เทศน์บนศาลา

ผ่านทุกข์

๕ ส.ค. ๒๕๔๖

 

ผ่านทุกข์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๖
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรมเป็นกาลเป็นเวลา ถ้าเราตั้งใจฟังธรรม ธรรมนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ธรรมนี้สามารถชำระกิเลสได้ เรา เพราะกิเลสพาเกิด เราถึงต้องเกิดมา พอเกิดมาแล้วมันต้องมีความทุกข์ความยากโดยสัจจะอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง แต่คนถ้าเพลินในโลก เขาก็ไม่สนใจเรื่องของทุกข์ เขาไม่สนใจ เขาพยายามปกปิด แล้วเขาพยายามจะหาความสุขทางโลกของเขา เขาทำไปอย่างนั้น แล้วแต่เขา เขาก็ต้องทุกข์ไป เพราะว่าเขาไม่ตั้งใจ ความไม่ตั้งใจ ความไม่จงใจ เราไม่จงใจ ไม่ตั้งใจมันก็ไม่สะเทือนใจ

เราฟังธรรม ถ้าฟังธรรมแล้วสะเทือนใจเรามีโอกาสมากนะ มีโอกาสชำระกิเลส ไม่ฟังทุกวันๆ ฟังจนชินชาไง เวลาธรรมะประกาศ การฟังธรรมนี้เป็นของหายาก การฟังธรรมนี้เป็นของที่หาได้ยาก แล้วฟังธรรมภาคปฏิบัติยิ่งยากเข้าไปใหญ่ นี่เวลาเราคิด ธรรมะว่าอย่างนั้นจริง การฟังธรรมนี้เป็นของที่แสนยาก แต่ทำไมเราได้ยินได้ฟัง ฟังจนชินหูไง ฟังจนชินหูแต่หัวใจมันไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ามันสะเทือนใจ มันสะเทือนหัวใจของเรา มันสะเทือนใจให้เราถาม “ชีวิตนี้เกิดมาทำไม ชีวิตนี้เกิดมา ชีวิตนี้คืออะไร ชีวิตนี้มีความทุกข์ ทุกข์สิ่งนี้ แล้วจะแก้ไขอย่างไร”

ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์ไม่มีทางที่จะแก้ไขได้เลย หมุนไปตามวัฏฏะ หมุนไปตามสสารของทฤษฎีของเขา หมุนไปอย่างนั้น ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้ามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะรื้อค้นขึ้นมาได้ พยายามรื้อค้นนะ ต้องสร้างบารมีขึ้นมา เป็นพระพุทธเจ้านี่สร้างบารมี เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย สร้างสมบารมีมาเป็นพุทธวิสัย เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างมาตลอด สร้างสิ่งนี้มา ถึงจะค้นคว้าๆ สิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมา แล้วพอมันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน เพราะอะไร เพราะมันชำระกิเลสไง สิ่งที่เป็นทุกข์จะต้องหลุดออกไปจากใจ จะไม่เข้าไปสะเทือนใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถึงได้ปฏิญาณตนไง ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ปฏิญาณตน

เวลาไปเทศน์ให้ปัญจวัคคีย์ฟัง ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ ทั้งๆ ที่อัญญาโกณฑัญญะเป็นพราหมณ์ ๘ คน ที่มาพยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะว่า “ต้องตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน” พราหมณ์อีก ๗ คนนั้นยังพยากรณ์เป็น ๒ ทาง ถ้าอยู่ทางโลกจะได้เป็นจักรพรรดิ แต่ถ้าบวชแล้วจะได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า พราหมณ์ทั้ง ๗ คนนั้นเขายังแบ่งตีเป็น ๒ ทาง แต่อัญญาโกณฑัญญะพยากรณ์ไว้เลยเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ทั้งๆ ที่ว่าเป็นคนพยากรณ์ไว้ก่อน

แต่เวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ไม่ฟัง ไม่เชื่อไง ไม่เชื่อ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เธอเคยได้ยินได้ฟังไหมว่า เราสำเร็จเป็นพระอรหันต์”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าอยู่ด้วยกันมา ๖ ปี อุปัฏฐากกันมา ๖ ปีเคยได้ยินคำพูดนี้ไหม ถ้าไม่เคยได้ยินคำพูดนี้ ให้ตั้งใจฟัง ตั้งใจฟังธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแสดง แสดงธัมมจักฯ พอแสดงธัมมจักฯ จบไป สิ่งที่มันเกิดขึ้น

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา”

สิ่งนั้นเป็นธรรมดาของเขา เป็นธรรมดาของสิ่งที่โลกเป็นไปอย่างนั้น อัญญาโกณฑัญญะรู้ เวลาฟังธรรมขึ้นมา รู้ตามความเป็นจริงขึ้นมา สิ่งนั้นมันสะเทือนหัวใจไง ถ้ามันสะเทือนหัวใจ เราสะเทือนหัวใจของเรา เราถึงว่าจะมีโอกาส

ถ้าเราไม่สะเทือนหัวใจของเรานี่มันไม่มีโอกาสไง มันไม่สะเทือนใจเลย สักแต่ว่าวันหนึ่งๆ ไป ชินชาไปนะ พอชินชาขึ้นไปมันก็หน้าด้านไปตามธรรมชาติของกิเลส กิเลสมันหน้าด้าน มันด้านอยู่ในหัวใจของเรา มันซุกอยู่ในหัวใจของเราแล้วมันอาศัยสิ่งนี้ แล้วทำไมมันไม่หาความสุขให้ ทำไมมันไม่รักษา ไม่สงวนรักษาสิ่งนั้น มันมีแต่ทำลาย มันจะต้องทำลาย ถ้าคิดตามอำนาจของกิเลส กิเลสนี้จะทำความชั่วช้าลามกในหัวใจของเรา แล้วก็คิดออกมาเป็นความต่ำช้าของมัน ถ้ามันคิดออกมาอย่างนั้นแล้วมันจะลากใจให้ไปตามธรรมชาติของมัน แล้วมันมีอยู่ สิ่งนี้มันมีอยู่ในหัวใจ มันถึงทำให้ใจต้องเป็นทุกข์เป็นยาก สิ่งนี้เป็นทุกข์เป็นยาก

เกิดขึ้นมาเป็นอริยสัจเป็นความจริง ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง

ในเมื่อมีการเกิดอยู่ มันต้องมีการตายโดยสัจจะความจริง สิ่งที่ต้องแปรสภาพไป ชีวิตนี้มีอยู่ อยู่ก็อยู่ด้วยความทุกข์ ต้องทุกข์ต้องยากตามประสาของกิเลส เวลาบีบบี้สีไฟทุกข์อย่างหนึ่ง ทุกข์เพราะการเกิด เห็นไหม ทุกข์เพราะมีธาตุมีขันธ์นี้ส่วนหนึ่ง สิ่งนี้มีอยู่ในธรรมชาติของมัน มีอยู่แล้ว สิ่งนี้เป็นความทุกข์บีบคั้นใจอยู่แล้ว แล้วกิเลสนี้มันบีบบี้สีไฟอีก

เวลาทำงานของเรา เราทำงานของเรา งานของเราถ้าเป็นมรรค มันไม่ใช่เป็นความทุกข์ความยากหรอก มันเป็นความสิ่งที่ว่าจะออก สิ่งที่จะออกจากกิเลส เราต้องแยกแยะไง อันหนึ่งเป็นความทุกข์ ทุกข์ที่ว่าไม่มีประโยชน์เลย ทุกข์กับโลกนี่ทุกข์ไม่มีประโยชน์เลย ทุกข์อย่างนั้นมันทำให้มันไม่มีแก่นสารไง เป็นมายา โลกนี้เป็นมายา เราต้องอยู่กับโลกไปเป็นมายา แต่การหาปัจจัย ๔ นี่ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย เพราะมันต้องเยียวยาธาตุขันธ์ไป ถ้าเยียวยาธาตุขันธ์ไปให้สิ่งนี้มันบีบคั้นอยู่แล้ว บีบคั้นตามธรรมชาติ สิ่งที่บีบคั้นตามธรรมชาติเพราะมันมีอยู่ เกิดขึ้นมามันมีสิ่งที่ต้องแสวงหา ต้องเจือจานกันไป ต้องรักษากันไป มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ มันเป็นความทุกข์อันหนึ่ง แต่กิเลสที่มันเกิดขึ้นมามันบีบบี้สีไฟ ฉะนั้นมันถึงว่ามันบีบบี้สีไฟ มันถึงให้ความทุกข์กับใจไง ให้ความทุกข์กับใจ

เวลาธาตุขันธ์สิ่งต่างๆ มันอยู่ธรรมชาติของมัน มันอยู่โดยที่ว่ากิเลสมันสงบตัวลง เห็นไหม เวลาเราทำสัมมาสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นมา คือกิเลสมันสงบตัวลง มันไม่เห็นให้ผลเป็นความทุกข์เลย มันจะมีความสุข สุขใจมาก ทำไมธาตุขันธ์ทำไมมันมีความสุขขึ้นมาล่ะ สุขขึ้นมาเพราะมันอยู่ของมันโดยอิสระไง ถ้าสมาธิเราสงบเข้าไป มันปล่อยกายได้เป็นบางครั้งบางคราว แม้แต่อำนาจสมาธิมันยังว่ากายสักแต่ว่ากาย จิตนี้สงบ ปล่อยร่างกายไว้ตามธรรมชาติของมัน เป็นสักแต่ว่าเลย สิ่งที่สักแต่ว่ามันไม่เอามาเป็นทุกข์เป็นยากชั่วคราว เห็นไหม จิตสงบขึ้นมา พอคลายตัวออกมา มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น นี่มันถึงเป็นธรรมชาติของเขา

ทุกข์นี้มันถึงมีอยู่เป็นความจริง เราถึงต้องแก้ไขอันนี้

ถ้าเราผ่านทุกข์ได้ เราผ่านทุกข์ของเรานี่มันจะกำจัด ทุกข์เป็นทุกข์ ทุกข์เป็นส่วนหนึ่ง จิตเป็นส่วนหนึ่ง มันจะปล่อยวางกันได้ตามความเป็นจริง แต่การจะผ่านทุกข์มันต้องผ่านด้วยวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา...เวลาคนเฒ่าคนแก่เขาสั่งสอนเด็ก เขาว่าเขาอาบน้ำร้อนมาก่อนเรา เขาผ่านไง ผ่านประสบการณ์ของเขา ประสบการณ์คือการอาบน้ำร้อนมาก่อนเรา ประสบการณ์ใช้ชีวิตมาก่อนเรา คนที่มีประสบการณ์ใช้ชีวิตประสบความสำเร็จในชีวิตก็มี คนที่มันมีประสบการณ์ในชีวิต ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาในโลกของเขาก็มี การประสบการณ์ของเขา ประสบการณ์ถูกต้องหรือประสบการณ์ที่ว่าตามแต่กิเลสมันประสบการณ์ฝังอยู่ในหัวใจ แล้วมันก็ไป อำนาจกิเลสลากไป นี่ประสบการณ์อันนั้นไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าผ่านทุกข์ มันเป็นประสบการณ์ทางตรง ถ้าเราประสบการณ์อย่างนี้ เราประสบการณ์เรื่องใจของเรา เราประสบการณ์เรื่องใจ เรื่องสัมมาสมาธิ เรื่องการยกขึ้นวิปัสสนา นี่ประสบการณ์นี้มันจะผ่านทุกข์ออกไปได้ ถ้ามันผ่านทุกข์ มันมีสิ่งใดรับรู้การผ่านนั้น? ก็มีดวงใจไง มีจิตที่รับรู้สิ่งนั้น

เวลาที่ว่าจิตมันสงบขึ้นมา เวลายกขึ้นวิปัสสนาถึงว่า เอาอะไรวิปัสสนา? มันต้องมีสิ่งหนึ่งวิปัสสนาทำความรู้ ทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นมันถึงมีผู้รับรู้ ความที่มันจะรับรู้สิ่งใดๆ มันต้องมีความสงบของใจ

จิตนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตนี้ตั้งมั่น

ถ้าจิตที่ตั้งมั่นมันมีการงานสิ่งที่รับรู้ ประสบการณ์มันก็ต้องเป็นประสบการณ์ของมันโดยตัวของมันเอง เพราะมันจะแยกแยะไง แยกแยะความเป็นไปของสัจจะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลาย ต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา” นี่ประสบการณ์ของมัน มันจะต้องเห็นสภาวะแบบนั้น นี่ประสบการณ์ของมัน แล้วมันก็ผ่านทุกข์ไป ถ้ามันผ่านทุกข์ไปตามความเป็นจริง มันจะเป็นผลของมัน

แต่เราผ่านประสบการณ์ของเรา เราผ่านของเราเอง ประสบการณ์ทางโลก ประสบการณ์ทางโลกของเขา ความผ่านของเขามานี่ประสบการณ์ของเขา ประสบการณ์แล้วก็สะสมมาๆ สิ่งนี้มันสะสมมาจนเป็นจริตเป็นนิสัยของจิต

นิสัยของจิต “จริตนิสัย” จริตของเราสัทธาจริต ถ้าเรามีสัทธาจริต เราจะมีความเชื่อมั่น เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อธรรม เรามีศรัทธา เราจะมีคำบริกรรม เราจะกำหนดพุทโธๆ เราตั้งใจคำบริกรรม เพราะเราจะทำความสงบของใจ เรามีสุตมยปัญญาคือเราศึกษาธรรมมาแล้ว เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อสัจจะ เราเชื่อประสบการณ์ของเรา เพราะทุกข์มันกังวานอยู่ในใจของเรา เราต้องพยายามหาสิ่งที่จะกำจัดทุกข์ให้ได้ แต่ในเมื่อเราจะกำจัดทุกข์ให้ได้ จะเอาอะไรไปกำจัดทุกข์ ถ้าว่าประสาเขานี่ถ้าสุตมยปัญญา ถ้าว่า

“ถ้าเราใช้สัมมาสมาธิ เรากำหนดคำบริกรรมมันไม่เป็นวิปัสสนา มันเป็นสมถะ มันเป็นการเสียเวลา” ความคิดอย่างนั้นกิเลสพาคิด กิเลสพาคิดว่า “มันเสียเวล่ำเวลา เราควรจะวิปัสสนา เราควรจะใช้ปัญญาไปเลย”

ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาของโลกเขา มันเป็นฌานโลกีย์ สิ่งที่เป็นโลกีย์ ถ้ามันสงบขึ้นมามันเป็นฌานโลกีย์ แต่ถ้ามันไม่สงบขึ้นมามันเป็นโลกีย์ ปัญญาโลกีย์ ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาการใคร่ครวญเข้ามา นี่ประสบการณ์ไง การจะผ่านทุกข์ ผ่านอย่างนั้นมันก็ปล่อยวางทุกข์ได้ การปล่อยวางทุกข์ได้นี่มันปล่อยวางแล้วสิ่งนั้นมันถึงจะเป็นผู้ที่จะวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา มีผู้รับรู้ไง ถ้ามีผู้รับรู้เราทำมาถูกต้อง ถ้าไม่มีผู้รับรู้ ไม่มีผู้ผ่าน ใครจะเป็นคนผ่าน ใครจะเป็นคนรู้

ถ้าไม่มีคนรู้ เราทำไปเลย เวลากำหนด กำหนดว่า สรรพสิ่งนี้เป็นธรรม สภาวะเป็นธรรม เราเข้าใจว่าเป็นธรรม เราพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางๆ การปล่อยวางนี่มันปล่อยวางชั่วคราว สิ่งที่ปล่อยวางชั่วคราวมันจะต้องกลับมาเป็นความสงบของใจ ใจนี้มันจะปล่อยวางเข้ามาเพราะมันไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีประสบการณ์ในการวิปัสสนา สิ่งนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิย้อนกลับเข้ามา มันไม่เป็นโสดาปัตติมรรค ถ้าเป็นโสดาปัตติมรรคจิตมันต้องสงบเป็นกัลยาณปุถุชน สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชน เพราะเราใช้คำบริกรรม คำ บริกรรมว่าพุทโธๆ ตั้งใจไว้ ถ้าสัทธาจริตทำได้ เพราะมีความเชื่อมั่นแล้วสติจะพร้อม มีสติแล้วเรากำหนดพุทโธๆ นี่มันเป็นงานของเรา

งานในการทำความสงบของใจ ประสบการณ์ที่เราจะมีขึ้นมา เราประสบการณ์หาทุนหารอน ถ้าเราไม่หาทุนหารอน เราจะไม่มีสิ่งใดจะเป็นทุนเป็นรอนเราเพื่อจะทำการค้าขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลกำไร สิ่งที่เป็นกำไรคือความสุขของใจ ใจมีความสุขนะ ถ้ากำหนดคำบริกรรมเข้ามามีความตั้งมั่น สติตั้งมั่น...เป็นไปได้ มันเป็นความเป็นไปได้แน่นอน เช่นเราต้มน้ำ หน้าที่เรา เราเติมฟืน เรารักษาไฟไว้ รักษาไฟ เราจะไม่ต้องการให้น้ำเดือด เราปฏิเสธไม่ให้มีน้ำเดือด ไฟมันร้อนอยู่ มันลุกโชติช่วงอยู่ น้ำมันต้องเดือดโดยธรรมชาติ เป็นความจริง อันนี้เป็นอริยสัจ อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์เป็นความจริงแน่นอนเลย

คำบริกรรมนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรากำหนดคำบริกรรมตลอดไป มีสติพร้อมไป มันต้องสงบเข้าสักวันหนึ่ง มันจะเป็นกี่วันก็แล้วแต่ เวลาเคลื่อนไหวไป เรากำหนดพุทโธตลอดไป มันต้องสงบเข้าสักวันหนึ่ง เราทำแบบคนโง่เลย ทำแบบคนที่ว่าไม่มีปัญญาเลย กำหนดพุทโธๆๆ อย่างเดียว “พุทโธ” กำหนดอย่างนั้นพร้อมสติไปตลอด ทำอยู่อย่างนี้ ทำ พยายามทำให้ได้ เพราะทำขึ้นมาเพื่อต้องการให้ผู้ผ่านไง ให้ผู้ผ่านผ่านทุกข์ ให้ผู้พ้นจากทุกข์ ให้ผู้นี้รับรู้ทุกข์ แล้วมันจะเป็นอริยสัจ เป็นความจริงกับใจดวงนั้น

แต่ถ้าเรากำหนดไปเลย เราอย่างที่ว่าใช้ความคิดพิจารณาไปเลย อันนั้นเป็นโลกียะ เป็นสิ่งที่เป็นโลกียะ ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ นี่มันเป็นบางคน จริตนิสัย จริตนิสัยคือความสร้างสมมาของใจ ถ้ากำหนดพุทโธๆ มันเครียด มันทำไม่ได้ เราทำไม่ได้เลย บางคนทำไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ความคิด ความคิดของเราพิจารณาไป นี่เป็นโลกียะ สิ่งที่เป็นโลกียะมันก็ต้องเป็นโลกียะไปก่อน ในการประพฤติปฏิบัติถ้าว่าเป็นโลกียะ เป็นความที่ว่ามันจะไม่เป็นโลกุตตระ มันไม่ใช่เข้าทาง แต่มันต้องเดินออกไปจากโลกียะ

เพราะเราเกิดมาในโลก เราเป็นโลกส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลก เราเกิดมานี่ โลกคือหมู่สัตว์ เราเกิดมาในโลก โลกคือหมู่สัตว์ คือสิ่งที่ว่าเป็นสังคม สัตว์สังคม เราก็อยู่กันในโลกของโลกมนุษย์ มันเป็นความจริงอันหนึ่ง แล้วโลกคือเรา หมู่สัตว์คือเรา เราสัตตะเป็นผู้ข้องอยู่ ๑ ถ้าโลกมันวุ่นวาย สิ่งที่โลกวุ่นวายให้เกิดสงคราม เกิดการต่อสู้ เกิดพายุวาตภัย โลกนี้มีความทุกข์มีความวุ่นวาย อันนั้นเป็นเรื่องของโลก เห็นไหม ย้อนกลับเข้ามาภายใน ถ้าย้อนกลับเข้ามาภายใน เรื่องโลกของเรา โลกของเราคือหมู่สัตว์ คือความข้องของใจ ถ้าใจฟุ้งซ่าน ใจมีความทุกข์ นั่นน่ะ โลกมันปั่นป่วน ความปั่นป่วนจากภายในหัวใจ ในหัวใจเรามันปั่นป่วน ในหัวใจเราไม่มีหลักยึด เราใช้ความคิดของเรา พยายามยับยั้งสิ่งนี้ ถ้าเรายับยั้งสิ่งนี้ปัญญาไล่ต้อนเข้ามา

ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญาในหลักของศาสนา “ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร”

แต่ถ้าเป็นโลกียะนี่ สังขารคิด สังขารปรุง สังขารแต่ง สังขารความคิดของเรานี่มันคิดมันปรุงมันแต่งไป สิ่งที่มันคิดมันปรุงมันแต่งไป แต่งไปโดยอำนาจของกิเลส กิเลสนี้จะอยู่เบื้องหลังของความคิด ความคิดต่างๆ คนศึกษามามาก นักวิชาการ นักศึกษา นักบริหารต่างๆ เคยผ่านโลกมามาก มันยิ่งยึดมากเพราะประสบการณ์อันนั้นกิเลสมันอยู่เบื้องหลัง กิเลสมันใช้สิ่งนี้คิดไป สิ่งที่คิดไปเราก็ว่าเราคิด พอเราคิดขึ้นไปเรามีความเบียดเบียนเขา มีสิ่งที่ว่าต้องการแบบว่าให้ได้ผลประโยชน์ เราต้องการได้ผลประโยชน์ เราคิดของเราไป เราบริหารออกไป แล้วเราทำอยู่บ่อยครั้งๆ เข้า มันเป็นความเคยชินของใจ

สิ่งที่เป็นความคิดนี่มันเป็นเรื่องของกิเลสพาคิด เรื่องนี้เป็นกิเลสพาคิด มันถึงให้แต่ความเร่าร้อนของใจ เวลาเราคิดขึ้นมาจนเหนื่อย ผู้บริหารใช้ความคิดมาก เขาจะต้องใช้พลังงานในเรื่องของพลังงานมาก เขาจะมีความเครียดมาก เพราะเขาใช้สิ่งนั้น ถ้าเขากำหนดใช้สติ สังเกตความคิดของตัวเอง ความคิดของตัวเองมันคิดออกไปด้วยอำนาจของกิเลส แต่ปัจจุบันเรามีสติประคอง ถ้ามีสติประคองความคิด ความคิดเหมือนกันแต่มันมีสติ ตัวที่สตินี้คือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สิ่งที่คิดที่ปรุงที่แต่งมันเป็นสังขารของเรา มันคิดมันปรุงมันแต่งด้วยอำนาจของกิเลส แล้วสติเราควบคุมมันไป สิ่งที่ควบคุมมันไป นี่รอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความคิดไง

มันหยุดความคิดได้ อันนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

มันก็เหมือนกับที่ว่าเขาวิปัสสนาไง เกิดเป็นความคิดเป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นความคิดเป็นรูป เป็นนามธรรม นามธรรมเกิดขึ้นแล้วมันคิดในอะไร เห็นไหม ตามรู้ตามเห็นไป นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นโลกียะชัดๆ เลย สิ่งที่เป็นโลกียะ ถ้าสติตามไปมันจะปล่อยวางๆ เข้ามา สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามามันเริ่มปล่อยวางจากหยาบนะ เริ่มต้นมันจะหยาบมาก การปล่อยวางคือมันมีสติแล้วมันหยุดเฉยๆ ความหยุดของมันนี่มันเป็นผลของมันแล้ว แล้วสติเราควบคุมไปเรื่อย มันจะคิดเรื่องอะไรก็ได้ให้มันคิดไป แล้วเราตามตลอดไป ความคิดของเราคิดเข้าไปนี่ พอสติมันทันเข้าไป รอบรู้ในกองสังขาร มันยับยั้งสังขารได้ สังขารนี้หยุด

ถ้าสังขารนี้หยุด ขันธ์ ๕ ไปได้อย่างไร? นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในฐานะของรูปมันก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นมา มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นไป สังขารคิด สังขารปรุง สังขารแต่งมันถึงขับเคลื่อน วิญญาณรับรู้ มันก็รับรู้เฉยๆ พอมันรับรู้ในอารมณ์ความรู้สึก ถ้าวิญญาณไม่รับรู้ เสียงที่กำลังได้ยินเสียงอยู่นี่ ถ้าเราไม่สนใจมัน เสียงกระทบหูเราก็สักแต่ว่าเสียง วิญญาณไม่รับรู้ วิญญาณรับรู้ในรูปนั้น วิญญาณรับรู้ในความรู้สึกนั้น มันก็เป็นวิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณรับรู้ในเวทนา ความสุข ความทุกข์มันก็มีขึ้นมา ถ้าสังขารหยุดสิ่งนี้ก็หยุดหมด ถ้าหยุดหมด เราทำบ่อยครั้งเข้า เราใช้ปัญญา ใช้สติควบคุมบ่อยครั้งเข้า ควบคุมปัญญาเข้าไป ควบคุมความคิดเข้าไป ควบคุมสังขาร

มันเป็นสังขารไปก่อน มันเป็นโลกแน่นอน แล้วโลกเริ่มเย็นลง เห็นไหม แต่ก่อนว่าโลกนี้หลุดออกมาจากดวงอาทิตย์แล้วมีความร้อนมาก พอโลกเย็นลง สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อโลกของเรามันร้อน สิ่งที่ร้อน สิ่งที่เป็นธรรมมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อเราใช้สติควบคุมสังขารความคิดความปรุงความแต่ง ความคิดความปรุงความแต่งมันเป็นไฟมันเผาผลาญโลก มันเผาผลาญใจของเรา สิ่งที่เผาผลาญใจของเรานี่โดยสติควบคุมไว้มันสงบตัวลง มันเย็นตัวลงๆ นี่สิ่งที่มีชีวิตไง คือสภาวธรรม

สิ่งที่เป็นสภาวธรรมที่จะเกิดขึ้นมาเพราะมันจะเกิดความสงบของใจ พอจิตมันสงบเข้าไป สงบขึ้นมามันหยุดได้ สิ่งที่มันหยุดได้ เห็นความสงบลง ความร่มเย็นของใจ สิ่งนี้เกิดขึ้น นี่สติตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ ใช้ความคิดคิดออกไปแล้วสงบตัวเข้ามาๆ เย็นลงๆ เย็นลง ตามบ่อยครั้งเข้าๆ แล้วเราสังเกต เราจะต้องสังเกตให้มันออกไปจับอะไร มันสังเกตปล่อยเข้ามา สังเกตนี่จับต้องให้ได้ จนถึงที่สุดมันปล่อยวางได้

ทำสัมมาสมาธิก็เหมือนกัน ทำคำบริกรรมก็เหมือนกัน เราคำบริกรรมสงบ บริกรรมเข้าไปมันปล่อยวางเข้ามาๆ มันสงบ แต่เดี๋ยวมันก็เสื่อม สิ่งที่มันเสื่อมไปเพราะธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของกิเลส กิเลสนี้มันต้องต่อต้านตลอด เพราะมันเกิดมามันเป็นเจ้าของพื้นที่ มันอยู่กับหัวใจของเรา มันเกิดขึ้นมาแล้วนี่จะสิ่งใดไปมันชำระมันเป็นเรื่องแสนยาก

งานของโลกนะ อาบเหงื่อต่างน้ำขนาดไหนมันก็เป็นความทุกข์ มันทำงานเสร็จแล้วมันก็เสร็จกัน แต่เรื่องของใจมันไม่มีวันเสร็จ มันพลิกแพลงไปตลอดเวลา ความคิดมันปรุงมันแต่งตลอดเวลา พอมันสงบเข้ามา เดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา แล้วคลายตัวออกมามันสงบยากขึ้นมาเพราะกิเลสมันรู้เชิงแล้ว มันรู้เชิงนะ งานของการทำความสงบของใจ งานการรักษาใจ

สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง แต่ความเป็นอนิจจังความคิดเกิดๆ ดับๆ ในหัวใจนี้ยิ่งเกิดดับมหาศาลเลย แล้วพอมันมีสติขึ้นมามันควบคุมได้มันก็สงบตัว พอสงบตัว พอเราจะทำสงบเข้าไปนี่กิเลสมันก็ต่อต้าน งานที่มันทุกข์มันยากเพราะกิเลสมันต่อต้าน กิเลสมันขับไส กิเลสมันพยายามพลิกแพลงให้การประพฤติปฏิบัติเราไม่ลงในมัชฌิมาปฏิปทา

ถ้าลงมัชฌิมาปฏิปทามันจะมีความสงบ มีความร่มเย็นของใจ นี่เพราะความร่มเย็นของใจ เราก็พยายามกำหนดบ่อยครั้งๆ ขณะที่เรากำหนดบ่อยครั้งขึ้นไป มันกำหนดสงบเข้ามาแล้วเราพอมันเสื่อมเราพยายามพิจารณาให้มันสงบบ่อยเข้าไปๆ เราจะเห็นไง เห็นว่าอะไรมันทำให้ฟุ้งซ่าน มันจะเสื่อม สภาวะที่จิตจะเสื่อมเพราะเหตุใด ถ้ามันปล่อยมันเสื่อม เพราะกิเลสมันติดมันข้องสิ่งใด แล้วเราพยายามใช้คำบริกรรมแล้วสังเกต ทำบ่อยครั้งๆ จนมันสงบตั้งมั่น มันจะปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียงจากภายนอก ถ้าปล่อยวางจากรูป รส กลิ่น เสียงจากภายนอก นี่บ่วงของมาร จิตนี้ติดบ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นอาหารของใจ

เราเคยกินแต่อาหารของปาก ปากเราดำรงชีวิต เราหิว เรากระหาย เราก็หาแต่ดำรงธาตุขันธ์ แต่เรื่องของใจมันหาสิ่งนี้กินมาตลอด รูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นอาหารของใจตลอด ใจกินอย่างนี้ตลอดไป แล้วไม่เคยคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นโทษกับมันนะ มันกินตลอดไปเพราะมันมีกิเลสตัวยึดมั่น สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้ มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นธรรมชาติของทางของกิเลสที่มันเคยขับไส มันเคยออกไปตลอดเวลา มันจะไปตามอำนาจของมันสภาวะแบบนั้น แล้วสติเราสังเกตดู ถึงจุดหนึ่งมันจะปล่อยๆ จนมันปล่อยได้นะ มันขาดๆ จากรูป รส กลิ่น เสียงเป็นกัลยาณปุถุชน

ใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน เรากำหนดเข้ามานี่มันจะปล่อยอย่างนี้ ปล่อยเข้ามาๆ แล้วเราสังเกต พยายามใช้ปัญญาใคร่ครวญ มันจะตัดด้วยปัญญา ตัดด้วยปัญญา เราติด ติดรูป รส กลิ่น เสียงนี้ เราติดสิ่งนี้ เราติดโดยธรรมชาติของมัน ถ้าติดแล้วเราควบคุมไม่ได้ ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาเข้ามามันจะปล่อย มันปล่อยมันรู้ตามความจริงว่าสิ่งนี้ขาด พอขาดออกมานี่เราจะควบคุมใจได้ง่าย เราจะควบคุมได้ง่ายขึ้น พอง่ายขึ้นมา เราสามารถจะทำให้สงบขึ้นมา เรารักษาใจของเราได้ นี่ความสุขส่วนหนึ่ง

ผู้ที่จะผ่านทุกข์ไง ถ้าสิ่งนี้มีขึ้นมา นี่จิตต่างหากเป็นผู้วิปัสสนา

สิ่งที่เราวิปัสสนาทางโลกที่ใช้ว่าเป็นวิปัสสนา พิจารณาของเราเป็นวิปัสสนาอยู่แล้วนี่เป็นวิปัสสนา มันจะรีบให้ได้ผลงาน เขาจะไม่ได้ผลงานใดๆ เลย เพราะเขาจะใช้ประสบการณ์ของเขาผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่องของโลก

แต่ถ้าจะผ่านทุกข์นี้มันต้องผ่านด้วยมรรคอริสัจจัง มันต้องผ่านด้วยสัมมาสมาธิ ผ่านด้วยจิตตั้งมั่น จิตที่ปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียงไว้ตามความเป็นจริง มันเป็นเอกัคคตารมณ์ มันเป็นกัลยาณปุถุชน สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชน คือจิตที่ควรแก่การงาน จิตที่ควรแก่การงาน จับต้องงาน ถ้าจับต้องงานได้จะจับสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม รวมลงแล้วกายกับจิต สิ่งที่วิปัสสนากายจะต้องวิปัสสนากาย ถ้าวิปัสสนากาย มันจะเป็นว่า จิตนี้สงบขึ้นมาแล้วน้อมนำขึ้นมา ถ้าคนมีอำนาจวาสนาจะเห็นกาย เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เห็นเป็นกะโหลกศีรษะ เห็นเป็นอย่างนั้น นี้คือการวิปัสสนากาย

แต่ถ้าเห็น นึกกาย นึกเปรียบเทียบกาย ไม่เห็นภาพก็ได้ นึกเปรียบเทียบกายไงว่า กายนี้เกิดขึ้นมา เราตั้งกายขึ้นมา ตั้งกายขึ้นมานี่เป็นปัญญา เป็นปัญญาพิจารณากาย เป็นธรรมารมณ์ สิ่งที่เป็นธรรมารมณ์มันก็เหมือนกับพิจารณาจิต ถ้าพิจารณาจิต เราเห็นจิต พิจารณาจิต จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส นี่พิจารณาจิต แล้วเราพิจารณาจิตว่าเป็นขันธ์ ๕ ก็ได้ สิ่งที่เป็นขันธ์ ๕ นี่ผู้ที่จะผ่าน จิตนี้ต่างหากเป็นผู้ยกขึ้นวิปัสสนา เราจะเห็นความเป็นไปของการวิปัสสนาว่าวิปัสสนาในกาย ในจิต วิปัสสนาไป

ถ้าเห็นกายโดยเป็นรูปอันนั้นพิจารณากาย ถ้าพิจารณากายเราต้องกำหนดดู สิ่งที่กำหนดดู กำลังของสมาธิพอ สิ่งนี้ตั้งไว้ แล้วพิจารณาให้มันเป็นวิภาคะ แยกสลายส่วน แยกออกไปๆ ถ้ามันเห็นสภาวะแบบนั้น ใหม่ๆ มันทำได้ยาก ทำได้ยากเพราะเราไม่เคยทำ สิ่งหนึ่งเราไม่เคยทำ แล้วเราไม่เคยทำอย่างนี้เลย ถ้าเราเคยทำสิ่งนี้ ใจของเราจะไม่มีความทุกข์ยากอย่างนี้ เราจะไม่มาเกิดอย่างนี้ สิ่งที่เกิดนี้เกิดเพราะอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาแบบที่ว่าผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านภพผ่านชาติ เราผ่านภพผ่านชาติมา เราเกิดตายๆ มา เราสร้างสมสิ่งนี้มาจนเป็นกุศล จนเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นกุศลมาก เวลาเกิด ว่าสมบัติ อริยทรัพย์สมบัติ การเกิดนี้ มนุษย์สมบัตินี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่ทำไมเกิดขึ้นมามันมีความทุกข์ความยากล่ะ

สิ่งนี้เกิดขึ้นมาเพราะเป็นฐาน ฐานให้เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเรายังได้ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติแล้วถูกช่องทางด้วย เราผ่านเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนยกขึ้นมาให้เห็น ให้เห็นกาย เห็นกายตามความเป็นจริง พิจารณากายไปเห็นตามความเป็นจริง แล้วกำหนดพิจารณาไป

กำลังไม่พอ เราก็ย้อนกลับมาที่สัมมาสมาธิ กำหนดสัมมาสมาธิเดินคู่กันไป เราไม่ใจร้อน ไม่ด่วนได้ ถ้าเราด่วนได้ เราอยากด่วนได้เราคิดของเราไป มันเป็นวิปัสสนึกนะ เรานึกขึ้นมาให้เห็นสภาวะแบบนั้นแล้วมันก็เป็นไป ถ้าเป็นวิปัสสนึกมันจะไม่เห็นผลตามเป็นความจริง

แล้วรำพึงล่ะ สิ่งที่ไม่เห็นรำพึงไม่เป็นนึกหรือ? ความนึกอันนี้ นึกในสัมมาสมาธิ นึกโดยมัชฌิมาปฏิปทา นึกโดยให้มันเกิดขึ้นเป็นปัจจุบันธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เป็นอุบายวิธีการไง การจะเดิน ก้าวเดินไป เราต้องมีปัญญา เราจะไปอั้นตู้ตัวเราเอง เราไปชนหน้าผาแล้วเราไม่เดินออกไป แล้วว่ามันจะเป็นการก้าวเดิน การประพฤติปฏิบัติจะได้ผล...มันจะได้ผลมาจากไหน ในเมื่อเราไม่ก้าวเดินไป ถ้าเราก้าวเดินไป เราต้องใช้อุบายวิธีการให้ก้าวเดินไป อุบายวิธีการของธรรม ไม่ให้อุบายวิธีการของกิเลสมันมาบิดเบือนไง ถ้าอุบายของกิเลสมันจะบิดเบือนให้เราผิดพลาด ให้เราส่งออก ให้เราหมุนออกไปข้างนอก แล้วเราจะไม่สามารถชำระกิเลส

ธรรมะคือการทวนกระแส สิ่งที่ทวนกระแสจากประสบการณ์ การประสบผ่านร้อนผ่านหนาวจากประสบการณ์ทางโลก เปรียบเทียบเข้ามาจากภายใน ถ้าย้อนกลับเข้าภายใน มันจะทวนกระแสเข้าไปหาภายใน จิตมันไม่สงบ จิตมันไม่มีกำลัง มันจะจับให้สิ่งนั้นเคลื่อนไหว สิ่งนั้นจับต้องยืนตัวไม่ได้ เราก็กลับมาที่พุทโธๆ ไม่ใจร้อนด่วนได้ แล้วพุทโธให้จิตสงบขึ้นมา กำลังพอกลับไปย้อนอย่างนั้น ถ้าพิจารณากาย

ถ้าพิจารณานามธรรม พิจารณาเป็นธรรม กายเปรียบเทียบ ไม่เห็นรูป สิ่งที่ไม่เห็นรูปเราก็เปรียบเทียบได้ พอเปรียบเทียบว่า เกิดมาแล้วมันต้องตาย สภาวะของร่างกายมันแปรสภาพตลอด มันเสื่อมสภาพไป มันเป็นของสกปรกโสโครก มันเป็นของสิ่งที่เราเอาไว้ มันต้องอาบน้ำต้องชำระล้างร่างกาย ถ้าไม่ชำระมันต้องเหม็นตามอำนาจของมัน ขี้เหงื่อขี้ไคลต้องทำให้เป็นสภาวะแบบนั้น นี่วิปัสสนาสิ่งนี้มันก็ปล่อยวาง วิปัสสนาสิ่งนี้คือการใคร่ครวญ การใคร่ครวญเป็นธรรม ธรรมารมณ์ไง อารมณ์ที่เกิดขึ้น พิจารณากายอย่างนี้ก็ได้

พิจารณาจิต จิตที่เกิดขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรม จากว่าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เวลาเราไม่คิด ความคิดมันไม่มี ถ้าความคิดเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด สิ่งที่เกิดขึ้นมามันต้องมีเหตุมีผล เราต้องย้อนกลับจับตรงนี้ สังเกตให้ได้ ถ้าสังเกตได้เราจะจับอาการของมัน จับความรู้สึกได้ อาการของจิต อาการของความรู้สึกที่เคลื่อนไป ปัญญาที่มันเคลื่อนไปๆ มันไม่ลอยลมหรอก สิ่งว่าเป็นนามธรรมๆ มันไม่เป็นตัวตน เราคิดว่ามันไม่เป็นตัวตน เราจับต้องไม่ได้เพราะมันเป็นนามธรรม

แต่ในเมื่อเรามีสัมมาสมาธิจิตตั้งมั่น แล้วมันเป็นจริตนิสัยไง

ผู้ที่วิปัสสนากายมันก็ได้กาย ถ้ามันไม่ได้กาย เราจะฝืนว่าเราต้องพิจารณากายไปมันก็ทำให้เราไม่ก้าวเดิน อุบายของเรามีเท่านี้หรือ ถ้าอุบายของเรามีทางอื่น สติปัฏฐาน ๔ เราย้อนกลับมาพิจารณาที่จิต จับตัวที่จิต จับอาการของมัน จับความรู้สึกของมัน ถ้าจับความรู้สึกของมันได้นี้คือรูป นี้คือตัวรูปของจิตคืออาการของมัน คือความรู้ของมัน “อาการของจิต” ถ้าเราพิจารณาไป เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามานี่มันมีเป็นความรู้สึกเราจับ มันเป็นอาการทั้งหมด มันเป็นเงา สิ่งที่เป็นเงานี้มันเป็นเงาตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เราพิจารณาขึ้นมาแล้วมันปล่อยวาง ตั้งแต่สังขาร ปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร ปัญญาการรอบรู้ในกองสังขารจะจับสิ่งนี้แล้วใช้สติปัญญาใคร่ครวญเข้ามา นี่มันก็เป็นอาการของจิตเหมือนกัน สิ่งที่ทำให้เป็นอาการของจิต มันถึงว่ามันยกขึ้นเป็นวิปัสสนาไม่ได้ไง

หลวงปู่ดูลย์บอกไว้ ผู้ที่ถ้ามันเป็นอาการของจิต มันไม่ถึงตัวจิต ถ้าไม่ถึงตัวจิต เห็นไหม จิตส่งออก สิ่งที่ส่งออกไปนี้ ผลของมัน มันเป็นสมุทัยทั้งหมด ผลของมันคือความทุกข์ นี่จะแก้ไขความทุกข์ จะต้องให้จิตมันย้อน ต้องให้หยุดความคิด การจะหยุดความคิดก็ต้องใช้ความคิด

แต่ความคิดที่มันเป็นมรรค สิ่งที่มันเป็นมรรคอาการที่มันทวนกระแสเข้ามามันเป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคจะทำให้จิตนี้สงบ ถ้าจิตนี้สงบขึ้นมา มันจะเป็นผลของมันคือเป็นบุญกุศล จะเป็นความสุข อันหนึ่งจะให้ผลเป็นความทุกข์ถ้าเป็นสมุทัย แต่ถ้าเราใช้สติ เราควบคุมเข้ามานี่ มันจะเป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคผลของมันเป็นนิโรธคือมันสงบตัวลง

แต่นิโรธในเรื่องของการใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันหยุด มันนิโรธมันหยุดชั่วคราวๆ เข้ามา

อาการของจิตเหมือนกัน แต่มันคนละอาการ อาการของมันที่เราต้องขับไสออกไป เป็นการเป็นกระแสออกไป แต่เราจับเข้ามามันเป็นขันธ์ มันไม่ใช่อาการ มันจับตัวของจิตได้ “จิตจับจิต” จิตนี้จับอาการของใจเป็นรูปเลย มันไม่ใช่อาการ ไม่ใช่เงา...เป็นเนื้อ ถ้าเป็นเงาเราจะชำระกิเลสไม่ได้ ถ้าเป็นเนื้อเราจะแยกได้ เพราะเนื้อ ทำไมแยก สิ่งนี้เป็นรูป อาการอย่างนี้เป็นอาการคือรูปของจิต อาการอย่างนี้เป็นเวทนา อาการอย่างนี้คือความจำได้ ความเทียบเคียงนี้คือสัญญา สิ่งที่เป็นสัญญา สิ่งที่ความคิด ความปรุง ความแต่งมันจะเห็นสังขารไง เห็นสังขาร

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นวิญญาณรับรู้

พอมันแยกได้ ตัวจิตตัวที่มันสงบ ตัวที่มันปล่อยวางต่างๆ เข้ามา เป็นกัลยาณปุถุชน จิตมันปล่อยรูป รส กลิ่น เสียง หมดแล้วมันเป็นอิสรภาพเข้ามา แล้วมันก็ยกสิ่งนี้ขึ้นมาวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาอย่างนี้มันแยกอาการของขันธ์ ๕ ถ้าแยกอาการของขันธ์ ๕ เห็นอาการของขันธ์ ๕ อาการของขันธ์ ๕ มันเหมือนภูเขาลูกใหญ่มาก ถ้าเราจะยับยั้ง เราจะทำลายความคิดของเรา เหมือนกับพิจารณากาย เราจะพิจารณากาย มันเริ่มต้นขึ้นมามันเป็นภูเขาทั้งลูกเลย เราจะทำอย่างไรกับมัน น้ำหนักของมัน เราต้องพยายามตั้งจิตแล้ววิปัสสนาไป

จะให้เห็นว่า วิปัสสนากายก็ได้ จิตก็ได้ ในสติปัฏฐาน ๔ แต่เอาอันเดียว สิ่งใดเอาอันเดียว ขณะที่ทำนั้นทำสิ่งเดียว เพียงแต่ว่า มันแยกแยะออกไปเป็นจริต เป็นนิสัยของสัตว์โลกไง สัตว์โลกจะไม่เหมือนกัน การพิจารณากายก็ไม่เหมือนกัน

“พิจารณากายโดยเห็นกาย” พิจารณากายโดยสติปัฏฐาน ๔ คือเห็นเป็นกายเลย

“พิจารณากายโดยนามธรรม” คือไม่เห็นรูป ไม่เห็นรูปของกาย แต่ใช้ปัญญาเทียบเคียง เทียบเคียงออกไปให้เห็นโทษของมัน

แล้ว “พิจารณาธรรมารมณ์” ก็อาการของธรรม

แล้ว “พิจารณาจิต” ก็เป็นอาการที่ว่าเป็นขันธ์ สิ่งที่เป็นขันธ์นี้ก็แยกออกไปๆ

นี้คือประสบการณ์ในการวิปัสสนา ถ้าประสบการณ์อย่างนี้มันเห็นประสบการณ์อย่างนี้ แล้วมันแยกแยะออกไปได้มันจะเริ่มปล่อยวาง การปล่อยวาง การวิปัสสนานี่มันจะเห็นผลของมันว่า ในเมื่อเราทำสัมมาสมาธิ เวลาจิตมันสงบเข้ามา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันจะมีความสุข มันจะปล่อยวางแล้วเวิ้งว้าง มีความสุขมาก ใช้คำบริกรรมเข้ามาจนจิตมันสงบมันจะมีความสุข มันจะมีความสุขชั่วคราว ว่างมีความสุข อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง

แต่ในการวิปัสสนาแล้วถ้ามันปล่อยมันจะลึกกว่านั้น เพราะมันใช้ปัญญา ปัญญาต่อสู้กับกิเลส กิเลสมันสงบตัวลง กิเลสหลบกับกิเลสมันสงบตัวลง เพราะมันโดนวิปัสสนาญาณใคร่ครวญมาแล้วมันปล่อยวาง ความสงบเวลามันปล่อยวางต่างกัน ประสบการณ์ของผู้ประพฤติปฏิบัติมันจะเห็นความต่างตรงนี้เลย

ถ้าความต่าง วิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า ถ้ามันปล่อย มันปล่อย ถ้ามันปล่อย ถ้ากิเลสมันหลอกมันจะบอกว่า “นี่ผ่านทุกข์” ถ้าผ่านทุกข์อย่างนี้มันผ่านแล้วมันจะต้องเสื่อมไป สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะของธรรม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา” สภาวธรรมมันก็เป็นแบบนั้น สภาวธรรมต้องเห็นตามความเป็นจริงมันก็ต้องเป็นแบบนั้น

แต่สภาวะของใจ เพราะใจของเรามันเป็นสสาร มันเป็นความจริงอันหนึ่ง มันก็เสื่อมสภาวะโดยตามความเป็นจริงของมันอยู่แล้ว เสื่อมสภาวะของมันตามความเป็นจริง มันก็ต้องเสื่อมไป เพราะเราวิปัสสนา วิปัสสนาเรามีประสบการณ์ แต่ประสบการณ์นั้นมันไม่ผ่านทุกข์ ถ้ามันผ่านทุกข์มันต้องวิปัสสนาไป แล้วมันปล่อยวางๆ หมั่นคราดหมั่นไถ สิ่งที่หมั่นคราดหมั่นไถ การทำ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เวลาคนได้ผลงาน เราได้รับรางวัลอะไรก็แล้วแต่ เราจะดีใจ แล้วเราจะเผลอเลินเล่อเหมือนกัน

การวิปัสสนาก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยวาง มันถึงว่าเป็นความสุข แล้วเราเคย เราต้องอดนอนผ่อนอาหารเพื่อจะวิปัสสนาขึ้นมา เราใช้กำลังมามากไง พอมีความสุขอย่างนี้ เราก็แบบติดสุขแล้วเราพอใจกับความสุขนั้น...มันจะต้องเสื่อมสภาพ มันปล่อยวาง มันไม่ผ่าน ถ้ามันผ่านทุกข์นะ มันจะวิปัสสนาบ่อยครั้งเข้าๆ ขันธ์จนมันแตกสลายเลย

เวลากายมันปล่อยนะ พอมันพิจารณากาย พอปล่อยกาย กายปล่อยออกไป จิตมันเห็นสภาวะแบบนั้นมันก็ถอน ถอนออกมาเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันจะแยกอย่างนั้น วิปัสสนาโดยกายเป็นธรรมชาติก็เหมือนกัน โดยวิปัสสนากายโดยนามธรรม วิปัสสนาไป มันเป็นไปได้ วิปัสสนาไปได้มันก็จะปล่อยอย่างนั้น ถ้าเราพิจารณากายนะ มันเห็นสภาวะจิตหลุดออกไปเลยนะ เห็นสภาวะแบบนั้น

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน พิจารณาอะไรก็เหมือนกัน...อย่างเดียว ผู้ที่ผ่านผ่านอย่างเดียว แล้วพอขาด ผู้ที่ผ่านทุกข์มันจะขาด ทุกข์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ทุกข์แยกจากกันโดยธรรมชาติ จะเป็นธรรมชาติ จริงตามธรรมชาติ ขันธ์ก็จริงตามขันธ์ จิตก็จริงตามจิต ทุกข์ก็จริงตามทุกข์ มันเป็นส่วนอันส่วนจริงแล้วมันจะเข้ามาประสานกันไม่ได้เลย มันตัดขาดไปโดยสภาวะมรรคอริยสัจจัง มรรคสามัคคีแล้วสมุจเฉทปหาน สิ่งนี้จะเชื่อมต่อกันอีกไม่ได้ สิ่งนี้เป็นอกุปปธรรม เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในวงของ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เป็นอนัตตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา แต่ผู้ที่เห็นอนัตตา ผู้ที่เห็นความเป็นไปของการวิปัสสนา เราวิปัสสนาแล้วเห็นสิ่งนี้แล้วมันขาดออกไปจากใจ “ผู้เห็น” นี่จิตที่ว่าจำเป็นต้องมีจิตเป็นผู้วิปัสสนา จำเป็นต้องจิตที่เป็นผู้ดูกาย แต่เราวิปัสสนาเข้าไป เราจะไม่เห็นสภาวะแบบนั้น มันต้องผ่านถึงที่สุดแล้วย้อนกลับมามันจะเห็นสภาวะแบบนี้โดยชัดเจน

แต่ในเมื่อเราเป็นคนทำงาน เรากับงานกำลังเป็นล้มลุกคลุกคลานอยู่จะไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริง แต่มันก็ต้องวิปัสสนาไป จนมันผ่านอย่างนี้ไง ถ้าปล่อยวางอย่างนี้แล้วขาดออกไปอย่างนี้แล้วจะไม่เชื่อมต่อกัน ไม่เชื่อมต่อกันเลย สภาวะทุกข์จะไม่มีในหัวใจ สภาวะทุกข์ของกายจะไม่มีในหัวใจ

แต่ทำไมนางวิสาขา เวลาหลานตายร้องไห้ไปหาพระพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “วิสาขาเธอเป็นอะไร”

“หลานตาย เสียใจถึงหลาน”

“ถ้าในโลกนี้ทุกคนเป็นหลานของเธอ เธอจะไม่ร้องไห้ทุกวันหรือ เธอจะต้องร้องไห้ทุกวัน เพราะมีคนตายคนเกิดอยู่ทุกวัน”

นี่พระโสดาบันได้สติสัมปชัญญะทันทีเลย นี่ทุกข์หลุดออกไปจากใจ ไม่เกี่ยวกัน มันไม่ใช่ทุกข์ สิ่งที่เป็นสภาวะของขันธ์ ๕ ในกายของขันธ์ ๕ เรื่องของร่างกายมันทุกข์ประจำธาตุขันธ์ไง ทุกข์ของขันธ์ ๕ พระโสดาบันนั่งนานๆ มันก็เมื่อย พระโสดาบันอดอาหารมันก็หิวข้าว เรื่องความหิวของธาตุขันธ์

“มันเป็นทุกข์ในขันธ์” กับ “ทุกข์ของกิเลส” มันคนละอันกัน

“ทุกข์ในขันธ์” คือสภาวะของขันธ์ มันสภาวะมันรับสิ่งใดแล้ว มันต้องมีความคงทนของมัน มันเป็นสภาวะแบบนั้น ทุกข์ถึงไม่เข้าจิต มันเป็นทุกข์ของขันธ์ ไม่ใช่ทุกข์ของจิต

“ทุกข์ของจิต” มันเป็นเรื่องของกิเลส เราชำระกิเลสออกไปแล้วมันขาดออกไป สิ่งนี้จะเชื่อมต่อกันอีกไม่ได้เลย นี้คือการผ่าน จิตที่มันผ่านทุกข์ มันจะผ่านอย่างนี้ เห็นความผ่านออกไป ผ่านออกไปแล้วจะเป็นความจริงของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นต้องยกขึ้นวิปัสสนาสูงขึ้นไป

ผ่านจากขันธ์อย่างหยาบ ต้องต่อสู้กับขันธ์อย่างกลาง แล้วต่อสู้กับขันธ์อย่างละเอียด นี่ผู้ผ่านทั้งหมดเลย จิตมันจะผ่านเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป เราต้องยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นวิปัสสนาด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ

จิตที่ปล่อยวาง จิตที่ไม่มีความทุกข์ในเรื่องของกายแล้ว มันปล่อยวางในเรื่องของกาย

มรรค ๔ ผล ๔ โสดาปัตติมรรค เราใคร่ครวญ ใคร่ครวญแล้วปล่อยวาง เป็นโสดาปัตติผล มันสัมปยุตมันถึงสามัคคี จิตนี้มันสัมปยุต มรรคสามัคคี มันจะสามัคคีรวมตัวกัน แล้วสมุจเฉทปหาน ปหานออกไป กิเลสจะขาดออกไปจากใจ ทุกข์นี้หลุดออกไปจากใจ นี่เป็นโสดาปัตติผล สิ่งที่เป็นโสดาปัตติผลแล้วนี่มันเป็นผลงานที่ใช้ไปแล้ว

แล้วสกิทาคามรรค มันก็ต้องเป็นสัมมาสมาธิของสกิทาคามรรคที่เราจะเพิ่มขึ้นมา เราถึงต้องทำความสงบของใจยกขึ้น แต่มันเป็นงานที่เคยผ่านประสบการณ์ ผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติยาก ยากตรงเริ่มต้นนี่ เพราะเราไม่เคยทำ สิ่งที่ไม่เคยทำ

จากเริ่มต้น เราจากเริ่มต้นจับสายเชือก เราจับเชือกเส้นหนึ่งเราสาวเข้ามา เราจะถึงปลายเชือกแน่นอนเลย นี้เราจับเรื่องของกาย จับเรื่องของขันธ์ จับเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ได้ ถ้าเราสาวเข้าไปมันจะถึงปลายเชือกได้ ขันธ์อย่างหยาบ-ขันธ์อย่างกลาง-ขันธ์อย่างละเอียด จะต้องถูกทำลายไป ด้วยความมรรคอริยสัจจัง ด้วยความสมดุลของมัน มันจะผ่านทุกข์เป็นชั้นๆ เข้าไป การผ่านทุกข์ตามความเป็นจริงต้องผ่านอย่างนั้น

แม้แต่ผ่านเวทนา เราผ่านเวทนา เวลาผ่านเวทนา วิปัสสนาในขันธ์ ๕ วิปัสสนาเวทนา เวทนาเกิดขึ้นขนาดไหนมันเป็นเวทนาส่วนหนึ่ง เวลามันปล่อยแล้วมันปล่อยขาด เวทนาหน้าไหนเราก็รู้จักมันไม่ทั้งหมดหรอก แต่มันก็มี มีโดยเรามีสติไง เวทนามันยังเกิดอีก มันยังหิวได้ ยังหิว ยังกระหาย เป็นธรรมชาติของมัน สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของธาตุขันธ์

ความจริงของธาตุขันธ์เป็นส่วนหนึ่ง ความจริงของทุกข์ของกิเลสเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนที่เราชำระมันจะปล่อยเข้ามา นี่เราก็ต้องยกขึ้น มันจะอ่อนเพลียอ่อนล้า เราทำงาน งานของเราการประพฤติปฏิบัติมันต้องใช้กำลังตลอดไป ใช้กำลังใจนะ กำลังใจเกิดขึ้นมาแล้วเราพยายามต่อสู้ขึ้นไป ย้อนกลับเข้ามาตลอด ถ้าเราน้อยเนื้อต่ำใจเราต้องคิดเปรียบเทียบตลอดเวลา ปัญญามันต้องเปิดออกนะ พยายามเปิดให้เรามีทางเดิน ถ้ากิเลสมันเกิดมันจะปิดทางเดินของเรา แล้วเราเดินไปไม่ได้ ล้มลุกคลุกคลานด้วยความทุกข์ความยากแล้วเราจะจมอยู่ในทุกข์นี้ตลอดไป

เราจะผ่านทุกข์ เราจะไม่จมอยู่กับมัน ถ้าเราจะจมอยู่กับมัน กิเลสเชื่อมันมันถึงทำให้เป็นอย่างนั้น เราไม่เชื่อมันมันก็พยายามหาเหตุหาผลล่อหลอกให้เราเชื่อมันจนได้ ถ้าเราเชื่อมันเราก็จมอยู่ในนั้น

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา เราต้องพลิกแพลงนะ ทุกข์อย่างนี้เราเกิดตายๆ มาทุกชาติ ทุกภพทุกชาติ เราเกิดตายมาแน่นอน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเราจะไปเห็นสมบัติของเราข้างหน้า ถ้าเราปลดเปลื้องจนขันธ์นี้หลุดออกไปจากใจทั้งหมด ไปถึงจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” จิตเดิมแท้คือข้อมูลของอวิชชา มันจะเปิดรื้อภพรื้อชาติ มันจะเห็นความเป็นไปของจิตดวงนี้ว่ามันทุกข์ยากมาขนาดไหน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเห็นสภาวะแบบนี้ในใจของเรา

ในหัวใจของเรามันเป็นตำราเล่มใหญ่ที่น่าศึกษาน่าค้นคว้ามาก ตำราภพตำราชาตินะ เราจะผ่านภพผ่านชาติทำลายตำราเล่มนี้ ถ้าเราไปรื้อค้นตรงนั้นเราจะเห็นสภาวะการสะสมของมันแต่ละภพแต่ละชาติ แต่ถึงตรงนั้นแล้วตำราเล่มนั้นก็ต้องเผาไฟซะ มรรคสิ่งนั้นต้องทำลายตรงนี้ ทำลายสิ่งนั้นแล้วมันจะหมุนขึ้นไป นี้พูดถึงว่าถ้ามันผ่านขึ้นไปมันจะไปเห็นตรงนั้น

แต่เวลาเราก้าวเดินขึ้นไปมันจะเกิดความลังเลสงสัย เกิดความต้องการอยากรู้ เราต้องสงบสิ่งนี้ สิ่งที่อันนี้เป็นทางออกของกิเลส สิ่งที่เป็นความลังเลสงสัย สิ่งที่อยากรู้อยากเห็น มันเป็นสิ่งที่ว่าทำให้เราผิดออกนอกจากมัชฌิมาปฏิปทา

ถ้าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเราต้องย้อนกลับขึ้นมา ย้อนกลับใจ ย้อนใจกลับมาให้มันเกิดความสงบ หน้าที่ของเราคือต้องทำความสงบของใจแล้วยกขึ้นให้มันมีฐาน ให้เป็นฐานที่มั่นที่ควรแก่การงาน ถ้าเราจิตมันปล่อยวางมาแล้ว เราเชื่อสิ่งนั้น เราเชื่อแล้วเราไม่ตั้งสติ ไม่ยกใจขึ้นมา ใจมันก็ปล่อยว่างอยู่อย่างนั้น มันไม่เป็นงานชอบ ถ้าเป็นการงานชอบ ความเพียรชอบ มันจะยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนามันจะเห็นสภาวะของกายเหมือนกันถ้าพิจารณากาย

ถ้าคนพิจารณาบางองค์ พระบางองค์ ผู้ประพฤติบางคนพิจารณาแล้วมันเปลี่ยนแปลงได้ จากส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเปลี่ยนจริตนิสัยพิจารณากาย จับกายซ้ำมันก็จะเห็นสภาวะกาย วิปัสสนาไปมันจะทำลายออก จากที่ว่าวิปัสสนากายเริ่มต้น มันจะเปลี่ยนสภาพ มันจะแปรสภาพออกไป แต่สิ่งนี้มันจะเริ่มทำลายของมัน มันคืนสภาวะของมัน เพราะว่าเราพิจารณาไป มันจะเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันคืนสภาวะตามธรรมชาติของมันแน่นอน สิ่งนี้มันเป็นสัจจะความจริงอยู่แล้ว แล้วสภาวธรรมอันนั้นมันเห็นไง สิ่งที่ว่าพิจารณากายโดยนามธรรมมันก็จะวิปัสสนาโดยนามธรรม มันก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญไป เห็นการยึดมั่นถือมั่นของใจ ใจที่ยึดมั่นมันจะปล่อยเข้ามาๆ

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน พิจารณาสภาวธรรมก็เหมือนกัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเดียวสลัดออกไป มันสลัดออกสติปัฏฐาน ๔ ทั้งหมด ใจนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ มันกลั่นสิ่งนี้เข้ามามันก็ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา เวิ้งว้างเข้ามา “นี่ผ่านทุกข์”

การผ่านทุกข์มันจะเห็นการทำลายกัน จะต้องขาดออกไป ปฏิฆะ-กามราคะอ่อนตัวลง สิ่งที่อ่อนตัวลงนี่มันรู้ขึ้นมาจากใจเลย ว่าง “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” มันจะว่าง โลกนี้ราบเห็นหน้ากลอง โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองคือไม่มีสิ่งใดเข้าไปเจือกับใจอันนั้นเลย ขณะที่มันเป็นโลกนี้ไม่มี จิตนี้ใจนี้เหมือนกับหน้ากลองเรียบ ไม่มีต้นไม้ ไม่มีสิ่งใดเป็นจุดเป็นต่อมขึ้นมาให้มันเป็นที่สะดุดได้เลย ปล่อยวางขนาดนั้น ว่างหมดเลย นี่มันผ่านทุกข์เข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

ถ้าผ่านทุกข์เข้าไปอีกชั้นหนึ่ง มีความละเอียด สิ่งที่ละเอียด เวลาเราพูดกัน ถ้าเรานักปฏิบัติเริ่มต้น เราคุยกันเราคุยกันเรื่องเดียว เราคุยกันบนโต๊ะ เราคุยกันบนเหตุบนผลเราก็ตีความชั้นเดียว แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันมีละเอียดเข้าไป ความปล่อยวาง ว่าง ว่างคนละชั้นคนละตอน นี่มันจะว่างขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ เข้าไป มันจะว่างมากแล้วมันจะติดมาก ทำให้ติดได้นะ ติดว่าตรงนี้เป็นถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัติ มันจะมีความสุข เวิ้งว้างอยู่อย่างนั้น

ถ้าพูดถึงถ้าผู้มีสติสัมปชัญญะ ผู้ที่ใคร่ครวญศึกษา มีโอกาสมีวาสนาเทียบกับธรรมพระไตรปิฎก เทียบกับพระไตรปิฎก ธรรม “มรรค ๔ ผล ๔” สิ่งที่มรรค ๔ ผล ๔ สิ่งที่ครูบาอาจารย์ ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ก็จับไว้เป็นบรรทัดฐาน นี่มันต้องลึกเข้าไป สิ่งที่ลึกเข้าไปนี้มันคืออะไร?

นี้มันคือการอวิชชามันถอยตัวเข้ามา มันจะเข้าถ้ำไง ความหมายของเรา ความเข้าใจของเราคิดว่าอวิชชา จิตนี้ถอยตัวออกมา ถอนตัวออกมาๆ เราเข้าไปรู้ไปเห็นนะ มันปล่อยขันธ์อย่างกลาง เราคิดว่ามันจะเข้าถ้ำ มันเวิ้งว้างหมดแล้วมันหาไม่ได้ ถ้าเราไม่ยกจิตขึ้นมา เราไม่สร้างสัมมาสมาธิขึ้นมา มันไม่เป็นสัมมาสมาธิ มันไม่เป็นมรรคโค ไม่เป็นทางเดิน จิตนี้มันไม่เป็นผลงาน เวลามันว่าง มันปล่อยวาง เหมือนเราไม่ทำอะไรเลย เราทำสบายใจ เราไม่คิดเลยมันก็ไม่มี เวลาเราคิดมันก็มี

จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราจะให้เป็นธรรม เราต้องยกขึ้นมา ยกให้มันเป็น ยกขึ้นมาให้ขุดคุ้ยค้นคว้าหา หาสิ่งที่มันเข้าถ้ำ มันถอย ถอยไปไหน ตัวจิตนี้ไปอยู่ที่ไหน ย้อนกลับมามันไปอยู่ที่ไหน เราใคร่ครวญสิ่งนี้เข้าไป มันเป็นการที่ว่าเรายกขึ้นมาให้เป็นงาน ถ้ายกขึ้นให้เป็นงานมันจะค้นคว้า

ถ้าพิจารณากายมันจะเป็นอสุภะ ถ้าออกหากาย ถ้าเจอกายมันเป็นอสุภะ

ถ้าเจอนามธรรม เป็นกามราคะ

ถ้าเราเจอจิต จิตนี้เป็นจิตที่ละเอียดที่มันเป็นกามราคะเหมือนกัน

สภาวธรรมก็เป็น จะเป็นสิ่งนี้เหมือนกันหมด เพราะมันเป็นขั้นของกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะมันเป็นสิ่งที่ว่าเหมือนเชื้อของเมล็ดพันธุ์พืช มันมีเชื้ออยู่ ถ้ามันตกที่ไหนมันก็ต้องเกิด นี้มันเป็นเหมือนกับเชื้อของใจ มันเป็นเชื้อของจิต จิตมีเชื้อสิ่งนี้จิตถึงผสมพันธุ์ สิ่งที่การผสมพันธุ์การสร้างโลกขึ้นมามันเป็นสิ่งนี้เกิดมา มันเป็นสิ่งที่ผสมพันธุ์ออกมา มันถึงเกิดขึ้นมา มันถึงเป็นสิ่งที่เกิดดับๆ ในโลกนี้ไง มันถึงได้เป็นกามโอฆะไง

สิ่งที่เป็นโอฆะ สิ่งที่ทำให้สัตว์โลกอยู่ในกามภพ สิ่งที่กามภพ “กามภพ รูปภพ อรูปภพ” นี่ในวัฏวนจิตมันเวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ สิ่งนี้เป็นที่อยู่ของจิต จิตนี้จะวนอยู่อย่างนี้ตลอดไป สิ่งนี้มันเป็นเชื้ออยู่ในหัวใจ จะพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม มันก็เป็นกามทั้งหมดเลย แต่เป็นกามมันคนละแง่ แง่ของการวิปัสสนาไง

ถ้าแง่ของกายมันจะเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะเพราะมีกำลัง ถ้าเรามีกำลังเราจับตั้งได้ ความเป็นอสุภะของมัน มันจะเป็นอสุภะแล้วทำให้เรา...ถ้าเป็นธรรมเราจะเห็นโทษของมันเป็นความสกปรกโสมม มันจะเริ่มปล่อยวางๆ ความปล่อยวางนั่นกิเลสมันเริ่มอ่อนตัวลงๆ ให้เราวิปัสสนาไป

วิปัสสนาเป็นนามธรรมก็เห็นสภาวะของกามราคะ ของความเป็นโทษของมัน สิ่งที่เป็นโทษของมัน มีปัญญามันใคร่ครวญขนาดไหน

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน มันเป็นขันธ์ ขันธ์อันละเอียด ขันธ์ที่เป็นขั้นของกาม มันต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญไป ความใคร่ครวญออกไป เชื้อของมัน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้มันก็เป็นส่วนหนึ่ง ความที่มันเป็นเชื้อ คือว่าเป็นสิ่งที่ว่าชำแรกอยู่ในเชื้อไข เชื้อไขของเมล็ดพันธุ์พืชมันก็อยู่ในเมล็ดพันธุ์พืชนั้นเลย แต่มันเป็นวัตถุ มันถึงว่าสกัดขนาดไหนทางวิทยาศาสตร์เขาสามารถสกัดได้ เพราะมันเป็นวัตถุ

แต่อันนี้มันเป็นเชื้อของใจ สิ่งที่เป็นนามธรรมมันก็ละเอียดอ่อนอยู่แล้วเพราะเป็นนามธรรม แต่เพราะเราใช้สติปัญญาของเรา เรามีอนาคามรรค สิ่งที่เป็นอนาคามรรคถึงจะจับตรงนี้ได้ ถ้าไม่มีอนาคามรรคมันจะจับตรงนี้ไม่ได้เลย ถ้าอนาคามรรคจับได้ สิ่งที่เป็นอนาคามรรคมันเป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคมันเป็นอาวุธ มันเป็นสิ่งที่จะวิเคราะห์วิจัย มันเป็นปัญญาการจะใคร่ครวญ มันจับสิ่งนี้ได้มันถึงจะเดินมรรคได้ ถ้าจับสิ่งนี้ไม่ได้มันไม่เกิดอนาคามรรค มันก็จะเป็นความว่างเฉยๆ ถ้ามันจับสิ่งนี้ได้มันจะเกิดอนาคามรรค ถ้าพอเกิดอนาคามรรคปัญญามันเกิดเข้าไป มันใคร่ครวญเข้าไป กิเลสมันต่อต้าน กิเลสมันเป็นไป

วิปัสสนากายเป็นอสุภะมันก็ปล่อย เห็นความสกปรกของมัน เห็นความไม่จริงของมัน เพราะเราคิดว่าทุกอย่างนี่มันพอใจ เราเข้าใจว่าทุกอย่างมีความสุข โลกนี้เราติดสุขกัน ติดเพราะความสุข เคลิบเคลิ้มกับความสุข แต่ไม่เคยเจอ ทุกข์ทั้งภพทุกชาติก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์ของใจ เป็นอริยสัจ เป็นความจริง แต่นี้เราเจอธรรมเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนธรรมมันส่งเสริมเราขึ้นมาจนเราได้การต่อสู้ จนปัญญามันใคร่ครวญ มันก็เริ่มปล่อยวางๆ นี่เห็นเป็นอสุภะ

ถ้าเป็นนามธรรม เป็นกามราคะมันก็เห็นความชีวิตนี้การเกิดตายนี้เป็นความทุกข์ความยาก การเกิดการตายนี้เราเกิดตายมากี่ภพกี่ชาติ ทำไมเราไม่ต่อสู้กับมัน เราต่อสู้มันก็แยกแยะ

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน เป็นขันธ์ ถ้าขันธ์อันละเอียด “ขันธ์อันละเอียด” สิ่งละเอียดขึ้นมาเราไม่เห็นมันเลย ถ้าเราเห็นมันขึ้นมา เราจับมันขึ้นมามันอยู่ตรงไหน? สิ่งที่มันเป็นขันธ์มันหมุนไปจากภายใน นี่คือจอมทัพ สิ่งที่เป็นจอมทัพ เพราะมันเป็นระหว่างกายกับจิต เป็นระหว่างขันธ์กับจิต ถ้าขันธ์กับจิตเป็นการส่งเสริมกัน

พลังงานคือตัวจิต ตัวจิตนี้ตัวอวิชชา แต่ตัวขันธ์คือตัวแม่ทัพ สิ่งที่แม่ทัพแล้วสิ่งที่ว่าแม่ทัพขับเคลื่อนมันจะรุนแรงมาก สิ่งที่รุนแรงมันจะเกิดอุบายวิธีการ เพราะเขาต่อสู้กัน เขารับส่งนโยบายระหว่างกษัตริย์ ระหว่างจอมทัพ ระหว่างอวิชชากับแม่ทัพ นี่การต่อสู้ แล้วเขามีวิชา เขามีปัญญา เขามีความป้องกันตัวของเขา เขาจะมีเล่ห์มีเหลี่ยม จะเล่ห์เหลี่ยมการต่อสู้วิปัสสนา นี่น้ำป่า สิ่งที่น้ำป่าต่อสู้กัน มันถึงเป็นสิ่งที่รุนแรง

เราวิปัสสนามาแต่ละขั้นตอน เราก็ทำของเรามาว่าเป็นความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยากแล้วมันปล่อยวาง เวลามันปล่อยวางว่าการประพฤติปฏิบัติจะมีความสุขมากๆ สุขจริงๆ สุขในการปล่อยวางผ่านทุกข์มาแต่ล่ะขั้นตอน แต่ในเรื่องของงานในเรื่องของการสงครามมันเกิดขึ้นระหว่างหัวใจ ระหว่างมรรคกับกิเลสมันต่อสู้กันนี่มันเป็นงานที่สุดส่วน

งานของโลกมันเป็นเรื่องงานของโลกนะ จะทุกข์ยากขนาดไหนมันก็เป็นสิ่งที่ว่าจะมีคนสามารถทำแทนกันได้ แต่งานของใจ งานการชำระกิเลส ใจดวงไหนดวงนั้นไม่มีใครสามารถชำระได้ แล้วถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ยกขึ้นวิปัสสนาขั้นนี้มันก็จะไม่เห็นปัญญารุนแรงของขั้นนี้ ถ้าเห็นปัญญารุนแรงของขั้นนี้มันจะถึงว่า แหม ทำไมมันขนาดนี้ ทำไมเรื่องของกิเลสมันรุนแรงขนาดนี้ แล้วมันก็มหัศจรรย์ว่ามรรคทำไมมันเกิดได้ขนาดนี้ เรามันปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร เราสร้างสมขึ้นได้อย่างไรขนาดนี้ มันต่อสู้กัน มันเป็นความมหัศจรรย์ นี่ธรรมมันลึกลับซับซ้อน ลึกลับขนาดนั้นนะ

แต่มันจะสว่างกระจ่างแจ้ง เห็นต่อหน้ากับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นปัจจุบันธรรม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นปัจจุบันธรรมจะเห็นสภาวะของความเป็นจริงว่า มรรคมันเดินขนาดนั้น นี่มันเกิดที่ใจไง

ประสบการณ์ในวิปัสสนา “ประสบการณ์” ประสบการณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ส่วนหนึ่ง แต่ประสบการณ์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันไม่ใช่ว่าจะอายุมากอายุน้อยหรอก มันอยู่ที่อำนาจวาสนา อำนาจวาสนาของคนทำได้เร็ว ทำเร็วรู้เร็วก็มี ทำเร็วทุกข์ยากมากแต่รู้ช้าก็มี ความรู้เร็วหรือรู้ช้ามันอยู่ที่อำนาจวาสนา ถ้าอำนาจวาสนาของเราขนาดไหนเราก็สร้างสมของเราขึ้นมา ถ้าการวิปัสสนาอย่างนี้เกิดขึ้นมา อำนาจวาสนาของเรามหาศาลเลย มันสิ่งที่ว่าไม่มีใครเคยได้ยินได้ฟังนะ ไม่มีใครเคยเห็นสิ่งนี้ แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นประจักษ์กับหัวใจของเรา การวิปัสสนามันก็ก้าวเดินไปๆ

ล้มลุกคลุกคลาน กิเลสมันจะเบี่ยงเบนไง มันพยายามทำให้เราพลาด ถ้าเราพลาดขึ้นไปเราก็ผิดพลาดไป มันก็ว่าง มันปล่อยวางเวิ้งว้างหมดเลย แต่เวิ้งว้างมันไม่ผ่าน ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผล...ไม่ผ่าน การปล่อยวางอย่างนั้นมันเหมือนกับเราวิปัสสนาแล้วมันปล่อยวาง จะเป็นอย่างนี้ตลอดไปทุกขั้นตอน

ถึงต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า การซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลาจะผ่านขั้นตอนแต่ละขั้นตอนบางองค์ใช้เวลาเป็นปี บางองค์ใช้เวลาเป็นเดือน บางองค์ใช้เวลาเป็นวัน นี่การใช้เวลา การซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันถึงได้ต่างกัน เพราะอะไร เพราะบางทีเราเผลอสติ เราเผลอแล้วเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เราเชื่อกิเลส เราเชื่อกิเลสเพราะเราไม่รู้ เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสภาวะของกิเลส แต่ธรรม สภาวะของกิเลสมันสร้างสถานะอย่างนี้ขึ้นมา เราคิดว่าเป็นธรรมไง เพราะมันเวิ้งว้าง มันมหัศจรรย์จริงๆ เพราะเราไม่เคยรู้เคยเห็น พอเห็นสิ่งนั้นเราก็ต้องเชื่อไปก่อน

แต่พอเชื่อไปก่อน พอมันปล่อยวางออกมาพอกิเลสแสดงตัว ถ้ากิเลสมันแสดงตัวขึ้นมาเรื่องของกามราคะมันจะเกิดขึ้นมาจากใจ สิ่งที่ในหัวใจมันจะมีเรื่องของกามราคะ พอเรื่องกามราคะเกิดขึ้นมา

“ไหนว่ามันผ่านทุกข์ไง ไหนว่าผ่านกามไง ไหนว่าสิ่งนี้มันชำระไปแล้วไง”

ถ้ามันเกิดขึ้นมานี่เราวิปัสสนาไป บางทีขนาดว่ามันสงบตัวลงจนว่ามันไม่มีนะ ถ้าไม่มีไม่มีเหตุมีผลเราก็ต้องต่อสู้มัน ยกขึ้นมา ตั้งขึ้นมาแล้ววิปัสสนาไปจนถึงที่สุดมันจะทำลายกัน มันจะทำลายนะ กลืนตัวขึ้นมา ทำลายออกไป ใจนี้จะหลุดออกไป

ถ้าวิปัสสนานามธรรมก็เหมือนกัน “ขันธ์อันละเอียด” เห็นสภาวะของขันธ์อันละเอียดกับจิตนี้แยกออกจากกัน สิ่งที่แยกออกจากกัน พอแยกออกจากกันขาดออกไป สิ่งที่ขาด นี่ผ่านทุกข์

จะต้องผ่านเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วเวิ้งว้างมาก เพราะอะไร เพราะแต่เดิมขันธ์กับจิตมันสะเทือนกัน สิ่งที่ขันธ์กับจิตมันสะเทือนกันมันจับต้องกันมันสะเทือนกัน เราถึงจับต้องแล้วเราวิปัสสนามา มันเป็นอนาคาผล สิ่งที่เป็นอนาคาผลนี่เราต้องหมั่นฝึกหมั่นซ้อม

เพราะขั้นของมันมี ๕ ขั้น สิ่งที่มี ๕ ขั้นเวลาเราซ้อมตรงนี้ออกไป เราจับแล้ววิปัสสนาไป มันจับได้ วิปัสสนาไปมันก็ปล่อยๆ จนเราเข้าใจว่า มันรวมใหญ่นะ จิตนี้ปล่อยหมดเลยนะ เป็นชั้น ละเอียดเข้าไปๆ จนปล่อยหมด ปล่อยจนเป็นความว่างหมดเลย ไม่มีเลย นี่ผู้ที่ไม่มีเรือน จะติดตรงนี้เพราะอะไร เพราะเราเข้าใจว่าอันนี้เป็นอรหัตตมรรค-อรหัตตผล การฝึกซ้อมนี่เราเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น แล้วติด ติดจริงๆ เพราะเราเทียบพระไตรปิฎกเราก็ต้องติดอย่างนั้น จนกว่าครูบาอาจารย์จะชี้นำ หรือเราพยายามใคร่ครวญของเรา เราใคร่ครวญของเรานะ มีอำนาจวาสนา

มันจะเศร้าหมอง มันจะผ่องใส ตัวอวิชชานี่ตัวพลังงาน สิ่งที่พลังงานตัวนี้มันจะเศร้าหมอง มันจะผ่องใส ถ้าถึงจริงๆ ก็คือว่าตัวอาลัยอาวรณ์ไง สิ่งนี้มันอาลัยอาวรณ์ ไม่ใช่ทุกข์นะ ความเป็นขันธ์ เวทนาเราเกิดขึ้นมาเราถึงรู้ เพราะเวทนาอันนี้มันกระเทือนจิตมันเป็นเวทนา อย่างเช่นกามราคะนี่มันมีความต้องการของมัน เป็นกามในตัวของมันเอง มันมีในตัวของมันเอง เราก็รู้ตัวของมันเอง

แต่นี้มันไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นอวิชชา มันไม่ใช่ทุกข์ในขันธ์ มันเป็นความอาลัยอาวรณ์ สิ่งที่อาลัยอาวรณ์มันเข้ากับความเฉา ความเศร้าหมอง ความผ่องใส จิตนี้ผ่องใส จะติดสภาวะแบบนี้ไปนาน จนกว่าเมื่อเราใคร่ครวญนะ

มันถึงจะอรหัตมรรคนี้สำคัญมาก ถ้าเกิดอรหัตมรรคคือเราเกิดการทวนกระแส สิ่งที่ทวนกระแสเข้าไปมันไม่ใช่สิ่งที่กระทบกระเทือนกัน มันเป็นสิ่งที่เพราะตัวของอวิชชานั้นมันก็เป็นสิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่ผ่องใสอยู่แล้ว ตัวจิตที่ผ่องใส แล้วสิ่งที่ผ่องใสมันจะทวนกระแสได้อย่างไร ในเมื่อทวนกระแสของตัวมันเอง

เริ่มต้นจากขันธ์กับจิตมันทวนกระแสเข้าไปมันยังเห็น เรายังจับต้อง มันสะเทือนกัน มันสะเทือนคือว่ามันมีความรู้สึกต่อกันได้ แต่อย่างนี้มันไม่มีความสะเทือนกัน มันเป็นตัวของมันเอง แล้วสิ่งนี้จะต้องให้มันย้อนกลับ ถึงว่าต้องเป็นสติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สมาธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อรหัตมรรคนี้สมบรูณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด ทุกอย่างต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ต้องละเอียดอ่อนมาก จนถึงกับเป็นปัญญาญาณ สิ่งที่เป็นญาณเป็นอัตโนมัติในตัวมันเอง เครื่องอัตโนมัติมันสะเทือนในสิ่งที่เป็นอัตโนมัติ มันถึงจะเคลื่อนไหว

อันนี้ก็เหมือนกันมันเหมือนกับอัตโนมัติ แต่ถ้าเป็นอัตโนมัติมันต้องเป็นอัตโนมัติมันต้องรู้ตัวมันเองซิ นี้มันเป็นว่ามันเป็นอวิชชา ถ้ามันเป็นอวิชชามันจะไม่รับรู้ตัวมันเอง เราถึงจะไม่เห็นตัวมันเอง ถ้าเป็นอัตโนมัติมันต้องสะเทือนตัวมันเอง

แต่มันเปรียบเหมือนกับอัตโนมัติ ถ้าจะเปรียบเหมือนอัตโนมัติเพราะมันเกิดอรหัตมรรค สิ่งที่เกิดอรหัตมรรคมันจะย้อนกลับเข้าไป เกิดสิ่งนี้เข้าไปแล้วย้อนกลับเข้าไปถึงจับต้องสิ่งนี้ได้ ถ้าจับต้องสิ่งนี้ได้ ญาณอันนั้นญาณของปัญญาญาณนั้นมันจะละเอียดอ่อน ใคร่ครวญ ใคร่ครวญนี้กระเทือน กระเพื่อม

เราเคยใช้ “อุทธัจจกุกกุจจะ” คือปุถุชนที่ว่าง่วงเหงาหาวนอน “อุทธัจจกุกกุจจะ” เห็นไหม ความฟุ้งซ่าน ความคิดมาก แต่อันนี้เป็น “อุทธัจจะ” มันเป็นสังโยชน์เบื้องบนไง อุทธัจจะไม่ใช่ อุทธัจจกุกกุจจะ มันเป็น “อุทธัจจะ” คืองานที่มันกระเทือนไม่ได้เลย สิ่งที่ความเป็นปัญญามันสะเทือนสิ่งนี้ มันถึงเข้าไปจับต้องสิ่งนี้ไม่ได้ มันถึงว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก ใคร่ครวญกับทางนั้นจนทำลายตัวนี้

สิ่งนี้ผ่านทุกข์มาตลอด เวลาผ่านทุกข์ขึ้นมา เราต้องผ่านขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา สิ่งที่ผ่านทุกข์คือตัวหัวใจ คือตัวจิตมันวิปัสสนาแล้วมันปล่อยวางธาตุปล่อยวางขันธ์ แล้วมันก็รับผลประโยชน์ของมันเข้ามา สะสมตัวมันขึ้นมาจนเข้ามาถึงเป็นตัวมันเอง จนถึงข้อมูลเดิม สิ่งนี้ถ้าวิปัสสนาเข้าไป เรื่องภพเรื่องชาติมันจะเปิดเผยกับตรงนี้หมดเลย ถ้าคนรู้อดีตชาติมันจะรู้ต่างๆ รื้อค้นตรงนี้

ถึงว่า “เป็นตำราเล่มใหญ่” ตำราเล่มใหญ่นี้ที่ส่งทอดออกมา จนกว่าเราใคร่ครวญเข้ามา เราศึกษาด้วยปัญญาแล้วเราก้าวเดินตามปัญญาของเราเข้าไป ชำระธาตุชำระขันธ์จนสติปัฏฐาน ๔ เข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนถึงตัวตำราเล่มใหญ่ จนถึงตัวตำรา แล้วเกิดเป็นอรหัตมรรค จนเกิดเป็นญาณเป็นอัตโนมัติจากภายใน นี่ตัวตำรานั้นตำราเล่มใหญ่นั้นมันเกิดพลังงานตัวนั้น ย้อนกลับเข้าไปแล้วใคร่ครวญจนถึงกับว่ามันเผาไหม้ตำราเล่มนั้นนะ ตำราเล่มนั้น ผู้ที่ผ่านทุกข์มาก็ต้องทำลายมัน

เวลาเราพิจารณาขึ้นมา ตัวนี้ผ่านทุกข์มีความสุขมีความพอใจ สุขมากๆ สุขเพราะใจตัวรับรู้เป็นความสุขขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แล้วก็สุขอย่างนั้น สุขนี้มันยังพอรับ มันยังสื่อความหมายขึ้นได้ ถึงเวลาทำลายแล้ว เป็นสิ้นสุดของการประพฤติปฏิบัติ

ตัวที่ว่าผ่านมาทั้งหมด ผ่านทุกข์มาทั้งหมด ต้องทำลายตัวมันเอง จนถึงที่สุดแล้วผ่านทุกข์พ้นทุกข์ ผ่านจากทุกข์มา ผู้ที่ผ่านทุกข์มา ผ่านทุกข์ก็ปล่อยวางทุกข์เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา แล้วพ้นออกไปจากทุกข์ทั้งหมดเลย ผ่านทุกข์แล้วก็พ้นทุกข์ พ้นออกไปจากอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

อวิชชาคือตัวมันเองไม่รู้ตัวมันเอง ถึงเป็นจิตปฏิสนธิจิต จิตปฏิสนธิตัวนี้เวลามันเป็นกิเลสมันถึงพาเกิดพาตาย เกิดตายขึ้นมาแต่ละภพแต่ละชาติมันถึงได้สถานะของภพชาตินั้น เกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ก็ว่าเป็นเทวดาชาติหนึ่งก็ตายไป ก็สะสมไป เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นต่างๆ ก็เกิดตายๆ จิตตัวนี้เกิด เห็นไหม ถ้าไม่ทำลายตำราเล่มใหญ่นี้ก็ต้องเกิดบนพรหม เกิดแน่นอนเพราะมันไม่มีขันธ์ ทำลายขันธ์แล้ว ถ้ามีขันธ์อยู่นี่ตัวขันธ์นี้มันทำให้เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นมนุษย์เป็นขันธ์ แต่ทำลายขันธ์แล้วมันถึงเกิดเป็นพรหม ถึงตัวพรหม ตัวที่เป็นจิตปฏิสนธิจิตนี้ก็ทำลายมัน

พอทำลาย ผู้ที่ผ่านทุกข์ ผู้นี้พ้นทุกข์ พอพ้นออกไปจากทุกข์ทั้งหมดแล้วนี้คือผลงานของการที่ว่าเราเกิดมาแสนทุกข์แสนยาก เวลาเกิดมาแสนทุกข์แสนยาก เกิดมาในเรื่องของวัฏฏะ มันเป็นการเกิดมาแสนทุกข์แสนยาก แต่เป็นการสร้างคุณงามความดี การสร้างมรรคอริยสัจจัง สร้างผลบุญกุศลไง เกิดเพื่อจะทำลายการเกิด ไม่ใช่เกิดมาเพื่อสะสมการเกิด การเกิดของโลกเขา เกิดมาเพื่อสะสมการเกิด เพื่อแสวงหา เพื่อต้องการ เพื่อความแสวงหา เพื่อความสมใจ ถ้าใจมันสม เห็นไหม แสวงหาสิ่งใดแล้วสะสมไว้ที่ใจ ใจนั้นพอใจสะสมให้เกิดทิฏฐิมานะ เกิดความพอใจ เกิดความยึดมั่นถือมั่นของความสำเร็จของตัว นี่เกิดเพื่อสะสมชาติต่อไป ไม่ทำลาย

เราเกิดเหมือนกันถึงจะทุกข์จะยากก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิด ถึงเวลาทำลายไปแล้ว ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ มันยังแสดงอาการอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าเวลาป่วย ให้พระหมอชีวกฯ รักษา รักษานี่มันเป็นทุกข์ไหม? ทุกข์ของธาตุขันธ์ยังสะเทือนอยู่ เพราะสิ่งนี้เป็นธาตุขันธ์รับรู้อยู่ แต่หัวใจไม่มีทุกข์เลย เพราะหัวใจไม่มี รับสิ่งนั้นไม่ได้

ไม่ใช่ขันธ์ เห็นไหม ขันธ์นี้เป็นเวทนา สิ่งนี้เป็นเวทนามันก็หยาบเกินไปแล้ว แล้วมันปล่อยขันธ์ทั้งหมดแล้วมันเป็นตัวจิต แล้วก็ทำลายจิต แล้วมันจะเข้าไปได้อย่างไร แต่มันรับรู้ไง รับรู้เพราะอะไร เพราะสติสัมปชัญญะมันพร้อม พร้อมกับสิ่งต่างๆ ว่าเวลาธาตุขันธ์มันเป็นอะไรไปก็เยียวยามันไปตามธรรมชาติ

ครูบาอาจารย์นะ หลวงปู่แหวนอยู่ในป่า ท่านสละทิ้งเลย เวลาท่านอยู่ในป่าเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านสละแล้ว ท่านไม่รักษา จนครูบาอาจารย์ไปพบเข้าถึงได้เอาท่านออกมารักษา นี่ท่านไม่ได้เดือดร้อนหรอก แต่ถ้าเป็นผล เป็นเพื่อผลประโยชน์ของโลกก็รักษาเยียวยาธาตุขันธ์ไปเพื่อประโยชน์ของโลก กับใจดวงนั้น

ตักน้ำใส่ตุ่ม น้ำก็เต็มตุ่ม อาหารใส่ปากไปมันก็เหมือนบำรุงธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์นี้เหมือนกับตุ่มอันหนึ่ง เราตักน้ำใส่ไปเพื่อบำรุงธาตุขันธ์ไว้เท่านั้นเอง แต่หัวใจมันพ้นออกไปแล้วจากการหลุดพ้น จากผ่านทุกข์จนพ้นทุกข์ สติสัมปชัญญะพร้อมกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะไปลังเลสงสัยสิ่งใด? จะไม่ลังเลสงสัยสิ่งใดๆ เลย สติพร้อมสมบรูณ์ แล้วสุขก็สมบรูณ์กับใจดวงนั้น มันผ่านมาเป็นชั้นเป็นตอน นี่เกิดมาวิปัสสนามันเป็นอย่างนั้น

ถึงว่าเกิดมาเราสร้างกุศลกันมา เกิดมาเหมือนกัน มีธาตุมีขันธ์เหมือนกัน มีหัวใจเหมือนกัน แต่หัวใจมันต้องยกขึ้นวิปัสสนา เราแก้กิเลสแก้เรื่องของใจ นี่งานของใจไง งานของโลกเขาก็ใช้หัวใจคิดเหมือนกัน บริหารก็ใช้ปัญญานี่คิด แต่คิดเป็นเรื่องโลก คิดเรื่องโลกมันก็ได้ผลเป็นโลก ทั้งๆ ที่ใช้ใจเหมือนกันนะ ใช้ขันธ์ ๕ ใช้สัญญา ใช้สมอง มันเป็นแรงงานใจออกไปข้างนอก

แต่วิปัสสนานี่แรงงานใจทวนกระแส แล้วพอวิปัสสนาเข้ามามันถึงเห็นว่าไม่ใช่ปัญญาทางสมอง ปัญญาทางสมองนี้เป็นปัญญาจำ สิ่งที่สมองมันเป็นประสาท ประสาทนี่ควบคุมร่างกาย แล้วอาศัยสิ่งนี้คิดด้วย มันถึงคิดได้แค่ขอบเขตของมันไง นี่ขอบเขตของขันธ์ นักโทษอยู่ในเรือนจำคิดได้แต่แค่สัญญาความจำของตัวเท่านั้น มีขอบเขตของมัน คือว่าเราศึกษาเล่าเรียนกันมาขนาดไหน นี่สุตมยปัญญา จินตมยปัญญาคือจินตนาการไปก็อยู่ในขอบเขตของมัน มันถึงไม่ใช่แรงงานใจ

วิปัสสนาเข้ามามันถึงจะเห็นว่า เวลาปัญญาที่ว่าเริ่มต้นจากปัญญาอบรมสมาธิเข้ามามันก็ปัญญาสมองนี่แหละ แต่มันย้อนกลับเข้าไปถึงปัญญาจากภายใน มันจะเห็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากใจ แรงงานใจที่วิปัสสนาขึ้นมา จากวิปัสสนาจากทวนกระแสเข้ามาๆ อันนี้เป็นมรรคไง

เกิดมาทุกข์ยาก ทุกข์ยากเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์ยากเพื่อจะสะสมอยู่ในทุกข์ โลกนี้เกิดมาแล้วทุกข์อยู่อย่างนั้นตลอดไป เกิดมาก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น แต่เขาไม่มีสติ เขาไม่ตื่นตัว เขาไม่รับรู้ เราตื่นตัว เราฟังธรรมมันถึงสะเทือนใจ ผู้ที่ฟังธรรมนะ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ หรืออ่านหนังสือธรรมะก็แล้วแต่ แล้วมันขนลุกขนพองมันสะเทือนหัวใจ นั่นน่ะ มีอำนาจวาสนา นั่นล่ะ มันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนหัวใจทำให้เราพยายามค้นคว้าของเราขึ้นมา

ตั้งสติสัมปชัญญะ ฟังธรรมแล้วมันถึงเข้าถึงใจ

ถ้าเราชินชา เราฟังทุกวันๆ แต่ใจมันด้าน ใจมันไม่ยอมรับรู้

ใจมันด้านเพราะมันมีกิเลส กิเลสนี้มันทำให้ด้าน ด้านกันไปหมด

แต่ถ้าเป็นสภาวธรรมเข้าไปนี่กิเลสมันต้องสงบตัวเอง สงบตัวลงโดยสัจจะโดยความจริง ความจริงเป็นแบบนั้น “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” มันก็เป็นอย่างนั้น กิเลสมันก็เป็นอย่างนั้น มันกินตัวมันเองตลอดนะ เกิดดับๆ อย่างนั้น เห็นไหม ภพชาติมันก็กลืนกินตัวมันเองตลอด แต่เพราะไม่มีผู้เห็น เพราะไม่มีตัวผ่าน ไม่มีผู้รู้เข้าไปวิปัสสนาไง เราถึงต้องทำสัมมาสมาธิไง ทำสัมมาสมาธิขึ้นมาเพื่อจะรู้ตัวนี้

พอไปรู้ไปเห็นเข้า ผู้วิปัสสนามันเกิดดับอยู่แล้ว มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อยู่แล้ว มันเป็นอนิจจังอยู่แล้ว “อยู่แล้ว” เลย แต่เพราะว่าเราไม่เห็นจริงเท่านั้นเอง

เราศึกษาธรรม เราถึงว่าเราก็รู้ ทุกคนก็รู้นะ เกิดแล้วต้องตาย ตายทุกคน แต่ทำไมมันไม่สลดใจล่ะ มันไม่สลดใจ แต่ถ้าวันไหนจะตายขึ้นมา มันก็ตายไปพร้อมความยึดอีก แต่เวลาพระอรหันต์ตายไม่มีความยึดเลย เพราะอะไร เพราะกิเลสมันตายแล้ว มันตายไปตั้งแต่วันที่ว่าสมุจเฉทปหานนั่นน่ะ แล้วรู้กำหนดเวลา

ผู้ที่รู้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะต้องรู้ตลอดเวลาว่าเราผ่านตรงไหน เรารู้ตรงไหน เพียงแต่สื่อครูบาอาจารย์ สื่อเพื่อแบบว่าสื่อเพื่อเป็น ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เท่านั้น ไม่ใช่ให้ใครรับประกันใครได้หรอก ความบริสุทธิ์นั้นเกิดจากบุคคลนั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใครบริสุทธิ์แค่ไหนมันก็เป็นของผู้ประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่มีใครทำพยากรณ์หรือสั่งให้เป็นไป...เป็นไปไม่ได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าอยู่ เห็นไหม ไปให้พระพุทธเจ้าพยากรณ์ พระพุทธเจ้า ถ้าเป็นประโยชน์ท่านจะพยากรณ์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ท่านจะไม่พยากรณ์ เพราะอะไร เพราะมันเป็นจริงในใจดวงนั้น มันเป็นจริงในใจดวงนั้น ทำไมต้องให้ท่านพยากรณ์ ท่านจะพยากรณ์หรือไม่พยากรณ์มันก็เป็นใจดวงนั้น

สมัยพุทธกาลเขาเห็นพระองค์หนึ่งมีความสงบเสงี่ยมมาก มีความเรียบร้อยมาก ไปถามว่าพระองค์นี้เป็นพระอรหันต์ ไปบอกพระพุทธเจ้าไงว่า พระองค์นี้เป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ใช่หรอก มันเป็นกิริยาของเขาอย่างนั้น”

แต่เวลาจะพูดนะ นิมนต์พระองค์นั้นมาด้วยแล้วก็เทศน์ต่อหน้าว่า เมื่อชาติที่แล้วชาติก่อนพระองค์นี้เกิดเป็นเสือ เคยเป็นเสือมาก่อน แล้วก่อนนอนเสือจะออกหากิน มันต้องอยู่ในสงบของมัน มันนอนแบบมีสติ แล้วมันตื่นขึ้นมาท่ามันสงบ ท่ามันตื่นขึ้นมาอยู่ในสภาวะนั้น มันจะออกหาเหยื่อแล้วมันจะได้เหยื่อ นี่มันมีสติขนาดนั้น เขาถึงมีกิริยามารยาทเรียบร้อยไง

แต่ความเรียบร้อยของเขาไม่ใช่พระอรหันต์หรอก แต่คนเข้าใจ เพียงแต่ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามี พระพุทธเจ้าอยู่ พระพุทธเจ้าถึงพยากรณ์ได้ รู้ความเป็นจริง

ถึงว่า “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์”

แต่เวลาฟังเทศน์จากวันนั้นแล้วท่านถึงเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

นี่มันเกิดขึ้นมาจากใจ แรงงานใจคือแรงงานทวนกระแสของเรา เราต้องสร้างขึ้นมา จะทุกข์จะยาก ถึงต้องยอมทน ทนเพื่อเอาสมบัติ เอาอริยทรัพย์ เอาทรัพย์จากภายใน แต่โลกเขานี้เขาตื่นทรัพย์ภายนอก เขาหาอยู่หากินของเขา เขาว่าสิ่งนั้นจะเป็นสมบัติของเขา แต่เขาจะไม่กระทบกับความสุขจริงเลย เราพยายามหาทางออก แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้ามันจะทุกข์มันจะยากเราก็ทนของเราขึ้นมา เพื่อจะหาอริยทรัพย์ เพื่อหาสมบัติจริงของเราขึ้นมา แล้วมันจะสมประโยชน์กับผู้ประพฤติปฏิบัติสมตามความเป็นจริง เอวัง