เทศน์พระ

อับจนปัญญา

๑o เม.ย. ๒๕๕๖

 

อับจนปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ วางใจให้เป็นกลางแล้วฟังธรรมว่าธรรมนี้มันจะสะเทือนหัวใจเราไหม ถ้าธรรมะมันสะเทือนหัวใจเรา เรายังมีโอกาสได้ปฏิบัตินะ ถ้าธรรมะไม่สะเทือนหัวใจเรา ใจเราด้าน ถ้าใจมันด้านนะ นี่มนุษย์มาจากคน พระมาจากคน มนุษย์นี้มาจากพ่อจากแม่ เวลาเกิดจากพ่อจากแม่ เกิดจากเวรจากกรรม ถ้าเวรกรรมพาเกิดนะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดเป็นคน เวลาคนเห็นภัยในวัฏสงสารมาบวชพระ เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์ นี่อาการ ๓๒

การบวชพระ นี่เราบวชพระ เห็นไหม เวลาบวชพระ อุปัชฌาย์ คู่สวดต้องถาม เป็นหนี้หรือเปล่า เป็นมนุษย์หรือเปล่า ถ้าไม่เป็น เห็นไหม นี่อาการ ๓๒ ถ้าอาการ ๓๒ นี่เราเสมอกัน ถ้าเราเสมอกัน เรามีทรัพย์สมบัติมาแล้ว ถ้าทรัพย์สมบัติของเรา นี่อริยทรัพย์ สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์ แล้วเรายังมีอำนาจวาสนามาบวชเป็นพระอีก บวชเป็นพระนี่นักรบ นักรบเพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในวัฏสงสาร นี่เราบวชเป็นพระมา

เป็นพระ เห็นไหม เป็นพระปฏิบัติ พระปฏิบัติ หน้าที่ของพระปฏิบัติ นี่วิปัสสนาธุระ คือเราพยายามจะชำระล้างกิเลสในใจของเรา ถ้าเราชำระล้างกิเลสในใจของเรา เราอยากจะเป็นพระที่บริสุทธิ์ เวลาบวชเป็นพระขึ้นมานี่เป็นสมมุติสงฆ์ อุปัชฌาย์ สงฆ์ยกเข้าหมู่ ยกเข้ามาเป็นสงฆ์ นี่สงฆ์ วันนี้ทำอุโบสถสังฆกรรม วันนี้เราทำสังฆกรรมกัน เราเป็นสงฆ์ด้วยกัน มันถึงจะเป็นสามีจิกรรม ถ้ามันไม่เป็นสามีจิกรรม มันเป็นโมฆียะ มันเป็นโมฆะ

สิ่งที่เป็นโมฆะ สิ่งที่เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ในสังฆะนั้นมันไม่สะอาดบริสุทธิ์ ถ้าในสังฆะนั้นไม่สะอาดบริสุทธิ์เพราะอะไร เพราะเราบวชมาด้วยความถูกต้องตามธรรมวินัย ถ้าถูกต้องตามธรรมวินัย นี่สงฆ์ยกเข้าหมู่มา ยกเข้าหมู่มา เวลาทำสามีจิกรรมมันถึงจะสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าสะอาดบริสุทธิ์แล้ว เวลาเราทำเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของเราด้วยวินัยกรรม ด้วยวินัยกรรม ด้วยการกระทำ ทีนี้เราจะชำระล้างกิเลสในใจของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา ถ้าเราไม่มีสติปัญญาของเรา นี่อับจนปัญญานะ

เวลาอับจนปัญญา เราอับจนปัญญาของเราเอง มันเกิดสติปัญญาไม่ได้ เพราะอับจนปัญญามันถึงเป็นกิเลสทั้งนั้น กิเลสมันมีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ มันจะเผาลนในใจเรา แล้วเราบวชมานี่ เราจะประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม วิปัสสนาธุระ เราจะขัดเกลากิเลสของเรา เวลาขัดเกลากิเลสของเรา เราบวชมาเป็นพระ เวลาอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ยกเราเข้าหมู่ เขาก็มีบริขาร ๘ เหมือนกัน บริขาร ๘ เวลาบวชขึ้นมามีบริขาร ๘ ร่างกายครบสมบูรณ์ พอครบสมบูรณ์เราถึงบวชมาเป็นพระมาได้ นี่ทรัพย์สมบัติมันมีเท่ากันไง

ถ้าทรัพย์สมบัติทางโลก คนที่เขาทำมาหากินของเขา เขาหาทรัพย์สมบัติของเขา เขามีปัญญาของเขา เขาหาทรัพย์สมบัติของเขามา เขาบริหารจัดการของเขา เขาใช้สอยด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ เขาจะเหลือเก็บของเขาเป็นมรดกตกทอดของเขาไป แต่ถ้าคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนะ เวลาหามาก็หามาไม่พออยู่พอกิน ไม่พออยู่พอกินเพราะอะไร เพราะกินด้วยความฟุ่มเฟือย ไม่มีสติปัญญาไง ถ้ามีความฟุ่มเฟือยขึ้นมา ทรัพย์สมบัติมันจะมีเป็นของตัวเองไหมล่ะ มันไม่ประหยัด ไม่มัธยัสถ์ มันจะเก็บทรัพย์ของตัวเองไว้ได้ไหม? มันเก็บทรัพย์ของตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันเท่ากัน แต่จริตนิสัยของคนมันทำให้คนคนนั้นรู้จักประหยัด รู้จักมัธยัสถ์ รู้จักมีทรัพย์สมบัติเป็นของเราได้ แต่ถ้าไม่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ มันเป็นหนี้เป็นสินรกรุงรังไปหมด เพราะอะไร เพราะไม่รู้จักบริหารจัดการไง นี่ไม่มีปัญญา

ปัญญาทางโลกนี้เขาใช้ปัญญาทางโลกเขา มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน สมบูรณ์เหมือนกัน เวลาบวชเป็นพระขึ้นมาแล้ว เรามาบวชเป็นพระกัน เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็มีบริขาร ๘ เหมือนเรา นี่อาการ ๓๒ ก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ทรัพย์ทางโลกเราเสมอกัน เราสมบูรณ์ต่อกัน ถ้าเราสมบูรณ์ต่อกัน เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม สิ่งที่มีขึ้นมา เราอยากมีอยากเป็นขึ้นมา ดูคนสร้างบุญสร้างกรรมมา มีอำนาจวาสนาบารมีมา คิดสิ่งใด ทำสิ่งใดจะประสบความสำเร็จไปทั้งหมดเลย เราคิดสิ่งใดจะมีความเร่าร้อนในใจของเราไปทั้งหมดเลย

นี่เวลาศึกษาธรรมก็ศึกษาธรรมมาจากตู้เดียวกัน ตู้พระไตรปิฎก เห็นไหม ดูสิ เวลาเปิดตู้พระไตรปิฎกมา ตู้พระไตรปิฎกนอก ตู้พระไตรปิฎกใน นี่ความรู้สึก ความเข้าใจของเรา ถ้าเราศึกษามาแล้ว ในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน สูตรเดียวกัน เวลาเราศึกษาขึ้นมาแล้วคนก็ชอบแตกต่างกันไป แม้แต่สูตรเดียวกัน ศึกษามาก็ตีความแตกต่างกัน สิ่งที่เราศึกษาธรรม ศึกษาธรรมมาจากตู้เดียวกัน แต่อำนาจวาสนาของใจมันไม่เหมือนกัน ถ้าอำนาจวาสนาของใจไม่เหมือนกัน ทำไมไม่มีสติไม่มีปัญญาเข้าใจตามสิ่งนั้น

ถ้ามีสติมีปัญญาเข้าใจตามสิ่งนั้น เข้าใจ เห็นไหม เข้าใจเป็นปริยัติ พอเข้าใจแล้วมันก็ไม่มีสิ่งใดเป็นความสงสัย ไม่มีความสงสัยแล้วเวลาปฏิบัติ เวลาเอาความจริงขึ้นมา มันจะมีความสงสัยไหมล่ะ เห็นไหม เวลาเกิดศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดปัญญาชำระล้างกิเลสมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง เราก็แสวงหาสิ่งนั้นเพื่อเป็นบุญกุศลของเรา ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นมรรค มรรคญาณ ถ้ามันจุดติดแล้ว ปัญญามันหมุนเข้าไป ธรรมจักร จักรมันจะเคลื่อนไป จักรนี้มันจะเข้ามาชำระล้างกิเลส

แต่เรามีแต่ปัญญาเป็นกงจักร ถ้ากงจักรนี่มันมีแต่ความเร่าร้อนไง สิ่งที่ความเร่าร้อนมันเผาลนมาทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เป็นปัญญามันก็ไม่เป็นปัญญากับเรา สิ่งที่จะเกิดขึ้นมา สิ่งที่ว่าตัวเองมีความหลงใหลเราว่าเราเป็นคนฉลาด เราเป็นคนมีปัญญา ปัญญามีแต่ฟืนแต่ไฟ ถ้ามีแต่ฟืนแต่ไฟ นี่ปัญญาที่เกิดจากกิเลสไง

นี่ว่าอับจนปัญญาๆ อับจนปัญญาเพราะมันเป็นความจริง อับจนปัญญาเลย สร้างปัญญาของเราขึ้นมาไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันก็อาศัยสังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งนี่แหละมาเผาลนเรา เวลาความคิด ความปรุง ความแต่งขึ้นมา เห็นไหม นี่พญามารมันจะใช้สิ่งนั้นออกไปหาเหยื่อ

เวลาขันธ์ ๕ นี่ขันธมารๆ ขันธ์ที่เป็นมาร มันทำสิ่งใดมันก็เป็นภัย เป็นมารกับเรา สิ่งที่นี้เป็นปัญญาไหมล่ะ นี่อับจนปัญญาไง ไม่ใช่อับจนปัญญาคือมันคิดไม่ออก มันหาสิ่งใดมา ดูสิ คนที่เขาจะทำหน้าที่การงานสิ่งใด เขาก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือของเขาเพื่อทำหน้าที่การงานของเขา เขามีปัญญาของเขา เขาใช้ประโยชน์กับเขา เขามีเครื่องไม้เครื่องมือของเขา เพราะเขาแสวงหา เขาฝึกฝนของเขา แต่ของเรา เวลาเราจะทำหน้าที่การงานของเรา เห็นไหม ดูสิ มันเป็นความรู้สึกนึกคิด มันก็เป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นมันเผาลนเรา

อย่าว่าแต่ปัญญาเลย สิ่งที่เป็นมาร สิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟ นี่มันเกิดขึ้นมาก็เข้าใจผิด คิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา คิดว่าเราเป็นคนที่มีปัญญา คนที่มีเชาวน์ปัญญา มีความรู้สึกนึกคิด มีปัญญามาก คิดต่างๆ ก็คิดว่าตนคิดได้...คิดได้นี่มันเป็นฟืนเป็นไฟเผาตัวเองทั้งนั้นเลย แต่มันไม่รู้ว่าตัวเองหลงไพล่คิดไปว่านี่เป็นปัญญาๆ ไง ถ้าเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลกมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง นี่เป็นปัญญาของมารเลย มารเอาสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งไปใช้หมดเลย เห็นไหม ขันธมารๆ ขันธ์ที่เป็นมาร ความรู้สึกนึกคิดมันเอาไปคิดแต่เรื่องที่มันพอใจ สิ่งที่มันพอใจ มันปรารถนา มันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง ความถูกต้องนี่มันก็จินตนาการเป็นตัณหา ตัณหาก็พยายามจะรื้อค้น พยายามจะแสวงหา

สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยากนี่เอามาล่อ มาล่อนะว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ สิ่งนี้เป็นความรู้สึกนึกคิด สิ่งนี้เป็นปัญญาของเรา นี่มันเอามาล่อ ล่อแล้วเราก็กระหืดกระหอบไปกับมันนะ มีแต่ความกระหืดกระหอบ วางแผนความคิด แล้วก็พยายามทำเพื่อให้ได้สมบัติสิ่งนั้นมา ยิ่งทำไป มันยิ่งเผาลนใจตัวเอง ยิ่งทำไปยิ่งเผาลนตัวเอง

กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วลองทำไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ด้วยความเห็นผิดอย่างนั้น มันจะเป็นปัญญาได้อย่างไร เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าความเห็นผิด มันก็เป็นพญามาร มันก็เผาลนตัวเอง พอเผาลนตัวเอง ตัวเองก็ไพล่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นคุณ สิ่งนั้นเป็นปัญญาขึ้นมา ก็พยายามจะรื้อค้น พยายามจะสืบต่อไปต่อเนื่อง มันก็เผาลนตัวไป ตัวเองไม่รู้ตัวเลย นั่นแหละขันธมาร

แต่ถ้าเราตั้งใจกัน เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เรามาบวชพระนะ เราบวชพระแล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องมีสติ เรามีสติขึ้นมาแล้วเราทำความสงบของใจเข้ามา เรื่องศีล ศีลเรามีโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว นี่เวลาฆราวาสเขาก็มีศีล ๕ ของเขาโดยสมบูรณ์ของเขา นี่เขาวิรัติของเขาขึ้นมาได้ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เราบวชเป็นพระตั้งแต่วันที่อุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ยกเข้าหมู่ วันนั้นแหละศีล ๒๒๗ เรามีสมบูรณ์อยู่แล้ว แล้วเราขาดตกบกพร่องไป เราก็ปลงอาบัติของเรา เราปลงอาบัติของเรา ปลงอาบัติเพื่อสารภาพว่าเรายอมรับผิด แล้วเราพยายามตั้งใจทำความดีของเรา เห็นไหม ศีลมันมีกับเรา นี่ถ้ามีสติ เราพยายามทำของเรา เราจะทำของเรา

พอเราทำขึ้นมามันก็อับจน ก้าวหน้าก็ไปไม่ได้ อยู่กับปัจจุบันก็เร่าร้อน มีแต่ความอับจนปัญญาไปหมดเลย ก้าวซ้ายก้าวขวาไปไม่ถูกหมดเลย มีแต่ความเผาลน มีแต่ความอับจน แล้วไหนว่าบวชเป็นพระขึ้นมา เห็นไหม เป็นพระห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เราได้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ห่มผ้าที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ห่มอย่างนี้มา เราได้ห่มผ้า เราใช้ผ้า ๓ ผืน เรามีสมบัติเท่ากัน อุปัชฌาย์ก็มีสมบัติอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ก็มีสมบัติอย่างนี้ ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมาจนปัจจุบันนี้เราก็มีบริขาร ๘ เหมือนกัน นี่ถ้าพูดถึงเอาความเสมอภาคกัน อาการ ๓๒ เราก็ครบสมบูรณ์ เราก็มีสิทธิเสรีภาพ เราก็ได้บวชเข้ามาในพุทธศาสนา ได้เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชาวศากยะ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร นี่บวชมาแล้วมันก็ต้องมีคุณงามความดีสิ ทำไมบวชมาแล้วมันมีแต่กิเลสเผาลนในใจล่ะ? มันมีกิเลสเผาลนในใจเพราะมันมีของมันอยู่แล้วไง

เวลาบวชเป็นพระขึ้นมา เห็นไหม นี่สมมุติสงฆ์ เป็นสงฆ์โดยสมมุติ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเอหิภิกขุบวช ถ้าผู้ที่พ้นกิเลสไปแล้ว “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด” แต่ถ้าผู้ที่ยังไม่พ้นกิเลส “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เพื่อปฏิบัติถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์” นี่เวลาเอหิภิกขุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ บวชพระที่สิ้นกิเลสแล้ว ผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วบวชเข้ามาเป็นพระ ผู้ที่เป็นอริยบุคคลที่ยังไม่สิ้นกิเลสบวชเข้ามา ดูสิ ดูอย่างพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นพระโสดาบันแล้วมาขอบวช พอบวชเข้ามาแล้วสั่งสอนไปจนสิ้นสุดแห่งทุกข์

นี่เราบวชมา เราบวชมาเป็นสมมุติสงฆ์ เราบวชมา เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ อยากจะพ้นจากทุกข์นี่แหละ อยากจะพ้นจากทุกข์เหมือนกัน บวชแล้วก็อยากจะพ้นจากทุกข์ อยากประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วมันมีสิ่งใดในหัวใจล่ะ ทำไมไม่เป็นอย่างที่ปรารถนา ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่ปรารถนา เพราะมันบวชที่กายไง ถ้าการบวชนี้มันสมบูรณ์ สมบูรณ์เป็นสมมุติสงฆ์ ดูสิ เวลาโกนหัว ห่มผ้าเหลือง ถ้าตามวินัย ตามญัตติจตุตถกรรมเข้ามาก็เป็นพระ

เวลาทางโลกเขามีการละเล่นกัน เขาก็บวชเป็นพระเหมือนกัน เขาเล่นบวชเป็นพระ เขาก็เป็นพระเหมือนกัน นี่บวชพระ โกนหัว ห่มผ้าเหลือง ใครก็ทำได้ แต่ของเราทำ เราทำถูกต้องตามกฎหมาย ทำถูกต้องตามศีลธรรม ตามกฎหมาย นี่เขาทำแล้วเขาเล่นละครกัน เขาเล่นหนังกัน เขาทำของเขา เขาสมมุติของเขาอีกชั้นหนึ่ง ก็รู้ว่าเป็นสมมุติ โลก สังคมเขาก็รู้ได้ แต่เวลาเราบวชขึ้นมานี่เราบวชจริงๆ บวชจริงๆ เห็นไหม

ดูสิ แม้แต่บวชมาแล้ว ทางราชการเขาก็ยกเว้นให้ มีสิทธิเสรีภาพยกให้เป็นภิกษุ บวชมาแล้วจะศึกษาเล่าเรียน บวชมาแล้วจะประพฤติปฏิบัติ บวชแล้วจะให้บรรลุธรรม ถ้าบรรลุธรรมขึ้นมา เราบวชขึ้นมาแล้วเป็นสมมุติสงฆ์ ถ้าสมมุติสงฆ์ นั่นบวชกาย บวชกายแล้วเราจะบวชใจ ถ้าเราบวชใจของเรา เห็นไหม ถ้าบวชใจขึ้นมาแล้วกิเลสมันก็ต่อต้าน เวลาปฏิบัติขึ้นมานะ อับจนปัญญาไปหมดเลย มันอั้นตู้ไปหมดเลย ทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดก็มีแต่ความเร่าร้อน

ถ้าความเร่าร้อน เพราะเราทำสิ่งใดตัณหามันก็ซ้อนตัณหาขึ้นมา เวลาทำสิ่งใด ถ้าเราไม่ปฏิบัตินี่อยู่ได้นะ ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราจะไม่ชำระล้างกิเลส กิเลสมันก็อยู่กับเรา มันก็อยู่สุขสบายนะ แต่ลองเวลาเข้าพรรษา เราอธิษฐานพรรษากัน แล้วเราถือธุดงค์สิ นี่มันทำไม่ได้ นู่นก็อึดอัด นี่ก็ขัดข้องไปหมดเลย เวลาออกพรรษาแล้ว หมดกาลเวลาที่เราอธิษฐาน มันสบายอกสบายใจไปหมดเลย เห็นไหม เวลากิเลส ถ้ามันไม่มีธรรมวินัยเข้าไปถอดถอน ไม่มีธรรมวินัยไปขัดเกลามัน มันก็อยู่สุขอยู่สบายในใจเรา นี่มันอยู่กลางหัวใจ มันอยู่สุขอยู่สบายเลย แต่ถ้าวันไหนจะรุกรานมัน จะกำจัดมัน มันหาทางต่อต้าน มันหาทางทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน อับจนปัญญาไปหมด

กิเลส เวลามันตื่นนอนขึ้นมา มันจะต่อสู้กับธรรมที่เราพยายามสร้างขึ้นมา อับจนไปหมดเลย สู้ไม่ได้เลย ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เข้าใจ ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นคุณธรรม สิ่งนั้นเป็นคุณงามความดี คุณงามความดีนี่มันทำคุณงามความดีในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในใจของเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก

กิเลสแล้วไม่เห็นหน้ามันด้วย เวลาไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลส นี่ชื่อกิเลส รู้ไปหมดเลย ความโกรธก็ไม่ดี ความโลภก็ไม่ดี ความหลงก็ไม่ดี แต่เวลาตัวเองอับจนปัญญา เวลากิเลสมันขี่คอขึ้นมา นี่ทำไปโดยไม่รู้ตัวเลย เวลาชื่อกิเลสนี่เข้าใจกันไปหมด เวลาศึกษามารู้ไปหมดเลย ไอ้นั่นก็เป็นกิเลส ไอ้นี่ก็เป็นกิเลส แต่นี่ชื่อมัน ไม่เคยเห็นตัวมัน แล้วเวลาตัวมันอยู่ที่ในหัวใจ ตัวมันเวลามันตื่นนอน เวลาตัวมันมันพลิกตัวขึ้นมานี่เอียงไปหมดเลย ทุกข์ยากไปกับมันหมดเลย แล้วก็ปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม อับจนปัญญา

นี่ถ้ากิเลสมันตื่นนอน กิเลสมันควบคุมอยู่ อับจนปัญญาไปไม่รอดหรอก เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ อยู่เฉยๆ ก็ทุกข์ ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา ถ้ามันจะทุกข์ก็เป็นสัจจะความจริง ทุกข์มันเป็นอริยสัจ ทุกข์มันเป็นความจริง คนทำงานมันก็ต้องออกแรงทุกคนแหละ คนทำงานเขาจะมีสติปัญญาของเขา ทำคุณงามความดีของเขา ไอ้นี่เราบวชเป็นพระ เราก็ปฏิญาณตนมาแล้ว เวลาบวชเป็นพระขึ้นมา อุปัชฌาย์ก็ให้กรรมฐาน ๕ มา ให้รุกขมูลมา ให้ปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรามา เราก็ได้รับมาจากอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์รับมาแล้ว บวชมาแล้วศึกษาเราก็ศึกษาของเราไป ศึกษาขึ้นมาเพื่อเป็นถนนหนทาง

ถ้าศึกษามาแล้ว ถ้าเราไม่ปฏิบัติ นี่ได้แต่ชื่อมันมา เวลาเขาให้พินัยกรรมมา ก็ได้กระดาษมาใบเดียว แล้วทรัพย์สมบัติอยู่ไหนก็ไม่รู้ ในพินัยกรรมบอกว่าให้ไปหาทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็หาไม่เจอ นี่ก็เหมือนกัน ศึกษามาก็ศึกษามาแล้ว นี่จะออกมาปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ตั้งสติขึ้นมา เราจะทำความสงบของใจเข้ามา จะหน้าฝน หน้าหนาว หน้าร้อน เราทำก็ของเราทุกลมหายใจเข้าออก ถ้ามีสติปัญญา เราทำของเราทั้งนั้นแหละ ทำเพื่อความสงบระงับในใจของเรา

ถ้าทำความสงบระงับในใจเรา นี่เราได้ชื่อมันมาแล้วแหละ เราได้แผนผังเครื่องดำเนินมา ได้แผนที่มา เราจะแสวงหาใจเราให้เจอ นี่แล้วใจเรามันอยู่ไหนล่ะ ภาคปฏิบัติมันต้องทำจริงขึ้นมา ถ้าความจริงขึ้นมา นี่เวลาทำจริงขึ้นมา

คนเรา เห็นไหม ดูสิ เด็กถ้าไม่มีผู้ใหญ่ไปดูแลมัน มันก็ต้องพยายามช่วยเหลือตัวมันเองไป แต่จะมีความเข้มแข็งในหัวใจมากน้อยแค่ไหนก็พยายามดำรงชีวิตของตัวให้ได้ นี่ก็เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์อยู่ ท่านก็ดูแลเราเหมือนพ่อแม่ดูแลเรานี่แหละ นี่พ่อแม่ครูจารย์ก็ดูแลเรานี่ แต่เวลาหัวใจของเราใครจะดูแลให้ได้ล่ะ นี่หัวใจของเรา เราก็ต้องสร้างของเราขึ้นมา สิ่งที่สัมผัสธรรมได้คือความรู้สึกในใจ ถ้าความรู้สึกในใจ ถ้ามีสติปัญญา มันได้สิ่งนี้ขึ้นมา มันตั้งสติมาให้มันสงบระงับให้ได้ ถ้ามันสงบระงับได้นะ ด้วยความอับจนของเรา นี่อับจนปัญญา ปัญญาสร้างเนื้อสร้างตัวไม่ได้เลย ล้มลุกคลุกคลานไปหมด แต่ถ้ามีปัญญาก็ปัญญาของกิเลสทั้งนั้น เวลามีปัญญาขึ้นมา

นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาคนเกิดมา ถือขวานมาคนละเล่ม คือมีปากไง ปากนี่ถือขวานมาคนละเล่มเที่ยวถากเที่ยวถางเขาไปทั่ว ถ้าเที่ยวถากถางเขาไปทั่ว มันเป็นประโยชน์อะไร นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมา ปัญญาของเรานี่ปัญญาของกิเลส มันก็ถากถางใจเราเอง ถากถางคุณงามความดี

บวชนี่ ทุกคนในสังคมก็รู้ว่าการบวชพระเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้นแหละ การบวชพระ การประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ดี เราจะปฏิบัติธรรมนี่ทำอย่างไร เริ่มต้นก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี พอสิ่งที่ดี เวลามาทำแล้วอั้นตู้ไปหมดเลย ขยับซ้ายก็ไม่ได้ ไปหน้าก็ไม่ไป ถอยหลังก็ไม่ได้ อยู่เฉยๆ ก็ทุกข์ แล้วถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมาก็ไม่มีความมั่นคงเลย ไม่มีความจริงจังเลย

ถ้าไม่มีความจริงจัง ถ้ามีสติขึ้นมา เราทำได้ทั้งหมด มันจะไม่อับจนไง คนอับจนก็คนท้อแท้ คนเหลวไหล คนเห็นแก่ตัว คนมักง่าย นี่พวกนี้พวกอับจนทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนที่เขาไม่อับจน เห็นไหม มันจะทุกข์ขนาดไหน เราเกิดมาเป็นคน แม้แต่สัตว์มันยังต้องดำรงชีวิตของมัน เวลาสัตว์มันต้องหาอยู่หากินของมัน มันต้องหาอาหารถึงท้อง ถ้านักล่ามันหาเหยื่อไม่ได้ มันก็ต้องทนหิวของมันไป ถ้ามันหิวอาหาร มันต้องล่าให้ได้ ถ้าล่าได้มันก็มีอาหารตกถึงท้องของมัน

เห็นไหม แม้แต่สัตว์มันยังต้องล่าเพื่อหาเหยื่อหาอาหารของมัน เราเป็นคนเกิดมา เราทำหน้าที่การงานของเรา เราก็มีหน้าที่การงานของเรา มีปัจจัยเครื่องดำรงชีวิตของเรา เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เพราะสิ่งที่เราหาอยู่หากินมาเลี้ยงปากได้ แต่มาเลี้ยงใจของเราไม่ได้ มันทำใจให้เราพ้นจากทุกข์ไม่ได้ เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชเป็นพระ ถ้าบวชเป็นพระขึ้นมา นี่เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เช้าขึ้นมาเราบิณฑบาต เราสะพายบาตรออกไป มันก็เต็มบาตรมาทุกวัน มีของตกถึงบาตร เรื่องปัจจัย ๔ เราไม่เดือดร้อนแล้ว ถ้าเราไม่เดือดร้อน เพราะอะไร เพราะทุกคนเขาเห็นนักรบ เห็นพระออกประพฤติปฏิบัติ เขาก็ส่งเสริมของเขา เขาก็หวังบุญกุศลของเขา เราเป็นนักรบ เราบิณฑบาตมาเลี้ยงชีวิต เลี้ยงชีพของเรา เลี้ยงชีพไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ ทีนี้เราปฏิบัติ เราก็ต้องตั้งสติของเรา เราไม่ต้องวิตกกังวลกับปัจจัยเครื่องอาศัยเลย ปัจจัยเครื่องอาศัยเขาพร้อมที่จะส่งเสริมเราอยู่แล้ว เขาพร้อมที่จะดูแลเต็มที่ แต่ของเรานี่ เราจะมีสติปัญญา

เวลาเราบิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เขาใส่บาตรมาแล้วเขาหวังบุญกุศล เราฉันแล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราได้บุญกุศลขึ้นมาจริงหรือเปล่า ถ้าได้บุญกุศลจริงขึ้นมา จิตใจมันก็อบอุ่น ถ้าจิตใจอบอุ่น เราตั้งสติของเรา เรามีสติของเรา

นี่ศึกษามา ทุกคนก็ศึกษามาหมดแล้ว กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ใครก็ทำได้ แต่ถ้าทำได้ขึ้นมา ดูสิ เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ทำความสงบของใจ นี่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง มันเป็นพุทธพจน์ มันเป็นพุทธวิสัย มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เขาบอกว่าสิ่งที่เราทำๆ ที่เป็นสาวกภาษิตๆ...สาวกภาษิตของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็ทำมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน ในเมื่อทำมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านรู้จริงของท่าน ท่านก็สั่งสอนของท่านได้ ถ้าท่านสั่งสอนของท่านได้ ท่านก็ให้ทำความสงบของใจเหมือนกัน ให้พุทโธเหมือนกัน อานาปานสติเหมือนกัน ถ้าทำขึ้นมาได้ มันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ถ้าทำความจริงขึ้นมา เราจะเลี้ยงใจเรา

นี่เขาบวชกายกันมา เวลาบวชร่างกายมาโดยประเพณีวัฒนธรรม แต่เราจะบวชใจของเรา ถ้าเราบวชใจของเราได้ เห็นไหม มันไม่อับจนมันไง พอเราบวชใจของเราได้ เราก็เลี้ยงตัวเองได้ ถ้าเราเลี้ยงตัวเองได้ จิตใจมันก็มีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันก็พยายามเอาตัวรอดให้ได้ ถ้าเอาตัวรอดได้ มันทำความสงบของใจมันก็สงบของมันได้ มันก็ไม่เร่าร้อน มันก็ไม่เดือดร้อนจนเกินไป มันไม่อับจนไง มันจะก้าวเดินของมันไปได้

มันไม่ใช่ว่า ก้าวไปข้างหน้าก็ไปไม่ได้ ถอยหลังก็ถอยไปไม่ได้ ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ก็ทุกข์แสนทุกข์ไง ทุกข์แสนทุกข์นะ แต่ก็มีสติมีปัญญา ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นี่ทุกข์ควรกำหนด ถ้ามันเป็นทุกข์ก็ทุกข์เป็นสัจจะความจริง ทุกข์มันมีของมันอยู่แล้ว นี่คนเป็นหวัดเป็นไอมันก็หายใจไม่สะดวกอยู่แล้ว นี้เราหายใจก็ยังหายใจได้อยู่ เดินจงกรมได้อยู่ แต่หัวใจมันขัดข้อง หัวใจมันมีในหัวใจ หัวใจที่เป็นกิเลสมันตื่นนอนมาแล้วมันกีดมันขวาง มันเป็นหน้าที่ของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน ธรรมชาติ นี่อวิชชาความไม่รู้ พญามารมันทำงานของมันอย่างนั้น แล้วถ้ามันทำงานของมัน มันมีอยู่ในใจเรา มันจะทำให้เราปลอดโปร่ง ทำให้เราปฏิบัติโดยง่าย มันเอาที่ไหนมา มันไม่มีหรอก งานของมารมันก็ทำให้เราไขว้เขว งานของมารมันก็ทำให้เราอับจน งานของมารมันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน งานของมารมันก็ทำให้เราเลิกปฏิบัติ พอเลิกปฏิบัติแล้ว นั่นล่ะมันทำงานประสบความสำเร็จ “เออ! เลิกดีกว่า เราไปทำบุญกุศลโดยปกติก็พอแล้ว” นี่แค่นี้ งานของมาร มารมันทำหน้าที่อย่างนี้ ทำให้จิตทุกดวงอยู่ในอำนาจของมัน

ถ้าอยู่ในอำนาจของมันแล้ว มันก็ไม่แสดงตัว ไม่แสดงตัวให้รู้ด้วยว่ามารได้ทำงานของมันเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไอ้เราก็ดีอกดีใจ ทดลองมาทุกอย่างแล้ว การปฏิบัติมาแนวทางไหนก็ทำมาทุกแนวทางแล้ว มันไม่มีจริงอยู่หรอก มรรคผลนิพพาน หมดกึ่งพุทธกาลไปแล้วมันไม่มีมรรคผลนิพพานหรอก

แล้วไม่มีมรรคไม่มีผลแล้วทำไมมันทุกข์ล่ะ ทุกข์มันเป็นอริยสัจ ทุกข์ เห็นไหม สัจจะความจริงมันจับได้ มันบอกว่ามันลองมาทุกอย่างแล้ว นี่มารมันทำงานประสบความสำเร็จ เห็นไหม นี่อับจนปัญญา อับจนนะ อับจนปัญญา ทั้งๆ ที่ปัญญานี่ไม่ต้องหาบไม่ต้องหาม เวลาศึกษามาทางโลก ศึกษามาทางวิชาการมานี่เก่งนัก รู้ไปหมด แล้วรู้ไปหมดทำไมทุกข์ล่ะ รู้ไปหมดทำไมคอตกล่ะ แล้วเวลาจะเอาความจริงขึ้นมาทำไมไม่ค้นคว้าขึ้นมาล่ะ

สิ่งที่ศึกษามานี่ศึกษามาเป็นภาคปริยัติ ศึกษามาเป็นทางวิชาการทางโลก ศึกษาโดยมาร มารมันก็ศึกษามากับเรา ศึกษามาแล้วมันมีคุณประโยชน์อะไรขึ้นมา นี่เอาไว้เป็นโวหาร เอาไว้ถากถางกัน เสียดสีกันด้วยลมปาก แล้วมันมีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับตัวเราบ้างล่ะ? ศึกษามาแล้วไม่เป็นประโยชน์อะไรกับตัวเราเลย ถ้ามันเป็นประโยชน์กับตัวเรา เห็นไหม มันสุขสงบระงับอย่างไร ถ้ามันสุขสงบระงับขึ้นมา มันอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ด้วยความสุขสบายไง อยู่ที่ไหนมันก็ไม่เดือดไม่ร้อน ไอ้นี่มันเดือดร้อน อยู่ก็เดือดร้อน ไปก็เดือดร้อน มาก็เดือดร้อน เดือดร้อนไปหมดเลย เดือดร้อนเพราะใจมันเดือดร้อน แล้วถ้ามันไม่เดือดร้อนล่ะ

ถ้าไม่เดือดร้อน เห็นไหม ดูสิ แรงดันเท่าไร ถ้าเราผ่อนคลายแรงดันนั้นออก มันจะไม่มีแรงดันสิ่งใดกดดันอีกเลย จิตใจที่มันอัดอั้นตันใจ ถ้ามีสติปัญญา ถ้ากำหนดพุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบตัวลง นี่ความดันมันหายไปไหน ทำไมมันโล่งโถงไปหมด ทำไมมันว่างไปหมด ถ้าว่างไปหมด ถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญาได้ นี่ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้น ถ้าภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น นี่ที่เวลาอับจนขึ้นมา มันหันรีหันขวาง ดูสิ เวลาคนบ้าตามันขวางนะ แล้วใครอย่าไปขวางมันนะ มันทำลายหมดแหละคนบ้าน่ะ คนบ้ากำลังมันเยอะด้วย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาหัวใจมันอับจนปัญญา มันตาขวางไปหมดเลย มันตาขวาง อะไรก็ไม่ดีไปทุกอย่าง เราทำแล้วโลกนี้ไม่เห็นคุณงามความดีของเรา...มันความดีของใคร ความดีไม่ต้องให้ใครเห็น ความดีจะต้องให้ใครยกย่อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาปฏิบัติมา สลบ ๓ หนอยู่ในป่า ใครไปเห็นด้วย เวลาตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์องค์เดียวนี่มีใครเห็น ปัญจวัคคีย์ยังทิ้งไปเลย แล้วมันจะต้องให้ใครมายกยอปอปั้น มายอมรับความดีของเราอีก ไอ้ยกยอปอปั้นมันอับจนปัญญาแล้วล่ะ อับจนปัญญาเพราะอะไร

เพราะเวลามันสุขมันทุกข์เป็นของเรา ปฏิบัติเราก็ปฏิบัติเอง ถ้ามันผิดพลาด เราก็ผิดพลาดจนหัวหกก้นขวิด ถ้ามันถูกต้อง เราก็ดีงามของเราไปเอง แล้วจะให้ใครมารับรู้อะไรกับเรา ทำไมจะต้องให้คนมายอมรับความดีของเรา ความดีของเราก็คือความดีของเรา ไอ้คนอื่นมันก็เป็นคนอื่น เราทำดีขนาดไหน ใครมันบอกว่าเราดีล่ะ เราจะชั่วขนาดไหน ถ้าเขายกยอปอปั้น เขาบอกว่าเราเป็นเทวดานะ ทำความชั่วมาเดี๋ยวนี้มันยังบอกว่าเราเป็นเทวดาเลย เพราะมันสอพลอ คนสอพลอจะไปฟังอะไรเขาได้

ไม่ต้องไปฟังใครหรอก หัวใจเรานี่แหละ นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ความลับไม่มีในโลก เรารู้เต็มที่เลย เราทำได้หรือทำไม่ได้ เรารู้ของเราอยู่ ถ้าเรารู้ของเราอยู่ เห็นไหม ปัญญามันเกิดแล้ว นี่ปัญญามันเกิดอย่างนี้ เวลาอับจนขึ้นมานี่ต้องการให้คนยอมรับ ต้องการให้คนนู้นว่าเราดี คนนี้ว่าเราดี อับจนตัวเอง ปิดกั้นตัวเอง ตัวเองไปไม่ได้เลย แต่เวลาเป็นความดีขึ้นมา เห็นไหม มันผ่องแผ้ว มันนั่งของมัน มันสุขสงบระงับ อยู่ที่ไหนมันก็ชื่นบาน มันชื่นบาน มันมีความสุขตลอด มันมีความสุขของมัน มันแก้ไขของมัน นี่รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วรสทางโลกสิ่งใดมันจะชนะรสของธรรม

ถ้ามันพุทโธๆ มันจะดื้อดึงขนาดไหน มันจะต่อต้านขนาดไหน นั่นเป็นงานของมาร งานของมารเขาทำอย่างนั้น งานของมารน่ะ เดินจงกรมก็ไม่ได้ นั่งสมาธิก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ขัดข้องหมองใจไปหมด หน้าที่ของมัน เห็นไหม แต่เวลาเลิกแล้วไปเที่ยวทางโลกเขา อยู่กับทางโลก อย่างนั้นทำได้ไหม? ได้ อย่างนี้ดี ไปพักผ่อนตากอากาศ เออ! อย่างนี้ดี อย่างนี้ดี แต่เข้าทางจงกรมไม่ได้ ผิดไปหมด นั่งสมาธิก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ เป็นอัตตกิลมถานุโยค ในปัจจุบันนี้โลกเจริญแล้ว การปฏิบัติให้นั่งนึกเอา การปฏิบัติให้เพ้อเจ้อเอา ให้ฝัน ฝันเอาเลย ปัญญาอย่างนี้โอ้โฮ! ผ่องแผ้ว ปัญญาเพ้อเจ้อ ปัญญาอย่างนี้ดีมากเลย

ปัญญาจริงๆ หาไม่เจอ ปัญญาชำระกิเลสหาไม่มี มันอับจนขนาดนั้นนะ นี่ชาวพุทธเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้หมด เป็นอย่างนี้เพราะด้วยความเพ้อเจ้อกัน โดยความเพ้อเจ้อ ตรรกะ ใครเพ้อเจ้อ แล้วไอ้คนที่รับความรู้สึกเพ้อเจ้อนั้นได้ อันนั้นเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรม ถ้าเป็นสัจธรรม ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครรู้ได้ แม้แต่พรหมก็ไม่รู้ เพราะเขาไม่เคยสัมผัสอย่างนี้

นี่ในวัฏฏะ จิตเวียนตายเวียนเกิดเขารู้ของเขาได้ แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรม รู้ไม่ได้ ไม่มีใครรู้ได้ แล้วอธิบายอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเวลามันรู้ขึ้นมา มันรู้ขึ้นมาในตัวมันเอง นี่ถ้ามันรู้ขึ้นมา รู้ขึ้นมาจากอะไร? ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าปัญญาที่เกิดขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงของเรานะ นี่เราทำความสงบของใจของเรา อย่าไปกังวลกับกระแสสังคม กระแสสังคมจะบอกว่าทำความสงบของใจไม่มีปัญญา ปัญญาเรา เราใช้ปัญญาของเราไปเลย ไม่รู้หรอกว่านั่นคือสมุทัยล้วนๆ ปัญญาของเขาตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่กิเลสทั้งนั้น เพราะมันเกิดมาจากอวิชชา เกิดมาจากความไม่รู้ เกิดจากฐีติจิต ฐีติจิตดวงนั้น

สิ่งที่เป็นสื่อ สื่อที่ส่งมามันเป็นพลังงาน มันเป็นคลื่นเท่านั้นเอง พอเป็นคลื่น ใครรับได้ก็รับรู้ได้ มันมีชีวิตไหม? มันไม่มีชีวิต นี่สสาร ธรรมะเป็นธรรมชาติ สิ่งที่คลื่นวิทยุ คลื่นต่างๆ ที่เขาสื่อสารกันนี้มันเป็นคลื่น แล้วมันเป็นมรรคเป็นผลไหม? มันไม่เป็น มันเป็นคลื่นเฉยๆ ถ้าเป็นคลื่นเฉยๆ เราไปศึกษา เราศึกษาโดยอวิชชา อวิชชามันก็เหมือนกับคลื่นที่มันไป มันไม่มีชีวิต มันเป็นเครื่องมือสื่อสาร แต่คนที่ไปรับรู้มัน เราเอามาแปลความหมายกัน สิ่งที่รับรู้สิ่งนั้นขึ้นมา แล้วมันมีอะไรขึ้นมาล่ะ มันมีสิ่งใดมหัศจรรย์ขึ้นมากกว่านั้น มันก็มีเท่านั้นแหละ

ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษาด้วยมารอย่างนี้ แล้วเวลาปัญญา ปัญญาเพ้อเจ้อก็ว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา สิ่งนี้เป็นปัญญา แต่พอเราจะทำความสงบของใจ จะเอาความจริงขึ้นมา บอกว่าทำอย่างนั้นไม่มีประโยชน์ นี่กระแสสังคมมันเป็นแบบนั้น ถ้ากระแสสังคม สังคมใครสร้างขึ้นมาด้วยอำนาจ ด้วยเวรด้วยกรรมของคน ด้วยความไม่รู้ พอตัวเองไม่รู้ขึ้นมา ตัวเองก็สร้างกระแสขึ้นมาด้วยปัญญาของตัวว่าอย่างนั้นเป็นธรรม อย่างนั้นเป็นธรรม มันอับจนไปหมด อับจนปัญญาโดยมาร อับจนปัญญาโดยกิเลส

กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบังคับขู่เข็ญ ปิดกั้นปิดบังให้กระแสสังคมรู้ได้เท่านั้น กระแสสังคมรู้ได้เท่านั้น แล้วตัวเองก็ถือทิฏฐิมานะกัน เอาสิ่งที่สังคมยอมรับนับถือว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม เราจะปฏิบัติธรรมกันตามความเป็นจริงขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้เพราะไม่มีใครรู้จริงที่จะมาเป็นเครื่องยืนยันกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติให้มีความมั่นคง ให้ทำขึ้นมาจากความจริงของเราขึ้นมาให้ได้ ถ้าความจริงของเราขึ้นมาให้ได้ มันจะพ้นไปไหน มันอยู่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในเมื่อเป็นสันทิฏฐิโกๆ มันเกิดขึ้นจากความเป็นจริง มันเป็นปัจจัตตังเกิดจากใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมีความเห็นจริงขึ้นมา มันจะเป็นสมบัติของใจดวงนั้น ถ้าสมบัติของใจดวงนั้น เห็นไหม นี่ร่มโพธิ์ร่มไทรแล้ว ร่มโพธิ์ร่มไทรเพราะมันมีความจริงขึ้นมา มันมีมรรคมีผลขึ้นมาจากใจดวงนั้น ถ้ามีมรรคมีผลจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเป็นประโยชน์

ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของบริษัท ๔ บริษัท ๔ จะได้พึ่งพาอาศัยสิ่งนี้เป็นผู้คอยชี้นำไม่ให้กิเลสมันบังตา กิเลสบังตา กิเลสมันปิดกั้นให้อับจนปัญญา อับจนปัญญาในธรรม แต่มันจะเกิดปัญญาทางโลก อับจนปัญญาในธรรมมันจะไม่มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นจากความเป็นจริง จะไม่มีภาวนามยปัญญาการชำระล้างกิเลสเลย แต่มันจะมีกิเลสจากสมุทัย มันจะมีปัญญาจากสมุทัย ปัญญาที่เป็นสมุทัย ที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อ้างอิงเกาะเกี่ยวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมุทัย โดยตัณหาความทะยานอยาก โดยการสร้างกระแส กระแสว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม แล้วก็เชื่อถือกันไป เชื่อถือกันไป เห็นไหม เชื่อถือกันไปด้วยความอับจน ด้วยความปิดกั้น ด้วยมารมันครอบงำ

แต่เพราะเรามีครูมีอาจารย์นะ มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านฟื้นฟูของท่านมา ท่านทำความเป็นจริงของท่านมา แล้วท่านเป็นผู้ชี้นำ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำสิ เราจะกระเสือกกระสนกันไปอย่างใด หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านกระเสือกกระสนของท่านมา แต่เพราะท่านสร้างบุญญาธิการมา เพราะหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เวลาหลวงปู่เสาร์ท่านปรารถนามาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านเคยปรารถนามา การที่ปรารถนามา ท่านต้องสร้างคุณงามความดีของท่านมามากพอสมควร เวลาถึงกึ่งพุทธกาล ๒ องค์ท่านถึงมีความเห็นที่จะพากันพ้นทุกข์ให้ได้ ท่านถึงพยายามขวนขวาย พยายามหาช่องทางของท่านไป

แล้วเวลาหาช่องทางของท่านไปแล้ว สิ่งที่ท่านแสดงไว้ คือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นที่แสดงไว้ในวิธีการ วิถีแห่งจิต จิตที่มีวิธีการที่มันจะพัฒนาของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าท่านไม่มีวิถี ไม่มีวิธีการที่พัฒนาของท่านขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ท่านจะเอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องยืนยันกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ กับลูกศิษย์ลูกหาที่ปฏิบัติมา แล้วรู้จริงเห็นจริงกับใจขึ้นมา ถ้าผู้ที่ปฏิบัติมันรู้จริงเห็นจริงจากใจขึ้นมา แล้วเอาสิ่งนั้น ผู้ที่เห็นผู้ที่กระทำมันก็ต้องถือความเห็นของตัวเป็นที่ตั้ง แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ของเราท่านจะแก้ไขอย่างใด ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วมันยังติดข้องอยู่ เพื่อจะพัฒนาให้มันสูงขึ้นไป ท่านจะเอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องยืนยันกัน ในเมื่อครูบาอาจารย์ท่านก็มีความจริงในใจ ผู้ที่ปฏิบัติก็มีความจริงในใจ แต่ความจริงในใจของผู้ที่ปฏิบัติมันยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเจือปนเข้ามา ยังมีสิ่งเร้า สิ่งล่อ สิ่งบิดเบือนให้การกระทำนั้นบิดตัวออกไปจากความเป็นจริง

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมีความจริงขึ้นมา ท่านถึงชักนำ ท่านถึงมีการโอบล้อมไม่ให้จิตใจแฉลบออกไปนอกลู่นอกทาง เข้าสู่สัจธรรม เข้าสู่สัจธรรม เพราะท่านมีจริงของท่าน เห็นไหม ถ้าท่านมีจริงของท่านอย่างนี้ นี่มันไม่อับจนปัญญาไง

ผู้ที่ไม่อับจนปัญญา พยายามจะชักนำจิตใจที่ประพฤติปฏิบัติให้ตามความเป็นจริงของสัจธรรมขึ้นไป ผู้ที่อับจนปัญญา แต่ไปเพิ่มพูนสมุทัย ไปเพิ่มพูนกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไปเพิ่มพูนธรรมะสิ่งที่ตัวเองนึกพอใจขึ้นมา แล้วก็สร้างกระแสกันขึ้นมาว่ามันเป็นความจริงๆ แล้วผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงบอกสิ่งนั้นมันไม่มีจริงอยู่ในธรรมวินัย

ในธรรมวินัยคือธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา อันนั้นมันชื่อ ความจริงที่เกิดขึ้นในใจต่างหากมันเป็นความจริง ถ้าความจริงที่เกิดขึ้นในใจต่างหาก ชื่อกับตัวจริงมันแตกต่างกัน ชื่อกับความจริงมันแตกต่างกัน แล้วความจริงที่ในใจของครูบาอาจารย์ของเรามันเป็นความจริงนะ มันไม่ใช่ความอับจน

เราปฏิบัติกันโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันอับจนปัญญานะ ไม่มีปัญญาความจริงขึ้นมาเลย เวลาศึกษาขึ้นมาก็เป็นสัญญาทั้งนั้น เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้น แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาเราพยายามปฏิบัติอย่าให้ตัวเองอับจน ถ้ามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปิดล้อมมา เราก็ต้องมีความเข้มแข็ง มีความตั้งใจ นี่ถ้ามีความเข้มแข็ง มีความตั้งใจ การกระทำมันจะฝ่าวงล้อมของกิเลสออกไปได้ ฝ่าวงล้อมของกิเลสนะ

เวลากิเลสมันล้อมเข้ามา เห็นไหม “นั่นก็ไม่ถูกต้อง นี่ก็ไม่ดีงาม การกระทำของเราถูกต้องดีงาม สิ่งอื่นมันขัดแย้งเราไปหมด” นี่มันโอบล้อมมาแล้วแหละ แล้วถ้าเราไม่อุกฤษฏ์ ไม่มีกำลังของเรา เราจะฝ่าวงล้อมของกิเลสออกไปไม่ได้ กิเลสมันเหยียบย่ำตาย เหยียบย่ำตายเลย เหยียบย่ำลงไปแล้วนะ แล้วก็มืดบอด แล้วก็อับจนอยู่อย่างนั้นแหละ อับจนปัญญา แต่มันเพิ่มพูนแต่เรื่องฟืน เรื่องไฟจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าเรามีความอดทน เรามีสัจจะ เรามีความจริงของเรา เราฝ่าฟันของเรา ถ้าเราฝ่าฟันของเราผ่านพ้นวิกฤตินี้ออกไป จิตมันสงบระงับได้

ทำความสงบของใจได้ ถ้าใจสงบระงับแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา เวลาปัญญาเกิดขึ้น เห็นไหม นี่ภาวนามยปัญญา ไม่มีใครมาปิดกั้น ไม่มีใครจะมารู้ ไม่มีใครจะมาพิจารณา มาให้คะแนนตัดคะแนนว่าภาวนามยปัญญาผิดถูกอย่างใด มันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก วิถีแห่งจิต หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านรู้ ครูบาอาจารย์ที่ผ่านไปแล้วท่านรู้ ถ้าท่านรู้แล้ว ถ้าใครมีกระแส มีการกระทำแบบนี้ ครูบาอาจารย์ท่านบอก นั่นแหละเข้าทางแล้ว ถ้าเข้าทางแล้วนี่มันภาวนาเป็น ภาวนาเป็นแล้วมันจะก้าวเดินของมันไป วิถีแห่งจิตมันจะก้าวเดินพัฒนาของมันขึ้นไปเป็นภาวนามยปัญญา ถึงที่สุดแล้วเวลามันสมุจเฉทปหานเป็นอกุปปธรรม

สิ่งที่เป็นอกุปปธรรม คนที่มีอกุปปธรรมกับอกุปปธรรมด้วยกันเขารู้ได้ เขาเข้าใจได้ สิ่งนั้นเป็นความจริง แล้วคนที่ไม่มีความจริง พูดอย่างใดมันเป็นกุปปธรรม กุปปธรรมคือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คำว่า “อนัตตา” มันแปรปรวน คำพูดไม่มีสัจจะ คำพูดไม่มีความจริง คำพูดไม่มีความแน่นอนเลย เปลี่ยนแปลง อนัตตาไง กะล่อน ปลิ้นปล้อน หลอกลวง นี่อนัตตา วนอยู่นั่นแหละ ไม่มีอะไรเป็นความจริง ไม่มีสัจจะความจริงเป็นเครื่องยืนยัน

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา นี่ความจริงๆ อกุปปธรรม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา วนเวียน กะล่อนปลิ้นปล้อนกันอยู่นี่ นี่อับจนปัญญา กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปิดกั้นไว้ แต่ถ้าเราทำความเป็นจริงมันจะเป็นปัญญาของเรา มันจะเป็นภาวนามยปัญญาให้เราถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้

เราเป็นพระ เราบวชมาด้วยความตั้งใจจริง แสวงหาสัจธรรม แล้วมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ มีครูบาอาจารย์เป็นที่ปรึกษา มีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ ถ้าจิตใจมันเร่ร่อน มันว่าปฏิบัติไปแล้วมันกลัวจะผิดพลาด กลัวจะไม่มีใครบอก แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ เราปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าผิดถูกอย่างไร อาจารย์จะเปรียบเทียบได้ ถ้าเราปัจจัตตัง เราเห็นของเราอย่างนี้ ท่านพูดออกมาผิดจากที่เราเห็น แล้วมันออกนอกลู่นอกทาง เราจะรู้ได้เลยว่าใครมีจริงหรือไม่มีจริง เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เอวัง