เทศน์บนศาลา

การเกิดการตายของโลกกับของธรรม

๑๖ ก.ย. ๒๕๔o

 

การเกิดการตายของโลกกับของธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจภาวนา อุตส่าห์มุมานะ อย่างการภาวนา ความจงใจมีอยู่แต่แนวทางมันก็ยังลังเลสงสัย ถึงต้องให้ฟังธรรม

“การฟังธรรม” ทำไมเป็นธรรม ทำไมไม่เป็นโลก?

“โลกธรรม” โลกธรรมนะ โลกกับธรรมอย่างหนึ่งกับโลกธรรม ถ้าโลกธรรมคือการนินทาสรรเสริญ โลกธรรม ๘ อันนั้นก็เป็นธรรมบทหนึ่ง “โลกธรรม ๘”

แต่ธรรมะแท้ๆ สิ ธรรมะแท้ๆ มันเหนือโลก โลกก็เป็นโลก คุยกันอย่างไรมันก็เป็นโลก คุยเรื่องธรรมะมันก็เป็นโลก เพราะเอาโลกคุย เอาความเห็นของเราพูด มันก็ยังเป็นโลกอยู่วันยังค่ำ จนเข้าไปเสพธรรมจริงๆ มันถึงจะเป็นธรรมแท้

อย่างเช่นสมาธิธรรม สมาธิธรรมคือจิตนี้เข้าไปเสพถึงความสงบ ทำความสงบ สมาธิแท้เกิดขึ้นจากการเสพของใจ ใจเข้าไปสัมผัสธรรมของพระพุทธเจ้า นั่นน่ะ ธรรมแท้ นั่นล่ะมันถึงว่าเป็นธรรม ให้พูดธรรมะด้วยกิเลสมันก็ยังเป็นโลกวันยังค่ำ เถียงกันจนตาแดง ก็จะเอาชนะกันด้วยเหตุด้วยผล ก็ว่าเป็นธรรมนะ

มันเป็นธรรมที่ไหน โลกล้วนๆ ธรรมแท้ๆ คือสิ่งที่พูดแทบไม่ได้เลย แม้สมาธิก็ยังอธิบายกันด้วยความไม่เหมือนกัน นั่นธรรมแท้

“โลกกับธรรม” กับ “โลกธรรม”

ถึงฟังธรรม ฟังธรรม ธรรมเหนือโลก ธรรมคือความจริง ความจริงของธรรม มันเกิดจากความจงใจ ความตั้งใจจริงของเราด้วย ความตั้งใจจริงนะ ถึงจะเข้าไปถึงความรู้สึกอันนั้น

พวกเราประมาทหรือไม่ประมาท รู้สึกว่าประมาทนะ ความประมาท ความประมาทอยู่คือความไม่จงใจ จริงใจ ความประมาทไม่ใช่ว่าต้องหกล้มขาหักถึงเป็นความประมาท ความประพฤติปฏิบัติที่ไม่จริงจังนี่ก็เป็นความประมาท ความชินชา ความคุ้นเคย คุ้นเคยกับอารมณ์ คุ้นเคยกับวิธีการปฏิบัติ การได้นั่งขัดสมาธิ การได้นั่งตัวตรงนี้เป็นการประพฤติปฏิบัติ ประมาทหรือยัง

การไม่ประมาทคือการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ดูสัตว์ป่า สัตว์ป่ามันกลัวภัยนะ การจะหาเหยื่อจะหากินมันจะระวังภัยตลอดเวลาเลย นี่เราไม่เห็นภัยในโลก เราไม่เห็นภัยในวิวัฏฏะ ไม่เห็นภัยในวัฏวน วัฏฏะ ไม่เห็นภัยในวัฏฏะ ถ้าไม่เห็นภัยในวัฏฏะ เราก็สักแต่ว่าทำ ถ้าเห็นภัยในวัฏฏะ เห็นภัยในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การเกิดกับการตาย ถ้าเห็นภัยในการตาย เห็นภัยในการได้ไปเกิดอีก เห็นไหม นี่เราไม่เห็น มันถึงทำให้เกิดความประมาท

ความประมาทเกิดขึ้นจากเราคุ้นเคยกับความคิด คุ้นเคยกับแขกที่จรมาในหัวใจ เราประมาทแล้ว ถ้าเราไม่ประมาท เราจะไม่คุ้นเคยกับความคิดที่นอนจมอยู่ในกิเลสนี้ เราจะไม่คุ้นเคยกับความคิดที่ทำให้เราอยู่ ไม่ขยับออกไปจากความที่มันเสพอารมณ์ เสพอารมณ์นั้นมันรู้รส รสของการมีทรัพย์สมบัติ รสของการอยู่ในโลก รสของการมีชีวิตยาวนานไง

การมีชีวิตอยู่ยาวนานยังคิดว่ามันจะไม่ตาย มันจะได้กว้านเข้ามาเป็นสมบัติของตัวให้มีความอบอุ่นว่าเรามีสมบัติมาก เรามีทรัพย์สมบัติมาก เราจะมีความสุขมาก นี่มันคุ้นเคยกับอารมณ์ มันคิดไปแล้วมันก็พอใจ สุขใจ สุขประสามันได้คิด นี่ประมาทหรือไม่ประมาท

ประมาทในความไม่จงใจ ไม่ตั้งใจ ๑ ประมาทแบบว่าเราทิ้งบ้านเรือนออกไปเที่ยว ออกไปต่างประเทศเลย ทิ้งตัวเองไง ประมาท ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ ความจงใจ ความตั้งใจ ความไม่คุ้นเคยนั่นประมาทชั้นหนึ่ง การตามความคิดออกไป ส่งออก ออกจากร่างกายเราไป ปล่อยให้ร่างกายนี้เป็นที่ว่างเปล่า เป็นที่เรือนว่าง ไม่มีเจ้าของเป็นผู้ดูแล นี่ความประมาทเราถึง ๒-๓ ชั้นนะ

แต่เราว่าเราไม่ประมาท เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นนักปฏิบัติ เรานั่งสมาธิ เราทำความเพียรตลอด “ความประมาทภายใน”

“ความประมาทภายนอก” ประสบอุบัติเหตุแล้วถึงว่าเป็นความประมาท มีความประมาท ความไม่มีสติสตังทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่นักปฏิบัติมันว่าอันนั้นมันหยาบเกินไป

ธรรมะหยาบๆ ธรรมะอย่างกลาง ธรรมะอย่างละเอียด นี่ธรรมมันเหนือโลก เหนือโลกอย่างนั้นเลยล่ะ

คนเกิดมาเท่าไร เทวดาเกิดเท่าไร สัตว์นรกเกิดเท่าไรต้องตายหมดในวัฏฏะ เพราะวัฏฏะนี้วน ต้องตายหมด ต้องเปลี่ยนแปลงหมด แต่เราเห็นการเกิดและการตายนั้นแล้วเราได้ประโยชน์อะไรบ้างล่ะ

มันต้องได้ประโยชน์ให้ว่าเราก็ต้องเป็นคนๆ หนึ่งที่จะต้องไปแน่นอน เราเป็นคนๆ หนึ่ง เราจะเป็นคนฉลาดหรือเราจะเป็นคนโง่ ถ้าเราเป็นคนฉลาด เราต้องหาสมบัติที่แท้จริง ไม่ใช่สมบัติจอมปลอมของโลกเขา โลกนี้สมบัติผลัดกันชม เราไม่จากเขา เขาก็ต้องจากเราวันยังค่ำ เรามีชีวิตอยู่ บ้านเรือนมันเสื่อมสภาพลง เราก็ต้องซ่อมต้องแซมเพื่อให้มันคงที่จะอาศัยมันอยู่ได้ บ้านเรือนทรัพย์สมบัติมันต้องแปรสภาพ ขณะที่เรามามีชีวิตอยู่ หรือว่ามันคงที่อยู่ มันยังไม่แปรสภาพ เราต้องตายจากมันไป

เขาไม่จากเรา เราก็ต้องจากเขา ต้องจากกันวันยังค่ำ ชีวิตนี้มีการพลักพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีการพลัดพรากที่สุดเลยนะ มีการจากกันเป็นที่สุด ต้องจากไป เกิดมาเท่าไรต้องตายทั้งหมด ประมาทหรือไม่ประมาท แล้วก่อนจะตาย เราเอาสมบัติอะไรไป

ว่าการฟังธรรมนี้แสนยาก มันยากตรงไหน ได้ยินได้ฟังทุกวัน เดินอยู่แถวกลางถนนยังได้ยิน เราออกบิณฑบาตเขายังเปิด ได้ยินแจ้วๆ นั่นน่ะ แต่อันนี้เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาแล้วเราถึงได้ยิน แล้วที่อื่น เขาอยู่กันที่อื่น เขาจะได้ยินอย่างนี้ไหม

เขาไม่มีโอกาสหรอก เพราะความประมาทอีกนั่นล่ะ ความประมาท ฟังจนชินหูไง เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา อยู่อย่างนั้นทุกวัน ก็เลยว่าไหนฟังธรรมมันลำบาก ไม่เห็นลำบากเลย ไม่เห็นมันยากเลย คนยัดเยียดให้เราฟังอีกต่างหาก

เพราะเราได้สภาวะของมนุษย์ เราได้สภาวะของการพบพระพุทธศาสนา เราได้สภาวะของการเกิดในประเทศอันสมควร แต่เราก็มองข้ามด้วยความประมาท ประมาทหลายชั้น ความประมาทมันประมาทจนแบบว่าจับต้องอะไรไม่ได้เลย

ฉะนั้น ไอ้ที่การฟังธรรมนั้นเป็นการฟังธรรม แต่การประสบความแปรสภาพ การพิจารณาเห็นความเสื่อมสภาพจากภายนอก มันต้องเตือนหัวใจ มันต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้ตัวเองตื่นตัว ไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท ให้ความประมาทชักวนออกไปภายนอก วนกลับมาดูสมบัติของตัวเอง

ในตู้เซฟ เราเอาเงินเก็บไว้ในตู้เซฟแล้วปิดไว้ แล้วเราไม่เคยใช้ เราหามาเกือบเป็นเกือบตายนะ แล้วเอามาเก็บไว้ในตู้เซฟ แล้วก็ว่าเข้าใจว่าเราไม่มีเงิน จะใช้จ่ายก็ต้องไปวิ่งหากู้ยืมเขาอีก

อันนี้ก็เหมือนกัน การเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเกิดพบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในวงของผู้ปฏิบัติ การพบพระพุทธศาสนา แค่ทานก็มากไป เกิดเป็นชาวพุทธไม่รู้จักทานเลยก็มากแสนมาก แล้วว่าที่เข้าเริ่มทำทาน เริ่มทำบุญทำทาน เข้ามาใกล้ชิดหน่อยหนึ่ง แล้วเข้าไปทำทานแล้วไปฟังธรรม แล้วเกิดความเลื่อมใสประพฤติปฏิบัติอีกอันหนึ่ง นี่วงภายใน เราเข้ามาถึงวงนี้ วงของผู้ปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัติมันก็ต้องเข้มข้นกว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติ ความจริงใจ ความจงใจต้องมากกว่า ต้องมากกว่านะ มากกว่าเพราะว่ามันเป็นนามธรรม มันเป็นหัวใจที่ว่ามันกลอกกลิ้ง ความกลอกกลิ้ง ความไม่อยู่กับที่ ไม่อยู่ในสภาพของมันเอง มันต้องอาศัยเครื่องอยู่ตลอดเวลา ความกลอกกลิ้งนี้ เราต้องการจับความกลอกกลิ้งนี้เพื่อให้มันทรงตัวได้ จับหัวใจที่มันกลอกกลิ้งให้มันทรงตัวได้ มันถึงจะเริ่มเป็นเราที่ว่าเริ่มมีฐาน

บอกว่า เงินในตู้เซฟ หมายถึงเราเกิดมา เราเกิดมาด้วยบุญกุศลอันนี้ แล้วเราก็ไปวิ่งหาภายนอก ความสุขภายนอก เหมือนกับไปกู้หนี้ยืมสินเพราะมันเป็นความสุขเกิดจากอามิส เกิดจากอารมณ์ เกิดจากวัตถุ แต่ความสุขภายในที่เป็นวัตถุ ที่เราว่าเป็นในตู้เซฟคือบุญกุศลที่ในหัวใจ เราลืม เรามองข้ามสมบัติเดิมที่เราเก็บสะสมมา ที่เราฝังไว้ในตู้เซฟคือกลางหัวใจ แล้วเราไปดูแต่ความสุขภายนอก มันถึงไม่มีความสุขจริง

ถึงโดนหลอก โดนสมมุติหลอก โดนโลกหลอก หลอกจนวิ่งนะ วิ่งตามมันไปนะ จนแบบว่าลากไปจนหนังถลอกปอกเปิก จนมีแต่ความเจ็บแสบ ความทุกข์ ความเศร้า ความปวด ความเร่าร้อน แต่มันก็ไม่รู้วิธีแก้ เพราะมันวิ่งไปเอาข้างนอกนี่นะ มันไม่วิ่งกลับมาดูว่าสมบัติแท้จริงของเราที่เราจะได้มีอยู่แล้วในตู้เซฟอันหนึ่ง มันมีอยู่จริง ถ้าไม่มีอยู่จริง เราไม่เข้ามาถึงตู้ในวงของนักปฏิบัตินี้หรอก มันต้องมีอยู่จริง แต่เรามองข้ามไปเอง เราไปมองข้างนอก

ถึงต้องทำใจให้สงบ ให้มีฐาน ให้มีผู้ที่ทำการงาน ใจไม่สงบ เราปฏิบัติ เริ่มต้นปฏิบัตินี้ก็ปฏิบัติเข้าไปถึงจุดของตู้เซฟนั้น ให้ตู้เซฟนั้นเป็นฐาน เป็นฐานแห่งความสงบ

นี้มันไม่สงบ ถ้ามันนั่งลงไปแล้วมันจับต้องอะไรไม่ได้เลย มันเวิ้งว้างโดยไร้สาระ ถ้ามันจะเป็นความว่าง เป็นสมาธิจริง ความเวิ้งว้างอันนั้นมันต้องมีสติ มันต้องมีฐาน มีที่จับต้องได้ มีที่ว่าเรามีใจเป็นผู้รับรู้ แต่ความเวิ้งว้างของเรานี้มันเวิ้งว้างแบบไร้สาระ คือว่ามันไม่มีแก่นสาร ตัวเองก็ทำให้มันเป็นภวังค์ไป มันเป็นความไม่มีแก่นสาร อันนั้นมันไม่ถูกต้อง

ถึงต้องพยายามตั้งสติให้ดี ต้องตั้งสติให้ดี ความรู้สึกอันนี้ให้ดี พยายามกำหนดเข้ามา เห็นสิ่งข้างนอกมันมีความแปรสภาพ ใจมันกำลังตื่นตัว อันนั้นเป็นประโยชน์มากเลย เพราะอย่างที่ว่า จิตนี้เป็นนามธรรมที่มันไม่เห็นตัวตน แต่มีความรู้สึกที่มันฟูอยู่ เราสามารถจับที่ว่ามันเป็นเป้าใหญ่ มันเป็นจับต้องได้ง่ายด้วยสติ

จิตแก้จิต จิตกำหนดจิต สตินี้เกิดจากจิต สตินี้เกิดจากความฟูอันนั้น เพราะความฟูอันนี้มันกระทบใหม่ เหมือนไฟไหม้บ้าน มันจะรุนแรง ไฟไหม้บ้านที่มันติดแล้ว ไฟมันจะรุนแรง มันจะแตก เสียงไฟมันแตก เป๊าะแป๊ะ เป๊าะแป๊ะ เสียงไฟมันแตกแล้วมันจะมีความร้อน เวลาจิตเรากระทบอะไรที่รุนแรงมันจะมีสภาพแบบนั้น มันมีความรู้สึกมากกับปกติมันต่างกัน

นี่ดูสภาพภายนอกไง ที่ว่าพิจารณารูป รส กลิ่น เสียงภายนอกมาเพื่อจะให้เห็นใจตัวนี้ พิจารณารูป รส กลิ่น เสียง พิจารณาสิ่งที่มันแปรสภาพ สิ่งที่มันเป็นไป เราก็คนหนึ่งต้องเป็นสภาพนั้น แต่ถ้าเราเป็นแล้ว มันไม่อยู่ในสภาพแบบนี้

ถ้าเราเป็นสภาพแบบนั้น เหมือนสัตว์ถึงโรงฆ่า เราเห็นสัตว์ที่เข้าโรงฆ่า มันร้องอย่างไรก็แล้วแต่ มันต้องโดนเชือดวันยังค่ำ แต่เราเป็นผู้ดูเขา เราเกิดความสลดความสังเวช เรายังมีโอกาสแก้ไข เรายังไม่ใช่สัตว์ตัวนั้นที่จะเข้าไปถึงโรงฆ่า

แต่ถ้าเราประมาทเลินเล่อกัน เราปล่อยให้ชีวิตมันวันคืนล่วงไปๆ โดยที่เราไม่มีความจริงใจ เราก็จะเป็นสัตว์ตัวนั้นที่เข้าไปถึงโรงฆ่า คือการต้องตายไปเป็นธรรมดา นี่ประมาทหรือไม่ประมาท

ทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้านะ พระอานนท์ถาม พระอานนท์ขอร้องเลยล่ะ พอพระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร “ขอให้พุทธองค์จงอยู่เพื่อโลกต่อไปเถิด”

พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ “อานนท์ เราสอนเธอแล้วไม่ใช่หรือ...” พระพุทธเจ้าบอกนะ “เราได้สอน เราได้กล่าวธรรมไว้มากมายเลยว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ต้องแปรสภาพทั้งสิ้น ทุกสิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง โลกนี้ทั้งโลก ๓ โลกธาตุ ทั้งวัฏฏะนี้เป็นอนิจจัง”

มันเป็นอนิจจังทั้งหมด มันถึงได้เป็นทุกข์ทั้งหมด ๓ โลกธาตุอยู่ตรงไหนมันก็เป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งหมด ทุกข์ทั้งนั้น

“เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือว่าสรรพสิ่งทั้งหลายนี้มันเป็นอนิจจัง แม้แต่เราตถาคต อายุ ๘๐ ปี ร่างกายนี้เปรียบเหมือนเกวียนเก่าๆ ต้องเอาไม้มาดามไว้เพื่อจะไป เพื่อจะให้เกวียนนี้ไปถึงที่หมาย เพื่อจะไปที่โคนต้นรังนั้นเพื่อไปละสังขารที่นั่น”

“แม้แต่เราตถาคตก็ต้องตายในคืนนี้ แม้ตถาคตก็ต้องตายไป”

แม้แต่พระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือหัวใจพระพุทธเจ้า หัวใจที่สัมผัสธรรมอันนั้นไม่มีวันตาย แต่ร่างกายที่เป็นพระพุทธเจ้า ร่างกายของมนุษย์ต้องตายไปแน่นอน ต้องแปรสภาพแน่นอน เพราะการเกิด เกิดด้วยกิเลส สิทธัตถะราชกุมารนั้นเกิดมาด้วยกิเลส การที่มีกิเลสเกิดมานั้น นั่นน่ะ เป็นทุกข์ จนออกบวช จนตรัสรู้ อันนั้นถึงเป็นธรรมแท้

ศาสนาเราสอนตรงนี้ สอนตรงที่ให้มันตายไปแล้วไม่เกิด ให้มันตายจริงๆ ให้กิเลสมันตายเสียก่อน แล้วเราค่อยดับขันธ์ ดับขันธ์แล้วก็เป็นสุขล้วนๆ เลย ความสุขใดๆ ในโลกนี้เท่ากับความสงบของจิตที่เป็นพระอรหันต์ไม่มี ไม่มี

จิตที่สิ้นแล้วมันสงบ สงบจริงๆ มันเป็นวิวัฏฏะ มันพ้นออกไปจากความเวียนว่าย มันหลุดพ้นออกไป แต่เราไปดีใจในการเกิด ดีใจในการแสวงหา ดีใจในสิ่งที่มีขึ้นมา สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง พอมีแล้วมันก็ต้องเสื่อมสภาพเด็ดขาด พอมีอะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างต้องเสื่อมสภาพ พอเสื่อมสภาพไปมันจะเกิดความทุกข์ สิ่งที่เกิดสภาพออกไป สิ่งที่เสื่อมสภาพ แต่เราพอใจในการเกิด พอใจในการมีไง

แต่นักปฏิบัตินี้กลัวในการเกิด กลัวในการมี แต่ไม่กลัวตาย ถึงได้ปฏิบัติจริงจังเอาตายเข้าแลก เอาความตาย เอาความจริงเข้าแลก ธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ธรรมะนี้เป็น เอโก ธัมโม เอก เอกเยี่ยม พระพุทธเจ้าผู้ปฏิบัติธรรม ผู้จะค้นหาธรรมก็มีหนึ่งเดียว พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้แต่ละองค์มีหนึ่งเดียวเท่านั้น แล้วตรัสรู้ธรรมที่ยอดเยี่ยมมาก

แล้วเรามาเจอพระพุทธศาสนา เราเกิดมาในท่ามกลางพระพุทธศาสนา เหมือนเราเกิดมาในท่ามกลางที่แม่น้ำใหญ่ แม่น้ำธรรม แม่น้ำใหญ่ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นต้องมีสิ่งมีชีวิต สิ่งนั้นจะมีแต่ความสุขความเจริญ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสวงหาไว้ให้แล้ว เราอยู่ในท่ามกลางน้ำธรรม แต่เราไม่ปฏิบัติธรรมกันจริงจัง เราไม่จริงจัง แม้แต่ความเป็นธรรมภายนอก ความเสื่อมสภาพภายนอกมากระทบกระเทือนใจแล้วเราก็ยังไม่แสวงหา

มันได้ ๒ ชั้นนะ ธรรมะจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนไว้ตามหลักธรรมก็ควรจะสะเทือนใจแล้ว ๑ กับการแปรสภาพให้เห็นต่อหน้าต่อตาที่ควรจะเป็นคติธรรมอีก ๑ มันก็ควรจะตื่นตัว ไม่ควรจะเป็นผู้ที่ประมาท

“ประมาท” เราประมาทกันมาก เราภูมิใจว่าเป็นนักปฏิบัตินะ แต่ปฏิบัติด้วยความประมาท ประมาทตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ ประมาทตั้งแต่ศัตรูเข้ามาในหัวใจ ประมาทตั้งแต่โดนกิเลสมันย่ำยีหัวใจก็ปล่อยให้มันย่ำยีโดยที่ว่าเราคิดว่าอันนี้เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการต่อสู้กิเลส การต่อสู้มันต้องเข้มแข็ง มันต้องต่อสู้ด้วยความจริงจัง

นั่นล่ะ พอต่อสู้ด้วยความจริงจังนะ เริ่มต้นเราตั้งฐานไว้ดี ทำต่อสู้ให้จริงจัง แล้วมันจะเข้าไปถึง เพราะมันเป็นสิ่งดั้งเดิมที่อยู่ เราจะค้นเข้ามาที่หัวใจนี้ เพราะกระแสที่มันพาเกิด แต่มันโดนบังไว้ด้วยอำนาจของกิเลส

“กิเลส” คำว่า “กิเลส” นี้คือความเคยใจ ใจนี้มันสะสมมา เรากินอาหาร อาหารอะไรก็แล้วแต่ มันมีคุณมันก็มีโทษ จิตนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นคุณคือว่าเป็นมรรค สิ่งที่เป็นคุณ ความคิดที่จะออกจากโลก ความคิดที่จงใจประพฤติปฏิบัติ มันมีช่องทางเดียวจริงๆ นะ ช่องทางที่จะเอาใจออกพ้นจากอำนาจบีบบี้สีไฟของกิเลส

อำนาจบีบบี้สีไฟคือความเคยใจที่มันจะบังคับให้ใจคิดไปเป็นความที่มันเคยเสพรสของโลก แต่พระพุทธเจ้าเห็นทุกข์มามากแล้ว จนออกจากทุกข์นี้แล้ว แล้วเอาท่านเป็นตัวอย่างด้วย จะพูดอะไรพระพุทธเจ้าเอาท่านเป็นตัวอย่างตลอด เช่น เตือนพระนะ ว่าอย่าไปฟังเสียงโลกธรรม

“ในโลกนี้ไม่มีใครจะโดนติฉินนินทา จะโดนกล่าวร้ายเท่าพระพุทธเจ้า”

พระพุทธองค์โดนหนักที่สุด ในพุทธประวัติโดนมามาก โดนทั้งแกล้ง โดนทุกอย่างเลย ท่านเอาท่านเป็นตัวอย่างทั้งหมด เอาความสุขก็เหมือนกัน สุขใดๆ ท่านประกาศแล้ว ว่าสุขใดๆ ใน ๓ โลกธาตุ ใน ๓ โลกไม่ใช่โลกมนุษย์นี้ จะเอาความสุขเท่ากับจิตที่มันคลายจากพิษ ฟังสิ “คลายจากพิษร้อน” คลายจากไอ้ไฟที่มันเผาอยู่กลางหัวใจ มันสงบร่มเย็นขนาดไหน

การคลายออก ดูสิ มันคลายตัว นี่มันเป็นใจ ยาพิษที่ฝังอยู่กลางหัวใจ ยางเหนียว อนุสัย มันเป็นเนื้อเดียวกับใจเลย นั่นน่ะ อำนาจอันนั้นมันยิ่งใหญ่นะ การเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นเทวดา การเกิดเป็นใดๆ ก็แล้วแต่ มันก็อาศัยจิตดวงนี้ไป ว่าจิตดวงนี้มันถึงได้ผ่านมาแล้วทั้งทุกข์ทั้งสุข มันเคยผ่านมาหมด

ผ่านมาหมดนะ มันถึงเกิดความกลัว ความขยะแขยงในหัวใจไง มันกลัวนะ ด้วยสัญชาตญาณของกิเลส ไม่ใช่สัญชาตญาณของธรรมนะ จะเข้าป่าปฏิบัติมันก็กลัว จะไปไหนมันก็กลัว ความกลัวนี้เกิดมาจากจิตนี้มันเคยสัมผัส แล้วมันย่อยสลายเป็นสัญญาในสัญญาอยู่ในหัวใจ มันเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่กลางหัวใจ มันถึงได้กลัวเปรต กลัวผี กลัวความมืด กลัวสัตว์ร้าย กลัวไปหมด ทั้งๆ สิ่งนั้นยังไม่ถึงตัวเลย มันก็กลัว

ความกลัวนี้มีอยู่ทุกดวงใจ ทุกดวงใจนะ ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้วท่านจะไม่กลัว กลัวทั้งนั้น เพราะดวงใจ คือหัวใจมันผ่านมา มันผ่านมาจากการเกิดการตาย การเกิดการตายในวัฏฏะนี้ มันผ่านทั้งสิ่งที่ขยะแขยงมา มันผ่านทั้งสิ่งที่มีความสุขมา พอพูดถึงสวรรค์มันจะดีอกดีใจนะ ใจมันลึกๆ มันดีใจ แต่ปากก็ว่าสวรรค์ไม่มี เพราะกลัวจะเสียหน้า กลัวว่าเราจะเป็นคนครึ

ชาวพุทธเป็นผู้ที่ครึ ผู้ที่ไม่ทันสมัย ใครว่าของเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่ไม่มี ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ คนนั้นจะเป็นคนเก่ง มันถึงไม่กล้าพูดออกมา มันกลัวมันเสียหน้าไง ทั้งๆ ที่มันก็ยอมรับอยู่ในหัวใจ ว่าสวรรค์มี แต่มันกลัวพูดไปแล้วมันกลัวจะอายเขา ถ้าบอกนรกมันก็กลัว กลัวว่าเราจะไปตก ใครจะไปตกไม่กลัวตก เหมือนเราไปตก จะไปสวรรค์มันก็จะไปอย่างไรเพราะมันต้องทำความดี

เพราะจิตมันเคยผ่านไง ความกลัวหรือความกล้าอะไรแล้วแต่ มันเกิดๆ ดับๆ อยู่ที่กลางหัวใจ ความกลัวหรือความกล้ามันเกิดจากความหลง มันเกิดจากความไม่รู้จริง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สัมผัสธรรมความเป็นจริงแล้วมันจะไม่กลัวสิ่งใดเลย ความกลัวคือความไม่เข้าใจ เหมือนกับมันไม่รู้ในเรื่องนั้นมันก็ต้องคาดต้องหมาย แล้วมันทำไม่ได้ตรงเป้า

แต่ถ้าผู้ที่เข้าใจหรือผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมาธิธรรมก็ได้เสพตามความเป็นจริง วิปัสสนาธรรม วิปัสสนานะ การชำระ การเชือด การเฉือน การสมุจเฉทออกไปเป็นขั้นเป็นตอน มันจะรู้ว่า อ๋อ! อันนี้เป็นตัวหลอก อันนี้เป็นตัวทำให้เนิ่นช้า ความจะเป็นความเป็นจริงมันต้องมรรคสามัคคี ความลงตัวพอดีของมรรค มันจะตัดไอ้สังขารความไม่รู้ ความลังเลสงสัย แล้วความกลัวในใจมันเกิดมาจากอะไรล่ะ

วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ในกาย สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิในกาย ในกายนี้เป็นเป้า ในกายนี้เปรียบเหมือนแผ่นดิน หัวใจมันอยู่ในกายนี้นี่ มันสงสัยในกายนี้ก่อน สงสัยในตัวเรา พอสงสัยในตัวเรา มันก็สงสัยทุกๆ สิ่ง ถ้าเราไม่สงสัยในตัวเรา เราเข้าใจตัวเราจริงอยู่ พื้นดินนี้เป็นพื้นดินที่ดี ไม่มีสิ่งปฏิกูลอยู่ ปลูกต้นไม้ก็เจริญงอกงาม เราไม่สงสัยในตัวเรา ความคิดของเรามันก็ต้องไม่แง่ลบสิ เพราะมันไม่ลังเลสงสัย พอไม่ลังเลสงสัย ความกลัวนั้นจะมาได้อย่างไร ไอ้กลัวนี้ก็เกิดความลังเลสงสัย ความไม่รู้เท่า

ทีนี้เราเข้าไม่ถึงตรงนั้น เราก็ต้องมาพิจารณาตรงนี้ไง พิจารณาว่าสรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง ความเกิด ความแปรสภาพไปมันต้องเป็นตามความเป็นจริง เราใช้ปัญญาเข้ามาแก้ แก้ไอ้ความกลัวตัวนี้ ความกลัวในการเผชิญภัย ความกลัวในสิ่งที่ว่าเราคาดหมายคาดคะเน มันจะไม่ใช่ไปแก้ที่ว่าสรรพสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ลังเลสงสัย เราจะวิ่งตามไปดู...ไม่ใช่

มันต้องกลับมาดูที่ฐานของความคิด เพราะความกลัวเกิดจากความไม่รู้เท่าแล้วคิดออกไป สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราจะเป็นไป เราจะรู้จริงหรือไม่จริงว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงไหม เราคาด เห็นไหม ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการด้นเดา คาดหมาย ผลของการเกิดจากการคาดหมาย เราก็กลัวไปก่อน เรายังไม่รู้เท่าตรงนั้นน่ะ นี่ข้างนอกนะ

แล้วเราก็ไม่รู้เท่าความคิดของเราอีกต่างหาก มันคิดจนจบไปแล้ว ความคิดมันหมุนไปแล้ว ๑ รอบ เราถึงเกิดอาการกลัว ก่อนจะกลัวมันจะเกิดความลังเลสงสัย ความคิดจะหมุนไป อันนั้นมันเป็นอะไร เกิดขนลุกขนพองสยองเลย แล้วกลับมาถึงว่าอันนี้คือความกลัว คือว่ามันใช้งานหมดรอบแล้วไง ตามรู้ตามเห็น เหมือนกับเราจุดไฟในน้ำมัน มันเกิดการลุกไหม้เผาไหม้ไปแล้ว เราถึงเข้ามาตรวจสอบว่ามันเกิดจากอะไร มันถึงให้ผลว่า อ้อ! นี่คือความกลัว

แต่ถ้าเราป้องกันหรือเราเข้าใจตามระบบป้องกันเราถูกต้องหมด แล้วเราเข้าใจตามความเป็นจริงหมดนี่ไม่มี ความกลัวสรรพสิ่งนี้มันถึงว่าเกิดดับ เกิดดับ การแก้ไขความกลัวแล้วไม่ใช่ความกลัวนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก พอแก้ได้หนนี้ ปัจจุบันเราแก้ได้ เราใช้ปัญญาเข้ามาแก้ของเราปั๊บ อันนี้มันจบไปมันก็สบาย โอ้! โล่ง เดี๋ยวก็กลัวอีก พรุ่งนี้ก็กลัวอีก มะรืนก็กลัวอีก มันกลัวๆ กล้าๆ อยู่ตรงนี้ ถ้าเรายังไม่ได้มาชำระต้นเหตุ

ถึงได้ว่า ต้องมาดูที่กายนี้ไง ให้จิตนี้สงบ พยายามดู พยายามทำใจให้สงบให้ได้ แล้วกลับมาแก้ไขสิ่งที่เกิดในตู้เซฟนั้น ไอ้สิ่งที่เราไปแสวงหานั้นเรื่องภายนอก เรื่องนอกจากกาย เรื่องนอกจากฐานของเรา มันยังให้ผลร้ายขนาดนี้เลย มันก็ต้องย้อนกลับมาดูไอ้ตรงกลางหัวใจ

ฉะนั้น ถึงว่าสิ่งใดๆ แล้วต้องทำให้มันสงบก่อน สงบกลับเข้ามา แม้แต่การปฏิบัตินี้มันก็ยังทำให้ฟู จิตนี้สงบตรงข้ามกับการฟู การคึกคะนอง คึกคะนองว่าตัวเองจะยอดเยี่ยม คิดออกไปไง แล้วพอเจอสภาพแล้วมันก็ต้องถอยร่นเข้ามา เพราะคนคึกคะนองออกไปมันไปด้วยความคึกคะนอง มันไม่รู้เท่า มันก็เกิดอาการอย่างนั้นก็ถอยกลับมา ถอยกลับมา ถอยกลับมาที่ใจ ใช้สติล้อมกลับมา อันนี้คือว่าการพิจารณาสภาวะภายนอกให้ใจมันสงบไง

รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเป็นพวงดอกไม้ เป็นบ่วงของมาร เป็นทางออกของใจที่จะไปจับ เป็นทางออกของหัวใจที่มันออกไปคิด นี้เราก็พิจารณาบ่วงเข้ามา พิจารณาว่าบ่วงนี้สภาวะมันก็ไม่คงที่ ความคิดก็ไม่คงที่ สิ่งที่ไม่คงที่ก็ไม่คงที่ มันไร้สาระ ก็ต้องปล่อย ย่นเข้ามา ย่นเข้ามา ให้จิตมันปล่อยจากความคิดภายนอก ความคิดที่ออกไป ให้มันความคิดที่ตัวเรา มันก็จะมาแก้ไอ้ตรงความลังเลสงสัย จิตเริ่มสงบก็พิจารณาสิ

แม้แต่ความคิดภายในก็แปรสภาพ เราไปมองแต่สรรพสิ่งข้างนอกแปรสภาพ ความคิดมันคงที่ไหม วันนี้คิดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้คิดอย่าง แม้แต่คิดอยู่มันยังว่าอันนี้จริงหรือไม่จริง กายนี้ก็แปรสภาพ ทุกอย่างแปรสภาพหมด มาพิจารณาตรงนี้สิ เห็นข้างนอกแปรสภาพ แต่ไอ้ความคิดว่ามันแปรสภาพ มันไม่ได้ดู แล้วมันก็คิดอยู่ตลอดเวลาเพราะอะไร

เพราะว่ามันคิดขึ้นมาแล้วมันจริงตลอด มันจริงตลอดเพราะอะไร เพราะมันเป็นเรา กิเลสมันบังเงาตรงนี้ ตรงเสี้ยมเขาควายให้ชนกันตรงนี้ ตรงว่าเป็นเราคิด ทิฏฐิมานะมันเกิดเพราะเป็นเรา ทุกคนว่าตัวเองต้องดีที่สุด ทุกคนว่าตัวเองประเสริฐที่สุด ทุกคนว่าเราเยี่ยมที่สุด พอว่าเราเป็นเรา เราๆๆ เข้าไปเท่านั้นเอง ความคิดนี้มันก็เลยว่าเกิดดับ เกิดดับ แล้วเกิดก็จริงตลอด เพราะว่าเป็นเรา

ก็เหมือนกับสภาวะของความร้อน พอมันเกิดขึ้นมามันก็ร้อน อย่างเช่นเทียน พอมันจุดขึ้นมา มันต้องร้อน เทียนนี่ ความคิดเวลามันเกิดขึ้นมานี่พลังงานมันเกิด มันก็เป็นอารมณ์ให้มันร้อน ความรู้สึกต้องรุนแรง แล้วมีเราเสริม ทำไมความคิดนี้ไม่เป็นนิจจัง เกิดเมื่อไรก็อุ่นๆ เกิดเมื่อไรก็ให้อารมณ์รุนแรง เกิดเมื่อไรก็เกิดทำให้เรานี้เลือดขึ้นหน้า เห็นไหม มันขับเคลื่อนจนเลือดพุ่ง

แต่คนมองไม่เห็น แล้วมองไม่ได้ด้วย ยกเว้นแต่ว่ามองคนอื่น เวลามองคนอื่น คนนั้นโกรธ คนนี้โกรธ คนนั้นเป็นอย่างนั้น มันมองคนอื่นเห็น แต่มันไม่สามารถเห็นตัวมันเอง

ถ้าจิตมันสงบแล้วพิจารณาอย่างนี้จนให้เห็นตัวเอง จนให้เห็นความเป็นอนิจจังจากภายใน ความขับเคลื่อนแล้วมันแปรสภาพ แต่มันไม่เห็นเด็ดขาดเลย มันบังไว้ บังไว้ กิเลสมันอยู่หลังความคิดเรา มันถึงเกิดความสงบไม่ได้ มันเกิดถึงว่าพิจารณาไม่เห็น ถึงจับจำเลยขึ้นมาพิจารณาไม่ได้ นี่จิตพิจารณาสิ่งสภาวะภายนอกให้มัน...

...จิตมันสงบก่อน จิตสงบทำจิต...

...ทุกข์แน่นอนเลย แต่สภาวะจิตของคนมันไม่พัง ตั้งแต่เกิด ความคิดนี้หมุนตัวเองตลอดเวลา ดับไม่ได้ พอจิตมันสงบ มันดับเครื่อง มันพักเครื่อง จะมีความสุข ก็ติดสุข พอจิตมันสงบ ก็เหมือนกับจุดเทียน แล้วมีความร้อน พอดับเทียน มันก็จะไม่เห็นความร้อนนั้น ความร้อนนั้นคลายตัวลง

พอจิตมันสงบมันก็เหมือนเราดับเทียน ดับความร้อนนั้น มันก็จะไม่เห็น เพราะความร้อนมันหายไปแล้ว พอจิตสงบก็หายไป ก็ให้มันสงบก่อน มันจะมีการเปรียบเทียบระหว่างเราจุดเทียนกับเราดับเทียน ถ้าจุดเทียน มันสว่างแล้วมันมีความร้อน ถ้าดับเทียน มันไม่มีความสว่าง แล้วมันก็ไม่ร้อน

อันนี้ถ้าสติมี หรือความคิดมี มันจะมีการเปรียบเทียบระหว่างว่าดับเทียนกับจุดเทียน เริ่มเปรียบเทียบ เริ่มดู เริ่มให้จิตนี้ค้นคว้าหาการวิปัสสนา การวิปัสสนาคือการยกความคิด ยกตัวเองขึ้นมาตั้งเป็นจำเลย ยกตัวเองนะ ไอ้ที่ว่าเราๆ นั่น ถอยออกไปต่างหากเพราะจิตมันสงบแล้ว ความเป็นเอกัคคตารมณ์ เรา-เขามันจะหยุดอยู่ชั่วคราว มันอยู่ตรงกลาง

“ธรรมจักร” ภาวนามยปัญญา ปัญญามันเกิดอย่างนี้นี่ มันก็เปรียบเทียบระหว่างเทียนดับกับจุดเทียน แล้วก็พิจารณาๆ เพราะมันจับต้องได้แล้ว มันมีสิ่งเปรียบเทียบ แต่ปัจจุบันนี้มันไม่มีสิ่งเปรียบเทียบ มันมีแต่สิ่งเปรียบเทียบภายนอก สิ่งเปรียบเทียบภายนอกกับตำราที่เราฟังมา อันนั้นเป็นสมบัติของคนอื่น เรายังไม่มีความสามารถทำสมบัติส่วนตนของเราขึ้นมาได้

“สมบัติส่วนตน” สมบัติส่วนตนคือความทุกข์ส่วนตน แล้วความดับทุกข์ส่วนตน ความทุกข์ของตนแล้วเราดับทุกข์ของตนเองได้ อันนั้นถึงว่าเป็นความจริงของตนเอง บุคคลผู้ใดก็แล้วแต่ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ได้รับความจริงแล้วเป็นความจริงจากภายใน นี่คือการวิปัสสนาไง ถึงต้องให้จิตสงบ แล้วมาพิจารณาความสงบและความไม่สงบภายในต่างหาก

จากภายนอก นั่นแสวงหาความทุกข์-ความสุขภายนอกที่เป็นสิ่งที่ผิด ที่เป็นความประมาทเลินเล่อ นี้ความเป็นภายในมันละเอียดลึกซึ้งกว่าภายนอกมหาศาล มันเป็นความละเอียดภายนอกจนไม่สามารถจับต้องได้ ก็เป็นการคาดเดา พอจิตมันสงบเข้าไปมันก็จะเข้าใจว่าอันนี้เป็นผลแล้ว

เพราะมันเสพแต่ความสุข แล้วมันจินตนาการ นี่จินตนาการธรรม ด้นเดาธรรม ความด้นเดาอันนี้ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการปฏิบัติบ้าง แล้วก็จินตนาการไป แล้วมันต้องเสื่อมสภาพจริงๆ สรรพสิ่งในโลกนี้ต้องเสื่อมสภาพทั้งหมด แม้แต่ความรู้สึกอันนี้ก็ต้องเสื่อมสภาพ

ฉะนั้น จิตสงบแล้วมันต้องเสื่อมจากความสงบ จิตจินตนาการเข้าไปว่าอันนี้เป็นผลแล้วมันต้องเสื่อมจากผลนั้น เว้นไว้แต่การพิจารณาเทียนดับและจุดเทียน ระหว่างดับเทียนกับจุดเทียน จนเป็นความเป็นจริง แล้วมันสมุจเฉทปหาน ความสมุจเฉทปหานนี้ใครก็ทำไม่ได้ด้วยการด้นเดา มันต้องใช้กระแสจิต จิตนี้เป็นนามธรรม แต่ในเมื่อเราเริ่มจิตสงบ เราเริ่มจับได้ ถึงว่ามีฐานที่ว่าจับฐานแล้วจับตัวเซฟได้ ตัวนั้นมันเป็นตัวกระแส

ความเป็นกระแส พอมันหมุนตัวไปมันเป็นความเพียรไปโดยอัตโนมัติ อัตโนมัตินะ ความเพียรชอบ การงานชอบ เพราะมันพิจารณาระหว่างเกิดกับดับ ระหว่างเทียนอันนั้น ระหว่างพลังงานตัวภายใน พลังงานตัวภายในแล้วการหมุนไป อันนั้นเป็นงานโดยธรรมชาติ เราไม่ต้องไปคิดว่ามันจะเป็นงานหรือไม่เป็น เพราะถ้าเราเข้าไปคิด เราเข้าไปจินตนาการ ตัวนั้นคือตัวเข้าไปแบ่งแยก ตัวเข้าไปดึงมาให้เป็นโลก

ถึงว่าเวลาทำความเพียรถึงไม่ให้มีเรา มีตัวความอยากเข้าไปเจือปนไง ความอยากเข้าไปเจือปนนั้นเป็นโลก ความทำไปโดยกิริยาที่มันเป็นความเป็นจริงอันนั้นเป็นธรรม ธรรมอันนี้กำลังเคลื่อนไหว โลกเคลื่อนไหวให้ความร้อน ธรรมเคลื่อนไหวให้แต่ความเป็นสุข ธรรมเคลื่อนไหว สภาวธรรมเคลื่อนไหวอยู่ภายใน สภาวธรรมเคลื่อนไหวอยู่ จักรวาลของใจ

จักรวาลของใจนะ ศูนย์อำนาจใหญ่ยิ่งคือกลางหัวใจเรา เป็นศูนย์จักรวาลของเราที่ให้ความทุกข์มาเป็นล้านๆๆๆ ชาติ คนเกิดมาไม่มีที่สิ้นสุด ท่ามกลางจักรวาลนั้นแล้วธรรมมันเริ่มเคลื่อนไหว ธรรมมันเริ่มมีปฏิกิริยา มันเริ่มเคลื่อนออกไป จะเป็นความสุข นั่นมันถึงเป็นไปโดยความเป็นจริง

ธรรมนี้มันจะเคลื่อนไปตามความเป็นจริง มันด้นเดาไม่ได้แล้วมันต้องเคลื่อนไปด้วยการประพฤติปฏิบัติ ต้องเคลื่อนไปด้วยกระแสการกระทำ ไม่ใช่ว่านั่งนอนจมอยู่แล้วมันจะเกิดขึ้นมาจากการเราฟังของคนอื่นมา เราฟังของครูบาอาจารย์มา ฟังของพระพุทธเจ้ามาแล้วเราศึกษามา แล้วด้นเดาว่าเป็นของเราหรือเราทำได้ เป็นการจินตนาการอันนั้น พอมันพ้นจากการจินตนาการนั้นคือจินตนาการด้วยความคิดแป๊บเดียว แล้วพอกิเลสมันอหังการขึ้นมา มันก็เหยียบย่ำเราให้ทุกข์ลงไปอีก

แล้วพอเสื่อมไปๆ มันก็จะมีสภาวะความทุกข์ๆๆๆ มันไม่ได้สมุจเฉทปหานด้วยกิริยาของธรรม ธรรมที่มันเคลื่อนไปแล้วมันสมุจเฉทปหาน อันนั้นเป็นอกุปปธรรม สมุจเฉทปหานจนความลังเลสงสัย ความวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กับสักกายทิฏฐิจะขาดออกไปด้วยภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เคลื่อน

ปัญญาแท้เกิดจากธรรมแท้ เกิดจากสมาธิธรรมจากภายในแล้วมันขับเคลื่อนด้วยที่เราเร่งความเพียร การค้นคว้า การจงใจด้วยความไม่ประมาท มันต้องลองผิดลองถูก ลองการกระทำ ทำแล้วผิดมันไม่ลงใจ จนกว่ามันสมุจเฉท มันขาดออกไปนี่รู้ตามความเป็นจริงแล้วไม่ลังเล มันมั่นคงอาจหาญมาก มันอาจหาญจนที่ว่าไม่เชื่อใครอีกเลย

อันนี้เป็นความจริงจากภายใน เป็นอกุปปธรรม อันนี้ไม่เสื่อม อันนี้ไม่แปรสภาพ อันนี้ไม่แปรสภาพนะ นั่นล่ะเราเริ่มยืนได้ด้วยขาของตัวเอง นี่มีดวงตาเห็นธรรม มีแค่ดวงตาเห็นธรรมนะ ดวงตาเปิดแล้ว เห็นทางเดินโล่งไปแล้ว ธรรม นี่เห็นธรรม

ยังต้องเข้าไปอีก เข้าไปจนเป็น เอโก ธัมโม เป็นธรรมอันเอก จนใจนี้เป็นธรรมทั้งแท่ง อันนี้แค่ดวงตาเห็นธรรมเท่านั้น มันละเอียดลึกซึ้งอยู่ภายใน ละเอียดมาก ธรรมะถึงว่าธรรมแท้ๆ ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลก เหนือ

แต่ถ้ามันเป็นสภาวะภายนอก เป็นสภาวธรรม ธรรมชาตินั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สภาวธรรมจริงของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมกับโลก คนละเรื่อง แม้แต่พูดธรรมแต่ใช้คำพูดมันก็เป็นโลกแล้ว แต่สภาวธรรมนี้มันสัมผัสระหว่างใจกับธรรม ภาชนะคือหัวใจแท้ๆ เลย นี่ดวงตาเห็นธรรม เห็นภายใน เป็นผู้ที่เอาตัวรอดได้แล้วนะ บุคคลผู้ที่ปฏิบัติถึงจุดนี้ บุคคลผู้นั้นเป็นคนที่เอก เอาตัวรอดได้ เป็นคนที่พึ่งตัวเองได้แล้ว

แล้วเราเกิดมา เราประมาทหรือไม่ประมาท

การประมาทภายนอก การประพฤติปฏิบัติอยู่ก็ยังประมาทภายใน ภายในการนั่งปฏิบัติอยู่ก็ประมาท แล้วของมันละเอียด ของมันสุขุมคัมภีรภาพขนาดนี้ เราจะใช้วัตถุ ใช้สิ่งที่เป็นหยาบๆ เข้าไปจับต้อง มันจะเป็นไปได้อย่างไร ใช้ความจินตนาการ แล้วเข้าไปจับต้องสิ่งที่มันละเอียด ตาข่ายที่ใหญ่มากไปจับสิ่งที่เล็กกว่านี่มันลอดไปหมด แล้วเราจับต้องอะไรไม่ได้เลย การประพฤติปฏิบัติมันเลยเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ได้ผล

การประพฤติปฏิบัติของพวกเรามันถึงได้เกิดผลน้อย เกิดผลน้อยจนเราว่า เอ๊ะ! มันจะมีหรือไม่มีหนอ ถ้ามีจริง ทุกคนก็ปฏิบัติแล้วขนาดนี้ ทำไมมันไม่เจอผลงานอันนั้นล่ะ

เริ่มต้นก็ต้องพยายามทำใจนี้ไม่ให้ลังเลสงสัย ไม่ให้ลังเลสงสัยในมรรคในผลของพระพุทธเจ้า บุรุษเอกผู้ประกาศธรรม เราไม่ลังเล เราเชื่อความเมตตา เชื่อปัญญาธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าไม่ลังเลสงสัยแล้วเชื่อแบบงมงายนะ เชื่อแบบงมงายมันก็ทำแบบงมงายวันยังค่ำอยู่อย่างนี้ก็ยังประมาทอีกล่ะ

ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้านะ เชื่อปัญญา พุทธปัญญา ปัญญาที่ประพฤติปฏิบัติจริง แล้ววิธีการที่ปฏิบัติ เราเห็นการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า อดอาหารมา ๔๙ วัน ปฏิบัติมา ๖ ปี ทรมานตนเองมาทุกอย่าง แล้วมาทรมานกิเลสอีกล่ะ ผู้ที่มีบุญญาธิการขนาดนั้นยังต้องใช้ความขวนขวาย ความพยายามขนาดนั้น

แล้วพอมาปฏิบัติกันก็ทำอย่างนั้นแล้วการจะเป็นอัตตกิลมถานุโยค กลัวว่าเป็นการทำให้เกิดความทุกข์

เวลามันทุกข์ ความเจ็บแสบทางโลกนี้เรากลับไม่มอง เวลาจะปฏิบัติ จะลงความจริงจัง จะเกิดความเพียรขึ้นมา ว่าอันนี้จะทำให้เราทุกข์ เห็นไหม เหมือนกับเราไปโรงพยาบาล ฉีดยาไม่ยอม กลัวมันจะเจ็บจะปวด เวลาเราไปในโลก ไอ้เชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นตามร้านอาหาร เรากินเข้าไป เราสนุกเฮฮา เราไม่เคยระวังตัวเลย แต่พอเข้าไปโรงพยาบาล ยามาก็ขม นู่นมาก็ใช้ไม่ได้ มาก็ไม่ดี

นี่ก็เหมือนกัน พอเริ่มปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันต้องนอนจมอยู่นั้นถึงจะสะดวกสบาย ทำจะรุนแรงหน่อยก็ว่าอันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่จริงจัง ทำให้เราไม่ได้ประโยชน์

พระพุทธเจ้าอดอาหารมา ๔๙ วัน ได้เกิดสมาธิ เกิดตู้เซฟอันนั้น มันเริ่มคลอนแคลนนะ มันเริ่มเห็นภาพชัด พอมันพิจารณา พลังงานอันอดอาหารนั้นเยี่ยม เพียงแต่ว่าไม่ให้เอาการอดอาหารนี้มาเป็นหลักการพิจารณา การอดอาหารเพื่อปฏิบัติ อันนั้นมันเป็นการทำให้จิตนี้สงบ มันเป็นสมาธิ เป็นมรรคองค์ที่ ๘ แต่ว่าตอนนั้นอดอาหารเพื่อทรมานตนเฉยๆ ไม่ได้อดอาหารมาเพื่อเอาพลังงานนี้มาพิจารณาปฏิจจสมุปบาท

ถึงว่ามันก็เป็นช่องทางหนึ่ง วิธีการอันหนึ่งที่จะต่อสู้กับกิเลส วิธีการที่จะกำราบไอ้ความคึกคะนองในหัวใจ มันต้องใช้ความจริงจัง มันต้องใช้ความรุนแรงที่ว่าเหนือมัน เหนือตาย เหนือการที่ว่าทำอันนี้แล้วมันจะตาย ทำอันนี้แล้วมันจะเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องเอาสิ่งที่เหนือมันใส่กับมัน มันนี้คือความคิดในหัวใจนะ มันคือเรา เราที่มีกิเลส ที่กิเลสกลางหัวใจ ไม่ใช่มันข้างนอกนะ มันข้างนอกนี่ระหว่างเขากับเรามันไกลตัวเกินไปแล้ว

บุคคลที่ผ่านมาขนาดนั้น ผ่านขึ้นดวงตาเห็นธรรมแล้ว มันหรือไม่มัน มันเป็นความคิดภายใน มันจะเห็นว่า ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับทั้งหมด แล้วมันได้ดับไปแล้ว แต่สิ่งที่หลงอยู่ภายใน ราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา ราคิคือไฟ ไฟยังเผาอยู่ มันต้องความจริงจังมันต้องเกิดสิ เห็นผลแล้วด้วย

ผู้ที่ไม่ประมาทมันต้องไม่ประมาทภายใน ตื่นตัวตลอดเวลา ตื่นตัวเพื่อจะค้นคว้า ค้นคว้าไอ้กิเลสที่มันซุกอยู่กลางหัวใจ

มันถึงว่าไม่ใช่ทำอะไรทำให้เสียเปล่านะ ถึงให้จริงจัง เชื่อในผล เชื่อในปัญญาธรรมของพระพุทธเจ้า เมตตาธรรมนะ ความเชื่ออันนี้ ตาข่ายมันก็จะแบบว่าเริ่มละเอียดขึ้น มันถึงจะกรองกระแสของธรรม กระแสหัวใจ ให้ดูว่ากิเลสมันอยู่ตรงไหน แล้วพอมันกรองได้ มันจับได้ มันก็จะฆ่ามันได้ ใช้คำว่า “ฆ่ามัน” เลยนะ

ฆ่ามันแล้ว ทีนี้พอฆ่ามันจนมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป มันก็ละเอียด อย่างเช่นปลาตัวใหญ่ ปลาวาฬนี้ใหญ่มาก แล้วก็ปลาเล็กลงมา ปลาเล็กลงมา ไอ้ตาข่ายนี้ก็ต้องเล็กลงมา เล็กลงมา เพราะมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป

“กาย” ขนาดกายที่ว่ามันเป็นวัตถุอยู่ เราก็ยังว่าเป็นของเราอยู่เลย แล้วกายในกายเป็นกายที่ไม่มีวัตถุมันก็ยังเป็นเราอยู่ภายใน มันละเอียดหรือไม่ละเอียด

ว่ากายนอก-กายใน “กายนอก” กายเป็นเนื้อเป็นหนัง เราก็ยังไม่เข้าใจนะ ที่ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา เราก็ดูกันแต่ภายนอก เราก็พิจารณาแล้วก็ไม่ใช่เรา เพราะมันต้องตายอยู่แล้ว พอตายไปแล้วกายในล่ะ? ความผูกพันระหว่างกายนอกกับกายใน อันนี้พิจารณาเข้าตรงนี้ มันจะหลุดออกไป

จากการเห็นกายไม่ใช่เราแล้ว ยังเห็นว่าความยึดมั่นในภายใน ความยึดมั่นภายใน การพิจารณากายหลุดออกไป การพิจารณาความผูกพันกัน มันจะว่าเป็นธาตุ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ แยกออกจากกันอีก เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟนะ แล้วไอ้กายในที่มันผูกพันมันจะหลุดออกไป โลกนี้จะราบเป็นหน้ากลอง ราบหมายถึงว่าความผูกพันอันนี้มันไม่มี ความผูกพันระหว่างกัน

แม้แต่กายก็ไม่ใช่เรา แม้แต่ความผูกพันระหว่างจิตกับกายก็ไม่ใช่อีก แล้วไม่ใช่ด้วยคำพูด มันไม่ใช่ด้วยการเพ่งพิจารณา การใช้กิริยาของจักรวาล กิจกิริยาของมรรคที่มันหมุนอยู่ภายใน กิริยาที่การเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาภายในที่หมุนเคลื่อนไปที่ว่าไม่ใช่เรา มันเป็นธรรม ธรรมจักร ธรรมภายใน การขับเคลื่อนที่เราส่งขึ้นไปจากกระแสของการประพฤติปฏิบัติ

การจับใจให้สงบแล้วพิจารณาเข้าไป มันเข้าไปรอมรรคสามัคคี สภาวธรรมนี้ลงตัวกันพอดีได้ทั้งหมด มันจะเกิดสมุจเฉท สมุจเฉทคือการพลิก การฆ่า หลุดออกไป กามราคะ-ปฏิฆะจางลง นั่นล่ะผ่านออกไป จากดวงตาเห็นธรรม ขึ้นสภาวธรรมไปอีกขั้นหนึ่ง นี่ธรรมแท้

ธรรมภายใน ธรรม ไม่ใช่โลก เป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงด้วยการเดินอริยมรรค มรรคอริยสัจจังของพระพุทธเจ้า ในอริยสัจ ๔ มรรคอริยสัจจัง อริยสัจ ความเป็นจริง สัจจะความจริงเป็นอริยสัจจะจากภายใน มรรคอริยสัจจัง นิโรธ พอมันลงตัว มันดับหมด ออกมาจากอริยสัจเป็น ๒ ขั้นตอน กายนอก-กายใน-กายในกาย

มันจากปลาวาฬมามันก็เหลือลงมาเป็นปลาเล็ก แล้วก็ยังลงไปอีกเป็นปลาที่เล็กลงไปอีก ตาข่ายธรรม ปัญญาของเรา ปัญญาต้องละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป

ความลึกซึ้งภายในไง ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่จะเป็นผู้ที่พ้น การเกิด ว่าการเกิด เกิดมาด้วยกระแสของกิเลส กิเลสอยู่เต็มตัวของผู้ที่เกิด เราเริ่มดับออกไป ดับออกไป แล้วการเกิดและการตาย กับข้างนอก กับการเกิดและการตายที่มันเกิดมาพร้อมกับเรา แล้วมันก็มีอำนาจเหนือเรา แล้วเราได้สามารถเอายา เอาธรรมะพระพุทธเจ้าเข้าไปแก้ เข้าไปเพื่อเคลือบ เข้าไปทำลายให้มันจางลงๆ กระแสที่จะขับเคลื่อนให้เกิดซ้ำๆ ซากๆ มันก็เริ่มจางลงๆ

คือว่าต้องให้มันเกิดมา ถึงว่าผู้ที่ปฏิบัติหรือผู้ที่ธรรมะจริง กลัวเกิดไม่กลัวตาย เพราะว่าเราชำระให้มันตายต่อหน้าต่อตาอยู่อย่างนี้ ไอ้การตายโลกๆ มันตายแต่ว่าแค่เปลี่ยนสภาวะ จากปัจจุบันนี้ไปเกิดเป็นอย่างอื่นๆๆ ต่อไป เห็นไหม เราเห็นสภาวะนั้น เราถึงเริ่มเข้ามาพิจารณาของเราให้จริงจัง

พอจิตมันความผูกพันระหว่างภายนอก-ภายใน ออกไปแล้วก็พิจารณานะ พิจารณาด้วยความสงบ พิจารณาด้วยการค้นคว้านะ การค้นคว้าให้จับต้องได้ เพราะมันละเอียดเข้าไป ตาข่ายนี้มันต้อง...เราต้องเริ่มต้นจากเราย่อตาข่าย เราย่อตาข่ายให้ตาถี่เข้า อันนี้เริ่มทำความสงบ เริ่มการค้นคว้า เริ่มทำความสงบนะ ให้มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป

ความสงบภายในที่ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเป็นอจินไตยเลยเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เป็นอจินไตย มันละเอียด

ความละเอียด ความสงบของปุถุชน ความสงบของพระอริยเจ้า ความสงบของผู้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ความละเอียดภายในเราย่นตัวนี้ ย่นไอ้ตาข่ายให้ละเอียดลงไป ละเอียดลงไป เพื่อจะกรองไอ้กระแสที่มันละเอียดเข้าไป ไอ้กระแสที่มันเป็นเชื้อมาจากจิตที่เกิดๆ ดับๆ เราผู้หนึ่งก็เป็นผู้เกิดๆ ดับๆ

การเริ่มความเพียร การทำให้ตาข่ายนี้เล็กลงๆ เพื่อจะกรองไม่ให้มันลอดตาข่ายไปได้ เพราะมันตาข่ายเล็กลงจนกว่ามันจับตัวนั้นได้ อันนั้นจับตัวได้คือจับไอ้ที่ว่าเราค้นคว้า ค้นคว้าว่ากามราคะมันอยู่ที่ไหน

ไอ้เมื่อก่อนข้างนอกว่ากายๆ พวกที่เราเป็นอยู่ อ้อ! โลกเป็นโลก กามราคะ กามฉันทะ ความพอใจข้างนอกมันเป็นอย่างนั้นเหรอ แต่ไอ้ตัวที่อยู่ภายในใจ ไอ้ที่กิเลสที่มันพาให้จิตนี้เกิด จิตนี้มันอยากจะเกิดเพราะว่ามันมีตัวนี้ ไอ้ตัวยุแหย่อยู่กลางใจ มันจะทำให้เกิดๆ ดับๆ อยู่นี่ อ้อ! ตัวนี้เองที่พาไปเกิดซ้ำๆ ซากๆ เพราะตาข่ายมันเล็กลงแล้ว มันจับต้องได้แล้ว มันเป็นแค่นามธรรม เป็นความคิดภายใน

มรรคอริยสัจจัง ผู้รู้ทุกข์ ทุกข์เกิด ทำให้ทุกข์ดับ เหตุทำให้ทุกข์เกิด รู้เหตุแห่งการทำให้ทุกข์เกิดใช่ไหม ผล กามราคะ ความอยากเกิด ทำให้เกิดใช่ไหม มีเหตุถึงมีการเกิด พอเราจับผลได้ใช่ไหม เราสาวไปหาเหตุ สาวว่า อ้อ! นี่คือผล ผลของมันเกิดมาจากไหน? เกิดมาจากเหตุตรงนี้ไง นี่มรรคอริยสัจจัง

ย่อยเล็ก ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป จนเท่าทัน จักรวาลนี้มันยิ่งกว้างออกไป จักรวาลใหญ่ออกไป คำว่า “ธรรมจักรมันหมุน” ยิ่งหมุนกว้างออกๆๆ หมุนเข้ามานะ หมุนเข้ามาด้วยตาข่ายที่ละเอียดเข้าไปนะ ความลึกซึ้ง ความละเอียดอ่อนของมัน มันหมุนกันเข้าไป หมุนกันเข้าไป จนมันขาด

มันขาดนะ โลกธาตุไหวไปหมด เพราะจักรวาลนี้มันยิ่งใหญ่มาก โลกธาตุนี้ไหว ๓ นี้โลกธาตุไหวไปหมดเลย ไหวไปหมดเพราะไอ้ตัวกระแสของธรรมะ ไอ้ที่ว่าจักรวาลภายนอกไอ้นั่นไร้สาระ เพราะมันเห็นด้วยวิทยาศาสตร์ เห็นด้วยกล้อง เห็นด้วยจับได้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จับได้หมด

แต่จักรวาลภายในกิเลสมันลึกซึ้งกว่า กิเลสมันย่อยสลายอยู่กลางหัวใจ ธรรมะมันฆ่า พอมันฆ่านี้มันฆ่าออก โลกธาตุนี้ไหวไปหมด มันหมุนออกไป นี่การฆ่า การเชือดภายใน อันนี้เวิ้งว้างเลยเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นที่ว่าเป็นอวกาศ จักรวาลนี้โดนทำลายหมด จักรวาลคือว่าวัตถุ โลก พวกดาวเคราะห์โดนทำลายหมดเลย ในจักรวาลนี้ไม่มีดวงดาวใดๆ เหลือไว้ให้อยู่ในจักรวาลนี้เลย แล้วอะไรที่มันอยู่ในอวกาศ มันเป็นอากาศล้วนๆ ไง

ทีนี้จับอย่างไร? ไอ้ตัวนี้คือตัวจิตปฏิสนธิ ไอ้ตัวนี้มันตัวเกิดแท้ๆ ไอ้ที่มันเกิดมา ที่ว่าเกิดๆ ดับๆ นี้มันก็เกิดจริงๆ แต่เกิดในสภาวะของโลก แต่พอโลกธาตุนี้ไหวไปแล้ว การเกิดนี้เกิดเป็นพรหมอย่างเดียว เป็นที่ละเอียดอ่อนไง มันจะเกิดเป็นพรหมอย่างเดียวเท่านั้นน่ะ มันถึงว่าในกาแล็กซีไม่มีดาวเคราะห์แม้แต่ดวงเดียว แล้วจับ อะไรเอาไปจับ

ถ้าพูดถึงทางโลกไม่มีอะไรจับต้องได้ แต่ในทางธรรมของพระพุทธเจ้า อันนี้มันเป็นตอของจิต มันเป็น เอโก ธัมโม ที่ชุ่มไปด้วยกิเลส เป็นตัวอวิชชา ถ้าพลิกตัวนี้ได้ก็เป็น เอโก ธัมโมแท้ เป็นนามธรรมแท้ เป็นอวกาศแท้ นี่เป็นอวกาศที่เจือไปด้วยอวิชชา

พอจับต้อง มันก็ต้องทำให้มรรคนี้ละเอียดยิ่งๆ ละเอียดจนมรรคนี้เป็นใยแก้วใส ไอ้ตาข่ายที่ว่าให้มันละเอียดลงมาเป็นใยแก้ว เป็นใสเพราะว่าเป็นตาข่ายนี้มันเป็นวัตถุแล้ว มันจะเป็นใยแก้ว มันจะเป็นกระแส เป็นเลเซอร์เลย เป็นแสงเลเซอร์เลย เพราะว่ามรรคตัวนี้มันจะละเอียดเข้าไปสุดๆ มันถึงจะไปจับไอ้อวกาศอันนั้นได้ พอจับอวกาศอันนั้นได้แล้วพลิกคว่ำ เพราะว่าอันนี้มันเป็นอวกาศ มันพลิกแล้ว พอพลิกแล้วนั่นแหละหมดกัน

ถึงว่า ดับแล้วไม่เกิดอีก ถึงว่าชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนให้กลัวในการเกิด อันนี้ไม่มีการเกิด รู้อยู่โดยธรรมชาติภายในเลยว่ารู้อยู่ตามเป็นธรรมความเป็นจริงของพระพุทธเจ้าว่ามันไม่มีการเกิดอีกแล้ว สิ้นด้วยเชื้อทั้งหมด ไม่มี อนุสัยในจิตไม่มี เป็นโรคที่หายแล้ว ไม่มีโรคใดๆ เจือปนได้อีกเลย เป็นสิ่งที่ว่าง เมื่อกี้ที่ว่ากาแล็กซีนี้ ในอวกาศนี้ไม่มีวัตถุที่จับต้องได้ นี่ในอวกาศที่เป็นอวกาศนั้นก็ไม่มี แล้วจะมีสิ่งใดๆ ไปล่องลอยอยู่ตรงนั้นได้

ในจักรวาลนี้เราทำลายทั้งหมดเลยในเรื่องของดวงดาว แล้วเราก็ทำลายทั้งหมดเลยในเรื่องของอากาศในอวกาศทั้งหมด แล้วจะมีสิ่งใดไปอยู่ตรงนั้นได้? สิ่งใดๆ ก็ไปอยู่ตรงนั้นไม่ได้ เพราะมันไม่มีที่ให้อยู่ มันถึงว่าไม่เกิดอีก การไม่เกิดอีกนี้ถึงว่าถึงจะเป็นการตายแท้ เป็นการตายที่ไม่เกิดไม่ตายอีกเลย

ไอ้การเกิดๆ ตายๆ โดยธรรมชาติอย่างนี้ โดยความเป็นจริงที่เป็นธรรมชาติของเขา มันเกิดเท่าไรทุกข์เท่านั้น แต่ปฏิบัติธรรมอย่างที่ว่าไม่ประมาทอย่างพวกนักปฏิบัติ ผู้ใดปฏิบัติตามความเป็นจริง ถึงตายจริงๆ แล้วไม่เกิดอีก ตายไม่กลัว กลัวเกิด แต่พอมันอย่างนี้แล้วไม่มีการเกิด ไม่มีการเกิดอีก ตายแล้วคงที่ ตายแล้วอยู่ตรงนั้นเลย ไม่มาเกิดอีก แล้วเสวยสุขตลอดอนันตกาล

มันถึงรอเวลาตาย พระสารีบุตรไปลาพระพุทธเจ้าไง ไปลาพระพุทธเจ้าว่าจะไปนิพพาน พระพุทธเจ้าบอกเลย “ให้สมควรแก่เวลาของเธอเถิด”

คงที่ ไม่ใช่ว่าอยู่หรือไป แล้วแต่ตามสภาวะตามความเป็นจริง ตายแล้วถึงไม่เกิดอีก ไม่มีการเกิด นักปฏิบัติธรรมหรือพระพุทธเจ้าสอนให้ไม่ให้เกิด ไม่ใช่สอนว่าให้ตาย ผู้ใดเกิดมาแล้วตายทั้งหมด สภาวะตามความเป็นจริงต้องเป็นไปแบบนั้น

เราเกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา เราเกิดมาท่ามกลางความเป็นจริง เราถึงไม่ต้องไปทุกข์ร้อนในการที่ต้องแปรสภาพไป แต่เราต้องทุกข์ร้อนในความประมาทเลินเล่อของเรา เราต้องมีความจงใจ เราต้องเริ่มต้น เราต้องไม่ให้ความประมาทนี้มาทำการทำลายเวลาที่มีชีวิตอยู่นี้โดยเราไม่ได้ทำประโยชน์กับตัวเราเอง มันเป็นสิ่งที่น่าเสียใจมากถ้าเวลามีอยู่ ถ้าชีวิตยังมีอยู่ ความกระแส การกระทำ การสะสมทรัพย์สมบัติในหัวใจเรายังทำได้อยู่ แล้วเราประมาทเลินเล่อกัน

พอถ้าสัตว์ตัวนี้ถึงโรงเชือดแล้ว หมดโอกาสที่จะได้ทำ แล้วถ้าไปเกิดในสภาวะใหม่ จะได้เจอะเจอโอกาสสภาวะแบบนี้ไหม ตลาดมันวายแล้วเราไปซื้อของในตลาดนั้น จะไม่มีของใดๆ ขายให้เราเลย ตลาดนั้นเป็นตลาดสด อาหารเต็มไปทั้งตลาดเลย แล้วไม่ซื้อไม่หา ไม่แสวงหาเอาไว้เข้าครัว พอตลาดนั้นวายแล้ว ถือตะกร้าเดินเข้าไปในตลาดแล้วจะเอาอะไรกลับมา

สภาวะ ถ้าเราไปถึงโรงฆ่านะ ไปถึงตรงนั้น สัตว์โลกไปถึงที่ต้องเข้าโรงเชือด หมดโอกาส มันถึงได้ชักกลับมาว่าชีวิตนี้ ชีวิตนี้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ท่ามกลางแม่น้ำใหญ่ ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอุตส่าห์แสวงหามา สะสมบารมีมาจนมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้มา กว่าจะแสวงหามา ใช้ชีวิตนี้เข้าแลก ตายแล้วตายอีกถึง ๓ หน สลบไปฟื้น สลบไปฟื้นถึง ๓ ครั้ง ถ้าพูดประสาเราว่าช็อกตายถึง ๓ หน แต่ผู้ด้วยบุญกุศลที่การสร้างมาถึงไม่ตาย

ถึงค้นคว้าเอาธรรมะ เอาน้ำธรรมนี้มาวางไว้ วางไว้นะ มาวางไว้ ๕,๐๐๐ ปี เราเกิดในกระแส ๕,๐๐๐ ปีนี้ แล้วถ้าเราตายไปแล้วไปเกิดใหม่ ๕,๐๐๐ ปีนี้ผ่านไปก็คือตลาดวาย อย่าว่าแต่ ๕,๐๐๐ ปีนี้เลย เพราะเราเกิดมาปัจจุบันนี้มันแค่ ๑๐๐ ปีเท่านั้น ๑๐๐ ปีเท่านั้นคนจะเกิน ๑๐๐ ปีน้อยมาก ส่วนใหญ่ ๑๐๐ ปีเท่านั้น

ถ้าตายไปนะ คิดดูสิน่าเสียใจไหม นี่คือการเกิดการตายภายนอก กับการเกิดการตายของกิเลส การเกิดการตายภายนอกนี่กิเลสพาเกิดพาตายทั้งนั้น การเกิดการตายภายในนี่ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทำทั้งนั้น การเกิดการตายข้างนอกนี้ ทางวัฏฏะนี้ กิเลสพาเกิดพาตาย การเกิดการตายของกิเลส ฟังสิ ต้องธรรมะพระพุทธเจ้า กิเลสมันกลัวธรรม

การเกิดการตายของกิเลส ธรรมะนี้เชือดประหารมันตายกลางหัวใจของทุกๆ ผู้ปฏิบัติ การเกิดการตายข้างนอก กับการเกิดการตายจริงๆ ในหัวใจของมนุษย์ผู้ปฏิบัตินั้นประเสริฐ ถึงไม่ให้ประมาทในพระพุทธศาสนา ถึงไม่ให้ประมาทในธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ให้ประมาทในมรรคในผลที่มีอยู่ ในมรรคในผลของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ ให้เราเชื่อแล้วให้เราทำตาข่าย...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)