เทศน์พระ

รู้ไม่ทัน

๒๘ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

รู้ไม่ทัน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเตือนสติตัวเองนะ เราบวชมา บวชมาเพื่อบุญกุศล ถ้าบวชมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม แต่ถ้าเห็นภัยในวัฏสงสาร เราบวชมาเพื่อพ้นจากทุกข์ ถ้าบวชมาเพื่อพ้นจากทุกข์ เราจะต้องทำด้วยความจริงจังของเรา เห็นไหม ทางโลกเราบวชมาเป็นสมมุติสงฆ์ สมมุติสงฆ์เพราะสงฆ์ยกเข้าหมู่ สงฆ์ยกเข้าหมู่ ญัตติจตุตถกรรม นี่คือธรรมวินัย

พอธรรมวินัยเราบวชมาเป็นสงฆ์ตามความเป็นจริงไหม? เป็น ถ้าเป็นสงฆ์ตามความเป็นจริงขึ้นมา ชีวิตของเรา เห็นไหม ดูสิทางรัฐบาลเขายกเว้นทั้งนั้นน่ะ ให้สิทธิเสรีภาพในการประพฤติปฏิบัติ แล้วเวลาสังคม สังคมมีพระบวชใหม่ มีเณรบวชใหม่ เขาพยายามส่งเสริมกันว่าเป็นศาสนทายาท ส่งเสริมมา มีการศึกษา ให้การศึกษา ให้การเลี้ยงดู ให้ความอบอุ่น ให้ความดูแลขึ้นมา เพื่อให้เป็นพระผู้ใหญ่ขึ้นมา ถ้าเป็นพระผู้ใหญ่ขึ้นมา เห็นไหม นี่มันเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราก็จะดูแลกันสืบต่อกันไป

ถ้าดูแลสืบต่อกันไป สังฆะ นี่สังคมของสงฆ์ ถ้าสังคมของสงฆ์เขาดูแลกัน ดูแลกันมาเพื่อให้เติบโต ความเติบโต เห็นไหม ทางโลกเขาบอก “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” นี่ก็เหมือนกัน แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน มันแก่เฉยๆ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราดูแลกันเพื่อความอบอุ่น เราไม่ได้แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน เราจะฝึกฝนของเราให้จิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา ถ้าจิตใจมีหลักมีเกณฑ์ของเรานะ เราต้องมีสติมีปัญญาของเรา

มีสติมีปัญญา เห็นไหม ผู้ที่บวชใหม่ ภิกษุบวชใหม่ทนได้ยากกับคำสั่งสอน ผู้บวชใหม่ทำอย่างไรก็ผิดไปหมด ทำอย่างไรก็ผิดไปหมด นั่นเป็นนิสัยของฆราวาส ความเป็นนิสัยของฆราวาส ทำอะไรก็ทำตามแต่ใจตัว ถ้าใจตัวทำสิ่งใดเพื่อความสมใจของตัว นั่นคือสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้ามีใครมาขัดแย้งในหัวใจของตัว อันนั้นไม่เป็นสิทธิเสรีภาพ อันนี้เป็นการรอนสิทธิ์กัน นี่พูดถึงความรู้สึกนึกคิดของสังคมมันเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น เวลามาบวชเป็นพระ นี่เราเป็นฆราวาส เห็นไหม นิสัยของฆราวาสติดเข้ามา พอนิสัยฆราวาสติดเข้ามา เพราะฆราวาส คำว่า “ฆราวาส” สิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค แต่เวลาบวชเข้ามา สิ่งที่เราเข้าใจ เรารู้ของเรามันเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่ถ้าบวชเป็นพระขึ้นมา พอเป็นพระนี่กาลเทศะควรและไม่ควร สิ่งที่ไม่ควรทำไม่ควรทำ สิ่งที่ควรทำ แม้แต่ไม่ควรทำ ทำไป ภิกษุเวลาต้องอาบัติ เห็นไหม ต้องอาบัติเพราะความไม่รู้ ต้องอาบัติเพราะความสงสัย เพราะความลังเลสงสัยแล้วขืนทำไป นั้นก็เป็นอาบัติ

สิ่งที่ว่าเป็นอาบัติ ถ้าเรายังมีความสงสัยอยู่ ความสงสัย เราว่าเรารู้ เราแจ่มแจ้งขึ้นมา เราแจ่มแจ้งขึ้นมา แต่เวลาเราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป เราจะรู้เลยว่าเราเข้าใจผิด เราเข้าใจผิด เราเข้าใจประสาเรา เข้าใจประสาโลก ถ้าเข้าใจประสาโลก เห็นไหม สิ่งนี้เรารู้ไม่ทันความรู้สึกนึกคิดของเรา ถ้าเรารู้ไม่ทันถึงความรู้สึกนึกคิดของเรา นี่สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนสั่งสอนตรงนี้ไง สั่งสอนว่าให้เรามีความยั้งคิด สั่งสอนให้เรามีสติ สั่งสอนให้เราฝึกหัดของเรา

ถ้าเราฝึกหัดของเรา เห็นไหม ดูสิเวลาของดิบๆ ของดิบๆ มันก็เป็นอย่างหนึ่งนะ ของนั้นถ้ามันสุกขึ้นมา กลิ่น รสชาติมันแตกต่างกันไป จิตใจเราดิบๆ ขึ้นมา เราอ้างแต่ว่าสิทธิเสรีภาพๆ สิทธิเสรีภาพของกิเลสไง สิทธิเสรีภาพของกิเลส ดูสิสิทธิเสรีภาพ นี่เราเป็นฆราวาสๆ ฆราวาสศึกษาธรรม ฆราวาสศึกษาธรรม มันก็เป็นฆราวาสศึกษาธรรมนั่นแหละ แต่มันไม่เป็นความจริงขึ้นมาหรอก ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันต้องมีการขัดเกลา ถ้ามีการขัดเกลาขึ้นมา เราขัดเกลาอะไรล่ะ นี่ขัดเกลาที่ไหน นี่ขัดเกลาเราก็อาบน้ำชำระร่างกายทุกวัน มันก็ทำความสะอาดทุกวัน มันจะขัดเกลาที่ไหนล่ะ

นี่ถ้าเรื่องของร่างกาย เห็นไหม ของเสียมันขับออกมาตลอดเวลาทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าในหัวใจล่ะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำอยู่ทั้งนั้นแหละ ด้วยความลังเลสงสัย ด้วยความไม่รู้มันมีเต็มหัวใจทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนแบบว่าคนที่แข็งกระด้างก็ว่าเรารู้ๆ เราเข้าใจไปหมด อันนั้นก็รู้ รู้ไปหมด นี่คนบวชใหม่ๆ เข้ามาเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ คนบวชเข้ามาใหม่ๆ เป็นอย่างนี้หมดเลย เพราะเรารู้ๆ เรารู้แบบโลกนะ ไม่ใช่รู้แบบธรรม

ถ้ารู้แบบธรรม “เธออย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า” พระอริยเจ้านะ เขารู้รอบขอบชิดหมดแล้ว แล้วยังว่าควรและไม่ควร พูดออกไปจะเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่จริงก็ไม่พยากรณ์ เพราะพยากรณ์ไปแล้วมันไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดไง แม้แต่จริงก็ไม่พยากรณ์

แล้วเวลาเราลุ่มหลง ดูพระนันทะสิ พระนันทะเวลาแต่งงาน แต่งงานเสร็จแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปในงาน “นันทะจะไปบวชไม่ใช่หรือ” นี่ด้วยความว่าเป็นพี่ พูดไม่ออก ก็ไปบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืนนั้นคิดถึงแต่คู่ของตัว คิดอยู่ตลอดเวลา มันพะวงไปหมด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาไปเที่ยวสวรรค์เลยนะ “เธอจงมองไว้นะ นี่คู่ของตัวสวยไหม” แล้วจับขึ้นไปบนสวรรค์เลยนะ เหาะไป

พอไปเห็นขึ้นมา “สวยไหม สวยไหม”

นี่ไปเห็นนางฟ้า “นางฟ้าสวยกว่า”

“อยากได้ไหม”

“อยากได้”

“อยากได้กำหนดพุทโธสิ”

นี่กลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะ พระเขาล้อกันไงว่านี่เวลาที่ปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อเอานางฟ้าไง เขาล้อกัน สุดท้ายแล้วถามว่าอยากได้ไหม? บอกไม่อยากได้ พอบอกไม่อยากได้ก็คิดว่าอวด เพราะไม่อยากได้ ไม่อยากได้คือจบแล้ว คือว่าสิ้นกิเลสแล้ว นี่พระที่ฟังไม่เชื่อ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระนันทะพูดอย่างนั้นจริงหรือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าจริง

เวลาบวชเข้ามาแล้วละล้าละลังๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่จริงก็ไม่พยากรณ์ แต่ขณะสิ่งที่จริงที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่พยากรณ์ แต่พระนันทะมีอำนาจวาสนา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ถึงอำนาจวาสนาของคน

เวลาว่า “สิ่งที่คิดถึงสิ่งใดล่ะ คิดถึงคู่ครองใช่ไหม ถ้าคิดถึงคู่ครอง คู่ครองสวยไหม”

“สวยมาก”

“นี่ถ้าสวยเธอจำไว้นะ”

แล้วเวลาพาเหาะขึ้นไปบนสวรรค์ไปเห็นนางฟ้า “นางฟ้าสวยไหม”

“สวยกว่าๆ”

“สวยกว่าอยากได้ไหม”

ด้วยความอยาก อยากได้อย่างนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้อุบายให้กำหนดพุทโธก่อน พุทโธถ้ามีพุทโธขึ้นมาจะได้สิ่งนั้นๆ แต่เวลาพุทโธจิตสงบลงไป ถ้าจิตมันสงบลงไปมันเกิดปัญญาขึ้นมานะ สิ่งนั้นเป็นเรื่องข้างนอก แล้วจิตมันย้อนกลับเข้าไปข้างใน แล้วใช้ปัญญาเข้ามาถึงข้างใน นี่มาชำระล้างที่นี่ ชำระกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่อยากได้ อยากเป็น อยากใหญ่ สิ่งนั้นมันเป็นอะไร? เป้นกิเลสทั้งนั้นแหละ ถ้ากิเลสนะ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่อยู่ข้างนอกเราควบคุมไม่ได้ กับสิ่งที่เราเห็นตามความเป็นจริง เกิดสัจธรรมความเป็นจริงแล้วมันทำลายขึ้นมา เห็นไหม นี่ความรู้เท่า

ถ้ารู้ทันนะ รู้ทันตัวเอง รู้ทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเองมันจะมีสามัญสำนึกเป็นคนดี แต่ความรู้ไม่ทันตัวเองไง รู้ แต่ไม่ทัน ไม่ทันความรู้สึกนึกคิด เห็นไหม นี่มันรู้สึกนึกคิดไปแล้ว บางคนนะ ๒ วัน ๓ วันถึงนึกได้ บางคนเป็นเดือนเป็นปียังนึกไม่ได้ว่าตัวเองคิดอะไรผิดนะ รู้ แต่ไม่ทัน รู้ไม่ทัน นี่ความรู้ แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเข้ามาถ่างออกไป บางคนรู้แล้ว รู้ว่าชั่ว ถ้ามีครูบาอาจารย์เตือนสติจะได้ความรู้สึกนึกคิดเลย แต่ถ้าบางคนน่ะเป็นเดือนเป็นปี เป็นเดือนเป็นปีแล้วไปอุ่นกินอยู่นั่นล่ะ ไปอุ่นความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง

ดูสิเวลาเสลดคายทิ้งไปแล้ว เสลดมันเป็นของน่าขยะแขยง ความรู้สึกนึกคิดที่มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเป็นกิเลส มันเป็นเสลด มันเป็นน้ำลาย นี่อุ่นกินอยู่ตลอดเวลา เลียกินความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดไง รู้แต่ไม่ทัน เห็นไหม มันรู้ รู้ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นสิ่งสกปรกโสโครก แต่เราก็เลียกินอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เห็นไหม นี่รู้ไม่ทัน รู้ แต่ไม่ทันตัวเอง รู้ แต่ไม่มีสติปัญญาเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัว เพราะรู้แล้วไม่เท่าทันความรู้สึกของตัว นี่เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนตรงนี้ไง สอนว่าให้ฝึกสติ ฝึกปัญญา แล้วฝึกสติไปฝึกที่ไหนล่ะ

ฝึกสติเราก็มามีข้อวัตรปฏิบัติกันอยู่นี่ไง เวลาเหยียด เวลาคู้ เวลาก้าว เวลาเดิน เวลาทำสิ่งใดให้มีสติ ไม่ใช่ทำสักแต่ว่าทำ ทำพอสักแต่ว่าให้มันพ้นจากข้อวัตรเราไป พ้นจากหน้าที่เราไป ทำแบบให้มันพ้นหน้าที่ๆ ทำพอเสร็จๆ กับทำที่มีสติปัญญาเขาอย่างหนึ่งนะ ทำที่มีสติปัญญา เขารู้ว่าควรหนัก ควรเบา ควรทำสิ่งใด เราหยิบจับสิ่งใดไม่ให้มีเสียงกระทบ ไม่ให้มีสิ่งใด นี่เป็นการฝึกหัดทั้งนั้นแหละ

สิ่งที่ฝึกหัดสติปัญญา ฝึกหัดมาเพื่อเหตุใดล่ะ ถ้าเราฝึกหัดสิ่งนี้ขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวมันจะรู้ทันไง รู้ทันความรู้สึกนึกคิดของตัว เพราะเราจับความรู้สึกนึกคิดของเรามาเข้าสู่กระบวนการของการฝึกหัดสตินี้ไง แต่เวลาเราทำของเรา เราทำเพื่อความสะดวกสบายของเราไง รู้แต่ไม่ทัน รู้สักแต่ว่ารู้ ทำสักแต่ว่าทำ ทำพอเป็นพิธี ทำให้พ้นจากหน้าที่ของตัวไป แล้วก็บอกว่ารู้ๆๆ เพราะเราทำเสร็จเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ทำก็เสร็จ เราทำก็เสร็จเหมือนกัน

แต่ครูบาอาจารย์ท่านทำไม่มีเสียงกระทบ ไม่มีสิ่งใดไปทำให้คนอื่นมีความเดือดร้อน ไม่ทำสิ่งใดเพื่อไปให้กิเลสคนอื่นเขาฟูขึ้นมา แต่เราทำนี่มันกระเทือนไปหมด เห็นไหม รู้แต่ไม่ทัน รู้เหมือนกัน ทำเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ถ้ามันไม่เหมือนกันเพราะอะไร เพราะฝ่ายหนึ่งรู้จริง อีกฝ่ายหนึ่งรู้โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ทำให้เหมือนๆ กันแต่มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันก็ไม่ใช่เป็นความจริงของเรา เราถึงต้องฝึกหัด เราฝึกหัดเพื่ออะไร? เพื่อให้จิตใจของเรามันมีจุดยืนของมัน ถ้ามีจุดยืนของมัน เวลาทำสิ่งใดมันก็จะเข้ามาสู่ที่นี่ไง

ดูสิ ไฟฟ้าสถิตบนฟ้า เขารู้กันมานานแล้วว่ามันมีของมัน แล้วเอามาใช้ประโยชน์สิ่งใดได้ล่ะ เขาจะใช้พลังงานขึ้นมาเขาต้องสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า สร้างต่างๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมไฟฟ้ามาตามสายส่งของมันเพื่อประโยชน์ของเขาใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน แล้วรู้ๆๆ ไปหมด ใจอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่ไหน ความรู้สึกนึกคิดอยู่ที่ไหน สิ่งที่เราจะควบคุมอยู่ที่ไหน? มันมีแต่สัญญาอารมณ์ เห็นไหม ดูสิเวลาฟ้าผ่าทำให้คนตายนะ ฟ้าผ่า เกิดไฟป่า เกิดต่างๆ ก็เกิดจากฟ้าผ่านี่แหละ เวลาความรู้สึกนึกคิดมันผ่าลงกลางหัวใจ มันแสดงออกไปด้วยความไม่รู้ทันมัน รู้ไม่ทัน พลังงานมีอยู่แต่ควบคุมไม่ได้ ไม่มีใครไปควบคุมมัน แล้วจะควบคุมก็เอาพลังงานนั้น เอากิเลสตัณหาความทะยานอยากมาบังไว้ เอาธรรมะเป็นหน้าฉาก แล้วเอากิเลสตัณหาความทะยานอยาก เอาสิ่งนั้นแสดงออกไป แล้วเวลาสิ่งที่ว่าตัวเองรู้ๆ มันรู้อะไร มันรู้อะไรนั่นน่ะ

รู้ แต่ไม่ทัน รู้ไม่เท่าทันตัวเอง ถ้ารู้ไม่เท่าทันตัวเองนะ เห็นไหม มันเป็นประโยชน์สิ่งใดล่ะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาเล่าเรียนมาก็เพื่อประพฤติปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เราเป็นพระป่านะ เราเป็นพระป่า พระปฏิบัติ เรามีครูบาอาจารย์ของเราที่ฝึกหัดมา เวลาครูบาอาจารย์เราฝึกหัดมา ท่านฝึกหัดมาอย่างใด ท่านเข้าป่าเข้าเขาของท่าน ท่านพยายามต่อสู้กับท่าน เอาชนะตัวของท่านเอง แล้วเวลาท่านชนะตัวท่านเอง ท่านจะสั่งสอนเรา ท่านจะเอาอะไรมาสั่งสอนเราล่ะ

เด็กกับผู้ใหญ่ เห็นไหม ทารกน้อยๆ กับผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วจะสื่อสารกันอย่างใด จะสื่อสารให้เด็กน้อยๆ รู้จักวิธีการการรู้เท่าทันตัวเองจะทำสิ่งใด ฉะนั้น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้เราฝึกหัด ถ้าคนเห็นประโยชน์ เห็นข้อวัตรปฏิบัตินี้คือการดัดแปลงตน การดัดแปลงตน การควบคุมจิตใจของเราให้เข้าสู่กระบวนการการฝึกหัด ถ้าเข้าสู่กระบวนการการฝึกหัด แล้วทำจิตใจของเรามาให้มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราจะเคารพบูชาสิ่งที่เข้าสู่กระบวนการฝึกหัดนี้มาก

ถ้าเข้าสู่กระบวนการฝึกหัดนี้เพื่อสิ่งใด? เพื่อให้รู้ทันตัวเอง ให้รู้ทันจิตใจของตัวเอง ถ้ารู้ทันจิตใจของตัวเอง เห็นไหม เราทำสิ่งใดจะไม่กระทบกระเทือนใคร เราทำสิ่งนั้นเพื่อดูแลใจเรา เราทำมาเพื่อความชื่นบานในใจของเรา ถ้าทำความชื่นบานในหัวใจของเรา เราจะทำข้อวัตรปฏิบัติด้วยความชุ่มชื่นในหัวใจของเรา เราทำเพื่อเรา ไม่ได้ทำเพื่อใครเลย เวลาทำ เราทำข้อวัตรปฏิบัติเพื่อหมู่ เพื่อคณะ เราทำนะ หาน้ำหาท่าต่างๆ ที่อยู่ที่อาศัยด้วยความสะอาด ด้วยการน่าใช้สอย ทำเพื่อใครนี่ ทำเพื่อใคร? ทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อจิตใจให้มันผ่องแผ้ว แต่คนอื่นเขาได้มาใช้มาสอยในสิ่งที่เราทำข้อวัตรของเรา เห็นไหม นี่กิจของสงฆ์ๆ

แม้แต่ข้างนอกเรายังทำเพื่อความสะอาด ทำเพื่อความสะดวก ทำเพื่อความน่าอยู่น่าอาศัย แล้วจิตใจของเราล่ะ เราทำแล้วเราปลื้มใจไหม แต่ถ้าเราทำด้วยความขุ่นมัวของเรา เห็นไหม หน้าที่การงานมันเป็นงานสาธารณะ มันไม่ใช่เรื่องของเราเลย เรื่องของเราคือเรื่องภาวนา เรื่องของเราคืออยากดูใจของเรา เรื่องของเราคืออยากจะเป็นพระอรหันต์ เรื่องของเราๆ เรื่องของกิเลสไม่รู้ทันเลย กิเลสมันยุมันแหย่ มันทำให้เราไม่รู้ทันตัวเราเองเลย นี่มันส่งออกหมด

แต่ถ้ากระบวนการฝึกหัด เราเอาใจของเรามาทำข้อวัตรปฏิบัติ เวลาเราทำของเราเสร็จแล้วเราเข้าไปสู่ทางจงกรมของเรา เราไปนั่งสมาธิภาวนาของเรา เราภูมิใจ เราไม่มีตะกอนในใจ เราไม่มีสิ่งใดในหัวใจเลยว่าเรายังไม่ได้ทำสิ่งใดของเรา

เราเป็นสงฆ์ เป็นสงฆ์ เป็นสังฆะ เป็นหมู่สงฆ์ เราเป็นพระองค์หนึ่งที่อยู่ในสังคมของเรา ของใช้ของสอยมันก็ใช้สอยร่วมกัน ใช้สอยร่วมกันเราก็ทำร่วมกัน เราแบกเราหามด้วยกัน เราใช้สอยสิ่งที่เป็นที่อยู่อาศัยด้วยกัน พอเราใช้ด้วยกันเราก็ได้ทำของเรา มันมีสิ่งใดให้เกิดการวิตกในใจไหม? มันก็ไม่มี นั่งสมาธิภาวนาชื่นบานมาก

แต่ถ้าเราทำไม่ทำสิ่งใดของเรา เราว่าคนอื่นทำหมดแล้ว ทุกอย่างในวัดเราทุกคนก็ทำให้สะอาดหมดจดหมดเลย หน้าที่ของเราก็ใช้สอยสะดวกสบาย แหม! ที่นั่นก็น่าใช้ ที่นี่ก็น่าดี กุฏิร้านน่าอยู่น่าอาศัยเพราะมันสะอาดสะอ้านไปหมดเลย เราดีไปหมดเลย

เวลาถ้ามันไม่ทันตัวเองมันก็คิดอย่างนี้ แล้วมันก็บอก “อืม! เขาก็ทำหมดแล้ว ต้องไปทำอะไร จะไปแข่งขันอะไร ไปแย่งเขาทำจะเป็นกิเลส นี่เขาทำดีแล้ว เขาทำสุดยอดแล้ว ก็ยกย่องบูชาเขา เราไม่ต้องทำเพราะเราใช้ประโยชน์ของเราเลย นี่ดีด้วยมันจะได้สงบ ไม่ต้องไปกระทบกระเทือนกับใคร” เวลาคิดนี่ไม่ทันตัวเองไง ใช้สอยไป

แต่ถ้าวันไหนมันมีสติ มันระลึกได้ มันคิดได้ มันจะคอตกนะว่าเราไม่ได้ทำสิ่งใดเลย เราเอารัดเอาเปรียบเขา นี่เอารัดเอาเปรียบเขา การเอารัดเอาเปรียบเป็นสิ่งที่ดีไหม? มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เห็นไหม ไม่รู้เท่าทันตัวเองไง ไม่รู้ทัน ถ้าไม่รู้ทันมันก็ทำให้กิเลสขี่หัว ถ้ากิเลสขี่หัวแล้วมันไม่ได้มองถึงกิเลสขี่หัวเรานะ

มันมองโดยทิฏฐิมานะ มันก็ว่า “สิ่งนั้นเราทำถูกต้องหมด คนอื่นทำนี่ไม่ดีหมดเลย ทำนี่ทำไปทำไม พระทั้งวัดเลย ก็อยู่กุฏิใครก็กุฏิมัน ก็อยู่เฉพาะกุฏิ ก็ทำความสะอาดเฉพาะกุฏิก็พอ ทำไมต้องไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน เสียงมันดังมันกระทบกระเทือนไปหมดเลย ของอย่างนี้มันเป็นของข้างนอก มันเป็นสมมุติ เราจะเอาจิตเราเป็นวิมุตติ เราจะพ้นจากกิเลสของเราไป จิตใจเราสูงส่ง จิตใจเราดีงามไปหมดเลย” นี่เวลาไม่เท่าทันตัวมันเป็นอย่างนั้น

แต่เวลาเท่าทันตัวเองขึ้นมานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ พระในสมัยพุทธกาล ออกพรรษาแล้วจะเที่ยววิเวกไป พระไม่ให้อยู่กับที่ เวลาจำพรรษาไป เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวิเวกของท่านไป ที่ใดที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเคยไป ประชาชนละแวกนั้นเขาจะทำแคร่ไว้ให้ เขาจะทำสิ่งต่างๆ ไว้ให้ เวลาเราไป นี่ในสมัยพุทธกาล สิ่งที่เป็นแคร่เป็นร้านเขาทำไว้ให้ เวลาพระไปใช้ไปสอย จากที่นั่นไปไม่เก็บเองก็ดี ไม่ไหว้วานให้ใครเก็บก็ดี เป็นปาจิตตีย์ ปรับอาบัติไว้หมดนะ

สิ่งที่ใช้ที่สอย เราต้องใช้ต้องสอย เห็นไหม นี่สิ่งที่เป็นสาธารณะสมบัติ เป็นสมบัติของสงฆ์ สงฆ์ได้ใช้สิ่งนั้นแล้ว จะจากที่นั่นไป ไม่เก็บเองก็ดี ไม่ไหว้วานให้ใครเก็บก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ สิ่งที่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ สิ่งที่เราใช้เราสอย นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้ว ให้รู้จักเก็บ รู้จักงำ รู้จักรักษา นี่มันประหยัดมัธยัสถ์มาจากภายนอก จิตใจมันก็จะประหยัดมัธยัสถ์

มันฟุ่มเฟือย ความคิดว่า “นั่นก็ไม่สำคัญ นั่นก็ไม่จำเป็น ของก็ของเล็กน้อย ของนี้เดี๋ยวหาใหม่ก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้” คิดมันคิดได้ทั้งนั้นแหละ แต่กิริยาที่แสดงออกไป การกระทำออกไปมันกระทบกระเทือนผู้ที่ดูแลไหม นี้พูดถึงความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นวัตถุแล้วนะ ออกมาเป็นวัตถุการใช้สอย นี่เวลาเป็นอาบัติ อาบัติของจิตไม่มี อาบัติตามความผิดมี แต่เวลาเราคิดในใจมันเป็นมโนกรรม

สิ่งที่เป็นมโนกรรม กรรมมันเกิดแล้วล่ะ นี่ย้ำคิดย้ำทำ จนเป็นจริต จนเป็นนิสัย จนทำให้จิตใจมันดื้อด้าน นี่พูดจนชินหู ฟังจนชินปาก แต่ใจมันด้าน ถ้าใจมันด้าน มันหน้าด้าน แต่ถ้าคนมันหน้าบาง มีหิริ มีโอตัปปะ มีความละอาย ถ้ามีความละอายขึ้นมา เห็นไหม จิตใจมันจะเปิดโล่ง จิตเปิดโล่ง เห็นไหม “เขาทำแล้วเราไม่ได้ทำ นี่เราเอารัดเอาเปรียบ เราน่าเสียใจ” แต่ถ้าเราทำของเราขึ้นมา เราทำเพื่อหมู่ เพื่อคณะ สงฆ์ใดที่ยังไม่ได้เข้ามา ให้มา ให้ได้ใช้ ได้สอยได้ตามความเป็นจริง นี่พูดถึงเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นที่ถูกต้องนะ

แต่ถ้าความเห็นที่ไม่ถูกต้อง “เขาทำแล้ว เขาดีแล้ว วัดนั้นก็ดี วัดนี้ก็ดี มันสะอาดเรียบร้อยไปหมดเลย” แต่เราล่ะ เราสกปรก เราไม่ได้ชำระล้างในหัวใจของเรา แต่ถ้าเราชำระล้างในหัวใจของเรา เห็นไหม วัดนั้นก็สะอาด เราเป็นคนทำเอง สิ่งที่มันจะสะอาด จะบริสุทธิ์ มันจะดีงาม เราเป็นคนทำเอง เราทำจากข้างนอก ข้างในมันก็สะอาด เพราะถ้าข้างในไม่สะอาดมันจะทำข้างนอกได้อย่างใด

ถ้าข้างในมันสะอาด อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า เพราะพระอริยเจ้าเขารู้รอบขอบชิดในใจของเขา แล้วเขาพูดสิ่งใดออกมามันจะเป็นประโยชน์กับใคร ถ้ามันเป็นประโยชน์เขาถึงพูดออกมา เตือน เตือนให้รู้ให้เข้าใจ แต่ถ้ามันไม่เป็นพระอริยเจ้าล่ะ นี่เวลาพูด เวลาเตือน เตือนเพื่อใคร เตือนเพื่อพอกพูนกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัวไง ถ้าพระอริยเจ้าเขาไม่ต้องการการยอมรับจากใครหรอก การยอมรับ ไม่ยอมรับมันเป็นเรื่อง เห็นไหม โมฆบุรุษคนโง่ตายเพราะเหยื่อ โมฆบุรุษตายเพราะการอยากให้เขามีลาภสักการะ อยากให้เขาสักการะตัว นั่นล่ะโมฆบุรุษ

ถ้าโมฆบุรุษพูดสิ่งนั้นมา พูดธรรมออกมา พูดธรรมออกมาเพื่อสิ่งใดล่ะ? เพื่อให้เขายอมจำนนไง แล้วถ้าพูดธรรมโดยโมฆบุรุษมันจะมีความยอมจำนน เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันสะอาดบริสุทธิ์จากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันสะอาดจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงเอง มันมีรั้วรอบขอบชิด มันโต้แย้งไม่ได้ แต่โมฆบุรุษไปอ้างอิง ดูสิเวลาเขาบอกว่าหนูมันกลัวแมว มันอยากจะเอากระดิ่งไปแขวนคอแมว แมวไปไหนมันจะได้ยินก่อน มันจะได้หลบหนีมัน นี่ก็เหมือนกัน กิเลสในใจของเรา กิเลสในใจ หนูตัวนั้นที่มันอยู่ในใจนั่นน่ะ มันจะเอากระดิ่งไปแขวนคอแมว

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่แมวมันทำให้กิเลสกลัว ถ้าโมฆบุรุษ เวลาไม่มีธรรมในหัวใจของตัว พูดสิ่งใดออกมานี่พูดออกมาเพื่อสิ่งใด แมวมันจะล่อกินหนูไง แมวมันจะล่อกินหนู มันจะนอนนิ่งๆ ให้หนูผ่านมาแล้วมันจะตะครุบหนูกินเป็นเหยื่อของมัน นี่โมฆบุรุษไง แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเอง มันเป็นธรรมจริงๆ ธรรมจริงๆ ที่มันมีรั้วรอบขอบชิดที่กิเลสมันจะหาช่องทางไปไม่ได้

แต่เวลาโมฆบุรุษแสดงธรรม โมฆบุรุษเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงธรรมๆ ธรรมของโมฆบุรุษ ต้องการลาภ ต้องการสักการะ ไม่ต้องการกำจัดกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตัว ถ้าต้องการกำจัดกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตัว มันต้องทำที่ใจของตัวสิ ถ้ามันทำที่ใจของตัวนะ สิ่งข้างนอก นี่เราเป็นหมู่คณะกัน เราอยู่อาศัยร่วมกัน การอยู่อาศัยด้วยกัน

ดูสิเวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่นนะ บอกว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ๘ ปี ด้วยความเคารพ ด้วยความบูชา เวลาหลวงปู่มั่นพูดถึง เวลาอยู่ด้วยกันเหมือนพ่อกับลูก มีความเคารพนบนอบมาก แม้แต่ทางโลก ท่านเปรียบเทียบเหมือนทางโลก แม้แต่ครอบครัวเขา สามีภรรยาอยู่ด้วยกันมันก็ต้องมีการกระทบกระเทือนกันบ้างเป็นธรรมดา แต่เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น ด้วยความเป็นอยู่ถึง ๘ ปี ไม่มีสิ่งใดกระทบกระเทือนเลย มีแต่ความเมตตา มีแต่ความโหยหา มีแต่การอยากฟังธรรม เหมือนเด็กน้อยต้องการดูดน้ำนมของแม่

นี่เวลาความเป็นธรรมที่อยู่ด้วยกันมันไม่กระทบไม่กระเทือนกัน เห็นไหม แม้แต่ในครอบครัวเขายังมีการกระทบกระเทือนกันบ้าง ลิ้นกับฟันอยู่ในปากเรา เรายังขบลิ้นของเราเอง สังคมที่อยู่ด้วยกัน คนมีกิเลส เราบวชมา เห็นไหม เราบวชมาเราก็มีกิเลส เพราะเราอยากจะพ้นจากทุกข์ เราบวชมาเป็นสงฆ์ เป็นสมมุติสงฆ์ เราก็มีกิเลส มีความรู้ไม่เท่าทันใจของเรา มีบ้าง ฉะนั้น สิ่งที่มันมีการกระทบกระเทือนกัน ถ้าเขาทำด้วยไม่มีเจตนา สิ่งที่เขาไม่มีเจตนาเขาทำด้วยความไม่รู้เท่าทันตัวของเขาเอง เขาเข้าใจว่าถูกหรือผิด เข้าใจว่าผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด เขาทำของเขาด้วยความไม่มีเจตนา เราเป็นผู้ที่มีอายุพรรษา เราเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่าเขา เราควรมองด้วยความเมตตา มองด้วยความว่าสิ่งนั้นไม่ควรทำ นี่ถ้ามีสติมีปัญญา ถ้ารู้ทันตัวเอง มันเป็นประโยชน์ไปหมด

เวลาหลวงตาท่านพูดว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นมาถึง ๘ ปี ไม่มีสิ่งใดกระทบกระเทือน ทำให้มีความบาดหมางในใจ ทำให้มีสิ่งใดขุ่นข้องในหัวใจเลย แม้แต่ทางโลกเขาอยู่กัน ในครอบครัวเขาอยู่กันมันก็ยังมีการกระทบกระเทือนกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ฉะนั้น เราเป็นพระ บวชมาเป็นสมมุติสงฆ์ บวชมาในศาสนา บวชมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ การกระทบกระทั่งกันมันเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้เรื่องธรรมดาเราต้องมีสติมีปัญญารู้เท่าทันใจของเรา ถ้าเรารู้เท่าทันใจของเรานะ มันจะปล่อยวางสิ่งนั้นมา หดสั้นเข้ามาอยู่ในใจของเรา ไม่ส่งออกไปไง ถ้าส่งออกไป สิ่งนั้นมันจะยุ จะแหย่ นี่หนูตัวนั้นในใจของเรามันจะยุจะแหย่ว่าเราเสียเปรียบ เราไม่มีศักดิ์ศรี เราต่างๆ มันกระเทือนกันไปหมด

ฉะนั้น สิ่งนี้แม้แต่เรื่องข้างนอกมันยังมีอิทธิพลเข้ามาในใจของเรา ทำให้ใจของเราฟูขึ้นมาได้ แล้วถ้าเรารักษาใจเราล่ะ เราดูแลใจของเรา เราบวชมาเพื่อสิ่งใด? เราบวชมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ เราบวชมา เราเป็นพระป่า ครูบาอาจารย์ของเราท่านวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้จิตใจของเราได้ฝึกหัด ได้มีการกระทำขึ้นมา บัดนี้เราบวชมาแล้วเราอยากจะประพฤติปฏิบัติ ทำสิ่งใด นี่ถ้าทำสิ่งใด ความจำเจ ความขาดสติ ทำสิ่งนั้นมันจะมีความผิดพลาด เราจะทำสิ่งใด ข้อวัตรเราให้ตื่นตัวตลอดเวลา

การทำข้อวัตรไม่มีวันจบ เวลาเราตายไปแล้ว ถ้าศาสนาของเรา ในหมู่คณะของเรายังมีพระที่บวชเข้ามาที่จะประพฤติปฏิบัติต่อไป ข้อวัตรปฏิบัตินี้มันก็ยังเป็นกระบวนการให้เขาฝึกหัดใจของเขา นี่กระบวนการอย่างนี้ยังทำต่อไป ถ้าคนที่ประพฤติปฏิบัติยังไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์ แต่ถ้าพูดถึงคนที่ปฏิบัติสิ้นสุดแห่งทุกข์ไปแล้ว เห็นไหม สิ่งนี้พระในสมัยพุทธกาลนะ เวลาประพฤติปฏิบัติไปจนเป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็มีความวิตกขึ้นมาว่า เราเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วเราควรจะทำตัวสิ่งใด เราควรจะต้องลงอุโบสถไหม เราจะต้องทำสิ่งใดไหม

นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยฤทธิ์เลย มาด้วยฤทธิ์ต่อหน้าว่า “ถ้าเธอไม่ทำข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเธอไม่ทำสิ่งนี้ แล้วอนุชนรุ่นหลังเขาจะเอาอะไรเป็นแบบอย่างล่ะ”

ถ้าอนุชนรุ่นหลังเขาจะเอาอะไรเป็นแบบอย่าง เขาก็ดูพระนั่นแหละทำตัวอย่างใด เวลาพระบวชเข้ามาใหม่เขาก็ดูพระที่มีอายุพรรษาแก่กว่า ดูที่เป็นครูบาอาจารย์ของเราวางตัวอย่างใด ทำตัวอย่างใดเพื่อให้เขาอยู่ในร่อง ในรอย ในการประพฤติปฏิบัติมีแบบอย่างไง

“หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง”

มีแต่คำสั่ง คำเทศน์ คำสอนให้ทำอย่างนั้นๆ แต่ตัวเองไม่ทำเป็นคติแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ลูกหา ไม่ทำตัวเองเป็นแบบอย่างให้คนที่ประพฤติปฏิบัติเดินตาม นี่สิ่งนั้น พระที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าสิ้นกิเลสแล้วเขายังวางตัว ยังประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ แต่ถ้าเป็นแม่ปู ดูสิเวลาแม่ปูมันสอนลูกมัน “ลูกเดินให้ตรงๆ นะ เดินอย่างแม่นี่เดินให้ตรงๆ เดินให้ตรงๆ” นี่แม่ปูมันสอนลูกมัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ถ้าไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์เราจะทำอย่างใด ในเมื่อมันเป็นสังฆะ มันเป็นสังคม มันเป็นสงฆ์อยู่ร่วมกัน เห็นไหม การอยู่ร่วมกัน การประพฤติปฏิบัติร่วมกัน เราเอาสิ่งนี้มาเป็นบรรทัดฐาน แล้วย้อนกลับมาดูใจเรา

คนเกิดมานะตามแต่อำนาจวาสนาของคน เกิดมาเป็นอริยทรัพย์ การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์ เพราะเกิดเป็นมนุษย์นี้มีสติมีปัญญาที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ แล้วเราเป็นคนคนหนึ่งที่ไม่เห็นว่าโลกเป็นใหญ่

เห็นว่าโลกเป็นใหญ่ ดูสิสังคมเขาอยู่กับโลก โลกเป็นใหญ่ เขาอยากจะพ้นจากทุกข์ อยากจะประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าอยู่กับโลกมันมีแต่ความเร่าร้อน เราเป็นคนคนหนึ่งที่มีโอกาสหลุดรอดพ้นจากโลกมาอยู่ในสังคมของสงฆ์ สังคมของสงฆ์ สังคมของศาสนทายาท สังคมของประเพณีของพระอริยเจ้า นี่เรายังประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีโอกาสมา เรามีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น เรามีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องดูแลปฏิบัติให้สมกับที่ว่าเรามีโอกาส

ถ้าเรามีโอกาสขึ้นมา เห็นไหม เรารักษาใจของเราสิ เรามีสติปัญญาของเรา ข้อวัตรปฏิบัติ ความเป็นอยู่ของสงฆ์เราสามารถเลือกได้ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าถ้าเราธุดงค์ไป ไปถึงสถานที่ใดมีพระที่เป็นหัวหน้าอยู่ เราเข้าไปอาศัยท่าน แล้วอาศัยท่านนี่ให้ดูกันภายใน ๗ วัน ถ้า ๗ วัน จริตนิสัยเข้ากันไม่ได้ให้เก็บของออกจากสำนักนั้นไปซะ เพราะว่าถ้าเราอยู่ถึง ๗ วันแล้ว ราตรีที่ ๘ ถ้าเราไม่ขอนิสัย ถ้าพรรษายังไม่พ้นนิสัย เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ผู้ที่จะสั่งสอน ถ้าไม่ขอนิสัย นี่ไปสอนเขา เขาไม่ขอนิสัยจะสอนได้อย่างใด

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ของเรา แม้แต่พ้นนิสัยแล้ว ในวงกรรมฐานเราแม้แต่พ้นนิสัยแล้วเขาก็ยังขอนิสัย เพื่อให้เห็นว่าจิตใจเรายอมรับสัจธรรม จิตใจนี้ยอมรับสัจธรรมที่เป็นความจริง ในเมื่อครูบาอาจารย์ที่มีธรรมเป็นจริง ยอมรับสิ่งนั้น ถ้ายอมรับสิ่งนั้น ครูบาอาจารย์ท่านก็แสดงธรรมของท่านด้วยความสะดวก ด้วยความสบาย ด้วยการเปิดกว้าง การเปิดกว้างธรรมมันก็จะไปได้เต็มที่

ธรรมมาจากไหน ธรรมมาจากไหน เวลาธรรม ธรรมที่ออกมา เห็นไหม เวลาเทศน์ถ้ามีธรรมอยู่ในใจมันจะออกมาจากเสียงนั้นแหละ แต่ถ้าไม่มีธรรม เวลาพูดออกมา ดูสิเสียงลม เสียงฟ้า เสียงต่างๆ มันก็มีเสียงเหมือนกัน แล้วมันเป็นธรรมไหมล่ะ แต่เสียงลมเสียงแดดต่างๆ เสียงลมที่มันมีการกระทบนั่นน่ะ ถ้าคนที่มีสติปัญญาเขายังพิจารณาเป็นธรรมได้ พิจารณาเพื่อเป็นประโยชน์ให้กิเลสมันมีความเข้าใจได้

ดูสิเวลาพระในสมัยพุทธกาลจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะวิปัสสนามาแล้ว จิตใจมันพิจารณา ปัญญามันกำลังหมุนอยู่ จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดฝนตก ไปยืนที่ชายคากุฏิ ฝนตกลงมา ฝนตกน้ำจนเจิ่งนองไป เวลาฝนจากชายคามันหยดลงสู่น้ำที่นองนั้นมันจะเป็นต่อมขึ้นมา เป็นฟองขึ้นมา เขายืนพิจารณาอยู่อย่างนั้นน่ะ ยืนพิจารณาน้ำที่กระทบเป็นฟอง เป็นต่อม เป็นฟองขึ้นมาแล้วมันแตก นี่เพราะจิตใจมันเป็นธรรม จิตใจที่มันกำลังวิปัสสนาอยู่มันมีของมัน เวลาผลกระทบอย่างนั้นเขายังมีปัญญาชำระล้างกิเลส ทำให้สิ้นจากกิเลสได้ ไม่ขึ้นไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับกุฏิเลย เพราะเขารู้แจ้ง รู้แจ้งขึ้นมาจากปัญญาของเขา

ฉะนั้น เสียงที่เป็นเสียง แต่เสียงที่มันมีคุณธรรมในหัวใจ เวลาเสียงนั้นออกมามันมีธรรมออกมา ธรรมมันคืออะไร? ธรรมนี่จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจที่ฟังธรรมอยู่นี้มีสิ่งใดพอกพูนในหัวใจ ใจที่แสดงธรรม ถ้าใจที่แสดงธรรมเคยมีสิ่งที่พอกพูนในหัวใจ แล้วสิ่งที่พอกพูนในหัวใจมันได้ปลดเปลื้องออกไปจากใจนั้นอย่างใด อย่างใดที่มันปลดเปลื้องใจ ปลดเปลื้องสิ่งที่มันพอกพูนอยู่ในใจนั้นออกไปจากใจด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาพิจารณาขึ้นไป นี่จิตสงบสงบอย่างใด จิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนาอย่างใด ถ้าไม่ยกขึ้นสู่วิปัสสนามันก็เป็นโลกียปัญญา ปัญญาตรึกในธรรมๆ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

การประพฤติปฏิบัติทุกแนวทาง ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือความสงบร่มเย็น ถ้ามันสงบร่มเย็นแล้ว มีสติ มีปัญญาขึ้นมา นี่ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่มันรู้แจ้งในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมมันถึงเป็นสติปัฏฐาน ๔

นี่บอกว่า “การปฏิบัติในแนวสติปัฏฐาน ๔”

ในแนวสติปัฏฐาน ๔ ของกิเลส ของสมมุติ ของสิ่งที่โลกยกย่องบูชา กับในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ของสัจธรรม ของอริยสัจ ของวิปัสสนาญาณ สิ่งที่เป็นญาณ มรรคญาณที่จะไปชำระล้างกิเลสสิ่งที่พอกพูนในหัวใจ สิ่งที่เป็นธรรมจริงมันเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญาที่สัจธรรมความเป็นจริงอย่างนี้ย้อนกลับมาเป็นมรรคญาณ เป็นภาวนามยปัญญา สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตอย่างนี้ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราเป็นครูบาอาจารย์จริง เห็นไหม มันรู้เท่า รู้ทัน รู้สัจธรรม รู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นโลก อะไรเป็นธรรม รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง

ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง นี่รู้เท่าทันความเป็นจริงในหัวใจของใจเรา ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ได้ นี่มันสมกับเราว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่ง เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นภัยในวัฏสงสารถึงได้มาบวช บวชมาเป็นสมณะ สมณะผู้สงบระงับจากภายนอก แล้วพยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบได้มันเป็นสมณะภายใน ถ้าสมณะภายในเกิดมรรคญาณขึ้นมา เห็นไหม เวลามีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาตรงนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างสมบุญญาธิการมามหาศาลเพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ที่ปฏิสนธิวิญญาณนี้ ปฏิสนธิจิต เห็นไหม สัตว์เริ่มต้น เกิดในนรก ในมนุษย์ ในเทวดา ในอินทร์ ในพรหม ในวัฏฏะ จิตปฏิสนธินี้เวียนเกิดเวียนตาย เวียนเกิดเวียนตายไม่มีต้นไม่มีปลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นสัจจะความจริง จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ในหัวใจนี้ รื้อสัตว์ขนสัตว์ปฏิสนธิจิตที่เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ

เวียนตายเวียนเกิด มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความทุกข์ความยาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ที่นี่ ไม่ใช่รื้อสัตว์ขนสัตว์ที่ทุกคนก็อยากให้รื้อสัตว์ขนสัตว์ตามความเป็นจริงของเขา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าจิตยังไม่ควรแก่การงาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เทศน์เรื่องอริยสัจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศน์อริยสัจต่อเมื่อจิตของผู้นั้นควรแก่การงาน ควรแก่การงานจะมีสำนึกถูก สำนึกผิดในความรู้สึกนึกคิดของตัว สิ่งใดที่แสดงออกไปรับได้ รู้ได้ แต่ถ้าจิตไม่มีความสำนึก แสดงอริยสัจออกไปเขาก็มองเป็นโลกไป

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อ้างอิงกันอยู่นี่ไง แต่อ้างอิงกันโดยโลก อ้างอิงกันโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันถึงไม่เข้าสู่ใจของตัว แต่ถ้าเรารู้สึกสำนึก เรามีความสำนึก เรามีความละอาย มีหิริโอตัปปะในหัวใจ เวลาธรรมะถึงสะเทือนเข้ามาสู่ใจเรา สะเทือนใจเรา เราจะรู้ถูกรู้ผิด รู้ถูกรู้ผิดจากภายนอก เห็นถูกเห็นผิด เห็นความควรและไม่ควร เวลาเข้ามาสู่ภายใน เห็นไหม รู้สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ มิจฉาปัญญา ปัญญาทำให้เห็นผิด สัมมาปัญญา ปัญญาที่เป็นธรรมจักรมันจะเวียนเข้ามาจากภายใน นี่สิ่งที่เห็นเป็นความจริงอันนี้จะเป็นประโยชน์กับใจของเรา นี่เราถึงปฏิบัติแล้วไม่เสียเวลาของเราไง

เวียนตายเวียนเกิด สร้างอำนาจวาสนาเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ในชาติปัจจุบันนี้ประพฤติปฏิบัติให้รู้แจ้งในใจของตัว ถ้ารู้แจ้งในใจของตัวจะเป็นศาสนทายาท เป็นทายาทแห่งธรรม เป็นทายาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นหลักเป็นชัยแก่หมู่แก่คณะของเรา เอวัง