ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

จับชายจีวร

๒๘ เม.ย. ๒๕๕๖

 

จับชายจีวร
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๓๐๘. เนาะ

ถาม : ๑๓๐๘. เรื่อง “หนังสือถาม-ตอบปัญหาหลวงปู่มั่น เจ้าคุณธรรมเจดีย์”

(นี่หัวข้อนะ หนังสือถาม-ตอบปัญหาหลวงปู่มั่น เจ้าคุณธรรมเจดีย์)

กราบเรียนหลวงพ่อที่เคารพยิ่ง ตอนนี้ทางโลกอินเตอร์เน็ตมีการถกเถียง และมีความสงสัยเกี่ยวกับหนังสือการตอบปัญหาระหว่างหลวงปู่มั่นและเจ้าคุณธรรมเจดีย์ว่าไม่ใช่หนังสือที่ท่านแต่ง ไม่ใช่คำสนทนาของครูบาอาจารย์ใหญ่ทั้ง ๒ แต่เป็นอุบาสิกาท่านหนึ่งเป็นผู้แต่ง ไม่ทราบว่าหลวงพ่อได้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้หรือไม่ครับ ถ้าเคยกระผมอยากให้หลวงพ่ออธิบายเรื่องนี้ด้วยครับ โดยเฉพาะเนื้อหาธรรมะในหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้พอยึดเป็นหลักปฏิบัติได้ไหมครับ โดยเฉพาะธรรมชั้นสูงที่พูดเรื่องของกิเลส อาสวะ สังโยชน์

ยอมรับว่าพอเอ่ยชื่อหลวงปู่มั่นและคำสอนเป็นเหตุเป็นผล ในขั้นต้นผมอุปมาเปรียบเทียบได้ ผมก็เป็นปุถุชนอยู่ ก็เชื่อสนิทเลยครับ คิดว่าหลายๆ คนคงเป็นอย่างผม หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อผู้เริ่มศึกษาธรรมะมาก ถ้าท้ายที่สุดกลายเป็นว่าหลวงปู่มั่นไม่ได้แต่งจริง น่าจะมีอิทธิพลต่อสังคมนักปฏิบัติพอสมควรเลยครับ ถ้าคำถามนี้ซ้ำหรือไม่เหมาะสมประการใด หลวงพ่อเป็นผู้พิจารณาตามสมควรเลยครับ ในความเคารพอย่างสูง (นี่เขาพูดนะ)

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่เขาก็เชื่อมั่น เห็นไหม พอเอ่ยชื่อว่าหลวงปู่มั่น นี่มันมีอิทธิพลต่อสังคมพอสมควร หนังสือเล่มนี้เราเคยอ่านแล้วแหละ แล้วออกมานานแล้วด้วย เราเคยอ่าน เราเคยดูอยู่ แต่เราเคยดูอยู่ สิ่งที่ว่าเพราะการที่ดูอยู่ตอนนั้น ในสังคมของพระเขาจะคุยกันในสังคมของพระก่อน ในสังคมของพระเขาจะพูดแบบโยมนี่แหละว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า มันเป็นจริงหรือเปล่า เป็นคำสอนกับเจ้าคุณธรรมเจดีย์คุยสนทนาธรรมกันจริงหรือเปล่า

นี่มันมีการถกกันในวงการพระแล้ว แล้วนี่ถกกันในวงการพระแล้ว ถกแล้วนะมันก็เป็นเรื่อง เรื่องที่ว่าโลกธรรม ๘ ในเมื่อมีความเห็นแตกต่าง มีความเห็นหลากหลายมันก็เป็นแบบนั้นแหละ มันเป็นอย่างที่อยู่ในสังคมนั่นแหละ กรณีอย่างนี้มันเริ่มต้นตั้งแต่กรณี เพราะกรณีนี้เวลาประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ เราก็แสวงหา เราก็อ่านหนังสือมาหลายเล่ม หนังสือประวัติครูบาอาจารย์อ่านมาเยอะมาก แล้วก็เก็บไว้ในใจ เก็บไว้ในใจ ถ้าเวลามีครูบาอาจารย์เราจะเข้าไปถามนะ เข้าไปถามว่าองค์ไหนพอถามได้เราก็จะสอบถาม

ทีนี้ก็มาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะปี ๒๗ เรื่องนี้เราจะถกกับหลวงปู่เจี๊ยะเรื่องนี้มาก หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะพูดถึงว่าตอนที่เผาศพหลวงปู่มั่น ตอนเผาศพหลวงปู่มั่น นี่สมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านเป็นประธาน แล้วมีพูดไปถึง หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับพระ แล้วไปถึงหูท่าน ท่านก็เรียกหลวงปู่เจี๊ยะเข้าไปถามไง เพราะตอนนั้นก็มีพระที่อยู่กับหลวงปู่มั่นนี่แหละเขียนประวัติหลวงปู่มั่น เขียนประวัติหลวงปู่มั่นแจกในงานศพหลวงปู่มั่น ตอนเผาที่วัดป่าสุทธาวาส แล้วหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็คัดค้าน แล้วข่าวนี่มันไปถึงสมเด็จ สมเด็จท่านก็เรียกหลวงปู่เจี๊ยะเข้าไป

หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับเรานะว่าสมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านดุมาก ท่านดุมาก แล้วยิ่งเป็นพระเด็กๆ พระที่ว่ายังพรรษาอ่อนๆ ท่านจะดุมาก หลวงปู่เจี๊ยะบอกเลยนะว่าเข้าไปวันนี้จะโดนกระโถนสมเด็จหรือเปล่าไม่รู้ กลัวสมเด็จจะเอากระโถนปาใส่ อันนี้พูดกันในสังคมพระที่ว่าเป็นพระผู้ใหญ่ ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ท่านพูดกับเรา เราเป็นเด็ก นี้คำพูดแบบวงในมันก็พูดกันได้อย่างนี้ แต่มาพูดกับสังคมเขาก็ไม่พูดออกมาอย่างนี้หรอก ท่านพูดกับเราเลยนะ บอกว่าเข้าไปหาสมเด็จไม่รู้ว่าวันนี้จะโดนกระโถนสมเด็จหรือเปล่า

นี้พอเข้าไปหาสมเด็จ สมเด็จท่านถามว่า “เจี๊ยะเอ้ย เจี๊ยะเอ้ย เจี๊ยะจะค้านเรื่องแจกหนังสือประวัติหลวงปู่มั่นหรือ?”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า “เกล้ากระผมมีความเห็นว่าหนังสือที่เขาเขียนเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่จะพิมพ์ในงานศพหลวงปู่มั่นมันไม่ควรแจก”

“เจี๊ยะเธอเห็นว่าอย่างไรถึงไม่ควรแจกล่ะ?”

พระเดชพระคุณ ขนาดเกล้ากระผม หลวงปู่เจี๊ยะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น พอท่านปฏิบัติจนมีหลักมีเกณฑ์แล้วท่านเข้าใจได้ ท่านอ่านแล้วท่านเข้าใจได้ ท่านเข้าใจได้ว่า ท่านพูดเอง หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับเราเองสองต่อสอง บอกว่า

“ถ้าหนังสือนี้แจกออกไป ถ้าคนที่เขาอ่านหนังสือนี้แล้วเขามีหลักมีเกณฑ์ คือเขาภาวนาเป็น เขาจะหาว่าหลวงปู่มั่นเราติดสมาธิ”

ก็เขาเขียนได้แค่สมาธิไง แค่ความว่างๆ แต่มันไม่มีเหตุมีผลไง ท่านบอกว่าถ้าหนังสือนี้แจกไปเขาจะหาว่าหลวงปู่มั่นติดสมาธิ คือหลวงปู่มั่นภาวนาได้สูงสุดแค่สมาธิ

“เออ เราเห็นด้วย เราเห็นด้วย”

ฉะนั้น หนังสือนี่ท่านไม่ให้แจกนะ หนังสือประวัติหลวงปู่มั่น มีพระองค์หนึ่งพิมพ์ กลุ่มใหญ่เลยที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นท่านจดจารึกกันมา แล้วเวลาพวกนี้พวกมีการศึกษา เป็นพวกเปรียญเขาก็จด เขาก็เขียนกัน แล้วเขาพิมพ์กัน พิมพ์กันในคณะศรัทธาของเขา แล้วจะแจกในงานหลวงปู่มั่น สมเด็จท่านสั่งไม่ให้แจก แต่หนังสือมันพิมพ์มาเสร็จแล้วมันก็แจกกันมา แล้วก็มาอ้างอิงกันในสมัยปัจจุบันว่าหนังสือเล่มนี้ได้แจกในงานศพหลวงปู่มั่น ได้แจกในงานศพหลวงปู่มั่น แต่สุดท้ายแล้วประธานสงฆ์ ประธานสงฆ์คือสมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านไม่ให้แจก ทีนี้หนังสือพิมพ์มาเสร็จแล้วมันก็แจกใต้ดินกันนั่นแหละ มันก็เป็นไป นี่พูดถึงประเด็นหนึ่งไง ประเด็นอย่างนี้มันมีมาตลอด

ฉะนั้น คำถามเขาถามว่า

ถาม : ในโลกอินเตอร์เน็ตเขามีความสงสัยเคลือบแคลงกัน ในเรื่องว่าหนังสือนี่หลวงปู่มั่นได้แต่งจริงหรือเปล่า

ตอบ : หลวงปู่มั่นท่านไม่ได้แต่ง เพราะหลวงตาท่านพูดบ่อย พูดบ่อยว่าสมัยหลวงปู่มั่นน่าเสียดายมาก เพราะมันไม่มีเทปอัดเสียงหลวงปู่มั่นไว้ พอมันไม่มีเทปอัดเสียงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ พอท่านเทศน์ขึ้นมามันมีแต่คนเลคเชอร์ไว้ มันไม่ได้เขียน มันเลคเชอร์ไว้ใช่ไหมว่าใครเลคเชอร์ไว้ได้มากน้อยขนาดไหน แต่คนที่เลคเชอร์ นี่บันทึกไว้ คนที่บันทึกไว้มีวุฒิภาวะพอหรือเปล่า ถ้าคนที่มีวุฒิภาวะพอ เลคเชอร์ไว้มันก็ชัดเจน มันก็พอใช้ได้

เพราะหลวงตาท่านพูดว่าที่มุตโตทัยที่เขียนมา เพราะมุตโตทัยมีอยู่ ๓-๔ สำนวน มีสำนวนหลวงปู่หลุย มีสำนวนของพระอีกองค์หนึ่ง มีอยู่ ๓-๔ สำนวน ท่านบอกว่านี่เพราะอะไร? ต่างคนต่างเลคเชอร์กันมา เทศน์กัณฑ์เดียวกันนั่นแหละ แต่หลวงตาท่านพูดว่า เพราะท่านก็นั่งฟังอยู่ด้วย หลวงตาท่านก็นั่งฟังอยู่ด้วย บอกเวลาท่านเทศน์ท่านเทศน์เป็นกัณฑ์มา แต่ที่ตัดเป็นข้อๆ พวกนี้มาตัดกันเอง พอตัดกันเอง นี่เทศน์จริงๆ มุตโตทัยหลวงปู่มั่นเทศน์จริงๆ แต่ แต่มันก็ไม่สมบูรณ์ มันก็ไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะ เพราะคนที่เลคเชอร์มามันก็มีวุฒิภาวะได้มากน้อยขนาดไหน

ฉะนั้น สิ่งที่ขนาดว่ามุตโตทัย มุตโตมัยมันก็ลูกศิษย์เขียนว่าอย่างนั้นเลย แล้วสิ่งที่ว่าหลวงปู่มั่นได้เขียนหรือเปล่า ไม่ได้เขียน หลวงปู่มั่นท่านจะเขียนหนังสือนะ เวลาเขาพิมพ์ประวัติกันบอกว่านี่ลายมือหลวงปู่มั่น ลายมือหลวงปู่มั่น ใช่ ลายมือหลวงปู่มั่นท่านเขียนวัดปทุมฯ เวลาท่านมาเขียน ตอนท่านเขียนท่านมาศึกษากับเจ้าคุณอุบาลี ฉะนั้น ท่านเขียนของท่าน ตอนนั้นท่านยังไม่ได้ขึ้นไปเชียงใหม่นะ เพราะตอนที่หลวงปู่มั่นท่านมาพักที่กรุงเทพฯ ท่านยังไม่ได้ขึ้นไปเชียงใหม่ พอท่านขึ้นไปที่เชียงใหม่แล้วท่านไปสำเร็จที่เชียงใหม่ พอสำเร็จที่เชียงใหม่ออกมาแล้วท่านก็กลับขึ้นไปอีสานเลย

ฉะนั้น หนังสือที่เขียนนี่มันเขียนก่อน มันเขียนก่อน หลวงปู่มั่นเขียนก่อนตอนที่อาสวะท่านยังไม่ถึงที่สุด แล้วท่านเขียนมันก็ต้อง แม้แต่หลวงปู่มั่นท่านเขียนนะ แต่พูดถึงว่าเวลาความจริงล่ะ? ความจริงสิ่งที่ว่าหนังสือแต่งกันมาๆ มันเป็นความจริงไหม? หลวงปู่มั่นเขียนก็มี ที่เขาถ่ายมาเลย ถ่ายเป็นลายมือหลวงปู่มั่นมาเลย แล้วชื่อหนังสืออะไรที่เป็นลายมือหลวงปู่มั่น อันนั้นก็เป็นอันหนึ่ง ถ้าเป็นอันหนึ่งนะ สิ่งที่ว่าหลวงปู่มั่นเขียนหรือหลวงปู่มั่นไม่เขียน นี่พอเอ่ยชื่อหลวงปู่มั่นมาทุกคนก็เชื่อ ทุกคนก็ว่าเป็น

นี้เขาบอกว่าเป็นอุบาสิกาเขียน อุบาสิกาเขียน หรือพระเขียน หรือกลุ่มคน กลุ่มพระที่เขียนหนังสือหลวงปู่มั่น เขียนกันเยอะมาก สำนวนแต่ละสำนวนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนี้

“ผู้ใดอยู่ถึงภาคตะวันตกของชมพูทวีป ปฏิบัติเหมือนเรา ทำตามเรา นั้นถือว่าเป็นลูกศิษย์ของเรา ผู้ใดจับชายจีวรเราไว้ ไม่ทำตามเรา ไม่ปฏิบัติตามเรา ไม่มีความเห็นเหมือนเรา ถือว่าอยู่ห่างไกลมาก”

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขียนมา นี่เขียนมาเป็นผู้ที่เห็นตามหลวงปู่มั่น หรือจับชายจีวรหลวงปู่มั่น หรืออ้างอิงหลวงปู่มั่น อันนี้อันหนึ่ง ฉะนั้น สิ่งที่เป็นกันมามันเป็นกันมาเยอะ เป็นกันมาเยอะ ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลว ในสมัยหลวงตาท่านยังมีชีวิตอยู่นะ เราได้ฟังเทป มีโยมเขาไปหาหลวงตา เขาไปคุยกับหลวงตาว่าเขาได้ศึกษาประวัติหลวงปู่มั่น เขาได้ศึกษาพระกรรมฐานแล้วศรัทธาสายหลวงปู่มั่นมากเลย เขาศรัทธาพระปฏิบัติสายหลวงปู่มั่นมหาศาลเลย เขามีความเชื่อ ความมั่นใจ ความจริงใจมาก หลวงตาท่านเมตตาเขา หลวงตาท่านพูดนะ

“เรามั่นใจว่าในลูกศิษย์หลวงปู่มั่นก็มีทั้งดีและเลว มีทั้งถูกและผิด ไม่ใช่ว่าจะถูกไปทุกองค์”

ท่านพูดอย่างนี้เลยนะ โยมคนนั้นเขาหยุดเลย ใช่เพราะว่าเขาศรัทธานี่เขาศรัทธามาก แล้วพอเขาศรัทธา พอขึ้นชื่อ นี่พอเอ่ยชื่อหลวงปู่มั่นมันก็มีอิทธิพลแล้ว ใครๆ ก็อ้างหลวงปู่มั่น อ้างหลวงปู่มั่นแล้วมีอิทธิพล ถ้ามันมีความเชื่ออย่างนั้น มีความมั่นใจอย่างนั้น แล้วเกิดถ้าไปเห็นเข้า หรือไปผิดหวังเข้า นี่เขาจะเสียใจมาก

ฉะนั้น หลวงตาท่านพูดอย่างนี้เลย ว่าใช่ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมีทั้งดีและเลว ฉะนั้น เราบอกว่านี่เราเชื่อมั่นเลย สายปฏิบัติสายหลวงปู่มั่นเราเชื่อมากเลย เราเชื่อมากเราก็เก็บไว้ในใจ แต่พอไปคลุกคลีกับใคร จะไปฟังคำสอนของใครมา อย่าเพิ่งเชื่อ พิจารณาดูก่อน ถ้าถูกต้องมันก็ดีเราจะไม่เสียหาย แต่ถ้ามันผิดพลาด เราก็บอกว่าอันนี้หลวงตาท่านได้พูดไว้แล้ว ว่าในลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมีทั้งดีและเลว มีทั้งถูกและผิด ถ้าถูกเราก็สาธุว่านี่ที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

“ผู้ใดอยู่ถึงภาคตะวันตกของชมพูทวีป ปฏิบัติเหมือนเรา เชื่อฟังเรา ค้นคว้าตามธรรมและวินัย ศึกษาตามธรรมวินัย นั้นถือว่าอยู่ใกล้เรา ผู้ใดจับชายจีวรเราไว้ นี่อยู่ติดหลวงปู่มั่นเลย อยู่กับหลวงปู่มั่นเลย แต่ไม่เชื่อ คัดค้าน สอนสิ่งใดก็ไม่ฟัง สั่งอย่างใดก็ไม่เชื่อ อย่างนั้นถือว่าอยู่ไกลหลวงปู่มั่น”

นี่ก็เหมือนกัน พอเราไปฟังใครเทศน์ เราฟังสิ่งใดว่าสายหลวงปู่มั่นเราก็พิจารณาของเราก่อน เราพิจารณาของเราก่อน เขาจับชายจีวรอยู่เขายังไม่เชื่อเลย อยู่ด้วยกันนะ เพราะเราฟังมาจากหลวงปู่เจี๊ยะ เราฟังมาจากหลวงตาเยอะ ที่เวลาพระเขาไปอยู่ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านบอกเลยว่าท่านเป็นบ๋อยกลางวัด ถ้าท่านไม่พาลงกวาดวัดก็ไม่มีใครกวาด ถ้าท่านไม่ดูแลมันก็ไม่มีใครทำ ผิดหัววัดท้ายวัด มหาทั้งนั้น ผิดหัววัดท้ายวัด มหาทั้งนั้น ท่านเป็นคนดูแล เป็นคนควบคุมไว้ทั้งนั้น

นี้เวลาควบคุมไว้ เวลามีใครไปทำอะไรที่ไม่เชื่อฟัง หรือว่าถ้าทำอะไรไปขัดแย้งท่านบอกว่า หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ บอกว่าหลวงปู่มั่นท่านชราภาพ ท่านเป็นวัณโรค แล้วท่านแบกรับภาระมาก หลวงตาท่านก็ดูแลแทน แล้วเวลาพระมีปัญหาท่านจะพูดกับพระนะ ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้ขันตีนิมนต์มา คือว่าเขาไม่ได้เชิญท่านมา พวกท่านมาหาท่านกันเอง ด้วยชื่อเสียง เกียรติศัพท์ เกียรติคุณของหลวงปู่มั่น พวกท่านก็มาหากันเอง แล้วพวกท่านจะมาสร้างภาระให้หลวงปู่มั่นได้อย่างใด

เขาไม่ได้ขันตีนิมนต์ มากันเองๆ แล้วมากันเอง ผู้เฒ่า เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอน ท่านฝึกอย่างไร ทำตามสิ ถ้าไม่ทำตามเขาก็ไล่ออกไป ก็ไม่ได้ขันตีนิมนต์มา นี่ท่านดูแลอย่างนี้มาตลอด นี้สังคมในวัดหนองผือยังเป็นแบบนั้น ฉะนั้น ในสมัยพุทธกาล สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบวชมาในพุทธศาสนา สึกไปก็เยอะ พระเข้าไปต่อรองกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่บอกเรื่องนั้นจะสึก เรื่องนี้จะอย่างนั้น

ท่านบอกว่าเราได้สัญญากับเธอหรือ เราไม่ได้สัญญานี่ สึกก็สึกไปสิ แต่ถ้าองค์ไหนมีอำนาจวาสนานะ อย่างพระนันทะ เห็นไหม เป็นญาติเลยที่ไปแต่งงานมา นันทะเธอจะบวชหรือ? เอ๊อะ เอ๊อะ ไปเลย บวชเลยนะ เพิ่งแต่งงาน เวลาพระเขามาต่อรองยังไม่ตอบปัญหา ไปก็ไปสิ แต่นี้เขาไม่ได้บวชนะ แต่เขามีวาสนา เธอจะบวชหรือ? บวชอะไร? ก็เพิ่งแต่งงาน เพิ่งจัดงานยังไม่เสร็จเลยจะบวชอะไร บวชก็บวช พูดไม่ออก พอบวชไปแล้วคิดถึงแต่คู่ครองที่เพิ่งได้แต่งงานมา เพราะความคิดถึง ความผูกพัน อู้ฮู คิดมาตลอดเวลา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “คิดถึงใคร?”

“คิดถึงภรรยาที่เคยแต่งงานมา”

“เธอจำสิ่งนั้นไว้นะ เราจะพาไปดู เธอดูไว้นะว่าใครสวย”

นี่นางชนบทกัลยาณีนะ แล้วก็จับมือเลย เหาะ เหาะขึ้นไปบนสวรรค์เลย ไปเจอเทวดา โอ้โฮ สวยกว่านางนางชนบทกัลยาณีหลายเท่า ไอ้ที่คิดถึงๆ คิดถึงเทวดาแล้ว อยากได้ไหม? อยากได้ไหม? อยาก ถ้าอยากได้นะให้กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วจะได้ ด้วยความอยากได้ ความอยากได้เทวดา แต่มากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธจิตมันสงบ พอจิตสงบมันใช้ปัญญาขึ้นไป สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอย่างนั้น พระ เณรก็เห็นอยู่เพราะอยู่ในวัด พระ เณรก็ถามพระนันทะว่า

“นี่ยังอยากได้เทวดาไหม?”

“เราไม่อยากได้ ไม่อยากได้แล้ว”

นี้คำว่าไม่อยากได้คือการหมดกิเลส พระนั้นก็ติเตียนขึ้นมา พอติเตียนขึ้นมาไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รู้อยู่แล้ว เพียงแต่ประชุมสงฆ์ไง บอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์จริงๆ เขาเป็นจริงๆ เห็นไหม คนมีอำนาจวาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ ขนสัตว์ทำแบบนี้ แต่เวลาพระที่มาต่อรองว่าจะต้องพาไปอย่างนั้น ต้องพาไปดูอย่างนี้ เราสัญญากับเธอไว้หรือ? ไม่ได้สัญญา มาเอง บวชเอง ศรัทธาเอง อยากมาเอง แล้วจะมาต่อรองอะไร? เพราะคนที่หยาบ คนที่ไม่มีปัญญา ทำอย่างไรมันก็ไม่รู้ไม่เห็นหรอก ไม่มีประโยชน์หรอก แต่เขาบวชเข้ามาแล้วก็เพื่ออำนาจวาสนาของเขา

นี่จะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาในสังคมพระกรรมฐานก็เหมือนกัน ถ้าในสังคมกรรมฐานก็เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาก็ถามปัญหาขึ้นมาไง ปัญหาโลกแตก ปัญหาโลกแตกหมายความว่าในเมื่อหลวงปู่มั่นท่านมีเกียรติศัพท์ เกียรติคุณของท่าน เพราะคุณธรรมของท่าน ท่านทำคุณงามความดีของท่าน เป็นความจริงของท่าน เป็นความจริงจริงๆ

ถ้าเป็นความจริงจริงๆ นี่เวลาเราบวชกันมา หรือเราศึกษามาเราก็ศึกษาตามความเป็นจริงนั้น ทีนี้พอคนที่เป็นทางโลก พอศึกษาขึ้นมาแล้ว นี่เพราะหลวงปู่มั่น ฟังสิเราเองเราเกิดทันที่ไหน เราเกิดไม่ทันหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นนิพพานไป ๒ ปีเราถึงเกิด เราเกิด ๙๔ หลวงปู่มั่นเสีย ๙๒ เราไม่ทันหลวงปู่มั่น เราไม่เคยเห็นตัวหลวงปู่มั่นเลย ทีนี้เราไม่เคยเห็นหลวงปู่มั่น แล้วเราพูดถึงหลวงปู่มั่นได้อย่างไร? เราก็ไม่ได้เห็นเหมือนกัน แล้วจะมากล่าวตู่อย่างไร?

ไม่ใช่ เราศึกษา เราค้นคว้า แล้วเราอยู่กับครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมา หลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมา ท่านคลุกคลีกับหลวงปู่มั่นมา ท่านคลุกคลีหลวงปู่มั่น ท่านพูดเรื่องสังคมภายในสังคมพระในสมัยที่หลวงปู่มั่นให้ฟังเยอะมาก แล้วสังคมในสายตาที่ว่าเราเป็นพระบวชใหม่ใช่ไหม อย่างเช่นพระบวชใหม่เราก็มีแต่ตาเนื้อ เราก็เห็นได้แต่ตาเนื้อนี่แหละ แต่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาตาใจท่านเปิด ใครปฏิบัติได้มาก หลวงตาท่านบอกมุตโตทัยไง

มุตโตทัย เห็นไหม ทองคำในร้านกับทองคำในเหมือง ทองคำบนดิน ท่านบอกเลย ความสะอาดบริสุทธิ์ของทองคำ นี่หลวงปู่มั่นท่านพูดเอง ถ้าพระโสดาบันมีคุณธรรม ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เจือปนด้วยกิเลส ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พระสกิทาคามีมีทองคำ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ มีกิเลสอยู่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พระอนาคามีมีทองคำ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ มีกิเลส ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พระอรหันต์ทองคำบริสุทธิ์ล้วนๆ เลย

ฉะนั้น สิ่งที่ความเห็น ความนึกคิด ถ้าตาใจมันยังไม่เปิด ความรู้ ความเห็นเรื่องธรรมะ นี่พระโสดาบันมีคุณธรรมในใจ ๒๕ เปอร์เซ็นต์เพราะเป็นพระโสดาบัน แต่ยังมีกิเลสอีก ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ความเห็นของพระโสดาบัน นี่กิเลส ๗๕ เปอร์เซ็นต์มันก็ความเห็นที่มากกว่าธรรมะอยู่แล้ว มันยังคำนวณธรรมะผิดพลาดมาก พระสกิทาคามีมีธรรมะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ มีกิเลส ๕๐ เปอร์เซ็นต์ พระสกิทาคามี ๕๐ เปอร์เซ็นต์กับ ๕๐ เปอร์เซ็นต์มันก็ก้ำกึ่งแล้วนะ

นี่ตัดสินหรือพิจารณาธรรมะก้ำกึ่งแล้ว ถ้าเป็นพระอนาคามีขึ้นมามันมีทองคำ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ เนื้อธรรมมี ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ยังมีกิเลสอีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์ กิเลสมันก็น้อยกว่าแล้ว ความรู้ความเห็นของพระอนาคามีมันก็แตกต่างกับพระสกิทาคามีเข้าไปอีกถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นพระอรหันต์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ถ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์สิ่งนี้ขึ้นมา การวินิจฉัยธรรมะมันก็แตกต่างกัน

ฉะนั้น เวลาสิ่งที่ว่าเวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น ถ้าหลวงปู่มั่นท่านแสดงธรรม ใครมีตาเนื้อ ใครมีตาเนื้อ เลคเชอร์มาก็ได้แต่เรื่องของโลกียปัญญา เรื่องของโลก แต่ถ้าใครมีตาธรรมนะมันมองลึกซึ้งเข้าไป เป็นชั้นๆ เข้าไป ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านอยู่ในสังคมแบบนั้น สังคมแบบนั้น สิ่งที่จดจารึกจริงมาหรือเปล่า จริงมาหรือเปล่า มันจดจารึกมาจริงหรือเปล่า เช่น

ถาม : ในหนังสือที่ท่านแต่งไม่ใช่คำสนทนาระหว่างครูบาอาจารย์ทั้ง ๒ แต่เป็นอุบาสิกาท่านหนึ่งท่านเป็นผู้แต่งมา ไม่ทราบว่าหลวงพ่อเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ไหม?

ตอบ : เคยอ่าน เคยอ่าน เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่คนที่เอามาพิมพ์ ใครเป็นคนเอามาพิมพ์ล่ะ? เริ่มต้นคนพิมพ์นี่เรารู้หมดแหละ แต่นี้พูดออกไปมันเป็นเรื่องสังคม หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ มันก็พระด้วยกัน สังคมพระนะ แต่สังคมพระ พระที่มีเจตนาที่ดีเขาว่าสิ่งนั้นเป็นดี พระที่มีวุฒิภาวะแค่นั้น อย่างที่ว่าโสดาบันมีเนื้อธรรม ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นี่พูดถึงพระโสดาบันนะ แต่พวกนี้มันมีธรรมะบ้างหรือเปล่าล่ะ? ถ้าไม่มีมันก็เป็นปรัชญา เป็นโลกหมด เป็นโลกียปัญญา

ถ้าโลกียปัญญา นี่เป็นโลกียปัญญา เวลาศึกษาแล้วซาบซึ้งก็อยากจะเผยแพร่ อยากจะเผยแผ่ให้คนอื่นรู้สึก อยากจะพิมพ์ขึ้นมา พอพิมพ์ขึ้นมาก็พิมพ์ขึ้นมาแบบโลกๆ ก็พิมพ์ขึ้นมาแบบนั้น ไม่รู้ว่ามันจะมีคุณหรือโทษมากน้อยขนาดไหน แต่เวลาผู้ที่ศึกษา เราศึกษามาแล้ว เราศึกษามาแล้วเรายึดเลย เชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นหลักปฏิบัติ เราพอใจ เรายึดเป็นหลักปฏิบัติได้หรือไม่ได้

ถาม : ถ้าเคย หลวงพ่อมีคำอธิบายเรื่องนี้ไหมครับ

ตอบ : ธรรมะนะ ธรรมนี่เวลาพูดอยู่ที่วุฒิภาวะของคนที่ว่าจะได้มากน้อยขนาดไหน ถ้าได้มากมันก็คิดไปอย่างหนึ่ง ถ้ามันได้น้อยก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น กรณีอย่างนี้เราคิดว่ามันเป็นเจริญศรัทธา ถ้าเจริญศรัทธาได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติไป เราปฏิบัติมีครูบาอาจารย์นะเราค่อยแยกแยะเอา ครูบาอาจารย์จะคอยแยกแยะ คอยบอก ถ้าเรามีปัญหาเราถามครูบาอาจารย์ได้

ถ้าใครทำสมาธิไม่เป็น นี่พูดเรื่องสมาธิไม่ถูก ถ้าใครทำสมาธิเป็น สมาธิทำได้แค่นั้น ถ้าใครทำสมาธิได้นะ จิตมันว่างๆ หรือมีหลักมีเกณฑ์ก็ว่าสิ่งนั้นเป็นนิพพานๆ ก็พูดได้แค่นั้นแหละ เขาจะรู้เลยเขาพูดได้แค่นั้น แต่ระยะทางที่เราได้ก้าวเดินไปมากกว่านั้น เราจะรู้เลยว่าคนๆ นี้ติดแค่นี้ แล้วถ้าเกิดเขามีปัญญาขึ้นมา ถ้าปัญญามันเป็นจริงก็เป็นจริง ถ้าไม่เป็นจริง นี้เราศึกษากันมามันก็เป็นตรรกะ ตรรกะคือเป็นวุฒิภาวะของแต่ละบุคคลที่เราคุยกัน สนทนาธรรมต่อกัน ถ้าสนทนาธรรมต่อกัน เวลาเราสนทนาธรรมกันมันก็มีความเห็นแตกต่างใช่ไหม? เวลาผู้ปฏิบัติต่างคนต่างสนทนาธรรมก็มีมุมมองแตกต่างกันไป

ทีนี้ในหนังสือมันก็มีมุมมองอย่างนั้น แล้วคนอ่านมันก็แตกต่างกันไป เราจะเถียงกันไปทำไม? ถ้าเราเถียงกันไปทำไม นี่เราวางนั้นไว้ เราวางสิ่งนั้นไว้ เรื่องธรรมะส่วนเรื่องธรรมะนะ อย่างหนังสือเขาบอกเลยว่าถ้ามันมาจากอุบาสิกา แต่มันไม่ใช่นะ มันมาจากอุบาสิกาแต่งที่วัดสระปทุมเขาเริ่มต้นมาจากวัดสระปทุมเลย วัดปทุมวนาราม เริ่มต้นที่นั่น เพราะหลวงปู่มั่นพักที่นั่น แล้วหนังสือ เก็บไว้ในหนังสือที่นั่นมีมาก แต่เอามาพิมพ์มากน้อยได้ขนาดไหน ฉะนั้น สิ่งที่พิมพ์ก็ส่วนพิมพ์นะ

ฉะนั้น อย่างเช่นประวัติหลวงปู่มั่น ประวัติหลวงปู่มั่นก็มีหลายสำนวน แต่ถ้าประวัติหลวงปู่มั่น สำนวนที่หลวงตาท่านเขียน ขนาดหลวงตาท่านเขียน พูดอย่างนี้นะหลวงตาท่านบอกว่า ประวัติหลวงปู่มั่นท่านสืบค้นมา เพราะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ๘ ปี แล้วท่านไปสืบค้นกับครูบาอาจารย์ที่อยู่กับหลวงปู่มั่นมาก่อน

ไปสืบค้นมานะ สืบค้นมาไม่ใช่สืบค้นกับพระกเฬวรากด้วย สืบค้นมาจากหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ชอบ สืบค้นมาจากหลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี สืบค้นมาจากหลวงปู่ลีวัดอโศการาม พวกนี้พวกอยู่กับหลวงปู่มั่นมาก่อน แล้วครูบาอาจารย์ที่เอ่ยชื่อมา นี่ท่านดับขันธ์ไปแล้ว เผาแล้วเป็นพระธาตุหมด นี่ไปสืบค้นมาจากพระอรหันต์ด้วยกัน แล้วพอสืบค้นจนมาถึงปีที่ว่าหลวงตาเข้าไปจำพรรษาปั๊บ ท่านบอกว่าสบายใจได้แล้ว เพราะอะไร? เพราะตั้งแต่นั้นมาเป็นประสบการณ์ของท่านเอง เพราะท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ไม่ต้องไปสืบค้นจากใคร แล้วยังในใจของท่านอีก ในใจของท่านที่สัมผัสกับหลวงปู่มั่นอีก

ฉะนั้น เวลาประวัติหลวงปู่มั่น ในสำนวนหลวงตา มันน่าเสียดาย น่าเสียดายหลวงตาท่านบอกว่าท่านสืบค้นมา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เขียนมาแค่ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าสิ่งที่อีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์นั้นน่ะมันเป็นเรื่องคุณธรรมที่สูงของหลวงปู่มั่น เรื่องประสบการณ์ เรื่องเทศน์ เรื่องลึกลับ ท่านบอกว่าเขียนไปแล้ว เดี๋ยวถ้ามันแบบว่าทางโลกเขาจะว่ามันเหมือนกับแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ก็จะบอกว่าเราเชิดชูกันเอง มันเหมือนกับคนที่จะหาจุดบกพร่อง คือเอาความจริงแต่เบี่ยงเบนไปในทางเป็นประเด็นให้โจมตีได้ ท่านเลยไม่เขียนทั้งหมดไง

ทั้งๆ ที่ท่านยังมีประวัติคุณวิเศษของหลวงปู่มั่นมากกว่าในประวัติของหลวงปู่มั่นที่เขียนนั้นอีก แต่ที่เขียนมา ขนาดที่เขียนมาขนาดนั้น หนังสือนี้แจกไป คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ได้อ่าน คึกฤทธิ์ ปราโมทย์เขาได้บวชที่วัดบวรฯ คึกฤทธิ์ ปราโมทย์บอกว่าหลวงปู่มั่นสอนหลวงตาสอนให้โง่หรือสอนให้ฉลาด เพราะ เพราะพระอรหันต์มันวิมุตติไปแล้ว มันจะไม่มีมันจะมาได้อย่างไร? มันจะมาได้อย่างไร

เพราะว่าอะไร? เพราะหลวงปู่มั่นบอกว่าพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล แม้กระทั่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น คึกฤทธิ์บอกว่านี่เขียนให้โง่ เรียนศึกษาหลวงปู่มั่นมาเรียนเพื่อโง่ เพราะพระอรหันต์จะมาได้อย่างไร? พระอรหันต์มันไม่มี ความไม่มีแบบวิทยาศาสตร์ไง ความไม่มีแบบโลกไง แต่หลวงตาท่านก็แก้ เห็นไหม ขนาดเขียนขนาดนี้ไม่ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นักปราชญ์เมืองไทยยังโต้แย้ง แล้วถ้ามาเขียน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นี่นะ คนที่เขาศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ศึกษาแบบโลก ศึกษาแบบตาบอด ศึกษาแบบวิทยาศาสตร์เขาเป็นโทษกับเขา

เวลาหลวงตาท่านโต้แย้งนะ ท่านโต้แย้ง ไม่ได้โต้แย้งด้วยกิเลส โต้แย้งให้เป็นสัจจะ ถ้าจะปฏิเสธว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลจะมาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่นไม่ได้ ก็ต้องปฏิเสธรัตนตรัยก่อน ต้องปฏิเสธพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าไม่มี พระพุทธเจ้ามีหรือเปล่า? มี พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระพุทธเจ้าเกิดจากพระเจ้าสุทโธทนะ แล้วออกบวชออกมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้ามีหรือเปล่า? มี แล้วพระพุทธเจ้าที่มี มีแล้วพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นศาสดา พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว พระพุทธเจ้ามีหรือเปล่า? มี วิมุตติมีหรือเปล่า? มี แล้วมีอย่างไรล่ะ? มีอย่างไรล่ะ? ก็มีแบบผู้รู้กับผู้รู้เขารู้กัน ถ้าบอกว่านิพพานไปแล้วมันไม่มี นิพพานไปแล้วมันไม่มี ไม่มีก็คิดแบบวิทยาศาสตร์ไง นี่เวลาหลวงตาท่านแจกแจงให้เห็นไง ว่านี่ถ้าพูดถึงเวลาเขาโต้แย้งเขายังโต้แย้งมาได้ขนาดนี้

นี่พูดถึงเวลาคนที่ถูกต้องดีงาม ผู้ที่ว่าไม่จับชายจีวร ผู้ที่เชื่อฟัง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เขาจะเคารพบูชากันด้วยหัวใจ ด้วยหัวใจนะ ด้วยคุณธรรม ด้วยความเป็นจริง ถ้าด้วยคุณธรรม ด้วยความเป็นจริง การทำสิ่งนั้นจะไม่มีความเสียหายในธรรมนะ แต่ถ้ามันมีผลกระทบกับทางโลก นั้นเป็นเรื่องของเขา ถ้าไม่มีผลในทางธรรม ไม่มีผลเสียหายในทางธรรม แต่ถ้าผู้ที่ตามืดบอด นี่จับชายจีวรไง จับชายจีวรแต่ไม่ปฏิบัติตาม

มี เยอะด้วย ไม่ปฏิบัติตาม แล้วไม่ปฏิบัติตาม ตาก็ไม่มี ตาก็ไม่มี ถ้าตามีมันจะรู้สิว่าเวลาเขียนหนังสือมา ที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอก ถ้าเขียนมาอย่างนี้หลวงปู่มั่นก็ติดแค่สมาธิ ก็รู้ได้แค่นั้นเอง หางอึ่ง แล้วอยากเขียนประวัติหลวงปู่มั่น ไอ้พวกหางอึ่งแล้วอยากทำมันจะมีปัญหา นี่ถ้าพวกหางอึ่งทำ พวกนี้ถึงจับชายจีวรเราก็ไม่ได้อยู่กับเรา ถึงจับชายจีวรเราก็อยู่ห่างไกลเรา ถึงจับชายจีวรเราไว้มันก็ไม่เป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริงมันไม่เป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ถ้าเคย อยากให้หลวงพ่ออธิบายเรื่องนี้ด้วยครับ โดยเฉพาะเนื้อหาธรรมะในหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้พอยึดเป็นหลักปฏิบัติได้หรือไม่ครับ โดยเฉพาะธรรมเบื้องสูงเรื่องกิเลส อาสวะ สังโยชน์

ตอบ : เรื่องกิเลส เรื่องอาสวะ สังโยชน์นี่วางไว้ สิ่งนี้สิ่งเป้าหมายที่เราจะทำ แต่ถ้าเราอ่านมาแล้วเรามีกำลังใจ สิ่งนั้นเป็นกำลังใจกับเรา เราไม่ใช่ว่ายกหินขึ้นมานะ แล้วหินนั้นมีน้ำหนักมากเลย แล้วเวลาจะทุ่มหินทิ้งทุ่มใส่เท้าตัวเองไง ถ้ายกหินขึ้นมานะ หินมันหนักจะโยนทิ้งใช่ไหม เขาก็โยนทิ้งสิ อย่าโยนใส่เท้า โยนใส่เท้า เท้าแตกนะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราอ่านหนังสือ เราศึกษามาแล้วเรามีศรัทธา เรามีกำลังใจ สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา เราอย่าเอาสิ่งนี้ทุ่มใส่เท้าเรา ถ้าเอาเรื่องอย่างนี้ทุ่มใส่เท้าเรานะ เราเจ็บปวดเปล่าๆ ถ้าเราเจ็บปวดเปล่าๆ วางไว้ ทิ้งไป เรื่องที่ว่ามันผิดพลาด เราปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วเราเทียบเคียง เรามีครูบาอาจารย์ เราตรวจสอบของเราเอง เราทำของเราได้ เราทำของเราได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเคยนะ ทีนี้อีกข้อหนึ่งเขาบอกว่า

ถาม : ยอมรับว่าพอเอ่ยชื่อหลวงปู่มั่น คำสอนเป็นเหตุเป็นผล ผมเป็นปุถุชนก็เชื่อสนิทใจเลย และคิดว่าหลายๆ คนก็เป็นแบบผม

ตอบ : ถ้าเป็นแบบผมมันก็เป็นกรณีที่ว่าเวลาโต้แย้งกันในอินเตอร์เน็ตว่าใช่หลวงปู่มั่น ไม่ใช่หลวงปู่มั่น แล้วพอถ้าไม่ใช่หลวงปู่มั่นเขียนเอง คนอื่นเขียนให้ แต่ถ้าคนอื่นเลคเชอร์มาจากหลวงปู่มั่นล่ะ? ถ้าเขาเลคเชอร์มา ถ้าเขาไม่ได้เขียนมันก็มีเหตุผลจริงๆ ว่าหลวงปู่มั่นไม่ได้เขียน แต่ถ้าหลวงปู่มั่นคุยกัน หรือมีใครได้ยินมา มันเป็นประเด็น แต่เขาไปขยายความ เขาตัดตอน หรือเขาเพิ่มสิ่งนั้นเข้าไป อันนั้นมีได้ อันนั้นมีได้

ถ้าสิ่งนั้นมีได้มันเป็นประโยชน์ไหม? ถ้ามันเป็นประโยชน์เราก็เอาที่เป็นประโยชน์นั้น เอาที่เป็นประโยชน์นั้น ถ้าว่าเป็นหลวงปู่มั่น มันก็มีเค้ามูลมา แต่สิ่งที่เป็นทั้งหมดเราก็ไม่ยืนยันว่าเป็นทั้งหมดได้หรือไม่ได้ ถ้าเป็นทั้งหมดได้หรือไม่ได้ มันก็ต้องไว้ตรงนั้นก่อน นี่ถ้ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงล่ะ? เพราะหนังสือ เพราะหนังสือเขาพิมพ์กันมา พอพิมพ์กันมาก็มีเรียบเรียงใหม่ มีแก้ไขดัดแปลงใหม่ ถ้าใครมีความเห็นก็เรียบเรียงดัดแปลง แล้วเรียบเรียงดัดแปลงมาจากใครล่ะ? ถ้ามันเรียบเรียงดัดแปลงจากผู้รู้จริงมันก็เป็นจริงได้ ถ้าเรียบเรียงดัดแปลงไม่เป็นจริง ปัญหาสังคมมันก็เกิดขึ้นทั้งนั้นแหละ

ถาม : ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าหลวงปู่มั่นไม่ได้แต่งจริง น่าจะมีอิทธิพลต่อสังคมนักปฏิบัติพอสมควรครับ หากคำถามนี้ซ้ำ ถ้าหลวงปู่มั่นไม่ได้แต่งจริง

ตอบ : ไม่ได้แต่งจริง ถ้าไม่ได้แต่งจริง แต่สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ได้ อย่างเช่นธรรมชาติ ธรรมชาติใครเป็นคนจัดแต่งปรับปรุงมันขึ้นมา ธรรมชาติมันก็แปรปรวนของมันเป็นธรรมชาตินั้น สัจธรรมมันก็เป็นสัจธรรม สัจธรรมนะถ้ามันเป็นความจริงของเรา เราก็เป็นความจริงของเรา คำว่าถ้าท่านเขียน นี่ท่านไม่ได้เขียนจริงแน่นอน ท่านไม่ได้เขียนหรอก ถ้าท่านเขียน สิ่งที่ท่านเขียนนะ ที่วัดปทุมวนารามมีอยู่บ้างที่ท่านเขียนแล้วเขามาพิมพ์เป็นหนังสือกันมี มีนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนที่ท่านลงมาจากเชียงใหม่

ก่อนที่ท่านขึ้นเชียงใหม่ท่านบอกกำลังไม่พอ กำลังไม่พอ ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ กำลังไม่พอ ท่านก็ยังทำสิ่งใดไม่มั่นใจ แต่พอขึ้นไปเชียงใหม่แล้ว ท่านสำเร็จที่เชียงใหม่แล้วท่านลงมาท่านไม่เคยพูดว่ากำลังไม่พอเลย แต่เวลาท่านเทศนาว่าการไป นี่สิ่งนั้นไม่ได้อัดเทปไว้ เพราะตอนนั้นเทคโนโลยียังไม่มี ยังไม่มีนะ แต่ทีนี้เพียงแต่ว่าใครรับได้มากไว้ในหัวใจ ใครปฏิบัติได้ในหัวใจ แล้วเชื่อฟัง แล้วประพฤติปฏิบัติตาม นี่แล้วมีคุณธรรมตาม

อย่างเช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวท่านบอกนะ ท่านไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าทำสิ่งใดไม่ถูกขาดตกบกพร่องนี่หลวงปู่มั่นมาเลย เพราะหลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟัง แล้วหลวงตาท่านก็มาเล่าให้พวกเราฟังต่ออีกทีหนึ่ง นี่สิ่งที่ว่าถ้าลงใจ เพราะหลวงปู่มั่นท่านรู้ว่าองค์ใด พระองค์ใดจะเป็นที่พึ่งของสังคม จะเป็นที่พึ่งของพระ ท่านก็พยายามจะฟื้นฟู พยายามจะทำให้พระองค์นั้นอยู่ในร่องในรอย อย่างเช่นหลวงตา หลวงตานี่หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านละล้าละลัง ท่านบอกว่า

“จะมีพระหนุ่มๆ องค์หนึ่ง นี่มันมาหาเราแล้ว แต่ยังไม่เข้ามาหาเรา พระองค์นี้จะทำประโยชน์กับศาสนามาก”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็รออยู่นะ พอองค์ไหนเข้ามาก็ถามหลวงปู่มั่นว่าใช่ไหม? เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านคุ้นเคยกับหลวงปู่มั่นมาก เพราะหลวงปู่มั่นป่วยหนักที่เชียงใหม่ หลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนดูแลมา นี่คอยจับเพื่อให้ธาตุไฟของท่านเข้าไปอยู่กับหลวงปู่มั่น แล้วก็คุ้นเคยมาก เพราะหลวงปู่มั่นป่วยขนาดไหนไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเข้าไปอ้อนนะ ถ้าคนแก่ไม่สบายนะต้องฉันอย่างนั้น ต้องฉันอย่างนั้น อ้อน อ้อนให้หลวงปู่มั่นได้ฉันข้าว นี่ท่านไปอ้อน อ้อนหลวงปู่มั่นจนคุ้นเคยกัน

ฉะนั้น เวลามีพระมา มีพระหนุ่มๆ เข้ามา หลวงปู่เจี๊ยะเห็นถ้าเข้าเค้าก็จะถามหลวงปู่มั่นเลยว่าใช่องค์นี้ไหม? หลวงปู่มั่นบอกว่าไม่ใช่ มีใครเข้ามาถามบอกใช่องค์นี้ไหม? ไม่ใช่ วันนั้นหลวงตาเข้าไป แล้ว ๒-๓ วันหลวงปู่เจี๊ยะก็ไปถามหลวงปู่มั่น บอกว่าใช่องค์นี้ไหม? ท่านไม่ตอบนะ ท่านเฉยเลย ถ้าเป็นองค์อื่นนะไม่ใช่ แต่นี้พอเป็นหลวงตาท่านเฉย แล้วทีนี้พอท่านเฉย ทีนี้พอหลวงตาท่านเข้าไปอุปัฏฐาก เข้าไปใกล้ชิด เห็นไหม

หลวงปู่มั่นท่านรู้เลยนะว่าใครจะเป็นประโยชน์ แล้วพอเป็นประโยชน์แบบว่าท่านจะฟูมฟัก ท่านจะพยายามฝึกหัดให้เป็นประโยชน์ แล้วสุดท้ายท่านก็บอกหลวงตานี่จะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายพระ จะเป็นประโยชน์ทั้งทางโลก พระหนุ่มๆ องค์นี้ทำประโยชน์กับสังคมมหาศาล นี่ท่านพูดของท่านไว้เพื่อประโยชน์ นี่ผู้ที่ลงใจ แล้วพอลงใจนะ พอเวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านดูแล ท่านรักษา มันเหมือนพ่อกับลูก รักกันนี่เหมือนพ่อกับลูกเลยนะ แหม มันซึ้งน้ำใจ แต่เวลาพูดธรรมะทันทีเลย

พ่อกับลูกก็คือพ่อกับลูก ธรรมก็คือธรรม ธรรมนี่ไม่มีลูบหน้าปะจมูก จะตรงเปี๊ยะเลย ธรรมนี่คือตรงเปี๊ยะเลย ท่านบอกเวลาคุยกันด้วยความเป็นอยู่ โอ๋ย รักกันอย่างพ่อกับลูก ถ้าถามปัญหาธรรมะนี่ ถามทีไรก็ล้มทุกที ถามทีไรก็หงายท้องตึงเลย เพราะธรรมดาลูกศิษย์กับอาจารย์ อาจารย์ก็ต้องมีวุฒิภาวะที่สูงส่งอยู่แล้ว พอถามเรื่องธรรมะนี่หงายท้องเลย เพราะ เพราะจะเอาของจริง เอาของจริงเพื่อประโยชน์จริง เห็นไหม

เราจะบอกว่าถ้าอยู่ถึงชายตะวันตกของชมพูทวีป แต่ถ้าประพฤติเหมือนเรา ปฏิบัติตามเรา ฟังเรา นี่เหมือนใกล้ชิดเรา ถ้าจับชายจีวรไว้ อยู่ใกล้เรา แต่ถ้าดื้อดึง ทั้งดื้อ ทั้งไม่ฟัง ทั้งปฏิบัติอยากจะออกหน้า จะแซงหน้าแซงหลัง จะไปหน้า มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มีหรอก ถ้ามันไม่มี เวลาพฤติกรรมตอนอยู่กับท่านเป็นอย่างนั้น เวลาออกมา พอเขียนประวัติหลวงปู่มั่นนะอู้ฮู สูงส่ง เคารพบูชาสุดยอด เพราะอะไร? เพราะหลวงปู่มั่นเป็นที่เชื่อถือของสังคม

แต่หลวงปู่มั่นเป็นพระ หลวงตา อยู่ในป่าสิ มั่นไหนไม่รู้จัก ไม่รู้จักหรอก แต่ถ้าพอหลวงปู่มั่นมีชื่อเสียง นี่เป็นลูกศิษย์ ศิษย์เอก ศิษย์เอกนี่เวลาท่านอยู่ทำอย่างใดกับท่าน คุณงามความดีได้ทำกับท่านจริงหรือเปล่า นี่พูดถึงว่าให้ดูตรงนี้ไง ดูว่าถ้าจับชายจีวรไว้ ฉะนั้น ถ้าจับชายจีวรไว้แต่ไม่เชื่อฟังเรา ไม่ปฏิบัติตามเรา อันนั้นถือว่าอยู่ห่างไกล แต่ถ้าผู้อยู่ที่ไกลขนาดไหน เชื่อฟังเรา ทำตามเรา นั่นเหมือนกับเรา นี่เขาถามถึง “หนังสือถาม-ตอบปัญหาหลวงปู่มั่นกับเจ้าคุณธรรมเจดีย์”

ฉะนั้น โดยเฉพาะส่วนตัวนะหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์สุดยอดของสังคมไทย เจ้าคุณธรรมเจดีย์สุดยอดของฝ่ายปกครอง เพราะเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านพูดกับหลวงตา เพราะหลวงตาเป็นสัทธิวิหาริก เจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นอุปัชฌาย์ของหลวงตา เวลาหลวงตาท่านอุปัฏฐาก อุปัฏฐากทั้งหลวงปู่มั่นด้วย อุปัฏฐากทั้งเจ้าคุณธรรมเจดีย์ด้วย เจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านพูดให้หลวงตาฟัง ให้ครูบาอาจารย์ฟัง เห็นไหม

“เราไม่อยากเป็นหรอกเจ้าคณะภาค เจ้าคณะภาค เราไม่อยากเป็นหรอก แต่ที่เราเป็นอยู่นี้เป็นเพื่อปกป้องไม่ให้ใครมารังแกกรรมฐาน ไม่ให้ใครมารังแกกรรมฐาน”

ท่านเอาตัวของท่านบังพวกเราไว้เลย ท่านเอาตัวของท่านปกป้องสังคมของกรรมฐาน ฉะนั้น เจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านเป็นพระที่สุดยอด หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระที่จะชี้นำในหัวใจของเราได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านเป็นพระฝ่ายปกครองที่คุ้มครองดูแลพวกเรา ท่านเป็นพระดีทั้งคู่ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นพระดีทั้งคู่ สิ่งนี้มันก็เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม ฉะนั้น สิ่งที่เขาเอามาเขียนถ้ามันมีร่องมีรอย อันนั้นก็เป็นประโยชน์อันหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่ามันไม่ใช่ มันไม่ใช่ เพราะไม่ใช่ก็ไม่ใช่ท่านเขียนจริงๆ แต่ถ้ามันเป็นเลคเชอร์มา เขามีข้อมูลมา เขาเขียนกันมา อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เราเอาประโยชน์ตรงนี้ ถ้าเอาประโยชน์ตรงนี้ได้มันก็เป็นปัญหา เพราะในเมื่อสังคมคนหมู่มาก แล้วจริตนิสัยคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วต่างคนต่างก็อย่างนี้ แหม มีเจตนาดี มีเจตนาดี เจตนาดีทั้งนั้นแหละ เจตนาดีเปิดหน้าให้กิเลสมันชกหน้าไง เจตนาดีเพื่อให้คนอื่นเข้ามาสอดในวงกรรมฐานเราไง ถ้าในวงกรรมฐานเรา เราภาวนาในหัวใจของเรา เราปฏิบัติของเรา ถ้าในใจเราเป็นธรรม เราทำคุณงามความดีทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องไปเปิดหน้าให้ใครเข้ามา

เจตนาวางไว้ เจตนาขนาดไหนอย่าเปิดช่อง อย่าเปิดช่องให้คนเข้ามาเสียบ เข้ามาเสียบเข้ามาในวงกรรมฐาน ถ้าในวงกรรมฐานไม่ให้ใครเข้ามาเสียบได้ พวกเราก็จะอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แล้วถ้าร่มเย็นเป็นสุขนะเราประพฤติปฏิบัติกันด้วยความดีของเรา ไม่ให้พวกจับชายจีวรมาหากิน ไม่ให้จับชายจีวรเอาไปอ้างอิงไง เราเคารพบูชากัน เคารพบูชาด้วยหัวใจ ถ้าเคารพบูชาด้วยหัวใจ เราจะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น ประวัติหนังสือก็เป็นประวัติหนังสือ สังคมก็เป็นสังคม เราก็เป็นเรา เราปฏิบัติเพื่อคุณธรรมในหัวใจของเรา เอวัง