาล่ะ ถ้าใครมีปัญญารื้อค้น มีปัญญา จะใช้ปัญญาของเราแยกแยะ แยกแยะความผิดชอบชั่วดีในใจของเรา ถ้าแยกแยะความผิดชอบชั่วดีนี่มันรู้ได้นะ เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติมันมีถูกและผิด

ถ้าเรามีวุฒิภาวะใช่ไหม ถ้าผิด เราแก้ไข เราผิด เราแก้ไข อย่าถลำ ถ้าถลำไปนะ ถลำไปเรื่อย ดินพอกหางหมู พอดินพอกหางหมู พอดินที่มันพอก มันหนักขึ้น ใหญ่ขึ้น มันแก้ไขสิ่งใดนะ มันไม่อยากแก้ และมันเป็นไป น่าสงสาร

น่าสงสารว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ ที่การเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเกิดเป็นมนุษย์นี่เราอาบเหงื่อต่างน้ำ ไม่ต้องบอกว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ เราทำหน้าที่การงานมาเราทุกข์ยากแค่ไหน ความทุกข์มันเป็นสัจจะ เป็นความจริงอยู่แล้ว แม้แต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แม้แต่เราจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน หัวใจมันก็ว้าเหว่นะ หัวใจมันก็ทุกข์ร้อน

ธรรมเท่านั้นจะมาถมเต็มสิ่งนี้ แล้วถ้ามาถมเต็มสิ่งนี้ เราจะประพฤติปฏิบัติ ธรรมจะไปหาซื้อเอาที่ไหน ธรรมจะไปทำที่ไหน เวลาเราทำบุญกุศล ทำทานๆ ทำทานนี่เป็นอามิส ทำทานมากน้อยแค่ไหน ปัญญาเราเกิดขึ้น เราจะลงทุนลงแรงไหม

เรามีแผล เรามีความบาดเจ็บในร่างกายของเรา เราไม่รักษา ไม่ดูแล ใครจะรักษาดูแลให้เรา นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันกัดกินหัวใจของเรา มันเศร้าหมอง มันพร่องอยู่เป็นนิจ มันไม่เคยเติมเต็ม ความเติมเต็มไม่มี ความเติมเต็มด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่มันล้นฝั่ง...ไม่มี

แต่ถ้าเวลาเราจะเติมเต็มด้วยสติปัญญาของเรา...มี ถ้าเราเติมเต็มสติปัญญาของเราด้วยมี เห็นไหม เราถึงตั้งใจของเรา ถ้าตั้งใจของเรา เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันไม่สงบ เราก็ต้องพิจารณาว่ามันเป็นสิ่งใด จิตใจของเราไม่สงบระงับมาบ้าง ถ้าจิตใจเราปล่อยจนเคยตัวนะ

ถ้าเราจะเริ่มฝึกหัดของเรา เราต้องมีกติกาของเรา ถ้ามันผิด ไม่ทำ ถ้ามันผิดพลาดสิ่งใด เราจะฝืน เราจะไม่ทำมัน ถ้าเรามีข้อบังคับ แล้วมีข้อบังคับมากขึ้นๆ มากขึ้นกับเรา นี้เป็นคนดี คนดีคือคนที่มีกติกากับตัวเอง คนที่ปล่อยตัวเองให้ไปไหลไปตามแต่ความชอบใจของตัว คนนั้นโอกาสจะเสียหายไปมาก ฉะนั้น คำว่า “ดี” ของเรา คำว่า “ดี” ต้องมีกติกาของเรา ฉะนั้น ถ้ามันไม่สงบ มันไม่สงบเพราะสิ่งใด พยายามทำความสงบของใจ

เวลาประพฤติปฏิบัตินะ หลวงตาท่านพูดบ่อย “การปฏิบัติมันมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับคราวหนึ่งคือคราวจะสิ้นสุด มียากอยู่ ๒ คราว”

เพราะเริ่มต้น การเริ่มต้น คนทำงานไม่เป็น คนไม่เคยงาน แล้วพยายามจะทำงานให้ถูก แล้วเดี๋ยวนี้ ในปัจจุบันนี้มีการสั่งสอนมากมาย มีแนวทางการปฏิบัติมากมาย แล้วแนวทางที่มากมาย มันมีแต่ว่าธรรมะตามน้ำทั้งนั้น เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยถูกต้อง แต่คนที่ปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมามันมีกี่คน

แล้วคนที่ประพฤติปฏิบัติที่ตามความเป็นจริงขึ้นมา เขาไม่เคยประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมาเลย ไปถามทีไรก็เปิดตำรา ไปถามทีไรก็เปิดตำรา ไปถามแล้วเขาก็นั่งนึกอยู่ ๕ ชั่วโมง ว่าจะตอบกันสูตรไหน ตำราไหน เขาจะหามาตอบเรา

ตอบมา “อ้าว! ก็ธรรมะพระพุทธเจ้าถูกต้อง”

ใช่ ถูกต้อง เราก็ศึกษาเองได้ เพราะทฤษฎี เห็นไหม ทฤษฎี ตำรายา เราได้ยามาขวดหนึ่ง เราก็อ่านตำราที่ข้างขวดว่าแก้โรคนั้นๆๆ ทั้งนั้น แต่เราไม่เคยได้กินยาในขวดนั้นเลย ยาในขวดนั้น เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกกระทงชี้เข้ามาที่ใจ ชี้เข้ามาที่จิตของคน ชี้เข้ามาที่ผู้ประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราจะประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่แนวทางการประพฤติปฏิบัติมันมีหลากหลายนัก แล้วในทางประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติไปแล้วมันจริงหรือเปล่า นี่ไง มันจะตามน้ำ ธรรมตามน้ำ มันเป็นแบบนั้น มันไม่มีข้อเท็จจริง มันไม่มีสิ่งใดให้เราได้ดื่มกินไง

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” ธรรมโอสถ รสของธรรม รสของธรรมมันเป็นแบบใด? รสของธรรมก็อย่างที่ว่าเวิ้งว้าง จิตอย่างนั้นเป็นความมหัศจรรย์นะ คนที่ประพฤติปฏิบัติมา มันจะผ่านเหตุการณ์อย่างนั้นมา ผ่านที่จิตเวิ้งว้าง จิตโหวงเหวง จิต...ผ่านมาหมดแล้วล่ะ แต่ถ้าพอมันมีสติมีปัญญา มันไม่เป็นแบบนั้นหรอก

พุทโธๆๆๆ พุทโธไปเรื่อยๆ ทำไมถึงพุทโธไปเรื่อยๆ จิตนี้เหมือนยางเหนียว มันเกาะติดทั้งนั้น เหมือนคนหิวกระหาย จิตที่หิวกระหาย สิ่งใด ทางโลกเขาทำประชาสัมพันธ์กัน เขาพยายามจะมีสื่อใหม่ๆ ทุกอย่างมันล่อ ล่อให้เราอยากซื้อ ล่อให้เราอยากใช้ ล่อให้เราอยากเสพ เพราะอะไร ถ้าเป็นของคุ้นชินนี่เขาขายได้ชั่วคราว เขาจะต้องมีสินค้าตัวใหม่ เขาต้องวิเศษไปหมด

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ปัจจัย ๔ เท่านั้น เราแค่อยู่อาศัย ถ้าอยู่อาศัยนะ จิตใจของเราวิเศษกว่า ความสงบระงับในใจนี้วิเศษกว่า ถ้าความสงบระงับในใจแล้ว สินค้าชนิดไหน สื่อชนิดไหน หลอกฉันไม่ได้ หลอกฉันไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่มีสติปัญญา...

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความรู้สึกนึกคิด มันมีของมันอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราเข้มแข็งของเรา แล้วเรารักษาใจของเรา พุทโธๆ เพราะไม่ให้จิตมันไปกินอารมณ์แบบนั้น ไปกินอารมณ์เห็นไหม มันเสวยอารมณ์ตลอด ธรรมชาติของพลังงาน ธรรมชาติพลังงาน พลังงานนี้ส่งออก

ส่งออกไปในอะไร? ส่งออกมาเป็นขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความรู้สึกนึกคิดของเรา ขันธ์ ๕ นี่สมบูรณ์แล้ว ขันธ์ ๕ นะ ในความรู้สึกนึกคิดของเรา มีพร้อมรูป รูปคืออารมณ์ความรู้สึก มีเวทนา มีความพอใจ ไม่พอใจ มีสัญญา สัญญาก็สัญญาข้อมูลในหัวใจของเรา สิ่งใดถูกใจ ดี๊ดี สิ่งใดไม่ถูกใจ เกลี๊ยดเกลียด นี่คือสัญญา สัญญาที่ชอบและชัง เวลามันมีสัญญา มันจะมีสังขารปรุง สังขารปรุงมันต้องมีวิญญาณรับรู้ มันถึงสมบูรณ์เป็นอารมณ์ความรู้สึก

อารมณ์ความรู้สึกนี่เกิดดับ เกิดดับ เห็นไหม พลังงานมันใช้สิ่งนี้ออกหาเหยื่อ แล้วมันออกหาเหยื่อ เหยื่อ เห็นไหม จริตนิสัย คนชอบ คนไม่ชอบ บ้า ๕๐๐ จำพวก ใครบ้ารถก็ชอบรถ บ้าสัตว์ก็ชอบสัตว์ บ้าอะไรก็บ้าไอ้นั่นน่ะ “ชมรมคนบ้า” มีทุกชมรม “ชมรมคนบ้า” ฉะนั้น ใครชอบสิ่งใดก็ชอบสิ่งนั้น ก็ชมรมนั้นก็ไปนั่งคุยกัน วันทั้งวัน คืนทั้งคืน ไปคุยกันแต่สิ่ง...ไปคุยแต่เรื่องกิเลสไง

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา สิ่งที่พลังงานมันผ่าน มันเสวยอารมณ์ เพราะอารมณ์ออกไป ฉะนั้น อารมณ์อย่างนั้นเป็นอารมณ์โลก อารมณ์สัญชาตญาณ อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นโดยความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันมีของมันอยู่อย่างนี้ แล้วเราเอาสิ่งนี้ไปศึกษาธรรมะ แล้วก็เวิ้งว้าง โหวงเหวงไปหมดเลย นี่คือนิพพาน...ไร้สาระ ไร้สาระมาก

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เรามีข้อกติกากับตัวเอง ถ้ามันจะเสวยอารมณ์ ขอให้เสวยพุทธานุสติ เสวยพุทโธ บังคับให้มันอยู่กับพุทโธ พุทโธๆๆ พุทธานุสติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาวางธรรมวินัยก็คือการข้อบังคับ ธรรมก็คือคำสั่งสอน แต่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ

เวลาพระไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา กลัวผี แล้วไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เวลาอยู่ป่าอยู่เขา ถ้ากลัวผี ให้นึกพุทโธ ถ้านึกพุทโธ ถ้ามันไม่หายให้นึกธัมโม ถ้าธัมโมไม่หาย ให้นึกสังโฆ นี่ในพระไตรปิฎกบอกไว้เยอะ บอกไว้เยอะเพราะอะไร เพราะคนประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พระพุทธเจ้าเหมือนพ่อ ลูกเยอะ ไอ้คนขี้อ้อน ไอ้คนปฏิบัติแล้วไม่ได้เรื่อง ก็มาฟ้อง มาเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติแล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นผู้สอน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้เราระลึกถึงพุทโธๆ เพื่อไม่ให้จิตมันไปเสวยอารมณ์ การเสวยอารมณ์ โดยสัญชาตญาณของมัน มันก็ไปตะครุบแต่สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยมาเผาลนใจ

แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ พุทธานุสติ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หัวใจเรา พุทธะคือชื่อ แต่ถ้าจิตใจมันพุทโธจนมันพุทโธไม่ได้ เราจะเห็นว่าผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีสติสัมปชัญญะพร้อม มันรู้ตัวของมันน่ะ นี่สัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิ ถ้ามีคนที่มีสติมีปัญญา มันรู้ของมันน่ะ แล้วไหนว่าธรรมะมันเวิ้งว้าง มันโหวงเหวง แล้วมันไม่มีสติปัญญา ไม่ดูแลมันน่ะ นี่มันตามน้ำไปหมดเลย

ตามน้ำที่ไหน? ตามน้ำที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราปฏิบัติตามข้อเท็จจริงนะ เรานี่เวลาเป็นมันเป็นจริง เป็นสันทิฏฐิโก รู้เอง เห็นเอง จับต้องเอง เป็นผู้ที่เป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ รู้เอง เห็นเอง แล้วพอมันสงบระงับ เดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา

หลวงตาท่านบอกว่า ท่านพุทโธๆ จนพุทโธไม่ได้ พอมันคลายตัวออกมา ท่านก็พุทโธต่อ เพราะท่านสมบุกสมบันมา ล้มลุกคลุกคลานมา เข็ดขยาด

คนเวลาปฏิบัตินะ เวลาล้มลุกคลุกคลานมานี่มันก็อยากจะยืนได้ พุทโธๆๆๆ จนจิตนี้เราสงบหมด พุทโธไม่ได้เลย พอมันคลายตัวออกมาก็เอาพุทโธยัดเข้าไป พุทโธอีกๆ พุทโธจนจิตมันตั้งมั่น จิตมันตั้งมั่นนะ พอจิตตั้งมั่น รำพึง เวลามันปล่อยนะ รำพึง

คำว่า เวลาโดยสัญชาตญาณใช่ไหม พลังงานคือตัวจิต ภวาสวะ ภพ ปฏิสนธิจิต เวลามันออกเสวยอารมณ์ ออกเสวย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ขันธ์ ๕ นี้มันไปโดยสัญชาตญาณ โดยกิเลส โดยอวิชชา โดยความไม่รู้ โดยความไม่รู้นะ มันไปนี่เร็วมาก

แต่เรากำหนดพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิจนจิตมันสงบระงับ สงบมานี่ จิต พลังงานที่คงที่ แสง จิต พลังงานมันเร็วกว่าแสง สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด แล้วเวลาเราพุทโธๆ จนตั้งมั่นขึ้นมา ฉะนั้น เวลาเรารำพึง ให้ออกเห็น ออกรู้ เห็นไหม โดยธรรมชาติของมัน มันไปของมันเองโดยสัญชาตญาณ แต่พอเรามีสติมีปัญญา เราฝึกหัดของเรา เราฝึกหัดจนเราควบคุมได้ เรามีสติ เรามีปัญญา เรามีสติดูแลจิตของเรา เรารักษาจิตของเรา แล้วเราพาจิตของเราออกทำงาน

ถ้าเราพาจิตของเรา จิตนี่รำพึง รำพึงให้เห็นกาย ถ้าเวลาเรานั่งอยู่ เวลาเวทนาเกิดขึ้น นี่เวทนาเกิดขึ้น โดยธรรมชาติของมัน ในปัจจุบัน คนที่เขาไม่ประพฤติปฏิบัติ เขาก็มีเวทนา เขาก็เจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน แต่เจ็บไข้ได้ป่วยในวัฏฏะ เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะมันเสื่อมสภาพ เวลาทุกข์ยากขึ้นมาก็ไปหาหมอ หมอก็ฉีดยาชา หมอก็วางยาสลบ เขาก็มีเวทนาเหมือนกัน แต่เวทนาอย่างนั้นมันเป็นเวทนาประจำธาตุขันธ์

แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราใช้พุทโธๆ ของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราใช่ไหม เวลามันเกิดเวทนา เราอยากเห็นเวทนา เวทนามันเกิดขึ้นกับเรา เวทนาเกิดขึ้นกับเราเพราะอะไรล่ะ เพราะเวทนามันมีอำนาจเหนือเรา เวลาเราเจ็บ เราเมื่อย เราก็พลิก เวลาเราไม่พอใจเราก็พลิกแพลง เห็นไหม มันไปตามน้ำหมดเลย

แต่ทีนี้เราจะเอาตามข้อเท็จจริง เห็นไหม เวทนานี่มันมาจากไหน เวทนา เรานั่งอยู่ปกติมันก็ไม่เห็น มันก็ไม่มี แล้วพอนั่งๆ นี่มันมาอย่างใด มันมา มันทำให้ชีวิตนี้อยู่ในอำนาจของมัน มันพาชีวิตนี้ไปแต่ความพอใจ มันพาชีวิตนี้เหลวไหลไปตลอด เห็นไหม ถ้าเรามีสติปัญญา ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้มาจากไหน ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อสิ่งใด นี่เรามีสติปัญญาของเรา เราพิจารณาของเรา ชีวิตนี้พิจารณาไป

ชีวิตนี้มาจากไหนนะ ถ้าพิจารณาไป พิจารณาไป ถ้ามันละเอียดไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นหมดน่ะ ชีวิตนี้มาจากไหน จิตปฏิสนธิเมื่อไหร่ ปฏิสนธิขึ้นมาแล้ว แล้วก็โตขึ้นมาจนเป็นเราขึ้นมาอย่างไร มันจะรู้ มันจะเห็น มันจะแยก มันจะแยะ มันจะคัด มันจะกรอง มันจะตีแผ่ออกมาให้หัวใจ ให้ไอ้จิต ไอ้อวิชชา ไอ้ตัวโง่ๆ นี่ได้ศึกษา มันศึกษา มันตีแผ่ของมันหมดนะ มันจะตอบได้หมดเลย

ถ้ามันตอบได้หมด เห็นไหม ที่หลวงตาบอกว่า ในการประพฤติปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น คือพยายามจะทำใจให้เราสงบให้ได้ แล้วออกฝึกหัดให้มันพิจารณาของมันเป็น ถ้ามันก้าวเดินได้ ในวงปฏิบัติเขาเรียก “ภาวนาเป็น” ภาวนาเป็นนี่มันใช้ปัญญาของมันเป็น แล้วพอใช้ปัญญาเป็น โสดาปัตติมรรค ถ้าพิจารณาไปจนถึงโสดาปัตติผล แล้วปฏิบัติไป จากโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล มันเกี่ยวกับปัญญาอย่างหยาบๆ เห็นไหม มีสติ มีปัญญา มันจะเกี่ยวเนื่องขึ้นไป สาวขึ้นไป

พอมันไปถึงที่สุดนะ มันพิจารณาจนอสุภะ จนสิ่งที่เป็นสิ่งที่เป็นธาตุเป็นขันธ์ ขันธ์อันละเอียด อสุภะก็เกิดจากสัญญา อสุภะก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นของใจ พอพิจารณาถึงที่สุดนะ มันขาดหมด ใจทำลายหมดเลย ทีนี้ จิตมันผ่องใส มันหลุดออกไปเป็นอิสระของมัน นี่แล้วจะรื้อค้นอย่างไร

นี่ไง สิ่งที่ว่ายาก มีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับคราวหนึ่งคือจะคราวถึงที่สุดแห่งทุกข์ ดูสิ ดูครูบาอาจารย์ของเรา ที่พอพิจารณาขันธ์ทั้งหมด แล้วทำลายหมดแล้ว แล้วเวลาที่ท่านสนทนาธรรมกัน “อ้าว! พูดมาสิ ธรรมะ ธรรมะพูดมา”

“นี่ไง แค่นี้สิ้นแล้ว”

แล้วสิ้นแล้ว เพราะติดไง คำว่า “ยากคราวตั้งแต่เริ่มต้น กับยากถึงคราวที่จะสิ้นสุดแห่งทุกข์” มีครูบาอาจารย์ของเรานี่ติด ติดหลายองค์ แล้วหลวงตาท่านไปแก้ไขหมด แก้ไขเพราะอะไร เพราะท่านฝึกฝนของท่าน ท่านมีความชำนาญการของท่าน คนที่มีความชำนาญการ เราจะไปแก้ไข ดูช่างสิ ช่างที่เขามีความชำนาญ เขามองออกหมดว่าทำสิ่งใด หยิบฉวยสิ่งใดถูกต้องไม่ถูกต้อง

แต่ถ้าเราไม่เป็น เราเก่งนะ คนไม่เป็นน่ะมันเก่ง ธรรมรู้ได้หมด ทำได้หมด นี้พูดถึงว่า เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันจะรู้ มันจะเห็นของมัน แต่เราปฏิบัติของเราขึ้นมา พอจิตมันสงบ จิตต้องสงบ พอจิตสงบนี่มันกลับไปสู่ฐีติจิต กลับไปสู่ต้นขั้ว กลับไปสู่สิ่งที่มันเก็บข้อมูลไว้ เราจะรู้ที่ไหน รู้นอก รู้ใน รู้มาก รู้น้อย มันรู้แต่เปลือก รู้แต่ภายนอก “ตามน้ำ” หาแต่ประโยชน์ หาประโยชน์ว่าตัวรู้ ตัวเก่ง แต่ความจริงไม่เก่ง

ถ้ามันตัวมันเก่ง มันต้องรู้จริงสิ ถ้าตัวมันเก่ง มันต้องสำรอกสิ ถ้าตัวมันเก่ง มันต้องสำรอกกิเลสออกมา มันต้องทำให้เป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันเก่งจริงน่ะ ถ้าเก่งจริงเพราะอะไร เพราะผู้ที่ทำจริง มันจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร มันจะมีความรู้จริง เป็นธรรมทายาท เพื่อประโยชน์กับตัวเอง ประโยชน์กับตัวเองก่อนนะ เพราะตัวเองมีความสุขทุกข์ในหัวใจเผาลน ถ้าเป็นประโยชน์กับตัวเองแล้ว มันจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อประโยชน์ของเรายังไม่สิ้นสุด เราก็ต้องขวนขวายของเรา

ฉะนั้น พอจิตมันสงบแล้ว เวลามันออกรู้ ออกรู้เวทนา ถ้าเป็นธรรมะตามน้ำ มันก็เวทนาในวัฏฏะ เวทนาของโลกเขา เวทนามันก็เข้าใจได้ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเป็นเวทนาส่วนบุคคล เวทนาของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติสงบระงับเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา มันมีเวทนา มันจับเวทนาได้ มันจับพิสูจน์กันได้ แต่ถ้าจิตมันไม่สงบขึ้นมา เวทนามันทำให้การประพฤติปฏิบัตินี้ล้มเหลวทั้งนั้นน่ะ เวทนามานี่มันเผาลน แล้วทุกข์มาก ทุกข์แล้วทุกข์เล่า ทุกข์แล้วทุกข์เล่า

แต่ถ้าพอจิตมันสงบระงับนะ ทุกข์นี้มันมีประจำธาตุขันธ์ ทุกข์นี้มีกับชีวิตของเรา ชีวิตของเราเคยเผชิญทุกข์อย่างนี้มาภพแล้วภพเล่า ชาติแล้วชาติเล่า ในปัจจุบันนี้เราต้องมีสติปัญญา พยายามจะพิจารณาให้ผ่านพ้นอันนี้ไปได้ ถ้าเรามีสติปัญญา ถ้าจิตมันสงบ พอจิตสงบ มันจับเวทนาได้ มันพิจารณาเวทนาได้ เวทนานี้เป็นนามธรรม

ถ้าเวทนาเป็นนามธรรม เวทนามันอยู่ที่ไหน เวทนามันอยู่ในเนื้อ เวทนามันอยู่ในกระดูก เวทนา เวทนามันอยู่ที่ไหน ธาตุขันธ์มันเป็นเวทนาได้อย่างใด แต่ทำไมมันปวดขา ทำไมมันเจ็บปวด มันเจ็บปวด มันมาจากไหน นี่คำว่า “เป็นนามธรรม”

ผู้ที่อยู่ทางโลกเขา เวลาเขาเพลิดเพลินกับเกมกีฬา เขาเพลิดเพลินกับการเล่นของเขา เขาทำได้ทั้งวันทั้งคืน เขาไม่มีความเจ็บความปวดเลย เพราะเขาชอบ เขาพอใจ แต่ถ้าเราไม่ชอบ ไม่พอใจล่ะ ไม่ชอบ ไม่พอใจ เขาก็ไม่รู้ไม่เห็นของเขา แต่เราประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญา มีความสงบระงับ มันจับเวทนาได้ ถ้าไม่มีสติปัญญานะ เวลาไปแตะเวทนานะ เวทนามันเจ็บปวด

เวลาคนจะผ่านเวทนา ต่อสู้นะ จนเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีนะ ฉะนั้น ถ้าเราผ่านเวทนา เราจะต้องมีกำลังก่อน เวลาพิจารณาจากเวทนานอก เวทนานอกหมายความว่า โดยธรรมชาติที่เวทนาของวัฏฏะ ทุกคนมีอยู่ประจำธาตุขันธ์ นี่คือเวทนานอก ถ้าเวทนานอก ถ้าเราไม่มีกำลัง ไม่มีปัญญา เรากำหนดพุทโธๆ หลบมาก่อน หลบให้จิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามา เวทนานอก-เวทนาใน เวทนานอกหมายถึงปุถุชน เวทนานอกหมายถึงจิตที่มันจับมันพิจารณาไม่ได้

แต่ถ้าจิตสงบแล้ว จิตสงบ เพราะจิตสงบมันมีกำลัง มันจับได้ พอมันจับเวทนา มันจับเวทนาขึ้นมาพิจารณา เวทนามาจากไหนน่ะมันแยกมันแยะได้ กระดูกไม่มีเวทนา เนื้อไม่มีเวทนา ถ้าไม่มีเวทนา แล้วมันมาจากไหนน่ะ? ก็มาจากอุปาทาน มาจากความยึดของเรา มาจากความรับรู้

ถ้าจิต ปัญญามันคัดไล่เข้ามาถึงตัวจิต มันปล่อย พั๊บ! เวทนาหายหมดเลย ปวดแสนปวด ทุกข์แสนทุกข์ มันปล่อยได้อย่างไร มันปล่อยได้อย่างไร มันปล่อยเพราะอะไร มันปล่อยทำไม นี่ถ้าปัญญามันไล่เข้ามานะ แต่ถ้าปัญญามันกำลังมันไม่พอนะ ยิ่งพิจารณานะ นี่เวทนาปวด อู๋ย! ปวดก็ยิ่งปวด ยิ่งปวดมันก็ปวดใหญ่ ปวดใหญ่มันก็ยิ่งปวดมากขึ้น มันทุกข์มากนะ

ฉะนั้น ถ้ามันทนไม่ได้ ทนกับเวทนาไม่ได้ เราต้องกลับมาพุทโธ กลับมาพุทโธ ฉะนั้น ถ้าผ่านเวทนา เรา กว่าที่เราจะต่อสู้กับกิเลส เราต่อสู้ เพราะสิ่งนี้ กิเลสคือนามธรรม แต่มันเอาสิ่งที่เจ็บช้ำน้ำใจ เอาสิ่งที่เจ็บปวด เอาสิ่งที่เป็นความทุกข์ระทมมาทับถมหัวใจของเรา

แต่เวลาเราพิจารณาไปแล้วนะ พิจารณาสิ่งที่มันทับถมหัวใจ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เวลาพิจารณาไปแล้ว ธาตุขันธ์ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่ใช่กิเลส กิเลสคือความหลงผิด แล้วเอาสิ่งนี้มาเหยียบย่ำหัวใจของเรา แล้วคนก็ศึกษาสิ่งนี้ แล้วก็พูดแบบนี้ แต่ไม่มีการกระทำ มันก็เป็นธรรมตามน้ำ ไม่มีข้อเท็จจริง

ถ้ามีข้อเท็จจริง ต้องแนะ ต้องสอน ต้องบอกวิธีการผู้ที่จะทำข้ามเหตุข้ามผลสิ่งนี้ให้ได้ ถ้าข้ามเหตุข้ามผลสิ่งนี้ให้ได้ มันเป็นสัจจะ มันเป็นมรรคญาณ มันเกิดความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรมที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นความชอบธรรมที่เกิดขึ้น กิเลสเป็นนามธรรมใช่ไหม

แล้วเวลาความรู้สึก มรรคที่มรรคญาณที่มันเกิดขึ้น มันเป็นนามธรรมหรือเปล่า? มันก็เป็นนามธรรม ความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นนามธรรมหรือเปล่า แล้วความรู้สึกนึกคิดมีสติมีปัญญา ทำไมเราเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา ให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ขึ้นมา

เวลาจักรมันเคลื่อนนะ เราเห็นกันอยู่ว่าเวลาปัญญามันหมุน มันหมุนอย่างใด มันมีสติ มันมีปัญญา มันมีมหาสติ-มีมหาปัญญา มันมีปัญญาอัตโนมัติ เวลากิเลสมันละเอียดเข้าไป มันจะหลอกลึกซึ้งกว่านี้ กิเลสอย่างละเอียดมันเล่ห์กลมันมากกว่านี้เยอะนัก

แล้วนี่กิเลสประจำธาตุขันธ์ กิเลสประจำมนุษย์ ที่เราพิจารณากันอยู่ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เวลามันพิจารณาเป็น คำว่า “พิจารณาเป็น” คือเริ่มต้นการปฏิบัติเป็น ถ้าเริ่มต้นการปฏิบัติเป็น พอเราเห็นปัญญามันเคลื่อนไป ถ้าปัญญามันเคลื่อนไป พอเราออกจากภาวนามานี่เรายังทึ่งนะ เวลาออกจากภาวนามาเพราะอะไร เพราะจิตเราสงบเสียเอง พอจิตสงบแล้วเราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาที่มันเกิดขึ้น

แล้วปัญญา ปัญญาเหมือนดาบเพชร มันสิ่งที่คมกล้า แล้วเข้าไปเผชิญกับกิเลส เผชิญกับกิเลสอะไร? กิเลสเป็นนามธรรม กิเลสคืออนุสัยที่นอนมากับใจ แล้วมันข่มขี่หัวใจของเรา มันหลอกลวงหัวใจของเรามากี่ภพกี่ชาติ กี่ร้อยกี่พันชาติ กี่แสนชาติกี่หมื่นชาติ มันขี่หัวใจมาตลอดเลย เราพ่ายแพ้มันมาตลอด

เราเป็นคนเก่งนะ คิดเก่ง ทำเก่ง หากินเก่ง ทุกอย่างเก่งหมดเลย แต่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส เก่งทั้งนั้น เก่งมากๆ แต่แพ้กิเลส กิเลสมันข่มขี่มาตลอด แต่ขณะที่เรามีสติมีปัญญา เราเป็นชาวพุทธ เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา พอจิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามา มันเกิดภาวนามยปัญญา พอเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา เพราะมันเกิดภาวนามยปัญญา มันสมดุลของมัน มันถึงปล่อยวางได้ คำว่า “ปล่อยวาง” คือตทังคปหาน การประหารกิเลสชั่วคราว

คำว่า “คนภาวนาเป็น” คือใช้เป็น ขับรถเป็น คนบริหารเป็น คนทำงานเป็น จิตที่มันภาวนาเป็น เพราะมันใช้ปัญญาเป็น แต่จิตที่ภาวนาไม่เป็น มันยังใช้ปัญญาไม่ได้ มีดนะ มันอยู่ในฝัก สนิมเกรอะกรัง ชักไม่ออก ชักไม่ได้ แต่มีดของเรานะ เราเก็บไว้ในฝัก เราลูบน้ำมันไว้ เรารักษาไว้ เราชักออกได้ นี่ไง เวลามันเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา เราชักออกมา เราฟาดฟันกับกิเลส กับกาย กับเวทนา กับจิต กับธรรม ธรรมคือธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในสภาวธรรม เพราะมีสติ มีปัญญา จิตสงบแล้ว จิตระงับแล้ว มันพิจารณาความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นธรรม

แต่ถ้าจิตไม่ได้สงบระงับนะ มันพิจารณาไปด้วยทุกข์ ถ้าจิตไม่สงบระงับ มันคิดสิ่งใด พิจารณาสิ่งใด มันเหยียบย่ำหมด แต่ถ้าจิตมันสงบระงับนะ แล้วพอจิตสงบระงับแล้วมันมีหลักมีเกณฑ์ มันพิจารณาของมัน นี่คำว่า “ภาวนาเป็น ภาวนาเป็น”

มันใช้ปัญญาแล้ว เราออกจากภาวนามานี่เราทึ่ง พอคำว่า “ทึ่ง” ๑

๒. มันเห็นเหตุ เห็นผล เห็นจริง เห็นเท็จ เห็นว่าโลกียปัญญา สัญชาตญาณ ตรรกะ ความรู้สึกนึกคิด มันเกิดจากภพ เกิดจากใจ เกิดจากกิเลสทั้งนั้น

แต่เพราะพอเราทำความสงบของใจ เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน เรามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านเน้น ท่านย้ำ บอกให้ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ เพราะใจมันสงบระงับ กิเลสมันยั่วมันยุไม่ได้ กิเลสมันจะชักนำไม่ได้ กิเลสมันจะครอบงำไม่ได้ ถ้ามันครอบงำมันก็สงบไม่ได้ ถ้ามันสงบมันก็พ้นจากการครอบงำของกิเลส

ถ้ามันพ้นจากครอบงำของกิเลส ฤๅษีชีไพร เพราะไม่มีคนชี้นำเขา เขาพ้นจากการครอบงำของกิเลส เขาก็เหาะเหินเดินฟ้าซะ เขาก็แปลงกายแปลงตน เขาก็รู้วาระจิต เขาไม่หันกลับมา เขาไม่บังคับจิตของเขา เขาไม่ฝึกหัดใช้ปัญญา แต่เพราะเรามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์เราสั่งเราสอน เรามีสติมีปัญญา แล้วเราฝึกหัดฝึกฝน ไม่ใช่ธรรมตามน้ำ

ธรรมตามน้ำ บอกแล้วก็ทำเหมือน ก็ครูบาอาจารย์ก็บอกแล้ว ก็ทำทุกอย่างครบบริบูรณ์ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้วในพระไตรปิฎก อ่านมาหมดแล้วก็ทำเหมือนกัน แล้วมันผิดตรงไหน? ผิดตรงภาวนาไม่เป็น ผิดตรงที่เอ็งจำเขามา ผิดที่ว่าธรรมะตามน้ำไง เอาแต่ผล เอาแต่ประโยชน์ ไม่เอาความข้อเท็จจริง เอาสิ่งที่เข้ามาชำระกิเลส ถอดถอนกิเลสในใจของตัว

แต่พอเราพิจารณา จิตเราสงบ เราใช้ปัญญาของเรา เวลาเราออกมา ออกมานะ ขณะที่ทำ เราเต็มที่กับเรา งานคืองานเต็มไม้เต็มมือ ต่อสู้เต็มที่ มันรู้ไปตลอด แต่มันเต็มไม้เต็มมือ มันคิดสิ่งใดไม่ได้หรอก พอคิดสิ่งใดไม่ได้ เราออกจากภาวนามาแล้ว เราก็มาทบทวน อันนั้นถูก อันนี้ผิด แล้วถ้าผิด มันผิดอย่างใด มันแตกต่างกันอย่างใด เห็นไหม มันเห็นคุณค่า เห็นการกระทำ แล้วหมั่นเพียร ความหมั่นเพียร นี่ภาวนาเป็น

คนภาวนาเป็นนะ ทำสิ่งใดมันมีโอกาส ถ้าภาวนาไม่เป็น เราจับอะไรไม่ถูก เราจับสิ่งใด จับต้องสิ่งใดผิดไปหมดน่ะ แต่จะผิดอย่างใด ทุกคนเกิดมาจากโลกนะ ทุกคนเกิดมาจากพ่อจากแม่ คนที่เกิดมาคือคนที่มีกิเลส ฉะนั้น สิ่งที่เรามีกิเลสอยู่ เราจะไม่ให้ผิด เราอย่าหวัง ฉะนั้น เราอย่าหวัง แต่เราก็มีจุดยืนของเรา ถ้าผิดแล้วเราก็แก้ไข ผิดแล้วอย่าคอตก ผิดแล้วอย่าเสียใจ...ทั้งๆ ที่เสียใจนี่แหละ แต่อย่าเสียใจ

มันไม่เสียใจได้อย่างไร มันผิดน่ะ แต่มันจะเสียใจ ไม่เสียใจ มันก็ต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเราไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักมีการแก้ไข เราจะเจริญข้างหน้าไปได้อย่างใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตั้ง ๖ ปี หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทุกข์ยากมากนัก

หลวงตาบอกว่า หลวงปู่มั่นสลบถึง ๓ หน เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสลบถึง ๓ หนนะ คนสลบน่ะ ๓ ครั้ง หลวงปู่มั่นท่านก็สลบ ๓ ครั้ง แต่ไม่ติดต่อกัน ท่านไม่สบาย ท่านป่วย แล้วท่านพิจารณาของท่าน แล้วมันสลบ รู้ตัวก็นอนอยู่นะ ลุกขึ้นมาเอาใหม่

ครูบาอาจารย์ของเราท่านผ่านทุกข์ผ่านยากมา ไม่ใช่ทุกข์นิยมนะ มันเป็นสัจจะนิยม เพราะกิเลสมันลึกซึ้ง มันขี่คอ แล้วจะทำอย่างใด เราจะปลดกิเลสออกจากคอของเรา มันต้องปลดให้ได้จริงๆ สิ ถ้าการปลดให้ได้จริงๆ เราจะสู้กับมันจริงๆ ไม่ใช่ทุกข์นิยมนะ พูดไปพูดมาจะบอกนี่เป็นทุกข์นิยมเลย เราจะต้องทุกข์กันอย่างเดียว...ไม่ใช่

ถ้าเราไม่เข้าไปสู่ความจริง เพราะทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง เราไม่ไปเผชิญหน้ากับมัน เราไม่ไปเผชิญหน้ากับกิเลส เราไม่เคยเผชิญหน้ากับความจริง แล้วเราจะรู้ความจริงได้อย่างใด เราก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริง ถ้าเราเผชิญหน้ากับความจริง นี่ไง มันไม่ตามน้ำไง มันเป็นความจริง

แล้วเราปฏิเสธความจริง แต่อาศัยกิเลสบังหน้า แล้วบอกว่า “ธรรมะๆ” นี่ธรรมตามน้ำ เพราะเราไม่จริง เราชอบฟังสิ่งที่เขายกยอปอปั้น เราชอบสิ่งที่มันเปิดให้กิเลสมันยังขี่คอเราอยู่ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเรา เราเอาความจริงของเรา ความจริงมันเกิดขึ้นมา เราพิสูจน์ของเรา

นี่พิจารณาซ้ำ พอจิตมันปล่อยวางแล้วเราทบทวนได้ ทบทวนได้ พิจารณากาย ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ มันเห็นสภาวะกาย รำพึงให้มันเป็นไป ให้มันเป็นไตรลักษณ์ ให้มันแปรสภาพให้เราเห็น พอแปรสภาพให้เราเห็น มันสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือน ถ้าพิจารณาเวทนา พิจารณาแล้วมันปล่อยขนาดไหน มันปล่อยแล้วเราต้องพิจารณาซ้ำ

เวลาคนที่ไปถามหลวงตานี่ เราอ่านหนังสือหลวงตามาเยอะ

เวลาคนไปถามหลวงตา “หลวงตาว่าถูกไหม?”

“ถูก”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป?”

“ให้ซ้ำ ให้ทำสิ่งที่เคยทำมา” ตรงนี้มันเป็นหัวใจเลย

แต่ส่วนใหญ่แล้วนะ ถ้าธรรมตามน้ำ พอหลวงตาบอกว่าถูก มันถูกแล้ว มันพอใจแล้ว เวลาถูกนี่มันพิจารณามัน มันปล่อย พอถูกแล้วนะ ไม่ปฏิบัติต่อ พอไม่ปฏิบัติต่อ กิเลสมันตีกลับ พอกิเลสมันตีกลับ สิ่งที่ทำมา เหมือนไม่มีเลย แล้วจะเริ่มต้นใหม่นะ จิตเสื่อม แล้วต้องปฏิบัติใหม่

หลวงตาท่านใช้อย่างนี้ เพราะว่าท่านสอนมาเยอะ แล้วอธิบายแล้วอธิบายเล่า คนอธิบายเป็นล้านๆ ครั้ง มันก็น่าคิดอยู่นะ อธิบายอย่างใด แล้วมันอยู่ที่วุฒิภาวะของคนจับ ถ้าธรรมตามน้ำ มันจะจับอย่างนั้นน่ะ จับอะไรที่พอใจ จับสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตน คิดว่าอย่างนั้นนะว่าเป็นประโยชน์กับตน แต่ความจริงเป็นประโยชน์กับกิเลส เป็นประโยชน์กับกิเลสในหัวใจของผู้ที่ปฏิบัตินั้น

สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นประโยชน์คือหัวใจ คือทำซ้ำ คำว่า “ทำซ้ำ” เพราะเราทำมาแล้วเราได้ผล ถ้าเรามีวิริยะ มีอุตสาหะ ทำให้ความเป็นจริงขึ้นมา มันทำต่อเนื่องๆ เหมือนแผล เวลาเรารักษาแผล เราเปลี่ยนแผล เรารักษา เราล้างแผล แล้วเราใส่ยา ล้างแผล แล้วใส่ยา แล้วปิดแผล เปิดแผล ล้างแผล แล้วใส่ยา แล้วปิดแผล เปิดแผล แล้วล้างแผล ใส่ยา แล้วปิดแผล เปิดแผล ล้างแผล...แผลจะหายไหม ซ้ำไปๆ มันจะหายไหม

แต่นี่บอกว่าถูกแล้วนะ ปิดไว้ แล้วไม่เปิดเลยไง มันเน่า มันติดเชื้อ มันขยายผล นี่เพราะอะไรล่ะ เพราะธรรมตามน้ำไง แต่ถ้าเอาจริงๆ ขึ้นมานะ ท่านบอกให้ซ้ำ คำว่า “ซ้ำ” เราเห็นอย่างนี้มาเยอะมาก เห็นนักปฏิบัติมักง่าย เอาแต่ได้ แล้วไม่ได้ เอาแต่ได้ แล้วไม่ได้

แต่เวลาปฏิบัตินะ เราเอาจริงเอาจังของเรา เอาจริงเอาจัง เขาก็บอกว่า “โอ๋ย! ทำไมต้องปฏิบัติทุกข์ยากขนาดนั้น”

คนที่มัธยัส คนที่มัธยัสประหยัด รู้จักเก็บหอมรอมริบ คนคนนั้นจะมีโอกาสยืนได้ คนคนไหนฟุ่มเฟือย ไม่รักษา ไม่ดูแลใจของตัว มีแต่วันทุกข์ไปข้างหน้า คนไหนมัธยัสนะ นี่หลวงตาท่านพูดบ่อย หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นน่ะ พวกเราเคารพ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าเป็นพระอรหันต์

หลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านเก็บเล็กผสมน้อย แม้แต่เป็นพระอรหันต์ก็พยายามวางตนไม่ให้ผิดพลาดเลย จะเป็นแบบอย่างให้พวกเรายึดเกาะ ให้พวกเรา ให้มีที่พึ่ง ท่านเสียสละตัวของท่าน เสียสละคืออะไร คือพระอรหันต์มันเป็นปาปมุต มันพ้นจากการเป็นอาบัติ มันไม่มีโทษมีภัยกับใจดวงนั้น แต่ท่านก็พยายามทำตัวของท่านให้เราเป็นหลักเป็นชัย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าแม้แต่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านพ้นจากกิเลสไปแล้ว ท่านยังเก็บเล็กผสมน้อย...ไม่ได้เลย อะไรที่ผิดธรรมวินัย ท่านจะไม่ยอม

หลวงตาบอกว่า มีเห็นหลวงปู่มั่นเท่านั้นที่ใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ไม่รับของใครเลย ใช้ผ้าบังสุกุลคือเก็บเอา เก็บเอา เก็บมาตัดเก็บมาเย็บรักษาของตัวเอง หลวงปู่มั่นท่านทำนี่ท่านทำเป็นแบบอย่างทั้งนั้นน่ะ นี่ให้เห็นว่าผู้ที่ประหยัดมัธยัส ผู้ที่เก็บหอมรอมริบ ท่านจะเป็นคนดี

ไอ้พวกเรานักปฏิบัติ เก่งทั้งนั้น ปัญญานี่เลอเลิศ ปล่อยวางหมด นิพพานก็รู้หมด นิพพานจับใส่ห้องใส่หับไว้เยอะแยะ เอาไว้แจกชาวบ้าน แต่หัวใจไม่รู้อะไรเลย

ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราซ้ำของเรา พิจารณาของเราไป อย่ามักง่าย คนมักง่ายเขาได้ลื่นล้ม เขาได้ไถลไปต่อหน้าเรา ตกเหวตกบ่อไปเราก็เห็น ฉะนั้น เราจะเดินร่องรอยแห่งธรรม เราจะต้องมีสติ เราจะต้องมีปัญญา เราจะไม่ไถลลื่นล้มไปแบบเขาข้างหน้า เราจะต้องมีสติ เราจะต้องมีความเพียร ความบากบั่น เราจะต้องทำให้มันเสมอต้นเสมอปลาย

การทำเสมอต้นเสมอปลาย ดูสิ อุณหภูมิที่รักษาไว้ เขาจะรักษาสิ่งที่เขาเก็บไว้ ไม่ให้เน่าเสีย เพราะอุณหภูมิเขาสม่ำเสมอ อุณหภูมิเดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ ของที่เก็บไว้มันเสียหมด การปฏิบัติสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย มันจะดูแลรักษาใจของเรา ใจของเราที่มันทุกข์มันยาก เราก็ยังภูมิใจ ภูมิใจว่าเราเกิดมา เรามีครูมีอาจารย์นะ ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์ กิเลสมันละเอียดลึกซึ้ง มันเข้าข้างตัวมันตลอด อะไรที่ไม่เคยรู้เคยเห็น ไปเห็นแค่แวบเดียว เห็นเข้าครั้งสองครั้ง มันจะว่าสิ่งนั้นเลอเลิศ แต่ความจริงนั้นเป็นภาพ เป็นมายาภาพของกิเลสทั้งนั้น มายาภาพของกิเลส

ถ้ามันเป็นสัจจะ เป็นความจริงนะ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันอยู่กับเราตลอด เวลาจิตมันสงบแล้ว พิจารณากายนะ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามันยังไม่ขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ พิจารณาไปมันก็จะเห็นกาย ถ้ามันยังจับ ยังต้อง ยังรู้ ยังเห็นได้ มันจะขาดได้อย่างใด เพราะกิเลส สังโยชน์มันร้อยรัดไว้

พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก พิจารณาซ้ำ เวลามันปล่อยวาง เห็นไหม ตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว คำว่า “ชั่วคราว” เพราะมันทนกำลังของมรรคไม่ได้ มันทนกำลังของศีล สมาธิ ปัญญาไม่ได้ มันก็ต้องหลบต้องซ่อน

มันคิดซ้ำ คิดซาก พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก ถ้ามรรคสามัคคี มรรครวมตัว สมุจเฉทปหาน ขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เวลาพิจารณาโดยธรรม เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

สักกายทิฏฐิที่มันรัดหัวใจเราไว้ ถ้ามันขาดไปแล้ว เราจะมีความลังเลสงสัยไหม เราจะมีสีลัพพตปรามาสไหม เราจะลูบคลำไหม ถ้าของมันขาด เราจะลูบคลำอีกไหม ถ้าของมันขาด เราจะสงสัยไหม นี่มันเป็นความจริงอย่างนี้ แล้วถ้าความจริงอย่างนี้เกิดขึ้นมา ความจริงที่มันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นขึ้นมา ใจดวงนั้นมันจะรู้จริงเห็นจริงของมัน ถ้าใจดวงนั้นรู้จริงเห็นจริง พิจารณาซ้ำ พิจารณาขึ้นไป มันจะประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ถ้าทำได้จริง มันไม่ตามน้ำไง มันมีข้อเท็จจริง แล้วองอาจกล้าหาญมาก

เวลาหลวงปู่ หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่แหวนนะ ที่ว่าไปถามธรรมะๆ ถ้าถามนะว่าเริ่มต้นอย่างใด ถ้าเริ่มต้นไม่ได้ ไม่ถามคำต่อไป ไม่ถามคำต่อไป เพราะเริ่มต้นไม่ได้ก็จบ ถ้าเราไม่รู้จักตัวตน ไม่รู้จักชนชาติของเรา เราไม่รู้จักตัวเรา เราจะไปไหน

ถ้าถามว่า เราคือใคร เรามาจากไหน...ตอบถูก แสดงว่านี่ภาวนามาถูกต้อง แล้วสิ้นสุดอย่างไร นี่ยากตั้งแต่คราวเริ่มต้น และคราวถึงที่สุด ที่สุดนี้ยากมาก ถ้ายากมากนะ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” แล้วมันข้ามอย่างไรล่ะ จิตผ่องใส สว่างไสว ว่างนี่ มันจะทำลายภพอย่างไร ทำลายสิ่งที่ปฏิสนธิจิตที่จะเกิดบนพรหม ทำอย่างใด

ถ้าอธิบายถูกต้อง หลวงตาท่านฟังแล้วท่านสาธุ หลวงปู่แหวนบอกว่า “มีอะไรให้ค้านมา”

“ไม่ค้านหรอกครับ เกล้ากระผมหาฟังธรรมแบบนี้ล่ะครับ”

ธรรมที่เป็นธรรมความจริง ไม่ใช่เป็นธรรมตามน้ำ เอวัง