เทศน์บนศาลา

ทำไขสือ

๑๕ ก.ย. ๒๕๕๕

 

ทำไขสือ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้อากาศดีมาก อากาศเย็น เห็นไหม เป็นโอกาสที่เราจะประพฤติปฏิบัติกัน เป็นโอกาสที่เราจะนั่งภาวนา ถ้าอากาศเย็นนะ อากาศเป็นใจกับเรา เราปฏิบัติแล้วจิตใจควรจะร่มเย็นเป็นสุข จิตใจควรจะอยู่ในร่างกายนี้ ฟังธรรมนี้เพื่อเป็นที่เกาะของใจ ถ้าใจมันไม่มีที่เกาะ มันคิดของมันไปโดยตัวของมันเอง ใจนี้ ธรรมชาติของความรู้สึก นี่ความคิดมันรวดเร็วมาก มันจะคิดไปตามอำนาจของมัน ถ้ามีธรรมนี้เป็นเครื่องเกาะไว้

ถ้าเกาะไว้ เห็นไหม นี่ฟังธรรม ถ้าฟังธรรมนะ ถ้ามันมีความรู้สึก ถ้ามันเข้าไปสู่เนื้อของธรรม ถ้าธรรมนี้เข้าไปสู่ใจของเรา เราจะสะเทือนใจมาก มันจะสะเทือนใจมาก ถ้าสะเทือนใจแล้วนะ สิ่งที่จะทำให้มีความรู้สึกนึกคิดออกไปนอกลู่นอกทางนี่มันจะไม่คิดไม่ทำ เพราะมันเห็นคุณค่าไง เห็นคุณค่านะ

นี่ชั่ววินาทีเดียว เห็นไหม ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น มันสามารถทำให้จิตใจนี้สะอาดบริสุทธิ์ได้ แต่ถ้าขณะที่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น กว่าที่มันจะเป็นไปได้มันจะต้องมีการก่อร่างสร้างตัวกันมา จิตนี้มันจะมีการก่อร่างสร้างตัวมันมา มันจะต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาอันนี้มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนี้

แต่ที่เราใช้ปัญญากันอยู่นี้มันเป็นประโยชน์กับการดำรงชีวิต เพราะการดำรงชีวิตเรา เราต้องมีหน้าที่การงานของเรา เราทำ เห็นไหม เราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาในหน้าที่การงานของเราเพื่อหน้าที่การงานของเราให้ประสบความสำเร็จ ด้วยมีสติด้วยมีปัญญาของเรา นี้คือปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกคือปัญญาในสามัญสำนึก ปัญญาในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นี้

แต่เราฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเข้าไปถึงหัวใจอันนี้ หัวใจของเราไง ปฏิสนธิจิต เวลาเกิดในไข่ ในครรภ์ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ จิตกำเนิด กำเนิด ๔ จิตเวียนตายเวียนเกิดนะ เพราะจิตมันเวียนตายเวียนเกิดของมัน มันถึงได้สร้างบุญญาธิการ สร้างอำนาจวาสนาบารมีมา ถ้าไม่สร้างอำนาจวาสนาบารมีมา เราจะไม่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

ดูสิ เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีโอกาสของเรา เรามีปัญญาของเรา เรามีหน้าที่การงานของเรา เราใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม มนุษย์สามารถเอาช้างเอาม้า เอาสัตว์ที่มีกำลังเหนือกว่าเรามาใช้งานได้ เห็นไหม นี่มนุษย์มีปัญญา ถ้ามนุษย์มีปัญญา มนุษย์ทำหน้าที่การงานของเรา

เวลาในชาติบ้านเมืองเขาบอกว่า ชาติจะเจริญ เจริญเพราะการศึกษา...ใช่ ชาติเจริญเพราะการศึกษา แต่การศึกษามาแล้วต้องมีศีลธรรมจริยธรรม ศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าศีลธรรมที่ดีงาม เห็นไหม ในครอบครัวครอบครัวหนึ่งนะ ถ้าลูกเรากตัญญูกตเวที ความกตัญญูกตเวทีนี้ ถึงจะฟังเพื่อน ถึงจะมีเพื่อน มันก็มีจิตใจฝักใฝ่เผื่อพ่อเผื่อแม่ มันจะไม่ไปทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไง แต่ถ้ามันไม่มีจิตใจที่กตัญญูกตเวที เวลามันคิดของมัน มันไปของมันนะ

ดูสิ เวลาเด็กที่มันหนีออกจากบ้านไป มันเร่ร่อนของมันไป ด้วยความคิดของมันว่ามันจะเอาตัวของมันรอดได้ แต่ถ้าพ่อแม่ ถ้าเราดูแลของเรา เห็นไหม ในเมื่อชาติตระกูลของใคร ใครก็ต้องรักษาเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดานะ ถ้ามันมีความเข้าใจกันได้ สิ่งต่างๆ ที่เราคุยกันรู้เรื่องได้ อันนี้มีคุณค่ามาก

ในครอบครัวของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข ในเมื่อในครอบครัวของเราคุยกันรู้เรื่อง สิ่งนี้ เห็นไหม เวลากลับบ้าน เวลาเรากลับบ้าน ในบ้านของเรา เรากลับบ้านแล้วเรามีความสุขนะ บางคนไม่อยากกลับบ้าน เพราะในบ้านมีแต่ปัญหา ในบ้านมีแต่เรื่องมีแต่ปัญหาทั้งนั้น แล้วคิดดูสิว่าเวียนตายเวียนเกิดมา ทำไมมันเป็นแบบนั้นล่ะ

คำว่า “เวียนตายเวียนเกิดมา” เวลาเกิดมาทุกคนก็ต้องให้สมความปรารถนา มีลูกมีเต้ามีต่างๆ ก็อยากจะให้เชื่อฟัง ให้เป็นคนดีทั้งนั้นน่ะ นี่เพราะเราปั้นของเรามากันเอง แต่ทำไมคุยกันไม่รู้เรื่องล่ะ แต่ถ้าคุยกันรู้เรื่อง เห็นไหม สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา นี่เวียนตายเวียนเกิด นี่จิตนี้สำคัญ

ถ้าจิตนี้สำคัญ เห็นไหม ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เราจะได้มานี้เราได้มาด้วยสติด้วยมีปัญญา มันถึงมีทรัพย์สมบัติสิ่งนั้นมา มีทรัพย์สมบัติสิ่งนั้นมาแล้วเราจะใช้สอยอย่างใด เราจะเอาทรัพย์สิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์อะไรกับการดำรงชีวิตของเรา เห็นไหม ทรัพย์นี้มันต้องไปแลกอาหารมา ในเมื่ออาหารมันเป็นการดำรงชีวิต ทรัพย์นี่กินไม่ได้นะ แต่ทรัพย์นี่เราใช้แลกเปลี่ยนมาเป็นประโยชน์กับเราได้

ฉะนั้น สิ่งที่เราได้มา ทรัพย์สมบัติๆ มันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม เราหามาแล้วเราต้องเก็บต้องรักษา ไอ้การเก็บรักษานี่สำคัญมาก

ตระกูลใดรู้จักซ่อมบำรุงรักษา มีการเก็บ มีการประหยัดมัธยัสถ์ ตระกูลนั้นจะมั่นคง ตระกูลใดใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ตระกูลใดไม่รู้จักเก็บรักษา ตระกูลนั้นจะขัดสนไปข้างหน้า เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตั้งแต่ฆราวาสนะ ฆราวาส ในความเป็นอยู่ของโลก นี่ความเป็นอยู่ของโลก ถ้าเขามีสิ่งนั้นแล้วจิตใจเขามีความสุข มีความสงบ ความระงับ เขาถึงจะมีแก่ใจที่จะมาศึกษาธรรม ถ้ามาศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเพื่อใครล่ะ? ก็เพื่อชีวิตเขานั่นแหละ ถ้าจิต ชีวิตของเขาลุ่มๆ ดอนๆ เขาก็มีความทุกข์ความยากของเขา

นี่โอกาสของคนนะ เวลาคนเกิดมานี่ คนที่มีโอกาสเขาก็ไม่ประพฤติปฏิบัติของเขา เขามีโอกาสคือเขาพร้อมทุกอย่าง แต่เขาไม่ทำของเขา เพราะจิตใจของเขาหยาบ จิตใจของเขาคิดว่าเขาเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตของเขาให้มีความร่มเย็นเป็นสุขในอุดมคติของเขา แต่คนที่ขาดแคลน คนที่ทุกข์ยากขาดแคลน อยากจะประพฤติปฏิบัติ มันก็มีหน้าที่การงานมาบีบคั้น หน้าที่การงานต้องรับผิดชอบ

เห็นไหม คนอยากทำก็ไม่ได้ทำ ไอ้คนไม่อยากทำ คนที่มีโอกาสกลับไม่อยากทำ เห็นไหม เกิดมาทุกคนไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนะ สิ่งที่เป็นวัฏฏะนี่ วัฏวน ถ้าวัฏวน เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนที่สุดแห่งทุกข์ ศาสนาสอนตั้งแต่ความเป็นอยู่ในบ้าน ความเป็นอยู่ของการบริหารจัดการ ความเป็นอยู่ ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดีต่างๆ สอนให้คนเป็นคนดีเพื่อให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข

ถ้าสังคมร่มเย็นเป็นสุขนะ สมณะชีพราหมณ์ก็มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ แล้วสมณะชีพราหมณ์ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราล่ะ เราเป็นใคร เราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราอยากประพฤติปฏิบัติ เพราะให้พ้นจากทุกข์ มันก็ต้องมีแก่ใจนะ

คนนอนหลับอยู่นะ เราจะป้อนอาหารเขา เราจะสั่งสอนเขา คนนอนหลับมันไม่รับรู้สิ่งใดหรอก จิตใจนี่มันหลับใหลไปกับโลกนะ เราก็เห็นนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่เห็นโทษ ผู้ที่จะเอาตัวรอดให้ได้ นี่เรามองไปในโลกสิ เขาก็บอกว่าเรานี่เห็นแก่ตัว ทำไมเราไม่อยู่กับโลกเขา ทำไมไม่ทำงานตามโลกที่เขาบริหารจัดการกัน เราหลีกตัวออกมา เราปลีกตัวออกมา แล้วเราจะได้ประสบความสำเร็จไหม เป็นคนเห็นแก่ตัวๆ เห็นไหม นี่เวลาโลกเขาพูดอย่างนั้น เราล่ะ เราจะมีกำลังใจมากพอไหม

ถ้าเรามีกำลังใจของเรา เราเข้าใจของเราได้ นี่ถ้าจิตใจมันละเอียด จิตใจที่มันละเอียดกว่ามันจะเข้าใจสิ่งนั้นได้ ถ้าเราเข้าใจสิ่งนั้นได้ เราต้องวางสิ่งนั้นไว้ เพราะถ้าจิตใจมันด้าน มันทำไขสือนะ คนทำไขสือ เห็นไหม เขาทำของเขา เขาไม่โต้ไม่แย้ง ไม่แอะสักคำเลย เขาทำไขสือ ทำไมรู้ไม่ชี้

ถ้าไขสือโดยสันดาน เห็นไหม เด็กที่เราต้องการให้มันเชื่อฟัง ให้มันฟังเรา ถ้ามันดื้อ นี่มันทำไขสือของมัน พอไขสือของมัน เราอธิบายขนาดไหนเขาไม่รับรู้กับเราทั้งนั้นน่ะ นี้พูดถึงถ้าทำไขสือโดยสันดาน ถ้าทำไขสือทางโลก เขาเอาแต่ประโยชน์ของเขา ถ้าเป็นประโยชน์ของเขา เขาเอา แต่ถ้าเป็นประโยชน์กับคนอื่นเขาไม่สนใจ เห็นไหม นี่ทำไขสือ ถ้าทำไขสือแล้วมันจะไม่เป็นประโยชน์กับใคร นี้ไขสือโดยสันดาน

แต่เวลาถ้าเป็นกิเลสล่ะ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราชี้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ปัจจยาการของอวิชชาในหัวใจของสัตว์โลก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เห็นไหม เพราะมีอวิชชามันถึงมีการเกิดถึงมีการขับเคลื่อนไป ถ้าจิตมีการขับเคลื่อนไป สิ่งที่ขับเคลื่อนไป เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นสิ่งนี้มา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเป็นกษัตริย์ ไปเที่ยวสวน เห็นยมทูต เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นี่เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นนะ สถานะของทางโลกคือจะได้เป็นกษัตริย์ สถานะของทางโลก สิ่งที่ทางโลกเขาแสวงหากัน อำนาจทุกคนแสวงหา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สละทิ้งมา สละทิ้งมาเพราะว่า ถ้าเราเป็นกษัตริย์ เราก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ ตั้งแต่พระเวสสันดรย้อนกลับไป ถึงพระเวสสันดรเป็นชาติสุดท้ายมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนี่มันสร้างสมบุญญาธิการมา สร้างสมบุญญาธิการมาเพราะจิตละเอียดลึกซึ้ง เห็นไหม ถึงเห็นคุณค่าไง

เห็นคุณค่า บอกว่า ถ้าเป็นกษัตริย์อยู่ก็ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราออกแสวงหาล่ะ ออกแสวงหาการไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ถ้าออกแสวงหาการไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันจะไปแสวงหาที่ไหนล่ะ

แสวงหา เวลาออกไปบวชแล้วเข้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไปแสวงหาทางโลก ทางโลกหมายความว่า เวลาที่ศาสดาต่างๆ ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ๆ นี่ฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์คือทางโลก เห็นไหม

ว่าโลกนี้มีกายกับใจ เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีชีวิต พอมีชีวิตขึ้นมา เรามีร่างกาย พอมีร่างกาย นี่โลกเห็นได้แต่ร่างกายเป็นหญิง เป็นชาย เป็นนักบวชต่างๆ เขาเห็นแต่ร่างกายความเป็นมนุษย์ไง แต่ค่าของน้ำใจๆ นี่ศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสวงหาอยู่ แสวงหาตรงนี้

แสวงหา เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหาร ๔๙ วัน จนขนเน่านะ รากขนเน่าร่วงหมดเลย นี่เพราะอดอาหารเฉยๆ ไง คำว่า “อดอาหารเฉยๆ” เพราะอะไร คนเรานี่เห็น เราเห็นแต่ร่างกายของคน แต่ความรู้สึกนึกคิดของคนล่ะ ความรู้สึกนึกคิดมาจากไหนล่ะ? มันมาจากจิต ถ้ามันมาจากจิต แล้วจิตมันปรารถนา นี่กิเลสมันพาไขสือไง พาไขสือว่าเราจะประพฤติปฏิบัติ ไปปฏิบัติกับใครก็แล้วแต่ ทำทุกรกิริยาต่างๆ อดอาหาร

อดอาหารก็คือการอดอาหาร อดอาหารก็อดแบบคนทุกข์คนยากที่ไม่มีจะกิน อดอาหารนั่นก็อดของเขา เวลาอดอาหารไปแล้ว อดอาหารเพราะคิดว่าจะชำระกิเลส อดอาหารเพื่อจะชำระกิเลสๆ แล้วมันก็ชำระไม่ได้ มันชำระไม่ได้เพราะว่ามันอดโดยไม่ได้ใช้ปัญญา อดโดยไม่ใช่เป็นมรรค เพราะขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่กำลังลองผิดลองถูกอยู่ มันก็ไม่มีทางออกไง

แต่เวลาทำถึงที่สุดแล้ว มันลองมาทุกๆ วิถีทาง มันไปไม่รอดแล้ว เห็นไหม กลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา กลับมาฟื้นฟูร่างกาย พอฟื้นฟูร่างกาย คิดถึงนี่ จิตใจมันปลอดโปร่ง คิดถึงวันที่เราเป็นราชกุมาร กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก อานาปานสติ เห็นไหม จิตใจมันร่มเย็นเป็นสุขขนาดไหน เวลาฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วกำหนด “คืนนี้ถ้าเรานั่งแล้วไม่ตรัสรู้ จะนั่งตายคืนนี้เลย” นี่กำหนดอานาปานสติให้จิตมันสงบเข้ามา

จากที่อดอาหารเฉยๆ เวลาจิตมันสงบเข้ามา นี่มันมีปัญญาของมัน ขณะว่าจิตสงบเข้ามาด้วยสติปัญญา เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ นี่มันเคลื่อนไปก็รู้ทัน จิตมันรู้ทันนะ รู้ย้อนกลับไปตั้งแต่พระเวสสันดร ย้อนกลับไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่มันมีสติปัญญา พอมีสติมีปัญญา เป็นสติปัญญาทางโลก

ทางโลกหมายความว่า คนเกิดมามีกายกับใจ เจ้าลัทธิต่างๆ ที่เขาประพฤติปฏิบัติอยู่นี่เขาก็ประพฤติปฏิบัติของเขาโดยทางโลก ทางโลกคือฌานโลกีย์ ทางโลกคือจิตมันสงบ จิตมันเหาะเหินเดินฟ้า มันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ เพราะมันไม่ผ่านมิติเข้าไปสู่การชำระกิเลสได้

ฉะนั้น สิ่งที่ปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณนี่เรื่องโลกๆ ดึงกลับมาจุตูปปาตญาณก็ยังโลก เพราะมันยังเกิด เห็นไหม จิตนี้ตายแล้วก็เกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ มันก็เกิดในวัฏฏะ มันก็ยังเป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม ถ้าเรื่องโลกมันชำระกิเลสไม่ได้ ย้อนกลับมาถึงปัจจุบัน ย้อนกลับมาจิตที่สงบเข้ามาแล้วเข้าสู่ปัจจุบันของใจ

ถ้าใจเข้าสู่ปัจจุบัน อาสวักขยญาณ ปัจจุบันที่ใจมันทำ เห็นไหม ถ้าใจมันทำ นี่ไง สิ่งที่อาสวักขยญาณชำระกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ชำระกิเลส พลิกฟ้าคว่ำดินน่ะ จบสิ้นกระบวนการของมันไป ถ้าจบสิ้นกระบวนการของมันไปได้อย่างไร? อาสวักขยญาณ นี่มรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรม สติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ งานชอบ ความชอบธรรมอันนั้นมันเป็นปัญญา มันเป็นมรรค

ขณะที่อดอาหาร ตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะที่กำลังต่อสู้กับกิเลสที่การอดอาหาร มันอดอาหารโดยไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่ได้อดอาหารด้วยจิต เห็นไหม จิตไม่มีกำลัง จิตไม่มีปัญญา จิตไม่มีการกระทำขึ้นมา มันอดอาหารเฉยๆ การอดอาหารอย่างนั้น นี่เรื่องของกายกับใจ นี่โลกเห็นได้ เห็นเป็นเรื่องโลกๆ

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคญาณที่มันเกิดขึ้น มันพร้อมมรรค ๘ พร้อมกันที่ชำระกิเลสจนสิ้นกิเลสไป เห็นไหม พอสิ้นกิเลสไป วางธรรมและวินัยนี้ไว้ สิ่งที่วางธรรมวินัยนี้ไว้ให้เราก้าวเดินตาม เราเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราศึกษากันมา ศึกษา ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมนะ ศึกษามานี่ปริยัติศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ปฏิบัติทำอย่างไร

เราศึกษามาเป็นปริยัติ เราว่าเรารู้ เห็นไหม ถ้ากิเลสมันไขสือนะ มันทำสิ่งนี้ ถ้าทำสิ่งนี้มันก็เป็นอุปาทาน ถ้าเป็นอุปาทานมันก็เป็นสัญญา พอสัญญาขึ้นมา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปมันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ ดูสิ เวลากิเลสมันไขสือ ไขสือนี่มันอ้างธรรมะไง อ้างธรรมะโดยที่จิตใจนี้มันไม่เป็นธรรม อ้างอิง เห็นไหม

ในการฝึกงาน คนที่ฝึกงาน เราไปฝึกงานกับที่สำนักงานใดก็แล้วแต่ งานนั้นเราฝึกงานมาเพื่องานของเจ้าของงานนั้น ไม่ใช่ของเรา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบมาด้วยใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ได้มรรคได้ผลขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสอนเรา วางธรรมและวินัยนี่คือทฤษฎี คือคำบอกเล่า คือสิ่งต่างๆ ที่ให้เข้ามาสู่ใจ

แล้วเราเอาสิ่งนั้นมา เห็นไหม เวลามันไขสือนี่มันศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริยัติ ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง มันจะเป็นความเป็นจริงขึ้นมาจากใจดวงนั้น แต่ถ้าใจดวงนั้นมันไม่เป็นความจริง แต่มันอ้างธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่กิเลสพาไขสือ มันจะทำให้การปฏิบัติของเรามันสร้างภาพขึ้นมาโดยไม่เป็นตามความเป็นจริง ถ้าไม่เป็นตามความเป็นจริงเราก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นถ้าจิตใจเราอ่อนแอ

จิตใจเราอ่อนแอคือบารมีธรรมมันอ่อนแอนะ สิ่งใดที่เกิดขึ้นเราก็วิตกวิจารณ์ เราก็ทำของเราแล้ว เราก็ประพฤติปฏิบัติของเราแล้ว สิ่งต่างๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนก็ได้ทำสมบูรณ์ทุกอย่างหมดแล้ว ทำไมมันไม่เป็นไปๆ เห็นไหม นี่เวลากิเลสมันพาไขสือนี่มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนะ

เวลาล้มลุกคลุกคลานมาเราก็น้อยเนื้อต่ำใจ ปฏิบัติธรรมเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วมันทุกข์ยากขนาดนี้...เวลามันทุกข์ยากขนาดนี้ เวลาทำมันทุกข์ยาก ทุกข์ยากเพราะกิเลสมันต่อต้าน กิเลสในใจของเราน่ะ

เวลาเราเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ เราก็สร้างคุณงามความดีของเรา เห็นไหม ถ้ามีสติปัญญาเราก็สร้างคุณงามความดีของเรา ด้วยความหลง ด้วยความไม่เข้าใจ คุณงามความดีของเรานี่เราทำแล้วมันเบียดเบียนใครบ้างล่ะ มันทำสิ่งใดไปกระทบกระเทือนใครบ้างล่ะ เห็นไหม เราคิดว่าเป็นบุญๆ ถ้ามันเป็นบาปล่ะ มันเป็นกรรมล่ะ ถ้ามันเป็นกรรมสิ่งนั้นเราได้สร้างบุญสร้างบาปมาในใจเรามหาศาล ฉะนั้น สิ่งที่เราทำมาๆ มันฝังจมมาในหัวใจของเรานี่ เวรกรรมมันฝังอยู่ในปฏิสนธิจิตนี่ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นมา เราจะชำระล้างมัน นี่ของที่มันฝังอยู่รากลึกมาก แล้วเราพยายามจะชำระล้าง เห็นไหม

ถ้าเราเวียนตายเวียนเกิด ดูนะ ดูทางโลกเขา ถ้าเขาทำไขสือ เขาบอกว่าเขานับถือศาสนาพุทธ แล้วศาสนาพุทธสอนอย่างไรเขาไม่รู้เลยนะ เขานับถือศาสนาพุทธแต่ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธสอนสิ่งใด

แล้วเวลาศาสนาพุทธ ให้มีทาน ศีล ภาวนา ให้รู้จักประโยชน์กับตัวเอง เขาก็บอกเขาก็คิดเอาเองว่า เราจะให้ทำไมในเมื่อเราทำหน้าที่การงานมาด้วยความทุกข์ความยาก เราจะให้ทำไม เห็นไหม ทั้งๆ ที่ให้เพื่อประโยชน์กับจิตดวงนั้นนะ ถ้าจิตดวงนั้นรู้จักเสียสละมาเพื่อให้จิตใจมันเปิดกว้าง ถ้าจิตใจมันเปิดกว้างมันจะมีสติปัญญาที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แล้วมันจะมีโอกาสของมัน

ถ้ามันทำไขสือของมัน มันเป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม ถ้าโลกเป็นแบบนั้น เขาก็คิดของเขาอย่างนั้น แต่ถ้าจิตใจของเราล่ะ จิตใจของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขๆ ทำไมมันปฏิบัติแล้วมันไม่มีความร่มเย็นเป็นสุข

มันไม่มีความร่มเย็นเป็นสุขเพราะกิเลสมันต่อต้าน เพราะกิเลสมันไม่ต้องการให้เราประพฤติปฏิบัติ เพราะกิเลสมันกลัวธรรม กิเลสมันกลัวศีล สมาธิ ปัญญา เพราะศีล สมาธิ ปัญญาจะเข้าไปชำระล้างมัน จะเข้าไปพิสูจน์กันว่า ในชีวิตเรานี่ ถ้ากิเลสมันครอบงำมันก็จะทำให้เราใช้ชีวิตแบบโลกๆ เห็นไหม คำว่า “โลกๆ” เขาก็หลงใหลกัน

โลกคือตัณหาความทะยานอยาก โลกคือสมุทัย พอสมุทัยนี่มันก็คิดจินตนาการไปว่าสิ่งนั้นจะเป็นสุขๆ สิ่งนั้นๆๆ แล้วมันก็แสวงหาสิ่งนั้น วิ่งตามสิ่งนั้นไป แล้วก็ตะครุบเงาไป ไม่เจอสิ่งใด ที่เป็นสุขจริงเลยสักอันหนึ่ง ถ้ามันไม่เป็นสุขจริงสักอัน นี่กิเลสมันหลอกอย่างนั้นไง เพราะกิเลสมันต้องการจิตของเรา ต้องการภวาสวะ ต้องการภพ ต้องการปฏิสนธิจิตเป็นบ้านเป็นเรือนของเขา

กิเลสเป็นนามธรรมนะ พญามารนี่เป็นนามธรรม แล้วพญามารมันอยู่ที่ไหน ดูสิ เวลาพอพญามาร กิเลสมันกระตุ้นเราให้เราทำกรรม เวลาทำกรรม ทำกรรมทำตามที่มันพอใจ มันเป็นสมุทัยที่หลอกล่อให้เราทำที่มันพอใจ พอทำเสร็จแล้วกิเลสมันก็ไปนั่งหัวเราะอยู่ แต่ความสุขความทุกข์ สิ่งที่ทำแล้วผลที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นกับจิตของเรา เห็นไหม มันอาศัยบ้านของเรา อาศัยหัวใจของเราเป็นที่อยู่ แล้วหลอกลวงเราให้เราทำตามแต่อำนาจของมัน ทำตามแต่อำนาจของมันแล้วก็อยู่ในอำนาจของมันตลอดไปไง ทำแล้วมันก็อยู่ในอำนาจของกิเลสตลอดไป แล้วเราก็ทุกข์เราก็ยาก

แต่เราเกิดมาในชาติปัจจุบันนี้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วเราอยากจะพ้นจากทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา ในปัจจุบันนี้เรามีความรู้สึกนึกคิด เรามีความรู้สึกนึกคิดที่ดี เรามีความรู้สึกนึกคิดที่จะแสวงหาทางออก เห็นไหม ถ้าเรามีความรู้สึกนึกคิดที่จะแสวงหาทางออก เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา กิเลสในหัวใจของเราคือมันทบต้นทบปลายมาตลอดไง คือสิ่งที่สะสมมาในหัวใจมันขัดมันกีดมันขวาง...มัดกีดมันขวาง มันกีดขวางแบบใด

เวลามันกีดมันขวางนะ เราตั้งสติขึ้นมา เราพยายามจะทำความสงบของเราขึ้นมามันก็ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะมันไม่ต่อเนื่อง พอมันไม่ต่อเนื่องมันก็ล้มลุกคลุกคลาน เวลาคำบริกรรมของเรา เราพุทโธๆ นี่คำบริกรรมของเรา นี่มันก็เกาะคำบริกรรมของเรา เดี๋ยวถ้าสติมันขาด คำบริกรรมนั้นมันก็เลือนรางไป พอความเลือนรางไปกับความชัดเจนมันแตกต่างกัน

เวลาพุทโธๆ มันชัดเจนแต่มันละเอียด จากหยาบๆ นี่เรานึกเอา นึกเอาหยาบๆ พอมันชัดเจนขึ้นมา เห็นไหม พุทโธกับเรามันจะกลมกลืนกัน กลมกลืนกันจนมันละเอียดเข้าไป จนพุทโธไม่ได้เลย เห็นไหม ถ้ามันละเอียดเข้าไปๆ ความละเอียดเข้าไปอย่างหนึ่ง แต่เราพุทโธๆๆ แล้วเลอะเลือนนั้นอย่างหนึ่ง มันแตกต่างกัน แตกต่างกันถ้ามันมีสติปัญญา เห็นไหม นี่คนที่ฉลาดเท่านั้น

เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เขาบอกว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ในการประพฤติปฏิบัติ ปัญญาจะชำระล้างกิเลส”...แล้วปัญญาของใครล่ะ

เวลากิเลสมันทำไขสือนะ มันจะอ้างว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา นี่กิเลสมันอ้างว่าเป็นปัญญาเราก็เชื่อมันไง เราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนี่ธรรมะ ปฏิบัติไปแล้วมันจะเป็นไตรลักษณ์ มันจะเป็นสิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันก็เป็นอนัตตา มันก็ปล่อยวางหมดแล้ว

เห็นไหม นี่ถ้ากิเลสมันไขสือ มันทำให้ล้มลุกคลุกคลาน เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาเราก็มีความอัดอั้นตันใจกันว่า ทำไมมันทุกข์มันยากขนาดนี้...มันทุกข์มันยาก มันเป็นที่นิสัยนะ ถ้าบางคน ผู้ที่เป็นบัว ๔ เหล่า ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายเขาก็ทำของเขามา ผู้ที่ปฏิบัติแล้วล้มลุกคลุกคลาน มันยังไม่ได้สิ่งใดมามันก็ต้องทำของเราไป สิ่งนี้มันเป็นอำนาจวาสนาของเรา มันเป็นสิ่งที่เราสะสมมาทั้งนั้นน่ะ

คนที่สร้างบุญกุศลมา เห็นไหม เขามีจุดยืนของเขา จิตใจเขามั่นคงของเขา การกระทำของเขาเสมอต้นเสมอปลาย ความเสมอต้นเสมอปลาย จิตใจมันก็ได้รับการดูแลมาแบบเสมอต้นเสมอปลายใช่ไหม อย่างของเรานี่เราปฏิบัติกัน เดี๋ยวเราก็มีความมุมานะอดทน เราก็หักโหมของเรา มันก็ดีขึ้นมาพักหนึ่ง พอดีขึ้นมาแล้ว พอขาดสติมันก็ไม่รู้จักดูแลรักษา พอไม่ดูแลรักษามันก็เสื่อมไป เห็นไหม พลังงานทุกอย่างถ้าเราใช้แล้วมันต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา

จิตของเราก็เหมือนกัน นี่ความเสมอต้นเสมอปลาย ถ้าความเสมอต้นเสมอปลายแล้วจิตเรามั่นคง เราทำความสงบของใจเข้ามามากน้อยขนาดไหน ถ้ามันออกฝึกหัดใช้ปัญญานะ ถ้าปัญญามันเกิดจากภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากจิตที่มันสงบแล้วมันออกรู้ออกเห็น ออกรู้ออกเห็นในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละ

ความรู้สึกนึกคิดของเรา เวลากิเลสมันพาใช้นะ กิเลสมันก็ใช้ความรู้สึกนึกคิดของเราไปทำโทษ ทำสิ่งที่เข้ามาเป็นโทษกับตัวเราเอง แต่เพราะเรามีสติเรามีปัญญา เราทำความสงบของใจเราเข้ามา เราก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน แต่ความรู้สึกนึกคิดนี้มันอยู่บนสัมมาสมาธิ มันอยู่กับจิตที่ตั้งมั่น จิตที่อิ่มจากอารมณ์ อิ่มเพราะเรามีคำบริกรรมของเรา

พอมันฝึกหัดใช้ปัญญาไป เห็นไหม มันแยกแยะไป มันจับต้องได้ นี่การขุดคุ้ยหากิเลส การขุดคุ้ยว่าเราจะใช้ปัญญาตรงไหน ใช้ปัญญาอย่างใด ใช้ปัญญาให้มันเป็นภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร นี่ถ้ามันเลื่อนลอย มันจับต้องสิ่งใดไม่ได้ มันก็ว่าง เวิ้งว้างไปหมด แต่จับต้องสิ่งใดไม่ได้ จับต้องสิ่งใดไม่ได้ แต่ปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใดล่ะ

เพราะถ้ากิเลสมันไขสือ “มันก็ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ถ้าเวิ้งว้างไปนี่ เวิ้งว้าง นิพพานเป็นความว่าง เป็นต่างๆ มันเป็นผลของการภาวนาไง”

แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ ถ้ามีสติ เราฝึกหัดของเรา เรามีสติของเรา ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จิตมันอิ่ม จิตมันอิ่มของมัน มันมีกำลังของมัน นี่เราพิจารณาของเรา พิจารณาในความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละ ถ้าพิจารณาความรู้สึกนึกคิด เราพิจารณาของเราไป นี่มันสลดมันสังเวชเข้ามา แล้วพยายามใช้สติปัญญาของเราสังเกตดู

สังเกตนะ ความคิดมันเกิดอย่างไร นี่เวลาความคิดที่คิดขึ้นไปนี่มันเกิดอย่างไร ถ้ามันจับต้องได้ จับต้อง เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม ถ้าจิตมันเห็น มันจับต้องของมัน มันสะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวใจ ถ้ามันสะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวใจ เห็นไหม มันไม่ไขสือแล้วนะ

ความว่าไขสือนี่ เวลาปฏิบัติไปกิเลสมันพาไขสือนะ มันก็บอกสิ่งนี้เป็นธรรม มันดีมันงามไปหมด คำว่า “ดีงาม” หมายความว่า ปฏิบัติไปแล้วมันเบา มันมีความรู้สึกนึกคิดที่ดีๆ...ความรู้สึกนึกคิดที่ดีๆ มันก็เป็นความดี ความดีเป็นความดีของใจ

เวลากิเลสมันพลิกแพลง กิเลสมันพาไขสือ กิเลสมันพาออกใช้ มันก็คิดเหมือนกัน แต่มันคิดเป็นวิบากกรรม คิดแต่สิ่งที่ทำให้ล้มลุกคลุกคลาน คำว่า “ล้มลุกคลุกคลาน” พอคิดแล้วจิตใจมันจะสั่นไหว พอจิตใจมันสั่นไหวนะ มันก็ทำให้จิตเสื่อม จิตใจนี้มันไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วเวลาคิดสิ่งใดทำสิ่งใดมันทำเป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม

ถ้าเรื่องโลกๆ มันจะสร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นน่ะ นี่เวลาคิดทางลบ คิดทางชั่ว ถ้าคิดทางดีมันก็เป็นประโยชน์กับทางดี เห็นไหม เป็นประโยชน์กับหัวใจของเรา นี่มันคิดทางดีเพราะมันพาใจไปสิ่งที่ดี มันก็เบามันก็สบาย นี่มันก็เป็นเรื่องโลกน่ะ ถ้าเรื่องโลกแล้ว ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันพาไขสือ จิตมันดื้อ จิตมันด้าน จิตมันไม่มีภาวนามยปัญญา ไม่มีมรรคญาณ ไม่มีสิ่งใดที่เข้าไปขุดคุ้ย เข้าไปจับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเราไง นี่พูดถึงการประพฤติปฏิบัตินะ

เห็นไหม เวลาทางโลกเขา เขาบอกว่าปฏิบัติเพื่อความสุข แล้วเวลาปฏิบัตินี่ทำไมเราไม่มีความสุข เราปฏิบัติแล้วทำไมมันต้องล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้

การล้มลุกคุลกคลานขนาดนี้ ถ้าเป็นธรรมๆ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น สิ่งที่ว่าช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น มันก็สร้างสมมาจากนี่ไง ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น เวลามรรครวมตัว มรรคสามัคคีมันสมุจเฉทปหาน นี่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ทีเดียวมันขาดเลย แต่ก่อนที่มันจะขาด มันเอาอะไรมาขาดล่ะ

เรานะ ดูสิ เรารักษาโรค คนเจ็บไข้ได้ป่วยไปรักษาโรค หมอเขาต้องวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร เขาต้องดูแลรักษา เห็นไหม ถ้าเขาวิเคราะห์โรคไม่ได้เขาก็รักษาตามอาการนั้นจนกว่าร่างกายนั้นจะแข็งแรง พอร่างกายนั้นแข็งแรง โรคนั้นก็จะหายไปโดยธรรมชาติของมัน นี่เขามีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ ทีนี้ของเรา เราจะชำระล้างกิเลสของเรา เราจะฆ่ากิเลสของเรา เราจับต้นชนปลายไม่ถูกเลย แล้วมันจะเอากิเลสมาจากไหน

การฝึกหัดไปมันก็ดีกับชั่วนี่แหละ เห็นไหม กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ทำดีมา ทำชั่วมา นี่ถ้าพูดถึงความดี ความดีมันก็ปล่อยวาง มันก็เวิ้งว้าง มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าความชั่ว ความชั่วมันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็ทำให้จิตใจขุ่นมัว นี่มันก็เดินไปคู่กันน่ะ แล้วอะไรมันเป็นธรรมล่ะ เห็นไหม นี่กิเลสมันพาไขสือไง ทำพาไขสือนี่มันทำให้เราปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าเป็นประโยชน์ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ไง “อานนท์ เธอบอกเขานะ บริษัท ๔ นี่ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย” เราก็เชื่อฟัง เห็นไหม ด้วยอามิสบูชา เราได้ทำของเรามากันแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้เราจะปฏิบัติบูชา

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “อานนท์บอกเขานะ ให้ปฏิบัติบูชาเถิด” เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นเขาจะได้มรรคได้ผลของเขา เขาจะได้คุณงามความดีของเขา เห็นไหม เวลาปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปฏิบัติเพื่อเรานั่นแหละ ปฏิบัติเพื่อให้หัวใจมันรู้จักคุณจักโทษ รู้จักความดีความชั่ว ความดีความชั่วทางโลกนั้นอย่างหนึ่ง ความดีความชั่วทางโลกที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี้มันเป็นความดีความชั่วที่ทำให้เราเกิดในวัฏฏะ

ผลของวัฏฏะ เกิดมาแล้วมันจะมีอำนาจวาสนาบารมีมาขนาดไหน จิตใจจะมีความมั่นคงขนาดไหน จิตใจจะวอกแวกวอแวขนาดไหน มันก็เป็นจริตนิสัยที่สร้างมาทั้งนั้นน่ะ นี่ความดีความชั่วของวัฏฏะ

แต่ในการประพฤติปฏิบัตินี่เป็นความดีความชั่วของจิตปัจจุบันนี้เลย ถ้าปัจจุบันนี้ ถ้าสำรอกคายกิเลสออกเดี๋ยวนี้ มันก็จะสิ้นกิเลสเดี๋ยวนี้ มันไม่ไปรอชาติไหนอีกแล้วล่ะ มันจะปฏิบัติเดี๋ยวนี้แหละ ถ้าปฏิบัติเดี๋ยวนี้ เห็นไหม เราต้องมีสติมีปัญญา อย่าทำไขสือ ถ้าทำไขสือน่ะมันทำสักแต่ว่าทำกันไป แต่ถ้าทำความจริงนะมันจะเป็นจริงขึ้นมา

ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันไม่สงบนะ ความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นเรื่องโลกทั้งนั้นน่ะ ถ้าความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นโลกมันก็เป็นเรื่องของโลก มันเป็นเงา มันเป็นอาการ มันไม่ใช่ตัวใจ ฉะนั้น ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา จากที่ทำความสงบของใจเข้ามา พอจิตมันสงบบ้าง คำว่า “สงบบ้าง” หมายความว่า ทุกคนจะบ่นมาก “แล้วเมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญาๆ”

ปัญญานี่ใช้ได้ตลอดอยู่แล้วนะ เพราะถ้าปัญญาอบรมสมาธิเราก็ใช้ปัญญาเหมือนกัน ถ้าปัญญานี่ปัญญาเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ปัญญาเพื่อความสงบระงับ...ร่มเย็นเป็นสุขหมายความว่า ถ้าจิตมันคิดคึกคะนองออกไปทางโลก เราก็ใช้เหตุใช้ผลโต้แย้งกันในหัวใจของเรา พอมันเห็นผลมันก็วางเข้ามาๆ นี่ถ้ามันร่มเย็นเป็นสุข ปัญญาที่พาให้ร่มเย็นเป็นสุขมันก็ไม่คิดคึกคะนองออกไปเป็นเรื่องโลกๆ

ถ้าไม่คิดคึกคะนองออกไปเป็นเรื่องโลกๆ มันก็มีความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกนึกคิด เห็นไหม มันไม่คิดคึกคะนองออกไป แต่มันก็คิดอยู่ พอมันคิดอยู่นี่มันก็เผาลนอยู่เหมือนกัน เห็นไหม ไฟสุมขอน ไฟสุมขอนมันก็เผาไหม้อยู่ในนั้นนะ ความรู้สึกนึกคิดมันก็คิดแล้วคิดอีก เพราะเราหยุดความคิดไม่ได้ ถ้าบังคับให้หยุดความคิดไม่ได้ เราก็ใช้สติปัญญาตามความคิดนี้ไปโดยใช้ปัญญา เห็นคุณเห็นโทษของความรู้สึกนึกคิดเรา ถ้าเห็นคุณเห็นโทษของความรู้สึกนึกคิดเรา นี่เพราะเห็นคุณเห็นโทษไง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

พอเราใช้ปัญญาพิจารณาความรู้สึกนึกคิดว่ามันให้แต่โทษๆ มันก็ปล่อย เห็นไหม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”...ดับแล้วรู้อะไรล่ะ? มันไม่รู้ นี่ดับเข้าไป ถ้ายิ่งไขสือยิ่งไม่รู้สิ่งใดเลย

แต่ถ้ามีสตินะ เวลามันดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะความรู้สึกนึกคิดมันเกิดขึ้น มีสติปัญญาด้วยเหตุด้วยผลมันก็ดับลง เพราะมันปล่อย มันปล่อยแล้วมันเหลืออะไรล่ะ ถ้าเรามีสติอยู่ เห็นไหม นี่มีสติอยู่มันปล่อยแล้วมันก็คือตัวจิต แป๊บเดียวมันก็คิดอีก เพราะอะไร เพราะปัญญาอบรมสมาธิเป็นแบบนี้

แต่ถ้าเป็นพุทโธๆๆ เข้าไป นี่เราพุทโธของเราเพื่อให้จิตมันสงบระงับเข้ามา ถ้าจิตสงบระงับเข้ามาแล้ว นี่มันพุทโธอีกไม่ได้ พุทโธแล้วมันเครียด พุทโธแล้วมันไม่ต่อเนื่อง เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาตรึกตรองในความรู้สึกนึกคิดเรานี่ ปัญญาใช้ได้ทุกที่ ปัญญาใช้ได้ทุกสถาน เพียงแต่ว่า ที่บอกว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วใช้ปัญญาแบบไขสือ ใช้ปัญญาโดยกิเลสมันพาใช้ เพราะไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วก็บอก อ้างอิงเป็นคำเดียวกับที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดหมดเลย แต่ตัวเองไม่รู้สิ่งใดเลย เห็นไหม นี่ถ้าทำพาไขสือมันก็ไขสืออย่างนี้ พอไขสืออย่างนี้ปั๊บ แล้วเมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญาล่ะ

ถ้ามันไขสืออย่างนี้มันก็เป็นเรื่องโลก ถ้าเป็นเรื่องโลกมันก็เป็นโลกียปัญญา เพราะปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเรา ปัญญาเกิดจากภวาสวะ ภวาสวะนี้มันมีอวิชชา ถ้าอวิชชาเกิดขึ้นมันก็ขึ้นตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น มันก็หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เห็นไหม ถ่ายเทกันไปถ่ายเทกันมาด้วยระหว่างโลกกับธรรม มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา นี่เพราะทำมันพาไขสือ

ฉะนั้น เราจะทำความจริงของเราขึ้นมาแล้ว เราไม่ไขสือ เราจะเอาความรู้สึกนึกคิด เอาความเป็นจริงของเรา นี่ถ้ามันเอาความจริงของเรา เราจะตั้งสติของเรา มันจะสงบขนาดไหน มันมีความสงบบ้าง ฝึกหัดใช้ปัญญาไป พอฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะละเอียดเข้ามา เห็นไหม

แม้แต่ว่าเวลาเราพุทโธๆ ถ้ามันละเอียดเข้ามา พุทโธจนจิตมันเป็นเนื้อเดียวกัน พุทโธจนพุทโธไม่ได้ไป นี่พุทโธๆ แล้วมันเลือนรางไป นี่มันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะมันเลือนรางไป เลือนรางไปเพราะกิเลสมันยังปกคลุมใจอยู่ด้วยความหนาแน่น แต่มันเลือนรางไปด้วยพุทโธๆๆ แล้วหายไป นี่มันขาดสติ ถ้าขาดสติ ถ้ามันมากกว่านั้นมันก็ตกภวังค์ พอตกภวังค์ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

ถ้าเป็นสัมมา ถ้าเราพุทโธๆ ถ้ามันเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วมันจะละเอียดเข้ามา แล้วเราภาวนาอีกไม่ได้ นี่เราฝึกหัดใช้ปัญญาได้แล้ว ฝึกหัดใช้ปัญญาว่าทำไมเรามันเป็นอย่างนั้น เราฝึกหัดใช้ปัญญาให้ปัญญาเข้ามาพิจารณา ให้ปัญญาเข้ามา ให้จิตนี้มีหลักมีเกณฑ์ ให้จิตนี้มีจุดยืน ถ้าจิตนี้มีจุดยืนนะ พอมีจุดยืน ใช้ปัญญาเหมือนกับเราสอนเด็กๆ เห็นไหม

เวลาเด็กๆ นี่ผิดชอบชั่วดี มันความไร้เดียงสาของเด็กเขาไม่เข้าใจของเขา เราก็ต้องสั่งสอนนะ สิ่งนี้ผิดสิ่งนี้ถูก ให้เด็กมันรู้ถูกรู้ผิด มีความผิดชอบชั่วดี ให้เด็กมันพัฒนาขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราใช้ปัญญาของเรา ให้จิตของเรา “พุทโธแล้วมันไม่ได้ผล พุทโธแล้ว...” เราฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาในอะไร

ปัญญาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาในการประพฤติปฏิบัติ ปัญญาในชีวิตของเรา เราทำสิ่งใดเพื่อเหตุใด เพื่อเหตุผลอะไร นี่มันใช้ปัญญาแยกแยะอย่างนี้ปั๊บ นี่ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติ เรามาควบคุมหัวใจของเรา เราจะคิดอย่างไร เราไปไหนไม่ได้หรอก เราก็อยู่นี่แหละ แต่เวลาคิดขึ้นไปแล้วมันได้ประโยชน์อะไร

ขณะที่เราทำหน้าที่การงานเราก็เบื่อหน่าย เราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติแล้วทำไมมันยังคิดออกไปข้างนอกอีกล่ะ ทำไมจิตใจของเรานี้มันโลเลนัก ทำไมจิตใจของเราไม่มีจุดยืนเลย ทำไมจิตใจของเราใช้ไม่ได้เลย เห็นไหม นี่ถ้าปัญญามันทันด้วยสตินะมันอาย อายด้วยเหตุผล พออายด้วยเหตุผลมันก็ตั้งใจทำ ตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจเพื่อจะให้เป็นประโยชน์กับเรา นี่เวลาปฏิบัติมันก็เสมอต้นเสมอปลาย มีจุดยืน ความง่ายขึ้น นี่ฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนี้

ถ้าปัญญาอย่างนี้ ปัญญาแบบโลกๆ นี่แหละ แต่เอามาใช้ประโยชน์กับเรา

ถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้ ใช้ปัญญาแล้ว พอจิตมันมีเหตุมีผล การพุทโธมันก็สะดวกขึ้น การใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ง่ายขึ้น ความง่ายขึ้นเพราะอะไร เพราะมันมีรั้วรอบขอบชิด เพราะปัญญาจะตะล่อมเข้ามาๆ จนจิตนี้มันมีเหตุมีผล ยอมรับหลักการอย่างนั้น แล้วถ้าเรากำหนดพุทโธต่อไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิต่อไป จิตมันจะลึกซึ้งขึ้น จิตมันจะละเอียดขึ้น พอจิตละเอียดขึ้น ปัญญามันก็จะชัดเจนขึ้นเวลาเราฝึกหัดใช้ปัญญา นี่มันเดินไปพร้อมกันเพื่อความพัฒนาของใจนี้ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าจิตมันสงบเข้าไปจนถึงที่มันมีเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น จิตมีหลักมีเกณฑ์ ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริงนะ อันนี้ไม่ใช่ไขสือเลย ถ้าทำไขสือนะมันมีกิเลส กิเลสนี้เป็นตัวครอบงำ กิเลสนี้เป็นตัวชักนำให้จิตนี้ล้มลุกคลุกคลานไปด้วยขบวนของกิเลสในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ้างอิงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไขสือ ไขสือคือปิดหูปิดตา ให้จิตนั้นไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย

แต่ถ้าเราหูตาสว่างนะ เราพิจารณาของเรา นี่ถ้าจิตมันไม่สงบ จิตมันไม่มีจุดยืน เราก็ใช้ปัญญาตะล่อมเข้ามาจนมีรั้วรอบขอบชิด จนจิตของเรามีหลักมีเกณฑ์ มันจะทำของมันด้วยความมั่นคงของมัน เห็นไหม แล้วถ้าจิตมันสงบจนที่มันเห็นตามความเป็นจริง ต้องจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม จิตเห็นเวทนา นี่มันมีจุดยืนของมัน ถ้าจิตมันอิ่มเต็มของมัน จิตมีหลักมีเกณฑ์ มันจับต้องได้ชัดเจนมาก ถ้าจับต้องได้ชัดเจนมาก มันใช้ปัญญาไป นี่ภาวนามยปัญญาเกิดตรงนี้ไง ถ้าภาวนามยปัญญาเกิดตรงนี้มันก็เกิดวิปัสสนาไง

ที่บอก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญามันจะเกิดตรงนี้ ถ้าปัญญามันไม่เกิดตรงนี้มันก็เป็นโลกียปัญญา พอโลกียปัญญาก็ปัญญาจำมา ปัญญาศึกษามาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมฉันจะพูดไม่ได้ ทำไมฉันจะพูดไม่ถูก

พูดได้ พูดถูก...พูดได้ พูดถูก แล้วมันก็เกิดการสร้างภาพขึ้นมาในใจ พอสร้างภาพขึ้นมา ก็ปฏิบัติแล้วก็เป็นอย่างนั้น ปฏิบัติก็รู้อย่างนั้น...ปฏิบัติมาขนาดไหน แล้วไปไหนต่อ เห็นไหม ถ้าทำไขสือมันเป็นแบบนั้น ทำไขสือ เราจะไม่ก้าวหน้ากัน เราจะประพฤติปฏิบัติแล้วเราจะล้มลุกคลุกคลานกัน

แต่เราจะปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ของเราตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้นน่ะ แต่ท่านก็พยายามสร้างสม สร้างด้วยประสบการณ์ของใจของท่าน ท่านทำของท่านจนประสบความสำเร็จ ท่านถึงเอาประสบการณ์ความจริงอันนั้นมาวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้พวกเราก้าวเดิน

ถ้าให้พวกเราก้าวเดิน ในสมัยปัจจุบันนี้เรามีการศึกษากัน เราก็บอกว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วเราทำไมจะต้องทำความสงบของใจ แล้วเราทำไมจะต้องมาสร้างหลักสร้างเกณฑ์ให้จิตใจเรามั่นคงขึ้นมา

นี่ด้วยความรู้สึกนึกคิดว่า สิ่งที่มั่นคง คือทางโลกนั้นมันเป็นกิเลส มันเป็นเรื่องการเข้มแข็ง เป็นความกระด้างของกิเลส กิเลสที่มันยึด มันมีทิฏฐิ มันมีมานะ มันมีการถือตัวถือตนของมัน แล้วมันไปศึกษาธรรมะขึ้นมา มันว่าสิ่งนั้นมันรู้ๆ นั้นเป็นเรื่องโลกๆ

แต่ถ้าเป็นเรื่องธรรมนะ มันเป็นเรื่องของน้ำใจ เรื่องของความรู้สึก เรื่องของน้ำใจนะ จิตใจเราจะเป็นผู้สัมผัสธรรมๆ ถ้าจิตมันสงบระงับเข้ามา เราเห็นความแตกต่างว่าปุถุชนและกัลยาณปุถุชน ปุถุชนคนหนาทำความสงบได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำแล้วว่าคนหนาๆ

แต่ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชน เห็นไหม เพราะมีสติมีปัญญา เพราะมีสติมีปัญญาขึ้นมานี่ เพราะด้วยการใช้ปัญญาของเรานี่ ด้วยการใช้ปัญญามีขอบมีเขตเป็นรั้วรอบขอบชิดให้จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ ควบคุมใจตัวเองได้ เห็นไหม ผู้นี้จะทำสมาธิได้ง่าย นี่กัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชนนี่ทำได้ง่าย พอมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมามันทำได้ง่าย รักษาใจของเราขึ้นมา

ถ้ามันจับต้อง เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต จิตของเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าเห็นแล้วมันสะเทือนเลย นี่อย่างนี้ไม่ใช่ไขสือ เพราะมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก จิตดวงนี้ล้มลุกคลุกคลาน จิตดวงนี้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมากับเขา จิตดวงนี้ศึกษามา แล้วเราทำขึ้นมานี่ เห็นไหม มันทำไขสือว่ารู้ไปหมด รู้ทุกอย่าง แล้วธรรมนี่เข้าใจหมดเลย แล้วผลล่ะ? งงๆ นะ

งงๆ เพราะมันไม่เป็นข้อเท็จจริงในใจ เพราะกิเลสมันพาไขสือ แล้วมันทำก็ล้มลุกคลุกคลานมา ถ้าเราไม่ไขสือของเรานะ ถ้าจิตพุทโธๆ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ พุทโธๆๆ ถ้าจิตมันสงบมันจะมีความสุขของมัน มันจะตื่นเต้น มันจะแปลกประหลาด นี่พอจิตสงบนะ หลวงตาท่านพูดบ่อย “ถ้าใครทำจิตสงบเป็นสมาธิได้จะพออยู่พอกิน”

มันพออยู่พอกินจริงๆ เพราะถ้าจิตสงบลึกนะ มันจะเข้าใจว่านี่เป็นนิพพานเลย มันปล่อยวางหมด มันมีความสุขของมัน แล้วถ้าออกมา ออกจากอัปปนามาเป็นอุปจาระ นี่น้อมไปที่กาย ถ้าเห็นกายขึ้นมา เห็นไหม มันจับได้ การจับได้มันก็ตื่นเต้นแล้ว คำว่า “ตื่นเต้น” มันมีผลงานไง

คนเราไม่เคยเจอเพชรเจอทอง ถ้าไปเจอเพชรเจอทองมันก็ตื่นเต้นนะ นี่ให้หยิบเอาฉวยเอา ได้มากได้น้อยแล้วแต่ความสามารถ นี่พอหยิบเอาฉวยเอา เพชรทองหยิบได้ก็เป็นของเราใช่ไหม แต่ถ้าเป็นจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ให้หยิบฉวยเอานะ พอหยิบฉวยเอามันมีความอยาก พอมีความอยาก อยากหยิบฉวยมันก็หายหมดเลย นี่ภาพนั้นหายไป จับต้องสิ่งใดไม่ได้ เพราะมันเป็นนามธรรม

แต่เพราะมันมีประสบการณ์แล้วมันจะรู้เลยว่าถ้าหยิบฉวยแล้วจะไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้ากลับมาอยู่ตัวจิต จิตรู้สิ่งใด ถ้าจิตสงบแล้วเห็นนิมิต ถ้าไม่เข้าใจสิ่งใด ถามที่จิต จิตจะตอบได้เลย แต่ถ้าจิตมันเห็นใช่ไหม เพราะจิตเห็น จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม ถ้าจิตเป็นคนเห็น ถ้าพอจะจับต้องมันก็หายไป ถ้าหายไปมันต้องกลับมาสู่จิต กลับมาพุทโธๆๆ ให้จิตสงบขึ้นมา นี่กลับมาที่นี่

ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา สิ่งที่ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาเอง จิตเห็นอาการของจิต จิตพิจารณา จิตแยกแยะ เห็นไหม ถ้าเป็นธรรม เห็นไหม นั่นมันเป็นรูป เป็นความรู้สึกนึกคิด รูป คืออารมณ์ความรู้สึก ความรู้สึกมันแยกแยะนะ ในรูปมันมีอะไร? มีเวทนา ในเวทนามีสัญญา ในสัญญามีสังขาร มีวิญญาณ ถ้าขันธ์ ๕ มันแยกแยะ เพราะแยกแยะ อารมณ์ความรู้สึกอันหนึ่งมันแยกแยะมันจับต้องแล้วมันแยกแยะให้เห็น ให้เป็นขันธ์ เป็นกอง เป็น ๕ กองเลย แล้วใน ๕ กอง เห็นไหม

เวลาพระอรหันต์นะ ขันธ์ ๕ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ไม่ใช่กิเลส ความรู้สึกนึกคิดไม่ใช่กิเลส ความรู้สึกนึกคิด รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากคือกิเลส ฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่กิเลส แต่ขณะที่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชา คนที่มีอวิชชา จิตของเรามีกิเลส มีพญามารที่อาศัยจิตนี้อยู่ ฉะนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาจากจิตที่เป็นอวิชชา เกิดขึ้นมาจากจิตที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ขันธ์นั้นก็เลยมีกิเลสไปด้วยไง

เพราะขันธ์เกิดจากไหน? ขันธ์เกิดจากจิต นี่จิตเห็นกาย กายก็เกิดจากจิต เพราะจิตมันรู้มันเห็นของมัน มันถึงเห็นของมัน ฉะนั้น ถ้าจิตมันมีอวิชชา จิตมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นถึงเป็นกิเลสหมดไง ถ้ามันเป็นกิเลสหมด จิตมันต้องสงบระงับแล้วจับสิ่งนั้นได้ แล้วพิจารณาแยกแยะ เห็นไหม

ถ้าบอกว่า “ขันธ์มันไม่มี มันเป็นสักแต่ว่า ขันธ์ก็เป็นสักแต่ว่า กายนี้ก็เป็นสักแต่ว่า ของมันเป็นของของมันอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว มันก็มีของมันเป็นไปอย่างนั้น”...พูดอย่างนี้นี่ทำไขสือ ทำไขสือเพราะว่ามันเป็นไขสือ มันไม่รู้จริงไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งที่เป็นสักแต่ว่า เพราะเขาประพฤติปฏิบัติ เขาแยกแยะใช้ปัญญาจนมันขาดสรุปไปแล้วมันถึงเป็นสักแต่ว่า มันไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน

แต่ขณะที่เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่มันมียางเหนียวในใจ มันเป็นเราทั้งนั้นน่ะ มันไม่มีอะไรเป็นสักแต่ว่าสักอย่างหนึ่ง มันไม่มีอะไรเป็นสักแต่ว่าหรอก แต่เพราะความไขสือของเรา เราไปอ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “มันเป็นสักแต่ว่า มันไม่ใช่ของเราๆ” ไม่ใช่ของเราอย่าโอดโอยสิ ไม่ใช่ของเรานี่บอกให้มันปล่อยวางให้ได้จริงสิ

มันไม่ได้จริงหรอก มันทำไขสือไปถึงทำให้เสียหายไง

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ มันไม่มีอะไรสักแต่ว่าสักอย่าง มันเป็นความจริงทั้งเรื่อง มันเป็นความจริงตามสมมุติไง พอเราเกิดมาเป็นคนมันก็เป็นคนจริงๆ เรามีความรู้สึกนึกคิดเราก็มีความรู้สึกนึกคิดจริงๆ จริงทั้งนั้นน่ะ แต่จริงตามสมมุติไง จริงเพราะมันมีอวิชชา จริงเพราะมันมีความไม่รู้มัน เพราะความไม่รู้มันถึงมีผลกดถ่วงหัวใจของเรา

แต่เพราะพอเรามาศึกษา เราทำความสงบของใจเข้ามา เพราะเราเป็นลูกศิษย์มีครู ครูเอกของโลกคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปัจจุบันนี้ก็มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นครูเอกของเรา เพราะครูเอกของเราท่านได้ประสบการณ์ ท่านได้กระทำมา ท่านได้ชำระล้างกิเลส ท่านได้ต่อสู้กันมาจนประสบความสำเร็จแล้ววางข้อวัตรไว้ให้เราก้าวเดินตามนี่

แต่เวลาเราทำของเราขึ้นมา เห็นไหม “นั่นก็เป็นสักแต่ว่า นู่นก็มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา”

ยังไม่ได้ทำอะไรเลย อะไรไม่ใช่ของเรา

เพราะคำว่า “ไม่ใช่ของเรา” เราก็เลยจับต้องอะไรไม่ได้เลย พอจับต้องอะไรไม่ได้เลยแล้วก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ เราทำเสร็จแล้ว มันไม่มีอะไรเป็นข้อเท็จจริงในใจอันนั้น เห็นไหม ปริยัติ ถ้าศึกษาโดยปริยัติเป็นอย่างนี้ นี่เราเข้าใจของเรา

ฉะนั้น ปริยัติแล้วต้องปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นมามันจะเป็นข้อเท็จจริงของใจดวงนั้น

ถ้าใจดวงนั้นติดในปริยัตินั้นมันก็ไขสือในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่วางไว้ แต่เราปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงของเรา ถ้าความจริงของเราเกิดขึ้นมา เห็นไหม ถ้าความจริงกับความจริง ปริยัติกับปฏิบัติมันจะวิ่งชนกัน หมายถึงว่ามันเป็นอันเดียวกัน

อันเดียวกันว่า ปริยัตินี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้เป็นธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ฉะนั้น นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริยัติ...ปริยัติเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด แต่ของเราล่ะ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่วางไว้ แล้วเราทำของเราขึ้นมา

ถ้ามันไขสือมันก็อ้างอิงว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นของเรา เรารู้แล้ว เราเข้าใจหมดแล้ว นี้เพราะว่ามันไขสือ แต่ถ้าไม่ไขสือ มันวางไว้ แล้วทำความสงบของใจเข้ามาตามที่ครูบาอาจารย์ของเราท่านเคยดำเนินมาก่อน ครูบาอาจารย์ท่านผ่านพ้นมาหมดแล้วนะ ผ่านพ้นไปในข้อเท็จจริงในใจของท่าน ฉะนั้น เราต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจมันสงบแล้ว ถ้ามันรู้มันเห็นก็ตามข้อเท็จจริงของมัน

ดูอย่างเชื้อโรคสิ เชื้อโรคนะ ถ้าเชื้อโรคที่เป็นเชื้อโรคเขาต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ เขาถึงจะเห็นเชื้อโรคนั้น ถ้าไม่มีกล้องจุลทรรศน์ เชื้อโรคก็คือเชื้อโรคอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ตาเปล่าเรามองไม่เห็น จิตของเราถ้ามันยังพร่ามัว จิตของเราถ้ามันยังเป็นเรื่องโลกๆ อยู่ มันก็เข้าใจได้ตามทฤษฎีเป็นปริยัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไง

นี่บอกว่า เชื้อโรคเข้าไปในร่างกายแล้วมันจะไปเพาะเชื้อ แล้วมันจะทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย นี่ทุกคนก็รู้ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าไม่มีกล้องจุลทรรศน์มาส่องเราก็ไม่เห็น นี่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริยัติก็บอกไว้อย่างนั้น เราก็เข้าใจ เราก็รู้ แต่ถ้าเราทำใจของเราขึ้นมา ถ้าใจมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมามันก็จะเป็นกล้องจุลทรรศน์

ถ้ากล้องจุลทรรศน์ เห็นไหม จิตเห็นอาการของจิต ถ้ามันเห็นของมัน มันรู้ของมัน มันเห็นโทษนะ ถ้าสิ่งนี้เราไม่เห็น เราไม่เข้าใจ มันก็จะเข้าไปในร่างกายของเรา แล้วเราก็จะเป็นโรคเป็นภัย จิตของเรา ถ้าเราไม่รู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ สิ่งที่เป็นโทษกับเราอย่างนี้ ถ้าเราไม่เห็นว่าเป็นโทษ เห็นไหม

เพราะเราศึกษามาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สักแต่ว่า นู่นก็ไม่ใช่เรา กิเลสมันเป็นนามธรรม เวลามันเข้าใจแล้วมันก็ปล่อยวางหมด” เห็นไหม นี่ในภาคปริยัติ แต่เวลาเราไขสือเราก็อ้างว่าเรารู้ แล้วอ้างว่าเรารู้แล้วมันก็มีภาพให้มันรู้จริงๆ พอมีภาพให้รู้จริงๆ แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ ทำเสร็จแล้ว เพราะจิตใจอ่อนแอ จิตใจไม่มีกำลังไง

ถ้าจิตใจมีกำลังนะ เวลาเราปฏิบัตินะ ปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข แต่ทำไมเราทุกข์ยากกันขนาดนี้ล่ะ เราทุกข์ยากเพราะเรามักง่าย เราทุกข์ยากเพราะเราอยากได้ แต่ถ้าเวลาปฏิบัตินี่ด้วยความไม่อยากได้ ด้วยความไม่มักง่าย มันทุกข์ยากไหม? ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะความเพียรไง

ในเมื่อเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนามันไม่มีความทุกข์ มันเอามาจากไหนล่ะ ไอ้ทุกข์อย่างนี้มันทุกข์ประจำธาตุขันธ์ เวลาเดินจงกรมมันก็เมื่อย พอนั่งๆ ไปมันกดทับมันก็ปวด มันก็เรื่องธรรมดาน่ะ สิ่งที่ในเมื่อคนเดินอยู่ทั้งวันๆ มันไม่เหนื่อยไม่เมื่อยมันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันก็เป็นของมัน

แต่เวลาเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา แล้วจิตใจเราได้ผลหรือเปล่า

เราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาก็เพื่อความสงบร่มเย็นของใจ ถ้าใจสงบร่มเย็น เราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา นี่เวลาเดินจงกรม แล้วจิตใจ เวลาจิตที่สงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง พอเห็นตามความเป็นจริงนะ เวลาปัญญามันจับต้องได้ แล้วถ้าสติปัญญา สติกับสมาธิไม่มั่นคงมันก็ล้มลุกคลุกคลาน คือจับหลุดไม้หลุดมือ การปฏิบัติ เห็นไหม เดี๋ยวก็เห็นภาพชัด เดี๋ยวก็มีความรู้สึก เดี๋ยวก็จับขันธ์ได้ มันก็มีรสมีชาติ

เวลาเราจับขันธ์ จับอารมณ์เรา เราพิจารณานะ กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก พอเราจับได้นี่เราแยกแยะมัน แยกแยะให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งที่เป็นโทษนี่มันรวมตัวกันมาอย่างไร อารมณ์ที่มันรุนแรง อารมณ์ที่เป็นความโกรธ ที่มันปะทะปะทังเรานี่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเรามีสติ เราจับมันไว้ก็เบรกมันไว้ก่อน

พอเบรกไว้แล้วเราก็แยกว่า โกรธเพราะอะไร อะไรทำให้โกรธ? อ๋อ! เพราะวิญญาณมันรับรู้ รู้มาอย่างไรล่ะ เพราะสังขารมันหลอก สังขารมันปรุง มันปรุงมาเพราะอะไร เพราะมันมีข้อมูล มีสัญญาอยู่ในหัวใจ สัญญาว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ พอมันเป็นความไม่ชอบ มันกระเทือนกับกิเลส แล้วสัญญาก็ปรุง ปรุงมันก็เกิดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด มันก็เกิดเวทนา เวทนาก็เกิดเป็นรูป ก็เกิดเป็นอารมณ์อีก อารมณ์มันก็หมุนเวียนต่อไป มันก็คิด มันก็ซ้อนๆๆๆ เข้าไป พอซ้อนเข้าไปมันไม่ทันไง

แต่ถ้ามีสติมีปัญญานี่มันแยกของมัน พอแยกออกไป รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกออกจากกัน มันเกิดไม่ได้น่ะ...ไฟ คัตเอาท์เราตัดแล้ว ไฟมันมาได้ไหม? มันมาไม่ได้หรอก นี่ถ้ามีสติปัญญาเข้าไปยับยั้ง เข้าไปแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกมันจะเกิดได้ไหม? เกิดไม่ได้หรอก เกิดไม่ได้ มันเก้ๆ กังๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าพอสติมันอ่อนมันก็รวมอีก มาอีกแล้วๆ

นี่ถ้ามีสติปัญญามันแยกแยะอย่างนี้ มันเห็นเหตุผลอย่างนี้ เห็นไหม นี่โดยข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการไขสือ ไม่เป็นการว่านี้เป็นปริยัติแล้วเราว่าเป็นสักแต่ว่า ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีรสมีชาติ มันเป็นสักแต่ว่า ไม่มีอะไรเข้าไปผูกพันกับมันเลย...เป็นไปไม่ได้หรอก

ถ้ามันเกิดมา เกิดมาโดยอวิชชา เกิดมาโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เกิดมาโดยตัณหา เกิดมาโดยสมุทัย แล้วบอกไม่มีๆ เป็นสักแต่ว่า มันเอามาจากไหน สิ่งที่เป็นสักแต่ว่าๆ นี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แล้วเราล่ะ เราจะทำอย่างไรของเราให้มันเป็นความจริงขึ้นมา

พอความจริงขึ้นมา เห็นไหม เรามีสติปัญญาเราก็แยกของเราๆ มันจะเกิดขึ้นเป็นความจริง ถ้าเกิดขึ้นเป็นความจริงนะ พิจารณากาย ถ้ามันเห็นภาพกาย กายจะเห็นสิ่งใดก็แล้ว ถ้าสติปัญญามันดี มันจะจับได้ ถ้าสติกับสมาธิมันอ่อนแอนะ ภาพนั้นมันก็ไม่คมชัด ภาพนั้นมันก็ไหว ภาพนั้นก็ต่างๆ แล้วพอเห็นขึ้นมามันสะเทือนหัวใจนะ ถ้าเห็นความเป็นจริงนี่สะเทือนกิเลสมาก สะเทือนแล้ว ถ้าจับได้

การกระทำมันต้องมีอุบาย มีวิธีการ เพราะกิเลสมันกีดขวางทุกกระบวนการที่เราทำ กิเลสนะมันจะสงวนหัวใจของเราไว้เป็นที่อยู่ของเขา การกระทำของเรา ถ้ากระทำของเรา ถ้าสติปัญญาเราดี กิเลสมันโต้แย้งไม่ได้ มันก็หลบซ่อน หลบหลีก มันไม่ยอมแพ้หรอก ถ้ามันหลบหลีก เห็นไหม หลบหลีกไว้ทำไม? หลบหลีกไว้ให้เราเผลอ พอให้เราเผลอ เราเสื่อม พอเสื่อมนะมันยุแหย่ มันตามให้ผลซ้ำเลย

“เห็นไหม ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ผล ปฏิบัติมาเป็นปีเป็นหลายๆ ปี สู้เราอยู่บ้าน สู้เราไปทางโลกเรายังมีความสุขกว่า เห็นไหม นี่ปฏิบัติแล้วก็ทุกข์ยาก”...นี่มันกระทืบซ้ำเลย ถ้ากิเลส เห็นไหม มันรอจังหวะทั้งนั้นน่ะ

ถ้ากิเลสกระทืบซ้ำ แล้วเวลาพูดถึงกิเลสๆ กิเลสก็เป็นนามธรรมนะ พญามารก็อยู่กลางหัวใจเรานี่แหละ แต่ถ้าเวลาเกิดปัญญาขึ้นมา เวลาจักรมันเคลื่อน นี่ธรรมจักร จักรมันหมุน ถ้าปัญญามันหมุนนะ ด้วยมรรค ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยมรรคญาณ งานชอบ เพียรชอบ จักรมันหมุน เราจะเห็นของเราว่า ถ้าจักรมันหมุน เวลาปัญญามันเคลื่อนตัวออกไปนะ มันจะฟาดจะฟันให้กิเลสยุบยอบตัวลง แต่ถ้ามันเป็นโลก มันเป็นเรื่องของสมุทัย มันจะเป็นกงจักร กงจักรมันหมุนไปนะ มันก็ทำลายความเพียรเราทั้งนั้น ทำลายให้เราล้มลุกคลุกคลานตลอด

ฉะนั้น เวลาปฏิบัตินี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เวลาเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนามันจะมีใครมาคอยประคองเราล่ะ นี่เราจะต้องมีสติปัญญาเพื่อความชำนาญของเรา ถ้าเรามีสติ มีความชำนาญของเรา เห็นไหม สิ่งที่ผิดพลาดแล้ว คราวหน้าเราจะตั้งสติให้มากขึ้น เราจะทำความสงบให้มากขึ้น แล้วเราจะจับต้องให้มากขึ้น แล้วเวลาเราแยกแยะขึ้นมา เราจะต้องให้รอบคอบมากกว่านี้

ถ้ามันแยกแยะรอบคอบมากกว่านี้ พอพิจารณาไปมันก็จะปล่อย ถ้ามันสมดุลนะ เพราะว่าอะไร ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น คือมันเร็วมาก ฉะนั้น เวลาสติปัญญาที่มันหมุน เวลาเราใช้ปัญญาไปนี่มันจะเร็ว มันจะหมุนมาก ถ้ายิ่งชำนาญมันยิ่งจะคล่องตัวมาก นี่ความคิดจะเร็วมาก เร็วขนาดไหน สติมันเร็วกว่า สติมันยับยั้งได้มากกว่า ปัญญามันจะแยกแยะได้มากกว่า มันปล่อยแล้วปล่อยเล่า เราพยายามทำของเราให้ชำนาญขึ้น ความชำนาญนะ

ถ้าความไม่ชำนาญ เห็นไหม เวลากิเลสมันฟื้นมา กิเลสมันเข้ามาขัดแย้งนี่ เราล้มลุกคลุกคลานเลย เพราะความชำนาญของเรา เราจะฟื้นตัวเร็วไง ถ้ามันล้มลุกคลุกคลานแล้วนี่เราเริ่มต้น เริ่มต้นเดี๋ยวนั้น เพราะนี่กิเลสขัดขาแล้ว ถ้าเราเริ่มต้นปั๊บ นี่มีสติปัญญา กิเลสมันเห็นว่ากำลังเรามากกว่า กิเลสมันก็ต้องถอยไป เพราะอาวุธ ธรรมาวุธ อาวุธที่เป็นธรรมนี่มันฟาดฟัน

กิเลสกลัวธรรม กลัวความเข้มแข็งของเรา กลัวคุณธรรมของเรา กิเลสกลัวตรงนี้ ถ้าเรามีความเข้มแข็งของเรา เรามีสติปัญญาของเรา กิเลสมันจะหลบหลีก หลบหลีกมันก็ปล่อยเป็นตทังคปหาน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ต้องมีสติปัญญามั่นคงของเรา ถึงที่สุดเวลามันขาดนะ สิ่งที่เป็นจริง เห็นไหม มันไม่ใช่ทำไขสือ ทำไขสือมันไม่มีเหตุมีผล แต่ถ้าเป็นความจริง เวลามันขาด มันรู้มันเห็นกลางหัวใจของเรา ถ้ามันขาดขึ้นไป เห็นไหม สิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็น แล้วสิ่งมันเคยรู้เคยเห็น เวลามันขาด มันมีผลอย่างไรล่ะ? มีผลด้วยความสุข นี่ถ้ามันเป็นความสุขนะ เวลาธรรมมันให้ผล เห็นไหม

นี่เวลากิเลส ทุกคนก็เข้าใจได้ เวลาทำความสงบของใจเข้ามา จิตมันสงบขึ้นมา เราจะเข้าใจว่านี่นิพพานเลย แต่เวลามันพิจารณาเข้าไป เวลามันขาด กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้ามันขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย นี่เวลามันปล่อย มันปล่อยอย่างไร เวลามันขาด ขาดออกไปนี่สังโยชน์มันขาดไปอย่างไร

พอสังโยชน์มันขาดออกไป มันกลับมาต่ออีกไม่ได้นะ ถ้ากลับมาต่ออีกไม่ได้ ขณะจิตที่มันเปลี่ยนแปลงไปแล้วนี่มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปแล้วนะ มันกลับมาเป็นแบบเดิมอีกไม่ได้

นี่ไง ถึงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา

มันดับไปเป็นธรรมดาด้วยเวลาช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ที่มรรคญาณมันทำลายกัน ถ้ามรรคญาณมันทำลายกัน มันทำลายกันเพราะอะไรล่ะ ทำลายกันเพราะเราฝึกฝน เพราะเรามีการกระทำ เพราะความมั่นคงของเรา เพราะเราไม่เฉไฉกับมัน เราทำของเรามั่นคงของเรา ทำซ้ำทำซากไง นี่ตรงนี้ถ้ามันทำได้

เพราะมันต้องมีอำนาจวาสนาบารมี คือว่า คนที่ทำเสมอต้นเสมอปลายไง ถ้าคนทำเสมอต้นเสมอปลาย นี่ทำต่อเนื่อง การทำต่อเนื่อง เห็นไหม ทำซ้ำลงไปที่เดิมๆๆ ที่เดิมที่ไหน? ที่เดิมที่ตรงสังโยชน์มันมัดไว้ไง สักกายทิฏฐิความเห็นผิดของใจไง

นี่เพราะมันมีสักกายทิฏฐิ สังโยชน์ที่มันมัดไว้ แล้วมันก็มีกิเลสมาอ้างมาอิง มันก็ไหลตามกิเลสไปตลอดเวลา เวลาเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา กว่าจะเข้ามาถึงจุดที่สังโยชน์ที่มันมัดไว้ แล้วพอเข้าไปถึงจุดนั้น เวลามันมีการใช้ปัญญาขึ้นมาต่อสู้แต่ละครั้งแล้ว เวลาเราปล่อยวางขึ้นมา นี่ในเมื่อสังโยชน์มันไม่ขาด กิเลสมันก็มีโอกาสที่จะผลักให้เราออกไปจากจุดเดิมนั้นจนได้ ถ้าเราออกจากจุดเดิมแล้วมันจะเข้าไปอย่างไร? มันก็ต้องหาอุบายหาวิธีการให้จิตใจนี้เข้มแข็งขึ้นมา แล้วทำเข้าไปสู่จุดเดิมนั้น มันก็ปล่อยๆ ปล่อยๆ

เวลาปล่อยนี่ตทังคปหานนะ ถ้าจิตใจไม่มีพละ ไม่มีกำลัง เวลาปล่อยแล้วมันจะเสแสร้ง กิเลสพาให้เสแสร้ง ถ้ากิเลสพาเสแสร้งแล้วมันก็พาออกไปจากหลักเกณฑ์ของใจ ออกไปจากจุด เห็นไหม ภวาสวะออกไปจาภพ ออกไปจากสถานที่ที่กิเลสมันอาศัยอยู่ ถ้ากิเลส เห็นไหม เวลาที่ว่าเราไม่มีกำลังพอ เวลากิเลสมันจูงออกไปจากที่มันอยู่เราก็ตามมันไป

พอตามมันไปแล้ว กว่าเราจะกลับมานะ ถ้าเราพิจารณามันปล่อยแล้ว ถ้ามันไม่สมุจเฉท มันไม่ขาด พอไม่ขาด สังโยชน์มันไม่ขาด เห็นไหม มันก็เหมือนทำเฉไฉของมันไป กิเลสมันพาออก พอกิเลสมันพาออก กว่าเราจะรู้ตัว ถ้ารู้ตัว เห็นไหม เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ถ้ามันมีของมันอยู่มันก็จะเสื่อม แต่ถ้ามันเป็นกิเลสมันเฉไฉของมันไป มันไม่รู้ตัวของมัน พอไม่รู้ตัวของมัน มันไหลตามไปน่ะ ถ้าไหลตามไป มันอยู่กับโลกๆ

สิ่งที่เป็นโลกนะ โลกมันก็คือเรื่องของกิเลส ถ้าโลกเป็นแบบนั้น ถ้าทำไปแล้วถ้าเป็นโลก มันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่ตรงนั้นล่ะ แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ มันมีอุบาย อุบายคือวิธีการที่เราจะแยกแยะเปลี่ยนแปลงหาวิธีการใหม่ วิธีการใหม่ต้องต่อสู้ขึ้นไป ต่อสู้ เห็นไหม งานของใจ งานทางโลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำขึ้นมาเขายังต้องทำของเขา งานของใจนะ งานของใจมันต้องมีสติมีปัญญา มันมีละเอียดอ่อนกว่างานของโลกหลายชั้นนัก

ถ้าหลายชั้นนะ นี่เราเดินจงกรม เราเห็นพระเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เราเห็นเขาทำอะไร นี่เห็นเขาเดินไปเดินมา แต่ปัญญาในจิต ธรรมจักรไง จักรมันหมุนของมัน มันมีความละเอียดลึกซึ้งในหัวใจนั้น เห็นไหม สิ่งที่ทำอย่างนั้นน่ะ ถ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าน่ะ เพื่อไม่ให้กิเลสมันทำให้เราออกคลาดเคลื่อนไปจากจุดที่เป็นภวาสวะ จุดที่เป็นภพ จุดที่มันเป็นจริง ถ้ามันเสื่อมนะ ถ้ามันแบบว่าเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ พอมันเจริญขึ้นมาถึงที่สุด มันเข้าไปถึงจุดนั้นได้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเวลามันขาด ขณะจิตที่มันขาด มันมีความสุข มีความสุขนะ

เราเกิดมาเราทุกข์เรายาก ความทุกข์นี้ไม่ต้องถามหากันว่าความทุกข์มันเป็นแบบใด มันแผดเผาทุกดวงใจ แล้วทุกดวงใจไม่เคยได้รับรสแบบนี้ รับรส เห็นไหม เวลาเราจะทำความสงบของใจ เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันไปมันก็เหม่อๆ ลอยๆ ครึ่งๆ กลางๆ แล้วบอกว่าสิ่งนั้นเป็นความว่างๆ สิ่งนั้นเป็นสักแต่ว่า

คำว่า “สักแต่ว่า” นี่มันปฏิเสธแล้ว มันปฏิเสธการกระทำมาทั้งหมดเลย แต่ถ้าเราทำมาด้วยความเข้มข้นของเรา เราทำด้วยความเป็นจริง มันไม่ได้สักแต่ว่าหรอก มันจับเต็มไม้เต็มมือ จับให้มั่นคั้นให้ตาย แล้วใช้ปัญญาแยกแยะของมัน เห็นไหม เวลามันขาดนะ สิ่งที่โลกนี้เขาไม่มี ทุกดวงใจเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะโดยธรรมชาติของมัน แล้วเวลาถ้ามันขาด มันได้ทำให้สิ่งที่จะเวียนตายเวียนเกิดมันไม่ไปตามธรรมชาติ

เห็นไหม ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ การตายการเกิดก็เป็นธรรมชาติ ถ้าเป็นธรรมชาติอย่างนั้น เวียนตายเวียนเกิดมันก็เป็นเรื่องปกติของจิต จิตมีทุกดวงใจมีความรู้เหมือนกัน แต่เวลามันขาดไปแล้วมันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ถ้ามันจะเกิดอีกมันก็เกิดอีก ๗ ชาติเท่านั้นเอง

ถ้ามันเกิดอีก ๗ ชาติ จิตที่มันจะเกิดอีก ๗ ชาติ กับจิตที่มันต้องเวียนตายเวียนเกิดที่ไม่มีต้นไม่มีปลายมันแตกต่างกันอย่างไร ความแตกต่างของจิตมันแตกต่างแล้ว พอมันแตกต่าง นี่สิ่งที่แตกต่างนะ มันการันตีขึ้นมาที่ไหนล่ะ? มันการันตีขึ้นมาที่ใจดวงนั้น ที่ใจที่มันเห็นน่ะ ใจที่มันรู้ที่มันเห็น ที่มันขาดออกไปน่ะ นี่จิตที่มันมีความรู้อย่างนี้มันมีอกุปปธรรมนะ

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในธรรมจักร เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ว่าธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา นี่เป็นอนัตตาเพราะมันต้องเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนี้ไง สิ่งต่างๆ นี้เป็นอนัตตา นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บอกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา

แต่เวลาจิตที่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา...ดับเป็นธรรมดาเพราะจิตมันรู้มันเห็นของมัน จิตที่มันรู้มันเห็นของมัน จิตที่มันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม ที่วิปัสสนา ที่ได้ใช้ปัญญาของมัน นี่มันพิจารณาของมัน เห็นไหม มันไม่ใช่สักแต่ว่า มันทำได้เต็มไม้เต็มมือของมัน เวลามันชำระล้างออกมา มันทำด้วยจบกระบวนการของมัน เห็นไหม

พอมันจบกระบวนการของมัน จบกระบวนการของมรรคญาณ พอจบกระบวนการของมรรคญาณน่ะ ด้วยมรรคสามัคคี เวลามันขาดไปแล้ว เวลามันขาดไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา ดับเพราะอะไร ดับเป็นธรรมดาเพราะว่ามันไม่มีสังโยชน์เข้าไปเหนี่ยวรั้งอีกแล้ว มันจะเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ธรรมดาเพราะจิตมันได้ทำลายสังโยชน์ มันรู้เห็นตามความเป็นจริง

ถ้าตามความเป็นจริง จะเกิดก็เกิด จะอยู่ก็อยู่ จะไปก็ไป ไม่มีสิ่งใดมาเกาะเกี่ยวให้จิตนี้ต้องเดือดร้อนไปกับความรู้สึกอันนี้ เห็นไหม สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา มันตามความเป็นจริงที่มันรู้มันเห็นจริงของมัน เพราะมันได้สำรอกคายสังโยชน์ออกไปแล้ว นี่สังโยชน์ ๓ ตัวเองนะ นี่เกิดอีก ๗ ชาติ

แล้วถ้ามันทำขึ้นไป ปฏิบัติขึ้นไป มันจะลึกลับมหัศจรรย์อีกมาก นี่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔

ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ เวลาจิตมันพิจารณา มันยกขึ้นไปมันก็เป็นสกิทาคามิมรรค แม้แต่โสดาปัตติมรรค เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาใหม่ จะเป็นโสดาปัตติมรรคถ้ามันจับได้ตามความเป็นจริง มันเห็นจริงของมัน มันพิจารณาของมัน แล้วมันพิจารณาล้มลุกคลุกคลานมานี่เรารู้ของเรา แล้วถ้ามันเป็นสกิทาคามิมรรคล่ะ มันทำความสงบของใจให้ละเอียดมากไปกว่านั้น แล้วพอมันจับของมันได้นะ เวลามันจับมันได้ มันเห็นของมันตามความเป็นจริง

ถ้าไม่เห็นตามความเป็นจริง มันเหมือนกับว่าเรามันเลื่อนลอย เห็นไหม มันทำไขสือนะ ถ้าไขสือในขั้นสกิทาคามี ไขสือในขั้นอนาคามียิ่งแล้วใหญ่ เพราะไอ้นั่นเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะมันจะทำลายกามภพ ถ้าทำลายกามภพ มันไม่เกิดในวัฏฏะตั้งแต่กามภพลงมา นี่มันจะลึกลับมหัศจรรย์มากกว่านี้

ถ้ามันลึกลับมหัศจรรย์มากกว่านี้ เวลาเราปฏิบัติกัน เราบอก “ปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ทำไมมันทุกข์ยากอย่างนั้น” ความทุกข์ความยาก ทุกข์ยากเพราะกิเลสมันขัดแย้ง มันคัดง้าง มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน เพื่อสงวนสถานที่ เพื่อสงวนใจดวงนี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของมัน

แต่เราปฏิบัติขึ้นมาด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความเป็นจริง ด้วยความวิริยะ ด้วยความอุตสาหะ ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่สุกเอาเผากิน จะทุกข์จะยากขนาดไหน เราสร้างบุญญาธิการมามันถึงจะทนแรงกดดันอย่างนี้ได้ แต่ถ้าเราไม่ทุกข์ เราไม่ได้สร้างบุญญาธิการมานะ เวลามันทุกข์มันยากมันจะม้วนเสื่อ ม้วนเสื่อคือมันจะเลิกไง มันจะไม่เอาจริงเอาจัง มันจะไม่ทำของมัน “เราไปทำอย่างอื่นดีกว่า”...แล้วอะไรมันจะดีกว่าล่ะ

เพราะกิเลสมันสร้างเหตุสร้างผลมาเพื่อคำนี้ไง เพื่อเลิกดีกว่า มันไม่มีอะไรดีไปกว่านี้หรอก...ถ้าอยู่กับโลก โลกก็เป็นของเดิม โลกทุกคนก็รู้ก็เห็น แต่ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ถ้าจิตมันไม่รู้ไม่เห็นกับมัน มันไม่มีปัจจัตตัง ไม่มีสันทิฏฐิโกขึ้นมาในหัวใจ เห็นไหม มันเป็นการอ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เป็นทำไขสือไป ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะรู้จริงของมันอย่างนี้

แล้วถ้ายกขึ้นสู่สกิทาคามิมรรค ละเอียดอ่อนมากกว่านี้ แล้วยิ่งขึ้นไปอนาคามิมรรคนะ มันต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญา ถ้าเป็นมหาสติ มหาปัญญา มันจะลึกซึ้งขนาดไหน

ความว่าลึกซึ้ง ลึกซึ้งเพราะเรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านได้ล้มลุกคลุกคลานมา ท่านได้ต่อสู้กับสิ่งนี้มา มันถึงละเอียดลึกซึ้งในใจของท่าน แล้วท่านพยายามจะบอกเรานะ

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า สิ่งที่เราทำนะ เราทำนี่มันเป็นเรื่องกิเลสเล็กน้อย คำว่า “เล็กน้อย” เล็กน้อยหมายความว่ามันเป็นหลานของกิเลส หลานของกิเลสนี้ถ้าเราชำระล้างได้จะเป็นโสดาบัน ลูกของกิเลสมันก็เป็นสกิทาคามี พ่อของมัน พ่อนี่เป็นเรี่ยวเป็นแรงในครอบครัว นั่นอนาคามี ปู่ของเขากำหนดนโยบายเฉยๆ เห็นไหม ขั้นที่สุดแห่งทุกข์

สิ่งที่ว่าของเล็กน้อย ขั้นของหลานมันนี่เรายังล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้ แล้วขึ้นต่อไปเป็นลูก เป็นพ่อ เป็นปู่ นี่มันจะมีกลอุบายวิธีการอย่างใด นี่มันจะไขสือ ไขสือคือมันจะหลอกใจ ไขสือคือมันจะหลอกเรา หลอกเราให้อยู่ในอำนาจของมัน เห็นไหม

ฉะนั้น ในการปฏิบัติของเรา เราจะฆ่าหลาน นี่ฆ่าหลานมันตาย นี่พลิกศพกิเลส นี้มันก็เป็นโสดาบัน ถ้าพลิกศพลูกของเขาเราก็จะได้เป็นสกิทาคามี ถ้าฆ่าพ่อมันได้ด้วยมหาสติ มหาปัญญา ด้วยความเพียร ด้วยความวิริยอุตสาหะ ไม่ให้กิเลสมันไขสือให้มันมาหลอกใช้ มันหลอกใช้แล้วเราก็อ้างอิง แล้วบอกเราได้ขั้นนั้นๆๆ มันเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทำให้เราพลาดโอกาสนะ

ถ้ากิเลสมันพาไขสือ มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน แล้วจะไม่เป็นจริงขึ้นมา ทำพาไขสือเราก็จะไม่ได้สิ่งใดเลย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติขึ้นมาตามข้อเท็จจริงของเราเพื่อประโยชน์กับใจดวงนี้

ใจดวงนี้คือบุคคลทุกๆ คน ถ้ายังเป็นบุคคล เป็นคนที่มีชีวิตอยู่ มันมีหัวใจในร่างกายนี้ เรายังมีโอกาสได้ทำความสะอาด เรายังมีโอกาสได้ทำมรรคญาณเพื่อมาฟอกใจดวงนี้ให้ใจดวงนี้สำรอกคายกิเลสออก มันจะได้ไม่ต้องมาเวียนตายเวียนเกิดทุกข์ๆ ยากๆ อยู่แบบนี้อีกไง เราจะพ้นจากโลกนี้ไปด้วยความเพียรชอบ เอวัง