เทศน์บนศาลา

หัวใจไหว

๒๕ ส.ค. ๒๕๕๕

 

หัวใจไหว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาไปเรียนตักกสิลา พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปเรียน เรียนมาเพื่อมาเป็นกษัตริย์นะ เรียนวิชาการ ๑๘ แขนง การเรียนมาทางโลก เรียนมาเพื่อเป็นผู้นำ

๑. เป็นเจ้าชายด้วย

๒. มีการศึกษาทางโลก

นี่เพราะจะเป็นผู้นำ การเป็นผู้นำต้องมีการศึกษา มีวุฒิภาวะ มีการเป็นผู้นำ ฉะนั้น ปัญญาทางโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อม เวลาพร้อมแล้ว เวลาจะมาปกครอง เพราะสร้างบุญญาธิการมา ไปเที่ยวสวน เห็นเทวทูต เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจเพราะได้สร้างบุญญาธิการมา

เวลาเราไปงานศพ เขาล้างหน้าศพ เขาเอาศพเวียน ๓ รอบ เขาทำทุกวิธีการเพื่อให้เราได้สะเทือนใจ แต่เราสะเทือนใจไหมล่ะ? มันสะเทือนใจต่อเมื่อเป็นญาติพี่น้องของเรา แต่ถ้าไม่เป็นญาติพี่น้องของเรา เราไปเป็นตามประเพณี แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันสะเทือนใจมาก “เราต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ” ถ้าเราเป็นเช่นนั้นด้วย เราก็เกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยเกิดกับโลก

เกิดมากับโลก แล้วก็ติดโลก ก็อยู่กับโลกไป แล้วก็เวียนตายเวียนเกิดในโลกนี้

ฉะนั้น มีการศึกษาทางโลกมาแล้ว แต่เวลาจะออกศึกษาทางธรรม ถ้าออกศึกษาทางธรรม เห็นไหม ถ้าเราจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันจะหาได้ที่ไหน นี่สละโอกาสที่จะเป็นจักรพรรดิออกไปฝึกฝน ออกไปแสวงหาโมกขธรรม การแสวงหาโมกขธรรมนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันได้เข้าไปเผชิญกับกิเลสของตัวเองนะ

เวลาอยู่ในราชวัง เราก็มีความสุข มีความประณีต ทุกอย่างมีความพร้อมมาตลอด เวลาออกไปเผชิญกับความจริง เผชิญกับโลกนั่นแหละ เพื่อจะหาความจริงขึ้นมา ไปเจอความจริงขึ้นมา เห็นไหม เราจะไม่มีคนมาดูแลอย่างนั้น จะไม่มีคนมาอุปัฏฐากดูแลขนาดที่ว่าในราชวัง ความเป็นอยู่มันก็ประณีตมาก เวลาออกไปอยู่ป่าอยู่เขา ออกแสวงหาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะนั่นน่ะ มันทุกข์ยากขนาดไหน ถ้ามันทุกข์ยากขนาดไหน นี่ไง เวลามีเชาวน์มีปัญญาทั้งนั้นน่ะ

ถ้าคนจิตใจอ่อนแอ มันก็ท้อถอย ท้อถอยก็กลับราชวังไง กลับไปเสวยเป็นกษัตริย์ดีกว่า เราจะไม่ทุกข์ยากขนาดนี้ แต่ไม่ทุกข์ยากนะ มันจะทุกข์ยากในสถานะการเป็นกษัตริย์ ในการเป็นผู้นะ มันจะแบกรับภาระไปหมดน่ะ นั่นความทุกข์ยากอย่างนั้นโลกเขาเห็นว่าเป็นความสุข โลกเห็นว่าเป็นสถานะทางสังคม

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแสวงหา ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มันทุกข์มันยากไปทั้งนั้นน่ะ เพราะเราไปศึกษากับเขา เราก็ต้องการวิชา ต้องการความรู้ ไปศึกษากับเขา แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไปทำทุกรกิริยา เห็นไหม สิ่งนี้ทำมาทั้งนั้นน่ะ นี่คือเผชิญโลกไง เผชิญโลกเพราะอะไร เพราะมันมีอวิชชา มีกิเลส มีตัณหาความทะยานอยาก ด้วยความไม่รู้เท่าของตัวเอง แต่จะเอาชนะสิ่งที่ว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วมันหาได้ที่ไหนล่ะ? มันหาไม่ได้ มันถึงหวั่นไหว

เวลาพิสูจน์มาถึงเต็มที่แล้ว เวลามาฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์ทิ้งไปเลยนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาแสวงหาอยู่ ปัญจวัคคีย์ดูแลอยู่ ก็หวัง รอสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จะได้เอาสิ่งนี้มาบอกกล่าว เห็นไหม ปัญจวัคคีย์ก็อยากพ้นทุกข์เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวนก็อยาก อยากจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วมันจะทำอย่างไรล่ะ

เวลาออกค้นคว้า ออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ปัญจวัคคีย์ก็หวังตรงนี้ หวังว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรม จะมีการชำระกิเลสในหัวใจ จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แต่เวลาเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฉันอาหารของนางสุชาดา มันหมดเลยนะ สิ่งที่คาดที่หวังมันหมดอาลัยตายอยาก ทิ้งไปเลยนะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผชิญกับสัจจะความจริง

เวลาอยู่กับโลก อยู่เรื่องโลกๆ เวลาไปแสวงหาโดยโลก มีการศึกษามา วิชาการ ๑๘ วิชาการ ตั้งแต่เรียนตักกสิลามา เวลามาเป็นราชกุมาร ดูสิ จะเป็นกษัตริย์ ก็ต้องฝึกหัดการปกครองทั้งนั้นน่ะ มีคนรอบข้าง มีทุกอย่าง มีการฝึกฝนมา เวลาออกไปประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ปฏิบัติขึ้นมาเพื่อตัวเองแล้ว เพื่อจะเป็นความจริงแล้ว นี่เป็นความจริงกับตัวเอง ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไปเรียนกับเจ้าลัทธิต่างๆ มันก็มีทุกๆ วิชาการ ทุกความรู้ ทุกความเห็นที่ว่าเป็นศาสดา ที่ว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ ไปศึกษาขนาดไหนมันก็ไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร

เพราะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียนมา ๑๘ วิชาการ เป็นกษัตริย์มา ปกครองคนมา เป็นผู้นำมา ไปศึกษากับคนอื่น คนอื่นเขาแสดงออกอย่างไร หัวใจนี้มันไม่ยอมรับ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เห็นไหม พอเป็นไปไม่ได้ก็มาพิจารณาตนเอง นี่เราก็ทำมาเต็มที่แล้วนะ เวลาการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราก็ฝึกฝนทุกอย่าง เราก็ทำทุกรกิริยาทุกอย่าง ทรมานร่างกายทั้งนั้นน่ะ จิตใจมันก็ฝึกจะบีบคั้นมันขนาดไหนมันก็บีบคั้นไม่ถูกต้อง เพราะทำสิ่งที่ไม่ถูกที่

ไม่ถูกที่ เห็นไหม ทำมาขนาดไหนแล้วนี่เรื่องโลกๆ แล้วพลิกกลับมาว่า เราทดสอบมาถึงที่สุดแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ ตายเปล่า ถ้าตายเปล่า ทำอย่างไรล่ะ นี่กลับมานะ ถ้าทำทุกรกิริยานี้ทำถึงที่สุดแล้ว ต่อไปนี้มันก็ต้องเป็นเรื่องนามธรรมแล้ว มันต้องเป็นเรื่องของหัวใจ มันเป็นเรื่องความดิบเถื่อนในหัวใจนี้ ถ้าความดิบเถื่อนในหัวใจ นี่มันดิบเถื่อนกับเรา จะผู้รากหมากดีขนาดไหน แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากถ้ามันครองหัวใจ มันดิบเถื่อนอยู่ภายในนั้นแหละ มันแสดงออกด้วยความหยาบความละเอียดขนาดไหน มันก็มีความดิบเถื่อนในหัวใจของมัน

ฉะนั้น เราทดสอบมาหมดแล้ว ทีนี้เราก็ต้องมาแก้กันที่หัวใจ ถ้าแก้ที่หัวใจ เราจะฟื้นฟูร่างกายให้เข้มแข็งก่อน ไปฉันอาหารของนางสุชาดา นี่ปฏิญาณตนเลยนะ “ถ้าเรานั่งคืนนี้ ถ้าไม่สำเร็จ เราจะไม่ลุกจากที่นั่งนี้” ตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม เวลาประพฤติปฏิบัติไปเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป สิ่งที่เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้ามันชำระอวิชชา อาสวักขยญาณทำลายกิเลสสิ้นไปแล้ว นี่หัวใจมันไม่หวั่นไหวไง มันไม่ไหว มันมั่นคงของมัน มั่นคงเพราะอะไร

เพราะการกระทำ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ วิชชา ๓ ทำให้กิเลสสิ้นไปจากหัวใจ ถ้ากิเลสมันสิ้นจากหัวใจแล้ว มันไม่หวั่นไม่ไหวอะไรทั้งสิ้น ถ้ามันไม่หวั่นไม่ไหว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียนทางวิชาการทางโลกมา ๑๘ วิชาการ เป็นผู้นำปกครองมา อยู่กับสังคมมา นี่โลกเขาคิดกันอย่างนี้ โลกเขาทำกันอย่างนี้

แต่เวลาธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว “มันจะสอนใครได้หนอ ใครจะรับรู้ได้ ใครจะฟังได้” ทั้งๆ ที่ศึกษามา ทั้งๆ ที่มีปฏิภาณในการเป็นผู้นำมา แล้วยังปรารถนามานะ ๔ อสงไขย สร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ จะเตรียมมารื้อสัตว์ขนสัตว์ เห็นไหม โลกกับธรรมมันแตกต่างกันขนาดนี้นะ พอศึกษาทางโลกมันก็ศึกษามาเต็มที่แล้ว แต่พอมาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “มันจะสอนใครได้อย่างไร” มันลึกลับซับซ้อนขนาดนั้นนะ ลึกลับซับซ้อนขนาดที่ว่าสอนใครไม่ได้เลย

แต่เวลาสร้างเป็นพระโพธิสัตว์ขึ้นมา ผู้ที่ปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวา ได้สร้างบุญญาธิการมา นางพิมพาก็ได้สร้างบุญญาธิการมาด้วยกัน ราหุล กัณหา ชาลี ก็สร้างมาด้วยกัน นี่สร้างมาด้วยกันทั้งนั้นน่ะ การที่สร้างมาด้วยกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เพราะอำนาจวาสนาบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ นี่บารมีเต็มขึ้นมาจะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สิ่งที่สร้างมา นี่ไง สิ่งที่สร้างมานั้นเป็นบาทเป็นฐานที่ให้หัวใจนี้ตรัสรู้ขึ้นมาได้

แต่เวลาตรัสรู้ขึ้นมาแล้วจะสอนใครได้อย่างไร นี่จิตใจที่มันละเอียดลึกซึ้งขนาดนั้น แต่พอเสวยวิมุตติสุขก็วางธรรมวินัยนี้ไว้ เพราะอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ เพราะเวลาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาทุกข์เวลายาก เห็นยมทูต คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย “เราต้องเป็นอย่างนั้นหรือ” มันวิตกกังวลไปหมดล่ะ

เหมือนกับที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี่ เราอยากได้ อยากได้มรรคได้ผล เราก็วิตกกังวลกับการประพฤติปฏิบัติของเราอยู่นี่แหละ แล้วเราก็ว่าจะเป็นได้จริงหรือเป็นไม่ได้จริง แต่เราก็มีสติปัญญา เราก็พยายามขวนขวายของเรา เราพยายามขวนขวายของเรา เพราะว่ามันจะเป็นไปได้จริงก็เพราะความเพียรเท่านั้นล่ะ “เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร” ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ จะทำให้เราล่วงพ้นทุกข์ไปได้ แต่ความเพียรมันก็ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง

ถ้าความเห็นถูกต้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้นะ เวลาศึกษา ดูสิ เทศนาครั้งแรกกับปัญจวัคคีย์ ไปเทศน์ยสะ ได้มาเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ ทั้งๆ ที่ว่า ทอดธุระนะ “จะสอนใครได้หนอ” แต่เวลาสอนมันก็ได้ ได้เพราะอะไร เพราะเขาก็สร้างบุญญาธิการของเขามา เวลาเขาทำขึ้นมา เห็นไหม สอน สอนอะไร? นี่โดยเทศน์ธัมมจักฯ สิ่งที่ประกาศสัจธรรม สัจธรรมที่ในหัวใจนี้มันรู้มันเห็น ถ้ามันรู้มันเห็น มันเป็นความจริงขึ้นมา นี่ประกาศสัจธรรมอันนี้ เพราะจิตใจได้ทำสิ่งนี้

“ถ้าไม่มีกิจจญาณ สัจจญาณ เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์” นี่เวลาปัญจวัคคีย์จะไม่ฟังไง “เมื่อก่อนอยู่ด้วยกันก็ไม่เคยพูดว่าเป็นพระอรหันต์” ถ้าอยู่ด้วยกัน ศึกษาขนาดไหน จะสั่งสอนมันก็สั่งสอนได้ แต่สั่งสอนแล้วตัวเองก็ไม่มั่นใจในตัวเอง จะสั่งสอนได้อย่างใด แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลามันเป็นจริงขึ้นมา เพราะจิตใจมันไม่ไหวแล้ว มันสอนได้ ถ้าจิตใจไม่ไหว แต่โลกมันยังไหว

เห็นไหม โลกกับธรรม ถ้าโลกกับธรรม โลกมันยังไหวอยู่ เวลาสั่งสอนไป ปัญจวัคคีย์ปฏิเสธๆ แต่ปฏิเสธเพราะสร้างมา คำว่า “สร้างมา” เราได้สร้างบุญญาธิการกันมาด้วยกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็อุปัฏฐากอุปถัมภ์กันมา นี่สร้างบุญกุศลมาทั้งนั้นน่ะ ทั้งๆ ที่กิเลสมันดีดดิ้น กิเลสมันดิบเถื่อน กิเลสมันปฏิเสธ กิเลสมันเห็นสภาวะจากโลกว่าทรมานตนมาขนาดนั้น แล้วเวลามาฉันอาหารของนางสุชาดา “นี่เป็นคนมักมาก เป็นคนออกไปทางโลกแล้ว มันจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาได้อย่างใด” นี่ใจมันปฏิเสธไง ปฏิเสธเพราะว่าอะไร

เพราะเรื่องธรรมะมันลึกซึ้งที่โลกรู้ไม่ได้ ถ้าโลกรู้ไม่ได้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ มา ดูสิ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา”

แต่ต้องเป็นธรรมนะ

แต่ของเราคิดกันเป็นโลกไง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา” ก็เห็นน่ะ เกิดดับๆ ไฟฟ้าก็เปิดอยู่ทุกวันนี่ มันก็ติดดับๆ อยู่นี่ แล้วมันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ

เพราะจิตใจเราไม่มีพื้นฐาน ไม่มีบุญญาธิการขนาดที่ว่าเราจะรู้ของเราได้

ถ้ารู้ของเราได้นะ ดูสิ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาอย่างนี้ เวลาเทศน์ต่อไปจนปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมด เทศน์อนัตตลักขณสูตร เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ถ้าเป็นพระอรหันต์ เผยแผ่ธรรมๆ มา วางธรรมและวินัยนี้ไว้นะ ถ้าวางธรรมวินัย เราศึกษาทางโลกก็เป็นโลก ถ้าเราศึกษาเป็นธรรม สิ่งนี้ศึกษาไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ

ถ้าศึกษาทางโลก เรารู้ เรามีความรู้ความเข้าใจ เห็นไหม ถ้าทางโลกบอก การศึกษา โลกจะเจริญเพราะการศึกษา...ใช่ โลกเจริญเพราะการศึกษา ต้องมีปัญญา เทคโนโลยีต่างๆ ที่เขามีเทคโนโลยีของเขา ชาติเขาจะเจริญมาก เจริญนั้นเจริญทางโลก

แต่ถ้าเจริญทางธรรมล่ะ เจริญทางธรรมนะ จิตใจ เห็นไหม ดูสิ ในครอบครัวของเรา เรามีความกตัญญูกตเวที ในครอบครัวของเรา เรามีผู้หลักผู้ใหญ่ ในครอบครัวของเราให้อภัยต่อกัน สิ่งนี้มันมีคุณค่าทางน้ำใจ ถ้ามีคุณค่าทางน้ำใจ สิ่งที่เราแสวงหาทางโลก เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายในบ้าน เราก็ต้องการ ถ้าเราต้องการขึ้นมา มันเติบโตขึ้นมาพร้อมกัน ถ้ามันเติบโตขึ้นมาพร้อมกันนะ แต่ถ้าทางโลกมันก็เป็นโลกทั้งหมด

ฉะนั้น พอเราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นโลก ถ้าศึกษาเป็นโลกขึ้นมา ถ้าศึกษาเป็นธรรมล่ะ? ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษามาเพื่อดัดแปลงตน ถ้าดัดแปลงตนนะ เอาหัวใจของเราไว้ในอำนาจของเรา สิ่งนี้ประเสริฐที่สุด ประเสริฐที่เราจะเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติกันนี่ไง

ถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราเริ่มต้นปฏิบัตินะ ถ้าเราจะปฏิบัติ ดูเราปฏิบัตินะ เห็นไหม ในเซน ในมหายาน พระเขาไปกัน ๒ องค์ เขาเห็นธงไง เวลาธง เวลาลมพัดมันไหว ลมพัดนี่มันไหว พระเขาเถียงกันนะ ต่างคนต่างมีความรู้

คนหนึ่งเขาบอกว่า เพราะมันมีธง ธงมันถึงโบกสะบัด

พระองค์หนึ่งบอกว่า เพราะมันมีลม ถ้าไม่มีลม ธงจะโบกสะบัดได้อย่างไร จะไหวได้อย่างไร

เถียงกันว่า คนหนึ่งว่า ธงมันไหวเพราะลม อีกองค์หนึ่งเถียงว่า เพราะมีธง มันถึงไหว

นี่ไง แล้วก็เถียงกันอยู่ ๒ คน เถียงกันอยู่นั่น ลงกันไม่ได้ ต่างคนต่างว่าตนมีปัญญาทั้งนั้นน่ะ นี้เราก็เหมือนกัน ที่เรานี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องโลกก็เข้าใจแล้วนะ เรื่องโลกเรียนมา ๑๘ วิชาการ แล้วฝึกหัดการเป็นผู้นำมา ฝึกหัดการปกครองมา นี่เรื่องโลกก็เข้าใจ

แต่เวลามาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาสิ “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ” แต่ก็สอน พอสอนนี่ปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ ยสะเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ เป็นเอหิภิกขุ บวชให้ทั้งหมด ทั้งบวชให้ด้วย ทั้งสอนด้วย จนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เห็นไหม นี่ก็สอนได้ สอนได้ตามความเป็นจริงไง

ฉะนั้น เราจะประพฤติปฏิบัตินะ เราศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ

ในการปฏิบัติ เริ่มต้นจากการปฏิบัติของเรา ถ้าเรากำหนดพุทโธ มันก็เป็นสมาธิอบรมปัญญา ถ้าเราใช้ปัญญานะ เราใช้ปัญญาตรึกตรองของเรา ถ้าเราใช้ปัญญาตรึกตรองของเรา ถ้ามีสติปัญญาทันขึ้นมามันก็สงบระงับเข้ามา ถ้ามันสงบระงับเข้ามา มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสมาธิอบรมปัญญาหรือปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นความสงบของใจ ถ้าความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามา ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเข้าสู่ธรรม ถ้าจิตใจไม่สงบระงับเข้ามา มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ไง

ฉะนั้น เวลาบอกว่า ถ้าสมาธิอบรมปัญญา นี่ธง สมาธิอบรมปัญญา นี่ธงมันไหว แล้วถ้าปัญญาอบรมสมาธิ นี่ลม ถ้าลมมันไหว แล้วธงมันไหวเพราะมันมีธง หรือมันไหวเพราะมันมีลมล่ะ มันไหวเพราะอะไรล่ะ? มันไหวเพราะใจมันไหว มันไม่ใช่ธงไหวหรือลมไหว หัวใจมันหวั่นไหว ถ้าหัวใจมันหวั่นไหว หัวใจมันยังมีอวิชชาอยู่ หัวใจมันยังไม่เข้าใจอยู่ นี่หัวใจมันไหว มันไม่ใช่ธงไหวหรือลมไหว

ธงไหวหรือลมไหว ที่เขาบอก เห็นไหม “มันเป็นเช่นนี้เอง มันเป็นเช่นนี้เอง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันเป็นแบบนั้นเอง”

“ธรรมะมันก็เป็นธรรมชาติ มันก็เป็นเช่นนี้เอง”

เช่นนี้เอง แล้วเถียงกันทำไม เถียงกันเพราะอะไร

เถียงกันเพราะว่าหัวใจมันไหว ไหวเพราะอะไร ไหวเพราะมีอวิชชา ไหวเพราะมันไม่รู้ พอไม่รู้ขึ้นมา นี่เราศึกษาธรรมะกัน เราศึกษามาอย่างนี้ ศึกษามาทำไม? ศึกษามาเถียงกัน ศึกษามา บอกว่า “พุทโธไม่ต้องทำความสงบของใจไหม หรือต้องใช้ปัญญา”

นี่เขาบอกว่า “ต้องใช้ปัญญาเลยนะ นี่ปัญญาจะเป็นวิปัสสนา ปัญญานี้เป็นการชำระกิเลส ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราต้องใช้ปัญญาไปถึงชำระกิเลส ไปทำความสงบของใจอยู่นี่มันเสียเวลาเปล่าๆ นี่มันเสียเวลา เสียเวลาเพราะมันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญาขึ้นมา ถ้าไม่มีปัญญามันจะฆ่ากิเลสได้อย่างไร”

ถ้าพวกเราพุทโธๆ ถ้าจิตมันสงบ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีสมาธิแล้วเกิดปัญญาขึ้นมา ต้องมีความสงบก่อน ถ้ามีความสงบ มันต้องมีความสงบก่อน สงบแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมามันถึงจะเป็น มันถึงจะเข้าสู่ใจ มันถึงเข้าสู่สัมมาสมาธิ

นี่ธงมันไหวหรือลมมันไหวล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สมถะหรือวิปัสสนา สิ่งใดเป็นความจริงล่ะ

มันก็คิดของมันไป ในเมื่อหัวใจมันไหว หัวใจไหวมันก็มีการถกเถียงกัน แต่ถ้าหัวใจมันไม่ไหวล่ะ มันต้องรู้จริง ถ้ามันรู้จริงขึ้นมานะ ถ้าหัวใจไม่ไหว นี่มันถึงเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา มันจะเป็นสมถะหรือเป็นปัญญา ถ้าเป็นสมถะหรือเป็นปัญญา

ถ้ามันเป็นสมถะ เขาว่า “เป็นสมถะแล้วมันไม่เกิดปัญญา”

อันนี้ก็บอกว่า ถ้าสมถะคือสมาธิ สมาธิคือธงมันไหวๆ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ อันนี้ลมมันไหว นี่ไง เพราะใจมันไหวๆ ถ้าใจมันไม่ไหวนะ มันไม่ไหวเพราะอะไร เพราะมันรู้จริง ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา มันสงบเข้ามานี่มันได้รับรส

จิตสงบนะ จิตของคน ดูสิ เราทำสมาธิกัน เราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันไม่สงบ เราพยายามพุทโธของเรา พยายามทำใจของเราให้สงบ ถ้ามันสงบเข้ามานะ มันรู้ตัวของมัน “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” แม้แต่จิตสงบมันก็เป็นเงาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จิตสงบกับจิตไม่สงบ

จิตไม่สงบ เห็นไหม ดูสิ อย่างเรานี่เราไม่ได้ทำความสงบ เรานั่งอยู่เฉยๆ มันเหม่อลอย จิตสงบไหม คนที่เหม่อลอยนี่จิตสงบไหม ปุถุชนนี่ เวลาเราฟุ้งซ่าน ดูสิ เราต้องการสิ่งใด เราเป็นนักเลงการพนัน เราเป็นนักเลงต่างๆ พอนักเลงมันไม่ได้ทำสิ่งนั้น มันก็อึดอัดขัดข้อง คนติดการพนัน คนติดแสงสีเสียง ดูสิ วัยรุ่น เวลากลางคืน มันอยู่ไม่ได้หรอก มันจะต้องไปหาแสงสีเสียงของมัน แล้วถ้ามันไม่ไป มันทนไหวไหม นี่ไง นี่มันเป็นเพราะอะไรล่ะ เพราะมันไม่สงบ

แต่เวลาถ้าเราทำความสงบของใจนะ จิตใจเราสงบ เรานั่งของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เรานั่งของเรา มันเหม่อลอย มันเป็นสมาธิไหม มันเป็นสมาธิหรือเปล่า? มันไม่เป็น แต่มันปล่อยไหม? มันปล่อย มันไม่ได้คิดไง มันไม่ได้อยากเป็นอยากไป อยากไปอะไรกับเขา แต่มันก็เหม่อลอย มันเหม่อลอยเพราะอะไรล่ะ นี่ไง เพราะจิตใจมันเป็นโลกๆ มันปล่อยวางของมันได้นะ

ถ้าคนเวลาเหม่อลอยนี่มันไม่ได้คิด มันไม่ได้คิดอะไรเลย มันอยู่ปกติของมัน แต่เป็นสมาธิไหม? ไม่เป็น ไม่เป็น แล้วเวลาเกิดปัญญา ปัญญามันคืออะไร? ก็ฟุ้งซ่านไง “เออ! เราเป็นคนดี เราเลิกการพนันได้ เดี๋ยวนี้การพนันเราไม่เล่นแล้ว” เด็กที่มันเคยติดในแสงสีเสียงมันก็บอก “เออ! เดี๋ยวนี้เราไม่ไปแล้ว เดี๋ยวนี้เพราะเราไปแล้วเสียสุขภาพด้วย เสียเงินเสียทองด้วย แล้วมันยังเกิดอันตรายด้วย เดี๋ยวนี้เราไม่ไปแล้ว เราเป็นคนปกติ” เป็นสมาธิไหม? ไม่เป็น

นี่ไง มันไม่เป็น เพราะอะไร เพราะหัวใจมันไหว หัวใจมันไม่รู้เรื่อง

แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ ของเราล่ะ เรากำหนดพุทโธๆๆ ของเรา ถ้าจิตมันสงบ “อืม! นี่รสของธรรม” จิตมันสงบนะ จิตมันสงบ มันมีสติ นี่จิต เห็นไหม “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” ที่มันฟุ้งซ่าน ที่มันเดือดร้อน อยู่กับเรื่องโลกๆ เพราะอะไร เพราะความคิดเป็นเรา อารมณ์เป็นเรา สุขทุกข์เป็นเรา เป็นของเราหมดเลย นี่มันเป็นเพราะมันเป็นเรื่องโลกๆไง

การเกิดเป็นมนุษย์นะ เวลาเราวิจัยเรื่องการเกิดเป็นมนุษย์ ดูสิ “มนุษย์” การเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นอริยทรัพย์ มนุษย์สมบัติ การเกิดเป็นมนุษย์มันก็เป็นธรรมชาติของมัน มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันก็มีความรู้สึกนึกคิดเป็นธรรมดา ทีนี้เราก็อยู่กับความรู้สึกนึกคิดนี่ เวลาเราศึกษาธรรมๆ เราก็รู้อยู่ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “กายกับใจๆ” ก็พูดกันปากเปียกปากแฉะ แล้วกายกับใจเป็นอย่างไรล่ะ จับไปสิ ที่ตรงไหนเป็นกาย ตรงไหนเป็นใจ...มันก็จับ มันก็เป็นความรู้สึกไปหมด นี่เพราะมันปากเปียกปากแฉะ มันไม่ได้ทำจริง

ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันรับรู้ของมัน ถ้ารับรู้ของมันนะ มันจะเป็นสมถะหรือจะเป็นปัญญาล่ะ มันจะเป็นอะไรล่ะ จิตมันสงบเข้ามานี่ จิตสงบเข้ามามันคือปัจจัตตัง คือสิ่งที่มันรับรู้ไง แล้วเวลามันเหม่อลอย เวลาเราอยู่ทางโลก เวลาเราศึกษากัน บอกว่า “มันคือการปล่อยวางๆ ถ้าเป็นการปล่อยวางแล้ว สมถะมันไม่เกิดประโยชน์สิ่งใด”

ไม่เกิดประโยชน์สิ่งใด เพราะความรู้สึกนึกคิดมันเป็นปกติ ความรู้สึกเหม่อลอยมันก็ไม่มีอะไรรับรู้ในหัวใจอยู่แล้ว แต่ถ้าจิตมันสงบ มันมีสติปัญญาของมัน ถ้ามีสติปัญญาของมัน มันรับรู้ของมัน

พอรับรู้ของมันนะ จิตที่มันอาบเหงื่อต่างน้ำ มันแบกรับภาระ มันแบกภวาสวะ แบกภพ แบกความรู้สึกนึกคิดนี้ไว้แล้วมันปล่อยวาง มันปล่อยวางเพราะมันมีสติปัญญา เพราะพุทโธๆ มันเป็นคำบริกรรม จิต ไม่ให้ไปแบกหามสิ่งใด ให้อยู่กับคำบริกรรม มันชำระล้างตัวมันเอง ถ้ามันชำระตัวมันเอง เวลามันปล่อยมานี่ “โอ้โฮ! ทำไมมันสุขขนาดนั้น” แล้วอยากได้ก็ไม่ได้ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” มันเป็นเพราะมีสติ เพราะเรากำหนดพุทโธของเราเข้ามา เพราะมันกำหนดพุทโธเข้ามามันก็สงบเข้ามา

ถ้าปัญญาอบรมสมาธิล่ะ ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม เราใช้สติปัญญาไล่ความคิดของเราไป พอถึงความคิดมันหยุด แต่รสชาติไม่เป็นแบบนี้ รสชาติไม่เหมือนพุทโธๆ แล้วจิตสงบเข้ามานี่จะร่มเย็นของมัน แต่มันปล่อยก็รู้ว่าปล่อย แต่มันปล่อยก็รู้ว่ามีสติมีปัญญา คือมีการรับรู้

มีการรับรู้ว่า...เด็กมันติดแสงสีเสียง เด็กมันคิดตรึกในธรรมะ เด็กมันก็คิดของมันตามธรรมชาติของมันนั่นแหละ แต่เรามีสติปัญญา “คิดทำไม คิดนี้แบกหามภาระความคิดนี้หรือเปล่า ความรู้สึกนึกคิดนี้ได้แบกหามไหม เออ! คิดแล้วมันก็เป็นภาระ มันมีน้ำหนัก มันมีความกดถ่วงใจ แล้วคิดไป แล้วคิดแล้วเครียดไหม ถ้าคิดอยากให้มันสงบแล้วมันไม่สงบจะเครียดไหม? เครียด” เครียดเพราะอะไรล่ะ เครียดเพราะมันเป็นอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค นี่ถ้ามันสมดุลขึ้นมามันก็ปล่อย

ถ้ามันปล่อย มันปล่อยอย่างไรล่ะ? สติปัญญามันทัน พอสติปัญญา มันก็ปล่อย ปล่อยมันก็รับรู้น่ะ “เออ! ปล่อย เออ! มันมีความรู้สึกเนาะ ถ้ามันไม่คิดมันก็ได้เนาะ คิดมันก็ได้เนาะ” เห็นไหม สมาธิอบรมปัญญาหรือปัญญาอบรมสมาธิ ธงไหวหรือลมไหว

ถ้าหัวใจมันไหว เพราะหัวใจมันไม่เคยทำ เพราะหัวใจไม่เคยทำ หัวใจก็ไม่รู้ มันก็เลยหวั่นไหว พอหวั่นไหว เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันมา แล้วเราก็มาเถียงกัน “จะทำสมถะหรือจะใช้ปัญญา” แต่ถ้าคนที่เขาทำ คนที่ประพฤติปฏิบัติของเขา นี่ธงมันไหวหรือลมมันไหว? หัวใจสิ มันไหว หัวใจมันไหวเพราะอะไร หัวใจมันไหวเพราะมันไม่รู้ไง มันไม่รู้เหนือรู้ใต้ มันไม่รู้จักความรู้สึกนึกคิดของตัว แต่มันเอาความรู้สึกนึกคิดนี้ไปตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเถียงกันปากเปียกปากแฉะ แล้วมันบอกว่า “ลมไหวหรือธงไหว”

หัวใจมันไหว เพราะมันไม่รู้

แต่ถ้าหัวใจมันไม่ไหว ไม่ไหวเพราะอะไร

คนเราไม่รู้ อวิชชาไม่รู้ มันทำให้เราลังเลสงสัย แต่ถ้าหัวใจเรารู้ หัวใจเราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นการประกาศในหัวใจของเรา หัวใจของเราที่ฟังเขามา มันต้องทำสมถะหรือมันต้องใช้ปัญญา นี่ฟังเขามา เถียงกันไปเถียงกันมา แล้วก็มีเหตุผลรองรับ เหตุผลของโลกเป็นตรรกะ เป็นความรู้สึกนึกคิด “ฉันทำแล้ว ฉันทำได้ คนนั้นว่าทำแล้วก็ทำดี เขาว่าที่นั่นก็ทำได้ ที่นี่ก็ทำได้” เขาว่าทั้งนั้นเลย เรื่องของตัวไม่มี เรื่องของความเป็นจริง เรื่องของสัจธรรม เรื่องของปัจจัตตัง เรื่องของสันทิฏฐิโกในใจที่มันประสบพบเห็น ไม่มี แต่มันไปพูดเรื่องคนอื่นหมดเลย

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียนมา ๑๘ วิชาการทางโลก ฝึกฝนมาจะเป็นกษัตริย์ นั่นคือทางโลก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารื้อค้น แสวงหาโมกขธรรม แล้วเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้” นี่แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ศึกษาทางโลกมาก็พร้อม เวลามารื้อค้น มาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาทางธรรมก็พร้อม เวลาพร้อมขึ้นมา วางธรรมวินัยมา

ทีนี้ความรู้สึกนึกคิดของคนมันเป็นแบบนั้น โลกเป็นแบบนั้น นี่โลกกับธรรมไง

โลกกับธรรม โลกคือการศึกษา โลกคือการยึดมั่น โลกคือทิฏฐิมานะ โลกคือว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไปเป็นปัจจัตตัง เป็นธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ เป็นธรรมที่มันเกิดขึ้นมาจริง ฉะนั้น ถ้ามันไม่รู้จริง มันก็หวั่นไหว นี่ไง หัวใจมันไหว

ถ้าหัวใจมันรู้จริงแล้ว มันไม่ไหว ถ้ามันไม่ไหวแล้วนี่ โลกเขาจะเถียงกันนะ จะสมถะหรือปัญญา มันก็เรื่องของโลกเขา ดูสิ เราเห็นเด็กที่มันทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยความเข้าใจผิด ดูมันสิ มันทะเลาะกัน หน้าดำหน้าแดง มันจะเอาชนะคะคานกัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำใจของเราให้มันหยาบ มันก็ไปทะเลาะกับเขาอย่างนั้นน่ะ สิ่งใดเป็นจริง สิ่งใดไม่จริง นี่เพราะถ้าใจมันไหวนะ ถ้าใจมันไหวมันก็ไปเถียงกับเขา แต่ถ้าเราทำความจริงของเรามา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ ถ้าหัวใจมันไม่ไหวแล้ว มันรู้ว่าทำความสงบของใจเข้ามาทำไม

ถ้าใจมันสงบเข้ามาแล้ว เห็นไหม ความรู้ความเห็น นี่เวลาปัญญามันจะเกิด มันเกิดขึ้นมาโดยจิตที่รู้ เกิดขึ้นมาจากวิปัสสนาญาณ เกิดจากความจริงขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อาสวักขยญาณ ญาณที่มันทำลายอาสวักขัยที่หลุดออกไปจากใจ สิ่งความจริงอย่างนั้น ถ้าความจริงอย่างนั้นมันหวั่นไหวไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยไหวไปกับอะไร? ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยไหวเลย เพราะรู้จริงแล้วไม่ไหว แต่เรายังไม่รู้จริง มันไหวแน่นนอน พอมันไหวขึ้นมานะ แม้แต่สมถะกับปัญญาก็เถียงกันปากเปียกปากแฉะ

ธงหรือลมไหว

สมถะหรือปัญญาไหว

แล้วมันก็ไหว ไหวก็คือส่งออก ไหวเพราะอะไร สิ่งนั้นมันเป็นข้อที่จะเถียงกันด้วยอะไร? ด้วยหัวใจมันไหว แต่ถ้าหัวใจไม่ไหวแล้วนะ เขาจะเถียงกันอย่างไรมันเรื่องของโลกธรรม ๘ โลกธรรม ธรรมะเก่าแก่ ใครเถียงกันอย่างไร ใครโต้แย้งอย่างไรมันเรื่องของเขา ใจของเราล่ะ ใจของเราที่มันเป็นล่ะ ถ้าใจของเรามันเป็นขึ้นมา มันรู้จริงขึ้นมา แล้วมันไม่หวั่นไหวไปกับเขา เถียงกันแล้วมันเสียเวลา แต่ถ้าทำจริงแล้วมันคืออะไรล่ะ

ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม มีความสุข มีความร่มเย็น สมาธิเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เราก็หมั่นแก้ไขของเรา หมั่นแก้ไข หมั่นดูความถูกผิด “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเหตุมันสมควร ธรรมนี้เกิดขึ้นแน่นอน เวลาถ้าเหตุมันไม่สมควร เพราะจิตใจมันไหว พอจิตใจมันไหว มันอยากได้ อยากดี อยากเป็น ความอยากได้ อยากดี อยากเป็น โดยจิตใต้สำนึก คนเรามีอยู่แล้ว

เราเกิดมาทุกคน เราเป็นชาวพุทโธด้วยกัน เกิดมา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุดยอดของธรรม สุดยอดถึงที่สุดคือพ้นจากทุกข์ นิพพาน พ้นจากทุกข์ ทุกคนก็ปรารถนา เวลาทุกคนปรารถนา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเห็นว่านิพพานมันสูงส่ง มันอยู่สุดเอื้อมที่เราจะมีความสามารถที่จะเอาสิ่งนั้นเข้ามาในหัวใจของเราได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ขณะเราทำบุญกุศล เรายังมีความตระหนี่ถี่เหนียว ทำสิ่งใดมันยังอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย เพราะคำว่า “นิพพาน” นี่มันสุดเอื้อม มันไม่กล้าอาจเอื้อมจะคิดถึงเลยล่ะ แต่ถ้าเรามีอำนาจวาสนาของเราขึ้นมา นี่ทางโลกเราก็อยู่มาแล้ว ทางโลกเราก็ศึกษามาแล้ว เห็นไหม โลกก็มีเท่านี้

ความสุขของโลก เห็นไหม เหมือนเหยื่อ นี่ปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง เกี่ยวเหยื่อไว้ แล้วเราก็งับเหยื่อนั้นน่ะ ความสุขที่ต้องการนั้นน่ะ ความสุขอย่างนั้นมันเกี่ยวปากนะ เวลาเขากระตุกทีหนึ่งนี่เลือดสาด นี่ก็เหมือนกัน ความสุขทางโลกมีเท่านี้แหละ เหมือนปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิดน้ำทั้งทะเลเลย เอาปลาเล็กๆ ตัวหนึ่ง แล้วปลาเล็กๆ คือว่า ความสุขมันน้อยกว่าความทุกข์เยอะนัก กว่าเราจะวิดน้ำทั้งทะเลเพื่อจะจับปลา แล้วได้มาก็ปลาตัวนิดหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ได้วิดทางโลกมาแล้ว แล้วทางธรรมล่ะ

ทางธรรม เห็นไหม เราเกิดมาทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน เกิดมามีกายกับใจเหมือนกัน ถ้าเกิดมามีกายกับใจเหมือนกัน แต่ถ้าหัวใจมันเข้มแข็ง เวลามันทำความเป็นจริงของมันขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เราทำของเราได้ ถ้าเราทำของเราได้ขึ้นมา เห็นไหม “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเหตุมีสงบระงับเข้ามา จิตใจมันออกรู้ ถ้าจิตสงบ ถ้ามันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เราก็ฝึกหัด ใช้สติปัญญาใคร่ครวญของเรา มันขาดอะไร มันขาดสิ่งใด ถึงไม่ได้ตามความปรารถนา

สิ่งที่ทำมา เห็นไหม เวลาอาบเหงื่อต่างน้ำ เราทำได้ทั้งนั้นน่ะ งานอย่างใดเราก็ทำได้ทั้งนั้นน่ะ เพราะมันเป็นงานทางโลกที่เราอาบเหงื่อต่างน้ำได้ เพราะเราอยากได้ผล แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นมารอบหนึ่ง เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาขึ้นมารอบหนึ่ง ถ้าจิตใจมันไม่ลงมันก็สะสมไว้ “ทำแล้วก็ไม่ได้ ทำแล้วก็มีความทุกข์ความยาก”

“ตัณหาซ้อนตัณหา” โดยจิตใต้สำนึก คนเราอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว อยากได้มรรคได้ผล แต่การอยากได้มรรคได้ผลนะโดยจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกนี่เราปิดมันไม่ได้หรอก แต่ตัณหาความทะยานอยากมันอยากได้ อยากให้เป็นสิ่งที่เราคำนวณ นี่เราปฏิบัติแล้วต้องได้อย่างนั้น เรานั่งแล้วต้องได้อย่างนั้น...ไม่ได้หรอก นี่ตัณหาซ้อนตัณหา มันยิ่งทุกข์ยากเข้าไปใหญ่

แต่จิตใต้สำนึกที่มันอยากนะ อยาก แล้วเอาความอยากนี้มาประพฤติปฏิบัติ เอาอยาก ถ้าเราอยากเป็นแบบนั้น ต้องมีสติ อยากเป็นแบบนั้นต้องมีคำบริกรรม ถ้าคำบริกรรมแล้วมันทำให้เรา ธงไหวหรือลมไหว ถ้ามันบริกรรมแล้วเราไม่พอใจ เราจะเป็นลมก็ได้ เราจะเป็นธงก็ได้

ธงก็คือสมาธิอบรมปัญญา ถ้าลม ก็ปัญญาอบรมสมาธิ

นี่มันไหว ไหวเพราะอะไร ไหวเพราะใจมันไหว มันถึงเถียงกัน

แต่ถ้าเราทำของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา “อืม! มันมีจริงๆ สงบจริงๆ มีรสชาติจริงๆ”

ถ้ารสชาติจริงๆ เห็นไหม สิ่งที่มันเป็นจริงขึ้นมา แล้วถ้ามันเจริญแล้วเสื่อม เราต้องพยายามทำตรงนี้ก่อน ถ้ามันเจริญขึ้นมามันก็องอาจกล้าหาญ มันก็ว่าสิ่งนี้เราจะบรรลุธรรม เราจะประพฤติปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลามันเสื่อมขึ้นมานะ แล้วเราจะทำอย่างใดล่ะ เราจะไม่มีเครื่องมือสิ่งใดเลยที่จะใช้ปัญญาของเรา เพราะจิตใจนี่ แม้แต่ฐาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน มันยังอยู่ด้วยไม่ได้ มันมีแต่ฟืนแต่ไฟ มันมีแต่ความเร่าร้อน แล้วเรามีความสงบร่มเย็นมันมาจากไหนล่ะ

เวลาสงบร่มเย็น เวลามันสงบขึ้นมามันก็มีความร่มเย็น มันก็มีความสุขมาก เวลาเสื่อมขึ้นมาอย่างกับไฟๆ ถ้าไฟมันยังมีแผดเผา ถ้าเป็นตบะธรรมมันจะเผากิเลสนะ แต่ไฟจากความเสื่อม ไฟจากกิเลสมันเผาเรานะ ถ้ามันเผาเราขึ้นมา เราก็หาเหตุหาผลขึ้นมา พยายามทำ เห็นไหม ใช้ปัญญา

ถ้ากำหนดพุทโธๆ เราก็ผ่อนอาหาร เราก็ต่างๆ นี่ผ่อนมัน ผ่อนอาหารคือผ่อนกิเลส ถ้ากินอาหารมาก กินอิ่มนอนอุ่น กิเลสก็ตัวอ้วนๆ ถ้ากิเลสตัวอ้วนๆ เห็นไหม กิเลสเป็นนามธรรม เรากินอาหารนะ เรากินข้าว แต่พอกินข้าวเข้าไป พอกินอิ่มนอนอุ่น กิเลสมันก็ตัวโต เรากินข้าว ทำไมกิเลสมันโตด้วยล่ะ แต่ถ้าเราผ่อนอาหาร เราหิว กิเลสมันก็ยุบยอบลง ถ้าเราหิว แต่เราไม่ตาย เราหิว แต่เราพยายามตั้งสติปัญญากับเราเพื่อจะมีสติปัญญา เพื่อจะหาอุบายเอาใจไว้ในอำนาจของเรา

ถ้าเราหิว กิเลสมันก็หิวด้วย กิเลสมันก็ยุบยอบลงด้วย เห็นไหม ถ้ากิเลสมันยุบยอบลง เราต้องมีโอกาสที่เราจะทำได้ ถ้าเราทำได้เพราะกิเลสมันไม่มาขัดขวางกีดขวาง เห็นไหม เราใช้ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาเพื่อเอาตัวรอดไง ปัญญาเพื่อจะให้หัวใจมันปลอดโปร่ง ถ้าปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา มันจะทำให้การทำความสงบเข้ามาง่ายขึ้น คนเคยทำความสงบได้ เราเคยทำได้ ถ้าจิตมันเสื่อม เราก็ต้องฟื้นฟูมันได้ เราฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนี้บ่อยครั้งเข้าๆ จิตสงบแล้วสงบเล่าๆ

ถ้ามันสงบแล้ว ถ้ามันเห็นอาการของจิต เห็นไหม เวลาสมถะหรือปัญญา ถ้าใจมันไหว มันก็ต่างคนต่างโต้แย้งกัน เวลาจิตมันสงบนะ แล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เวลาจิต เวลาสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง นี่มันจับ จับสติปัฏฐาน ๔...สติปัฏฐาน ๔ นี่ต้องจิตมันสงบเข้ามา แล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ จริงๆ มันสะเทือนเลื่อนลั่นในหัวใจ

แต่ถ้าเราเป็นโลกๆ นะ แล้วบอกว่า “เราพิจารณาโดยทางสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากายเราก็ตั้งกายขึ้นมา เราก็พิจารณากัน” นั้นมันคือโลก โลกเพราะอะไร โลกเพราะจิต เราเหม่อลอยอยู่นี่จิตเป็นสมาธิไหม ถ้าจิตมันไม่เป็นสมาธิ ในมรรค ๘ เห็นไหม สัมมาสมาธิ มีสัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา สัมมาทิฏฐิคือสัมมาปัญญา มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมากัมมันโต งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ

ถ้าความชอบธรรม ถ้ามีสัมมาสมาธิ จิตใจมันจะลงละเอียด มันจะลงลึกซึ้ง มันจะเป็นฐาน ฐานที่จะเกิดมรรคญาณ ฐานที่ธรรมจักร จักรมันจะหมุนไป ถ้าจักรมันหมุนไป มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะเป็นธรรม แต่ถ้ามันเป็นกงจักร มันเป็นกิเลส ถ้ากิเลสขึ้นมา “นี่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เราพิจารณาโดยทางสติปัฏฐาน ๔” มันคิดเอง นึกเอง ว่ากันไปเอง

พอว่ากันไปเองนะ มันคิดแล้วเป็นอย่างนั้นใช่ไหม มันคิดให้มันเป็นมันก็เป็น คิดให้มันเป็นไง เพราะมันเป็นกิเลส กิเลสมันคิดให้เป็น มันก็เป็นตามที่เราคิด แต่เป็นความจริงไหม? ไม่เป็นความจริง เพราะมันไม่มีผลไง

ดูสิ เวลาสมถะหรือปัญญา เวลาเราจิตสงบเข้ามา พอใจมันไม่ไหว นี่เรารู้เลย เรารู้เลยว่า ถ้าจิตสงบเข้ามานะ ความรู้สึกนึกคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตไม่สงบเข้ามา มันก็เป็นพื้นฐานของมนุษย์นี่แหละ แต่ถ้าจิตสงบเข้ามา มันสะเทือนถึงฐีติจิต มันสะเทือนถึงกิเลส เรานี่รู้ได้ ฉะนั้น พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว เวลาเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริง เห็นไหม สิ่งนี้มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง

สติปัฏฐาน ๔ จริงคือจิตมันจับต้องได้ จิตจับต้องแล้วจิตแยกแยะได้

การถ้าจิตจับต้องแล้วจิตแยกแยะได้ นี้เป็นธรรม

แต่ถ้าเวลากิเลสมันต่อสู้ระหว่างธรรมกับกิเลสมันต่อสู้กันนะ เวลาเราปฏิบัติ เราจับได้ แล้วเราใช้ปัญญาของเรา คือวิปัสสนา เราก็เข้าใจว่า ถ้าเราทำวิปัสสนาไปแล้ว วิปัสสนามันจะเจริญรุ่งเรือง มันจะงอกงามขึ้นไป นี่เราคิดว่างานของเรามันจะไม่เสื่อมถอย แต่ในความเป็นจริง คนทำงานเหนื่อยไหม คนทำหน้าที่การงานทุกอย่างต้องใช้พลังงาน แล้วพลังงานที่ใช้ไปแล้วมันต้องเหนื่อย มันต้องเพลียเป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าจิต เวลาจิตมันดีขึ้นมา จิตเป็นสัมมาสมาธิ เราจับต้องสิ่งใดได้ แหม! มันปลื้มใจ ภูมิใจ มันมีความสะเทือนใจ มันขนพองสยองเกล้า มันจะเกิดธรรมโอสถ เวลามันเกิดขึ้นมา มันเกิดธรรมสังเวช มันจะเกิดน้ำตาร่วง น้ำตาไหล มันจะเกิดการคลายกิเลส เวลามันดีนะ

ทีนี้พอเราใช้ไป เราพิจารณาของเราไป พลังงานมันก็ต้องเสื่อมถอยเป็นธรรมดา พอมันเสื่อมถอยเป็นธรรมดา พอสมาธิมันเสื่อม สมาธิมันเบาลง กิเลสมันได้ช่อง มันก็ออกทำงานของมัน แล้วออกทำงานของมัน เวลากิเลสมันเกิด กิเลสมันทำให้ล้มลุกคลุกคลาน พิจารณาไปก็ไม่ได้ พิจารณาไปมันก็ไม่ก้าวเดิน พิจารณาไปแล้วมันก็หมกมุ่นอยู่ตรงนั้นน่ะ นี่ไง ระหว่างธรรมกับกิเลส

เห็นไหม ถ้าเป็นธรรม มันก็เป็นลม

ถ้าเป็นกิเลส มันก็เป็นธง

นี่ธงมันไหวหรือลมมันไหว

เวลาวิปัสสนาไป มันเป็นธรรมหรือมันเป็นกิเลส ถ้าหัวใจมันไหว มันไม่เข้าใจ มันก็คลอนแคลนนี่ไง นี่ระหว่างกิเลสกับธรรม ระหว่างธงกับลม นี่มันก็อยู่ในหัวใจ มันก็มีการกระทำอยู่บนหัวใจ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเป็นสมถกรรมฐาน แต่จริงๆ ก็คือใจมันไหว ใจมันไหวเพราะอะไร ใจมันไหวเพราะจิตมันสงบเข้ามาแล้วนะ จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชนเอาความสงบของใจขึ้นมาออกวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม รู้ตามความเป็นจริง แต่รู้ตามความเป็นจริงนี่มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ถ้ามันปล่อยวางได้ มันพิจารณาแล้วเป็นความจริงขึ้นมา มันก็เป็นตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว มันปล่อยวางกาย ปล่อยวางเวทนา ปล่อยวางจิต ปล่อยวางธรรม ตามความเป็นจริงนั่นแหละ แต่ความเป็นจริงนั้นมันเป็นการปล่อยวางโดยตทังคปหาน มันปล่อยโดยข้อเท็จจริงนั่นแหละ มันปล่อยด้วยกำลังนั่นแหละ แต่มันปล่อยแล้วเป็นอย่างไรต่อไป

นี่ไง ถ้าหัวใจมันยังไหวอยู่ หัวใจมันไหว ไม่ใช่ธรรมหรือกิเลสไหว กิเลสก็คือกิเลส ธรรมก็คือธรรม ที่มันต่อสู้กัน การต่อสู้กันนี้คือวิปัสสนา การต่อสู้กัน นี่ไง ที่เราศึกษามาตั้งแต่ทางโลก ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นโลกหรือเป็นธรรม ถ้าศึกษาเป็นโลกก็ศึกษามาเพื่อวิชาความรู้ ศึกษามาเพื่อตรรกะ ศึกษามาเพื่อเป็นทางวิชาการ แต่เขาศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะอะไร เป็นธรรมเพราะมันเกิดขึ้นตามความเป็นจริงในหัวใจนั้น ถ้าหัวใจนั้นมันเกิดขึ้นมา มันเกิดผลของความสงบของใจ

ถ้าใจมันสงบเข้ามา นี่ไง “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” นี่ธรรมที่มีค่า ธรรมที่มีค่าคือจิตที่สัมผัส เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้ว พอสงบเข้ามาแล้วเราพิจารณา จิตสงบจนมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันก็เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง นี่สิ่งที่จิตสงบเข้ามามันก็เป็นรสชาติอันหนึ่ง จิตสงบเข้ามาแล้วมันก็มีความสุขของมันระดับหนึ่ง แต่เวลาจิตที่มันสงบเข้ามาแล้วมันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม เป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงขึ้นมา มันมีรสชาติแตกต่างกัน มันพิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันสำรอก มันคายของมัน เวลามันปล่อย มันสำรอก มันคายของมัน นี่เป็นตทังคปหาน คือมันปล่อย

ปล่อยไหม? ปล่อย ปล่อยแล้วก็ชะล่าใจ ปล่อยแล้ว เพราะอะไร ชะล่าใจหมายความว่า สิ่งที่เราควรจะหมั่นคราดหมั่นไถ มีการกระทำ การกระทำนั้นให้งานประสบความสำเร็จ ถ้างานยังไม่ประสบความสำเร็จ ใจมันยังไหวอยู่ ถ้าใจมันยังไหวอยู่ เพราะใจมันไหว ไม่ใช่ธรรมหรือกิเลสมันไหว ธรรมและกิเลสมันเป็นผลของการวิปัสสนา มันเป็นผลของใจที่ออกทำงาน

ใจทำงาน เห็นไหม ระหว่างสมถะกับปัญญา มันก็ทำงานอันหนึ่ง เพื่อให้สงบระงับเข้ามา จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าจิตมันสงบระงับเข้ามา แล้วเราพยายามฝึกหัดของเราเพื่อให้จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตมันสงบระงับเข้ามา เวลามันเห็นอาการของจิต นี่จิตเห็นอาการของจิต จากปุถุชน เวลามีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา ความคิดเป็นเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเราทั้งหมด มันคิด มันเป็นเรื่องโลกๆ ไปหมดเลย พอจิตมันสงบเข้ามา นี่กัลยาณปุถุชน

ถ้ากัลยาณปุถุชนนะ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ตามความเป็นจริง ที่ว่า “สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔” นี่ อันนี้เป็นโสดาปัตติมรรค เป็นมรรค มันต้องเป็นผล ถ้าเป็นมรรคไม่ได้เป็นผล มันก็เป็นมรรค เห็นไหม มรรคเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น แล้วเวลาเราใช้ปัญญาของเราไป ระหว่างกิเลสกับธรรม ระหว่างธงกับลมที่มันพัด มันไหว เพราะใจมันไหว มันเลยเห็นสิ่งนั้นไหวไปหมดเลย เพราะใจมันยังไหวอยู่ไง

ทีนี้ วิปัสสนาไปแล้วมันปล่อย มันปล่อย ตามความเป็นจริงไหม? เป็น ตามความเป็นจริงเลย มันปล่อย มันปล่อยแล้วใช่ไหม แต่ใจมันยังไหว ไหวเพราะอะไร ไหวเพราะมันยังสงสัย ไหวเพราะมันยังไม่รู้จริง ถ้าไม่รู้จริงมันก็ไม่จบ ไม่จบมันก็ยังสงสัย สงสัยมันก็ต้องหวั่นไหว หวั่นไหวมันก็พัด นี่กิเลสมันก็พัดเข้าไป เราโดนพัดขึ้นมา แล้วอะไรไหว? ใจไหว ไม่ใช่กิเลสหรือธรรมไหว ใจไหว

พอใจมันไหว ภวาสวะ ใจไหวไง เพราะใจพิจารณาอยู่แล้ว มันปล่อยวางอยู่แล้ว ปล่อยวางตามความเป็นจริงนั่นแหละ พอปล่อยตามความเป็นจริงแล้วมันก็ปล่อยซ้ำปล่อยซาก มันก็อยู่ตรงนั้นน่ะ ถ้ามีสติปัญญานะ เราต้องย้ำ ซ้ำไประหว่าง...

มันเป็นลมไหวหรือธงไหว

ถ้ามันเป็นธงไหว เห็นไหม กิเลส

ถ้าเป็นธรรม ธรรมเป็นลม ลมคือสัจธรรม เราสร้างของเราขึ้นมา

สิ่งใดที่มันขาดตกบกพร่อง...มันปล่อยไหม? ปล่อย ปล่อยแล้วมันมีอะไรรู้ขึ้นมาล่ะ ปล่อยแล้วมันมีอะไรเป็นความจริงขึ้นมา เพราะใจมันยังไหวอยู่ มันเทียบได้ ปล่อยไหม? ปล่อย ปล่อยแล้วเหลือสิ่งใด แล้วรู้อะไร ใครเป็นอะไร

นี่ไง เวลาเราเหม่อลอยนะ เราเหม่อลอย ไม่ใช่สมาธิ แต่เรามีคำบริกรรมขึ้นมา จิตมันมีคำบริกรรมขึ้นมา มันปล่อยตัวมันเอง บริกรรมขึ้นมาจนมันปล่อยวาง ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด แต่มันชัดเจนในตัวของมันเอง นี้คือสัมมาสมาธิ

นี่เหมือนกัน ในการพิจารณา นี่สติปัฏฐาน ๔ จิตมันสงบเข้ามาแล้วจิตมันพิจารณาของมัน พิจารณาแล้วปล่อยไหม? ปล่อย ปล่อยแล้วเป็นอย่างไรต่อ นี่ไง มันก็เหมือนกับถ้าเป็นสมถะ ทำปัญญาอบรมสมาธิ นี่ไง ถ้ามันเป็นสมาธิ มันก็มีสติ มีผู้รู้ชัดเจน นี่มันว่างอย่างไร ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา มันเป็นอย่างใด มันชัดเจน

แต่ถ้าเหม่อลอย จิตมันก็ปล่อย แต่มันไม่รู้อะไรเลย มันคงที่ตายตัวของมัน เพราะมันไม่มีการดำเนินงาน จิตมันไม่พัฒนาเข้ามา มันไม่เป็นธรรม มันเป็นโลก แต่เวลาพิจารณาของเรา พิจารณาระหว่างกิเลสกับธรรม เวลามันปล่อยไหม? ปล่อย ปล่อย ปล่อยแล้วต่อไปอย่างไร

ทีนี้ ถ้าใจมันไหว เพราะใจมันไหว มันก็เพิ่มค่าของมันไปเรื่อยๆ ชั้นนั้นๆๆ ก็ว่ากันไป ถ้ายิ่งชั้นนั้นไป ชั้นนั้น หมายถึงว่า เราทำนาอยู่ที่หนึ่ง แต่เราก็ไปคาดหมายอีกที่หนึ่ง เราเคยทำนาแล้ว เราก็ว่าเราทำนาของเราขึ้นไปที่หนึ่ง มันส่งออกไปเรื่อยๆ ไง มันไม่กลับมาสู่...เราทำนาที่ไหน ในนามีอะไร? ในนามีข้าว ในนามีน้ำ ในนามีวัชพืช เราต้องที่นานั้นให้ชัดเจน ให้มันออกรวง ออกเม็ด เก็บเกี่ยวจนสำเร็จ มันต้องทำนาที่นั่น ไม่ย้ายที่นาเราไปเรื่อยๆ ไป

นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้ากิเลสมันไหว มันจับต้นชนปลายไม่ได้ มันก็ตะลอนไปเรื่อยๆ ตะลอนไปเรื่อยๆ มันไม่ลงสู่สักกายทิฏฐิ สู่ความเป็นจริง สู่หัวใจที่มันหวั่นไหว ถ้าใจมันยังหวั่นไหวอยู่ แต่เราเคลื่อนของเราไปเรื่อย นี่เพราะเราไม่มีความมุ่งมั่น จิตไม่เป็นเอกภาพ จิตมันแส่ส่าย แส่ส่ายไปหมดล่ะ แต่เราปฏิบัติธรรมว่า “สิ่งนี้เป็นธรรมๆๆ”

ธรรมกับกิเลส เห็นไหม ถ้าจิตเสื่อม เวลาจิตเสื่อมขึ้นมา ใช้ปัญญาไปมันก็เป็นกิเลสทั้งนั้นน่ะ นี่ธง นี่กิเลสทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเวลาจิตเราเจริญรุ่งเรือง จิตเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราพิจารณากายของเรา พิจารณาเวทนาของเรา พิจารณาจิตของเรา พิจารณาธรรมของเรา พิจารณาของเรา เห็นไหม นี่คือลม ลมคือสัจธรรม มันพัดให้ธงนั้นไหว มันพัดให้สิ่งต่างๆ เคลื่อนไหว ให้เราเห็นไง พัดให้รู้ว่าระหว่างลมกับธงมันสั่น มันไหว มันพิจารณาของมัน พิจารณาให้เห็นจริงสิ มันฝึกสอนจิตไง

“ทำไมจิตนี้โง่นัก ทำไมจิตนี้ไม่เข้าใจสิ่งใดเลย สัจธรรมก็แสดงอยู่ต่อหน้า แล้วทำไมพิจารณาแล้วทำไมไม่เข้าใจล่ะ พิจารณาไปแล้วมันก็ผ่านไปๆ” นี่เวลามันปล่อยตทังคปหานไง พิจารณาแล้วก็ปล่อย พิจารณาแล้วก็ปล่อย...ปล่อยแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ปล่อยแล้วมีผลอย่างไร ปล่อยแล้วมันเป็นความจริงอย่างไร

เพราะใจมันยังไหวอยู่ นี่มันจบ มันจบไม่ได้

ถ้าพิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาบ่อยครั้งเข้า เห็นไหม ระหว่างกิเลสกับธรรม

กิเลส คือเวลาจิตเสื่อม กิเลสคือจิตใจที่มันเป็นสัญญา ปัญญาที่ใช้มากจนกลายเป็นสัญญา แล้วปัญญาที่ใช้แล้วมันไม่มีสัมมาสมาธิ มันไม่คมกล้า คิดแล้ว ปัญญาแล้ว พิจารณาแล้วเท่าไรมันก็ไม่เจริญก้าวหน้า “ทำไมมันเป็นอย่างนั้นๆ” เห็นไหม ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบเข้ามาแล้ว เราฝึกหัด เราออกไปทำงาน

จิตใจที่มันได้รับ มีดที่มันได้ฝึกฝน มีดที่ได้ลับให้ลมกล้า เวลามันออกไปพิจารณา มันฉับ! ฉับ! ฉับ! มันพิจารณาไป เพราะถ้าปัญญานี้มีสมาธิเป็นพื้นฐาน เพราะถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบของใจเข้ามา มันเป็นสัญญาเรื่องโลกๆ หมด แต่ถ้ามีสมาธิเป็นพื้นฐาน สมาธิเกิดที่ไหน? สมาธิเกิดที่จิต เวลาปัญญามันเกิด มันก็เกิดที่จิต เวลามันคมกล้าๆ มันไปประหัตประหารกันที่ไหน? มันก็ไปประหัตประหารไอ้ที่ว่าใจไหวๆ นี่ไง ไอ้ใจที่สั่นไหว ไอ้ใจที่ว่ามันไม่มีสิ่งใด

มันไม่มีสิ่งใดเพราะมาร มารมันอยู่ที่นั่น แล้วมันผลักไส ผลักไสไม่ให้เห็นตัวมัน ผลักไสไม่ให้รับรู้ตัวมัน แล้วเวลาเราปฏิบัติกันทางโลก เห็นไหม “พุทธพจน์ๆ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น อยู่ที่หน้านั้น อยู่ที่บรรทัดนั้น”

นี่มันส่งออกจากใจนี้ไปอยู่ถึงในพระไตรปิฎกเชียวเหรอ ส่งออกจากใจนี้ไปอยู่ที่หนังสือนู่นเลยเหรอ ส่งออกจากใจนี้ไปเปิดตู้นี้มาอ้างอิงเลยเหรอ ทำไมกิเลสมันไม่ถกเถียงกันที่ภวาสวะ ไม่ถกเถียงกันที่กลางหัวใจล่ะ ทำไมมันไปหยิบฉวยเอาจากหนังสือมา ไปหยิบฉวยมา

นี่ไง ถ้าเวลากิเลสมันหลอกนะ เราก็ส่งออกหมดเลย มันไม่เป็นปัญญาของเราเลย นี่มันเป็นสัญญา มันเป็นการจำมา มันเป็นสิ่งที่เราศึกษามา ศึกษามาเป็นโลก ถ้าปฏิบัติเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา มันเกิดความจริงขึ้นมา นี่ไง มันถึงว่า กิเลสกับธรรม อะไรมันไหว

พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พิจารณาแยกแยะ เห็นไหม เวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาด นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์

“เราพิจารณา สติปัฏฐาน ๔ เราปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔” สติปัฏฐาน ๔ ทางโลก กายก็คือเรา พิจารณาแล้วมันก็ปล่อย ปล่อยแล้วเป็นอย่างไรล่ะ? ปล่อยแล้วก็เหมือนกับคนนั่งเหม่อไง ปล่อยแล้วก็คือจบ ปล่อยแล้วก็คือปล่อย ปล่อยแล้วก็ปล่อยตามที่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกให้ปล่อย ให้วาง อย่าไปยึด อย่าไปถือไง ถ้าไม่ยึดไม่ถือเราก็ปล่อยแล้วไง

ใจมันยังไหวอยู่ มันจะปล่อยอะไร มันปล่อย มันปล่อยที่ใจ ให้ใจมันปล่อย ไม่ใช่ปากมันปล่อย ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อปล่อย ถ้าศึกษามาเพื่อปล่อย เห็นไหม ดูสิ เขาติดคุกนะ เวลาเขาอภัยโทษ เขาปล่อยทีหนึ่งเป็นพันๆ คน นี่เขาปล่อยออกจากคุก คนอยู่ในคุกเขายังปล่อยเลย แต่มันปล่อยตามกฎหมาย ปล่อยตามที่เขาอภัยโทษกัน แต่กิเลสมันจะยอมปล่อยใจเราไหม กิเลสมันจะให้อภัยโทษหัวใจเราหรือเปล่า? มันไม่มีทาง มันไม่มีใครปล่อยหรอก

ฉะนั้น เราศึกษาว่าปล่อยๆ ธรรมะว่าปล่อยอย่างนั้น เราก็ศึกษาว่าปล่อย นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่ถ้ามันเป็นความจริง กิเลสมันไม่ยอมปล่อยใครหรอก กิเลสมันกลัวธรรม ฉะนั้น เวลาธรรม ลมมันพัด ลมพัดมันหอบธรรมะมา มันจะทำให้ลมพลิกปลิวสว่างไสวขนาดไหน นั่นถ้าลมมันมาดี ถ้ากิเลสมันไม่ตื่นตัวขึ้นมาทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนะ

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันจะล้มลุกคลุกคลานอย่างนั้น ถ้าหัวใจยังไหว เราต้องพยายามพิจารณาของเรา พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันจะปล่อยวางขนาดไหน นั่นเป็นตทังคปหาน ถ้าตทังคปหาน มันปล่อยแล้วมันยังจับต้องได้

ทีนี้ โดยถ้ากิเลสมันไหว เวลาปล่อยแล้วมันบอก “ไม่มี ก็ปล่อยแล้ว หาไม่เจอ” ก็มันยังพูดอยู่ มันยังบอกหาไม่เจอ ก็มันเป็นคนเก็บของเอง ทำไมหาไม่เจอล่ะ “ก็มันปล่อยแล้ว มันหาไม่เจอ” เห็นไหม นี่กิเลสมันไหว

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ลมที่มันพัดหวั่นไหว พัดจนเสา จนธงนั้นเอียง จะล้มเลยน่ะ นี่จับได้ ที่ไหนมีความรู้สึก ที่ไหนมีสิ่งที่เป็นที่รู้สึก กิเลสมันซ่อนอยู่ที่นั่น ถ้าพิจารณากายมันปล่อยขนาดไหน เรายังมีความรู้สึกอยู่ มันต้องจับตรงนั้น เห็นไหม ปล่อยแล้วไม่มีๆ...มันมี ถ้ามี เห็นไหม ตทังคปหาน ถ้าไม่สมุจเฉทปหาน กิเลสยังมีอยู่ ถ้ากิเลสอยู่นี่มันอยู่บนหัวใจ หัวใจมันก็สั่นไหว

พิจารณาซ้ำพิจารณาซากจนถึงที่สุดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เวลามันขาด มันขาดไปที่ไหน อะไรมันขาด? นี่สังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ความสงสัย เห็นไหม สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำ ความสงสัย ที่มันอยู่ในหัวใจ มันสงสัยเพราะอะไรล่ะ สงสัย เพราะสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ทิฏฐิมันเห็นผิด

แล้วเวลามรรคสามัคคีมันทำลาย สมุจเฉทปหาน มันทำลาย มันทำลายที่ไหน? มันทำลายที่กลางหัวใจ ถ้าหัวใจมันทำลายลงแล้ว มันจะไปสงสัยอะไร ถ้ามันไม่สงสัย ทำไมถึงไม่สงสัย มันไม่สงสัย ก็นี่ไง ก็กำลังพลิกศพกิเลสอยู่นี่ไง ศพกิเลส สังโยชน์ไง นี่สังโยชน์มันเป็นศพของกิเลส วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันพลิก

ฉะนั้น มันพลิก สิ่งที่ชื่อ ชื่อนาย ก. นาย ข. นาย ง. เราก็ตาม เรารู้จักคนนี้เป็นคนทำความผิด หาตัวมันไม่เจอ นี่ก็เหมือนกัน สังโยชน์ ๓ เราก็รู้ทุกคน แล้วมันอยู่ไหน สังโยชน์ตัวมันเป็นอย่างไรล่ะ เรารู้จักสังโยชน์อย่างไรล่ะ ถ้าเราไม่ได้ฆ่า ไม่ได้ทำลายมัน เราไม่รู้ไม่เห็นหรอก ตำราก็บอกว่าสังโยชน์ ตำราก็บอกไว้อย่างนั้น แล้วเวลาปฏิบัติไปก็เป็นอย่างนั้น แล้วมันเป็นจริงไหม? มันไม่เป็นจริง เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นไง

แต่ถ้าเรารู้เราเห็นนะ สาธุ! ตำรา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ แล้วถ้าพอปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นปัจจุบันธรรม มันฟาดฟันกันด้วยสติด้วยปัญญา แล้วเวลากิเลสมันตาย มันเห็นชัดเจนมาก แล้วมันจะเอากิเลสหน้าไหนมาหลอกหัวใจนี้อีก ถ้ามันไม่สามารถเอากิเลสตัวไหนมาหลอกหัวใจนี้ หัวใจมันจะไหวไหม หัวใจที่มันไหวอยู่นี่ ก็เพราะกิเลสมันบังเงาอยู่ กิเลสมันบังเงา มันหลบ มันซ่อนอยู่ที่หัวใจนี้ หัวใจนี้ ในเมื่อกิเลสบังเงาอยู่ นี่ศึกษาธรรมะมา ศึกษามาท่วมหัว เอาตัวไม่รอดหรอก

ศึกษาความรู้ รู้ไปหมด แล้วกิเลสอ้าง กิเลสอ้างว่า “ได้ทำความเป็นจริง ได้ทำสมทุกอย่าง ได้ทำตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้ แล้วเราก็ฝึกฝนตามความเป็นจริง” มันอ้างมันอิงไปหมดเลย แต่หัวใจมันหวั่นไหว มันไม่มีสิ่งใดเป็นความจริง

แต่เวลามันสมุจเฉทปหาน มันขาด นี่หัวใจมันไม่ไหว

ถ้าหัวใจมันไม่ไหว สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติมา คนที่ปฏิบัติได้ระดับนี้เขาเรียก “ภาวนาเป็น” พอภาวนาเป็นขึ้นมา เวลาเราภาวนาเป็นนะ ถ้าเราชำระสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แต่กิเลสที่ละเอียดมันยังมีอยู่นะ ถ้าเราพูดถึงธรรมะระดับนี้ เราเข้าใจได้ชัดเจน แล้วอธิบายสอนใครก็ได้

แต่เวลาเขาบอกว่า “แล้วทำอย่างไรต่อไป แล้วที่มานี่มันมา มาอย่างไร แล้วข้างหน้าต่อไปเป็นอย่างใด”

เวลาข้างหน้าต่อไปนี่มันไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเพราะอะไร เพราะกิเลสที่มันละเอียด ถ้ากิเลสที่ละเอียด สติปัญญามันต้องมากขึ้น ถ้าสติปัญญามากขึ้น เราทำความสงบของใจเข้ามา ความสงบนี้เป็นพื้นฐาน ถ้าใจสงบขึ้นมาแล้ว มันจะรู้มันจะเห็นของมัน ถ้าใจมันไม่สงบ มันก็หวั่นไหวจากภายใน

ถ้ามันหวั่นไหวจากภายใน สิ่งที่รู้แล้วมันก็คือรู้ สิ่งที่ไม่รู้ นี่ความไหวของใจมันมีซับซ้อน สิ่งที่รู้แล้วมันไม่หวั่นไหวหรอก สิ่งที่รู้แล้วเป็นสัจธรรม รู้แล้วเป็นความจริงขึ้นมา ใครพูดก็ได้ ใครพูดก็เหมือนกัน แต่สิ่งที่ไม่รู้สิ สิ่งที่ว่า เราเป็นปัญญาชน เรามีปัญญามาก แต่สิ่งที่เราไม่รู้ เรากล้าเถียงเขาไหม ถ้าเราพูดสิ่งใดไป เวลาเหตุผลเป็นความจริงที่ผิดกับที่เราพูดมานี่ เราไม่มีเครดิตเหลือเลยล่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่เราไม่รู้ มันก็มีความสงสัย นี่กิเลสที่มันละเอียดนะ เราก็ต้องทำใจของเราให้มันละเอียดเข้าไป ถ้ามันจับได้ สิ่งที่เราปฏิบัติขึ้นมา เริ่มต้นมันจะจับได้ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด เห็นไหม เวลาพิจารณากาย กายนอก กายใน กายในกาย มันจะสืบต่อเข้ามา เวลาสืบต่อ เห็นไหม

เพราะขันธ์ ความรู้สึกนึกคิด เห็นไหม เขาบอก “โสดาบัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕” แล้วเวลาสิ่งที่เรารู้สึกนึกคิดนี่มันไม่เป็นขันธ์เหรอ ความรู้สึกของเรานี่เป็นขันธ์ไหม ถ้าเราไม่มีสัญญา ไม่มีข้อมูลที่เทียบเคียง เราจะเกิดสังขารปรุงแต่งอย่างไร

เวลาบอกว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕” เพราะขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี้มันเป็นสักกายทิฏฐิ สิ่งที่เราเข้าใจผิด ถ้าเราเข้าใจผิด เราเข้าใจแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่ถูกต้อง แต่ขันธ์ที่ละเอียด สัญญาที่ละเอียด มันมีข้อมูลของมัน มันมีความสงสัยของมัน ถ้ามีความสงสัย นี่มันสืบต่อกันได้ไง ถ้ามันสืบต่อกันได้ ถ้าจิตใจที่ลึกซึ้งไปนี่มันยังหวั่นไหวของมันอยู่

ถ้ามันหวั่นไหว เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับต้องได้ไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม มันไม่ยากเย็นเกินไปนัก เพราะมันจับได้ ถ้ามันจับได้ จับได้เพราะอะไร จับได้เพราะมันซื่อสัตย์สุจริต มันซื่อสัตย์นะ จิตใจมันซื่อสัตย์ จิตใจที่มันค้นคว้าอยู่นี่ แล้วภาวนาเป็น เพราะเราพิจารณาของเราแล้ว จิตใจเราเคยสั่นไหว ไหวไปหมด หวั่นไหวไปหมดเลย แต่พอเราพิจารณาของเรา เรารู้ว่า อ้อ! อกุปปธรรม สัจธรรมที่พ้นจากอนัตตา ที่พ้นจากความแปรปรวน ที่พ้นจากความหวั่นไหว มันเป็นอย่างใด นี่เขาเรียกคนภาวนาเป็น ถ้าคนภาวนาเป็น ตรงนี้เป็นบาทฐาน เป็นพื้นฐาน

ถ้าคนภาวนาเป็นนะ เวลาจิตมันละเอียดเข้ามา ถ้ามันจับต้องสิ่งใดได้ เพราะเราเคยล้มลุกคลุกคลานมา เราเคยตทังคปหานมา มันหลอกมาขนาดไหนเราก็เคยมา ฉะนั้น สิ่งที่พอจิตเราสงบเข้ามาแล้วจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ มันจะต้องมีความรอบคอบ มันต้องใช้ปัญญาที่มันมีความละเอียดอ่อน เราจะไม่ทำสิ่งใดที่ฉาบฉวย ทำสิ่งใดที่สุกเอาเผากิน ทำสิ่งใดที่เราเคยทำมาแล้ว

เวลาเราผิดนะ เวลากิเลสมันไหว กิเลสมันมีกำลังมากกว่า เราก็รู้รสชาติมันมา เวลาลมมันไหว เวลาสัจธรรมที่มันรุนแรงขึ้นมา เราก็รู้รสชาติมา แล้วเวลามันตทังคปหาน มันปล่อยมา เราก็รู้รสชาติมาว่ามันปล่อย แต่เวลามันไม่ขาด เราก็เคยโดนกิเลสมันหลอกมาแล้ว ฉะนั้น คนที่ภาวนาเป็นนี่มีข้อเท็จจริงในใจเป็นพื้นฐานที่เราจะต้องทำความสงบ ใช้ปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปกว่านี้ แต่ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปกว่านี้ ขึ้นไปขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสที่มันละเอียดกว่านะ มันก็ทำให้หวั่นไหว

หวั่นไหวนะ เพราะคำว่า “กิเลส” กิเลสตัณหาความทะยานอยาก ขนาดเราจะมีสติปัญญาขนาดไหน มันก็มีส่วนที่อยากได้อยากดี และมีส่วนที่สุกเอาเผากิน คืออยากจะให้มันสมประโยชน์ สมความเป็นจริงของเรา มันก็ไม่เป็นความจริงของเรา

การปฏิบัติ มันถึงจะเห็นว่า สิ่งที่เราทำมา โลกเขาทำ เขามีเอกสารกำกับทุกอย่างนะ ขนาดมีเอกสารกำกับ เขายังมีทุจริตกัน แต่ของเรานี่มันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึกนึกคิด แล้วมันเป็นมรรค มรรคคือว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นกับเรา คือลมที่มันพัดแรง ลมที่เราฝึกหัด ลมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา แล้วกิเลสมันเป็นธงที่มันหวั่นไหวอยู่นี่ เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป สิ่งนี้มันพลิกแพลง มันมีเล่ห์เหลี่ยม มีกลมายาทั้งนั้น สิ่งที่ทางโลกเขามีเอกสารกำกับ เขายังทุจริตกันได้ แล้วสิ่งที่เราปฏิบัติขึ้นมามันเป็นนามธรรมทั้งนั้น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากับเราทั้งนั้น

ถ้ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากับเรา เห็นไหม เวลากิเลสมันอ้างอิงสิ่งนี้ เราไม่มีสิ่งใดกำกับ มีแต่ประสบการณ์ มีแต่เคยจับได้ มีแต่เคยกระทำ เพราะสิ่งที่เราไปเปรียบเทียบ เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ชี้เข้ามาที่ใจนี้ ธรรมทุกข้อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ชี้เข้ามาหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะมีประสบการณ์ของมัน ถ้าประสบการณ์ของมัน ประสบการณ์ของเรานี่หลากหลายมาก ฉะนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า สิ่งที่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้เป็นใบไม้ในกำมือเท่านั้น สัจจะความจริงมันเป็นใบไม้ในป่า ในป่านี่ใบไม้มันจะมากมายขนาดไหน กับใบไม้ในกำมือขนาดนี้

ฉะนั้น ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นหลัก ธรรมวินัยเป็นหลัก พุทธพจน์ นี่เป็นศาสดาของเรา เราถือสิ่งนี้เป็นหลัก เพราะถ้าเราไม่ถือสิ่งนี้เป็นหลัก กิเลสมันจะอ้างอิง “ก็ใบไม้ในป่า ในป่าก็คือความรู้ของเรา ความรู้ของเราก็เป็นธรรมไง” เป็นธรรมก็กิเลส นี่ธงมันเริ่มไหวแรงแล้วนะ พอธงมันไหวแรง การปฏิบัติของเรามันก็ล้มลุกคลุกคลาน

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะเปลี่ยนแปลง เราจะตรวจสอบให้ความเป็นจริงมันเกิดขึ้นมากับเรา ถ้าความจริงมันเกิดขึ้นนะ เวลามันปล่อยวางขึ้นมา มันจะรู้จะเห็น พอมันปล่อยวางขึ้นมา มันต้องมีการปล่อยวาง ดูสิ เวลากีฬาเขาลงแข่งขันกัน ถ้าลงแข่งขันกันใหม่ๆ เขาพยายาม ถ้าใครฟิตมาก เขาจะยืนระยะได้นาน ถ้าคนฟิตมาไม่ดี เวลาเขาเริ่มอ่อนแรงลง ฝ่ายตรงข้ามเขาจะใช้กำลังของเขา เทคนิคของเขาเอาชนะได้ง่ายดาย

จิตใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าสติปัญญาของเรามันไม่มั่นคง กิเลสนะ เราพยายามใช้ปัญญาของเราบีบเข้าไป ใช้ปัญญาเข้าไป มันอ่อนแรงลงนะ การปฏิบัติเราก็ง่ายดาย แต่ถ้าเราไม่มีความฟิตของเรา เราขาดสติหรือสมาธิของเราไม่เข้มแข็งขึ้นมา เวลากิเลสมันมีกำลังมากกว่า เราเป็นฝ่ายท้อแท้ เราเป็นฝ่ายถดถอย นี่เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องความจริงเลย

ถ้าความจริง ทีนี้ หน้าที่ของเรา เราปฏิบัติของเรา เราจะต้องมีสติปัญญาของเรา ดูแลหัวใจของเรา แล้วทำความสงบของใจเข้ามา นี่เพราะหัวใจมันไหว สิ่งที่การกระทำมันถึงผิดพลาดไปหมดเลย ผิดพลาดเพราะอะไร เพราะคนมีกิเลส ธรรมดาของคน คนมืดบอด แล้วเราจะทำให้เรารู้แจ้ง เราจะทำอย่างไรให้สายตาได้เห็นภาพโดยความเป็นจริง เราจะต้องละเอียดรอบคอบ

ถ้ามันภาพเลือนราง ภาพที่ตาบอดสี สีที่เราเห็นไม่ตามความเป็นจริง เห็นไหม เวลากิเลสมันเกิด กิเลสที่มันเอาธรรมนี้มาอ้างอิงกับเรา มันเหมือนคนตาบอดสี มันไม่ทันกัน แต่ถ้าเราทำหัวใจของเรา เรารักษาหัวใจของเราจนมันแจ่มแจ้ง ตาเราไม่บอดสี เราจะเห็นภาพนั้นชัดเจน เราจะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นกิเลส สิ่งนี้เป็นธรรม

ถ้าสิ่งนี้เป็นธรรม เราปฏิบัติของเรา ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงเวลามันก็ขาด โลกนี้ราบหมดนะ ถ้าหัวใจมันไม่ไหว โลกนี้ราบหมดเลย หัวใจไม่ไหว นี่ธงหรือลม

มันใช้คำว่า “เป็นเช่นนั้นเอง” มันต้องจิตใจที่มันรู้จริงแล้ว

“มันเป็นเช่นนั้นเอง หัวใจฉันไม่ไหว”

ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันก็หมุนเวียนของมันไปธรรมดาของมัน แต่หัวใจ ธรรมที่มันเหนือธรรมชาติ ธรรมที่ในหัวใจของเรา ที่ใจที่ไม่ไหว ถ้าพิจารณาซ้ำเข้าไปๆ ถ้ามันปล่อยวางมา โลกนี้ราบ แล้วก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ติดได้นะ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านก็ให้ออก

ถ้าให้ออกก็ไปเจออสุภะ ถ้าเป็นอสุภะนะ มันจะรุนแรง ระหว่างกิเลสกับธรรมจะรุนแรงมาก เวลาประพฤติปฏิบัติ ขั้นของกามราคะ ถ้ามันพ้นจากกามราคะไปนะ ธรรมรุนแรงขนาดไหน มันจะต้องมีความรอบคอบระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันพัด มันพัดให้หัวใจล้มลุกคลุกคลาน ถ้าหัวใจนี้มีกำลังขึ้นมา พิจารณาซ้ำ มีครูบาอาจารย์เป็นหลักชัยให้เราอาศัยอุบายวิธีการของครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเอาสิ่งนี้มาเป็นหัวเชื้อ แล้วเวลาถ้ามันเกิดขึ้นมาในใจของเรา นี่เป็นข้อเท็จจริงจากเรา

เวลาชำระกิเลส มันต้องเป็นข้อเท็จจริง มรรคญาณ เห็นไหม อนาคามิมรรค มันเกิดในใจ มันต้องเป็นความจริงของเรา แล้วความจริงของเรานี่ ระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันต่อสู้ มันพลิกแพลงกัน เราทำของเราให้เต็มที่ของเรา เวลามันสมุจเฉทปหานนะ ครืน! ครืน! ในหัวใจเลยล่ะ

สิ่งที่หวั่นไหว สิ่งที่เราไม่สามารถเผชิญกับโลกได้ เราไม่กล้าลืมตามองใครนะ เวลากามราคะมันรุนแรง เราไม่กล้ามองใครเลย เพราะหัวใจมันหวั่นไหวมาก หัวใจมันสั่นไหวไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะกามราคะมันรุนแรง

แต่ถ้าเราพิจารณาของเราด้วยสัจธรรม เห็นไหม ลมรุนแรง ลมที่กรรโชกพัดรุนแรงขึ้นมา มันจะช่วยทอน ช่วยทำให้มันจางลง ช่วยทำให้มันละเอียดขึ้น เห็นไหม มันจะละเอียดขึ้นๆ เข้าไปสู่ที่ใจ พิจารณาซ้ำพิจารณาซากๆ มันไปครืน! กันในหัวใจนะ ถ้าหัวใจครืน! มันทำลายไปแล้ว มันทำลาย เห็นไหม มันมีเศษส่วน

เศษส่วน พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป สิ่งที่จิตใจไม่หวั่นไหวกับกามราคะ แต่สิ่งที่มันสงสัย เศษทิ้งมันยังสงสัย พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป มันก็ติดอีกน่ะ พอพิจารณาซ้ำๆ แล้ว คิดว่ามันทำแล้วไง นี่คืออรหัตตมรรค นี่คือหมดแล้ว แล้วก็ว่างหมดเลย เห็นไหม ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด กายนอก กายใน กายในกาย แล้วตัวมันล่ะ ตัวมันเป็นอะไร ตัวมันเป็นอะไร

เห็นไหม สิ่งที่สั่นไหวมาจากข้างนอกมาทั้งหมด ใจมันไหวมาทั้งหมดเลย เวลามันถึงที่สุดแล้วนะ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” จะผ่องใส เศร้าหมอง ไหวไหม? มันสั่นมันไหวของมันนะ มันสั่นมันไหวอันละเอียดไง สั่นไหวอยู่ที่ในหัวใจของเรา ไม่ต้องอาศัยการกระทบจากที่ไหน ไม่ต้องอาศัยการกระทบจากใคร ไม่ต้องลืมตามองใคร ไม่ต้องฟังเสียงใคร ไม่ต้องอยู่กับใคร มันก็เฉา มันก็เหงา มันก็หงอย

แต่ถ้าพิจารณาซ้ำพิจารณาซากขึ้นไป เห็นไหม มันก็จับได้

ถ้ามันจับได้ เห็นไหม ระหว่างธรรมกับกิเลส อรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นธรรมกับกิเลสที่มันต่อสู้กัน แต่เวลาใช้ปัญญาอย่างนี้ เวลาเราใช้ปัญญา สิ่งที่เราใช้ปัญญา ปัญญานี้ถ้ามีสมาธิมันก็ออกไปเพื่อใช้ปัญญา ถ้าสมาธิเสื่อมมันก็เสื่อม แต่ถ้าอันที่มันเป็นผ่องใสๆ มันเป็นละเอียด มันใช้ออกไปไม่ได้ เพราะตัวมัน ขยับก็ออกนอก ถ้าเข้ามาข้างในมันก็ผ่องใส มันก็เศร้าหมอง เพราะใจมันไหว พอมันจับได้ มันพิจารณาของมัน เห็นไหม ย้อนกลับเข้ามา ถ้าจับได้นี่เป็นอรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรค มันพิจารณาพลิกฟ้าคว่ำดิน

ถ้าจิตนี้ได้ทำลายภวาสวะ ฐานที่ตั้ง จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ ไม่ใช่วิญญาณในขันธ์

สิ่งที่เรารับรู้อยู่นี้ วิญญาณในขันธ์ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นขันธ์ เป็นกอง เวลามันทำลายเข้ามาหมดแล้ว ทำลายขันธ์ ทำลายทุกอย่างหมดเลย เหลือแต่ตัวของมัน พอตัวของมัน เวลาทำลาย จับตัวมันได้ ถ้าใช้ขันธ์ จะไปทำลายตัวมันไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาญาณ สิ่งที่เป็นปัญญาเข้าไปทำลายถึงที่สุด ทำลายตัวภวาสวะ ทำลายตัวภพ ทำลายตัวใจ ใจที่มันสั่นไหว ที่มันเศร้าหมอง ที่มันผ่องใส เวลามันพลิกฟ้าคว่ำดินแล้วจบ ใจไม่ไหว คงที่ของมัน สิ่งที่คงที่มันเกิดขึ้นมาได้

จากที่ภวาสวะเป็นภพ ทำลายแล้วคงที่อย่างไร

คงที่แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเที่ยวสวนไง เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วสิ่งที่ตรงข้าม ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันเป็นอย่างใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหา ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนเป็นธรรมในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาสวักขยญาณทำลายกิเลสทั้งหมด แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ แล้วเราศึกษา ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าใจเราเป็นแบบนั้น เห็นไหม คงที่แบบไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เอวัง