เทศน์พระ

เพียรชอบ

๒๖ ม.ค. ๒๕๕๖

 

เพียรชอบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมเนาะ ธรรมะ ธรรมะเป็นที่พึ่งที่อาศัยนะ ดูสิ ฤดูกาลมันพึ่งอาศัยไม่ได้ ฤดูกาล เราอยู่ เห็นไหม หน้าหนาวเป็นฤดูกาลที่ภาวนาดี หน้าฝนเป็นอันดับรอง หน้าร้อน นี่อากาศมันร้อน มันบีบคั้น

ความเร่าร้อน ความเร่าร้อนเป็นสิ่งไม่ดีเลย แต่ความร้อน เห็นไหม ดูสิ แสง แสงนี่เป็นสิ่งสังเคราะห์อาหารให้ใบพืชมันได้สังเคราะห์อาหาร แสงมันก็มีประโยชน์ไง มีประโยชน์กับความเป็นไปของโลก แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ เวลาหนาว ดูสิ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้มันเป็นน้ำแข็งเลย นี่สิ่งที่หนาว ความหนาวเย็น ความหนาวเย็นถ้ามันเกินกว่าเหตุมันก็ไม่มีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์หรอก มันต้องมัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุล ความพอดีของมัน

ถ้าความพอดีของมันนะ ดูสิ ชีวิตมนุษย์เราประสบความสมดุล ยิ่งวัยรุ่น เด็กๆ นี่ชีวิตของเขาเหมือนดอกไม้แรกแย้ม มันมีความสดชื่นมีความสดใสไปหมด แต่เวลาคนเฒ่าคนแก่นี่ไม้ใกล้ฝั่งๆ ดอกไม้ที่มันโรยรา มันหลุดจากขั้วมันไป ชีวิตของเรา ถ้าความสมดุลของเรา ถ้าเป็นวัยรุ่น ถ้าร่างกายเราแข็งแรง สิ่งนั้นมันก็เป็นความสุข ความสุขคือความพอใจ ความสุขคือความสะดวกสบาย แต่เวลาแก่เฒ่าชราขึ้นมา ใบไม้หลุดจากขั้ว จะโดนสิ่งใดก็ไม่ได้ ลมแรงก็ไม่ได้ ลมแรงมันจะหลุดจากขั้วทันที ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นความเป็นไปของโลก

แต่ความเป็นไปของธรรมล่ะ ความเป็นไปของธรรม เห็นไหม คนจะมีอำนาจวาสนาบารมี คนที่จะมาเป็นนักพรตนักบวชอย่างเรา นักพรตนักบวชอย่างเรา ทำไมเราไม่ใช่ชีวิตอิสระแบบโลกเขา โลกเขาชีวิตอิสระ จะทำสิ่งใดก็ได้ ทำตามความพอใจของตัวเอง จะทำอย่างไรก็ได้ “ทำอย่างไรก็ได้ๆ” นี่เป็นเรื่องความคิดของโลก ของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไม่ใช่ของธรรม

ถ้าของธรรม เห็นไหม ดูสิ แม้แต่อยู่ทางโลกเขาต้องมีศีลมีธรรม เขาต้องมีประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องหมายของคนดี คนดีจะมีประเพณีวัฒนธรรม รู้ถูกรู้ผิดเป็นเครื่องหมายของคนดี ถ้าคนดีเขาจะมีกติกาของเขา เราเป็นคนที่มีอำนาจวาสนา เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาเป็นนักพรตนักบวชกัน นักพรตนักบวชกันเขาบวชอะไรล่ะ? เขาบวชเพื่อชำระล้างกิเลสไง เขาไม่ใช่บวชกล้วย บวชเผือก บวชมัน เขาบวชไว้เป็นอาหาร ความบวชของเรา บวชแล้วต้องให้มันมีคุณค่า ถ้าบวชแล้วมีคุณค่า เห็นไหม เราจะมีสติ มีปัญญา

สติปัญญาของโลกเขาก็มีกันนะ โลกเขา ดูสิ เขาประสบความสำเร็จทางโลก เขาเป็นเศรษฐีโลก เขาเป็นศาสตราจารย์มีผลงานทางโลก นี่เขามีไว้ สิ่งนั้นเขาทำประโยชน์กับโลก เพราะมันเป็นเรื่องความสะดวกสบาย ความคล่องตัวทางโลกทางวิชาการที่เขามาเป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการของเขา นั่นมันเป็นประโยชน์ทางโลกไง

แต่ถ้าเป็นปัญญาของศาสนาล่ะ ปัญญาของธรรมล่ะ ปัญญาของธรรมนะ มันมีสติปัญญาเอาความรู้สึกนึกคิดไว้ เอาความรู้สึกของเรา เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา ถ้าเอาใจไว้ในอำนาจของเรา การกระทำมันต้องมีสติเหนือเขา เพราะสติของธรรม เวลาสติของธรรมนะ มีสติ มีมหาสติ มีสติอัตโนมัติ สติมันจะละเอียดลออขึ้นไป แต่ทางโลกเขาเป็นวิทยาศาสตร์สูตรสำเร็จ ถ้าสติก็คือสติของเขา สมาธิสั้นสมาธิยาวมันก็เป็นเรื่องของโลกๆ...โลกๆ คือเขาดูแลของเขา เขามีสติปัญญาของเขาเพื่อประโยชน์กับเขา แต่ถ้าเป็นปัญญาของธรรม มันละเอียดลึกซึ้ง ลึกซึ้งเพราะอะไร

มันเป็นมิตินะ นี่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค นี่ความรู้สึกนึกคิดมันลุ่มลึกเข้าไปในหัวใจ ลุ่มลึกเข้าไปสู่ฐีติจิต ลุ่มลึกเข้าไปสู่ภวาสวะ ลุ่มลึกสู่ภพ ภพชาติที่เราจะรื้อจะถอนกันไง

โลกเขาอยู่กันนะ นี่เวลาเขาเปลี่ยนสัญชาติต่างๆ นั่นมันเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องกติกาที่เขาสร้างขึ้น แต่วัฏสงสารมันเป็นความจริง มันเป็นความจริงนี่เราเวียนตายเวียนเกิด เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์แล้วเรายังเห็นภัยในวัฏสงสาร เราออกมาบวชเป็นพระเป็นเจ้า เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร เราต้องมีความรู้ความเห็น มีปัญญาเหนือโลก ถ้ามันไม่เหนือโลก เราจะชนะโลกไม่ได้หรอก

ถ้าเราไม่เหนือโลก เห็นไหม ดูสิ ดูที่โลกเขาอยู่กัน แม้แต่เป็นนักพรตนักบวชเขาก็อยู่กันแบบโลกๆ อยู่กันแบบโลกคือคุยทางวิชาการ คุยกันเป็นโลกๆ ที่เข้าใจกันแบบโลกๆ ไง แต่ไม่เข้าใจเรื่องธรรม ถ้าเข้าใจเรื่องธรรมนะ จิตสงบทำอย่างไร จิตสงบ นี่สงบระงับทำอย่างไร ถ้าจิตสงบระงับ มันมีความสุขความสงบระงับเข้ามาได้อย่างไร ถ้าจิตสงบระงับแล้วมันเกิดปัญญา ภาวนามยปัญญาที่ชำระล้างกิเลส ที่ปัญญาของธรรมๆ เกิดจะเป็นธรรมๆ ขึ้นมามันต้องมีปัญญาญาณ นี่ปัญญาญาณเข้าไปชำระล้างกิเลส ทำความสะอาดของใจขึ้นมา มันเป็นอย่างไร นี่ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาของธรรมๆ โลกเขารู้ไม่ได้หรอก เราไม่ได้อยู่แบบโลกไง

เราเกิดมากับโลกนะ เราเกิดมานี่เราบวชพระ เห็นไหม อุปัชฌาย์ยก ญัตติจตุตถกรรมยกเข้ามาเป็นพระสงฆ์ นี่ก็เป็นเรื่องโลก เป็นธรรมวินัยเรื่องโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ เวลาในสมัยพุทธกาลเขาเกิดทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีสิ่งใดก็ไปกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไป บอกพระอานนท์ไว้นะ “อานนท์ ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเธอ”

นี่ธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้มันก็เป็นเรื่องสมมุติ สมุมติบัญญัติ นี่คำว่า “เรื่องสมมุติ” ธรรมวินัยเป็นสมมุติเลยหรือ สมมุติบัญญัติก็คือกติกาไง กติกาเป็นโลก นี่เป็นสมมุติ แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สมมุติ เห็นไหม เวลาเรายกเข้ามา ยกจากหมู่ เวลาเวียนเกิดเวียนตายนี่จริงตามสมมุติ เกิดภพชาติหนึ่งเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉานนี่ภพชาติหนึ่ง จริงตามสมมุติ สมมุติที่มันมี มันมีเวรมีกรรมอยู่มันก็ให้ผลไปตามนั้น แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมวินัยเป็นสมมุติบัญญัติ บัญญัติขึ้นมาให้เราศึกษาเป็นธรรมวินัย

นี่บอกพระอานนท์ไว้ “อานนท์ เวลาเราดับขันธ์นิพพานไปแล้ว ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ”

แล้วเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เรามาบวชกัน ญัตติจตุตถกรรมเข้ามาเป็นสงฆ์ บวชเป็นพระ บวชเป็นพระขึ้นมานี่บวชธรรมสมมุติ เป็นสงฆ์ตามสมมุติ เป็นจริงตามสมมุติ เป็นจริงๆ นี่เป็นพระจริงๆ ตามสมมุติ ทีนี้เราบวชมาแล้วเราจะศึกษาของเรา เราจะปฏิบัติของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา

ถ้ามีสติปัญญาของเรา สติปัญญาทางธรรม เห็นไหม ดูสิ เวลาโลกเขามีการทำทางวิชาการกัน เขาต้องทำทางวิชาการเพื่อให้กรรมการเขาตรวจสอบแล้วให้ผ่านแล้วถึงเป็นศาสตราจารย์ต่างๆ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ เป็นศาสตราจารย์ เป็นรองศาสตราจารย์ นี่เพราะเขาต้องทำวิชาการของเขา

แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา นี่เป็นความจริงในใจของเราที่มันรู้จริงขึ้นมา ความรู้จริงขึ้นมา นี่จริงตามธรรม จริงตามธรรม ถ้าสติ มหาสติ สติอัตโนมัติเป็นอย่างไร ปัญญา ภาวนามยปัญญา นี่ปัญญาอย่างหยาบ ปัญญาอย่างกลาง ปัญญาอย่างละเอียด ปัญญาอย่างละเอียดสุดที่มันเป็นปัญญาขึ้นมามันทำอย่างไร ถ้ามันธรรมความจริง ถ้าเราทำความชอบธรรมมันถึงเข้าสู่หลักความเป็นจริง

ถ้ามันไม่ชอบธรรมล่ะ นี่เรามีความเพียร เรามีความวิริยะ เรามีความอุตสาหะ แต่มันไม่ชอบธรรม ดูสิ เวลาคนเขาเรือแตกกลางทะเล เขาพยายามจะว่ายน้ำเข้าสู่ฝั่ง ถ้าเขาตรงสู่ฝั่ง เขาจะเข้าสู่ฝั่งได้ แต่ถ้าเขาไม่ตรงสู่ฝั่ง เขาจะว่ายวนเวียนอยู่กลางทะเลนั้นแหละ หาฝั่งไม่เจอหรอก นี่ถ้ามันไม่ชอบธรรม ถ้าไม่ชอบธรรม ความเพียรไม่ชอบ ความวิริยอุตสาหะไม่ชอบ

ถ้ามันชอบธรรมของเรา นี่เรามีสติปัญญา เราทำความชอบธรรมของเรา เรามีสติเรายังต้องทำความชอบธรรม ทำความถูกต้อง ถ้าความถูกต้อง เรากำหนดอย่างไร เราดูแลหัวใจของเราอย่างไร หัวใจที่มันพาเกิดพาตาย ที่มันทุกข์มันยากอยู่นี่ ที่เราเห็นภัยในวัฏสงสาร มันจะไปแก้ไขกันที่ไหน ทุกอย่างมันชราคร่ำคร่าไปทั้งนั้นแหละ เรื่องโลกมันเป็นสมมุติบัญญัติ เรื่องโลกมันเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพของมันอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มันเป็นอจินไตย โลกนี้เป็นอจินไตย มันอยู่ของมันอย่างนี้ มันแปรสภาพของมันไป โลกนี้เป็นอจินไตย เห็นไหม แล้วมันเป็นอนิจจังด้วย นี่มันเป็นอนิจจัง

ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าเป็นอนัตตาๆ มันแปรสภาพของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วถ้ามันแปรสภาพของมันไป เราเอาสิ่งใดเป็นที่มั่นใจของเรา เราจะเอาสิ่งใดเป็นที่พึ่งอาศัย มันแปรสภาพของมันอยู่อย่างนั้น แล้วเวลาเวียนเกิดเวียนตายในวัฏสงสาร เราก็เวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสาร เวียนตายเวียนเกิดไปด้วยอำนาจของเวรของกรรม ถ้าอำนาจของเวรของกรรม นี่มันเรื่องโลกๆ มันหมุนไปอย่างนี้ มันหมุนของมันไป

แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าเรายังมีสติปัญญาแบบทางโลกเขา แบบทางวิชาการของเขา แบบตรรกะอย่างที่ค้นคว้าของเขาอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นการเวียนไปทางโลก มันก็ไม่ชอบธรรม ความไม่ชอบธรรม ถ้ามันเป็นความชอบล่ะ เพียรให้ชอบ ถ้าเพียรไม่ชอบมันจะออกสู่กลางทะเล ออกสู่มหาสมุทร มันจะไม่เข้าสู่ฝั่ง

นี่ถ้าเพียรไม่ชอบ เห็นไหม ดูสิ เรามีความวิริยะ ความอุตสาหะ เราบวชเป็นพระขึ้นมาเราก็ว่าเรามีความมั่นคง มีปัญญา มีความเพียร มีความวิริยอุตสาหะ แล้วทำสิ่งใดกัน พอทำแล้วทำไมมันไม่เกิดผลขึ้นมา มันไม่เกิดผลมันก็ไม่ชอบธรรมไง ถ้ามันชอบธรรมนะ ให้ชอบธรรม ถ้ามันชอบธรรมแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรา ดูสิ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ถ้ามิจฉาทิฏฐินะ มีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ

ดูเทวทัต เห็นไหม เทวทัตเขาก็มีความปรารถนาเป็นศาสดา ปรารถนา เวลาขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าจะปกครองสงฆ์ๆ นี่แล้วเขามีความเพียร ทำภาวนาของเขา เขาได้ฌานโลกีย์ เขาเหาะเหินเดินฟ้าได้เหมือนกัน นี่มันเรื่องโลกไง ฌานโลกีย์มันเรื่องโลก ฌานโลกีย์ แต่ถ้ามันเป็นธรรมล่ะ มันเป็นธรรมมันจะสงบระงับเข้ามาสู่ฐีติจิต มันจะสงบระงับเข้ามาสู่ใจของตัวเอง เวลาร้อนมันก็ร้อนจากเราก่อน ถ้าเรามีความรู้สึกนึกคิด ดูสิ เทวทัตไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปกครองสงฆ์มันคิดอะไรขึ้นมาล่ะ? นี่หวังผลขึ้นมาถึงไปขอพร ขอพรเพราะคิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้อยู่แล้ว เวลาไม่ให้ นี่ไปขอ ไปขอสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ไง

นี่ดูความคิดสิ ความคิดมันไม่ชอบธรรม ความคิดมันคิดอย่างนั้นแล้วมันถึงไปทำอย่างนั้น พอทำอย่างนั้นไปแล้ว พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อนุญาต ประกาศกับสงฆ์เลย “ดูสิ เราขอสิ่งที่ดีงามทั้งนั้นแหละ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่อนุญาต” นี่ประกาศท่ามกลางสงฆ์ สงฆ์ที่ไม่มีวุฒิภาวะก็เชื่อเทวทัต ไปกับเทวทัต เห็นไหม หลงตามเทวทัตไป จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสงสาร บอกพระสารีบุตรให้พระสารีบุตรไปเทศน์โปรดเอาพวกที่บวชใหม่ พวกที่ไม่รู้ พวกที่เชื่อเทวทัต ไปตามเทวทัต

นี่เวลาเทวทัตพาหมู่สงฆ์ไปแล้ว เทศนาว่าการ จะวางตนเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความไม่ชอบธรรม เห็นไหม ด้วยความรู้สึกนึกคิด คนจะทำสิ่งใดต้องทำตามความคิดของตัวเองไป แล้วตัวเองนี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำอยู่ มันก็แสดงตนไปอย่างนั้นแหละ เวลาเทวทัตแสดงธรรมๆ เสร็จแล้วจะวางตัวเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศนาว่าการแล้วบอกพระสารีบุตร “สารีบุตร เธอจงเทศนาว่าการต่อไป เราจะพักผ่อน” นอนลงไง

พระสารีบุตร เวลาเทวทัตพักผ่อน พระสารีบุตรเทศน์สัจจะ เทศน์ตามความเป็นจริง จนพระเห็นตามพระสารีบุตรกลับมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตตื่นขึ้นมาเห็นพระหนีตามพระสารีบุตรกลับไป นี่กระอักเลือดเลย

ถ้าเป็นความจริง สิ่งที่ชอบธรรม มันก็ต้องเป็นความชอบธรรมเหมือนกัน

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม เทศนาว่าการพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัญญาโกณฑัญญะต่างๆ มันมีสิ่งใดแตกต่างกัน สัจธรรมมันก็เป็นสัจธรรมอันเดียวกัน เวลาเทวทัตเขามีความรู้ความเห็นของเขา เขามีทิฏฐิมานะของเขา มันเป็นมิจฉาทิฏฐิของเขา

เขาแสดงธรรมกับพระสารีบุตรไปแสดงธรรมทำไมมันแตกต่างกัน ทำไมพระที่เชื่อฟังพระเทวทัตไปด้วยข้อมูลของเทวทัต ด้วยการไปขอพรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าสิ่งที่เขาขอเป็นคุณงามความดี ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลำเอียง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เห็นด้วย นี่เขาถึงแยกหมู่สงฆ์เขาออกไป

เวลาพระสารีบุตรไปเทศนาว่าการ ทำไมเขามีเหตุมีผล จนพระที่เชื่อฟังพระเทวทัต ทำไมมีความคิดเปลี่ยนแปลงไปตามพระสารีบุตรขึ้นมา ทำไมธรรมมันไม่เหมือนกันหรือ สัจจะความจริงมันมีสองได้อย่างไร ทำไมมันไม่เหมือนกันล่ะ มันไม่เหมือนกันก็ต้องแสดงว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้ามันถูกต้องมันก็ต้องเป็นอันเดียวกันสิ

อย่างนั้นเวลาเราจะพิจารณาของเรา เราจะใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม ในกิเลสของเรา กิเลสของเราก็เป็นเทวทัต เทวทัตตั้งใจจะทำลายสงฆ์ ทำลายความเป็นไป ความเป็นปึกแผ่นของสงฆ์

นี่ “ธรรม” ธรรมคือพระสารีบุตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรไปเทศนาว่าการ บอกพระบวชใหม่เป็นผู้ที่น่าสงสาร เป็นผู้ที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ จะฟังสิ่งใดก็เชื่อไปก่อน เชื่อเรื่องโลก เชื่อเรื่องสิ่งที่ตัวเองคาดหมายได้ เชื่อสิ่งที่ตัวเองมองเห็นได้ ก็ตามพระเทวทัตไป นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรไปโปรด ไปเอาคืนมา เวลาพระสารีบุตรไปเทศนาว่าการด้วยสัจจะด้วยความจริง สิ่งที่เชื่อฟังไปๆ เชื่อฟังเพราะวุฒิภาวะตัวเองไม่มีจุดยืน เขาพูดเป็นทางโลก เป็นทางที่เห็นได้ จับต้องได้ก็เชื่อเขาไป แต่ความเป็นจริงมันละเอียดลึกซึ้งกว่านั้น ความเป็นจริงเวลามันภาวนาไปมันจะมีปัญญาที่เกิดขึ้นจะละเอียดขึ้นที่จะชำระกิเลสที่เป็นกิเลสของตนได้

เวลาพระสารีบุตรไปเทศนาว่าการ เห็นไหม สงฆ์หมู่นั้นตามพระสารีบุตรกลับไป เทวทัตตื่นมาเห็นสงฆ์ไปๆ พระที่เป็นสหธรรมิกที่เป็นหมู่คณะกล่าวโทษว่าเทวทัตไม่เชื่อๆ ว่าพระสารีบุตรจะมาเอาคืน เทวทัตก็ไม่เชื่อ พอไป เทวทัตนี่ด้วยความเจ็บแค้น กระอักเลือดเลย นี่พูดถึงเป็นธรรมาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานมันเกิดขึ้นมาจริงในสมัยพุทธกาล แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา บุคลาธิษฐาน เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา เรามีการกระทำของเรา ทำอย่างไรมันถูกต้องดีงามล่ะ ถ้าความถูกต้องดีงาม หัวใจของเรามันต้องมั่นคงขึ้นมา

แต่ถ้าทำความไม่ถูกต้องดีงามมันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉา แม้แต่ทำความเพียรๆ ด้วยความอ่อนด้อยของสติปัญญาของเรา เราว่าเราภาวนาของเรา เราตั้งใจทำของเรา เห็นพระเดินจงกรมเราก็เดินจงกรมเหมือนเขา เห็นพระนั่งสมาธิเราก็ว่าเรานั่งสมาธิเหมือนกัน แต่นั่งสมาธิขึ้นมาด้วยความตั้งอารมณ์ไว้ผิด ด้วยความเห็นผิด ด้วยความคิดของตัวเอง มันเป็นเรื่องโลกเพราะจิตใจของเรามันยังเป็นโลกอยู่

ฉะนั้น มันต้องมีสติปัญญาที่เข้มแข็ง สติที่เข้มแข็งมันจะพยายามกำหนดพุทโธ พุทโธ มันจะฟอก มันจะให้จิตเกาะพุทโธไว้ ถ้าเกาะพุทโธไว้ แม้แต่เราไม่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็เอาชื่อของท่าน เอาเกียรติคุณของท่าน เอาเมตตาคุณของท่านเป็นที่พึ่งที่อาศัย พุทโธ พุทโธ พุทโธโน้มนำจิตของเราให้ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธของเราไปให้มันเป็นความชอบธรรม ให้มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ให้มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ถ้ามันเกิดขึ้นตามความเป็นจริงมันจะเห็นโทษของเราเองนะ ถ้าจิตเราสงบขึ้นมามันจะสังเวชไง สังเวชว่าเรามีความเข้าใจ เรามีความเห็นว่าเราทำมาถูกต้องดีงามทั้งหมด เราทำสิ่งใดแล้วมันเป็นประโยชน์กับเราทั้งสิ้น เราทำสิ่งใดมันก็เป็นคุณงามความดีของเรา มันเป็นคุณงามความดีของกิเลส ของกิเลส เห็นไหม เพราะกิเลสมันชอบใจสิ่งใด มันทำสิ่งใดสมความปรารถนามัน มันก็จองหองพองขน มันก็มีความอหังการในหัวใจของเรา ทั้งๆ ที่มันอยู่กับเรา มันเกิดกับเรานี่ แต่เวลามันมีความอหังการของมัน มันจองหองพองขนของมัน มันกลับมาครอบงำใจของเรา เราเชื่อไหลตามมันไป เห็นไหม

ถ้าเราเชื่อไหลตามมันไป สิ่งนี้มันเป็นอะไร? มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นผิด มันไม่ใช่ความเพียรชอบ มันเป็นความเพียรไม่ชอบ ถ้าความเพียรให้ชอบ ให้ชอบนี่ต้องตั้งสติไว้ มันจะเกิดสิ่งใดกับเราขึ้นมาก็แล้วแต่ เวลาปฏิบัติขึ้นไปนะ เวลาคนปฏิบัติขึ้นไปมันจะสะดวกง่ายดายก็มี แม้แต่คนคนเดียวกันเวลาปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานก็มี เวลาปฏิบัติแล้วมันราบรื่นก็มี นี่แม้แต่คนคนเดียวนะ แล้วถ้าคนมันแตกต่างมันหลากหลายล่ะ

ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะทุกข์ร้อนอย่างไร มันจะทุกข์ทนเข็ญใจขนาดไหนในใจของเรา ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราสร้างสมบุญญาธิการมาดี เราทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ เราทำสิ่งใดมีแต่ความดีงาม ทำแต่ความดีงามมันจะมีแต่ความปลื้มใจ สิ่งนั้นมันก็เป็นที่อำนาจวาสนาของคน ฉะนั้น เราทำสิ่งใดขึ้นมา เราปฏิบัติของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา เราต้องมีกำลังใจของเรา สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วแต่อำนาจวาสนา เราทำขึ้นมา หน้าที่ของเราทำให้มันถูกต้องดีงาม

ถ้ามันทำให้ชอบ ถ้าให้ชอบ เรากำหนดพุทโธไว้ มีปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญา เห็นไหม ปัญญาเป็นปัญญา ปัญญาคือธรรม ปัญญาเป็นธรรมที่มีสติ ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้น ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราตรึกในธรรมๆ มันเป็นปัญญา แล้วจิตใจเรามีแต่ความเร่าร้อน จิตใจเรามีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก จิตใจเรามีแต่ความทุกข์ยาก

เราใช้ปัญญา ปัญญาตรึกในธรรมๆ มีปัญญาที่ฝึกหัดดัดแปลง มันพิจารณาเหมือนตาข่าย เข้ามาพิจารณาในใจของเรา นี่พิจารณา ทำไมมันร้อนอย่างนั้น ทำไมมันทุกข์อย่างนั้น ทำไมเป็นสิ่งที่มันล้มลุกคลุกคลานในหัวใจของเรา ทำไมคนอื่นเขาปฏิบัติแล้วเขามีแต่ความชอบธรรมของเขา เขาปฏิบัติแล้วเขามีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา ทำไมจิตใจของเรามันเร่าร้อนขนาดนี้ เร่าร้อนเพราะเหตุใด เร่าร้อนเพราะมันสุมด้วยไฟไง มันสุมด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง มันไม่เป็นธรรมๆ เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในใจของเรามันเร่าร้อน จิตใจของเรามีแต่กองไฟ นี่อบรมๆ บ่มเพาะให้มันสงบระงับ ถ้าอบรมบ่มเพาะ มันสงบระงับ นี่ปัญญาอบรมสมาธิๆ

นี่ว่าปัญญามันเกิดจากกิเลส แล้วมันจะอบรมสมาธิมาจากไหนล่ะ แล้วอะไรมันจะเป็นสมาธิล่ะ...ถ้ามันไม่ชอบธรรม เห็นไหม ดูสิ เราคิดถึงแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ เราคิดถึงแต่ความทุกข์ยาก เราคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีไม่งามสิ่งใดเลย มันก็ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ยิ่งยาก ยิ่งคิดยิ่งไหลไปกับกิเลส

แต่ถ้าปัญญาที่เป็นธรรมล่ะ “เขาก็คน เราก็คน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำทุกขกิริยาอยู่ ๖ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสลบไปถึง ๓ หน เราเคยสลบสักหนหนึ่งไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารมาจนขนร่วง ขนพอง ขนนี่ร่วงออกไปจากรูขุมขน เราเคยทำอะไรบ้างล่ะ เราเคยแต่นอนสุขสบาย เรานอนตีแปลง”...นี่ถ้ามีปัญญาขึ้นมามันไม่น้อยเนื้อต่ำใจไง เห็นไหม ปัญญาที่เป็นธรรมมันอบรมความน้อยเนื้อต่ำใจ อบรมกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อบรมสิ่งที่เห็นแก่ตัว

นี่เห็นแก่ตัวด้วยปัญญามันคัดแยก มันคัดแยกว่าถูกหรือผิดๆ นี่มันเห็นโทษของมัน พอเห็นโทษของมัน “อืม! เราก็เป็นคนมีอำนาจวาสนาคนหนึ่ง เรายังดำรงชีวิตนี้อยู่ได้ เรายังมีสติปัญญาอยู่” เห็นไหม นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันชอบธรรม ทำให้ถูกต้องชอบธรรมนะ มันจะมีความสงบระงับแน่นอน แต่ทำให้ไม่ถูกต้องชอบธรรม มันไปส่งเสริมกิเลสไง นี่ส่งเสริมกิเลสนะ ให้กิเลสมันจองหองพองขนในหัวใจ แล้วมันก็ครอบงำใจของเรา แล้วก็ทุกข์ร้อนกันไป แล้วก็บ่นนะ ทั้งบ่นพร่ำเพ้อไปนะ “บวชก็บวชเป็นพระแล้ว ประพฤติปฏิบัติก็ประพฤติปฏิบัติแล้ว ทำสิ่งใดก็ทำครบทุกอย่างแล้ว ทำไมมันไม่เป็นจริงขึ้นมา”...มันไม่เป็นหรอก

เพราะความจริงมันเกิดจากความเพียรชอบ ความจริงมันเกิดจากคำบริกรรม ความจริงมันเกิดจากสติปัญญาที่มันมีกำลังยับยั้ง ความจริงไม่ได้เกิดจากการด้นเดาเอาคาดหมายเอา จินตนาการเอา ทำให้เหมือนแล้วพยายามทำให้มันเป็นตามที่เราปรารถนาเอา นี่มันเป็นตัณหาซ้อนตัณหานะ

ตัณหา หมายความว่า ตัณหาคือสมุทัย สมุทัยคืออวิชชา อวิชชามันเกิดขึ้น มันมีกับหัวใจของเราอยู่แล้ว ฉะนั้น เราไปศึกษา เราไปดูงาน เห็นไหม นี่เขาไปดูงานต่างประเทศกันมา กลับมาเก็บไว้ในลิ้นชัก แล้วปีหน้าก็จะไปดูงานซ้ำดูงานซาก ดูงานเพราะอะไร เพราะจะได้ไปเที่ยวพักผ่อนของเขา นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปรอบหนึ่ง ปฏิบัติจบแล้วทำไมเราไม่ได้อย่างเขา ทำไมเราไม่ได้อย่างเขา ทำไมครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติของท่านได้

นี่เหมือนกับคนเขาไปดูงาน ไปดูงานมาเขาบอกแล้วว่าอะไรถูกอะไรผิด

กลับมาถามว่า “ดูงานแล้วทำไมไม่ทำล่ะ”

“ทำได้อย่างไรล่ะ ทำขึ้นไปเดี๋ยวเจ้านายท่านก็เล่นเอา”

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมาก็กลัวไปหมด กลัวทุกข์ กลัวร้อน กลัวทุกข์ กลัวยาก ปฏิบัติก็ครึ่งๆ กลางๆ ปฏิบัติก็ไม่เต็มร้อย แล้วก็บอกว่าปฏิบัติให้มันเป็นไปได้ เหมือนเขาไปดูงานต่างประเทศ ไปดูงาน ไปผลาญงบประมาณ แต่ไม่มีสิ่งใดมาเป็นชิ้นเป็นอัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติ มันก็เป็นตรรกะ มันก็เป็นจินตนาการของมันไป มันไม่เป็นธรรมไง “เพียรให้ชอบ” เพียรไม่ชอบนะ แล้วกิเลสมันก็ฉวยสิ่งนี้ไปเป็นประโยชน์ฟันหน้าเราเอง “ปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาก็ทำมาทุกอย่าง”

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านนั่งตลอดรุ่งๆ โดยสติ โดยปัญญา โดยสติ โดยปัญญาคือมันรู้ตัวทั่วพร้อม ทุกกิริยาเคลื่อนไหว ในทุกวินาทีในหนึ่งชั่วโมง สติปัญญามันพร้อม ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง เวทนามันจะโหมเข้ามา แล้วถ้า ๖ ชั่วโมง ๗ ชั่วโมงขึ้นไปเวทนามันจะทุกข์ มันจะยากของมัน แต่ถ้าคนนั่งหลับ คนนั่งสัปหงกโงกง่วง นั่งได้ตลอดรุ่งเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีกำลังอะไรเข้ามาในใจแม้แต่นิดเดียว

นั่งตลอดรุ่งนะ เขานั่งตลอดรุ่ง นั่งจนสว่าง อู๋ย! มีปัญญา มีความอาจหาญ มีความรื่นเริง เราก็ตลอดรุ่งเหมือนกัน แต่มันโงกง่วง พอตลอดรุ่งแล้วมันก็มีแต่ง่วงเหงาหาวนอน ตลอดรุ่งแล้วก็มีแต่ความทุกข์ความยาก นั่งตลอดรุ่งเหมือนกัน แต่ผลไม่เหมือนกัน เพราะทำให้ชอบ ความเพียรชอบตลอดรุ่งขึ้นมามันได้เผชิญ เห็นไหม มีสติก็เป็นสติ ถ้ามีสติมากขึ้น มันเป็นมหาสติ ถ้ามีสมาธิมากขึ้น มีปัญญามากขึ้นเป็นมหาปัญญา มหาสติ มหาปัญญามันมีกำลังของมัน มันแยกแยะ แยกแยะสิ่งที่โหมเข้ามาสู่หัวใจ

สิ่งที่โหมเข้ามาสู่หัวใจมันก็ใช้ปัญญาแยกแยะ ใช้มรรคญาณพิสูจน์ตรวจสอบใจของตัว ใจของตัวมันก็ยิ่งรื่นเริง ยิ่งอาจหาญ ยิ่งมีความสว่างไสวขนาดไหน ยิ่งใช้ตบะธรรมแผดเผาเข้าไป มันยิ่งแวววาว ยิ่งมีความงดงาม นี่ถ้ามันใช้ปัญญาความชอบธรรม ถูกต้องชอบธรรม เพียรชอบ เพียรชอบมันเผชิญหน้า เหมือนเราเผชิญไฟ เผชิญน้ำท่วม เผชิญวิกฤติต่างๆ เห็นไหม เราเผชิญหน้าแล้วเราแก้ไขซึ่งๆ หน้า เหตุการณ์สงบไปต่อหน้า เหตุการณ์ระงับไป เห็นทุกอย่างสงบระงับไปซึ่งๆ หน้า นี่เผชิญกับกิเลส เผชิญกับทุกอย่างแล้ว มันเห็นตามความเป็นจริงขึ้นมา จิตใจมันละสังโยชน์ต่างๆ ออกไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันมีความจริงจัง มีความอาจหาญในหัวใจของผู้ที่ปฏิบัติด้วยความเพียรชอบ

ถ้าความเพียรไม่ชอบ นั่งตลอดรุ่งเหมือนกัน สัปหงกโงกง่วงเหมือนกัน พอพ้นจากลุกขึ้นมาแล้ว ไม่มีอะไรขึ้นมาในหัวใจเลย มีแต่ความง่วงเหงาหาวนอน มีแต่ความลังเลสงสัย นี่ถ้าเพียรไม่ชอบมันเป็นแบบนั้น ถ้าเพียรชอบล่ะ เพียรชอบมันก็อำนามีจวาสนาบารมี มันมีตบะธรรม ตบะธรรมที่ได้สร้างสมขึ้นมาแล้ว มีกำลังขึ้นมาแล้ว ทำสิ่งใดทำด้วยสติทำด้วยปัญญา ไม่ใช่ทำจากการด้นเดาคาดหมาย แต่ตัวเองก็ให้ชื่อมันว่านี่เป็นสติ นี่เป็นปัญญา

เราให้ชื่อ จิตนี้มันให้ชื่อมันเอง มันคาดมันหมายมันเอง มันจินตนาการมันเองว่าเราก็ได้ทำเหมือนกันๆ...ทำเหมือนกันทำไมผลมันไม่เหมือนกันล่ะ นี่เรียกร้อง “ทำเหมือนกันผลต้องเหมือนกันสิ ทำเหมือนกัน”

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ เวลาพระบวชใหม่ ถ้ามีสติมีปัญญา เห็นไหม ๕ พรรษาขึ้น นี่พ้นจากนิสัย แต่ถ้าผู้ที่บวชแล้วขาดสติขาดปัญญา ให้ ๑๐๐ พรรษาด้วย ไม่พ้นนิสัย ไม่พ้นนิสัยเพราะไม่มีสติปัญญาสามารถเอาตัวรอดได้ เอาตัวรอดได้คือรู้จักธรรม รู้จักวินัย รู้จักถูก รู้จักผิด มันจะดำรงชีวิตนี้ในสมณเพศด้วยความดีงาม แต่ถ้าเราไม่รู้จักถูกไม่รู้จักผิด เห็นไหม นี่จะ ๑๐๐ พรรษามันก็ ๑๐๐ พรรษาแต่ตัวเลข แต่สติปัญญามันไม่มีจะเอานิสัยไปพ้นล่ะ มันก็ไม่พ้นนิสัย มันก็ต้องหวังพึ่งครูบาอาจารย์ตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมา มันมีสติมีปัญญาขึ้นมาตามความเป็นจริง เห็นไหม ถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมาตามความเป็นจริง มันพัฒนาของมันขึ้นมา นี่มันพ้นนิสัยได้เป็นผู้ฉลาดไง เป็นผู้ที่ฉลาด เป็นผู้ที่มีสติปัญญา เป็นผู้ที่จะเอาตัวรอดได้ ถ้าเอาตัวรอดได้ เอาตัวรอดเพราะอะไรล่ะ เพราะมันเกิดปัญญา ถ้าเกิดปัญญา คนที่มีปัญญาเขาจะไปโอ้อวดใครล่ะ

ปัญญา นี่มีดอยู่ในฝัก คมมีดมันอยู่ในฝักนะ ชักออกจากฝักมันเป็นประโยชน์ทั้งหมดแหละ ถ้ามีดมันไม่มีฝัก มันบาดตัวเอง บาดมือตัวเอง บาดเท้าตัวเอง บาดตัวเองไปหมดเลย มันไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย ปัญญาที่มันไม่ชอบธรรมไม่มีประโยชน์กับใคร มันมีแต่ทำลาย ทำลายแม้แต่ตัวเรา สิ่งที่เกิดจากเราว่าเป็นปัญญาๆ มันทำลายเราด้วยซ้ำ แต่ถ้ามันเป็นปัญญาขึ้นมา ปัญญาขึ้นมา เห็นไหม มีดคมในฝัก นี่ชักออกมาจากฝักเมื่อไหร่มันก็ได้ประโยชน์เมื่อนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา เขามีความจำเป็น เขาถึงใช้ของเขา ถ้าไม่มีความจำเป็น ใครเขาจะเอาออกมาใช้เพื่ออวดใคร จะไปบาดทำร้ายใคร เอาไปเที่ยวบาดคนอื่น เอาไปเที่ยวทำร้ายคนอื่น อันนั้นมันเป็นปัญญาที่ไหนล่ะ เห็นไหม มันเป็นคมกิเลสไง กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันอยากอวด อยากอวด อยากโอ้ อยากใหญ่ อยากโต อยากจะให้เขายอมรับนับถือ มันไม่เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย

แต่ถ้าเป็นปัญญานะ เวลาจิตสงบเข้าไปแล้วมันเกิดจิตที่สงบระงับ จิตเห็นอาการของจิต จิตแม้แต่ตัวเองก็ไม่รู้จัก จิตไม่เคยสงบระงับเข้ามา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ”

เป็นศาสดา เป็นผู้ชี้บอกกล่าว ไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา เราไปศึกษามา เราไปจดจำมา จดจำมาเป็นสัญญา เดี๋ยวก็จำได้ เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็พูดดี เดี๋ยวก็พูดร้าย เอามาศึกษา ตัวเองก็ยังจับหลักตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปสอนให้คนอื่น ครั้งแรกก็ไปสอนเขา ไปบอกเขา พอเขาถามซ้ำขึ้นมาตอบเขาไม่ถูก ตอบเขาก็ไม่ได้ บอกเขาก็ไม่ถูก นี่มันเป็นอะไร? มันเป็นสัญญาทั้งนั้น มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร

แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม เราทำความสงบของใจเราเข้ามา เวลามันเกิดสัจจะความจริงขึ้นมา จิตเห็นอาการของจิต จิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้ามันเห็นตามความเป็นจริง นี่เห็นโดยชอบธรรม ถ้ามันชอบธรรมมันก็เป็นอริยมรรค

แต่ถ้ามันไม่ชอบธรรม เห็นไหม ดูสิ เป็นอริยมรรคนะ สัจธรรม มรรคญาณ มรรคญาณที่จะเข้าไปชำระล้างความเห็นผิดในใจของตัว ถ้ามันเกิดขึ้นเป็นความชอบธรรมของเราขึ้นมา มันแยกแยะขึ้นไป ปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ? เกิดขึ้นมาจากจิต พอเกิดขึ้นมาจากจิต ความเป็นจริงที่มันเป็นปัญญาแยกแยะออกมา เวลามันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วเวลาสัจธรรมอย่างนี้ นี่คมในฝักๆ เพราะมันเป็นความจริงในหัวใจ ถ้าความจริงในหัวใจ อธิบายขนาดไหน คนไม่รู้จริงจะรู้ไปไม่ได้

แล้วการอธิบาย เห็นไหม ดูสิ ดูพระอริยเจ้าแต่ละองค์ บางองค์ที่สร้างอำนาจวาสนาบารมีมา ท่านเอาสัจธรรม ท่านเอาประสบการณ์ เอาความเป็นจริง เอาสังโยชน์ที่ขาดจากใจของท่านออกมา อธิบายให้ลูกศิษย์ลูกหา อธิบายให้ชาวพุทธ สิ่งที่เขาต้องการที่พึ่งที่อาศัย ต้องการสัจจะ ต้องการแผนที่ที่ความเป็นจริง แผนที่ความเป็นจริงนะ นี่อธิบายมาให้ผู้นั้นพอเข้าใจได้แล้วเอามาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติ

ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะเวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ชาวพุทธๆ นี่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่เป็นพระไตรปิฎก เป็นกิริยา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงไว้ ทุกคนก็ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง สิ่งนั้นเป็นความจริง...มันเป็นความจริงจริงๆ แต่ใจเรามันไม่จริง ใจเราไม่จริงมันก็เอาสิ่งนั้นมา

ดูสิ ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญานี่ตรึกในธรรมๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง แต่ใจของเรามันไม่จริง พอใจของเราไม่จริง เราตรึกขึ้นมาขนาดไหน ยิ่งตรึกก็ยิ่งงง ยิ่งตรึกก็ยิ่งมีความต่อต้าน ยิ่งตรึกก็มีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความเร่าร้อนเราถึงต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม นี่พยายามตัดทอนมัน

อดนอนผ่อนอาหารคือพยายามตัดทอนอำนาจของกิเลส อำนาจของกิเลสที่มันมีกำลังของมัน ที่มันจะไปตามอำนาจของมัน เราตัดทอนมัน ตัดทอนมันนี่เราต้องอดนอนผ่อนอาหาร เราก็มีผลในการหิวโหย ในการง่วงเหงาหาวนอนไปกับมัน แต่กิเลสมันก็ต้องบั่นทอนไปด้วย พอบั่นทอนไปด้วย แล้วมีสติปัญญา มีความเข้มแข็งของเรา เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา นี่ถ้ามันปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมา ถ้ามันเป็นธรรม เป็นธรรมมันก็ไม่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากสิ

นี่เพราะว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันก็อาศัยความรู้สึกนึกคิดของเรานี่ออกไปหาเหยื่อเหมือนกัน เวลาเรามีสติปัญญา เราตัดทอนกำลังของมัน ตัดทอนกำลังของมัน ถ้าตัดทอนกำลังของมัน ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม นี่กิเลสกับธรรมในหัวใจมันจะแข่งขันกัน ถ้ากิเลสกับธรรมในหัวใจมันแข่งขันกัน ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา มันมีกำลังขึ้นมา กิเลสมันต้องยุบยอบลง ถ้ามันยุบยอบลงมันก็สงบลงได้ ถ้ามันสงบลงได้มันก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม จิตมันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมัน

ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์ของมัน จิตมีสติปัญญา จิตที่มันมีกำลังของมัน เห็นไหม นี่มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต จิตมันไม่มีตัวตน ไม่มีสัมมาสมาธิ จิตไม่มีตัวตน แล้วจะเอาอะไรไปปฏิบัติล่ะ? มันก็เป็นสัญญาทั้งหมด นี่มันไม่ชอบธรรม นี่เพียรไม่ชอบมันก็ไหลออกไป พอไหลออกไปยิ่งทำเท่าไรมันก็ยิ่งห่างไกลออกไปๆ แต่ถ้ามันเพียรชอบ มันยึดหลักได้

นี่ฐีติจิต ความรู้สึกนึกคิดของใคร ภวาสวะ ภพของใคร ปฏิสนธิจิตของใคร เริ่มต้นที่มันเป็นภวาสวะ ที่มันออกเวียนตายเวียนเกิดนี่อยู่ที่ไหน ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันก็สงบเข้ามาสู่ฐีติจิต เข้ามาสู่ภวาสวะ เข้ามาสู่ภพของจิตนี้ แล้วถ้าจิตมันสงบระงับของมัน เป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันออกรู้ เห็นไหม ออกรู้ตามความเป็นจริง จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต เห็นอะไร? เห็นในกาย เห็นในเวทนา เห็นในจิต เห็นในธรรม เห็นไหม “สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔” ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เพราะมีสติมีปัญญา เพราะมีสติปัญญา มีผู้รับรู้ มีผู้วิปัสสนา มีผู้เป็นเจ้าของ มีตัวมีตนของตัว นั้นจะเป็นความจริง

แต่ถ้ามันไม่ชอบธรรม มันไม่ชอบน่ะ มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นสัญญาอารมณ์ทั้งหมด มันเป็นความรู้ความเห็น มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีขันธ์ ๕ มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ มันมีการสื่อสารกัน ความสื่อสารอันนี้ อันนี้มันสื่อสารในธรรม ถ้าอันนี้สื่อสารในธรรม ใครมันสื่อสารได้ นี่ไงเพียรไม่ชอบ เพียรไม่ชอบ เห็นไหม

นี่ปริยัติการศึกษามาแล้ว ปริยัติต้องปฏิบัติ ถ้าการปฏิบัติมันเป็นการกลั่นกรอง เป็นการประพฤติปฏิบัติเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมามันจะเป็นสมบัติของเรานะ นี่เพียรให้ชอบ เพียรให้ชอบ ถ้าเพียรให้ชอบมันจะเป็นความชอบธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกต้อง เป็นความเห็นดีงาม ถ้าเพียรไม่ชอบ มันมีแต่ความเร่าร้อน เร่าร้อนนี่มีแต่ความทุกข์ความยากนะ

ฉะนั้น เราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว เราเอามาไตร่ตรองในตัวของเรา เราบวชเราเรียนกันมาหลายพรรษา เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม คนเขาทำงานกัน เวลาเขาไปสมัครงานเขาจะบอกว่าผ่านงานมากี่ปี การผ่านงานของเขามาเขาจะมีประสบการณ์ของเขา นี่ผู้ที่บวชใหม่คือผู้ที่ฝึกหัดใหม่ ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานเลย ถ้าเขารับเข้าทำงานเขาก็ทดลองงานก่อน แต่ถ้ามีประสบการณ์ ๕ ปี ๑๐ ปี ที่ไหนเขารับงาน เขาจะรับผู้นั้นเขาทำงาน เราก็บวชกันมาหลายพรรษา เราก็ต้องทดสอบดูแลใจของเรา

ถ้าดูแลใจของเรานะ เราทำของเรา เห็นไหม นี่ความเพียรชอบธรรม ถ้าความเพียรชอบธรรมจะมีหลักมีเกณฑ์ของเรา ถ้ามันไม่ชอบธรรมมันก็ไหลไปตามโลกนะ ดูสิ โลกเขาเร่าร้อนขนาดไหน แต่สมัยโบราณคนมันมีเท่าไร ในสมัยปัจจุบันนี้ ๗,๐๐๐ กว่าล้าน แล้วปัจจัยเครื่องอาศัยต้องมีอยู่ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น ที่โลกร้อนๆ อยู่เพราะเราเอาผลประโยชน์จากโลก เราเอาสิ่งที่เป็นทรัพยากรเพื่ออาหารการกินของเรา เพื่อที่อยู่ที่อาศัยของเรา เห็นไหม นี่โลกมันจะร้อนมากไปกว่านี้

ถ้าโลกมันร้อน แต่ขอให้ใจร่มเย็น ถ้าใจร่มเย็นนะ อย่าให้ใจร้อนไปกับเขา ถ้าใจร้อนไปกับเขานะ เห็นไหม มันจะร้อนไป ๒ ชั้น ๓ ชั้น ถ้าใจไม่ร้อนไปกับเขา ทำไมถึงไม่ร้อนล่ะ? ไม่ร้อนเพราะเราเข้าใจโลกไง ในเมื่อมัน ๗,๐๐๐ กว่าล้านก็คือ ๗,๐๐๐ กว่าล้าน ถ้า ๗,๐๐๐ กว่าล้าน คนที่เขาใจเป็นธรรมเขามีการถนอมรักษา เขาทำเพื่อประโยชน์กับสังคม แต่คนที่เห็นแก่ตัวเขาก็ต้องว่าเขามีความจำเป็น เพราะมัน ๗,๐๐๐ กว่าล้าน

๗,๐๐๐ กว่าล้าน ถ้าคนเขาเป็นความชอบธรรมเขาก็ให้เจือจานกัน ให้ดูแลกัน ให้ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า แต่คนที่เห็นแก่ตัว ก็ ๗,๐๐๐ กว่าล้านแล้วเขาก็หยิบฉวยฉกฉวยเอา นี้เป็นเรื่องโลก แล้วเขาเร่าร้อนนัก แล้วเราปฏิบัติ ในปัจจุบันนี้ถ้าโลกเป็นใหญ่ๆ ปฏิบัติไปแบบโลก เห็นไหม ไม่ชอบธรรม ถ้าปฏิบัติแบบธรรมล่ะ แบบธรรมเราก็อาศัยโลกนี้อยู่ เราก็บิณฑบาตจากเขา บิณฑบาตมาเพื่อดำรงชีวิต เพื่อประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อให้ใจร่มเย็น ให้ใจมันมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าใจมีหลักมีเกณฑ์เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาให้ชอบธรรมๆ

โลกเป็นแบบนี้ อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก ถ้าอยู่กับโลก ติดโลก เราจะต้องไปช่วยเหลือโลก แบกหามกับโลกไป มันจะทุกข์จะยากขนาดไหน นี้เราเป็นดวงตาของโลก ด้วยปัญญา บอกด้วยปัญญา ด้วยความเมตตา ด้วยความเป็นธรรม เขาจะเชื่อไม่เชื่อมันเรื่องของเขา เราจะพูดแล้วให้คนเชื่อฟังเราทั้งหมดในโลกนี้ไม่มี

โลก เห็นไหม จิตใจ ดูสิ จิตใจนี้ร้ายกาจนัก เดี๋ยวดีก็ได้ ร้ายก็ได้ โลกเขายิ่งกว่านี้นัก เขาเห็นพระ “พระจะมีความรู้อะไร อยู่แต่ในวัดในวาจะเอาปัญญามาจากไหน” เขาเห็นแต่ว่าพระนี่เป็นที่แสวงหาผลประโยชน์กับเขา แต่ถ้าคนที่เป็นธรรมๆ นะ พระถ้ามีศีลมีธรรม เขาชื่นชมของเขา ถ้ามีศีลมีธรรม ธรรมในใจเพื่อเป็นประโยชน์กับเขา ประโยชน์ที่ไหนล่ะ

น้ำอมตธรรมมันให้หัวใจนี้เป็นที่พึ่งอาศัยได้ มันให้หัวใจนี้ร่มเย็นได้ โลกร้อนนัก เขาหาที่หลบภัย เขาหาที่ร่มเย็นของเขา แล้วใจของเรามันเย็นจริงหรือเปล่า ถ้ามันเย็นจริง เป็นประโยชน์จริง มันจะเป็นประโยชน์กับทั้งโลกด้วย เป็นประโยชน์กับทั้งเราด้วย จะเป็นประโยชน์กับโลกด้วย ต้องเป็นประโยชน์กับเราก่อน ด้วยความชอบธรรม เพียรให้ชอบแล้วจะประสบความสำเร็จ เพียรให้ชอบ เอวัง