เทศน์บนศาลา

ตรงต่อธรรม

๔ ธ.ค. ๒๕๔๕

 

ตรงต่อธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์มาก สิ่งนี้มีอยู่โดยดั้งเดิมแต่ไม่มีใครสามารถเห็นได้ ไม่มีความสามารถจริงๆ เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ธรรมเท่านั้น ธรรมนี้เป็นของลึกซึ้ง เป็นของที่ลึกมาก ลึกที่ว่าแล้วแต่ใครจะได้ประโยชน์จากธรรมที่เราใช้ประโยชน์จากความเห็นของเรา ความเห็นของใจ ใจจะได้ประโยชน์จากธรรมมากน้อยขนาดไหน อยู่ที่ใจจะเปิดกว้างขนาดไหน ถ้าใจเปิดกว้างขนาดไหนก็ลงได้ลึกขนาดนั้น ถ้าใจไม่เปิดกว้าง ลงไม่ได้ลึกขนาดไหนก็ใช้ประโยชน์แบบสามัญชน

สิ่งที่เป็นสามัญชน ใจนี้เป็นสามัญ สิ่งที่เป็นสามัญ ความคิดที่เป็นสามัญ จะเป็นความคิดต่างๆ ในสามัญนี้ เป็นความคิดที่ว่าในเรื่องของโลก เราจะใช้ธรรมได้ประโยชน์ขนาดนั้น เป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง นี้เป็นธรรมของเราปุถุชน สิ่งที่เป็นปุถุชนจะรู้สภาวธรรมตามนี้ มันถึงไม่ตรงต่อธรรม

สิ่งที่ตรงต่อธรรม ธรรมะนี้เราประพฤติปฏิบัติธรรม ประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ไม่ใช่เพื่อลาภ ไม่ใช่เพื่อยศ ไม่ใช่เพื่อแก้ลัทธิต่างๆ ไม่ใช่เพื่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ปฏิบัติธรรมเพื่อพรหมจรรย์ของเรา สิ่งที่เป็นพรหมจรรย์ของเรา ใจนี้สิ้นสุดถึงกิเลสนั้นหมดจากพรหมจรรย์ สิ่งที่หมดจากกิเลสไปนี้เป็นสิ่งเป็นธรรมในหัวใจ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรารถนาของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรมเพราะมีความศรัทธา มีความเชื่อในธรรม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะก็มีกิเลสในหัวใจ สิ่งที่มีกิเลสในหัวใจก็ต้องมีความทุกข์ในหัวใจ ในหัวใจนั้นมีความทุกข์ แต่สถานะของกษัตริย์จะมีความสุขในสถานะของโลกมาก ยังสละทิ้งออกมา

แล้วเราแสวงหาสิ่งใด สิ่งที่เราแสวงหานี้เป็นเพราะความมืดบอดของเรา เรานี้มืดบอด มีความคิดว่าสิ่งที่เป็นพึ่ง สิ่งที่จะเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ จะเป็นพึ่งอาศัย มันไม่มีความสุขในหัวใจ ในหัวใจนี้พึ่งใจตัวเองไม่ได้ หวังพึ่งสิ่งต่างๆ ทั้งหมด ธรรมชาติของสัตว์มนุษย์ สัตว์มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องหวังพึ่งอาศัยกัน หวังเกาะเกี่ยวพึ่งพาอาศัย ก็พึ่งพาอาศัยคนอื่นเพื่อจะให้เรามีพวกมีหมู่มีคณะเพื่อความเป็นอยู่ของเรา นี่หวังพึ่งอาศัยของเรา

แม้ในหัวใจก็เหมือนกัน ความคิดนี้เป็นเพื่อนสองของใจ ใจนี้ไม่เคยมีใครเห็นสภาวะของใจตามความเป็นจริง หาแต่ที่พึ่งที่เกาะ เกาะเกี่ยวกับอารมณ์สิ่งต่างๆ เข้าไป ที่พึ่งที่อาศัยหวังพึ่งจากข้างนอกก็หวังพึ่งจากข้างในเหมือนกัน ถ้าเราเป็นสามัญสำนึกมันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติของเขา สิ่งที่เป็นธรรมชาติของเขานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน แล้วสละสิ่งนี้ทิ้งออกมา สละทิ้งออกมาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม

สิ่งที่เป็นโมกขธรรมคือให้ใจหมดสิ้นไปจากกิเลส ใจนี้พ้นไปจากกิเลส ใจนั้นจะมีความสุขในหัวใจเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป นางวิสาขาได้เป็นพระโสดาบันก็มีความสุขของนางวิสาขา สามารถสั่งสอนพระได้ สามารถเป็นกรรมการตัดสินวินัยของพระได้ เพราะใจนั้นเป็นธรรมส่วนหนึ่ง แต่เขาก็ยังมีกิเลสอยู่ เขาก็ยังมีครอบครัวอยู่ เพราะเป็นกิเลส กิเลสในหัวใจยังเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอยู่ในโลกของเขาอย่างนั้น แต่ในเมื่อเขามีธรรมในหัวใจ เขาก็มีความสุขในหัวใจ เป็นหัวใจที่ว่าเข้าถึงธรรมส่วนหนึ่ง เป็นพระโสดาบัน แต่ไม่ถึงสิ้นกิเลส ก็มีครอบครัวอยู่ในโลกของเขาเป็นแบบนั้น

แต่ของเรา เพราะใจของเรา เราต้องศึกษา เราต้องรักษาใจของเรา ใจของเรามีความสุขขนาดไหน มีความสุขในประสาความคิดของโลก แล้วก็คิดคิดเรื่องจะประพฤติปฏิบัติธรรม คิดเรื่องแสวงหาธรรม นี่ไม่ตรงต่อธรรม ตรงแต่ความคิดความเห็นของตัว ถ้าไม่ตรงต่อธรรม เราไม่ซื่อสัตย์กับธรรมธรรมะนี้จะบิดเบี้ยวไป บิดเบี้ยวไปตามความคิดความเห็นของเรา เราคิดเห็นขนาดไหน สถานะธรรมของเรามันก็บิดเบี้ยวไปตามความเห็นของเรา ไม่เป็นตามความเป็นจริง แม้แต่เริ่มต้น ไม่เป็นตามความจริงแม้แต่ใจนั้นสัมผัส ไม่เป็นตามความจริงแม้แต่ใจนั้นรับผลของสิ่งที่ว่าเกิดขึ้นสัมผัสกับใจ แล้วปล่อยวางไป ปล่อยวางไป มันจะปล่อยวางไป

ถึงเวลาสิ้นสุดแล้ว เพราะสรรพสิ่งโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้ต้องเคลื่อนที่ไปตลอด ไม่มีสิ่งใดคงสภาวะไว้เลย โลกนี้กินตัวเองตลอด กาลเวลากินตัวเองตลอด แล้วเราก็เหมือนกัน ชีวิตของเราต้องหมดไปๆ กาลเวลากินชีวิตของเราหมดออกไป สรรพสิ่งในโลกนี้ต้องเป็นสภาวะแบบนั้น การประพฤติปฏิบัติในหัวใจวินาทีหนึ่งใจเคลื่อนไปตลอด ทุกวินาทีใจก็เคลื่อนไป แล้วเร็วกว่ากาลเวลาที่จะคิดถึง นั่นน่ะ สภาวธรรมที่สัมผัส ถ้าไม่เป็นตามความจริงมันจะบิดเบี้ยวไปอย่างนั้น แล้วจะบิดเบี้ยวไปในหัวใจ ในหัวใจของเรานี้จะบิดเบี้ยว สภาวธรรมไม่ตรงต่อธรรม

“ตรงต่อธรรม” ประพฤติปฏิบัติต้องให้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แต่ก่อนที่จะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง เราต้องมีความศรัทธามีความเชื่อ มีความศรัทธามีความเชื่อนั้นตรงต่อความเป็นจริงไหม? มันไม่ตรงต่อความจริง ความจริงของธรรม สภาวธรรมคือไม่เกาะเกี่ยวสิ่งใดเลย สภาวธรรมนี้เป็นสภาวะสรรพสิ่ง ธรรมเป็นธรรม กิเลสเป็นกิเลส ขันธ์เป็นขันธ์ ธาตุเป็นธาตุ สรรพสิ่งต่างๆ นั้นต่างอันต่างจริง สภาวธรรมตามความเป็นจริงเป็นแบบนั้น

แต่สภาวะของกิเลสที่มันอยู่ในหัวใจ สิ่งที่อยู่ในหัวใจนี้ กิเลส สัตว์ที่เกิดมาทุกสัตว์บุคคลนั้นจะต้องมีกิเลสในหัวใจโดยธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของใจเพราะมันเป็นอวิชชา ความติดบล็อก ติดข้องใจแล้วหมุนเวียนตายเวียนเกิดในสภาวะตามความจริงอันนี้เป็นกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลสอยู่ในหัวใจนี้ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นความอยาก เราประพฤติปฏิบัติไม่ได้ มันเป็นความอยากอยู่ในหัวใจของเรา นี้มันจะทำให้เราไม่ตรงต่อธรรม อันนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส

แต่สภาวะของกิเลสนี้เราต้องทำให้มันเป็นมรรคขึ้นมาให้ได้ ความอยากในการประพฤติปฏิบัตินี้ก็คือความอยาก มันจะไม่บิดเบี้ยวไปจากธรรม ถ้ามันบิดเบี้ยวไปจากธรรม บิดเบี้ยวไปคือการคาดการหมาย กิเลสนี้มันพลิกแพลงตัวมันเอง มันเป็นเรื่องเหลี่ยมของกิเลสนี้มันเป็นสร้างมุมสร้างเหลี่ยมให้เราหลงไปในเหลี่ยมของมัน

ในเมื่อเราศรัทธานี้ก็เป็นความอยาก แต่มันเป็นมรรค คือศรัทธานี้เป็นความดี ความดีกับความชั่ว ความชั่วเวลามันคิดสิ่งที่ว่าต้องการต้องทำให้เราเกิดบาปเกิดอกุศลนั้น มันเป็นความชั่วของมัน เราต้องหักห้าม แต่ในเมื่อคิดเป็นความดี เราต้องส่งเสริมในคุณงามความดีของเรา แล้วถึงดีที่สุด ดีที่สุดคือเราศรัทธาในเรื่องของศาสนา ในเรื่องของธรรม ธรรมคือสภาวธรรมตามความเป็นจริง จะมีสิ่งใดสัมผัสได้ ถ้าไม่ใช่หัวใจของสัตว์โลก

หัวใจของสัตว์โลกจะสัมผัสกับสิ่งที่เป็นความจริงอันนั้น ทุกข์ก็เกิดขึ้นที่ใจ สุขก็เกิดขึ้นที่ใจ แต่สุขที่เราเกิดขึ้นที่ในหัวใจนี้เป็นสุขในเรื่องของเวทนาในขันธ์ เห็นไหม สุขเวทนา ทุกขเวทนา เราสัมผัสแต่ความสุขในเรื่องของเวทนา เรื่องของขันธ์เท่านั้น เรายังไม่เคยเสวยความสุขถึงการว่าจิตนี้ปล่อยขันธ์เข้าไปว่างเวิ้งว้างขนาดไหน ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ให้เป็นอิสระเข้ามา นั้นก็เป็นความสุขอีกส่วนหนึ่ง ความสุขที่เกิดขึ้นในการประพฤติปฏิบัติ แต่มันต้องแลกออกมาด้วยความเพียรของเรา

พระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ฝ่าเท้านี้แตกจนเลือดนี้เป็นในทางจงกรมนั้น จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเห็นเข้า “นี้ที่เชือดโคของใคร” ถ้ามันที่เชือดโคของใคร เลือดมันต้องเปรอะเปื้อนขนาดไหน ถึงว่านี่เป็นที่เชือดโคของใคร แต่เป็นที่เดินจงกรมของพระโสณะ พระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก นี่แลกขึ้นมาจากความเพียรอย่างนี้ ถ้าความเพียรอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วมันจะเป็นตามความเป็นจริง

เราไม่มีการคาดการหมาย ทำความเพียรของเรา เริ่มแต่ทำความเพียรของเราออกไป นี่แลกสิ่งนี้มา เพราะจิตใจนี้มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่สัมผัสกับใจมันยึดมั่น ยึดขันธ์ ยึดทุกอย่างเป็นเรา สรรพสิ่งต่างๆ เป็นเรา แล้วก็หวังพึ่งอาศัย คิดดี คิดชั่ว คิดสิ่งต่างๆ ไป เกาะเกี่ยวไปกับสิ่งนั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นเรื่องของความหิวโหยของใจ ใจนี้หิวโหยธรรมชาติของเขาอย่างนั้น

เหมือนกับน้ำ น้ำอยู่ในแก้วมันก็เป็นรูปของแก้ว อยู่ในรูปของอะไรก็เป็นสิ่งนั้น นี้ก็เหมือนกัน อยู่ในอารมณ์ของอะไรก็เกาะเกี่ยวสิ่งนั้นไป แล้วไม่รู้สึกตัวนะ เกาะเกี่ยวกับเขาไป เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ความคิดต่างๆ แล้วก็เจ็บแสบปวดร้อนในหัวใจ คิดสิ่งที่ไม่ดีแล้วมาระลึกถึงภายหลัง สิ่งนี้ไม่ดีเลย

สิ่งที่คุณงามความดีเราก็ต้องแสวงหา สิ่งที่เป็นคุณงามความดีแสวงหาแล้วมันจะสมประโยชน์กับความเป็นจริงไหม ถ้ามันสมประโยชน์กับความเป็นจริง สิ่งนั้นวางไว้ ผลที่เกิดขึ้นจากความดีนั้น ความดีในการประพฤติปฏิบัติ ความดีในการกระทำของเรา ความเพียรที่เราทำขึ้นมา ความเพียรสิ่งที่เราสะสมขึ้นมา สะสมขึ้นมา ให้ปล่อยวางตามความเป็นจริง ปล่อยวางตามความเป็นจริงมันจะเป็นความจริงขึ้นมา

แต่เราศึกษามา ศึกษาธรรมะมาแล้วเราคาดเราหมาย เราจะคาดจะหมายนะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี้เป็นองค์ของฌาน แล้วเราเกิดวิตกวิจารขึ้นมาน่ะ พุทโธขึ้นมาแล้วเกิดปีติ เกิดความสุข เรื่องการคาดการหมาย นี่มันบิดเบี้ยวตรงไหน? บิดเบี้ยวตรงที่ว่าเราเริ่มคาดหมายแล้วเราก็ต้องการผล

แต่ในการประพฤติปฏิบัติเราต้องเดินจงกรม หรือเรานั่งสมาธิภาวนา หน้าที่ของเราคือกำหนดพุทโธ พุทโธหรือคำบริกรรมต่างๆ นี้เพื่อเหตุไร? เพื่อที่ว่าให้สภาวะของใจมันคลายตัวโดยธรรมชาติของมัน มันจะคลายตัวจากสิ่งที่มันเคยเกาะเกี่ยว แล้วให้มาเกาะเกี่ยวกับพุทโธ พุทโธนี้เป็นคำบริกรรม เป็นคำสมมุติ สมมุติที่ว่าเราเกิดขึ้น ถ้าธรรมแท้คือสภาวธรรมที่ความรู้สึก แต่สิ่งนี้เราต้องเกาะเกี่ยวก่อน เรานึกขึ้นมาให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นว่าให้ใจนี้ปล่อยวางจากสิ่งที่ยึดหรือว่าเคยอยู่กับอารมณ์ อยู่กับความรู้สึกอันนี้มันอยู่กับอารมณ์เขาตลอดไป มันอยู่กัน มันเกาะเกี่ยวกันมาโดยธรรมชาติ อยู่กับสิ่งต่างๆ นี้ คลุกเคล้ากันมาจนเป็นเนื้อเดียวกัน จนเราไม่รู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน

มันปล่อยวางสิ่งนี้ได้ สิ่งที่ว่าเป็นอารมณ์ อารมณ์เกิดขึ้นในใจมันปล่อยวางได้ แต่มันปล่อยวางไม่ได้เพราะมันมีเชื้อ มันมีสิ่งต่างๆ กระตุ้นอยู่ตลอดเวลา กระตุ้นให้เรามีความรู้สึก เรามีความนึกคิดต่างๆ อารมณ์สิ่งนี้กระตุ้นให้ใจเรา สิ่งที่รับรู้คือความทุกข์ความสุขคือใจ แต่อารมณ์เกิดขึ้นนั้นเกิดดับๆ เป็นแขกจรมา เกิดในหัวใจตลอดไป นี่คำบริกรรมให้เปลี่ยนไง ให้เปลี่ยนจากสิ่งที่เกาะเกี่ยวอยู่นี้ให้มาอยู่กับอยู่กับคำบริกรรม สิ่งที่เป็นคำบริกรรมเพื่อให้ใจนี้คลายตัวออกจากเรื่องสิ่งที่ว่าเคยเกาะเกี่ยวให้เป็นอิสระขึ้นมา เพราะคำว่าพุทโธๆ นี้เป็นคำบริกรรม เป็นสิ่งที่ให้ใจยึดใช่ไหม มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ว่าเป็นความจริงหรอก มันเป็นสมมุติสัจจะ สมมุติสัจจะเพื่อให้เราคิดขึ้นมา เหมือนกับความอยากที่เป็นตัณหากับเป็นมรรค

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในความคิดของเรา อยู่ในอารมณ์ของเรา นี่เป็นตัณหา เป็นตัณหาเพราะจิตเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน แต่คำว่าพุทโธๆ นี่เป็นคำบริกรรม เป็นความคิดเหมือนกัน แต่มันเป็นมรรค มรรคเพราะว่าสิ่งนี้มันไม่สืบต่อ มรรคเพราะว่าสิ่งนี้เป็นพุทโธ พุทธานุสติ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้สะเทือนถึงหัวใจ สะเทือนถึงโลกธาตุทั้งหมด โลกธาตุนะ ความรู้สึกนี้เป็นเรื่องของธาตุอย่างหนึ่ง ธาตุคือธาตุรู้ สิ่งที่รับรู้นี้มันรับรู้จากตรงนี้ แล้วรับรู้สิ่งต่างๆ ทั่วไปหมดเลย แล้วเราพยายาม สิ่งนี้ให้ถอนตัวกลับมาให้เป็นอิสระ สิ่งที่เป็นอิสระไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส

อยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี้คือการคาด การหมาย การคิด การด้น การเดา ทุกๆ อย่างเกิดขึ้น แม้แต่ธรรมะก็เหมือนกัน เพราะมีกิเลสอยู่ การคาดการหมาย “ผู้ใดปฏิบัติธรรมจะสมควรแก่ธรรม ต้องให้มันสมควรกับความเห็นของธรรมอันนี้ ธรรมอันนี้ต้องให้สมควรกับตัวของเขาเอง เราจะเข้าไปมีส่วนที่ว่าต้องการความมั่นหมายของใจนี้ จับสิ่งนั้นไม่ได้เลย ถ้าสิ่งนั้นเข้าไปแล้วมันจะเบี่ยงเบนไปไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่ตรงต่อธรรม

ธรรมในขั้นของคำบริกรรม หน้าที่ของเราต้องบริกรรมอย่างเดียว พุทโธๆ หน้าที่ของเรา ดึงออกมาให้ได้ ดึงให้กระแสของใจนี้ให้เป็นอิสระในความคิดของกิเลสให้ได้ ให้เป็นความคิดของเรา...ฝืน ฝืนความรู้สึกคือฝืนกิเลส กิเลสมันก็ดึงของมันไป กิเลสคือความเคยใจ พอทำขึ้นมา เรานั่งสมาธิ เรานั่งสมาธิพักใหญ่ขึ้นมาสัก ๒-๓ ชั่วโมง แล้วถ้าไม่เป็นความสงบขึ้นมา เราถึงกับถอนหายใจ

“เฮ้อ! มันจะเป็นไปได้หรือ มันจะเป็นความจริงได้หรือ”

นี่มันการคาดการหมาย คาดหมายอย่างนั้น แล้วกิเลสมันก็ดึงไป ถ้ากิเลสดึงไปอย่างนี้ เราจะไม่ได้สมความสัจจะ ถ้าเราคำบริกรรมของเรา หน้าที่เราคือบริกรรมอย่างเดียว สิ่งที่บริกรรมของใจ ใจบริกรรมอยู่นี่ มันก็ต้องอยู่กับพุทโธๆ ตลอดไป สติระลึกขึ้นมาสิ่งนี้ก็ชัดเจน แล้วสติก็จะจางไปๆ จางไปเพราะคำบริกรรมต่อเนื่องๆ ไป เราก็ต้องตั้งสติฝืนขึ้นมาระลึกขึ้นมา ตั้งขึ้นมา ถ้าสติสมบูรณ์ สิ่งนี้จะเป็นมรรค ถ้าสติไม่สมบูรณ์มันจะไม่เป็นมรรค มันจะเป็นเรื่องของกิเลส เป็นความรู้สึกของใจที่เกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นไป

นี่ทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าทำความสงบของใจได้ มันจะเป็นความว่าพออยู่พอกินไง จิตที่ทุกข์ ทุกข์เพราะสิ่งนี้ ทุกข์เพราะความรู้สึกของเรายึดมั่นถือมั่นกับอารมณ์ต่างๆ แล้วปล่อยวางไม่เป็น ถ้ามันมีความสุข มันมีความสงบ คือมันปล่อยวางเป็น ปล่อยวางเป็นต้องปล่อยวางโดยที่ว่าผู้นั้นปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นปัจจัตตัง คือปล่อยวางขึ้นมาแล้วมันจะมีความสุขของเราขึ้นมา แล้วมันจะเข้าใจ เข้าใจสิ่งนั้น รักษาสิ่งนี้ไว้ต่อไป

เพราะสรรพสิ่งเวลาเกิดขึ้นมาแล้วเป็นอนิจจังทั้งหมด กาลเวลากินทุกอย่าง กินทุกอย่างแม้แต่ความสุข ความสุขที่ปล่อยวางได้เวิ้งว้าง ได้ลึกเป็นอัปปนาสมาธิ ก็อยู่ได้ ๒ วัน ๓ วันแล้วมันก็จะเสื่อม เสื่อมสภาวะไป ต้องพยายามตั้งไว้ พยายามคำบริกรรมเข้ามาอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องบริกรรมขึ้นมาเพื่อจะให้เข้าอีก จะเข้าได้บ้าง เข้าไม่ได้บ้าง เป็นบางโอกาส ฝึกฝนจนกว่าจิตนี้จะเข้าได้ตั้งสมาธิได้ ถ้าตั้งสมาธิได้ สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเราแล้ว นี่ทำตรงต่อความเป็นจริงของในการเป็นกัลยาณปุถุชน

ปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส คิดตามความของกิเลส กิเลสจะคิดตามสิ่งนี้ไป กัลยาณชนนี้มันเป็นปุถุชนเหมือนกัน แต่สิ่งที่ว่าเป็นกัลยาณชน ใจดวงนี้พร้อมที่ควรจะประพฤติปฏิบัติ เรื่องเป็นโสดาปัตติมรรคกับความคิดต่างๆ มันเริ่มต้นจากตรงนี้ ตรงที่ว่าเริ่มต้นจากเป็นมรรค สิ่งที่ว่าเป็นมรรค ถ้าใจเราไม่สงบมันก็เป็นมรรค มรรคของเราคือความเพียรของเรามันเป็นมรรค แต่มันเป็นโลกียมรรค

สิ่งที่เป็นโลกียมรรค โสดาปัตติมรรคนี้เป็นบุคคลที่ ๑ ในบุคคล ๘ จำพวกแล้ว สิ่งที่เป็นบุคคล ๘ จำพวก มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ จะพ้นออกไปจากกิเลสเป็นกัลยาณปุถุชน สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชนนั้นมันมีจิตใจนี้อ่อน จิตใจนี้ควรแก่การงาน ควรแก่การงาน เพราะปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามาทั้งหมด ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ว่ามันเป็นไปทั้งหมด ควบคุมใจของตัวเองได้ ใจของตัวเองจะเป็นอิสระเข้ามาแล้วควบคุมได้ เพราะมีสติสัมปชัญญะ แล้วจะตั้งตนอย่างไรขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนานี่ตั้งตรงนี้ ก็ยกขึ้นวิปัสสนาได้ ก็เป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนาได้มันก็ไม่เป็นโสดาปัตติมรรค มันก็จะเป็นความคิดของเราเหมือนกัน มีความรักษาแต่ความสุขนะ

ตรงต่อธรรมส่วนหนึ่ง ธรรมส่วนที่สูงขึ้นไปต้องตรงต่อธรรมตลอดไป ถ้าตรงต่อธรรมตลอดไปจะเป็นโสดาปัตติมรรค ยกขึ้นวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สิ่งที่พิจารณากายก็ให้พิจารณากายไป สิ่งที่พิจารณาจิต พิจารณาธรรม อยู่ที่ว่าเราจะพิจารณาสิ่งใด เป็นอำนาจวาสนา แล้วอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนในการจะวิปัสสนา วิปัสสนาในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ นี้ไม่เหมือนกัน

คน ถ้าอำนาจวาสนาจริตนิสัยไม่ตรง วิปัสสนาไปแล้วมันไม่ก้าวเดิน แล้วมันจะท้อถอย ท้อถอยว่าผลประโยชน์ของมันไม่ได้ตามความประสงค์ สิ่งที่จะตามความประสงค์คือเราต้องให้เข้าใจสภาวะแบบนี้

ถ้าสภาวธรรม เวลาเราคิดถึงเรื่องโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะเราคิดถึง เราพิจารณาเข้าไปนี่มันปล่อยวางเข้ามา ในเมื่อเราเป็นโสดาปัตติมรรค จะคิดสิ่งนี้มันก็จะเป็นโสดาปัตติมรรคถ้าคิดเป็นธรรม สภาวธรรมเหมือนกัน สภาวธรรมอะไรเกาะเกี่ยว เห็นใบไม้หลุดออกมาจากขั้วปลิวออกไป เราพิจารณาเป็นธรรม มันก็เป็นธรรม

ในเมื่อพระในสมัยพุทธกาลจะไปรายงานผลกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถามปัญหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปถึงชายคา เห็นน้ำตกมาจากชายคาแล้วตกลงมา น้ำเป็นจุดเป็นต่อมแล้วแตกไป แตกไป อันนั้นมันเป็นข้างนอกหรือเป็นข้างใน

ตาเนื้อเห็นสภาวะนั้น แต่หัวใจพร้อมอยู่แล้ว หัวใจนี่วิปัสสนา วิปัสสนาจนคาอยู่ไง เหมือนกับหนอง เป็นฝี ถ้าเข็มบ่งฝีหนองนั้นหนองจะแตก ความเจ็บปวดนั้นจะหายไป ถ้าในเมื่อมันยังมีฝีนี้ยังบวมอยู่ มันจะเจ็บมันจะปวดมาก นี่ใคร่ครวญจะบ่งหรือไม่บ่ง มันว่าตรงนั้นถูกหรือผิด จะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเห็นสภาวะที่ว่าน้ำฝนตกลงมาถึงน้ำเป็นจุดเป็นต่อมเป็นฟองแล้วแตกออกไป เห็นสภาวะนั้น มันปล่อยวาง

นี่สถานะของใจ ถ้าใจอยู่ในสถานะปุถุชน ความคิดเป็นปุถุชนมันก็คิดออกมาแล้วมันไม่สามารถชำระกิเลสได้ แต่ความคิดของพระองค์นั้นใคร่ครวญในปฏิจจสมุปบาทอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่เหนือสุดแล้ว พอเจอสภาวะแบบนั้น บ่งฝีออก ขาดออกไป สิ่งที่ขาดออกไปไม่ขึ้นทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินกลับกุฏิเลย เพราะพ้นออกไปจากใจ เหมือนกัน เหมือนกับถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบก็ตอบอย่างนั้น

นี้ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรค สิ่งที่เป็นสภาวะกระทบอยู่ภายนอกก็วิปัสสนาได้ วิปัสสนาได้สิ่งนั้นมันจะย้อนเข้ามา ถึงว่าสถานะของใจ ถ้าใจ สถานะของหยาบมันพิจารณาได้ส่วนหยาบๆ ถ้าใจ สถานะของใจสูงขึ้นมาการวิปัสสนามันจะเจริญขึ้นมา มันจะสูงขึ้นไป แล้วแต่สถานะของใจ ใจได้ขนาดไหน วุฒิภาวะต่างๆ ที่พัฒนาเข้ามา มันพัฒนาตรงต่อธรรม ตรงต่อธรรมอย่างนี้ มันจะลุ่มลึกเข้าไปในหัวใจ มันละเอียดอ่อนแล้วมันเป็นสิ่งที่พิสดารมาก เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก แล้วให้กับความสุข ให้ความสุขกับหัวใจดวงนั้น

ประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นสิ่งที่ว่าประเสริฐที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไว้แล้ว ให้บอกกับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ปฏิบัติบูชานี้เป็นปฏิบัติอย่างประเสริฐที่สุด แล้วเราก็ปฏิบัติบูชา จะได้ผลไม่ได้ผล เราต้องปฏิบัติของเราไป สิ่งนี้เป็นทางออกอย่างเดียว เป็นบุญกุศลอันมหาศาล นี่บุญกุศลเกิดขึ้นจากตรงนี้มันเป็นบุญกุศลอยู่แล้ว แล้วเราได้สัมผัสกับความจริง ได้สัมผัสกับธรรมนี้มันยิ่งเป็นบุญกุศลมหาศาลเพราะมันเปิดตาของใจ

จากใจนี้มืดบอด ต้องฟังธรรมจากครูบาอาจารย์แล้วใคร่ครวญตามความเป็นจริง สิ่งที่มืดบอดแล้วมันด้นเดา มันคาดหมายไปตลอด สิ่งที่คาดหมายไปมันก็ไม่สมกับความจริง แล้วก็เป็นการคาดการไป ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ผ่านสิ่งนี้มาแล้ว ถ้าผ่านสิ่งนี้มาแล้วจะชี้เข้าไปในหัวใจ คนที่หูตาสว่างจะชี้บอกว่าต้องเดินไปตามสัจจะในอริยสัจจะ ในอริยสัจจะ ในโสดาปัตติมรรคนี้ ใคร่ครวญในปฏิจจสมุปบาทนี้ ใคร่ครวญในอริยสัจนี้ ใคร่ครวญตามความเป็นจริงให้มันเป็นตามความเป็นจริง เกิดขึ้นให้สภาวะแบบนั้นให้เข้าใจ ย้ำคิดย้ำทำอยู่ตรงนั้น

เราก็ต้องทำตามสิ่งนั้น เราทำสิ่งนั้นไป สิ่งใดจะเกิดขึ้นเป็นผลของธรรม ผลของธรรมถ้าสมาธิพอ ปัญญาพอ มันวิปัสสนาไปแล้วมันจะปล่อยวางสิ่งต่างๆ ให้ผลของธรรมเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงที่เป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมาแล้วมันปล่อยวางขึ้นมา เราก็ปล่อยวาง...สุข เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์นี้ต้องกำหนดแล้วแยกแยะสิ่งที่ความเป็นทุกข์ให้ได้ สิ่งที่ความเป็นสุขนี้มันปล่อยวางมีความสุข เราก็อยู่กับความสุขนั้น แล้วความสุขนั้นมันก็ต้องคลายตัวออกไป

เราพยายามซ้ำเข้าไป พยายามวิปัสสนาเข้าไปนะ โสดาปัตติมรรคต้องเดินเข้าไปตลอดมรรคนี้ต้องเดินตัวเข้าไป เดินตัวเข้าไปเพื่อวิปัสสนา เพื่อแยกแยะเข้าไป สิ่งใดกระทบกระทบเข้ามาจับสิ่งนั้นวิปัสสนา จับสิ่งนั้นใคร่ครวญ จับสิ่งนั้นแยกแยะออกมาให้ได้ พอแยกแยะออกได้ สิ่งนี้เป็นมายาทั้งหมด เรื่องของโลกนี้เป็นมายา ร่างกายนี้ก็เป็นสิ่งที่มายาชั่วคราว ๑๐๐ ปีหรือ ๘๐ ปี ๑๐๐ ปีเท่านั้น ชีวิตนี้ต้องสิ้นไป สิ่งนี้เป็นมายาแล้วเราติดอยู่ในมายา สิ่งที่เป็นมายานี้ทำไมเราไม่เอามาสร้างประโยชน์

ถ้าสร้างประโยชน์ ประโยชน์ของโลกเขาก็คือประโยชน์ของการดำรงสถานะของทุกข์เท่านั้น นี่ประโยชน์ของโลกเขา เราเกิดมาแล้วเราต้องทำคุณงามความดีแล้วสร้างสมขึ้นมา นั้นเป็นประโยชน์ของโลก แต่ประโยชน์ของธรรม ประโยชน์ของตามความจริง อันนี้เป็นสมรภูมิ เป็นที่เราจะชนะกิเลสหรือแพ้กิเลสอยู่ที่ตรงนี้ไง

ในเรื่องของกายกับจิตนี้เป็นที่ว่าสู้รบกับกิเลส กายของคนอื่นจิตของคนอื่นนี้เป็นหน้าที่ของคนอื่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วยังไม่สามารถฉุดเอาหัวใจของใครไปได้ เว้นไว้แต่ท่านแสดงธรรมไว้ให้เราก้าวเดิน รื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์เพื่อจะให้เราประพฤติปฏิบัติตาม เราประพฤติปฏิบัติตามสภาวธรรมอันนั้น เราจะเข้าถึงธรรมอันนั้น

เราเองต่างหากจะต้องดึงหัวใจของเรา เราเองต่างหากต้องรื้อค้นรื้อสัตว์ของเราขึ้นไป แต่ต้องอาศัยธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนขวาน เหมือนมีด จะต้องฟาดฟันกับกิเลสในหัวใจของเรา ต้องฟาดฟันด้วยมรรคนะ ด้วยปัญญา ปัญญาที่พร้อมกับสติสัมปชัญญะนี้เหมือนกับมรรคอริยสัจจัง มันจะฟาดฟันกับกิเลสในหัวใจ ฟาดฟันให้กิเลสนี้หลุดออกไปจากใจให้ได้ เราใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟาดฟันขึ้นมา

แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นธรรมเป็นปริยัติ แต่ปฏิบัติขึ้นมานี่มันเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นในหัวใจ ฟาดฟันกับกิเลสในของเรา สภาวธรรมเกิดขึ้นในใจของเรา จะเป็นผลของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะพ้นจากกิเลส จะชำระกิเลสได้ด้วยการเดินใคร่ครวญตามว่าตรงต่อธรรม ตรงต่อธรรมตามสถานะต่อสถานะจากความเป็นที่ว่าเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นโสดาปัตติมรรค ตรงขนาดไหนก็ทำความเพียรขนาดนั้น

ทำความเพียรนี้แยกแยะ แยกแยะความเกาะเกี่ยวของใจ ใจนี้เกาะเกี่ยวความยึดมั่นถือมั่น นั้นคือเรื่องของกิเลสทั้งหมด จะรู้สภาวะไหนมันก็ยึด เวลาธรรมเกิด เวลาทำสมาธิ สมาธิสงบขึ้นไปมันจะเกิดสภาวธรรม สภาวธรรมคือว่าความเป็นธรรม เป็นคำ ๆ ขึ้นมา ทำให้งงก็ได้ ทำให้ยึดติดก็ได้ สิ่งที่ยึดติดนี้เป็นการเสียเวล่ำเวลาทั้งหมด สภาวะแบบนั้นคือสิ่งใด? สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอดีตทั้งหมด การชำระกิเลสนี้เป็นปัจจุบันธรรม ในเมื่อสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป เราก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามา หน้าที่ของเรา สติสัมปชัญญะ สติกับสมาธินี้จะต้องสร้างสมตลอดไป

ถ้าสติสมาธิสร้างสมมา เราสะสมเข้าไป เรารักษาใจไว้ มันจะมีสภาวะที่ละเอียดอ่อนกว่านั้นเกิดขึ้น สภาวธรรมนั้นเป็นสภาวธรรมที่หยาบๆ สภาวธรรมแก้ไขความลังเลสงสัย ความข้องของใจ มันปลดเปลื้องความข้องสิ่งนั้น ความข้องของใจปลดเปลื้องออกมาเป็นขั้นเป็นตอน เป็นขั้นเป็นตอนที่มันปลด มันสงสัยเฉพาะตรงนั้น เป็นธรรมเลย เช่น สงสัยสิ่งใดอยู่แล้วเราภาวนาอยู่ ธรรมะจะตอบว่า “นี้เป็นอัตตา นี้เป็นอนิจจัง สิ่งนี้ไม่ควรยึด” นี่เราก็เข้าใจ แล้วเราก็มีความโล่งใจ นี่มันเป็นธรรมเกิดขึ้น

แต่สภาวะตามความเป็นจริงของธรรมแท้นั้นมันเป็นการใช้ปัญญาใคร่ครวญในสติปัฏฐาน ๔ ต่างหาก ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สิ่งนี้ก็เป็นธรรมได้ ในเมื่อเกิดขึ้นในความลังเลสงสัยในหัวใจมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางออกไปนั้นมันปล่อยวางแบบความเข้าใจ แต่ถ้าปล่อยวางแบบเราวิปัสสนา ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ขันธ์นี้คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปอาการของใจเป็นอย่างไร สัญญา สิ่งที่เกิดความคิดเกิดขึ้นมา เมื่อก่อนเราหักห้ามไม่ได้ มันจะเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด เพราะมีสัญญา สัญญานี้เกาะเกี่ยว

สิ่งที่กระทบกับใจสมัยไหนก็แล้ว แต่ถ้ามันลองสัญญาไปหมายไว้เดี๋ยวสังขารก็ปรุง สิ่งนี้ปรุงมันก็หมุนออกไป นี่เวลามันเกิด เวลากิเลสมันเกิด มันจับ มันอาศัยขันธ์ออกไป อาศัยสิ่งนี้ออกไป แล้วมันก็รวมตัวกันเป็นอารมณ์ หมุนออกไป หมุนออกไป วิปัสสนาเข้ามาอย่างนี้ต่างหาก วิปัสสนามาเข้ามาให้เห็นอารมณ์ แล้วจับอารมณ์นี้แยกเลยว่าสัญญาเกิดก่อนใช่ไหม สังขารปรุงแต่งอย่างไร แล้ววิญญาณรับรู้ รับรู้ไปแล้ว นั่นน่ะกินเหยื่อไปแล้ว พอมันรับรู้ กินเหยื่อ มันก็หมุนออกไปเป็นอารมณ์ส่วนหนึ่ง แล้วมันก็สืบต่อเนื่องเข้าไป ถ้ามันแยกออกมามันจะปล่อย

จะเห็นเลยว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งปรุงแต่ง ตัวนี้เป็นตัวปรุงแต่ง ตัวนี้เป็นตัวรับรู้ วิญญาณเป็นตัวรับรู้ แล้วพอมันรวมตัวกันไปมันก็เป็นขันธ์ ๕ มันก็เป็นอารมณ์หมุนออกไป กิเลสมันก็อาศัยสิ่งนี้ยุแหย่ในหัวใจ นี่มันเกิดดับอย่างนี้ แต่เราไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริง ถ้ามันเห็นสภาวะตามความเป็นจริง มันแยกสภาวะแบบนี้ออกไป สภาวะแบบนี้ออกไป

สิ่งที่แยกออกไปแล้วเหมือนกับสิ่งที่ต่อเนื่องกัน เราแยกออกจากกัน แล้วมันจะสืบต่อได้อย่างไร สิ่งที่สืบต่อไม่ได้มันก็ต้องดับ สิ่งที่ดับ ตัวใจมันก็ดับจากอารมณ์ต่างๆ มันก็ปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา มันก็เป็นอิสระ เห็นไหม ขันธ์กับจิตมันจะแยกตัวออกจากกัน การแยกตัวออก ขันธ์กับจิตแยกตัวออกจากกัน กิเลสมันก็แสดงตัวไม่ได้ สิ่งที่กิเลสแสดงตัวไม่ได้นี้คือตัวมัน เห็นไหม เราเห็นสภาวะแบบนี้มันคือการวิปัสสนา กับธรรมมันเกิด เกิดเพราะความรับรู้ เวลาธรรมเกิดขึ้นมา รับรู้สิ่งนั้น รับรู้สิ่งนั้น เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่ปัญญา

สิ่งที่เป็นปัญญาเกิดขึ้น สภาวธรรมเกิดขึ้น โสดาปัตติมรรคเกิดอย่างนี้ เราวิปัสสนาอย่างนี้ แยกอย่างนี้เข้าไป พิจารณากายก็เหมือนกัน เห็นกาย สภาวะกาย พิจารณากายตั้งอยู่ดูกาย ดูกายด้วยความความแปรปรวนของมัน สิ่งที่มันแปรปรวนของมัน มันจะแปรปรวนสภาวะไหน รับรู้สิ่งนั้น สิ่งที่รับรู้ในนั้นนี่คือปัญญา ปัญญารู้สภาวะตามความเป็นจริงที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

สิ่งที่มันเคลื่อนไหวไปนั้นเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สภาวธรรมมันก็หมุนในตัวมันเองตลอดไป เรามีสติสัมปชัญญะที่รู้ซึ้งอยู่ เราใคร่ครวญสิ่งนี้อยู่ เรามองอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้เป็นปัญญาในโสดาปัตติมรรค ในขั้นพิจารณากาย พิจารณากายแล้วตั้งอยู่อย่างนี้ตลอดไป สร้างสมขึ้นมาให้จิตนี้แก่กล้าขึ้นมา จากความรับรู้ต่างๆ เริ่มรับรู้แล้วเห็นสลดสังเวชนะ รับรู้สิ่งนี้ สลดสังเวชสิ่งนี้ว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าใจเชื่อสิ่งนี้ เชื่อตามกิเลสไป ไม่เคยเชื่อธรรม

เรา เวลาเรากราบธรรม เราจะเข้าถึงธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นส่วนหนึ่ง ธรรมในหัวใจของเรายังไม่เกิดขึ้นมา มันจะติดเกี่ยวกับสิ่งนี้ ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง จนเราฝึกฝนขึ้นมา นี้คือสภาวธรรมของใจเรา สภาวธรรมของใจเราฝึกฝนขึ้นมา ใจมันจะพัฒนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาจนมันเข้มแข็ง เห็นไหม เข้มแข็งขึ้นมารู้เท่าตามความเป็นจริงแล้วแยกแยะสิ่งนี้ได้ แยกแยะออกไป มันก็ขาดไปต่อหน้าต่อตา สิ่งที่ขาดไปต่อหน้าต่อตามันก็สงบตัวลงๆ ปล่อยวางอยู่อย่างนั้น

แล้วพอปล่อยวางอยู่อย่างนั้น ชำนาญขึ้น สิ่งที่ชำนาญขึ้นเราก็ต้องคล่องตัวขึ้น การกระทำของเราจะสะดวกขึ้น สิ่งที่สะดวกขึ้น แยกออกไปด้วย แล้วจะเข้าใจด้วย เข้าใจว่าถ้าเราทำของเราโดยที่ว่าเราอยากได้ผล มันจะไม่ได้ผลเลย ถ้าวันไหนความอยากเข้ามาในหัวใจ เราเคยทำอย่างนี้ เข้าออกอย่างนี้แล้วได้ความสงบ ได้การวิปัสสนาแล้วเราก็ทำซ้ำอยู่อย่างนั้น นี่กิเลสมันแสดง กิเลสมันพยายามรักษาตัวมันเอง มันก็อาศัยสิ่งนี้หลอกหลวงไป

ถ้ามีความอยากอยู่จะไม่ได้ผล ถ้าปล่อยความอยากอยู่มันถึงจะเห็นว่าอยากอันหนึ่งเป็นตัณหา อยากในเหตุนั้นเป็นมรรค จะเห็นชัดเจนเลยว่าถ้าเราอยากในเหตุ อยากในการประพฤติปฏิบัติอยากในความเพียร มันจะไม่มีโทษเลย เพราะอยากในความเพียร อยากในการเฝ้าดูจิต แต่ ถ้าอยากในผล นั้นเป็นตัณหา

ปฏิบัติมา ถ้าวิปัสสนาเดินตัวแล้วจะเห็นสภาวะแบบนี้แล้วมันจะเข็ดไง ถ้าวันไหนอยากรู้เลยว่าวันนี้เราแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น แต่เราก็ประพฤติปฏิบัติไป เพราะเราไม่สามารถควบคุมกิเลสเราได้ เราปฏิบัติเพื่อจะให้กิเลสนี้มันกลัวเราไง กลัวความเพียร กลัวกำลังใจของผู้นั้น กำลังใจของผู้ที่ปฏิบัตินั้น ถ้ามีกำลังใจ มีความเพียรขึ้นมา กิเลสมันจะกลัว แต่ถ้าเราไม่มีกำลังใจ กิเลสมันจะข่มขี่หัวใจดวงนั้น แล้วก็เอาใจดวงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยนะ ขับถ่ายใจดวงนั้น ขับถ่ายแต่เรื่องความทุกข์ให้กับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีความทุกข์ ทุกข์ไปในหัวใจ แล้วแก้ไขไม่ได้

สภาวะของมนุษย์ สภาวะของหัวใจรับรู้เท่านั้น สภาวะของกิเลสอยู่ในหัวใจ ใจนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่โดนกิเลสเหยียบย่ำทำลายตลอด แล้วเราก็ต้องเดินมีแต่รับสภาวะความทุกข์ ทุกข์ในหัวใจจนเจ็บแสบปวดร้อนในหัวใจ มีแต่ทำความเร่าร้อนในหัวใจ เพราะเราไม่มีกำลังพอขึ้นมา ถ้ามีกำลังพอขึ้นมา สิ่งนี้เป็นความอยาก เราปล่อยวางไว้ เราอยากในเหตุ เราสร้างมรรคของเราขึ้นมา ถ้าอยากในเหตุนี้เป็นมรรค จะทุกข์ยากขนาดไหนก็สมควรทำ เราจะต้องสร้างเหตุของเราแล้วทำแต่สร้างเหตุเพื่อจะให้มันเป็นผลขึ้นไป ในสภาวะตามความเป็นจริง

ถ้าเราสร้างเหตุขึ้นมา นี่ตรงต่อธรรมตรงๆ เลย เพราะธรรมนี้เป็นธรรมฝ่ายเหตุ เหตุกับผลรวมกันแล้วมันถึงจะเป็นธรรมฝ่ายผล ถ้าธรรมฝ่ายผลนะ เหตุกับผลรวมตัวขึ้นมามันจะแยกตัวออกไป นี่อริยสัจเกิดขึ้นอย่างนี้ อริยสัจเกิดขึ้นจากใจ สภาวะของใจเห็นอริยสัจนี่มันจะปล่อยวาง ทุกข์เป็นทุกข์ จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ จะแยกตัวออกจากกัน ถ้าโสดาปัตติมรรคมันแยกตัวออกไปได้ มันแยกตัวบ่อยครั้งเข้าบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะแยกตัวอย่างนี้

การแยกตัวออกของมัน การแยกตัวออกของขันธ์ มันเป็นการแยกตัวด้วยกำลังของภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญาเริ่มต้นแสดงตัวนี่มันจะแยกไปๆ อยู่สภาวะแบบนั้น นั้นเป็นว่าความเพียรของเราถูกต้อง “ตรงต่อธรรม” ธรรมถูกต้องมันก็จะเป็นผลอย่างนี้ ถ้าธรรมไม่ถูกต้องมันก็แยกออกไปแล้วมันสภาวะอย่างนั้น

แต่ถึงที่สุดแล้วพอมันแยกออกไป จิตหลุดออกไป จิตนี้เป็นจิต สภาวะการวิปัสสนา วิปัสสนากาย กายนี้มันแปรสภาพไป ปล่อยวางเวิ้งว้างหมดเหลือสิ่งใด? จะต้องเหลือสภาวะรับรู้ของจิตนั้นหนึ่งเดียว รับรู้สภาวะของจิตแล้วปล่อยวางสิ่งนั้น นี่ความลังเลสงสัย วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ ๓ ตัวจะหลุดออกใจ

นั่นน่ะ ตรงต่อธรรม ต่อผล ตรงต่อเหตุทุกอย่าง

เราสร้างเหตุตรงต่อเหตุก่อน ถ้าตรงต่อเหตุแล้ว เหตุนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุมันถึงแล้วผลมันจะเกิดขึ้นโดยสภาวะตามความเป็นจริง เกิดขึ้นตามสภาวะความเป็นจริง ก็ปล่อยวางตามความเป็นจริงเข้ามา นั่นน่ะความสุขเกิดขึ้นมหาศาล แล้วจะไม่ถือมงคลตื่นข่าว จะไม่เชื่อในลัทธิศาสนาต่างๆ เลย จะเชื่อเฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะใจดวงนี้มันเป็นสังฆะขึ้นมาโดยส่วนหนึ่งแล้ว

ใจ เห็นไหม พุทโธ ธัมโม สังโฆ อยู่ที่ไหน? อยู่ที่หัวใจ สิ่งที่ว่าเป็นพระที่เรากราบไหว้พระกันอยู่นี้ พระสมมุติสงฆ์ สมมุติคือสภาวะ ใครก็บวชได้ เข้าถึงโบสถ์แล้วอุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์พร้อม บวชออกมาเป็นสงฆ์ในจตุตถกรรมพร้อมออกมาเป็นสงฆ์ พร้อมแล้วในสมมุติ ในสมมุตินี้เราก็สร้างสังฆะ คืออริยสงฆ์ขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ สงฆ์ในใจของเราเกิดขึ้นมาในหัวใจของเรา เป็นสิ่งที่ว่าเป็นพระในใจ สิ่งที่เป็นพระในใจมันจะมีความสุขแล้วมันจะมีความองอาจกล้าหาญในหัวใจนั้น

นี่จะก้าวเดินจนกว่าจะพ้นทุกข์ รู้เลยว่าทุกข์นี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในหัวใจ แล้วก็ดับส่วนหนึ่งในหัวใจ ขันธ์นี้ไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย อยู่กันตามความเป็นจริงเก้อๆ เขินๆ อยู่กันอยู่อย่างนั้น จะไม่สามารถเข้าถึงทำลายหัวใจดวงนี้ในความหลงอันนี้ได้เลย สิ่งที่ว่าหลงนี้ กายเป็นเรา เราเป็นกายนี้จะไม่มีในจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นเข้าตามสภาวะความเป็นจริง จะเป็นสิ่งที่คงที่กับใจดวงนั้นตลอดไป ใจดวงนั้นจะมีความสุข แต่ทุกข์อันละเอียดในหัวใจยังมีอยู่ ทุกข์อันอย่างกลาง อย่างละเอียดในหัวใจนั้นมันยังบีบบี้สีไฟใจดวงนั้น

นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เวลาหลานตายขึ้นมา เห็นไหม พระโสดาบันร้องไห้ พระอานนท์ เวลาองสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เกาะหน้าต่างอยู่ น้ำตาไหล คิดถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องปรินิพพานไปแล้ว แล้วเราก็ยังมีกิเลสอยู่ในหัวใจ เราจะต้องอาศัยครูอาจารย์อยู่ ครูอาจารย์ก็จะจากเราไปแล้ว นี่ความเศร้าใจทำให้พระอานนท์ร้องไห้ได้ สิ่งที่ร้องไห้ พระโสดาบันยังต้องร้องไห้เพราะทุกข์อันละเอียดในหัวใจนั้นมันยังบีบบี้สีไฟในใจดวงนั้น แล้วจะหาทางออกอย่างไร

ในเมื่อเล่ห์กลของกิเลสอย่างหยาบมันก็หลอกให้เราอย่างหยาบ เราก็ทุกข์ยากแสนยากในการประพฤติปฏิบัติ ในการประพฤติปฏิบัตินี้กิเลสมันทำให้เราทุกข์ยากแสนยาก ในเรื่องสภาวธรรมนั้นไม่เป็นเรื่องความทุกข์ความยาก สภาวธรรมถึงที่สุดแล้วอิ่มเต็มในหัวใจนั้น ในหัวใจของเรานี้หิวโหย ในหัวใจของเรานี้ว้าเหว่ ใจของเราสภาวะอย่างนั้นแล้วมันไม่เคยตาย มันประหลาดตรงที่มันไม่เคยตาย มันจะต้องอยู่สภาวะแบบนั้น ตามเปลี่ยนจากสถานะนั้นไป

แต่ในเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วมันจะเกิดขึ้นอีก จะตายจะเกิดก็อีก ๗ ชาติเท่านั้นถ้าทำไม่ถึง แต่ถ้ามีความทุกข์ในหัวใจแล้วประพฤติปฏิบัติเป็น ในสถานะไหนที่เราตายไปแล้ว สถานะนั้นมันจะเป็นสถานะไหน เราก็ต้องไปเอาข้างหน้า

แต่ในเมื่อปัจจุบันนี้ทำได้ แล้วเรามีเหตุมีผลในหัวใจ เหตุกับผล มรรคอริยสัจจังคือเหตุ สิ่งที่เป็นเหตุ เหตุในเรื่องของอริยมรรค ไม่ใช่เหตุในเรื่องโลกียะทั้งหมด เหตุในโลกียะมันจะให้ผลในเรื่องของโลกียะ โลกียะนี้โลกียารมณ์นี้เรื่องของโลกเรื่องของวัฏฏะ ถ้าเรื่องเหตุในมรรคนี้มันเป็นเรื่องพ้นจากวัฏฏะ เรื่องพ้นจากโลกจะเอาใจนี้พ้นจากวัฏฏะ โสดาบันจะเกิดในวัฏฏะก็อีก ๗ ชาติ แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ มันจะเกิดตายขนาดไหนให้หัวใจนี้กิเลสมันตายไปคาหัวใจ ถ้ากิเลสตายออกไปจากใจจะไม่ต้องเกิดอีกเลย ใจนี้มันก็จะรู้สภาวะตามความเป็นจริง เราต้องประพฤติปฏิบัติขนาดนั้น ถ้าอย่างนี้แล้วมันมีกำลังใจ มันก็เริ่มแสวงหา

สิ่งที่แสวงหานะ ในการที่เราทำขึ้นมาครั้งแรก เราขึ้นมาเราจะวิปัสสนา เราก็ต้องพยายามค้นคว้า พยายามจับต้อง จับต้องสิ่งใด จะค้นคว้าสิ่งใดมันต้องมีเหตุ หัวใจ ใจคือผู้รู้ สิ่งที่จะค้นคว้าเอาอะไรค้นคว้า? ใจนี้เป็นผู้ค้นคว้า ค้นคว้าในกาย ในจิต ในกายนะ หัวใจ ค้นคว้าในจิต จิตนั้นคืออะไร? จิตนั้นคือสภาวะของนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันก็เกิดให้ความทุกข์ในหัวใจเหมือนกัน สภาวะสิ่งที่ว่าเป็นเรื่องของกายก็ให้ความทุกข์ส่วนหนึ่ง ต้องรักษาต้องเยียวยากันไป

สภาวะของใจที่มันให้ความทุกข์หัวใจนี้มันละเอียดอ่อนกว่า ร่างกายนี้แข็งแรงกินอิ่มหนำสำราญอยู่ในความสุขสบาย มันก็มีความเร่าร้อนเผาหัวใจ เห็นไหม สภาวะกายกับจิตนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าเราต้องค้นคว้า จะค้นคว้านี่จะเอาอะไรไปค้นคว้ามัน ถ้าจะเอาจิตไปค้นคว้าต้องทำความสงบของใจ ในเมื่อผ่านการวิปัสสนามามันจะรู้ตรงนี้ รู้ว่าเราเริ่มค้นคว้าอย่างไร เราค้นคว้า เราพยายามจับต้องสิ่งใดแล้วเราถึงจะค้นคว้า แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติต่อไปข้างหน้านี่ เราจะเอาสิ่งใดค้นคว้า เราก็ต้องรื้อค้นไง

สิ่งที่รื้อค้นในการค้นคว้าในการเห็นกาย เห็นจิต จากสภาวะตามความเป็นจริงจากภายใน มันจะเกิดขึ้นจากว่าใจสงบขึ้นมา ถ้าใจสงบขึ้นมามันจะค้นคว้าสิ่งนี้ได้ มันก็จะเป็นงานของใจขึ้นมา ถ้าใจมีงานทำ ความเพียรนี้มันจะเป็นสิ่งที่ว่าสนุกสนานมาก สนุกสนานเพราะว่าเดี๋ยวก็กิเลสชนะ เดี๋ยวก็ธรรมชนะ ถ้ากิเลสชนะเราเป็นผู้แพ้ เราแพ้ขึ้นมา แพ้เพื่อจะสู้ ไม่ใช่แพ้เพื่อจะถอยกรูดๆ แล้วไม่สู้ สิ่งนั้นไม่สู้มันก็เหมือนเราเป็นโรค ถ้าเราเป็นโรค เราไม่รักษา โรคนี้ก็ไม่หายไปจากเรา ถ้าโรคไม่หายไปจากเรา เราต้องอมโรคไป เราจะเป็นความทุกข์ไหม ถ้าใจเราเป็นความทุกข์ มีโรคอยู่นี่ เราแพ้ขึ้นมา แพ้เพื่อจะต่อสู้กับอันนั้น

สิ่งนี้เป็นเรื่องของกิเลส แก่นของกิเลสในหัวใจนี้มีอำนาจมาก เคยข่มขี่ใจดวงไหนมาก็ข่มขี่ใจดวงนั้น นี่พญามาร มารในวัฏฏะนั้นเป็นเรื่องของพญามารที่ว่าเขาสร้างคุณงามความดีของเขา เขาได้สถานะของเขา เขาถึงเป็นพญามาร พญามารควบคุมฝ่ายมาร...ธรรม พวกเทพเป็นสัจธรรมก็ควบคุมฝ่ายธรรม สิ่งที่ในหัวใจนั้นมันเป็นเรื่องภายนอก สิ่งที่ในหัวใจของเรานี้เป็นเรื่องภายใน สิ่งที่ว่าเรื่องของกิเลสขับไส เรื่องของกิเลสหมุนออกไปนั้นมันก็ทำให้เราพ่ายแพ้ขึ้นมา

เราต้องสร้างขึ้นมา สร้างธรรมขึ้นมาในหัวใจขึ้นมา ให้สภาวธรรมนี้เกิดขึ้นจากใจ ใจสภาวธรรมเกิดขึ้นมาจะมีความสุข สุขเกิดจากความสงบ สงบอย่างละเอียด สงบอย่างหยาบเป็นส่วนอย่างหยาบ สงบอย่างละเอียดถึงละเอียดสุดนะ นี่สมาธิอย่างละเอียด สมาธิมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ขึ้น สติปัญญาจะละเอียดเข้าไป เพราะสิ่งนี้จะลึกเข้าไป ตรงต่อธรรมที่ลึกซึ้งเข้าไปในหัวใจ ต้องตรงให้ตรงความเป็นจริง

ถ้าตรงความเป็นจริงนี่มันจะเริ่มขุดคุ้ยหากิเลส ขุดคุ้ยถากถางหาสิ่งที่ว่าจิตนี้เกาะเกี่ยวกับสิ่งใด หัวใจนี้มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด สิ่งใดที่มันเป็นความทุกข์ เราจะหาใจ ใจนี้เป็นนามธรรม จะเจอสิ่งนั้นให้ได้เพราะมันเกาะเกี่ยวที่กายกับใจ กายกับขันธ์ไง กายกับอารมณ์ ตัวของจิตจริงๆ แล้วจะจับต้องมันจะไม่เห็นมัน เพราะมันละเอียดอ่อนมาก มันเป็นพลังงานเฉยๆ แต่มันแสดงตัวออกมา ในเมื่อมันมีอารมณ์เกิดขึ้น เกาะเกี่ยวกับขันธ์นี้มันแสดงตัวออกมา จับต้องสิ่งนี้ค้นคว้าถ้าจับต้องได้ มันจะจับต้อง นี้คือผลงาน แล้วเราจะค้นคว้าไปในอุปาทานของใจ ใจจะมีอุปาทานกับสิ่งนี้ ค้นคว้าสิ่งนี้ แยกแยะออกไป

ถ้าแยกแยะได้ตามความชำนาญของตน เราชำนาญสิ่งใดเราก็แยกแยะสิ่งนั้น นี่อุบายวิธีการแล้วเราก็เปลี่ยนแปลงไปตลอด เปลี่ยนอุบายวิธีการ ครั้งหนึ่งเราก็เปลี่ยนอุบายไปอย่างหนึ่งๆ เพื่อจะหลบเลี่ยงกิเลสไง กิเลสมันรู้ทัน ถ้าเราทำซ้ำๆ ซากๆ กิเลสมันรู้ทัน อุบายวิธีการเราก็แยกกลับมา

เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ในการที่จะเปลี่ยนคำบริกรรมต่างๆ นี้ ว่าสิ่งนี้เป็นการเริ่มต้นใหม่ เป็นการเริ่มต้นใหม่...มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนที่ว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ เราทำให้เหมือนนับหนึ่งใหม่ นับหนึ่งใหม่ มันไม่ได้ก้าวเดินไปสักทีหนึ่ง อันนี้เป็นเพราะเราไม่เข้าใจ แต่ในเมื่อใจเรามีหลัก มีพื้นฐาน มีกำลังวิปัสสนา วิปัสสนาเพื่อจะชนะกิเลส ในเมื่อกิเลสมันขวางหน้าอยู่เราก็ต้องพลิกแพลงหาวิธีการหลบไป นี้คืออุบาย อุบายคือหลบไม่ให้กิเลสมันรู้ทัน แล้วมันก็จะเป็นปัจจุบันธรรม ถ้ากิเลสมันรู้ทัน เห็นไหม นั่นน่ะเป็นการที่ว่ากิเลสออกหน้า

ถ้าวิปัสสนากิเลสออกหน้า กิเลสคิดออกไป นี่ไม่สมควรต่อธรรม มันไม่สมควรตามความเป็นจริง มันไม่ตรงต่อธรรม ตรงต่อกิเลสเพราะกิเลสออกหน้า ถ้ากิเลสออกหน้านี่มันจะสร้างสถานะต่างๆ ได้ กิเลสนี้สร้างเหตุการณ์ในหัวใจ มันจะคิดขนาดไหน มันจะจินตนาการขนาดไหน เรื่องของใจเป็นเรื่องของความมหัศจรรย์มาก มันมหัศจรรย์ แม้แต่คุณงามความดี ถึงที่สุดแล้วนะจะเวิ้งว้าง ใน ๓ โลกธาตุนี้มันจะครอบคลุมไปหมด หัวใจที่มันมหัศจรรย์มันจะครอบคลุมสิ่งนี้เลย

ในจักรวาลนี้มันเป็นจักรวาลเฉยๆ แต่ใน ๓ โลกธาตุนี้มันกว้างขวางขนาดนั้น นี่ใจรู้เท่าหมด เพราะใจเคยเกิดเคยตายกับสัตว์ในวัฏฏะนี้มาทั้งหมด ทุกดวงใจที่เกิดขึ้นมานี่เคยเกิดเคยตายมา มันถึงมีบุญกุศลต่างกัน มันถึงมีจริตนิสัยต่างกัน สิ่งนี้ต่างกันมันจะใคร่ครวญ มันจะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ใน ๓ โลกธาตุเลย นั้นคือว่ามันกว้าง มันใหญ่โตขนาดนั้น

แต่ในเมื่อกิเลสมันปิดนิดเดียวเท่านั้นน่ะ พอกิเลสปิดใจนี่มันจะพลิกแพลงไปเรื่องของโลก เรื่องของวัฏฏะ เกิดในสถานะไหนก็ยึดตรงนั้น เคยเกิดมาเคยตายมาขนาดไหนยึดตรงนั้น ยึดตรงนั้นก็เป็นจริตนิสัย ยึดตรงนั้นก็เป็นความชอบ ยึดตรงนั้นก็เป็นความเกาะเกี่ยวในใจ จะสลัดสิ่งนี้ออกไปมันก็อาลัยอาวรณ์ สิ่งที่เราเคยสะสมมา สิ่งเราเคยทำมาเป็นสมบัติของเราแล้วเราจะสลัดทิ้งได้อย่างไร

เราไม่เคยสลัดทิ้ง สิ่งใดที่ว่าเป็นของเรา สิ่งนั้นจะเป็นคุณงามความดีของกิเลส คุณงามความดีของกิเลสคือกิเลสมันหลอกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรม สิ่งนั้นเป็นคุณงามความดี สะสมสิ่งนั้นนะ สะสมสิ่งนั้นคือสะสมกิเลสนี้ เห็นไหม ถ้ามันเป็นกิเลสนำมันจะออกเป็นอย่างนั้น ไม่ตรงต่อธรรม ตรงต่อกิเลส กิเลสขับไสไป

การวิปัสสนาไม่ใช่วิปัสสนาแล้วจะเดินตัวไปตลอด มันจะสมความปรารถนาไปตลอด กิเลสจะขัดข้อง กิเลสจะเข้าขัดขวางในการกระทำของพญามารนี้ จะไม่ให้สัตว์โลกพ้นออกไปจากอำนาจของเขา พญามารนี้ต้องขวางทุกอย่าง พญามารนี้ต้องพยายามสร้างกลอุบายวิธีการให้เราก้าวเดินไปไม่สมความปรารถนา ถ้าไม่สมความปรารถนา นั้นคือกิเลสมันชักนำไป แล้วจะไม่สมตามความเป็นจริง ถ้าอย่างนี้แล้วเราจะวิปัสสนาไม่ได้ เราปล่อยวางดีกว่า ปล่อยวางเพื่อกลับมาสร้างพลังงานทำความสงบของใจให้กิเลสมันหลงทาง แล้วเราค่อยวิปัสสนาใหม่

ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์แน่นอน อารมณ์นี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่อารมณ์ อารมณ์เกิดกับเราขึ้นมานี่มันเกิดดับๆ ตลอดเวลา เกิดดับแล้วจิตก็อาศัยสิ่งนั้นไป วิธีการของเรา เราก็จับสิ่งนี้แล้วแยกออกไป จะจับวิปัสสนาสิ่งใด กำลังพอแล้วมันจะวิปัสสนาสิ่งนี้ได้ วิปัสสนานี้มันก็แยกได้ วิปัสสนาคือการแยกออก

สิ่งที่เป็นการประกอบขึ้นมาเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เราพยายามแยกส่วนออกไปๆ ให้มันเล็กลงๆ สิ่งที่เล็กลง กำลังของใจ กำลังของสมาธิมันก็มีกำลังใจ มันฟาดฟันสิ่งนี้ได้ ถ้ามันฟาดฟันสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้มันจะแยกออก แยกขันธ์เป็นขันธ์ สภาวะของขันธ์นี้เป็นขันธ์ ๕ แน่นอน สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ นี้รวมตัวขึ้นมาแล้วมันก็ถึงเข้ากับสภาวะของใจ แล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้ากำลังพอจะแยกสิ่งนี้แยก แยกออกบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดแล้วมันจะต้องทำลาย

สมุจเฉทปหานคือการฆ่ากิเลส สมุจเฉทปหานคือการทำลายกิเลส การแยก การปล่อยวางเฉยๆ นี้มันการเป็นการปล่อยวาง มันไม่สมุจเฉทปหาน เป็นตทังคปหาน ตทังคปหานเป็นการวิปัสสนาส่วนหนึ่ง เหมือนเรากินข้าว เรากินข้าวอิ่มแล้วเดี๋ยวเราก็กินข้าวอีก เรากินข้าวอิ่มแล้ว ในชาติหนึ่งเรากินข้าวมาแล้วกี่ร้อยครั้งพันครั้ง แล้วมันอิ่มทรงตัวไหม กินครั้งมื้อหนึ่งมันจะอิ่มตลอดไปไหม? มันไม่อิ่มตลอดไปหรอก มันต้องกินใหม่ กินใหม่ จนกินมันก็ถึงที่สุด

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราวิปัสสนานี่มันก็ปล่อยๆ แต่ไม่สมุจเฉทปหาน แต่ถ้าเมื่อใดสมุจเฉทปหานนะ ถ้าสมุจเฉทปหาน โครงการนั้น สิ่งกระทำนั้นจะจบสิ้น สิ่งที่จบสิ้นคือกิเลสมันขาด ขาดออกไปจากใจ กายกับจิตจะแยกออกจากกัน จิตเป็นจิต กายเป็นกาย แยกออกจากกันโดยสถานะตามความเป็นจริง ปล่อยวางหมดเลย แล้วสภาวะปล่อยวางทุกๆ อย่าง แต่รู้อยู่ จิตนี้รู้อยู่ เห็นสภาวะตามความเป็นจริงสิ่งนั้นว่ามันปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามาแล้วตัวเองเป็นอิสระเข้ามา นี่ปล่อยวางขึ้นมาเป็นขั้นที่ ๒

ใจมันปล่อยวางสิ่งนั้นมา ปล่อยวางแล้วตัวใจอยู่ไหน ตัวใจเป็นตัวที่รับรู้สิ่งต่างๆ มันจะมีความสุขมาก เสวยความสุขอยู่ในสภาวะนั้น ติดสุขในสภาวะนั้น รักษาสิ่งนั้นขึ้นไปว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้ทุกคนส่วนใหญ่จะติด ติดเหมือนกัน แต่ถ้าผู้ที่ว่าใคร่ครวญ ผู้ที่จริตนิสัย จะว่ามรรค ๔ ผล ๔ จะไตร่ตรองตัวเองตลอด การประพฤติปฏิบัติเราจะต้องศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเป็นแนวทางไว้เพื่อตรวจสอบใจตัวเอง ไม่ใช่ศึกษาธรรมมาเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติธรรมว่าอย่างนั้นจะถูกต้อง

เราประพฤติปฏิบัติในเวลาปฏิบัตินี้ปฏิบัติตามเอกเทศ ตามความเป็นจริงของเรา ใจของเราจะต่อสู้กับกิเลสในการปิดบังใจไม่ให้เห็นตัวสติปัฏฐาน ๔ เราพยายามแยกแยะออกมาจนเห็นจับสติปัฏฐาน ๔ ได้ แล้วเราวิปัสสนาจนมันปล่อยวางสติปัฏฐาน ๔...สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ปล่อยวางหมด จิตมันเห็น จิตมันปล่อยวางแล้วมันเป็นอิสระของมัน เอาสิ่งนี้มาตรวจสอบในการประพฤติปฏิบัติในเอกเทศของเรา นี้คือธรรมของผู้ที่ปฏิบัติบุคคลนั้น

บุคคลนั้นปฏิบัติอย่างนี้ ปล่อยวางเข้ามามันก็เป็นบุคคลของเรา แล้วไม่ยึดว่าเป็นกิเลส ถ้าสิ่งที่เป็นกิเลสอยู่นี่มันยึด ถ้าสิ่งที่ตามความเป็นจริงมันไม่ยึดแล้วมันเห็นสภาวะแบบนั้น ปล่อยวางออกไป ถ้าตรวจสอบอย่างนี้มันจะเรียกว่าเรายังมีงานอยู่ งานของเราคืองานชำระกิเลสอย่างละเอียดในหัวใจ สิ่งที่เป็นกิเลสในหัวใจ ถ้าเราขุดคุ้ยเจองานนี่มันจะแสดงตัว เหมือนกับคนที่มันหลอกลวงเราแล้วหลบอยู่ในเรา เหมือนไข้หลบอยู่ในตัวเรา ไข้มันหลบยามันจะไม่แสดงตัวออกมา มันฟักตัวอยู่ในหัวใจ ฟักตัวอยู่ในกายของเรานี่ แต่ถ้าเมื่อร่างกายเราอ่อนเมื่อไหร่มันก็แสดงตัวออกมา แล้วมันจะเป็นไข้ออกมา

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราหลงอยู่ เราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นผล มันก็จะเวิ้งว้างอยู่อย่างนั้นเป็นความว่าง เป็นความสุขในหัวใจอยู่อย่างนั้น แต่ในเมื่อเราเริ่มเอะใจขึ้นมาว่าอันนี้มันมีสิ่งใดในหัวใจ เราพยายามค้นคว้าเข้ามา ถ้าเราค้นคว้า เราพยายามหันจิตเข้ามาดูตัวเข้ามา แล้วสังเกต ขุดคุ้ยหาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจับต้องสติปัฏฐาน ๔ ได้ สิ่งที่ว่าเป็นความสุข เป็นความว่าง เป็นความพอใจในหัวใจมันจะแสดงตัวออกมาด้วยคลื่นมหาศาลของกามราคะ

สิ่งที่เป็นกามราคะในหัวใจมันแสดงตัวออกมาเป็นคลื่นมหาศาล จะรบกวนหัวใจมาก แล้วจะเป็นสิ่งที่ชำระล้างได้ยาก ยากเพราะสิ่งนี้มันเป็นสิ่งพื้นฐานในหัวใจ การประพฤติปฏิบัติสิ่งที่ว่าเราล้มลุกคลุกคลานกันก็ล้มลุกคลุกคลานกันตรงนี้ ตรงที่ว่าเราจะไม่สามารถชำระสิ่งที่จิตใต้สำนึกตัวนี้ได้ ตัวนี้เป็นจิตใต้สำนึกในหัวใจที่มันอุ่นกินในหัวใจ มันมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความเสพสมในใจของมันตลอดเวลา ถ้าจะข้ามพ้นสิ่งนี้ได้เราจะต้องพยายามใช้ขันติอดทนก่อนถ้าเราประพฤติปฏิบัติ

ในการประพฤติปฏิบัติเพื่อจะรักษา รักษาโอกาส รักษาสถานะที่เราจะประพฤติปฏิบัติเราจะต้องใช้ขันติพยายามอดทนสิ่งนี้ไว้ จนกว่าเราค้นคว้าเข้ามาเจอกับกามราคะในหัวใจแล้วเราพยายามฟาดฟัน สิ่งนี้ทำให้เราเกิดเราตายมาตลอด เกิดตายขึ้นมาก็เกิดตายมาสะสมคุณงามความดีนะ คนเกิดคนตายถ้ามีบุญกุศลมันก็เกิดขึ้นมามีความดีความสุขพอสมควรในสถานะของเรา ถ้ามีบาปอกุศล เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันก็มีความทุกข์ เกิดเป็นสัตว์นรก เกิดเป็นต่างๆ ตัวนี้เป็นตัวพาเกิดพาตาย จิตใต้สำนึกเป็นตัวพาเกิดพาตาย ตายในสถานะต่างๆ แล้วตายแล้วเกิดตายขึ้นมา นี่จะมีตรงนี้ให้ติดพัน ติดพันกันไปตลอด เราก็ต้องจับตัวนี้ได้แล้วพยายามเริ่มค้นคว้า

ต้องเป็นการค้นคว้าพยายามวิปัสสนาให้ได้ ถ้าวิปัสสนาสิ่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเป็นอิสระออกมาได้จะต้องผ่านสิ่งนี้ก่อน ถ้าไม่ผ่านสิ่งนี้มันจะไม่อิสระ ตัวนี้เป็นตัวรุนแรง ตัวรุนแรง ตัวพลังงานของมัน กลอุบายวิธีการของกิเลสมหาศาล ล้มลุกคลุกคลานในการประพฤติปฏิบัติ จะสร้างสถานะว่าเราเป็นความจริง ถ้ากำลังเราพอขึ้นมาวิปัสสนา มันจะหลบตัวก็ได้ กิเลสหลบตัวก็ได้ กิเลสต่อต้านก็ได้ กิเลสทำให้หลงก็ได้ หลงขึ้นมาน่ะ

เพราะกิเลสคือเรา ปัญญามีมากมายขนาดไหน กิเลสเอาไปใช้หมดเลยถ้าเรากำลังไม่พอ กิเลสมันจะสร้างว่าสิ่งนี้เป็นความสมเหตุสมผลแล้ว ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาปล่อยวางสิ่งนี้แล้ว มันทำให้เราเชื่อแล้วนอนจมกับตรงนั้นได้เลย ว่างหมด เวิ้งว้างหมด นี่ถึงว่ากิเลสมันร้ายกาจขนาดนั้น

เพราะสถานะของใจ ใจนี้เป็นนามธรรม ถ้ามันคิดว่าเวิ้งว้างมันก็ปล่อยวางเวิ้งว้างได้ตามสถานะนั้น แล้วกิเลสมันเป็นสิ่งที่ละเอียด มันก็อยู่ในความเวิ้งว้างนั้น อยู่ในสถานะที่ว่างนั้นหลอกกินไปตลอด มันไม่ขาดออกไปจากใจ นี่เวลาหลงก็หลงไปอย่างนี้ ในการประพฤติปฏิบัติถ้าปัญญาไม่ทัน ถ้ากิเลสมันหลอก นี่กิเลสออกหน้า ไม่ตรงต่อธรรม ตรงต่อกิเลส การก้าวเดินไปก็จะต้องสมบุกสมบันล้มลุกคลุกคลานไปตลอด

ถ้าตรงต่อธรรมก็สมบุกสมบัน แล้วจะทำให้กิเลสมันปล่อยวาง ปล่อยวาง จะต้องปล่อยวาง มันจะขาด มันแสดงตนของมัน ถ้ามันขาดเราจะรู้ว่ามันขาด มันจะไม่มีในหัวใจ แต่ถ้ามันไม่ขาด มันปล่อยวาง เข้าใจว่าขาดก็ต้องเสียเวล่ำเวลาไป เชื่อมันไง เชื่อกิเลส เชื่อกิเลสผสมกับธรรมในหัวใจที่ว่าสถานะดีในการปฏิบัติ

เพราะเราปฏิบัติธรรมอยู่ เดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ ใช้ปัญญาค้นคว้า ใช้ปัญญาแยกแยะ อันนี้ไม่เป็นธรรมได้อย่างไร มันต้องเป็นธรรมสิ เพราะเราเป็นคนทำเอง แต่ไม่รู้เลยว่ากิเลสมันก็อาศัยสิ่งนี้ว่าเป็นธรรม แล้วสร้างสถานะออกไป สร้างสถานะออกไป เราก็เชื่อมัน เป็นอย่างนี้ ล้มลุกคลุกคลานในหัวใจ ประพฤติปฏิบัติจะเห็นความว่ากิเลสมันแก่นขนาดไหน จะต้องเป็นผู้ที่เข้าไปผจญกับกามราคะนี้เสียก่อน

สิ่งนี้มันอยู่ในหัวใจแล้วมันผลักไส ผลักไสให้ล้มลุกคลุกคาน ผลักไสให้เราไม่มีความมั่นคงในหัวใจ ไม่มีความมั่นคงในสิ่งที่ว่าเป็นความเพียรไง ความเพียรของเราทำเพื่อจะบูชากิเลสต่างหาก ทำเพื่อจะบูชาตัวมัน ในเมื่อเอาไปบูชามัน มันก็พลิกแพลงหลอกลวงเรา หลอกลวงให้สมกับความที่ว่าไปบูชามัน มันก็ว่าสิ่งนี้เป็นผล สิ่งนี้เป็นผลนะ เป็นผลมันก็เสียเวลาไป เสียเวลาไป มันต้องเป็นอย่างนี้เสียก่อน จนกว่าเราจะทัน

จะทันว่า พอมันเป็นอย่างนั้นแล้วมันปล่อยวางแล้ว เดี๋ยวพอมันปล่อยวางไป พอสภาวะจิตมันเสื่อมไป จากกำลังของสมาธิมันก็แสดงตัว แสดงตัวเป็นอะไร? เป็นความรู้สึก รู้สึกในกาม สิ่งที่รู้สึกในกามนี้มันก็ต้องเป็นเชื้อของมันใช่ไหม ถ้าเป็นเชื้อของมัน นี้มันก็ยังฝังอยู่ในใจของเรา มันขาดไปไหน นี่ก็ต้องต่อสู้กันใหม่ ต่อสู้กันใหม่

จะต่อสู้กันอย่างนี้ไปหลายครั้งหลายตอนขึ้นมา พลิกแพลงวิธีการของเรา นี่พลิกแพลงอุบาย ต้องอุบายวิธีการฟาดฟันกับกิเลส แล้วแต่ใครจะสร้างสมมาอย่างไร สร้างสมมาด้วยกำลังของของสมาธิมาก เห็นไหม เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ถ้าเจโตวิมุตติก็ต้องทำความสงบของใจแล้วพิจารณาเป็นอสุภะ ถ้าปัญญาวิมุตติก็ต้องพิจารณาว่าเป็นขันธ์อันละเอียดในหัวใจ สิ่งนี้เป็นขันธ์อันละเอียด มันชุ่มด้วยกาม กามในใจนี้ชุ่มอยู่อย่างนั้น ต้องใช้ปัญญาวิมุตติใคร่ครวญขันธ์ละเอียดนี้ สิ่งนี้มันเป็นอะไร? เป็นขันธ์อันละเอียด เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ละเอียดสุดอยู่กับจิต ที่ละเอียดสุดซับสิ่งต่างๆ

ในการรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วซับซ้อนเข้าไปจนเป็นอวิชชาที่มันจะลดหลบไปอีกชั้นหนึ่ง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เก็บข้อมูลมาทั้งหมดเลย แล้วเราไปถึงฐานข้อมูล ฐานข้อมูลของขันธ์ ฐานข้อมูลของการรับรู้สิ่งต่างๆ มันละเอียดลึกซึ้งมาก นี่ลึก ลึกอย่างนี้ ลึกเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปในหัวใจ มันจะลึกลับมาก ในการประพฤติปฏิบัติเหมือนกับเราลงไปในห้องใต้ดินเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ลึกลับๆ เข้าไป ถ้าเราลงไปห้องใต้ดินมันก็มืดไปในนั้น ถ้าเราเปิดไฟขึ้นมา เปิดไฟของปัญญาขึ้นมาก็เป็นชั้นเป็นห้อง ก็ลึกไปอีกเป็นชั้นๆ เพราะมันปล่อยวางเป็นชั้น

มรรค ๔ ผล ๔ การปล่อยเป็นชั้น มรรคส่วนหนึ่งรวมตัวขึ้นมา สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายออก แล้วปล่อยไป จิตจะปล่อยออกไป มรรคต่อไปต้องทำอย่างนั้นอีก สัมปยุตเข้าไปบ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุดแล้วสมุจเฉทปหาน ขาด แม้แต่ขันธ์ละเอียดก็ต้องขาดออกไปจากใจ ขาดออกไปด้วยมรรคอริยสัจจัง นี่หัวใจสะเทือนมาก จะสะเทือนใจมาก สะเทือนเพราะกิเลสมันขาดออกไป จะไม่เกิดในกามภพ

ถ้าตายตอนนี้ก็เกิดบนพรหม จะต้องไปเกิดบนพรหมแล้วจะต้องสุกไปข้างหน้า สิ่งนี้จะไม่วนหมุนกลับ เป็นอกุปปะ ไม่หมุนกลับเลย ธรรมในหัวใจนี้เป็นธรรมที่มั่นคงและยั่งยืนในใจนั้น มันให้ใจดวงนั้นไม่หลงกลของใคร ไม่หลงกลของกิเลส ไม่หลงกลของสิ่งต่างๆ เลย เพราะว่ามันสืบต่อกันไม่ได้

แต่ถ้ายังไม่ขาด มันมีสิ่งนี้ มันหลงกลได้ ถ้ามีเชื้ออยู่ ไฟจุดมันก็ติด ถ้ามันไม่มีเชื้ออยู่ มันจะเอาไฟจะไปจุดจะไปติดสิ่งใด มันจะไม่ติดสิ่งนั้น มันจะปล่อยวางสิ่งนั้นไป เวิ้งว้างมีความสุขมหาศาล ความสุขจะหลงไปอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะมันว่างจากสิ่งกระทบทั้งหมดแล้วมันจะเวิ้งว้างอยู่ตลอดไป

โมฆราชถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง “เวิ้งว้างหมด ว่างหมดแล้ว ทำไมถึงว่าไม่สิ้นจากกิเลส”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ความเวิ้งว้างโลกนี้ มันปล่อยวางโลกนี้ทั้งหมดเลย อัตตานุทิฏฐิ ความที่เห็นว่าว่าง เราปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา สิ่งที่ว่าง ถ้าธรรมชาติของมันแล้วมันจะเป็นสิ่งที่ว่ามันไม่รับรู้กันใช่ไหม อย่างเป็นวัตถุนี่มันจะไม่รับรู้สิ่งต่างๆ มันจะไม่เข้าใจกันเพราะมันไม่มีชีวิต แต่ธาตุรู้มันมีผู้รู้ ธาตุรู้มันเป็นสิ่งที่รู้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่มันหมุนเวียน มันวนไป มันรับรู้กันหมด มันเป็นขันธ์อันละเอียด เป็นขันธ์อย่างละเอียดมาก ถ้าแบ่งเป็นขันธ์

แต่ในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่แบ่งเป็นขันธ์ แบ่งเป็นปัจจยาการ สิ่งนี้มีถึงมีสิ่งนี้ มันเป็นสิ่งเดียวกัน มันเกิดดับพร้อมกัน ขันธ์นี้มันยังเกิดดับ มันยังมีสังขารปรุง มันยังมีความแต่ง มันยังแยกออกไป นี่เห็นไหมว่าความลึกของอวิชชาที่มันอยู่ในก้นบึ้งของใจนี่มันลึกขนาดไหน เราจะเข้าไปลึก ลึกลงไปถึงจับตัวอวิชชาได้ มันจะต้องใช้พลังงานขนาดไหน พลังงานของเราจะเกิดขึ้นมา

นี่ตรงต่อธรรม ตรงต่อธรรมเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ตรงต่อธรรมจนรื้อค้นเข้าไป จนกว่าจะเจอ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชานี้อยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่ว่าเป็นรากฐานเลยคือรากฐานตรงนี้ เรือนยอดทั้ง ๓ เห็นไหม เจ้าวัฏจักร พ่อของนางราคะ นางอรดี นี่อยู่ตรงนี้

ถ้าอยู่ตรงนี้ เขาอยู่โดยภวาสวะ เขาอยู่ที่ของเขา ที่ของเขาอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก ที่มันมีที่อยู่อย่างนั้น แล้วเราลงไปถึงฐานของอวิชชาที่มันอยู่ได้ เราต้องใช้พลังงานที่ลึกลับขนาดไหนจะลงเข้าไปค้น ถ้าตรงต่อธรรมก็จะเจอ ถ้าตรงต่อธรรมไม่เจอก็จะต้องสงวนสิ่งนี้ไว้ จะตายไปก็เกิดเป็นพรหม จะว่าว่างงานขนาดไหน จะหลงใหลขนาดไหนก็แล้ว เวลาตายไปแล้วมันต้องไปเกิดในสถานะนั้น เพราะมันมีภวาสวะ กิเลสสวะ อยู่ตรงนี้ อนุสัยที่ละเอียดมาก ละเอียดในนามธรรมนะ

ในนามธรรมนี่ปล่อยวาง พิจารณาจิตนี่ปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามามันก็เป็นนามธรรมมาทั้งหมด ที่ว่าละเอียดลึกลับแล้วแต่ก็ยังไม่เท่ากับสิ่งนี้ สิ่งนี้ถ้าพูดถึงว่าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะเข้าไปรู้สิ่งนี้ได้ สิ่งนี้มันละเอียดอ่อนอยู่ในใจ ในใจของเราเองมันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามามันปล่อยแล้ว ปล่อยแล้ว ปล่อยแล้ว มันก็หลอกได้สิว่าสิ่งที่ปล่อยแล้วก็คือว่างแล้วๆ สิ่งว่างแล้วก็ต้องไม่มี แต่สิ่งที่รู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระโมฆราชน่ะ อัตตานุทิฏฐิตรงนี้ต้องย้อนกลับเข้าไปจับ บอกพระโมฆราช โมฆราชนี่รู้พั๊บ! ปล่อย สิ้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย

แต่ของเรา ของผู้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราย้อนกลับมาเพราะไม่มีใครบอก ศึกษาธรรมขึ้นมา ปฏิบัติธรรมขึ้นมา ธรรมจะใคร่ครวญแล้วธรรมจะบอก ถ้าธรรมบอก ธรรมเกิดขึ้นมาธรรมจะบอก บอกว่าสิ่งที่ว่าเกิดขึ้นมานี่รับรู้ขึ้นมา ภาวะของใจย้อนกลับขึ้นมา เป็นอรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นอรหัตตมรรค เห็นไหม อรหัตตมรรคถึงจะเป็นอรหัตตผล

สิ่งที่เป็นอรหัตตมรรคนี้คือมรรค คือฝ่ายเหตุ ถ้าเราไม่สร้างเหตุ หน้าที่ของเราคือปฏิบัติเหตุ นี้คือเหตุ เหตุของการสร้างอรหัตตมรรคขึ้นมา ถ้าอรหัตตมรรคจับตรงนี้ได้ มันถึงว่าถึงต้องเป็นอรหัตตมรรคถึงจะจับตัวอวิชชาได้ ถึงจับตัวความลึกซึ้งของใจดวงนี้ได้ มรรคก็จะเดินตัว เดินตัวของสิ่งที่บริบูรณ์ เป็นญาณ เป็นปัญญาญาณอันละเอียดอ่อนในหัวใจ เข้าไปทำลายชำระกิเลสตัวนี้ เพราะตรงต่อตัวอวิชชา ตรงต่อหลักความจริงของธรรม ธรรมสิ่งนี้เจริญงอกงามขึ้นมาแล้วเราย้อนกลับขึ้นมา

วิปัสสนานี้ละเอียดมาก ถ้าคนวิปัสสนาจากข้างล้างขึ้นมาก็จะต้องเป็นว่าใช้ปัญญาๆ สิ่งที่ใช้ปัญญาสิ่งนี้ก็จะไปกระเทือนให้กับความละเอียดนี้หยาบออกมา ถ้ามันใช้ปัญญา ตรงนี้จะเข้าไม่ถึงเลย เพราะมันเป็นขันธ์ เห็นไหม สุข ทุกข์ เวทนา สังขารปรุงแต่ง สิ่งที่เป็นขันธ์มันเป็นสังขาร มันเป็นความคิด มันเป็นสิ่งต่างๆ มันหยาบไหม แล้วสิ่งนี้มันไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นปัจจยาการที่มันละเอียดอ่อนอยู่แล้ว อรหัตตมรรคถึงเป็นปัญญาญาณ

สิ่งที่เป็นปัญญาญาณ ปัญญาเหมือนกัน ว่าปัญญาอย่างหยาบ ปัญญาอย่างละเอียด ปัญญาอย่างละเอียดสุด แล้วถ้ามันวิปัสสนาขึ้นไปนี่มันหมุนออกไป อรหัตตมรรคหมุนออกไปเป็นงานขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เป็นงานมันก็ต้องต่อสู้กัน มันพยายามไล่ต้อนกัน ไล่ต้อนกันมันก็ต้องหลบเลี่ยง เห็นไหม ความหลบเลี่ยงขลุกขลิกๆ อยู่ในหัวใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่ามันละเอียดอ่อนในหัวใจ ที่มันแคบแล้วมันต่อสู้กันอยู่ในนั้น ขลุกขลิกกันอยู่ ถึงที่สุดแล้ว ถ้าพอเข้าเห็นญาณมันหยั่งรู้ ชำระแล้วพลิกทีเดียว

สิ่งที่รับรู้ ปล่อยวางจากขันธ์ต่างๆ ขึ้นมา คือมีสภาวะของผู้รู้รับรู้ต่างๆ พิจารณากายปล่อยกายขึ้นมา ใครรู้ว่ารู้ พิจารณาปล่อยจิตเข้ามาสิ่งต่างๆ รู้ว่าหมด รู้ว่าปล่อยวางเข้ามาทั้งหมด ถึงที่สุดแล้วเอาอะไรมารู้

สิ่งที่รู้ตัวรู้คือตัวอวิชชา ผู้รู้คืออวิชชา สิ่งที่ว่าเป็นผู้รู้ เป็นฐานของภวาสวะนี้คือตัวอวิชชาทั้งหมดเลย ทำลายอวิชชาทั้งหมดแล้วพ้นออกไป มรรค ๔ ผล ๔ เห็นไหม สิ่งที่ว่าเป็นมรรคนี้ ขันธ์ละเอียด ขันธ์กับต่างๆ มันเป็นฝ่ายเหตุและฝ่ายผล ถ้าสรุปตัวลงแล้วหลุดออกไป สิ่งที่หลุดออกไปนี้พ้นออกไปจากกิเลส ตรงต่อธรรมตามความเป็นจริง

ธรรมที่เกิดขึ้นในหัวใจนี้เป็นสภาวธรรมอันประเสริฐกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเป็นธรรมล้วนๆ ในหัวใจ ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา แล้วก็ปล่อยวางตัวเอง ถ้าปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาแล้วผู้รู้นี้รับรู้ทั้งหมด รับรู้ว่ากิเลสอย่างหยาบขาดไปๆ รับรู้ต่างๆ ปล่อยวางต่างๆ เข้ามาแล้วไม่ปล่อยวางตัวเอง เพราะตัวเองเป็นผู้รับรู้ ตัวเองเป็นเศรษฐี เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วมีคุณธรรมในหัวใจ เป็นเศรษฐีขึ้นมา เศรษฐีก็ต้องรักต้องสงวนสถานะของเศรษฐีนั้นไว้ แม้แต่เศรษฐีก็ต้องทำลาย ทำลายตัวเศรษฐี ตัวผู้รู้ต่างๆ นั้นหมดสิ้นออกไป จะเป็นวิมุตติหลุดพ้นออกไปจากกิเลส เป็นสภาวธรรม เป็นเอโก ธัมโม ธรรมอันเอก

เรื่องของโลกนี้เป็นเรื่องของธรรมของคู่ สุขคู่กับทุกข์ มืดคู่กับสว่าง สิ่งนี้เป็นของคู่ สิ่งที่หนึ่งไม่มีสอง จะเป็นหนึ่งเดียว สองไม่มีอีกเลย คือสภาวธรรมอันนั้น ธรรมอันนั้นจะอยู่ในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถึงที่สุดแล้วจะเป็นความสุขของใจดวงนั้น นี้ตรงต่อธรรม

ตรงต่อธรรมตั้งแต่เริ่มต้น ตรงต่อธรรมของเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตรงต่อธรรมมาตลอดแล้วมันก็จะตรงตามความเป็นจริง ถ้าไม่ตรงต่อธรรม ให้กิเลสมันออกไป ประพฤติปฏิบัติแล้วจะไม่เข้าถึงจุดนี้ แล้วก็จะต้องคลาดเคลื่อนไปจากหลักความเป็นจริง คลาดเคลื่อนไปจากหลักความเป็นจริงแล้วก็เชื่อตามความเห็นของตัวเอง นี่สร้างสถานะสัจธรรมปฏิรูป สัจธรรมปฏิรูปก็จะเป็นอยู่อย่างนั้นให้เราเสียเวล่ำเวลา สัจธรรมตามความเป็นจริง แล้วตรงต่อความเป็นจริง ตรงต่อใจดวงนั้น

เราต้องประพฤติปฏิบัติแล้วตรวจสอบกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะชี้เองว่าผิดหรือถูก เพราะครูบาอาจารย์เป็นผู้เปิดตามาก่อน เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี่กิเลสมันยังขับไสอยู่ กิเลสมันยังอยู่ในหัวใจของเรา ประพฤติปฏิบัติอยู่นี่กิเลสมันก็ขี่คอไปตลอด เพราะกิเลสมันเกิดมากับเรา เราเกิดเพราะกิเลส เพราะเรามีอวิชชา เกิดขึ้นมานี่กิเลสมันอยู่ในหัวใจชัดเจนเลย

แล้วธรรมะนี้เราสร้างสมขึ้นมาเป็นชั้นเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าวันไหนคิดดีเป็นธรรม คิดชั่วเป็นอกุศลก็เป็นธรรม ธรรมฝ่ายดำ ธรรมฝ่ายขาว ธรรมฝ่ายดำคือความคิดดี คือกุศล คือบุญกุศล ธรรมฝ่ายชั่วอกุศลนี้ก็เป็นธรรม สภาวะความเป็นจริงคือธรรม จะว่ามันไม่เป็นธรรมไม่ได้ มันเป็นความจริงอันหนึ่ง มันเป็นสภาวะอันหนึ่ง มันจะเกิดในหัวใจอย่างนั้นตลอดไป เกิดดับๆ ในใจของเรา

จนกว่ามันจะถึงที่สุดแล้ว มันจะเกิดดับกับสิ่งใดในเมื่อมันไม่มีภวาสวะ มันไม่มีสถานะภพที่จะรองรับสิ่งต่างๆ ความคิดอันนั้นไม่มี ขันธ์ไม่มี มันอยู่ของมันเฉยๆ ถ้ามันเคลื่อนออกมาถึงจะเป็นว่ามันกระเพื่อมออกมารับรู้ สิ่งที่กระเพื่อมออกมารับรู้แล้วถึงจะออกไปเป็นสมมุติ ถึงจะออกมาสื่อความหมาย แต่ถ้ามันตัดขาดแล้ว สภาวธรรมตรงนั้นมันพอเพียงไง ตรงต่อธรรมความเป็นจริงแล้วธรรมตัวนี้เป็นเอกเทศอยู่โดยสมบูรณ์ จะไม่มีสิ่งใดๆ เข้าไปกระทำสิ่งนี้ให้กระเทือนได้ จะไม่มีสิ่งใดๆ เข้าไปกระทำนี้ให้มีคุณค่า ให้เพิ่มค่าหรือให้ลดค่าได้อีกเลย จะสมบูรณ์ตามความเป็นจริงจากใจดวงนั้น นี้คือผู้ประพฤติปฏิบัติตรงตามธรรม จะสมประโยชน์กับตัวเอง เอวัง