เทศน์บนศาลา

ธรรมเหนือโลก

๙ ต.ค. ๒๕๔o

 

ธรรมเหนือโลก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๐
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาเป็นของประเสริฐมาก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมไว้กับโลก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ คุณค่ามหาศาล สอนคนนะ “สัตถา เทวมนุสสานัง” สอนทั้งเทวดา สอนทั้งมนุษย์ สอนหมดนะ สอนผู้ที่สอนได้ เพราะสอนมาก สอนทั้งคนหยาบ สอนทั้งผู้ละเอียด สอนทั้งให้เป็นศีลธรรมไง ให้เป็นคนดี ให้รู้จักศีล ให้รู้จักธรรม ให้รู้จักที่พึ่งอาศัย

ศีลธรรม หมายถึงน้ำเย็น คนเราเกิดมานี่เกิดมาด้วยบุญกุศล เป็นมนุษย์สมบัติ แต่เกิดมาแล้วมันก็มีกิเลสเกิดมาด้วย มันก็มีความร้อน ความเร่าร้อนในใจ “อยาก” ถ้าไม่มีธรรมเลยมันก็อยู่แต่ความร้อนไป เกิดมานะ มนุษย์สมบัติเป็นของประเสริฐ แต่ถ้าไม่พบพระพุทธศาสนามันก็อยู่ในท่ามกลางกองไฟนั่นน่ะ พระพุทธศาสนาถึงได้สอนตั้งแต่หยาบๆ ขึ้นมา

จากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ สอนธรรมก็สอนแบบสาวกที่ว่ามีปัญญาจะปฏิบัติตามได้ แต่สอนคฤหัสถ์ก็สอนเป็นจริยธรรม สอนให้เป็นคุณงามความดีไง ให้พ้น ให้ดี พาไปสิ่งที่ดี...สอนแล้วถึงว่าเป็นสุดท้ายภายหลังมาถึงได้ศึกษาธรรมกัน ศึกษาแต่วิชาการกันไว้ไง ไว้เพื่อจะเป็นแนวทางเดิน แต่การศึกษามามาก การจดจำเล่าเรียนกันมา มันก็เลยกลายเป็นวิชาทางโลก

วิชาทางโลกกับวิชาทางธรรม โลกุตตระกับโลกียะ นี่มันต่างกันตรงนั้น เราพื้นฐานของพวกเรา การศึกษาเล่าเรียนมา ทั้งๆ จะว่าเป็นศึกษาธรรมกันนั่นล่ะ อันนั้นก็เป็นการเอากิเลสเข้าไปจับไง เอาความเห็น นั่นปัญญาของโลกไง แล้วมาศึกษาใคร่ครวญธรรม มันศึกษาเข้าไปไม่ได้หรอก เพราะว่าเครื่องมือมันคนละชนิดกัน ศึกษามาแล้วเป็นความรู้แล้วต้องพักไว้ก่อน พักไว้แล้วค่อยมาประพฤติปฏิบัติ

“ประพฤติปฏิบัติ” นี้เราก็จะพูดถึงว่าการประพฤติปฏิบัติ วงปฏิบัตินะ ต่อไปนี้จะพูดถึงวงปฏิบัติ วงปฏิบัติเข้ามาใกล้ ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา นี้วงนอกส่วนวงนอก การปฏิบัตินี่เห็นว่าเป็นปฏิบัติเหมือนกัน แต่การใช้ปัญญาต่างกัน มันเลยจับคุณค่าของศาสนาแล้วได้ต่างกันไง เช่นว่า การปล่อยว่างวางเฉย “การปล่อยว่างวางเฉย” วางเฉยเพื่ออะไรล่ะ?

จิตนี้ เราต้องเข้าใจคำว่า “จิต” นี้ก่อน จิตนี้เป็นธาตุรู้นะ “ธาตุ” ธาตุรู้เป็นก้อนธาตุก้อนหนึ่ง แต่เป็นธาตุที่ประเสริฐ “ธาตุรู้” ไม่ใช่ก้อนหิน ไม่ใช่ธาตุเป็นพวกวัตถุ วัตถุนี่เราทุบแตกใช่ไหม เราทุบบุบสลายมันจะหายไป มันจะไม่มี แต่จิตไม่เป็นอย่างนั้น จิตนี้ ความรู้สึกนี้ยิ่งทุบเข้าไป ยิ่งทำสลายเข้าไปนะ มันมีอะไรของมันอยู่ข้างใน มันไม่ใช่ว่าหายไปหมดหรอก เช่น เราเจ็บแค้น หรือเราเจ็บปวด เราจะมีความสุขความทุกข์มันก็ฝังลงมาที่ใจ ฝังเข้ามาที่ใจ ฝังเข้ามาที่ใจ

ฉะนั้น ถ้าว่าปล่อยว่างวางเฉย ปล่อยว่างแล้วมันว่างไปเลย มันก็เป็นวัตถุสิ วัตถุ อย่างเช่น เรามีอะไรอยู่ เราทำให้มันหมดไป มันหมดไป มันก็ว่างจริงๆ แต่หัวใจไม่เป็นแบบนั้น ไม่เป็นแบบนั้น เช่น เรากำหนดสมาธิทำความสงบ ความว่างเป็นความสงบนะ ความสงบนี่เราทำกำหนดเข้าไปสิ พยายามจะใช้เป็นคำบริกรรมพุทโธ หรือจะใช้เป็นการพิจารณาใคร่ครวญเข้ามาก็เหมือนกัน การพิจารณาใคร่ครวญ พิจารณาธรรม พิจารณาสภาวะของจิต อันนั้นเป็นปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหม เราใช้คำบริกรรมพุทโธ หรือคำบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นบริกรรมเพื่อให้เป็นสมาธิเลย

ปัญญาอบรมสมาธิกับต้องการทำความสงบขึ้นมาจากคำบริกรรม จะทำความสงบเข้าไปขนาดไหนก็แล้วแต่ ให้สงบจนหมดเลย ว่างหมดเลย ว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ มันจะมีตัวตนอยู่ ให้ว่างจนลึกซึ้งจนสนิทเลยนะ จนแบบว่าถึงหาเลย “สักแต่ว่ารู้” ก็คือรู้ จะว่ามันมีรู้อยู่

ตัวตนจะหยาบ-จะละเอียดก็แล้วแต่ ก็มีตัวตน มีฐานของจิตนั้นออกไป จิตนี้ไม่มีการแบบว่าว่างจนแบบว่าเป็นสุญญากาศ ไม่มีทาง จะว่างขนาดไหนมันก็ว่างแบบมีฐานไง มีเราไง มันไม่หลุดออกไปจากฐานของจิตคือตัวตนของจิตตัวนั้น มันถึงว่ามันปล่อยว่างวางเฉยไม่ได้ มันต้องใช้คำกำหนดเข้ามาดู รักษาตัวนี้ไว้ให้ว่าง ให้เย็น ให้สงบ ให้เป็นความสงบ

มันไม่ใช่วัตถุ จะได้ว่างแล้วหายไป ถึงว่าตัวตนหมดไปไม่ได้ด้วยการไม่ใช่การใช้ปัญญาพิจารณาเป็นวิปัสสนาญาณ ถึงสงบเข้าไปก็แล้วแต่ ความสงบอันนี้ ที่ว่าว่างวางเฉย ว่างวางเฉย ความสงบนะต้องใช้สติ ต้องใช้ความระลึกรู้อยู่ กำหนดควบคุมไว้ถึงจะเป็นประโยชน์ของเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเราปล่อยว่าง ปล่อยอย่างนั้นไปแล้วมันจะมีคุณค่าเท่ากับก้อนอิฐ ก้อนหิน เท่านั้นหรือ

มนุษย์ทั้งคนจิตนี้สามารถทำให้ประเสริฐเป็นเทวดาได้ เป็นพรหมก็ได้ แม้แต่สิ้นกิเลสก็ได้ แต่ปล่อยว่างวางเฉยให้มาเป็นแค่วัตถุอันหนึ่งเหรอ เราเป็นคนมีสตินะ เราสามารถควบคุมเราได้ ถ้าเราปล่อยว่าง ปล่อยกันเป็นปกตินะ ปล่อยกันไปให้ตามสภาพของมัน พอมันว่างแล้วก็ปล่อยว่าง มันเป็นการปล่อยให้เหมือนกับที่อยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญานั่นน่ะ ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา นั่นน่ะ ปล่อยว่างวางเฉย เพราะวางเฉยโดยไม่รับรู้ ไม่รับผิดชอบไง

ถ้าไม่รับรู้ ไม่รับผิดชอบ ปล่อยไป ปล่อยไปแล้วมันจะว่างจนเป็นอย่างนั้นไป เป็นว่างอยู่ในโรงพยาบาลนั้น เพราะไม่มีตัวดึงจับไว้ ตัวจับไว้ ตัวสติควบคุมไง แบบเด็กจะให้ทำงาน เราก็พยายามใช่ไหม ดูแลขึ้นมาให้เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา จะได้เป็นการเป็นงานขึ้นมา เด็กคือว่าจิตนี้ยังไม่รู้เลย ยังเป็นเด็กอยู่ ยังเป็นผู้ฝึกหัดใหม่อยู่ จะปล่อยว่างวางเฉยปล่อยไปเลยเหรอ ปล่อยให้มันเบลอไปเหรอ

มันต้องมีสติกำหนดรู้อยู่ถึงจะเป็นคนดี ถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ

ไม่ใช่ให้มันเป็นเอง เป็นเองโดยแบบว่าแล้วแต่เวร แล้วแต่บุญแต่กรรมเหรอ ถึงกำหนดไว้ก็ว่าเป็นกำหนดให้มันว่างว่าเป็นกำหนดอยู่ ถึงว่าปัญญาอันนี้เป็นปัญญาของโลกไง เราเอาปัญญาของโลกเข้าไปจับไงว่า “เราได้กำหนดแล้ว เราได้พิจารณาแล้ว เห็นสภาวะเกิดดับแล้ว แล้วมันก็เป็นความว่าง”...สภาวะอันนั้นใครเป็นคนพูด กิเลสในใจเราพูดหรือว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าบอก

ธรรมะๆ ฟังสิ คำว่า “ธรรมะ” พระพุทธเจ้าบอกด้วย พระพุทธเจ้าพูดไว้เป็นสัจจะภายใน แต่ความเห็นของเราเห็นความเกิดดับ เกิดดับ “ความเห็นของเรา” ความเห็นของเรามันก็ต้องเข้าข้างเราสิ เราเห็นสภาพเกิดดับ เกิดดับจริงหรือ นั่นพูดถึงความว่าง ว่างที่ว่าความว่างๆ นั่นล่ะ ว่างของจิตจะว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ มันจะมีฐาน คือว่าเป็นผู้ดี เป็นผู้ที่ไม่เสียออกไปจากฐานของฐีติจิต จิตตัวนี้ต่างหากถึงเป็นประโยชน์

ทีนี้กับคำว่า “ดูจิต” ถ้าจิตมันสงบแล้วดูจิต เพ่งจิตใช้ได้ไหม

“ดูขันธ์ ๕ ดูสภาวะ” ว่าอย่างนั้นสิ “ได้เห็นความเกิดดับของขันธ์ ๕”

จริงหรือ? จริงหรือ? เห็นสภาวะขันธ์ ๕ จริงหรือ?

ขันธ์ ๕ มันเป็นมายาของขันธ์ ๕ หรือเปล่า? มายาของขันธ์ ๕ ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นะ มายาของขันธ์ ๕ การเพ่งดูจะไปเห็นขันธ์ ๕ ตรงไหน? เพราะว่าการเพ่งออกไป มันก็เพ่งออกไปจากจิตนี้ เพ่งออกจากขันธ์ ๕ ไปแล้วขันธ์ ๕ ไปจะไปเห็นอะไร? มันก็ไปเห็นมายาสิ มันเป็นเงา มันเป็นมายา เป็นอารมณ์ของจิต อารมณ์ของขันธ์ ๕ ดูมายาแล้วมายามันหลอกมา

การภาวนานะ การกำหนดเข้าไปดู คิดว่าเข้าไปดูแล้วจะไปเห็นขันธ์ ๕ แล้วชำระขันธ์ ๕ เหรอ แล้วกิเลสมันจะปล่อยไว้เหรอ กิเลสมันจะเป็นเด็กอ่อนเหรอ กิเลสเอาขนมหวานๆ ไปป้อนแล้วมันจะเชื่อเหรอ กิเลสนี้จะพูดให้มันอยู่ในอำนาจของเราเหรอ

กิเลสนี้แก่นกิเลสนะ เหนียวแน่นเป็นแก่นกิเลส ไม่มีทางหรอก การทำภาวนาหรือการต่อสู้ของเรา การพยายามของเราเป็นการทำของเราในความนึก เราคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงธรรม เราก็อยากทำคุณงามความดี เราก็มีความตั้งใจอยากจะทำ อยากจะประพฤติปฏิบัติ พอเริ่มต้นปั๊บกิเลสมันก็ขัดแล้ว กิเลสมันก็เสี้ยม กิเลสมันก็สอน กิเลสบอก

“อย่าเพิ่งทำ ทำก็ทำแต่น้อย ไว้เมื่อนั้น ไว้เมื่อนี้”

นี่กองทัพโรงงานกิเลสอยู่ในใจ มันผลิตตลอดเวลา แต่เราไม่เข้าใจว่าโรงงานของกิเลสมันผลิต มันอยู่ในหัวใจ มันต่อต้านอยู่ตลอดเวลา แต่เราเข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรมไง แล้วเราไปเพ่ง เพ่งได้หรือ เพ่งมันก็เหมือนกับความว่างนั่นน่ะ การไปเพ่งอยู่ การไปดูอยู่แล้วดูก็ดูว่าดูมายาขันธ์ ไม่ใช่ดูตัวขันธ์ ความมายาขันธ์คืออารมณ์ที่เกิดดับไง อารมณ์นี้เป็นผลของการกิเลสมันเสี้ยมไง เราคิดถึงเรื่องใดใดก็แล้วแต่ ที่ว่าเรื่องที่เจ็บปวดมันจะเจ็บปวดมาก นั่นน่ะ เราก็ไปรับรู้อารมณ์เท่านั้นเอง อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากขันธ์ ๕ หมุนไปหนึ่งรอบแล้ว

ต้องดูมายานี้ เราใคร่ครวญตามมายานะ ผู้ที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิดูมายานี้ พอมายามันหลับ มันรู้เท่า มันเกิดดับ มายานี้หลุดออกไป ถึงจะเข้ามาถึงตัวขันธ์ ๕ ตัวขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรมชาติ คำว่า “ธรรมชาติ” หมายถึงว่ามันเป็นสภาวะของจิตโดยปกติ แล้วมันมีกิเลสมาร มารในขันธ์อีกต่างหาก กิเลส แล้วก็กิเลสในขันธ์ ขันธ์แล้วค่อยมาถึงมายาของขันธ์ เราดูสภาพเกิดดับของมายาในขันธ์เท่านั้นเอง แล้วเราก็ว่าเห็นมันเกิดดับ เราก็เชื่อใจแล้วเหรอ

นี่การเพ่งดูจะเห็นอย่างนี้ เพราะมันเพ่งออกมาจากตัวจิต มันก็เป็นสมาธิของเราออกไปใช่ไหม มันไม่เห็นกลับมา การเห็นกลับมานะ การจับสภาวะของจิตได้ หรือการเห็นกายภายใน ผู้ใดเห็นผู้นั้นจะมีความตื่นเต้น จะมีความแปลกประหลาดโลก...โลกุตตระไม่ใช่โลกียะ นี่คือปัญญาที่ว่าปัญญาในวงปฏิบัติไง ไม่ใช่ปัญญาการเล่าเรียนหรือการจำมา แล้วพอเจอสภาวะ เจอมายาของจิตก็หลงแล้ว เจอมายาของจิตก็เข้าใจว่าตัวนี้เป็นจิต ตัวนี้เป็นขันธ์ ตัวนี้ตัวสภาวะ ตัวนั้นตัวขาด ตัวนั้น...มันเป็นมายาล้วนๆ เพราะมันไม่ใช่ปัญญา มันไม่เกิดปัญญาในการภาวนามยปัญญาเลย

ภาวนามยปัญญาเกิดจากจิตสงบ

ถึงสงบด้วยปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน อบรมด้วยการบริกรรมพุทโธก็เหมือนกัน สภาวะอันนี้มันสงบลงแล้ว มันถึงจะมาเห็นตัวกิริยา เห็นตัวขันธ์ ๕ ไง จิตเห็นจิตไง การเห็นนี้ก็แค่เห็นตัวจริงเท่านั้น ยังไม่ได้มีการต่อสู้เลย

เสื้อผ้า ของใช้ของสอย ของนั้นสกปรก เราต้องทำความสะอาดชะล้าง จิตนี้ มายาสงบลง จิตถึงได้สงบ แล้วสงบแล้วถึงต้องเพ่ง การหาตัวขันธ์ ๕ นะ พอหาขันธ์ ๕ มันเป็นภาวะการเพ่งดูจิตไง เห็นขันธ์ ๕ แล้วนะ ขันธ์ ๕ นั้นเต็มไปด้วยมาร เต็มไปด้วยความสกปรก ขันธ์ ๕ นี้ไม่สะอาดเลย เพราะมารอยู่ เป็นกิเลสมารยังเต็มตัวอยู่ พอกิเลสมารก็มาอาศัยขันธ์นี้เป็นเครื่องดำเนินไง ขันธ์นี้เป็นภาวะของใจ ขันธ์นี่เป็นอาการของใจ

ใจคิดออกมา ใจต้องมีพลังงานออกมาถึงออกมาที่ขันธ์ แล้วพอใจขยับออกมา เพราะกิเลสอยู่ที่ใจ ก็ขยับออกมาพร้อมกับขันธ์ ขันธ์นี้เป็นอารมณ์ของจิต แล้วสภาวะที่ว่าเป็นมายานั้นอีกตัวหนึ่ง มายานั้นสงบ เห็นการเกิดดับ สงบ อันนั้นมันก็จะรวมมาเป็นสมาธิไง เป็นความว่าง ความว่างว่าว่างมันอยู่ในอำนาจของเรา แต่มันยังไม่ถึงจับตัวมันนะ

พอถึงจิตสงบกลับมาดู ดูเห็นอาการของจิต หรือเห็นอาการของกาย มันจะตื่นเต้น นี่คือการขุดคุ้ยหาจำเลยเริ่มจะวิปัสสนาไง การดับมายานั้นเป็นกัลยาณปุถุชน เข้ามาถึงขันธ์ จับขันธ์แล้ว พอเห็นขันธ์จะตื่นเต้น จะดีใจ แล้วพอตื่นเต้นดีใจแล้วก็สู้ไม่ไหว ทุกคนเริ่มต้นใหม่จะสู้ไม่ไหว มันจะมาแบบรุนแรงมาก เพราะกิเลสนะ กิเลสกับเรา เราคือตัวหัวใจ เป็นการต่อสู้นะ จะชำระล้างกิเลสเพื่อให้พ้นจากกิเลส กิเลสจะขวางตลอด

เหมือนเรา ถ้าเราไม่เคยทำความผิดไว้ เราอยู่ปกติ เราทำความผิดไว้ใครจะมาจับเรา เราต้องหนีสุดชีวิต กิเลสก็เหมือนกัน เพราะไม่เคยทำความสงบ ไม่เคยเข้าไปต่อต้านมัน มันก็นอนกินทั้งวัน สบายไป เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เที่ยวไป เพลินไป แต่พอจะหันกลับมานะ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดมาเจอในท่ามกลางของผู้ปฏิบัติ เราหันกลับมาปฏิบัติ พอเริ่มปฏิบัติ กิเลสนี้ก็จะเข้มข้นขึ้น มันก็จะต่อต้านเรามากขึ้น แล้วยิ่งปฏิบัติเข้าไปมันก็ต้องต่อต้านอย่างรุนแรง ไม่ต้องว่าเลยว่ามันจะไม่ต่อต้าน

เพราะว่าเป็นการฆ่ากันน่ะ คนเราถึงกับฆ่ากัน ใครมันจะยอมตายง่ายๆ เป็นการจะชำระล้างกัน มันจะมีมายา มีเครื่องกลไกหลอกหลอนมาตลอดนะ กิเลสมันจะเสี้ยมมาตลอดเลย เสี้ยมออกมาเลย มันผลิต โรงงานมันผลิตอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็ไสออกมา แล้วเราก็เชื่อ เชื่อตลอด มันต่อต้านมาตลอดแล้ว นี้พอมันมา มันมาทั้งหมดเลย เราใช้คุณงามความดีของเราจนดับมายาเข้าไปเห็นแล้ว เห็นแล้วมันก็มีความตื่นเต้น แต่พอออกมาเราก็สู้ไม่ได้

ต้องจับตัวขันธ์ ๕ มันมาทีเดียวทั้ง ๕ กองทัพไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราต้องจับแล้วแยกออกไง ต้องฆ่าทีละคน มาที ๕ กองทัพ ต้องทำลายทีละกองทัพไง แยกออกให้ได้ แยกขันธ์นี้ออกให้ได้ ขันธ์ของกิเลสนี่แยกออกจากกัน ว่าตัวไหนที่ว่ามันเป็นตัวลูก ตัวไหนมันเป็นตัวเวทนา แยกออก นี่การแบ่งแยกออกไป แยกออก แยกกองทัพที่ใหญ่ให้มันแตกออกจากกัน พอแตกออกจากกันกองทัพนั้นก็เริ่มเล็กลง กิเลสนี่เราแบ่งกิเลสออกไปต่างหาก ออกไปหลายๆ ทาง เราจะมีปัญญาสู้ได้ นี่คือการวิปัสสนานะ

วิปัสสนาคือการต่อสู้ การแยกแยะ เห็นไหม ต้องแยกแยะขนาดนั้น พอแยกแยะเข้าไป แยกแยะ แยกแยะ แยกแยะ เพราะว่ากิเลสมันอาศัยมาจากขันธ์แล้วมันก็เชื่อมมาเป็นเนื้อเดียวกัน แยกแยะแยกออกอย่างนี้ แยกออก แยกออก เพราะอันใดไม่ดี อันใดที่มันทำให้เราหลง อันใดที่ทำให้เราสู้ความอยาก ความทะเยอทะยาน ความอยาก ความทุกข์ มันอันไหนที่มันเสริมมา รูปที่สวย เสียงที่เพราะ รูปที่สวยเสียงที่เพราะนั้นมันจริงหรือ?

รูปนั้นก็เป็นอนัตตา สภาวะที่เกิด-ดับอันนี้ก็เป็นอนัตตา แต่ความพอใจของกิเลสมันสอนมาว่าดี เราก็ต่อสู้ แยกแยะ แยกแยะ แยกแยะ...นี่เพ่งไหม อย่างนี้เป็นเพ่งไหม อย่างนี้เพ่งอยู่หรือเปล่า นี่เพ่งอยู่เหรอ...นี่ไม่ใช่เพ่ง นี่คือการต่อสู้ การต่อสู้การแยกแยะ นี่คือการต่อสู้นะ พอต่อสู้ ต่อสู้จนเราชำนาญนะ สู้บ่อยๆ เข้า พอเราต่อสู้ทัน จิตนี้สงบ มันอาย กิเลสมันรู้ว่าเราตามทัน ปัญญาญาณเราตามทันมันจะอายนะ พออายมันจะรวมตัวลงสงบ สงบ จะสงบเลย

ความสงบอันนี้ ดูสิ กับความว่างทีแรก ที่ว่า ว่างวางเฉย ว่างวางเฉยน่ะ มันว่างเหยียบทับกิเลสอันนี้ไว้ แต่อันนี้เราใคร่ครวญจนได้ต่อสู้กันแล้ว ถึงไม่มีการแพ้ชนะขาด แต่ก็ได้เข้าไปเลาะถึง อย่างที่ว่าเราเอาเนื้อ เราเลาะถึงซี่โครง เลาะถึงกระดูก มันก็ต้องยุบยอบลง กิเลสมันต้องอ่อนตัวลง ความสงบ ความว่างอันนี้ มันต่างกับไอ้ที่ว่างที่ว่ากดทับไว้นะ เพราะกดทับไว้ตัวตนยังเต็มไปหมด

มนุษย์เราร่างกายนี้เต็มไปด้วยกระดูก กระดูกนี่ขึ้นไปยังขวางอยู่ แต่คนไม่มีกระดูกจะนิ่มไปเลย นี่ความสงบอันนี้ลึกซึ้งกว่า ถ้าเห็นว่าตัวตนมันละเอียดลงไป จากกระดูก เราเห็นเป็นของนิ่มนวล...ต่อสู้ พอเห็นอย่างนี้มันก็มีความสุข สงบ เรามีความสุข มีกำลังใจ มีพลังงานเพิ่มขึ้นมาใหม่ ก็ต่อสู้แยกแยะอย่างนี้แหละ แยกแยะออกไป แยกแยะออกไป จนกว่ามันกำลังมันพอนะ

ของที่ว่าจะเข้มแข็งขนาดไหน ถ้ามีการต่อสู้ มีการกระทำอยู่ มันต้องบุบสลายลง กิเลสจะแก่นขนาดไหนก็แล้วแต่นะ เราดู เราใคร่ครวญ เราใคร่ครวญด้วยปัญญา ด้วยวิปัสสนาญาณ มรรคมันจะรวมตัว สมุจเฉทปหานขาด นั่นน่ะ อันนี้กิเลสถึงหลุดออกไป ๑ ขั้น ขันธ์ ๕ นี้ออกไป ทุกข์นี้หลุดออกไป

นี่มันต้องมีขณะที่ว่าเป็น ขณะที่ว่ารู้ คนทำด้วยสติขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเมื่อไรก็ไม่รู้ พร่ำๆ เพ้อๆ หลงๆ ลืมๆ เป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาเหรอ พระอริยบุคคลเป็นคนหลงๆ ขี้หลงขี้ลืมอย่างนั้นเหรอ

ขณะจิตนี้ไม่มีวันลืม “ขณะจิต” ขณะที่จิตมันพลิกไง

ขนาดที่ว่าเสื้อผ้านี้เคยสกปรกโสโครกมาก ก็ความที่ว่าเราไม่เคยซัก ไม่เคยล้างเลย สะสมมาเป็นแสนๆ กัป แล้ววันนี้ได้สะอาดขึ้นมา ขันธ์นี่เริ่มสะอาดขึ้นมา ๑ ขั้น แล้วหลุดออกไป จิตนี้เป็นจิต แล้วมันก็รู้ด้วยธรรมชาติเลยว่าตัวตนยังมีอีกมากมาย เพราะกิเลสยังงหยาบ ยังละเอียดเข้าไปยังมีอีก

การต่อสู้ก็ค้นเข้าไปที่จิตอย่างเดิม เพราะมันอุปาทานออกมานั่นล่ะ นี่พิจารณาจิต

“การเพ่งจิต” กับ “การพิจารณาจิต” ต่างกัน

การเพ่งอยู่ เพ่งดูมายา...อันนี้ก็มีมายา มายาละเอียดเข้าไปอีกนะ มันรูปเดียวกัน แล้วมันจะเข้มแข็งขึ้น คำว่า “เข้มแข็งขึ้นของกิเลส” มันละเอียดอ้อยสร้อยขึ้น มันไม่ใช่เข้มแข็งด้วยกำลังหรอก มันพยายามจะหลบหลีก มันพยายามจะซ่อนเร้น มันจะพยายามไม่ให้ใครเข้าไปทำลายมันไง

เรามีบ้านหลังหนึ่ง เรามีทั้งรั้ว มีทั้งกำแพง ถ้าเขาทำลายรั้วเราได้ ก็ยังรักษาบ้านเราไว้ก็ยังดี ทำลายรั้วเข้ามาชั้นหนึ่ง รั้วนี่โดนกองทัพเผาราบหมดแล้ว นี่รุกเข้ามา รุกเข้ามา ก็ดูจิตนั้นเข้าไป จากรั้วก็เข้ามาถึงชานบ้านนั่นน่ะ เห็นไหม ถึงตัวบ้าน ถึงชานบ้าน

จิตนี้ออกมาในอุปาทาน อุปาทานของจิตก็หมายลงที่กาย พิจารณาซ้ำสิ พิจารณาซ้ำลงไป ซ้ำในสภาพสภาวะนั่นล่ะ สภาวะที่มันมาติดอะไรอุปาทานอันนี้ อุปาทานอันนี้ พิจารณาซ้ำลงไป ซ้ำด้วยการด้วยการแยกแยะ แยกออก แยกออก

จากมายา จากมายาอีกล่ะ ถึงไปถึงตัวมัน ถึงตัวของขันธ์ แล้วกิเลสซ่อนอยู่นั่นน่ะ เริ่มต้นจะเจอมายา การพิจารณาการใคร่ครวญจะโดนต้อน โดนกิเลสมันต่อสู้ กิเลสต่อสู้ มันจะหลบ มันจะชักนำให้เราหลงทาง จะชักให้เราผิดเพื่อจะผ่อนคลายแรงจากการเข้าไปบีบคั้นไง ขนาดเราต่อสู้ยังมีการชักให้หลงขนาดนี้ แล้วถ้าไม่มีการต่อสู้ ไปเพ่งอยู่ มันทำไมจะไม่หลง ยิ่งหลงเข้าไปใหญ่ การหลงคือการเข้าใจ การเข้าใจ...อันนี้คือปัญญาอะไร

แต่ปัญญาในแวดวงปฏิบัตินี่มันเป็นปัญญาภายใน ปัญญานี่สะสมขึ้นมาไง สะสมขึ้นมาจากรสชาติของบุญกุศล บุญกุศลนะ รสชาติของความสุข รสชาติของจิตที่มันปล่อยวาง มันเวิ้งว้าง มันขาดออกมาเป็นชั้นๆๆ มันทำไมไม่เวิ้งว้าง จากมายาก็ดับมายาลง พอดับมายาลง เข้าเป็นตัวขันธ์ มายาหนึ่งก็อารมณ์ของความรู้สึกไง ธาตุกับขันธ์แยกออก แยกออก แยกออก

ถ้าเป็นกาย สภาวะนี้จะแตกออก ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ แล้วจิตหลุดออกไปเลย ตรงนี้มันเป็นสภาวะที่จะเข้าไปถึงที่ว่ารุนแรงกว่า พอถอยเข้าไปสิ ถอยเข้าไปนะ พอมันขาด ถอยเข้าไป อันนี้ขาดเลย ขาดนี้สังโยชน์ไม่ถึงกับว่ามีเพิ่มขึ้น ไม่ได้ตัดสังโยชน์ “สังโยชน์ต้องตัดขาดนะ” ไม่ใช่รูปคลำ ไม่ใช่ถอนนะ “ตัดขาด”

สังโยชน์นี้ขาดออกไปจากใจ เห็นโดยปัจจัตตัง โดยธรรมะเป็นผู้ยื่นให้ด้วยธรรม ธรรมนี้สะเทือนเรือนลั่นอยู่ในหัวใจ ไม่ต้องมาสภาวะภายนอกมาบอก เห็นไหม นี่มันขาดออกอย่างนั้นน่ะ พอมันขาด ออกรุกเข้าไปอีก นี่ยิ่งว่างนะ ยิ่งว่างใหญ่ ถึงจะว่างขนาดนี้นะ ว่างขนาดนี้ก็ยังเป็นว่ามีตัวตนอยู่ จะวางเฉยไม่ได้ ไม่มีตรงไหนเลยที่ว่าวางเฉย ไม่มี เพราะวางเฉย ถ้าว่างแล้ววางเฉย ก็ถือว่าสภาวะสุขมี สุขนี้...อันนั้นก็ติด ถ้าวางเฉยนะ วางเฉยก็ไม่สืบต่อสิ แล้วกิเลสมันยังมีอยู่ กิเลสมันก็จะเสี้ยมว่า

“อันนี้ใช่แล้วไง ตรงนี้ๆ ใช่ ตรงนี้ๆ ถึงที่สุดแล้ว สุดของการปฏิบัติ สุดแล้วไง สุดของการปฏิบัติคือสภาวะที่ว่าเป็นนิพพาน”

ถ้าเชื่อว่าเป็นนิพพานมันก็นอนอยู่ตรงนั้น ถ้าเชื่อนะ แต่ส่วนใหญ่มันเชื่อ เพราะรสชาติอย่างนี้ รสชาติของความสุขอย่างนี้ รสชาติความสุขกับความว่าง ความว่างอย่างการเราปลดไว้มันก็เป็นความว่างที่ว่าแปลกประหลาดแล้ว โลกเขาไม่มีหรอก

ความว่างที่ว่ามันมีส่วนใดไอ้พวกที่มีตัวตน ไอ้พวกที่ขัดขวางอยู่ในหัวใจหลุดออกไปถึง ๒ ขั้นตอน แล้วใครจะมาเป็นผู้ชักนำให้ออก ยกเว้นแต่ผู้ที่มีบารมีไง มีบารมีหรือผู้ที่อยู่กับครูบาอาจารย์ไง เพราะมันศึกษาแล้วนะ ถ้าผู้ที่มีบารมี มันถึงว่าคนมันจะจับเข้ามาหาตัวภายในไง มันจะมีความรู้สึกสิ ความรู้สึกทุกข์ไง ความรู้สึกที่แปรสภาพได้ไง เพราะอันนี้มันยังไม่คงที่ สิ่งที่ไม่คงที่มันแปรปรวนตลอด ความแปรปรวนนี่มันไปตลอด แต่เราว่าไปดูการเกิดดับ

มันจะเกิดดับอะไร มันเป็นสภาวะของมันเลย มันออกมาเอาเขาเลย ออกขึ้นมาเสวยอารมณ์อันนั้นน่ะ แต่ก่อนจะเจออันนี้มันซุกอยู่ข้างใน...หาไม่เจอ หาอย่างไรก็หาไม่เจอ เพราะมันของภายใน มันจับไม่ได้เลย จับต้องใดใดไม่ได้ เพราะว่าเมื่อก่อนนะกายกับใจ ฟังสิ “กายกับใจ” มือ ๒ มือกระทบกัน แต่ตอนนี้เราได้ตัดกายออกไปโดยธรรมชาติเลย โดยความเป็นจริงเลย สักกายทิฏฐินี่ออกไปแล้ว อุปาทานในกายออกไปแล้ว เหลือแต่มือข้างเดียว มือข้างเดียวแล้ว เหลือแต่จิตล้วนๆ จิตนี้เป็นจิตล้วนๆ เลย

แล้วตัวจิต เมื่อกี้ว่า “จิตไปเพ่งจิต” นี้เอาอะไรไปเพ่งมัน เพราะมันเป็นตัวจิตอยู่แล้ว ตัวนี้เป็นตัวจิตเลย มันก็อยู่ในสภาพของตัวมัน อยู่ในสภาพตัวมันนะ เวิ้งว้างอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ความสุขอันละเอียด ความทุกข์อันละเอียดในใจ ความสุขอันละเอียด-ความทุกข์อันละเอียดนะ เพราะว่าของสิ่งใดก็แล้วแต่ ของที่มันเป็นของใหม่ๆ เราจะตื่นเต้นอยู่พักหนึ่ง ของใดใดที่เราได้มาใหม่ตลอดกาลมันจะตื่นเต้น พอมันเริ่มเก่าสิ จิตใจที่มีความสุขมหาศาลขนาดไหนก็แล้วแต่นะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันต้องแปรสภาพ ความแปรสภาพนั้นจะทำให้เราตกใจ

“จิตพระอรหันต์ทำไมมันเคลื่อนที่ได้ล่ะ จิตพระอรหันต์ทำไมมันขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้”

ถ้าเราไม่ไปจับต้องตัวนี้ได้ มันก็ไม่แสดงตัว แต่ถ้าเราไปจับต้องตัวนี้ได้นะ ตัวนี้คือตัวกามราคะ ตัวจิตที่ชุ่มด้วยกาม จิตนี้จิตที่ชุมด้วยกามนะ ตัวมันเองนี่ชุ่มด้วยกามเลย ทีนี้ชุ่มด้วยกาม จับแล้วนี่นะ ชุ่มด้วยกาม เราออกมาแล้ว มันออกมาเป็นอารมณ์ เราถึงได้รู้สึกนั่นน่ะ ชุ่มด้วยกามเลย ย้อนกลับไปดูกิเลสที่ว่ามันหมดแล้ว มันต่อต้าน อันนี้รุนแรงกว่าหลายเท่า รุนแรงมาก

ว่าขันธ์ ที่ว่าพิจารณาขันธ์ รู้เท่าขันธ์ ขันธ์ขาดไปแล้ว ขันธ์นอกไง ขันธ์ในขันธ์ ขันธ์อันละเอียด ขันธ์ในขันธ์นะ ไอ้อย่างที่ว่าเมื่อก่อนนะที่ว่าขันธ์ขาดไป ขาดมี ขาดมีมาด้วย เพราะขันธ์อย่างนี้มันเป็นขั้นตอนมา แต่ขันธ์อันนี้นะ นี่ตัวนี้ขันธ์ ๕ ตัวขันธ์จริงๆ เลย ตัวที่กว่าจะเห็นถึงสภาวะนี้ได้ ตัวขันธ์แท้ๆ เลย เพราะมันเป็นสัญญาเดิม มันเป็นกามราคะที่ฝังอยู่ที่เนื้อของใจเลย ตัวนี้เป็นตัวอสุภะไง

ตัวสวย ตัวงาม ตัวถนอมตัวเองนะ นี่มันจะถนอมตัวไว้เลย...เพ่งอย่างไรล่ะ มันแทบจะแยกไม่ออก จิตนี้แทบแยกไม่ออก เพราะมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปไง ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปหลายชั้นมาก หลายชั้นมาก การต่อสู้ขนาดนี้ นี่การต่อสู้เพื่อจะเข้าไปถึงจุดหมายปลายทางไง ไม่ได้ต่อสู้ออกมานะ

การปฏิบัติ การต่อสู้เข้าไป เพื่อจะมาเอาคำพูดข้างนอกมาใส่ให้เหรอ พอเจอสภาวะใดก็แล้วแต่ เราไปเอาคำพูดข้างนอกไง คำพูดของโลกเข้ามาประดับชื่อให้มันไง ประดับชื่อให้ไอ้นี่ว่าสิ่งนี้เป็นอันนี้ สิ่งนี้เป็นนี้ สิ่งนี้เป็นนี้ไง แล้วก็ว่าเข้าใจตาม...

...นี่ปัญญาภายใน ปัญญาในภาคปฏิบัติ มันจะพร้อม มันจะขัดกันไม่ได้เลย นี่ถึงว่าเอาชื่อจากภายนอกมาสวม เอาชื่อจากภายนอกมาสวมแล้วมันจะขัดกันไปหมด ที่ว่าปัญญาภายนอก-ปัญญาภายใน “ปัญญาภายนอก” ปัญญายืมมา ปัญญาจำมา ปัญญาจำมานะ มันเป็นโวหาร มันพูดเปรียบเทียบได้ เพราะเราเห็นแค่มายา มายา มายาทั้งนั้นเลย แล้วมายาตรงนี้นะ มายาเอาขาอ่อนเลย สู้ไม่ไหวเลย

การพิจารณาจิต การดูจิตมา เขาว่าเพ่งจิตๆ เพ่งจิตมันเอาอะไรไปต่อสู้ เอาอะไรไปคะคานกัน เพ่ง เพ่ง เพ่งคือพินิจ เพ่งคือดู เพ่งคือจ้อง เพ่งคือการเพ่งอยู่ เพ่งก็พุ่งเขาว่าสิ พุ่งจิตออก พุ่งจิตไปเลย การพุ่งกับการใคร่ครวญ การต่อสู้ ดูเขาสร้างบ้านสร้างเรือน การสร้างบ้านสร้างเรือน เห็นไหม เขาเอามือไปค้ำไว้เหรอ มันต้องมีการฉาบ การก่อ มันต้องใช้แรงงานอย่างมหาศาล

แล้วแรงงานของจิต ภาวะการทำงานภายใน แรงงานนะ ดูปรุงสิ ปรุงขึ้นมา นั่นปรุงนะ อันนี้ไม่ใช่ปรุง อันนี้มันเป็นโดยอัตโนมัติไง มันไหวออกมา ดูสิ มันไหวออกมา ความคิดมันไหวออกมา เราก็พลิกด้วยธรรมใช่ไหม ด้วยธรรม ด้วยธรรม ด้วยธรรม ด้วยธรรมคือว่าการขวาง การเจาะจง การทำให้อ่อนลง เริ่มต้นมันจะแข็งมาตลอด เราจะสู้ไม่ไหว เราต้องเริ่มหัก เริ่มออก ให้ธรรมคือการเข้มแข็ง ขันติธรรม “ขันติธรรม ปัญญาธรรม” ขันติการต่อสู้ การยับยั้งไว้ ยั้บยั้งไว้เลย ตรงนี้นะ จะมีการหลอก ข้างล่างก็หลอก แต่ข้างล่างหลอกแบบเด็กๆ หลอกเด็กๆ ข้างบนนี้นะผู้ใหญ่หลอกผู้ใหญ่

โลกนี้เกิดมาจากกาม โลกนี้ทั้งหมดเกิดมาจากกาม คนที่เกิดมาทั้งหมด ใครๆ ก็เกิดมาจากกามทั้งนั้นเลย แล้วจะพลิกเลยน่ะ กามนะ คนเกิด...ดับโลก การจะดับโลก การจะดับทั้งหมด โลกใครเป็นใหญ่ นี่การหลอกนะ จะมีการหลอก แม้แต่มายานี่ก็แสนจะลำบาก มันจะหยุดตัวเอง มันจะหลบตัวเองด้วย หลบตัวเองนะ แล้วโรงงานกิเลสในใจมันก็จะเสี้ยมด้วยว่าอันนี้ใช่แล้ว อันนี้ถึงแล้ว

พอหลบตัวเองนะ การหลบตัวเองหมายถึงว่าพิจารณาไปมันจะรวมลง มันจะหยุด การหยุดนี้ก็แค่มายาหยุดไป

๑. ต้องให้มายาหยุดก่อน หยุดแล้วค่อยจับตัวขันธ์พิจารณาอย่างเก่า ไม่อย่างนั้นมันจะเสียดายอารมณ์เหรอ อารมณ์ความคิด อารมณ์ความใคร่ อารมณ์การชุ่มในกาม จิตนี้มันจะเป็นโดยธรรมชาติ

พิจารณาไปจะมีการหลอกการเสี้ยมอย่างมหาศาล แล้วไม่ใช่เสี้ยมแบบธรรมดาด้วย เสี้ยมแบบมีเหตุมีผลสิ คนหลอกผู้ใหญ่มันจะหลอกได้ง่ายๆ เหรอ เด็กนี่มันหลอกได้ง่ายใช่ไหม ผู้ใหญ่หลอกไม่ง่าย แล้วไอ้นี่เป็นผู้ใหญ่ภายใน เป็นปัญญาธรรม

แม้แต่จะหักโลกทั้งโลกนะ เห็นไหม ดูเขาจะครองโลกกันน่ะ คนจะครองโลกเขาต้องวางแผนขนาดไหน อันนี้จะคว่ำโลก มันจะเอาของง่ายๆ มาหลอกเหรอ มันจะเอาสิ่งที่ว่าโลกนี้มาหลอก...ไม่มีด้วย เอาสิ่งที่เหนือโลกมาหลอก สิ่งที่เราไม่เคยเห็นเลย...เอามาหลอก แรงต้านมันจะหลอกมาตลอด แล้วหลอกแบบหยุด หลอกแบบนิ่ง เราก็ว่าอันนี้ใช่ อันนี้ใช่

แต่ถ้ามีปัญญา มีสติ มีความระลึกรู้อยู่ มันต้องถึงที่สุดสิ สิ่งใดหัก อย่างเช่น เขาเล่นพวกการแสดง ต้องเก็บฉาก เก็บจอ ถึงจะจบ ถ้ายังไม่เก็บฉากเก็บจอ จบไม่ได้ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ กับคว่ำ ไม่ถึงกับหักกัน เอาอะไรมาจบ...ไม่มีจบ จิตนี้เป็นนามธรรม จิตนี้ไม่ใช่วัตถุ พลิกได้ หลบได้ เลี่ยงได้ จะขนาดไหน อย่างเช่น วัตถุ เราเอามากอง เราเอามาทำความสะอาดมันยังสะอาดได้นะ จิตนี้มันเป็นนามธรรม จะกรองขนาดไหนมันก็หลบเลี่ยงได้ ถึงว่าต้องมีปัญญาอย่างเดียวไง มหาสติ-มหาปัญญานี่ไล่เข้าไป ไล่เข้าไป ไล่เข้าไป มันจะหลบหลีกนะ มันจะหลบออก หลีกออก ทั้งหลอกปัญญาด้วย ทั้งหนีด้วย ทั้งสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ด้วย

ข้างล่างก็ยังเพ่ง ยังว่าการเพ่งเพ่งไม่ได้ แล้วตรงนี้ยิ่งมาเพ่ง...ไม่มีสิทธิ์

ใช้ปัญญา ใช้วิปัสสนา วิปัสสนาเท่านั้น วิปัสสนาคือการต่อสู้

มันเป็นขันธ์อันละเอียดไง ความสุขอันละเอียดไง ความสุขนะ ความสุขนะ สุขในกาม สุขในตัวมันเอง สุขทั้งนั้น เวลามันเสี้ยมออกมา แต่ถ้าเราว่า เราการต่อสู้นะ มันทุกข์ ๒ ชั้น ทุกข์เพราะร่างกายนี้ ร่างกาย การทำงาน ร่างกาย ทำบนเวทีบนกาย แล้วอะไรทำ?...ใจมันทำ ใจมันต่อสู้กับหัวใจ หัวใจที่มีกิเลสไง กิเลสมารไง

เราก็ต่อสู้กลับไปที่กิริยาของใจ กิริยาที่มารไหลออกมา เราก็ย้อนกลับเข้าไปด้วยปัญญานะ

ว่าปัญญานี้ก็คือขันธ์ เขาว่านะ เป็นสังขารขันธ์ ปัญญา

แต่ถ้าโลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญาใช่ไหม ทำสิ่งที่มีอยู่ในตัวนั่นน่ะ ทำสิ่งที่เกิดขึ้น คือว่าเอามือทำงานก็มือนั่นน่ะทำงาน เอาใจทำงานก็เอาใจทำงาน ก็เอาขันธ์ทำงานไง เอาขันธ์ย้อนเข้าไปในขันธ์ จิตแก้จิต ขันธ์แก้ขันธ์ไง

ขันธ์ไสออกมาเป็นมายาของขันธ์เป็นผลของกิเลส เป็นผลของกิเลส เราดับผลของกิเลสแล้วไสเข้าไป กลับไปในตัวขันธ์ แล้วกลับรุกเข้าไปชำระกิเลสที่อยู่หลังขันธ์นั้นน่ะ กิเลสมันก็ใช้ขันธ์นั้นเป็นเครื่องมือ เราก็ใช้ปัญญาย้อนกลับเอาขันธ์นั้นกลับไปใช้เครื่องมือไปชำระกิเลส เพราะมันอยู่ด้วยกัน กิเลสอยู่กับขันธ์นั่นล่ะ อยู่กับใจนั่นล่ะ ปัญญาก็เกิดจากการเราเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อธรรมก่อน แล้วก็ระลึกสติขึ้นมา สร้างปัญญาขึ้นมา หนุนปัญญาขึ้นมา แล้วกลับเข้าไปใช้ขันธ์นั้นเป็นเครื่องมือยึดเข้าไปไปชำระกิเลสนั่น

สิ่งไหนที่ว่าไม่มีมันจะบอกว่าไม่มี ขันธ์ขาดไปแล้ว ทุกอย่างออกเป็นหยาบๆ ออกไปแล้ว แต่มันละเอียดจนแทบจับไม่ได้ พอจับได้แยกออก แยกออก เห็นไหม ไหนว่าไม่มี ขันธ์ในขันธ์ไหนว่าไม่มี

เพราะไอ้ตัวนี้มันจะละเอียดเข้าไปใช่ไหม ละเอียดเข้าไปจนเป็นถึงตอของจิต อันนั้นมันยิ่งย่อยลงไปอีก สังขารตัวนี้เป็นสังขารภายใน สัญญาคือสัญญาภายใน สัญญานี้มันจำมาจากอะไร สัตว์อยู่ในป่าไม่ใครสอนมัน มันก็เสพกามได้ จิตนี้มันซุกอยู่ในหัวใจ ไม่ต้องมีใครไปสอนมัน มันก็เสพกามในตัวมันเองได้ เพราะว่ามันเป็นสัญชาตญาณที่มันสะสมมาจากอดีตชาติที่มันซับๆๆๆๆ มา

ความจิตนี้มันผ่านโลกมา อะไรที่ดูดดื่มที่สุดมันซ่อนไว้ในตู้เซฟที่ลึกที่สุด

ของใดที่เป็นของที่มีค่าที่สุดจะเก็บไว้ด้วยการกลัวหายที่สุด

ความรสชาติใดใดที่จิตมันติดที่สุดมันจะเก็บไว้ข้างใน ข้างใน ข้างใน มันไม่เอาออกมาอวดกันฉาบฉวยหรอก

นี้การจะเข้าไปชำระมัน มันถึงละเอียด มันถึงอยู่ใต้ขันธ์ที่ในละเอียดนั้น ปัญญานี้ต้องละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ถึงเข้าไปเชือดเฉือนมัน เชือดเฉือนนะ เชือดเฉือนบ่อยๆๆๆ จนมันหลุดออกไปเลย เชือดเฉือนจนขาด นี่ขณะจิตตรงนี้รุนแรงที่สุด โลกธาตุนี้ต้องหวั่นไหวไปหมด โลกนี้ได้พลิกแล้ว โลกนอกคือ ดิน น้ำ ลม ไฟไง...ดิน น้ำ ลม ไฟนี่เป็นโลกนอก

โลกในหัวใจ โลกในตัวเรา ตัวเรานี้ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วธาตุรู้กับอากาศธาตุภายในมันไหว มันแตกสลาย มันหมดอนาคต มันไม่มีการเกิดอีกแล้วในกามภพ...ละเอียดไหม มันจะสุขมาก มันจะเวิ้งว้าง มันจะใส

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ผ่องใสของการพิจารณาด้วยปัญญานะ นี่จิตเดิมแท้ เพราะมันเป็นตอแล้ว นี่ขนาดยังไม่เจอตัวมันนะ

แต่ถ้าเป็นปัญญาภายนอกว่า “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส”...ใช่ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แม้แต่เราทำสมาธิจิตถึงความผ่องใสเยอะแยะไป แต่ผ่องใสด้วยกิเลส ๓-๔ ชั้นล้วนๆ นะ แบบใหญ่เท่ากับโลกนี้ทั้งโลกเลย ขนาดจักรวาล แต่มันย่อยเป็นนามธรรมซุกอยู่ที่ใจ...มองไม่เห็น

แต่ผ่องใสด้วยปัญญาญาณอันนี้ มันผ่องใสแบบไม่มี ตัวตนมันหลุดออกไปจนเหลือละเอียดยิบ สักแต่ว่าอยู่ในจิต มันต่างกันนะ ต่างกันนี่ราวฟ้ากับดินเลย ต่างกันมาก ก็คิดดูสิว่าจิตผ่องใสเหมือนเราอาบน้ำมาสะอาด แต่ในร่างกายมีแต่ของบูดของเน่า กับวิญญาณที่ไม่มีร่างกาย ดูสิ เพราะว่าเขาตัด กามภพนี้มันหลุดออกไปจากใจแล้ว

“ขันธ์ไง” ความจำได้หมายรู้ บุญกุศลก็รวมอยู่ที่ความจำได้หมายรู้คือสัญญา บุญกุศลนะ จะไปเกิดสวรรค์ จะไปลงนรก ไอ้ตัวสัญญา ตัวความดีความชั่วที่มันย่อยสลายไป...จำอยู่ตรงนั้นน่ะ มันได้ขาดออกไป เหมือนกับว่าเราต้องเดินทาง แล้วเราได้ทำลายทุกอย่างหมดเลย ทั้งถนนหนทาง ทั้งรถยนต์กลไก เครื่องบิน จรวด...ทำลายหมด ก็ไปไหนไม่ได้อีกแล้ว มันไม่มีวันจะมาเกิดในนรกสวรรค์อีกแล้ว เราทำลายหมดเลย เพราะทำลายไอ้ตัวนี้ ไอ้ตัวสัญญาละเอียดอันนี้

นี่ถึงว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจที่ได้ดับ” สวรรค์ได้ดับแล้ว กามภพได้ดับแล้ว ทุกอย่างได้ดับออกจากใจแล้ว เหลือขันธ์เดียว เหลือตอของจิต ตอของจิต นี่ถึงได้ตัวจิตปฏิสนธิ ตัวนี้เกิดไปบนพรหม เกิดบนพรหมถ้าไม่ได้ชำระมันนะ ถ้าคนหลงว่า “เอ้อ! หมดแล้ว” อันนี้มันเศร้าสร้อยนะ อันนี้มันเฉา มันอยู่ตัวของมันเองได้แล้วมันก็เฉา แต่กว่าจะเจอตัวนี้ เมื่อกี้ว่ามือเดียว มันยังไอ้นั่นนะ มือเดียวนะ เพราะมือนี้มันมีมือเดียว ลองมือมีแล้วมือขึ้นมาดูสิ แล้วมือนี้ยกมือออกไป แล้วจำสภาพมือนั้นไว้สิ

จิตนี้ก็เหมือนกัน ตอของจิตมันไม่มีตัวตน อะไรไปทำมันน่ะ แวบๆ แวบๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ มันละเอียดจนไม่ได้เลย มันไม่มีตัวตนหมายถึงว่ามันไม่แสดงออกผ่านอะไรไง มันไม่ต้องแสดงออกโดยผ่านอะไรทั้งสิ้น มันอยู่ที่มันนั่นล่ะ อย่างเช่น เมื่อก่อนเราจะทำอะไรเหมือนที่คำว่าขันธ์ จิตนี้เป็นเจ้านาย เราใช้ให้ลูกจ้างออกไปทำงาน เมื่อก่อนนะ กิเลส วัฏจักรอยู่ตรงที่ตัวตอจิตนี้ มันก็วานให้ขันธ์ชั้นใน ขันธ์ชั้นนอก ขันธ์นี้ทำงาน มันทำงานผ่านนี้ออกมา ไอ้พวกนี้เป็นสายงานที่มันใช้งานออกมา เป็นสายพานเครื่องออกมา แล้วเราได้ตัดๆๆ ย่นเข้าไปจนถึงจุด จนถึงตรงนั้นเลย

ทีนี้มันผ่านใครไม่ได้ มันใช้ใครไม่ได้ ถึงว่าคำว่า “ไม่แสดงตัว” มันละเอียดของมันอยู่ตรงนั้นล่ะ ตัวนี้ที่ว่าเป็นตัวตอจิต ที่ว่าเอามาเพ่งดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วตัวมันเองคือตัวต้นเหตุ สรรพสิ่งเกิดจากตรงนี้ สรรพสิ่งคือต้นเหตุเลย คือตัวเจ้าวัฏจักรเลย แล้วเอาอะไรไปเพ่งมัน ตำราก็ว่า “จิตเพ่งจิต จิตเพ่งจิต” แต่เอาอะไรไปเพ่งมัน มีแต่มันจะมาเพ่งเรา เพราะว่าเวลาผู้ที่ปฏิบัติออกมาแล้ว มันออกมานี่ความกระแสออกมาคือกระแสเกิดจากตัวใจ...ส่งออกหมด มีแต่มันเพ่งเรา แล้วมันใช้เรา ใช้เป็นขี้ข้า

ย้อนกลับดูตรงนั้น ย้อนกลับไปดูตรงนี้ ย้อนกลับดูนะ ความเฉา ความละเอียด ความอะไร นี่คือตัวอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่มันเป็นถึงปัจจยาการนะ ที่ว่าขันธ์ๆ ข้างนอกนั่นเป็นขันธ์ ตรงนี้ไม่ใช่ขันธ์ ตรงนี้เป็นพลังงานตัวเดียว เป็นตัวพลังงานใหญ่ ที่ว่าตัวฐานๆๆ ตัวพลังงาน นี่คือตัวอนุสัย ตัวภพ หันกลับไปดู เจออันนี้ก็...การขุดคุ้ยหางานไง การขุดคุ้ยค้นเขี่ย เมื่อก่อนเราไปขุดคุ้ยเอาแต่ลูกน้องโจร ยังจะยากขนาดนั้น แล้วหัวหน้าโจรเขาจะซ่อนไว้ขนาดไหน

ดูอย่างพวกโจรป่าสิ เขาจะปิดรัดไว้กี่ชั้น ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ข้างๆ เราเรายังไม่รู้เลยว่าคนนี้เป็นหัวหน้าใหญ่...มันนั่งอยู่ตรงนั้นล่ะ มันคือตัวมันเองนั่นล่ะ ที่ว่าไปหาๆ นั่นล่ะ พอมาเจอตัวนั้นน่ะ โอ้โฮ! ตื่นเต้น ตื่นเต้น แล้วพลิกกลับมา พลิกกลับมาเลยนะ ตื่นเต้นแล้วมันจะส่งออก เพราะปัญญาญาณอันนี้มันไม่ใช่ปัญญาโดยที่ว่าโดยขันธ์ไง มันไม่ใช่ขันธ์แล้ว มันละเอียดเลยลึกซึ้งเกินไปกว่านั้นแล้ว มันหันกลับมาฆ่าตัวนี้ตาย นี่ที่ว่าเกิดดับ เกิดดับ อะไรมันเกิดดับ?

ถ้าตรงนี้หมดนะ หันกลับมา ขณะจิตอันนี้ก็เป็นอีกขณะจิตหนึ่ง เห็นไหม อรหัตตมรรค-อรหัตตผล ขณะจิต ที่ว่าขณะจิตอย่างอื่นมันมีผลลัพธ์ๆ อันนี้มันเป็นวิปปยุต-สัมปยุตพร้อมกันออกไปเลย นี่มันต้องรู้เป็นขั้นเป็นตอน เป็นขั้นเป็นตอน

ถึงว่าไม่ใช่เพ่งแล้วค้ำไว้เฉยๆ นะ เพ่งๆๆๆ เอาอะไรมาเพ่ง

แล้วการเกิดดับนะ ที่ว่ารู้เกิด รู้ดับ รู้เกิด หยุด รู้เกิด รู้ดับ รู้อยู่ๆ...รู้บ้าอะไร เอาอะไรมาเกิดดับ มันไม่มีแล้วเอาอะไรมาเกิดดับ มันมีแต่การกระเพื่อมออกมาจากฐานของว่าถึงจิตดวงที่บริสุทธิ์แล้วขยับออกมาเป็นความรู้สึก อันนั้นเขาเรียกว่า “กระเพื่อม” คือว่าออกมาจากภพของนิพพาน แล้วค่อยออกมา

เมื่อกี้ว่าทำลายภพไปแล้วนะ นี่สมมุติ นี่มันพูดไม่ได้ แต่มันก็พยายามเอามาเป็นหลักวิชาการไง ถ้าพูดว่าภพมันก็ผิด เพราะที่อยู่ของจิตที่บริสุทธิ์แล้วขยับออกมาเป็นความรับรู้ของที่เราจะเอามาสื่อกัน นี่มันกระเพื่อม มันไม่เกิดดับ

ไอ้เกิดดับ เกิดดับนี่มันเป็นเปลือก มันเป็นเรื่องของมายา...เอาอะไรมาเกิดดับ มันไม่มีการเกิดดับอีกแล้ว แล้วเอาอะไรมาว่าง ถ้าบอกว่าว่างใช่ไหม “ว่าง พอ เออ” ถ้าว่างปล่อยวาง มันกระเพื่อมมันยังเป็น...มันพูดคำว่า “พอ” คำเดียวได้ พูดว่า “ว่าง” คำเดียวได้

ถ้าพูดว่า “ว่าง ปล่อยวาง วางเฉย” มันเป็นกิริยาออกมากี่ชั้นกี่ตอน เป็นกิริยาที่ว่า เหมือนกับที่ว่าจากเราจะภาวนาเข้าไปจากขันนอกขันธ์ใน เข้าไปน่ะ เออ! อันนี้เป็น

แต่ถ้าเป็นตรงนั้นแล้วมันจะเป็นว่าง เป็นอะไรได้อย่างไร แล้วมันจะมีอะไรมาเกิดดับ

คำว่า “เกิดดับๆ รู้เกิดรู้ดับ รู้ดับรู้เกิด” อืม! มันถึงบอกว่ามันก็เป็นคำพูดนี่ไง เป็นปัญญาภายนอกไง ปัญญาภายนอกแล้วก็จินตนาการใคร่ครวญว่าอันนี้เป็นปัญญาไง พอจิตสงบแล้วก็เป็นอย่างนั้นไง แล้วถ้าจิตสงบนี่ยังดีนะที่ว่าเราหรือผู้ปฏิบัติแล้วเขาไม่ถึงกับปล่อยตนเลอะเลือนไปนะ จนปล่อยจนเข้าโรงพยาบาล ว่าอย่างนั้นเถอะ การปล่อยอย่างนั้นคือการปล่อยแบบกลัวจะต้องมีงานทำไง ปล่อยแบบว่าเราคนที่ว่าทำงานแล้ว ถ้าบอกว่าตรงนี้ยังไม่ได้ทำ จะต้องทำไง

นี่กิเลสมันหลอกตรงนั้นนะ หลอกว่าถ้าบอกว่าอันนี้เป็นการเป็นงาน เราต้องไปทำใช่ไหม ถ้าบอก “ปล่อยว่าง วางเฉย นอนจม นอนตายอยู่นั่น เออ แล้วไม่เป็นไรไง”...ก็มันกลัวจะเป็นงาน นั่นก็คือกิเลสมันหลอกหลายชั้น หลายชั้นมาก ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ต้อง พอเริ่มต้นขยับ มันก็ต้องมีงานล่ะ งานก็งานอะไร ก็งานฆ่าตัวมันนั่นล่ะ แล้วมันจะให้ฆ่ามันไหม ไม่มีใครให้ฆ่ามันหรอก เรายังไม่ให้ใครฆ่าเลย มันก็หลอกน่ะสิ

โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่จะพ้นออกจากโลก มันไม่ใช่โลกุตตระสุญญตาบ้านั่นหรอก

โลกว่างเหรอ โลกุตตรสุญญาตา คือว่าโลกว่าง

โลกจะว่าง-ไม่ว่าง ทุกอย่างนี่มันเป็นภายนอกทั้งหมด แต่ถ้าจิตดวงนั้นเป็นอย่างนั้นแล้วคำพูดไม่มี เป็นยังไม่มี “สรรพสิ่งนี้มีเพราะมีเรา” โลกุตตระ-จะไม่โลกุตตระก็แล้วแต่ หรือว่าจะเป็นปัญญาสุญญตา-ไม่สุญญตาก็แล้วแต่...ใครเป็นคนพูด?

พระพุทธเจ้าพูด ครูบาอาจารย์พูด ถ้าเป็นคำเฉพาะก็พูดเพื่อจะลบล้างความยึดมั่นถือมั่นในหัวใจของผู้ปฏิบัติที่เกาะเกี่ยวกับสิ่งบางสิ่งบางอย่าง พูดเพื่อลบล้างความยึดมั่นถือมั่นนะ ไม่ใช่พูดว่าตัวคำพูดหรือโลกนี้เป็นความว่างเป็นความสุข ถ้าโลกว่าง...ในอวกาศ ในอวกาศมันว่างขนาดไหน พวกยานอวกาศขึ้นไป ไปเวิ้งว้างอยู่นั่นน่ะ ความว่างอันนั้นมันให้ประโยชน์อะไรกับใคร มันก็เป็นสมบัติโลกใช่ไหม มันเป็นจักรวาลนี้มันก็แปรสภาพไปตามจักรวาลนั้น สุญญตาไหนก็แล้วแต่ก็เป็นสมบัติของคนนั้น

ความว่าง ความเป็นไปของพระพุทธเจ้า ของพระสาวก ของพระอรหันต์ ก็เป็นสมบัติของแต่ละบุคคล เป็นสมบัติของผู้ที่ปฏิบัติได้ทั้งนั้น ไม่ต้องมาเผื่อแผ่ใครทั้งสิ้น แล้วคำนั้นใครพูดนั่น

แต่ถ้าจิตนี้มันเป็นความว่าง จิตนี้มันบริสุทธิ์ ว่าง-ไม่ว่างมันพอใจของมันอยู่แล้ว

ถึงว่า “โลกุตตรสุญญตา” นี่มันเป็นคำพูดภายนอก เอามาเทียบตรงนี้ไง ว่าว่างจากโลกไง ว่างจากโลก โลกนี้เป็นสุญญตา

“พอ” จิตนี้มันพอตัวอยู่นะ พอตัวอยู่ ถ้าพอนั่นคือตัวจริง ตัวจริงนี้ต่างหากถึงจะเป็นของจริง ไม่ใช่เกิดจากการเพ่ง เกิดจากการเพ่งก็เกิดจากกสิณเท่านั้นเอง เกิดจากการเพ่งแล้วก็เอาปัญญาในการศึกษาเล่าเรียนมาเสริม มาให้ค่า มาให้ค่าไว้นะ...เราก็ได้ ถ้าอย่างนี้แล้วก็เป็นการภาวนาเพื่อมาเอาแค่...เหมือนกับนักเรียนทางโลก เรียนมาเพื่อเอาปริญญาไง เรียนมาเพื่อเอากระดาษแผ่นหนึ่ง นี่ก็ปฏิบัติมา ปฏิบัติเกือบเป็นเกือบตาย แล้วก็เอาออกมา เอาตำราของพระพุทธเจ้ามาประกัน ประกันสภาวะใจอันนั้นเหรอ

สภาวะใจที่เป็นปัจจัตตังที่รู้ขึ้นมาจากภายในนี่ ธรรมะเป็นผู้มอบให้ เป็นปัจจัตตังที่ธรรมะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้ทั้งหมด ต้องเอาธรรมะหรือว่าสิ่งอื่นมาค้ำประกันเหรอ พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่าอย่างนั้น “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสวมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่สิ้นจากพระอรหันต์เลย” พระอานนท์ถามไว้

โลกนี้นะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้ ธรรมนะ ธรรมคือสภาวะตามความเป็นจริง แล้วปฏิบัติจริงรู้จริง จะให้จริงแล้วเป็นไปตามจริงนั้น ไม่ต้องมีใครมาให้ ไม่ต้องมีใครมาประสิทธิ์ประสาทให้ มันเป็นจริงตามภายใน จริงสุดแท้แน่นอน ไม่ใช่จริงแบบที่ว่าต้องคำนั้นคำนี้ แล้วมันขัดกันไปหมดเลย

จิตพอเป็นไป พอเป็นไปเท่านั้นเอง พอเป็น พอปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา มันไม่ใช่ว่าลบทั้งหมดนะ การปฏิบัติเบื้องต้นถูกต้อง การปฏิบัติเบื้องต้นต้องให้ปล่อย ให้ปล่อยให้วาง นั่นเป็นแค่เริ่มต้นปัญญาอบรมสมาธิหรือคำบริกรรมให้จิตสงบเท่านั้นเอง เท่านั้น ความสงบของใจเท่านั้นเอง แล้วไม่ก้าวเดิน เพราะก้าวเดินกลายเป็นกลัวเหนื่อย กลัวเป็นการทำไง งานยังไม่ได้ทำเลย แค่เตรียมเครื่องมือเท่านั้นเอง บอกว่าตัวเองทำงานเสร็จหมดแล้ว

ถึงว่าเพ่งไง เพ่งพินิจ เพ่งคือดู “เพ่ง” แต่ถ้าเพ่งนะ “เพ่ง ใคร่ครวญขุดค้น” มันก็ใช้กิริยา เพื่อใช้สังขาร คำว่า “สังขาร” คือว่ากิริยาของจิต แต่มันต้องพลิกไปเลย พลิกไปเลย จากกิริยาอันหนึ่ง มันก็เหมือนกับว่าเรามีตัวตน เรามีเรา จะทำงานอะไรก็แล้วแต่ก็ออกมาจากมือเรานั่นล่ะ ออกไปจากมือเรา ออกไปจากการงานของเรา...จะทำย้อนกลับมา ทำข้างนอก งานข้างนอก เอามือออกไปทำ เวลาอาบน้ำทำอย่างไร ไม่เอามือเราเช็ดตัว ถูตัวเหรอ มือเหมือนกันกลับเข้ามาถึงภายใน กลับเข้ามาภายใน ไม่ใช่รู้แล้วส่งออก รู้แล้วรีบไปหาชื่อเลย หาชื่อข้างนอกมาเทียบเคียงว่าไป ว่าเป็นปัญญาโลกไง ถึงว่าเป็นปัญญาโลกไง

เอาปัญญาโลกมาจับธรรม เอาปัญญาการศึกษาเล่าเรียนมาจับธรรม ไม่ได้เอาปัญญาของธรรมเป็นธรรมจริงๆ แล้วจับตัวธรรม ปัญญาโลกนั่นน่ะ ปัญญาการศึกษาค้นคว้า ปัญญาโลกแล้วมาจับสภาวะความเป็นภายใน แล้วมันไม่เป็นไปตามนั้นน่ะ ถึงว่าตั้งหัวข้อผิดไง เพราะมันไม่เป็นไปตามนั้นนี่ พอไม่เป็นไปตามนั้น ตามแต่ตัวเองคิดมา ก็ตั้งหัวข้อมาเลย การเพ่ง เพ่งจิต-ดูจิต เพ่งจิต-ดูจิต

แต่ถ้ามันปฏิบัติมา มันลงมือมาทำขนาดนั้น มันจะกล้าตั้งหัวข้ออย่างนี้เหรอ ก็รู้ๆ อยู่ว่าการเพ่งอย่างนี้ไม่ใช่ การเพ่งมันก็เริ่มต้นอย่างที่ว่า เริ่มต้นแค่เป็นกสิณ แค่ทำให้จิตสงบ เพราะถ้าไม่เพ่ง ไม่กดไว้ จิตมันก็เหมือนกับลำแสงก็พุ่งๆ กว้างใช่ไหม เราก็ฉายมันที่เดียว แสงเลเซอร์ยิงเข้าไปที่เดียว การกดไว้คือว่าดึงกระแสของจิต ดึงความฟุ้งซ่านของใจทั้งหมด มาถึงจุดนี้ที่มันจะแผ่ออกไปข้างนอก เพ่งมา กำหนดมา ก็ดึงความกระจายออก มันไปรวมศูนย์ นั่นเพ่งมา นี่ประโยชน์ของมัน รวมศูนย์มาที่ความสงบนี้ พอรวมศูนย์แล้วได้อะไรขึ้นมาล่ะ เอามันรวมศูนย์มาแล้ว รวมศูนย์มาแล้วก็จบเหรอ

รวมศูนย์มาแล้วก็เป็นมรรค สัมมาสมาธิ...งานที่ไหน งานการขุดคุ้ยค้นเขี่ย การขุดคุ้ย การแยกแยะ การซักฟอก นี่งานภายใน จากการหาเงินหาทอง หาสัมมาสมาธิ พอได้สัมมาสมาธิแล้วก็ได้เงินได้ทองมาเป็นต้นทุน ก็ต้องเดินงานต่อไป

เป็นอันว่าสรุป งานภายนอก-งานภายใน งานภายในต้องเอาภายในเป็นเครื่องวัด งานภายในเอาความจำข้างนอกมาเป็นเครื่องวัดมันก็เลยเป็นความจำกับความจำเข้ากัน ไม่ใช่เป็นความจริงกับความจริงเข้ากัน เป็นความจำ พอไปประสบก็ตื่นเต้น ถ้าเป็นความจริงนี่เราให้ค่าไม่ได้ แต่ความหลงมันจะให้ค่าไปเรื่อยๆ นะ ให้ค่าก่อน ให้ค่าผิด ให้ค่าผิด

แต่พอความจริงมันถึงความจริงถึงกันนะ...นิพพานเป็นของจริง ต้องเอาของจริงเข้าไปจับ เอาความจริงจากหัวใจเข้าไปจับ เอาความจริง ของจริงต้องเข้ากับของจริง ของจริงไม่เคยเข้ากับของปลอม ค่าของปลอมไปวัดของจริงไม่ได้ ค่าของจริงต้องเอาของจริงเข้าวัด

“จริงไหม” ถามตัวเอง

“จริงไหม เราจริงไหม เราอยากหาของจริง เราจริงไหม”

ถ้าเราจริง นั่นน่ะ เอ้อ! แล้วมันจะได้ของจริงภายใน

ถ้าเราไม่จริง เราทำสักแต่ว่า แล้วก็จะอย่างที่เขาว่า แล้วก็จะพากันเนิ่นช้า พากันออกนอกลู่นอกทาง แล้วก็พากันเสียไปในที่สุด

จบ...จบแล้ว