ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ขยะของเรา

๒ มี.ค. ๒๕๕๖

 

ขยะของเรา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๒๗๘. กราบนมัสการครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ เพื่อนผมฝากผมมาถามหลวงพ่อดังนี้ครับ การปล่อยขยะออกจากใจ กับการปล่อยวางเหมือนกันไหมครับ? กราบขอบพระคุณ

การปล่อยขยะออกจากใจ กับการปล่อยวางเหมือนกันไหมครับ

ตอบ : นี่สิ่งนี้มันเป็นการจินตนาการไง ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์นะ เวลาเราศึกษาธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือศึกษาธรรมของใครก็แล้วแต่ แล้วเรามาปฏิบัติเราก็ต้องเริ่มปฏิบัติค้นคว้าของเรากันเอง แต่นี้เพียงแต่ว่าเวลาหลวงตาท่านเทศน์ของท่านไง ว่านี่ขันธ์ ๕ เหมือนถังขยะ ร่างกายนี้เหมือนถังขยะ สิ่งที่เป็นถังขยะเป็นของที่ไม่มีใครปรารถนา นี้คำว่าถังขยะเราก็มีความเข้าใจได้ว่าถ้าขยะทุกคนก็ทำความสะอาด เวลาเรากวาดบ้าน เราทำความสะอาด เราทิ้งขยะ ขยะเราก็เอาออกไปทิ้ง ขยะเป็นขยะเห็นไหม

นี่มันเป็นการอุปมาอุปมัยของครูบาอาจารย์ไง ถ้าครูบาอาจารย์บอกว่าขันธ์ ๕ ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ความรู้สึกนึกคิดของเรา สิ่งที่มันไปกว้านเอาความร้อนต่างๆ มาเผาใจมันเป็นขยะ ถ้าเป็นขยะนะ เป็นขยะคนเขาต้องมีปัญญามันจะรู้ว่าอะไรเป็นขยะ อะไรไม่เป็นขยะ ทีนี้พอเป็นขยะปั๊บเราก็เข้าใจ เข้าใจเราก็จินตนาการเอาว่าถ้าการปล่อยขยะออกจากใจ กับการปล่อยวางเหมือนกันไหมครับ

มันจะเหมือนกันได้อย่างไร? มันไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันเพราะว่าคนที่จะรู้จักขยะ มันถึงจะเป็นการปล่อยวางได้ ถ้าคนไม่รู้จักขยะมันปล่อยวางไม่ได้หรอก เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นขยะ อะไรไม่เป็นขยะ เราจะเอาอะไรไปปล่อยวางล่ะ? ทีนี้การปล่อยวาง การปล่อยวางมันเป็นจินตนาการ มันเป็นจินตนาการเหมือนกับว่าเราศึกษามาเราเข้าใจของเราได้ แล้วเราก็คิดว่ามันเป็นแบบนั้น พอมันเป็นแบบนั้น การปฏิบัติไปอันนี้เป็นหัวข้อ เป็นโจทย์ พอเป็นโจทย์ปั๊บเราตีโจทย์ให้แตกไหม? ถ้าเราตีโจทย์นั้นแตกเราจะเข้าใจกระบวนการของมันได้หมด แต่ถ้าเราตีโจทย์ไม่แตก แต่เรารู้โจทย์นั้นมา

ในการสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในธรรมวินัยก็เหมือนกันอย่างนี้ นี้เราไปศึกษา ที่ว่าศึกษามาแล้วงง ศึกษาแล้วงง เราศึกษามา แต่ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นไหม? วุฒิภาวะของคนไม่เหมือนกัน อย่างเช่นคำว่าศีล ศีลในศาสนาพุทธ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แล้วศีลของลัทธิศาสนาอื่นล่ะ? นี่เขามีศีลเหมือนกัน เขาถือศีลของเขาเหมือนกัน เวลาเขามีฤดูกาลของเขา ศีลต่างๆ อะไรของเขา แล้วเราทำอย่างนั้นไหม? เราก็ไม่ได้ทำแบบนั้น

ศีลเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เพราะว่าเวลาหลวงตาท่านพูด ศาสดาที่สิ้นกิเลสคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว แต่ศาสดาของเขาเขาสิ้นกิเลส แต่เขาเป็นศาสดาเขาก็เชื่อของเขา นี่เขาเชื่อของเขามันก็ทำของเขา คำว่าศีลคำเดียวยังไม่เหมือนกันเลย ทีนี้พอเราปฏิบัติไปแล้วเป็นธรรม ธรรมะละเอียดลึกซึ้งกว่าเยอะมาก

ฉะนั้น คำว่าขยะๆ ถ้าเป็นขยะเราก็เห็นได้ว่าขยะเป็นของที่น่ารังเกียจ ขยะเป็นของเสีย ต่างๆ นี้คือขยะ เราก็จะทิ้งของเราได้ แต่ถ้าเป็นกิเลส กิเลสเปรียบเทียบว่าขยะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าถังขยะ สิ่งนี้เราอยู่ในถังขยะ นี่ธรรมธาตุสิ่งที่เป็นธรรมแท้ๆ อยู่ในถังขยะ มันก็อยู่ในขันธ์ ๕ นี่แหละ อยู่ในร่างกาย นี่มันอยู่กับถังขยะ ของมันแค่ถังขยะ แล้วถ้าขยะมันก็ทิ้งได้ นี่พูดถึงภาษาโลก แต่ถ้าภาษาธรรมนะเรากับขยะเป็นอันเดียวกัน ความคิดก็เป็นเรา สรรพสิ่งก็เป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา เราจะเอาอะไรไปทิ้ง? เราจะทิ้งได้อย่างไรล่ะ? ขยะเป็นเรา

นี่ก็เหมือนกัน ว่าการปล่อยวางๆ ปล่อยวางในเรื่องอะไร? เราเข้าใจผิดเราก็ปล่อยวาง พอเราเข้าใจผิด มีใครอธิบายให้เราเข้าใจได้เราก็เข้าใจได้ เราก็ปล่อยวางความเข้าใจผิดนั้น นี่ก็เหมือนกัน จิตมันติดในเรื่องอะไร? แค่ไม่ติดเรื่องอะไร พอเราเข้าใจ นี่มันเรื่องโลกๆ นะ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องโลก เรื่องความเข้าใจผิด เรื่องความเห็นผิด ถ้าเรื่องเข้าใจผิดเรื่องเห็นผิด เรามาศึกษาทางวิชาการทางโลกก็เรื่องหนึ่ง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่สมมุติบัญญัติ สมมุติ สมมุติว่าอย่างนี้ เวลาบัญญัติขึ้นมา บัญญัติให้มันแคบเข้ามา

นี่พอบัญญัติขึ้นมาเป็นศัพท์ในพุทธศาสนา อย่างเช่นความคิดต่างๆ ท่านก็บอกสังขาร ความรู้สึกต่างๆ ก็บอกเวทนา สัญญาก็คือความจำทั้งหมด แล้วมีเวทนาหยาบ เวทนาละเอียด อันนี้เป็นศัพท์นะ อันนี้เป็นวิถีแห่งจิต คืออาการของจิตมันเป็นแบบนี้ แต่มันมีตัณหาความทะยานอยากเข้าไป บวกเข้าไป นี่พอใจ ไม่พอใจ ความคิด ความปรุงต่างๆ มันพอใจ แล้วอะไรเป็นขยะล่ะ? อะไรเป็นขยะ นี่ถ้าเราคิดเรื่องดีๆ นะ เราจินตนาการเรื่องดีๆ ขยะนี่มันเป็นขยะแบบว่าเศษเพชร เศษพลอย หอมหวานไปหมดเลย ถ้าเราคิดจินตนาการในเรื่องที่เราพอใจ ขยะหอมไง

พวกที่เขาทำขยะกันนะ เขาบอกว่าขยะของการบินไทยมีราคามาก เวลาเขาประมูลกันเรื่องขยะการบินไทย เพราะว่าของใช้ของเขามีแต่ของมีคุณภาพ แล้วสิ่งที่เวลาเขาทิ้ง ขยะการบินไทยนะมันเหมือนกับห้างสรรพสินค้าของเราเลยแหละ เพราะของทิ้งของเขานี่นะ โอ้โฮ มีแต่ของมีคุณภาพทั้งนั้นแหละ นี่ถ้าขยะอย่างนั้น คนที่เขาทุกข์ยากเขายังมีประโยชน์เลย

อันนี้ก็เหมือนกัน การปล่อยขยะออกจากใจกับการปล่อยวาง ถ้าพูดถึงการปล่อยขยะออกจากใจ เราต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นขยะ ไม่เป็นขยะ หมายความว่าจิตต้องสงบก่อน ถ้าจิตมันสงบแล้ว เวลามันเสวยอารมณ์ เห็นไหม จิต อาการของจิต อาการของมันทั้งหมด แล้วตัวจิตล่ะ? อาการมันถ้าตัวจิตมันมีอวิชชา คือมันมีขยะในใจมัน อาการทั้งหมดก็เป็นขยะ เพราะอะไร? เพราะว่าจิตมันหลง เพราะจิตมีอวิชชามันหลงใช่ไหม? เพราะจิตมันไม่รู้

นี่พลังงานมันไม่รู้มันก็เป็นขยะ แล้วพอขยะแล้วมันเสวยอารมณ์ เสวยขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็เป็นขยะไปด้วย ขันธ์ ๕ ก็เป็นขยะ ความจำได้หมายรู้ก็เป็นขยะเพราะจำผิดจำถูก นี่ความสังขาร สังขารก็เป็นขยะ ขยะเพราะอะไร? ขยะเพราะจิตมันมีอวิชชา ตัวอวิชชาคือตัวขยะ กิเลสมันคือขยะ แล้วขยะในเมื่อตัวจิต ตัวพลังงานมันมีขยะอยู่แล้ว มันเสวยอาการของขันธ์ นี่เสวยอารมณ์ เสวยอาการของขันธ์ มันเสวยแล้วมันจะเป็นความรู้สึกนึกคิด ตรงนั้นก็เลยเป็นขยะไปด้วย เป็นขยะไปด้วยเพราะอะไร? เพราะว่ากิเลสมันใช้งานไง กิเลสมันใช้

นี่ปัญญาของกิเลสๆ ถ้าอวิชชา ถ้าจิตมันเป็นอวิชชา จิตมันมีมารครอบงำมันอยู่ นี่มันมีขยะของมัน มันทำอะไรมันก็เป็นกิเลสไปทั้งหมด ถ้าจิตสงบเข้ามา นี่จิตสงบเข้ามา ถ้าจิตไม่สงบเข้ามามันไม่รู้ว่าอะไรเป็นขยะ ไม่เป็นขยะหรอก มันไม่รู้หรอก ความคิดเป็นเรา ความรู้สึกเป็นเรา ถ้าพอใจดีหมด ถ้าไม่พอใจก็ต่อต้านหมด เราก็เป็นขยะ พอใจก็เป็นขยะ ต่อต้านก็เป็นขยะ ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

นี่ผลักไสก็ต่อต้าน ผลักไสไม่ต้องการก็เป็นขยะ ความปรารถนาอยากได้ก็เป็นขยะ ความรู้เฉยๆ นี่สิ่งที่ตัณหา วิภวตัณหามันก็เป็นขยะ ขยะทั้งนั้นแหละ ถ้าตัวจิตมันเป็นอวิชชา ถ้าตัวจิตเป็นอวิชชามันจะรู้จักขยะได้อย่างไร? มันไม่รู้จักขยะ มันไม่เห็นขยะ แล้วมันจะกำจัดขยะ มันจะปล่อยวางขยะจากใจ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นจินตนาการ มันเป็นความรู้สึกนึกคิด มันเป็นการมั่นหมายว่าเราได้ทำอย่างนั้น เราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มาว่าในเมื่อขันธ์ ๕ ร่างกาย ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นถังขยะ นี่แล้วเวลาท่านรู้จริงของท่าน ท่านอยู่กับถังขยะโดยที่ไม่ติดกับถังขยะ

ท่านไม่ติดในถังขยะ เห็นไหม เวลาพระอรหันต์ เวลาเข้าไปชำระล้างตัวอวิชชา พญามาร พลังงานนั้นสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์เป็นธรรมธาตุ พอธรรมธาตุแล้วนี่มันไม่มีขยะ พอไม่มีขยะจิตมันสะอาด นี่พระอรหันต์ไม่มีจิตๆ มันสมมุติคุยกันมันต้องพูดอย่างนี้แหละ นี่พลังงานนี้เป็นพลังงานที่สะอาด พลังงานที่สะอาด ขันธ์นะเวลาเสวยไปที่ขันธ์ นี่ที่ว่าถ้าจิตมันเป็นมาร ถ้าจิตเป็นอวิชชา พลังงานเป็นอวิชชามันเป็นขยะ ออกไปมันก็เป็นขยะหมด แต่พลังงานนี่เป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุที่เป็นธรรม พอเป็นธรรมขึ้นไปมันเสวยขันธ์ ๕

มันเสวยขันธ์ ๕ นี่ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์เป็นภาระ ขันธ์นี้ไม่ใช่ขยะ ฉะนั้น พระอรหันต์เวลาสื่อไปต่างๆ มันถึงเป็นประโยชน์ เจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์มันเป็นประโยชน์หมดไง มันเป็นประโยชน์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอก สิ่งที่เป็นความจริง ถ้าไม่เป็นประโยชน์ท่านก็ไม่พยากรณ์ ถ้าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ท่านถึงพยากรณ์ท่านถึงจะพูด

สิ่งใดเป็นความจริงไม่เป็นประโยชน์ท่านยังไม่พูดเลย เพราะท่านรู้เท่า พอท่านรู้เท่า นี่ขันธ์ที่ว่าเป็นขยะ ทุกอย่างเป็นขยะ ถังขยะๆ ถ้ามันสะอาดไปแล้วมันเป็นขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ ขันธ์ที่เป็นสิ่งที่สื่อความหมาย มันไม่มีโทษไม่มีภัยกับใครทั้งสิ้น แต่ แต่ถึงเวลาจะนิพพาน เวลาจะตายก็ยังต้องสละทิ้ง เพราะสิ่งนี้เป็นของประจำโลกไง

สลัดทิ้งหมายความว่าเวลาพระอรหันต์จะตาย นี่ถ้าพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ สอุปาทิเสสนิพพาน เพราะมันมีภาระหน้าที่ เพราะสิ่งนี้มันต้องบริหารจัดการไง ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันเป็นภาระหน้าที่ พาอยู่ พาตาย พาขับ พาถ่าย พาคิด พาปรุงตามความรู้สึกเจตนา นี่บริหารมัน แต่เวลาจะตาย เห็นไหม เวลาจะตายทิ้งหมด อนุปาทิเสสนิพพาน คือดับสิ้นนิพพานจบสิ้นไป นั้นถึงเข้าใจว่าถังขยะเป็นอย่างไร ถึงเห็นถังขยะตามความเป็นจริง นี่พูดถึงถังขยะก่อนนะ

ฉะนั้น การปล่อยวางขยะจากใจ การปล่อยวางขยะจากใจ ปล่อยวางอะไร? ปล่อยวางเรื่องอะไร? อะไรเป็นขยะไม่เป็นขยะ อันนี้มันเป็นความเข้าใจของผู้ถาม ถ้าเราถามว่าสิ่งที่มันขัดใจนี่ก็คือขยะ ถ้าเราปล่อยวางขยะจากใจเป็นเรื่องหนึ่ง แล้วถ้าว่าการปล่อยขยะในใจกับการปล่อยวางเหมือนกันไหม? สิ่งที่การปล่อยวางนี้มันเหนือชั้นกว่าเยอะเลย แล้วการปล่อยวางขยะออกจากใจ ถ้าไม่พอใจอะไร อันนั้นก็คือขยะ ถ้าพอใจนั้นขยะก็ไม่มี คือการปล่อยวางขยะจากใจ จากสามัญสำนึก นี้คือเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ ถ้าเราคิดกันได้อย่างนั้น ในการปฏิบัติมันจะลึกซึ้งกว่านี้

ลึกซึ้งกว่านี้หมายความว่าเวลาถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามามันยิ่งกว่าปล่อยวาง เพราะจิตมันสงบมันไม่เสวย มันไม่มีขยะเลย สมาธิมันปล่อยวางหมดมันถึงเป็นสมาธิได้ ถ้ามันไม่ปล่อยวางมันเป็นสมาธิได้อย่างไร? ถ้ามีขยะ ดูสิเวลาหนามตำเท้าเราจะเดินโดยปกติได้ไหม? นี่หนามมันจะมีความรู้สึกเสียวแปลบๆ ตลอดเวลา ถ้าจิตมันรู้สึกนึกคิดของมันอยู่ นี่มันจะมีสิ่งนี้อยู่ในใจตลอดเวลา มันไม่เป็นปกติหรอก แต่ถ้าเวลาเราถอนเสี้ยน ถอนหนามออกจากใจ เราจะเดินโดยปกติเลย

จิตถ้ามันปล่อยวางหมด มันปล่อยวางหมดมันถึงเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิแล้ว ถ้ามันออกใช้ปัญญาไปแล้ว นี่ออกใช้ปัญญาถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าพิจารณา ถ้าปล่อยวางต้องปล่อยวางแบบนี้ การปล่อยวางคือการพิจารณาแล้วปล่อยวาง แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ที่ว่ามันมีขยะอยู่แล้วใช่ไหม นี่หนามมันตำเท้าเราก็บ่งหนามของเราออก

นี่มันคิดสิ่งใด มันเสวยสิ่งใด มันมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร สติตามมันไป นี่มันจะถอนเสี้ยน ถอนหนาม คือถอนหนามที่ในใจ คือจะปล่อยขยะ หนามคือขยะ ขยะก็คือหนามที่มันปักเสียบแทงใจอยู่ ถ้ามันมีสติ สติปัญญามันทัน พิจารณาไปซ้ำๆๆ นี่คือการปล่อยวาง นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันเป็นความจริง คำว่าปัญญาอบรมสมาธิมีการกระทำ มีเหตุมีผลถึงจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ฉะนั้น คำถาม

ถาม : การปล่อยขยะจากใจ

ตอบ : การปล่อยขยะจากใจมันเป็นอารมณ์สามัญสำนึกไหม? นี่มันเป็นความรู้สึกนึกคิดไหม? อันนี้อันหนึ่งนะ นี่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็เป็นความเข้าใจของคำถาม แต่ถ้าโดยข้อเท็จจริงมันต้องมีเหตุมีผลของมันโดยข้อเท็จจริง โดยสามัญสำนึกนี้เขาคิดไปมันก็เป็นขันธ์มาทำงานโดยปกติ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มีสติตามขันธ์นั้นไป พอมีสติปัญญาตามขันธ์นั้นไปมันเห็นโทษของมันด้วยสติ ด้วยปัญญา แล้วมันฝึกหัดใคร? จิตโดยสามัญสำนึก มันคิดของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะมีสติ มีปัญญา

สติปัญญาคืออะไร? สติธรรม ปัญญาธรรม ถ้ามีสติปัญญา มันก็มีสติปัญญาทันความคิดของตัว ถ้ามีสติปัญญา แล้วที่มันคิดอยู่นี่ไม่ใช่สติหรือ? มันมีสติ มันไหลไปตามโลก แต่เรามีสติปัญญาทันความคิด มันทันเข้ามามันเห็นโทษ เห็นโทษมันจะปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ อย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี้ถ้ามีสติปัญญานะ ถ้าไม่มีสติปัญญาการปล่อยขยะก็คิดกันไปเอง คิดไปโดยสามัญสำนึก คิดไปโดยโลกๆ คิดไปโดยลัทธิศาสนาอื่น คิดไปโดยวิธีการปฏิบัติของหัวหน้าที่ไม่เข้าใจ

นี่หัวหน้าผิด หัวหน้าผิด ผู้นำผิด มันก็สอนกันผิดๆ ถ้าสอนกันผิดๆ มันก็เข้าใจกันผิดๆ พอเข้าใจผิดๆ ก็อ้างว่านี่เป็นพุทธศาสนา นี่เป็นความเข้าใจของตัว นี่ว่าการปล่อยวาง นี้เป็นสามัญสำนึก นี้เป็นโลกียปัญญา แต่ถ้ามีสติ นี่มีสติธรรม มีสมาธิธรรม มีสติธรรม มีปัญญาธรรมมันพิจารณาเข้ามามันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม นี่อย่างนี้มันปล่อยขยะหรือยัง? อย่างนี้มันปล่อยขยะไหม?

นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเข้าใจมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ การปล่อยขยะของใจ ความปล่อยขยะของใจมันคิดกันเอาเองไง เราไม่เชื่อ ฉะนั้น การปล่อยขยะของใจนี่เรื่องหนึ่งนะ แล้วก็กับการปล่อยวางเหมือนกันไหม? กับการปล่อยวาง ถ้าการปล่อยวางนะ ตทังคปหาน สมุจเฉทปหาน การปล่อยวางชั่วคราวหมายถึงว่าตทังคปหาน

ฉะนั้น การปล่อยวางแบบโลกๆ นี่เรายกของหนักมา เราวางก็จบ จิตมันมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา พอมันเข้าใจถูกแล้วมันวางของมันก็จบ นี้เป็นสามัญสำนึก นี้เป็นโลก นี้เป็นโลกๆ เลย แต่ถ้าจะเป็นการฝึกหัด เป็นการปฏิบัติมันต้องมีสติ มันมีสติ มีการกระทำ มีการกระทำ มันรู้ มันเห็นของมัน บริหารจัดการของมัน นี่มันถึงเป็นมรรคไง

ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันชอบ ถ้ามันไม่ชอบ มันไม่ชอบมันก็เป็นสัญชาตญาณ มันเป็นวาสนาของคน มันเป็นวาระของคนที่คนคิดได้กับคนคิดไม่ได้ ถ้าเป็นวาระของคนคิดได้ มันคิดของมันขึ้นมาได้มันก็เศร้าใจ มันก็ปล่อยวางได้ แต่ถ้าคนคิดไม่ได้มันก็ผูกโกรธ มันก็ยึดมั่นถือมั่นของมัน มันก็ให้อารมณ์ความรู้สึกดึงใจนั้นไป นี้มันก็เป็นวาระของจิต จิตที่ว่ามันมีอำนาจวาสนาคิดได้กับคิดไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิล่ะ? มันคิดได้แล้วมันยังฝึกหัดทำ

พอฝึกหัดทำ เหมือนกับคนทำงานเป็นกับคนทำงานไม่เป็น คนทำงานไม่เป็นเขาอาจจะได้รับการช่วยเหลือเจือจานจากใครก็ได้ แต่ถ้าคนทำงานเป็นเขาทำงานของเขาเอง เขาได้ผลงานของเขาเอง เขารู้เท่ากับความรู้สึกนึกคิดของเขาเอง เห็นไหม นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันมีการกระทำมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา นี้ว่าการปล่อยวางขยะของใจไหม? ไม่ใช่ปล่อยอะไรทั้งสิ้น นี้เป็นการฝึกหัดเท่านั้น

ทีนี้การปล่อยวาง ถ้าการปล่อยวาง จิตสงบแล้ว ถ้าปัญญาอบรมสมาธิจิตสงบแล้วมันเสวย เสวยพิจารณาของมัน ถ้ามีการพิจารณา ถ้าจิตเราจับกายได้ เราพิจารณากายได้ พอพิจารณากาย นี่พอมันพิจารณาแล้วมันปล่อยวางได้ นี่คือการปล่อยวาง แต่ปล่อยวางอย่างนี้มันปล่อยขยะหรือยัง? ก็ยังอยู่ดี นี่การปล่อยขยะของใจ เอาขยะออกจากใจ เอาขยะออกจากใจคือสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ นั่นคือขยะ ถ้ามันเอาขยะอย่างนี้ออกได้ นี่มันถึงจะว่าเอาขยะออกได้ตามความเป็นจริง

อันนี้มันเอาออกไม่ได้ มันไม่มีอะไรเอาออกหรอก เพียงแต่มันคิดของมันไป มันคิดไป แล้วเวลาจิตเป็นไป นี่มันถึงว่ามีครูบาอาจารย์และไม่มีครูบาอาจารย์ ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ เวลาถามปัญหาขึ้นมาท่านจะคอยชี้แนะเลย นี่คอยชี้แนะว่าถ้ามันไม่เป็นก็ต้องทำให้มันเป็นก่อน มันไม่เป็น ล้มลุกคลุกคลานอย่างไรก็ไม่เป็น คือทำความสงบของใจไม่ได้ ไม่มีเหตุมีผล คือจิตมันตั้งตัวเองไม่ได้ เหมือนคนไม่มีกำลัง เราไม่แข็งแรง แต่เราพยายามจะฝืนทำงานของเราอยู่ เราทำงานเราจะได้อะไรขึ้นมา

ฉะนั้น ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเคยผ่านสิ่งนี้มาท่านจะบอกให้ปล่อยให้หมดแล้วพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ทำให้จิตแข็งแรงขึ้นมาก่อน ถ้าจิตแข็งแรงคือจิตสงบ ถ้าจิตสงบแล้ว เวลาจิตสงบแล้วเห็นกายกับไม่เห็นกาย ถ้าเห็นกาย เคยเห็นแต่ครั้งต่อไปมันไม่เห็น ไม่เห็นก็พยายามนั่งให้สงบมากขึ้น สงบมากขึ้น ทำโดยตั้งสติมากขึ้น ทำสมาธิมากขึ้น นี่ถ้าเคยเห็นแล้วเดี๋ยวมันก็จับได้ ถ้าจับได้ พิจารณาไปแล้ว พิจารณาแล้วมันเป็นจริงหรือเปล่า? ถ้ามันไม่เป็นจริง มันไม่เป็นจริง ไม่มีกำลังพอ กำลังไม่พอมันไม่มีการปล่อยวางเลย แต่ถ้ามันเป็นจริง มันมีกำลังพอมันปล่อยวาง คำว่าปล่อยวาง นี่การปล่อยวาง

ถาม : การปล่อยวางกับการเอาขยะออกจากใจต่างกันไหม? เหมือนกันไหม?

ตอบ : ไม่เหมือนกัน การปล่อยวางคือตทังปคหาน การปล่อยวางชั่วคราว การปล่อยวางชั่วคราว ฉะนั้น การปล่อยวาง (หัวเราะ) นี่วกไปวนมา เราจะบอกว่าการปล่อยวาง ขยะนอก ขยะใน ถ้าขยะจากข้างนอก เพราะเขาใช้คำว่าขยะจากข้างนอกมันเป็นการสร้างภาพ เป็นการคิดเอาว่าอะไรเป็นขยะและไม่เป็นขยะ นี้เราเป็นคนสร้างภาพเอง มันไม่เป็นความจริง

ฉะนั้น นี่คือขยะจากข้างนอก ขยะข้างนอกคือขยะอารมณ์สามัญสำนึก อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด แล้วถ้ามันสงบเข้ามาแล้วการปล่อยวาง การปล่อยวางมันพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางๆ มันยังไม่สมุจเฉทปหาน ถ้ามันเอาขยะออกจากใจตามความเป็นจริง มันปล่อยวางแล้วอะไรขาดออกไป?

นี่การเอาขยะออกจากใจตามความเป็นจริงต้องเป็นแบบนี้ ต้องรู้ ต้องเห็น ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลามันขาดนะ เวลามันขาดจะรู้เลยว่าเวลาสังโยชน์มันขาด ถ้าสังโยชน์ขาดไปแล้ว นั่นล่ะเอาขยะออกจากใจเป็นชั้นเป็นตอน โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี สิ้นกิเลสไปมันเป็นชั้นเป็นตอน เอาขยะออกจากใจมันออกอย่างนี้ แล้วเวลาออกแล้วออกหนเดียว เวลาสมุจเฉทปหานไปแล้วนะไม่กลับอีก มันไม่กลับมาอีกเลย จะบอกว่าเหมือนกันไหม? หรือไม่เหมือนกันไหม?

นี่คำว่าเหมือนกันไหม ไม่เหมือนกันไหมคือความลังเล กรณีอย่างนี้นะเวลาหลวงตาท่านไปที่บ้านผือ ที่เป็นโรคเจ็บอก พอพิจารณาเสร็จแล้วนะจิตมันเสวยอารมณ์แล้วมันก็ปล่อย เสวยอารมณ์แล้วก็ปล่อย เอ๊ะ ถ้าปล่อยแบบนี้ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? เพราะมันปล่อยหมดเลย มันว่างหมดเลย ฉะนั้น ด้วยการศึกษามา นี่ปริยัติมีประโยชน์ตรงนี้ ท่านบอกว่าถ้าปล่อยนี่ไม่ใช่พระอรหันต์หรือ? คำว่าไม่ใช่พระอรหันต์หรือคือความสงสัย นี่ท่านปฏิเสธเลย ท่านไม่เอาเลย แล้วท่านรื้อค้นของท่านไปท่านถึงประสบความสำเร็จของท่าน

อันนี้ก็เหมือนกัน ถามว่าการปล่อยขยะออกจากใจ กับการปล่อยวางเหมือนหรือแตกต่างกัน อันนี้สงสัยหรือเปล่า? สงสัยแน่นอน ถ้าสงสัยแล้ว คำว่าสงสัย อ้าว ก็ผมสงสัยผมถึงถามหลวงพ่อมาไง ถ้าผมไม่สงสัยผมจะถามมาทำไม? แล้วถ้าถามมาแล้วหลวงพ่ออธิบายสิ นี่คำว่าเพราะมีความสงสัยหนึ่ง เราจะบอกว่าคำถามมันกลับหัวกลับหางกัน การเอาขยะออกจากใจ นี่ถ้าพูดอย่างนี้เราจะเทียบถึงขยะจากโลก ขยะคือของเสีย ของเสียของไม่ดีเราเห็นว่าเป็นขยะ

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาปฏิบัติใช่ไหม? แล้วการปล่อยวางเหมือนกันไหม? การปล่อยวางมันต้องเห็นว่าอะไรเป็นขยะ อะไรไม่เป็นขยะ นี่ถ้าจิตสงบแล้วมันมีความร่มเย็นเป็นสุข มันไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งใดแล้วมันว่างของมันอยู่อย่างนั้น มันบอกว่านี่เป็นธรรม นี่เป็นธรรม ขยะมันซุกอยู่ใต้พรม นี่ขยะเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ นี่เราจะทุกข์ เราจะยาก สรรพสิ่งเป็นเรา เราทำสิ่งใดไม่ได้เลย แต่ถ้าเราเห็นโทษของมันใช่ไหมว่าสิ่งนี้มันเป็นโทษ มันเป็นเสี้ยนเป็นหนามตำอยู่ในหัวใจของเรา เราพยายามจะแก้ไขสิ่งนี้ เรามีความมุมานะ เรามีการกระทำขึ้นมาเราจะมีกำลังของเรา ถ้ามีการกระทำของมันก็ไม่รู้สึกว่ายอมจำนนกับขยะ

ฉะนั้น ถ้าขยะเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา เราไม่กล้าทำสิ่งใดเลย แต่ถ้าบอกว่าเราจะเอาจริงเอาจังของเรา เราจะทำความจริงของเรา นี่มันสงบลงได้ มันมีความจริงของเรา ฉะนั้น ต้องฝืนไง ถ้าเราไม่ฝืนนะสรรพสิ่งเป็นเรา เราทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าความเพียรชอบ ความเพียรชอบทำไปแล้วจิตมันสงบเข้ามา ถึงเวลาแล้วเราพิจารณาของเรา แยกแยะของเราไป เราจะเห็นขยะตามความเป็นจริง ถ้าเห็นขยะตามความเป็นจริงมันไม่ใช่เป็นเรา ถ้าว่าเป็นเราแล้วเราแก้ไขไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าแก้ไขไม่ได้มันก็ทำสิ่งใดไปไม่ได้เลย ถ้าแก้ไขได้นะ แก้ไขได้มันต้องพัฒนา ถ้ามีครูมีอาจารย์ท่านจะชี้แนะอย่างนี้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มันก็งงไปอย่างนี้ แล้วเวลามาพูดกับเรานะ เราก็จะบอกว่าขยะนอก ขยะใน ขยะนอกคือสิ่งที่เรารู้ เราเห็นว่าเป็นของเสีย ทุกคนเห็นแล้วก็ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ถ้ามันเป็นขยะใน ความคิดเป็นเรา ความหลงเป็นเรา ความโลภเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเราทั้งหมด เราไม่รู้ไม่เห็นมันเป็นขยะหรือเปล่า เรากลับเห็นว่ามันเป็นคุณ กลับเห็นว่ามันเป็นสมบัติของเรา กลับยึดมั่นถือมั่น เราจะไม่รู้จักขยะเลย แล้วเราจะแยกอย่างไร? เราจะปล่อยวางอย่างไรให้เป็นความจริง

ถ้ามันจะปล่อยวางให้เป็นความจริงนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ เวลาปล่อยวางความจริง นี่คนทำงานเป็น เขาให้ทำงานให้ดู เขาจะรู้เลยว่าตามความเป็นจริง นี่ก็เหมือนกัน เวลาธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เขาสนทนาธรรมกันนี่เริ่มสงบอย่างไร? แต่โดยทางโลก โดยความเข้าใจของเราใช่ไหม เราบอกว่าความสงบมันแค่มีความสงบ มันไม่ใช้ปัญญามันจะเกิดประโยชน์อะไร

ฉะนั้น เวลาพูดไปเราก็จะพูดว่าใช้ปัญญากันไปเลย แต่ถ้าคนเขาภาวนาเป็นนะ การใช้ปัญญาแบบนั้นมันเป็นโลกียปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้เขาเรียกว่าสัญญา เพราะมันเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า มันเป็นธรรมของครูบาอาจารย์ มันไม่เป็นความจริงของบุคคลที่พูดขึ้นมานั้น แล้วถ้าคนที่พูดขึ้นมานั้น เวลาเขาปฏิบัติตามความเป็นจริง ถ้ามีครูบาอาจารย์ แล้วเขาเชื่อครูบาอาจารย์ของเขา แล้วเขาพยายามฝืนทน ฝืนกับกิเลสของเขา แล้วเขาปฏิบัติของเขา จิตของเขาจะสงบเข้ามา เขาก็จะตื่นเต้นแล้ว

เพราะ เพราะสิ่งที่เราศึกษามา เราจำมา สามัญสำนึกนั้นน่ะ สิ่งนั้นมันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องสัญญาอารมณ์ มันไม่มีข้อเท็จจริง แต่พอจิตสงบขึ้นมามันแตกต่างมหัศจรรย์เลย เพราะเราสงบขึ้นมาเอง พอสงบขึ้นมาเองปั๊บ พอมันใช้ปัญญาขึ้นมา เกิดใช้ปัญญาแล้วมันยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่เลย มันตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ เพราะที่ครูบาอาจารย์ท่านบอก เห็นไหม เวลาติดในสมาธิก็ว่าสมาธิมหัศจรรย์มาก เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันมานอนตายอยู่ที่สมาธินี้ เวลามันชำระล้างกิเลส มันชำระล้างที่ปัญญาต่างหากไม่ใช่ชำระล้างที่สมาธิ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาอย่างนี้มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้

ถ้าไม่มีสมาธิ ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะมันมีสมาธิขึ้นมา เวลามันเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา เพราะนี่ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะมีสมาธิที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีสมาธิที่เป็นมรรคมันถึงเกิดปัญญา พอเกิดปัญญามันพิจารณาขึ้นมา เห็นไหม นี่เวลาคนที่ปฏิบัติอยู่มันยังไม่รู้รอบ เวลามันติดสมาธิมันก็ว่าสมาธิเป็นธรรม เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา กลับไปติดสมาธินะว่าสมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่พอเราใช้ปัญญาไปๆ มันล้มลุกคลุกคลานไป เพราะสมาธิอ่อนแอลง ปัญญามันก็เป็นสัญญาไปซะ สัญญามันก็เป็นปัญญาโลกนี่ไง ปัญญาที่จำมานั่นไง พอปัญญาที่จำมามันจะชำระล้างกิเลสไม่ได้ใช่ไหม? มันก็เห็นโทษอีก

นี่ถ้าสมาธิมันฆ่ากิเลสไม่ได้มันต้องใช้ปัญญาต่างหาก เวลาปัญญาไป ปัญญามันเสื่อมหมดมันก็เป็นสัญญาไปหมด มันก็ไปไม่ได้อีก มันต้องกลับไปทำสมาธิอีก พอทำสมาธิมีพื้นฐานขึ้นมา พอเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม มันก็เป็นมรรครวมตัวขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา นี่ปฏิบัติถ้ารู้จริงขึ้นมาอย่างนี้ปั๊บมันก็จบ มันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา มันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมาหมายถึงว่าการจะเอาขยะออกจากใจ มันต้องเอาขยะออกจากใจจากศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีสมาธิก่อน แล้วเวลาออกจริงมันก็ออกเป็นความจริงๆ

นี้การจะเอาขยะออกจากใจกับการปล่อยวาง เพราะว่าเวลาเอาขยะออกจากใจมันก็ทำให้ปล่อยวางได้ มันก็คาดหมายได้ มันก็สร้างภาพได้ทั้งนั้นแหละ มันเป็นเรื่องจินตนาการ จินตมยปัญญาไปทั้งหมด แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริงจะรู้เลยว่าอะไรเป็นขยะ อะไรไม่เป็นขยะ คำว่าขยะนี้เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเห็นแล้วมันเป็นสิ่งที่ขยะแขยง มาเปรียบเทียบว่ามันคือขยะ มันคือขยะแต่มันก็เป็นความคิด

ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เป็นขยะ เป็นถังขยะ ถ้าเป็นถังขยะมันทำไมถึงเป็นถังขยะล่ะ? เพราะรู้เท่าเห็นความจริงแล้วมันถึงเป็นถังขยะ แต่ถ้ามันไม่รู้เท่านะ ใครบ้างจะบอกว่าความคิดเราผิด ใครบ้างจะบอกว่าสิ่งที่เราทำนี่ผิด ถูกทั้งนั้น ไม่มีผิดหรอก แต่ถ้ามันรู้เท่าปั๊บ มันเห็นเท่าปั๊บมันเห็นผิด พอเห็นผิด เวลามันพิจารณาของมัน มันจับต้องของมันจริง เวลามันขาด นั่นล่ะก่อนที่มันจะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาจนมันขาด ถ้ามันขาดนั่นแหละเอาขยะออกจากใจตามความเป็นจริง

ถ้าเอาขยะออกจากใจกับการปล่อยวางเหมือนกันไหม? ไม่เหมือน การปล่อยวางคือมันปล่อยวางด้วยกำลัง ปล่อยวางแล้วก็คือการปล่อยวาง เพราะมันไม่สมุจเฉทปหาน ถ้าคนที่สมุจเฉทปหานแล้วมันรู้เท่า มันจะไม่พูดอย่างนี้ ขยะก็คือขยะ เวลาปล่อยวางก็คือปล่อยวาง เวลาสมุจเฉทปหานก็คือสมุจเฉทปหาน แล้วเวลาไปเทียบเคียงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

นี่เวลาศึกษาปริยัติมา สิ่งนั้นถ้าเอาปริยัติมาปฏิบัติด้วยมันจะขัดจะแย้งกัน แต่เวลาปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือปฏิบัติจบแล้วนะอันเดียวกัน เพราะศีล สมาธิ ปัญญาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกก็ชี้เข้ามาที่การปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติแล้วถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วเราจะรู้ตามความเป็นจริงเนาะ เอวัง