เทศน์บนศาลา

ธรรมเปิดเผยที่ใจ

๑๖ ก.พ. ๒๕๔๖

 

ธรรมเปิดเผยที่ใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันมาฆบูชา เราประพฤติปฏิบัติมากันตลอดชีวิตนะ ในชีวิตเรานี่เราประพฤติกันตลอดชีวิตเลย เพราะเกิดมามีชีวิตอยู่ ถ้ามีลมหายใจเข้าและมีลมหายใจออกอยู่นี้มันยังเป็นประโยชน์กับเราอยู่ คนเราจะหมดโอกาสต่อเมื่อสิ้นชีวิต ตายไปแล้ว เวลาตายปั๊บ จิตนี้มันไปเกิดใหม่ทันที จะเกิดเป็นสัมภเวสี เกิดเป็นจิตดวงใดก็แล้วแต่ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เป็นอินทร์เป็นพรหม เขาจะไปเกิดทันที

ตามโบราณว่า คนตายไปแล้ว ๗ วันจะกลับมา...เขากลับมาสถานะไหน ถ้าเขากลับมา เขาอยู่ในสัมภเวสีเขาจะกลับมาได้ ถ้าเขาอยู่เป็นเทวดาแล้วเขาจะไม่กลับมาหรอก จะกลับมานี้แล้วแต่ประเพณีเขาว่ากัน แต่ไม่ใช่ความจริงหรอก ความจริงเป็นอีกส่วนหนึ่ง ความจริงคือจริงโดยสุดส่วน ถ้าความจริงสุดส่วนนี่มันเปิดเผยที่ไหน? เปิดเผยที่หัวใจ

ธรรมเปิดเผยที่ใจ ถ้าใจเปิดเผยธรรมได้มันจะสว่างกระจ่างแจ้ง แล้วเราจะไม่มีความลังเลสงสัยเลย ปกตินี้เราลังเลสงสัย เราไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเรื่องต่างๆ โลกนี้ยังมีวิชาการให้เราค้นคว้าอีกมากมายเลยที่เราไม่รู้ แล้วเราไม่รู้เรื่องต่างๆ มันก็ไม่เป็นโทษกับเรานะ แต่ถ้าเราไม่รู้เรื่องของเราเองนี่เป็นโทษกับเรา เป็นโทษกับเราเพราะมันเป็นอวิชชา เป็นความรู้ที่ส่งออก เป็นความรู้ เห็นไหม

คอมพิวเตอร์จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของคอมพิวเตอร์ใช้ผลงานได้มากมายเลย แต่ตัวคอมพิวเตอร์เขาไม่รู้ผลอะไรของเขาเลย ใช้จนสึกใช้จนชำรุดไปเขาก็เสียหายชำรุดของเขาไป ชีวิตเราก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ โลกนี้มันเป็นเรื่องของโลกเขา แล้วใจของเรานี่เราใช้ใจของเรา ใจของเราไม่รู้สิ่งต่างๆ นี่ให้มันดำรงชีวิตไปอย่างนั้นเหรอ ใจของเราเรามีเจ้าของสิ เครื่องคอมพิวเตอร์มันมีเจ้าของใช่ไหม เจ้าของเป็นผู้ใช้งานมัน ขันธ์นี่มันเป็นสิ่งทีเราต้องละต้องวาง ร่างกายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์อันหนึ่ง แต่หัวใจเราเป็นเจ้าของ เป็นเจ้าของนี่เราต้องค้นคว้าสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อจะให้เข้าใจเรื่องของเรา ถ้าเข้าใจเรื่องของเรา เรื่องของชีวิตจิตใจ

เรื่องของชีวิต ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คือไออุ่น ชีวิตนี้คือตัวพลังงาน พลังงานที่เกิดดับๆ ตลอดไป แต่เราเข้าใจว่าชีวิตนี้คือเรา ชีวิตนี้คือเรา ชีวิตนี้คือร่างกายของเรา คือชีวิตของเรา แต่มันเป็นชีวิตชั่วกาลครั้งหนึ่ง มันเป็นสมมุติสัจจะ เห็นไหม มันเป็นสมมุติสัจจะ มันเป็นสมมุติจริงตามสมมุติ ชีวิตนี้เป็นตามความจริง เกิดมาจริงๆ แล้วมีชีวิตอยู่จริงๆ แล้วก็ทุกข์ยากจริงๆ แล้วก็ต้องตายไปจริงๆ แต่สภาวธรรมตามความเป็นจริง เราไม่รู้ เราไม่รู้เพราะเราไม่เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งสรรพสิ่งนี้เป็นอนัตตา สรรพสิ่งนี้เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป มันเป็นสภาวะอันหนึ่งเท่านั้น ให้เราหลงระเริง

เราจะหลงระเริงกับชีวิตมาก ผู้ที่เกิดใหม่ เห็นไหม เวลาเขาเกิดกันน่ะ เขาต้องมีการฉลอง เขาเลี้ยงฉลองกัน มีคนเกิดใหม่ แต่เวลาคนตายไปทำไมเขาเศร้าโศกเขาเสียใจกันมาก ทั้งๆ ที่มันมีคุณค่าเท่ากัน คนเกิดมานั้นน่ะมันมีความทุกข์ เกิดมาผจญชีวิตนี้แน่นอน แต่มันมีประโยชน์ที่ว่าเผชิญชีวิตแล้วเราจะใช้ชีวิตเราไปทางไหน ใช้ชีวิตเราไปทางที่เป็นคุณประโยชน์กับเรา สร้างคุณงามความดี โลกเขาจะว่าคนนี้โง่ คนนี้ไม่ใช้ชีวิต เกิดมาแล้วไม่ใช้ชีวิตให้สมกับการเกิดมา...นั้นเป็นสิ่งที่เขาว่า เพราะเขาว่ากับความทุกข์มันคนละอัน สิ่งที่เขาว่า เขาพูดขนาดไหนมันก็เป็นคำพูดของเขา จริงไม่จริงนั้นยังไม่เป็นความจริงอันถูกต้อง เพราะเป็นการคิดของเขา เขาเห็นเขาคิดอย่างไรเขาก็พูดเขาไปอย่างนั้น

แต่ความจริงคือเรา เพราะเราทุกข์ เรามีความทุกข์อยู่ในหัวใจ เขาจะว่าเรามีความสงบ มีความสุข มีความสูงส่งขนาดไหน นั้นก็คือเขาว่า แต่ความจริงของเรา จะสูงเทียมฟ้า จะต่ำเทียมดินขนาดไหน มีความทุกข์ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นอริยสัจ โลกนี้ เห็นไหม ทุกข์นี้เป็นเรื่องของสัจจะความจริง เป็นสัจจะความจริง

เรา เมื่อมีความสุข ความสุขนั้นเกิดจากความทุกข์มันคลายตัว ความทุกข์นี่เวลามันทุกข์ขึ้นมาแล้วมันเป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตามันตั้งอยู่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ต้องดับไป มันคลายตัวมันเองโดยธรรมชาติของมัน แล้วเราก็มีความคลายตัว มันก็มีความพอใจ มีความสุข เราว่ามันเป็นความสุข ความสุขตามธรรมะปรมัตถธรรมนี้ ความสุขคือทุกข์มันอ่อนตัวทุกข์คลายตัวลงท่านั้น แต่ความจริงคือทุกข์ทั้งหมดเลย

ทุกข์คลายตัวลงแล้วเราก็ว่าพอใจ มันก็เป็นความสุข...ความสุขจริงๆ ไม่มี ตามสัจจะความจริง ความสุขไม่มีจริงๆ เว้นไว้แต่วิมุตติสุข เพราะมันไม่มีทุกข์เจือปนในนั้น แล้วมันเกิดขึ้นได้โดยหัวใจของเรา นี่เราถึงใช้ชีวิตของเราให้มีคุณค่าไง ถ้ามีคุณค่า เรามาประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเพื่อค้นคว้า ค้นคว้าเรา ค้นคว้าให้เห็นเรื่องของใจ

เรื่องของใจ เราจับต้อง เราว่าใจเราว่ามีความทุกข์ เราเข้าใจเรื่องใจของเรา แต่เราเข้าใจโดยเป็นอาการของใจ เข้าใจอาการของใจคือเปลือกของใจ คือเงาของใจ คือเครื่องคอมพิวเตอร์กับเจ้าของคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์มันทำงานใช่ไหม มันทำงานมากเครื่องมันก็ร้อน เพราะมันร้อน มันทำงานของมัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราโกรธขึ้นมานี่ร่างกายเราร้อนหมดเลย เลือดนี้สูบฉีดเต็มที่เลยเวลาเราโกรธขึ้นมา เวลาเราหลงขึ้นมา นี่คอมพิวเตอร์ทำงาน แต่ใจนะ ใจถึงสุดท้ายแล้วมันต้องทิ้งเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยนะ แล้วต้องมาทำลายตัวหัวใจด้วย

สรรพสิ่งต่างๆ เวลาเราปล่อยวางเข้ามามันจะปล่อยวางเข้ามาตามความเป็นจริง เป็นจริงขึ้นมาปล่อยวาง ปล่อยวาง มีผู้รู้ตลอดเลย ถึงสุดท้ายแล้วต้องทำลายผู้รู้ ทำลายตัวเจ้าของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเลย มันถึงจะเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ ตามที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์นี้ทำหัวใจจนถึงที่สุด ทิ้งสิ่งต่างๆ เข้ามา แล้วต้องมาทิ้งผู้รู้ด้วย แต่ก่อนจะทิ้งผู้รู้นี่มันต้องเริ่มค้นคว้าเข้ามาก่อน จะทิ้งมันต้องมีเหตุมีผล เหตุผลของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะต้องทิ้ง ทิ้งแล้วเป็นอันว่ามี แต่ถ้าไม่ทิ้งเป็นอันว่ายึดแล้วกลับเป็นอันว่ามีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสียหาย ยิ่งยึดขนาดไหนยิ่งไม่มีความเป็นจริงเลย แต่สละทิ้งออกไปมันกลับเป็นความจริง นี่มันกลับ โลกกับธรรมมันสวนกระแสกัน

โลกนี้คือการถ้าเราแสวงหาได้มากขนาดไหน นั้นคือสมบัติของเรา แต่ในสภาวธรรม เราสละขนาดไหน แต่สละแล้วมี สิ่งที่สละนะ เพราะมันสละความยึดมั่นถือมั่นออกไป สมบัติมันก็เป็นสมบัติอยู่อย่างนั้นน่ะ ร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าเราทิ้งร่างกายแล้ว ร่างกายก็คือเรา เพราะมันอยู่กับเรา จิตใจกับร่างกายนี้มันต้องทำงาน มันเป็นเครื่องอยู่อาศัย มันทำงานกันไปโดยตามธรรมชาติของมัน มันทิ้งกิเลสต่างหาก ทิ้งความเห็นผิด ทิ้งความยึดมั่นถือมั่นของใจ ทิ้งสิ่งนั้นออกไป แต่มันจะทิ้งมันต้องมีปัญญา

ก่อนที่มีปัญญา นี่เป็นเครื่องดำเนิน ทางอันเอก ทางที่จะก้าวออกไปจากโลก ทางอยู่ที่นี่ ทางเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา หัวใจของเราสร้างมรรคขึ้นมา มรรคของโลกนี้เป็นโลกียมรรค สิ่งที่เป็นโลกียมรรค แม้แต่ประกอบสัมมาอาชีวะทำการเลี้ยงชีพชอบ สิ่งต่างๆ นี้เป็นความชอบ ชอบตามโลกเขามันก็ต้องอาศัยความคิดเหมือนกัน ผู้ที่บริหารงานต้องใช้ปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญาเป็นปัญญาโลกียะ เป็นปัญญาทางโลก สิ่งที่เป็นปัญญาทางโลกแล้วก็คิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นธรรม ถ้าสิ่งนั้นจะเป็นธรรม

สิ่งนั้นจะไม่เป็นธรรมเลย สิ่งนั้นเป็นเรื่องการกวนใจต่างหาก แต่มันจะมีเป็นประโยชน์ขึ้นมาเพียงแต่สิ่งนั้นถ้ามีศรัทธาขึ้นมา มันต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่ไง สิ่งที่มีอยู่คือหัวใจ แต่หัวใจมันสกปก มันโดนสิ่งต่างๆ ครอบงำ มันสกปรก ทุกคนถามตัวเองว่าสกปรกไหม มันคิดตามอำนาจของมันจริงไหม...นี่ไม่ต้องมีใครเป็นพยานต่อกันเลย ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน แต่ปัจจัตตังในทางลบ ปัจจัตตังในทางที่ว่ามันเป็นความทุกข์ ปัจจัตตังในความที่ว่ามันพยายามแสดงตัวออกมาให้เราเป็นขี้ข้าของมัน ขี้ข้านะ เป็นขี้ข้านะของกิเลส กิเลสขับไสแล้วเวียนตายเวียนเกิดตามอำนาจของกิเลส

กิเลสนี้ขับไสอยู่บนหัวใจของสัตว์โลก แล้วหัวใจก็อยู่ หัวใจนี้เป็นพลังงาน พลังงานคิดออกมาเป็นเงา เงาคือขันธ์ ๕ ความคิดเวลาเราไม่คิดมันอยู่ที่ไหน ความคิดเราไม่คิดมันก็ไม่มี เวลาเราคิดขึ้นมาความคิดมันก็จรมา มันก็มีแล้ว นี่มันคืออะไร? มันเกิดดับ เกิดดับ อยู่ในหัวใจเรา ไม่ใช่ใจ

ใจนี้เป็นพลังงานเฉยๆ แต่ไอ้ความคิดนี้มันเป็นขันธ์ แล้วความคิดก็มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เป็นชั้นๆ เข้าไปอีกนะ ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าใจเรื่องของธรรม จะเห็นแล้วมันถึงว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เป็นสิ่งที่ลึกลับมาก

พุทธศาสน์นี้เป็นศาสตร์ที่ว่าเหนือศาสตร์ต่างๆ ทั้งหมด พุทธศาสน์ค้นคว้าลงไปที่หัวใจของเรา คนเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนต้องมีกระดานดำ เขียนหนังสือเพื่อสั่งสอนลูกศิษย์ นี้ก็เหมือนกัน เราเขียนลงบนหัวใจของเรา เราหากระดานดำได้ไหม หาความรับรู้ ศึกษาในพุทธศาสน์ในหัวใจของเรา พุทธศาสน์ในหัวใจของเรา เราเข้าใจตามพุทธศาสน์ของเรา มันจะเป็นผลงานของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะละสิ่งนี้ออกมาได้ จะพ้นออกไปสิ่งนี้ได้ จะต้องเป็นโลกุตตรธรรม สิ่งที่เป็นโลกุตตรธรรม

ความเชื่อ เชื่อในศรัทธาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ไว้ในกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดนะ ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์สอน ไม่ให้เชื่อต่างๆ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนี่ไม่ให้เชื่ออย่างนี้ แต่ศรัทธาที่เรามาเวียนเทียนกัน เรามาประพฤติปฏิบัติกันนี่เรามีความเชื่อก่อน ความเชื่ออย่างนี้คือศรัทธา

ศรัทธานี้เป็นสมบัติของปุถุชน นี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ถ้าไม่มีศรัทธา ถ้าไม่มีความเชื่อ เราจะไม่มาประพฤติปฏิบัตินี้เลย นี้เป็นศรัทธาเริ่มต้น แต่สิ่งนี้มันก็ที่ว่าเป็นโลกียะๆ เป็นเรื่องของการเกิดดับ ศรัทธามากก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติแล้วไม่สมความปรารถนาก็เบื่อหน่ายไม่อยากไป แต่เราก็ต้องพยายาม ต้องฝืนความรู้สึกของเรา...ฝืน! ฝืนออกมาแล้วพยายามดึงตัวเองให้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ เพราะเราจะเขียนหากระดานดำ เขียนศึกษาพุทธศาสน์ในหัวใจของเรา ใครศึกษาพุทธศาสน์นี้จบในร่างกายนี้ในหัวใจนี้ ผู้นั้นจะสิ้นออกไปจากทุกข์

แล้วทุกคนมีอยู่ ทุกคนมีหัวใจอยู่ หัวใจนี้เป็นภาชนะที่ใส่ธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดเผยมาในขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เทศนาว่าการ เราจดจำอันนั้นมา เปิดเผยมาในหนังสือ ในหนังสือในปริยัติธรรมที่เราศึกษากันนี้เราศึกษามา ศึกษามาเป็นปริยัติธรรม แล้วเราก็คาด เราก็หมาย เราก็จินตนาการ เราก็ตีความกันไม่ออก เราจะตีความ ขนาดว่าเราประพฤติปฏิบัติ แม้แต่ไฟไหม้ฟางนิดหน่อย แล้วพออ่านปริยัตินี่ “เราได้ขั้นนั้นเราได้ขั้นนี้” นี่มันตีความไป

องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ธรรมเปิดเผยที่ใจ จะต้องเปิดเผยที่ใจ จะรู้ขึ้นมาจากใจ ใจดวงนั้นพลิกกิเลสออกจากใจ แล้วใจจะพ้นออกไปจากไปกิเลส จะมีความสุขขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มีความสุขมหาศาล

ความสุขทางโลกที่เราติดกัน เราต้องการปรารถนาความสุขทางโลก นั้นเป็นเหยื่อ เหยื่อเพราะว่า สุขขนาดไหน เราต้องการเราปรารถนาสิ่งใดแล้วจะไม่มีความสุขล้วนๆ หรอก สิ่งซึ่งพ้นออกไปจากความเคยชินแล้วจะเป็นความทุกข์ จะเป็นความกังวล พิไรรำพัน รำลึกกรำพันกันตลอดไป มันจะไม่มีความสุขจริงหรอก

เว้นไว้แต่เราปล่อยวางกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอน จะเป็นความสุขจริงโดยการประพฤติปฏิบัติ นี่ธรรมเปิดเผยแล้วมีความสุขด้วย สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาจากหัวใจ หัวใจไม่มืดบอดไปด้วยอวิชชา

อวิชชาเห็น พลังงานอวิชชานี่พลังงานรู้ รู้แล้ว เหมือนกับพลังงานของโลก รู้แล้ว พลังงานต่างๆ เข้าไปในเครื่องยนต์กลไกลต่างๆ เครื่องยนต์กลไกจะมีอำนาจมากเลย มีอำนาจคือว่ามันมีกำลังของมัน มันจะทำอะไรของมันก็ได้ในพลังงานที่มันเครื่องยนต์เล็กหรือเครื่องยนต์ใหญ่ ถ้าเครื่องยนต์ใหญ่อย่างเครื่องบิน บินขนมนุษย์เป็นร้อยๆ คน เป็นหลายๆ ร้อยๆ คนก็ขนได้ นั่นน่ะพลังงานของเครื่องยนต์ มันมีพลังงานขนาดนั้น แล้วเกิดขึ้นมาจากพลังงาน แล้วพลังงานก็คือตัวใจ ตัวใจนี้เป็นตัวพลังงานก่อนแล้วออกมา ออกมาในความคิด

ความคิดนี้ไม่ใช่เรา ความคิดนี้เกิดดับ ถ้าเราใช้ความคิดนี้ว่าเป็นเรา เราคิดของเราขึ้นไป มันตะครุบเงาตลอด ตะครุบเงาไปแล้วมันจะเป็นผลตามความเป็นจริงไหม นี่ธรรมไม่เปิดเผยที่ใจ เปิดเผยที่อาการของใจ อาการของใจรู้ว่าสิ่งนี้เป็นความคิด สิ่งนี้เป็นความคิด แล้วมันให้ผลเป็นความทุกข์ขึ้นมา เราพยายามจะดับมัน จะดับมันก็ต้องใช้ความคิด สิ่งที่ใช้ความคิดนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ผู้ที่เป็นพุทธจริต “พุทธจริต” พุทธจริตนี้เป็นผู้ที่ว่าอยากจะค้นคว้า อยากต้องศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า การพิสูจน์ จะไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ

เรามีศรัทธาในเรื่องของศาสนา เราเชื่อมาเพราะว่าเราเป็นคนตาบอด เราต้องเชื่อคนตาดี เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เปิดตาขึ้นมาก่อน อันนี้เป็นศรัทธาความเชื่อ แต่ในการพิสูจน์ ในการเปิดเผยของธรรมนี้ต้องเป็นปัญญาเราเปิด ถ้าปัญญาของเราจะเปิด เราพยายามค้นคว้าเข้ามา พยายามใช้ปัญญาอบรมสมาธิ การใคร่ควร เพราะมันต้องเทียบเคียง เทียบเคียงแล้วว่าสิ่งนี้ ความคิดนี้มันคิดออกไปขนาดไหน เราไล่ต้อนความคิดได้ไหม ถ้าไล่ต่อนความคิดได้ ความคิดมันจะหยุดตัว

หรือถ้าไม่ไล่ต้อนความคิด ในตัวของความคิดเองนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับ มันเป็นอนัตตาในตัวมันเอง สิ่งที่ในตัวมันเองนี่เป็นอนัตตาทั้งหมดแล้ว สภาวธรรมเป็นอย่างนั้นจริงๆ สรรพสิ่งนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เราไม่รู้จริง เรารู้จำ พอเรารู้จำขึ้นมามันถึงชำระกิเลสของเราไม่ได้ มันเพียงแต่เอามาให้เราเทียบเคียงแล้วเราเข้าใจ แล้วก็มีความสุข

สุข คือว่าพระพุทธเจ้าสอนจริงนะ มันมีความจริงจริงๆ นะ...เวลาคำว่าจริงๆ นี่คำพูดพูด อาการของใจ มันรับรู้กันตามความเป็นจริง แต่เวลามันเป็นอนัตตา เราเห็นสภาวะ สติเราตั้งขึ้นมา แล้วตามความคิดไปมันจะหยุด มันจะหยุด

สิ่งที่หยุดความคิด นี่เงา เงาเริ่มหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามา จิตนี้จะเป็นสมาธิ จิตนี้จะปล่อยวางสิ่งนั้นเขามา ถ้าปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา มันจะเริ่มเป็นมหัศจรรย์ของเราเอง นี่เราเห็น เราเห็นจริงๆ เนาะ เห็นความคิดเราหยุดได้จริงๆ นะ ความคิดเรานี่มันคิดออกไป

แต่ก่อนนี้ความคิดเป็นเรา เราคิดออกไป เราก็เบื่อหน่ายนะ มันทำไมคิดอย่างนี้ ทำไมคิดสิ่งที่ไม่ควรคิดมันก็คิด ไม่ควรที่จะคิดเลย คิดไป ไม่มีอำนาจยับยั้งได้ แต่พอประพฤติปฏิบัติ นี่ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคือให้เห็นตามความเป็นจริง เห็นความเกิดขึ้นของผู้คนคนนั้น ของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นทุกข์ ใจดวงนั้นมีกิเลส ใจดวงนั้นมีอำนาจที่มันจะพยศออกขนาดไหน เราต้องให้ทำใจดวงนั้น สิ่งนี้จะปล่อย จะสงบเข้ามา สงบเข้ามา

ปัญญาอบรมสมาธินี้เป็นสิ่งที่ว่าผู้ที่มีปัญญาต้องใช้อย่างนี้ใคร่ครวญมา นี้เป็นสุขวิปัสสโก สิ่งเป็นสุกขวิปัสสโกนี้มันจะไม่ใช่มีฤทธิ์มีเดชนะ มีฤทธิ์มีเดชหมายถึงว่าเวลาปฏิบัติเข้าไปจะเห็นสิ่งต่างๆ การเห็นสิ่งต่างๆ นี้มันเกิดจากสัทธาจริต ถ้าสัทธาจริตมีความเชื่อแล้วกำหนดพุทโธๆ พุทโธนี้เหมือนกำปั่นทุบดิน เพราะพุทโธๆ มันไม่ต้องใช้ปัญญา ใช้แต่ความศรัทธาความเชื่อ สัทธาจริตเอาความเชื่อออกหน้า แล้วว่ามันต้องเป็นผลจริงๆ แล้วกำหนดไปด้วยสติสัมปชัญญะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ

พุธโธนี้เป็นพุทธานุสติ หรืออานาปานสติคือลมหายใจเข้าออก นี่เรื่องของร่างกายของเรา เรื่องของลมหายใจ เรื่องของความรู้สึก มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายเราตลอดเลย เป็นสิ่งที่ควรศึกษา พุทธศาสน์ พุทธศาสน์ศึกษาในตัวของเรา ศึกษาในร่างกายของเรา ศึกษาในหัวใจของเรา จบกระบวนการแล้ว สิ้นสุดในการตายและการเกิด การตายและการเกิดนี้เป็นความทุกข์หนอ ทุกข์จริงๆ นี้เป็นเรื่องของความทุกข์ เราก็รู้กันอยู่ แต่มันเหมือนภาวะจำยอม เราปลดเปลื้องสิ่งนี้ไม่ได้

แต่ในการเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติให้มันสงบเข้ามา มันจะเห็นสิ่งที่ว่าใจนี้มันโดนสิ่งนี้ปกปิดอยู่ มันก็ล้มลุกคลุกคลานไปกับสิ่งที่มีอำนาจเหนือเขา แต่ขณะที่มันหยุดยั้งขึ้นมานี่ ใจเริ่มหยุดยั้งขึ้นมา เริ่มมีอำนาจฝืนกับสิ่งที่ว่ามันขับไสให้ใจดวงนั้นต้องล้มลุกคลุกคลานไปได้แล้ว ใจของเรามันจะเห็น เห็นสภาวะของมันขึ้นมาเอง ด้วยความสงบของใจ ด้วยปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ด้วยพุทโธก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคล

บุคคลเราเกิดมาแต่ละคนนี้ จริตนิสัยความชอบไม่เหมือนกัน ความชอบไม่เหมือน ถึงเอาเป็นสิ่งที่ว่า เป็นสูตรสำเร็จ เป็นสิ่งที่ว่าลงตัวไม่ได้ แม้แต่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ บางคราวเราก็ใช้พุทโธได้เหมือนกัน มันต้องใช้พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพื่อเป็นพุทธานุสติระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ระลึกถึงนี่เป็นธรรม เป็นธรรมแล้วนะ นี่ประพฤติปฏิบัติธรรม แต่เป็นธรรมที่ยืมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ยืมมาก่อน จนกว่ากำหนดพุทโธ พุทโธ จนใจมันกำหนดพุธโทไม่ได้ มันปล่อยพุทโธออกมา จนตัวมันเองเป็นพุทโธ ตัวมันเองมันเป็นความสงบเฉยๆ

สิ่งที่เป็นความสงบเฉยๆ นี่รู้อยู่นะ รู้อยู่ซึ้งๆ หน้า รู้ว่าสิ่งนี้มีอยู่ สงบนิ่งเลยนะ นั่นน่ะ จนใจนั้นเป็นพุทโธ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน จะเข้าไปเห็นพุทโธ เห็นหัวใจของเรา นี่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต” จะเห็นตามความเป็นจริง จิตเป็นอย่างนี้หนอ เห็นที่ว่าเห็นร่างกาย เห็น รู้จัก รู้จักจิตของเรา จิตเป็นอย่างนี้หนอ อยู่ในร่างกายนี้หนอ นี่กระดานดำ สิ่งที่กระดานดำ เราจะศึกษาเล่าเรียนกับสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์กันว่า เราจะพาใจของเรานี้ให้พ้นออกไปจากกิเลสได้ไหม ถ้าเราพาใจของเราพ้นออกไปจากกิเลสไม่ได้ เราทำถึงจุดนี้ เรารักษาสิ่งนี้ไว้

สรรพสิ่ง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี้ก็เป็นอนัตตา สภาวธรรมนี้เหมือนกับญาณ เหมือนกับเครื่องดำเนินพาใจดวงนี้ให้ถึงเป้าหมาย สภาวธรรม เราต้องสร้างสภาวธรรมขึ้นมาเพื่อจะให้เป็นภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นภาวนามยปัญญานี้เป็นสภาวธรรมทั้งหมด เพราะเป็นกุปปธรรม สิ่งที่เป็นกุปปธรรมคือเราสร้างสมขึ้นมาแล้วเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในหัวใจของเรา มันมีความเจริญงอกงามขึ้นมาขนาดไหนมันก็เป็นความสุขของเรา แล้วสิ่งนี้ถ้าเราไม่พาสิ่งนี้เข้าไปเพื่อจะพาเข้าไปหาถึงความเปิดเผยของธรรมนั้น มันจะเจริญขึ้นมาแล้วมันก็จะเสื่อมไป สิ่งนี้เสื่อมไป

สมาธินี้น้ำเต็มแก้ว สมาธินี้ไม่สามารถชำระกิเลสได้...ถูกต้อง แต่สมาธินี้มีความจำเป็นอย่างมหาศาลเลยที่จะทำให้ใจของเราเป็นโลกุตตรธรรม ถ้าไม่มีสมาธิมากดมาแยกแยะไว้ก่อน มันจะเป็นโลกียะ คือเราใช้ปัญญาทางโลก ปัญญาของเรา ถ้ามีปัญญาของเรา เราก็โดนกิเลสหลอกมาชั้นหนึ่งแล้ว กิเลสมันหลอกมานี่ เป้าหมายของเราพยายามชำระกิเลส ในเมื่อเราโดนหลอกมาแล้ว เราจะเอาสิ่งที่ว่าไม่เป็นความจริงเข้าไปชำระกิเลส มันยิ่งเลอะเทอะ มันยิ่งไปเรื่อยเฉื่อยเลย ออกไปนอกรู้นอกทางไปไหนก็ไม่รู้ แล้วก็เข้าใจว่าเราปฏิบัติธรรม เข้าใจว่าปฏิบัติธรรม แล้วปฏิบัติธรรม ทำไมไม่สมควรแก่ธรรม ทำไมไม่สามารถพาหัวใจนี้เข้าไปรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง

เพราะปฏิบัติแล้วหมุนออกไง นี่กิเลสส่งออก เกิดจากผู้ที่กำหนดพุทโธจะเจอสิ่งนี้มาก เจอสิ่งนี้เพราะกำหนดเข้าไปแล้วจะเจอนิมิต สิ่งที่มีนิมิต สิ่งที่เป็นภาพขึ้นมานะ เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เห็นได้ ไม่ปฏิเสธ เพราะสิ่งนี้องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว นรกสวรรค์มีจริง นิพพานมีจริง สรรพสิ่งนี้มีจริง มันจริงโดยธรรมชาติของเรา แต่เราพึ่งมาเห็นเราก็ตื่น พอเรามาเห็นในสภาวะนี้เราก็ตื่น เห็นชั่วครั้งชั่วคราว เห็นอย่างนั้นน่ะ สภาวะแบบนี้ทำให้ใจเราส่งออก สิ่งที่ส่งออกมันไปใหญ่เลย เพียงแต่ว่าเราจะมีสติไหม

มีสติสัมปชัญญะ สัมปชัญญะคือความรอบรู้รอบตัว มีสติอยู่ สติรับรู้อยู่ ระลึกรู้อยู่ว่าสิ่งนี้มันส่งออกไปแล้ว แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติ คนหลงจะต้องไม่รู้สึกตัว ถ้ารู้สึกตัวจะเรียกว่าคนหลงได้อย่างไร คนที่ไม่เข้าใจสภาวธรรมมันก็ต้องหลง สิ่งที่หลงสิ่งนี้จะทำให้เราเนิ่นช้า แล้วเราจะติดเกี่ยวกับสิ่งนี้ตลอดไป จะต้องวางสิ่งนี้ เราต้องการความสงบของใจ จะเห็นนิมิตเห็นต่างๆ นั้น เห็น ไม่เอา เว้นไว้แต่กายเท่านั้น ถ้าเห็นกายนี้มันเป็นการบอกถึงจริตว่าอำนาจวาสนาเลย ว่าพอจิตสงบขึ้นมาก็เห็นสภาวะกาย เห็นสภาวะกายตามความเป็นจริง

สภาวะกายที่เห็นตามความเป็นจริงนั้นเห็นจากภายใน เห็นสภาวธรรมแบบนายแพทย์หมอเขาเห็นนั้นเห็นจากตาเนื้อ เห็นจากวิชาชีพ สิ่งนั้นเห็นแล้วไม่สามารถชำระกิเลสได้ จะผ่าตัดขนาดไหนก็ไม่สามารถชำระกิเลสได้ ถ้าสิ่งนั้นชำระกิเลสได้ สัปเหร่อทำศพเขาทำมาเป็นร้อยๆ พันๆ ศพ เขาต้องสามารถชำระกิเลส เขาต้องเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว

มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของโลกียะ เห็นไหม หมอเขาผ่าขนาดไหน เขาผ่ามาเพื่อผลประโยชน์ของเขา เป็นวิชาชีพของเขา เป็นผลประโยชน์ของเขา แต่เขาไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีจิตตั้งมั่น ถ้าวันไหนเขาผ่าแล้วเกิดสภาวธรรมเขาเกิดขึ้นมา ใจเขาสงบขึ้นมาก็ผ่าศพเข้าไป เขาจะเห็นสภาวะอย่างหนึ่ง สภาวะที่เขาเห็นขึ้นมานั้นเป็นสภาวธรรมก็ได้

ถ้าเป็นสภาวะตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงหมายถึงใจมันสลดสังเวชไง ใจมันเห็นว่าคนเรามันก็มีเท่านี้หนอ เกิดมาเพื่อพยายามอยากให้สมความปรารถนาของชีวิต ชีวิตนี้ปรารถนาทุกๆ อย่างเพื่อความเป้าหมายของเรา แต่สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องทิ้งเรื่องของโลกไว้ข้างหลัง แล้วต้องหมุนไปข้างหน้า ชีวิตมีเท่านี้หนอ นี่สภาวธรรมเกิดขึ้น เขาจะมีความรู้สึกสะเทือนใจมาก ถ้าอย่างนี้เป็นจริง...จะเป็นจริงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วสภาวะอย่างนี้ไม่มี เพราะไม่มี เพราะเขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม

เริ่มต้น บอกที่ว่า ถ้าใจเราไม่บริสุทธิ์ใจเรามันมีกิเลสอยู่นี่ มันผลักไสให้ออกเรื่องของโลกทั้งหมด ถ้าเรื่องของโลก เวลาเขาผ่าขึ้นมา เขาผ่าตัดขึ้นมา เขาต้องตั้งสติ เขาต้องพยายามทำงานเขาให้เรียบร้อยขึ้นมา เขาไม่มีเวลาจะมาคิดเปรียบเทียบหรอก เขาจะคิดว่างานของเขาเสร็จขนาดไหน นั้นเขาถึงไม่เห็นสภาวะกายตามความเป็นจริง

คำว่า “เห็นกายๆ” เราก็ว่าเห็นกายๆ แต่ครูบาอาจารย์บางองค์ก็บอกอยู่ เห็นจากภายนอกก็ได้ แต่เห็นจากภายนอกต้องมีสติพิจารณาเข้าไปเพื่อให้มันสลดสังเวชเข้ามา ถ้ามันสลดสังเวช มันปล่อยเข้ามานะ เราเห็นคนเจ็บคนไข้ เราเห็นแล้วเราก็สลดสังเวช ทำไมมันเป็นทุกข์ยากขนาดนั้น เห็นแล้วมันก็ทำให้เรา...บางทีเห็นแล้วทำให้ถึงกับว่าตื้นตันใจ พอตื้นตันใจก็คิด เรา ถ้าเราเป็นอย่างนั้นล่ะ เราเป็นอย่างนั้น นี้เราไม่เป็นเรามีโอกาสแล้ว ถ้ามีโอกาส ต้องสร้าง สร้างให้ใจเข้ามาอยากให้ประพฤติปฏิบัติ เรามีโอกาส เราต้องสังเวชแล้วต้องให้ได้ประโยชน์สิ เรามีโอกาสแล้วเราก็ปล่อยไป นึกระลึกถึงอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ปล่อยไป แล้วก็หมุนออกไปตามกระแสโลกเขาอีก นี่ไม่พาใจเข้าหาธรรม

ถ้าพาใจเข้าหาธรรม มันต้องเริ่มเห็นกายจากความเป็นจริง ถ้าไม่เห็นกายเราก็ต้องว่า วิปัสสนาจะทำอย่างไร วิปัสสนาเป็นการชำระกิเลส สิ่งที่ชำระกิเลสต้องใช้ปัญญา ภาวนามยปัญญาขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ธรรมเปิดเผยที่ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์นี้กระจ่างแจ้ง แต่ของเรามันมีความสว่าง เวลาจิตสงบนะ บางทีสว่างไสวไปหมดเลยนะ นี่ติดได้ ทุกอย่างติดได้ มันจะเวิ้งว้าง ติดได้ ติดได้หมดเลย เพราะคนไม่เคยเห็น

เราเดินจากที่ต่ำขึ้นที่สูง สิ่งที่ขึ้นไปพบประสบแล้วมันจะติดสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่เป็น ไม่ใช่ความว่างของสภาวธรรม มันเป็นความว่างของในวงของสมถะ เป็นความว่างของใจมันสงบเฉยๆ แต่ถ้าเป็นความว่างของการชำระกิเลสมันจะต้องมีวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนาจนเข้าไปแยกแยะ จนเห็นสภาวะกิเลสนั้นว่าสิ่งนี้ว่าสิ่งนี้มันเป็นอนัตตา

สิ่งที่เห็นเป็นอนัตตานะ ขันธ์ก็ได้ จิตก็ได้ ถ้าเป็นขันธ์นี่พิจารณาจิต การพิจารณาจิต กาย เวทนา จิต ธรรม แต่จับอันเดียวนะ กายก็ได้ จิตก็ได้ เวทนาก็ได้ ธรรมก็ได้ จับสิ่งเดียว จับสิ่งเดียววิปัสสนาไป ไม่ต้องไปกังวลสิ่งใดๆ ถ้าเราศึกษาปริยัติมา ต้องพิจารณากายก่อนหรือ แล้วต้องไปพิจารณาเวทนาซ้ำหรือ พิจารณาจิตซ้ำหรือ นี่เป็นความเข้าใจ

แต่ตามความเป็นจริงจับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จับสิ่งสติปัฏฐาน ๔ สิ่งนี้ ถ้าเข้าใจอันเดียวอันหนึ่งจะเข้าใจทั้งหมด จะหลุดทั้งหมดเลย หลุดออกมา แต่เป็นมรรค ๔ ผล ๔ จะต้องจับถึง ๔ หน ๕ หนก็ได้ ถ้าเพื่อความตรวจสอบของเราจะเป็น เพราะขึ้นข้างบนแล้วมันจะมีความลึกลับของมัน สิ่งที่ความลึกลับของใจทำให้ใจเรานี้อยู่ในอำนาจของกิเลส

กิเลสนี้มีอำนาจมาก มีวิชาการมีสิ่งต่างๆ ที่หลอกลวงใจ แล้วควบคุมใจไว้อยู่อำนาจของมัน เราถึงต้องจับพลิกแพลง พลิกแพลงด้วยวิปัสสนา ถ้าไม่มีวิปัสสนาจะไม่เข้าใจเรื่องของสิ่งนี้ เรื่องของความติดของใจ เรื่องการศึกษาตัวเราเอง เรื่องพุทธศาสน์ในร่างกายของเรา ในจิตใจของเรา เราจะไม่รู้เลย ไม่รู้เลยมันถึงติดไง เพราะมันไม่รู้ อวิชชาถึงครอบงำ แต่ถ้ามันรู้จริงขึ้นมานี่มันจะสว่างเข้ามา อวิชชาจะครอบงำไม่ได้เลย

ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย...กายนี้ไม่ใช่เราจริงๆ มันเกิดอยู่ ถ้ามันเกิดอยู่ ทั้งชีวิตหนึ่งแล้วก็ต้องพลัดพรากจากกัน นี้คือปรมัตถธรรมตามความเป็นจริงๆ แต่ถ้าสมมุติสัจจะเป็นเราไหม? เป็น เป็นกันจริงๆ แต่เราต้องปล่อยแล้ว เพราะเราผ่านจากสัมมาสมาธิเข้ามาแล้ว สัมมาสมาธินี้ จนทำสงบเข้ามามันเป็นกัลยาณปุถุชน

กัลยาณปุถุชน คนที่เบาบาง คนที่จะชำระกิเลสได้ นี่มันจะย้อนกลับเข้ามา ถ้าพิจารณากาย จะเห็นกาย เห็นจับกายขึ้นมาได้แล้วแยกแยะออก ตั้งไว้ ตั้งสิ่งนี้ ถ้ากำลังพอมันจะร่วงลง มันจะสลายไป มันจะมีความมหัศจรรย์มาก สิ่งที่เข้าไปรู้อย่างนี้ คนที่รู้อย่างนี้ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นสภาวะตามความเป็นจริงนั้น คนคนนั้นจะเป็นผู้ที่ว่าเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมาขนาดนั้นเลยล่ะ เป็นผู้ที่จะปล่อยวางกิเลสได้ตามความเป็นจริง เพราะสิ่งนี้มันเป็นการสอนใจ

เราศึกษาพุทธศาสน์ของใจ ให้ใจมันศึกษา ที่เวลาเราดูอยู่ เวลาพิจารณาวิปัสสนา ใครเป็นคนวิปัสสนา? ใจใช่ไหม เพราะใจสงบ ใจสงบใจถึงวิปัสสนา แล้วเห็นสภาวะอย่างนั้นมันเห็นสภาวะนั้นแล้วมันสลดสังเวช มันจะสลดสังเวช มันจะตื้นตันมาก ตื้นตันจนขนพองสยองเกล้า ขนพองสยองเกล้าเลยว่ามันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปได้อย่างไร ทำไมเราหลงสิ่งนี้ มันเป็นขนาดนั้น เวลาวิปัสสนาไปมันจะเป็นขนาดนั้นเลยว่าเราหลงสิ่งนี้ได้อย่างไร ทำไมเราไม่รู้สิ่งนี้

มันไม่รู้เลยถ้าเราไม่ได้สร้างฐานขึ้นมา สิ่งที่มันรู้อยู่นี้เพราะเราสร้างฐานเราขึ้นมา เราสร้างสัมมาสมาธิขึ้นมาต่างหาก เรามีฐานของสมาธิขึ้นมามันถึงจะเห็นสภาวะอย่างนี้ได้ ถ้าเราไม่มีฐานอย่างนี้ขึ้นมา เราเห็นสภาวะอย่างนี้ไม่ได้หรอก

อันนี้เป็นโลกุตตรธรรม เป็นโลกุตตรธรรมคือธรรมจะพ้นจากกิเลส มันจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้วเราวิปัสสนาซ้ำบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า เวลามันเห็นตามความเป็นจริง มันจะสลดสังเวชแล้วมันจะปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางนะ

เวลาปล่อยวางนี้มันก็เป็นการพิสูจน์กันว่าถ้าวงของสมถะ วงของสัมมาสมาธิมันเวิ้งว้างขนาดไหน มันจะสว่างขนาดไหน มันก็ยังมีผู้รู้อยู่ แต่เวลามันปล่อยวางวิปัสสนา มันปล่อยวาง ผู้รู้นี้มันรับรู้ มันละเอียดเข้าไป มันละเอียดลึกซึ้งลึกล้ำกว่ากัน ความสุขก็ต่างกัน ถ้าวิปัสสนาถึงขนาดนี้แล้วจะมีความสุขกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีความสุขเป็นเครื่องดื่มกิน ดื่มกินขึ้นไปว่าวิปัสสนาเข้าไปๆๆ ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงจุด

ผู้ที่ประพฤติแล้วประมาท เวลามันปล่อยวางแล้วมีความสุขมาก เข้าใจว่าเป็นผล “เอาล่ะเราทำแค่นี้เราก็พอ ได้ผลของเราแล้ว” นั่นน่ะ ผลอันนั้นเป็นกุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลาย สภาวธรรมทั้งหลายที่เราสร้างสมขึ้นมานี่สูงส่งขึ้นมาขนาดนั้นแล้ว ก็ปล่อยให้เจือจาง ปล่อยให้ขาดไป ปล่อยให้เจือจางไป แต่ถ้าจะเป็นก็จะเป็นจริตนิสัยนะ ใจดวงนี้ประพฤติปฏิบัติขนาดนี้ มันจะเป็นจริตนิสัยข้างหน้าต่อไปว่าจะประพฤติปฏิบัติ ข้างหน้าต่อไปจะง่ายขึ้นๆ จะต้องทำได้เข้าถึงจุดนี้

แต่ขณะที่ปัจจุบันนี้ พอซ้ำเข้าไป พอวิปัสสนาซ้ำแล้ว เราต้องซ้ำเข้าไปบ่อย จากนั้นน่ะเริ่มต้นใหม่ เวลาจะจิตสงบขึ้นมาก็เริ่มยกขึ้นกายขึ้นใหม่ แล้ววิปัสสนาขึ้นใหม่ให้มันแปรสภาพให้เราเห็นใหม่ เห็นใหม่จิตก็สลดสังเวชใหม่ มันจะลึกไปเรื่อยๆ ลึกไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดมันจะปล่อยวางสิ่งนั้นขาดออกไปเลย ถ้าจบสิ้นของการประพฤติปฏิบัติเป็นอกุปปธรรม ขาด คือว่าขันธ์ กายกับจิตนี้จะแยกออกจากกัน สักกายทิฏฐิจะแยกออกไปจากใจเหมือนกัน แยกออกขาดโดยธรรมชาติของมัน เป็นอกุปปธรรม คือไม่ไม่เสื่อมสภาวะแบบนี้

ใจแบบนี้ เรียนพุทธศาสน์เข้ามา พาใจเข้าหาธรรม พอใจมันสว่างขึ้นมา นี่ธรรมเกิดขึ้น เปิดเผยลงจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเปิดเผยขึ้นมามันก็เข้าใจ เข้าใจ เห็นสภาวะ เห็นตามความเป็นจริงขณะนั้น แล้วปล่อยความจริงขณะนั้น นี่ความสุขเกิดขึ้นอย่างมหาศาลเลย ความสุขทางโลกเทียบกับสิ่งนี้ไม่ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงมีกำลังใจ กำลังใจก็คือว่าชีวิตนี้ก็แลกได้

ทำงานของเรา เราทำงานของเรา เราทำงานอะไรก็แล้วแต่ ชีวิตแลกน่ะมีไหม เว้นไว้แต่งานเสี่ยง เสี่ยงชีวิตนั้นเสี่ยงไปประสาโลกเขา เสี่ยงไปตายก็ตายเปล่า ตายเพราะหน้าที่การงาน แต่ของเรานี่ เวลาตายขึ้นไป เราเป็นคนคิดว่าตาย เราสละตายของเราเอง สละตายขึ้นมาเพื่อจะไม่ให้กิเลสมันหลอก ถ้าไม่อย่างนั้นกิเลสมันจะหลอกนะ

ถ้าเราห่วงอยู่ เรามีความกังวลอยู่ กิเลสมันจะบอกว่า ถ้าทำไปสิ่งนี้มันจะตาย สิ่งนี้จะทำให้เราพิการไป ทำให้ใจนี้ไขว้เขว ใจนี้อ่อนด้อยแล้วจะถอยออกมา จะไม่สามารถเดินเข้าไปถึงจุดนี้ได้ แต่ถ้าเรามีปัญญาของเราขึ้นมา เราจะเอาชีวิตเข้าแลก มันจะตายขนาดไหนให้มันตายไป ถึงถ้ามันตายไป เราก็ต้องมีบุญกุศลของเราขึ้นมา ถ้าเรามีความชุ่มชื่นใจขึ้นมา มันไม่ตายหรอก มันเป็นการหลอกของกิเลส เวลากิเลสหลอกนี่มันหลอกขนาดนั้น หลอกทุกๆ อย่าง หลอกให้เราเกิดเราตายมา พบกับชีวิตนี้ แสนทุกข์ แสนยาก มันก็หลอกมา นี่มันหลอกมา ทั้งๆ ที่มันเป็นเรานะ สิ่งนี้เป็นเรา

ถึงบอกว่าสิ่งที่เป็นเรา ถ้าเป็นฝ่ายดี เป็นกุศล กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ เกิดดับๆ นี้อยู่ในโลกนี้ มันก็เวียนไปกระแสโลกนี้ แต่ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุดแล้วมันแยกออกไปนี้ มันไม่ใช่เรื่องโลกแล้ว มันเป็นเรื่องของสภาวธรรม สภาวธรรมที่พิจารณาจนขาดออกไปจากใจ นั้นน่ะมีความสุข มีความสุขแล้วก้าวเดินต่อไป พิจารณาจิตก็เหมือนกัน พิจารณาจิตนี้ก็พิจารณาขันธ์ พิจารณาจิตนี้พิจารณาความคิดไง จิต คือความคิด เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมเราจับต้องไม่ได้ จับต้องไม่ได้เพราะเป็นนามธรรม แต่วิปัสสนาไป จนเกิดสัมมาสมาธิ จับต้องความคิดได้ ความคิดจับต้องความคิด แล้วแยกแยะความคิดออกว่าความคิดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร นี่วิปัสสนาเข้าไป แล้วแยกออกไปให้ความคิดกับจิตแยกออกจากกัน มันจะออกจากกันโดยความเห็นจริง

ความเห็นจริงคือจิตมันวิปัสสนาเข้าไป มันจับต้องได้ จับต้องอาการของขันธ์ คือจับต้องอารมณ์ สิ่งที่เป็นอารมณ์ นี่มันครบมันสมบูรณ์ด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สมบูรณ์ขึ้นไปถึงเป็นอารมณ์หมุนออกไป สิ่งที่เป็นอารมณ์หมุนออกไป หมุนออกไปเพราะอำนาจของกิเลส กิเลสมันผูกมัดสิ่งนี้อยู่ มันไม่เข้าใจสภาวะสิ่งนี้ มันก็หมุนวางออกไป เรามีสติสัมปชัญญะ แล้วเราสร้างสัมมาสมาธิขึ้นมาจนมันจับต้อง จับต้องอาการของใจได้ แยกออกไป จับเรื่องอาการของขันธ์ได้ แยกออกไป แยกออก ถ้ากำลังพอจะแยกได้ แยกออกมันก็ปล่อยวาง

เหมือนกัน พิจารณากายกับพิจารณาจิตนี้เหมือนกันในการปล่อยวาง แต่ต่างกันโดยการ โดยวิธีการ เพราะว่าคำว่าจิตกับกาย มันต่างกันโดยธรรมชาติ แต่ ๒ เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายใหญ่ของการประพฤติปฏิบัติ แล้วส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะสอนเรื่องวิปัสสนากาย เพราะวิปัสสนากายนี้มันจะทำให้หลงยาก เพราะสิ่งนี้มันเหมือนกับกำปั้นทุบดิน มันต้องเจออยู่แล้ว

เหมือนกับเวทนา เวลาเราวิปัสสนา เรานั่ง เราอยากวิปัสสนา เราไม่มีงานทำ นั่งไป ๔-๕ ชั่วโมง เวทนามันต้องเกิดอยู่แล้ว ถ้าเวทนาเกิดอยู่แล้ว เราวิปัสสนาได้แล้ว เราจับเวทนาแยกแยะ ถ้าเราจับ แต่นี่เราจับแล้วเราจับไม่ไหวน่ะสิ เวลาเวทนามันเกิด เพราะเราจับเวทนา เวทนาจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า ๔ เท่า เพราะเราจับเวทนา กำลังเราไม่พอ เพราะเราไม่เคยฝึก แต่ถ้าเราเคยฝึกขึ้นมา เราจับเวทนา เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา ถ้าเวทนาเป็นเรา เราเคลื่อนไหวไป เวทนาต้องอยู่กับเราตลอดไป...นี้ไม่ใช่ เวทนานี้เกิดขึ้นมาเราขยับมันก็หายแล้ว หายแล้วเพราะอะไร เพราะมันได้เคลื่อนไหว พอได้เคลื่อนไหว นี่มันถึงว่ามันหลอกไง มันหลอกทั้งนั้นเลย แต่มันหลอกจริงตามสมมุติ

โลกจริงตามสมมุติ สิ่งที่จริงตามสมมุติ พระพุทธเจ้าก็รับรู้จริงตามสมมุติ ไม่ขวางโลกหรอก โลกตามความเป็นจริงก็รับรู้ตามความเป็นจริง แต่สมมุติ สมมุติเป็นของชั่วคราว แล้วเราก็เกิดมามีชีวิตนี้ เราก็มีชีวิตนี้ชั่วคราว ชั่วคราวเพราะเราอยู่ในโลก แต่จะเป็นความจริงถ้าจิตนี้พ้นจากกิเลสแล้วเป็นความจริง ไม่ใช่ของหลอก เพราะมันทิ้งออกหมด

องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้มาแล้ว ๔๕ ปี ชีวิตนี้ยังใช้เรื่องของโลกอยู่ สอนโลก สั่งสอนโลกให้โลกเข้าใจสภาวธรรม รื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ ขนออกไป แล้วเวลาดับไปแล้วจิตนี้ก็มีอยู่ เวลาปรินิพพาน พระอนุรุทธะนั่งอยู่ ขณะนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ขึ้นอากาสานัญจายตนะ ย้อนกลับไป กลับไปกลับมา ถึงระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน แล้วสิ้นที่ตรงนั้น สิ้นที่ตรงนั้น คือว่าจิตนั้นออกจากกายที่ตรงนั้น

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ จิตนี้มีอยู่โดยดั่งเดิม นิพพานถึงมีอยู่ ถึงเป็นความสุขโดยสภาวะตามความเป็นจริง ถึงไม่เป็นสมมุติแบบโลกเราไง ถ้าเป็นสมมุติแบบโลกเรา เราก็จะเป็นสมมุติอยู่อย่างนี้ เราก็ติดในสมมุติของเรา สภาวธรรม เราจะเอาตามความเป็นจริงอย่างนั้น เราก็ต้องยกขึ้นไปวิปัสสนาให้ได้อย่างนั้น ถ้ายกขึ้นไปวิปัสสนาให้ได้อย่างนั้น ต้องทำความสงบของใจซ้ำเข้าไป

มรรค ๔ ผล ๔ มรรคเริ่มต้นนี้เราวิปัสสนากายจนปล่อยวางกายเข้ามาแล้ว เราวิปัสสนากายเราก็ต้องสร้างสัมมาสมาธิ เพราะสัมมาสมาธิมันจะละเอียดเข้าไป สมาธิ สัมมาสมาธิ เหมือนกับมหาสติมหาปัญญา สติปัญญา มหาสติมหาปัญญา จากสมาธิธรรมดา มันเป็นมหาสมาธิก็ได้ เพราะมันลึกเข้าไป ลึกเข้าไป จิตนี้จะลึกเข้าไป เพราะธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้วกว้างขวางมาก ลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งอยู่ในหัวใจของเรา

ในคำโบราณถึงบอกนะ ใจคนนี้หยั่งไม่ถึง หยั่งยากมาก ทะเลลึกขนาดไหนก็หยั่งได้ แต่น้ำใจคนหยั่งไม่ได้ นี้ก็เหมือนกัน กิเลสมันอยู่ในใจ มันยิ่งกว่าการหยั่งของการใคร่ครวญอย่างนั้น นี้เราจะเข้าไปลึก เราจะหยั่งเข้าไปด้วยธรรม เราต้องทำสัมมาสมาธิ พยายามทำความสงบของใจ มันจะมีการต่อต้าน มีการขับไสให้เราไขว้เขวไป เราต้องมีปัญญาตลอด

เวลาประพฤติปฏิบัตินี้ กิเลสไม่ใช่สงบตัวลงรอแต่ให้เราเข้าไปชำระหลอก กิเลสนี้จะต่อต้าน จะต่อต้าน จะสร้างสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมาให้เราหลงใหลไปในความคิดของเขา ในความเห็นของกิเลสนั้นจะสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เราเชื่อสิ่งนั้น เราก็จะต้องสะดุดอยู่ที่ตรงนั้น การประพฤติปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เราไม่ก้าวหน้า เพราะเราเชื่อเรา เราไม่เชื่อสภาวธรรม

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา”

นี้เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ถ้าสภาวธรรมเราเกิดขึ้นมาอย่างนี้มันเป็นธรรมดาแต่ทำไมเราไม่มีผล ผลงานของเราขึ้นมาล่ะ ถ้ามันเป็นธรรมดา มันหลุดออกไป มันต้องมีผู้รู้รับรู้สิ่งนั้นสิ เรามีสัมมาสมาธิ จิตนี้รับรู้สิ่งต่างๆ อยู่ สิ่งที่ให้เกิดขึ้นมา จิตนี้ตามรู้ตลอด แล้วปล่อยสิ่งใดไปจิตก็รู้ตลอดว่าปล่อยสิ่งนั้นไป ถ้าจิตมันปล่อยสิ่งนั้นไป จิตมันต้องรู้ว่าเราจับต้องสิ่งใดไป แล้วปล่อยสิ่งนั้นไป นั่นน่ะมันถึงจะปล่อยเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ ปล่อยเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ จนจับอาการของใจได้อีกชั้นหนึ่ง ต้องจับได้เหมือนกัน

ถ้าไม่จับได้ใหม่ มันเป็นอาการ เป็นเงาของใจ ถ้ามันจับได้ มันจะเป็นตัวใจ ตัวกาย วิปัสสนากาย ถ้าวิปัสสนากายนี้ เริ่มต้นจากสภาวะที่มันแปรสภาพ ในเริ่มต้นของการปล่อยวางเข้ามาชั้นหนึ่ง แต่ในการวิปัสสนาต่อไปมันจะเริ่มเปลี่ยนสภาวะของมันกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันจะเริ่มไป

แต่เดิม วิปัสสนานี่มันหลุดไปร่วงไป กายนี้ร่วงออกไปร่วงออกไป แล้วพิจารณาแล้วคิดว่ามันหมดแล้วกายนี้ เรื่องของกายสิ้นสุดกระบวนการของการวิปัสสนา...ไม่ใช่หรอก กายมันก็มีกายนอก กายใน กายในกาย ซ้ำละเอียดเข้าไป เป็นลึกซึ้งเข้าไป จนเดี๋ยวข้างหน้าเข้าไปจะไปเจออสุภะ มันยิ่งละเอียดยิ่งกว่านี้อีก สิ่งที่เป็นอสุภะ อสุภัง ในส่วนลึกของใจ

แต่ในเมื่อมันก้าวเดินไปไม่ถึง มันต้องมรรค ๔ ผล ๔ ขึ้นไป เราจะผ่านขั้นที่ ๒ ถ้าขั้นที่ ๒ นี้ต้องวิปัสสนาให้กายนี้ สภาวะของกาย ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ แยกออก ถ้าใจวิปัสสนาอย่างนั้น ใจจะปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องซ้ำแล้วเหมือนกัน ถ้าไม่ซ้ำมันปล่อยแล้ว มันปล่อยในกุปปธรรม มันไม่ปล่อยในอกุปปธรรม ถ้าปล่อยในอกุปปธรรม มันจะมีสิ่งบอก สิ่งนี้บอกหมดว่าใจกับจิตแยกออกจากกัน กามราคะ ปฏิฆะอ่อนตัวลง สิ่งที่อ่อนตัวลงพ้นออกไปอีกชั้นส่วนหนึ่ง นี่ธรรมเปิดเผยขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งในหัวใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะต้องมีความสุขแล้วจะเพลินอยู่ตรงนี้มาก

สิ่งที่เพลินอยู่ตรงนี้ เพราะสิ่งนี้มันจะเวิ้งว้าง กายกับจิตแยกออกจากกัน โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ไม่มีสิ่งใดๆ เลย เรามองไปในสภาวะของโลก มีต้นไม้ มีภูเขา มีต่างๆ แต่สิ่งนี้จะไม่มีเลย เพราะมันรวมใหญ่ มันถอน ถอนออกไปจากใจ ถอนพิษออกจากใจโดยมหาศาล ใจนี้หลุดเป็นอิสรภาพออกไปเลย ในอิสรภาพขั้นของภาวนามยปัญญา ไม่ใช่ในอิสรภาพในขั้นของชำระกิเลสทั้งหมด เพราะกิเลสส่วนละเอียดมันยังซึมซับอยู่ในหัวใจ แล้วมันก็ปล่อยวางอย่างนั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าใจว่าเป็นถึงที่เป้าหมาย รักษาสิ่งนี้ก็มี ประพฤติปฏิบัติตรงนี้ ๔ ปี ๕ ปีก็มี

หลงไปนี่ หลงคือว่าเข้าใจว่านี้เป็นเป้าหมายไง ถ้ามันหลงไป มันก็ยังต้องเกิดตายอยู่ สิ่งที่เกิดตาย เกิดตายในโลกนี้ เกิดตายเป็นสภาวะมนุษย์ก็ได้มาประพฤติปฏิบัติใหม่ แต่เกิดตายขึ้นมา สภาวะเกิด เกิดในท้องแม่ ต้องไปอยู่ในท้องอีก ๙ เดือน เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าเราจะไม่เกิดอีกเลย เราต้องตรวจสอบสิ่งนี้ ครูบาอาจารย์จะชี้นำออกมา ให้ย้อนกลับเข้ามาให้ได้ว่า สิ่งที่มีอยู่ในหัวใจมันมีอยู่ไหม ถ้าเราย้อนกลับเข้ามา กระแสย้อนกลับเข้ามา ถ้าใจมันย้อนกลับเข้าไป

สิ่งนี้มีอยู่ มีอยู่เพราะอะไร เพราะมันเป็นอาการของใจ อาการของใจ พอรับจับต้องสิ่งใดแล้วมันมีความพอใจกับความไม่พอใจ สิ่งที่เป็นความพอใจมันก็เป็นความสุข สิ่งที่เป็นความไม่พอใจมันก็ขัดข้องใจ มันว่าจะเป็นทุกข์มันก็ทุกข์อันละเอียดอยู่ในหัวใจ จะไม่ทุกข์หยาบๆ แบบที่เป็นมาจากดั่งเดิม สิ่งที่มาเป็นมาดั้งเดิม ทุกข์ก็คือเรา สุขก็คือเรา มันเป็นไปโดยธรรมชาติ

แต่สิ่งนี้มันปล่อยวางเข้ามา เวลามันจะสุขมันจะทุกข์ขึ้นมามันมีเครื่องเบรก มันมีห้ามล้ออยู่ในใจโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะกายกับจิตนี้มันแยกออกจากกันโดยธรรมชาติ มันมีสิ่งที่ว่าจะเข้ามาเชื่อมต่อกันต้องผ่านคัทเอาท์ตรงนี้ไง คัทเอาท์ระหว่างที่ภาวนามยปัญญามันตัดขาดออกไปแล้ว มันผ่านคัทเอาท์เข้ามา พอมันผ่านสิ่งนี้เข้ามามันก็มีสติพร้อมขึ้นมา แต่มันก็เป็นความทุกข์อันละเอียด เห็นไหม ถ้ามันจับต้องสิ่งนั้น เอ๊ะ! นี่มีอยู่นี่ มันไม่ได้สิ้นตามธรรมชาติ มันไม่ได้เป็นตามความจริง สิ่งนี้มีอยู่ ถ้ามีอยู่นี้กิเลสก็ต้องมีอยู่ ถ้ามีอยู่ นี่คือจับสิ่งนี้ได้ พอจับสิ่งนี้ได้ นั่นน่ะจะเป็นกามราคะ

สิ่งที่เป็นกามราคะมันเป็นการที่ว่าสัตว์โลกหมุนเวียนสิ่งนี้ฝังอยู่ในหัวใจ สิ่งนี้ฝังอยู่ในใจ พาสัตว์โลกหมุนเวียนตายเวียนเกิด เกิดในสูงต่ำขนาดไหนมันก็มีสิ่งนี้แนบไปกับใจ เว้นไว้แต่เกิดบนพรหม แต่เกิดบนพรหมก็เป็นชั่วคราว เพราะเวียนตายเวียนเกิด เว้นไว้พรหม ๕ ชั้น เพราะพรหม ๕ ชั้นนะ สุกนั้นไปอีกเลย ก่อนจะเป็นพรหม ๕ ชั้น ต้องชำระตรงนี้ ชำระสิ่งที่เป็นอสุภะนี่

สิ่งที่เป็นอสุภะ เป็นกายอันละเอียด กายอันละเอียดอยู่ที่ใจ ใจนี้ปรารถนาในเรื่องสิ่งนี้แล้วถึงจะสัมผัสออกไปถึงภายนอก สิ่งที่จะสัมผัสออกจากภายนอกเกิดขึ้นมาจากใจทั้งหมด ถ้าใจไม่คิด ใจไม่แสวงหา ใจไม่พอใจตัวเอง กามฉันทะคือความพอใจของตัวเอง ถ้าตัวเองคิด ตัวเองต้องการ ตัวเองปรารถนา มันก็มีความพอใจ พอมีความพอใจ สิ่งนี้ก็สืบต่อดำเนินไปเป็นชั้นเป็นเรื่องเป็นราวออกไป สิ่งที่เป็นเรื่องเป็นราวออกไปก็ต้องไปเริ่มเกาะเกี่ยวกับสิ่งที่ภายนอก นี้คือโอฆะ

สิ่งที่โอฆะทำให้สัตว์โลกติดข้องสิ่งนี้ การประพฤติปฏิบัติ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ว่าข้ามพ้นยากที่สุด สิ่งที่ข้ามพ้นอยากที่สุด เพราะสิ่งนี้มันเป็นแรงดึงดูดอย่างมหาศาล นางตัณหา นางอรดี ต่างๆ ความโลก ความโกรธ ความหลง จะละได้ ละไอ้ตรงนี้ ถ้าผู้ที่ชำระตรงนี้ได้ ความโกรธจากใจดวงนั้นจะน้อยลง จะน้อยลงโดยธรรมชาติเลย ถ้าจะมีอีกก็เป็นความหงุดหงิดในหัวใจเท่านั้น เพราะใจยังมีอวิชชาอยู่ ถ้าพ้นจากกามราคะไปก็ไปเจออวิชชา

สิ่งที่เจออวิชชานี้เป็นสเต็ป เป็นเครื่องดำเนินที่ว่ามันต้องผ่านไปเป็นชั้นเป็นตอน แต่ในการประพฤติปฏิบัติจะไม่เป็นแบบนั้น จะผ่านสิ่งชั้นใดไปแล้วก็จะว่าง จะเวิ้งว้างไปหมด สิ่งที่เวิ้งว้างนี้พาติด พาติดกันหมดเลย มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานไป เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ

ธรรมจะเปิดเผยที่ใจ มันสว่างไสวขึ้นมาใช่ไหม แต่นี้มันโดนปกคลุมโดยกิเลส โดยอวิชชาที่เราจะเข้าไปหาต้นตอของมัน สิ่งที่เข้าไปหาต้นตอของมัน แรงขับไส แรงต่อต้านนี้จะมีมหาศาลเลย เราเข้าไปในครอบครัวของใครก็แล้วแต่ ลูกหลานเขาปัญญาก็เล็กน้อย กำลังก็เล็กน้อย เราสามารถเอาชนะได้ง่ายๆ เลย แต่พอเริ่มเข้าไปถึงผู้ใหญ่เข้าไป ผู้ใหญ่เข้าไป นี่ก็เหมือนกัน เข้าไปถึงพ่อเขา เข้าไปถึงปู่ของเขา เขายิ่งมีปัญญามากที่เขาจะต่อต้านกับเรา เขาจะใช้ข้อต่อรองกับเรา ให้มีแพ้มีชนะกัน

นี้ก็เหมือนกัน มีเหมือนกันจะย้อนกลับเข้าไปอย่างไร ย้อนกลับเขาไปจับสิ่งนี้ได้ แล้วต้องวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนานี้คือการใช้ปัญญา ปัญญาจะใช้ใคร่ครวญขนาดไหนต้องเป็นวงของปัญญา ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว เราจุดติดแล้วปัญญาจะก้าวตลอดเดินไป วงของปัญญานี้มหาศาลกว้างขวางมากไม่มีขอบเขต แล้วแต่เชาวน์ปัญญาของผู้ใดจะคิดขึ้นมา แต่สำคัญอย่างเดียว ต้องมีสัมมาสมาธิตลอด ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิรองรับสิ่งนี้ไว้ สิ่งนั้นจะเป็นสัญญา

สิ่งที่เป็นสัญญาคือเวลาเราใคร่ครวญเข้าไปแล้วมันจะไม่มีความเข้าใจ มันจะไม่ทะลุปรุโปร่ง มันจะไม่ปล่อยวาง ถ้าเรามีสัมมาสมาธิอยู่ รองรับอยู่ พลังงานมันมีมากพอ เวลาเราวิปัสสนาเข้าไปมันจะปลอดโปร่ง มันจะทะลุ มันจะปล่อยวางเป็นชั้น เป็นชั้นเข้าไปนะ พิจารณาอสุภะนี้ก็เป็นอสุภะจริงๆ สิ่งที่เป็นอสุภะนี้มันเป็นเรื่องสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยงมาก แล้วเราไปติดมันได้อย่างไร มันก็สลัดออก สลัดออก สิ่งที่สลัดออกมันก็ปล่อยวางชั้นหนึ่ง ปล่อยวางชั้นหนึ่ง ปล่อยวางมันก็มีความสุขชั้นหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เกิดอีก จะเกิดอยู่อย่างนี้ทุกชั้นตอน

กิเลสนี้ แก่นของกิเลสนี้เหนียวแน่นตลอดไป แล้วมีการต่อต้าน มีการต่อสู้กับการประพฤติปฏิบัติตลอดไป เราถึงต้องล้มลุกคลุกคลาน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติทำไมถึงต้องอดอาหาร ทำไมถึงอดนอนผ่อนอาหาร ทำไมเห็นเรื่องที่ว่าเป็นประโยชน์ของทางโลกเขาเป็นโทษขึ้นมาล่ะ

มันเป็นโทษจริงๆ ถ้าประโยชน์ สิ่งที่เป็นประโยชน์ทางโลกเขา โลกเขาน่ะอาหารปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยนี้มันเป็นความจำเป็น แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าสิ่งนี้มีความสมบูรณ์มากเกินไป สิ่งที่มีความสมบูรณ์มากเกินไปเท่ากับไปส่งเสริมให้กิเลสมันมีกำลังขึ้นมาด้วย เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา เรากับกิเลสเป็นอันเดียวกัน เรามีความอิ่มหนำสำราญดี กิเลสมันก็อิ่มหนำสำราญไปด้วย ถึงว่าเราถึงต้องอดนอนผ่อนอาหารเพื่อให้กิเลสมันอ่อนตัวลงด้วย เราก็อ่อนตัวลง กิเลสก็อ่อนตัวลง แล้วธรรมมันจะเจริญขึ้น

สิ่งนี้มีความจำเป็นในการประพฤติปฏิบัติ ทำไมเรากล้าล่ะ ทำไมเราถึงสละชีวิตขนาดนี้ได้ สละชีวิตสิ่งนี้ เพราะสละเพื่อจะชนะ สิ่งที่สละแล้วมันจะชนะขึ้นมา มันจะทำลายกิเลสออกไปจากใจ แต่ถ้าเราอ่อนแอ สิ่งที่อ่อนแอ เรามีแต่บทแพ้ สิ่งที่แพ้แล้วเราก็ทุกข์อยู่อย่างนี้ แล้วทุกข์ของเรา เราจะแก้ไขทุกข์ของเรา เราจะพลิกวิปัสสนาเพื่อชำระทุกข์

มันต้องแลกกัน มันไม่ใช่ว่าเราวิปัสสนาเพื่อจะให้มีความสะดวกสบาย นั้นกิเลสมันคิดนะ กิเลสมันเข้าใจว่าประพฤติปฏิบัติแล้วเราจะมีความสะดวกสบาย เราจะมีความสุขขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป...สุขแน่นอนถ้าเป็นผล แต่ในวงปฏิบัติ ในวงของปัญญานี้มันจะไม่เป็นความสุข มันจะเป็นการต่อสู้กัน

ขึ้นชื่อว่างาน งานของผู้บริหารนี่ใช้ปัญญา ต้องใคร่ครวญ ต้องตัดสินใจถูกต้อง แล้วบริษัทของเราหรืองานของเราจะไปได้ถูกต้อง ถ้าเราตัดสินใจผิด เราทำไม่ถูกต้อง เราก็ต้องแก้ไข อันนี้ก็เหมือนกัน ในการใช้ปัญญาใคร่ครวญ เราจะวิปัสสนา สิ่งนี้มันเป็นของเราจริงไหม มันควรจะยึดไหม? ควรจะยึด ถ้ามันยึดนี่มันเพราะเหตุอะไร

จะยึดหรือไม่ยึดยังไม่รู้เลย เพราะกิเลสมันพายึดไปก่อนแล้ว สิ่งที่ยึดเพราะมันยึดอยู่กับเรา มันแนบแน่นไปกับใจ แล้วมันสลัดออกไม่ไหว เพราะมันสลัดออกไม่ไหว ถ้าสลัดออกไหวมันต้องเวิ้งว้าง มันต้องปล่อยวางสิ นี่สละออกมันเป็นงานเหมือนแบกรับภาระ สิ่งที่แบกรับภาระว่ามันหนักหน่วง วิปัสสนาไปหนักหน่วงนี่ปัญญาหมุนออกไปจะเป็นแบบนั้น

หนักมาก ขั้นของน้ำป่านี้หนักมาก ขั้นของกามราคะนี้ปัญญาจะรุนแรงมาก กิเลสต่อสู้สุดๆ เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่ตรงนี้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง หลงก็หลงในตัวมันเอง หลงในความเห็นของตัวเอง หลงทุกๆ อย่าง หลงแม้แต่การประพฤติปฏิบัติทำให้เราไม่ก้าวเดิน แต่เวลาเราพลิกกลับขึ้นมาเป็นปัญญาขึ้นมา ถ้ามันสู้ไม่ไหว กลับเข้ามาสัมมาสมาธิดีกว่า ดึงกลับมาสมาธิมันก็จะไม่ยอมกลับ เพราะว่าสัมมาสมาธินี้ไม่ใช่ชำระกิเลส

เวลาปัญญาของกิเลสเอาไปใช้ เอาไปใช้อย่างนี้ ถ้าเราไปทำความสงบอยู่นั้น สมาธิไม่สามารถชำระกิเลสได้ ขณะนี้เราใช้ปัญญาอยู่ ถูกต้องแล้วนี่ ถ้าเราทำถูกต้องแล้วมันจะผิดไปไหน เราก็ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป ถ้าทำอย่างนี้ตลอดไป เราก็ล้มลุกคลุกคลานตลอดไป เพราะเราเดินแบบคนพิการ เราไม่ได้เดินจากคนที่ว่ากำลังสมบูรณ์ ถ้าเราสมบูรณ์ เราเดินไปด้วยกำลังของเรา มีกำลังพอ เราจะเดินขึ้นไป เราจะมีกำลัง แล้วเราจะไปต่อสู้กับสิ่งนี้ได้ แต่นี้เราพิการเพราะสมาธิเราไม่พอ แล้วจะกลับมามันก็ไม่ให้กลับ กิเลสนี่มันจะดึง นี่กิเลสหลอก ปัญญาของกิเลสมันก็เกิด ไม่ใช่ว่าปัญญาของธรรมจะเกิดตลอดไป

ไปในวงของปัญญา คิดว่าเป็นปัญญาแล้วจะเป็นปัญญาตลอดไป มันพลิกหน่อยเดียวมันก็เป็นเรื่องของกิเลสเอาไปใช้แล้ว แต่ถ้ามีสติอยู่ อันนี้เป็นกิเลสแล้วมันก็มีความผิดพลาด ความผิดพลาด ความพลั้งเผลอนี้เป็นเรื่องปกติของการประพฤติปฏิบัติ ผิดเป็นครูตลอดไป ไม่ต้องเสียใจ เริ่มต้นใหม่ นับหนึ่งใหม่ตลอดไป แต่นับหนึ่งใหม่ในวงของปัญญา ในการชำระอสุภะ ไม่ใช่นับหนึ่งใหม่จากเริ่มต้นเข้ามา

บางคนไม่เข้าใจนะ ถ้ากลับมาทำสมาธิ ก็เราสร้างสมาธิมามหาศาลขนาดนี้แล้ว ทำไมต้องกลับไปนับหนึ่งถึงสมาธิที่ต้นนั่นเลย...ไม่ใช่ สมาธิที่ต้นนั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว มันชำระกิเลส มันปล่อยวางกิเลสไปแล้วเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ไม่ใช่ไปตรงนั้นหรอก เพราะใจเราสูงขึ้นมา ใจเราอยู่ขนาดชั้นของอสุภะนี่มันก็ต้องสัมมาสมาธิในชั้นของอสุภะ มันเป็นมหาสติมหาปัญญาอยู่แล้ว แล้วมันเป็นปัจจุบันธรรม เราต้องย้อนกลับไปสัมมาสมาธิ กำหนดพุทโธๆ เหมือนกับต้องวิปัสสนา หัดบริกรรมใหม่ จำเป็นต้องทำก็ต้องทำ ทำเพื่อดึงใจกลับมาให้เกิดพลังงานขึ้นมา ให้สมบูรณ์ขึ้นมาในหัวใจของเราให้ได้ ถ้าใจเราสมบูรณ์ขึ้นมา กลับไปวิปัสสนาใหม่จะเห็นผลเลย ปล่อย! ปล่อย! ปล่อย!

พอปล่อยเข้ามานี่ โอ๋ย! เรานี่มันโง่เนาะ แต่ก่อนนี้คิดว่าถ้าย้อนกลับไปแล้วมันจะไม่ใช่ปัญญา มันจะไม่มีประโยชน์...นี่ล้มลุกคลุกคลานไป การต่อสู้กับขั้นของอสุภะนี่ล้มลุกคลุกคลานไปตลอด แต่ก็ต้องสู้ สู้เพื่อชัยชนะ สู้เพื่อให้ธรรมมันเปิดเผยขึ้นมา ถ้าธรรมมันเปิดเผยขึ้นมา ใจของเราจะมีความสุขมหาศาล ความสุขเพราะว่าสิ่งที่เป็นความพะรุงพะรังของใจจะขาดออกไปจากใจ ถ้าขาดออก วิปัสสนาจนถึงจุดหนึ่งแล้วสะเทือนเลื่อนลั่นขาดออกไปจากใจ

ขันธ์อันละเอียดนะ สิ่งที่ว่าเป็นขันธ์ที่ละเอียดอ่อน เป็นความคิดอันละเอียดที่ความคิดเกิดดับ เกิดดับ จะอยู่ตรงนี้ แล้วจะขาดออกไป สิ่งที่ขาดออกไป รู้ขึ้นมาจากภายใน รู้ขึ้นมาจากเป็นความเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน เปิดเผยจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นมีคุณสมบัติอย่างนี้ ใจของเรา คุณสมบัตินี่เราใช้ไปในโลก หมุนไปในโลก เกาะเกี่ยวในโลก เราก็ใช้ของเราไป แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติ ใจรู้ขนาดนี้มันเป็นปัจจัตตัง ปล่อยวาง ขาดออกไปจากใจ เวิ้งว้างไปหมดเลย แล้วเห็นสภาวะรู้ตามความเป็นจริงนะ นี่จะไม่เกิดในกามภพอีกแล้ว

สิ่งที่เป็นเชื้อเป็นไขในการที่จะไปเกิด สิ่งนี้ในเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง ปิดใจไว้ ถึงต้องเกิดในกามภพ สิ่งที่เกิดในกามภพ ตั้งแต่เทวดาลงมา แต่ปัจจุบันนี้ขาดแล้วจะไม่มี แม้แต่พรหมชั้นต่ำก็จะไม่เกิดอีกแล้ว ถ้าใจมันขาดออกไปจะไปเกิดบนพรหม ๕ ชั้นเท่านั้น แล้วจะสุกไปข้างหน้า สุกไปข้างหน้าเพราะมันเผลอ มันไม่เข้าใจ มันถึงคิดว่าสิ่งนี้เป็นผลของมัน

แล้วฝึกซ้ำบ่อยๆ ครั้งเข้า บ่อยๆ ครั้งเข้า มันจะขาดปล่อยวาง ปล่อยวาง ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป จนเวิ้งว้าง จนจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย จับต้องสิ่งใดไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่าเราปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา สิ่งต่างๆ นี่เราปล่อยวาง เราทำชำระกิเลส เราปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาหมดเลย เพราะเราเป็นคนปล่อยวางใช่ไหม เหมือนเราทำความสะอาดในบ้านเรา เราทำความสะอาดบ้านเรา เราทำจนบ้านนี้สะอาดหมดเลย บ้านนี้สะอาดหมดแล้วมันต้องจบสิ แล้วคนที่จะจบสิ้น จะปิดบ้านอยู่ที่ไหน ให้มันสะอาดอยู่อย่างนั้นน่ะ

เราจะปิดไม่ได้ เพราะบ้านคือบ้าน แต่นี้คือหัวใจ เพราะตัวหัวใจมันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามามันก็เป็นตัวมัน มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความสุขมหาศาล มีความสุขนะ สุขมหาศาลเลย ไม่มีใครมีความสุขเท่ากับพระอนาคามี มีความสุขมาก มีความสุขในขั้นของพระอนาคามี แต่ความทุกข์อันละเอียด สิ่งที่เป็นละเอียดอ่อน ละเอียดอยู่ในหัวใจ เพราะใจดวงนั้นเป็นตัวอวิชชา นี้คือตัวอวิชชา ตัวผู้รู้คืออวิชชา

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี้ เราต้องการ เราต้องแสวงหา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทำสมาธิเข้ามามันก็ถึงผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเหมือนกันได้ เวลาเราทำความสงบเข้ามารวมใหญ่เข้าไป ถึงฐีติจิตก็ถึงที่รวมใหญ่ได้

แต่ขณะที่ว่าเราวิปัสสนาเข้ามา เราปล่อยวางขันธ์เข้ามา มันปล่อยวาง มันถึงฐีติจิต ถึงตอของจิต ถึงอวิชชาโดยธรรมชาติเลย แล้วสิ่งนี้ก็หลอกลวงให้เราหมุนออกมา หมุนออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ จะหลงไปสิ่งต่างๆ หมุนออกไป จนกว่าเราจะเห็นความผ่องใสความเศร้าหมองของใจ ถ้าผู้ที่สังเกตตัวสังเกตใจอยู่จะเห็นจริงนี้ สิ่งนี้มันเป็นความว่างขนาดไหนมันก็ต้องรักษาไว้ การรักษาไว้นี้เป็นงานส่วนหนึ่ง เป็นงาน ในเมื่อมีงานอยู่มันก็มีใจอยู่สิ

สิ่งที่เป็นใจ สิ่งที่เป็นอวิชชานี้มันหมุนออกไป มันรับรู้ออกไปมันก็เกิดดับ มันเกิดความเศร้าหมอง เกิดความผ่องใส เกิดความผ่องใสมันก็จับ มันก็คือสิ่งที่มี สิ่งที่มีก็ต้องเป็นกิเลสสิ สิ่งที่มีก็คือภวาสวะ คือตัวภพสิ คือตัวภพของใจ

กระดานดำที่จะศึกษา ศึกษาจนละเอียดอ่อน จากหยาบเข้ามา จนถึงความละเอียดอ่อน จนเป็นกระดานดำสุดท้าย ถ้าย้อนกลับเข้ามาจะจับสิ่งนี้ได้ จับภวาสวะ จับตัวภพของจิตได้ จับตัวของจิตได้นั้นวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นมา แต่วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นจากภายในนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของขันธ์ เป็นเรื่องของปัจจยาการ

ถ้าเป็นปัจจยาการนี้ปัจจยาการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พวกเราเห็นนี้เห็นเป็นการเกิดดับโดยความรวดเร็วมาก สิ่งที่เกิดดับเป็นพลังงานเฉยๆ พลังงานเกิดดับตัวนี้มันทำให้เราทุกข์อยู่ ทำให้เราต้องไปเกิดอยู่ ทำให้เราต้องยังไม่ถึงที่สุดอยู่ ถ้าทำตัวนี้ได้ย้อนกลับเข้ามาปัญญาญาณมันเกิด รักษาเข้าไป รักษาเข้าไป มันมีการฝึกซ้อมไปนี่ปัญญามันจะเกิด ความรู้มันจะเกิด ว่าทำอย่างนี้ถูกต้อง ทำอย่างนี้ผิด

ถ้าผิดมันก็ไม่เป็นไป ถึงที่สุดแล้วมันพลิก พลิกขึ้นมาใจนี้จบ ปล่อยวางสิ่งนี้โดยธรรมชาติ เรารักษาบ้าน ทำความสะอาดบ้านมาสะอาดหมดแล้ว ถึงคนสุดท้าย เราก็ทำความสะอาดตัวของเราเองด้วย ถ้าทำความสะอาดของตัวเรานี้เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นสิ่งที่เป็นวัตถุที่มีอยู่ แต่เรื่องของใจ เวลาจิตมันสงบ เวลาจิตมันปล่อยวางตัวมันเองแล้ว มันจะปล่อยวางตัวเองโดยธรรมชาติ นั้นน่ะธรรมเปิดเผยขึ้นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นธรรมล้วนๆ เลย

องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมแล้วเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา สอนจนพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ก็สำเร็จขึ้นมา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเดินตามธรรม แล้วเอาใจนี้เข้าไปแสวงเข้าไปสู่ธรรม จะเข้าไปถึงธรรมได้ เข้าไปถึงธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเราไม่มีความขวนขวาย ไม่มีความต้องการขนาดประพฤติปฏิบัติของเรา เราก็จะวนเวียนอยู่ในโลกนี้ หมุนวนกับโลกเขาไป ถ้าหมุนวนกับโลกเขาไป มันก็ทำให้เราต้องหมุนออก หมุนออกตลอดไป สิ่งที่หมุนออกมันก็เกิดดับๆ เกิดตายตลอดไป

สิ่งที่เกิดตายเป็นคุณประโยชน์กับใคร? ไม่เป็นคุณประโยชน์กับใครเลย เพราะมันเป็นเรื่องสมมุติ มันเป็นสมมุติสัจจะ วนอยู่ในโลกนี้ก็เวียนตายเวียนเกิดตามแต่อำนาจวาสนา จะสูงจะต่ำ นี้ก็แล้วแต่การทำกุศลของโลกเขา โลกเขาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ทำบุญต้องได้บุญ จะปฏิเสธเขาว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องของโลกแล้วจะไม่มีผล...ไม่ใช่ มีผลอยู่ แต่มีผลในการที่ว่ามันใช้พลังงานนี้ใช้หมด อย่างบุญกุศลเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นเทวดาต้องตายจากเทวดาไหม เกิดจะเป็นพรหม อายุมากขนาดไหนมันก็ต้องตายจากนั้นไป นี่ก็เหมือนกัน เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมันก็ต้องตายจากมนุษย์ ของชั่วคราวนี้มันเป็นของหน้ารื่นเริงหรือ

สิ่งนี้มันไม่เป็นของหน้ารื่นเริงเลย มันเป็นเครื่องอยู่อาศัยที่เราอาศัย แล้วเราก็ไปหลงติดมัน แต่ถ้าเราไม่เชื่อ ไม่ศึกษาธรรม เราไม่เข้าใจเรื่องของธรรม เราติดสิ่งนี้ เราจะอยู่กับสิ่งนี้ตลอดไป สิ่งนี้แล้วมันไม่มี คิดว่าทางออกไม่มี สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด เราเกิดมานี่โลกเขาก็ถือสิ่งนี้กันไป ดูสิผู้ที่ปฏิบัติธรรมเหมือนเขาโค ผู้ที่อยู่ตามกระแสโลกนี่เหมือนขนโค แล้วมันก็น้อยเข้ามาเรื่อย ผู้ที่ปฏิบัติก็เหมือนกัน น้อยเข้ามาเรื่อย น้อยเข้ามาเรื่อย แล้วเราล่ะ เราจะประพฤติปฏิบัติไหม

ทุกข์เป็นทุกข์ของเรา เรื่องการปฏิบัติจะเอาความสุข เอาความสบายมา ไม่มี มันต้องเป็นการฝืนตนเอง การฝืนตนเอง การฝืนกิเลสนี้เป็นความทุกข์แน่นอน กิเลสมันก็ให้ทุกข์อย่างหนึ่ง การฝืนกิเลสนี้ก็เป็นความทุกข์อีกอย่างหนึ่ง แต่การฝืนกิเลสนี้ยังเป็นประเสริฐกว่า ประเสริฐเพราะว่าเราฝืนเขา เรารู้จักเขา แต่กับที่เราหลงไปกับกิเลสให้กิเลสพาไปนี่เราไม่รู้จักเขาเลย เราต้องให้เขาชักนำเราไปแล้วเราก็ไปตามประสาของเขา เราหมุนออกไป เราเวียนออกไปตามอำนาจของกิเลส เราไม่รู้สึกตัวเลย เพราะเราเข้าใจว่ามันไม่มีสิ่งใดจะพาออกไง

เราเข้าใจว่ามันไม่มีสิ่งใดที่จะพาออกหนึ่ง เราไม่เชื่อตัวเราเองหนึ่ง ว่าเรานี่ คนอย่างเรานี่จะทำได้หรือ คนอย่างชาวพุทธเรานี่ ผู้ปฏิบัติเรานี่จะทำสิ่งนี้ได้หรือ...ทำไมดูถูกตัวเองขนาดนั้นล่ะ ในเมื่อเราไม่มีหัวใจหรือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากพุทธศาสนาไว้กับใคร? ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แล้วเราเป็นใคร? เราเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นอุบาสก อุบาสิกา แล้วเราไม่ใช่เจ้าของศาสนาหรือ เราไม่มีสิทธิ์หรือ

เรามีสิทธิ์อยู่แล้วในการประพฤติปฏิบัติ เพียงแต่ว่าเวลากิเลสมันหลอก เราก็หลงล้มลุกคลุกคลานไปตามกับอำนาจกิเลสมันหลอก เราไม่ต่อต้าน เราไม่มีกำลังแยกแยะ เราไม่มีการต่อสู้เลย ถ้ามีการต่อสู้ ปัญญามันเกิด ถ้าปัญญามันเกิด มันจะพาเอาเราพ้นออกจากกิเลสได้ ถ้าปัญญามันไม่เกิด ไม่มีปัญญาเกิด มันจะหมุนไปตามอำนาจของกิเลส หมุนไปตามอำนาจของกิเลส นี่กิเลสมันมีอำนาจขนาดนั้น

ใจดวงนั้น ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์นั้นมีความสุข มีความสุขเป็นเครื่องยืนยันกับเรา แล้วใจเหมือนกัน มีเครื่องยืนยัน ใจก็คือใจ มนุษย์ด้วย มีใจด้วย เป็นมนุษย์มีที่หัวใจ เราก็เป็นมนุษย์ที่มีหัวใจ แล้วกาลเวลานี่อกาลิโก ถ้าเป็นกาลเวลา นี้ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว กาลเวลามันล่วงเลยมานานแล้ว เราทำจะเป็นอย่างนั้น จะสมประโยชน์อย่างนั้นไหม

อกาลิโก กาลไม่เกี่ยว เวลาไม่เกี่ยว ถ้าเวลาเกี่ยว ถ้าเวลาเกี่ยวว่าหมดเขตหมดสมัย แล้วพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้ นี่จะเอาตรัสรู้อะไร เพราะพระศรีอริยเมตไตรยก็ต้องมาตรัสรู้ธรรมต่อไปข้างหน้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดแล้วหนึ่งไม่มีสอง คำพูดคำไหน พูดแล้วจะไม่มีความผิดพลาดเลย แล้วในพระไตรปิฎกบอกไว้แล้วว่าพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ต่อไปข้างหน้า แต่เราไม่รอตรงนั้น เพราะปัจจุบันนี้เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราพยายามทำธรรมของเราให้ถึงให้ได้ ฉะนั้น กาลนั้นถึงไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวกับความลังเลสงสัยของเราเลย

ถ้าเราคิดประสาโลกเขา ในการศึกษาเล่าเรียนไป เข้าพูดกันอย่างนั้น “หมดกาลหมดสมัย ไม่มีแล้ว มรรคผลนิพพานไม่ต้องไปทำ” ถ้าไม่ต้องไปทำ กิเลสเรามันก็หลอกเราอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว ทำไมต้องให้คนอื่นหลอกอีกล่ะ กิเลสเรา ทำไมเราไม่ชำระกิเลสของเราเอง คนอื่นพูดนั่นเป็นเรื่องของคนอื่นพูด คนอื่นพูดจะสมความจริงไม่สมความจริง ไม่เป็นความจริงแน่นอน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ในพระไตรปิฎก เราเกิดมาไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราเกิดมาตามทันธรรมและวินัย

“อานนท์เธออย่าถามให้มากไปเลย ถ้าผู้ที่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม มรรคผลนิพพานจะไม่พ้นจากโลกนี้ไปเลย”

ผู้ใดปฏิบัติสมควรแก่ธรรม แต่การประพฤติปฏิบัติมันจะสมควรแก่ธรรมไม่สมควรแก่ธรรมนั้นอีกเรื่องหนึ่ง สมัยครูบาอาจารย์นะ หลวงปู่มั่นออกประพฤติปฏิบัติ ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ สมบุกสมบันเข้านะ ธุดงค์นะ สัตว์อยู่ในป่า อยู่ในป่าในเขาดำรงชีวิตของเขาแบบสัตว์ป่า นี้มนุษย์บวชเป็นพระแล้วออกธุดงค์ใช้ชีวิตเหมือนสัตว์ป่า แต่สัตว์ป่าเพื่อค้นคว้าหาตัวเอง ทุกข์ยากขนาดไหนยังทำขององค์หลวงปู่มั่นสำเร็จมาได้

สำเร็จมาได้เพราะพิสูจน์กันด้วยว่า เวลาพระไตรปิฎกบอกว่าพระอรหันต์ตายไปแล้ว เผาศพแล้ว กระดูกธาตุนี้จะเป็นพระธาตุ องค์หลวงปู่มั่นนี้เป็นพระธาตุอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาสแน่นอน ครูบาอาจารย์มันเป็นมาไหม? มาแน่นอน สิ่งนี้เป็นการประพฤติปฏิบัติ แล้วสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมเพราะเหตุนั้นสมควร ไอ้เราประพฤติปฏิบัติมันไม่สมควรแก่ธรรม ถ้าไม่สมควรแก่ธรรมแล้วจะเอาผลอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นจะเข้าถึงใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะพาจะสว่างไสว ธรรมจะเปิดเผยจากใจดวงนั้น แต่เราประพฤติปฏิบัติมันไม่สมควรแก่ธรรม ไม่สมควรแก่ธรรมเพราะกิเลสเราหนา พอกิเลสเราหนานี่ กิเลสเราหนาด้วย แล้วเราทำแบบอ่อน ไม่สมควรกัน กิเลสหนา เหตุมันต้องหนาตาม เพราะกิเลสมันหนา ผลมันปิดบังไว้มาก เราต้องทุ่มเทหัวใจให้มากขึ้นไปกว่านั้นเพื่อให้มีอำนาจเหนือมัน แต่นี้กิเลสมันหนาด้วย แล้วทำแต่เหยาะๆ แหยะๆ ด้วย ทำไม่สมกับความเป็นจริงอันนั้นด้วย แล้วจะเอาผลตามความเป็นจริง มันถึงไม่เข้ากันไง ถ้าไม่เข้ากันนะ

ธรรมวินัยก็บอกแล้ว ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าพูดถึงธรรมวินัยบอกไว้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้สดๆ ร้อนๆ เพราะพระไตรปิฎกนี้พูดไว้ไม่มีสองอยู่แล้ว ถ้าเราไม่เชื่อพระไตรปิฎก เราจะไปเชื่อใคร แล้วครูบาอาจารย์ พระไตรปิฎกนี้เป็นเริ่มต้นต้องเป็นธรรมวินัย เป็นศาสดาของเรา เราก็เชื่อ เราเคารพมา เราประพฤติปฏิบัติเราก็ต้องทำตามนั้น ทำตามที่ครูบาอาจารย์สอน เพราะเราเชื่อเราไม่ได้ กิเลสเราหนา เราทำเราประพฤติปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรมแล้วเราจะเชื่อเราอีกนี่ มันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานไปตลอด

ถ้าเราจะไม่ยอมล้มลุกคลุกคลาน เราต้องเปลี่ยน เปลี่ยนความคิดของเรา เปลี่ยนความเห็นของเราใหม่ ถ้าเปลี่ยนความคิดความเห็นของเราใหม่ การประพฤติปฏิบัติมันจะเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าความประพฤติปฏิบัติเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าเหตุมันพอ นี่สมควรแก่ธรรม ถ้าเหตุมันพอ ผลมันจะออกมาตามสภาวะนั้น สภาวะที่ว่าธรรมเกิดขึ้นมาสมควรแก่ธรรม ใจถึงจะเป็นธรรม

ธรรมนี้เปิดเผยขึ้นที่ใจ ใจนี้จะมีความสุข สุขอย่างมหาศาล

เวลาใจทุกข์นี้ไม่ต้องมีใครบอก มันทุกข์อยู่โดยทุกๆ คน คนนี้ความทุกข์อยู่ในใจเป็นปัจจัตตัง แต่ความสุขเป็นปัจจัตตังในหัวใจ เรายังไม่เคยเจอ เราทำของเราไม่ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตมันสงบ มีบ้างนะ ถ้าจิตมันสงบเป็นปัจจัตตังในวงของสมถะ อันนั้นก็เห็นด้วย สุขสงบในเรื่องใจ แต่สุขสงบในเรื่องของการวิปัสสนา ในการปล่อยวางของใจ นั้นก็เป็นปัจจัตตังเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จากหยาบ จากลาง จากละเอียด จิตนี้จะพัฒนาขึ้นไป วุฒิภาวะของใจพัฒนาขึ้นเป็นชั้นเป็นตอน ถ้าวุฒิภาวะของใจมีแล้ว เวลาพูดถึง คำพูดของหยาบๆ มันเป็นเรื่องของหยาบๆ พูดหยาบๆ นะ พูดชั้นเดียว มันก็เป็นเหตุเป็นผลของชั้นเดียว

ธรรมนี้ไม่เป็นชั้นเดียว มันเป็นชั้นของความหยาบ เป็นเรื่องของโลก เริ่มต้นเป็นเรื่องของโลกกับเรื่องของธรรมก่อน ถ้าเรื่องของโลก พูดแล้วมันจะเวียนอยู่ในโลก ถ้าเป็นเรื่องของธรรม พูดแล้วมันจะปล่อยโลกเข้ามาเป็นเรื่องของธรรม นั้นเป็นเรื่องชั้นแรก แล้วชั้นของพระอริยบุคคลเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปมันยังเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่มันถึงว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

ถ้าเราศึกษา เราเชื่อมั่นตัวเราเองเกินไป เรายึดมั่นถือมั่นในความเห็นของเรา เราจะก้าวเดินไปไม่ได้เลย เราต้องยึดมั่นถือมั่นความเห็นของเราแล้ววิปัสสนาอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไว้ว่าไม่ให้เชื่อสิ่งต่างๆ ให้มีศรัทธา ให้มีศรัทธาความเชื่อในน้ำหนัก แต่ในเรื่อการประพฤติปฏิบัติเราต้องวิปัสสนาเข้าไปให้เห็นสภาวะนั้น มันจะปล่อยวางหยาบๆ ถ้าอย่างนั้นแล้วมันจะไม่ปล่อยวางจากหยาบๆ มันจะยึดว่าความเห็นนี้เป็นความเห็นเป็นความจริง ถ้าความเห็นเป็นความจริง เราก็ยึดถือของเราตลอดไป มันจะปล่อยสิ่งนั้นไม่ได้

เพราะกิเลส...ขนาดว่าเราไม่เชื่อนะว่าไม่มีมรรคไม่มีผลแล้ว ประพฤติปฏิบัติมันยังไม่เข้าถึงตรงนั้นเลย เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีความอยากประพฤติปฏิบัติไม่ได้ มันจะเป็นความอยาก เราก็ปฏิบัติไปสักแต่ว่า จะไม่ได้ผล

มีผลอยู่ ปฏิบัติได้อยู่ แต่ความอยากนี้มันเป็นตัณหา เราวางไว้ก่อน เปลี่ยนจากอกุศล ตัณหาเป็นอกุศล เป็นตัณหาเป็นมรรค เป็นกุศลขึ้นมาได้ เราเปลี่ยนได้นี่ ใจเราเปลี่ยนได้ เราทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตรงนี้ ตรงนี้หญ้าปากคอก นี่ตรงนี้ยากมากเลย

ว่าเป็นตัณหาความทะยานอยากก็เป็นกิเลสแล้ว การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เป็นตัณหาความทะยานอยาก อยากจะไปรับผลนิพพานนี่เป็นตัณหา...มันเป็นมรรค เป็นมรรคนะ เป็นมรรค เป็นคุณงามความดี เป็นกุศล เป็นกุศลมันถึงว่าเป็นโลกียะกับเป็นโลกุตตระไง มันแยกกันตรงนี้แล้วเราจะสมความปรารถนา เอวัง